ปาลิดา คุ้มสุวรรณ์ ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ในเวอร์ชั่นที่แกร่งกว่าเดิม

ปอย-ปาลิดา คุ้มสุวรรณ์ คือนักกายภาพบำบัดปฏิบติการ โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน เธอคือเด็กสาววัย 25 ที่กำลังไปได้สวยกับงานที่เธอรักและสนุกกับการใช้ชีวิต กระทั่งพบก้อนเนื้อบริเวณเหนือเข่าขวา แต่เพราะไม่มีอาการอื่นๆ บ่งชี้ เธอแข็งแรงดี จึงคิดว่าคงเพราะการออกกำลังกาย ไม่ได้มองถึงโรคมะเร็งแม้แต่น้อย วิธีการรักษาในเวลานั้นจึงเป็นแนวทางของนักกายภาพบำบัด ทว่าก้อนเนื้อนั้นไม่เล็กลง หลังจากตัดสินใจไปตรวจอย่างละเอียด เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูก วิธีการรักษาของเธอคือการผ่าตัดเปลี่ยนต้นขาและเข่าเป็นไทเทเนียม ซึ่งระหว่างทางของการรักษาได้เกิดการติดเชื้อบริเวณเหล็ก ปอยจึงต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 9 ครั้ง ซึ่งไม่มีครั้งไหนง่ายสำหรับเธอ พร้อมๆ กับการต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากการป่วย จากคนที่ไม่อยากแม้แต่เอ่ยคำว่า ‘มะเร็ง’ ความคิดและความรู้สึกของปอยเปลี่ยนไปเพราะความรักของครอบครัว สามี เพื่อนๆ ทีมแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักที่เธอมีต่อตัวเองที่ทำให้เธอกลับมาสู้อีกครั้ง แถมยังตั้งใจมาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา ให้คำปรึกษา สร้างแรงบันดาลใจ และส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วย เราจึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักผู้หญิงแกร่งที่ชื่อปอยคนนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้กัน

ฮาวทูสู้มะเร็ง

“เอาจริงๆ ตอนนั้นปอยแข็งแรงมากเลยนะคะ เพราะเราออกกำลังกายสม่ำเสมอ พอเจอก้อนที่หัวเข่าขวาเลยไม่คิดว่าจะเป็นมะเร็ง การรักษาในช่วงแรกจึงเป็นการใช้เครื่องมือทางกายภาพบัดบัด เช่น อัลตร้าซาวด์ เครื่องอบความร้อนคลื่นสั้น (Short Wave Diathermy) เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Therapy) และ การประคบร้อน (Hot Pack) มารักษาที่ก้อนนั้น ทำทุกทางเพื่อให้ก้อนยุบลง ช่วงแรกก้อนดูเหมือนจะยุบลง โดยปอยให้เพื่อนที่เป็นแพทย์แผนไทยช่วยตรวจและให้ผู้ช่วยแพทย์แผนไทยนวดให้ด้วย แต่ผ่านไปไม่เกินเดือน เพื่อนแพทย์แผนไทยสังเกตเห็นว่าเหมือนก้อนไม่ยุบลง ปอยตัดสินใจไปพบคุณหมอในโรงพยาบาลที่ปอยทำงานอยู่ พอเห็นฟิล์ม ปอยคิดในใจว่าแจ็กพอตแล้ว”

หลังจากเข้าสู่กระบวนการตรวจอย่างละเอียด เธอพบว่าเป็นมะเร็งกระดูก แต่เชื้อมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ การรักษาจึงเป็นการผ่าตัดขาข้างขวาเพื่อใส่ไทเทเนียมแทนกระดูกตั้งแต่ขาส่วนบน (Femur) จนถึงหัวเข่า (Knee Joint) ในวันที่ 16 มกราคม 2560 แต่กว่าการรักษาจะมีบทสรุปอย่างที่เล่ามา การประเมินครั้งแรกของแพทย์ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อรักษามะเร็งกระดูกที่ต้องตัดขาก็ทำให้เธอจิตตกอยู่ไม่น้อย โชคยังดีที่แพทย์ยังส่งตัวปอยไปรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อประเมินทางเลือกของการรักษาแบบอื่นๆ และสุดท้ายเธอไม่โดนตัดขาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น

“ทางบ้านปอยก็ช็อกเหมือนกันโดยเฉพาะคุณแม่ คุณยาย และคุณพ่อ ซึ่งครอบครัวปอยเป็นครอบครัวข้าราชการที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่คุณพ่อให้กำลังใจมาตั้งแต่ต้นว่า “ถ้าจำเป็นต้องตัดขาก็ไม่เป็นไร กลับมาดูแลกิจการไร่ของที่บ้านเราได้นะลูก” ส่วนแฟนปอย (ตอนนั้นยังไม่ได้แต่งงาน) เขาเองก็ช็อกมากเช่นกันและไม่ได้ทิ้งปอยไปไหน แต่ตัวปอยเองยังทำใจไม่ได้ เลยไม่ยอมและลองคุยกับคุณหมอเพื่อมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องตัดขา จนท้ายที่สุดจึงมารักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นอกจากนี้ จากการตรวจวินิจฉัยครั้งแรกโดยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ค่ามะเร็งของปอยมีระดับ low grade จึงไม่ต้องให้คีโมและใช้การผ่าตัดอย่างเดียว แต่ปรากฏว่าหลังผ่าตัด เกรดของมะเร็งกลายเป็น high grade ปอยจึงต้องให้คีโม 5 ครั้ง แต่เพราะได้รับผลกระทบอย่างหนัก พอให้ถึงครั้งที่ 4 คุณหมออีกท่านบอกว่าครบโดสแล้ว ปอยเลยขอคุณหมอทำคีโม 4 ครั้ง เพราะไม่อยากทรมานแล้ว ซึ่งคุณหมอเจ้าของไข้ถามปอยว่า ถ้าไม่ให้ครั้งที่ 5 แล้วมะเร็งกลับมาอีก คุณจะไม่เสียใจใช่ไหม ตอนนั้นปอยมุ่งมั่นมากว่าไม่เสียใจ แต่นั่นคือสิ่งที่ผิดพลาดเพราะปอยควรจะรับคีโม่เนื่องจากจะครอบคลุมมะเร็งได้มากกว่า”

ทุกอย่างดำเนินไปเป็นปกติ จน 2 ปีหลังจากนั้น เธอขับรถมอเตอร์ไซค์จากบ้านพักในโรงพยาบาลเพื่อจะมาที่แผนกกายภาพบำบัดในช่วงหมดเวลาพักเที่ยง จังหวะรถเอียงเธอใช้ขาขวาไปยันไว้ ขาเธอบิดและรู้สึกเจ็บ และช่วงบ่ายเธอดูแลคนไข้ตามปกติ เวลานั้นปอยปวดเข่าแต่ยังพอทนไหวและเลิกงานกลับบ้านพักตามปกติ แต่ในช่วงดึกของคืนนั้นเอง เธอไข้ขึ้นสูง เข่าบวมแดงจนขยับไม่ได้ ปอยทนความเจ็บปวดนั้นอยู่ 5 วันเต็ม จนตัดสินใจไปโรงพยาบาลและพบว่าติดเชื้ออย่างรุนแรง

“ครั้งนั้นเป็นการติดเชื้อครั้งแรกและหนักหน่วงมาก คุณหมอตัดสินใจผ่าตัดคืนนั้นเลยเพื่อล้างแผลข้างในขาทั้งหมด ถึงปอยจะอยู่สายสุขภาพก็จริง แต่เราทำงานในเชิงฟื้นฟู รักษาอาการปวด เราไม่ทราบเลยว่าคนที่ติดเชื้อต้องนอนโรงพยาบาลนาน 6 สัปดาห์ พอหายจากครั้งแรก ปอยพบว่าความยากในการรักษาของปอยคือเรื่องของการติดเชื้อ และการติดเชื้อครั้งที่ 2 และ 3 ก็ตามมา ปอยยังกำลังใจดีอยู่ถึงแม้ร่างกายจะไม่ไหวแล้วก็ตาม ยิ่งพอมาติดเชื้อครั้งหลังๆ เริ่มมีความยากมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะล้างแผลข้างในเหล็กสะอาดแค่ไหน แต่ในความเป็นจริงเชื้อโรคนั้นยังไม่หมดไปและรอวันที่จะติดเชื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ ทางอาจารย์แพทย์ท่านเลยตัดสินใจเอาเหล็กออกในครั้งที่ 4 ใส่ซีเมนต์ไว้ที่ขาและดามเฝือกรอค่าการติดเชื้อของร่างกายลดลงเป็นปกติ ครั้งที่ 5 เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่ไทเทเนียมอันใหม่ โดยใส่ตั้งแต่ต้นขา (Femur) จนถึงเกือบๆ ข้อเท้า (Tibia) ซึ่งการผ่าตัดในครั้งนี้มีการย้ายกล้ามเนื้อน่องขวา (Muscle Flab) มาปิดบริเวณเข่าเพราะจากการผ่าตัดหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาทำให้เกิดพังผืดบริเวณเข่าจนไม่สามารถเย็บปิดได้และเหล็กก็มีขนาดใหญ่ด้วย คุณหมอจึงทำ Skin Graft (การย้ายผิวหนังไปปลูกถ่ายบริเวณอื่น) ไปปิดแทนที่ที่ตัดน่องมา เป็นการรักษาที่ไม่เคยมีความเจ็บปวดใดจะมากกว่านี้อีกแล้ว หลังจากพักจนอาการดีขึ้น ปอยกลับมาทำงานได้ 3 อาทิตย์ ก็พบว่าติดเชื้ออีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ภายในเดือนครึ่งปอยโดนผ่าไปอีก 3 ครั้ง เพื่อเข้าไปล้างเหล็กจากการติดเชื้อ ก่อนออกจากโรงพยาบาลพบว่าแผลที่ผ่าตัดไม่ติด จึงส่งไปให้ทางทีม Advance Wound Care ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นผู้ดูแล อาจารย์หมอท่านให้ปอยเข้าเครื่องไฮเปอร์แบริก (Hyperbaric Oxygen Therapy: HBO) เพื่ออัดออกซิเจนแรงดันสูงเข้าไปในเซลล์ ทำให้เนื้อเยื่อในตัวเราทำงานได้ดีขึ้น รักษาแผล ฟื้นฟูเซลล์เม็ดเลือดขาว ลดการอักเสบ และทำให้แผลเล็กลง แต่ก่อนจะถึงวันนัดเพื่อเข้าอุโมงค์ออกซิเจน ระหว่างนั้นปอยขาหักแบบทราบได้ทันทีโดยไม่ต้องเอกซเรย์ ปอยทนรอวันหมอนัดเพื่อที่จะเข้าไปนอนโรงพยาบาลทีเดียว พอถึงวันนัดอาจารย์ท่านทราบเรื่องจึงผ่าตัดดามส่วนหักก่อนแล้วจึงเข้าอุโมงค์ออกซิเจนต่อ เป็นการรักษาที่ต่อเนื่องและมีอะไรให้เราได้ตื่นเต้นอยู่ตลอด”

สู้…และสู้เท่านั้น

ในวันที่เราได้พูดคุยกับเธอ (20 มกราคม 2566) รุ่งขึ้นเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมกระดูกที่หัก ซึ่งเป็นครั้งที่ 9 ของเธอ เคสของปอยจึงถือว่าเป็นการรักษาที่หนักหน่วง แต่อย่างที่บอก เธอสู้เสมอ เราจึงถามต่อว่าแล้วเธอผ่านความยากตรงนั้นมาได้อย่างไร

“ตอนที่ป่วย ปอยสู้ทุกครั้ง ทำทุกอย่างเต็มที่ ช่วงผ่าตัดครั้งแรกๆ กำลังใจปอยดีมาก รวมถึงร่างกายเราแข็งแรงเลยฟื้นตัวได้ไว แต่พอมารอบหลังๆ ผ่าตัดเสร็จไปทำงานได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องกลับมาโรงพยาบาลอีก ปอยเหมือนต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ จากปกติที่ปอยชอบไปทำงาน เพราะได้เจอคนคนไข้ เพราะเป็นห่วงคนไข้เนื่องจากคนไข้ชุมชนที่ปอยไปเยี่ยมตามบ้าน พวกเขาไม่ได้มีเงินพอที่จะมาถึงโรงพยาบาล พอปอยไม่ได้ทำงานก็รู้สึกแย่ ขณะที่การรักษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ได้จบแค่ครั้งเดียว เลยยิ่งทำให้เครียดจนไม่อยากทำงาน ไม่อยากไปเจอใคร ปอยโทษตัวเองจนไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เพราะคิดว่าทำให้พ่อ แม่ และสามีต้องมาลำบาก พอมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น คุณหมอเลยส่งพบจิตแพทย์ ปรากฏว่าปอยมีภาวะซึมเศร้าซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว หลังจากรับยา ปอยดีขึ้น โดยมีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจ และมีเพื่อนที่ปอยคุยกับเขาได้ทุกอย่างอยู่เคียงข้าง ในจุดดำๆ ที่ปอยเจอยังมีจุดขาวซ่อนอยู่ นั่นคือความรักของพวกเขา ซึ่งทำให้ปอยกลับมาฮึดอีกครั้งว่ายังตายไม่ได้ เราจะต้องมีชีวิตอยู่เพื่อพวกเขา อีกบุคคลสำคัญที่เป็นคนที่ดึงปอยกลับมาได้จริงๆ คือจิตแพทย์ คุณหมอบอกกับปอยว่า เราไม่ใช่คนผิด ไม่มีใครอยากให้เกิด ถ้าสมมติพ่อแม่ไม่สบาย ปอยพร้อมจะทุ่มเทเหมือนที่เขาทุ่มเทให้ไหม ปอยตอบได้โดยไม่ลังเลเลยว่าทำแน่ จุดนี้เลยทำให้กลับมาย้อนคิดได้ว่านี่คือสิ่งที่เราลืมไป สามีพูดแบบเดียวกับปอยทุกวัน ใจความเดียวกันเลย แต่ตอนนั้นปอยคิดไม่ได้ จะมีคำบางคำที่จิตแพทย์สามารถดึงตัวเราออกมาได้ ปอยเลยอยากให้คนที่ท้อหรือไม่สบายใจไปพบจิตแพทย์ ไม่จำเป็นต้องรอจนเราเครียดขั้นสุด เพราะอย่างน้อยๆ คุณหมอสามารถทำให้เราเห็นมุมมุมหนึ่งที่อาจยังมองไม่เห็นว่ามีทางออก และบางทีความเครียดความกังวลนั้นไม่ได้มาจากตัวเรา แต่เป็นสารสื่อประสาทในร่างกายเราที่ไม่สมดุลด้วย”

ขอบคุณเธอ ขอบคุณฉัน และมุมมองที่เปลี่ยนไป

“ปอยอยากขอบคุณครอบครัวที่เชื่อมั่นในตัวปอย ที่ยอมเสียสละเวลาและเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลปอย การผ่าตัดใส่เหล็กครั้งแรกปอยจ่ายค่าเหล็กไปประมาณ 4 แสน และการผ่าตัดใส่เหล็กอันใหม่จ่ายอีกประมาณ 8 แสนบาท ไม่รวมค่าแอดมิดแต่ล่ะครั้ง ค่าเดินทางและหลายๆ อย่าง แทนที่จะได้ไปซื้ออะไรต่างๆ ที่พวกเขาอยากได้ แต่กลับต้องมาลงที่ลูก พ่อพูดกับปอยว่า “ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร พ่อขอแค่ให้ลูกมีชีวิตอยู่” ขอบคุณแม่และคุณยายที่รักและดูแลปอยอย่างดี ขอบคุณสามีที่ไม่เคยทิ้งปอยไปไหน รวมทั้งครอบครัวสามีด้วยที่ทุกคนดีกับเรามากๆ ขอบคุณผู้อำนวยการและหัวหน้าที่เข้าใจและช่วยเหลือในเรื่องงาน แพทย์และพยาบาลที่เมตตาปอย ขอบคุณอาจารย์แพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ดูแลและเอ็นดูปอยตลอดมา ขอบคุณเพื่อนที่อยู่เป็นเซฟโซนให้ปอยเสมอ ปอยซึ้งใจและขอบคุณจากใจค่ะ

“กับตัวเอง ปอยต้องบอกว่าปอยทนมากเลย ถ้ามองย้อนกลับไป ปอยไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เราสู้มาถึงขนาดนี้ ทั้งความเจ็บปวดจากคีโม การผ่าตัด การทานยา การกายภาพ รวมถึงการเดินทางไปกลับนครสวรรค์-กรุงเทพฯ ปอยอยู่กับความเจ็บปวดมากเกินไปจนทำให้เรามีภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ปอยอยากกอดตัวเองแน่นๆ แล้วบอกตัวเองว่าแกเก่งมากๆ แล้ว ขอบคุณตัวเองที่ยอมรักษาและอยากมีชีวิตอยู่ต่อ

“แต่ก่อนปอยเป็นคนหัวรั้น ดื้อ และมุทะลุสุดๆ แต่พอเป็นมะเร็งมุมมองของเราเปลี่ยนไป เรื่องบางเรื่องที่เคยเครียดมากๆ ปอยจะมีคำว่า ‘ช่างมัน’ มากขึ้นเยอะ จากคนที่ทำทุกอย่างเร็ว ซึ่งก็ยังเร็ว แต่ความเร็วลดลงเยอะ ถ้าเมื่อก่อนใครเข้าหาปอย ปอยจะมองในแง่ร้ายก่อน แล้วถ้าเขาเข้ามาดี ปอยถึงเปลี่ยนใจยอมรับ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าปอยมองคนในแง่ดีมากขึ้น มองในมุมดีๆ ของเขาแค่นั้นพอ ปอยเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่ใช้ชีวิตโลดโผน แต่ยังเกิดมะเร็งได้ ปอยเลยมองว่าโรคภัยเกิดได้หมดกับทุกคนไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร หรือในการดูแลคนไข้ เมื่อก่อนคำพูดของเรากับคนไข้จะห้วนๆ ห้าวๆ พอมาเป็นคนไข้เอง เรารู้แล้วว่าสิ่งที่คนไข้ต้องเจอคืออะไร กลายเป็นว่าการแสดงออกทุกอย่างเปลี่ยนไป เข้าอกเข้าใจคนไข้ และเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้มากขึ้น”

จะอยู่เคียงข้างเสมอ

“เป็นมะเร็งไม่ได้เท่ากับว่าต้องตาย บางคนพอทราบว่าเป็นมะเร็งแล้วก็ใจเสีย จากไปก่อนที่จะได้รักษา แต่ทุกวันนี้มะเร็งรักษาได้แล้ว ปอยเองเจอมาหนักมากยังอยู่ได้จนถึงวันนี้ ปอยเลยอยากให้ทุกคนอย่าเพิ่งท้อ การป่วยทำให้ร่างกายของเราไม่เหมือนเดิมก็จริง แต่เรามีทางเลือกในการรักษาที่มากขึ้นและมีตัวช่วยที่ทำให้เราอยู่ได้ใกล้เคียงเดิม ปอยยอมรับเลยว่าการให้คีโมหนักมากสำหรับปอยแต่มันก็ต้องให้เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอดของเรา อยากให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในการรักษา แพทย์ทุกคนมีความเก่งอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าโรคของเราอยู่ระดับไหน สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้ได้ มีความสุขกับปัจจุบันไม่ใช่ความสุขกับอดีตหรืออนาคต แล้วครอบครัวคือพลังใจที่ดีของคนไข้ คือกำลังสำคัญที่สุดที่จะช่วยประคองให้คนไข้มีชีวิตอยู่ต่อ ปอยเลยอยากให้ครอบครัวของคนไข้เข้มแข็งด้วย ที่สำคัญคือการเชื่อมั่นในตัวเราว่ายังมีโอกาสหาย เพื่อนที่ปอยบอกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของปอย เขาไปเรียนคอร์สจิตวิทยา เขาบอกว่าให้เราคิดเสมอว่าเราหายแล้ว แล้วความคิดจิตใต้สำนึกของเราจะเป็นตัวกำหนดให้เราไปได้ถึงจุดนั้นได้ ปอยทำตามดูและพบว่ามุมมองแบบนี้ทำให้ปอยรู้สึกดีขึ้นมาก ปอยจะต้องผ่าตัดพรุ่งนี้ ตอนนี้ปอยชิลล์มาก ไม่ได้กลัว ไม่ได้กังวลกับการผ่าตัดพรุ่งนี้เลยค่ะ ผ่าก็ผ่า ผ่าเถอะ มันปวดค่ะคุณหมอ

“ตอนนี้ปอยดีขึ้นจนสามารถมาแบ่งปันรื่องราวของปอยให้กับผู้คนได้แล้ว แต่ก่อนปอยไม่อยากคุยเลยนะคะ เพราะเครียด แต่พอมองมุมกลับกัน ปอยเจอในสิ่งที่คนอื่นควรระวัง ยิ่งมะเร็งกระดูกที่พบน้อยในผู้ใหญ่ ส่วนมากจะเกิดในเด็กและไม่แสดงอาการออกมา ไม่มีก้อนหรือว่าอาการปวด ต้องไปดูฟิล์มถึงจะเห็น เพราะฉะนั้น ไกด์ไลน์ก่อนหน้าไม่ได้มีให้เราเห็นมากเท่ามะเร็งชนิดอื่นๆ ในฐานะผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากทุกคนรอบข้างและทำงานด้านสุขภาพด้วย เราควรจะคืนสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับไปให้สังคมบ้าง ปอยเลยอยากมาแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประสบการณ์ของเราเป็นแนวทางให้กับคนอื่นๆ เพื่อให้เขาระมัดระวังมากขึ้น ไม่ต้องมาเจอแบบเรา และเป็นจุดเริ่มต้นให้คนอื่นได้ตระหนักถึงภาวะของคนที่เป็นโรคนี้ รวมถึงสิทธิ์การรักษา หรือขั้นตอนการใช้สิทธิ์ต่างๆ ว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น ไม่ต้องลังเลนะคะ ติดต่อมาคุยได้เลย ปอยยินดีมากๆ ค่ะ”

ทุกวันนี้ นอกจากงานประจำที่เธอรักในบทบาทนักกายภาพบำบัด ตอนนี้ปอยได้มีงานอดิเรกเพิ่มขึ้น นั่นคือการขายกระเป๋ามือสอง กิจกรรมซึ่งทำให้เธอมีความสุขและไม่ไปจดจ่ออยู่กับโรคหรือสิ่งที่เผชิญอยู่

“เชื่อเถอะค่ะ การที่เรากินอิ่มและนอนหลับได้ นั่นคือสิ่งที่วิเศษสุดๆ แล้วจริงๆ (ยิ้ม)”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: www.facebook.com/AkaraPOY6

รศ.ดร.ภก. ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย นักวิทยาศาสตร์ด้านมะเร็ง ชวนสู้มะเร็งด้วยความรู้และความกล้า

หลังจากจบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ มหาวิยาลัยศิลปากร รศ. ดร.ภก. ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย หรือ อาจารย์บี ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ University of Illinois และทำงานเป็น postdoc Dana-Farber Cancer Institute/Harvard Medical School ในอเมริกา นอกจากการเป็นอาจารย์เต็มเวลาให้กับภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอาจารย์ประจำศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำด้านมะเร็งและศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านเภสัชวิทยาเชิงระบบแล้ว อาจารย์บีคือนักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางด้านมะเร็ง (Cancer Biologist) ที่สนใจเรื่องกลไกการแบ่งตัวของเซลล์ (Cell Cycle Regulation) มาตั้งแต่ระดับปริญญาเอกจนกระทั่งปัจจุบัน ภายในห้องแลปที่มหาวิทยาลัยมหิดลที่อาจารย์ตั้งขึ้น เป็นการรวมทีมของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเพื่อสร้างโมเดลของโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เพื่อไขปัญหาที่ยังคงเป็นปัญหาของคนไทย โดยมีเป้าหมายคือการสร้างงานวิจัยต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การสร้างหนทางการรักษาและบรรเทาอาการต่างๆ ของโรคให้ได้แบบตรงจุด กับปลายทางคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไข้ ไปฟังอาจารย์เล่าเรื่องอะไรต่างๆ เหล่านี้กัน 

โครงการวิจัยเพื่อคนไทย 

“ผมมีความสนใจในเรื่องมะเร็งมากครับ ในแง่ที่ว่ามะเร็งเป็นโรคที่มีความซับซ้อน ขณะที่พวกเรายังมีความรู้น้อยอยู่ ถ้าเราสามารถเข้าใจมะเร็งได้ เราจะเข้าใจเซลล์ปกติ รวมถึงการทำงานของร่างกายของเราได้ด้วย นี่จึงเป็นมุมที่น่าสนใจมากสำหรับผมเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องมะเร็งและธรรมชาติของมัน ในอีกมุมหนึ่ง เพราะมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งโอกาสในการรักษามะเร็งหรือทำให้คนไข้หายจากโรคมีเพียง 50/50 หรือบางที่ 60/40 นั่นหมายความว่านักวิทยาศาสตร์มีช่องว่างอีกเยอะที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ คุณค่าของงานวิจัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับโดยเฉพาะบ้านเราที่เป็นประเทศซื้อเทคโนโลยี เราเรียนรู้ เราอ่านตำรา เราเข้าร่วมประชุมที่ส่วนมากเป็นวิทยาการซึ่งทำการวิเคราะห์ วิจัย หรือสร้างมาจากต่างชาติ แล้วเรานำมาใช้ นั่นทำให้เราดูแลคนไข้ไทยได้ดีพอสมควรครับ แต่ผมอยากจะชี้ว่ายังมีปัญหาและโรคบางอย่างที่เกิดเฉพาะกับคนไทยจริงๆ เช่น มะเร็งท่อน้ำดี ทำให้ความรู้จากนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติยังไม่สามารถครอบคลุมและแก้ปัญหาได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราไม่สามารถดูแลคนไทยได้อย่างเต็มที่ ผมคิดว่าเราควรมีนักวิจัยที่ทุ่มเทให้กับปัญหาของคนไทยให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้ประโยชน์กับคนไทยโดยตรง และผมอยากมาทำหน้าที่ตรงนี้

“ผมว่างานนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เหมือนเรากำลังปีนรั้วโดยที่คนในสังคมซึ่งเป็นผู้สนับสนุนผลักเราขึ้นไปเพื่อให้เราโผล่พ้นรั้วไปดูว่าข้างนอกรั้วสูงนั้นมีอะไรที่อันตรายอะไรจะเข้ามาบ้าง หรือมีสิ่งดีๆ อะไรอยู่บ้าง และเรามีทางเลือกที่จะให้อันตรายไม่มาถึงตัวหรือต่อสู้ได้ไหม โดยหน้าที่ของเราคือการทำวิจัยออกมาให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นเพื่อมาบอกว่ามีสิ่งที่กำลังแย่กำลังจะมานะ ทางออกของเราคือให้เลือกหนึ่ง สอง สาม สังคมเราจะเอาอย่างไรกันดี โดยมีรัฐและสังคมที่จะให้ทุนทรัพย์ รวมถึงกำลังใจ ผมคิดว่านี่เป็นงานที่มีเกียรติ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นอาชีพที่คนรู้จักมากนัก

“ตั้งแต่ผมย้ายกลับมาทำงานที่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน สิ่งที่ผมและทีมนักวิจัยทำคือเราเริ่มวางพื้นฐานการวิจัยเกี่ยวกับชนิดมะเร็งที่คนไทยเป็นกันเยอะ แล้วต่างชาติไม่ค่อยเป็นกัน เป็นลักษณะของการค้นคว้าเพื่อตามหาข้อมูลที่ยังขาดหายไป เราตั้งใจว่าถ้ามีมะเร็งหลายๆ อย่างที่ได้รับการดูแลดี มียาที่ดี เราอยากจะทำให้เกิดขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่คนไทยเป็นกันเยอะ อย่างเช่นมะเร็งท่อน้ำดีอย่างที่บอก ซึ่งเป็นมะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตประมาณ 6,000-10,000 คนต่อปี ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะและมีคนไทยเป็นโรคนี้มากที่สุดในโลก ผมคิดว่าเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ทางภาคอีสานไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง เป็นผู้ที่ไม่ได้มีชื่อเสียง และเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐานะ ขณะที่คนตะวันตกเป็นกันน้อย ฉะนั้นมะเร็งชนิดนี้จึงไม่มีข้อมูลเท่าที่ควร รวมทั้งบริษัทยาไม่ได้ทุ่มเทเงินมาตรงนี้เพราะว่าประเทศไทยอาจจะไม่ใช่เป็นประเทศที่มีงบประมาณในการซื้อยามากเท่าไหร่ ผมจึงคิดว่าเป็นอะไรที่เราต้องเน้นและเข้าไปทำ นี่จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทำกันมาตลอดนะครับ ทั้งเรื่องของพื้นฐานว่าทำไมมะเร็งชนิดนี้จึงร้ายแรงนัก การกระจายตัว ภาวะไหนที่ร้ายแรง ไปจนถึงการศึกษาพฤติกรรมบางอย่าง เช่นว่า ทำไมจึงดื้อกับคีโม การหาจุดอ่อนของเจ้ามะเร็งตัวนี้ และแม้มะเร็งชนิดนี้จะดูน่ากลัว แต่มันก็มีจุดอ่อนเหมือนกับทุกมะเร็ง นอกจากนี้ เรายังนำเสนอผลงานไปจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจับคู่ยาให้เข้ากับมะเร็งท่อน้ำดี เพราะเดิมทีเขาคิดว่าถ้าคนเป็นมะเร็งท่อน้ำดีก็จะเป็นเหมือนกันหมด แต่เมื่อเราศึกษารายละเอียดและเข้าใจเรื่องธรรมชาติของมันแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเราสามารถจัดแบ่งชนิดได้ตามพฤติกรรมหรือลักษณะบางอย่าง พอแยกกรุ๊ปได้ งานต่อไปคือเราสามารถทดลองได้ว่ายาอะไรที่จะมีประสิทธิภาพกับมะเร็งแต่ละชนิดย่อยๆ นั้นได้

“หนึ่งในผลงานที่เราทำสำเร็จไปได้อีกระดับหนึ่งคือเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เราพบว่ามะเร็งท่อน้ำดีบางส่วนสามารถตอบสนองกับยาต้านมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งเป็นแนวที่เราได้เผยแพร่ออกไป มีการทดสอบในขั้นคลินิกนั่นคือการทดสอบในคนกันอยู่ ซึ่งปัจจุบันเรายังคงศึกษาและค้นคว้าอย่างต่อเนื่องในเฟสต่างๆ เพื่อให้เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากพอสำหรับนำไปใช้กับคนไข้  ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและวงการแพทย์ในอนาคต”

ขาดทุนคือกำไร

“ปัญหาที่วงการแพทย์กำลังเผชิญ อันดับที่หนึ่งคือประเทศของเราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดได้ เราต้องอาศัยการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน กำลังคน หรือโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องการทำงานวิจัย เพื่อสร้างงานที่จะเป็นต้นแบบให้มากขึ้น ถ้ามองดูจะเหมือนกับการลงทุนทิ้งไปประมาณ 10 ปีเลย แต่หลังจากนั้นเราจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถออกมาทำประโยชน์แก่สังคม แล้วสังคมเราจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรู้ ซึ่งนั่นจะเป็นหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของผู้ป่วยมะเร็งได้อีกเยอะเลยครับ แล้วงานที่เป็นต้นแบบที่คนไทยทำขึ้นเองจะสามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมายเพื่อพวกเราจริงๆ 

“ต้องบอกอย่างนี้ว่างานที่วิจัยและการทำในสิ่งที่ต่อยอดเพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนไข้มันจะมีค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า เพราะจะมีเพียงบางงานวิจัยหรือบางส่วนของงานเท่านั้นที่เราสามารถนำมาใช้ได้จริงๆ ในจุดนี้เราต้องเข้าใจด้วยว่านี่คือธรรมชาติของการทำงานตรงนี้ ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณได้ดีที่สุดสำหรับประเทศเล็กๆ แบบเรา คือเราพยายามที่จะทำให้พื้นฐานแคบและหัวกว้างมาตลอด ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง หากต้องการที่จะพัฒนาต้องลงทุนให้มากเพื่อทำให้มีงานวิจัยพื้นฐานมากตามมาด้วย ปัจจุบันถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์บ้านเราก็เหมือนกับพีระมิดที่ฐานกว้าง แล้วจะเกิดคนหรืองานที่อยู่บนยอดพีระมิดเพียงไม่กี่คนและไม่กี่งานที่สามารถนำมาใช้กับสาธารณะได้ ผมคิดว่าเราต้องทำให้ฐานกว้างขึ้น ให้มีงานวิจัยเยอะๆ เพื่อให้เราได้เลือกชิ้นที่ดีและเหมาะที่สุดได้ง่ายขึ้นเพื่อจะนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานจริงๆ”

นวัตกรรมแห่งความหวังของผู้ป่วยมะเร็ง 

“นวัตกรรมที่จะเป็นความหวังของผู้ป่วยมะเร็ง อย่างแรกซึ่งสำคัญมาก คือนวัตกรรมเกี่ยวกับ ‘Early Detection’ หรือ ‘การคัดกรองรวดเร็ว’ ถ้าขยายความคือเวลาเราบอกว่าเป็นมะเร็งระยะต้น ก้อนมะเร็งประมาณสัก 1 เซนติเมตร แต่ใน 1 เซนติเมตรนี้มีเซลล์มะเร็งเกือบ 100 ล้านเซลล์แล้วนะครับ ปัจจุบันถ้าจะวินิจฉัยมะเร็งก็ต้องรอให้มะเร็งมีขนาดประมาณหนึ่งที่จะเห็นได้ ก็ประมาณ 3-5 มิลลิเมตร คุณเห็นมันประมาณนี้แหละ แต่ในทางชีววิทยามันไม่ใช่ระยะแรกเริ่มแล้ว ฉะนั้น ‘Early Detection Technology’ (เทคโนโลยีการค้นหาผู้ป่วยในระยะแรก) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ‘Liquid Biopsy’ ที่ใช้ตรวจดูร่องรอยของเศษมะเร็งว่ามีหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจ DNA ของเซลล์มะเร็งที่อยู่ในกระแสเลือด จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปเอ็กซเรย์ดูทุกครั้ง 

สอง ราคาที่ถูกลงของการถอดรหัสจีโนม (Genome) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถจัดตะกร้าของคนไข้ให้เป็นตะกร้าหรือกลุ่มย่อยๆ ได้มากขึ้น โดยส่งผลให้การจัดยาที่เหมาะในแต่ละตะกร้าสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น เรียกว่าการแพทย์แม่นยำ ทำให้สามารถใช้ยามุ่งเป้าได้ ซึ่งเมื่อราคายาและเทคโนโลยีถูกลงจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยจะมีมากขึ้นด้วย 

สาม เรื่องของการติดตามมะเร็งแบบ real time เช่น หากคุณมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมากกว่าคนอื่นๆ หรือเคยเป็นมะเร็งมาแล้ว เราสามารถมอนิเตอร์ได้ว่าตอนนี้มะเร็งเป็นอย่างไร ขึ้น-ลงอย่างไร ยาที่ให้ไปได้ผลดี-ไม่ดี โดยไม่จำเป็นต้องไปรอหลายๆ เดือนแล้วไปตรวจครั้งหนึ่งแบบในปัจจุบัน ในมุมตรงนี้จะเป็นมุมที่สามารถทำให้เราเข้าใจมะเร็งได้มากขึ้น เห็นภาพของเซลล์ของมันว่าทำอะไร เหมือนเรารู้เขา รู้เรา และรู้ได้เร็วมากขึ้น ลำพังแค่นี้ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้นอีกเยอะเลย นี่เป็นนวัตกรรมในระยะอันใกล้ที่กำลังจะเกิดในช่วง 5 ปีต่อจากนี้

ส่วนระยะไกล 5 ปีขึ้นไป สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือเทคโนโลยีด้าน Single Cell Study โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีจุดหนึ่งที่เกี่ยวกับมะเร็งคือ เรามักคิดกันว่า ถ้าเราใส่ยา ทุกเซลล์จะตายหมด แต่เซลล์มะเร็งมีวิวัฒนาการ อยู่ไปๆ เซลล์จะเริ่มแตกกิ่งก้านออกไป ฉะนั้น ไม่แปลกที่เราจะพบว่าเวลาเราใส่ยาแล้วทำไมเซลล์ถึงยุบไปเยอะ แต่ก็ยังเหลือบางเซลล์ที่ยังไม่ตายและกลับมาเป็นอีกในเวลาอันสั้น ฉะนั้น เทคโนโลยีที่ศึกษา Single Cell เราจะสามารถดูการธรรมชาติของเซลล์เลยว่ามีความเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน ในอนาคต เราต้องคำนึงถึงปัจจัยของความหลากหลายว่ามีมากน้อยแค่ไหนด้วย ซึ่งการจัดยาก็ต้องพิจารณาจากข้อมูลตรงนี้ด้วย แต่เวลานี้ยังไม่มี จึงทำให้การให้ยาบางอย่างไม่ได้ผลครับ”

สู้ด้วยข้อมูลและความกล้าหาญ

“มีคนเคยเปรียบเทียบงานของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเป็นงานปิดทองหลังพระ เพราะงานวิจัยไม่ได้ออกไปตูมตามได้แบบว่า ‘วันนี้เราต่อขาคนได้ 3 คน หรือผ่าตัดหัวใจสำเร็จไป 5 รายนะ’ แต่งานวิจัยเหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้ภาพของคำว่า ‘มะเร็ง’ ชัดเจนขึ้นทีละน้อย สิ่งที่เราทำอาจดูเหมือนช้าและไม่สามารถอธิบายให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่พวกเรากำลังทำกันอยู่จะเข้าไปกำจัดต้นตอของปัญหาด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง ผมเชื่อเสมอว่าสิ่งที่เราเรียนรู้ในแต่ละวันมันหมุนโลกไปข้างหน้าเสมอ จากโอกาสของการรักษาที่ 50/50 ผมเชื่อว่าจะต้องดีขึ้น อาจจะไม่ได้เป็นตัวเลขแบบก้าวกระโดด เช่น สัก 10 ปีผ่านไป อาจจะเพิ่มเป็น 55/45 แต่มันจะดีขึ้นแน่ สำหรับตัวผม การได้ทำหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยด้านมะเร็งคือความภูมิใจและเป็นชีวิตที่คุ้มค่า เพราะบ้านเรายังขาดความรู้ในส่วนนี้อยู่มาก การได้ทำงานตรงนี้ ผมและทีมนักวิจัยน่าจะสามารถสร้างอิมแพ็คอะไรได้อีกเยอะ ถ้าผมยังอยู่ที่อเมริกาผมอาจจะเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทำอะไรยิ่งใหญ่ได้ก็จริง แต่อาจจะไม่สามารถทำสิ่งที่สามารถไปก่อประโยชน์แบบที่ผู้ที่ได้รับอาจจะเป็นเพื่อน ญาติพี่น้อง ครอบครัว คนในซอยบ้านเรา คนในจังหวัดเดียวกับเราได้

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกทุกๆ คนในเวลานี้คือ ความรวดเร็วและความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในเรื่องของการศึกษามะเร็งนั้นมีสิ่งใหม่ๆ ที่เราเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น มะเร็งปอด มะเร็งในทางเดินอาหาร หรือมะเร็งในเลือด ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โอกาสของการรักษาแทบไม่มี แต่ถ้ามาดูในปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 3 ชนิดนี้ดีขึ้นมาก มะเร็งบางชนิดที่แต่เดิมต้องรักษาด้วยคีโมเปลี่ยนก็มาใช้ยาแคปซูลซึ่งผู้ป่วยสามารถทานอยู่กับบ้านโดยไม่ต้องใช้คีโม ทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 20 ปีก็มีให้เห็นอยู่ หรือมะเร็งเต้านมในเวลานี้ที่มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี (Five Year Survival) อยู่ที่ 90% ไปจนถึงมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน 

“แม้การรักษามะเร็งไม่ใช่เรื่องง่ายและซับซ้อนกว่าที่เราคิด แต่อยากให้ทุกคนรับรู้และมั่นใจเสมอว่านักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานอย่างหนัก เรามีมันสมองของคนที่เก่งมาช่วยกันทำ แม้จะขับเคลื่อนไปได้อย่างช้าๆ แต่ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีในการรักษาจะดีขึ้นแน่นอน ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่เราจะให้ความรู้คน เพื่อให้พวกเขาสามารถต่อสู้กับเรื่องน่ากลัวโดยไม่ต้องปิดตา สู้ด้วยความกล้าหาญ ด้วยการให้ข้อมูล การเป็นมะเร็งไม่ใช่ความโชคร้าย ผมคิดว่าหมดเวลาแล้วที่เราจะสู้แบบกล้าๆ กลัวๆ เราต้องสู้เต็มที่ ผมอยากให้กำลังใจทุกคน และพวกผมทำงานอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

ซูเปอร์มัมแฝดคนละฝาผู้ส่งพลังบวกผ่านเพจ ‘แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข’

‘แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข’ ก่อตั้งขึ้นโดยแฝดคนละฝาที่มีชื่อพ้องเสียงกัน เกิดปีเดียวกัน มีเรื่องราวชีวิตหลายอย่างคล้ายกัน และบังเอิญได้รู้จักจนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันอย่าง กิ๊ก (อรณัฐ สุวรรณกาญจน์) และ กิ๊ฟท์ (ฐิตารีย์ เถรกุล) ทั้งคู่ตั้งใจสร้างเพจดังกล่าวเพื่อเป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของพวกเธอกับการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยพื้นที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การรักษาเท่านั้น แต่กิ๊กและกิ๊ฟท์อยากให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ผู้อ่านตื่นตัวกับโรคและหันมาดูแลตัวเอง พร้อมๆ ไปกับการส่งต่อแรงบันดาลใจ กำลังใจ และเป็นที่พักใจให้กับผู้ป่วยที่เจอเรื่องราวคล้ายกันแบบพวกเธอ 

กิ๊กคือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่พบก้อนมะเร็งในวัย 29 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่เธอตั้งท้องลูกคนแรก ช่วงเวลาที่ชีวิตครอบครัวกำลังจะสมบูรณ์และความสุขกำลังมาถึง จนกระทั่งเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ที่เธอเริ่มมีอาการปวดขา ยิ่งนานวัน อาการปวดก็มีมากขึ้นจนเริ่มเดินไม่ไหว อาการเดินไม่ได้เฉียบพลันก่อนคลอดที่คุณหมอหวังว่าจะดีขึ้นแต่หลังคลอดกลับยังไม่หาย ซึ่งเป็นความผิดปกติที่คุณหมอไม่ปล่อยผ่าน จึงส่งตัวเธอเข้าเครื่องสแกนเพื่อตรวจเช็กร่างกายทั้งหมดจนทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายจากเต้านมไปยังตับและกระดูกทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการหักของกระดูกข้อสะโพก รวมถึงกระดูกสันหลังที่แหว่งไปเลยบางข้อ กิ๊กได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่ให้เธอสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง และถูกตัวส่งไปฉายแสงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งบริเวณกระดูกต่อทันที โดยเธอได้รับคีโมเพื่อรักษาในขั้นถัดไป แม้ปัจจุบัน ก้อนที่เต้านมจะหายไปแล้ว แต่เซลล์มะเร็งทั่วร่างกายไม่ได้หายไปด้วย เธอจึงต้องให้ยาพุ่งเป้าต่อทุกๆ 3 อาทิตย์ มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว และทุกวันนี้กิ๊กใช้ชีวิตร่วมกับพี่มะเร็งอย่างมีความสุข

สำหรับกิ๊ฟท์ เธอพบกับก้อนแข็งที่เต้านมตั้งแต่อายุ 15 แต่เพราะยังเด็กเธอจึงไม่ได้สงสัยอะไร เมื่อเริ่มทำงานจึงได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นซีสส์ กระทั่งเวลาล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี ก้อนเนื้อก้อนนั้นยังคงเป็นแค่ก้อนเนื้อธรรมดาๆ จนเธอเริ่มตั้งครรภ์ลูกสาวคนแรกได้เพียง 3 เดือน ก้อนเนื้อที่ว่านี้ได้เปลี่ยนไปเป็นมะเร็งและโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เธอตัดสินใจเลือกลูกเป็นส่วนหนึ่งของความสุขในชีวิต จึงปฏิเสธการรักษาทั้งหมดจนวันที่เธอได้คลอดเด็กลูกครึ่งน่ารักและแข็งแรง ผลตรวจชิ้นเนื้อระบุว่าเธอเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายไปที่ตับและกระดูก แม้กระบวนการรักษาจะแสนหนักหน่วงและไม่มีกำหนด ซึ่งดำเนินคู่ขนานไปกับบทบาทของการเป็นแม่ แต่เธอยังคงเข้มแข็ง กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว ทว่าไม่เคยเดียวดายเพราะเธอมีครอบครัวและเพื่อนอย่างกิ๊กคอยอยู่เคียงข้างเสมอ ไปฟังกิ๊กและกิ๊ฟท์เล่าเรื่องราวของพวกเธอ ทั้งโรคมะเร็ง การต่อสู้ ความรัก ความหวัง และมิตรภาพกัน

อุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

กิ๊ก: หากย้อนเวลากลับไป โมเม้นต์ยากที่สุดสำหรับกิ๊กคือหลังจากรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เพราะกิ๊กคลอดลูกปุ๊บ ก็ทราบว่าเป็นมะเร็งทันที ฉะนั้นมันจะเป็นอารมณ์ว่า ฉันเพิ่งเดินพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แล้วมีคนผลักเราลงมา เรากำลังมีความสุข ลูกเราเกิดมาแข็งแรง ร่างกายครบ 32 จะได้เลี้ยงลูกแล้ว พอรู้ว่าต้องแยกกับลูกเพื่อไปรักษา กลายเป็นว่าช่วงที่ดาวน์คือช่วงที่รู้ข่าวเพราะว่ามีลูกมาเป็นปัจจัยสำคัญ 

กิ๊ฟท์: กิ๊ฟท์พบก้อนเนื้อที่โตเร็วมากตั้งแต่ตอนท้อง ซึ่งตอนนั้นเรารู้อยู่แล้วว่าไม่น่าใช่ก้อนปกติ ก็เตรียมใจมาระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เตรียมใจว่าจะเป็นมะเร็งระยะ 4 นะคะ เพราะด้วยรูปลักษณ์ของก้อนเนื้อมันแย่มาก พอคลอดลูกเสร็จ วันที่หมอสแกนและฟันธงว่ากิ๊ฟท์เป็นมะเร็งระยะที่ 4 นะ มันเหมือนกับว่าเราแทบไม่มีเวลานับ 0 1 2 3 เลย พอรู้เราเป็นขั้นที่ 4 ไปเสียแล้ว กิ๊ฟท์ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งตอนที่ลูกเพิ่งเกิดซึ่งเหมือนกับกิ๊กเลย ทันทีที่รู้ สิ่งแรกที่คิดขึ้นมาคือแล้วเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน จะได้เห็นการเติบโตของลูกไหม กว่าจะผ่านช่วงเวลาตรงนั้นมาได้มันเหมือนฝันร้ายมากเลยค่ะ กิ๊ฟท์รู้สึกดาวน์อีกช่วงคือตอนให้คีโมตลอด 2 ปีของการรักษาที่ไม่เคยหยุดคีโมเลย รวมถึงการใช้ยาอย่างเอนเฮอร์ทู (Enhertu) ซึ่งน่าจะเป็นยาในอนาคตของประเทศไทย กิ๊ฟท์ได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาเยอะมากแบบที่ไปทำให้กระจกตามีรอยและตาฟางจนมองไม่เห็น ถือเป็นช่วงหินที่เรานั่งร้องไห้ทุกวันเพราะขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ตาไม่มองเห็นแล้ว ถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุดก็ว่าได้ค่ะ

เพราะ ‘ลูก’ คือกำลังใจ

กิ๊ก: เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งกิ๊กกับลูกต้องแยกกันทันที ลูกกลับบ้าน ส่วนกิ๊กไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวอยู่ 1 เดือน ตอนนั้นเราคิดไปต่างๆ นานาว่าแล้วลูกจะอยู่อย่างไร ใครจะเลี้ยง แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากได้อ่านบทความของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ว่าลูกต้องมีแม่ เพราะแม่คือบุคคลที่สำคัญที่สุด นั่นเป็นเหมือนสิ่งเรียกสติตัวเองกลับ ดังนั้น การสู้ต่อคือหนทางเดียวที่เราจะได้เจอกับลูกและได้ดูแลเขา ไม่ว่าเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน ณ ตอนนั้น กิ๊กจึงอดทนเพื่อให้ตัวเองออกจากโรงพยาบาลและกลับไปหาลูกได้ สุดท้ายกิ๊กก็ทำสำเร็จ ได้เจอลูก ลูกเราน่ารักมาก กิ๊กบอกตัวเองว่าเราต้องอยู่ต่อ จะต้องสู้กับทุกการรักษาเพื่อให้อยู่กับเขาให้ได้นานที่สุด 

กิ๊ฟท์: ชีวิตของกิ๊ฟท์เรียกว่าประสบความสำเร็จเกือบทุกอย่าง เราพอใจกับสิ่งที่เราเป็นทุกๆ ทาง แต่ลูกคือสิ่งที่เราเพิ่งเริ่มต้นและเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นความรับผิดชอบของแม่คนหนึ่งที่เราให้กำเนิดเขามา เหมือนเราอยากขอช่วงเวลาหนึ่งให้ได้เลี้ยงเด็กคนนี้ ให้น้องมีแนวทางในการเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพและเป็นคนดีของสังคมคนหนึ่งก่อนได้ไหม ทุกๆ ครั้งก่อนจะไปรับคีโม กิ๊ฟท์จะมองหน้าลูก กอดลูก เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยๆ น้องคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้เราอยากอยู่ต่อ เป็นคำตอบให้กิ๊ฟท์ว่าเราจะสู้และอยู่เพื่ออะไร สำหรับเราทั้งคู่ เราจะสู้เพื่อลูกและเราจะมีชีวิตต่อเพื่อเขาให้ได้ ไม่ว่าเราจะเหน็ดเหนื่อยหรือว่าเจออะไรที่หนักหนาแค่ไหนพวกเราสัญญากับตัวเองว่าจะอดทนให้ถึงที่สุด

เตรียมตัวตายกลับกลายเป็นความสุข

กิ๊ก: กิ๊กเคยคิดว่ามะเร็งเป็นเรื่องไกลตัวมาก ถึงมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง แต่ก็เป็นรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งไม่มีใครเป็นมะเร็งเต้านม แล้วอยู่ดีๆ มาเกิดกับเรา ซึ่งอายุยังไม่มาก ความคิดของกิ๊กต่อมะเร็งในตอนแรกคือถ้าเป็นต้องรักษายากแน่ๆ เป็นแล้วอย่างไรก็ต้องตาย แต่พอโรคนี้มาเกิดขึ้นกับตัวเอง ความคิดจึงเปลี่ยนไปว่า จริงๆ แล้วมะเร็งเกิดได้กับทุกคนและอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ยิ่งเรามีประสบการณ์เองกิ๊กพบกว่าการรักษามะเร็งทุกวันนี้มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีมาก บางทีมะเร็งระยะ 4 หรือมะเร็งระยะสุดท้ายที่คนพูดกันไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งภาพตอนให้คีโมที่เราเคยจินตนาการว่าจะต้องทำให้เราอาเจียนหนัก หรือทานอะไรไม่ได้แน่ๆ แต่เอาเข้าจริงเมื่อเราเข้ารับการรักษา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าผลข้างเคียงยังมีอยู่ แต่ไม่ได้รุนแรงขนาดที่เราคิดไว้ ดังนั้น มุมมองต่อโรคจึงเปลี่ยนไปว่ามะเร็งเป็นโรคที่รักษาได้ กิ๊กไม่อยากให้คนกลัวไปเสียก่อนว่านี่คือจุดสิ้นสุดของชีวิต

กิ๊ฟท์: สำหรับกิ๊ฟท์ก็ไม่ต่างกับกิ๊กนะคะ มุมมองและทัศนคติทั้งก่อนและหลังการเป็นมะเร็งคือเหมือนกันเป๊ะ แต่ของกิ๊ฟท์ เราเป็นคนยอมรับความจริงและจะดูว่าต้องปรับทัศนคติอย่างไรให้อยู่กับความจริงให้ได้มากที่สุด ทุกคนบอกว่าการให้คีโมทรมานนะ แต่กิ๊ฟท์จะไม่เอาประสบการณ์คนอื่นมาเปรียบเทียบกับตัวเอง เพราะพื้นฐานของร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะบอกกับตัวเองว่าเดี๋ยวตัวเราเจอแล้วค่อยว่ากัน จนกระทั่งกิ๊ฟท์พบว่ามะเร็งไม่ได้เป็นโรคที่เป็นแล้วคุณต้องตายพรุ่งนี้ แต่เป็นโรคที่ทำให้เรากลับมาอยู่กับความเป็นจริงว่า แม้ไม่ใช่โรคที่สามารถหายขาดได้ 100% แต่มะเร็งคือโรคเรื้อรังโรคหนึ่งไม่ต่างจากโรคเบาหวานหรือความดันที่เราสามารถเข้ารับการรักษาซึ่งปัจจุบันทุกอย่างก้าวหน้าไปมาก ที่สำคัญคือเราใช้ชีวิตแบบปกติสุขได้ กิ๊ฟท์ยอมรับความจริงว่าเราอาจไม่ได้อยู่จนแก่ กิ๊ฟท์พูดกับกิ๊กเสมอว่าเรา 2 คนจะไม่มีโอกาสคนเป็นหนังเหี่ยวนะ เพราะว่าเราเป็นมะเร็งระยะ 4 แล้ว พวกเรายอมรับความจริงว่ามันไม่หาย เราแค่มองว่าอีก 3, 4 หรือ 5 ปีข้างหน้า เราพร้อมที่จะไปอย่างไร เราเหลืออะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง กิ๊ฟท์วางแผนว่าจะเก็บวิดีโอให้ลูกอย่างไร จะพูดกับลูกไว้ว่าอย่างไรว่าหม่าม้าทำอะไรอยู่ อยากจะสั่งสอนเขาแบบไหน พูดง่ายๆ คือเราเตรียมความพร้อมไว้เสมอ พยายามจัดแจงเพื่อให้เมื่อวันที่เราไม่ได้อยู่แล้ว เราจะไม่มีห่วง

กิ๊ก: เห็นด้วยมาก พอเป็นมะเร็งเราก็กลัวตายแหละ แต่ว่าเราทำใจได้กับการที่ว่าเราไม่ได้อยู่ยืนยาว เราไม่มีทางหนังเหี่ยวอย่างที่กิ๊ฟท์บอก กิ๊กมีโอกาสคุยกับนักจิตวิทยา ซึ่งเขาแนะนำให้เรานึกว่า หากเราตาย เราห่วงอะไร แล้วมองย้อนกลับมา ถ้าเราห่วงลูก เราห่วงเรื่องอะไรบ้าง เขามีโรงเรียนและการเงินพร้อมไหม เขาจะมีคนสั่งสอนหรือเปล่า รวมถึงสามีที่กิ๊กก็ห่วงว่าเขาจะอยู่คนเดียวได้ไหม เหมือนกับเรามานั่งดูปัญหา แล้วเราค่อยๆ แก้ไปทีละเปราะ การที่เรารู้ว่าเราเป็นมะเร็ง แล้วรู้ว่าตัวเองน่าจะไม่ได้อยู่จนแก่เฒ่า กลายเป็นว่าเรามีเวลาในการเตรียมพร้อมเพื่อไปถึงความตายได้อย่างมีความสุข มะเร็งทำให้มุมมองการใช้ชีวิตกิ๊กเปลี่ยนไป ถ้าในวัยทำงานแบบเรา หลายคนคงอยากเติบโตในสายงานที่ทำ แต่กลายเป็นว่ากิ๊กไม่ได้มองถึงจุดนั้นแล้ว ขอแค่ได้ทำงานทุกวันอย่างมีคุณภาพ ใช้ชีวิตได้คุ้มค่ากับเวลาที่ยังหายใจอยู่ 

กิ๊ฟท์: มันเหมือนการ stay strong อยู่บนความพอดี พวกเรายืนอยู่บนความเข้มแข็งที่มันพอดี จะไม่มานั่งตั้งคำถามว่า ถ้าฉันอย่างนั้น ถ้าฉันอย่างนี้ แต่เราจะอยู่กับตอนนี้เดี๋ยวนี้ อยากทำอะไรเราจะไม่รอวันพรุ่งนี้ แต่จะทำเลยเดี๋ยวนี้ รู้ไหม แค่กิ๊ฟท์เห็นใบไม้พลิ้ว นั่นคือความสุขแล้วนะ เหมือนเป็นโมเม้นท์เล็กๆ ที่เราได้เห็นความงามบางอย่างรอบๆ ตัวอะไรแบบนั้นเลย 

เครดิต: เพจ มะเร็งสวย รวยความสุข

สร้างพื้นที่พักใจ

กิ๊ฟท์: หลังจากที่กิ๊ฟท์ปรับจูนตัวเองได้แล้ว สิ่งแรกที่พูดกับตัวเองคือการเจ็บป่วยของกิ๊ฟท์จะต้องมีประโยชน์ ชีวิตที่เหลืออยู่ของเราจะต้องสร้างแรงบันดาลใจด้านใดด้านหนึ่งให้กับคน กิ๊ฟท์อยู่อเมริกา หากเรามีโอกาสได้เป็นหนูทดลองให้กับบริษัทยาไหน กิ๊ฟท์จะเอาหมด ซึ่งเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่คิดว่าอย่างน้อยๆ อีกหลายชีวิตข้างหน้าที่เขาจะเรียนรู้จากชีวิตเราได้ เขาจะได้ยาที่ดีขึ้น ในขณะที่หนึ่งชีวิตกำลังต่อสู้และกำลังจะจากไป แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับอีกหลายๆ ชีวิตในอนาคตข้างหน้าได้นะ 

เพจแฟดมะเร็งสวยรวยความสุขเริ่มมาจากตัวกิ๊ฟท์ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4  แล้วตัวเองอยู่ที่อเมริกา ไม่ได้มีเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยด้วยกันในไทย เพราะระยะของโรคที่ทำให้กิ๊ฟท์อยากใช้ชีวิตที่เหลือให้มีคุณค่ากับคนอื่น เลยตั้งเพจของตัวเองขึ้นมาก่อน เพราะคิดว่าเคสของเราสามารถเป็นตัวอย่างหรืออาจเป็นแนวทางให้กับคนอื่นได้ ซึ่งในเพจกิ๊ฟท์เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นว่าตัวเองเป็นใคร เป็นมะเร็งได้อย่างไร และเลือกรักษาด้วยวิธีไหน แล้วเรื่องของกิ๊ฟท์ดันไปคล้ายกับเรื่องราวของกิ๊ก ทั้งชื่อที่คล้ายกัน อายุเท่ากัน ประเภทและระยะของมะเร็งเหมือนกัน พวกเราคลอดลูกเสร็จ ก็เริ่มรักษามะเร็งในวันถัดมาเลยเหมือนกัน

กิ๊ก: พอกิ๊กอ่านสิ่งที่กิ๊ฟท์เขียนเลยคอมเมนท์ไป แล้วกิ๊ฟท์ก็หลังไมค์กลับมา ได้คุยกัน แล้วกลายเป็นว่าเราคลิ๊กกันมาก เพราะมีความคิดและทัศนคติต่อโลกคล้ายกัน ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะทำเพจหรอกค่ะ แค่อยากจะแชร์เรื่องตัวเองเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น แล้วกิ๊กไม่ได้มีความมั่นใจในการทำเพจอยู่แล้วเพราะไม่ได้เป็นคนเขียนเก่ง เลยชวนกิ๊ฟท์มาทำด้วยกัน เพราะเห็นกิ๊ฟท์เขามีเพจของตัวเอง เคยเขียนนั่นนี่  

กลายเป็นว่าบทความแรกที่แชร์เรื่องราวการเจอมะเร็งของเราทั้งคู่ทำให้ผู้อ่าน รวมถึงคนใกล้ตัวกลับมาตระหนักว่ามะเร็งไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราจะต้องเฝ้าระวังแล้วนะว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย จริงๆ แค่นี้ก็มีประโยชน์แล้วสำหรับพวกเรา 

การพูดคุยระหว่างคนป่วยเหมือนกัน แล้วเรารู้ว่าคำว่าการเจ็บตับ เจ็บปอด เจ็บหน้าอกเป็นอย่างไร เหมือนกับว่าคนป่วยคนอื่นๆ เมื่อได้มาคุยกับพวกเราทำให้เขารู้สึกเหมือนมีเพื่อนที่อยู่ร่วมทางที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเข้าใจ แล้วเรายังสามารถให้คำแนะนำได้ว่า ลองถามคุณหมอว่ามียาตัวนี้ไหม หรือคนไข้บางคนกลัวการรักษาบางอย่างที่เรามีประสบการณ์มาก่อน เราจะบอกเขาได้ว่าไม่ต้องกลัวนะคะ เบากว่าการคลอดลูกอีก สบายๆ ชิวๆ ซึ่งเวลาพวกเราให้คำปรึกษา 100% พวกเราจะตอบบนความจริงเสมอว่าเดี๋ยวคุณหมอจะให้ยาตัวนี้แล้วเราจะดีขึ้นนะ หรือยาตัวนี้จะมีผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง เวลาที่เราได้ฟีดแบคมาว่า “ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ เขามีความคิดต่อมะเร็งเปลี่ยนไปแล้ว เขามีความรู้สึกที่ดีขึ้น ตอนนี้เขาจัดการแบบนี้แล้วกับลูกของเขาได้แล้ว” นี่เป็นสิ่งที่ทำให้กิ๊กสุขใจว่าเราได้ทำประโยชน์บางอย่างกับคนอื่นแล้ว มันแปลกมากเลย แต่ก่อนกิ๊กโฟกัสกับการทำชีวิตของเราให้ดี แต่กลายเป็นว่าพอเป็นมะเร็ง เรารู้ว่ามันยากลำบาก เป็นโรคที่น่ากลัว เรามีความกังวลมากมาย ทำให้เรารู้สึกว่า โอเคเราผ่านมาถึงจุดๆ หนึ่งมาได้แล้ว เราสามารถให้คำแนะนำคนอื่นได้ก็ควรจะทำ เราอยากช่วยคนอื่นเพราะว่าประสบการณ์ที่เรามีมันมีค่ามาก และสามารถส่งต่อเพื่อเป็นแนวทางให้คนอื่นได้  ก็เลยอยากจะส่งต่อเยอะๆ 

กิ๊ฟท์: เรา 2 คนอยากจะส่งต่อพลังบวกให้กับคนไข้หลายๆ คน เพราะคนไข้ส่วนหนึ่งพอได้ยินคำว่าเป็นมะเร็ง โลกเขาเปลี่ยนไปทั้งใบเลยนะคะ บางทีอาการป่วยอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อเสียกำลังใจกลายเป็นว่าป่วยหนักกว่าระยะท้ายๆ เรา 2 คนจึงอยากจะแชร์เรื่องราวว่าเราเจอกับอะไรมาบ้าง เรามีมุมมองต่อโรคอย่างไร และอยากจะเป็นกำลังใจ รวมทั้งให้เพจนี้เป็นคล้ายๆ กับพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้ 

กิ๊ก-อรณัฐ สุวรรณกาญจน์ (ซ้าย) และ กิ๊ฟท์-ฐิตารีย์ เถรกุล (ขวา)

จากคนแปลกหน้าสู่เพื่อนรัก

กิ๊ก: เป็นความรู้สึกที่แปลกมากกับการได้คุยกับคนๆ หนึ่ง ซึ่งไม่เคยเจอหน้า แค่คุยผ่านเสียงกันอย่างเดียว แต่รู้สึกว่าเราโคตรเป็นห่วงเขา รักเขา และอยากให้เขามีชีวิตที่ดี กิ๊ฟท์ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่แฟน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันมาก่อน แต่กิ๊กรู้สึกว่าเขาคือเพื่อนตาย แม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่ได้บอกว่าฉันรักแกนะบ่อยๆ แต่กิ๊กเชื่อว่าเขารับรู้ได้ว่ากิ๊กรักเขามากและอยากให้เขาเจอทางรักษาที่เหมาะกับตัวเอง สามารถควบคุมโรคได้ และไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้ เอาจริงๆ สิ่งที่คนป่วยมะเร็งต้องการคือความรัก การที่เราพูดว่าฉันรักแกนะ มีคนที่รักแกอยู่เยอะ แค่นี้เราก็รู้สึกว่าเรามีแรงสู้กับโรคแล้วสำหรับกิ๊กนะคะ 

กิ๊ฟท์: กิ๊ฟท์ภาวนาอยู่เสมอว่าให้กิ๊กอยู่กับยาที่เขาได้ทุกวันนี้ไปได้ตลอด ไม่อยากให้เขาต้องมาเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ แบบเรา อย่างที่บอกเรา 2 คนเหมือนฝาแฝด ความสัมพันธ์ของเรา 2 คนเป็นความรักที่ถ้าเราอยากเห็นลูกเราประสบความสำเร็จอย่างไร เราก็อยากให้เขาได้เห็นลูกเขาประสบความสำเร็จแบบนั้น เป็นความรักที่อยากให้เขามีชีวิตได้อยู่ดูแลกันทั้งลูกและสามีได้ ในวันที่กิ๊ฟท์รู้สึกว่าตัวเองไม่ไหวจนท้อมากๆ และได้คุยกับกิ๊ก มันเหมือนว่าเรายังมีคนๆ หนึ่งคอนเป็นกำลังเสริมที่ทั้งเข้าใจ ทั้งคอยสร้างกำลังใจ และให้คำแนะนำต่างๆ คงเป็นความรู้สึกของความรักที่เกิดจากความเข้าใจกันจริงๆ ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่คือความรักบริสุทธิ์แบบที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อกันเลย เป็นความรักที่ไม่สามารถอธิบายมาเป็นตัวหนังสือได้จริงๆ ค่ะ

คุณค่าของชีวิตที่ได้มาจากการ ‘ขอบคุณ’  

กิ๊ฟท์: กิ๊ฟท์ผ่านการทำคีโมมาเยอะมาก ทำให้ร่างกายเปลี่ยนมาเป็นอีกแบบหนึ่งเลย แต่กิ๊ฟท์จะบอกตัวเองเสมอว่า เธอกล้าหาญและเข้มแข็งมาก ถ้าพูดอะไรกับตัวเองก็คงจะบอกว่า ขอบคุณที่เข้มแข็งในทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยท้อถอย ไม่เคยล้มเลิกว่าไม่ไหว ไม่เอา ไม่รักษาแล้ว ขอบคุณตัวเองที่มองเห็นคุณค่าในชีวิตเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเจออะไรแย่ขนาดไหน  ขอบคุณใจตัวเองและภูมิใจในตัวเองมากว่าเรารับตัวเองได้ทุกอย่าง ก้าวผ่านทุกความยากอย่างมีความสุข ให้กำลังใจตัวเองได้โดยไม่ต้องร้องขอจากใคร แล้วก็บอกกับตัวเองว่าดีแล้วที่มะเร็งมาเกิดกับเรา เพราะว่าเรามีวิธีในการจัดการจิตใจของเราได้ดีมากในระดับหนึ่ง กิ๊ฟท์ขอบคุณตัวเองทุกวันที่ยังมีโอกาสได้หายใจและสามารถมองสิ่งสวยงามบนโลกใบนี้ได้อยู่

กิ๊ก: มีผู้ป่วยหลายๆ คนที่ถ้าเขายังทำใจเรื่องที่เขาเป็นมะเร็งไม่ได้ เขาจะดาวน์ไปเลย ไม่สามารถดึงตัวเองกลับมาได้เลย กิ๊กจึงขอบคุณที่ตัวเองไม่จมกับความทุกข์มากเกินไปและสามารถดึงตัวเองกลับมาได้ เราภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าทำได้ดีแล้วและควรจะทำดีต่อไป กิ๊กไม่อยากย้อนเวลากลับไป ไม่อยากแก้ไขอะไรทั้งนั้น สิ่งที่ตัวเองทำมาคือดีที่สุดแล้วค่ะ 

อย่าไปกลัวเวลาที่ฟ้าไม่เป็นใจ  

กิ๊ฟท์: หากจะแนะนำ คงจะอยากให้ทุกคนยอมรับความจริงก่อนว่าเราเป็นอะไร พยายามจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง ลองตั้งเป้าหมายว่าเราจะรักษาแบบไหน จะต่อสู้กับแนวทางการรักษาที่เลือกนี้เพื่ออะไร อยากมีลมหายใจต่อไปเพื่อใคร แล้วหากเราจะมีลมหายต่อไป ความสุขของเราคืออะไร การตั้งเป้ามาบางอย่างทำให้เรามีจุดหมายว่าเราตื่นขึ้นมาเพื่อหาคุณหมอ ไปรับคีโม เราทำไปเพื่ออะไร เมื่อเราสามารถตั้งช่วงเวลาของเราได้ว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร ก้าวต่อไปเราจะเห็นแสงสว่างที่ปลายทางเพราะเรามีจุดหมายที่จะไปให้ถึง

กิ๊ก: ก่อนที่เราจะมีเป้าหมาย กิ๊กเชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านความรู้สึกท้อหรือว่าจิตตก กิ๊กกับกิ๊ฟท์จะพูดเสมอว่าจิตตกได้เลยค่ะ อยากร้องไห้ร้องเลย กิ๊กจะไม่พูดว่า ‘ไม่ต้องร้องแล้ว’ มันโอเคมากๆ ที่คุณจะตอบรับทุกความรู้สึกของตัวเอง ถ้าตอนนี้รู้สึกเศร้า คุณเศร้าได้เต็มที่ ร้องไห้ได้เลย เมื่อเราเสียใจไปสุดทางแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณรู้สึกดีขึ้นเอง เพราะฉะนั้น คำแนะนำของกิ๊กคือถ้าใครยังอยู่ในช่วงช็อก อยากร้องไห้ รับไม่ได้ ปล่อยความรู้สึกทุกอย่างที่มีออกมาให้หมด แต่ว่าไม่ควรอยู่คนเดียวนะคะ อย่างน้อยจะต้องมีคนที่คุณรู้สึกไว้ใจ คนที่พร้อมรับฟังทุกอย่าง คนที่จะไปร้องไห้กับคุณอยู่ด้วยสักคน แล้วร้องไห้กับเขา เอาให้หมด จะร้องกี่วันทำไปเลย จนเมื่อถึงจุดที่คุณรู้สึกดีขึ้น คุณจะเริ่มคิดได้ คุณจะเริ่มมีเป้าหมายอย่างที่กิ๊ฟท์บอก วันนั้นแหละคุณจะจัดการชีวิตในขั้นต่อไปได้ และพวกเราทั้งสองคนจะเป็นกำลังใจให้อีกหนึ่งแรงค่ะ 

(หมายเหตุ: คุณกิ๊ฟท์ ฐิตารีย์ เถรกุล ได้จากไปดาวดวงใหม่อย่างสงบเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2566)

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข

คุยกับ ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ ผู้ดูแลผู้ป่วยก็ต้องเทคแคร์ตัวเองเช่นกัน

การต่อสู้กับโรคภัย ไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ตาม เรามักมองว่าผู้ป่วยคือบุคคลผู้เดียวที่ต้องฝ่าฟันกับความเจ็บปวดทางกายและความอ่อนล้าทางใจ ทว่า ในเส้นทางสายเดียวกันนี้ ‘Caregiver’ หรือ ‘ผู้ดูแล’ มักถูกหลงลืมทั้งๆ ที่พวกเขาต่างมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองและอยู่เคียงข้างผู้ป่วยกระทั่งพบกับความสำเร็จของการรักษา ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังอย่างเช่นโรคมะเร็งที่ส่วนใหญ่แล้วจำเป็นจะต้องพึ่งพาผู้ดูแลอยู่ตลอดเวลา ทำให้หน้าที่ของเพื่อนร่วมทางคนนี้เป็นงานที่เหนื่อย หนัก ใช้เวลามาก อีกทั้งก่อให้เกิดความเครียดและกังวลได้ง่ายๆ 

วันนี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ หมอบัว – ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ถึงเรื่องราวของการดูแลคุณแม่ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดตลอดระยะเวลากว่า 9 ปีที่ผ่านมา หน้าที่ที่คุณหมอไม่เคยมองว่าเป็นภาระ แต่คือความสุขใจที่ได้ดูแลและปลอบโยนบุคคลอันเป็นที่รักให้ดีที่สุดและใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างรู้คุณค่า พร้อมๆ ไปกับการส่งต่อความรู้และประสบการณ์เรื่องการดูแลผู้ป่วยผ่านเพจ ‘สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง’ ที่เธอสร้างขึ้นจนกลายเป็นชุมชนเล็กๆ แต่อบอุ่นเพื่อให้กำลังใจกลุ่มผู้ดูแลเช่นเธอ 

ความท้าทายที่แตกต่าง

เดือนกันยายน ปี 2556 หลังจากที่คุณแม่ของหมอบัวตรวจสุขภาพประจำปีพบความผิดปกติที่ปอด และได้ตรวจเพิ่มเติมจนพบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ซึ่งมีก้อนที่ปอดข้างละ 1 ก้อน และมีจุดเล็กๆ กระจายอยู่ที่ชายปอดทั้ง 2 ข้าง แต่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่นเมื่อแรกพบ แม้เวลานั้นเริ่มมียามุ่งเป้าแล้ว แต่การที่จะใช้ยามุ่งเป้าได้หรือไม่จะต้องมีการตรวจยีนส์กลายพันธุ์  โดยการตรวจชิ้นเนื้อที่ปอดและรอผลประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา คุณหมอเจ้าของไข้จึงแนะนำให้เริ่มการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพื่อให้ทันท่วงที หลังจากรักษาด้วยวิธีดังกล่าวไป 3 ครั้ง โรคของคุณแม่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ก็เป็นเวลาเดียวกันกับผลตรวจของชิ้นเนื้อออกมาโดยระบุว่ามียีนส์กลายพันธุ์ ทำให้คุณแม่ได้รักษาต่อด้วยยามุ่งเป้าตัวแรกอยู่ 13 เดือน ทว่าก้อนมะเร็งเริ่มใหญ่ขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นยามุ่งเป้าตัวที่ 2 และรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ 23 เดือน กระทั่งตุลาคมปี 2559 เมื่อเซลล์มะเร็งไม่ตอบสนองกับยามุ่งเป้าดังกล่าว คุณแม่จึงต้องไปตรวจชิ้นเนื้อที่ปอดเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงในครั้งใหม่ และพบว่ามีการกลายพันธุ์ในแบบที่สามารถทานยามุ่งเป้าตัวที่ 3 ได้ นี่จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งถูกใช้ในการรักษามาจนถึงทุกวันนี้ 

“สำหรับยามุ่งเป้าตัวที่ 3 ถือว่าการตอบสนองต่อยาอยู่ในระดับดี แม้ก้อนมะเร็งไม่ได้ยุบลงและยังเหลือก้อนหลักๆ ที่ปอดซ้ายขวาข้างละก้อน แต่ส่วนที่กระจายตัวเล็กๆ ที่ชายปอดนั้นหายหมด เมื่อเข้าสู่ปี 2562 คุณหมอจึงใช้วิธี ‘ฉายรังสีร่วมพิกัด’ เพิ่มเติมที่ปอด ซึ่งเมื่อมีการติดตามผล เซลล์มะเร็งได้มีกระจายเป็นจุดเล็กๆ 2 จุดไปที่สมองราวๆ เดือนเมษายน ปี 2563 แต่เป็นการกระจายน้อยมาก จึงได้ทำการฉายรังสีในแบบเดียวกันที่สมอง จนปัจจุบัน โรคมะเร็งของคุณแม่นิ่งแล้ว ตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 10 ของการรักษาแล้วค่ะ   

“ถ้าถามเรื่องความยาก คงต้องแบ่งเป็นความยากในส่วนของผู้ป่วยกับผู้ดูแล สำหรับคุณแม่ เปรียบเทียบการรักษาก็เหมือนกับคลื่น บางช่วงคลื่นสงบ บางช่วงเป็นคลื่นลูกใหญ่ เช่น ช่วงที่ให้เคมีบำบัดและการทานยามุ่งเป้า ท่านต้องต่อสู้กับอาการข้างเคียงหลายๆ อย่าง รวมทั้งการรักษาโรคเรื้อรังเป็นสิ่งที่ยาวนาน ทำให้ต้องเผชิญทั้งอาการของตัวโรคเองและเรื่องของการรักษา อีกทั้งเมื่อร่างกายผ่านการรักษามานาน ประกอบกับอายุที่มากขึ้น ความยากถัดมาคือความร่วงโรยและเปลี่ยนแปลงของวัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ตลอดทางถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณแม่เลย 

“การให้กำลังใจคุณแม่ หมอจะไม่ใช่สไตล์ใช้คำพูดปลอบประโลม แต่จะเป็นลักษณะคุยกันเพื่อให้ท่านเข้าใจข้อเท็จจริงว่าเราน่าจะไปกันในทิศทางไหน หมอคิดว่าถ้าท่านรู้ว่าเรามีความตั้งใจ มีความรอบรู้ ซึ่งหมอไม่ได้รู้ทุกเรื่องนะคะ แต่เรื่องไหนที่ไม่รู้ เราจะพยายามไปค้นคว้า ไปเสาะหามาให้ รวมถึงการพาคุณแม่ไปหาหมอได้สม่ำเสมอ สามารถจัดการทุกเรื่องให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ติดขัด มีความหวัง ความพร้อม หมอเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการสร้างกำลังใจ ทำให้ท่านรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ยุ่งยากจนเกินไป ถึงแม้การรักษาจะยาวนานต่อเนื่องก็ตาม

“ในส่วนของผู้ดูแล โดยรวมจะเป็นเรื่องของการจัดการว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างผ่านไปได้อย่างราบรื่นที่สุด ซึ่งความยากของผู้ดูแลคงจะเป็นเรื่องการประคองตัวเอง ยิ่งถ้าเป็นผู้ดูแลซึ่งอยู่ในวัยทำงานที่ต้องทำงานไปด้วยและจัดการเรื่องการดูแลผู้ป่วยไปพร้อมๆ กัน เรายิ่งต้องประคองตัวว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองอยู่ในภาวะ burn-out หรือหมดไฟ สำหรับหมอ เรื่อง burn-out จะมาเป็นพักๆ ที่สำคัญคือตัวเราไม่ได้อยู่ในวัยที่มีเรื่องให้ burn-out แค่เรื่องเดียว เรามีทั้งเรื่องการดูแลคุณแม่ การทำงาน สุขภาพของตัวเอง หมอจึงพยายามเช็คตัวเองตลอดว่าตอนนี้เราโอเคไหม เหนื่อยไปหรือเปล่า ถ้าพบว่าอารมณ์เริ่มไม่มั่นคง จะบอกตัวเองว่าให้พักได้แล้ว นอนเถอะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยแก้ไขกันไป หรือจะคุยกับเพื่อนสนิท รวมถึงถ้ามีปัญหาอะไรที่คิดไม่ออกแล้ว หมอจะขอความช่วยเหลือจากคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้ปัญหาที่เจออยู่เบาบางลงค่ะ”

ชุมชนแห่งการแบ่งปันและส่งต่อกำลังใจ

ด้วยหมอบัวต้องไปเฝ้าคุณแม่ให้เคมีบำบัดซึ่งใช้เวลาพอสมควรในแต่ละครั้งที่ไปโรงพยาบาล เมื่อมีเวลาว่างยาวๆ จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า หากเราสามารถใช้เวลาที่มีตรงนั้นจดบันทึกและบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับ โดยที่สามารถให้ความรู้คนอื่นไปได้ด้วยน่าจะเป็นเรื่องที่ดี 

“ในเวลานั้น ความรู้เรื่องมะเร็งปอดยังมีไม่มากและไม่ได้เข้าถึงง่ายเหมือนทุกวันนี้ เรียกว่าความรู้หลายๆ อย่างอยู่ในวงจำกัด หรือบางครั้งข้อแนะนำของคุณหมอ เช่น คุณหมอให้ทานอาหารที่มีไข่ขาว หมอเองไม่ใช่เป็นคนทำกับข้าว ยังคิดหนักเลยค่ะว่าเราจะทำอย่างไรดี และต้องไปหาข้อมูลอยู่เหมือนกัน หมอเลยคิดว่าถ้าเราสามารถสร้างช่องทางที่เชื่อมโยงความรู้สู่คนไข้ ผู้ดูแล และคนทั่วไปได้คงดีไม่น้อย นั่นจึงเป็นที่มาของเพจ ‘สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง’  

“ช่วงแรกๆ หมอมีหนังสือเมนูไข่ขาว เขียนโดย แม่ชีอรวสุ นพพรรค์ ซึ่งใครที่ต้องการหมอจะจัดส่งเล่มหนังสือทางไปรษณีย์ให้ฟรีทั่วประเทศไทย ตอนนี้แจกไปหมดแล้ว รวมทั้งยังมี ‘คู่มือจริงหรือไม่มะเร็งปอดไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด 2020’ และ ‘คู่มืออาการข้างเคียงจากการใช้ยารักษามะเร็งปอดแบบมุ่งเป้า’ ซึ่งจัดทำโดยหน่วยมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี แจกทั้งรูปแบบเล่มและไฟล์ซึ่งยังแจกอยู่จนถึงปัจจุบัน

“นอกจากความรู้เรื่องโรคมะเร็ง การรักษา คำแนะนำ และการดูแลผู้ป่วยที่หมอมีประสบการณ์ตรงแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่หมออยากสื่อสารคือแง่มุมของผู้ดูแลว่าพวกเรามีบทบาทอย่างไร มีเรื่องใดบ้างที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น ‘ผู้ดูแลซึ่งต้องมีภาระผู้ดูแล’ ที่ประชาชนทั่วๆ ไปยังไม่ค่อยเข้าใจคำนี้ได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายที่อาจไม่เข้าใจว่าทำไมลูกน้องต้องลางานทั้งวันเพื่อพาคุณพ่อคุณแม่ไปโรงพยาบาล เพื่อนอาจไม่เข้าใจว่าจะช่วยเหลือเพื่อนที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยได้อย่างไร หมอจึงพยายามเน้นย้ำ ไม่ว่าจะเป็นในเพจหรือว่าในการเสวนาต่างๆ ที่มีโอกาสได้ไปร่วมงานว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ดูแลมีบทบาทสำคัญมากในการที่จะทำให้การรักษาเป็นไปในรูปแบบไหน มีผู้ดูแลมากมายที่ไม่เลือกรักษาแบบแผนปัจจุบันเพราะความไม่รู้ ความกลัว จึงเลือกพาผู้ป่วยไปแสวงรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งทำให้เสียเวลาและโอกาสไป ประเด็นดังกล่าวทำให้เห็นว่าผู้ดูแลมีบทบาทอย่างมาก ฉะนั้น ตัวเพจจึงมุ่งที่จะให้ความรู้กับผู้ดูแลด้วยเพื่อให้พวกเขามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะจริงๆ เวลาคุณหมอเจ้าของไข้แนะนำอะไร เช่น “เรื่องของการรักษา หมอจะผ่าตัดและให้เคมีบำบัด ไม่ต้องกลัวนะ” คนไข้อาจจะรู้สึกว่าที่หมอบอกไม่ต้องกลัวเพราะหมอหรือคุณพ่อคุณแม่ของหมอไม่ได้ป่วยนี่นา แต่การทำเพจนี้ขึ้น หมอไม่จำเป็นต้องพูดอะไรเยอะ เพราะสิ่งที่เรานำเสนอเป็นประสบการณ์จากตัวหมอจริงๆ ที่ท้ายที่สุดมันจะหนักแน่นขึ้นไปเอง เพราะคนจะได้เห็นว่าหมอมุ่งมั่นกับการรักษาและติดตามผลอาการของคุณแม่อย่างต่อเนื่องขนาดไหน หมอตัดสินใจอย่างรวดเร็วที่ให้ท่านเข้ารับการรักษาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้ลังเลหรือรีรอ รวมทั้งเคมีบำบัดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และเป็นทางเลือกที่หมอเลือกในการรักษาคุณแม่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นหมอจึงไม่อยากให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลกลัวที่จะเข้ารับการรักษา ไม่อยากให้ปล่อยเวลาล่วงเลยจนสายเกินไป ซึ่งถ้าทำได้ตามเป้าหมายนี้ได้หมอถือว่าเพจบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว แต่ปรากฏว่ามีคนมาดูเยอะ จึงทำให้หมอได้เผยแพร่ความรู้ไปมากพอสมควรจนเกิดชุมชนที่น่ารักแห่งนี้ขึ้น”  

เมื่อโรคเปลี่ยนโลก

“ต้องอธิบายอย่างนี้ค่ะว่า ความรู้กับมุมมองของหมออยู่แยกกัน ในแง่ของความรู้ หมอรู้ว่าคุณแม่เป็นมะเร็ง อยู่ในระยะที่เท่าไหร่ การรักษาต้องดำเนินไปอย่างไร แต่ในส่วนของมุมมอง หมอไม่ได้ต่างจากคนทั่วไป ถามว่าตอนที่รู้ว่าคุณแม่เป็นมะเร็งตกใจหรือกลัวไหม หมอตกใจ ซึ่งในความเป็นหมอไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างจะง่ายไปเสียทั้งหมด อาจจะง่ายในแง่ที่ว่าเราเข้าใจศัพท์ทางการแพทย์ เราค้นคว้าเป็น แต่ว่าหมอไม่ได้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็ง เรายังต้องหาความรู้และทำความเข้าใจอะไรอีกหลายอย่าง รวมไปถึงต้องกลับมาอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและความเป็นไปได้เหมือนมนุษย์ปกติ เช่น มะเร็งระยะที่ 4 ที่คุณแม่เป็นจะไม่หายนะ แต่ว่าหมอมีมุมมองบางอย่างที่อาจจะต่างจากคนอื่นบ้าง เช่น โรคไม่หายแต่เราสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ มีอัตราการรอดชีวิตที่มากขึ้นได้ หรือในฐานะที่เป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว ปกติหมอจะต้องดูแลทั้งผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวว่าควรจะมีบทบาทอย่างไร ควรจะจัดสรรเวลาอย่างไร เราจึงมองออกว่าผู้ดูแลจะสามารถช่วยผู้ป่วยอย่างไรให้มีความต่อเนื่องและมีความเป็นองค์รวมในการที่จะดูแลเขาได้ 

“สิ่งที่เปลี่ยนไป คงต้องบอกว่าหมอมองอะไรต่างๆ รอบตัวได้ลึกซึ้งและเข้าใจมากขึ้น อย่างตอนตรวจรักษา หมอเห็นลูกๆ พาคุณพ่อคุณแม่มาหา แล้วขอให้หมอช่วยนัดวันที่ไม่ใช่เป็นวันทำงานของเขาได้ไหม หรือบางทีคนไข้เล่าให้ฟังว่าต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เดินทางจากอยุธยาเพื่อไปรักษาที่โรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯ เมื่อก่อนเราจะเข้าใจเขาในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมาเป็นผู้ดูแล ได้อยู่ในจุดเดียวกัน นั่นทำให้เรารู้สึกลึกซึ้งและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น 

“การมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งทำให้หมอเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวัฏจักรและเรื่องธรรมดาที่เราทุกคนต้องเผชิญ แต่ว่าในแต่ละขั้นตอน เราจะทำอย่างไรให้ผ่านพ้นไปอย่างดีที่สุด เมื่อก่อนหมอไม่ได้เข้มงวดกับตัวเองมากนัก คิดแค่ว่าเดี๋ยวเราถึงสเต็ปไหน ก็เผชิญกันไปตามสเต็ปนั้นแหละ แต่เมื่อได้ดูแลคุณแม่ หมอจึงใช้ชีวิตอย่างระวังมากขึ้น รู้สึกว่าเราต้องใช้ชีวิตให้ดี ต้องดูแลสุขภาพให้ดี บางเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ ก็หลีกเลี่ยงเถอะ อย่านอนดึกมาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่าขี้เกียจ หรือโรคใดๆ ที่สามารถป้องกันได้ เราก็ควรจะทำ แต่หากเราหลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นโรคอะไรสักอย่างขึ้นมาแล้ว การตระเตรียมในเบื้องต้นจะทำให้ทุกๆ อย่างผ่อนคลายลงได้ 

“หมอยังพบว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเป็นผู้ดูแล คือตัวเองมีความสุขง่ายและสุขกับสิ่งใกล้ตัวได้มากขึ้น เป็นความสุขที่ไม่ซับซ้อน แค่ได้ทานของอร่อย นอนหลับ เล่นกีฬา วิ่ง ปั่นจักรยาน ก็สุขแล้ว ถ้าชีวิตจะต้องไปผูกติดว่าความสุขของฉันคือการไปช็อปปิ้งต่างประเทศเท่านั้น ป่านนี้หมอคงระทมทุกข์ เลยรู้สึกว่าเรื่องหนึ่งที่ผู้ดูแลสามารถปรับมุมมองได้คือการแสวงหาความสุขจากเรื่องง่ายๆ อาศัยเก็บเกี่ยวความสุขย่อยๆ ในแต่ละวัน เจ้ามะเร็งนี่ยังทำให้หมอคิดไปไกลแบบสเกลโลกเลยนะคะ อย่างคุณแม่เป็นมะเร็งปอด หมอจึงไม่อยากให้ใครสูบบุหรี่ เพราะมันหนักหนาสาหัสมากจริงๆ อยากปลูกต้นไม้เยอะๆ ให้สิ่งแวดล้อมดีๆ ไม่มีมลพิษ การที่แม่เป็นมะเร็งปอดทำให้เราคิดถึงคนอื่นมากขึ้นเยอะเลยค่ะ”

บัญญัติหลายประการกับภารกิจดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

“สำหรับคำแนะนำกับผู้ดูแลด้วยกัน จากประสบการณ์ที่หมอดูแลคุณแม่มาจนถึงทุกวันนี้ ต้องบอกก่อนเลยว่าหากคุณต้องรับมือกับมะเร็ง คุณต้องไม่กลัวจนเกินไป ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงมะเร็งปุ๊บ คนมักจินตนาการถึงความตาย คิดไปไกลแล้วว่าคงอยู่ได้อีกเพียงไม่กี่เดือน แต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีทางการแพทย์มีพัฒนาการที่ดีและมีหนทางรักษามากมายอย่างทุกวันนี้ที่ทำให้การรักษามะเร็งไม่ได้ยากจนเกินไปแล้ว ทัศนคติของผู้ป่วยและผู้ดูแลจำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยว่าการดูแลรักษาโรคดังกล่าวไม่ต่างไปจากโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่อยู่กันได้ยาวๆ แล้ว หากนึกถึงใครไม่ออก นึกถึงคุณแม่หมอบัวก็ได้

“เรื่องที่สอง มะเร็งเป็นโรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่มีแนวโน้มที่เราจะต้องอยู่กับผู้ป่วยแบบยาวๆ อย่างที่บอก ผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัวมีความพร้อมแค่ไหน ข้อหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ก่อนที่จะดูแลคนอื่นได้ เราจะต้องดูแลตัวเองให้ดีก่อน อย่าลืมตรวจสุขภาพตัวเองบ้าง ในงานวิจัยต่างๆ หรือการสำรวจที่พบโดยส่วนใหญ่ ผู้ดูแลแทบจะไม่มีเวลาในการจัดการสุขภาพของตัวเองเลย เช่น ไม่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ได้ตรวจสุขภาพฟัน เพราะต้องวุ่นอยู่กับการดูแลผู้ป่วย การจัดการงานของตัวเอง ที่อยู่อาศัย กิจวัตรประจำวันของคนไข้ เพราะฉะนั้น หมอจึงเน้นย้ำว่าผู้ดูแลจะต้องไม่ละเลยเรื่องสุขภาพของตัวเอง

“นอกจากนี้ หมออยากให้เราดูแลกันด้วยความรู้ ความรัก และความเข้าใจ การดูแลด้วยความรู้คือเข้าให้ถูกช่องทาง เสาะแสวงหาให้ถูกทาง สอบถามจากคุณหมอและผู้มีประสบการณ์ ส่วนความรักและความเข้าใจหมายถึงสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วย คุยกันให้เข้าใจว่าเราจะเดินหน้ากันไปอย่างไร ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการมีความหวังและให้กำลังใจกันและกันเสมอ ถ้าจะไปต่อแบบยาวๆ 

“มีคนมาถามหมอเยอะเลยว่าดูแลคุณแม่มากว่า 9 ปีแล้ว ทำได้อย่างไร หมอมักจะบอกเขาเป็น motto ไว้ 4 ข้อ คือ 1) ตั้งสติให้เร็ว 2) ปรับตัวให้ทัน 3) อดทนให้นาน และ 4) จัดการให้ดี ตั้งสติคือเวลาคุณหมอวินิจฉัยและแจ้งให้เราทราบ อย่างกรณีของคุณแม่ของหมอ ท่านอึ้งไปเลยนะคะหลังจากได้ยินคำว่ามะเร็ง ไม่ได้ยินอะไรอีกเลย เพราะฉะนั้นคนที่ต้องตั้งสติให้เร็วคือผู้ดูแล จัดการความเครียดของตัวเองให้ดี เมื่อดึงสติกลับมาได้แล้ว เราจะรู้ว่าต้องทำอะไรต่อ จากนั้นคือการปรับตัวให้ทัน เพราะคนไข้จะปรับตัวทันไม่ทัน เราต้องปรับตัวก่อน อย่างหมอเมื่อรู้ว่าคุณแม่ต้องเข้ารับการรักษา เราต้องมาเช็กว่าจะต้องไปนอนโรงพยาบาลกี่วัน แล้วจึงวางแผนและจัดการหน้าที่การงานให้เสร็จสิ้น จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำ อะไรต้องให้คนอื่นช่วย ต้องบอก มีปัญหาอะไรต้องปรึกษาคนที่ปรึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิท สำหรับความอดทน เมื่อมะเร็งเข้ามาในชีวิตของคนที่เรารัก แน่นอนชีวิตของเราจะต้องเปลี่ยนไป เรื่องบางเรื่องอาจจะไม่เป็นไปตามที่เราคิดหรือวางแผนไว้ เราอาจจะต้องเสียสละในหลายๆ เรื่อง ทั้งเวลาที่ต้องจัดสรรให้เหมาะสม โอกาสในชีวิต การเงินที่อาจจะต้องประหยัดมากขึ้น เรื่องงานที่อาจจะต้องลดงานที่ไม่จำเป็นลง หรือความสัมพันธ์ที่บางคนมีครอบครัวเป็นของตัวเองต้องพูดคุยให้เข้าใจกัน ในจุดนี้ความอดทนจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราผ่านช่วงยากๆ ในชีวิตไปได้ แต่หากวันใดที่ถึงจุดที่จะทนไม่ไหวและต้องการความช่วยเหลือ อย่ารีรอที่จะร้องขอ ลองดูว่ามีใครไหมที่สามารถช่วยเราในเรื่องนั้นๆ ได้บ้าง 

“จริงๆ ในหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวที่หมอทำงานอยู่ เราจะต้องดูแลทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลควบคู่กันไป แต่ว่าในโลกของความเป็นจริง ผู้ดูแลมักถูกลืม เพราะคนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับผู้ป่วยว่า “เก่งจังเลยที่รอดชีวิตจากมะเร็งได้” เราจะอยากรู้ว่าตัวผู้ป่วยเก่งอย่างไร คุณหมอผู้รักษาเก่งอย่างไร หรือใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์อะไร แต่ว่าผู้ดูแลคือคนที่อยู่ข้างหลังเสมอในทุกๆ การเดินทางเลยนะคะ หมอไม่ได้พูดเพราะว่าตัวเองเป็นผู้ดูแลนะ เพียงแต่ว่าหมอเชื่อว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาสมควรได้รับกำลังใจและเห็นคุณค่าเช่นกัน หมอจึงอยากขอบคุณมากๆ ที่ให้โอกาสหมอได้มีพื้นที่ในการช่วยเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับผู้ดูแลค่ะ (ยิ้ม)”

  • แพทย์ในดวงใจ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในโครงการแพทย์ในดวงใจ ๗๗ จังหวัด โดย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2562
  • แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดีเด่นด้านบริการ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ 2562
  • คนดีศรีปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมเวชกรรมสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2564

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: กำพล วชิระอัศกร 

นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ กับเป้าหมายเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน

‘หมอบัว’ หรือ ‘อาจารย์บัว’ เป็นคำพูดติดปากที่ใครต่างใช้เรียก อาจารย์นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการการผ่าตัดเต้านมและมะเร็งเต้านมคนนี้ นอกจากบทบาทคุณหมอและอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลแล้ว หมอบัวยังเป็นผู้ก่อตั้งเพจ ‘เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua’ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะสร้างพื้นที่กลางสำหรับให้ความรู้แบบทุกมิติเกี่ยวกับเต้านม รวมถึงโรคมะเร็งเต้านมแก่ประชาชน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว วันนี้เรามีนัดกับหมอบัวเพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่เขาได้ทำและกำลังจะทำเกี่ยวกับโรคมะเร็งแบบเอ็กซ์คลูซีฟ 

สร้างประโยชน์จากความรู้และแรงกาย  

“ย้อนกลับไปตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ นอกจากวิชากายวิภาคแล้ว ผมยังชอบเกี่ยวกับงานฝีมือ งานหัตถการ ซึ่งพบว่าการเป็นหมอผ่าตัดตอบโจทย์เราในแง่ที่ว่าเราสามารถใช้ความรู้ความถนัดได้อย่างเต็มที่ ส่วนทำไมถึงเลือกเต้านมและโฟกัสที่ด้านมะเร็งด้วย อย่างแรกเป็นเพราะผมมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคดังกล่าว ก็คิดว่าถ้าเรามีความรู้และความเข้าใจเรื่องมะเร็งเต้านม นั่นจะทำให้เราสามารถช่วยคนในครอบครัวได้นะ อีกเหตุผลหนึ่งคือมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง เป็นโรคที่อาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งอวัยวะ ร่างกาย และชีวิต ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ความรู้ด้านศัลยศาสตร์มาทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและอยู่ได้ยาวนานแบบมีคุณภาพ นี่จึงเป็นแรงกระตุ้นลึกๆ ที่ทำให้สนใจงานด้านนี้ครับ”

สำหรับหมอบัว การดูสุขภาพให้กับผู้คนไม่ใช่แค่การเข้าไปรักษาเพื่อให้หายจากโรคเพียงอย่างเดียว แต่คือการสื่อสารกับผู้ป่วย ครอบครัว และสาธารณชนเพื่อให้พวกเขามีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลและป้องกันตัวเองได้อย่างมีสติและเหมาะสมด้วย

“สำหรับเพจ ‘เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua’ ผมเริ่มทำมาตั้งแต่ตอนจบศัลยแพทย์ทั่วไปและต่อยอดศัลยแพทย์ตกแต่งซึ่งตอนนั้นได้มาปฏิบัติงานอยู่ที่ประเทศอิตาลีเป็นเวลา 5 ปี ถ้านับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว จำได้ว่าตัวเองเริ่มใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดต่อกับเพื่อนๆ แต่ตอนนั้นเราอยากใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กไปด้วย จึงดูว่าเราสามารถจะทำอะไรในแง่ไหนได้อีกบ้าง จนมาตกผลึกว่าเราสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้สำหรับสื่อสารและให้ความรู้ในสิ่งที่เรามีได้นี่นา เนื่องจากผมคิดว่า การที่ผมตรวจคนไข้ใน 1 วันใช้เวลาเคสละ 15 นาที ผมอาจจะตรวจรักษาและให้ความรู้คนไข้ได้ 30-50 เคสต่อวัน แต่ถ้าเรามีแพลตฟอร์มกลางที่สามารถกระจายความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนได้ นั่นจะทำให้ผมมีโอกาสได้ส่งต่อสิ่งที่มีสู่สาธารณชนได้กว้างขึ้น จากผู้รับสารจำนวนไม่มาก ความรู้จะสามารถเข้าถึงคนในหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นได้ในเวลาอันสั้น 

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

“หนึ่งในเหตุผลหลัก ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ซึ่งหากเราสามารถกระจายความรู้ที่ถูกต้องได้ ทั้งคนทั่วไปเอง รวมถึงคนป่วยจะสามารถเฝ้าระวังและดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีได้ เช่น คนยังเข้าใจผิดอยู่ว่าหากเป็นมะเร็งแล้วเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันถือว่ามีการพยากรณ์โรคและผลการรักษาที่ดีมาก ซึ่งการรักษาที่ดีนั้นเกิดจากสหสาขา ตัวอย่างเช่น เคมีบำบัดในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อนมาก หากโรคอยู่ในระยะต้นๆ แพทย์สามารถให้ยาเคมีเพื่อครอบคลุมและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ รวมถึงยาเคมีบำบัดในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลที่รุนแรงต่อผู้ป่วยที่จะทำให้มือเท้าลอก ผมร่วง ปากเท้าเปื่อย ไม่ใช่นะครับ เคมีในปัจจุบันมีหลายสูตรซึ่งไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนแต่ก่อน หรือการฉายรังสีเองก็ไม่ใช่ว่าฉายแล้วรังสีจะแพร่ไปสู่คนอื่น เมื่อฉายรังสีแล้วไม่ได้มีผลเสียอะไร หรือการเป็นมะเร็งเต้านมจะต้องตัดเต้านมเท่านั้น ก็ไม่จริงนะครับ มะเร็งเต้านมสามารถรักษาแบบเก็บเต้านมไว้ได้ด้วย ดังนั้น ยิ่งจำนวนคนที่ได้ความรู้กว้างและลึกมากขึ้นเท่าไหร่ นอกจากจะทำให้คนมีความรู้ที่ถูกต้องซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลและความเข้าใจผิดได้แล้ว ยังจะทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถเฝ้าระวัง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างสำหรับดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ในเวลาเดียวกัน

“ในมุมส่วนตัว การทำเพจนี้ขึ้น ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ในขณะเดียวกันยังได้เป็นผู้ได้รับ ทั้งกำลังใจ คำติชม และฟีดแบคต่างๆ มาจากคนอ่านและคนฟังด้วย ที่จริงเพจนี้ไม่ใช่ของผมเพียงคนเดียวหรอกครับ แต่เป็นเพจที่เกิดจากผู้อ่าน คนไข้ หรือแม้แต่ญาติคนไข้ช่วยกันแนะนำติชมจนทำให้เพจสามารถเดินหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ เหมือนกับผมเป็นสื่อกลางระหว่างความรู้ด้านเต้านมกับคนไข้ แล้วประสานให้ทุกคนได้ประโยชน์เท่าๆ กันมากกว่า ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ป่วยหรือเคสที่รักษากับผมจะเข้ามาอ่านได้เท่านั้น ไม่ใช่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเคสที่ไหน รักษาที่ไหน หรือว่าไม่ได้เป็นอะไรเลยก็ตาม แค่มาอ่านและได้ความรู้ไปตรงนี้กลับไป ผมก็ดีใจมากแล้ว ผมจะบอกทุกครั้งในไลฟ์ว่าถือว่าได้มาทำความดีและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ผมขอให้ความดีนี้ส่งผลให้ทุกคนสมบูรณ์แข็งแรงกันไปอย่างนี้ครับ”

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

ภารกิจร่วมด้วยช่วยกัน

“มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่ถ้าเทียบกับมะเร็งในหลายๆ ชนิดแล้ว ถือว่าเป็นมะเร็งที่ผลการรักษาเกือบจะดีที่สุดโดยเฉพาะในเคสที่พบในระยะต้น ดังนั้น ถ้ามาพบแพทย์แล้วแพทย์ให้การรักษาใดๆ ผมอยากจะให้ผู้ป่วยรับการรักษานั้นตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัด ฉายแสง ยาต้านฮอร์โมน หรือว่ายาพุ่งเป้า โดยระหว่างการรักษา อาจจะมีผลแทรกซ้อนบ้าง แต่ว่าผลประโยชน์จากการได้ยาเหล่านี้เรียกว่าสูงมากเลยครับ ฉะนั้น อยากบอกคนไข้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาก้าวหน้าไปมากแล้ว ไม่ต้องกังวลในการที่จะมารักษานะครับ

“นอกจากนี้แล้ว หลายๆ ครั้งแม้คนไข้จะต้องสู้ด้วยตัวเองระหว่างการรักษา แต่ผู้ดูแลเองก็มีบทบาทสำคัญไม่ต่างกัน เนื่องจากคนไข้จะผ่านระยะของโรค ตั้งแต่การปฏิเสธว่าทำไมฉันต้องเป็นโรคนี้ ไม่จริงหรอก ฉันทานอาหารมังสวิรัติจะเป็นมะเร็งได้อย่างไร ฉันไม่ได้สูบบุหรี่ทำไมถึงเป็น ต่อมาจะเริ่มรู้สึกโกรธ มีภาวะซึมเศร้า จากนั้นถึงจะยอมรับได้ ซึ่งถ้าเราเข้าใจกระบวนการที่จะเกิดขึ้น เราจะรับมือกับเขาได้ เช่น ช่วงที่เขากำลังปฏิเสธ เราต้องให้ความเข้าใจ ช่วงที่เขาโกรธ โมโหหงุดหงิด เราต้องเป็นกำลังใจว่าไม่เป็นไรนะ โรคนี้รักษาได้ หรือในช่วงที่เขามีภาวะซึมเศร้า เราต้องคอยซัพพอร์ตว่า การเป็นโรคนี้ไม่ใช่ความผิดใคร อย่าไปโทษใครหรือตัวเอง พอผ่านตรงนี้ไปถึงจุดที่เขายอมรับได้ ทุกอย่างจะเริ่มง่ายขึ้นครับ ส่วนใหญ่ในเคสที่ประสบความสำเร็จเรื่องการดูแลรักษาจะมาจากการที่ผู้ดูแลและคนรอบข้างให้เวลา ความรัก ความเข้าใจ นั่นจะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ

“สำหรับคนทั่วไปและสังคมเองยังสามารถช่วยสนับสนุนในแง่ของจิตใจผู้ป่วยมะเร็งได้เช่นกัน ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ผู้ป่วยมะเร็งเขาไม่ได้เลือกที่จะเป็น เพราะฉะนั้น เขาค่อนข้างมีการกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจเยอะอยู่แล้ว ดังนั้น ในฐานะคนทั่วไป ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เราเข้าใจและส่งกำลังใจ อย่างน้อยอย่ารังเกียจหรือพูดอะไรที่ทำให้เสียกำลังใจ เช่น การฉายรังสี บางคนจะกลัวว่าฉายรังสีแล้วจะเอามาติดหรือเปล่า รังสีจะมาแพร่ไหม หรืออาจจะมีคำว่า “ให้เคมีบำบัดเหรอ แย่แน่เลย” นั่นจะทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจได้ เพราะมะเร็งหลายๆ ชนิดสามารถรักษาและควบคุมโรคได้ คุยกับเขาเหมือนกับเป็นเพื่อน อยู่ดูแล และให้กำลังใจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญให้คนป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิม”

ตรวจมะเร็งเต้านม ทำอย่างไร แล้วใครควรตรวจ

“สำหรับคนทั่วไป อย่างแรก ต้องประเมินก่อนว่าตัวเองเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากน้อยขนาดไหน ถ้าเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงมาก เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม เคยฉายแสงหรือฉายรังสีบริเวณหน้าอก มีประวัติที่จะต้องได้รับฮอร์โมนเป็นเวลานานๆ เหล่านี้อาจจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้ รวมทั้งปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น ความเครียด ความอ้วน บุหรี่ ถ้าหากมีปัจจัยเหล่านี้ เราต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ผมอยากให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยง เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ขึ้นไป เช่น สมมติว่าคุณแม่อายุ 40 เป็นมะเร็งเต้ามนม มีลูกสาวอายุ 15 ก็สามารถพาลูกมารับคำแนะนำก่อนได้ว่าอายุเท่าไหร่ต้องตรวจอะไรอย่างไรบ้าง 

“ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง ผมแนะนำให้มีการคลำเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่าเต้านมปกติของเราเป็นอย่างไร และแนะนำให้ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ตรวจคัดกรองว่าจะต้องมาตรวจอีกทีเมื่อไหร่บ้าง ซึ่งหากวันหนึ่งมีก้อนที่ผิดปกติหรือว่าเจออะไรที่แปลกประหลาดไปจากเดิม เราจะสามารถทราบได้แต่เนิ่นๆ และมาพบคุณหมอได้ทันเวลา อย่างที่บอก มะเร็งเต้านม ถ้ารู้ไว การรักษาจะให้ผลดีครับ”

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

เมื่อ ‘การให้’ กลายเป็น ‘พลังแห่งความสุข’

“อาจเพราะผมมีคนใกล้ชิดในครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านม จึงทำให้ผมรู้สึกผูกพันกับคนไข้มะเร็งเต้านมอยู่แล้ว และการที่ผมทำงานตรงนี้ ทุกๆ ครั้งที่ได้รับคำขอบคุณจากคนไข้ หรือแค่เพียงเห็นว่าคนไข้หายจากโรค มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แค่นี้ผมก็หายเหนื่อยแล้วนะ ชีวิตคนเราจะรับอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นให้การรักษา ให้ความสบายใจ ให้ชีวิต ให้เต้านมใหม่ ให้การดูแลเขา เมื่อคนไข้มีความสุข สุขภาพดี ยิ่งจะทำให้ผมเหมือนมีพลังชีวิตคูณสอง สาม สี่ ด้วยซ้ำ แม้ผมทำงานเยอะและเหนื่อย แต่นี่เป็นความรู้สึกชื่นใจ สุขใจ และอยากจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีต่อไป  

“ตอนนี้สิ่งที่ผมทำควบคู่กันไปคือการวิจัยเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์เพื่อนำมาใช้กับคนไข้สำหรับช่วยในการเสริมสร้างเต้านม การรักษาแผลเต้านม แต่ทุกอย่างยังคงอยู่ในกระบวนการวิจัย ผมหวังว่าหากงานนี้สำเร็จลุล่วงนี่จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการรับมือกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมได้ในอนาคตครับ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

พรไพลิน ตันเจริญ นักศิลปะบำบัดผู้ออกแบบวิธีดูแลใจด้วยใจ

‘ศิลปะบำบัด’ คือการใช้กระบวนการทางศิลปะเป็นเครื่องมือในการเยียวยาและรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยศาสตร์ดังกล่าวนั้นมีอยู่หลากหลายแนวทางด้วยกัน ตั้งแต่แนวทางที่มุ่งเน้นให้เกิดการแสดงออกผ่านงานศิลปะอย่างสร้างสรรค์ แนวทางที่ใช้ทักษะศิลปะร่วมกับความรู้ในเชิงจิตวิทยา ไปจนถึงแนวทางที่วิเคราะห์จากสิ่งที่ปรากฏในภาพและเนื้อตัวของผู้เข้ารับการบำบัด สำหรับ ทราย – พรไพลิน ตันเจริญ ผู้เป็นทั้งครูและนักออกแบบกระบวนการศิลปะ ‘ศิลปะบำบัด’ ของเธอเป็นแนวทางที่นำเอาความรู้ของศิลปะมาผสมผสานกับมนุษยปรัชญา (ปรัชญาความเป็นมนุษย์) ซึ่งโฟกัสไปกับการศึกษาถึงพื้นฐานจิตใจของความเป็นมนุษย์ เพื่อออกแบบวิธีการให้ผู้คนได้มีโอกาสสำรวจและเข้าใจจิตใจตัวเอง โดยศาสตร์ที่เธอได้เรียนรู้มา ไม่เพียงแต่จะใช้ในการดูแลใจและร้อยเรียงชีวิตให้เกิดสมดุลเท่านั้น แต่ในโรคทางกายทั้งหลาย รวมไปถึง ‘โรคมะเร็ง’ ศิลปะก็สามารถช่วยบำบัดได้เช่นเดียวกัน แล้วศาสตร์ที่ว่านี้จะสามารถช่วยเปิดประตูให้เราเข้าไปสัมผัสสิ่งที่อยู่ภายในและเบื้องลึกของชีวิตเพื่อจะนำไปสู่การมีสุภาวะที่ดีได้อย่างไร ไปฟังเธอเล่าให้ฟังในบทสัมภาษณ์นี้กัน

ศาสตร์แห่งการเยียวยาจิตใจ

ก่อนจะมาเป็นนักศิลปะบำบัดอย่างทุกวันนี้ ทรายเคยทำงานเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์มาก่อน เธอใช้ชีวิตเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไปแบบ work hard, play harder จนมาถึงจุดที่ย่ำแย่ที่สุดของร่างกายและจิตใจ เธอพบว่าเวลานั้น แม้แต่ ‘ศิลปะ’ ก็ไม่ช่วยเยียวยาเธอได้เลย กระทั่งเมื่อเธอไปพบกับ ‘ศิลปะบำบัด’ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต

“ตอนที่ทำงานใหม่ๆ ทรายเต็มที่ทั้งกับงานและชีวิตมากๆ จนวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วล้มตึงลงไปเลย เราไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งทางบริษัทสามารถหาคนมาทำงานแทนเราได้ทันที เพราะแน่นอนว่าเขาต้องหาคนมาเพื่อทำให้งานเสร็จลุล่วงตามเวลา แต่สำหรับเรา พอเจอเหตุการณ์นี้ขึ้นจึงเกิดคำถามว่า แล้วคุณค่าของเราอยู่ที่ไหนกัน เมื่อเกิดวิกฤตของชีวิต ทำไมศิลปะไม่ช่วยเยียวยาเราได้เลย พอเกิดคำถามนี้ขึ้น ทรายไปค้นหาแล้วเจอคำว่า ‘ศิลปะบำบัด’ และรู้สึกสนใจ พอดีกันกับที่สถาบัน Anthroposophy Art Therapy ซึ่งขึ้นตรงกับ Goetheanum ในสวิตเซอร์แลนด์มาเปิดหลักสูตรที่ไทยพอดี จึงมีโอกาสได้เข้าเรียน

“การได้เข้าเรียนหลักสูตรนี้เรียกว่าเบิกเนตรมากๆ เพราะทรายคิดว่าตัวเองมีทักษะเรื่องศิลปะแบบเต็มกระเป๋า กะว่าเสร็จเราแน่ๆ ไม่น่ายาก แต่พอเข้าเรียนจริงๆ คุณครูไม่สนใจเลยว่าผลงานจะออกมาสวยแค่ไหน เพราะสิ่งที่เราเรียนคือปรัชญา, การแพทย์ และศิลปะ ซึ่งใน 3 พาร์ท เราเก่งอยู่แค่พาร์ทเดียว นอกนั้นเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของทรายเกิดขึ้นตอนทรายเรียนอยู่ปีที่ 3 เพราะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมองงานศิลปะเปลี่ยนไป เวลาเห็นคนที่ทำงานศิลปะแล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้มองที่เขาทำได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสนใจคือทำไมเขามือสั่น หรือสีที่เขาใช้ทำไมสีที่ใช้จืดจางจังเลย แทนที่คุณภาพของสีควรจะเป็นแบบนี้ หรือสีในหลอดเดียวกันนี้ แต่ทำไมคน 10 คนเวลาระบายถึงได้แตกต่างกันล่ะ

“แล้วนักศิลปะบำบัดมีหน้าที่อะไร ในกระบวนการทางปรัชญา เราจะเรียนว่ามนุษย์มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ได้มาเกิดบนโลกนี้กับพ่อแม่คนนี้ด้วยภารกิจอะไร เราจะตายไปพร้อมภารกิจอะไร ดังนั้น การที่เราทำงานกับมนุษย์ เราควรจะรู้ปรัชญาความเป็นมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงการจากโลกนี้ไป พอเรารูว่าชีวิตของมนุษย์วนเวียนอยู่ในวัฏฏะที่ไม่รู้จักจบสิ้น ต้องพบกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังนั้น เมื่อเราเจอคนไข้ที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติของชีวิต อย่างเช่น ไม่ยอมรับเลยว่าฉันเจ็บ ฉันป่วย เราจะไปทำงานตรงนั้นเพื่อบอกเขาว่านี่คือสัจจะ เรื่องจริงของชีวิตนะ ทำอย่างไรให้เขาอยู่กับความจริงและยอมรับตรงนั้นให้ได้ ด้วยการทำงานกับธรรมชาติ กับความเปลี่ยนแปลงของเวลารอบตัวเพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งนี้เป็นสัจธรรม เป็นการยอมรับเพื่อให้เห็นแจ้งและนำไปสู่การเลือกชีวิตของตนเอง ไม่ใช่ศิโรราบต่อโชคชะตา”

ศิลปะบำบัดใคร

“ศิลปะบำบัดมักจะถูกใช้ควบคู่ไปกับการดูแลทางการแพทย์ เพราะเขาเชื่อว่าการแพทย์เป็นการรักษาทางกาย ขณะที่ทางใจและในระดับจิตวิญญาณ จะเป็นศิลปะนี่แหละที่เข้าทำงานกับใจ (mind and soul) ของคน ซึ่งศิลปะบำบัดสามารถใช้ได้กับใครก็ตามที่ต้องการหลุดพ้นจากปมปัญหา ความกังวล ความเครียด รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยที่กำลังเผชิญโรคทางกายต่างๆ ศิลปะจะเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าไปช่วยพาเขาไปเจอปัญหาต่างๆ ภายในร่างกายและจิตใจ เพื่อทำความเข้าใจ ช่วยปลดปล่อยพลังลบในชีวิต เพื่อเข้าใจและค้นพบทางออกที่เหมาะสมกับตัวเอง 

“ใน 3 ปีที่ทรายเรียน ทรายวาดรูปเยอะมาก และนักเรียนทุกคนของทรายจะได้วาดรูปเยอะมาก ที่ทรายให้พวกเขาวาดรูปเพื่อให้รู้ว่าตนเองเป็นเช่นไรเมื่อผ่านกระบวนการของสี อย่างเช่น การใช้สีแดง ถ้าเขาใส่น้ำเยอะมากๆ จนกลายเป็นสีชมพู ทำเท่าไหร่ก็เป็นสีชมพู แต่เขาชี้บอกว่านี่สีแดง นั่นไม่ได้แปลว่าเขาผิดนะคะ แต่คือการสะท้อนให้เห็นว่าภายในใจของคนๆ นั้นเป็นอย่างไร หรือในคนที่มีความดันโลหิตต่ำ เขาจะใช้สีโทนเย็นมาก เวลาเขาใช้สีน้ำเงิน เราจะพบว่าโทนสีจะเข้มมาก เขาจะรู้สึกว่าอยู่ในนั้นแล้วสบายใจจังเลย เวลาระบายสีจะระบายช้าๆ เคลื่อนไหวช้า เพราะความดันเขาต่ำ ซึ่งถ้าเราอยากให้ความดันของเขาสูงขึ้น เราจะเพิ่มสีส้มหรือสีโทนอุ่นเข้าไปในรูปของเขา เช่น เสนอแนะว่าลองใส่พระอาทิตย์ลงไปในดูไหมคะ แล้วให้ภาพสว่างขึ้นมาเพื่อที่จะสมดุลความเย็นของสีน้ำเงิน 

“อีกหนึ่งตัวอย่าง เช่น คนไข้มะเร็งที่เราพบว่าในคนไข้บางราย มักจะทำอะไรเป็นระบบระเบียบ ทำแบบเดิมๆ ซ้ำๆ สมมติว่าให้เขาลองวาดรูปก้อนเมฆ เขาจะวาดก้อนเมฆก้อนเท่าๆ กัน เรียงแถวเป็นเส้นตรง โดยจะไม่สามารถวาดกระจัดกระจายแบบที่เราเห็นบนท้องฟ้าได้ ภาพที่ออกมาจะเป็นระเบียบ แต่ไม่เป็นธรรมชาติ นั่นทำให้เห็นว่าแม้แต่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ เขายังเรียงให้เป็นระเบียบเลย ดังนั้น เราจะต้องไปคุยแล้วว่าในชีวิตประจำวันของเขา บุคลิกลักษณะ และความรู้สึกนึกคิดของเขาเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วหรือเปล่า หรือเขามีปัญหากับบุคลิกและความคิดอย่างนั้นของเขาไหม หลังจากผ่านกระบวนเหล่านี้แล้ว เราจะมาดูว่าเราใช้วิธีไหนในการแก้ไขสิ่งที่เขาเป็น

“ในทางศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ภาพศิลปะที่ออกมานอกจากจะสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในความคิดและใจของเขาได้และยังสามารถบ่งบอกถึงเซลล์ภายในได้ อย่างเช่น เซลล์มะเร็งที่จะจำลองตัวเองซ้ำๆ แล้วสร้างตัวจากก้อนเล็กไปเป็นก้อนใหญ่ เป็นเนื้อเยื่อที่สร้างเครือข่ายให้ตัวเองอย่างเป็นแพทเทิร์น ดังนั้น คนที่เป็นมะเร็งจึงมีแนวโน้มว่าจะทำงานเป็นแพทเทิร์นได้ดี ทีนี้สิ่งที่ทรายจะทำคือ ถ้าสมมติว่าแพทเทิร์นนี้เกิดขึ้นแล้วเราอยากให้คลายลง เราจะใช้สีน้ำด้วยเทคนิค wet on wet กับคนคนนี้ เพื่อให้เขาทำงานแบบอื่นบ้างที่ไม่ใช่กับการทำงานแบบที่เป็นแบบแผน (pattern) ที่ตัวเองสร้างขึ้น แต่จะให้ไปสังเกตธรรมชาติเยอะๆ เพราะในธรรมชาติเองก็มีความเป็นระเบียบ แต่เป็นความเป็นระเบียบที่ไม่ได้ถูกบังคับ งานที่ให้ทำก็เช่น ไปเดินในสวน จัดดอกไม้ วาดรูปวิวทิวทัศน์ เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงแบบที่ธรรมชาติเป็นจริงๆ และทั้งหมดที่เล่ามาคือการทำงานภายใต้ความเห็นของแพทย์เท่านั้น

“เหล่านี้คือการทำงานของทรายในศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา ดังนั้น เราจะไม่ตีความรูป เพราะมีเพียงเจ้าของรูปเท่านั้นที่จะบอกเราได้ แต่งานของทรายคือการออกแบบกระบวนการโดยการ เลือกใช้สีและเทคนิค หรือวัสดุศิลปะที่เหมาะสมเพื่อปรับให้ภาวะด้านในของเขากลับมาสู่ภาวะสมดุล”

ใจเปิดกว้าง ละวางอคติ

“การทำงานศิลปะบำบัด เอาจริงๆ ทรายไม่ได้อะไรเลยในเรื่องทักษะ ซึ่งถ้าถามตัวเองตอนอายุ 27 ที่ยังเป็นนักออกแบบคิดว่าตัวเองเก่งศิลปะ แล้วมาเรียนศิลปะบำบัดใหม่ๆ ทรายอยากจะหันไปบอกตัวเองตอนนั้นว่า “มาทำอะไรของแกเนี่ย เขาไม่ได้ดูเรื่องทักษะศิลปะอะไรเลย ตื่น!” แต่ว่าสิ่งที่ได้จะเป็นเรื่องชีวิต เรื่องปรัชญา กลายเป็นว่าอินกับปรัชญามากๆ เลย แล้วเปิดรับทุกอย่างที่เข้ามา ทุกศาสนา ทุกคำสอน ได้รู้ว่าชีวิตเราก็เท่านี้ สุดท้ายมนุษย์ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย พอเรามีความคิดแบบนี้เกิดขึ้น ทรายเลยคิดว่าในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ เราจะทำอย่างไรให้ตัวเองมีความสุข แต่ไม่ปฏิเสธความทุกข์

“การมาเรียนศิลปะบำบัดและใช้ศิลปะเพื่อฝึกตัวเอง ทำให้ทรายได้ฝึกใจเยอะมากๆ ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ทรายอาจจะเคลื่อนไหวและหวั่นไหวไปกับความรู้สึกที่เข้ามาได้ง่าย เช่น มีคนมาว่า ฉันโกรธ มีคนมาทำให้ฉันเศร้า ฉันร้องไห้ แต่เมื่อได้ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เหตุการณ์ที่พูดมาทั้งหมดนี้จะเกิดได้ยากขึ้น เพราะเข้าใจมันมากขึ้น อารมณ์จะเป็นประมาณว่า เศร้านะแต่ไม่ขนาดนั้น เห็นความเสียใจของตัวเองนะแต่ไม่สะเทือนเพราะแยกอารมณ์ออกจากเหตุผล ทำให้จากปกติ เมื่อทุกข์ปุ๊บ เราจะพุ่งไปหาคนอื่น แต่พอได้ฝึกใจมาประมาณหนึ่ง ทรายพบว่าทรายสามารถเรียกตัวเองกลับมาได้เร็วได้ด้วยตัวเอง และมองเรื่องที่ทำให้เป็นสุขหรือทุกข์เป็นเรื่องไม่จีรัง ตอนนี้ทรายพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นอยู่ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีอยู่เท่านี้ จะไปเสียเวลาเป็นทุกข์ทำไม คนที่พูดเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วเราจะไปโมโหเขา แล้วให้ความโมโหอยู่กับเรานานๆ แบบนี้เหรอ ทรายจึงสนุกกับการใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้นเยอะ”   

บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ปลดล็อกใจเราด้วยตัวเรา

“ลองสังเกตง่ายๆ ส่วนใหญ่เมื่อมีความทุกข์ คนเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราหาย เช่น ไปหาหมอ คุยกับเพื่อน ไปปรึกษาผู้รู้ หรือถ้ามีความสุขก็จะไปขอพรให้ได้มาอีก หรือให้อยู่กับเรานานๆ ทั้งที่วิธียั่งยืนกว่าคือ ‘การจัดการกับใจของเราเอง’

“หลักใหญ่ใจความของศิลปะบำบัด คือให้ศิลปะพาเราไปเข้าใจว่าเราเกิดมาเพื่ออะไรในภพชาตินี้ ให้รู้ว่าชีวิตประกอบไปด้วยความสุขและความทุกข์ ชีวิตมอบภารกิจนี้มาให้เรา เมื่อเรารู้ตัว เราจะสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือได้ถูก ซึ่งศิลปะบำบัดเป็นเครื่องมือที่ดีที่ให้เรารู้วิธีจัดการกับตัวเอง โดยวิธีการจัดการจะคล้ายๆ กับการนั่งสมาธินั่นแหละ ดังนั้น นิยามของศิลปะสำหรับทรายจึงเป็นได้ทุกอย่าง ทำตอนไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คุณสามารถจดจ่ออยู่กับมันในชั่วระยะเวลาหนึ่ง หากลองสังเกตเวลาที่เรามีสมาธิ เราจะมีโอกาสได้หยุดนิ่ง ได้สำรวจและรู้เท่าทันจิตใจตัวเองว่าตอนนี้เราทำอะไรและรู้สึกอย่างไร แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ทำให้รู้สึกสงบและนิ่งขึ้นได้ ใจที่ผ่านการฝึกมาจนเกิดสมาธิจะทำให้เวลาเราคิด พูด และทำจะมาพร้อมสติเสมอ และสติจะสอนให้เราดำเนินชีวิตอย่างละเมียดละไมมากขึ้น

“จนถึงตอนนี้ทรายยังวาดรูปทุกวัน หรือวันไหนที่อยากรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร ทรายจะวาดรูปออกมา มันช่วยให้เราเห็นและจัดการความไม่สบายใจของตัวเอง ส่วนใครก็ตามที่อยู่ในห้วงของความไม่สบายกายและใจ และถ้าคุณเลือกว่ากระบวนการของคุณจะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ จุดสำคัญคือคุณไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าคุณทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ไม่ต้องตั้งชื่อ หรือหาความหมาย แต่ให้ศิลปะเป็นวิธีในการฝึกและปฏิบัติ ถ้าคุณชอบขีดเส้น ลองใช้การขีดเส้นเป็นการฝึกไปแบบนั้น เริ่มจากเวลาสั้นๆ วันละ 5 นาที 10 นาที ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นครึ่งชั่วโมง เป็นชั่วโมงหนึ่ง ทรายเชื่อว่า 1 ปี ผ่านไป รูปแรกกับรูปปัจจุบันของจะไม่เหมือนกัน นั่นแสดงว่าเราได้เติบโตมาจากจุดเดิมนั้นแล้ว

“หรือถ้าไม่ใช่ศิลปะ จะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ คุณอาจจะลองจากการหั่นแครอทให้เป็นชิ้นขนาดเท่าๆ กัน ในวันแรกแครอทบนเขียงอาจจะเบี้ยวบ้างอะไรบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทรายเชื่อว่าแครอทนั้นจะเริ่มเท่ากัน จนวันหนึ่งคุณจะสามารถหั่นได้สวยโดยที่ไม่ต้องมองเขียงอีกแล้ว ซึ่งสิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้ระหว่างการหั่นแครอทคือการรู้เนื้อ รู้ตัว รู้ว่าทำอะไร ซึ่งหากเราทำได้เช่นนี้บ่อยขึ้นๆ เราจะเกิดความชำนาญในการรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเองและการจัดการความรู้สึกนั้นได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เมื่อเราเจอความทุกข์ เราจะรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร เรารู้ว่าต้องอยู่ในนั้นก่อนสักแป๊บนึงนะ แล้วถ้าต้องอยู่ในความทุกข์นั้น เราต้องเตรียมอะไรใส่เป้ของเราบ้าง เราฝึกอะไรมาแล้วบ้าง หยิบขึ้นมาใช้เสียเพื่อให้พร้อมตั้งรับกับความทุกข์นั้น ระหว่างที่คุณกำลังวุ่นกับการเตรียมตัวอยู่นั้น คุณจะพบเองว่า “โอ๊ะ ความทุกข์ผ่านไปแล้วนี่ ความทุกข์ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปนี่นา” เพราะชีวิตมีแค่นั้นจริงๆ นะคะ ดังนั้น ทรายว่าเรารื่นรมย์ไปกับชีวิตกันดีกว่าค่ะ (ยิ้ม)”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

PReMA กับการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical Research and Manufacturers Association) หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘PReMA’ คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีสมาชิกสมาคมเป็นบริษัทซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนายา องค์กรดังกล่าวนอกจากจะมีเป้าหมายใหญ่อย่างการต่อสู้กับโรคร้ายที่ยังไม่สามารถรักษาได้แล้ว ยังมีความตั้งใจในการแสวงหาแนวทางและการปฏิบัติเพื่อให้การรักษาโรคต่างๆ ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพดีขึ้นตีคู่กันมาติดๆ วันนี้ Art for Cancer มีนัดหมายกับ ดร. เก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ PReMA เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวขององค์กรแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภารกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีกว่าเดิม รวมไปถึงการเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนโครงการด้านสุขภาพตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีปลายทางคือการสร้างสุขภาพที่ดีและการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้คน อันมีผลต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาในทุกๆ มิติของประเทศได้อย่างยั่งยืน 

สร้างนวัตกรรมแห่งความหวัง

“บทบาทสำคัญของ PReMA คือ การส่งเสริมให้สมาชิกของสมาคมนำความก้าวหน้าด้านการวิจัยพัฒนาและการผลิตยาที่มีคุณภาพมาช่วยเหลือทั้งคนทั่วไปและผู้ป่วยเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เราพยายามส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาและนวัตกรรมได้ง่าย เป็นวงกว้างมากขึ้น และทันท่วงที ซึ่งนอกจากภารกิจที่ว่ามาแล้ว PReMA ยังให้ความสำคัญไปกับการเผยแพร่องค์ความรู้ การจัดอบรมและสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ในระบบสุขภาพ อีกทั้งยังสนับสนุนเรื่องการสร้างความเข้าใจในประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทางสุขภาพด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้ง PReMA และเหล่าสมาชิกยังมีพันธกิจที่สำคัญอีกอย่าง นั่นคือการพยายามสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่สังคมให้ได้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพของพวกเราจะทำได้ ซึ่งหากทำได้และประสบผลสำเร็จ นี่จะกลายเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในแวดวงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ และนวัตกรรมเหล่านี้นี่แหละที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างเท่าเทียมกัน”

แสวงหาหนทางที่ดีกว่าในการรักษาโรค

“ในปัจจุบัน มีโรคประเภทที่รักษาไม่หายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักวิทยาศาตร์ยังคงพยายามดิ้นรน ทำความเข้าใจ หาสาเหตุและวิธีการรักษา คิดค้นและพัฒนายา รวมถึงแนวทางการรักษาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องสำหรับรักษาโรคที่มีทั้งความก้าวหน้าและสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึง ‘โรคมะเร็ง’ ด้วย ซึ่งการวิจัยและพัฒนายาใหม่เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากวิชาชีพต่างๆ ที่จะมาช่วยกัน ทาง PReMA เองอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายนี้ พวกเราจึงมีพันธกิจหลักคือการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะหากเราทำได้สำเร็จ นั่นจะนำมาซึ่งสุขภาพคุณภาพชีวิตที่ดีที่ไม่ใช่เพียงแค่รายบุคคลเท่านั้น แต่คือสังคมและประเทศของเราด้วย” 

สานพลังพลิกชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง

“อย่างที่บอกว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพ รวมทั้งการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากหน่วยงานผู้กำกับดูแลนโยบาย สถาบันวิจัยต่างๆ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ และภาคเอกชน ในการร่วมสร้างโครงการและนวัตกรรมใหม่ๆ ในระบบสุขภาพให้เกิดขึ้น สำหรับ ‘Survivor Planner’  ทาง PReMA ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์จากโครงการนี้เป็นอย่างมากในการทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถใช้คู่ขนานไปกับการรักษา โดยที่ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถนำไปใช้เพื่อทำความเข้าใจสภาวะของโรคและขั้นตอนการรักษา สามารถบันทึกอาการ ผลข้างเคียง และอื่นๆ ขณะรับการรักษา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถใช้ข้อมูลในการจดบันทึกเป็นสมุดส่งตัวของผู้ป่วยได้ ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับทั้งผู้ป่วย ญาติ และบุคคลากรทางการแพทย์ตลอดเส้นทางการรักษาได้ในเวลาเดียวกัน” 

‘สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง’ (Survivor Planner) เกิดจากแรงบันดาลใจและความตั้งใจของ ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งโครงการอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล (Art for Cancer by Ireal) ด้วยวัตถุประสงค์และความมุ่งมั่นที่จะส่งต่อแนวทาง ทั้งในการรับมือกับโรคมะเร็งให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ครอบครัว และผู้ดูแลใกล้ชิด การเสริมสร้างกำลังใจ ส่งต่อความรู้ สร้างความเข้าใจ ไปจนถึงการให้แนวทางที่เป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโรคมะเร็ง ตลอดจนต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย ด้วยการเปลี่ยนมุมมองในการรับมือกับโรคมะเร็ง การรักษาโรคมะเร็งด้วยการวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม การให้ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตัวเองและปฏิบัติตัว และช่วยดูแลคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความหวังและกำลังใจพร้อมรับมือกับการรักษาและพิชิตโรคมะเร็งได้ โดยมีสมุดบันทึกพิชิตมะเร็งเป็นเพื่อนร่วมทาง รวมถึงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และพยาบาลให้แผนการรักษาเป็นไปได้ด้วยดี

ก้าวต่อไปกับการสร้างสุขภาวะที่ดี

“ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางด้านสุขภาพเป็นอันดับ 6 จาก 195 ประเทศ โดยเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับท็อปเทนของโลกและเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชีย ซึ่งนี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความสามารถในการรับมือต่อภาวะโรคที่มีอยู่และการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองยังสามารถที่จะพัฒนาและเพิ่มศักยภาพเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น นอกเหนือไปจากการสนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น Survivor Planner แล้ว ทาง PReMA ยังมีอีกหลายๆ โครงการที่เรามีโอกาสเข้าไปสนับสนุน รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้กับผู้ป่วยว่า 3 แสนรายสามารถเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยโดยครอบคลุม 5 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อ รวมไปถึงโรคมะเร็งอีกด้วย เราหวังว่า การสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนไทยไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นในอนาคต และยังเป็นผลต่อเนื่องที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, PReMA

ผกามาศ งานสถิร เพราะมะเร็งทำให้เข้าใจตัวเองและรับมือกับโลกได้ดีขึ้น

จนถึงตอนนี้ เป็นเวลา 2 ปีเต็มแล้วที่ แอน-ผกามาศ งานสถิร หายจากการโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เป็นเวลาเดียวกับที่เธอเพิ่งคลอดลูกคนที่สองได้เพียงไม่กี่เดือน นั่นทำให้นอกจากโรคทางกายที่เธอต้องดูแลแล้ว แอนยังต้องคงบทบาทของการเป็นคุณแม่ไว้ให้ได้อย่างดีที่สุด พร้อมๆ ไปกับการรับมือกับโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย แม้ความท้ายทายหลายๆ อย่างจะเกิดขึ้น แต่เธอดึงตัวเองให้กลับมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง จัดการทุกๆ อุปสรรคอย่างเป็นระบบระเบียบ เริ่มปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิต รวมทั้งหลีกเลี่ยงทุกความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อร่างกายของเธอ ตลอดจนตัดสินใจเปิดเพจ ‘ก็แค่มะเร็ง’ ขึ้น เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง โดยเป็นทั้งบันทึกความทรงจำของตัวเอง ขณะเดียวกัน เธอยังหวังว่าประสบการณ์ที่เธอถ่ายทอดอาจเป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในอนาคต และบรรทัดต่อจากนี้คือเรื่องราวจากแอนที่เล่าถึงมะเร็ง ชีวิต และการมองโลกที่เปลี่ยนไปของเธอ   

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รู้เร็ว รักษาหาย

“ช่วงปี 2562 แอนตรวจสุขภาพประจำปี หลังจากเห็นผลเอ็กซเรย์ คุณหมอพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ช่วงกลางอก แต่ไม่ได้มีอาการผิดปกติอะไร คุณหมอจึงขอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจและวินิจฉัย แต่กว่าจะทราบผลว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แอนต้องผ่านการตรวจหลายขั้นตอน จำได้ว่ากินเวลาประมาณ 3-4 เดือนในการค้นหาว่าเราเป็นอะไรกันแน่ เนื่องจากก้อนเนื้อมีลักษณะที่ไม่ชัดเจนจึงต้องมีการนำชิ้นเนื้อไปตรวจโดยการย้อมน้ำยาชนิดพิเศษอีกครั้งเพื่อจำแนกชนิดว่าเนื้องอกนั้นๆ เป็นเนื้องอกชนิดไหน มีเซลล์ต้นตอ หรือมีต้นกำเนิดมาจากเซลล์อะไร เพราะการตรวจย้อมธรรมดาในก้อนเนื้องอกของแอนยังไม่สามารถระบุได้ จนคุณหมอได้ข้อสรุปว่าแอนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สำหรับการรักษาจะเป็นการใช้เคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวจำนวน 1 คอร์ส ซึ่งแบ่งเป็น 6 ครั้ง พอให้คีโมครบ 3 ครั้ง คุณหมอได้ทำการเอ็กซเรย์เพื่อจะดูว่าก้อนเนื้อเป็นอย่างไร ซึ่งถือว่าการรักษาก้อนมะเร็งของแอนสามารถตอบสนองต่อยาได้ดี 

“ผลจากการทำคีโม่อย่างแรกคือแอนจะมีแผลในช่องปาก การดูแลส่วนนี้จึงใช้วิธีการกลั้วปากด้วยน้ำเกลือหลังทานข้าวเสร็จหรือเมื่อเวลาว่าง และพยายามอมน้ำแข็งเพื่อให้ไม่เกิดแผลในช่องปาก เพราะถ้าเป็นจะเจ็บมาก ซึ่งโดยปกติแล้วคนเป็นมะเร็งที่ให้คีโมจะเป็นแผลในช่องปากเยอะเหมือนกัน นอกจากนี้ ด้วยสูตรยาคีโมของแอนจะต้องทานยาสเตียรอยด์วันละ 20 เม็ด ทำให้ในหนึ่งอาทิตย์ต้องทานยาเป็นร้อยเม็ดเลย ซึ่งการทานสเตียรอยด์แม้เพียงเม็ดเดียวก็ทำให้แอนปวดท้องแล้วถ้าไม่ได้ทานข้าว แอนจึงต้องทานอาหารให้เยอะเมื่อต้องทานยา จะนั่งสักพักหนึ่งก่อนที่จะนอน และทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด ส่วนอาการอื่นๆ จะมีเรื่องปลายมือปลายเท้าชา ซึ่งคุณหมอจะให้บีบลูกบอลบ่อยๆ เพื่อออกกำลังกายมือไม่ให้ชา โดยอาการมือชากินเวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นอาการค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ จนตอนนี้อาการทุกอย่างหายเป็นปกติแล้วค่ะ

“ปัจจุบัน การดูแลสุขภาพของแอนจะไม่มีอะไรซับซ้อน อย่างแรกคือการติดตามผลทุก 4-6 เดือนออกกำลังกายพอประมาณตามเวลาและร่างกายอำนวย จะมีเรื่องอาหารที่แอนใส่ใจมากขึ้น โดยจะทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่ทานอาหารค้างคืน อาหารหมักดอง และอาหารแปรรูปต่างๆ รวมถึงไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนผลไม้ ตอนนี้แอนทานได้ทุกชนิด จะมีเข้มงวดหน่อยก็ตอนที่ให้คีโม ซึ่งจะเลือกทานโดยเลือกผลไม้เปลือกหนาและหลีกเลี่ยงผลไม้เปลือกบางเพื่อป้องกันเชื้อโรคและสารปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายค่ะ”

ใช้สติมองปัญหา

“สิ่งที่ยากมากๆ สำหรับแอนคือตอนที่ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แอนเพิ่งคลอดลูก ดังนั้น นอกจากความเครียดที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง และการคิดไปล่วงหน้าไปต่างๆ นานาว่าถ้ารักษาแล้วเราจะเป็นอย่างไร เริ่มจิตตกว่าเดี๋ยวผมจะต้องร่วง เดี๋ยวนั่นเดี๋ยวนี่แน่ๆ แล้วฮอร์โมนในช่วงหลังคลอดของแอนยังสวิงมากๆ ด้วย แถมมีอาการโรคซึมเศร้าเข้ามาเพิ่ม รวมถึงความกังวลในฐานะแม่ว่าหากการรักษาไม่เป็นผล ลูกของเราจะอยู่อย่างไร เรียกว่าทุกความรู้สึกถาโถมเข้ามาทั้งหมดเลย 

“สิ่งที่แอนทำตอนนั้นคือต้องกลับมาตั้งสติ เคลียร์กับตัวเองว่าตอนนี้เราเป็นมะเร็งแล้ว ต้องยอมรับความจริง พอคุยกับตัวเองรู้เรื่อง แอนจึงค่อยๆ เริ่มลำดับความคิดใหม่โดยเริ่มจากจัดการกับอาการซึมเศร้าก่อน แอนปรึกษาจิตแพทย์และทานยา โดยช่วงใกล้ๆ ที่จะหยุดยา แอนจะอยู่กับตัวเองเยอะพอสมควรเพื่อเช็คว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร โอเคไหม เมื่อคุณหมอแจ้งว่าโรคซึมเศร้าของแอนไม่ต้องทานยาแล้ว หลังจากนั้นถึงมาโฟกัสและเริ่มต้นรักษามะเร็งอย่างเต็มที่ ซึ่งระหว่างการรักษาด้วยคีโมไปประมาณสามอาทิตย์ ผมแอนเริ่มร่วง แอนจึงตัดปัญหาตรงนี้โดยการโกนผมเพื่อที่ตัวเองจะไม่ต้องมากังวลหรือจิตตกเรื่องความสวยงามและสามารถมาโฟกัสกับการดูแลตัวเองได้มากขึ้น”

‘ก็แค่มะเร็ง’ 

“จากประสบการณ์ เรามักจะเจอว่า ถ้าเป็นมะเร็งต้องตายสถานเดียว แอนเองก็รู็สึกว่าอย่างนั้นเหมือนกัน ทันทีที่รู้ว่าตัวเองเป็นว่าฉันต้องตายแน่ๆ เลย จนเมื่อตั้งสติและคิดว่าได้ว่าฉันจะรักษาตัวให้หาย เพราะมีคนหลายๆ คนที่รักษาได้และกลับมาเป็นปกติได้ เราต้องอยู่ในเปอร์เซ็นต์นี้ได้สิ กระทั่งแอนหาย ตอนนั้นเองที่รู้สึกว่า ‘ก็แค่มะเร็ง’ จริงๆ มะเร็งคือโรคที่เป็นได้ก็หายได้เหมือนกัน แอนจึงเปิดเพจ ‘ก็แค่มะเร็ง’ ขึ้นเพื่อแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกในช่วงเวลานั้นเพื่อให้แอนไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นมะเร็งและเราเลือกที่จะไม่ยอมแพ้ ขณะเดียวกัน แอนยังอยากถ่ายทอดประสบการณ์และส่งต่อพลังบวกให้กับคนอื่นได้เห็นว่า ขอให้เรายอมรับความจริงก่อน และมะเร็งก็เหมือนกับโรคอื่นๆ ที่เป็นได้ แต่เราสามารถหายจากการป่วยและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขดังเดิมนะหากเราไม่ยอมแพ้” 

ความงดงามในความทุกข์

“หลังจากเป็นมะเร็ง วิถีชีวิตแอนเปลี่ยนไปพอสมควร จากเมื่อก่อนที่เคยไปปาร์ตี้บ่อยๆ ทานอาหารไม่มีประโยชน์ นอนดึก เครียด แอนปรับความคิดตัวเองว่าหากเรายังใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ มะเร็งคงจะกลับมาแน่ๆ จากที่เคยทานอาหารรสหวานจัด ตักน้ำตาลใส่ก๋วยเตี๋ยวที 5-8 ช้อน แอนเปลี่ยนมาเน้นอาหารรสชาติจืดลง จากที่ปาร์ตี้ทุกคืน กิจกรรมแอนเปลี่ยนไป ตอนนี้ชอบทำบุญตักบาตร สวดมนต์ อยู่กับลูกๆ และให้เวลาพวกเขามากขึ้น จะไม่ไปเที่ยวหรือแบบปาร์ตี้ทุกคืนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว 

“การเป็นมะเร็ง ไม่เพียงแต่จะทำให้แอนกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเองและรักตัวแอนเองมากขึ้นเท่านั้น แต่มะเร็งยังช่วยคัดกรองคนในชีวิตที่รักและหวังดีกับเราจริงๆ จากแต่ก่อนที่จะแคร์ทุกคนและทุกสิ่งบนโลก แอนได้เห็นเลยว่าใครเป็นมิตรแท้ยามเราลำบาก ตอนนี้แอนให้ความสำคัญกับพวกเขามากกว่าเดิมเยอะมาก แอนอยากจะขอบคุณครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้ทิ้งแอนทั้งๆ ที่แอนเอาแต่ใจตัวเองมากเลยระหว่างการรักษา ขอบคุณทุกคนที่คอยสนับสนุนในทุกเรื่อง คอยเป็นกำลังใจอยู่ข้างๆ และไม่ทิ้งกันไปเสียก่อน พวกเขาทำให้เห็นเลยว่ามิตรภาพสวยงามขนาดไหน และแอนอยากขอบคุณและบอกตัวเองในเวลานั้นว่า ‘เก่งมากเลยนะที่ผ่านมาได้’”

จงมองโลกตามความเป็นจริง

“สำหรับแอน สิ่งที่ทำให้แอนมีกำลังใจเกิดขึ้นจากตัวเองเป็นลำดับแรกคือ การที่เราเชื่อมั่นว่าฉันจะต้องหาย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแรกและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้แอนกลับมาอยู่กับความจริงตรงหน้าและกล้าก้าวเดินต่อไป ซึ่งนอกจากตัวเองแล้ว การเชื่อมั่นและเข้าใจในกระบวนการรักษา การดูแลตัวเองให้ดี เป็นอีกสิ่งที่จะมาส่งเสริมให้เราหายจากการป่วยได้ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บใดก็ตาม  

“แอนขอส่งกำลังใจให้หลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากตรงนี้เพียงลำพังว่า จริงๆ แล้วเราสามารถให้กำลังใจตัวเองได้ ซึ่งหากเรายืนหยัดได้ด้วยตัวเอง นั่นจะเป็นอะไรที่ยั่งยืนและมั่นคงกว่า เพราะกำลังใจที่ดีที่สุดคือกำลังใจจากเราเอง ดังนั้น ดึงพลังนักสู้จากตัวเรา ไม่ต้องสู้เพื่อใคร สู้เพื่อให้ตัวเราอยู่ต่อไปได้อย่างดีในแต่ละวัน เมื่อจุดตั้งต้นเราคือสู้ พลังบวกเหล่านี้จะส่งต่อถึงคนรอบข้างได้ และเมื่อคนรอบตัวของเรามีกำลังใจที่ดี พลังบวกเหล่านี้จะส่งกลับมาหาเราเช่นกัน แอนอยากให้โฟกัสไปที่เป้าเหมาย แม้ระหว่างทางอาจจะเหนื่อนหน่อย แอนรู้ค่ะ แต่เชื่อเถอะว่าสิ่งที่ตามมาคุ้มค่ามากจริงๆ” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ธวัชชัย แสงมณี (Porfoto Small)

ขอบคุณสถานที่: หนัง(สือ)2521, Drawingroom Coffee and Gallery

Nutrepreme ออกแบบสูตรอาหารด้วยหัวใจ มุ่งสร้างสุขภาวะและความสุขให้ผู้ป่วยมะเร็ง

ในขณะที่มะเร็งยังคงเป็นโรคที่มีความสำคัญในทางสาธารณสุขด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทว่า ด้วยความพยายามของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกๆ สาขาวิชา ทำให้จำนวนผู้รอดชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์จากการทุ่มเทศึกษาและการวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อันนำไปสู่หนทางและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการป้องกัน รักษา และการฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถอุ่นใจและพร้อมเดินหน้าต่อแม้จะพบว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว แต่ก็ยังสามารถกลับมามีชีวิตได้อย่างปกติสุข

หมออู๋-นพ. ธีรภพ ไวประดับ ศัลยแพทย์มะเร็งและเต้านม และ หมอจ๋า-พญ. อัญวีณ์ เกียรติอภิพงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกันและการชะลอวัย คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญของตัวเอง มาริเริ่มและสร้างสรรค์สูตรอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขึ้นโดยเฉพาะ กับการปลุกปั้น Nutrepreme ด้วยความคิด ความเชื่อ และความตั้งใจที่อยากให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น พร้อมพันธกิจสำคัญคือ การเป็นเพื่อนร่วมทางในการดูแลและประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งให้ผ่านจุดที่ยากลำบากที่สุดไปด้วยกัน

จุดเริ่มต้นของการทำเพื่อผู้อื่น

นพ. ธีรภพ: “ผมเติบโตมาในคลินิกรักษามะเร็งของคุณปู่ (นพ. สมหมาย ทองประเสริฐ) ท่านเป็นหมอศัลยกรรมที่รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการบูรณาการแบบองค์รวม ซึ่งเป็นหลักการในการบริการทางการแพทย์ที่เน้นการดูแลและรักษาผู้ป่วยโดยครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือบางคนอาจเรียกว่าเป็น ‘การรักษาแบบทางเลือก’ การเติบโตท่ามกลางบรรยากาศแบบนั้นทำให้ผมได้เห็นมาตลอดว่าผู้ป่วยต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรบ้าง ทำให้ตอนที่เริ่มต้น Nutrepreme เป้าหมายใหญ่ของพวกเราคือการมองหาหนทางว่า เราจะสามารถนำความรู้และความเชี่ยวชาญของเรามาช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร”

พญ. อัญวีณ์: “การอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแบบนั้น ทั้งได้เห็นคนไข้ที่เข้ามารักษาในคลินิกด้วยอาการที่ค่อนข้างหนัก รวมถึงไม่มีโอกาสได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยเท่าทุกวันนี้ หมอคิดว่านี่เป็นทั้งความทรงจำและพันธกิจชีวิตของทั้งคุณหมออู๋และตัวหมอเองว่า เราจะดูแลคนไข้กลุ่มนี้ต่อไปอย่างสุดความสามารถ ซึ่งตลอด 10 กว่าปีที่คุณหมออู๋ได้ดูแลคนไข้มะเร็งมา คำถามที่ได้รับมาตลอดเลยคือ “คุณหมอ เป็นมะเร็งกินอะไรดี กินอะไรได้ และอาหารอะไรที่จำเป็นต่อผู้ป่วยมะเร็งบ้าง? คำถามซ้ำๆ เหล่านี้ทำให้เราเริ่มตระหนักว่า คนไข้ให้ความสำคัญในเรื่องของอาหารอยู่ไม่น้อยเลย ขณะที่ทุกวันนี้เรายังไม่เห็นทางออกด้านอาหารที่เหมาะสมกับตัวโรคและร่างกายของพวกเขา

หากมองปัญหาที่คนไข้มะเร็งต้องเผชิญ ตัวโรคเองทำให้พวกเขากินอาหารได้ยากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด ไปจนถึงการฉายแสง ยิ่งจะทำให้คนไข้มีภาวะร่างกายที่ทำให้กินยากขึ้นไปอีก เมื่อเกิดภาวะโภชนาการที่ไม่พร้อม แน่นอนว่าจะส่งผลต่อสุขภาพและทำให้ร่างกายไม่พร้อมรับการรักษา เมื่อคนไข้ทำการรักษาต่อเนื่องไม่ได้ ช่วงที่ต้องเว้นการรักษาไป จะเป็นนาทีทองที่มะเร็งสามารถเติบโตลุกลาม แพร่กระจายออกไป นี่เลยเป็นปัญหาใหญ่ที่พวกเราอยากจะช่วยเหลือคนไข้” 

สารอาหารที่จำเป็นที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งคือโปรตีนและอาหารที่ไม่มีน้ำตาลหรือปริมาณน้ำตาลต่ำ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งมีอัตราการสลายโปรตีนเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการโปรตีนมากกว่าคนปกติถึง 1.5-2 เท่า อาการเบื่ออาหารและกินอาหารได้น้อยลงจะยิ่งทำให้คนไข้ได้รับสารอาหารดังกล่าวไม่เพียงพอ ทำให้ฟื้นตัวจากการรักษาได้ช้า มีภูมิคุ้มกันต่ำลง และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้ง่าย การได้รับโปรตีนและกรดอะมิโนจำเป็นอย่างเพียงพอ จึงมีส่วนช่วยในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพิ่มค่าอัลบูมินให้กับร่างกาย รักษาระดับเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดให้อยู่ระดับที่ยอมรับได้  ขณะที่น้ำตาลเป็นอาหารของมะเร็งทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตเร็วขึ้น โดยอาหารที่มีอยู่ทั่วไปทุกวันนี้ ส่วนมากแล้วจะมีปริมาณโปรตีนไม่สูงนัก ทั้งยังมีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลอยู่มาก จึงยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด ผลิตภัณฑ์ของ Nutrepreme จึงถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยให้ความสำคัญไปที่ หนึ่ง – การเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูง สอง – ไม่เติมน้ำตาล สาม – มีรสชาติอร่อยและกินง่าย สี่ – มีสารอาหารที่ช่วยให้รู้สึกคลายกังวล ลดความเครียด และมีความสุขมากขึ้น และห้า – มีราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งแม้กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ 5 ข้อข้างต้นจะยาก มีมูลค่ามหาศาล และใช้เวลาในการพัฒนานาน แต่ก็ให้ผลลัพธ์คุ้มค่า 

นพ. ธีรภพ: “เพราะผมได้สัมผัสกับคนไข้โดยตรงและเป็นประจำ ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่คนไข้ต้องการและควรจะต้องได้รับ เมื่อเราตั้งเป้าว่ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งคือกลุ่มที่ต้องการจะดูแลเขาอย่างดีที่สุด เราจึงให้ความสำคัญมากๆ ในทุกขั้นตอน ทั้งในส่วนของงานวิจัย วัตถุดิบ รวมถึงกระบวนการที่มีความซับซ้อน ซึ่งหากทำได้ นอกจากจะเป็นหลักประกันด้านคุณภาพที่ผู้ป่วยจะได้รับแล้ว นั่นจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยผ่านจุดที่ยากลำบากที่สุดไปให้ได้อย่างราบรื่น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพด้วยครับ”

Survivor Planner สมุดบันทึกส่งต่อแนวทางพิชิตโรค

นพ. ธีรภพ: “ที่โรงพยาบาลบำรุงราฎร์ ผมได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำ survivor planner ของโรงพยาบาล ซึ่งจากที่ผมได้อ่านงานศึกษาของเหล่าผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็ง (survivor) พบว่าการรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดของผู้ป่วยมะเร็งมีข้อมูลเยอะมาก เขาควรจะต้องจดบันทึกเพื่อนำไปใช้ ซึ่งเจ้าสมุดจดบันทึกนี้มีประโยชน์มากจริงๆ การที่เราสนับสนุน ‘Survivor Planner สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง’ จึงน่าจะเป็นเป็นประโยชน์กับคนไข้มากๆ ครับ”

พญ. อัญวีณ์: “เราเล็งเห็นความตั้งใจของคุณออย (ไอรีล ไตรสารศรี) ที่มีความมุ่งมั่นและมีหัวใจแห่งการแบ่งปันจริงๆ กับการออกมาแชร์สิ่งดีๆให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่พอเริ่มรู้ว่าเป็นมะเร็งแล้วไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ ซึ่งไม่ใช่แค่คนไข้ แต่รวมไปถึงญาติๆ และคนใกล้ชิดที่กังวลเช่นกันว่าจะต้องดูแลอย่างไร สิ่งที่คุณออยได้ทำ ทำให้เราคิดว่าการเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ จะเป็นโอกาสที่ดีมากในการส่งต่อความตั้งใจของเราไปยังผู้ป่วยมะเร็งได้

“สำหรับกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปีของ Art For Cancer ทาง Nutrepreme จะเข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาด้านโภชนาการของ Nutrepreme ที่จะมาให้ความรู้ในเรื่องของอาหาร การให้ชุดข้อมูลด้านมะเร็งผ่านทางกิจกรรมต่างๆ และการจัดโรดโชว์ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ การบรรยายหรือการไปพูดเพื่อแบ่งปันความรู้และให้กำลังใจ โดยเราจะส่งทีมงานไปช่วยสนับสนุนตลอดทั้งปีนี้เลยค่ะ”

สร้างชุมชนส่งต่อกำลังใจเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง

พญ. อัญวีณ์: “ในอนาคตอันใกล้ ทาง Nutrepreme จะมีแคมเปญเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่เรียกว่า ‘Happy Chemo Club (แฮปปี้คีโมคลับ)’ เราอยากจะส่งเสริมและสนับสนุนสิ่งที่เป็นพลังบวก ทั้งกิจกรรม ความคิด และความรู้สึกทั้งหมด เราอยากเปลี่ยนภาพของการเป็นมะเร็งที่ดูเศร้า เหนื่อย ร่างกายทรุดโทรมให้เป็นภาพอีกแบบหนึ่งที่จะทำให้ทั้งสุขภาพกายและใจของคนไข้ที่กำลังทำคีโมเป็นไปอย่างมีความสุข เพื่อช่วยให้เขาสามารถผ่านช่วงเวลาของการรักษาที่ยากลำบากไปได้อย่างมีคุณภาพ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวบนเส้นทางนี้ และอยากเปลี่ยนมุมมองของการเป็นมะเร็งว่าไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มนุษย์เราสามารถพบได้ในชีวิต”

นพ. ธีรภพ: “โมเดล Happy Chemo Club เราจะทำในหลายๆ แพลตฟอร์ม รวมถึงการทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Happy Chemo Club’ ซึ่งจะเป็นชุมชนของผู้ป่วยมะเร็ง เพราะเราคิดว่าช่วงเวลาที่ยากที่สุดที่คนไข้มักจะกลัวและกังวลคือช่วงการให้เคมีบำบัด เราอยากสร้างชุมชนแห่งนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาผ่านขั้นตอนดังกล่าวไปได้อย่างราบรื่นที่สุด โดยจะไม่มีเรื่องของธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล นักโภชนาการ ตลอดจนผู้ประกอบการที่อยากมีส่วนร่วมในการสนับสนุน เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ส่งต่อให้กับผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น และให้คนไข้ได้รับประโยชน์จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น ในอนาคตเราอาจจะไปทำงานร่วมกับร้านอาหารสุขภาพที่เขาสามารถออกแบบอาหารสำหรับผู้ป่วยในระหว่างให้คีโม โดยเราจะแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ให้กับคนไข้เพื่อพวกเขาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง หรือการทำงานระหว่าง ‘Happy Chemo Club X เมคอัพอาร์ติส’ ในการให้คำแนะนำเรื่องการเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมซึ่งเป็นอันตราย เราอยากให้เกิดความสุขระหว่างการรักษาด้วยคีโม รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนพวกเขาในทุกๆ มิติทั้งกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ”

พญ. อัญวีณ์: “หาก Happy Chemo Club ประสบความสำเร็จ หมออยากจะขยายผลในส่วนนี้ออกไปสู่สังคมในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งมีอีกหลายๆ เรื่องนอกเหนือไปจากกระบวนการรักษาที่คนไข้ต้องเผชิญ เช่น ในส่วนของสังคม ด้านชีวิตการทำงาน จริงๆ แล้วมิติเหล่านี้เกี่ยวข้องกันไปหมดเลยนะคะ เช่น ผู้ป่วยบางคนให้คีโมแล้วร่างกายต้องการการพักฟื้น ทำให้ต้องขาดงานบ่อย บางคนถูกหักค่าแรง เลยเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาเพื่อทำงานเก็บเงินไว้ให้ลูกได้เรียนหนังสือ ซึ่งเรื่องราวแบบนี้อาจเกิดขึ้นกับใครบางคนที่ต้องเผชิญกับโรคพร้อมกับความกดดันรอบตัวโดยไม่มีใครเข้าใจ หมอคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและสาธารณชนทราบว่าคนไข้ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง เพราะการเป็นมะเร็งไม่ได้ทำให้คนไข้สูญเสียความสามารถไปเลยนะคะ เพียงแต่จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่เขาต้องการเวลาในการฟื้นฟูตัวเอง และหากเราสามารถให้ความรู้ ตลอดจนแนวทางในการปฏิบัติตัวได้ นี่จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการรักษาสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีมากขึ้น มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตตามปกติ ขาดงานน้อยลง เกิดการช่วยเหลือกันในสังคมของคนไข้มะเร็ง ทำให้พวกเขาได้รับการเกื้อกูลในองค์รวม ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเองหรือครอบครัว แต่รวมไปถึงองค์ประกอบทางสังคมต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเขาด้วย”

เพราะคุณชีวิตที่ดีของคนไข้คือพันธกิจของเรา         

พญ. อัญวีณ์: “อย่างที่บอกว่าการดูแลคนไข้มะเร็งถือเป็นพันธกิจชีวิตของครอบครัวเราไปแล้ว สำหรับตัวหมอเอง เมื่อได้เข้าไปเรียนในสาขาเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ชะลอวัย ทั้งสองสาขานี้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถผนวกเข้าด้วยกันและส่งเสริมกันได้ อีกทั้งความรู้และประสบการณ์ของเราทั้งสองคน ทั้งด้านศัลยกรรมมะเร็ง ด้านเวชศาสตร์ป้องกันและการชะลอวัยที่เน้นในเรื่องโภชนาการ ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดว่าองค์ความรู้เหล่านี้สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนไข้ได้มหาศาล

“ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราพบว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำทำให้ภาพรวมของสุขภาพร่างกายคนไข้ดีขึ้นตามลำดับ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจด้วยแล้ว นั่นทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าเราเดินมาถูกทาง สำหรับหมอสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่ชุบชูหัวใจของเรา หมอดีใจและภูมิใจได้ทำงานตรงนี้ค่ะ”

นพ. ธีรภพ: “ผมเห็นชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งมาตั้งแต่เด็ก ผมอยู่ในคลินิกรักษามะเร็ง ได้ซึมซับเรื่องการรักษามะเร็งทั้งแบบแผนทางเลือก แผนการรักษาแบบบูรณาการ (Integrated Care) แผนไทย แผนจีน และแผนปัจจุบัน นั่นทำให้ผมเห็นความจริงข้อหนึ่งก็คือ หากคุณมีสตางค์ คุณจะอยู่ได้นานขึ้น จะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น แล้วถ้ากำลังทรัพย์ของผู้ป่วยมีจำกัดล่ะ นี่คือเรื่องจริงของผู้ป่วยมะเร็งนะครับ ด้วยด้านหนึ่งในวิชาชีพ ผมยังทำงานเป็นแพทย์อาสาในต่างจังหวัด เมื่อได้เห็นผู้ป่วยในสองสถานที่ เรียกว่าคนละโลกกับโรงพยาบาลชั้นนำในเมืองเลย เราต้องยอมรับว่า บางครั้งบางที คนไข้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้จริงๆ ทุกครั้งที่ผมผ่าตัดผมจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อกำจัดก้อนเนื้อออกจากคนไข้ให้ได้มากที่สุด แต่การรักษาไม่ได้หยุดแค่นั้น พวกเขายังต้องผ่านกระบวนการอีกมากมายซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น อะไรก็ตามที่สามารถช่วยดูแลคนไข้ให้พวกเขามีสุขภาพที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข นั่นจึงเป็นความสุข แรงขับดัน และเป็นสิ่งที่ผมจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด”

เคล็ด (ไม่) ลับ ห่างไกลมะเร็ง

นพ. ธีรภพ: “ผมจะบอกคนไข้ของผมเสมอว่า กำลังใจที่สำคัญที่สุดและยั่งยืนที่สุดคือตัวเราเอง เวลาที่ใครพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง พูดง่ายๆ เหมือนโดนฟ้าผ่า การเป็นมะเร็งทำให้คนไข้ต้องเจอกับอะไรที่ยากและมีเรื่องให้คิดมากมาย บางคนที่เป็นมะเร็งไม่อยากมารักษาเพราะหยุดงานไม่ได้ เพราะต้องเลี้ยงครอบครัว เพราะฉะนั้น เขาอาจต้องเลือกในสิ่งที่จำเป็นกว่า แต่ผมอยากให้เขาดึงความคิดกลับมาให้ได้ มะเร็งเมื่อเป็นแล้ว ต้องให้เวลาตัวเองในการยอมรับกับความจริงและกลับมาสู่ความเป็นจริงให้ได้ จากนั้นจัดการทุกอย่างด้วยสติ ให้กำลังใจตัวเอง เพราะชีวิตคุณยังไปต่อได้และมีค่ามากพอที่จะไปต่อ

“สำหรับในเรื่องของการป้องกัน ผมว่า หนึ่งคือเราจำเป็นต้องแสวงหาความรู้เกี่ยวกับตัวโรคและอะไรคือความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในแต่ละชนิด เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสในการเกิดมะเร็งชนิดไหนได้บ้าง ซึ่งเมื่อเรามีชุดข้อมูลแล้ว นั่นจะเป็นแนวทางให้เราได้ว่า เราควรจะดูแลร่างกายเราอย่างไรเพื่อให้ชีวิตเราห่างไกลจากความเสี่ยงนั้น สองคือการหมั่นตรวจสุขภาพเมื่อถึงวัยที่ต้องตรวจ ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญเช่นเดียวกัน เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจแมมโมแกรมควรเริ่มต้นที่อายุ 40 ปี เพราะการตรวจเร็ว รู้เร็ว การรักษาก็จะทำได้เร็ว ทำให้โอกาสในการหายเป็นปกติจะสูงขึ้นตาม รวมทั้งมะเร็งบางชนิดสามารถป้องกันได้ เช่น มะเร็งปากมดลูกที่มีวัคซีนป้องกัน หรือมะเร็งตับซึ่งมีสาเหตุหนึ่งมาจากการเป็นไวรัสตับอักเสบบี คุณหมอจะมีวัคซีนในการป้องกันโรคไวรัสชนิดนี้เช่นกัน บางคนอาจบอกว่า ทานมังสวิรัติ วิ่งมาราธอน ส่วนหนึ่งอาจช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี แต่ไม่ได้เป็นการรับประกันเลยว่าคุณจะไม่เป็นมะเร็งนะครับ การคัดกรองจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพได้ และเราจำเป็นต้องรู้ประวัติของคนในครอบครัวว่ามีความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไหม เพื่อที่จะเฝ้าระวังว่าเรามีความเสี่ยงอะไรบ้างและป้องกันในส่วนที่ทำได้ เมื่อเราทำทุกอย่างเรียบร้อยและสุดความสามารถแล้ว หากอะไรจะเกิดขึ้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติครับ

“ในพาร์ทของการเป็นหมอ ผมคิดว่าคำพูดที่เราพูดคุยกับคนไข้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่พูดกับคนไข้เลยคือ คุณเป็นระยะที่เท่าไหร่ คุณอยู่ได้อีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ซึ่งผมอยากจะรณรงค์ด้วยซ้ำว่าคำพูดเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลในแง่บวกกับคนไข้เลย สำหรับผม คำพูดคุณหมอเป็นสิ่งมีผลต่อความรู้สึกและกำลังใจคนไข้มากนะครับ อย่างน้อยเขามาเจอเราเพียงแค่ 5-10 นาทีในการตรวจ การส่งพลังงานบวกให้กับเขา จะเป็นแนวทางที่ผมเลือกใช้ เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มต้นด้วยการแบ่งเกรด ไปกำหนดชีวิตของเขา นอกจากจะส่งผลต่อความรู้สึกคนไข้มากๆ แล้ว ยังส่งผลต่อการตัดสินใจแนวทางการรักษา หรือการปฏิบัติที่ญาติจะมีต่อคนไข้โดยอัติโนมัติด้วย เช่น การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวของคนป่วยทั้งหมดแบบที่อาจทำให้คนไข้คิดว่าเขาจะอยู่ได้อีกเพียง 3 / 6 / 9 เดือน แน่นอนว่ากำลังใจจากคนไข้เองเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่กำลังใจจากคนรอบข้างก็สำคัญไม่แพ้กัน ในการรักษาโรค ไม่ว่าจะโรคอะไรก็ตาม หากกายและใจแข็งแรงเป็นไปในทางบวก นั่นจะส่งผลให้การรักษาและฟื้นฟูเป็นไปในทางที่ดีตามไปด้วย”

พญ. อัญวีณ์: “เอาจริงๆ มะเร็งคือเราเลยนะคะ เพราะมะเร็งเกิดขึ้นจากเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์หรือเรียกว่าแปลงร่างไป ทีนี้ถ้าร่างกายของเราแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันดี ร่างกายจะตรวจเจอว่ามีเซลล์หน้าตาแปลกๆ ออกมาและสามารถกำจัดทิ้งด้วยตัวเองได้ แต่เมื่อไหร่ที่ภูมิคุ้มกันของเราลดลง ทหารของเราหละหลวม เจ้าเซลล์หน้าตาแปลกๆ เหล่านี้จะเกิดการเล็ดลอด แล้วไปแบ่งตัวออกลูกออกหลานจนเกิดเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมา ซึ่งถ้าถามว่าเราจะทำอย่างไรหรือว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อป้องกันมะเร็ง หมอคิดว่าเราต้องพูดในแง่ของการลดความเสี่ยงมากกว่า

“คำแนะนำของหมอคือ หนึ่ง – เริ่มจากภายในตัวเองก่อนจากการทำจิตใจให้สบาย เมื่อร่างกายของเราไม่หลั่งสารแห่งความเครียดหรือว่าสารเคมีที่ผิดปกติออกมา ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ผิดปกติจะลงลด สองคือพยายามนำสารพิษและสิ่งปรุงแต่งเข้าร่างกายให้น้อยที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ การกลับมาใช้ชีวิตที่กลับสู่ธรรมชาติ กลับสู่พื้นฐาน มีการปรุงแต่งที่น้อยลง จะเป็นแนวทางที่จะสามารถเข้ามาช่วยได้ เพราะฉะนั้น หลักง่ายๆ ที่ทุกคนน่าจะสามารถทำได้คือการทำร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงเพื่อที่ตัวเราจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตัวเองได้ นอกจากนี้คือถามตัวเองสม่ำเสมอว่า เราทำงานหนักเกินไปไหม มีความเครียดมากเกินไปหรือเปล่า ลองย้อนกลับมาทบทวนการใช้ชีวิตของเรา ลองใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวภาพดูไหม นอนให้เร็วขึ้น ลดการกินอาหารแปรรูป ย้อนกลับสู่ความสมดุลมากขึ้น รวมถึงสมดุลทางจิตใจด้วย ดูเหมือนเป็นคำทั่วไปมากเลยนะคะ แต่การใช้ชีวิตอย่างเป็นปกตินี่แหละจะสร้างภูมิคุ้มกันให้เราได้เป็นอย่างดีเลย

“แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะดูแลตัวเองดีแค่ไหน เพราะฉะนั้น หากมะเร็งเกิดขึ้น หมออยากให้ทุกคนตั้งสติ เราอาจจะหลุดไป เครียด เศร้า ร้องไห้ ใช้เวลาตรงนั้นเท่าที่คุณต้องการ แต่อย่าจมดิ่งอยู่นานเกินไป ยอมรับและอย่าลืมดึงสติกลับมาดูว่าเราจะจัดการอย่างไร พยายามรักษาทั้งกายและใจตัวเองให้อยู่ในแดนบวก ให้กำลังใจตัวเอง เป็นแสงสว่างให้ตัวเองกลับสู่ลมหายใจแล้วไปต่อด้วยกันค่ะ”

พญ. อัญวีณ์ เกียรติอภิพงษ์
นพ. ธีรภพ ไวประดับ

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: พญ. อัญวีณ์ เกียรติอภิพงษ์ / นพ. ธีรภพ ไวประดับ
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.nutrepreme.com

ณิชารีย์ โรจนกีรติกานต์ เพราะการปล่อยวางคือศิลปะการคิดให้ชีวิตมีสุข

พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวถึงเรื่องความทุกข์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความทุกข์ เปรียบเสมือนการแบกหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งเอาไว้ ระหว่างทาง ปากเราก็บ่นว่าหนัก พยายามเรียกหาคนช่วย บนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำสารพัดวิธี เพื่อหวังให้สบายขึ้น แต่สิ่งเดียวที่เราไม่ทำคือ วางหินก้อนนั้นลง เมื่อรู้สึกหนักจึงทำให้เราเกิดทุกข์ ทว่าสิ่งที่ทำให้เราทุกข์นั้น กลับไม่ใช่หิน แต่เป็นเพราะการแบกหิน ดังนั้น วิธีที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้คือ วางมันลง” สำหรับ ตุ๊-ณิชารีย์ โรจนกีรติกานต์ เธอได้เลือกใช้วิธี ‘วางมันลง’ แบบเดียวกับที่พระไพศาลได้กล่าวไว้ในการรับมือกับมะเร็งลำไส้ที่เธอเผชิญเมื่อหลายปีก่อนหน้าอย่างมีสติและรู้เท่าทัน ทั้งตัวโรคและเสียงจากภายในหัวใจ

การรักษาที่เปลี่ยนร่างกายไปตลอดกาล

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ตุ๊พบว่าระบบขับถ่ายของตัวเองไม่เหมือนเดิม จากการขับถ่ายที่เป็นปกติมาโดยตลอด เริ่มมีอาการท้องผูกเรื้อรัง แต่ในเวลานั้น เธอคิดว่าอาจเพราะพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการดื่มน้ำน้อย ทำงานหนัก อดนอน และไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุโดยทั่วไปที่สามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ จนกระทั่งเธอมีอาการมากขึ้นและมีลักษณะของอุจจาระต่างไปจากเดิม

เธอตัดสินใจเข้ารับการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อ กระทั่งคุณหมอวินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเริ่มเข้ารับการรักษาอยู่ 1 ปีเต็ม ในการรักษา คุณหมอแนะนำให้รับประทานยาควบคู่กับการฉายแสงเพื่อจำกัดก้อนมะเร็งไม่ให้ลุกลามก่อน จากนั้นจึงทำการผ่าตัด ซึ่งโชคดีที่เซลล์มะเร็งไม่ได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองและผนังลำไส้ชั้นอื่น แม้จะมีส่วนที่ซับซ้อนอยู่บ้างคือต้องผ่าตัดและทำทวารเทียมระหว่างรอให้แผลในลำไส้ต่อกันอย่างสนิท การผ่าตัดมะเร็งลำไส้อาจเสี่ยงต่อระบบขับถ่ายที่จะไม่ปกติไปตลอดชีวิตเพราะตำแหน่งใกล้กับทวารหนัก ขั้นตอนถัดมาคือการให้เคมีบำบัดทางเส้นเลือด ซึ่งร่างกายของเธอตอบสนองต่อตัวยาได้ดี ขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่าตัดเก็บทวารเทียม

“การรักษาช่วงแรกคือการฉายแสง ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษให้บริเวณที่ฉายแสงสะอาดอยู่เสมอและไม่เปียกน้ำ เพราะคุณหมอได้มีการทำเครื่องหมายไว้บนผิวหนังผู้ป่วย เป็นตำแหน่งที่เที่ยงตรงในการฉายแสง ถ้าเส้นนี้ลบเลือนไปคุณหมอจะต้องจำลองการรักษาเสมือนจริงอีกครั้งทำให้เสียเวลาในการรักษาได้ นอกจากนี้การฉายแสงมักจะทำให้เส้นเลือดเปราะ ในกรณีที่ฉายแสงบริเวณใกล้เคียงกับกระเพาะปัสสาวะจะทำให้คนไข้ส่วนใหญ่เกิดก้อนลิ่มเลือดออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้ หากเส้นเลือดเปราะแล้วมักจะไม่หายขาด ตุ๊รับมือกับความเสี่ยงนี้ด้วยการรับประทานอาหารเสริมเลซิตินและวิตามินอีเพื่อช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง ไม่เปราะแตกง่าย มีในไข่แดง ถั่วเหลือง และเมล็ดทานตะวัน ตุ๊เชื่อว่าวิธีนี้ช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง สังเกตจากการที่ไม่เคยมีลิ่มเลือดปนออกมากับปัสสาวะเลย

“การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด สิ่งที่อยากแชร์คือเมื่อผ่าตัดแล้ว แม้จะเจ็บปวดก็ต้องลุกขึ้นจากเตียงและพยายามช่วยเหลือตัวเองในวันรุ่งขึ้นเลยเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วที่สุดและป้องกันลำไส้ติดกัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดผังผืดในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้เจ็บปวดทรมานในภายหลัง ช่วงเวลานี้อยากให้ทุกคนอดทนค่ะ แต่ช่วงที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านจะเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดในการรักษามะเร็งลำไส้ ตุ๊ต้องดูแลตัวเองในหลายด้านทั้งทวารเทียม เคมีบำบัด และยา ในช่วงนี้ตุ๊เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก และใจสั่น เมื่อเพิ่มอาหารเสริมวิตามินรวมและแร่ธาตุจึงอาการดีขึ้น ผลจากการรับเคมีบำบัดและไม่ได้ดื่มน้ำให้เพียงพอทำให้ทุกวันนี้ตุ๊ยังมีอาการชาที่มือและเท้า  ซึ่งช่วงแรกๆ ที่มีอาการชา ตุ๊รู้สึกกังวลนะคะ แต่ตอนนี้อยู่กับอาการนี้ได้แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการใช้ชีวิต ตอนนี้ทานยารักษาปลายประสาทอย่างต่อเนื่องซึ่งคุณหมอประเมินว่าอาจจะประมาณ 10 ปี ขณะที่ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่คาดไม่ถึงคือการเกิดภาวะไส้เลื่อนหลังจบการรักษามะเร็งแล้ว 3 ปีเนื่องจากช่วงที่มีทวารเทียมที่หน้าท้องต้องรับเคมีบำบัดทางเส้นเลือดด้วยอีก 5 รอบ เป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอมาก ตุ๊ได้แต่นอนพักไม่ได้ออกกำลังกายหรือบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องเลย ประกอบกับอายุมากด้วยค่ะ ตอนนี้ผ่าตัดรับการรักษาเรียบร้อยแล้วค่ะ

‘3 อ.’ รหัสไม่ลับดูแลสุขภาพ

สำหรับเรื่องมะเร็ง ปีนี้การรักษาครบ 5 ปีแล้ว ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจะมีการตรวจเลือดร่วมกับส่องกล้องปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อครบ 5 ปี ถ้าไม่พบความผิดปกติ ทางการแพทย์ถือว่าหายขาดแล้วค่ะ

“สำหรับการดูแลสุขภาพ ตุ๊ใช้หลัก 3 อ. ในการดูแลสุขภาพตัวเอง นั่นคือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่อง ‘อาหาร’ เพราะสาเหตุการเป็นมะเร็งลำไส้ของตัวเองน่าจะเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก ช่วงที่ทำงานหนักๆ ตุ๊แทบจะไม่ได้ทำอาหารเองเลย ซึ่งอาจจะได้รับสารปนเปื้อนเข้ามาในร่างกาย ปัจจุบันเลยทำอาหารทานเอง พยายามทานอาหารที่ปรุงใหม่ ไม่ใส่ผงชูรส ให้ความสำคัญกับการล้างผักผลไม้มากขึ้น และอนุญาตเปลี่ยนบรรยากาศไปทานอาหารนอกบ้านด้วย สำหรับการ ‘ออกกำลังกาย’ กิจกรรมที่เลือกคือการแกว่งแขนและเดินเล่น โดยจะทำตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำแบบนั้นเลยค่ะ ขณะที่ อ. สุดท้ายอย่าง ‘อารมณ์’ ตุ๊จะพยายามทำให้ตัวเองผ่อนคลาย หากรู้สึกเครียดเมื่อไหร่ จะหยิบการฝีมือมาทำ นั่งสมาธิ สวดมนต์ และฟังธรรมะ จะพยายามทำทั้ง 3 อ. นี้ให้ดีไปพร้อมๆ กันค่ะ”

เปิดบันทึกสู้มะเร็ง

มะเร็งไดอารี่ Cancer Diary เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ช่วงที่ตุ๊กำลังรักษาตัว และลูกสาวเป็นคนชวนให้ทำเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ให้กับคนอื่น น้องพยายามให้กำลังใจคุณแม่ คอยกระตุ้นว่า “คุณแม่คะ ประสบการณ์ที่เรามีจะช่วยคนอื่นได้นะคะ” แล้วตุ๊เองก็เคยมีความคิดอย่างนั้นมาก่อนด้วยว่าอยากใช้ความรู้และสิ่งที่เราเคยประสบมาช่วยให้คนอื่นมีความรู้ในการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นโรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมะเร็งหรือว่าเรื่องสุขภาพด้านอื่นๆ

“เนื้อหาที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าเรื่องชีวิต เรื่องโรค และวิธีการรักษาที่ผ่านมา ตั้งแต่การตรวจรักษาว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ข้อดี ข้อเสีย ข้อผิดพลาด อยากจะให้ทุกคนได้รู้ว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาเราผ่านอะไรมาบ้าง และผ่านมาได้อย่างไร ซึ่งจะมีทุกอารมณ์ทั้งเครียด สนุก สุข เศร้า รวมทั้งการปล่อยวางกับชีวิต แต่หลักๆ จะเน้นวิธีการป้องกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เล่าด้วยภาษาธรรมดาที่คนทั่วไปจะเข้าใจ โดยมีลูกสาวคอยช่วยอยู่ไม่ห่าง ซึ่งฟีดแบคที่ตอบกลับมาทำให้ตุ๊ได้รับความชื่นใจมากเลย อย่างคำขอบคุณหรือการถามไถ่เวลาคนอ่านมีข้อสงสัย ถึงจะมีไม่เยอะ ซึ่งจริงๆ แค่คนเดียวที่ได้ประโยชน์ไป ตุ๊ก็ดีใจและภูมิใจแล้วนะคะที่ได้ทำ”

สูญเสียแต่ไม่สูญเปล่า

“ก่อนป่วยตุ๊มองว่ามะเร็งน่ากลัว เพราะตอนที่ทำงานด้านสุขภาพ เคยเห็นคนไข้มะเร็งทรมานจากอาการปวด ตัวตุ๊เองเลยพยายามรักษาสุขภาพให้ดีมาโดยตลอด ไม่เคยป่วยหนักนอกจากโรคเบาหวานที่มาทางพันธุกรรม ซึ่งตอนที่ทราบว่าเป็นมะเร็ง จึงรู้สึกกลัวและช็อคมาก ถึงแม้ว่าในใจเราคิดไว้แล้วว่ามีโอกาสเป็นได้นะ แต่พอถึงเวลาที่ทราบจริงๆ กลับทำใจไม่ได้เลย การเป็นมะเร็งทำให้ตุ๊รู้สึกว่าเวลาของชีวิตเราน้อยลง ไม่ได้กลัวความเจ็บปวดอย่างที่เคยคิด อาจเพราะตัวเองค่อนข้างอดทนกับความเจ็บปวดได้ดี แต่กลัวตายเพราะว่าห่วงลูก ซึ่งการห่วงลูกและอยากอยู่กับเขาไปนานๆ เป็นพลังและกำลังใจสำคัญให้เราอยากอยู่ต่อ อยากหาย อยากกลับมาแข็งแรงเพื่ออยู่กับเขา รวมถึงการได้รับการดูแลที่ดีจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ผ่านมาได้จนถึงวันนี้

นอกจากความโชคดีที่มีลูกสาวเข้าใจ เป็นกำลังใจ ดูแลอย่างดีแบบที่ทำทุกอย่างให้เราโดยไม่รังเกียจแล้ว ตุ๊ยังได้ข้อคิดอีกหลายๆ อย่างหลังจากเป็นมะเร็งว่า นี่คือเรื่องธรรมดาของมนุษย์อย่างเราที่ต้องพบกับความเสื่อมตามสังขารและโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องปกติ เมื่อเรายอมรับความจริงตรงนี้ได้ มุมมองและความคิดของตุ๊เปลี่ยนไปเลยนะคะ การป่วยเป็นมะเร็งเหมือนเป็นสิ่งที่มาเตือนให้รู้ว่าชีวิตคนเราสั้นเหลือเกิน เราควรเลือกสิ่งที่สำคัญกับตัวเรา สิ่งที่จะทำให้จิตใจเราดี เลยทำให้ลดละกิเลสลงได้มาก มองสิ่งไม่ดีของคนอื่นน้อยลง มองโลกอย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้น และประมาทให้น้อยลง ตอนนี้ตุ๊จะมองตัวเองก่อนว่าเราคิดดีแล้วหรือยัง ผิดศีลหรือเปล่า เบียดบังคนอื่นไหม และพยายามอภัยให้กับคนอื่นโดยไม่ต้องรอคำขอโทษ รู้แล้วว่าเราไม่ควรจะเอาเรื่องไม่สำคัญมาเป็นความสำคัญของชีวิต หันมามองคุณค่า รวมถึงใส่ใจกับร่างกาย หัวใจ คนที่เรารักและรักเรา โดยเฉพาะลูกสาว เพื่อที่เราจะได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เหลือ

สำหรับคนที่เป็นมะเร็งและกำลังรักษาอยู่ ถึงแม้ว่ากระบวนรักษา เราจะเจอกับเรื่องทุกข์หลายอย่าง เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และเสียทั้งใจ อาจทำให้เราเหนื่อยและท้อแท้ ตุ๊ขอให้มีกำลังใจนะคะ แม้ว่ามะเร็งจะทำให้เราทุกข์ทรมานอยู่บ้าง แต่เมื่อเราชนะแล้ว ไม่ว่าเราจะเหลือเวลามากน้อยแค่ไหนนั่นจะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด และนั่นมีความหมายมากกว่า”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล 
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

สุภาวดี จุ้ยศุขะ จัดการมะเร็งด้วยหลักคิด ‘ครองตนด้วยสติ’

ผศ. สุภาวดี จุ้ยศุขะ (อีส) ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ระยะลุกลาม อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งไทรอยด์เมื่อ 15 ปีก่อน หลังคุณหมอพบก้อนเนื้อที่คอ แม้ชนิดของมะเร็งไทรอยด์ที่เธอเป็นในเวลานั้นจะมีความรุนแรงไม่มาก ทว่าก็ได้ลุกลามไปยังอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย เธอต้องพบกับอาการแพ้อย่างหนักจากรังสีไอโอดีนระหว่างการรักษา แต่เธอไม่เคยมองว่านั่นคือความหนักหน่วงของชีวิตแม้แต่น้อย มุมมองต่อมะเร็งของเธอแตกต่างไปจากมิติที่เราเคยพบและสัมผัส เพราะ ‘มะเร็ง’ สำหรับเธอแล้ว ไม่ใช่เป็นแล้วต้องตาย แต่เป็นเพียงอีกหนึ่งโรคทางกายที่เป็นได้ก็รักษาได้เช่นเดียวกัน 

สัญญาณเตือนมะเร็งไทรอยด์

ด้วยอีสมีโรคประจำตัวคือโรคลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้เธอมีตารางพบกับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งวันหนึ่งในระหว่างขั้นตอนการตรวจหัวใจที่เธอจะต้องเงยหน้า คุณหมอได้สังเกตเห็นลักษณะบวมและเป็นก้อนบริเวณลำคอ ในเวลานั้นเธอไม่ได้เอะใจ อีกทั้งไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น อีสจึงปล่อยความผิดปกตินั้น จนเวลาล่วงเลยไปกว่าครึ่งปีจากที่คุณหมอเคยทัก “พี่เริ่มมีไข้ บวมบริเวณคอ แต่คิดว่าน่าจะเกี่ยวกับต่อมทอนซิลและไทรอยด์ จนสุดท้ายตัดสินใจไปพบคุณหมอ หลังจากดูดเซลล์ด้วย FNA (Fine Needle Aspiration) คุณหมอแจ้งผลว่าพี่เป็นมะเร็งไทยรอยด์ ในเวลานั้นพี่อยากหา second opinion เพื่อประกอบการตัดสินใจในการรักษาอีกครั้ง จนมาได้มาตรวจที่คลินิกพิเศษ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อคุณหมอดูผลจากโรงพยาบาลแรกที่พี่ถือไป ท่านรีบสั่งผ่าตัดด่วน เพราะว่ามะเร็งไทรอยด์ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว”

ด้วยมะเร็งไทรอยด์ชนิดที่มีความรุนแรงน้อย การรักษาหลังผ่าตัดจึงใช้วิธีการกลืนแร่หรือสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131  (I 131) เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งส่วนที่เหลือออกให้หมด “พี่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง ตั้งแต่บวม อาเจียนหนัก ทานอะไรไม่ได้ เหนื่อย หายใจไม่ทัน และนอนราบไม่ได้ ต้องนั่งหลับเอา ในการกลืนแร่ครั้งที่ 3 พี่ต้องบอกคุณหมอว่าไม่ไหวแล้ว แต่คุณหมอไม่แนะนำเพราะว่าโดยตำแหน่งที่เป็น มะเร็งจะสามารถลามไปที่ปอด กระดูกสันหลัง และกะโหลกได้ พี่ตกลงตามนั้นและกลืนแร่เป็นรอบที่ 4 แต่ตัวเซลล์มะเร็งของพี่ไม่ตอบสนองกับรังสีที่กลืนแล้ว การรักษาจึงหยุดอยู่แค่ตรงนั้น จนกระทั่งได้มาตรวจเจอมะเร็งที่ขั้วปอด หัวใจ และเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผ่าตัดไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) โดยจะใช้ยาไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งด้วยวิธีการไปทำปฏิกิริยากับโมเลกุลเป้าหมายแบบตรงจุด แต่เซลล์มะเร็งของพี่ไม่ตอบสนองกับการรักษาแบบนี้อีกเหมือนกัน เลยทำอะไรไม่ได้ มะเร็งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเลยต้องปล่อยไว้อยู่ตรงนั้นไป 

ผ่านมาอีกช่วงหนึ่ง คุณหมอนัดทำ PET/CT scan ทำให้พบก้อนมะเร็งขนาดเล็กที่ต่อมหมวกไตและหลอดลมอีก ซึ่งท่านห่วงว่าถ้าโตขึ้นจะไปเบียดหลอดลมทำให้หายใจไม่ได้ ตอนแรกเราวางแผนว่าจะทำการผ่าตัดแล้วเย็บปิดหลอดลม เพราะก้อนยังไม่ใหญ่มาก แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการจัดการกับหลอดลม จนถึงปัจจุบันหลอดลมพี่ยังโอเคอยู่ ไม่ได้มีอาการหายใจหรือบวมมากผิดปกติ 

ก่อนที่จะพบว่าเป็นมะเร็ง ช่วงที่คอบวม พี่ไม่ได้มีอาการอะไรที่น่ากลัวนะ ถ้าคุณหมอไม่ได้ทักพี่คงใช้ชีวิตตามปกติ ถ้าช่วงที่หนักจริงๆ คงจะเป็นตอนรักษาด้วยการกลืนแร่ แต่อาการหนักๆ เป็นอยู่แค่ช่วงสั้นๆ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป พี่ว่าการรักษาที่ผ่านมาไม่ได้มีขั้นตอนที่ยากมากนักสำหรับพี่ ส่วนการใช้ชีวิตหลังรักษา ด้วยพี่ไม่มีฮอร์โมนไทรอยด์ เพราะถูกผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไป หลังผ่าตัดใหม่ๆ พี่ต้องทานแคลเซียมกับวิตามินดีตลอด เพราะว่าถ้าขาดแคลเซียมอาจเกิดอาการชักได้ และพี่จะเซนซิทีฟมากกว่าคนทั่วไปถ้าอากาศหนาวหรือร้อนมาก การดูแลร่างกายในปัจจุบันจะมีการเทคฮอร์โมนไทรอยด์ เลยทำให้ต้องติดตามผลเลือดอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ระดับของฮอร์โมนสมดุล ส่วนมะเร็งในจุดต่างๆ จะเป็นไปในลักษณะของติดตามผล แบบถ้าตรงไหนที่มีปัญหา คุณหมอจะให้การเป็นการรักษาแบบเจาะจงเฉพาะจุด”

อยู่อย่างประมาณตน  

“ภาพภายนอกพี่อาจจะดูก๋ากั่น แต่เรื่องเหล้า บุหรี่ พี่ไม่มีเลย ฉะนั้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ตัดออกไปได้ ส่วนการใช้ชีวิต พี่เป็นคนทำอาหารทานเอง แต่ไม่ถึงขนาดทานอาหารคลีน คืออยากทานอะไรก็ทาน ก่อนหน้านี้พี่มีช่วงปรับตัวเองอยู่เหมือนกันจากกระแสคำพูดที่ว่า คนเป็นมะเร็งอย่าทานเนื้อสัตว์ แรกๆ ที่ได้รับข้อมูลมา พี่ลองทำตาม แต่ทำไปได้ประมาณ 6 เดือน พี่รู้สึกเวียนหัวบ่อยๆ จนมาพบว่าพลังงานของอาหารที่เราทานไปไม่เพียงพอกับกิจกรรมในแต่ละวันที่เราต้องเดินทางไปทำงาน สอน เลยตัดสินใจกลับมาทานอาหารปกติ โดยจะมีหลักง่ายๆ คือมีอะไรทานอย่างนั้น แต่เน้นให้ครบทั้ง 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารที่เพียงพอ

การดูแลร่างกายพี่ไม่ได้เข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป และกิจกรรมที่พี่ดึงเข้ามาใช้ในเรื่องการดูแลตัวเองอีกหนึ่งกิจกรรมคือโยคะ หลายๆ คนจะคิดถึงการทำท่าหรืออาสนะที่ผาดโผนเวลาเราพูดถึงโยคะ แต่จริงๆ แล้ว พอพี่ได้ไปอินเดียและมีโอกาสได้เข้าไปถึงแก่นของศาสตร์ด้านนี้จริงๆ โยคะคือวิถีชีวิตเลยนะ วิธีการที่เราเลือกกิน วิธีคิดของเรากับสิ่งต่างๆ วิธีการหายใจ โยคะคือการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการทำสมาธิ คือการทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อให้พร้อมกับการนั่งนิ่งๆ นานๆ ได้ นั่นคือความเป็นพุทธนั่นแหละ 

จริงๆ พี่มาเริ่มฝึกหายใจแบบโยคะหลังจากเจอมะเร็ง ซึ่งสิ่งที่พี่ได้รับรู้ว่าในสเตจสุดท้ายของผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหลายๆ อย่างที่ทำให้ผู้ป่วยจากไปแบบกระวนกระวายได้ แต่พี่ไม่อยากอยู่ในสภาวะแบบนั้น จึงเลือกฝึกหายใจเพื่อที่จะนิ่งที่สุดหากวาระสุดท้ายของตัวเองมาถึง โยคะจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางในการดูแลด้านร่างกายและจิตใจของพี่ด้วย”

รู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้น

“พี่รู้สึกว่าการที่สังคมคิดและพูดว่า ‘ถ้าเป็นมะเร็งแล้ว ฉันต้องต่อสู้ มีกำลังใจ เข้มแข็ง และต้องมองโลกในแง่ดี หรือการที่คนเป็นมะเร็งอ่อนแอ เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับกำลังใจเยอะๆ คนรอบข้างต้องเชียร์อัพคนป่วยตลอดเวลา’ เป็นดาบสองคมอยู่เหมือนกัน พี่เข้าใจว่านี่เป็นความปรารถนาดีซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อเราเสพข้อมูลในเชิง emotional เข้ามาเยอะๆ อาจส่งผลลบให้กับตัวเองที่เป็นผู้ป่วยอยู่ได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับอาการของโรคและอารมณ์ยังแกว่งอยู่ นั่นอาจมีผลทำให้เกิดความตื่นตระหนกหรือกังวลไปล่วงหน้าว่ามะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัว ร้ายแรง อาจรู้สึกว่าทำไมโรคนี้ถึงแย่อย่างนี้ล่ะ และสิ่งที่เราต้องทำคือเข้มแข็ง ต้องต่อสู้นะเมื่อเจอกับสถานการณ์แบบนี้ นั่นทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเริ่มดำเนินชีวิตไปตามคำแนะนำต่างๆ ที่พรั่งพรูเข้ามาด้วยความหวังดี จนเกิดเป็น infomation overload ซึ่งส่งผลทำให้เขาจัดการกับตัวเองด้วยสติได้ยากขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นอาหารซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เซนซิทีฟมาก พี่จะพูดทุกครั้งเลยว่าคนเป็นโรคมะเร็งจะมีภาวะเบื่ออาหาร เหม็นกลิ่นอาหาร คือถ้าเขาทานไม่ได้จริงๆ อย่ารบเร้าเขา เพราะร่างกายของผู้ป่วยต้องการพัก ซึ่งการที่เราหาหรือทำอาหารที่ทำให้คนป่วยทานได้ง่ายขึ้นในช่วงที่เขาเหม็นกลิ่นต่างๆ เป็นส่วนสำคัญ ขณะเดียวกันคนป่วยเองก็ต้องมีสติกับร่างกายว่าตัวเองทานอะไรแล้วสบายตัว ทานอะไรแล้วอึดอัด อย่าทานตามคำแนะนำของคนอื่นๆ เพราะคนที่รู้จักร่างกายดีที่สุดคือตัวเราเอง

ถ้ามองจากภายนอกเข้ามา หลายคนอาจรู้สึกว่าพี่เข้มแข็งที่ผ่านเรื่องหนักๆ มาได้ แต่เอาจริงๆ พี่คิดว่าคงเป็นเพราะมุมมองที่พี่มองโรคมะเร็งมากกว่า พี่ไม่ได้มองว่าเขาเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาตั้งแต่ต้น ถ้าเราแยกเรื่องอารมณ์และจิตใจออกไป มะเร็งเป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรังทางกายที่สามารถรักษาได้ พี่อยู่กับคุณพ่อสองคน กับเรื่องอื่นท่านอ่อนไหวนะ แต่กับเรื่องมะเร็งคุณพ่อจะชิวมากเพราะว่าคุณย่าพี่เสียจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่คุณพ่อยังเล็กๆ แล้วญาติฝั่งคุณพ่อ ทั้งคุณอาและคุณป้าก็เสียจากมะเร็งเช่นเดียวกัน ท่านเลยมองว่ามะเร็งคือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์และพี่คงได้เห็นและซึมซับสิ่งที่เกิดขึ้นมาในความคิดเราด้วยละมั้ง”

ตั้งสติก่อนสตาร์ท

“พี่ว่าผู้ป่วยจะต้องมีสติกับทุกเรื่องเลย ทั้งการทาน การใช้ชีวิต รวมทั้งวิธีคิด ถ้าเรามีสติ เราจะมีเหตุผลมากพอในการตัดสินใจกับเรื่องต่างๆ พี่คิดว่าถ้าเราสามารถเข้าใจมายด์เซ็ตที่เป็นภาพใหญ่ในเรื่องของสติได้ มันจะคลุมทุกอย่างหลังจากนั้นได้หมด ถ้าเขามีสติ เขาจะรู้ว่าตอนนี้เขาเป็นมะเร็งนะ แล้วเป็นมะเร็งชนิดไหน เขาจะเริ่มหาข้อมูล กลั่นกรองข้อมูลด้วยเหตุและผล รู้ว่าถ้าเป็นในสเตจนี้ควรจะดูแลร่างกายอย่างไร รู้ถึงวิธีการทานว่าควรจะทานอะไรแล้วสบายร่างกาย ได้สารอาหารครบ หรือควรจะอยู่กับผู้คนแบบไหนแล้วสบายใจ หรือควรพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีสภาพแวดล้อมแบบไหนแล้วหายใจสะดวก ทุกอย่างที่พูดมาครอบด้วยสติทั้งหมดเลย 

สำหรับกำลังใจ พี่ว่ากำลังใจที่ดีที่สุดสร้างขึ้นได้จากตัวเราเอง ตัวพี่ที่ผ่านเรื่องนี้มาแล้ว พี่พบว่า ถ้าเรารักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และมีกำลังใจในตัวเองอย่างมั่นคงและหนักแน่น ตัวเรานี่แหละที่เป็นกำลังสำคัญซึ่งทำให้ผ่านความยากของชีวิตไปได้ พี่บอกเพื่อนๆ หลายคนที่เป็นมะเร็งว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น เดี๋ยวมันจะผ่านไปตามขั้นตอน ตามระยะเวลา เราเป็นคนสวย เป็นคนเท่ ต้องผ่านไปแบบอย่างสวยๆ เท่ๆ แล้วเมื่อมองกลับมา เราจะมองกลับมาได้อย่างภูมิใจ แบบเชิดๆ ว่าเห็นไหมล่ะ เราผ่านมาได้นี่นา” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล  
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: สุภาวดี จุ้ยศุขะ

กุลธิดา จักรานุวัฒน์ ‘จงมองจุดต่ำสุดเป็นจุดเริ่มต้นใหม่’

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 กุลธิดา จักรานุวัฒน์ หรือ ‘บิ๊ก’ ไปหาหมอจากอาการปวดหัวที่เป็นมาหลายวันแบบไม่ยอมหาย จากความคิดแค่ว่า ถ้าได้ยาแก้ปวดมาทาน อาการต่างๆ คงจะทุเลาและดีขึ้นตามลำดับ กลับกลายเป็นว่าผลเลือดในวันนั้นระบุว่าเธอมีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ท่ามกลางความรู้สึกกลัว ตกใจ และเสียใจ บิ๊กกลับมาตั้งสติและเริ่มต้นรับมือกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แม้ช่วงเวลาที่มาผ่านมา เธอจะพบกับความขรุขระอยู่เป็นระยะๆ แต่ในความไม่ราบเรียบนั้น ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ทั้งการมองโลก การใช้ชีวีต และการเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง โดยมีมะเร็ง ตัวเธอ และโยคะเป็นทั้งเพื่อนและครูที่ช่วยสอนหัวใจให้รู้จักการยอมรับ กล้าเผชิญ และปล่อยวาง 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์

“จำได้ว่าวันนั้น บิ๊กมีอาการปวดหัว แต่ไม่ได้รุนแรงขนาดไมเกรน เป็นการปวดแบบรำคาญที่ปวดไม่หายสักที บิ๊กทนมาเรื่อยๆ เพราะไม่ชอบทานยา จนวันที่สามยังไม่หาย วันที่สี่เลยไปพบคุณหมอ ในเวลานั้นเป็นช่วงที่คุณปอ (ทฤษฎี สหวงษ์) ไม่สบาย เป็นโรคไข้เลือดออก คุณหมอเลยกลัวว่าเราจะเป็นโรคนั้นหรือเปล่า จึงทำการตรวจทั่วไปและขอเจาะเลือด ซึ่งตอนนั้นบิ๊กมีไข้สูง แต่ตัวเองไม่รู้เลยนะว่าเราไข้สูง รู้สึกแค่ปวดหัว ตอนกลับมาฟังผลในวันเดียวกัน หมอพูดคำแรกว่า “ผมสงสัยว่าคุณจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว” บิ๊กสตั้นไปพักหนึ่ง เพราะไม่เคยมีความรู้เรื่องมะเร็งอยู่ในหัวมาก่อนเลย คุณหมอเลยอธิบายให้ฟังว่า คนปกติจะมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count: WBC) ประมาณ 4,500-10,000 cell/ml แต่ของบิ๊กคือทะลุเพดานเป็น 170,000 คุณหมอส่งบิ๊กตรวจอีกครั้งกับคุณหมอเฉพาะทางในวันรุ่งขึ้นเพื่อเช็กอย่างละเอียด” 

หลังการวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ หรือ CML (Chronic Myeloid Leukemia) คุณหมอได้แนะนำแนวทางการรักษาให้กับบิ๊กไว้ 2 วิธี หนึ่งคือการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก และสองคือการทานยาเพื่อกำจัดสิ่งที่สร้างเม็ดเลือดขาวมากเกินปกติ 

“สำหรับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกจะยากตรงที่ว่าจะต้องเป็นสายเลือดโดยตรง นั่นคือพ่อแม่หรือพี่น้องเท่านั้น จะเป็นญาติทางใดทางหนึ่งไม่ได้เลย ซึ่งคุณหมอบอกว่าการรักษาวิธีนี้จะยากขึ้นไปอีกตรงที่ว่าเราจะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าครอบครัวของเราจะ pair กับเราได้ไหม คุณหมอเลยแนะนำให้ทานยา ซึ่งหากผลตอบรับดี ก็ให้ใช้วิธีนี้ไปเรื่อยๆ แต่ยาชนิดนี้มีราคาสูงมาก ณ เวลานั้น คุณหมอจึงให้ข้อมูลของ กลุ่มกำลังใจแมกซ์สมายส์ องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งหากเรามีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ จะทำให้เราไม่ต้องเสียค่ายาแรงขนาดนั้นได้ โดยบิ๊กรักษาอยู่กับมูลนิธินี้ในช่วง 3 ปีแรก ปัจจุบันบิ๊กมารักษากับอาจารย์หมอที่ศิริราช การรักษายังเป็นการทานยาและนัดตรวจเลือดทุกๆ 3 เดือนค่ะ”  

ดูแลกาย ระวังใจ สู่การอยู่กับมะเร็ง

“สำหรับผลข้างเคียงของยาที่ทาน โดยทั่วไปจะเป็นได้ตั้งแต่การมีผื่น น้ำหนักขึ้น ผิวขาวมากกว่าปกติเพราะตัวยาจะไปทำปฏิกิริยากับเม็ดสีของผิว การปวดเมื่อยตามข้อและกระดูก แต่จะคนจะมีอาการแตกต่างกัน แต่อาการแพ้ที่ทุกคนจะต้องเจอแน่ๆ เลยคือ อาเจียน บิ๊กอาจจะโชคดีที่มีเพียงอาการอาเจียนในช่วงวันแรกๆ เท่านั้น ในการดูแลร่างกาย ทั้งคุณหมอและเจ้าหน้าที่ของทางมูลนิธิแนะนำให้บิ๊กใช้ชีวิตได้ตามปกติเลย ซึ่งการเป็นโรคนี้ ร่างกายเราจะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งที่ไปสั่งให้เม็ดเลือดขาวสร้างมากเกินไป การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่จะทำให้ร่างกายมีโปรตีนและสารอาหารที่สมดุลกัน ก่อนหน้านี้บิ๊กไม่ทานเนื้อสัตว์ เลยกลับมาทานเหมือนเดิม โดยจะเว้นอย่างเดียวคือเนื้อวัว นอกจากนี้ คือการนอนให้เป็นเวลา เพราะการทานยาทำให้เราต้องพยายามทานให้เป็นรูทีน เป็นไซเคิลในการออกฤทธิ์ ขณะที่การออกกำลังกาย ด้วยค่าเลือดของบิ๊กถือว่าไม่มีปัญหา เลยสามารถออกกำลังกายอย่างโยคะได้ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง และตัวเองเป็นคนฝึกโยคะแบบพอดีกับร่างกายตัวเองมาตลอดอยู่แล้ว

ในเรื่องจิตใจ จังหวะก่อนหน้าที่บิ๊กจะทราบว่าตัวเองเป็น เพื่อนของบิ๊กคนหนึ่งป่วยด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและจากไปเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น พอมาคิดเรื่องเพื่อนในเวลานั้น เลยทำให้ตัวเองยิ่งเครียดและกังวลมากขึ้นไปอีก ถามตัวเองตลอดว่าเราจะมีชีวิตอยู่แค่ไม่กี่อาทิตย์แล้วเหรอ ความรู้สึกต่างๆ ถาโถมเข้ามา ทำให้คืนที่ทราบว่าอาจเป็นมะเร็งกลายเป็นคืนที่แย่เอามากๆ คิดว่า ‘ฉันจะทำอย่างไร จะเป็นอย่างไรต่อไป ระหว่างที่ต้องดูแลตัวเองต้องยากแน่ๆ เพราะมะเร็งเม็ดเลือดขาวคือภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เราต้องระวังขนาดไหนกันถ้าต้องไปอยู่กับคนหมู่มาก ชีวิตเราต้องเปลี่ยนไปขนาดไหน นี่เรากำลังจะตายแล้วเหรอ’ คิดวนอยู่แบบนั้นอยู่หลายสัปดาห์ ซึ่งบิ๊กรู้แหละว่าเราทุกคนต้องไปถึงจุดนั้นในสักวัน แต่เรายังคงกลัวและเศร้าอยู่เป็นระยะๆ 

สิ่งสำคัญหนึ่งอย่างที่ช่วยบิ๊กไว้ได้เยอะคือ โยคะ การฝึกโยคะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานอกจากจะได้เรื่องร่างกายแล้ว ยังเป็นการฝึกใจด้วย บิ๊กใช้โยคะในการเข้ามาดูหัวใจตัวเอง บิ๊กยอมรับว่าไม่ง่าย แต่นั่นเป็นกระบวนการที่เราจะต้องให้ใจได้เรียนรู้ บิ๊กเลยปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้ารู้สึกดาวน์คือดาวน์ แต่จะพยายามเอาใจเรากลับมาให้เร็วที่สุด ตอนนั้นทุลักทุเลพอสมควร แต่ยังคงฝึกและวนอยู่เป็นลูปอย่างนั้นจนใจเริ่มนิ่งมากขึ้นและอยู่กับสิ่งที่เรากำลังเจออยู่ได้ เอาจริงๆ ถ้าลองดูสิ่งที่ปฏิบัติกับความเป็นจริงนี่ค่อนข้างจะขัดแย้งกันในตัวพอสมควรเลยนะคะ เพราะการป่วย แน่นอนว่าต้องมีความเครียดเข้ามาไม่มากก็น้อย แต่เราต้องพยายามที่จะไม่เครียด เพราะว่าถ้ายิ่งเครียด จิตใจกับร่างกายจะเริ่มไม่สัมพันธ์กัน จะยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันเรายิ่งแย่และร่างกายอ่อนแอลง ดังนั้น การดูแลร่างกายให้แข็งแรงเท่าที่เราจะทำได้เป็นเรื่องสำคัญมากเท่าไหร่ เรื่องใจก็สำคัญมากเท่านั้น ตอนนี้ทั้งร่างกายและจิตใจบิ๊กแข็งแรงขึ้นมาก บิ๊กยอมรับ เข้าใจ และอยู่กับโรคได้แล้วค่ะ”

มะเร็ง คือ wake-up call

“จริงๆ แล้ว มะเร็งค่อนข้างที่จะใกล้ตัวบิ๊กเหมือนกัน เพราะคุณแม่และคุณยายเสียด้วยมะเร็งปอด ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนสูบบุหรี่ ซึ่งบิ๊กได้เห็นแล้วล่ะว่า มะเร็งเป็นโรคที่ใครจะเป็นก็ได้ เป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้เลย พอได้เห็นตัวอย่างแบบนั้น ตัวเราเองเลยพยายามไม่เก็บมาคิด ใช้ชีวิตปกติและดูแลตัวเองมาเรื่อยๆ ทั้งการฝึกโยคะ การพักผ่อน การทานอาหาร การดูแลความคิดและจิตใจ ใช้ชีวิตบนทางสายกลางมาตลอด แต่พอมาเป็นมะเร็ง ถามว่าความคิดความรู้สึกเราเปลี่ยนไปไหม มีสิ่งที่เปลี่ยนไปอยู่เหมือนกัน นั่นคือมายด์เซ็ตในการใช้ชีวิตที่บิ๊กใช้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เราไม่ได้เห็นค่าอะไรมากนัก การเป็นมะเร็งเหมือนเป็น wake-up call ว่าจริงๆ แล้วความตายใกล้ตัวพวกเรามากเลยนะ ถึงต่อให้คุณไม่เป็นมะเร็งก็ตาม ฉะนั้น ทุกวันนี้ เวลาตื่นมาและพบว่าตัวเองยังมีชีวิต บิ๊กเลยอยากทำให้ในวันนั้นดีและมีค่าที่สุด ในวันที่เราหงุดหงิดจากงาน จากสิ่งรอบตัว แล้วตามหัวใจไม่ทัน เราจะคิดว่าไม่เอา ช่างมัน เพราะเราไม่รู้เลยนะว่าจะมีวันพรุ่งนี้ไหม จะเสียเวลาหงุดหงิดกับสิ่งที่ไม่มีค่าไปเพื่ออะไร จะมีความคิดแบบนี้เข้ามาเตือนอยู่ตลอดเวลา 

ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนจากคนรอบๆ ตัว คือนักเรียนบางคนอาจจะเห็นว่าการสอนของบิ๊กเปลี่ยนไป แต่พวกเขาไม่รู้หรอกนะว่าเป็นเพราะอะไร ปกติบิ๊กเป็นคนที่สอนแล้วตั้งใจ พลังจะมาเต็ม เพราะเจตนาคืออยากจะแชร์สิ่งที่ดีของโยคะให้ได้มากที่สุด แต่ในความตั้งใจของเราอาจทำให้นักเรียนบางคนรู้สึกเครียดและกดดัน นี่เลยเป็นอีกหนึ่งเรื่องหลังจากเป็นมะเร็งที่ทำให้บิ๊กได้กลับมาทบทวนตัวเอง มาดูว่าความเข้มงวดของเราส่งผลอะไรกับนักเรียนบ้าง บิ๊กสัมผัสได้ว่านักเรียนรู้ถึงเจตนาดีของเรา ตั้งใจฝึก และไม่ได้หายไปไหน แต่เขาฝึกด้วยความกลัว ความเกร็ง ความเครียด ซึ่งสะกิดเราว่า ในเมื่อเขาตั้งใจเข้ามาเรียนกับเรา การได้รับความรู้สึกแบบนั้นกลับไปไม่ใช่หรือเปล่า เลยทำให้บิ๊กผ่อนคลายขึ้น เพราะเราไม่อยากให้เขารู้สึกเครียดแบบเดิมอีกแล้ว แต่อยากให้เขารู้สึกว่าเขามาฝึกเพราะเขารักโยคะ ได้ฝึกกับครูคนนี้แล้วสนุก สบาย รีแล็กซ์ และได้ยังประโยชน์เหมือนเดิม ก่อนหน้านี้บิ๊กอาจมีกำแพงที่สูงลิ่วจนคนกลัว ซึ่งจริงๆ ตัวเองเป็นคนตลกและบ๊องคนหนึ่งเลย แต่เรารู้สึกว่าเวลาสอน เราสวมหมวกของบทบาทครูทำให้เราไม่ยอมแสดงมุมที่มีความเป็นมนุษย์ทั่วไปของตัวเองออกมา นี่คือสิ่งที่เราได้จากมะเร็ง ถือว่าเป็นแง่บวกเลยแหละ” 

“เธอทำดีแล้ว”

“ถ้ามองย้อนกลับไป บิ๊กอยากบอกว่า ‘เธอทำดีแล้ว’ บิ๊กรู้สึกภูมิใจและอยากขอบคุณตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมากับการที่สามารถจัดการกับสถานการณ์นี้ได้อย่างมั่นคง แม้จะล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ นี่คือชีวิตจริงที่ย่อมมีขึ้นมีลง จนถึงตอนนี้ บิ๊กไม่รู้สึกว่าทำอะไรพลาดไปและไม่รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองต้องดิ้นรนต่อสู้มาตลอด 5 ปี  

จุดหนึ่งที่บิ๊กไม่ได้แชร์กับใครเลย เพราะจริงๆ แล้ว ส่วนตัวบิ๊กเป็นคนที่ค่อนข้างที่จะอินโทรเวิร์ตและด้วยความที่มะเร็งเป็นโรคร้ายแรง เรารู้สึกว่าการบอกใครไปจะเป็นผลดีรึเปล่า ดังนั้น นอกจากครอบครัว จะมีเพียงเพื่อนสนิทและเจ้านายที่ทราบ บิ๊กคิดเยอะพอสมควร จนกระทั่งมาโควิดนี่แหละที่บิ๊กเห็นคนเครียดกับสถานการณ์เยอะมากๆ ซึ่งแปลกอยู่เหมือนกัน เพราะบิ๊กควรจะเครียด เนื่องจากเราเป็นกลุ่มเสี่ยงและโควิดจะมีผลกับเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของคนโดยตรง แต่ปรากฏว่าเราไม่เครียดเลย อาจเพราะว่าเราอยู่กับมะเร็งมา 5 ปี ปีนี้คือปีที่ 6 มะเร็งทำให้บิ๊กมองโลกอีกแบบว่าถ้าเราไม่ได้ดูแลตัวเองหรือประมาท แล้วเกิดเป็นโควิดหรือโรคอะไรก็แล้วแต่ขึ้นมา เราจะโกรธตัวเองที่ไม่เต็มที่ แต่ถ้าเราดูแลตัวเองเต็มที่แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เราจะไม่เสียใจ แต่จะแค่จัดการกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและไม่มานั่งเครียดล่วงหน้าแบบที่เคยเป็นมา บิ๊กเลยอยากมาแชร์เรื่องราวของตัวเองเพื่อส่งกำลังใจกับคนที่กำลังทุกข์ เครียด หรือต้องต่อสู้กับอะไรในชีวิตอยู่ว่า ในที่สุดแล้วเราจะผ่านไปได้ค่ะ

รู้ทันหัวใจ

“สำหรับหลายๆ คน หรือกระทั่งตัวบิ๊กเอง แค่บอกว่าเป็นมะเร็งก็รู้สึกกลัวแล้ว ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา บิ๊กอยากให้คนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ว่า อนุญาตให้ตัวเองกลัว เศร้า เสียใจ หรือโกรธไปเลย นี่คือสิ่งที่คุณต้องปลดปล่อยออกมาจากระบบในชีวิต เพราะยิ่งเก็บไว้และคิดว่า ‘ไม่ได้นะ ฉันต้องเข้มแข็ง ฉันต้องแข็งแรง ฉันต้องไม่คิด’ ความรู้สึกเหล่านี้จะยังคงค้างอยู่ภายในใจ นั่นจะไม่เป็นผลดีเลย 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ความรู้สึกแบบนี้อาจจะวนเป็นลูป บางวันอาจจะดี บางวันรู้สึกเข้มแข็งขึ้นมา อีกวันอาจจะรู้สึกเศร้าลงไปอีก ปล่อยให้เป็นกระบวนการธรรมชาติ เพียงแต่ให้รู้ว่า ณ เวลานี้ เรากำลังรู้สึกอะไร ไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองมากเกินไป แน่นอนว่าแต่ละคนจะใช้เวลาในการปล่อยความรู้สึกนี้ออกไปจากตัวได้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ให้เวลาตัวเองเต็มที่ค่ะ จนวันหนึ่ง คุณจะพบว่า ‘เอ้อ ทุกสิ่งที่เราคิดและรู้สึกหมดจากระบบในตัวเราแล้วนะ’ และวันนั้นคุณจะเริ่มเข้าใจและปรับตัวให้อยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างมั่นคง สำหรับบิ๊ก ชีวิตคนเราเมื่อ hit bottom แล้ว หลังจากนั้น จะมีแต่ขึ้นและขึ้น บิ๊กอยากให้มองแบบนั้นเสมอ ขออย่างเดียวคือเมื่อลงไปถึงจุดที่ลึกที่สุดแล้ว อย่าปล่อยตัวเองให้จมอยู่แบบนั้น พอแตะพื้นแล้ว ให้ถีบตัวและว่ายขึ้นมา วันนั้นคุณจะพบว่า เราทำได้จริงๆ ค่ะ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล   
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ 
ขอบคุณสถานที่: บ้านต้นไม้สีขาว

นพ. อนิรุทธ์ นิรนาท ใช้ความรู้เป็นฮาวทูช่วยผู้ป่วยมะเร็งผ่านเพจ ‘หมอหมูสู้มะเร็ง’

นพ. อนิรุทธ์ นิรนาท หรือคุณหมอหมู คือศัลยแพทย์มะเร็งวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม และเป็นผู้ก่อตั้งเพจ ‘หมอหมูสู้มะเร็ง’ เมื่อราว 10 ปีก่อน โดยตั้งใจให้เพจแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่สามารถแบ่งปันความรู้ด้านมะเร็งที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วยและคนทั่วไป จากแรกเริ่มที่เป็นการแชร์ข่าวสารเกี่ยวกับโรคมะเร็ง คุณหมอได้ขยับบทบาทสู่การเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวข้องกับมะเร็งแบบรอบด้านเพื่อส่งต่อความรู้และกำลังใจให้แก่กัน สำหรับคุณหมอแล้ว การช่วยให้ผู้เจ็บป่วยจากโรคทางกายและหมดกำลังใจให้กลับมามีสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้คือความสุขและแรงบันดาลใจ 

ส่งต่อความรู้เพื่อสู้มะเร็ง

หลังจากเรียนจบจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คุณหมอได้ศึกษาต่อทางด้านศัลยกรรมทั่วไป ทำงานเป็นหมอเฉพาะทางที่โรงพยาบาลศิริราช กระทั่งต่อยอดความรู้ด้านศัลยศาสตร์ มะเร็งวิทยา ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งบทบาทนอกเหนือไปจากการเป็นผู้ให้การรักษา

“หลังจากเรียนจบศัลยศาสตร์ มะเร็งวิทยา และได้มาทำงานรักษาคนไข้ ผมมักพบคำถาม ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังรักษา ซึ่งเป็นชุดคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ และทำให้ผมคิดว่าหากประชาชนสามารถได้รับข้อมูลที่ถูกต้องน่าจะช่วยคลายกังวลเรื่องโรคมะเร็ง รวมถึงสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ซึ่งชุดคำถามซ้ำๆ ในหลายครั้งเป็นคำถามที่มักเริ่มต้นมาจากความเชื่อที่ผิด ผมเลยคิดว่าตัวเองคงจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดที่ผมไม่มีทีมงาน การใช้เฟซบุ๊กจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผมคิดว่าจะสามารถนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ออกไปได้และสามารถศึกษาวิธีการต่างๆ ได้ด้วยตัวเองจนเกิดเป็นเพจ ‘หมอหมูสู้มะเร็ง’ ขึ้น โดยเนื้อหาในช่วงแรกจะมีตั้งแต่การหาข่าวจากแหล่งต่างๆ ในลักษณะของการรวบรวมข่าว รวมถึงเนื้อหาในส่วนที่ผมจัดทำขึ้นด้วยตัวเอง หลังจากนั้นผมเริ่มทำคอนเทนต์ที่เป็นของเรามากขึ้น ด้วยความหวังที่อยากให้คนไข้และคนทั่วไปได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ไม่ใช่ความเชื่อผิดๆ เพราะว่าความเชื่อเหล่านั้นอาจส่งผลเสียหรือสามารถนำพาชีวิตเขาไปอีกแนวทางหนึ่งเลย”

หลังจากทำเพจไปได้พักใหญ่ๆ คุณหมอพบว่าตัวเพจเป็นการพูดด้านเดียว กลุ่มสาธารณะในชื่อ ‘รู้ สู้ มะเร็งเต้านม By หมอหมู‘ จึงถูกตั้งขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเสมือนชุมชนย่อยๆ ที่คนไข้สามารถตั้งกระทู้ถามได้สามารถสื่อสารกันแบบ two-way communication ได้ “ข้อแตกต่างก็คือ ความเคลื่อนไหวภายในกลุ่มสาธารณะนี้จะมีคนคอยเข้ามาพูดคุย ตั้งกระทู้ถาม ให้กำลังใจกัน รวมถึงมาคอยอัพเดทเรื่องราวของตัวเองด้วย”

ความเชื่อ VS ความจริง

“ตัวอย่างคลาสสิคที่ผมเจอบ่อยมากๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งก็อย่างเช่น คนเป็นมะเร็งห้ามทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ทานได้แต่ปลา ซึ่งชุดความเชื่อนี้ หากนำไปปฏิบัติระยะยาวอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายเราได้ เช่น การทานเมนูปลาเพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลานานๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกคือ ความไม่ยั่งยืน หลายคนอาจทำไม่ไหวกับการต้องทานเมนูเดิมๆ แบบเดียว นั่นส่งผลต่อสภาพจิตใจอยู่มากเหมือนกันนะครับ ขณะเดียวกันการมีข้อจำกัดดังกล่าวก็ทำให้ร่างกายของเราขาดสารอาหารได้ ผู้ป่วยมะเร็งต้องถูกจำกัดเรื่องการรับประทาน ส่งผลให้ร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อการรักษาหลักๆอย่างเช่นการผ่าตัด การให้ยาเคมี เพราะความไม่พร้อมทางร่างกาย นี่เป็นหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการรักษามะเร็งและการใช้ชีวิตเลยนะ แต่ผมคิดว่าเราทุกคนสามารถแก้ไขในจุดนี้ได้ด้วยการตรวจสอบชุดข้อมูลที่ได้มาทุกครั้งก่อนที่จะเชื่อหรือลงมือทำ ยิ่งทุกวันนี้ที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นด้วย ลองหาแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือแบบที่มีหลักฐานซึ่งสามารถอ้างอิงได้ หรือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่คุณจะสามารถได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ”

เพราะอยากเห็นคนสุขภาพดี

“ถ้าในแง่ของเป็นหมอรักษา เราถูกสอนมาเพื่อที่จะให้การรักษากับคนไข้ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเลือกการรักษาเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่งและมีความเชี่ยวชาญทางนี้ แล้วเราสามารถใช้สิ่งที่ตัวเองมีช่วยรักษาคนให้คนไข้หายเจ็บป่วย พ้นจากความทุกข์ทางกาย ในแง่ของแพทย์นั่นคือความสำเร็จสูงสุด ขณะที่บทบาทของคอนเทนครีเอเตอร์ การที่ลูกเพจส่งข้อความหลังไมค์มาทางไดเร็กแมสเสจหรือทางไลน์ว่าขอบคุณมากเพราะข้อมูลที่เขาได้ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ เช่น ความรู้เรื่องอาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งสามารถทานได้ ซึ่งก่อนหน้าเขาอาจถูกห้ามทานอาหารบางประเภทที่จริงๆ แล้วทานได้ปกติ การทราบข้อมูลเหล่านี้ทำให้เขามั่นใจในการปฏิบัติตัว ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องอยู่กับความเชื่อที่ผิด นี่จึงเป็นทั้งแรงผลักดันและความสุขที่ผมสามารถทำในสิ่งที่ผมคาดหวังเอาไว้

กายและใจต้องไปด้วยกัน

“สิ่งที่ผมอยากแนะนำอยู่สองเรื่อง หนึ่งคือการรักษาสุขภาพทางกาย และสองคือการดูแลสุขภาพใจ สำหรับสุขภาพกายเริ่มต้นเลยคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักอาหารหลัก 5 หมู่ ทานให้เพียงพอ หลักการมีง่ายๆ เท่านี้เลย ซึ่งถ้าเรารับประทานอาหารอย่างเพียงพอ ครบทั้ง 5 หมู่ที่ต้องการแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริมใดๆ เลยนะ เพราะเราไม่ได้ขาดอะไรแล้ว สองคือเรื่องการออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบการออกกำลังกายก็ขึ้นอยู่กับบุคคลว่าจะแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน สภาพร่างกายในเวลานั้นเป็นอย่างไร เช่นว่าถ้าอยู่ในช่วงนี้ยังรับการรักษาเคมีบำบัดอยู่ ก็ปรับการออกกำลังกายให้เป็นแบบเบาๆ ก่อนหรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ให้รอจนหายดีและแข็งแรงขึ้น แล้วค่อยเริ่มต้นและเพิ่มความเข้มข้นตามความสามารถของร่างกายในเวลานั้น เอาจริงๆ ผู้ป่วยมะเร็ง หากดูแลตัวเองได้ดีก็สามารถกลับมามีร่างกายแข็งแรงได้ตามปกติเลยนะครับ

ส่วนเรื่องของจิตใจ สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือความหนักแน่น นั่นหมายความว่า คุณจะต้องรับฟังข้อมูลอย่างมีสติ เมื่อได้ข้อมูลมาอย่างเพิ่งเชื่อไป 100% สมัยก่อนไม่มี Google และ Social Media การหาข้อมูลเป็นเรื่องยุ่งยาก เปรียบเทียบกับตอนนี้ที่ ข้อมูลหาง่าย แต่ข้อมูลจริงหายาก ข้อมูลที่ถูกใจและแชร์เยอะ ไม่ได้หมายความว่าถูกต้อง พิจารณาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มิใช่จากยอดไลก์และแชร์ ขณะเดียวกัน หากำลังใจและพลังงานบวกให้กับตัวเอง เพราะว่ากำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม แล้วประโยคที่ว่า “การเป็นมะเร็งคือการแปะป้ายว่าคุณตายแน่ๆ” ผมขอให้เปลี่ยน mindset ใหม่ทั้งหมด เพราะมะเร็งคือโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีวิธีการรักษาและการรักษาในปัจจุบันมีประสิทธิภาพนะครับ ความก้าวหน้าทางการแพทย์มาไกลมากแล้วในเวลานี้ ผมพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนดูแลตัวเองได้ดีมากๆ นอกจากการมีสุขภาพที่ดีจากการดูแลตัวเองอย่างดี การมองโลกอย่างไรก็มีผลมากเช่นกัน  ผมเปรียบเทียบง่ายๆ หากเป็นเบาหวานและเราสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี ดูแลสุขภาพกายและใจได้ดี โรคก็จะสงบไปเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีบางช่วงที่น้ำตาลขึ้นสูงหรือต่ำ แต่ก็สามารถอยู่ภายใต้การควบคุมและแก้ไขให้กลับมาอยู่ในช่วงปกติได้ มะเร็งก็เช่นกัน ผมเข้าใจความรู้สึกในช่วงเวลานั้นว่าเราตกใจและใจเสียเป็นอันดับแรกแน่นอน แต่อยากจะให้เปลี่ยน mindset ว่าการเป็นมะเร็งไม่เท่ากับต้องตาย เมื่อคุณทราบแล้วว่านี่คือโรคเรื้อรังพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม คุณจะมีแนวทางปฏิบัติในการดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วคุณจะอยู่กับโรคได้แบบปกติสุข”

ลดเสี่ยง ป้องกัน ตรวจคัดกรอง

“สำหรับวิธีที่จะทำอย่างไรให้เราห่างไกลจากโรคมะเร็ง เรื่องแรกคือการลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง ซึ่งแต่ละชนิดก็มีความเสี่ยงแตกต่างกันไป แต่โดยรวมก็จะมีสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น บุหรี่ สุรา เป็นต้น เรื่องที่สองคือการป้องกัน อย่างเช่น เรารู้สาเหตุของมะเร็งหลายชนิด หากเราป้องกันได้ อย่างเช่น มะเร็งปากมดลูกซึ่งมีวัคซีนป้องกัน ลองพิจารณาไปรับเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เพราะสามารถช่วยลดอัตราการเป็นมะเร็งได้อย่างชัดเจน มีการศึกษาที่ยืนยันแล้ว หรือมะเร็งตับที่ปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบจะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ เป็นต้น แล้วในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีวิวัฒนาการทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น มียาหรือวัคซีนต่างๆ ที่ป้องกันโรคมะเร็งได้ดี ครอบคลุม และปลอดภัยมากขึ้นอีก ซึ่งผมอยากจะรณรงค์ให้ไปรับบริการกันนะครับ เรื่องที่สามคือหมั่นไปตรวจสุขภาพเพราะมะเร็งหลายๆ ชนิดเขามีโปรแกรมการตรวจคัดกรองอยู่ แม้การตรวจไม่ได้ช่วยป้องกันให้เราปลอดจากโรค แต่จะช่วยให้เราตรวจเจอมะเร็งได้เร็วขึ้น ซึ่งการตรวจเจอได้เร็ว มีระยะโรคน้อย รักษาได้ก่อน ความซับซ้อนและผลข้างเคียงของการรักษาจะน้อยลง และมีโอกาสหายได้สูงขึ้น ถ้าสามเรื่องนี้ คุณสามารถทำได้ ชีวิตคุณก็อยู่ห่างไกลจากมะเร็งแน่นอน



เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล 
ภาพ: วิรัตน์ รุ่งเรืองมีทรัพย์

ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์ ‘อ่อนแอได้’ เพื่อปลอบโยนใจให้ ‘แข็งแรง’ กว่าเดิม

การเมตตาตนเอง หรือ self-compassion เป็นหนึ่งในกระบวนการเยียวยาจิตใจ และเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย ความเอาใจใส่ และใจดีต่อตัวเอง รวมไปถึงการยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นและรู้สึก ไม่เว้นแม้แต่ข้อเสีย ความผิดพลาด หรือความอ่อนแอ สำหรับนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ เจ้าของเพจ ‘พิมพ์พาพ์’ อย่าง ‘แองเจิ้ล – ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์’ เราได้เห็นสิ่งคล้ายๆ กันนี้ผ่านวิธีคิดที่เธอใช้รับมือกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อ 4 ปีก่อนว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเข้มแข็งหรือฮึดสู้ทุกวัน แต่คือการทำความเข้าใจว่าความเหนื่อยและอ่อนแอเป็นเรื่องปกติ และเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของมนุษย์อย่างเราๆ ที่ไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์แบบ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เธอใช้รับมือกับช่วงเวลายากๆ ที่ผ่านมาได้อย่างดี

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non Hodgkin’s Lymphoma

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2560 แองเจิ้ลมีอาการคอบวม หน้าบวม เจ็บคอ รวมถึงไอแห้งๆ เธอเริ่มเหนื่อยง่ายจนการใช้ชีวิตของเธอเริ่มยากขึ้น เธอนั่งยองๆ ไม่ได้หรือแค่เดินขึ้นบันไดก็ต้องหยุดพักอยู่หลายครั้ง เธอตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งเวลานั้นคุณหมอวินิจฉัยว่านี่เป็นอาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ แต่แม้จะทานยาอยู่เกือบ 2 เดือน อาการต่างๆ ยังคงไม่ดีขึ้นจนเธอเริ่มท้อ

“ตอนนั้นเราเริ่มมีไข้ต่ำๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน คุณหมอจึงตัดสินใจส่งไปเอกซเรย์และเจอก้อนขนาดใหญ่อยู่บริเวณหัวใจกับปอด ตรวจคลื่นหัวใจเจอว่ามีน้ำอยู่ในเยื่อหุ้มหัวใจ คุณหมอขอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ผลออกมาว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน (Non Hodgkin’s Lymphoma) ระยะที่ 2 ตอนนั้นประมาณเดือนมีนาคม ปี 2561”

เธอเริ่มการรักษาด้วยการทำคีโมสูตร RCHOP แต่เมื่อใกล้จะครบ 6 คอร์สตามกำหนด มะเร็งกลับดื้อยาและโตขึ้นมาใหม่ คุณหมอจึงต้องเปลี่ยนมาให้คีโมสูตรที่แรงขึ้น แต่ด้วยก้อนมะเร็งยุบๆ โตๆ อยู่พักหนึ่งจนทำให้เธอต้องเปลี่ยนการรักษาอีกครั้งด้วยการฉายแสงแบบชุดใหญ่ 40 แสง กระทั่งถึงการทรีทเมนท์ครั้งสุดท้ายที่อาการของเธอเริ่มนิ่ง

“คุณหมอให้เราลองรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy อยู่ ปัจจุบันโรคมะเร็งของเราสงบมาเกือบ 3 ปีแล้ว ไม่ได้ทานยาอะไรเลย มีแค่นัดทำเอกซ์เรย์ CT Scan และติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน เพิ่งจะได้เริ่มนัดเป็นทุก 6 เดือนไม่นานมานี้ โดยรวมเราใช้ชีวิตได้ปกติ มีเหนื่อยง่ายบ้าง เพราะยังมีก้อนและผังผืดที่ปอดอยู่ ตอนนี้เราดูแลตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดแบบไม่เคร่งมาก ระวังเรื่องการทานบ้าง แต่ไม่ตึงจนเกินไป”

ใช้กิจกรรมช่วยสำรวจจิตใจ

“ตอนป่วยเราเริ่มเขียนบันทึกทุกวันเพื่อระบายความคิดและความรู้สึก ผสมกับการวาดรูปลงไปในสมุดของเรา เราใช้สมุดบันทึกของ Art for Cancer ที่เป็นบันทึกพิชิตมะเร็งด้วยนะ ซึ่งหลายๆ หน้าในนั้นเป็นกำลังใจและให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตร่วมกับโรค เรารู้สึกว่าตัวเองยังต้องพยายามใช้ชีวิตต่อไปและใช้มันอย่างดี สำหรับเรา การวาดภาพกับการเขียนบันทึกช่วยให้เราเห็นความรู้สึกเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ตอนนี้อาจจะไม่ได้บันทึกทุกวันเหมือนช่วงที่ป่วย แต่ยังคงบันทึกอยู่เรื่อยๆ ทั้งสองกิจกรรมนี้ทำให้เราเข้าใจอารมณ์และความคิดของตัวเอง ได้ระบายความรู้สึก ความคิดต่างๆ ที่มันอัดแน่นอยู่ภายใน

ส่วนเรื่องการออกกำลังกาย เมื่อก่อนช่วงรักษาอยู่เราจะชอบไปเดินเล่นที่สวนแถวบ้านตอนเย็น เดินเล่นใต้ต้นไม้ ดูลมที่พัดใบไม้ สัมผัสความเย็นสบายของลม นั่งมองท้องฟ้า รู้สึกผ่อนคลายมาก อยากให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ดีๆ แบบนี้อีกเยอะๆ แต่พอสองปีมานี้ที่เจอฝุ่นและโควิดเลยไม่ค่อยกล้าออกไปบ่อยๆ เราชอบเล่นโยคะด้วย เล่นเองที่บ้านแบบเปิดคลิปในยูทูบแล้วทำตาม แต่ไม่ได้เก่งนะคะ (หัวเราะ) เราชอบที่โยคะสอนให้เราสามารถกำหนดลมหายใจ ช่วยดึงความคิดตัวเองให้กลับมาอยู่ ณ ตรงนั้น เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ได้ฟังร่างกายตัวเอง นอกเหนือไปจากผลลัพธ์ทางร่างกายที่เราได้แล้ว”

It’s okay to not be okay

“จริงๆ ตอนรู้ว่าเป็นมะเร็ง เราไม่ช็อคเลย เพราะเราเหนื่อยมาจากการหาโรคไม่เจอและต้องทานยาทุกวันอยู่ 2 เดือน พอเจอว่าเป็นมะเร็ง เราคิดแค่ว่า “โอเค รู้สาเหตุแล้ว จะได้รักษาให้ถูกจุดสักที” ซึ่งก่อนจะให้คีโมเรามีกำลังใจดี สดใส สังเกตร่างกายตัวเองทุกวัน รู้สึกว่าร่างกายยังแข็งแรง ทานได้ นอนหลับ ถ่ายออก หายใจสะดวก ไม่ค่อยเครียดมาก เพราะคิดว่าตัวเองจะหายได้จริงๆ ซึ่งเวลานั้นไม่ได้มีใครหรืออะไรทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือจุดจบของชีวิต เรามีความหวังเสมอว่าตัวเองจะหายและกลับไปใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นมา ได้ทานของอร่อยๆ ได้ไปข้างนอก อยู่แบบที่ไม่ต้องเจ็บป่วยอีก เราให้กำลังใจตัวเองตลอดว่าเป็นได้ก็หายได้ รู้สึกว่าต้องเข้มแข็งและผ่านไปให้ได้

แต่ร่างกายของเราค่อยๆ แย่ลงจากการทำคีโมทำให้เราไม่ค่อยมีแรงเดิน ต้องเจอกับอาการคลื่นไส้ ตอนนั้นจะรู้สึกว่าตัวเองเหมือนผักต้มที่ต้องทานทุกวัน ไม่สดชื่น ไม่ร่าเริง อ่อนปวกเปียก และจืดชืดไปหมด อุปสรรคสำหรับเราอีกอย่างคือการที่โรคที่เราเป็นไม่ค่อยตอบสนองยา ช่วงที่เจอคีโมหนักๆ ยอมรับว่าท้อและเหนื่อย เป็นคนเกลียดการทานยาขมๆ ด้วย ตอนนั้นทรมานมาก เราเชื่อว่าคนที่เคยรักษาและมีอาการคล้ายๆ กันน่าจะเคยรู้สึกแบบเดียวกับเรา มันเป็นวงจรที่ไม่มีวันจบ ให้ยา-คลื่นไส้-เบื่ออาหาร-เพลีย พอเริ่มแข็งแรงขึ้นไม่กี่วันก็ต้องกลับมาให้ยาใหม่อีกแล้ว ตอนนั้นแค่ได้ยินคำว่ามะเร็งหรือคีโมก็รู้สึกผะอืดผะอมแล้ว

เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้เรามีแรงสู้ได้ ส่วนหนึ่งคงเพราะคนรอบๆ ตัว ทั้งครอบครัวและเพื่อนที่คอยให้กำลังใจเสมอ คุณหมอที่พยายามช่วยเหลือและดูแลเราอย่างเต็มที่ รวมถึงตัวเราเองด้วยที่รู้สึกว่าไม่ได้อยากยอมแพ้ เพราะอย่างที่บอกว่าเรามีความหวังมากๆ ว่าจะต้องดีขึ้น ได้กลับไปทานอาหารอร่อย นั่นคือเป้าหมายเลย (ยิ้ม) ซึ่งเวลารู้สึกแย่ ท้อแท้ และเสียใจเกิดขึ้น เราค่อยๆ ฮึบตัวเองขึ้นสู้ใหม่เพราะพวกเขาเหล่านี้แหละที่มาคอยคุย ถามไถ่ และให้กำลังใจ ตอนนั้นเราบอกกับตัวเองว่า จริงๆ เราไม่ต้องเข้มแข็งหรือแข็งแรงตลอดเวลาก็ได้ สำหรับเรามันโอเคนะที่จะยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอ เวลานี้เราเลยไม่เก็บหรือกดความรู้สึกตัวเองอีกแล้ว ไม่พยายามที่จะเข้มแข็งถ้าไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่เราจะพยายามใส่ใจ ฟังความรู้สึกตัวเอง และมีสติกับชีวิตที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเองต้องขอบคุณคนรอบข้างและอยากบอกพวกเขาว่าเรารู้สึกขอบคุณอยู่เสมอ และอยากขอบคุณตัวเองที่ไม่ยอมแพ้ อยากบอกตัวเองว่า เธอเก่งมากๆ เลยนะที่ผ่านมาได้”

มะเร็งเพื่อนฉัน

“มุมมองต่อมะเร็งของเราไม่ได้ต่างจากเดิมมาก เรายังเชื่อว่ามะเร็งเป็นโรคที่รักษาได้ แต่อาจจะเหนื่อยและต้องต่อสู้กับโลกภายนอกและโรคภายในมากหน่อย แม้มะเร็งจะไม่ใช่โรคที่ใจดีเท่าไหร่ แต่พอได้เจอกันแล้ว เขาสอนให้เราเข้าใจชีวิตได้ดี ความจริงในมุมของเรา หลังจากผ่านการรักษามาทั้งหมด เรารู้สึกกลัวผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาด้วยคีโมมากกว่าตัวมะเร็งจริงๆ เสียอีก (หัวเราะ) พอเรารักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เรารู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงและมีพลังในชีวิตเยอะกว่าเก่ามาก ในใจยังขอบคุณการรักษานี้อยู่ตลอด อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาที่ดีแบบเรา

ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราอยากไล่มะเร็งออกไปให้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้เรามองว่ามะเร็งว่าเป็นเพื่อนไปแล้ว เราจะบอกกับมะเร็งเสมอว่าให้อยู่อย่างสงบด้วยกันไปเรื่อยๆ ก่อนนะ และได้เห็นว่าหลายๆ คนที่เคยป่วยเป็นมะเร็งก็คิดแบบเดียวกันว่ามะเร็งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่อยู่ด้วยกันไปแล้ว”

เต็มที่กับชีวิต

“การมองโลกของเราเปลี่ยนไปมาก เหมือนเพิ่งได้เริ่มมีชีวิตจริงๆ หลังจากที่เป็นมะเร็ง เรารู้สึกว่าตัวเองเข้าใจเหตุผลในการมีชีวิตมากขึ้น สำหรับเรา การมีชีวิตอยู่คือการอยู่เพื่อรู้สึกทุกอย่าง ไม่ว่าจะดีหรือแย่ แล้วก็แค่ทำงานกับมันไปในทุกๆ วัน เรารู้แล้วว่าไม่มีอะไรโลกที่แน่นอนจริงๆ มะเร็งทำให้เราซาบซึ้งกับชีวิตที่มีอยู่ รู้สึกดีที่ตื่นมาแล้วยังหายใจ คิดเสมอว่าการไม่เจ็บป่วยคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เราพยายามไม่เสียเวลาชีวิตไปกับอะไรที่เป็นพิษกับใจตัวเอง ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น พยายามไม่เก็บความทุกข์ความเครียดไว้นาน รักร่างกายตัวเองได้ดีกว่าเดิม รักชีวิตของตัวเอง เราจึงพยายามทำทุกๆ วันให้ดี ให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ เพราะไม่อยากรู้สึกเสียใจที่เสียโอกาสไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น แต่ก่อนเราเคยคิดอยู่นานมากว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรา สาเหตุของมะเร็งจริงๆ คืออะไร แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้เลย จนตอนนี้ คำถามที่เคยเกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้ว แต่คือการที่เราจะจัดการกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่อย่างไรต่อ เราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบไหน และเป็นคนอย่างไรต่อไปมากกว่า”

เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง พร้อมแล้วลุยต่อ

“สิ่งที่เราแนะนำได้ คงเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกับตัวเองมาแล้ว อย่างแรกคือการทาน เราลดการทานอะไรที่ทำให้ร่างกายอักเสบได้ง่าย เช่น น้ำตาล ของแปรรูป ของดอง ของดิบ เนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในมุมของเรา เราจะไม่เคร่งและไม่เครียดจนเกินไป เราให้อาหารใจกับตัวเองบ้าง ทานของที่อยากทาน ขณะเดียวกัน เราไม่ลืมที่จะทานของที่ดีต่อร่างกายด้วย สิ่งที่เราทำคือการหาความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ ทานทุกอย่างแบบพอดีๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป

อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องความเครียด ทุกวันนี้เรายังเจอเรื่องที่มากระทบจิตใจ มีความกังวล ความเศร้า แต่เราจะไม่ค่อยเก็บให้ไหลวนในตัวเรานานๆ แต่จะระบายออกมา คุยกับเพื่อนหรือคนที่เรารู้สึกไว้ใจ เล่นกับแมว ปรึกษานักจิตบำบัด หากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย หลังจากป่วยทำให้เรารู้สึกว่าบางทีเราไม่ต้องไปอะไรมากกับชีวิต แค่ไม่เจ็บป่วยคือของขวัญที่ดีที่สุดของชีวิตแล้ว พยายามใช้ชีวิตที่เราอยากใช้เท่าที่จะทำได้ อีกอย่างที่ไม่ควรลืมคือการพักผ่อนและออกกำลังกาย ทำอย่างไรก็ได้ให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ถ้าภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็จะลดความเสี่ยงที่จะเจอมะเร็งไปได้เยอะแล้วนะ

แน่นอนว่าการเผชิญและรักษาโรคมะเร็งไม่ง่ายเลย เราอยากบอกว่าเราเข้าใจทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์นี้แบบสุดๆ ถึงจะสู้จะมีกำลังใจมากแค่ไหน มันจะมีสักหนึ่งวันที่ความหวังของเราที่เคยสร้างพังทลายและหายไปต่อหน้าต่อตา เราอยากบอกว่า คุณเก่งมากที่ต่อสู้มาตลอด คุณจะผ่านมันไปได้ อยากให้ขอบคุณตัวเองทุกครั้งที่ได้พาตัวเองผ่านเรื่องยากๆ ถ้ารู้สึกเหนื่อยก็พักก่อน ถ้ารู้สึกท้อปล่อยให้มันเป็นไป อย่างเดียวเลยคุณอย่าเพิ่งยอมแพ้ จนเมื่อคุณพร้อมแล้วค่อยกลับมาลุยต่อ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล  
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์

ยุวดี พันธ์นิคม ผู้ปลดล็อคขีดจำกัดสู่ชีวิตแบบไร้ขีดจำกัด

“ข้อจำกัด” ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยนับว่าเป็นเรื่องที่เราต่างต้องมีและต้องเจอตลอดช่วงชีวิตหนึ่ง ใครหลายคนอาจถือเอาสิ่งที่ว่านี้มาเป็นข้ออ้างในการบอกกับตัวเองว่านี่คืออุปสรรคที่ทำให้ชีวิตไปได้ไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ไม่ใช่สำหรับ ออย – ยุวดี พันธ์นิคม เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูกและมะเร็งปอดเมื่อตอนอายุ 14 ซึ่งทำให้เธอต้องตัดขาซ้ายและปอดขวาเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ แม้มะเร็งจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่เธอสามารถก้าวข้ามความไม่สมบูรณ์นั้นได้ด้วยคำว่า “ไม่ยอมแพ้” ในวัย 36 ออยใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่รัก มีครอบครัวที่น่ารักอยู่เคียงข้าง เป็นนักวิ่งมินิมาราธอน และยังมีเพจเฟซบุ๊กชื่อ ออยลี่ฟอกซ์ ที่คอยจุดประกายและส่งต่อพลังดีๆ …สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเธอเองเท่านั้น แต่รวมถึงคนอื่นๆ ด้วยว่าการใช้ชีวิตได้อย่างดีด้วยการยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นเป็นอย่างไร  

เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ย้อนกลับประมาณ ม.3 เทอม 1 อายุประมาณ 14 ปี ตอนนั้นออยมีอาการปวดขา เป็นๆ หายๆ มาตลอด แต่คิดว่านั่นคืออาการปวดทั่วๆ ไป ไม่ได้สนใจอะไร จนเวลาผ่านไป ออยเริ่มปวดถี่ขึ้นๆ จนนอนเพ้อ เลยไปหาคุณหมอซึ่งตอนแรกยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่มีการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือเนื้องอกในกระดูก หลังจากผ่าตัดตรวจดูชิ้นเนื้อปรากฏว่าเป็นเนื้อร้าย คุณหมอเลยขอสแกนทั้งตัวถึงได้เห็นว่าออยเป็นมะเร็งกระดูกและลามไปที่ปอดซ้ายและขวา อยู่ในระยะกระจายแล้ว”

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การรักษาในเวลานั้นคือการตัดที่จุดกำเนิดเพื่อรักษาชีวิตไว้ ซึ่งหากไม่ตัด เธออาจจะเสียชีวิตภายใน 1-2 ปี หลังจากแผลผ่าตัดที่ขาด้านซ้ายเริ่มหายดี เธอเริ่มให้คีโมไปได้ระยะหนึ่งกระทั่งก้อนเนื้อมะเร็งที่ปอดซ้ายยุบลงเหลือ 5-6 มิลลิเมตร ขณะที่ด้านขวาไม่มีทีท่าว่าจะยุบลง ซึ่งด้วยสภาพร่างกายที่เริ่มไม่ไหว คุณหมอจึงแนะนำให้ออยตัดปอดด้านขวาออกเสีย “ตอนนั้นออยไม่ได้ปรึกษาใครว่าจะตัด ไปบอกกับคุณพ่อคุณแม่เลยว่า ลูกจะตัดปอดนะ เมื่อตัดปอดข้างขวาออกไป ออยให้คีโมมาต่อเนื่องมาจนกำลังจะเข้าสู่คอร์สที่ 9 จาก 12 คอร์ส ระหว่างเตรียมตัว ออยบอกพยาบาลว่าเวลาอ่านหนังสือ แต่ตาของเราไม่โฟกัสไปที่จุดที่มอง แต่จะเห็นด้านข้าง คุณพยาบาลเลยพาเข้าตรวจตาทันที ผลออกมาว่าเลือดออกที่ตาดำ ตาออยกำลังจะบอด จึงต้องหยุดให้คีโมเพราะไม่สามารถให้ต่อได้แล้ว คุณหมอเลยให้ออยกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน เรื่องของการรักษาคือจบแค่วันนั้น แต่มีติดตามผลกับคุณหมอต่อมาเรื่อยๆ จนผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว”

หลังจากหยุดการรักษา ออยใช้ชีวิตเป็นปกติทุกอย่าง ไม่ได้เข้มงวดเรื่องอาหารการกินมากนัก ขอเพียงมีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นอาหารที่ชอบ “ตอนที่เป็นมะเร็ง อาหารอย่างเดียวที่ออยทานได้คือมาม่าต้มยำกุ้งใส่โบโลน่า ซึ่งคุณหมอไม่เคยห้ามเลย ขอแค่อย่างเดียวว่าให้ใส่ไข่เพื่อเพิ่มโปรตีนสักหน่อย หลังจากเริ่มห่างจากการให้คีโม ออยก็ทานปกติอะไรนัวๆ มาได้เลยค่ะ

ส่วนที่ยากลำบากจะเป็นตอนที่ต้องใส่ขาเทียม ซึ่งก่อนที่จะได้ขาเทียมมา ทุกคนบอกไว้ว่าออยจะสามารถทำกิจวัตรได้เหมือนเดิมเลย ไม่ต้องกังวล เราก็วาดฝันไว้แบบนั้นเลย แต่พอได้มาแล้ว ถึงบ้านออยถอดทิ้งเลย เพราะขาเทียมไม้ที่ได้มาทั้งแข็งและหนักประมาณ 10-15 กิโลกรัม ใส่แล้วเจ็บมากแถมยังเดินได้ไม่เหมือนเดิม เรารู้สึกแย่ว่าทำไมทุกคนต้องหลอก เราวาดฝันจินตนาการว่าจะกลับไปเดินได้เหมือนเดิม ออยอยู่กับความรู้สึกนั้นพักใหญ่ๆ จนท้ายที่สุดมาคิดได้เองว่า ถ้าไม่ใส่ขาเทียม เราไม่สามารถทำอะไรได้สะดวก ถ้าไม่คิดที่จะหัดเดินได้เหมือนคนปกติ อนาคตเราไม่มีเลยนะ ความฝันที่อยากจบปริญญาตรี อยากดูแลคุณพ่อคุณแม่ จะทำไม่ได้นะ วันนั้นออยตัดสินใจลองหัดเดิน ถึงจะเจ็บแต่ต้องหัด และด้วยความโชคดีของออยที่เพื่อนๆ คอยช่วยตลอด จำได้ว่าต้องใช้เวลาเกือบปีถึงจะกลับมาเดินได้ด้วยขาเทียมเพราะออยลืมการเดินไปแล้ว ช่วงแรกออยยังเดินได้ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนขาจริง จนเปลี่ยนมาใช้ขาปัจจุบันที่วัสดุและองศาการพับใกล้เคียงกับสรีระทำให้การเดินของออยเป็นการเดินแบบปกติที่ใช้สะโพกซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการเดินได้แล้ว”

วิ่ง วิ่ง และวิ่ง…สิ่งซึ่งทลายกำแพงที่ชื่อว่า ‘ข้อจำกัด’

“ออยเกลียดการเดินมาตลอด เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ออยพยายามเดินให้น้อยที่สุด แค่ 100 เมตรก็ไม่อยากจะเดินแล้ว และจะเป็นคนที่นั่งคอยเสมอ ถ้าไปเที่ยวกับลูกและสามี เราจะให้คุณพ่อพาลูกไป ส่วนตัวเองจะนั่งคอย ไม่ได้ทำทุกกิจกรรมร่วมกับลูกเพราะว่าเราเจ็บเวลาที่เดิน จนเข้าสู่วัย 30+ ออยมีความรู้สึกว่าไม่อยากโดนทิ้งไว้ข้างหลังและอยากไปได้ไกลกว่านี้ ปี 2562 ออยบอกกับสามีว่า “ฉันอยากบอกรักตัวเอง ปีนี้ฉันจะให้ของขวัญตัวเองด้วยการออกกำลังกายนะ” สามีก็พาไป ช่วงแรกออยออกกำลังกายกับอุปกรณ์ที่มีในสวนสาธารณะอยู่ประมาณ 15 นาที ซึ่งแค่นั้นก็เหนื่อยแล้วและจะมานั่งรอจนสามีออกกำลังกายเสร็จ กระทั่งวันหนึ่งอยากลองเดินดู แต่เดินแค่ 200 เมตรแรก ออยเริ่มเจ็บขา เลยเดินๆ พักๆ จนครบ 1 กิโลเมตร จำได้ว่าใช้เวลาอยู่ประมาณ 23 นาที แต่หลังจากวันนั้น ออยจะพยายามเดินทุกครั้งเมื่อออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อย และมาสังเกตตัวเองว่า 200 เมตรที่เคยเจ็บในวันแรก เราไม่ได้เจ็บที่จุด 200 เมตรแล้ว ความเจ็บเริ่มลดน้อยลง ขณะที่เราเดินได้ในระยะทางที่ไกลมากขึ้น สุดท้ายจุดเจ็บของออยมาจบที่ 3 กิโลเมตร ตั้งแต่นั้นมาเลยอินกับการเดินมาโดยตลอดเลยค่ะ”

ในปีเดียวกัน เธอได้เห็นประกาศโครงการ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่ Run for New Life Story” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดรับคัดเลือกบุคคลซึ่งมีปัญหาทางด้านสุขภาพ น้ำหนักเกิน เป็นผู้พิการ ออฟฟิศซินโดรม และมีความฝันที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองให้มีสุขภาพและชีวิตดีขึ้นด้วยการวิ่ง ซึ่งนี่เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเธอ

“โครงการนี้เป็นการชวนคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยมาลองวิ่งดูที่ระยะทาง 10 กิโลเมตร พอได้ดูรายละเอียด เรารู้สึกว่าฝันของตัวเองเริ่มใหญ่ขึ้นว่าอยากจะไปเตะจุด 10 กิโลเมตรให้ได้ เลยลองเขียนชีวิตและเหตุผลต่างๆ ส่งเข้าไปที่โครงการดู ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 บุคคลต้นแบบ ได้ไปฝึกโดยมีโค้ชและนักโภชนาการมาช่วยดูแล” ซึ่งเธอสามารถวิ่งในระยะทาง 10 กิโลเมตร ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 9 วินาที เป็นการพิชิตมินิมาราธอนแรกได้ของเธอเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562

“การวิ่งเปลี่ยนแปลงตัวออยไปหลายๆ อย่าง เวลาวิ่งออยไม่ได้ฟังเพลงเพราะอยากปล่อยให้สมองโล่งๆ เป็นหนึ่งช่วงโมงที่ได้อยู่กับตัวเองและกลับมารักตัวเองในแบบที่เป็น กลายเป็นว่าทุกครั้งที่มีปัญหาหรือความเครียด การวิ่งทำให้ออยสลัดความรู้สึกแย่ๆ ออกไปได้หมดและกลับมามีความสุขได้อีกครั้ง ต้องบอกว่าทุกครั้งที่วิ่ง ออยจะเจ็บและได้แผลกลับมาเสมอ มีคนถามเหมือนกันนะว่า แล้วคุณจะทรมานตัวเองทำไมในเมื่อคุณเจ็บ แต่ความเจ็บนั้นไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป อาบน้ำ นอน อีกวันหนึ่งความเจ็บนั้นก็หายไป นอกจากจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของร่างกายและสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นแล้ว การวิ่งยังสอนอะไรออยอีกหลายอย่าง ทั้งการฝึกจิตใจ ความอดทน สติ สมาธิ ได้มิตรภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้เราชนะตัวเอง รักตัวเอง ลืมข้อจำกัดของตัวเอง และอยากทำให้ตัวเองดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือมันทำให้ออยสามารถเดินเคียงข้างสามีและลูกได้โดยที่ไม่ต้องนั่งรอพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกเช้าที่เป็นวันหยุดออยจะต้องปลุกสามีออกไปวิ่งด้วยกัน ทางนี้ก็จะบ่นว่า “ไม่น่าเล้ย” (หัวเราะ)”

ที่เปลี่ยนไปคือ ‘หัวใจและทัศนคติ’

“ก่อนที่จะเป็นมะเร็ง ออยมีความรู้สึกว่าใครเป็นโรคนี้นี่โชคร้ายนะ เพราะเป็นแล้วต้องตาย ครอบครัวออยคิดแบบนี้เหมือนกัน พวกเขาเลยพยายามจะอยู่ใกล้และตามใจเราให้มากที่สุดเพราะคิดว่าออยคงมีเวลาเหลืออีกไม่นาน ตอนที่ต้องตัดขา ออยต้องการกำลังใจและความเห็นใจจากคนอื่นมากๆ โดยเฉพาะคนปกติ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าจะคิดว่า ทำไมคนในขบวนถึงไม่ลุกให้เรานั่งนะ เราเป็นคนพิการนะ จนวันหนึ่งที่ออกมาใช้ชีวิตจริงๆ ได้เห็นโลกภายนอก ได้เห็นศักยภาพตัวเอง ออยรู้สึกโชคดีมากที่ตัวเองเป็นแค่นี้และยังไม่ตาย ซึ่งการมีชีวิตอยู่ทำให้เราได้ทำอะไรได้อีกเยอะมาก

แม้มะเร็งจะทำให้ออยไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม แต่มะเร็งทำให้เรายอมรับ เห็นคุณค่า และรักตัวเองในแบบที่เป็น เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีใครลุกให้นั่ง ออยจะมองอีกแบบแล้วว่าเพราะเราแข็งแรงไง หรือเขาอาจจะเหนื่อยจากงาน ตอนนี้ไม่รู้สึกไม่ดีอะไรอีกแล้ว ออยเสียดายเวลาที่ผ่านมาว่าตัวเองมัวไปนั่งน้อยใจกับโชคชะตาทำไม ถ้ามีโทรศัพท์ที่โทรกลับไปบอกตัวเองในอดีตได้ ออยจะบอกกับตัวเองว่าดีแล้วนะที่ตัดสินใจตัดขาและปอด เพราะอนาคตของเธอดีมากและมีความสุข แล้วกลายเป็นว่าพลังบวกเหล่านี้ยังแผ่ขยายไปให้คนรอบๆ ตัวเราด้วย”

ความสวยงามของฟ้าหลังฝน

“การที่ออยประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีคุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว เพื่อนๆ สามี และลูกที่อยู่เคียงข้างกับเรามาในทุกๆ จังหวะชีวิต ไม่ว่าจะร้องไห้หรือมีความสุขอย่างทุกวันนี้ พวกเขาคือสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นของขวัญในชีวิต สิ่งที่มะเร็งมอบให้ออยคือทำให้เรารู้จักคุณค่าของเวลา คนรอบข้าง และได้รู้แล้วว่าการใช้ชีวิตให้คุ้มค่านั้นเป็นอย่างไร ต่อให้ตอนนี้ออยเหลือเวลาอยู่แค่ 3 เดือน ออยจะไม่เสียใจแล้ว แต่จะใช้เวลาทั้งหมดที่มีทำอะไรต่อมิอะไรอย่างเต็มที่ พูดขอโทษ ขอบคุณ อโหสิกรรม ทำสิ่งที่ดีกับคนที่รัก ทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างสุดความสามารถ และจะทำให้ทุกนาทีของการมีชีวิตอยู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดายอีกต่อไป”

ขอจงหนักแน่นและยืนหยัดเพื่อจะมีชีวิตอยู่

“ตอนผ่าตัดปอด คำพูดแรกหลังจากตื่นขึ้นคือ “พ่อปล่อยออยไปเถอะ ออยไม่ไหวแล้ว อย่ายื้อ อย่ารั้งออยไว้อีกเลย” แต่ความรักและกำลังใจของคนรอบๆ ตัวที่ส่งมาให้มีมากเหลือเกิน มากจนทำให้เรากลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง ออยบอกตัวเองว่าเราจะท้อ จะหมดหวังทำไม ในเมื่อพลังบวกที่พวกเขาส่งมาให้เต็มเปี่ยม พวกเขาพร้อมสนับสนุนเราทุกๆ อย่างขนาดนั้น ใจเราต้องให้ร้อยกลับไป ต้องสู้ให้เต็มที่สิ จริงๆ ออยไม่คิดเลยว่าตัวเองจะผ่านมาได้จนถึงตอนนี้ก็ 20 กว่าปีแล้วนะคะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะบอกได้ก็คือ หากคุณหมอแนะนำอะไร อย่าดื้อเลยค่ะ ออยอยากให้ลองมองสิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพลังใจจากคนรอบข้างหรือสิ่งดีๆ จากตัวเอง เช่นว่าวันนี้ฉันทำอะไรได้บ้าง ฉันเดินได้ 1 ก้าวนะ วันต่อไปเดินได้ 2 ก้าวแล้ว จากจุดเล็กๆ แบบนี้คุณจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ออยอยากให้คนที่กำลังท้อหรือหมดกำลังใจลองใช้ชีวิตอยู่โดยมองที่ปัจจุบันขณะ ทำหน้าที่ของตัวเองในวันนี้ นาทีนี้ให้ดี ถ้าวันนี้เหนื่อยแล้ว หยุดพัก แล้วพรุ่งนี้เรามาเริ่มกันใหม่”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล   
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: ยุวดี พันธ์นิคม

เพลินพิศ โกแวร์ เมื่อมะเร็งสอนให้รู้ว่าทุกนาทีจากนี้คือโบนัสของชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ไอรีน – เพลินพิศ โกแวร์ ตรวจพบความผิดปกติในร่างกายจากการคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณหน้าอก ซึ่งต่อมาพบว่าคือมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ที่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หลังจากรักษาจนอาการเริ่มคงที่ ชีวิตของไอรีนกลับมาดีขึ้น ทว่าปีที่ 3 ของการติดตามผล ร่างกายของเธอพบความผิดปกติอีกครั้ง โดยมะเร็งได้กระจายไปที่ตับแล้ว ด้วยการรักษาในครั้งแรกที่ทำให้ไอรีนรู้สึกทรมานและตั้งใจไว้ว่าหากเซลล์มะเร็งมีการกระจายอีก เธอจะยุติการรักษาทั้งหมด แต่เพราะจำนวนและขนาดของเซลล์ที่แพร่มามีไม่มากและสามารถจัดการได้ เธอจึงตัดสินใจสู้ต่อ 

กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 6 ของการรักษา ร่างกายและจิตใจของเธออ่อนแอลงอีกครั้งจนไอรีนลังเลว่าควรจะพอหรือไปต่อ เวลานั้น (พ.ศ. 2563) การรักษาแบบใหม่อย่าง “ภูมิคุ้มกันบำบัด” (Immunotherapy) เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่และกลายมาเป็นความหวังครั้งสำคัญ แม้เส้นทางการรักษานี้จะเป็นอีกหนึ่งด่านหินในชีวิต แต่ก็ทำให้ไอรีนพบสัจธรรมว่าความทุกข์นั้นสอนตัวเธอได้ตรงกว่า มากกว่า และเข้าใจถึงการเป็นมนุษย์ได้มากกว่าความสุขที่ฉาบฉวย อีกทั้งยังเปลี่ยนมุมมองของเธอที่ไม่สนใจว่าตัวเองจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่อีกต่อไป แต่คือการใช้ชีวิตอย่างไรกับเวลาที่เป็นโบนัสของชีวิตให้มีความสุขต่างหาก 

การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

“หลังจากมะเร็งกระจายมาที่ตับ การรักษาครั้งที่ 2 ไอรีนต้องรักษาแบบไม่หยุดเลย ทั้งคีโม ทั้งการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด การผ่าตัดรังไข่เพื่อหยุดการผลิตฮอร์โมนของร่างกาย และรักษามะเร็งตับด้วยการจี้ด้วยความร้อน RFA ซึ่งต่อมาเซลล์มะเร็งยังกระจายไปที่ปอดและกระดูกด้วย ซึ่งการรักษาโดยรวมจะเป็นการให้คีโมมาตลอด และอย่างที่ผู้ป่วยทุกคนรู้ว่าคีโมแต่ละตัวจะนำมาซึ่งผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน จนเข้าสู่ปีที่ 6 เราเหนื่อยมากและต้องการจะหยุดการรักษา” 

เมื่อตัดสินใจและแจ้งคุณหมอถึงความต้องการในเวลานั้น อาจารย์กฤษณ์ (รศ.นพ. กฤษณ์ จาฏามระ) ซึ่งเป็นคุณหมอที่ดูแลไอรีนมาตั้งแต่ต้นจึงเสนอทางเลือกใหม่ นั่นคือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด” โดยคุณหมออธิบายว่า การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน ซึ่งเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะถูกกระตุ้นเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย เป็นการส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อให้สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“ขั้นตอนที่คุณหมอทำคือการทำวัคซีนโดยนำเอาเม็ดเลือดขาวของเราออกมาทำความรู้จักกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย จากนั้นจึงฉีดกลับเข้าร่างกายเพื่อที่จะให้เจ้าวัคซีนตัวนี้เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง เวลานั้นไอรีนเป็นคนไข้คนแรก ซึ่งคุณหมอบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่เป็นการรักษาแบบใหม่ คุณหมอจะไม่สามารถบอกได้ว่าระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วหลายๆ อย่างยังไม่มีในตำรา ไม่มีการรับรองผลว่ารักษาแล้วจะหาย แต่สามารถบอกถึงสิ่งที่คุณหมอทราบได้ เมื่อได้ฟังและกลับมาปรึกษากับครอบครัวจึงตัดสินใจว่าจะลองดูอีกสักตั้ง เพราะก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าการเดินทางของตัวเองคือการทำคีโมไปเรื่อยๆ เหนื่อยแล้ววันหนึ่งคงจากไป แต่เมื่อมีการรักษาแนวใหม่เข้ามาเป็นตัวเลือก เราจึงเกิดความหวังและรู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องเสียแล้ว เพราะนี่คืออีกก้าวใหม่ที่เราจะก้าวเข้าไป ไอรีนเริ่มการรักษาด้วยวิธีการนี้ในเดือนเมษายนปี 2563 และใช้เวลา 1 ปีเต็ม จนกระทั่งฉีดวัคซีนครบทั้งหมด 9 โดสเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ร่างกายแข็งแรงดี สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติแล้ว ถ้ามีก็จะเป็นผลจากมะเร็งที่กระดูก บวกกับปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกที่คอและหลัง ซึ่งจะมีอาการปวดหลัง ทำให้การลุกการนั่งต้องระมัดระวังมากขึ้นหน่อย” 

วันที่ใจอ่อนล้ากลับแข็งแกร่ง

“ช่วงเวลาที่ท้าทายมากๆ อย่างตอนที่รักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ตอนนั้นคิดแค่อย่างเดียวคือเราจะใช้ชีวิตในสุดท้ายนี้ให้มีความสุขแล้วจากไป เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปได้ 6 โดสแล้ว ตัวเองมีอาการเยอะมากแบบที่คิดว่าไม่อยากมีมีชีวิตอยู่แล้ว ทั้งคลื่นไส้ อาเจียน ท้องบวม น้ำท่วมปอด ปวดหลังจนเดินไม่ได้ ทำให้ท้อใจอย่างมาก ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปเลยถ้าชีวิตทุกข์และเจ็บปวดขนาดนี้ แต่ว่าไอรีนผ่านมาได้ด้วยกำลังใจ ความรัก และการดูแลของทั้งคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และเจ้านาย รวมทั้งแรงสนับสนุนจากคนรอบๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณหมอและทีมที่สู้และทุ่มเทกับการดูแลชีวิตของเรามากๆ ซึ่งในความเจ็บปวดทั้งหลาย พวกเขาไม่เคยทิ้งแม้แต่ครั้งเดียว เรารู้สึกว่าการรักษาของตัวเองห้อมล้อมด้วยครอบครัวที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยความรัก ขณะเดียวกันตัวไอรีนเองก็เชื่อว่าชีวิตหลังจากนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ อีก นี่เลยเป็นกำลังใจที่ทำให้สามารถผ่านทุกด่านของการรักษามาได้ ถ้าไม่มีพวกเขา วันนี้เราคงไม่มีแรงที่จะยืนและไม่มีชีวิตอยู่ต่อได้เหมือนกัน”

เวลาคือโบนัสของชีวิต 

“ก่อนที่จะป่วย เรามองโลกแบบหนึ่ง แต่มะเร็งทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไป มองสิ่งรอบตัวเป็นความสวยงามและสามารถหาความสุขกับสิ่งใกล้ตัวได้มากขึ้นค่ะ ชีวิตที่มีอยู่ตอนนี้คือเวลาที่เราได้แถมมา เพราะตั้งแต่วันที่ตัดสินใจว่าจะหยุดรักษาครั้งล่าสุดเมื่อปีก่อนนั่นคือเราเลือกที่จะหยุดเวลาแล้ว เลยจะบอกกับตัวเองว่าต้องไม่เอาเวลาชีวิตหลังจากนี้มาอมทุกข์ มาอยู่กับความโศกเศร้า แต่จะใช้เวลาทั้งหมดกอบโกยความสุขและอยู่ร่วมกับครอบครัว มองดูลูกเติบโตและก้าวหน้าไป กลายเป็นว่าการมองชีวิตทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจว่าจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่ แต่คือการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขในเวลาโบนัสที่เราได้มา 

จริงๆ เป้าหมายในอดีตกับปัจจุบันของไอรีนเหมือนกันนะ สิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้คือเมื่อทำงานจนถึงวันหนึ่ง เราจะหยุดและเกษียณตัวเอง ใช้ชีวิตที่เหลือแบบสโลวไลฟ์ สบายๆ และทำในสิ่งที่รัก ซึ่งการเป็นมะเร็งทำให้เป้าหมายนั้นมาเร็วขึ้นและกำลังจะบรรลุเป้าหมายนั้นแล้วค่ะ”

ฉันจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

“คุณหมอไม่ได้บอกว่าจะต้องใช้ชีวิตแบบไหน จะต้องทานอะไร จะต้องหลีกเลี่ยงอะไรต่างๆ อย่างไร ให้ใช้ชีวิตตามปกติ ตอนที่ป่วยใหม่ๆ เราฟังคนอื่นเยอะว่าอะไรควรทาน อะไรห้ามทาน ซึ่งเมื่อเราทำตามก็พบว่าร่างกายตัวเองอ่อนแอลงมาก เม็ดเลือดแดงต่ำ ไม่มีแรง เบื่อหน่ายกับชีวิต เพราะทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ชีวิตมีข้อจำกัด ทำให้ไม่มีความสุข เมื่อเป็นอย่างนั้น เราจึงเปลี่ยนการใช้ชีวิตมาอยู่บนแนวทางที่ว่า ฉันจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง อย่างอาหารการกิน ทุกวันนี้เราทานทุกอย่าง เพียงแต่จะรู้ว่าอะไรที่ไม่ดีก็จะทานแค่ให้หายอยาก โดยอาหารส่วนใหญ่จะทำเองแบบปรุงสุกใหม่ๆ และมีเปลี่ยนบรรยากาศไปทานอาหารนอกบ้านบ้างตามเวลาและโอกาสอำนวย ไม่ห้ามตัวเองอีกแล้ว เพราะการห้ามทำให้ใจเราอยาก ซึ่งนำไปสู่ความทุกข์และอยู่ยากขึ้น 

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ทุกวันนี้ไอรีนไม่ได้ทำงาน เลยมีเวลาที่จะทำในสิ่งที่รักอย่างการทำขนมและทำอาหาร ใช้ชีวิตอยู่ในครัว เริ่มปลูกต้นไม้ จากแต่ก่อนนี้ชีวิตชอบทุกอย่างที่สำเร็จรูป ถ้าเลือกต้นไม้ เราคงจะเลือกซื้อต้นที่โตมาแล้ว แต่ทุกวันนี้กลับมีความสุขกับการนำเมล็ดมาปลูก หรือซื้อต้นไซส์มินิมา แล้วค่อยๆ ดูเขาเติบโต รวมไปถึงการเลี้ยงนกที่เราเลี้ยงจนกระทั่งเขาไข่และมีลูกนกออกมา ชีวิตในเวลานี้จะวนเวียนกับกิจวัตรประจำวันแบบนี้ ซึ่งเป็นอีกช่วงเวลาที่มีความสุข ทุกวันจะผ่านไปเร็วมาก เหนื่อยก็หยุดพัก พออยากจะทำอะไรเราก็ทำต่อ แต่ก่อนความสุขของเราจะเป็นความสุขที่ฉาบฉวย เช่น การที่ออกไปซื้อของ ทานอาการอะไรต่างๆ นานา แต่ทุกวันนี้ความสุขของเราคือการอยู่บ้านกับครอบครัวและทำในสิ่งที่รัก”

ความทุกข์ที่เปรียบเสมือนเพชรในชีวิต 

“สำหรับคนทั่วไป อยากจะแนะนำเลยว่าให้ดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ตัวเราจะรู้จักตัวเองดีที่สุด เพราะฉะนั้น เราควรจะสังเกตความผิดปกติในร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ บางที เราอาจต้องทำงาน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบจนหลงลืมใส่ใจตัวเอง มองข้ามความผิดปกติในร่างกาย อย่างน้อยๆ 1 ปี ลองหาเวลาไปตรวจสุขภาพกัน เพราะหากพบความผิดปกติในระยะต้น การรักษาจะง่ายขึ้นและทันท่วงที อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ดี รักตัวเองมากๆ เพราะการมีสุขภาพดีมีค่ายิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง 

ก่อนหน้านี้ เรารู้ว่ามะเร็งเป็นโรคร้ายเพราะได้เห็นว่าคนรู้จักส่วนหนึ่งต้องจากไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคนี้ เราได้เห็นช่วงสุดท้ายของพวกเขาว่าทรมาน พอมาป่วยเองก็พบว่าสิ่งที่เราได้เห็นมานั้นเป็นความจริงทุกประการ โรคนี้รุนแรงและการรักษาเป็นเส้นทางที่ยาวนานและทรมานกว่าที่คิดไว้มาก จากที่เห็นคนอื่นก็ว่าแย่แล้ว เมื่อมาเผชิญเอง มันยากกว่าหลายเท่าเลยนะ เพราะฉะนั้น ไอรีนอยากจะบอกว่าเข้าใจผู้ป่วยทุกคนมากๆ ว่าต้องเจอกับอะไร และอยากจะบอกว่าในตัวพวกเราทุกคนมีความเข้มแข็งและอดทนเกินกว่าที่เราจะรู้กันเสียอีก อย่าเพิ่งยอมแพ้ เพราะการยอมแพ้จะทำให้เราพลาดช่วงเวลา golden moment หลายๆ ช่วงของชีวิต ไอรีนยังคิดเลยว่าถ้าตัวเองหยุดรักษาไป คงจะไม่มีโอกาสได้ไปงานจบการศึกษาของลูก ไม่ได้เห็นเขาเติบโตขึ้นและประสบความสำเร็จในชีวิต อนาคตยังมีสิ่งอีกมากมายที่เราควรและสามารถจะได้อยู่ในห้วงเวลาแห่งความสุขนั้น นี่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองอย่างเดียว แต่เพื่อคนรอบตัวเราด้วย อยากขอให้ทุกคนสู้ต่อไป สู้ให้สุดทาง และตัวไอรีนเองจะส่งกำลังใจและคอยเป็นแรงสนับสนุนให้กับทุกๆ คนอยู่ตรงนี้ เราจะสู้ไปด้วยกันนะคะ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: เพลินพิศ โกแวร์

สูตรไฟว้มะเร็งที่เริ่มต้นจากใจและสำเร็จได้ด้วยใจแบบ คำพลอย บูรณานุวัต

เดือนมกราคมปี 2014 ครอบครัวโกเมสที่ประกอบไปด้วย แหน คำพลอย บูรณานุวัต, ฌูเอา (สามี), น้องมาเรีย ดี ลูกสาวตัวน้อย และโนแอล สุนัขสายพันธุ์เฟรนช์บูลด็อกประจำตระกูล เริ่มต้นการผจญภัยครั้งสำคัญในชีวิตของพวกเขากับแผนล่องเรือไปยังประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 500 ปี อันเป็นการเดินทางของชาวโปรตุเกสที่เชื่อมต่อโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน นี่คือความฝันของสามีชาวโปรตุเกส โดยมีแหนเคียงบ่าเคียงไหล่และเป็นกำลังสนับสนุนสำคัญ ชีวิตของเธอเวลานั้นกำลังสนุกกับประสบการณ์ครั้งใหม่ ทุกอย่างกำลังไปได้สวย จนกระทั่งปลายปี 2015 เธอเดินทางมาทำงานสั้นๆ ที่มาเก๊า ที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งใหม่ของเธอ แหนพบความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกาย ซึ่งต่อมาคือมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 แม้จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งนี้จะยากพอตัว แถมพ่วงมาด้วยบททดสอบยากๆ อยู่หลายด่านที่เธอต้องข้ามผ่าน แต่ในวันนี้ ชีวิตของแหนกลับมาปกติอีกครั้ง และพร้อมบอกกับมะเร็งแล้วว่า “ฟังนะ ฉันสวยมาก ฉันไม่ตาย ฉันจะใช้ชีวิตอย่างดี แข็งแรง และมีความสุขแบบสุดๆ ไปเลย”

วันที่เซลล์ของฉันกลายร่าง

“ช่วงปลายปี 2015 เรากลับมาไปทำงานที่มาเก๊าอีกครั้งหลังจากล่องเรือไปประเทศต่างๆ อยู่ประมาณปีกว่าๆ จำได้ว่าวันนั้นกำลังอาบน้ำแล้วไปสะดุดกับอะไรนูนๆ ตรงหน้าอกขวา ลักษณะเหมือนกับคนหัวโน ไม่ได้เป็นก้อน เราบอกเรื่องนี้กับสามีและตกลงกันว่าเดี๋ยวมาเจอกันก่อนแล้วค่อยจัดการ พอจบงานที่มาเก๊า เราเดินทางกลับมาที่เรืออีกครั้ง ตอนนั้นเรือของเราล่องอยู่ที่เกาะ Martinique ของฝรั่งเศส ยังไม่ได้ไปหาหมอ เพราะลักษณะก้อนที่เต้านมแค่นูน ไม่ได้เป็นก้อนแข็งและกลิ้งไม่ได้แบบเนื้อร้ายที่เขาบอกกัน เราชั่งใจอยู่ว่าจะไปหาหมอที่เกาะไปเลยดีไหม แต่อีกใจก็คิดว่าจะกลับมาตรวจตอนล่องเรือกลับมาถึงไทย 

จนเข้าเดือนกรกฎาคม 2016 เราพบความผิดปกติที่มากขึ้นคือรู้สึกเจ็บแปร๊บเวลาที่น้ำฝักบัวมาโดนหน้าอก ตอนนั้นเรือล่องมาถึงเกาะ Curaçao ของเนเธอร์แลนด์แล้ว เราเริ่มนอนไม่หลับ เพราะเจ็บเวลานอนตะแคงขวา การแก้ปัญหาตอนนั้นคือกินยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ แม้จะหายปวด แต่ก็ชั่วคราว จนถึงจุดที่ตัดสินใจไปหาคุณหมอให้ช่วยจ่ายยาเพื่อให้นอนหลับได้สนิทขึ้น สบายตัวมากขึ้น แต่ไม่มีเรื่องมะเร็งอยู่ในหัวเลย พอคุณหมอเห็นครั้งแรกก็บอกทันทีว่านี่ไม่ปกติแล้ว ขอส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ ตอนนั้นตรวจ 2 จุด คือที่เต้านมและรักแร้ กระทั่งรู้ว่าเป็นเนื้อไม่ดีขนาด 5 เซนติเมตรอยู่บริเวณหน้าอกด้านขวา แต่ไม่ได้มาบอกว่าเป็นมะเร็งในขั้นไหน”

หลังจากฟังผล คุณหมอแนะนำว่าต้องไปรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งเวลานั้นแหนมี 4 ตัวเลือก ตัวเลือกแรกคือรักษาที่เกาะ Curaçao แต่ด้วยที่นั่นมีโรงพยาบาลหลักเพียงแค่แห่งเดียวและค่อนข้างแออัด คุณหมอจึงแนะนำให้ไปรักษาที่อื่นหากมีตัวเลือกที่ดีกว่า อีก 3 แห่งคือที่ประเทศไทย, มาเก๊าที่ที่เธอและสามีเคยอาศัยอยู่ และบ้านเกิดสามีที่โปรตุเกส เธอและสามีดูความเป็นไปได้ทั้งหมดจนตัดสินใจกลับมารักษาที่โปรตุเกส 

“ตอนนั้นขนาดของก้อนมะเร็งโตขึ้นเร็วมาก จาก 5 เซนติเมตรเป็น 7.5 เซนติเมตรในเวลาไม่กี่เดือน ทำให้คุณหมอวางแผนการรักษาโดยทำให้ก้อนเนื้อเล็กลงด้วยการทำคีโมก่อน จากนั้นจึงทำการผ่าตัดนำชิ้นเนื้อออกมา และจบการรักษาด้วยการฉายรังสีเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อตายหมดจริงๆ เราเสร็จสิ้นการรักษาในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 มะเร็งของเรายังไม่กระจาย แต่ว่าก้อนใหญ่ เลยจัดให้อยู่ขั้น 3A ถ้ากระจายน่าจะใช้เวลานานกว่านี้ หลังจากนั้น เราเริ่มทานยาปรับฮอร์โมน ฉีดยาที่หน้าท้องเข้าใต้กล้ามเนื้อเพื่อระงับการตกไข่ และทำกายภาพบำบัดเพื่อให้การเคลื่อนไหวของแขนขวากลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด”

เตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติการ

ก่อนรักษาเราเตรียมใจไว้แล้วว่าน่าจะเจอกับอะไรบ้าง เพราะมีคนบอกว่าฉายรังสีแสบนะ ร้อนนะ คีโมแล้วจะทำให้อาเจียนหนักเลย แต่เราไม่เจอผลข้างเคียงที่หนักมากจนถึงขั้นรับไม่ไหว ที่มีจะเป็นอาการทั่วๆ ไป เช่น ท้องผูก ผะอืดผะอม รู้สึกไม่อยากอาหาร สิ่งที่เราเตรียมตัวคือเราจะดูแลร่างกายให้แข็งแรงเป็นพื้นฐานและเตรียมใจเอาไว้แล้วว่าอาการอะไรจะสามารถเกิดขึ้นระหว่างการรักษาได้บ้าง เมื่อเข้ากระบวนการจริงๆ เราพบว่ามันไม่ได้แล้วร้ายแบบที่ได้ยินหรือจินตนาการเอาไว้ เช่น เราต้องฉาย 25 ครั้งทุกวันเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เราสังเกตว่าผิวเริ่มเปลี่ยน ไม่ได้ไหม้หรือถลอกนะ เพียงแค่สีผิวคล้ำขึ้นตอนเข้าครั้งที่ 20 เลยรู้สึกว่า ส่วนหนึ่งเราคงเตรียมร่างกายและใจมาไว้ประมาณหนึ่งในการรับมือ และคงจะโชคดีด้วย”

การรักษามะเร็งในโปรตุเกส 

“ระบบการรักษาพยาบาลที่โปรตุเกสจะมีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านรักษามะเร็งเลย โดยจะแบ่งออกเป็นเขตต่างๆ ตามภูมิภาค แต่เริ่มต้นจะต้องผ่านระบบหมอบ้านก่อนเพื่อให้หมอบ้านทำเรื่องส่งตัวเราไปยังสถาบันมะเร็ง มุมมองของคนโปรตุเกสต่อโรงพยาบาลรัฐจะคล้ายๆ คนไทยเราอยู่บ้าง ทำให้บางคนยอมจ่ายสตางค์เพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะโรคมะเร็งของเอกชนเลยก็มี ซึ่งแบบนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เอาเข้าจริง การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐที่นี่ถือว่าดีเลย ความประทับใจแรกที่เราพบคือบุคลากรทางการแพทย์มีจรรยาบรรณในการรักษาสูงมาก เราเข้าไปรักษาโดยที่ถือพาสปอร์ตไทย ไม่มีบัตรประชาชน หรือบัตร residence ของเขา ซึ่งปกติ ถ้าต้องรักษาในโรงพยาบาลที่นั่นจะต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีในการดำเนินการทุกอย่าง แต่สำหรับคนต่างชาติอย่างเราก็ได้สิทธิ์การรักษาแบบคนในประเทศของเขา โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเธอเป็นคนต่างชาติ เขาดูแลทุกคนเหมือนกันและเท่ากันหมด ตรงนี้เราว่าเยี่ยม และแม้จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐก็จริง แต่การรักษาจะเป็นไปตามคิว ไม่มีใครลัดคิวเรา และการรักษาทั้งหมด เราไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้กระทั่งค่าวิก นี่น่าจะเป็นข้อดีที่เราพบจากการรักษาที่นี่นะ”  

สองเต้าที่ไม่เท่ากัน

“นอกจากการรักษามะเร็งแล้ว เราได้เข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ด้วย ซึ่งจุดประสงค์ในตอนนั้นเพราะเรารู้สึกว่า self-esteem ในตัวเองต่ำลง ถ้าย้อนไปช่วงปี 2017 ที่ทำการรักษา คุณหมอวางแผนการรักษาให้เราแบบฟูลคอร์สเพราะเรายังอายุไม่มาก ซึ่งเขาอยากมั่นใจว่าเซลล์มะเร็งถูกทำลายไปหมดแล้วจริงๆ ทำให้เวลาส่วนใหญ่ของเราโฟกัสไปที่การฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุดและไม่ได้สนใจเรื่องอื่นๆ ในชีวิต พอจบการรักษา เราเห็นแล้วว่าร่างกายและรายละเอียดในการใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว นี่ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่มากว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไปภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราใช้ร่างกายหนักเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ การเลือกเสื้อผ้ามีเป้าหมายเพื่อให้การใช้ชีวิตใกล้เคียงเดิมที่สุดและมีผลต่อสุขภาพน้อยที่สุด ไม่ใช่ความสวยงามแบบที่เคยเป็นมา รวมถึงความรู้สึกที่ดีของเรากับหน้าอกซึ่งเป็นส่วนที่เราภูมิใจที่สุดในความเป็นผู้หญิงได้หายไปแล้ว

ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงที่ดาวน์มาก มีผลต่อการใช้ชีวิต รวมทั้งชีวิตคู่ด้วย แต่เราโชคดีที่สามีพยายามทำความเข้าใจทุกอย่าง เราคุยกับคุณหมอแบบเปิดอกเลยว่า ถ้าเรามีหน้าอกข้างเดียวแล้วสามีทิ้งหรือถ้าสามีตายก่อนจะมีใครที่รับได้กับการมีคู่ที่มีหน้าอกเหลือเพียงข้างเดียว คำตอบของคุณหมอทำให้เราเห็นอีกมุมมองหนึ่งนะว่า คนที่มีข้อจำกัดลักษณะนี้ หากความสัมพันธ์ครั้งใหม่เกิดขึ้น คนที่เข้ามาจะถูกสกรีนระดับหนึ่งแล้ว เขาจะเป็นคนที่จริงจังในความสัมพันธ์และไม่ได้มองว่าจุดนั้นสำคัญ แต่จะมองด้านดีอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งความสัมพันธ์แบบนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ยืนยาวกว่า 

สำหรับเรา การเป็นมะเร็งทำให้เรารู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองต่ำลง เวลาสามีบอกว่า “เธอยังสวยเหมือนเดิม” เขาพูดตลอดจนเราเริ่มไม่เชื่อว่าพูดให้สบายใจหรือว่าโกหก ขณะที่ความจริงความสัมพันธ์ของเรากับสามีดีมากๆ นะ แต่ความภูมิใจว่าฉันสวยไม่มีอีกแล้ว การพบจิตแพทย์สำหรับเรา เขาช่วยได้ในเรื่องการรับฟัง แต่ท้ายที่สุด ทุกปัญหา ตัวเราต้องเป็นคนแก้เอง ซึ่งเวลาที่ได้พูดออกไป เหมือนเราได้ยินเสียงสะท้อนของตัวเอง นั่นทำให้เราได้ฉุกคิดและตกผลึกว่าอะไรคือทางออกที่ทำให้ความรู้สึกต่างๆ ดีขึ้นได้”

เมื่อเราปรับ โลกก็เปลี่ยน

“เราว่า 2 สิ่งหลักๆ ที่ทำให้ผ่านความรู้สึกแย่ๆ ในเวลานั้นมาได้ หนึ่งคือความเคยชิน จะเรียกว่าปรับตัวได้แล้วก็ได้นะ และสองเราคิดว่าเรามองโลกเปลี่ยนไป จากความรู้สึกที่ดาวน์มากๆ กลับกลายมาเป็นความรู้สึกว่าตัวเองโชคดีในหลายๆ เรื่อง แม้ว่าความรู้สึกจะแย่อยู่มากระหว่างการรักษา แต่เรามาถึงมือหมอไว มีคนรอบข้างคอยสนับสนุน ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ทั้งครอบครัว การทำมาหากิน ค่าใช้จ่าย ทำให้เราสามารถโฟกัสเรื่องการรักษาและสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ พอเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี มันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เรามองเห็นความสำคัญของสิ่งภายนอกน้อยลง และเห็นจุดอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากขึ้น คงจะเพราะอายุ ประสบการณ์ และมะเร็งที่ทำให้เรามองทุกอย่างไม่เหมือนเดิม การลำดับความสำคัญในชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย

เวลานี้ เราอยู่ในช่วงอายุที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่ได้ต้องการทำงานเพื่อความก้าวหน้า จากแต่ก่อนสิ่งสำคัญในชีวิตจะมีไม่กี่อย่าง ไม่งาน ก็เงิน ไม่แฟน ก็เพื่อน พ่อแม่ไม่ได้สนใจใส่ใจหรอก มาตอนนี้ เราโตขึ้น ผ่านการใช้ชีวิตมาพอสมควร พ่อแม่เริ่มแก่ลง ความใส่ใจและการให้ความสำคัญของเราเปลี่ยนมาทางพวกเขาแทน รวมถึงการสร้างความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิตด้วย เอาจริงๆ ความสุขของเราตอนนี้เรียบง่ายกว่าเดิมเยอะ อะไรที่ทำให้เราสบายใจนั่นคือความสุข การได้เห็น ได้ใช้เวลากับคนรอบข้างที่เรารัก แค่กินข้าวด้วยกัน หรือสามีเด็ดดอกไม้ริมทางมาให้ หรือแค่แดดออก สำหรับเราในเวลานี้ก็พอแล้วนะ”  

สายลมที่โอบล้อมอยู่รอบตัว

เรารู้สึกโชคดีมากที่มีเพื่อนๆ และครอบครัวคอยซัพพอร์ตทั้งทางกายและทางใจ การเป็นมะเร็งทำให้เราพบว่าเพื่อนบางคนที่บางทีเราหลงลืมพวกเขาไป แต่พวกเขาไม่ได้หลงลืมเราเลย เราได้เห็นมิตรภาพที่ดีมากๆ จากการเป็นมะเร็งนี่แหละ หรือกับพี่ชายที่ไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่มีไลน์ ไม่เคยส่งข้อความอะไรหากัน พอเป็นมะเร็ง ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่กลับมาดีขึ้น เรารู้เสมอว่าอย่างไรเขาก็เป็นห่วง ยิ่งตอนที่เราเป็นมะเร็งก็รับรู้ได้มากขึ้น  

ก่อนที่จะมาโปรตุเกส เราคุยกับสามีเรื่องการรักษา การใช้ชีวิต เรารู้สึกซาบซึ้งใจทั้งเขาและครอบครัวมากๆ ตอนนั้นเราเพิ่งขายบ้านที่เคยอยู่ด้วยกันที่มาเก๊า เขาบอกว่าถ้าต้องใช้เงินที่ขายบ้านทั้งหมดไปกับการรักษาก็ไม่เป็นไร ไว้เราแข็งแรงแล้วค่อยเริ่มหาเงินกันใหม่ ค่อยเก็บเอาใหม่ก็ได้ เราได้เจอคุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้าของเขา ทุกคนพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือความเป็นอยู่อย่างอื่น เพียงแค่ขอความช่วยเหลือ พวกเขาก็พร้อมเสมอ”  

ทุกสิ่งสำคัญที่ใจ

“การใช้ชีวิตตอนนี้เหมือนเดิมทุกอย่างไม่ว่าก่อนหรือหลังเป็นมะเร็ง เคยออกกำลังกายและดูแลเรื่องอาหารการกินของตัวเองอย่างไรก็ทำแบบนั้น เราไม่ได้ใช้ชีวิตที่เข้มงวดมากๆ ถ้ามีความสุขกับอะไรเราก็ทำ อะไรที่กินแล้วมีความสุขเราก็กิน เรารู้ว่าอะไรที่ดีหรือไม่ดีต่อร่างกาย แต่ไม่ถึงกับว่าฉันไม่กินหมูไหม้เพราะนี่มีสารก่อมะเร็ง หรือกินเฉพาะตรงที่ไหม้อย่างเดียว จะเป็นการหาความพอดีให้ตัวเองแบบนั้นมากกว่า 

เอาเข้าจริง เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษามะเร็งเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าใจสู้ ทุกอย่างจะผ่านไปได้ เราว่าร่างกายมนุษย์อเมซิ่งมากนะ ถ้าเรารู้สึกดาวน์ รู้สึกแย่ เซ็ง เศร้า เหงาหงอย ป่วยแล้วยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่อยากรักษาแล้ว ไม่อยากอยู่แล้ว ร่างกายก็จะไม่สู้ แต่ถ้าเราคิดว่าฉันแข็งแรง อย่างไรฉันจะต้องหาย ฉันรักษาแล้วจะต้องดีขึ้น นั่นจะส่งผลต่อร่างกายด้วย สำหรับเรา ถ้าคิดว่าทำได้ เราก็จะทำได้ 

เราเข้าใจว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ มีเรื่องราวในชีวิต และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนต้องเจอกับความยากลำบาก ต้องทำงาน มีเรื่องครอบครัวให้ต้องคิด แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะบอกคืออย่าเพิ่งยอมแพ้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่ม อย่าเพิ่งถอดใจว่าตัวเองทำไม่ได้ เราเกิดเติบโตมาได้ขนาดนี้ ชนะสเปิร์มมาตั้งกี่ตัว แล้วเราเป็นตัวที่แข็งแรงที่สุดในนั้น นี่ไม่ใช่แค่กับเรื่องมะเร็งนะ ทุกๆ อย่างในชีวิตเลย ตอนนี้ถ้าจะบอกอะไรสักอย่างกับมะเร็ง เราคงจะบอกกับเขาว่า “ฟังนะ ฉันสวยมาก ฉันไม่ตาย ฉันมีอะไรที่อยากทำและต้องทำอีกเยอะ ฉันจะใช้ชีวิตอย่างดี แข็งแรง และมีความสุขแบบสุดๆ ไปเลย” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: คำพลอย บูรณานุวัต, sailingdeethai.blogspot.com

พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้ช่วยออกแบบ ‘รอยยิ้ม’ ที่ปลายทาง

“การจากไปอย่างองอาจ
คือสิ่งที่หมอปรารถนาให้มันเกิดขึ้น
เมื่อความตายมาเยือน…”

นั่นเป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า อะไรคือเป้าหมายปลายทางในชีวิตที่วาดหวังไว้ ของ คุณหมอโจ้ พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและนักศิลปะบำบัด ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิศิลปะบำบัด (Art Therapy Foundation) และริเริ่มโปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งที่นั่นเองที่ทำให้เธอกลายเป็นเพื่อนร่วมทางของผู้ป่วยเด็กมากมายเพื่อเดินทางไปสู่ลมหายใจสุดท้าย…ปลายทางชีวิต

จุดเริ่มต้นที่ ‘ปลายทาง’

“โปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเริ่มต้นขึ้นในปี 2005  หลังจากที่หมอได้ศึกษาดูงานด้านศิลปะบำบัดจากอเมริกาและกลับมาเมืองไทย ด้วยความรู้สึกร้อนวิชา (ยิ้ม) จึงอาสาเข้าไปทำงานให้ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเรื่องทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะ การตายดี การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ฯลฯ กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก และทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็กำลังจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจึงชวนเราเข้าประชุม

“ในที่ประชุมวันนั้น มีการพูดคุยถึงเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พอเราได้ฟังก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้สิ่งที่เรามีให้เป็นประโยชน์ พอการประชุมจบลงก็มีอาจารย์กุมารแพทย์ท่านหนึ่งเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่า อยากให้ช่วยเอาศิลปะบำบัดไปช่วยผ่อนคลายคนไข้คนหนึ่ง อายุ 16 ปีซึ่งป่วยเป็นมะเร็งที่กล้ามเนื้อดวงตาและกำลังจะต้องผ่าตัดดวงตาทิ้ง  

 “เราก็รับปากอาจารย์ไปทันที วันรุ่งขึ้นก็เตรียมอุปกรณ์ไปเต็มกระเป๋า พอแนะนำตัวเรียบร้อยก็ชวนเขาทำศิลปะง่ายๆ จากตอนแรกเงียบอย่างเดียว พอนานเข้าก็เริ่มเปิดใจเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขากังวลใจ ไม่ชอบใจต่างๆ

“ก่อนจากกันวันนั้น หมอได้มอบสมุดไดอารีให้เขาเล่มหนึ่ง สำหรับเขียนบันทึกความรู้สึกเพราะเขาโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ได้ผล เขาจดไดอารีทุกวัน เขียนความรู้สึกของตัวเองบ้าง วาดรูปบ้าง สะท้อนความรู้สึกของตัวเองจากประสบการณ์ที่เห็นและบันทึกลงไปในไดอารี นั่นเป็นเครื่องมือที่หมอให้เขาไว้ก่อนที่เขาจะเข้ารับการผ่าตัด

“แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะตาบอดหรอก แต่เพราะต้องรักษาชีวิตไว้ การผ่าตัดดวงตาครั้งนั้นจึงไม่ใช่ความยินยอมพร้อมใจ ในความยินยอมนั้นปนเปไปด้วยความไม่ชอบใจหลายอย่าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นความยินยอมแบบจำเป็น จำยอม ทำให้เขากลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล เศร้า เราก็เอาศิลปะบำบัดเข้าไปช่วยเขาจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึก

“ด้วยความที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและแคร์กับสายตาคนอื่น เมื่อผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วเขาก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน แม้หมอจะบอกให้กลับบ้านได้แล้วก็ตาม เขายืนยันจะอยู่ที่โรงพยาบาลต่ออีกเกือบ 4 เดือน เพื่อทำใจยอมรับเบ้าตาที่ไม่มีลูกตา ตอนนั้นนอกจากการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อช่วยเขาอยู่กับเบ้าตานี้ให้ได้แล้ว ทุกๆ ครั้งที่เจอกันเรายังช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไรกันดี จะใส่แว่นตาดำดีไหม ฯลฯ กระทั่งวันหนึ่งเขาก็วาดภาพ Portrait ตัวเอง โดยมีตาเพียงข้างเดียวขึ้นมา และอีกข้างเป็นเบ้าตากลวงๆ ก่อนจะร้องไห้โฮ…

“วันนั้นหมอคิดว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเผชิญกับความรู้สึกนั้นจริงๆ จึงยอมให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และเมื่อเขาสามารถเห็นตัวเองบนกระดาษที่เขาวาดขึ้นได้แล้ว เขาก็สามารถเห็นตัวเองในกระจกได้ และขั้นตอนถัดจากนั้นก็คือเขาสามารถทำแผลให้ตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เจ็บช้ำเกินไป

“หลังจากนั้นเขาก็กลับบ้านไปราว 4-5 เดือน ก่อนจะโทรมาหาหมอและบอกว่า เขาอยู่ที่โรงพยาบาล เขาปวดหัวมาก แต่ไม่มีหมออยู่ และเขาต้องเดินทางกลับบ้านที่สุพรรณแล้ว เพราะรอไม่ไหว จากน้ำเสียงของเขา หมอสัมผัสได้ถึงความผิดปกติ จึงรีบประสานไปที่แผนกกุมารฯ ก็ทราบว่าแพทย์ไปสัมมนาที่ต่างจังหวัด หมอจึงติดต่อไปที่อาจารย์แพทย์ จนเขาได้แอดมิทและรับการตรวจเช็คอย่างละเอียด ปรากฏว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังสมองและกระดูก

“ทันทีที่รู้ผล เขาโกรธมาก โกรธที่เขาสูญเสียดวงตาไปฟรีๆ โกรธที่เข้าใจผิดว่าการสละดวงตาครั้งนั้นจะรักษาชีวิตเขาไว้ได้ แต่ทุกอย่างกลายเป็นโมฆะ ตอนนั้นชีวิตเขาเริ่มไม่สนุก ศิลปะบำบัดก็เข้าไปช่วยจัดการอารมณ์ความรู้สึกแต่ละอย่างที่โผล่ขึ้นมาในแต่ละวัน เขาอยู่ในโรงพยาบาลจนกระทั่งสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่เขาจะขอกลับบ้านเพราะคิดถึงพ่อ และเขาก็เสียชีวิตลงที่นั่น   

“หมอเดินทางไปร่วมพิธีศพของเขาที่สุพรรณบุรี จำได้ว่าพอไปเห็นสภาพบ้านที่เขาอยู่ เรารู้สึกสลดหดหู่ใจมากเพราะรู้เลยว่าชีวิตของเขาช่างยากลำบากเหลือเกิน ความรู้สึกจากประสบการณ์ที่มีกับคนไข้คนนี้ยิ่งทำให้ประเด็นของการมีอยู่ในระยะสุดท้ายดึงดูดความสนใจของหมอมากขึ้น  ในที่สุดจึงได้อาสาเข้ามาทำศิลปะบำบัดกับเด็กๆ ที่เป็นมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่รักษาไม่หายที่โรงพยาบาลจุฬาฯ  โดยจะทำงานสัปดาห์ละ 1 วัน ตั้งแต่เวลา 13:00-18:00 น. จัดกิจกรรมศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยเด็ก 18-20 เตียง อายุตั้งแต่ 3 ขวบไปจนถึง 16 ปี ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ ก็จะแวะเวียนมาที่โต๊ะศิลปะบำบัดตลอดบ่าย ส่วนผู้ป่วยที่ลงจากเตียงไม่ได้ เราจะขนอุปกรณ์ไปทำศิลปะกันถึงบนเตียง สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ยังทำศิลปะบำบัดไม่ได้ก็จะใช้กระบวนการอื่นแทน เช่น การเล่นบำบัด (Play Therapy) การอุ้ม การสัมผัส การสื่อสารด้วยสายตา ฯลฯ วนเวียนอยู่อย่างนั้นกว่า 8 ปีเต็ม ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ แต่ถ้าเทียบกับความสุขที่ได้จากการทำสิ่งนี้แล้ว ความเหนื่อยไม่ได้กระทบอะไรเลย”

เพื่อนร่วมทางที่ชื่อว่า ‘ศิลปะบำบัด’

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการรักษาในโรงพยาบาลนั้น มีพื้นที่ให้กับความรู้สึกน้อยมาก ไม่ค่อยจะมีใครมาถามผู้ป่วยหรอกว่า เมื่อคืนนอนหลับไหม ฝันร้ายหรือเปล่า ถ้านอนไม่หลับ ส่วนใหญ่ก็แค่สั่งยานอนหลับให้–จบ! หรือไม่มีใครมาสนใจหรอกว่า ข้าวอร่อยไหม ผู้ป่วยอยากกินอะไร ตอนเสิร์ฟอาหารเย็นชืดไปหรือเปล่า รายละเอียดเหล่านี้มันเกินที่จะอยู่ในความสนใจของหมอหรือพยาบาล แต่ถามว่ามันสำคัญไหม ก็สำคัญนะ แต่มันเรื่องสารทุกข์สุกดิบที่ ‘เพื่อน’ เท่านั้นจะถามไถ่กัน ซึ่งศิลปะบำบัดเข้าไปทำสิ่งนี้ คือการเป็นเพื่อนร่วมทางและเป็นพื้นที่เพื่อรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

“ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในวัยไหน เด็กหรือผู้ใหญ่ ศิลปะบำบัดก็เป็นพื้นที่และเพื่อนร่วมทางของทุกคนได้เหมือนกัน แตกต่างกันตรงกิจกรรมและเครื่องมือที่เราจะเสิร์ฟให้ต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย เช่น เด็ก 5-6 ขวบ ซึ่งมีพัฒนาการแบบหนึ่ง กิจกรรมที่เตรียมมาให้ต้องพอดีกับวัยและความสามารถของเขา ให้มีความท้าทายพอดีๆ ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป เพื่อเขาจะต้องนำศักยภาพตัวเองออกมาใช้และประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง  ในขณะที่วัยรุ่น 14-15 ปี ก็มีพัฒนาการอีกแบบหนึ่ง กิจกรรมที่นำเสนอก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ท้าทายมากขึ้น โดยที่ทั้งสองกลุ่มตัวอย่าง มีเป้าหมายการทำศิลปะบำบัดเป็นเป้าเดียวกันก็คือเราจะเป็นเพื่อนร่วมทางเขาไปให้ไกลที่สุดหรือจนสุดทาง

“โดยหลักการทำงานศิลปะบำบัดสู่การเดินทางไปจนสุดทางนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘การตายดี’ คือ การตายแบบพร้อมหรือยินดีที่จะเดินไป ไม่หนี ไม่ติดค้างอะไร เพราะฉันได้ทำชีวิตสมบูรณ์แล้ว และเมื่อถึงเวลาฉันก็จะไม่หนีไปไหน มันคือความองอาจที่จะเดินไปข้างหน้าทั้งๆ ที่รู้ว่ามันคือจุดจบ ซึ่งหมอเชื่อว่า ศิลปะสามารถทำให้คนเราไปถึงจุดนั้นได้ เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคน”

ความสำเร็จนับจาก ‘รอยยิ้ม’

“เวลาที่มีใครถามหมอว่า ประเมินผลสำเร็จของแต่ละเคสอย่างไร หมอมักจะพูดติดตลกเสมอว่า ‘ก็นับดูจากรอยยิ้มที่เกิดขึ้นสิ’ ก่อนที่เราจะลงมือทำศิลปะบำบัด ผู้ป่วยมีกี่รอยยิ้ม และพอทำศิลปะแล้วมีรอยยิ้มเพิ่มขึ้นอีกกี่รอยยิ้ม ในเชิงวิชาการมีการศึกษาไว้มากมายทั่วโลกอยู่แล้วว่า ศิลปะบำบัดมีประโยชน์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการลดความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยได้ หรือแม้กระทั่งชีพจรหรือความดันก็ดีขึ้นด้วยหลังจากที่ได้ทำศิลปะบำบัด แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากมัน นอกจาก ‘ข้อจำกัดเรื่องเวลา’ ไม่ว่าจะเป็นเวลาของผู้ป่วยที่เหลือน้อยเต็มที หรือเวลาที่เจอกันมันช้าไป ทำให้เรามีเวลาไม่เพียงพอที่จะเดินไปถึงจุดนั้นด้วยกันแล้ว ก็ยังมีเรื่องของ ‘บุคลิกภาพ’ ผู้ป่วยที่จะได้ประโยชน์จากศิลปะบำบัดมากที่สุดคือคนที่เปิดใจยอมให้ศิลปะเข้าไปดูแล เช่น ชวนให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ปฏิเสธ ฯลฯ ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่เปิดใจ ไม่ทำ ไม่เชื่อ ไม่ให้โอกาสตัวเอง ฯลฯ คนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้รับประโยชน์เท่าไร แต่ถ้าเจอกรณีแบบนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องเคารพในความรู้สึกของเขาและให้เวลาเขา โดยอาจจะจัดให้เขาเป็นผู้ชมก่อน มองดูคนอื่นทำ มองดูสิ่งที่เกิดขึ้น มองดูการเปลี่ยนแปลง มองดูบรรยากาศ มองดูรอยยิ้ม ฯลฯ เขาก็จะเริ่มเปิดใจและขยับจากผู้ชมมาเป็นผู้ร่วมประสบการณ์เอง”     

มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างองอาจ

“ในมุมมองของศิลปะบำบัด เรามองเห็นความเจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธรรมดาของชีวิต และเป้าหมายของเราก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายและจากไปอย่างองอาจ เราอยากให้ผู้ป่วยที่เดินร่วมทางไปกับเรามองเห็นสิ่งนี้เหมือนกัน หมอจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของเวลาที่เหลืออยู่มากกว่าปริมาณของเวลา นั่นทำให้เราจะไม่เชียร์ให้ผู้ป่วยรับคีโมให้ครบเพื่อให้หายจากมะเร็ง เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย เพราะเราสนใจแค่ว่า คุณยังมีเวลาอยู่นะ คุณอยากทำอะไร มารีบทำกัน คอยเป็นเพื่อนที่ชวนกันไปทำ เพื่อที่สุดแล้วคุณจะจากไปอย่างองอาจ ไม่มีอะไรติดค้าง

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เคสที่หมอรู้สึกว่าเป็นเหมือนต้นแบบของการตายอย่างองอาจในแบบฉบับของศิลปะบำบัดนั้นก็คงเป็นเคสของเด็กชายวัยเพียง 9 ขวบคนหนึ่งที่ป่วยมะเร็งที่กระดูกหน้าแข้ง แล้วต้องตัดขาทิ้ง หมอได้รู้จักกับเขาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตราวปีกว่าๆ จำได้ว่าเขามาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณ 3 เดือน ครั้งที่ 2 ประมาณ 4 เดือน จากคนที่ไม่มีความสุข ขี้หงุดหงิด โวยวาย เสียงดัง กินข้าวไม่อร่อย นอนไม่หลับ คิดสับสนวุ่นวาย ฯลฯ ศิลปะบำบัดเข้าไปรับรู้ แบ่งเบา จนกระทั่งเขาเห็นตัวเองเปลี่ยนไป เห็นตัวเองยิ้มได้ เห็นตัวเองมองเห็นคนอื่น เห็นตัวเองแบ่งปันของกับเพื่อนข้างเตียง ไม่ได้เห็นเฉพาะความทุกข์ของตัวเอง แต่เห็นไปถึงความทุกข์ของคนอื่น เห็นว่ารองเท้าของแม่ขาดพังหมดแล้ว เห็นว่าแม่ไม่สบาย ดวงตาช้ำ อดนอน เขาเริ่มย้ายโฟกัสจากตัวเองไปที่คนอื่นได้แล้ว ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป มองเห็นสิ่งรอบตัว ที่สำคัญคือลงมือดูแล โดยขอให้พยาบาลมาอยู่เป็นเพื่อนหน่อยเพื่อให้แม่ได้นอนเต็มตื่น

“จุดนั้นเป็นจุดที่เขาได้เชื่อมต่อในระดับที่พ้นตัวตนของตัวเองไปแล้ว และมองเห็นว่าชีวิตไม่ได้ยืนยาว เขาจึงทำสิ่งที่องอาจมาก คือ การสั่งเสียและจัดสรรทรัพย์สินของตัวเองที่มีอยู่ ก็คือหนังสือการ์ตูนโดราเอมอน 40-50 เล่ม ซึ่งเป็นเหมือนของรักของหวง เขาแบ่งหนังสือชุดนี้ให้พี่ น้อง ลูกพี่ลูกน้อง ของเล่นต่างๆ ก็จัดสรรว่าชิ้นไหนจะมอบให้ใคร หรือชิ้นไหนที่อยากให้แม่เก็บไว้ที่บ้าน บอกไว้ในพินัยกรรมทุกอย่าง พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่าเขาจะไปเกิดใหม่เป็นลูกพี่สาว ซึ่งตอนนั้นพี่สาวของเขากำลังตั้งครรภ์อยู่ หมอมองว่านี่คือการตายที่องอาจมาก และเชื่อว่าผู้ใหญ่หลายคนก็ยังทำไม่ได้อย่างนี้เลย

“แต่วันที่หมอเซอร์ไพรส์มากที่สุดคงเป็นวันที่เข้าไปหาเขาที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัดผ่านไป วันนั้นเขาเอ่ยปากชวนหมอ ‘หมออยากดูแผลผ่าตัดของผมไหม’ พอได้ยินดังนั้นเราก็แปลกใจ แต่ก็ตอบกลับไปว่า ‘อยากดูนะ ถ้าอยากให้หมอดู’ เขาก็บอกว่า ‘เดี๋ยวผมจะเปิดให้ดู’ ระหว่างที่มือเขาค่อยๆ เปิดผ้าพันแผลออกทีละชั้น เขาก็บรรยายลักษณะของแผลไปด้วย ‘หมอรู้ไหมว่า มันสวยมากเลย มันกลมสนิทเลย’…”

“คิดดูสิ จะมีใครสักกี่คนในโลกนี้ที่โดนตัดขาแล้วสามารถชมแผลตัวเองว่าสวย แต่ตอนนั้นเขาอยู่เหนือความเจ็บป่วยของตัวเองไปแล้ว และพอผ้าพันแผลถูกเปิดออกหมด มันก็เป็นอย่างที่เขาได้บรรยายไว้จริงๆ มันเป็นเฮมิสเฟียร์ (Perfect Hemisphere) ซึ่งกลมแบบเพอร์เฟกต์ ไม่ขรุขระ ไม่มีรอยบุ๋มหรือรอยเย็บ มันกลมสมบูรณ์แบบมาก นั่นทำให้เราเห็นว่า เขาสามารถเชื่อมต่อกับความงามที่เป็นสุนทรียะระดับสากล ซึ่งต้องอยู่ในระดับจิตวิญญาณที่ได้รับการพัฒนาแล้วเท่านั้นจึงจะคิดอย่างนี้ได้ นี่คือสิ่งที่สิ่งเกิดขึ้นกับเด็กวัยเพียง 9 ขวบ” 

 ปลายทางที่วาดไว้…

 “วันนี้ศิลปะบำบัดคือชีวิตจิตใจสำหรับหมอไปแล้ว มันอยู่ในเลือดในเนื้อ มันอยู่ในทุกการกระทำของเรา และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนที่เราให้บริการ หรือคนที่เราเรียกว่า ‘ลูกค้า’ หรือ ‘คนไข้’ แต่มันแผ่ไปถึงทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา มันทำให้เราสามารถเมตตาทุกคนได้ มันอยู่ในชีวิตเรา หลายปีที่ผ่านมา หมอมักจะจินตนาการให้ตัวเองได้ทำพื้นที่ให้ความตายมาเยี่ยมเพื่อรับรู้และทำความคุ้นเคยอยู่บ่อยครั้ง และเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าชีวิตนี้เลือกได้ หมอก็อยากจะเป็นมะเร็งเหมือนเด็กๆ ที่หมอดูแลนี่แหละ หมอว่ามันดีกว่าโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ตรงที่มันยังพอมีเวลาอย่างน้อยก็ 3-6 เดือน ที่จะให้เราได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีเวลาพอที่จะเตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าไปอย่างไม่กลัว ไม่หนี และจากไปอย่างองอาจแบบไม่มีอะไรติดค้างอีกต่อไป…”



เรื่อง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ: กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง

แม่จี๊ด-น้องเปียโน รับมือกับมะเร็งด้วยการดูใจเขา แลใจเรา ใช้ธรรมนำใจ

“แม่สอนให้ลูกเข้าใจความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว และไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แม่สอนให้ลูกมีความเสียสละและรู้จักแบ่งปันผู้อื่น แม่จะคอยเตือนเมื่อลูกทำผิดและให้อภัยลูกได้เสมอ แม่สอนให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง ขณะที่ยังต้องตั้งมั่นในความถูกต้อง และแม่… ก็จะคอยดูแลและปกป้องลูกให้พ้นจากอันตรายเสมอ”

สำหรับแม่จี๊ด วรรณดี ปัญญวรรณศิริ บทบาทความเป็นแม่ของเธอไม่ได้ห่างไกลจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เธอคือแม่ที่แข็งแกร่งผู้อยู่เคียงข้างและคอยประคับประคองทั้งร่างกายและหัวใจน้องเปียโน ด.ญ.ธรรมชาติ ปัญญวรรณศิริ ในวันที่ลูกสาววัย 15 ปี ต้องฝ่าฟันกับความเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งสมองที่หนักเอาการเมื่อ 4 ปีก่อน แม้ทั้งคู่จะเจอความท้าทายมาแล้วหลายหน แต่พวกเขายังมีความสุขได้ในทุกวัน เพราะความรักและใจที่สู้ สำหรับทั้งคู่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การยังมีคนให้รักและดูแลก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

เส้นทางสุดท้าทาย

“เดือนพฤษภาคม 2560 น้องเปียโนมีอาการปวดหัว แล้วก็อาเจียน ตอนนั้นแม่ไม่ทราบว่าน้องเป็นอะไร เลยไปหาคุณหมอซึ่งท่านวินิจฉัยว่าน้องเป็นไซนัส เรารักษาตามอาการอยู่ 3 เดือน แต่ไม่ดีขึ้น น้องยังต้องทานยา มีอาการปวดหัวและอาเจียนตลอดจนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ น้ำหนักลดเกือบ 20 กิโล จนแม่และคุณพ่อตัดสินใจกลับไปหาคุณหมออีกครั้งและได้รับคำแนะนำให้ตรวจละเอียดขึ้น ผลการทำ CT scan คือน้องมีเนื้องอกอยู่ใจกลางสมอง ตอนนั้นคุณหมอฉีดยาแก้สมองบวม แล้วก็ประสานย้ายโรงพยาบาลเพื่อที่จะผ่าตัด ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจจะพิการ หรือโดนเส้นประสาท หรือตาบอด พวกเราลังเลเพราะคุณพ่อไม่อยากให้เสี่ยง แต่น้องปวดหัวมาก จนตัดสินใจกันว่าอย่างไรก็ต้องให้ลูกผ่าตัด

เมื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจก็พบว่าเนื้องอกเป็นชนิดกลิโอมา (Glioma Tumours) ซึ่งแผนการรักษาตอนนั้นคือการผ่าตัด แต่ด้วยตำแหน่งของก้อนเนื้อทำให้การผ่าตัดสามารถนำชิ้นเนื้อออกมาได้เพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องมีการฉายแสงและให้คีโมเพิ่มเพื่อทำให้ก้อนเนื้อยุบลง หลังผ่าตัด เปียโนต้องพักฟื้นอีกเดือนกว่าๆ ที่โรงพยาบาลโดยยังไม่มีการให้คีโมจนก้อนเนื้อโตขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง คุณหมอจึงตัดสินใจผ่าตัดอีกครั้ง เพราะไม่อย่างนั้น ก้อนเนื้อก็ไปจะกดทับส่วนอื่นๆ ในสมอง และให้คีโมต่อจนครบ 3 เซต ฉายแสงทั้งหมด 30 ครั้ง และสิ้นสุดการรักษาในครั้งแรก ซึ่งด้วยตำแหน่งของก้อนเนื้อบริเวณกลางสมอง ทำให้น้องมีโรคอื่นๆ ตามมา ทั้งโรคเบาจืด ไทรอยด์ ภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งยังส่งผลไปถึงเรื่องฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตด้วย

หลังจากพักฟื้นได้สักพัก ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 น้องมีอาการปวดหลัง เวลานั้นคุณหมอวินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ จึงรักษาด้วยทำกายภาพบำบัด แต่อาการไม่ดีขึ้น เริ่มเดินเซ เลยมาทำ CT Scan ที่สมอง แต่ไม่เจออะไร จนกระทั่งทำ MRI จึงพบว่ามีเนื้องอกที่บริเวณหลัง จึงรักษาด้วยการผ่าตัด ให้คีโม ฉายแสง และต้องทำกายภาพบำบัดอยู่ น้องดีขึ้นและอีก  1 ปี ก็พบเนื้องอกที่ไขสันหลัง คุณหมอทำการรักษาด้วยการผ่าตัด  คีโม ฉายแสง ทำกายภาพบำบัด 8 เดือน เพราะน้องเดินไม่ได้ เปียโนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติประมาณ 1 ปี แต่อาการต่างๆ ก็กลับมาอีกครั้ง ทั้งปวดหัวและมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งเมื่อไปเช็กก็พบเนื้องอกที่สมองอีก 1 ครั้ง แต่รอบนี้ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว เพราะเนื้องอกที่เจออยู่ใกล้เส้นประสาทตามาก เลยต้องใช้วิธีให้คีโมและฉายแสงเท่านั้น พอครบโดส อาจารย์หมอก็ให้ทานคีโมเม็ด แล้วก็ติดตามอาการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน”

ต่อเลโก้ เขียนไดอารี่ วาดภาพ กิจกรรมบำบัดต่อสู้มะเร็ง

“ด้วยความที่น้องต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและอยากไปโรงเรียน แต่ไม่สามารถไปได้ แม่ก็เลยซื้อเลโก้ให้น้อง การต่อเลโก้เลยกลายเป็นกิจกรรมหลักที่ทำให้เปียโนมีอะไรได้โฟกัส นอกเหนือไปจากการรักษา พักฟื้น หรือคิดถึงชีวิตในโรงเรียน ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยน้องในเรื่องอารมณ์ที่จะนิ่งขึ้น มีสมาธิ เป็นกิจกรรมที่ทำให้น้องมีความสุข พอต่อเสร็จก็จะเอาไปให้คุณหมอคุณพยาบาลในวอร์ด

เปียโนยังเขียนไดอารี่ด้วย น้องจะให้แม่ถ่ายรูปแล้วอัดเป็นรูปเล็กๆ ติดลงไป แล้วก็เขียนบันทึกทุกเหตุการณ์ที่เขาเจอ ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาการเป็นอย่างไร พี่ๆ พยาบาลและคุณหมอแต่ละคนมีลักษณะอย่างไร ใครเป็นฮีโร่ของเขาก็จะถูกบันทึกไว้หมด นอกจากนี้ ยังใช้เวลาไปกับการวาดภาพด้วย อย่างวันวาเลนไทน์ก็จะวาดรูปครอบครัวหรือวาดรูปอาชีพในฝัน และวาดภาพลงเสื้อเพื่อโพสต์ขายสำหรับช่วยค่าใช้จ่ายในการรักษา”

Story of Piano เรื่องราวจากคำบอกเล่าของน้องเปียโน

Story of Piano เป็นเพจที่เปียโนเริ่มทำด้วยตัวเอง โดยแม่จะช่วยเสริมแค่บางส่วน อย่างที่เล่าไปในช่วงแรกว่าน้องจะบันทึกเรื่องราวลงในสมุดไดอารี่ แล้วมีพี่ซึ่งเป็นครูด้าน ICT มาเยี่ยมและได้เห็น เลยแนะนำให้ลองทำเป็นเพจขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์และเป็นความรู้ให้คนอื่นได้ด้วย เพจนี้เลยเริ่มราวๆ 2 ปีก่อน หลังจากที่การรักษาทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาจะเป็นการนำเรื่องราวที่เปียโนเคยจดบันทึกไว้มาทยอยลง นอกจากนี้ ในเพจยังมีภาพวาดและเสื้อเพ้นท์ของน้องโพสต์ไว้ด้วย ซึ่งหากมีใครสนใจหรือชอบผลงานก็สามารถช่วยอุดหนุนเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายได้ โดยในหนึ่งออร์เดอร์ น้องจะปันเงินจำนวน 29 บาทไปบริจาค อย่างการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลสงฆ์ หรือการไถ่ชีวิตโคกระบือ ถ้ามีคนสั่งเสื้อแล้วใส่เสื้อถ่ายรูปส่งมาให้คุณแม่ เปียโนก็จะเอ่ยอย่างมีความสุขว่า พี่ๆ เขาใส่แล้วสวยนะคะแม่ แล้วก็จะดีใจว่าวันนี้เขาได้ทำบุญ ได้ช่วยคนอื่น และมีความภูมิใจในตัวเอง”

แสงธรรมนำใจ

“หลังจากครั้งที่ 3 ที่น้องฉายแสงเสร็จ แม่กับเปียโนมีโอกาสได้ไปบวชที่เสถียรธรรมสถานด้วยความเมตตาของท่านแม่ชีศันสนีย์ ซึ่งก่อนไปแม่ทุกข์และกังวลว่าถ้ามะเร็งกลับมาอีกจะทำอย่างไร แม่ปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าอยากให้น้องหาย ทุกวันที่กอดน้องก็คิดไปด้วยว่าจะได้กอดลูกอีกถึงเมื่อไหร่ นอนไม่หลับเลย แต่พอไปบวชก็ทำให้แม่เข้าใจกับคำว่า here and now การอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นเยอะว่าอดีตหรือวันข้างหน้า เราไม่ต้องไปกังวลอะไร ทำนาทีนี้ให้ดีที่สุด มีความสุข ณ ขณะเวลา กับครอบครัวและเพื่อนที่เรารักและรักเรา

ทุกวันนี้ อะไรที่น้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการต่อเลโก้ วาดภาพ เพ้นท์รูปลงเสื้อ ได้เห็นคนที่เขาสวมเสื้อแล้วถ่ายรูปสวยๆ มาให้น้องดู ถ้านั่นคือความสุขของน้อง แม่ก็อยากให้เขาเอนจอยกับสิ่งที่ได้ทำ หรือการที่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 3 คน พ่อ-แม่-ลูก ทานข้าวด้วยกัน มีความสุขกับทุกๆ เรื่องที่ผ่านมาในชีวิต ทำให้รู้สึกว่าเรายึดติดน้อยลง ทุกข์น้อยลงด้วย ชีวิตได้ผ่อนคลายขึ้นจากเดิม

สำหรับเปียโน การเข้าใกล้ธรรมะทำให้น้องมีความเข้มแข็ง อดทน ใส่ใจคนอื่นมากขึ้น แล้วก็ได้ผลพลอยได้ในเรื่องการทาน เพราะปกติเปียโนชอบทานอาหารซ้ำๆ แต่ตอนบวช เราต้องทานอาหารที่ทางวัดเตรียมไว้ ทำให้น้องทานอาหารที่หลากหลายได้มากขึ้น เรื่องโภชนาการต่างๆ ของน้องเลยดีขึ้นตาม แต่แม่ก็ไม่ได้เคร่งมากเรื่องอาหาร ทำเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เขาไม่เครียดมาก แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลยจนเกินไป”

ดูใจเขา แลใจเรา

“สำหรับการดูแลผู้ป่วย กายกับใจจะต้องไปด้วยกัน เราต้องดูแลจิตใจเขาด้วย ไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว เอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าถึงจิตใจเขา ในขณะเดียวกันผู้ป่วยเองก็ต้องเข้าใจคนดูแลด้วยว่าเขาเองก็เหนื่อยเหมือนกัน การจะประคับประคองให้ราบรื่น สิ่งสำคัญคือเราต้องสื่อสารและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างแม่กับเปียโน บางครั้งบางที น้องเองก็รู้สึกเหมือนกันว่าเขากำลังทำให้เราลำบาก ส่วนแม่เองก็รู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ดีพอ ดังน้ัน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของกำลังใจและการพูดคุยกัน น้องจะถามแม่บ่อยๆ ว่า แม่เหนื่อยไหม แม่พักได้นะ เดี๋ยวหนูทำเองได้ แม่เองก็จะถามน้องเสมอว่า แล้วหนูไหวไหม? พยายามหาจุดที่สมดุลซึ่งกันและกันให้ได้

สำหรับคนดูแล เราจะเห็นได้ว่าบางครั้งคนป่วยเขาอาจจะเรียกร้องและอาจจะไม่รู้ตัว ด้วยปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสภาวะความเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะส่งผลกับใจของเรา ทั้งความเหนื่อยและท้อ เพราะฉะนั้น การดูแลจิตใจตัวเองให้ดีก็สำคัญมากๆ เพราะถ้าเราจิตใจเราไม่ดี การดูแลก็จะไม่เต็มร้อยเหมือนกัน”

หนูจะสู้ แม่ต้องสู้ด้วยนะ

“มีช่วงเวลาที่หนักมากๆ คือตอนที่โรคกลับมาเป็นซ้ำๆ หลายครั้งซึ่งทำให้แม่ใจเสีย แม่คิดว่าที่ครอบครัวเราผ่านช่วงเวลาตรงนั้นมาได้ก็เพราะกำลังใจจากคนในครอบครัวที่มีให้กันเสมอ ระหว่างที่แม่กับน้องอยู่ที่โรงพยาบาล คุณพ่อก็จะมาหาทุกวัน มานั่งคุย นั่งฟัง ถามไถ่กันตลอดว่าลูกและแม่เป็นอย่างไรบ้าง มานั่งทานข้าวด้วยกันทุกเย็น ช่วยรับเสื้อผ้าไปซักและส่งให้ ส่วนเรา 2 คนแม่ลูกก็จะหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ นอกจากเล่านิทาน นั่งคุยกันในเรื่องสนุกๆ หรือว่าฟังเพลงด้วยกันแล้ว น้องยังชอบทานและชอบดูรายการอาหารด้วย เราเลยชอบทำกับข้าว โดยเปียโนจะเป็นคนเตรียมส่วนผสม ส่วนแม่จะเป็นคนปรุง แล้วก็มานั่งทานอาหารที่เราทำด้วยกัน ซึ่งช่วยคลายความเครียดได้มาก ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ผ่อนคลายขึ้น แล้วครอบครัวเราก็ยังมีกัลยาณมิตรที่คอยให้กำลังใจบอกกับเราว่าไม่มีอะไรนะ เดี๋ยวก็ผ่านไป มาอยู่ข้างๆ กัน มาหาน้องเปียโนตลอด ซึ่งเราเลยได้เติมพลังจากพวกเขาด้วย

สำหรับเปียโน น้องจะปรับตัวว่าตอนนี้เขาอยู่โรงพยาบาล ตอนรักษาจึงไม่มีภาวะของการซึม ไม่ได้นั่งจมกับความทุกข์ หรือเศร้าใจอะไรทั้งสิ้น และด้วยการทำกิจกรรมทั้ง 3 อย่างที่แม่เล่าไป เขายังชอบคุยกับพี่ๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขายังร่าเริงได้ ขณะเดียวกัน น้องเป็นคนเข้มแข็งและใจสู้มาก เขาไม่เคยยอมแพ้ มีความหวังตลอดว่าเขาจะสู้ เขาจะหาย ไม่ร้องไห้ฟูมฟาย ยกเว้นเวลาปวดหรือเจ็บมากๆ นอกจากเป็นดวงใจของพ่อแม่แล้ว น้องยังเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วย การเห็นลูกป่วย คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็เศร้ามากแล้วนะ แต่เมื่อเห็นลูกยิ้ม อยากทำโน่นนี่ มีชีวิตชีวา ก็ทำให้เราอยากลุกไปสู้พร้อมกับเขา เปียโนจะบอกแม่เสมอว่า แม่อย่าร้องไห้นะ หนูไม่ร้องไห้ คนอื่นอย่าร้องไห้ให้หนูเห็นนะคะ

การพบมะเร็งเป็นที่อะไรหนักหนากับเขามาก จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตในวัยของเขาในหลายๆ ด้าน แต่น้องไม่เคยเอาข้อจำกัดมาเป็นข้ออ้างไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม น้องจะพยายามทำทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัดที่มีเพื่อให้ไปถึงจุดหมายที่เขาตั้งใจไว้เสมอ ไม่เคยยอมแพ้ในการต่อสู้กับโรค ไม่เคยหยุดนิ่งเรื่องการเรียน รวมไปถึงความตั้งใจที่จะช่วยครอบครัวหารายได้พิเศษเพื่อมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาของตัวเอง สิ่งที่แม่อยากบอกเปียโนก็คือ หนูเข้มแข็งมาก หนูเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของแม่และพ่อ หนูผ่านทุกอย่างมาจนทุกวันนี้ได้ด้วยใจที่เข้มแข็ง แม่กับพ่อก็จะผ่านมันไปให้ได้เหมือนกัน” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: วรรณดี ปัญญวรรณศิริ

ธวัชชัย รัตนศักดิ์ รับมือมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรู้เขา รู้เรา และอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ยังคงเป็นวลีที่ไม่เคยล้าสมัย แต่เมื่อวันที่โรคมาเยือน นอกจาก ‘ยานอก’ ที่จะช่วยรักษากายของเราให้หายจากอาการที่เป็นอยู่แล้ว ‘สติ’ ก็เป็น ‘ยาใน’ ชั้นดีที่ช่วยให้เรากล้าเผชิญกับโรคร้ายได้อย่างตื่นรู้และจัดการมันได้อย่างเท่าทันเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดแบบเดียวกันกับที่ ธวัชชัย รัตนศักดิ์ หรือลุงยักษ์ ใช้ในการเผชิญหน้ากับโรคมะเร็งที่เขาเป็นอยู่ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘มะเร็งคือโรคโรคหนึ่งที่เราต้องรับมือและสู้กับมันอย่างมีสติและเข้าใจ’ 

สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

“ก่อนหน้าที่จะมาเป็นมะเร็ง ผมเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องการตรวจร่างกายและก็ผมหาคุณหมอเช็คด้านทางเดินปัสสาวะมาตลอด มีการเช็คสารบ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก (Prostate-specific Antigen: PSA) ทุก 6 เดือนอยู่แล้ว ช่วงเมื่อ 10 ปีที่แล้วเจอว่าเจ้าค่านี้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดทุกครั้งที่ไปตรวจ มีครั้งนึงกระโดดจาก จาก 6 มาเป็น 13 หลังจากนั้นก็มีการตรวจละเอียดขึ้น แต่ยังไม่พบความผิดปกติใดๆ จนตัวเลข PSA ขึ้นมาเป็น 20 และ 23 จึงต้องมาตรวจละเอียดอีกครั้งและพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณปี 2554 ยังโชคดีที่โดยตัวโรคยังไม่ได้กระจายไปไหน แต่ว่าชิ้นเนื้อที่เจาะออกมาผลอยู่ในเกรดสูงประมาณระดับ 9 จาก 10 นั่นหมายความว่ามะเร็งมีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นได้ง่าย เป็นเนื้อร้ายชนิดแรง

ในการรักษาจริงๆ แล้ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือผ่าตัด แต่ในเวลานั้น ผมมีน้ำหนักตัวมาก คุณหมอที่ดูแลแนะนำว่าการผ่าตัดจะลำบากและมีความเสี่ยง เลยต้องหาวิธีอื่น ดังนั้น การรักษาหลักๆ จะเป็นการฉายแสง ซึ่งกว่าจะได้ฉายแสงก็มีกระบวนการในการเตรียมตัวหลายขั้นตอนและใช้เวลาอยู่พอสมควร ทั้งการทำ CT Scan ฝังทองล็อกจุด การทำโมล็อกตัวเพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวเวลาฉายแสงจะได้ฉายได้ตรงจุด จนทุกขั้นตอนเสร็จสิ้น จึงเข้าสู่กระบวนการฉายแสงทั้งหมด 39 ครั้ง หลังจากฉายแสงจบ คุณหมอจะเช็คดูค่า PSA ซึ่งพบว่าลดลงมาอยู่ในระดับปกติ โดยผมโชคดีไม่มีผลข้างเคียงใดๆ จากการฉายแสง ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเลย”

เมื่อร่างกายสะกิดให้เรากลับมาดูแลตัวเอง

“ถ้าย้อนกลับไปตอนหนุ่มๆ ที่ยังทำงานอยู่ ผมใช้ขีวิตแบบสุดเหวี่ยงและดื่มเหล้าเยอะมากนะ เรียกว่าดื่มทุกวัน แต่พอเจอมะเร็งปุ๊บ ผมหยุดร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็หยุดได้ทันทีแบบไม่มีอาการลงแดง ผมคิดว่าในชีวิตที่ผ่านมา เราได้ใช้ชีวิตมาเต็มที่แล้ว เมื่อวันหนึ่งร่างกายมาเตือนว่ากำลังมีปัญหา ก็ต้องกลับมาดูว่าเรากำลังทำอะไรที่มากเกินพอดีไหมและหันกลับมาดูแลตัวเองให้เต็มที่ดีกว่า แน่นอนสำหรับอายุอย่างผม ตอนนี้ 77 ปี ร่างกายมันเสื่อมไปตามอายุอยู่แล้ว ซึ่งผมเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ดี แต่อะไรที่หยุดได้และเป็นผลดีกับเรา ทำให้เราอยู่ได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข ผมก็หยุดนะ ไม่เคยลังเลและอิดออดเลย

ส่วนเรื่องสุขภาพใจก็มีภรรยา ลูกๆ และกัลยาณมิตรส่งกำลังใจมาให้ตลอด ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงและคอยดูแลอยู่ เพราะถ้าเราตัวคนเดียวไม่มีครอบครัวมาคอยดูก็คงลำบากเลยล่ะ ส่วนการดูแลเรื่องอื่นๆ ในเวลานี้ผมมีกิจกรรมที่ทำตามปกติกับเพื่อนๆ อยู่ ทั้งจัดทริปเที่ยว ตีกอล์ฟ ร้องเพลง ตรงนี้ก็ทำให้ชีวิตวัยเกษียณมีชีวิตชีวา ผมจะไม่จมอยู่กับความคิดว่าเราป่วยสักเท่าไหร่ แต่จะใช้ชีวิตให้ปกติและมีความสุขเท่าที่เราทำได้ในวันนี้ แต่ตอนนี้ก็อย่างที่เห็นว่าพวกเราเจอกับวิกฤต COVID-19 กันอยู่ ดังนั้น ทุกกิจกรรมที่ทำเลยต้องพักไว้ก่อน ที่สำคัญคือผมเองก็ต้องระวังตัวมากขึ้นด้วยเพราะด้วยสุขภาพ ผมจะเซนซิทีฟกว่าคนอื่นๆ เขา”

เปลี่ยนลิ้นหัวใจ – เปลี่ยนไต – ติดเชื้ออะดีโนไวรัส กับความสัมพันธ์ต่อโรคและการรักษามะเร็ง 

“ผมเปลี่ยนลิ้นหัวใจเมื่อปี 2536 ตอนนั้นก็อายุราว 50 กว่าๆ ก่อนที่จะมาพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและรักษาด้วยการฉายแสงในปี 2555 ซึ่งคุณหมอต้องเช็คก่อนว่า เมื่อมีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วเราสามารถทำการฉายแสงได้ไหม ซึ่งก็โชคดีที่ไม่มีปัญหาอะไร เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ไม่มีผลอะไรกับการรักษาโรคมะเร็ง

แต่เนื่องด้วยผมมีภาวะไตเสื่อมถอยมาเป็นระยะๆ เป็นความเสื่อมตามวัยนี่แหละ ผมก็เข้ารับการรักษาตามอาการมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันหนึ่งที่ค่าการกรองของไตลดลงเหลือเพียง 5% (ค่าการกรองของไต [estimated Glomerular Filtration Rate: eGFR, GFR] หรือทั่วไปเรียก ‘ค่าไต’ ปรกติคือ 90-125 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร หากต่ำกว่านี้ หมายความว่าบุคคลนั้นมีภาวะไตเสื่อม เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ค่าไตจะลดลง 1 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร และเมื่ออายุ 70 ปี ค่าไตจะลดลง 50 % หรือมากกว่านั้น เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ไตก็มีแนวโน้มทำงานลดลง – ที่มา: MedThai) ประมาณปี 2561 จึงต้องทำการเปลี่ยนไต โดยรับไตข้างหนึ่งมาจากลูกชายของผมที่แมชกันพอดี ในเวลานั้นก็มีเรื่องที่ต้องพิจารณามากพอสมควร เอาจริงๆ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเป็นเรื่องซีเรียสมาก น่าจะพอๆ กับการเป็นมะเร็งเลยนะ โดยการเปลี่ยนไตจะมีผลกระทบกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ผมรักษาไปด้วย เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนอวัยวะ เราต้องทานยากดภูมิซึ่งจะทำให้มะเร็งมีโอกาสกลับมาได้ง่ายขึ้น เพราะไม่มีภูมิต้านทานของเราสู้เจ้ามะเร็งนี้ไว้ แล้วถ้ามะเร็งกลับมา วิธีการรักษาก็อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ผมและครอบครัวก็กังวลตรงนั้นเหมือนกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราลังเลว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนดี จนกระทั่งร่างกายเริ่มไม่ไหว เลยต้องชั่งน้ำหนักดูความเป็นไปได้และความเสี่ยงตอนนั้น ทำให้กระบวนการทุกอย่างจึงต้องมีการตรวจเช็คอย่างละเอียด ตั้งแต่หัวใจ มะเร็ง และโรคอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยมากที่สุด ผมต้องให้คุณหมอที่ดูแลต่อมลูกหมากประเมินและทำจดหมายยืนยันมาว่า ผมได้ฉายแสงมาเกิน 5 ปีแล้วและไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องเปลี่ยนไต หมอเขาถึงยอมเปลี่ยนไตให้

หลังจากนั้น การเปลี่ยนอวัยวะและการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยังมีผลกระทบกับผมอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผมต้องทานยากดภูมิหลังจากเปลี่ยนไต ก็เลยเกิดการติดเชื้ออะดีโนไวรัสที่ระบบทางเดินปัสสาวะทำให้ถ่ายเป็นเลือดและมีลิ่มเลือดอุดตัน วิธีการรักษาในเวลานั้นมีความซับซ้อนและยากอยู่มากทีเดียว เพราะเมื่อเคยฉายแสงที่ต่อมลูกหมากมาก่อน จึงทำให้เส้นเลือดบริเวณที่ถูกฉายแสงมีความเปราะบาง การรักษาเลยไม่สามารถทำได้เต็มที่และยากกว่าคนอื่น บางวันผมต้องสวนปัสสาวะวันละหลายครั้งเลยนะ เรียกว่าติดเชื้อครั้งนี้เจ็บมากกว่าเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เปลี่ยนไต และรักษามะเร็งอีก แต่ผมก็ผ่านมันมาได้”  

เมื่อเข้าใจโรค…ก็จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยสติ

“ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเจ็บป่วยอะไรก็ตาม ผมองว่านั่นเป็นโรคโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อคุณหมอมาดูแล เราก็รักษาไป อาจเพราะผมเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก แน่นอนว่าความกังวลย่อมมีอยู่แล้ว เพียงแต่จะไม่ค่อยเก็บมาคิดและไม่ค่อยกลัวเรื่องการรักษา แล้วผมจะค้นหาความรู้เกี่ยวกับโรคนั้นๆ อยู่เสมอ ไม่ได้ปล่อยให้คุณหมอดูแลเราฝ่ายเดียว อย่างมะเร็งต่อมลูกหมาก ผมก็หาข้อมูลไว้ จะทำตัวเองให้มีความรู้เพียงพอเพื่อที่จะคุยกับหมอให้รู้เรื่องด้วย

จากประสบการณ์ของผม โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าดูแลและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ดูเขาให้ทัน มันก็เป็นมะเร็งที่รักษาได้ไม่ซับซ้อน เพียงแต่เวลาป่วย คนที่เข้ารับการรักษาก็จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน บางคนก็เครียด บางคนทำใจได้ สิ่งที่ผมอยากแนะนำก็คือ อยากให้คนที่กำลังเป็นโรคอะไรก็ตาม ขอให้ทำใจสบายๆ เอาไว้ ลองหาความรู้เกี่ยวกับโรคที่เราเป็น เพื่อที่เวลารักษาหรือดูแลตัวเอง เราจะตามโรคได้ทันและเข้าใจที่คุณหมออธิบาย เมื่อเรามีความรู้ เราจะเริ่มมีสติว่าเรากำลังเจอกับอะไรอยู่ อย่าปล่อยปละละเลย ผมเข้าใจว่าทุกคนกังวล ผมเองก็กังวล แต่อยากให้ทุกคนมีกำลังใจในการรักษา มีกำลังใจในการที่จะมีชีวิตต่อ เพราะคุณหมอที่ดูแลเราเขาได้รับการฝึกฝนให้ทำงานด้านนี้มาแล้ว อยากให้สู้และอย่าเพิ่งยอมแพ้ไปเสียก่อน”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: ธวัชชัย รัตนศักดิ์