อัครฤกษ์ ไกรฤกษ์ มะเร็งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แค่ต้องรับมืออย่างมีสติ

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีก่อน ตั้ว – อัครฤกษ์ ไกรฤกษ์ พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งไขกระดูกมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) มะเร็งชนิดหายากในประเทศแถบเอเชียที่พบเพียง 1 ใน 100,000 คน การต่อสู้กับมะเร็งของตั้วถือเป็นงานหิน เพราะเขาต้องเปลี่ยนยาไปทั้งหมด 11 สูตร เนื่องมาจากภาวะดื้อยา และใช้วิธีการรักษามาแล้วแทบทุกแบบ ทั้ง Chemotherapy, Targeted Therapy, Immunotherapy, การใช้ Stem Cell Transplant 2 ครั้ง จนถึงปี 2022 ที่นับเป็นช่วงยากอีกครั้งของเขา กระทั่งตั้วได้รับการรักษารูปแบบใหม่อย่าง Antibody Therapy ที่ร่างกายของเขาตอบสนองต่อยาได้ในระดับดีจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ในวันที่เจอกัน เขาบอกกับเราว่าเขาแข็งแรงขึ้นมากและพร้อมที่จะมาเล่าให้เราฟังถึงการสู้ไม่ถอยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เป็นกำลังใจ และเป็นแนวทางของการอยู่ร่วมกับโรค Multiple Myeloma ที่เขาเผชิญอยู่

Multiple Myeloma มะเร็งชนิดหายากในเอเชีย

ตั้วเล่าย้อนเรื่องราวเมื่อ 10 กว่าปีก่อนว่าตัวเขาเกลียดการตรวจร่างกายมาก กลัวหมอ กลัวเข็มฉีดยา เป็นคนเดียวในบริษัทที่ไม่ตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งการเจอรอยโรคเกิดจากการไปเตะฟุตบอล

“2 ปีก่อนจะพบมะเร็ง ผมพบความผิดปกติของร่างกาย จากเดิมที่สามารถเล่นฟุตบอลทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 2-3 แมทช์ได้สบายๆ ผมเริ่มแรงน้อยลงเรื่อยๆ จนเหนื่อยมาก กระทั่งวันหนึ่งที่ไปเล่นบอล มีการปะทะระหว่างเล่น ผมถูกกระแทกที่ซี่โครงขวา รู้สึกเจ็บมาก หายใจไม่ทั่วท้อง พออาการดีขึ้นผมกลับไปวิ่งได้บ้าง แต่ยังเหนื่อยอยู่ และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่เลย หลังจากนั้นผมเป็นร้อนใน 30 เม็ดในปาก และเจ็บซี่โครงมากขึ้นเรื่อยๆ 

“เมื่อมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นและมากขึ้นทุกที ผมตัดสินใจไปโรงพยาบาลหลายแห่ง จนถึงโรงพยาบาลที่ 5 ผมไปพบหมอปอด บอกอาการว่าเจ็บอก คุณหมอวินิฉัยเบื้องต้นว่าอาการคล้ายกับโรคปอดอักเสบ เลยเริ่มจากการเอ็กซเรย์ปอดและพบว่ารูปร่างของกระดูกซี่โครงแปลกมาก ดูบาง ไม่เหมือนซี่โครงทั่วไป เลยสั่งเอ็กซเรย์ใหม่ในท่าพิเศษทำให้พบว่าซี่โครงผมหายไป แล้วมีก้อนเนื้อขึ้นมาแทน หลังจากนั้น คุณหมอส่งผมไปทำ Biopsy เพื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ แต่ผมเจ็บมาก เจาะไม่ไหว คุณหมอจึงขอผ่าตัดเพื่อพิสูจน์ชิ้นเนื้อตรงนั้นว่าคืออะไรกันแน่ ระหว่างผ่าคุณหมอขอตัดซี่โครง 2 ซี่ทิ้ง แล้วใส่ตะแกรงเหล็กแทน หลังจากนำชิ้นเนื้อไปตรวจ ผลออกมาว่าผมเป็นมะเร็งไขกระดูก (Multiple Myeloma) 

“ผมโชคดีที่พอเจอแล้ว ก็เริ่มรักษาโดยให้คีโมครั้งแรกเลย แต่มะเร็งชนิดนี้เป็นมะเร็งที่มักพบในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และจะเจอหนึ่งในแสนของคนเอเชีย ตอนนั้นผมอายุ 35 เป็นหนึ่งในแสนนั้น นอกจากจำนวนผู้ป่วยที่มีไม่มากในประเทศไทย ทำให้เรามีแนวทางการรักษาให้เจริญรอยตามค่อนข้างน้อย การรักษาเรียกว่ายากเกือบทุกช่วงเลยก็ว่าได้ หนำซ้ำผมยังดื้อยาจนต้องเปลี่ยนยาไป 11 สูตรอีก ดื้อชนิดที่ว่า 3 เดือน 5 เดือน ก็ดื้อแล้ว ฉะนั้น วิธีการของคุณหมอคือการเพิ่มปริมาณตัวยาคีโม หรือเพิ่มยาตัวใหม่เข้าไป ตัวที่สองไม่พอก็เพิ่ม ผมเป็นหนักถึงกับต้องเข้าห้องปลอดเชื้อ ซึ่งต้องเพิ่มยาเพื่อกดให้โรคสงบและเข้าห้องปลอดเชื้อเพื่อปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ การเข้าห้องปลอดเชื้อครั้งแรก เทคโนโลยีตอนนั้นคือการกดตัวโรคของผมให้คงที่  ไม่เพิ่มไปมากกว่านี้ หลังจากอยู่ห้องปลอดเชื้อประมาณ 25 วัน โรคสงบได้ 6 เดือน แต่แล้วก็กลับมาเป็นอีกครั้ง จึงต้องเริ่มต้นให้ยาตัวเดิมใหม่ สักพักมียาตัวใหม่เข้ามาอีก 2 ตัว เพิ่ม ลด ปรับ ทำอยู่อย่างนั้นจนไปเตะ 11 สูตรตลอด 11 ปี 

“ปี 2022 ที่ผ่านมา เรียกว่ายากขนาดที่เกือบจะบ๊ายบายโลกไปแล้วถึง 2 ครั้ง เพราะเป็นปีที่ใช้ยาเยอะที่สุด หลากหลาย ใช้ในปริมาณมาก เป็นปีที่แพ้ยา และเจอกับผลข้างเคียงมากที่สุดก็ว่าได้ แต่เดือนกันยายน 2022 ผมได้รับข่าวดีจากโรงพยาบาลว่ามีการเปิดโครงการสำหรับยาชนิดใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาประเทศไทยที่ชื่อว่า Belantamab Mafodotin เป็นการรักษาแบบ Antibody Therapy  ซึ่งเป็นยาที่ถูกพัฒนาให้มีความจำเพาะและออกฤทธิ์ต่อมะเร็งชนิดนั้นๆ โดยจะไปทำลายเกราะที่ป้องกันมะเร็ง แล้วสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ยาชนิดล่าสุดนี้จะจับที่ตัวมะเร็งมากกว่า จะไม่เหมือนการใช้ยาพุ่งเป้าตัวเก่าที่โดนเซลล์มะเร็งก็จริง แต่ยังไปโดนเซลล์ปกติที่อื่นด้วย ตอนนี้ผมเป็นกลุ่มทดลองในโครงการที่พัฒนาการรักษาด้วยวิธีการนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปริมาณยาอยู่ครับ 

“หากเทียบกัน การรักษาแบบเก่า ผมจะมึนหัว มีความเหนื่อยล้าอยู่บ้าง คิดช้า พูดช้า แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผมในเวลานี้มีอย่างเดียวคือทำให้ตาพร่ามัว กลางคืนไม่ควรขับรถเพราะตาพร่า ทำให้กะระยะไม่ถูก ตอนนี้ผมยังเห็นดวงจันทร์เป็น 2 ดวงอยู่เลย คุณหมอจึงให้ยาหยอดตาที่ผลิตจากเลือดผมเองมาหยอดทุกๆ 1-2 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการตาพร่า และมียาหยอดตาสเตียรอยด์อีกตัวสองตัว โรคตอนนี้ยังขึ้น-ลง เจ็บหลังบ้าง ตาพร่ามัวจากยาชนิดใหม่ แต่โดยรวมร่างกายตอบสนองต่อยาในระดับดีครับ”


‘แรดแล้วรอด’ เพจสร้างสรรค์และสรรหาวิธีอยู่ร่วมกับมะเร็ง 

“‘แรด’ มีความหมายว่า แข็งแรง อดทน สนุกสนาน ร่าเริง เป็นเพจที่ผมตั้งขึ้นเหมือนเป็นไดอารี่เล่าเรื่องราวและประสบการณ์การป่วยเป็นมะเร็ง การดูแลตัวเอง และการอยู่ร่วมกับมะเร็งตลอดระยะเวลาการรักษา 11 ปีที่ผ่านมา ผมอยากแชร์ข้อมูลของผมเพื่อเป็นแนวทางการอยู่ร่วมกับโรคและให้กำลังใจผู้ร่วมโรค รวมถึงผู้ที่สนใจ เพราะภาพที่คนส่วนใหญ่นึกเวลาพูดถึงผู้ป่วยมะเร็งอาจจะนึกไปถึงคนที่นอนป่วย ติดเตียง ร่างกายอ่อนแอ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ผมสื่อสารในเพจคืออยากให้เห็นว่าผู้ป่วยอย่างตัวผมเองยังมีพาร์ทของการใช้ชีวิตปกติด้วยนะ คนป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่ ไปไหนมาไหนได้ ทำอะไรที่เราชอบได้ แต่ในลักษณะที่พอดีกับโรคและตัวเรา ตอนนี้ยังคงบันทึกเรื่องราวแต่ละวันที่เกิดขึ้นไว้ เพราะว่ายังอยู่ในขั้นตอนการรักษาครับ”

ดูแลสุขภาพด้วยการฟังเสียงจากร่างกาย

“ผมเจอกับความยากลำบากระหว่างการให้คีโมพอสมควร เช่น ถ่ายไม่ได้ เหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ นอนไม่หลับ มีอาการที่เกี่ยวพันกับเรื่องของฮอร์โมนทำให้มีอารมณ์ขึ้นลงบ้าง กินไม่ได้ เลยต้องดูแลร่างกายมากหน่อย เริ่มจากทางกายก่อน แต่ก่อนเป็นผมไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่ จะแนวผู้ชายๆ เตะบอล กินเหล้า พอป่วยจะมีแฟนนี่แหละครับที่คอยดูแล ทั้งเรื่องหาข้อมูล เลยทราบว่าโรคนี้ไม่ธรรมดานะ พอหาข้อมูลเพิ่มจากแหล่งข้อมูลจากยุโรปเพราะทางฝั่งเขามีคนป่วยด้วยโรคนี้จึงจะมีกรณีศึกษาให้เราสามารถเจริญรอยตามได้ จึงทราบว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร สำหรับเรื่องกินผมไม่ได้จำกัดมาก จริงๆ อาหารที่เขาห้ามไว้ผมเคยลองมาหมดแล้ว แต่พอกินแล้วท้องอืดเพราะไวรัสและแบคทีเรียเติบโตได้เร็วกับเราเนื่องจากเราผ่านห้องปลอดเชื้อมา ดังนั้น หลักๆ ที่ต้องเลี่ยงคือของดิบ เลี่ยงผักสดหรือสลัด พยายามไม่กินของค้างคืน กินแต่อาหารปรุงสุกใหม่  

“แล้วข้อมูลยังบอกไว้ว่าให้ออกกำลังกายที่ห้ามกระแทก ที่ทำได้เลยจะเป็นเดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สมาธิ นั่งโยคะ เต้นลีลาศ ร้องเพลง รำมวยจีน ผมเริ่มอ่านข้อมูลของการปฏิบัติตัวเหล่านี้ระหว่างอยู่ที่ห้องปลอดเชื้อ พอออกจากห้องปลอดเชื้อก็เริ่มปั่นจักรยาน เพราะเราเล่นฟุตบอลไม่ได้แล้ว เลยไปนั่งดูเพื่อนเล่น แล้วปั่นจักรยาน แต่ผมหยุดปั่นมา 2 ปีแล้ว ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นเดินเร็วเมื่อไม่มีฝุ่น และเดินเร็วในน้ำบ้าง 

“ในเรื่องจิตใจจะมีช่วงจิตตกเป็นระยะๆ ถ้าความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น ผมจะเลือกใช้เวลาไปกับการอ่านกรณีศึกษา พอเรามีข้อมูล ได้อ่านเคสต่างๆ เช่น ผู้ป่วยที่สามารถใช้ชีวตได้ปกติ บางคนปั่นจักรยานได้ บางคนไปปีนเขาเอเวอร์เรสกันเลย แต่เขามีหมอไปด้วย นั่นเลยทำให้ผมเห็นเหตุและผล มีที่มาที่ไป และเห็นความเป็นไปได้ เรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้นี่แหละที่เป็นแรงผลักดันให้ผมในวันที่ใจผมดาวน์ วันที่เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ หรืออาการของโรคที่ขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอ และผมจะกลับมาฟังร่างกายตัวเอง ว่าตอนนี้ผมเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ร่างกายเป็นอะไรผมจะไม่ทน ถ้าเมื่อยผมจะหาที่นั่ง ง่วงผมจะหาที่นอน โภชนาการผมจะจัดสรรให้ดี นอนให้หลับ จะฮึดโดยกลับมาดูแลที่ร่างกายก่อน พอร่างกายเรากลับมาดี ใจจะดีตามไปด้วย” 

มองโลกได้สวยงามกว่าเดิม

“ก่อนเป็นมะเร็งผมใช้ชีวิตแบบที่ทุกคนบอกว่าใช้ชีวิตล่วงหน้าไปแล้ว คือโหมมากเกินไปทั้งเรื่องงาน เที่ยว ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ นอนวันละ 3-4 ชั่วโมง เป็นคนเครียด คิดไม่หยุด คิดตลอด ไม่เคยปล่อยวางอะไรเลย เป็นแบบนั้นเกือบ 10 ปี หลังจากป่วย ทำให้ผมคิดช้าลงและมีการวางแผนชีวิต อ่านหนังสือ ค้นข้อมูลมากขึ้น ผมนิ่งขึ้นและมีสมาธิขึ้นเยอะ อะไรที่ไม่เคยทำ ผมก็กลับมาทำ เข้าร้านออร์แกนิก ดื่มกาแฟบ้าง น้ำผักปั่นบ้าง สลับๆ เอา  เข้าวัด นั่งสมาธิ พอได้ฟังธรรมะบ่อยๆ ก็ได้คติสอนใจมาใช้ในการดำเนินชีวิต ข้อหนึ่งที่ผมจำได้ตลอดคือคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ว่า ‘วาสนานั้นเป็นไปตามอัธยาศัย คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล วาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อน เมื่อคบบัณฑิต วาสนาก็เลื่อนขั้นขึ้นเป็นบัณฑิต ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิตเพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น’ ผมไม่เชื่อว่าในโลกนี้มีเรื่องบังเอิญ ทุกอย่างเราสร้างด้วยตัวเราเองและตัวเรานี่แหละที่จะผลักให้ชีวิตเราดำเนินไปทางที่ดี ไปหาความโชคดี สิ่งแวดล้อมที่ดีได้

“มะเร็งทำให้ผมเห็นความรักรอบตัว ผมจึงอยากขอบคุณทุกคนที่อยู่ข้างๆ ในวันที่ผมไม่สบาย ขอบคุณในความใส่ใจดูแล เพราะรายละเอียดการรักษาของผมเยอะมาก คนดูแลต้องรักเราจริง เขาจะเครียดและอดทนมากกว่า เพราะต้องคอยเก็บรายละเอียดของเรา พวกเขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ และผมอยากขอบคุณตัวเองที่อยู่กับตัวโรคได้ ขอบคุณมะเร็งที่ทำให้ผมรู้จักโลกอีกมุม ผมว่าโลกใบนี้สวยงามนะ มุมมองการใช้ชีวิตของผมเปลี่ยนไปเยอะเลย แต่ก่อนผมใช้ชีวิตแบบไม่ได้คิดอะไร แต่ทุกวันนี้ผมจะมองแค่วันนี้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ให้มีความสุขเพื่อที่จะมีวันพรุ่งนี้ที่ดีขึ้น จะไม่ฝืน ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของร่างกาย เหนื่อยก็พัก หิวก็กิน ผมยังมีเรื่องเครียดเรื่องกดดันเป็นปกติ แต่จะไม่ฝืนชีวิตเยอะจนเกินไป ปล่อยทิ้งไปบ้าง เพราะสมัยก่อนผมอยากได้อะไร จะต้องทำให้ได้ ต้องกดดันจนทำให้ได้ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เรียกว่าชิลขึ้นเยอะเลย (ยิ้ม)”

อย่ากลัวมะเร็ง

“สิ่งที่ผมจะแนะนำได้คือ อย่าเพิ่งกลัวมะเร็ง ให้หาข้อมูล พยายามเอาตัวเองเข้าถึงข้อมูลที่เราอยากรู้ก่อน ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว ข้อมูลหาง่ายมาก ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์เพราะคุณจะพบว่ามีข้อมูลจากเคสที่เป็นผู้ร่วมโรคจากทั่วโลกมากมายที่ทำให้เรารู้แนวทางการรักษาว่ามีอะไรบ้าง ผลจากยาที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร อะไรบ้างที่จะเป็นอุปสรรคระหว่างการรักษา วิธีการดูแลตัวเอง แต่ถ้าตัวผู้ป่วยหาไม่ไหว ให้บอกคนข้างๆ ตัวช่วยนะครับ การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จะทำให้เราเข้าใจโรค แล้วพอมีเราหลักการและเหตุผลที่ยืดถือได้ นั่นจะทำให้เรามีสติ มีหวัง และมั่นใจที่จะรักษาตัวให้หาย อย่างมะเร็งที่ผมเป็นอยู่ แม้ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ แต่ถือเป็นโรคที่รักษาได้ มีความเจริญก้าวหน้าในการรักษาอย่างก้าวกระโดด และพบว่าผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาด้วย  

“ในแง่จิตใจ จากประสบการณ์ของผมนะ คนเป็นโรคนี้มักไม่อยู่เฉยทุกคนเลย ร้อยละร้อยเป็นคนแอ็คทีฟ เพราะก่อนป่วย ทุกคนมีกิจกรรมที่ชอบทำกันหมด แม้จะป่วย ทุกคนก็ยังหากิจกรรมทำ บางคนวาดรูป บางคนเป็นหัวหน้ารำไทเก๊ก บางคนปั่นจักรยาน ผมเลยอยากให้ลองหากิจกรรมที่ตัวเองชอบและออกไปทำ ซึ่งการทำกิจกรรมเราจะได้กลุ่มเพื่อนด้วย และจะทำให้เราคลายความรู้สึกจิตตกได้อย่างดี หรือหาคนที่อายุใกล้เคียงกันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งคนนั้นหรือกลุ่มนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งก็ได้ ใครก็ได้ที่เข้าใจเรา คนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ

“สำหรับคนทั่วไป ผมอยากให้ไปตรวจสุขภาพทุกปี เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการตรวจมะเร็งดีขึ้นมาก ไม่ใช่ว่าเป็นระยะสุดท้ายแล้วถึงจะรู้ แค่ระยะเริ่มต้นก็สามารถตรวจเช็กได้แล้ว ส่วนตัวเราเอง เราต้องหมั่นสังเกตร่างกายด้วยว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นแล้วไม่หายบ้างไหม ถ้ามี อย่ารอ ไปหาคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยดูว่าคืออะไรกันแน่ ถ้าเราพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ จะทำให้การรักษาทำได้ง่าย เสียเงินน้อยลง แป๊บเดียวก็หายแล้วครับ อย่างอื่นที่ทำได้ด้วยตัวเองก็คือกินให้ดี ให้ครบ 5 หมู่ นอนให้หลับ ออกกำลังกาย 

“อีกเรื่องผมจะแนะนำทุกคนเสมอจนถึงตอนนี้ คืออยากให้ทุกคนมี Medical Second Opinion หรือความคิดเห็นที่สองทางการแพทย์ ครั้งแรกที่รู้ผล ผมเองยังงงและไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร การมีความคิดเห็นที่สองจะทำให้เรามีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของเราได้มากขึ้นว่าเราอยากรักษาแบบไหน สูตรยาเหมือนกันไหม โดยเราสามารถนำผลเลือดไปศึกษาได้นะครับเป็นสิทธิ์ของเรา และทำให้เรามีความรู้มากขึ้นด้วยครับ เพราะฉะนั้น กลับมาตั้งสติ แล้วค่อยๆ ลำดับว่าเราจะต้องทำอะไรก่อนหลัง แน่นอนว่าการรักษาจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากครับ แต่ขอให้อดทนแล้วมันจะผ่านไปได้ เมื่อถึงเวลานั้นร่างกายและจิตใจของคุณจะกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง ผมขอเป็นกำลังใจให้และอยู่ตรงนี้เป็นเพื่อนเสมอครับ (ยิ้ม)”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์
เพิ่มเติม: www.facebook.com/แรดแล้วรอด 

Share To Social Media