อจิรภาส์ ประดิษฐ์ ยอมรับ เรียนรู้ เข้าใจ เพื่ออยู่กับมะเร็งอย่างมีสติ

ตุลาคม ปี 2565 คือเดือนที่ แฟน – อจิรภาส์ ประดิษฐ์ คลำพบก้อนเนื้อที่อกฝั่งขวาขนาด 4.5 เซนติเมตร ซึ่งภายหลังได้รับการวินิฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดอยู่เฉพาะที่ (Ductal Carcinoma in Situ: DCIS) ระยะ 3B ที่ลามไปยังต่อมน้ำเหลือง 7 ต่อมจาก 25 ต่อม แฟนบอกกับเราในวันที่คุยกันว่า ในความโชคร้ายของการเป็นมะเร็ง เธอยังโชคดี เพราะระยะของโรคที่เธอเป็น หากได้รับการรักษาอย่างครบขั้นตอนและร่างกายตอบสนองดี จะมีโอกาสรอดชีวิตถึง 85% ในระยะ 5 ปี อีกทั้งชนิดมะเร็งที่เธอเป็นอย่าง ER/PR + Her2 ยังมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำน้อย เมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ อย่าง Her2+ ในระยะ 5-10 ปี แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราขอยกความดีอีกด้านให้กับการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น การเผชิญหน้ากับโรคด้วยความเข้าใจ รวมทั้งการมีสติและใจที่มั่นคงของเธอ ซึ่งกว่า 1 ขวบปีที่ผ่านมา นอกจากการได้รู้จักมะเร็งในตัวเธออย่างถ่องแท้แล้ว ตัวของแฟนเองยังได้เรียนรู้การมีอยู่ของชีวิต ตลอดจนคุณค่าของเวลาในแต่ละวัน และวันนี้เธออยากมาแบ่งปันประสบการณ์ในการจัดการและอยู่ร่วมกับมะเร็ง พร้อมส่งกำลังใจให้ทุกๆ ชีวิตก้าวข้ามพ้นช่วงเวลาที่ท้าทายผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้ของเธอ 

มะเร็งเต้านมชนิด DCIS และเรื่องราวระหว่างทาง

“จริงๆ แล้ว แฟนถือว่าเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรงมากคนหนึ่งเลย ในชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเพราะป่วยหนักมาก่อน ถ้ามีก็ไส้ติ่งอักเสบที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด และไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นอะไร เพราะว่าไม่ได้ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง จุดเสี่ยงที่มีน่าจะมาจากกรรมพันธ์ุที่คุณยายเป็นมะเร็งปากมดลูกและคุณน้าที่เป็นมะเร็งเต้านม แต่นั่นไม่ได้ทำให้เราคิดว่าเราจะเป็น 

“ตอนที่เจอก้อนเนื้อแฟนอายุ 34 เข้า 35 โดยเริ่มสังเกตตัวเองว่าทุกครั้งที่มีประจำเดือน จะเจ็บหน้าอกข้างหนึ่ง ตอนนั้นยังคิดอยู่ว่าหรืออาการนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ประมาณ 3-4 เดือนก่อนตัดสินใจไปตรวจอย่างจริงจัง แฟนคลำเจอก้อนที่อก เลยติดต่อไปทางโรงพยาบาลเพื่อขอทำแมมโมแกรม เพราะเริ่มรู้สึกถึงความไม่ปกติแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลตอบกลับมาว่าถ้ายังไม่ถึง 40 ปกติจะไม่ทำแมมโมแกรมกัน 2 อาทิตย์ต่อมา แฟนจึงตัดสินใจไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ พออัลตร้าซาวด์เรียบร้อย คุณหมอพบก้อนเนื้อขนาด 4.5 เซนติเมตร ถ้าเทียบก็ประมาณเกี๊ยวซ่า 1 ลูก และมีอาการต่อมน้ำเหลืองขยายตัว คุณหมอจึงนัดมาเพื่อจะผ่าเจ้าก้อนนี้ออกมา ซึ่งจริงๆ หมอจะผ่าอีก 2 วันเลย แต่ด้วยแฟนต้องเคลียร์งานให้เรียบร้อย จึงขอเวลาเคลียร์งานก่อน โดยระหว่างนั้นก็หาข้อมูลของโรคมะเร็งและรู้แล้วล่ะว่าการที่มีภาวะก้อนเนื้อกับมีต่อมน้ำเหลืองบวม มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งได้ 

“การรักษาในเวลานั้นใช้วิธี Adjuvant หรือการตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกไปก่อนการคีโม ซึ่งคุณหมอจะผ่าตัดเต้านมข้างที่มีปัญหาออกโดยผ่า 2 ครั้ง ครั้งแรกเพื่อตรวจหา โดยคุณหมอสามารถนำก้อนเนื้อออกไปเกือบหมด 100% ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการผ่าเต้านมออกพร้อมต่อมน้ำเหลือง ซึ่งการผ่าตัดทั้งสองครั้งผ่านไปด้วยดี พอคุณหมอบอกผลว่าเป็นเนื้อไม่ดีนะ คำถามแรกที่ถามออกไปคือจะต้องทำอะไรต่อและขอดูผล จากนั้นแฟนนำผลมาอ่านโดยละเอียดและหาข้อมูลเพิ่มเติม เอาจริงๆ แฟนไม่รู้สึกกังวลอะไร อาจเพราะนิสัยของตัวเองที่ค่อนข้างอยู่กับความจริงมากๆ คิดเพียงว่าถ้าเป็นโรคก็รักษา และเคยคิดว่าการเป็นมะเร็งจะเจ็บปวดกว่านี้ แต่ที่เราประสบเองไม่ได้เป็นอย่างนั้น”

แฟนเล่าให้เราฟังต่อว่า ในระหว่างทางของการรักษาของเธอ มีเรื่องท้าทายให้เธอต้องก้าวผ่านอยู่เป็นระยะๆ 

“คุณหมอกำหนดวันผ่าตัดว่าจะเป็นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 นะ ก่อนผ่าตัดให้แฟนมาตรวจร่างกายก่อน พอไปอัลตร้าซาวด์ ก็พบว่าที่มดลูกมีก้อนเนื้อประมาณ 8 เซนติเมตรอยู่อีก 1 ก้อน ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย คุณหมอที่ดูแลมะเร็งของเราอ่านผลและบอกคร่าวๆ ว่า ด้วยลักษณะของก้อนเนื้อที่มดลูก ประเมินว่าน่าจะเป็นเนื้องอกธรรมดา คุณหมอจึงแนะนำให้รักษาไปทีละอย่าง เริ่มจากเต้านมก่อน ระหว่างพักฟื้นหลังผ่าเต้านม คุณหมอมาประเมินร่างกายทุกวันและพบว่าเราแข็งแรงดี จึงนัดเพื่อทำการผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกไปเลย การนอนอยู่ที่โรงพยาบาล 11 วันนั้น เลยได้รักษาทั้งเต้านมและนำเนื้องอกในมดลูกออกไปด้วย

“อีกเรื่องสำคัญของการเป็นมะเร็งที่คนไข้ส่วนใหญ่พบคือผมร่วง ซึ่งตัวเองชิลล์มาก พอผมร่วง เราก็ไปตัดสั้นและเตรียมตัวโกนหัว ระหว่างนั้นก็เลือกใช้วิธีโพกหัว ซึ่งเวลาออกไปทำงาน ถ้าใครไม่ทราบ จะไม่รู้เลยว่าเราเป็นมะเร็ง ระหว่างคีโม แฟนดูแลตัวเองเป็นปกติ มีการปรับการกิน แต่ไม่สุดโต่ง ตอนนั้นจำได้ว่าน้ำหนักขึ้น ดูมีน้ำมีนวล ผิวใสมาก คิดว่าน่าจะเป็นผลจากตัวยาที่ไปทำหน้าที่ลด ER/PR (Estrogen Receptor, ER และ Progesterone Receptor, PR) ในร่างกาย แต่ยังมีสิ่งที่คาดเดาและควบคุมไม่ได้เกิดกับเราอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอาการแพ้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ Food Trauma อาการก็คืออะไรที่เรากินในวันให้คีโม แฟนจะรู้สึกไม่อยากกินอยู่นานมาก เหม็นทุกอย่าง หลังจากคีโมเข็ม 5 อาการเริ่มดีขึ้น ผลข้างเคียงมีเพียงผื่นคันและปวดตามข้อต่อ แต่ยังสามารถทำงานและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อาจมีที่ต้องพักระหว่างวันบ้างในวันที่มีอาการเวียนหัว 

“อีกหนึ่งความพีคน่าจะเป็นช่วงก่อนจะได้คีโมเข็มสุดท้าย แฟนตกบันไดที่บ้าน ตอนนั้นรู้สึกว่าปวดมาก คิดในใจว่าขาต้องหักแน่เลย อารมณ์ตอนนั้น ประมาณว่า ‘เอ้อ…อะไรก็เอาวะ’ แล้วก็นั่งหัวเราะกับที่บ้านกับโชคชะตาตัวเอง แต่ไม่ได้เศร้าอะไรขนาดนั้น แฟนเลยมีภาพบันทึกความทรงจำคือการเฉลิมฉลองคีโมเข็มสุดท้ายกับเฝือกที่เท้าเรา ถือเป็น 1 ปีที่ได้ทุกประสบการณ์ชีวิตเลยค่ะ” 

มุมความคิดและชีวิตที่เปลี่ยนไป

“จริงๆ ถ้ามองว่าการเป็นมะเร็งเป็นเรื่องลำบาก ก็ทำได้นะคะ แต่แฟนคิดว่าทัศนคติของเราเป็นเรื่องสำคัญมาก แฟนยังเขียนโน้ตให้ตัวเองเลยว่า ‘Mission of Remission’ คือ ‘การปลอดจากโรคมะเร็งนี้’ เหมือนเราได้โจทย์การทำงานมา เป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ สิ่งที่เราทำคือเราจะพยายามมีชีวิตอยู่ แต่จะไม่หลอกตัวเอง แฟนจึงใช้เวลาเข้าใจในสิ่งที่เป็นว่าคืออะไร มีลักษณะแบบไหน การขยายตัวเร็วหรือช้า ตัวโรคตอบสนองกับอะไรในตัวเราบ้าง อะไรที่เป็นตัวกระตุ้น ในมุมหนึ่งเราอาจเป็นคนโชคร้ายคนหนึ่ง ถ้าให้เหตุผลอะไรไม่ได้ ก็โทษโชคแล้วกัน แต่ในความโชคร้าย เราจะยอมรับมันแบบไหน แก้ไขมันอย่างไร พอพบว่าเป็นและยอมรับได้ เราเลยมองไปถึงขั้นถัดไปเลยว่า แล้วจะรักษาอย่างไรต่อ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหลังจากนี้ นั่นเลยทำให้การไปพบคุณหมอแต่ละครั้ง เราจะฮึดมาก รักษาไปตามกระบวนการอย่างที่คุณหมอแนะนำ ขับรถไปโรงพยาบาลเองตลอดการรักษา ตั้งแต่ผ่าตัด ให้คีโม ฉายแสง ดูแลตัวเองหมดทุกอย่าง ยกเว้นตอนขาหักที่ขับรถเองไม่ได้ แต่พอเข้าเฝือกแล้วก็ขับรถเอง รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่เราต้องดูแลตัวเอง แฟนใช้ทัศนคติแบบนี้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา 

“การเป็นมะเร็งยังทำให้พบความจริงหนึ่งที่ว่า คนเป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องเจ็บสาหัสเสมอไป ในกรณีของแฟน อาจเพราะชนิด ระยะ และการตอบสนองต่อการรักษา ทำให้เรายังสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ทำเต็มที่กับสิ่งที่เราควบคุมได้ กินของอร่อย ทำงานอย่างที่เคยทำ ไปเที่ยว ไม่สนใจคนอื่นมากนัก อยู่นิ่งๆ กับตัวเอง หรือหลายๆ คนเรียกว่าการเจริญสติ ซึ่งช่วยได้มากเลยค่ะ 

“ก่อนเป็นมะเร็ง ตัวเองเป็นคนที่คิดทุกอย่างไกลมากๆ แบบคิดไว้เลย 5 ปี 10 ปีจะทำอะไร พอไม่สบายปุ๊บ การมองทุกอย่างเปลี่ยนไป เรียกว่าการมองทุกอย่างที่ใกล้เราให้ชัดขึ้น ส่วนอะไรที่ไกลตัวจะมองแบบห่างๆ ไม่ได้พยายามที่จะพุ่งเป้าเพื่อไขว่คว้าแบบแต่ก่อน เข้าใจเลยกับความไม่แน่นอนของชีวิต รู้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ นั่นเลยทำให้แฟนเริ่มเข้าใจว่าการเอ็นจอยกับสิ่งเล็กๆ ในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ แค่หลังจากเอฟเฟ็กต์ของการให้คีโมหายไป แล้วเราได้รสกาแฟแบบเดิม แค่นั้นก็ดีใจแล้ว เราช่างมันได้ดีขึ้น ตกผลึกว่าคนเราเกิดมามีเวลาและหน้าที่ ดังนั้น ใช้เวลาที่มีทำหน้าให้ดีที่สุด มีความสุขกับสิ่งรอบตัว และไม่สนใจอะไรที่มันแย่ๆ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกไม่มีคุณค่า”

เมื่อเข้าใจ ก็อยู่ร่วมกับมะเร็งได้แบบสันติ 

“จากประสบการของตัวเอง ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ ต่อให้ไม่มีประวัติญาติใกล้ชิดเป็นมาก่อน และการเป็นมะเร็งไม่ต้องมีอาการรุนแรง สามารถเป็นได้เลยแบบไม่รู้ตัว ที่สำคัญคือ มะเร็งคือโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาได้และมีแนวทางรักษา ดังนั้น สิ่งที่แฟนอยากจะบอกคือ คุณกลัวได้ ท้อได้ ยอมรับความรู้สึกนี้ได้เลย แต่ต้องกำหนดเวลาว่าเราจะท้อกี่วัน เศร้าจนถึงเมื่อไหร่ หลังจากนั้นมาวางแผนต่อว่าจะกลับมาทำอะไร ที่สำคัญเลยคือต้องมาทำความรู้จักมะเร็งของตัวเอง แม้ว่าเราไม่ใช่เป็นหมอ แต่เราต้องรู้จักสิ่งที่เราเป็น เพราะจะช่วยให้เข้าใจโรคและอาการมากขึ้น แฟนไม่อยากให้ใครกลัวการรักษาโดยเฉพาะการให้คีโม เพราะเทคโนโลยีการรักษาเวลานี้ไปไกลมากๆ แล้วนะคะ

“สำหรับคนที่ยังไม่เป็น แฟนแนะนำให้ตรวจสุขภาพ ตัวแฟนไปเชคสุขภาพครั้งสุดท้ายคือปี 2562 เว้นมา 3 ปีเลยที่ไม่ได้ตรวจเพราะเข้าใจว่าตัวเองแข็งแรง ดังนั้น ถ้าให้ดี อยากให้ทุกคนใส่ใจกับเรื่องนี้และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยตรวจเลือด ตรวจอะไรที่ทำให้เราเจอความผิดปกติเพื่อที่จะเฝ้าระวังสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายเรา 

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แฟนอยากขอบคุณทุกคนรอบตัว ทั้งเพื่อน เพื่อนร่วมงานที่คอยซัพพอร์ต รวมถึงปรามเราในเวลาที่เราแอคทีฟเกินไปว่าอย่าหักโหม ที่สำคัญเลยคือครอบครัวที่หล่อหลอมและสร้างบรรยากาศของการใช้ชีวิตบนความจริงให้กับแฟน วันที่แฟนไปบอกที่บ้านว่าเป็นมะเร็ง ประโยคแรกที่ได้ยินคือ ‘เป็นมะเร็งก็รักษา ไม่ต้องไปกลัว’ เป็นการให้กำลังใจและให้เราไปต่อด้วยคำที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ปลอบเราด้วยคำหวาน แต่เตือนสติให้เราจัดการทุกอย่างบนความเป็นจริง นอกจากนี้คือทีมแพทย์ผู้รักษาที่ดูแลและเอาใส่ใจในทุกๆ ขั้นตอน สุดท้ายคือที่อยากขอบคุณคือตัวเอง อยากบอกกับตัวเองว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เธอเก่งมาก เก่งจริงๆ แม้ตอนนี้โรคจะสงบลง แต่แฟนจะไม่หลอกตัวเองว่าเราหายแล้ว เพราะโอกาสกลับมาของโรคยังมีอยู่ ดังนั้น ไม่มีวันไหนที่แฟนจะไม่ดูแลตัวเอง รวมถึงไม่ประมาทกับชีวิต สุดท้าย แฟนอยากให้ทุกๆ คนที่อยู่ในช่วงเวลาท้าทายนี้มีกำลังใจและอย่าเพิ่งท้อ แฟนจะเป็นกำลังใจและส่งกำลังใจให้อีกแรงค่ะ” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: สราวุฒิ ขันโปธิ