ณิชารีย์ โรจนกีรติกานต์ เพราะการปล่อยวางคือศิลปะการคิดให้ชีวิตมีสุข

พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวถึงเรื่องความทุกข์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความทุกข์ เปรียบเสมือนการแบกหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งเอาไว้ ระหว่างทาง ปากเราก็บ่นว่าหนัก พยายามเรียกหาคนช่วย บนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำสารพัดวิธี เพื่อหวังให้สบายขึ้น แต่สิ่งเดียวที่เราไม่ทำคือ วางหินก้อนนั้นลง เมื่อรู้สึกหนักจึงทำให้เราเกิดทุกข์ ทว่าสิ่งที่ทำให้เราทุกข์นั้น กลับไม่ใช่หิน แต่เป็นเพราะการแบกหิน ดังนั้น วิธีที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้คือ วางมันลง” สำหรับ ตุ๊-ณิชารีย์ โรจนกีรติกานต์ เธอได้เลือกใช้วิธี ‘วางมันลง’ แบบเดียวกับที่พระไพศาลได้กล่าวไว้ในการรับมือกับมะเร็งลำไส้ที่เธอเผชิญเมื่อหลายปีก่อนหน้าอย่างมีสติและรู้เท่าทัน ทั้งตัวโรคและเสียงจากภายในหัวใจ

การรักษาที่เปลี่ยนร่างกายไปตลอดกาล

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ตุ๊พบว่าระบบขับถ่ายของตัวเองไม่เหมือนเดิม จากการขับถ่ายที่เป็นปกติมาโดยตลอด เริ่มมีอาการท้องผูกเรื้อรัง แต่ในเวลานั้น เธอคิดว่าอาจเพราะพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการดื่มน้ำน้อย ทำงานหนัก อดนอน และไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุโดยทั่วไปที่สามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ จนกระทั่งเธอมีอาการมากขึ้นและมีลักษณะของอุจจาระต่างไปจากเดิม

เธอตัดสินใจเข้ารับการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อ กระทั่งคุณหมอวินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเริ่มเข้ารับการรักษาอยู่ 1 ปีเต็ม ในการรักษา คุณหมอแนะนำให้รับประทานยาควบคู่กับการฉายแสงเพื่อจำกัดก้อนมะเร็งไม่ให้ลุกลามก่อน จากนั้นจึงทำการผ่าตัด ซึ่งโชคดีที่เซลล์มะเร็งไม่ได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองและผนังลำไส้ชั้นอื่น แม้จะมีส่วนที่ซับซ้อนอยู่บ้างคือต้องผ่าตัดและทำทวารเทียมระหว่างรอให้แผลในลำไส้ต่อกันอย่างสนิท การผ่าตัดมะเร็งลำไส้อาจเสี่ยงต่อระบบขับถ่ายที่จะไม่ปกติไปตลอดชีวิตเพราะตำแหน่งใกล้กับทวารหนัก ขั้นตอนถัดมาคือการให้เคมีบำบัดทางเส้นเลือด ซึ่งร่างกายของเธอตอบสนองต่อตัวยาได้ดี ขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่าตัดเก็บทวารเทียม

“การรักษาช่วงแรกคือการฉายแสง ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษให้บริเวณที่ฉายแสงสะอาดอยู่เสมอและไม่เปียกน้ำ เพราะคุณหมอได้มีการทำเครื่องหมายไว้บนผิวหนังผู้ป่วย เป็นตำแหน่งที่เที่ยงตรงในการฉายแสง ถ้าเส้นนี้ลบเลือนไปคุณหมอจะต้องจำลองการรักษาเสมือนจริงอีกครั้งทำให้เสียเวลาในการรักษาได้ นอกจากนี้การฉายแสงมักจะทำให้เส้นเลือดเปราะ ในกรณีที่ฉายแสงบริเวณใกล้เคียงกับกระเพาะปัสสาวะจะทำให้คนไข้ส่วนใหญ่เกิดก้อนลิ่มเลือดออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้ หากเส้นเลือดเปราะแล้วมักจะไม่หายขาด ตุ๊รับมือกับความเสี่ยงนี้ด้วยการรับประทานอาหารเสริมเลซิตินและวิตามินอีเพื่อช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง ไม่เปราะแตกง่าย มีในไข่แดง ถั่วเหลือง และเมล็ดทานตะวัน ตุ๊เชื่อว่าวิธีนี้ช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง สังเกตจากการที่ไม่เคยมีลิ่มเลือดปนออกมากับปัสสาวะเลย

“การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด สิ่งที่อยากแชร์คือเมื่อผ่าตัดแล้ว แม้จะเจ็บปวดก็ต้องลุกขึ้นจากเตียงและพยายามช่วยเหลือตัวเองในวันรุ่งขึ้นเลยเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วที่สุดและป้องกันลำไส้ติดกัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดผังผืดในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้เจ็บปวดทรมานในภายหลัง ช่วงเวลานี้อยากให้ทุกคนอดทนค่ะ แต่ช่วงที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านจะเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดในการรักษามะเร็งลำไส้ ตุ๊ต้องดูแลตัวเองในหลายด้านทั้งทวารเทียม เคมีบำบัด และยา ในช่วงนี้ตุ๊เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก และใจสั่น เมื่อเพิ่มอาหารเสริมวิตามินรวมและแร่ธาตุจึงอาการดีขึ้น ผลจากการรับเคมีบำบัดและไม่ได้ดื่มน้ำให้เพียงพอทำให้ทุกวันนี้ตุ๊ยังมีอาการชาที่มือและเท้า  ซึ่งช่วงแรกๆ ที่มีอาการชา ตุ๊รู้สึกกังวลนะคะ แต่ตอนนี้อยู่กับอาการนี้ได้แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการใช้ชีวิต ตอนนี้ทานยารักษาปลายประสาทอย่างต่อเนื่องซึ่งคุณหมอประเมินว่าอาจจะประมาณ 10 ปี ขณะที่ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่คาดไม่ถึงคือการเกิดภาวะไส้เลื่อนหลังจบการรักษามะเร็งแล้ว 3 ปีเนื่องจากช่วงที่มีทวารเทียมที่หน้าท้องต้องรับเคมีบำบัดทางเส้นเลือดด้วยอีก 5 รอบ เป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอมาก ตุ๊ได้แต่นอนพักไม่ได้ออกกำลังกายหรือบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องเลย ประกอบกับอายุมากด้วยค่ะ ตอนนี้ผ่าตัดรับการรักษาเรียบร้อยแล้วค่ะ

‘3 อ.’ รหัสไม่ลับดูแลสุขภาพ

สำหรับเรื่องมะเร็ง ปีนี้การรักษาครบ 5 ปีแล้ว ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจะมีการตรวจเลือดร่วมกับส่องกล้องปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อครบ 5 ปี ถ้าไม่พบความผิดปกติ ทางการแพทย์ถือว่าหายขาดแล้วค่ะ

“สำหรับการดูแลสุขภาพ ตุ๊ใช้หลัก 3 อ. ในการดูแลสุขภาพตัวเอง นั่นคือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่อง ‘อาหาร’ เพราะสาเหตุการเป็นมะเร็งลำไส้ของตัวเองน่าจะเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก ช่วงที่ทำงานหนักๆ ตุ๊แทบจะไม่ได้ทำอาหารเองเลย ซึ่งอาจจะได้รับสารปนเปื้อนเข้ามาในร่างกาย ปัจจุบันเลยทำอาหารทานเอง พยายามทานอาหารที่ปรุงใหม่ ไม่ใส่ผงชูรส ให้ความสำคัญกับการล้างผักผลไม้มากขึ้น และอนุญาตเปลี่ยนบรรยากาศไปทานอาหารนอกบ้านด้วย สำหรับการ ‘ออกกำลังกาย’ กิจกรรมที่เลือกคือการแกว่งแขนและเดินเล่น โดยจะทำตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำแบบนั้นเลยค่ะ ขณะที่ อ. สุดท้ายอย่าง ‘อารมณ์’ ตุ๊จะพยายามทำให้ตัวเองผ่อนคลาย หากรู้สึกเครียดเมื่อไหร่ จะหยิบการฝีมือมาทำ นั่งสมาธิ สวดมนต์ และฟังธรรมะ จะพยายามทำทั้ง 3 อ. นี้ให้ดีไปพร้อมๆ กันค่ะ”

เปิดบันทึกสู้มะเร็ง

มะเร็งไดอารี่ Cancer Diary เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ช่วงที่ตุ๊กำลังรักษาตัว และลูกสาวเป็นคนชวนให้ทำเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ให้กับคนอื่น น้องพยายามให้กำลังใจคุณแม่ คอยกระตุ้นว่า “คุณแม่คะ ประสบการณ์ที่เรามีจะช่วยคนอื่นได้นะคะ” แล้วตุ๊เองก็เคยมีความคิดอย่างนั้นมาก่อนด้วยว่าอยากใช้ความรู้และสิ่งที่เราเคยประสบมาช่วยให้คนอื่นมีความรู้ในการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นโรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมะเร็งหรือว่าเรื่องสุขภาพด้านอื่นๆ

“เนื้อหาที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าเรื่องชีวิต เรื่องโรค และวิธีการรักษาที่ผ่านมา ตั้งแต่การตรวจรักษาว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ข้อดี ข้อเสีย ข้อผิดพลาด อยากจะให้ทุกคนได้รู้ว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาเราผ่านอะไรมาบ้าง และผ่านมาได้อย่างไร ซึ่งจะมีทุกอารมณ์ทั้งเครียด สนุก สุข เศร้า รวมทั้งการปล่อยวางกับชีวิต แต่หลักๆ จะเน้นวิธีการป้องกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เล่าด้วยภาษาธรรมดาที่คนทั่วไปจะเข้าใจ โดยมีลูกสาวคอยช่วยอยู่ไม่ห่าง ซึ่งฟีดแบคที่ตอบกลับมาทำให้ตุ๊ได้รับความชื่นใจมากเลย อย่างคำขอบคุณหรือการถามไถ่เวลาคนอ่านมีข้อสงสัย ถึงจะมีไม่เยอะ ซึ่งจริงๆ แค่คนเดียวที่ได้ประโยชน์ไป ตุ๊ก็ดีใจและภูมิใจแล้วนะคะที่ได้ทำ”

สูญเสียแต่ไม่สูญเปล่า

“ก่อนป่วยตุ๊มองว่ามะเร็งน่ากลัว เพราะตอนที่ทำงานด้านสุขภาพ เคยเห็นคนไข้มะเร็งทรมานจากอาการปวด ตัวตุ๊เองเลยพยายามรักษาสุขภาพให้ดีมาโดยตลอด ไม่เคยป่วยหนักนอกจากโรคเบาหวานที่มาทางพันธุกรรม ซึ่งตอนที่ทราบว่าเป็นมะเร็ง จึงรู้สึกกลัวและช็อคมาก ถึงแม้ว่าในใจเราคิดไว้แล้วว่ามีโอกาสเป็นได้นะ แต่พอถึงเวลาที่ทราบจริงๆ กลับทำใจไม่ได้เลย การเป็นมะเร็งทำให้ตุ๊รู้สึกว่าเวลาของชีวิตเราน้อยลง ไม่ได้กลัวความเจ็บปวดอย่างที่เคยคิด อาจเพราะตัวเองค่อนข้างอดทนกับความเจ็บปวดได้ดี แต่กลัวตายเพราะว่าห่วงลูก ซึ่งการห่วงลูกและอยากอยู่กับเขาไปนานๆ เป็นพลังและกำลังใจสำคัญให้เราอยากอยู่ต่อ อยากหาย อยากกลับมาแข็งแรงเพื่ออยู่กับเขา รวมถึงการได้รับการดูแลที่ดีจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ผ่านมาได้จนถึงวันนี้

นอกจากความโชคดีที่มีลูกสาวเข้าใจ เป็นกำลังใจ ดูแลอย่างดีแบบที่ทำทุกอย่างให้เราโดยไม่รังเกียจแล้ว ตุ๊ยังได้ข้อคิดอีกหลายๆ อย่างหลังจากเป็นมะเร็งว่า นี่คือเรื่องธรรมดาของมนุษย์อย่างเราที่ต้องพบกับความเสื่อมตามสังขารและโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องปกติ เมื่อเรายอมรับความจริงตรงนี้ได้ มุมมองและความคิดของตุ๊เปลี่ยนไปเลยนะคะ การป่วยเป็นมะเร็งเหมือนเป็นสิ่งที่มาเตือนให้รู้ว่าชีวิตคนเราสั้นเหลือเกิน เราควรเลือกสิ่งที่สำคัญกับตัวเรา สิ่งที่จะทำให้จิตใจเราดี เลยทำให้ลดละกิเลสลงได้มาก มองสิ่งไม่ดีของคนอื่นน้อยลง มองโลกอย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้น และประมาทให้น้อยลง ตอนนี้ตุ๊จะมองตัวเองก่อนว่าเราคิดดีแล้วหรือยัง ผิดศีลหรือเปล่า เบียดบังคนอื่นไหม และพยายามอภัยให้กับคนอื่นโดยไม่ต้องรอคำขอโทษ รู้แล้วว่าเราไม่ควรจะเอาเรื่องไม่สำคัญมาเป็นความสำคัญของชีวิต หันมามองคุณค่า รวมถึงใส่ใจกับร่างกาย หัวใจ คนที่เรารักและรักเรา โดยเฉพาะลูกสาว เพื่อที่เราจะได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เหลือ

สำหรับคนที่เป็นมะเร็งและกำลังรักษาอยู่ ถึงแม้ว่ากระบวนรักษา เราจะเจอกับเรื่องทุกข์หลายอย่าง เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และเสียทั้งใจ อาจทำให้เราเหนื่อยและท้อแท้ ตุ๊ขอให้มีกำลังใจนะคะ แม้ว่ามะเร็งจะทำให้เราทุกข์ทรมานอยู่บ้าง แต่เมื่อเราชนะแล้ว ไม่ว่าเราจะเหลือเวลามากน้อยแค่ไหนนั่นจะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด และนั่นมีความหมายมากกว่า”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล 
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

ธาวินี จันทนาโกเมษ แชร์ประสบการณ์ที่เราอาจไม่รู้แต่ควรรู้เกี่ยวกับ ‘การดูแลผู้ป่วย’

คงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่เราๆ ท่านๆ จะส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยในฐานะ “ผู้ถูกรักษา” ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะด้วยอาการจากตัวโรค ผลกระทบจากการรักษา เลยไปจนถึงความเครียดและกังวลที่ดูหนักหนากว่าใคร แต่ขณะเดียวกัน เรากลับหลงลืมไปว่า “ผู้ให้การดูแล” ผู้ป่วย และหน้าที่ที่พวกเขาทำอยู่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องการแรงใจไม่ต่างกัน เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นงานที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยตลอดหรือแทบจะตลอดเวลา แม้จะเป็นงานยากและเหนื่อย แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย เพราะความสุขใจจากหน้าที่นี้ก็มีอยู่

สำหรับ ทราย ธาวินี จันทนาโกเมษ เจ้าของเพจ Cancan.kitchen การได้ดูแลคุณพ่อซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เธอได้แสดงออกถึงความรักและความเอื้ออาทรต่อกันในวันที่ต่างยังมีลมหายใจ แต่การได้อยู่เคียงข้างกันในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ถือเป็นโอกาสในการได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ากับคนที่รักก่อนการเดินทางของชีวิตจะสิ้นสุดลง 

สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ 

“คุณพ่อพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งประมาณปี 2018 สาเหตุที่ทราบว่าเนื่องจากมีอาการปวดท้องที่ไม่ใช่อาการปวดแบบที่เคยปวดเป็นประจำ ซึ่งเมื่อพบว่ามีอาการมากกว่าปกติ คุณพ่อเลยไปตรวจที่คลินิกประจำก่อน จนกระทั่งได้ตรวจแบบละเอียดขึ้นและพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3” 

การรักษาแบบผสมผสาน

“คุณหมอวางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออกและทำคีโม แต่คุณพ่อตัดสินใจที่จะทำคีโมแค่ครั้งเดียว เพราะเกิดอุบัติเหตุเข็มหลุดออกมาระหว่างการให้คีโมทางสายน้ำเกลือทำให้ถูกน้ำยาคีโมกัดผิว ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดการพูดคุยถึงการรักษาแบบทางเลือกและได้ข้อสรุปว่าจะไม่ไปต่อทางวิทยาศาสตร์แล้ว

ทรายและคุณพ่อได้เลือกการรักษาแบบผสมผสานแทน โดยหลักๆ จะใช้ศาสตร์การดูแลด้วยแพทย์แผนไทย ใช้ยาจากตำรับยาสมุนไพรที่เกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ที่สำคัญคือเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารใหม่ทั้งหมด ต้องบอกก่อนว่า 65 ปีที่ผ่านมา คุณพ่อเป็นคนใช้ชีวิตแบบมีอิสระในการกินมาก กินอาหารตามใจตัวเอง อยากกินอะไรเมื่อไหร่ต้องได้ แต่การรักษาในแนวทางนี้จะต้องมีวินัยในการรับประทานอาหารมากๆ เกิดปัญหาว่าคุณพ่อปรับตัวได้ลำบากพอสมควร

ทรายจะเป็นคนทำอาหารแล้วส่งให้คุณพ่อ โดยยึดตามแนวทางที่คุณหมอแนะนำรวมถึงอาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง เช่น น้ำตาลถือเป็นของหวานของโรคมะเร็ง ถ้าจำเป็นให้ใช้น้ำตาลมะพร้าวที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือดยากที่สุด สกัดน้ำมันสำหรับใช้ทำอาหารด้วยตัวเอง เพราะน้ำมันที่มีอยู่ในท้องตลาดใส่สารกันเสียเยอะ เป็นต้น”

การดูแลที่ต้องอาศัยแรงกายและกำลังใจ

“ต้องเล่าก่อนว่าทรายไม่ได้โตมากับคุณพ่อ จึงไม่ได้รู้จักนิสัยท่านมากเท่ากับครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน ทรายจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเขา เช่น คุณพ่อจะไม่ได้บอกเราว่าชอบกินหรืออยากกินอะไร หรือท่านจะไม่พูดว่า “ลูก ช่วยทำอาหารแบบนี้ให้พ่อกินหน่อยนะ” ทรายต้องวิเคราะห์ว่าคุณพ่อนิสัยแบบนี้ น่าจะอยากกินแบบนี้ แล้วทรายก็ทำอาหารส่งไปให้ท่าน นั่นจึงเป็นความยากในช่วงแรก

แล้วด้วยความที่เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน แม้ทรายจะทำอาหารและจัดเตรียมยาส่งไปให้อย่างสม่ำเสมอ ทรายก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคุณพ่อจะกินอาหารที่เราทำหรือกินยาครบตามที่คุณหมอกำหนดไว้ไหม ซึ่งสุดท้ายแล้วเราเชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณพ่อเสียชีวิตน่าจะมาจากการที่ท่านไม่ได้กินอาหารอย่างที่คุณหมอแนะนำ รวมถึงไม่ได้กินยาอย่างสม่ำเสมอ ตรงนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการรักษาแบบทางเลือกที่ต้องอาศัยแรงกายแรงใจ ความทุ่มเท ความมีวินัยในการทานยาและทานอาหาร ซึ่งคุณพ่อทรายอาจจะทำได้ไม่เต็มร้อย ผลลัพธ์เลยไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้”

อาจเป็นจังหวะของชีวิต

“มันก็เป็นจังหวะชีวิตของทรายเหมือนกันนะ คุณพ่อของทรายเริ่มไม่สบายตอนปี 2018 ทรายแต่งงานในปี 2019 หลังจากนั้นในปี 2020 เชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ตับ ซึ่งก่อนหน้าที่จะทราบก็เป็นจังหวะที่ทรายตัดสินใจลาออกจากงานพอดี เพื่อพักดูว่าเราอยากทำอะไรต่อไปกับงานที่ตั้งใจให้เป็นงานประจำสุดท้ายของตัวเอง

เมื่อรู้ว่ามะเร็งกลับมา ทรายคุยกับคุณพ่อรวมถึงปรึกษาคุณหมอและญาติพี่น้อง แล้วก็ตัดสินใจไปรักษาแบบทางเลือกที่บ้านคุณอาที่สวนผึ้งซึ่งเขาเป็นมะเร็งในช่วงเวลาใกล้กัน จะได้รักษาไปในทางเดียวกัน เพื่อให้คุณพ่อรู้สึกมีกำลังใจจากสังคมคนป่วยเหมือนกัน จังหวะนั้นบังเอิญมีงานที่รู้สึกอยากทำมากๆ ติดต่อทรายเข้ามาพอดี เลยคุยกับสามีว่าถ้าได้งานนี้ทรายจะทำอย่างไรดี จะทิ้งไปไหม ด้วยความที่สามีเขาเคยมีประสบการณ์การดูแลคนป่วยขณะทำงานไปด้วย แล้วบาลานซ์ชีวิตช่วงนั้นได้ยากพอสมควร เพราะทั้งการดูแลคนป่วยและการทำงานก็ไม่สามารถทุ่มเทเต็มร้อยได้เลยสักทาง เขาจึงแนะนำทรายว่า “ถ้าชีวิตเรามีโอกาสได้ดูแลคุณพ่อแล้ว ก็ไปให้สุดทาง อย่าเอาทุกอย่างมารวมกันแล้วคิดพร้อมกัน ค่อยๆ จัดการไปทีละเรื่อง” นั่นเลยทำให้ทรายเลือกโฟกัสไปกับการดูแลคุณพ่อจนถึงวันที่ท่านจากไป

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้โตมาอย่างใกล้ชิดกับคุณพ่อเท่าไหร่ บอกรักกันไม่ค่อยบ่อย แต่จะใช้วิธีทำให้คุณพ่อเห็นว่าอย่างไรทรายก็จะอยู่กับท่าน ไม่ว่าคุณพ่อจะต้องเปลี่ยนวิธีในการรักษาอีกกี่ครั้ง จะมีอุปสรรคในการดูแลขนาดไหน ทรายก็จะสู้ไปกับท่าน ซึ่งทรายว่าท่านก็รับรู้ได้”

มะเร็งไม่ใช่โชคร้ายอย่างที่ใครเขาว่า 

“ทรายอยู่ในครอบครัวที่มีคนเป็นมะเร็งอยู่พอสมควร ก็เลยมองว่ามะเร็งมันอยู่ในตัวเราตั้งแต่เกิด การเป็นมะเร็งเหมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนว่า เราใช้ชีวิตหนักหน่วงเกินไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น มุมมองของทรายกับตัวโรค ก็มองว่าเราต้องใช้ชีวิตของเราให้สมดุล ปล่อยให้มะเร็งหลับสนิทเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ในตัวเรา อย่าปลุกเขาให้ตื่น บวกกับมีความเชื่อในเรื่องของ “You are what you eat” ซึ่งเปลี่ยนวิถีการรับประทานอาหารของตัวทรายไปเยอะเหมือนกันนะ ทรายทำอาหารกินเองบ่อยมาก เพราะสามารถลงลึกถึงรายละเอียดของอาหารรวมถึงวัตถุดิบได้ทุกอย่าง ประสบการณ์ในการทำอาหารให้คุณพ่อรับประทานทำให้ทรายเลือกและเลี่ยงให้ตัวเองด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันเมื่อได้เห็นคุณอาที่เป็นมะเร็งดูแลตัวเองด้วยการรักษาทางเลือกและเขายังคงอยู่อย่างแข็งแรงมาจนวันนี้ ก็ทำให้เชื่อในเรื่องของการรักษาแบบทางเลือกมากกว่าการรักษาในทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นเรื่องของการทำคีโม”

ถ้าหาก…

“ตอนที่คุณพ่อเสีย ทรายมีคำถามเยอะมากเหมือนหนังเรื่อง About Time เลยว่า ถ้าตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้น ตอนนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้ จะทำอะไร แล้วคุณพ่อจะยังมีชีวิตอยู่ไหม เรียกได้ว่ามีคำถามกับทุกจังหวะชีวิตในช่วงเวลาที่ท่านป่วย จนถึงตอนที่คุณพ่อเสียไปแล้วก็ยังจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า ก่อนที่คนเราจากไปจะเกิดภาวะอะไร เขาจะรู้สึกอย่างไรในขณะที่กำลังจะจากไป ทรายถามญาติ รวมถึงคนรู้จักที่เป็นหมอด้วยคำถามประมาณนี้ ทุกคนก็ตอบกลับมาว่าให้หยุดคิดเถอะ ทุกอย่างผ่านไปแล้ว ทรายไม่ได้รู้สึกยินดีกับการที่คุณพ่อจากไป แต่ในขณะเดียวกันกลับรู้สึกโล่งอก ดีใจที่ท่านไม่ต้องทรมานกับการกินอาหารรวมถึงการรักษาที่ทำให้ท่านไม่มีความสุขอีกต่อไป

ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ทรายได้รู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือจงทำเมื่อยังมีโอกาส ทรายโชคดีที่ตัวเองยังมีโอกาสได้สื่อสารกับคุณพ่อในช่วงที่ท่านเริ่มเข้าสู่ภาวะผู้ป่วยวิกฤต ทรายพูดกับท่านว่า “ทรายขอโทษ ถ้าที่ผ่านมาทรายบังคับให้พ่อไม่ได้กินอาหารอย่างที่ต้องการ บังคับให้ฝืนกินยา ทรายขอบคุณพ่อที่ทำให้ทรายเกิดมา และรักพ่อนะ” จนถึงวาระสุดท้ายของท่าน ทรายบอกกับคุณพ่อว่า “ถ้าพ่ออยากจะสู้ก็สู้ แต่ถ้าอยากหลับก็หลับไปเลย ไม่ต้องกังวลว่าจะตื่นมาเป็นที่ไหน ไม่ต้องว้าวุ่นใจ ตื่นมาเป็นที่ไหนก็เป็นที่นั่นนะพ่อ” แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ ดับไปอย่างสงบเงียบที่สุด สำหรับคนค่อนข้างกลัวความตายอย่างทรายก็อดคิดไม่ได้ว่า อยากให้วาระสุดท้ายของเราดำเนินไปอย่างเรียบง่ายแบบนี้บ้าง

ทรายถือว่ามันเป็นจังหวะชีวิตที่ดีที่มีโอกาสได้ดูแลท่านตั้งแต่วันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จนถึงวาระสุดท้าย และมีโอกาสได้ขอโทษ ขอบคุณ และบอกรัก ก่อนท่านจากไปครบถ้วนทั้ง 3 อย่าง เพราะฉะนั้นทรายไม่รู้สึกว่าติดค้างอะไรแล้ว ถามว่าเสียใจไหม แน่นอนว่าทรายเสียใจแต่ในขณะเดียวกัน ทรายก็หมดห่วง มันเป็นการถอนหายใจที่รู้สึกว่าสามารถหายใจเอาอากาศเข้าไปหมุนเวียนได้เต็มปอด” 

จะดูแลกันอย่างไรในวันที่มีผู้ป่วยติดเตียง

“อย่างที่เล่าไปว่าทรายอาจจะไม่ได้สนิทกับคุณพ่อมาก แล้วช่วงที่คุณพ่อเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทรายคิดว่าไม่เป็นไร เห็นตามรายการที่เขาดูแลพ่อแม่ตัวเอง เราดูแล้วก็คิดว่าเคสเราก็คงเหมือนกัน ไม่ต้องมีพยาบาลหรอก มองว่าทรายเองน่าจะเอาอยู่ แต่เอาเข้าจริงเป็นการเอาอยู่แบบตาแข็งๆ ยิ้มแห้งๆ จนถึงวันที่รู้ตัวว่าคงไม่ไหวแล้ว อย่าฝืนเลยดีกว่า ให้มืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อให้คุณพ่อสบายขึ้น ซึ่งต้องบอกเลยว่าการจ้างผู้ดูแลคนป่วยไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เริ่มทำในเวลาวิกฤต เพราะจะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าจะเจอคนที่ปรับตัวเข้ากันได้ เข้าใจคนป่วย ถูกใจญาติผู้ใหญ่ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขจนตลอดรอดฝั่ง เอาอยู่สามารถรับมือได้อยู่หมัดเมื่อเจอสถานการณ์หนักๆ มาถึง รวมถึงอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ดูแล เช่น เตียงอัตโนมัติ เพราะต้องเข้าถึงผู้ป่วยด้วยความรวดเร็วและราบรื่น เช่นเดียวกับผู้ดูแลที่ต้องการความสะดวกในการประชิดตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตที่แทบจะสื่อสารกับเราไม่ได้เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่ทรายคิดว่าสำคัญมากเหมือนกันคือการทำธุรกรรมทางการเงิน ทรายพบว่าบางที คนสูงอายุเขายังใช้วิธีเดิมกันอยู่ คือเลือกที่จะทำธุรกรรมเบิกถอนเงินที่ธนาคาร ซึ่งในกรณีคุณพ่อ ทรายต้องเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ-สวนผึ้งถึง 3 ครั้งเพื่อสำรองเงินสดของพ่อมาเก็บไว้สำหรับใช้ในการรักษา แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถทำได้เพราะติดขัดในเรื่องของการยืนยันตัวตน ซึ่งถ้าเรามีแอปพลิเคชัน การดำเนินการและจัดสรรปัญหาต่างๆ จะง่ายและประหยัดเวลามากกว่า

ตกลงกันก่อนว่า…การเดินทางครั้งนี้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน

“เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ควรมีการคุยกันในครอบครัวก่อนว่า สุดท้ายแล้วคนป่วยที่เราดูแล ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือพี่น้อง เขาอยากให้การรักษาจบตรงไหน หากการรักษาไม่เป็นไปอย่างที่วางแผนหรือหวังไว้ บางทีคนป่วยเขาอาจจะไม่ได้อยากต่อสู้ ไม่ได้อยากเดินทางต่อแล้ว แต่ด้วยความไม่ได้ตกลงกันเอาไว้ก่อนทำให้ในท้ายที่สุด เรายื้อเขาไว้เพราะลูกหลานหรือญาติยังทำใจไม่ได้กับการที่เขาตัดสินใจอยากยุติการรักษา

สำหรับทราย ทรายได้คุยกับคุณพ่อ รู้เจตนารมณ์ท่านว่าอย่างไร คือเขาไม่ต้องการเป็นผัก ไม่ต้องปั๊มหัวใจ เมื่ออยู่ในสภาวะที่ต้องตัดสินใจจึงเรียบง่ายและชัดเจน ทรายสามารถตอบคุณหมอได้ทันทีว่าจะไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ใช้เครื่องหรือยากระตุ้น ไม่สอดท่อช่วยหายใจให้กับคุณพ่อนะคะ”

การจัดการความเครียดด้วยการหาความสุขง่ายๆ รอบตัว

“คนดูแลจะต้องหาวิธีจัดการกับความเครียดตัวเองด้วย อย่างตัวทรายเองแค่จะดื่มน้ำยังลืมไปเลย เพราะเครียดจนเกือบจะกลายเป็นคนป่วยไปด้วยเหมือนกัน ต้องไม่ลืมว่าคนดูแลเองก็ต้องมีเวลาให้ตัวเองได้หยุดพักจากเรื่องเหล่านี้บ้าง สุดท้ายแล้วทรายพบว่าการหมกตัวอยู่ในร้าน Mr. DIY เพื่อคำนวณว่าซื้อทิชชู่แบบไหนถึงจะคุ้มค่า หรือการได้เดินออกกำลังกายดูพระอาทิตย์ตกในวันที่ไม่ยุ่งจนเกินไปนัก ถือเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทรายมีความสุขแล้ว ลองหากิจกรรมที่สร้างความสุขให้เราได้ง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องพยายามอะไรมาก และสามารถทำได้บ่อยทุกวัน”

ใดใดในโลกล้วนเป็นไปตามกฎของจักรวาล

“ความสุขของตัวเองในตอนนี้คือการที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายของการใช้ชีวิตให้เป็นจริง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของมะเร็งอะไรเท่าไหร่ แต่ทรายรู้สึกว่า Everything happens for a reason ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ ทรายลาออกจากงานได้ไม่นานคุณพ่อกลับมาป่วยอีก แต่โชคดีที่ก่อนหน้านั้นจัดงานแต่งงานตั้งแต่คุณพ่อยังแข็งแรง มีสามีที่น่ารักเป็นเพื่อนคู่คิด คอยซัพพอร์ตความรู้สึก คอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา เหนื่อยมากก็มีที่พักพิงให้ล้มตัวใส่ เขาทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว เราถึงได้ดูแลคุณพ่อแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอะไรเลย จนวันที่รู้ตัวว่าไม่อยากกลับไปทำงานประจำอีกแล้ว ได้มีเวลาคิดจนพอจะเห็นเป้าหมายของชีวิตเป็นรูปร่างชัดเจนว่าคืออะไร บางคนอาจรอให้ถึงเวลาเกษียณแล้วค่อยเริ่มต้น แต่มันคงดีกว่าที่เราได้ทำเสียตั้งแต่วันนี้ ย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนคุณพ่อจะป่วยจนถึงวันนี้ ทรายเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีคำว่าบังเอิญแม้แต่เรื่องเดียว”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: ธาวินี จันทนาโกเมษ

เป็นมะเร็งลำไส้ก็เท่ได้ สุทธิ ชมโพธิ์ นักสู้มะเร็งผู้ออกแบบเครื่องป้องกันถุงหน้าท้องให้ผู้ป่วยกลับมาหล่ออีกครั้ง

            นี่คือเรื่องราวของ สุทธิ ชมโพธิ์ ชายจากจังหวัดสุรินทร์ที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังหนุ่ม เขาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งลำไส้ที่ปลายทวารหนักตอนอายุ 37 และจำเป็นต้องมีถุงหน้าท้องเพื่อถ่ายหนักหลังจากนั้นไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามไม่เพียงเขามุ่งมั่นรักษามะเร็งจนหาย เขายังกลับมาเป็นนักวิ่งสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งทำโครงการสตาร์ทอัพสร้างสรรค์อุปกรณ์ป้องกันสำหรับผู้มีถุงเก็บอุจจาระหน้าท้อง ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดทวารหนักมาวิ่งได้ แต่ยังสามารถสวมใส่กางเกงยีนส์เข้ารูปอย่างเรียบเนียน – เท่เหมือนคนอื่นๆ

            ข้างต้นคือเรื่องราวของเขา แต่นั่นล่ะ กว่าจะถึงจุดนั้น ชีวิตของชายอายุสี่สิบต้นๆ ผู้นี้ไม่ง่ายเลย และต่อไปนี่คือ ‘ระหว่างทาง’ อันแสนทรหดของชายเลือกนักสู้ผู้นี้

นักสู้เลือดอีสาน

            “ผมเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ บ้านไม่ได้มีฐานะ จึงเข้ามาใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ตอนอายุสิบสอง พบกับภรรยาตอนอายุสิบหก และมีลูกชายคนแรกตอนอายุสิบแปด มีลูกสามคน ผมทำงานหนักส่งเสียพวกเขาเรียนมาตลอด” สุทธิ เล่าถึงชีวิตช่วงต้นของเขาพอสังเขป ชีวิตที่เขาบอกว่าต้องสู้มาตั้งแต่จำความได้

แน่นอน ถ้าย้อนกลับไปในเวลานั้น สุทธิก็คงไม่คาดคิดเหมือนกันว่านอกจากการสู้เพื่อให้มีชีวิตที่ดี เขายังต้องมาสู้กับมะเร็งในวัยสามสิบเจ็ดปีอีกต่อ

ปี 2551 ขณะที่เขาเป็นพนักงานขับรถยกสินค้าในโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี จู่ๆ เขาก็พบว่าตัวเองมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ จากถ่ายหนักทุกวันเป็นกิจวัตร ขยับมาเป็นครั้งละสองวันหรือมากกว่า ที่สำคัญเขามีอาการเจ็บที่ปลายทวาร และมีเลือดออกมาพร้อมกับของเสีย สุทธิไปหาหมอ และได้รับคำวินิจฉัยว่าเขาเป็นริดสีดวงทวาร ก่อนจะรักษาไปตามอาการจนดีขึ้น กระทั่ง 7 ปีผ่านไป เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2558 อาการที่เขาคิดว่ามาจากริดสีดวงทวารก็กลับมากำเริบหนักอีกครั้ง

“ตอนแรกคิดว่าเพราะเป็นพฤติกรรม ผมชอบกินเผ็ด และความที่ทำงานด้วยการนั่งอยู่บนรถตลอด โดยส่วนมากก็ทำโอทีกะกลางคืน เข้างานสี่โมงเย็น เลิกงานอีกทีก็หกโมงเช้า เลยคิดว่าริดสีดวงกำเริบอีกแล้ว แต่รอบนี้เป็นหนักกว่าเก่า เพราะเจ็บที่ก้นมาก เจ็บในแบบที่ขับรถและนั่งตรงๆ ไม่ได้เลย” สุทธิ กล่าว

จนกระทั่งเขาพบว่าตัวเองขับถ่ายเป็นเลือดและน้ำเหลืองอีกครั้ง จึงไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จนสัมผัสได้ถึงสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในทวาร สุทธิไปพบหมออีกครั้งในวันที่ 11 สิงหาคม ผ่าชิ้นเนื้อและทราบผลว่าเป็นมะเร็งอย่างเป็นทางการในอีก 9 วันต่อมา (20 สิงหาคม) และผ่าตัดเนื้อร้ายออกวันที่ 26 สิงหาคม กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือน อย่างไรก็ดี ก่อนที่คุณหมอนัดผ่าตัด ก็ได้บอกทั้งข่าวดีและข่าวร้ายที่ส่งผลไปทั้งชีวิตของสุทธิ     

ข่าวดีก็คือ จากผลวินิจฉัย เนื้อร้ายยังไม่แพร่กระจาย เขาอาจไม่จำเป็นต้องทำการฉายแสงหรือเคมีบำบัด (ซึ่งต่อมาเขาก็ไม่ต้องทำกระบวนการเหล่านี้เลยสักครั้ง) แต่ข่าวร้ายก็ดูหนักหนากว่า เพราะเนื้อร้ายที่ตัดทิ้งไปคือหูรูดทวารหนัก นั่นหมายความว่าหลังผ่าตัด เขาจะไม่มีอวัยวะที่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เอง เขาจำเป็นต้องติดถุงเก็บอุจจาระบริเวณหน้าท้องไปตลอดชีวิต

แล้วผมจะสู้กับมันอย่างไร?

            เมื่อมาไตร่ตรองและสืบประวัติ สุทธิพบว่าไม่ใช่ทั้งพันธุกรรมหรือโชคชะตาใดๆ แต่เป็นเพราะพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเขาเอง เขาบอกว่าเป็นเพราะเขาทำงานหนักและทำงานข้ามคืนตลอด วิถีการกินของเขาจึงขึ้นอยู่กับร้านอาหารข้างทางราคาประหยัด กับข้าวใส่ถุงพลาสติก ข้าวกล่องไมโครเวฟ เมนูปิ้งย่าง และอีกสารพันที่มีเพื่อประทังชีพเท่าๆ กับที่มีส่วนในการกระตุ้นเซลล์ร้ายในร่างกาย อีกทั้งเขาเป็นคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ด้วย ถึงแม้ไม่เยอะ แต่เมื่อบวกรวมกับปัจจัยด้านอาหารการกิน เนื้อร้ายก็เกิดขึ้นในร่างกายเขาจนได้ 

            “พอทราบว่าเป็นมะเร็ง ผมก็ช็อคเลย คำถามมีเข้ามาเต็มไปหมดในหัว ผมคิดถึงความตายเป็นอันดับแรก คำถามต่อมาคือทำไมต้องเป็นเรา ชีวิตเราไม่พร้อม ไหนจะต้องหาเลี้ยงดูครอบครัวอีก ยอมรับว่าหดหู่มาก แต่พอผ่านไปสักพัก ก็กลับมาคิดว่าเราต้องสู้ต่อ ความกังวลถึงครอบครัว ถึงลูกๆ นี่แหละที่ทำให้ผมต้องสู้ต่อ คำถามสุดท้ายในช่วงเวลานั้นจึงกลายเป็น แล้วผมจะสู้กับมันอย่างไร” สุทธิกล่าว

เขาบอกว่าหลังจากหาคำตอบสำหรับคำถามสุดท้ายได้แล้ว ก็เหมือนเขาพบเส้นทางในชีวิตให้เดินต่อ หลังจากนั้นเขาไม่มีความสงสัยอะไรในชีวิตอีกเลย

            “ผมใช้เวลาพักฟื้นและรักษาตัวอยู่บ้านสี่เดือน ช่วงเวลานี้เหมือนช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตเลย เพราะวิถีชีวิตแบบเดิม ต้องเปลี่ยนใหม่หมด ทั้งการนั่ง การเดิน การเคลื่อนไหว และที่สำคัญคือการขับถ่ายผ่านลำไส้ตรงลงไปในถุงหน้าท้อง ตอนแรกชีวิตลำบากมาก เพราะเลือดออกก้นตลอดเวลา และต้องสวมผ้าอนามัยรองไว้ ส่วนก้นที่ผ่าปิดก็ยังต้องใส่อุปกรณ์ที่เรียกว่า shot drain เพื่อดึงของเหลวออกมา เจ็บและทุลักทุเลมากๆ

            แต่พอผ่านไปสี่เดือน สภาพร่างกายเริ่มดีขึ้น คุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่มากขึ้น ผมจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่ 1 มกราคม 2559 ผมนอนอยู่บ้าน และเห็นรองเท้าวิ่ง ก่อนหน้านี้ผมชอบใส่รองเท้าวิ่งแต่ไม่เคยวิ่ง แค่ใส่ไปเที่ยว เพราะมันนุ่มดี แต่วันนั้นจู่ๆ เหมือนร่างกายมันบอกผมให้ลุกขึ้นมาสิ ลุกขึ้นมาเดิน เดินก่อนแล้วค่อยวิ่งกัน

            ซึ่งพอร่างกายมันบอกอย่างนั้น ผมก็สวมรองเท้าวิ่ง และลองเดินเท้าเหยาะๆ ออกจากบ้าน วันนั้นเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตอีกครั้ง

กลับสู่สังเวียน

            จากผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดหน้าท้อง ก่อนจะกลับมาสวมรองเท้าวิ่งเพื่อเดินออกกำลังกายระยะสั้น และพัฒนาสเต็ปการเดินด้วยความเร็วขึ้น จนกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง สุทธิใช้เวลาตลอดปี 2559 เพื่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เช่นเดียวกับวันแรกที่เขาเห็นรองเท้าและเกิดแรงบันดาลใจ เขาจำได้แม่นถึงวันแรกที่เขาร่วมวิ่ง Fun Run ระยะทาง 5 กิโลเมตร กับนักวิ่งคนอื่นๆ ซึ่งยังถือเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมการวิ่งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในชีวิต วันที่ 19 มีนาคม 2560

            “มีคนสมัครวิ่งอยู่ 655 คน ผมเข้าเส้นชัยประมาณคนที่ 20 ใช้เวลา 26.47 นาที ส่วนอีก 630 คนวิ่งตามหลังผมมา ผมเพิ่งหายจากมะเร็ง มีลำไส้อยู่นอกตัว มันไม่ใช่แค่การวิ่งเข้าเส้นชัย แต่นี่ทำให้ผมมั่นใจว่าผมเอาชนะตัวเองได้ ผมมีความมั่นใจในชีวิตหลังจากนี้” สุทธิ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

            ทั้งนี้ สุทธิให้เครดิตความสำเร็จในการวิ่งสนามแรกในชีวิตของเขากับประดิษฐกรรมที่เขาคิดค้นขึ้นมา นั่นคือเครื่องป้องกันถุงเก็บอุจจาระบริเวณหน้าท้อง ซึ่งทำให้อดีตผู้ป่วยมะเร็งอย่างเขา สามารถเข้าร่วมวิ่งกับนักวิ่งคนอื่นๆ โดยไม่มีใครรู้ว่าเขามีถุงติดอยู่บนหน้าท้องเลย

            “อุปกรณ์ป้องกันถุงหน้าท้องมันเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่แล้วครับ เป็นโลหะสำหรับคลุมถุง เพราะส่วนนั้นของร่างกายเรามีแค่ถุงกับลำไส้เลย โดนอะไรนิดก็เจ็บ แต่ความที่โลหะแบบเดิมมันมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหนัก ไม่เหมาะกับการรับแรงกระแทกอย่างการวิ่งเร็วๆ ผมก็เลยมาคิดว่าน่าจะมีเครื่องป้องกันที่กะทัดรัดกว่านี้”

            และนั่นทำให้สุทธิคิดถึงกระจับสำหรับป้องกันกล่องดวงใจของนักมวย

            “ตอนเด็กๆ ผมเคยชกมวย และจำได้ว่ามีกระจับป้องกัน ผมก็เลยคิดว่าถ้าย้ายกระจับจากตรงนั้นมาป้องกันส่วนที่เป็นถุงหน้าท้องเราล่ะ เลยไปหาอีลาสติกที่มาช่วยผูกกระจับไว้คล้ายๆ ขอบกางเกงยางยืด แล้วก็เย็บตีนตุ๊กแกติดกับส่วนที่เป็นโลหะ ตอนแรกก็ทำแบบง่ายๆ ก่อน ทดลองไปทดลองมาจากสแตนเลสที่ค่อนข้างมีน้ำหนัก ก็พัฒนามาจนได้วัสดุไทเทเนียม ซึ่งคล่องตัวกว่าและป้องกันการกระแทกไปพร้อมกัน”

            ในวันที่เราสัมภาษณ์เขา สุทธิสวมกางเกงยีนส์ทรงพอดีตัว ดูสมาร์ทมากทีเดียว เขาบอกว่าเมื่อก่อนการมีถุงหน้าท้องแบบเขา ไม่มีทางจะสวมกางเกงยีนส์แบบกระชับเช่นนี้ได้… ใช่ ในขณะนี้เขาก็ยังสวมเครื่องป้องกันนั้นอยู่

            “ผมเป็นคนสุรินทร์ ผู้ชายโซนนี้ก็อารมณ์บัวขาว ผิวเข้มๆ หน้าดุๆ คือถ้าแต่งตัวเลอะๆ เนี่ยจบเลย ดูสกปรก ซึ่งผมก็ชอบแต่งตัวมากๆ อยู่แล้วด้วย ชอบแต่งตัวให้ดูสะอาดและสมาร์ท ตอนป่วยก็คิดแหละว่าหลังจากนี้เราจะต้องใส่กางเกงหลวมๆ ขาบานๆ ไปตลอดชีวิตใช่ไหม ซึ่งเมื่อบวกรวมกับความต้องการอยากกลับมาวิ่งได้ จึงจุดประกายให้ผมคิดถึงเครื่องป้องกันนี้ออก”

            สุทธิตั้งชื่ออุปกรณ์นี้ว่า Stoma Smile คล้ายบอกเป็นนัยว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ก็ยิ้มได้ เริ่มแรกเขาทำแจกผู้ป่วยด้วยกัน โดยมีแผนจะนำไปจดสิทธิบัตรเพื่อจำหน่ายในราคาย่อมเยา หวังให้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่ประสบโรคภัยแบบเดียวกับเขา พร้อมกันนี้สุทธิยังกลายเป็นนักวิ่งที่คอยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น รวมถึงคอยให้คำแนะนำผู้ป่วยมะเร็งลำไส้แบบเดียวกับเขาในการรักษาและปรับตัวกับการใช้ชีวิตใหม่    

            “ผู้ได้รับการรักษาและต้องมีถุงหน้าท้องทั้งชีวิตแบบผม ทุกคนมักรู้สึกอายหรือรู้สึกเป็นที่น่ารังเกียจในสายตาของคนอื่น ผมก็เคยผ่าน และต่อสู้กับความคิดของตัวเองมาได้ จึงอยากเป็นแบบอย่างให้คนที่ประสบเคราะห์เดียวกันกับผม ไม่ใช่แค่ไม่ต้องรู้สึกอาย แต่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบคนอื่นๆ ได้…

“ผมบอกกับคนอื่นๆ อยู่เสมอว่า จริงอยู่ที่เราป่วย แต่เราผ่านมาได้แล้ว เรามีความพิเศษตรงถุงหน้าท้อง ถ้าเราอยู่กับมันได้ เราจะเก่ง ยิ่งถ้าเราอยู่กับมันด้วยความมั่นใจ เราจะเก่งกว่าคนอื่นๆ” สุทธิ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากผ่านช่วงมรสุมของชีวิตทั้งทางร่ากายและความสัมพันธ์มาตลอดหลายปี พร้อมไปกับการสร้างชื่อจากการเป็นนักวิ่งสร้างแรงบันดาลใจ และนักออกแบบอุปกรณ์เสริมความมั่นใจแก่ผู้ป่วย ในปี 2562 สุทธิก็ได้พบรักใหม่กับนางพยาบาล และเพิ่งแต่งงานไปในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ที่ผ่านมา เขาบอกกับเราว่าทุกวันนี้เขารู้สึกเหมือนผู้ชายที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

แม้เราไม่ทราบว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรมาวัด แต่จากรอยยิ้มและน้ำเสียงอันมั่นใจของเขา เราก็เชื่อว่าเขามีความสุขเช่นนั้นจริงๆ 

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: สุทธิ ชมโพธิ์