ณิชารีย์ โรจนกีรติกานต์ เพราะการปล่อยวางคือศิลปะการคิดให้ชีวิตมีสุข

พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวถึงเรื่องความทุกข์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความทุกข์ เปรียบเสมือนการแบกหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งเอาไว้ ระหว่างทาง ปากเราก็บ่นว่าหนัก พยายามเรียกหาคนช่วย บนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำสารพัดวิธี เพื่อหวังให้สบายขึ้น แต่สิ่งเดียวที่เราไม่ทำคือ วางหินก้อนนั้นลง เมื่อรู้สึกหนักจึงทำให้เราเกิดทุกข์ ทว่าสิ่งที่ทำให้เราทุกข์นั้น กลับไม่ใช่หิน แต่เป็นเพราะการแบกหิน ดังนั้น วิธีที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้คือ วางมันลง” สำหรับ ตุ๊-ณิชารีย์ โรจนกีรติกานต์ เธอได้เลือกใช้วิธี ‘วางมันลง’ แบบเดียวกับที่พระไพศาลได้กล่าวไว้ในการรับมือกับมะเร็งลำไส้ที่เธอเผชิญเมื่อหลายปีก่อนหน้าอย่างมีสติและรู้เท่าทัน ทั้งตัวโรคและเสียงจากภายในหัวใจ

การรักษาที่เปลี่ยนร่างกายไปตลอดกาล

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ตุ๊พบว่าระบบขับถ่ายของตัวเองไม่เหมือนเดิม จากการขับถ่ายที่เป็นปกติมาโดยตลอด เริ่มมีอาการท้องผูกเรื้อรัง แต่ในเวลานั้น เธอคิดว่าอาจเพราะพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการดื่มน้ำน้อย ทำงานหนัก อดนอน และไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุโดยทั่วไปที่สามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ จนกระทั่งเธอมีอาการมากขึ้นและมีลักษณะของอุจจาระต่างไปจากเดิม

เธอตัดสินใจเข้ารับการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อ กระทั่งคุณหมอวินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเริ่มเข้ารับการรักษาอยู่ 1 ปีเต็ม ในการรักษา คุณหมอแนะนำให้รับประทานยาควบคู่กับการฉายแสงเพื่อจำกัดก้อนมะเร็งไม่ให้ลุกลามก่อน จากนั้นจึงทำการผ่าตัด ซึ่งโชคดีที่เซลล์มะเร็งไม่ได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองและผนังลำไส้ชั้นอื่น แม้จะมีส่วนที่ซับซ้อนอยู่บ้างคือต้องผ่าตัดและทำทวารเทียมระหว่างรอให้แผลในลำไส้ต่อกันอย่างสนิท การผ่าตัดมะเร็งลำไส้อาจเสี่ยงต่อระบบขับถ่ายที่จะไม่ปกติไปตลอดชีวิตเพราะตำแหน่งใกล้กับทวารหนัก ขั้นตอนถัดมาคือการให้เคมีบำบัดทางเส้นเลือด ซึ่งร่างกายของเธอตอบสนองต่อตัวยาได้ดี ขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่าตัดเก็บทวารเทียม

“การรักษาช่วงแรกคือการฉายแสง ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษให้บริเวณที่ฉายแสงสะอาดอยู่เสมอและไม่เปียกน้ำ เพราะคุณหมอได้มีการทำเครื่องหมายไว้บนผิวหนังผู้ป่วย เป็นตำแหน่งที่เที่ยงตรงในการฉายแสง ถ้าเส้นนี้ลบเลือนไปคุณหมอจะต้องจำลองการรักษาเสมือนจริงอีกครั้งทำให้เสียเวลาในการรักษาได้ นอกจากนี้การฉายแสงมักจะทำให้เส้นเลือดเปราะ ในกรณีที่ฉายแสงบริเวณใกล้เคียงกับกระเพาะปัสสาวะจะทำให้คนไข้ส่วนใหญ่เกิดก้อนลิ่มเลือดออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้ หากเส้นเลือดเปราะแล้วมักจะไม่หายขาด ตุ๊รับมือกับความเสี่ยงนี้ด้วยการรับประทานอาหารเสริมเลซิตินและวิตามินอีเพื่อช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง ไม่เปราะแตกง่าย มีในไข่แดง ถั่วเหลือง และเมล็ดทานตะวัน ตุ๊เชื่อว่าวิธีนี้ช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง สังเกตจากการที่ไม่เคยมีลิ่มเลือดปนออกมากับปัสสาวะเลย

“การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด สิ่งที่อยากแชร์คือเมื่อผ่าตัดแล้ว แม้จะเจ็บปวดก็ต้องลุกขึ้นจากเตียงและพยายามช่วยเหลือตัวเองในวันรุ่งขึ้นเลยเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วที่สุดและป้องกันลำไส้ติดกัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดผังผืดในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้เจ็บปวดทรมานในภายหลัง ช่วงเวลานี้อยากให้ทุกคนอดทนค่ะ แต่ช่วงที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านจะเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดในการรักษามะเร็งลำไส้ ตุ๊ต้องดูแลตัวเองในหลายด้านทั้งทวารเทียม เคมีบำบัด และยา ในช่วงนี้ตุ๊เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก และใจสั่น เมื่อเพิ่มอาหารเสริมวิตามินรวมและแร่ธาตุจึงอาการดีขึ้น ผลจากการรับเคมีบำบัดและไม่ได้ดื่มน้ำให้เพียงพอทำให้ทุกวันนี้ตุ๊ยังมีอาการชาที่มือและเท้า  ซึ่งช่วงแรกๆ ที่มีอาการชา ตุ๊รู้สึกกังวลนะคะ แต่ตอนนี้อยู่กับอาการนี้ได้แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการใช้ชีวิต ตอนนี้ทานยารักษาปลายประสาทอย่างต่อเนื่องซึ่งคุณหมอประเมินว่าอาจจะประมาณ 10 ปี ขณะที่ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่คาดไม่ถึงคือการเกิดภาวะไส้เลื่อนหลังจบการรักษามะเร็งแล้ว 3 ปีเนื่องจากช่วงที่มีทวารเทียมที่หน้าท้องต้องรับเคมีบำบัดทางเส้นเลือดด้วยอีก 5 รอบ เป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอมาก ตุ๊ได้แต่นอนพักไม่ได้ออกกำลังกายหรือบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องเลย ประกอบกับอายุมากด้วยค่ะ ตอนนี้ผ่าตัดรับการรักษาเรียบร้อยแล้วค่ะ

‘3 อ.’ รหัสไม่ลับดูแลสุขภาพ

สำหรับเรื่องมะเร็ง ปีนี้การรักษาครบ 5 ปีแล้ว ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจะมีการตรวจเลือดร่วมกับส่องกล้องปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อครบ 5 ปี ถ้าไม่พบความผิดปกติ ทางการแพทย์ถือว่าหายขาดแล้วค่ะ

“สำหรับการดูแลสุขภาพ ตุ๊ใช้หลัก 3 อ. ในการดูแลสุขภาพตัวเอง นั่นคือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่อง ‘อาหาร’ เพราะสาเหตุการเป็นมะเร็งลำไส้ของตัวเองน่าจะเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก ช่วงที่ทำงานหนักๆ ตุ๊แทบจะไม่ได้ทำอาหารเองเลย ซึ่งอาจจะได้รับสารปนเปื้อนเข้ามาในร่างกาย ปัจจุบันเลยทำอาหารทานเอง พยายามทานอาหารที่ปรุงใหม่ ไม่ใส่ผงชูรส ให้ความสำคัญกับการล้างผักผลไม้มากขึ้น และอนุญาตเปลี่ยนบรรยากาศไปทานอาหารนอกบ้านด้วย สำหรับการ ‘ออกกำลังกาย’ กิจกรรมที่เลือกคือการแกว่งแขนและเดินเล่น โดยจะทำตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำแบบนั้นเลยค่ะ ขณะที่ อ. สุดท้ายอย่าง ‘อารมณ์’ ตุ๊จะพยายามทำให้ตัวเองผ่อนคลาย หากรู้สึกเครียดเมื่อไหร่ จะหยิบการฝีมือมาทำ นั่งสมาธิ สวดมนต์ และฟังธรรมะ จะพยายามทำทั้ง 3 อ. นี้ให้ดีไปพร้อมๆ กันค่ะ”

เปิดบันทึกสู้มะเร็ง

มะเร็งไดอารี่ Cancer Diary เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ช่วงที่ตุ๊กำลังรักษาตัว และลูกสาวเป็นคนชวนให้ทำเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ให้กับคนอื่น น้องพยายามให้กำลังใจคุณแม่ คอยกระตุ้นว่า “คุณแม่คะ ประสบการณ์ที่เรามีจะช่วยคนอื่นได้นะคะ” แล้วตุ๊เองก็เคยมีความคิดอย่างนั้นมาก่อนด้วยว่าอยากใช้ความรู้และสิ่งที่เราเคยประสบมาช่วยให้คนอื่นมีความรู้ในการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นโรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมะเร็งหรือว่าเรื่องสุขภาพด้านอื่นๆ

“เนื้อหาที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าเรื่องชีวิต เรื่องโรค และวิธีการรักษาที่ผ่านมา ตั้งแต่การตรวจรักษาว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ข้อดี ข้อเสีย ข้อผิดพลาด อยากจะให้ทุกคนได้รู้ว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาเราผ่านอะไรมาบ้าง และผ่านมาได้อย่างไร ซึ่งจะมีทุกอารมณ์ทั้งเครียด สนุก สุข เศร้า รวมทั้งการปล่อยวางกับชีวิต แต่หลักๆ จะเน้นวิธีการป้องกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เล่าด้วยภาษาธรรมดาที่คนทั่วไปจะเข้าใจ โดยมีลูกสาวคอยช่วยอยู่ไม่ห่าง ซึ่งฟีดแบคที่ตอบกลับมาทำให้ตุ๊ได้รับความชื่นใจมากเลย อย่างคำขอบคุณหรือการถามไถ่เวลาคนอ่านมีข้อสงสัย ถึงจะมีไม่เยอะ ซึ่งจริงๆ แค่คนเดียวที่ได้ประโยชน์ไป ตุ๊ก็ดีใจและภูมิใจแล้วนะคะที่ได้ทำ”

สูญเสียแต่ไม่สูญเปล่า

“ก่อนป่วยตุ๊มองว่ามะเร็งน่ากลัว เพราะตอนที่ทำงานด้านสุขภาพ เคยเห็นคนไข้มะเร็งทรมานจากอาการปวด ตัวตุ๊เองเลยพยายามรักษาสุขภาพให้ดีมาโดยตลอด ไม่เคยป่วยหนักนอกจากโรคเบาหวานที่มาทางพันธุกรรม ซึ่งตอนที่ทราบว่าเป็นมะเร็ง จึงรู้สึกกลัวและช็อคมาก ถึงแม้ว่าในใจเราคิดไว้แล้วว่ามีโอกาสเป็นได้นะ แต่พอถึงเวลาที่ทราบจริงๆ กลับทำใจไม่ได้เลย การเป็นมะเร็งทำให้ตุ๊รู้สึกว่าเวลาของชีวิตเราน้อยลง ไม่ได้กลัวความเจ็บปวดอย่างที่เคยคิด อาจเพราะตัวเองค่อนข้างอดทนกับความเจ็บปวดได้ดี แต่กลัวตายเพราะว่าห่วงลูก ซึ่งการห่วงลูกและอยากอยู่กับเขาไปนานๆ เป็นพลังและกำลังใจสำคัญให้เราอยากอยู่ต่อ อยากหาย อยากกลับมาแข็งแรงเพื่ออยู่กับเขา รวมถึงการได้รับการดูแลที่ดีจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ผ่านมาได้จนถึงวันนี้

นอกจากความโชคดีที่มีลูกสาวเข้าใจ เป็นกำลังใจ ดูแลอย่างดีแบบที่ทำทุกอย่างให้เราโดยไม่รังเกียจแล้ว ตุ๊ยังได้ข้อคิดอีกหลายๆ อย่างหลังจากเป็นมะเร็งว่า นี่คือเรื่องธรรมดาของมนุษย์อย่างเราที่ต้องพบกับความเสื่อมตามสังขารและโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องปกติ เมื่อเรายอมรับความจริงตรงนี้ได้ มุมมองและความคิดของตุ๊เปลี่ยนไปเลยนะคะ การป่วยเป็นมะเร็งเหมือนเป็นสิ่งที่มาเตือนให้รู้ว่าชีวิตคนเราสั้นเหลือเกิน เราควรเลือกสิ่งที่สำคัญกับตัวเรา สิ่งที่จะทำให้จิตใจเราดี เลยทำให้ลดละกิเลสลงได้มาก มองสิ่งไม่ดีของคนอื่นน้อยลง มองโลกอย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้น และประมาทให้น้อยลง ตอนนี้ตุ๊จะมองตัวเองก่อนว่าเราคิดดีแล้วหรือยัง ผิดศีลหรือเปล่า เบียดบังคนอื่นไหม และพยายามอภัยให้กับคนอื่นโดยไม่ต้องรอคำขอโทษ รู้แล้วว่าเราไม่ควรจะเอาเรื่องไม่สำคัญมาเป็นความสำคัญของชีวิต หันมามองคุณค่า รวมถึงใส่ใจกับร่างกาย หัวใจ คนที่เรารักและรักเรา โดยเฉพาะลูกสาว เพื่อที่เราจะได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เหลือ

สำหรับคนที่เป็นมะเร็งและกำลังรักษาอยู่ ถึงแม้ว่ากระบวนรักษา เราจะเจอกับเรื่องทุกข์หลายอย่าง เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และเสียทั้งใจ อาจทำให้เราเหนื่อยและท้อแท้ ตุ๊ขอให้มีกำลังใจนะคะ แม้ว่ามะเร็งจะทำให้เราทุกข์ทรมานอยู่บ้าง แต่เมื่อเราชนะแล้ว ไม่ว่าเราจะเหลือเวลามากน้อยแค่ไหนนั่นจะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด และนั่นมีความหมายมากกว่า”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล 
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

Share To Social Media