ผกามาศ งานสถิร เพราะมะเร็งทำให้เข้าใจตัวเองและรับมือกับโลกได้ดีขึ้น

จนถึงตอนนี้ เป็นเวลา 2 ปีเต็มแล้วที่ แอน-ผกามาศ งานสถิร หายจากการโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เป็นเวลาเดียวกับที่เธอเพิ่งคลอดลูกคนที่สองได้เพียงไม่กี่เดือน นั่นทำให้นอกจากโรคทางกายที่เธอต้องดูแลแล้ว แอนยังต้องคงบทบาทของการเป็นคุณแม่ไว้ให้ได้อย่างดีที่สุด พร้อมๆ ไปกับการรับมือกับโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย แม้ความท้ายทายหลายๆ อย่างจะเกิดขึ้น แต่เธอดึงตัวเองให้กลับมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง จัดการทุกๆ อุปสรรคอย่างเป็นระบบระเบียบ เริ่มปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิต รวมทั้งหลีกเลี่ยงทุกความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อร่างกายของเธอ ตลอดจนตัดสินใจเปิดเพจ ‘ก็แค่มะเร็ง’ ขึ้น เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง โดยเป็นทั้งบันทึกความทรงจำของตัวเอง ขณะเดียวกัน เธอยังหวังว่าประสบการณ์ที่เธอถ่ายทอดอาจเป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในอนาคต และบรรทัดต่อจากนี้คือเรื่องราวจากแอนที่เล่าถึงมะเร็ง ชีวิต และการมองโลกที่เปลี่ยนไปของเธอ   

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รู้เร็ว รักษาหาย

“ช่วงปี 2562 แอนตรวจสุขภาพประจำปี หลังจากเห็นผลเอ็กซเรย์ คุณหมอพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ช่วงกลางอก แต่ไม่ได้มีอาการผิดปกติอะไร คุณหมอจึงขอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจและวินิจฉัย แต่กว่าจะทราบผลว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แอนต้องผ่านการตรวจหลายขั้นตอน จำได้ว่ากินเวลาประมาณ 3-4 เดือนในการค้นหาว่าเราเป็นอะไรกันแน่ เนื่องจากก้อนเนื้อมีลักษณะที่ไม่ชัดเจนจึงต้องมีการนำชิ้นเนื้อไปตรวจโดยการย้อมน้ำยาชนิดพิเศษอีกครั้งเพื่อจำแนกชนิดว่าเนื้องอกนั้นๆ เป็นเนื้องอกชนิดไหน มีเซลล์ต้นตอ หรือมีต้นกำเนิดมาจากเซลล์อะไร เพราะการตรวจย้อมธรรมดาในก้อนเนื้องอกของแอนยังไม่สามารถระบุได้ จนคุณหมอได้ข้อสรุปว่าแอนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สำหรับการรักษาจะเป็นการใช้เคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวจำนวน 1 คอร์ส ซึ่งแบ่งเป็น 6 ครั้ง พอให้คีโมครบ 3 ครั้ง คุณหมอได้ทำการเอ็กซเรย์เพื่อจะดูว่าก้อนเนื้อเป็นอย่างไร ซึ่งถือว่าการรักษาก้อนมะเร็งของแอนสามารถตอบสนองต่อยาได้ดี 

“ผลจากการทำคีโม่อย่างแรกคือแอนจะมีแผลในช่องปาก การดูแลส่วนนี้จึงใช้วิธีการกลั้วปากด้วยน้ำเกลือหลังทานข้าวเสร็จหรือเมื่อเวลาว่าง และพยายามอมน้ำแข็งเพื่อให้ไม่เกิดแผลในช่องปาก เพราะถ้าเป็นจะเจ็บมาก ซึ่งโดยปกติแล้วคนเป็นมะเร็งที่ให้คีโมจะเป็นแผลในช่องปากเยอะเหมือนกัน นอกจากนี้ ด้วยสูตรยาคีโมของแอนจะต้องทานยาสเตียรอยด์วันละ 20 เม็ด ทำให้ในหนึ่งอาทิตย์ต้องทานยาเป็นร้อยเม็ดเลย ซึ่งการทานสเตียรอยด์แม้เพียงเม็ดเดียวก็ทำให้แอนปวดท้องแล้วถ้าไม่ได้ทานข้าว แอนจึงต้องทานอาหารให้เยอะเมื่อต้องทานยา จะนั่งสักพักหนึ่งก่อนที่จะนอน และทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด ส่วนอาการอื่นๆ จะมีเรื่องปลายมือปลายเท้าชา ซึ่งคุณหมอจะให้บีบลูกบอลบ่อยๆ เพื่อออกกำลังกายมือไม่ให้ชา โดยอาการมือชากินเวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นอาการค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ จนตอนนี้อาการทุกอย่างหายเป็นปกติแล้วค่ะ

“ปัจจุบัน การดูแลสุขภาพของแอนจะไม่มีอะไรซับซ้อน อย่างแรกคือการติดตามผลทุก 4-6 เดือนออกกำลังกายพอประมาณตามเวลาและร่างกายอำนวย จะมีเรื่องอาหารที่แอนใส่ใจมากขึ้น โดยจะทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่ทานอาหารค้างคืน อาหารหมักดอง และอาหารแปรรูปต่างๆ รวมถึงไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนผลไม้ ตอนนี้แอนทานได้ทุกชนิด จะมีเข้มงวดหน่อยก็ตอนที่ให้คีโม ซึ่งจะเลือกทานโดยเลือกผลไม้เปลือกหนาและหลีกเลี่ยงผลไม้เปลือกบางเพื่อป้องกันเชื้อโรคและสารปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายค่ะ”

ใช้สติมองปัญหา

“สิ่งที่ยากมากๆ สำหรับแอนคือตอนที่ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แอนเพิ่งคลอดลูก ดังนั้น นอกจากความเครียดที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง และการคิดไปล่วงหน้าไปต่างๆ นานาว่าถ้ารักษาแล้วเราจะเป็นอย่างไร เริ่มจิตตกว่าเดี๋ยวผมจะต้องร่วง เดี๋ยวนั่นเดี๋ยวนี่แน่ๆ แล้วฮอร์โมนในช่วงหลังคลอดของแอนยังสวิงมากๆ ด้วย แถมมีอาการโรคซึมเศร้าเข้ามาเพิ่ม รวมถึงความกังวลในฐานะแม่ว่าหากการรักษาไม่เป็นผล ลูกของเราจะอยู่อย่างไร เรียกว่าทุกความรู้สึกถาโถมเข้ามาทั้งหมดเลย 

“สิ่งที่แอนทำตอนนั้นคือต้องกลับมาตั้งสติ เคลียร์กับตัวเองว่าตอนนี้เราเป็นมะเร็งแล้ว ต้องยอมรับความจริง พอคุยกับตัวเองรู้เรื่อง แอนจึงค่อยๆ เริ่มลำดับความคิดใหม่โดยเริ่มจากจัดการกับอาการซึมเศร้าก่อน แอนปรึกษาจิตแพทย์และทานยา โดยช่วงใกล้ๆ ที่จะหยุดยา แอนจะอยู่กับตัวเองเยอะพอสมควรเพื่อเช็คว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร โอเคไหม เมื่อคุณหมอแจ้งว่าโรคซึมเศร้าของแอนไม่ต้องทานยาแล้ว หลังจากนั้นถึงมาโฟกัสและเริ่มต้นรักษามะเร็งอย่างเต็มที่ ซึ่งระหว่างการรักษาด้วยคีโมไปประมาณสามอาทิตย์ ผมแอนเริ่มร่วง แอนจึงตัดปัญหาตรงนี้โดยการโกนผมเพื่อที่ตัวเองจะไม่ต้องมากังวลหรือจิตตกเรื่องความสวยงามและสามารถมาโฟกัสกับการดูแลตัวเองได้มากขึ้น”

‘ก็แค่มะเร็ง’ 

“จากประสบการณ์ เรามักจะเจอว่า ถ้าเป็นมะเร็งต้องตายสถานเดียว แอนเองก็รู็สึกว่าอย่างนั้นเหมือนกัน ทันทีที่รู้ว่าตัวเองเป็นว่าฉันต้องตายแน่ๆ เลย จนเมื่อตั้งสติและคิดว่าได้ว่าฉันจะรักษาตัวให้หาย เพราะมีคนหลายๆ คนที่รักษาได้และกลับมาเป็นปกติได้ เราต้องอยู่ในเปอร์เซ็นต์นี้ได้สิ กระทั่งแอนหาย ตอนนั้นเองที่รู้สึกว่า ‘ก็แค่มะเร็ง’ จริงๆ มะเร็งคือโรคที่เป็นได้ก็หายได้เหมือนกัน แอนจึงเปิดเพจ ‘ก็แค่มะเร็ง’ ขึ้นเพื่อแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกในช่วงเวลานั้นเพื่อให้แอนไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นมะเร็งและเราเลือกที่จะไม่ยอมแพ้ ขณะเดียวกัน แอนยังอยากถ่ายทอดประสบการณ์และส่งต่อพลังบวกให้กับคนอื่นได้เห็นว่า ขอให้เรายอมรับความจริงก่อน และมะเร็งก็เหมือนกับโรคอื่นๆ ที่เป็นได้ แต่เราสามารถหายจากการป่วยและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขดังเดิมนะหากเราไม่ยอมแพ้” 

ความงดงามในความทุกข์

“หลังจากเป็นมะเร็ง วิถีชีวิตแอนเปลี่ยนไปพอสมควร จากเมื่อก่อนที่เคยไปปาร์ตี้บ่อยๆ ทานอาหารไม่มีประโยชน์ นอนดึก เครียด แอนปรับความคิดตัวเองว่าหากเรายังใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ มะเร็งคงจะกลับมาแน่ๆ จากที่เคยทานอาหารรสหวานจัด ตักน้ำตาลใส่ก๋วยเตี๋ยวที 5-8 ช้อน แอนเปลี่ยนมาเน้นอาหารรสชาติจืดลง จากที่ปาร์ตี้ทุกคืน กิจกรรมแอนเปลี่ยนไป ตอนนี้ชอบทำบุญตักบาตร สวดมนต์ อยู่กับลูกๆ และให้เวลาพวกเขามากขึ้น จะไม่ไปเที่ยวหรือแบบปาร์ตี้ทุกคืนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว 

“การเป็นมะเร็ง ไม่เพียงแต่จะทำให้แอนกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเองและรักตัวแอนเองมากขึ้นเท่านั้น แต่มะเร็งยังช่วยคัดกรองคนในชีวิตที่รักและหวังดีกับเราจริงๆ จากแต่ก่อนที่จะแคร์ทุกคนและทุกสิ่งบนโลก แอนได้เห็นเลยว่าใครเป็นมิตรแท้ยามเราลำบาก ตอนนี้แอนให้ความสำคัญกับพวกเขามากกว่าเดิมเยอะมาก แอนอยากจะขอบคุณครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้ทิ้งแอนทั้งๆ ที่แอนเอาแต่ใจตัวเองมากเลยระหว่างการรักษา ขอบคุณทุกคนที่คอยสนับสนุนในทุกเรื่อง คอยเป็นกำลังใจอยู่ข้างๆ และไม่ทิ้งกันไปเสียก่อน พวกเขาทำให้เห็นเลยว่ามิตรภาพสวยงามขนาดไหน และแอนอยากขอบคุณและบอกตัวเองในเวลานั้นว่า ‘เก่งมากเลยนะที่ผ่านมาได้’”

จงมองโลกตามความเป็นจริง

“สำหรับแอน สิ่งที่ทำให้แอนมีกำลังใจเกิดขึ้นจากตัวเองเป็นลำดับแรกคือ การที่เราเชื่อมั่นว่าฉันจะต้องหาย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแรกและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้แอนกลับมาอยู่กับความจริงตรงหน้าและกล้าก้าวเดินต่อไป ซึ่งนอกจากตัวเองแล้ว การเชื่อมั่นและเข้าใจในกระบวนการรักษา การดูแลตัวเองให้ดี เป็นอีกสิ่งที่จะมาส่งเสริมให้เราหายจากการป่วยได้ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บใดก็ตาม  

“แอนขอส่งกำลังใจให้หลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากตรงนี้เพียงลำพังว่า จริงๆ แล้วเราสามารถให้กำลังใจตัวเองได้ ซึ่งหากเรายืนหยัดได้ด้วยตัวเอง นั่นจะเป็นอะไรที่ยั่งยืนและมั่นคงกว่า เพราะกำลังใจที่ดีที่สุดคือกำลังใจจากเราเอง ดังนั้น ดึงพลังนักสู้จากตัวเรา ไม่ต้องสู้เพื่อใคร สู้เพื่อให้ตัวเราอยู่ต่อไปได้อย่างดีในแต่ละวัน เมื่อจุดตั้งต้นเราคือสู้ พลังบวกเหล่านี้จะส่งต่อถึงคนรอบข้างได้ และเมื่อคนรอบตัวของเรามีกำลังใจที่ดี พลังบวกเหล่านี้จะส่งกลับมาหาเราเช่นกัน แอนอยากให้โฟกัสไปที่เป้าเหมาย แม้ระหว่างทางอาจจะเหนื่อนหน่อย แอนรู้ค่ะ แต่เชื่อเถอะว่าสิ่งที่ตามมาคุ้มค่ามากจริงๆ” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ธวัชชัย แสงมณี (Porfoto Small)

ขอบคุณสถานที่: หนัง(สือ)2521, Drawingroom Coffee and Gallery

ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์ ‘อ่อนแอได้’ เพื่อปลอบโยนใจให้ ‘แข็งแรง’ กว่าเดิม

การเมตตาตนเอง หรือ self-compassion เป็นหนึ่งในกระบวนการเยียวยาจิตใจ และเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย ความเอาใจใส่ และใจดีต่อตัวเอง รวมไปถึงการยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นและรู้สึก ไม่เว้นแม้แต่ข้อเสีย ความผิดพลาด หรือความอ่อนแอ สำหรับนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ เจ้าของเพจ ‘พิมพ์พาพ์’ อย่าง ‘แองเจิ้ล – ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์’ เราได้เห็นสิ่งคล้ายๆ กันนี้ผ่านวิธีคิดที่เธอใช้รับมือกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อ 4 ปีก่อนว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเข้มแข็งหรือฮึดสู้ทุกวัน แต่คือการทำความเข้าใจว่าความเหนื่อยและอ่อนแอเป็นเรื่องปกติ และเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของมนุษย์อย่างเราๆ ที่ไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์แบบ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เธอใช้รับมือกับช่วงเวลายากๆ ที่ผ่านมาได้อย่างดี

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non Hodgkin’s Lymphoma

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2560 แองเจิ้ลมีอาการคอบวม หน้าบวม เจ็บคอ รวมถึงไอแห้งๆ เธอเริ่มเหนื่อยง่ายจนการใช้ชีวิตของเธอเริ่มยากขึ้น เธอนั่งยองๆ ไม่ได้หรือแค่เดินขึ้นบันไดก็ต้องหยุดพักอยู่หลายครั้ง เธอตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งเวลานั้นคุณหมอวินิจฉัยว่านี่เป็นอาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ แต่แม้จะทานยาอยู่เกือบ 2 เดือน อาการต่างๆ ยังคงไม่ดีขึ้นจนเธอเริ่มท้อ

“ตอนนั้นเราเริ่มมีไข้ต่ำๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน คุณหมอจึงตัดสินใจส่งไปเอกซเรย์และเจอก้อนขนาดใหญ่อยู่บริเวณหัวใจกับปอด ตรวจคลื่นหัวใจเจอว่ามีน้ำอยู่ในเยื่อหุ้มหัวใจ คุณหมอขอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ผลออกมาว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน (Non Hodgkin’s Lymphoma) ระยะที่ 2 ตอนนั้นประมาณเดือนมีนาคม ปี 2561”

เธอเริ่มการรักษาด้วยการทำคีโมสูตร RCHOP แต่เมื่อใกล้จะครบ 6 คอร์สตามกำหนด มะเร็งกลับดื้อยาและโตขึ้นมาใหม่ คุณหมอจึงต้องเปลี่ยนมาให้คีโมสูตรที่แรงขึ้น แต่ด้วยก้อนมะเร็งยุบๆ โตๆ อยู่พักหนึ่งจนทำให้เธอต้องเปลี่ยนการรักษาอีกครั้งด้วยการฉายแสงแบบชุดใหญ่ 40 แสง กระทั่งถึงการทรีทเมนท์ครั้งสุดท้ายที่อาการของเธอเริ่มนิ่ง

“คุณหมอให้เราลองรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy อยู่ ปัจจุบันโรคมะเร็งของเราสงบมาเกือบ 3 ปีแล้ว ไม่ได้ทานยาอะไรเลย มีแค่นัดทำเอกซ์เรย์ CT Scan และติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน เพิ่งจะได้เริ่มนัดเป็นทุก 6 เดือนไม่นานมานี้ โดยรวมเราใช้ชีวิตได้ปกติ มีเหนื่อยง่ายบ้าง เพราะยังมีก้อนและผังผืดที่ปอดอยู่ ตอนนี้เราดูแลตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดแบบไม่เคร่งมาก ระวังเรื่องการทานบ้าง แต่ไม่ตึงจนเกินไป”

ใช้กิจกรรมช่วยสำรวจจิตใจ

“ตอนป่วยเราเริ่มเขียนบันทึกทุกวันเพื่อระบายความคิดและความรู้สึก ผสมกับการวาดรูปลงไปในสมุดของเรา เราใช้สมุดบันทึกของ Art for Cancer ที่เป็นบันทึกพิชิตมะเร็งด้วยนะ ซึ่งหลายๆ หน้าในนั้นเป็นกำลังใจและให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตร่วมกับโรค เรารู้สึกว่าตัวเองยังต้องพยายามใช้ชีวิตต่อไปและใช้มันอย่างดี สำหรับเรา การวาดภาพกับการเขียนบันทึกช่วยให้เราเห็นความรู้สึกเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ตอนนี้อาจจะไม่ได้บันทึกทุกวันเหมือนช่วงที่ป่วย แต่ยังคงบันทึกอยู่เรื่อยๆ ทั้งสองกิจกรรมนี้ทำให้เราเข้าใจอารมณ์และความคิดของตัวเอง ได้ระบายความรู้สึก ความคิดต่างๆ ที่มันอัดแน่นอยู่ภายใน

ส่วนเรื่องการออกกำลังกาย เมื่อก่อนช่วงรักษาอยู่เราจะชอบไปเดินเล่นที่สวนแถวบ้านตอนเย็น เดินเล่นใต้ต้นไม้ ดูลมที่พัดใบไม้ สัมผัสความเย็นสบายของลม นั่งมองท้องฟ้า รู้สึกผ่อนคลายมาก อยากให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ดีๆ แบบนี้อีกเยอะๆ แต่พอสองปีมานี้ที่เจอฝุ่นและโควิดเลยไม่ค่อยกล้าออกไปบ่อยๆ เราชอบเล่นโยคะด้วย เล่นเองที่บ้านแบบเปิดคลิปในยูทูบแล้วทำตาม แต่ไม่ได้เก่งนะคะ (หัวเราะ) เราชอบที่โยคะสอนให้เราสามารถกำหนดลมหายใจ ช่วยดึงความคิดตัวเองให้กลับมาอยู่ ณ ตรงนั้น เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ได้ฟังร่างกายตัวเอง นอกเหนือไปจากผลลัพธ์ทางร่างกายที่เราได้แล้ว”

It’s okay to not be okay

“จริงๆ ตอนรู้ว่าเป็นมะเร็ง เราไม่ช็อคเลย เพราะเราเหนื่อยมาจากการหาโรคไม่เจอและต้องทานยาทุกวันอยู่ 2 เดือน พอเจอว่าเป็นมะเร็ง เราคิดแค่ว่า “โอเค รู้สาเหตุแล้ว จะได้รักษาให้ถูกจุดสักที” ซึ่งก่อนจะให้คีโมเรามีกำลังใจดี สดใส สังเกตร่างกายตัวเองทุกวัน รู้สึกว่าร่างกายยังแข็งแรง ทานได้ นอนหลับ ถ่ายออก หายใจสะดวก ไม่ค่อยเครียดมาก เพราะคิดว่าตัวเองจะหายได้จริงๆ ซึ่งเวลานั้นไม่ได้มีใครหรืออะไรทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือจุดจบของชีวิต เรามีความหวังเสมอว่าตัวเองจะหายและกลับไปใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นมา ได้ทานของอร่อยๆ ได้ไปข้างนอก อยู่แบบที่ไม่ต้องเจ็บป่วยอีก เราให้กำลังใจตัวเองตลอดว่าเป็นได้ก็หายได้ รู้สึกว่าต้องเข้มแข็งและผ่านไปให้ได้

แต่ร่างกายของเราค่อยๆ แย่ลงจากการทำคีโมทำให้เราไม่ค่อยมีแรงเดิน ต้องเจอกับอาการคลื่นไส้ ตอนนั้นจะรู้สึกว่าตัวเองเหมือนผักต้มที่ต้องทานทุกวัน ไม่สดชื่น ไม่ร่าเริง อ่อนปวกเปียก และจืดชืดไปหมด อุปสรรคสำหรับเราอีกอย่างคือการที่โรคที่เราเป็นไม่ค่อยตอบสนองยา ช่วงที่เจอคีโมหนักๆ ยอมรับว่าท้อและเหนื่อย เป็นคนเกลียดการทานยาขมๆ ด้วย ตอนนั้นทรมานมาก เราเชื่อว่าคนที่เคยรักษาและมีอาการคล้ายๆ กันน่าจะเคยรู้สึกแบบเดียวกับเรา มันเป็นวงจรที่ไม่มีวันจบ ให้ยา-คลื่นไส้-เบื่ออาหาร-เพลีย พอเริ่มแข็งแรงขึ้นไม่กี่วันก็ต้องกลับมาให้ยาใหม่อีกแล้ว ตอนนั้นแค่ได้ยินคำว่ามะเร็งหรือคีโมก็รู้สึกผะอืดผะอมแล้ว

เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้เรามีแรงสู้ได้ ส่วนหนึ่งคงเพราะคนรอบๆ ตัว ทั้งครอบครัวและเพื่อนที่คอยให้กำลังใจเสมอ คุณหมอที่พยายามช่วยเหลือและดูแลเราอย่างเต็มที่ รวมถึงตัวเราเองด้วยที่รู้สึกว่าไม่ได้อยากยอมแพ้ เพราะอย่างที่บอกว่าเรามีความหวังมากๆ ว่าจะต้องดีขึ้น ได้กลับไปทานอาหารอร่อย นั่นคือเป้าหมายเลย (ยิ้ม) ซึ่งเวลารู้สึกแย่ ท้อแท้ และเสียใจเกิดขึ้น เราค่อยๆ ฮึบตัวเองขึ้นสู้ใหม่เพราะพวกเขาเหล่านี้แหละที่มาคอยคุย ถามไถ่ และให้กำลังใจ ตอนนั้นเราบอกกับตัวเองว่า จริงๆ เราไม่ต้องเข้มแข็งหรือแข็งแรงตลอดเวลาก็ได้ สำหรับเรามันโอเคนะที่จะยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอ เวลานี้เราเลยไม่เก็บหรือกดความรู้สึกตัวเองอีกแล้ว ไม่พยายามที่จะเข้มแข็งถ้าไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่เราจะพยายามใส่ใจ ฟังความรู้สึกตัวเอง และมีสติกับชีวิตที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเองต้องขอบคุณคนรอบข้างและอยากบอกพวกเขาว่าเรารู้สึกขอบคุณอยู่เสมอ และอยากขอบคุณตัวเองที่ไม่ยอมแพ้ อยากบอกตัวเองว่า เธอเก่งมากๆ เลยนะที่ผ่านมาได้”

มะเร็งเพื่อนฉัน

“มุมมองต่อมะเร็งของเราไม่ได้ต่างจากเดิมมาก เรายังเชื่อว่ามะเร็งเป็นโรคที่รักษาได้ แต่อาจจะเหนื่อยและต้องต่อสู้กับโลกภายนอกและโรคภายในมากหน่อย แม้มะเร็งจะไม่ใช่โรคที่ใจดีเท่าไหร่ แต่พอได้เจอกันแล้ว เขาสอนให้เราเข้าใจชีวิตได้ดี ความจริงในมุมของเรา หลังจากผ่านการรักษามาทั้งหมด เรารู้สึกกลัวผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาด้วยคีโมมากกว่าตัวมะเร็งจริงๆ เสียอีก (หัวเราะ) พอเรารักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เรารู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงและมีพลังในชีวิตเยอะกว่าเก่ามาก ในใจยังขอบคุณการรักษานี้อยู่ตลอด อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาที่ดีแบบเรา

ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราอยากไล่มะเร็งออกไปให้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้เรามองว่ามะเร็งว่าเป็นเพื่อนไปแล้ว เราจะบอกกับมะเร็งเสมอว่าให้อยู่อย่างสงบด้วยกันไปเรื่อยๆ ก่อนนะ และได้เห็นว่าหลายๆ คนที่เคยป่วยเป็นมะเร็งก็คิดแบบเดียวกันว่ามะเร็งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่อยู่ด้วยกันไปแล้ว”

เต็มที่กับชีวิต

“การมองโลกของเราเปลี่ยนไปมาก เหมือนเพิ่งได้เริ่มมีชีวิตจริงๆ หลังจากที่เป็นมะเร็ง เรารู้สึกว่าตัวเองเข้าใจเหตุผลในการมีชีวิตมากขึ้น สำหรับเรา การมีชีวิตอยู่คือการอยู่เพื่อรู้สึกทุกอย่าง ไม่ว่าจะดีหรือแย่ แล้วก็แค่ทำงานกับมันไปในทุกๆ วัน เรารู้แล้วว่าไม่มีอะไรโลกที่แน่นอนจริงๆ มะเร็งทำให้เราซาบซึ้งกับชีวิตที่มีอยู่ รู้สึกดีที่ตื่นมาแล้วยังหายใจ คิดเสมอว่าการไม่เจ็บป่วยคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เราพยายามไม่เสียเวลาชีวิตไปกับอะไรที่เป็นพิษกับใจตัวเอง ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น พยายามไม่เก็บความทุกข์ความเครียดไว้นาน รักร่างกายตัวเองได้ดีกว่าเดิม รักชีวิตของตัวเอง เราจึงพยายามทำทุกๆ วันให้ดี ให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ เพราะไม่อยากรู้สึกเสียใจที่เสียโอกาสไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น แต่ก่อนเราเคยคิดอยู่นานมากว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรา สาเหตุของมะเร็งจริงๆ คืออะไร แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้เลย จนตอนนี้ คำถามที่เคยเกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้ว แต่คือการที่เราจะจัดการกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่อย่างไรต่อ เราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบไหน และเป็นคนอย่างไรต่อไปมากกว่า”

เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง พร้อมแล้วลุยต่อ

“สิ่งที่เราแนะนำได้ คงเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกับตัวเองมาแล้ว อย่างแรกคือการทาน เราลดการทานอะไรที่ทำให้ร่างกายอักเสบได้ง่าย เช่น น้ำตาล ของแปรรูป ของดอง ของดิบ เนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในมุมของเรา เราจะไม่เคร่งและไม่เครียดจนเกินไป เราให้อาหารใจกับตัวเองบ้าง ทานของที่อยากทาน ขณะเดียวกัน เราไม่ลืมที่จะทานของที่ดีต่อร่างกายด้วย สิ่งที่เราทำคือการหาความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ ทานทุกอย่างแบบพอดีๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป

อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องความเครียด ทุกวันนี้เรายังเจอเรื่องที่มากระทบจิตใจ มีความกังวล ความเศร้า แต่เราจะไม่ค่อยเก็บให้ไหลวนในตัวเรานานๆ แต่จะระบายออกมา คุยกับเพื่อนหรือคนที่เรารู้สึกไว้ใจ เล่นกับแมว ปรึกษานักจิตบำบัด หากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย หลังจากป่วยทำให้เรารู้สึกว่าบางทีเราไม่ต้องไปอะไรมากกับชีวิต แค่ไม่เจ็บป่วยคือของขวัญที่ดีที่สุดของชีวิตแล้ว พยายามใช้ชีวิตที่เราอยากใช้เท่าที่จะทำได้ อีกอย่างที่ไม่ควรลืมคือการพักผ่อนและออกกำลังกาย ทำอย่างไรก็ได้ให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ถ้าภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็จะลดความเสี่ยงที่จะเจอมะเร็งไปได้เยอะแล้วนะ

แน่นอนว่าการเผชิญและรักษาโรคมะเร็งไม่ง่ายเลย เราอยากบอกว่าเราเข้าใจทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์นี้แบบสุดๆ ถึงจะสู้จะมีกำลังใจมากแค่ไหน มันจะมีสักหนึ่งวันที่ความหวังของเราที่เคยสร้างพังทลายและหายไปต่อหน้าต่อตา เราอยากบอกว่า คุณเก่งมากที่ต่อสู้มาตลอด คุณจะผ่านมันไปได้ อยากให้ขอบคุณตัวเองทุกครั้งที่ได้พาตัวเองผ่านเรื่องยากๆ ถ้ารู้สึกเหนื่อยก็พักก่อน ถ้ารู้สึกท้อปล่อยให้มันเป็นไป อย่างเดียวเลยคุณอย่าเพิ่งยอมแพ้ จนเมื่อคุณพร้อมแล้วค่อยกลับมาลุยต่อ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล  
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์

“ฉันต้องหาย” คือเป้าหมายของ ณัชชา พงษ์ภูริพัฒน์ ในการต่อสู้กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 3

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ชีวิตของ ณัชชา พงษ์ภูริพัฒน์ (ตาล) กำลังไปได้สวยกับการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวของเธอ ชีวิตที่อิสระขึ้น เวลาว่างที่มากขึ้น พร้อมๆ กับรายได้ที่มั่นคง ขณะที่อีกฟากฝั่ง ตาลก็ใช้ชีวิตแบบเดียวกับเราๆ ท่านๆ ในวัย 30 ต้นๆ ที่คำว่า “นอนดึก ตื่นสาย ทานอาหารไม่เป็นเวลา ลุยไปทุกที่ที่อยากไป” เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ในเวลานั้น ทุกอย่างดูปกติดีและไม่มีสัญญาณความเจ็บป่วยรุนแรงแสดงให้เห็น

เมื่อมะเร็งเข้ามาทักทาย

ตาลไม่ได้มีอาการหรือความรู้สึกเจ็บป่วยอะไรก่อนหน้านี้ แต่ไปสะดุดกับก้อนนูนๆ ที่ไหปลาร้าตอนอาบน้ำ ขนาดประมาณเม็ดลูกชิด ตอนแรกคิดว่าเพราะไปออกกำลังกายหนักรึเปล่า ตาลโทรหาเพื่อนที่เป็นหมอ เพื่อนบอกว่าเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบเพราะบริเวณที่เจอก้อนเป็นแนวของต่อมน้ำเหลืองพอดี พอไปถึงโรงพยาบาล คุณหมอให้ยามาทานก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะอาการอื่นๆ ที่จำเพาะลงไปตาลไม่มีเลย”

เวลานั้น เธอคิดว่าทานยาแล้วก็คงหายและไม่ได้คิดถึงมะเร็งแม้แต่น้อย แต่ก้อนนั้นก็ยังไม่หายไป เธอใช้เวลาในการตรวจหาสาเหตุและเข้าออกโรงพยาบาลอยู่หลายเดือนจนกระทั่งตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลเพื่อขอความเห็นที่ 2 จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพบว่าเธอเป็นมะเร็งต่อมที่น้ำเหลือง  

“หลังจากทราบผล คุณหมอส่งตาลไปพบคุณหมอโรคเลือดเพื่อให้เขาอธิบายแนวทางการรักษา ซึ่งตาลเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin Lymphoma คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็งแบบ cute cute ตาลจำคำนี้ได้เลย (ยิ้ม) ซึ่งอัตราการหายขาดค่อนข้างสูง ประมาณ 80-90% ตาลก็โล่งใจ โดยแนวทางการรักษาหลักๆ คือการให้คีโม จากตรงนั้นตาลย้ายมาที่โรงพยาบาลรัฐบาลเพื่อไปเจาะไขสันหลังและทำ CT Scan เมื่อทราบระยะของโรค คุณหมอก็สามารถประเมินจำนวนคีโมได้ ผลออกมาตาลเป็นระยะที่ 3 ต่อมน้ำเหลืองลามกระจายมาที่ช่องอกและท้อง แต่ยังไม่ลามมาที่ไขสันหลัง การรักษาคือให้คีโม 8 เดือน เดือนละ 2 ครั้ง ทุกๆ 15 วัน ทั้งหมด 16 ครั้ง ตาลโชคดีคือคีโมอย่างเดียวแล้วจบ เพราะตัวมะเร็งไม่มีก้อนไหนใหญ่เป็นพิเศษและไม่ได้ไปกดทับอวัยวะส่วนไหน ดังนั้นคีโมเลยสามารถจะเคลียร์เซลล์มะเร็งได้หมด ตาลเริ่มคีโมปี 2015 จบ 2016 ประมาณปีกว่าๆ ตอนนี้หายครบ 5 ปีเมื่อเมษายน 2020 ที่ผ่านมา”  

“ต้องหาย” เป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อพุ่งชน 

“ตอนนั้นคิดละว่าโอเคเจอ เป็น ช่างมัน จากนั้นตาลตั้งเป้าหมายกับตัวเองชัดเจนมากคือ ฉันจะต้องไม่ตายด้วยมะเร็งและต้องไม่ตายด้วยอายุเท่านี้ จะต้องหาย และเชื่อฟังคุณหมอในระดับหนึ่ง (หัวเราะ) เพราะคุณหมอจะซีเรียสเรื่องการทานมาก ช่วงแรกๆ ที่รักษา ทั้งตาลคุณแม่เคร่งสุดๆ อาหารอะไรที่คนเขาว่ามีประโยชน์จัดมาหมด ปรากฏทานไม่ได้เลย ไม่อร่อย ทานไม่ลง คีโมครั้งแรกตาลแย่เลยนะ น้ำหนักลด 2 กิโล ใน 1 สัปดาห์ ซึ่งตาลเป็นคนผอมอยู่แล้ว 2 กิโลถือว่าเยอะเลย หลังจากนั้นเลยตั้งหลักใหม่หมด ให้แม่ทำอาหารมาแบบที่เคยทำ แต่ให้รสอ่อนลง คุณแม่ก็ประณีตมากขึ้นในเรื่องความสะอาด จะมีสั่งอาหารข้างนอกมาทานบ้าง เหมือนเป็นอาหารใจที่ทำให้เรามีความสุขวันนั้นมากกว่า ระหว่างการรักษา ตาลยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมคือหลังจากให้คีโม 3-5 วัน พอได้พักเต็มที่ตาลก็ออกไปข้างนอก แต่จะเลือกสถานที่ที่เป็นเอาท์ดอร์ มีอากาศถ่ายเท แทบไม่เดินห้าง ไม่ไปโรงหนังเลย แล้วออกต่างจังหวัดบ่อยขึ้น” 

หัวใจชุ่มชื้นด้วยน้องหมาบำบัด 

“หมาตาล 2 ตัวนี้ทำให้ตาลมีกำลังใจขึ้นมาก ตอนตาลตรวจเจอมะเร็ง ยังไม่รู้สึกอะไร แต่พอผ่านไป 3 วัน เหมือนตกตะกอนได้ว่าเป็นมะเร็ง ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมซวยจัง ตาลนั่งร้องไห้ ลูกหมาก็มานั่งเลียน้ำตาเรา ตาลเลยบอกกับพวกเขาว่า “โอเค หม่ามี้หยุดแล้ว” แล้วบอกตัวเองว่าฉันจะอยู่เห็นมันแก่ตายไปด้วยกัน เจ้า 2 ตัวนี้เป็นกำลังใจสำคัญเลยนะ ตาลรู้สึกเลยว่าเรื่องสัตว์บำบัดใช้ได้ผลจริงๆ เรื่องจิตใจ”

กำลังใจจากตัวเอง ส่งต่อพลังสู่คนรอบข้าง

“สิ่งที่ยากสำหรับตาลอย่างหนึ่งก็คือการที่ต้องบอกพ่อแม่ว่าเราเป็น สิ่งที่ทำได้คือบอกเขาว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอบอกว่ารักษาหาย ตาลต้องให้กำลังใจตัวเองและให้กำลังใจคนรอบข้างด้วย เพราะถ้าพวกเขาดาวน์ มันก็เอาเราดาวน์ลงไปด้วย โดยเฉพาะพ่อแม่ เขาคิดไปไหนแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือต้องทำให้เขาไม่ห่วง ต้องรอด เพราะฉะนั้น ตลอดการรักษา ร้องไห้ครั้งนั้นครั้งเดียว ดังนั้นนอกจากตาลจะดูแลใจตัวเองตาลแล้ว ก็จะดูแลใจเผื่อไปถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วย ตาลต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเองก่อน พอเราเป็นหลักให้ตัวเองได้ กลายเป็นว่าเหมือนกระจกสะท้อนเลย คนรอบข้างเขาก็ไม่ได้มองว่าเราป่วย เราก็จะได้บรรยากาศที่ดีๆ ตอบกลับมา พอบรรยากาศดีก็ทำให้เรามีความสุข มันทำให้เราไปต่อไหว” 

ตามหาความสุขวันละหนึ่งอย่าง 

“ตื่นมาทุกๆ วัน นอกจากตาลจะเห็นตัวเองว่ายังแข็งแรงดี ยังอาบน้ำ สระผม แปรงฟันได้แล้ว อย่างน้อยๆ ตาลจะหาความสุขให้ตัวเองหนึ่งอย่าง ไม่มากก็น้อยมันต้องมี แล้วกลายเป็นว่าตาลหาความสุขจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้มากขึ้น เหมือนมันช่วยต่อชีวิตเราทีละนิดๆ ตาลจะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง แล้วก็พบว่า ชีวิตเราผ่านไปได้อีกหนึ่งวันแล้วนะ”  

“ความไม่แน่นอน” สัจธรรมที่มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

“พอตาลรักษาจบ มุมมองชีวิตตาลเปลี่ยนไปเลย เรามองเห็นความไม่แน่นอนของชีวิต เลยรู้สึกว่าอะไรที่อยากทำตาลก็จะทำ ถ้าเป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำนะ จะไม่รีรอเหมือนแต่ก่อนแล้ว อยากเจอเพื่อน ก็ไปหาเลย ซึ่งมะเร็งได้เข้ามาปรับกระบวนการคิดของตาลให้เราอยากใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา กระบวนการคิดเกี่ยวกับคนรอบๆ ตัวก็เปลี่ยน ตาลโกรธและโมโหน้อยลง เกลียดแทบไม่มีแล้ว แต่พื้นเดิมของตาล เรื่องพวกนี้ก็น้อยอยู่แล้ว ตาลเห็นคุณค่าสิ่งรอบตัวง่ายขึ้นและมองว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปนานๆ วันนี้นั่งยิ้ม พรุ่งนี้อาจจะตายไปแล้ว เรียกว่าใช้ชีวิตง่ายขึ้น ความซับซ้อนในการใช้ชีวิตน้อยลง สื่อสารกับคนรอบตัวมากขึ้น”

ไม่มีอะไรนอกจาก “ขอบคุณ” จากใจ

ต้องขอบคุณทุกคนรอบตัว อย่างน้องหมาอาจจะไม่รู้ก็ได้นะว่ามันทำอะไรให้เรา แค่มันกระดิกหางวิ่งมาหา เราก็มีความสุขแล้ว คุณแม่นี่ตาลต้องขอบคุณมากๆ เพราะเขาต้องตื่นก่อนเรามาเตรียมอาหาร นอนหลังเรา ถึงเขาจะบ่น แต่เขาเป็นห่วงอยากให้เราหาย ตาลรู้เลยถ้าไม่มีแม่มาคอยบังคับดูแล การรักษาเราอาจจะสะดุดก็ได้ ถ้าร่างกายเราไม่แข็งแรงสักช่วงใดช่วงหนึ่ง การให้คีโมอาจจะไม่ราบรื่นแบบที่ผ่านมา เราจะดูแลตัวเองโดยที่มันจะดีแบบนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่มีครอบครัวมาซัพพอร์ต เพื่อนโด๊ปตาลสุดๆ แล้วตาลก็โชคดีที่เพื่อนน่ารัก เราบอกไม่ให้ดราม่ามันก็ไม่ดราม่า แล้วพอเรามีความสุข เราก็มีกำลังใจที่จะตื่นขึ้นมาในทุกๆ วัน ตาลไม่มีอะไรจะบอกนอกจากขอบคุณ ขอบคุณมากจริงๆ” 

ความสุขที่ยกระดับขึ้นกว่าเดิม    

“ตาลรู้สึกว่าความสุขในชีวิตตาลเพิ่มขึ้น หลังจากที่หาย ตาลหาความสุขให้ตัวเองง่ายขึ้น เวลาได้ช่วยคนนิดๆ หน่อยๆ ได้ช่วยสุนัขข้างทาง แต่ก่อนความสุขตาลอาจจะอยู่ระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ไปเป็นสามหรือสี่แล้ว ระหว่างการรักษา ตาลเห็นความยากในการรักษาของคนอื่นๆ พอเราผ่านตรงนั้นมาได้ เราก็รู้ว่าตัวเองโชคดีมาก เพราะฉะนั้น อะไรที่จะรบกวนจิตใจตาลจะปัดออก เราเสียเวลาไปมากแล้วกับการรักษา เพราะฉะนั้นวินาทีหลังจากนี้เราจะไม่ทุกข์อีกแล้ว หลังจากนี้ไปจะต้องใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น มีความสุขง่ายขึ้น”

พวกคุณเก่งมาก เก่งมากจริงๆ

“เอาจริงๆ มีทั้งคนป่วย ยังไม่ป่วย และสงสัยว่าจะป่วยทักมาคุยกับตาลเยอะ สำหรับตาล ตาลรู้สึกว่ายากเหมือนกันนะเรื่องการให้กำลังใจคน เพราะเขาคิดไม่เหมือนเรา จะทำให้เขาหายเศร้าหรือเลิกคิดมาก เป็นสิ่งไม่ง่ายเลย แต่ทุกครั้ง ตาลจะบอกทุกคนที่คุยว่าใจเย็นๆ ค่อยๆ คิด

สำหรับคนที่ป่วยอยู่ตอนนี้ ตาลอยาบอกว่า “คุณโครตเก่งเลย เก่งมากๆ แล้วนะ” ที่ผ่านการรักษามาได้ขนาดนี้ อย่าเพิ่งเหนื่อย แล้วก็จะถามว่าเขามีอะไรที่อยากทำไหม ถ้ามี ต้องพยายาม ต้องหาย ต้องบอกกับตัวเองว่าวันนี้เราต้องไม่ตาย และพาตัวเองไปในจุดที่จะหายให้ได้เพื่อเป้าหมายที่คุณมี ตาลพยายามให้กำลังใจแบบที่เป็นความจริง ไม่ขายฝัน เพราะตาลเองก็มาแนวทางนี้เหมือนกัน

สำหรับคนที่มีคนรอบตัวกำลังป่วย ตาลอยากให้พวกคุณเป็นพลังบวก ดีกว่าจะมาแสดงพลังเทาๆ มาร้องไห้ มาเศร้า ลองพาเขาไปทำอะไรก็ได้ให้ลืมป่วย เป็นพลังดีๆ รอบตัวให้พวกเขา” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul)  
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit Sumanun)
ภาพบางส่วน: ณัชชา พงษ์ภูริพัฒน์ (Natcha Pongpuripat)

อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ มะเร็งทำให้เห็นแง่มุมของชีวิตครบทุกมิติและมีความสุขง่ายขึ้นกว่าเดิม

จนถึงตอนนี้ ก็ราวๆ 2 ปีกว่าแล้วที่ส้ม – อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แม้ว่าก่อนหน้ามุมมองของเธอต่อโรคนี้จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวและไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยถึง ทว่าแท้จริงแล้วเธอกลับพบว่า “มะเร็ง” ได้ทำให้เธอได้เห็นแง่มุมของชีวิตแบบครบทุกมิติ ตั้งแต่สัจธรรมชีวิตของการเกิด แก่ และเจ็บ ความรักและสติอันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้คนคนหนึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความอ่อนแอทั้งทางกายและใจ จนกระทั่งกลับมาใช้ชีวิตในความปกติใหม่ด้วยความสุขที่เธอเลือกได้เอง  

ในวันที่ฉันเป็นมะเร็ง

“ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี 61 ตอนนั้นส้มคลำเจอก้อนบริเวณสุดโครงเสื้อใน ซึ่งไม่ได้เอะใจว่าจะเป็นมะเร็งนะ เพราะส้มเคยมีถุงน้ำที่เต้านม ก็เลยรอดูไปก่อนยังไม่ไปตรวจ พอสักเดือนกรกฎาคม คลำแล้วยังเจอก้อน เลยคิดว่าน่าจะลองไปหาหมอตรวจดูเสียหน่อย พอไปถึงคุณหมอให้แมมโมแกรม ซึ่งผลแมมโมแกรมก็บอกว่าเรามีความเสี่ยง 30% คุณหมอก็เลยขอเจาะก้อนเนื้อนี้ไปตรวจดู แล้วนัดอีก 2 วันมาฟังผล แต่ปรากฏวันรุ่งขึ้นก็เรียกไปฟังผลเลย ซึ่งผลออกมาคือเป็นมะเร็ง 

ด้วยขนาดของก้อนที่คลำได้ประมาณปลายนิ้วก้อย เบื้องต้นคุณหมอคาดคะเนว่าน่าจะอยู่ที่ระยะแรก แต่ด้วยตำแหน่งของก้อนอาจมีโอกาสที่มะเร็งจะลามไปต่อมน้ำเหลือง การรักษาจึงเริ่มจากการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า ถ้าออกมาห้องผ่าตัดแล้วมีสายเดรนเลือด แสดงว่ามะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง พอออกจากห้องผ่าตัด ส้มเจอว่ามีสายเดรน เราก็รู้แล้วว่ามะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง หลังจากพักฟื้นที่บ้านได้ 2 อาทิตย์ คุณหมอก็นัดถอดสายเดรนออก ซึ่งผลออกมาคือส้มเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 2 แบบรับฮอร์โมน ต้องทานยาต้านฮอร์โมนตลอดอย่างน้อยก็ 5 ปี ทำคีโม 8 ครั้ง ฉายแสง 35 ครั้ง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนเมษายน” 

ความเจ็บที่ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด

“แต่ก่อนส้มไม่กล้าพูดคำว่ามะเร็งเลยนะ และส้มก็เชื่อว่าหลายๆ คนคงไม่กล้าพูดคำนี้เหมือนกัน เวลาพูดถึง “มะเร็ง” มันจะมาคู่กับคำว่าคีโม ซึ่งส้มไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร ถามว่ากลัวความเจ็บความปวดไหม ไม่กลัว แต่กลัวว่าเราจะเป็นอย่างไรต่อไปมากกว่า พอรักษาจริงๆ  ส้มกลับพบว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เคยคิด ความเจ็บปวดก็ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด เราคิดว่าคีโมน่ากลัว เอาจริงๆ ก็น่ากลัวแหละ แต่ไม่ได้น่ากลัวเท่าที่เราคิด มะเร็งก็เหมือนโรคอื่นๆ ที่เวลาเราป่วยก็ต้องรับการรักษาตามขั้นตอนของคุณหมอเพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง”  

เมื่อซึมเศร้าเข้ามาเยือน

“ตอนสองเข็มแรก ส้มสู้เต็มที่ ยังไม่เป็นอะไร แต่พอขึ้นเข็มที่สาม ส้มเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ใช้ชีวิตไม่ได้ เริ่มรู้สึกแย่ รู้สึกไม่มีค่า อะไรก็ไม่มีค่า มองไปรอบตัวก็เห็นแต่สิ่งที่ไม่มีค่า เปล่าประโยชน์ หายใจไปก็เท่านั้น สภาวะตอนนั้นเหมือนอยู่ในแก้วที่ใครพูดอะไร ปลอบใจอย่างไร ส้มรับเข้ามาไม่ได้เลย แต่ถ้าเห็นอะไรแย่ๆ เราจะดูดมันเข้ามาทันที ส้มพยายามจะดึงตัวเองขึ้นมาจากหลุมดำเหล่านี้ แต่ต้องยอมรับว่าไปต่อเองไม่ไหวจริงๆ แม้จะพยายามเต็มที่ ทั้งอ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์ ลองหางานอดิเรกทำตามที่คุณหมอแนะนำ ก็ไม่ดีขึ้น เลยขอพบจิตแพทย์ ซึ่งถ้าพูดถึงสังคมไทยกับจิตแพทย์ เป็นอะไรที่คนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยและไม่กล้าที่จะพูดถึง แต่เรายืนยันกับคุณหมอที่จะขอพบจิตแพทย์

หลังจากพบจิตแพทย์ ส้มได้ยามาทาน แต่วันแรกก็แทบแย่เหมือนกัน เพราะมันตีกัน ตอนแรกดีเลย รู้สึกเป็นตัวเองกลับมา ยิ้มได้ แต่ยาก็มีขอบเขตของการออกฤทธิ์ เช้ามาตีห้า ความรู้สึกแย่ๆ กลับมา ส้มจำได้ว่า เหงื่อตก เดินจับชายเสื้อแฟนแล้วบอกว่ามันกลับมาอีกแล้ว ตอนนั้นรู้สึกว่ามะเร็งยังไม่น่ากลัวเท่านี้ ต้องทานยาไปได้สองสามอาทิตย์ถึงเริ่มดีขึ้น 

สำหรับภาวะซึมเศร้า คุณหมอเฉลยตอนหลังว่า อาการของส้มเป็นผลมาจากคีโมที่ไปทำลายการรับรู้ของสมอง ซึ่งในภาวะปกติ ในร่างกายคนเราจะมีการส่งสัญญาณสุขและสัญญาณทุกข์ คีโมได้ไปทำลายส่วนของความสุขตรงนี้ทำให้สัญญาณรับความทุกข์ทำงานอย่างเดียว ถ้าส้มไม่ทานยา ส้มไม่น่าจะหายได้ บางคนอาจจะบอกว่าซึมเศร้าหายได้ แต่สำหรับส้มไม่ใช่ แล้วถ้าส้มแอบรู้ระแคะระคายว่าใครเป็น ส้มจะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เลย เราไม่จำเป็นต้องทนเพราะนี่เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้นะ ในเมื่อยาช่วยได้ เราก็ทานเถอะ”

ครอบครัวคือยาชูกำลังทางกายและทางใจ 

“ในเวลาที่ท้อสุดๆ ส้มพยายามบอกตัวเองว่าเรามีครอบครัวที่รักและดูแลเราอยู่ ณ วันที่ส้มเป็นมะเร็ง ลูกชายต้องเปลี่ยนจากที่มีแม่คอยดูแล กลายเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ส้มก็ย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้ ใครจะดูแลเขาในอนาคต สำหรับสามี ถึงแม้เขาจะต้องออกไปทำงานทุกวัน แต่เขาก็พยายามดูแลเราอย่างเต็มที่ เตรียมอาหารให้ส้มแต่เช้าทุกวัน วันที่เราคีโม เขาก็จะลางานไปดูแลนั่งรอ รวมไปถึงคุณแม่ที่พยายามส่งเรื่องราวดีๆ มาเป็นกำลังใจตลอด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ส้มอยากจะหายจากภาวะนี้ ซึ่งนอกจากครอบครัวแล้ว สติสำคัญมาก รวมทั้งการรักษาของคุณหมอด้วย

ส้มอยากจะบอกว่าทุกคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ทั้งครอบครัว เพื่อนๆ และพี่ๆ ที่โรงพยาบาล เป็นกำลังใจที่ดี พวกเขาเองคงไม่รู้ว่าช่วยเหลือส้มมากขนาดไหน สิ่งที่ทุกคนทำให้ส้ม เหมือนพวกเขากำลังหยอดกำลังใจลงไปในหลุมให้หลุมของส้มตื้นขึ้น ทำให้ในวันที่เราหล่นลงไปในหลุมดำนั้นแล้วรู้สึกว่าไม่ลึกเท่าเดิมแล้ว เราตะกุยขึ้นมาได้ง่ายขึ้น ส้มรู้สึกโชคดีที่ได้เจอพวกเขา ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ต้องขอบคุณทุกคนมากจริงๆ” 

ชีวิตบนความสุขที่เราเลือกเอง  

“เรื่องมะเร็ง ส้มจะให้เป็นหน้าที่คุณหมอ ส่วนตัวเองก็จะทำตามที่คุณหมอบอก ในเมื่อคุณหมอไม่ได้ห้ามอะไร ส้มก็จะไม่หาข้อห้ามให้ตัวเอง แต่ก่อน ส้มจะทานแต่ปลา เนื้อแดงไม่ทานเลย แล้วเพื่อนบ้านส้มเป็นคุณหมอก็แนะนำว่าขอให้ยึดทางสายกลางในเรื่องการรับประทาน ควรจะทานอาหารที่หมุนเวียนไป 

ถามว่ากลัวมะเร็งจะกลับมาอีกไหม…ก็กลัว แต่ส้มมองว่าเป็นเรื่องของอนาคต ส้มไม่ได้ไม่กลัวโรคนี้นะ แต่ในเมื่อเราเป็นไปแล้ว ก็ต้องยอมรับให้ได้ว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก สำหรับตอนนี้ส้มเลือกที่จะมีความสุข เชื่อไหม ทุกวันนี้ก่อนนอน ส้มจะถามตัวเองก่อนเลยว่าเราไปทำร้ายจิตใจใครบ้างรึเปล่า ถ้าทะเลาะกับสามี ก่อนนอนเราก็ไปหอมแก้มเขาสักหน่อย ทำทุกๆ อย่างให้ดีที่สุด สำหรับส้ม ทุกวินาทีหลังจากนี้ ส้มพยายามทำในสิ่งที่ดีกับตัวเองก่อน เอาตัวเองเป็นหลัก ขอเห็นแก่ตัวนะ ให้เรารู้สึกดี แล้วเราก็จะดีกับทุกคนได้เอง” 

“มะเร็ง” สิ่งที่เป็นทั้งครูและทำให้ชีวิตสุขง่ายกว่าเดิม 

“สำหรับส้ม มะเร็งเป็นประสบการณ์หนึ่งที่เป็นครูสอนเราและให้โอกาสเรา ไม่อย่างนั้นส้มอาจจะยังคงหน้ามืดตามัวกับการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ลืมไปว่าคนเราเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นสัจธรรมชีวิตที่คนเรามักจะลืม พอเป็นมะเร็ง ส้มถามตัวเองว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร จะอยู่แบบไหน อยากทำอะไร เป้าหมายของส้มไม่ได้เป็นอะไรที่ใหญ่โต เอาแค่วันนี้ อยากหอมแก้มลูกให้ครบ 10 ที ก็ทำเลย มะเร็งทำให้ส้มเห็นว่า ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องไปสวิงสวายหา บางทีได้เห็นต้นไม้ออกดอก ได้ดูแลสิ่งมีชีวิตเล็กๆ รอบๆ บ้าน ส้มก็มีความสุขแล้ว ความสุขในปัจจุบันจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตที่เจอได้ทุกวัน ไม่ตั้งเป้าหมายอะไรให้ไกลโพ้น การทำเป้าหมายเล็กๆ อันหนึ่งให้สำเร็จ ก็ทำให้ส้มยิ้มได้เรื่อยๆ นะ เอาจริงๆ ส้มรู้สึกว่า มะเร็งทำให้เราได้มองเห็นความสุขจากความปกติเดิมที่เคยชิน บางคนอาจมองความสุขว่าต้องรวย ต้องสวย ต้องหล่อ ได้ไปเที่ยวไหนต่อไหน ส้มไม่ปฏิเสธว่านั่นก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่สำหรับส้ม ความสุขจริงๆ คือได้นั่งอยู่ตรงนี้ ได้มีเรื่องดีๆ ให้นึกถึง ต้องขอบคุณมะเร็งที่ทำให้ส้มมีความสุขง่ายขึ้น”

ชีวิตบนความไม่ประมาท

“คนทั่วไปที่ยังไม่ป่วย อย่างแรกคืออย่ากลัวหมอ ถ้ารู้สึกผิดปกติ ก็ควรไปปรึกษาคุณหมอ ตอนนี้สวัสดิการการรักษา เขาก็ดูแลคนป่วยด้านนี้ได้อย่างครอบคลุม ไม่ต้องกังวลที่จะไปตรวจ ส้มเชื่อว่าหลายๆ คนไม่อยากรู้ว่าตัวเองป่วย ก็เลี่ยงไม่ไปตรวจดีกว่า ซึ่งจริงๆ เราไปตรวจแล้วอาจจะไม่เป็นอะไรก็ได้ แต่ควรให้คุณหมอบอกว่าเราไม่เป็นอะไร ซึ่งน่าจะสบายใจดีกว่า เอาง่ายๆ พยายามไม่ประมาทกับชีวิต แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องถึงกับเข้มงวดจนเครียด ตรวจร่างกายบ้าง ทำตามสิ่งที่เขาแนะนำตามวัย ตามเพศ เรามีความเสี่ยงด้านไหนก็สำรวจตัวเองเบื้องต้น ซึ่งถ้าเราป่วย การรักษาอาจไม่ได้ใช้เวลาไปตลอดชีวิต อาจจะเสียเวลาสักปีหนึ่งในการรักษา พอหายแล้ว เราก็กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม 

สำหรับคนที่ป่วยแล้ว เชื่อว่าตอนป่วยทุกคนก็กลัว อยากให้เขาคิดว่าการรักษาไม่ได้จะดึงชีวิตเราไปทั้งหมด อะไรที่เป็นหน้าที่คุณหมอ ก็ปล่อยให้เขาทำ พยายามเลี่ยงเรื่องราวที่เราเซนซิทีฟ แต่ถ้าห้ามไม่ได้ ถ้ามันปะทะเข้ามาแล้ว ก็พยายามโยนทิ้งไปให้เร็ว หาอย่างอื่นทำ สู้กับความคิดตัวเอง นับไปเลยว่าเมื่อไหร่จะเราจะคีโมหรือฉายแสงครบ แล้วเราก็วางแผนตั้งแต่ตอนนั้นว่าเราจะทำอะไรที่ตอนคีโมอยู่เราทำไม่ได้ หรือช่วงที่ร่างกายแย่ๆ เราทำไม่ได้ เมื่อรักษาหายเมื่อไหร่เราจะไปทำนะ ตอนไม่มีผมเราอยากทำอะไร ถ้ามีผมเราจะทำอะไร ส้มอยากให้ทุกคนมองอนาคตหลังจากที่เรารักษา ลองมองหาความสุขเราที่เราหยิบตั้งได้ง่ายๆ แต่เอาจริงๆ ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ถ้าเรามองหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้มันก็ชุ่มชื้นหัวใจแล้ว” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (SUDAPORN JIRANUKORNSAKUL)  
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ (ZUPHACHAI LAOKUNRAK)
ภาพบางส่วน: อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ (ONJANAKA PINGSUTHIWONG)

ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายลุกลามสู่หัวใจ โอกาสรอดเป็นศูนย์ อยู่รอดได้หนึ่งวันคือกำไร

ในชีวิตหนึ่งคนเราอาจต้องเจอกับวิกฤติปัญหาหนักที่ทำให้ท้อแท้สิ้นหวัง แต่หากเราจมอยู่กับความรู้สึกนั้นต่อไปก็จะไม่มีวันชนะอุปสรรคหรือประสบความสำเร็จได้เลย นี่คือเรื่องราวการต่อสู้กับมะเร็งของ เบลล์ – ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ และ คุณพ่อ -กนกพล ขัติยะกาญจน์ ซึ่งต่างก็ไม่ยอมท้อถอย ร่วมกันเอาชนะวิกฤติครั้งนี้มาได้อย่างเหลือเชื่อ ในขณะนั้น เบลล์ เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายลุกลามเข้าสู่หัวใจ ซึ่งโอกาสที่จะรอดแทบเป็นศูนย์ ทว่าเธอผ่านวิกฤตินั้นมาได้อย่างไร

โอกาสรอดเท่ากับศูนย์ อยู่รอดได้หนึ่งวันคือกำไร

เบลล์: “ตอนแรกก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งนะ ยังใช้ชีวิตลั้ลลาเรียน ป.โท อยู่เมืองนอก ตอนนั้นก็ยังเด็กเนอะ อายุแค่ 26 ไฟแรง เต็มที่กับทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องงาน, เรื่องเที่ยว, ยกเว้นเรื่องดูแลตัวเอง นอนน้อย กินอะไรไม่ระวัง จนวันหนึ่งเกิดเป็นลม แล้วมาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 2 เริ่มจากพบชิ้นเนื้อที่ปอดขนาด 9-10 เซนติเมตร ตอนนั้นก็ยังคิดว่าไม่น่ามีปัญหา คุณหมอก็รักษาตามอาการซึ่งยังมีความหวังว่าจะหาย แต่พอลามเข้าไปอยู่ในหัวใจ ก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าจะเป็นยังไง”

คุณพ่อ: “ตอนนั้นหมอทุกที่ก็บอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะหาย คุณหมอบอกตลอดชีวิตเคยพบเพียงสองเคส รายแรกก็เสียชีวิตไปแล้ว เบลล์เป็นรายที่สอง แค่คิดว่าอยู่เกินวันหนึ่งก็กำไรไปวันแล้ว วารสารต่างประเทศก็ไม่มี (วารสารทางการแพทย์) หมอบอกไปดูได้เลย ไม่มีรายไหนรอด”

ในระหว่างการรักษา เบลล์ ต้องวิ่งเข้าออกโรงพยาบาลถึง 7 โรงพยาบาล ใช้เวลา 3 ปี รักษาด้วยเคมีบำบัดนับครั้งไม่ถ้วน ต้องฉายแสงอีกมากมายหลายครั้ง และดูเหมือนจะไร้ทางออก

เบลล์: “ในตอนนั้นเป็นเรื่องการทดลอง เนื่องจากการรักษาเป็นไปตามสถิติ แต่กรณีเบลล์ไม่มีสถิติให้เทียบ”

คุณพ่อ: “เราก็ต้องติดต่อไปต่างประเทศเพื่อขอความเห็นหลายที่ ทั้งจากสกอตแลนด์, เยอรมัน, อเมริกา พอได้ชื่อตัวยามาก็นำเอกสารมาให้คุณหมอดู ได้อะไรใหม่มาหาทางแปลเพื่อทำความเข้าใจ ตอนนั้นทำทุกอย่างแข่งกับเวลา เราต้องได้ยาก่อนที่อาการจะทรุด เพราะถ้าทรุดแล้วให้ยาก็ไม่ทัน”

เบลล์: “ยาที่ได้ต้องให้ถูกจังหวะ ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่ให้ยาแล้วจะใช้ได้ต้องเข้ากันได้กับร่างกายเรา เพราะฉะนั้น มันเป็นจังหวะมาก ๆ ซึ่งต้องวางแผนไว้อย่างพอดี หากเป็นช่วงที่ร่างกายไม่พร้อมโอกาสของเราก็หายไป เหมือนช่วงหนึ่งต้องการใช้เสต็มเซลของตัวเอง แต่บังเอิญติดเชื้อที่ลำไส้เสียก่อน โอกาสนั้นเลยหายไป”

คุณพ่อ: “ช่วงหนึ่งที่เบลล์เขารับยาจนร่างกายอ่อนแอ จนสภาพจะไม่ไหวแล้ว ยาที่ให้ก็ค่อนข้างแรง และโดนไปหลายรอบ เป็นคนอื่นโดนไปก็คงไม่รอดแล้ว ตอนนั้นคุยกับหมอ หมอดีใจว่าให้ยาแล้วรอดมาได้ ไม่ใช่หายนะ! แต่หมายถึงทนยาได้”

สั่งเสียพร้อมลาจาก แต่พ่อสั่งห้ามตายก่อน

ช่วงหนึ่งที่เบลล์ท้อสุด ๆ คิดว่าเธอเป็นภาระให้คนอื่นเดือดร้อนจนถึงขั้นสั่งเสียพร้อมจะลาจากโลก แต่ก็กลับลุกขึ้นมาสู้ได้อีกเพราะคำของพ่อที่ว่า “มึงห้ามตายก่อนกู!”

คุณพ่อ: “คนจีนเขาจะถือว่าผมขาวไปเผาผมดำเป็นเรื่องที่เศร้าที่สุด แล้วเราจำเป็นต้องดุ เพราะสภาพเขาตอนนั้นไม่ไหว ต้องเตือนสติ ดึงกลับมาให้อยู่”

เบลล์: “ใช่ ๆ เหมือนเป็นคำสั่ง โปรแกรมในจิตใต้สำนึก เราก็กลับไปนอนคิดว่าเราเห็นแก่ตัวที่ไม่ยอมสู้ เหมือนหลายครั้งที่ต้องผ่าตัดใหญ่ เบลล์ก็จะฝันว่ามีคนมาชวนไปเที่ยวไปเล่น แต่จะรู้ว่ายังไปไม่ได้ ต้องไปขออนุญาตป๊าก่อน เดี๋ยวป๊าด่า ตายไม่กลัวกลัวป๊าโกรธ ชีวิตเราเขาเป็นผู้ดูแล เป็นคนให้กำเนิด เราต้องอยู่เพื่อส่งป๊าก่อน”

คุณพ่อ:”ช่วงนั้นมันก้ำกึ่ง เหมือนอยู่บนเส้นด้ายบาง ๆ ต้องประคองไปให้ได้”

ผู้ป่วย ญาติ หมอ ทำงานกันเป็นทีม

นอกจากคำพูดของคุณพ่อจะเป็นการเตือนสติให้เบลล์กลับมามีกำลังใจแล้ว ระเบียบการจัดการปัญหาของครอบครัวก็สำคัญด้วย

คุณพ่อ: “คือมันอย่างนี้ พอตกเย็นนั่งกินข้าวร่วมกัน แต่ละคนเจอปัญหาอะไรก็จะพูด เราเจออะไรมาก็จะเล่าแนะนำให้รับรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา คือสมัยก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ เราก็จะฟังจากผู้ใหญ่ ทุกวันเขาก็จะมานั่งแล้วก็มาสอน ว่าเขาเจออะไรมาบ้าง เขาแก้ยังไงจบยังไง ไม่รู้บ้านอื่นเขาเป็นแบบนี้รึเปล่านะ อย่างกรณีของเบลล์นี่ก็ต้องช่วยกันทุกคน น้องชายไปบวชให้ น้องสาวไปติดต่อหมอ คุณแม่ทำกับข้าว ผลัดกันดูแล”

เบลล์: “ป๊าเหมือนเป็นเอ็มดีบริษัท เป็นคนวางแผนจัดการให้ ทุกคนเป็นเหมือนทีมงานที่ต้องแบ่งงานกันทำตามเป้าหมาย และต้องรับผิดชอบร่วมกัน”

คุณพ่อ: “ทุกส่วนต้องช่วยกัน เราต้องคุยกับหมอรู้เรื่อง คนที่บ้านก็ต้องช่วยกันดูแล จะมาเสียเวลาทะเลาะกันไม่ได้ สภาพแบบนั้นทุกคนเครียด เราก็เครียด หมอก็เครียด ต้องไปกันได้ทั้งหมด”

เบลล์: “ก็เปรียบเหมือนรถสามล้อที่มีผู้ป่วยเป็นล้อหน้า ญาติกับหมอเป็นอีกสองล้อหลังที่ต้องวางล้อให้ตรงเพื่อเคลื่อนไปให้ตรงเป้า ไม่งั้นผลการรักษาก็ไม่คืบหน้า”

คุณพ่อ: “คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ยอมบอกความจริงกับหมอ กลัวหมอว่า เมื่อเราไว้ใจให้เขารักษาต้องบอกเขาให้หมด ว่าไปกินอะไรมา เช่นไปกินยาทางเลือกมาก็จะปิดบัง แล้วพอผลการรักษาเพี้ยนไปหมอก็หลงทาง ทุกคนแวดล้อมจะเสนอยามาช่วย ทุกอย่างดีหมด แต่ปัญหาของเราคือเราไม่มีเวลาจะไปทดลอง”

ในที่สุดด้วยประสบการณ์ของคุณหมอและการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ทั้งผู้ป่วย ญาติ และทีมหมอ จึงได้ยามุ่งเป้ามาช่วยกำจัดมะเร็งออกจากหัวใจเบลล์สำเร็จอย่างอัศจรรย์ สร้างความดีใจให้กับทุกฝ่าย แต่ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ด้วยความเป็นคนมีกำลังใจเข้มแข็ง อดทนสู้ มุมมองเชิงบวกของเบลล์เองที่มีส่วนสำคัญ และสำคัญไปมากกว่านั้นคือ พลังใจของคุณพ่อที่ถ่ายทอดมาให้เบลล์อย่างเต็มเปี่ยม

คุณพ่อ: “ครั้งแรกที่เจอหมอ หมอบอกว่าไม่รอด ผมบอกหมอเลยว่า หมอรักษาให้เต็มที่ ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่ากัน เขาอยู่ได้เกินวันหนึ่งถือเป็นกำไรของเขา ทั้งหมดคือตรรกะการคิดที่เราต้องชัดเจนและจะชนะหรือแพ้ไม่รู้ แต่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าวันต่อวันให้จบตามเป้าให้ได้”

นิยามใหม่ของชีวิต

เบลล์: “แรก ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จ อยากมีเงินเดือนสักสามแสน มีบ้าน มีรถ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง นิยามความสำเร็จคือ มีเงิน มีงานที่ดี หน้ามีตาในสังคม จนกระทั่งมาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมด นิยามความสำเร็จคือชีวิตที่สมดุลในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัว สุขภาพ สิ่งที่เราให้คุณค่าไม่ใช่แค่เรื่องตัวงานและตัวเงิน แต่เป็นความสุขที่มอบคืนให้สังคมด้วย”

คุณพ่อ: “คือตอนแรกที่เจอมะเร็ง เราก็ไปไม่ถูกเพราะไม่มีความรู้ ถ้ามีคนให้ความรู้ก็จะเข้าใจว่าต้องสู้กันยังไง ก็จะไปได้ถูกทาง อย่างเบลล์เขาเขียนหนังสือนี่ก็ช่วยคนอื่นได้ ทำให้คนมีกำลังใจ คนที่กลัวการให้คีโมก็คลายกังวล พออ่านหนังสือเขาเสร็จก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่ได้ยินมา ซึ่งถ้าผิดทางก็จะเสียโอกาสการรักษา…ทุกคนที่เจอปัญหานี้ต้องอดทนแล้วพยายามผ่านไปให้ได้ ครอบครัวก็อย่าทะเลาะกัน อย่าโทษกันเอง เพราะคนป่วยมีเวลาเหลือสั้นลง เราควรจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขที่ดีต่อกันมากกว่า”

“ฉันหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต แม้ในยามที่ชีวิตของคุณสิ้นหวังที่สุด ยามที่คุณมองไม่เห็นทางออกของปัญหา หรือยามที่ไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นไปได้…เหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นกับฉันมาแล้ว”

คือคำนำของหนังสือ I cancel my cancer ที่เบลล์เขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตเพื่อส่งกำลังใจไปให้คนอื่นในสังคม เธอยังมีเพจในเฟซบุ๊กชื่อ “เรื่องจริงกะเบลล์” เขียนเรื่องราวทั้งของตัวเองและส่งต่อเรื่องราวของผู้ป่วยมะเร็งคนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งได้ร่วมทำ Art for Cancer ให้เป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดย ออย – ไอรีล ไตรสารศรี อีกด้วย

เรื่อง: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพ: วริษฐ์ สุมานันท์
ภาพบางส่วน: ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์

โลกสีรุ้งของเบนซ์ – อทิตา บุญประสิทธิ์ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย

ในมุมของคนทั่วไปโลกคงเต็มไปด้วยความหลากหลายที่ดำเนินไปด้วยความหวัง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ใช่ทุกคนจะพบกับความสมหวังนั้น บางทีปัญหาชีวิตก็เกิดขึ้นขวางเส้นทางฝันอันสวยงาม บางคนท้อถอย แต่บางคนผันวิกฤติปัญหานั้นให้กลายเป็นโอกาสสำคัญของชีวิต นี่คืออีกมุมหนึ่งจาก อทิตา บุญประสิทธิ์ (เบนซ์) ผู้ป่วยมะเร้งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายกับที่มาของ “มะเร็งคือโลกสีรุ้งของฉัน”

“ตอนแรกรู้สึกปวดท้องมากเข้าใจว่าเป็นไส้ติ่ง แต่เมื่อไปตรวจและทำอัลตร้าซาวด์แล้วปรากฏว่าเป็นที่ไต ซึ่งมีเลือดออกมากจึงต้องทำการผ่าตัดเอาไตออกไปข้างหนึ่ง เสียไตไปข้างหนึ่งเลย ตอนแรกก็ไม่รู้นะคะว่าเป็นมะเร็ง จนกระทั่งได้ผลชิ้นเนื้อจึงรู้ว่าเป็น ก็รู้สึกดาวน์นะคะ ไม่มีใครที่ได้รับคำคำนี้แล้วจะรู้สึกดีหรอกเนอะ เกิดคำถามมากมาย ชีวิตเปลี่ยนทันที คือคนเราก็อยากใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไป ในวัย 30 กว่ามีครอบครัว อยากจะประสบความสำเร็จ มีเงินเก็บ มีลูกที่น่ารัก แต่พอรู้ว่าเป็นมะเร็งโลกมันมืดไปเลย เพราะจากข่าวสารที่รับรู้เกี่ยวกับคนที่เป็นโรคนี้ก็มักจะเป็นด้านลบ”   

ตัวเบนซ์เองก็มักมองโลกในแง่ลบ แต่มะเร็งทำให้เธอกลับมามองโลกในแง่บวกได้

“พื้นเพเป็นคนมองโลกแง่ลบมาก จริง ๆ ไม่ได้มองโลกแง่บวกเลย แต่เมื่อตั้งสติได้ รวมทั้งคำพูดให้กำลังใจจากครอบครัวและแฟนทำให้รู้สึกยังมีความหวัง จึงตัดสินใจทำการรักษา แล้วก็พบกับสิ่งดี ๆ เข้ามา เจอคุณหมอดี เจอเพื่อนดี มีมิตรภาพที่ดี ได้รับคำแนะนำจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยในยามที่ท้อ การให้ยาบางครั้งก็มีอาการแทรกซ้อน แต่เพราะกำลังใจของคนเหล่านี้เราก็กลับมาคิดบวกได้”

มิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญและมีรูปแบบแตกต่างกันไป ทั้งในยามที่เราปกติและยามที่เราป่วยไข้

“ก่อนหน้านี้คนที่เข้าหาเราก็มักคิดถึงแต่ผลประโยชน์ แต่หลังจากรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง กลับเป็นความจริงใจ เมื่อเราเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ เขาก็พร้อมจะสละเวลามาทันที สิ่งที่สัมผัสได้คือความหลากหลายของความดี สีสันโลกเปลี่ยนไปเหมือนโลกสีรุ้ง มีทั้งเสียงหัวเราะ ความคิดดี ๆ ความเป็นห่วงเป็นใย มีทั้งน้ำตา และรอยยิ้ม ดูเหมือนทุกสิ่งจะมีทางออกของมัน และดีขึ้นเรื่อย ๆ การเสียเวลากับความท้อถอยไม่ได้ช่วยอะไรเลย”

เบนซ์พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเมื่อปี 2561 แต่ที่จริงมีอาการมาก่อนหน้านั้น 3 ปีแล้ว และหนึ่งปีหลังจากทำการรักษาก็มีทิศทางบวกมาตลอด  

“เหมือนที่เขียนลงในเฟสบุ๊คค่ะว่า เรากำลังให้คีโมครั้งสุดท้าย แล้วก็มีอาการปวด เชื้อแพร่กระจายไปที่ท้อง แล้วพบว่ามะเร็งดื้อยาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราจำเป็นต้องใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Gene Teraphy คือยาที่ใช้รักษาให้ตรงกับเชื้อมะเร็งเฉพาะ เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งไต, มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ) ซึ่งทำให้ต้องปรึกษาคุณหมอหลายท่านเพื่อเอาคำแนะนำของคุณหมอแต่ละท่านมาวิเคราะห์ว่าอะไรจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรา”

“ทุกครั้งที่เปลี่ยนยา หมายถึงยาเดิมไม่ได้ผล ยาจะแพงขึ้น ยาจะแรงขึ้น จากสี่เดือนแรกที่อาการทรงตัวไม่ดีขึ้น พอเปลี่ยนยาสองเดือนผ่านมา อาการที่ปอดสงบและตรงอื่นไม่ลามแล้ว เตรียมปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไตเบนส์ข้างซ้ายที่เหลืออยู่ข้างเดียวไม่ค่อยชัดเจนตั้งแต่ตอนที่ เพทสแกน (คือการให้กรูโครสเข้าเส้นเลือดเพื่อหาตัวเชื้อมะเร็งว่ามีอยู่จุดไหนบ้างในร่างกาย) จึงต้องมาปรึกษาคุณหมอรังสีเพื่อทำการตรวจให้ชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายอยู่มั้ย”

ไม่มีใครตอบได้ว่าเส้นทางการรักษาจะยาวไกลแค่ไหน แต่มันคือหน้าที่ของชีวิตที่ต้องสู้จนถึงที่สุด

“เราคิดว่าเราโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เราอยากจะมีความสุขในทุกวันเลย ไม่อยากมีความทุกข์ เรามองทุก ๆ วันเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ใช้ชีวิตกับคนที่เรารัก กับครอบครัว, กับเพื่อนที่รักเรา, กับแฟนที่ไม่คิดทิ้งไปไหน เป้าหมายความสุขจะเปลี่ยนไป ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะทำงานเก็บเงิน อยากจะรวย อยากซื้อนู่นซื้อนี่เต็มไปหมด ท้ายสุดแล้วสิ่งที่เราอยากได้จริง ๆ ก็คือ ความสุข พอปรับตัวได้ก็ได้ปรับใจ เลิกหงุดหงิดกับโรคและการรักษา ขอแค่พรุ่งนี้เราตื่นมาพบกับความสุข ไม่สำคัญว่ามะเร็งจะอยู่กับเราหรือหาย เมื่อเรามีความสุขจิตใจเราก็ดี ก็แฮปปี้แล้ว”

นี่ไม่ใช่การต่อสู้เพียงลำพังของใครคนหนึ่ง แต่สำหรับเบนซ์ เธออยากส่งต่อความคิดบวกไปยังทุกคน “สำหรับเพื่อนที่เป็นมะเร็ง เบนซ์อยากให้ตั้งสติให้ได้ มองหาวิธีดูแลตัวเอง อาหาร, ความสะอาด, อารมณ์, จิตใจ อยากให้ใช้ชีวิตเป็นปกติ ออกไปทำงาน เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมด้วยกันได้ มะเร็งคือโลกสีรุ้งของเบนซ์ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะกับคนเป็นมะเร็งนะคะ ไม่ว่าคุณจะเสียใจหรือไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนมีสีในแต่ละวัน สัมผัสกับอารมณ์ของตนเอง มีโลกสีรุ้งให้แหงนมอง ขอแค่มีสติโลกของเราจะเริ่มมีสีสันขึ้นมาและหาความสุขให้เจอค่ะ”

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: อทิตา บุญประสิทธิ์