รศ.ดร.ภก. ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย นักวิทยาศาสตร์ด้านมะเร็ง ชวนสู้มะเร็งด้วยความรู้และความกล้า

หลังจากจบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ มหาวิยาลัยศิลปากร รศ. ดร.ภก. ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย หรือ อาจารย์บี ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ University of Illinois และทำงานเป็น postdoc Dana-Farber Cancer Institute/Harvard Medical School ในอเมริกา นอกจากการเป็นอาจารย์เต็มเวลาให้กับภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอาจารย์ประจำศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำด้านมะเร็งและศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านเภสัชวิทยาเชิงระบบแล้ว อาจารย์บีคือนักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางด้านมะเร็ง (Cancer Biologist) ที่สนใจเรื่องกลไกการแบ่งตัวของเซลล์ (Cell Cycle Regulation) มาตั้งแต่ระดับปริญญาเอกจนกระทั่งปัจจุบัน ภายในห้องแลปที่มหาวิทยาลัยมหิดลที่อาจารย์ตั้งขึ้น เป็นการรวมทีมของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเพื่อสร้างโมเดลของโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เพื่อไขปัญหาที่ยังคงเป็นปัญหาของคนไทย โดยมีเป้าหมายคือการสร้างงานวิจัยต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การสร้างหนทางการรักษาและบรรเทาอาการต่างๆ ของโรคให้ได้แบบตรงจุด กับปลายทางคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไข้ ไปฟังอาจารย์เล่าเรื่องอะไรต่างๆ เหล่านี้กัน 

โครงการวิจัยเพื่อคนไทย 

“ผมมีความสนใจในเรื่องมะเร็งมากครับ ในแง่ที่ว่ามะเร็งเป็นโรคที่มีความซับซ้อน ขณะที่พวกเรายังมีความรู้น้อยอยู่ ถ้าเราสามารถเข้าใจมะเร็งได้ เราจะเข้าใจเซลล์ปกติ รวมถึงการทำงานของร่างกายของเราได้ด้วย นี่จึงเป็นมุมที่น่าสนใจมากสำหรับผมเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องมะเร็งและธรรมชาติของมัน ในอีกมุมหนึ่ง เพราะมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งโอกาสในการรักษามะเร็งหรือทำให้คนไข้หายจากโรคมีเพียง 50/50 หรือบางที่ 60/40 นั่นหมายความว่านักวิทยาศาสตร์มีช่องว่างอีกเยอะที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ คุณค่าของงานวิจัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับโดยเฉพาะบ้านเราที่เป็นประเทศซื้อเทคโนโลยี เราเรียนรู้ เราอ่านตำรา เราเข้าร่วมประชุมที่ส่วนมากเป็นวิทยาการซึ่งทำการวิเคราะห์ วิจัย หรือสร้างมาจากต่างชาติ แล้วเรานำมาใช้ นั่นทำให้เราดูแลคนไข้ไทยได้ดีพอสมควรครับ แต่ผมอยากจะชี้ว่ายังมีปัญหาและโรคบางอย่างที่เกิดเฉพาะกับคนไทยจริงๆ เช่น มะเร็งท่อน้ำดี ทำให้ความรู้จากนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติยังไม่สามารถครอบคลุมและแก้ปัญหาได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราไม่สามารถดูแลคนไทยได้อย่างเต็มที่ ผมคิดว่าเราควรมีนักวิจัยที่ทุ่มเทให้กับปัญหาของคนไทยให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้ประโยชน์กับคนไทยโดยตรง และผมอยากมาทำหน้าที่ตรงนี้

“ผมว่างานนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เหมือนเรากำลังปีนรั้วโดยที่คนในสังคมซึ่งเป็นผู้สนับสนุนผลักเราขึ้นไปเพื่อให้เราโผล่พ้นรั้วไปดูว่าข้างนอกรั้วสูงนั้นมีอะไรที่อันตรายอะไรจะเข้ามาบ้าง หรือมีสิ่งดีๆ อะไรอยู่บ้าง และเรามีทางเลือกที่จะให้อันตรายไม่มาถึงตัวหรือต่อสู้ได้ไหม โดยหน้าที่ของเราคือการทำวิจัยออกมาให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นเพื่อมาบอกว่ามีสิ่งที่กำลังแย่กำลังจะมานะ ทางออกของเราคือให้เลือกหนึ่ง สอง สาม สังคมเราจะเอาอย่างไรกันดี โดยมีรัฐและสังคมที่จะให้ทุนทรัพย์ รวมถึงกำลังใจ ผมคิดว่านี่เป็นงานที่มีเกียรติ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นอาชีพที่คนรู้จักมากนัก

“ตั้งแต่ผมย้ายกลับมาทำงานที่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน สิ่งที่ผมและทีมนักวิจัยทำคือเราเริ่มวางพื้นฐานการวิจัยเกี่ยวกับชนิดมะเร็งที่คนไทยเป็นกันเยอะ แล้วต่างชาติไม่ค่อยเป็นกัน เป็นลักษณะของการค้นคว้าเพื่อตามหาข้อมูลที่ยังขาดหายไป เราตั้งใจว่าถ้ามีมะเร็งหลายๆ อย่างที่ได้รับการดูแลดี มียาที่ดี เราอยากจะทำให้เกิดขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่คนไทยเป็นกันเยอะ อย่างเช่นมะเร็งท่อน้ำดีอย่างที่บอก ซึ่งเป็นมะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตประมาณ 6,000-10,000 คนต่อปี ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะและมีคนไทยเป็นโรคนี้มากที่สุดในโลก ผมคิดว่าเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ทางภาคอีสานไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง เป็นผู้ที่ไม่ได้มีชื่อเสียง และเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐานะ ขณะที่คนตะวันตกเป็นกันน้อย ฉะนั้นมะเร็งชนิดนี้จึงไม่มีข้อมูลเท่าที่ควร รวมทั้งบริษัทยาไม่ได้ทุ่มเทเงินมาตรงนี้เพราะว่าประเทศไทยอาจจะไม่ใช่เป็นประเทศที่มีงบประมาณในการซื้อยามากเท่าไหร่ ผมจึงคิดว่าเป็นอะไรที่เราต้องเน้นและเข้าไปทำ นี่จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทำกันมาตลอดนะครับ ทั้งเรื่องของพื้นฐานว่าทำไมมะเร็งชนิดนี้จึงร้ายแรงนัก การกระจายตัว ภาวะไหนที่ร้ายแรง ไปจนถึงการศึกษาพฤติกรรมบางอย่าง เช่นว่า ทำไมจึงดื้อกับคีโม การหาจุดอ่อนของเจ้ามะเร็งตัวนี้ และแม้มะเร็งชนิดนี้จะดูน่ากลัว แต่มันก็มีจุดอ่อนเหมือนกับทุกมะเร็ง นอกจากนี้ เรายังนำเสนอผลงานไปจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจับคู่ยาให้เข้ากับมะเร็งท่อน้ำดี เพราะเดิมทีเขาคิดว่าถ้าคนเป็นมะเร็งท่อน้ำดีก็จะเป็นเหมือนกันหมด แต่เมื่อเราศึกษารายละเอียดและเข้าใจเรื่องธรรมชาติของมันแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเราสามารถจัดแบ่งชนิดได้ตามพฤติกรรมหรือลักษณะบางอย่าง พอแยกกรุ๊ปได้ งานต่อไปคือเราสามารถทดลองได้ว่ายาอะไรที่จะมีประสิทธิภาพกับมะเร็งแต่ละชนิดย่อยๆ นั้นได้

“หนึ่งในผลงานที่เราทำสำเร็จไปได้อีกระดับหนึ่งคือเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เราพบว่ามะเร็งท่อน้ำดีบางส่วนสามารถตอบสนองกับยาต้านมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งเป็นแนวที่เราได้เผยแพร่ออกไป มีการทดสอบในขั้นคลินิกนั่นคือการทดสอบในคนกันอยู่ ซึ่งปัจจุบันเรายังคงศึกษาและค้นคว้าอย่างต่อเนื่องในเฟสต่างๆ เพื่อให้เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากพอสำหรับนำไปใช้กับคนไข้  ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและวงการแพทย์ในอนาคต”

ขาดทุนคือกำไร

“ปัญหาที่วงการแพทย์กำลังเผชิญ อันดับที่หนึ่งคือประเทศของเราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดได้ เราต้องอาศัยการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน กำลังคน หรือโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องการทำงานวิจัย เพื่อสร้างงานที่จะเป็นต้นแบบให้มากขึ้น ถ้ามองดูจะเหมือนกับการลงทุนทิ้งไปประมาณ 10 ปีเลย แต่หลังจากนั้นเราจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถออกมาทำประโยชน์แก่สังคม แล้วสังคมเราจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรู้ ซึ่งนั่นจะเป็นหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของผู้ป่วยมะเร็งได้อีกเยอะเลยครับ แล้วงานที่เป็นต้นแบบที่คนไทยทำขึ้นเองจะสามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมายเพื่อพวกเราจริงๆ 

“ต้องบอกอย่างนี้ว่างานที่วิจัยและการทำในสิ่งที่ต่อยอดเพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนไข้มันจะมีค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า เพราะจะมีเพียงบางงานวิจัยหรือบางส่วนของงานเท่านั้นที่เราสามารถนำมาใช้ได้จริงๆ ในจุดนี้เราต้องเข้าใจด้วยว่านี่คือธรรมชาติของการทำงานตรงนี้ ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณได้ดีที่สุดสำหรับประเทศเล็กๆ แบบเรา คือเราพยายามที่จะทำให้พื้นฐานแคบและหัวกว้างมาตลอด ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง หากต้องการที่จะพัฒนาต้องลงทุนให้มากเพื่อทำให้มีงานวิจัยพื้นฐานมากตามมาด้วย ปัจจุบันถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์บ้านเราก็เหมือนกับพีระมิดที่ฐานกว้าง แล้วจะเกิดคนหรืองานที่อยู่บนยอดพีระมิดเพียงไม่กี่คนและไม่กี่งานที่สามารถนำมาใช้กับสาธารณะได้ ผมคิดว่าเราต้องทำให้ฐานกว้างขึ้น ให้มีงานวิจัยเยอะๆ เพื่อให้เราได้เลือกชิ้นที่ดีและเหมาะที่สุดได้ง่ายขึ้นเพื่อจะนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานจริงๆ”

นวัตกรรมแห่งความหวังของผู้ป่วยมะเร็ง 

“นวัตกรรมที่จะเป็นความหวังของผู้ป่วยมะเร็ง อย่างแรกซึ่งสำคัญมาก คือนวัตกรรมเกี่ยวกับ ‘Early Detection’ หรือ ‘การคัดกรองรวดเร็ว’ ถ้าขยายความคือเวลาเราบอกว่าเป็นมะเร็งระยะต้น ก้อนมะเร็งประมาณสัก 1 เซนติเมตร แต่ใน 1 เซนติเมตรนี้มีเซลล์มะเร็งเกือบ 100 ล้านเซลล์แล้วนะครับ ปัจจุบันถ้าจะวินิจฉัยมะเร็งก็ต้องรอให้มะเร็งมีขนาดประมาณหนึ่งที่จะเห็นได้ ก็ประมาณ 3-5 มิลลิเมตร คุณเห็นมันประมาณนี้แหละ แต่ในทางชีววิทยามันไม่ใช่ระยะแรกเริ่มแล้ว ฉะนั้น ‘Early Detection Technology’ (เทคโนโลยีการค้นหาผู้ป่วยในระยะแรก) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ‘Liquid Biopsy’ ที่ใช้ตรวจดูร่องรอยของเศษมะเร็งว่ามีหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจ DNA ของเซลล์มะเร็งที่อยู่ในกระแสเลือด จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปเอ็กซเรย์ดูทุกครั้ง 

สอง ราคาที่ถูกลงของการถอดรหัสจีโนม (Genome) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถจัดตะกร้าของคนไข้ให้เป็นตะกร้าหรือกลุ่มย่อยๆ ได้มากขึ้น โดยส่งผลให้การจัดยาที่เหมาะในแต่ละตะกร้าสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น เรียกว่าการแพทย์แม่นยำ ทำให้สามารถใช้ยามุ่งเป้าได้ ซึ่งเมื่อราคายาและเทคโนโลยีถูกลงจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยจะมีมากขึ้นด้วย 

สาม เรื่องของการติดตามมะเร็งแบบ real time เช่น หากคุณมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมากกว่าคนอื่นๆ หรือเคยเป็นมะเร็งมาแล้ว เราสามารถมอนิเตอร์ได้ว่าตอนนี้มะเร็งเป็นอย่างไร ขึ้น-ลงอย่างไร ยาที่ให้ไปได้ผลดี-ไม่ดี โดยไม่จำเป็นต้องไปรอหลายๆ เดือนแล้วไปตรวจครั้งหนึ่งแบบในปัจจุบัน ในมุมตรงนี้จะเป็นมุมที่สามารถทำให้เราเข้าใจมะเร็งได้มากขึ้น เห็นภาพของเซลล์ของมันว่าทำอะไร เหมือนเรารู้เขา รู้เรา และรู้ได้เร็วมากขึ้น ลำพังแค่นี้ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้นอีกเยอะเลย นี่เป็นนวัตกรรมในระยะอันใกล้ที่กำลังจะเกิดในช่วง 5 ปีต่อจากนี้

ส่วนระยะไกล 5 ปีขึ้นไป สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือเทคโนโลยีด้าน Single Cell Study โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีจุดหนึ่งที่เกี่ยวกับมะเร็งคือ เรามักคิดกันว่า ถ้าเราใส่ยา ทุกเซลล์จะตายหมด แต่เซลล์มะเร็งมีวิวัฒนาการ อยู่ไปๆ เซลล์จะเริ่มแตกกิ่งก้านออกไป ฉะนั้น ไม่แปลกที่เราจะพบว่าเวลาเราใส่ยาแล้วทำไมเซลล์ถึงยุบไปเยอะ แต่ก็ยังเหลือบางเซลล์ที่ยังไม่ตายและกลับมาเป็นอีกในเวลาอันสั้น ฉะนั้น เทคโนโลยีที่ศึกษา Single Cell เราจะสามารถดูการธรรมชาติของเซลล์เลยว่ามีความเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน ในอนาคต เราต้องคำนึงถึงปัจจัยของความหลากหลายว่ามีมากน้อยแค่ไหนด้วย ซึ่งการจัดยาก็ต้องพิจารณาจากข้อมูลตรงนี้ด้วย แต่เวลานี้ยังไม่มี จึงทำให้การให้ยาบางอย่างไม่ได้ผลครับ”

สู้ด้วยข้อมูลและความกล้าหาญ

“มีคนเคยเปรียบเทียบงานของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเป็นงานปิดทองหลังพระ เพราะงานวิจัยไม่ได้ออกไปตูมตามได้แบบว่า ‘วันนี้เราต่อขาคนได้ 3 คน หรือผ่าตัดหัวใจสำเร็จไป 5 รายนะ’ แต่งานวิจัยเหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้ภาพของคำว่า ‘มะเร็ง’ ชัดเจนขึ้นทีละน้อย สิ่งที่เราทำอาจดูเหมือนช้าและไม่สามารถอธิบายให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่พวกเรากำลังทำกันอยู่จะเข้าไปกำจัดต้นตอของปัญหาด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง ผมเชื่อเสมอว่าสิ่งที่เราเรียนรู้ในแต่ละวันมันหมุนโลกไปข้างหน้าเสมอ จากโอกาสของการรักษาที่ 50/50 ผมเชื่อว่าจะต้องดีขึ้น อาจจะไม่ได้เป็นตัวเลขแบบก้าวกระโดด เช่น สัก 10 ปีผ่านไป อาจจะเพิ่มเป็น 55/45 แต่มันจะดีขึ้นแน่ สำหรับตัวผม การได้ทำหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยด้านมะเร็งคือความภูมิใจและเป็นชีวิตที่คุ้มค่า เพราะบ้านเรายังขาดความรู้ในส่วนนี้อยู่มาก การได้ทำงานตรงนี้ ผมและทีมนักวิจัยน่าจะสามารถสร้างอิมแพ็คอะไรได้อีกเยอะ ถ้าผมยังอยู่ที่อเมริกาผมอาจจะเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทำอะไรยิ่งใหญ่ได้ก็จริง แต่อาจจะไม่สามารถทำสิ่งที่สามารถไปก่อประโยชน์แบบที่ผู้ที่ได้รับอาจจะเป็นเพื่อน ญาติพี่น้อง ครอบครัว คนในซอยบ้านเรา คนในจังหวัดเดียวกับเราได้

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกทุกๆ คนในเวลานี้คือ ความรวดเร็วและความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในเรื่องของการศึกษามะเร็งนั้นมีสิ่งใหม่ๆ ที่เราเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น มะเร็งปอด มะเร็งในทางเดินอาหาร หรือมะเร็งในเลือด ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โอกาสของการรักษาแทบไม่มี แต่ถ้ามาดูในปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 3 ชนิดนี้ดีขึ้นมาก มะเร็งบางชนิดที่แต่เดิมต้องรักษาด้วยคีโมเปลี่ยนก็มาใช้ยาแคปซูลซึ่งผู้ป่วยสามารถทานอยู่กับบ้านโดยไม่ต้องใช้คีโม ทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 20 ปีก็มีให้เห็นอยู่ หรือมะเร็งเต้านมในเวลานี้ที่มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี (Five Year Survival) อยู่ที่ 90% ไปจนถึงมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน 

“แม้การรักษามะเร็งไม่ใช่เรื่องง่ายและซับซ้อนกว่าที่เราคิด แต่อยากให้ทุกคนรับรู้และมั่นใจเสมอว่านักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานอย่างหนัก เรามีมันสมองของคนที่เก่งมาช่วยกันทำ แม้จะขับเคลื่อนไปได้อย่างช้าๆ แต่ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีในการรักษาจะดีขึ้นแน่นอน ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่เราจะให้ความรู้คน เพื่อให้พวกเขาสามารถต่อสู้กับเรื่องน่ากลัวโดยไม่ต้องปิดตา สู้ด้วยความกล้าหาญ ด้วยการให้ข้อมูล การเป็นมะเร็งไม่ใช่ความโชคร้าย ผมคิดว่าหมดเวลาแล้วที่เราจะสู้แบบกล้าๆ กลัวๆ เราต้องสู้เต็มที่ ผมอยากให้กำลังใจทุกคน และพวกผมทำงานอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร