พิมพ์ณิกา ลวางกูร เพราะฉันจะไม่ตายด้วยมะเร็ง

พิม – พิมพ์ณิกา ลวางกูร คืออดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด Triple Negative Breast Cancer (TNBC) มะเร็งที่ดุที่สุดท่ามกลางมะเร็งเต้านมทั้งหมดด้วยพยาธิสภาพของโรคที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการแพร่กระจายที่สูงกว่าและโอกาสของการกลับมาเป็นซ้ำที่มีเปอร์เซ็นต์สูงกว่ามะเร็งเต้านมชนิดอื่นๆ ในวันที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเมื่อ 2562 เธอเองไม่ต่างจากผู้ป่วยมะเร็งอื่นๆ ที่ตกใจ เสียใจ ฟูมฟาย กระทั่งสามีมาเตือนสติว่า ‘มะเร็ง เป็นได้ก็รักษาให้หายได้’ หลังจากวันนั้นเธอเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อโรคและบอกกับตัวเองว่า ‘ฉันจะไม่ตายด้วยมะเร็ง’ และนั่นเป็นจุดตั้งต้นให้คำถามในชีวิตของเธอเปลี่ยนจากการมองว่ามะเร็งคือโชคร้ายไปสู่คำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้หายจากโรค ตลอดเส้นทางกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เธอศึกษาหาความรู้มากมายเกี่ยวกับมะเร็งและการดูแลตัวเอง ปฏิบัติตัวตามที่คุณหมอแนะนำ รวมทั้งดูแลสุขภาพด้วยตัวเองเพื่อให้เซลล์ดีในร่างกายเธอแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับมะเร็ง วันนี้เธอหายดีแล้วและเริ่มต้นบทบาทใหม่กับการเป็นที่ปรึกษาด้านมะเร็งและสุขภาพ รวมทั้งทำให้เพจอย่าง ‘สวยสู้มะเร็ง’ ที่เธอก่อตั้งเมื่อหลายปีก่อนไม่ใช่เพียงเป็นพื้นที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู่กับโรคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเท่านั้น แต่คือชุมชนเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยกำลังใจและแรงบันดาลใจที่พร้อมส่งต่อและสร้างนักสู้โรคที่แข็งแกร่งให้กับโลกใบนี้ 

มะเร็งเต้านมสายพันธุ์ Triple Negative 

ย้อนหลังกลับไปในปี 2562 หลังจากการตรวจสุขภาพที่พิมจะทำเป็นประจำทุกปี เธอพบว่าตัวเองมีก้อนที่เต้านมขวาขนาด 2.5 เซนติเมตร จนกระทั่งคุณหมอที่โรงพยาบาลแห่งแรกแจ้งว่าก้อนเนื้อนั้นคือมะเร็ง เธอตัดสินใจไปขอความคิดเห็นที่สองทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกแห่ง เมื่อคุณหมอทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง ผลทุกอย่างออกมาเหมือนเดิม เป็นการยืนยันได้ว่าเธอเป็นมะเร็งที่เต้านมจริงๆ 

“มะเร็งเต้านมที่เราเป็นคือสายพันธุ์ Tripple Negative (ทริปเปิ้ล เนกาทีฟ) ซึ่งถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดุของมะเร็งเต้านมที่ถ้ากลับมาเป็นซ้ำ จะมีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่ข้อดีคือเมื่อเสร็จสิ้นการรักษาแล้วคือเสร็จเลย ไม่ต้องกินยา 5 ปี 10 ปี เพราะมะเร็งชนิดนี้ไม่รับฮอร์โมน สำหรับการรักษาของเรา เริ่มจากการผ่าตัดแบบไม่ต้องตัดเต้า ไม่ต้องตัดต่อมน้ำเหลือง ตัดเพียงก้อนมะเร็งเท่านั้น โดยระหว่างทางของการรักษาเราได้ไปเจอวิธีการบำบัดรักษาแบบ Gerson Therapy (การบำบัดรักษาแบบเกอร์สัน) จากตอนแรกที่ยังไม่เข้าใจและเต็มไปด้วยคำถาม เพราะมันแตกต่างจากสิ่งที่เราเคยรู้มาก่อน แต่พอเปิดใจศึกษาและทำความเข้าใจงานวิจัยของเขาก็พบว่าแนวทางนี้สมเหตุสมผล เราเลยลองลงมือปฏิบัติ แล้วให้เวลาและวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย วิธีดังกล่าวเป็นการรักษาในระดับเซลล์โมเลกุล โดยการทำให้เซลล์ที่ดีที่ยังไม่เป็นมะเร็งแข็งแรงมากๆ เพื่อล้อมกรอบเซลล์มะเร็งไว้ไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย และทำให้ร่างกายตรงนั้นแข็งแรง ลดภาวะต่างๆ ที่จะเอื้อให้มะเร็งเติบโต ถ้าพูดให้เห็นภาพ พอเซลล์แข็งแรงก็เหมือนกับเรามีประชากรในประเทศเป็นคนดี 90% มีทหารตำรวจที่แข็งแรง คนไม่ดีก็จะถูกล้อมกรอบไว้ โดยเราใช้วิธีนี้ควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ 

“แม้การผ่าตัดจะผ่านไปด้วยดี แต่ด้วยสายพันธุ์ที่ว่า คุณหมอจึงแนะนำให้เราทำคีโม 4 ครั้ง เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกให้หมด เมื่อตัดสินใจว่าจะให้คีโม เราเลยต้องลดความเข้มข้นของการบำบัดรักษาแบบเกอร์สันลง ด้วยร่างกายที่ใช้การดูแลแบบเกอร์สันเต็มรูปจะไม่ให้คีโมด้วยความเชื่อที่ว่าคีโมเป็นสารเคมีที่ทำลายเซลส์ดีไปพร้อมกับทำลายเซลส์มะเร็ง เรากลับมากินเนื้อสัตว์และโปรตีนเสริมเพื่อให้ค่าเลือดเราไปต่อได้ รวมถึงการกระตุ้นเซลส์เม็ดเลือดขาว ระบบภูมิคุ้มกัน หลังจากให้คีโม 4 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์ และฉายแสงวันละ 5 นาที เป็นจำนวน 33 ครั้ง โดยใช้ระยะเวลารักษาทั้งหมด 7 เดือน การรักษาจึงเสร็จสิ้น โชคดีของเราคือมะเร็งไม่ลามเลย จะมีก็คือผลจากคีโม เช่น ผมร่วง ผิวแห้ง และเล็บที่มีลักษณะเป็นคลื่นเท่านั้น 

“หลังจากการรักษาที่ยาวจนถึงฉายแสงจบ เราเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่อ้วน ซึ่งถ้าไม่เข้าใจ ก็คงจะรู้สึกว่าดีนะกินอาหารได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะกลายเป็นว่าไขมันที่เยอะจะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ซึ่งมะเร็งชอบภาวะการอักเสบ คุณหมอเลยบอกให้ลดความอ้วน ซึ่งเราไม่อยากกลับมาเป็นซ้ำเพราะถ้าเป็นซ้ำโอกาสเสียชีวิตสูง ภารกิจใหม่จึงเริ่มขึ้นคือเราห้ามกลับไปอ้วนอีก ถ้าจะมาสรุปก็คือเป้าหมายของการรักษาจะถูกเปลี่ยนทุกระยะ และนั่นเป็นความท้าทายที่เราต้องข้ามผ่านและผ่านมันมาได้แล้ว (ยิ้ม)”

ขั้นบันไดแห่งความท้าทาย

“ความท้าทายแรกคือทันทีที่คุณหมอบอกว่าก้อนเนื้อนั้นคือมะเร็ง เราเข้าใจคำว่าสติแตกเลยว่าเป็นอย่างไร เรารู้สึกสะเทือนใจที่สุด พอก้าวออกมาจากห้องคุณหมอเพื่อไปลานจอดรถ เราทรุดลงไปร้องไห้ฟูมฟาย จนสามีมาแตะบ่าบอกว่า ‘ไม่เป็นไร เป็นแล้วก็รักษา’ เมื่อตั้งสติและยอมรับได้ว่าเป็นมะเร็งนะ ภารกิจถัดไปคือการจัดการสิ่งต่างๆ เริ่มจากการไปบอกกับครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่เพราะท่านแก่แล้ว เรากลัวและกังวลว่าคุณแม่จะเครียดหากรู้ว่าเราป่วย เราปรึกษากับสมาชิกครอบครัวคนอื่นและตกลงกันว่าจะทำให้การป่วยในครั้งนี้เป็นเรื่องปกติที่สุด และพี่สาวเป็นพยาบาลด้วย คำพูดเลยยิ่งมีน้ำหนัก พอคุณแม่ท่านทราบ ท่านก็เข้าใจและทุเลาความกังวลลงได้ แต่เรารู้แหละว่าท่านยังมีความกังวลอยู่บ้าง เพราะมันคือมะเร็ง

“ถัดมาคือเรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อพบก้อนมะเร็ง เราได้รับการประเมินค่าใช้จ่ายมาเกือบ 3.5 ล้านบาท เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งวันที่เครียด ไหนจะโรคมะเร็งไหนจะค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โชคดีที่สามีกับพี่สาวเรียกสติกลับมา จนเราตัดสินใจว่าจะเลือกไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้เห็นความจริงว่าคนป่วยเต็มไปหมด พอได้เจอเพื่อนร่วมโรคทำให้เรารู้ว่าเส้นทางนี้เราไม่ได้สู้เพียงคนเดียว ไม่ใช่เราที่ลำบากอยู่คนเดียว และอย่างที่บอกว่าเราพบว่าคนไข้มะเร็งมีจำนวนเยอะมาก เราเลยได้เห็นอีกมุมจากฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ว่าทำงานหนักมาก ทุกครั้งที่มีนัด เราจะแต่งตัวสวยที่สุดไปโรงพยาบาล เพราะคิดว่า ความสดใสและสดชื่นที่เราพกไปน่าจะเป็นกำลังใจให้คุณหมอและพยาบาลได้บ้าง ขณะเดียวกัน เราอยากเป็นกำลังใจและแสดงให้เห็นว่าถึงเราจะป่วย แต่เรายังสามารถสดใสและสร้างพลังใจให้ตัวเองได้นะ 

“สุดท้ายคือความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ การจัดการกับความเครียดและความกลัวทั้งตัวโรคและความกลัวว่ารูปลักษณ์จะเปลี่ยนไปจนอาจทำให้คนใกล้ตัวเราเปลี่ยนแปลง เราพบว่ามีผู้หญิงหลายๆ คนต้องแยกทางกับคู่ชีวิต ในกรณีของเรา ถือว่าค่อนข้างโชคดีด้วยครอบครัวอยู่เคียงข้าง แต่เราเองเป็นคนชอบวางแผนและชัดเจนกับทุกอย่างอย่างที่บอกไป เราบอกกับสามีอย่างตรงไปตรงมาเลยว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น ถ้าจะต้องแยกจากกันจริงๆ ขอให้เขาบอกเราตรงๆ อย่าให้เราไปรู้จากคนอื่นเพราะเราคงจะเสียใจมาก เราไม่ได้อยากเสียเขาไปหรอก แต่เราต้องวางแผน ถ้าเรื่องไหนที่กังวล เราจะทำให้ทุกอย่างชัดเจน ตกลงกันไว้ก่อน อย่างน้อยจะช่วยลดความกังวลลงได้มากเลยค่ะ”

Cancer Fighter Community ชุมชนสร้างเสริมส่งต่อกำลังใจ 

ระหว่างเวลา 7 เดือนเต็มของการรักษาตัว นอกจากการปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำแล้ว พิมยังใช้เวลาในการหาความรู้เรื่องสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เธอเป็น เริ่มลงมือปฏิบัติ และวัดผลจากสิ่งที่เธอทำเพื่อให้สุขภาพดีแบบองค์รวม พร้อมๆ ไปกับเปิดเพจเฟสบุ๊คของเธอเองในนาม ‘สวยสู้มะเร็ง’ โดยมีเป้าหมายคือการเป็นพื้นที่บันทึกเรื่องราวชีวิตในช่วงเวลาการเป็นมะเร็งของเธอ  เมื่อมีผู้ติดตามมากขึ้น เป้าหมายของเธอถูกขยายไปไกลกว่าเดิมคือการให้ความรู้และการสร้างเครือข่ายนักสู้มะเร็งในบ้านเราให้มากและแข็งแกร่งขึ้น

“ทุกวันนี้ เพจสวยสู้มะเร็งเป็นมากกว่าพื้นที่ของการแบ่งปันความรู้ แต่เป็นเสมือนชุมชนที่รวมคนหัวอกเดียวกันได้มาพูดคุย ให้กำลังใจ มาร้องไห้และหัวเราะไปด้วยกัน นอกจากความสุขจากการได้รับคำขอบคุณและกำลังใจจากลูกเพจ เรายังได้เรียนรู้และได้ความรู้จากประสบการณ์คนอื่นๆ พร้อมๆ ไปกับมีโอกาสได้ช่วยเหลือและแบ่งปันสิ่งที่เรามี ทั้งข้อมูลของโรคที่เราเผชิญ ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว การสร้างกำลังใจ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นด้วย”

ของขวัญจากมะเร็ง

“หลังจากเป็นมะเร็ง เราเริ่มศึกษาเรื่องการจัดการความเครียด การกำหนดลมหายใจเพื่อลดความเครียด เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้ว่าเวลาเครียด ข้างในร่างกายปั่นป่วนขนาดไหน พอได้รู้ เราเลยตั้งโจทย์ว่าจะไม่เครียด ฝึกให้กำลังใจและสะกดจิตตัวเองว่า ‘วันนี้เป็นวันที่ดีของฉัน ฉันจะไม่ตายเพราะมะเร็งนะ’ พอทำแบบนี้บ่อยๆ ก็เหมือนเราได้โฟกัสและจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองไปสู่สิ่งนั้น เช่น ฉันจะเดินไปกดกาแฟดื่มเองนะ ฉันจะออกกำลังกายนะ ฉันจะฟังธรรมะ เดี๋ยวรักษาเสร็จจะกลับไปทำงานแล้วนะ มะเร็งทำให้เราเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนนิสัย เห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัวมากขึ้น และเห็นความสุข ให้ความสำคัญกับความสุขเล็กๆ ในแต่ละวันมากขึ้น จากแต่ก่อนที่เรานิยามความสุขจากการได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้กระเป๋า ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ กินอาหารดีๆ เป็นคนที่มีความสุขจากการได้รับ เช่น สามีต้องซื้อของให้ สามีต้องทำสิ่งนี้ให้ เราถึงจะมีความสุข แต่เดี๋ยวนี้แค่เดินไปกดกาแฟแล้วเดินมานั่งดื่ม หรือออกกำลังกายเบาๆ นั่นคือความสุขแล้ว เราเปลี่ยนความสุขจากการที่เคยเป็นผู้รับ ไปสู่การเก็บความสุขจากการเป็นผู้ให้มากขึ้น เราพบว่าตัวเองพูดขอบคุณบ่อยขึ้น ทั้งกับตัวเองและคนที่อยู่เคียงข้าง

“ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้บอกเลยว่าเราอยากขอบคุณมะเร็งที่เข้ามาเตือนเราในวันที่เรายังสู้ไหว และอยากขอบคุณตัวเองที่ปรับเปลี่ยน แล้วลงมือทำสิ่งต่างๆ ให้กับชีวิต วางแผนและดูแลชีวิตตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้มะเร็งกลับมา แต่ก็ยังเตรียมความพร้อมเสมอหากมะเร็งกลับมาว่าเราจะรับมืออย่างไร ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา เราไม่ได้มองแค่ยอดเขาที่เราจะไปให้ถึง แต่เรายังเก็บดอกไม้ระหว่างทางมาเยอะมาก นั่นคือความสุขและประสบการณ์ และเพราะทุกอย่างไม่แน่นอน เราเลยคิดว่าหากช่วงสุดท้ายของชีวิตเรามาถึง อย่างน้อยเราจะมีภาพความทรงจำดีๆ เยอะมาก

“สำหรับเรา การเป็นมะเร็งเหมือนการปิดตาเดินขึ้นบันไดที่ไม่รู้ว่าบันไดขั้นต่อไปจะเจออะไรบ้าง เช่น ให้คีโมแต่ละเข็มเราจะมีสภาพร่างกายเป็นอย่างไรนะ ในความน่ากลัวที่เราคาดหวังอะไรไม่ได้ ทำให้เราต้องวางแผนดีๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราผ่านความท้าทายแค่ละขั้นบันไดของการรักษามาได้ (ยิ้ม)” 

ตั้งสติเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่า

“อย่างที่เล่าไปพอรู้แล้วว่าเป็นมะเร็ง เราฟูมฟายอยู่ระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่เราค้นพบและเรียนรู้คือ เราต้องยอมรับและย้อนกลับมาดูตัวเองว่าอะไรที่ทำให้เราเป็นมาถึงจุดนี้ ดังนั้น สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ให้โอกาสตัวเองได้ฟูมฟายไปเลย เพียงแต่ตั้งสติให้เร็ว อย่าเพิ่งโทษลมฟ้า ส่วนคำถามว่าทำไมเป็นฉัน เราคิดว่าเป็นคำถามนี้ดีนะ ลองใช้คำถามนี้แล้วตอบตัวเองว่าทำไมเป็นเรา เพราะเราใช้ชีวิตบนความเครียด กินอาหารไม่ดี ไม่เป็นเวลา ไม่ออกกำลังกาย หรือนอนไม่ดีรึเปล่า เพราะเราเคยเป็นแบบนั้นและคิดว่าการเป็นมะเร็งของตัวเองน่าจะมาจากพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านี้ แล้วพอถึงจุดที่ตั้งสติได้ คำถามของคุณจะเปลี่ยนไป นั่นคือจุดพลิกผันที่จะทำให้ความเชื่อและการกระทำเปลี่ยนไปด้วย จากตอนแรกที่กลัวว่าฉันจะตายไหม ถ้าเราตัดสินใจว่าเราจะไม่ตาย เราจะหาทางรอดให้กับตัวเอง 

“จากเส้นทางของเรา มะเร็งไม่เท่ากับตาย แล้ววันนี้เราแข็งแรงกว่าตอนก่อนเป็นมะเร็งด้วย ถ้าคุณท้อแท้ ต้องถามว่าท้อแท้เรื่องอะไร เช่น เรื่องตกงาน เราจะบอกว่ามันจะเป็นแค่ช่วงเวลาเดียว เราผ่านมาแล้ว ตกงานมาแล้วเหมือนกัน แต่เราผ่านมาได้ แล้วพอถึงวันหนึ่งคุณจะสร้างคุณค่าใหม่ให้กับตัวเองได้ แสวงหาอาชีพใหม่หรือได้ที่ทำงานใหม่ หายใจลึกๆ วางแผนดีๆ ปรึกษาคนรอบข้าง ยิ่งกลัวยิ่งต้องวางแผนรอ ตั้งหลักให้มั่น แต่ถ้ากลัวแล้วปล่อยให้กลัว ไม่ลงมือทำอะไร ความกลัวจะอยู่ในใจ แล้วพอต้องผ่านในแต่ละขั้นตอนเราจะยิ่งหดหู่ หรือถ้าท้อแท้เรื่องความสัมพันธ์ อย่างที่บอกใจเขาใจเรา กลัวคนที่เรารักจะจากไปใช่ไหม ถ้าอย่างนั้น ต้องทำให้เขามีความสุข อย่าทำตัวเป็นภาระมากจนเกินไป เราป่วยแค่กาย ไม่ได้ป่วยใจ เราต้องทำให้รู้ว่าเราป่วยนะ แต่เราจะช่วยตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วเราขอบคุณคนรอบตัวที่อยู่ในทุกๆ ความสัมพันธ์ คนที่อยู่กับเรา ที่ดูแลเรา แนะนำว่าให้เปลี่ยนโฟกัสมาที่การแก้ปัญหา อย่าโฟกัสที่ปัญหา เหมือนเซลล์มะเร็งที่เราพูดถึง อย่าโฟกัสที่มะเร็ง 5% แต่มาโฟกัสอีก 95% และทำให้เซลล์เหล่านั้นแข็งแรงที่สุด

“เคล็ดลับหนึ่งที่เราใช้เสมอคือถ้าท้อ ให้ลองฝึกหายใจ เปลี่ยนจุดสนใจ ไปทำอย่างอื่นที่ตัวเองชอบ กอดและให้กำลังใจตัวเองให้เป็น ที่เราพูดได้เพราะเราได้ผ่านในจุดยากๆ หลายๆ จุดมาแล้ว เราอยากเป็นกำลังใจให้ และถ้าตอนนี้ยังคิดอะไรไม่ออก ลองดูเราเป็นตัวอย่างก็ได้ ที่สำคัญคือเลือกสิ่งที่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตที่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นค่ะ (ยิ้ม)” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: BeautifulMindFightCancer 

Share To Social Media