พรไพลิน ตันเจริญ นักศิลปะบำบัดผู้ออกแบบวิธีดูแลใจด้วยใจ

‘ศิลปะบำบัด’ คือการใช้กระบวนการทางศิลปะเป็นเครื่องมือในการเยียวยาและรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยศาสตร์ดังกล่าวนั้นมีอยู่หลากหลายแนวทางด้วยกัน ตั้งแต่แนวทางที่มุ่งเน้นให้เกิดการแสดงออกผ่านงานศิลปะอย่างสร้างสรรค์ แนวทางที่ใช้ทักษะศิลปะร่วมกับความรู้ในเชิงจิตวิทยา ไปจนถึงแนวทางที่วิเคราะห์จากสิ่งที่ปรากฏในภาพและเนื้อตัวของผู้เข้ารับการบำบัด สำหรับ ทราย – พรไพลิน ตันเจริญ ผู้เป็นทั้งครูและนักออกแบบกระบวนการศิลปะ ‘ศิลปะบำบัด’ ของเธอเป็นแนวทางที่นำเอาความรู้ของศิลปะมาผสมผสานกับมนุษยปรัชญา (ปรัชญาความเป็นมนุษย์) ซึ่งโฟกัสไปกับการศึกษาถึงพื้นฐานจิตใจของความเป็นมนุษย์ เพื่อออกแบบวิธีการให้ผู้คนได้มีโอกาสสำรวจและเข้าใจจิตใจตัวเอง โดยศาสตร์ที่เธอได้เรียนรู้มา ไม่เพียงแต่จะใช้ในการดูแลใจและร้อยเรียงชีวิตให้เกิดสมดุลเท่านั้น แต่ในโรคทางกายทั้งหลาย รวมไปถึง ‘โรคมะเร็ง’ ศิลปะก็สามารถช่วยบำบัดได้เช่นเดียวกัน แล้วศาสตร์ที่ว่านี้จะสามารถช่วยเปิดประตูให้เราเข้าไปสัมผัสสิ่งที่อยู่ภายในและเบื้องลึกของชีวิตเพื่อจะนำไปสู่การมีสุภาวะที่ดีได้อย่างไร ไปฟังเธอเล่าให้ฟังในบทสัมภาษณ์นี้กัน

ศาสตร์แห่งการเยียวยาจิตใจ

ก่อนจะมาเป็นนักศิลปะบำบัดอย่างทุกวันนี้ ทรายเคยทำงานเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์มาก่อน เธอใช้ชีวิตเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไปแบบ work hard, play harder จนมาถึงจุดที่ย่ำแย่ที่สุดของร่างกายและจิตใจ เธอพบว่าเวลานั้น แม้แต่ ‘ศิลปะ’ ก็ไม่ช่วยเยียวยาเธอได้เลย กระทั่งเมื่อเธอไปพบกับ ‘ศิลปะบำบัด’ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต

“ตอนที่ทำงานใหม่ๆ ทรายเต็มที่ทั้งกับงานและชีวิตมากๆ จนวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วล้มตึงลงไปเลย เราไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งทางบริษัทสามารถหาคนมาทำงานแทนเราได้ทันที เพราะแน่นอนว่าเขาต้องหาคนมาเพื่อทำให้งานเสร็จลุล่วงตามเวลา แต่สำหรับเรา พอเจอเหตุการณ์นี้ขึ้นจึงเกิดคำถามว่า แล้วคุณค่าของเราอยู่ที่ไหนกัน เมื่อเกิดวิกฤตของชีวิต ทำไมศิลปะไม่ช่วยเยียวยาเราได้เลย พอเกิดคำถามนี้ขึ้น ทรายไปค้นหาแล้วเจอคำว่า ‘ศิลปะบำบัด’ และรู้สึกสนใจ พอดีกันกับที่สถาบัน Anthroposophy Art Therapy ซึ่งขึ้นตรงกับ Goetheanum ในสวิตเซอร์แลนด์มาเปิดหลักสูตรที่ไทยพอดี จึงมีโอกาสได้เข้าเรียน

“การได้เข้าเรียนหลักสูตรนี้เรียกว่าเบิกเนตรมากๆ เพราะทรายคิดว่าตัวเองมีทักษะเรื่องศิลปะแบบเต็มกระเป๋า กะว่าเสร็จเราแน่ๆ ไม่น่ายาก แต่พอเข้าเรียนจริงๆ คุณครูไม่สนใจเลยว่าผลงานจะออกมาสวยแค่ไหน เพราะสิ่งที่เราเรียนคือปรัชญา, การแพทย์ และศิลปะ ซึ่งใน 3 พาร์ท เราเก่งอยู่แค่พาร์ทเดียว นอกนั้นเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของทรายเกิดขึ้นตอนทรายเรียนอยู่ปีที่ 3 เพราะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมองงานศิลปะเปลี่ยนไป เวลาเห็นคนที่ทำงานศิลปะแล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้มองที่เขาทำได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสนใจคือทำไมเขามือสั่น หรือสีที่เขาใช้ทำไมสีที่ใช้จืดจางจังเลย แทนที่คุณภาพของสีควรจะเป็นแบบนี้ หรือสีในหลอดเดียวกันนี้ แต่ทำไมคน 10 คนเวลาระบายถึงได้แตกต่างกันล่ะ

“แล้วนักศิลปะบำบัดมีหน้าที่อะไร ในกระบวนการทางปรัชญา เราจะเรียนว่ามนุษย์มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ได้มาเกิดบนโลกนี้กับพ่อแม่คนนี้ด้วยภารกิจอะไร เราจะตายไปพร้อมภารกิจอะไร ดังนั้น การที่เราทำงานกับมนุษย์ เราควรจะรู้ปรัชญาความเป็นมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงการจากโลกนี้ไป พอเรารูว่าชีวิตของมนุษย์วนเวียนอยู่ในวัฏฏะที่ไม่รู้จักจบสิ้น ต้องพบกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังนั้น เมื่อเราเจอคนไข้ที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติของชีวิต อย่างเช่น ไม่ยอมรับเลยว่าฉันเจ็บ ฉันป่วย เราจะไปทำงานตรงนั้นเพื่อบอกเขาว่านี่คือสัจจะ เรื่องจริงของชีวิตนะ ทำอย่างไรให้เขาอยู่กับความจริงและยอมรับตรงนั้นให้ได้ ด้วยการทำงานกับธรรมชาติ กับความเปลี่ยนแปลงของเวลารอบตัวเพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งนี้เป็นสัจธรรม เป็นการยอมรับเพื่อให้เห็นแจ้งและนำไปสู่การเลือกชีวิตของตนเอง ไม่ใช่ศิโรราบต่อโชคชะตา”

ศิลปะบำบัดใคร

“ศิลปะบำบัดมักจะถูกใช้ควบคู่ไปกับการดูแลทางการแพทย์ เพราะเขาเชื่อว่าการแพทย์เป็นการรักษาทางกาย ขณะที่ทางใจและในระดับจิตวิญญาณ จะเป็นศิลปะนี่แหละที่เข้าทำงานกับใจ (mind and soul) ของคน ซึ่งศิลปะบำบัดสามารถใช้ได้กับใครก็ตามที่ต้องการหลุดพ้นจากปมปัญหา ความกังวล ความเครียด รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยที่กำลังเผชิญโรคทางกายต่างๆ ศิลปะจะเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าไปช่วยพาเขาไปเจอปัญหาต่างๆ ภายในร่างกายและจิตใจ เพื่อทำความเข้าใจ ช่วยปลดปล่อยพลังลบในชีวิต เพื่อเข้าใจและค้นพบทางออกที่เหมาะสมกับตัวเอง 

“ใน 3 ปีที่ทรายเรียน ทรายวาดรูปเยอะมาก และนักเรียนทุกคนของทรายจะได้วาดรูปเยอะมาก ที่ทรายให้พวกเขาวาดรูปเพื่อให้รู้ว่าตนเองเป็นเช่นไรเมื่อผ่านกระบวนการของสี อย่างเช่น การใช้สีแดง ถ้าเขาใส่น้ำเยอะมากๆ จนกลายเป็นสีชมพู ทำเท่าไหร่ก็เป็นสีชมพู แต่เขาชี้บอกว่านี่สีแดง นั่นไม่ได้แปลว่าเขาผิดนะคะ แต่คือการสะท้อนให้เห็นว่าภายในใจของคนๆ นั้นเป็นอย่างไร หรือในคนที่มีความดันโลหิตต่ำ เขาจะใช้สีโทนเย็นมาก เวลาเขาใช้สีน้ำเงิน เราจะพบว่าโทนสีจะเข้มมาก เขาจะรู้สึกว่าอยู่ในนั้นแล้วสบายใจจังเลย เวลาระบายสีจะระบายช้าๆ เคลื่อนไหวช้า เพราะความดันเขาต่ำ ซึ่งถ้าเราอยากให้ความดันของเขาสูงขึ้น เราจะเพิ่มสีส้มหรือสีโทนอุ่นเข้าไปในรูปของเขา เช่น เสนอแนะว่าลองใส่พระอาทิตย์ลงไปในดูไหมคะ แล้วให้ภาพสว่างขึ้นมาเพื่อที่จะสมดุลความเย็นของสีน้ำเงิน 

“อีกหนึ่งตัวอย่าง เช่น คนไข้มะเร็งที่เราพบว่าในคนไข้บางราย มักจะทำอะไรเป็นระบบระเบียบ ทำแบบเดิมๆ ซ้ำๆ สมมติว่าให้เขาลองวาดรูปก้อนเมฆ เขาจะวาดก้อนเมฆก้อนเท่าๆ กัน เรียงแถวเป็นเส้นตรง โดยจะไม่สามารถวาดกระจัดกระจายแบบที่เราเห็นบนท้องฟ้าได้ ภาพที่ออกมาจะเป็นระเบียบ แต่ไม่เป็นธรรมชาติ นั่นทำให้เห็นว่าแม้แต่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ เขายังเรียงให้เป็นระเบียบเลย ดังนั้น เราจะต้องไปคุยแล้วว่าในชีวิตประจำวันของเขา บุคลิกลักษณะ และความรู้สึกนึกคิดของเขาเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วหรือเปล่า หรือเขามีปัญหากับบุคลิกและความคิดอย่างนั้นของเขาไหม หลังจากผ่านกระบวนเหล่านี้แล้ว เราจะมาดูว่าเราใช้วิธีไหนในการแก้ไขสิ่งที่เขาเป็น

“ในทางศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ภาพศิลปะที่ออกมานอกจากจะสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในความคิดและใจของเขาได้และยังสามารถบ่งบอกถึงเซลล์ภายในได้ อย่างเช่น เซลล์มะเร็งที่จะจำลองตัวเองซ้ำๆ แล้วสร้างตัวจากก้อนเล็กไปเป็นก้อนใหญ่ เป็นเนื้อเยื่อที่สร้างเครือข่ายให้ตัวเองอย่างเป็นแพทเทิร์น ดังนั้น คนที่เป็นมะเร็งจึงมีแนวโน้มว่าจะทำงานเป็นแพทเทิร์นได้ดี ทีนี้สิ่งที่ทรายจะทำคือ ถ้าสมมติว่าแพทเทิร์นนี้เกิดขึ้นแล้วเราอยากให้คลายลง เราจะใช้สีน้ำด้วยเทคนิค wet on wet กับคนคนนี้ เพื่อให้เขาทำงานแบบอื่นบ้างที่ไม่ใช่กับการทำงานแบบที่เป็นแบบแผน (pattern) ที่ตัวเองสร้างขึ้น แต่จะให้ไปสังเกตธรรมชาติเยอะๆ เพราะในธรรมชาติเองก็มีความเป็นระเบียบ แต่เป็นความเป็นระเบียบที่ไม่ได้ถูกบังคับ งานที่ให้ทำก็เช่น ไปเดินในสวน จัดดอกไม้ วาดรูปวิวทิวทัศน์ เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงแบบที่ธรรมชาติเป็นจริงๆ และทั้งหมดที่เล่ามาคือการทำงานภายใต้ความเห็นของแพทย์เท่านั้น

“เหล่านี้คือการทำงานของทรายในศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา ดังนั้น เราจะไม่ตีความรูป เพราะมีเพียงเจ้าของรูปเท่านั้นที่จะบอกเราได้ แต่งานของทรายคือการออกแบบกระบวนการโดยการ เลือกใช้สีและเทคนิค หรือวัสดุศิลปะที่เหมาะสมเพื่อปรับให้ภาวะด้านในของเขากลับมาสู่ภาวะสมดุล”

ใจเปิดกว้าง ละวางอคติ

“การทำงานศิลปะบำบัด เอาจริงๆ ทรายไม่ได้อะไรเลยในเรื่องทักษะ ซึ่งถ้าถามตัวเองตอนอายุ 27 ที่ยังเป็นนักออกแบบคิดว่าตัวเองเก่งศิลปะ แล้วมาเรียนศิลปะบำบัดใหม่ๆ ทรายอยากจะหันไปบอกตัวเองตอนนั้นว่า “มาทำอะไรของแกเนี่ย เขาไม่ได้ดูเรื่องทักษะศิลปะอะไรเลย ตื่น!” แต่ว่าสิ่งที่ได้จะเป็นเรื่องชีวิต เรื่องปรัชญา กลายเป็นว่าอินกับปรัชญามากๆ เลย แล้วเปิดรับทุกอย่างที่เข้ามา ทุกศาสนา ทุกคำสอน ได้รู้ว่าชีวิตเราก็เท่านี้ สุดท้ายมนุษย์ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย พอเรามีความคิดแบบนี้เกิดขึ้น ทรายเลยคิดว่าในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ เราจะทำอย่างไรให้ตัวเองมีความสุข แต่ไม่ปฏิเสธความทุกข์

“การมาเรียนศิลปะบำบัดและใช้ศิลปะเพื่อฝึกตัวเอง ทำให้ทรายได้ฝึกใจเยอะมากๆ ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ทรายอาจจะเคลื่อนไหวและหวั่นไหวไปกับความรู้สึกที่เข้ามาได้ง่าย เช่น มีคนมาว่า ฉันโกรธ มีคนมาทำให้ฉันเศร้า ฉันร้องไห้ แต่เมื่อได้ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เหตุการณ์ที่พูดมาทั้งหมดนี้จะเกิดได้ยากขึ้น เพราะเข้าใจมันมากขึ้น อารมณ์จะเป็นประมาณว่า เศร้านะแต่ไม่ขนาดนั้น เห็นความเสียใจของตัวเองนะแต่ไม่สะเทือนเพราะแยกอารมณ์ออกจากเหตุผล ทำให้จากปกติ เมื่อทุกข์ปุ๊บ เราจะพุ่งไปหาคนอื่น แต่พอได้ฝึกใจมาประมาณหนึ่ง ทรายพบว่าทรายสามารถเรียกตัวเองกลับมาได้เร็วได้ด้วยตัวเอง และมองเรื่องที่ทำให้เป็นสุขหรือทุกข์เป็นเรื่องไม่จีรัง ตอนนี้ทรายพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นอยู่ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีอยู่เท่านี้ จะไปเสียเวลาเป็นทุกข์ทำไม คนที่พูดเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วเราจะไปโมโหเขา แล้วให้ความโมโหอยู่กับเรานานๆ แบบนี้เหรอ ทรายจึงสนุกกับการใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้นเยอะ”   

บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ปลดล็อกใจเราด้วยตัวเรา

“ลองสังเกตง่ายๆ ส่วนใหญ่เมื่อมีความทุกข์ คนเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราหาย เช่น ไปหาหมอ คุยกับเพื่อน ไปปรึกษาผู้รู้ หรือถ้ามีความสุขก็จะไปขอพรให้ได้มาอีก หรือให้อยู่กับเรานานๆ ทั้งที่วิธียั่งยืนกว่าคือ ‘การจัดการกับใจของเราเอง’

“หลักใหญ่ใจความของศิลปะบำบัด คือให้ศิลปะพาเราไปเข้าใจว่าเราเกิดมาเพื่ออะไรในภพชาตินี้ ให้รู้ว่าชีวิตประกอบไปด้วยความสุขและความทุกข์ ชีวิตมอบภารกิจนี้มาให้เรา เมื่อเรารู้ตัว เราจะสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือได้ถูก ซึ่งศิลปะบำบัดเป็นเครื่องมือที่ดีที่ให้เรารู้วิธีจัดการกับตัวเอง โดยวิธีการจัดการจะคล้ายๆ กับการนั่งสมาธินั่นแหละ ดังนั้น นิยามของศิลปะสำหรับทรายจึงเป็นได้ทุกอย่าง ทำตอนไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คุณสามารถจดจ่ออยู่กับมันในชั่วระยะเวลาหนึ่ง หากลองสังเกตเวลาที่เรามีสมาธิ เราจะมีโอกาสได้หยุดนิ่ง ได้สำรวจและรู้เท่าทันจิตใจตัวเองว่าตอนนี้เราทำอะไรและรู้สึกอย่างไร แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ทำให้รู้สึกสงบและนิ่งขึ้นได้ ใจที่ผ่านการฝึกมาจนเกิดสมาธิจะทำให้เวลาเราคิด พูด และทำจะมาพร้อมสติเสมอ และสติจะสอนให้เราดำเนินชีวิตอย่างละเมียดละไมมากขึ้น

“จนถึงตอนนี้ทรายยังวาดรูปทุกวัน หรือวันไหนที่อยากรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร ทรายจะวาดรูปออกมา มันช่วยให้เราเห็นและจัดการความไม่สบายใจของตัวเอง ส่วนใครก็ตามที่อยู่ในห้วงของความไม่สบายกายและใจ และถ้าคุณเลือกว่ากระบวนการของคุณจะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ จุดสำคัญคือคุณไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าคุณทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ไม่ต้องตั้งชื่อ หรือหาความหมาย แต่ให้ศิลปะเป็นวิธีในการฝึกและปฏิบัติ ถ้าคุณชอบขีดเส้น ลองใช้การขีดเส้นเป็นการฝึกไปแบบนั้น เริ่มจากเวลาสั้นๆ วันละ 5 นาที 10 นาที ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นครึ่งชั่วโมง เป็นชั่วโมงหนึ่ง ทรายเชื่อว่า 1 ปี ผ่านไป รูปแรกกับรูปปัจจุบันของจะไม่เหมือนกัน นั่นแสดงว่าเราได้เติบโตมาจากจุดเดิมนั้นแล้ว

“หรือถ้าไม่ใช่ศิลปะ จะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ คุณอาจจะลองจากการหั่นแครอทให้เป็นชิ้นขนาดเท่าๆ กัน ในวันแรกแครอทบนเขียงอาจจะเบี้ยวบ้างอะไรบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทรายเชื่อว่าแครอทนั้นจะเริ่มเท่ากัน จนวันหนึ่งคุณจะสามารถหั่นได้สวยโดยที่ไม่ต้องมองเขียงอีกแล้ว ซึ่งสิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้ระหว่างการหั่นแครอทคือการรู้เนื้อ รู้ตัว รู้ว่าทำอะไร ซึ่งหากเราทำได้เช่นนี้บ่อยขึ้นๆ เราจะเกิดความชำนาญในการรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเองและการจัดการความรู้สึกนั้นได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เมื่อเราเจอความทุกข์ เราจะรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร เรารู้ว่าต้องอยู่ในนั้นก่อนสักแป๊บนึงนะ แล้วถ้าต้องอยู่ในความทุกข์นั้น เราต้องเตรียมอะไรใส่เป้ของเราบ้าง เราฝึกอะไรมาแล้วบ้าง หยิบขึ้นมาใช้เสียเพื่อให้พร้อมตั้งรับกับความทุกข์นั้น ระหว่างที่คุณกำลังวุ่นกับการเตรียมตัวอยู่นั้น คุณจะพบเองว่า “โอ๊ะ ความทุกข์ผ่านไปแล้วนี่ ความทุกข์ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปนี่นา” เพราะชีวิตมีแค่นั้นจริงๆ นะคะ ดังนั้น ทรายว่าเรารื่นรมย์ไปกับชีวิตกันดีกว่าค่ะ (ยิ้ม)”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้ช่วยออกแบบ ‘รอยยิ้ม’ ที่ปลายทาง

“การจากไปอย่างองอาจ
คือสิ่งที่หมอปรารถนาให้มันเกิดขึ้น
เมื่อความตายมาเยือน…”

นั่นเป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า อะไรคือเป้าหมายปลายทางในชีวิตที่วาดหวังไว้ ของ คุณหมอโจ้ พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและนักศิลปะบำบัด ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิศิลปะบำบัด (Art Therapy Foundation) และริเริ่มโปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งที่นั่นเองที่ทำให้เธอกลายเป็นเพื่อนร่วมทางของผู้ป่วยเด็กมากมายเพื่อเดินทางไปสู่ลมหายใจสุดท้าย…ปลายทางชีวิต

จุดเริ่มต้นที่ ‘ปลายทาง’

“โปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเริ่มต้นขึ้นในปี 2005  หลังจากที่หมอได้ศึกษาดูงานด้านศิลปะบำบัดจากอเมริกาและกลับมาเมืองไทย ด้วยความรู้สึกร้อนวิชา (ยิ้ม) จึงอาสาเข้าไปทำงานให้ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเรื่องทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะ การตายดี การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ฯลฯ กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก และทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็กำลังจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจึงชวนเราเข้าประชุม

“ในที่ประชุมวันนั้น มีการพูดคุยถึงเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พอเราได้ฟังก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้สิ่งที่เรามีให้เป็นประโยชน์ พอการประชุมจบลงก็มีอาจารย์กุมารแพทย์ท่านหนึ่งเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่า อยากให้ช่วยเอาศิลปะบำบัดไปช่วยผ่อนคลายคนไข้คนหนึ่ง อายุ 16 ปีซึ่งป่วยเป็นมะเร็งที่กล้ามเนื้อดวงตาและกำลังจะต้องผ่าตัดดวงตาทิ้ง  

 “เราก็รับปากอาจารย์ไปทันที วันรุ่งขึ้นก็เตรียมอุปกรณ์ไปเต็มกระเป๋า พอแนะนำตัวเรียบร้อยก็ชวนเขาทำศิลปะง่ายๆ จากตอนแรกเงียบอย่างเดียว พอนานเข้าก็เริ่มเปิดใจเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขากังวลใจ ไม่ชอบใจต่างๆ

“ก่อนจากกันวันนั้น หมอได้มอบสมุดไดอารีให้เขาเล่มหนึ่ง สำหรับเขียนบันทึกความรู้สึกเพราะเขาโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ได้ผล เขาจดไดอารีทุกวัน เขียนความรู้สึกของตัวเองบ้าง วาดรูปบ้าง สะท้อนความรู้สึกของตัวเองจากประสบการณ์ที่เห็นและบันทึกลงไปในไดอารี นั่นเป็นเครื่องมือที่หมอให้เขาไว้ก่อนที่เขาจะเข้ารับการผ่าตัด

“แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะตาบอดหรอก แต่เพราะต้องรักษาชีวิตไว้ การผ่าตัดดวงตาครั้งนั้นจึงไม่ใช่ความยินยอมพร้อมใจ ในความยินยอมนั้นปนเปไปด้วยความไม่ชอบใจหลายอย่าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นความยินยอมแบบจำเป็น จำยอม ทำให้เขากลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล เศร้า เราก็เอาศิลปะบำบัดเข้าไปช่วยเขาจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึก

“ด้วยความที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและแคร์กับสายตาคนอื่น เมื่อผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วเขาก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน แม้หมอจะบอกให้กลับบ้านได้แล้วก็ตาม เขายืนยันจะอยู่ที่โรงพยาบาลต่ออีกเกือบ 4 เดือน เพื่อทำใจยอมรับเบ้าตาที่ไม่มีลูกตา ตอนนั้นนอกจากการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อช่วยเขาอยู่กับเบ้าตานี้ให้ได้แล้ว ทุกๆ ครั้งที่เจอกันเรายังช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไรกันดี จะใส่แว่นตาดำดีไหม ฯลฯ กระทั่งวันหนึ่งเขาก็วาดภาพ Portrait ตัวเอง โดยมีตาเพียงข้างเดียวขึ้นมา และอีกข้างเป็นเบ้าตากลวงๆ ก่อนจะร้องไห้โฮ…

“วันนั้นหมอคิดว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเผชิญกับความรู้สึกนั้นจริงๆ จึงยอมให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และเมื่อเขาสามารถเห็นตัวเองบนกระดาษที่เขาวาดขึ้นได้แล้ว เขาก็สามารถเห็นตัวเองในกระจกได้ และขั้นตอนถัดจากนั้นก็คือเขาสามารถทำแผลให้ตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เจ็บช้ำเกินไป

“หลังจากนั้นเขาก็กลับบ้านไปราว 4-5 เดือน ก่อนจะโทรมาหาหมอและบอกว่า เขาอยู่ที่โรงพยาบาล เขาปวดหัวมาก แต่ไม่มีหมออยู่ และเขาต้องเดินทางกลับบ้านที่สุพรรณแล้ว เพราะรอไม่ไหว จากน้ำเสียงของเขา หมอสัมผัสได้ถึงความผิดปกติ จึงรีบประสานไปที่แผนกกุมารฯ ก็ทราบว่าแพทย์ไปสัมมนาที่ต่างจังหวัด หมอจึงติดต่อไปที่อาจารย์แพทย์ จนเขาได้แอดมิทและรับการตรวจเช็คอย่างละเอียด ปรากฏว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังสมองและกระดูก

“ทันทีที่รู้ผล เขาโกรธมาก โกรธที่เขาสูญเสียดวงตาไปฟรีๆ โกรธที่เข้าใจผิดว่าการสละดวงตาครั้งนั้นจะรักษาชีวิตเขาไว้ได้ แต่ทุกอย่างกลายเป็นโมฆะ ตอนนั้นชีวิตเขาเริ่มไม่สนุก ศิลปะบำบัดก็เข้าไปช่วยจัดการอารมณ์ความรู้สึกแต่ละอย่างที่โผล่ขึ้นมาในแต่ละวัน เขาอยู่ในโรงพยาบาลจนกระทั่งสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่เขาจะขอกลับบ้านเพราะคิดถึงพ่อ และเขาก็เสียชีวิตลงที่นั่น   

“หมอเดินทางไปร่วมพิธีศพของเขาที่สุพรรณบุรี จำได้ว่าพอไปเห็นสภาพบ้านที่เขาอยู่ เรารู้สึกสลดหดหู่ใจมากเพราะรู้เลยว่าชีวิตของเขาช่างยากลำบากเหลือเกิน ความรู้สึกจากประสบการณ์ที่มีกับคนไข้คนนี้ยิ่งทำให้ประเด็นของการมีอยู่ในระยะสุดท้ายดึงดูดความสนใจของหมอมากขึ้น  ในที่สุดจึงได้อาสาเข้ามาทำศิลปะบำบัดกับเด็กๆ ที่เป็นมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่รักษาไม่หายที่โรงพยาบาลจุฬาฯ  โดยจะทำงานสัปดาห์ละ 1 วัน ตั้งแต่เวลา 13:00-18:00 น. จัดกิจกรรมศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยเด็ก 18-20 เตียง อายุตั้งแต่ 3 ขวบไปจนถึง 16 ปี ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ ก็จะแวะเวียนมาที่โต๊ะศิลปะบำบัดตลอดบ่าย ส่วนผู้ป่วยที่ลงจากเตียงไม่ได้ เราจะขนอุปกรณ์ไปทำศิลปะกันถึงบนเตียง สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ยังทำศิลปะบำบัดไม่ได้ก็จะใช้กระบวนการอื่นแทน เช่น การเล่นบำบัด (Play Therapy) การอุ้ม การสัมผัส การสื่อสารด้วยสายตา ฯลฯ วนเวียนอยู่อย่างนั้นกว่า 8 ปีเต็ม ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ แต่ถ้าเทียบกับความสุขที่ได้จากการทำสิ่งนี้แล้ว ความเหนื่อยไม่ได้กระทบอะไรเลย”

เพื่อนร่วมทางที่ชื่อว่า ‘ศิลปะบำบัด’

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการรักษาในโรงพยาบาลนั้น มีพื้นที่ให้กับความรู้สึกน้อยมาก ไม่ค่อยจะมีใครมาถามผู้ป่วยหรอกว่า เมื่อคืนนอนหลับไหม ฝันร้ายหรือเปล่า ถ้านอนไม่หลับ ส่วนใหญ่ก็แค่สั่งยานอนหลับให้–จบ! หรือไม่มีใครมาสนใจหรอกว่า ข้าวอร่อยไหม ผู้ป่วยอยากกินอะไร ตอนเสิร์ฟอาหารเย็นชืดไปหรือเปล่า รายละเอียดเหล่านี้มันเกินที่จะอยู่ในความสนใจของหมอหรือพยาบาล แต่ถามว่ามันสำคัญไหม ก็สำคัญนะ แต่มันเรื่องสารทุกข์สุกดิบที่ ‘เพื่อน’ เท่านั้นจะถามไถ่กัน ซึ่งศิลปะบำบัดเข้าไปทำสิ่งนี้ คือการเป็นเพื่อนร่วมทางและเป็นพื้นที่เพื่อรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

“ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในวัยไหน เด็กหรือผู้ใหญ่ ศิลปะบำบัดก็เป็นพื้นที่และเพื่อนร่วมทางของทุกคนได้เหมือนกัน แตกต่างกันตรงกิจกรรมและเครื่องมือที่เราจะเสิร์ฟให้ต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย เช่น เด็ก 5-6 ขวบ ซึ่งมีพัฒนาการแบบหนึ่ง กิจกรรมที่เตรียมมาให้ต้องพอดีกับวัยและความสามารถของเขา ให้มีความท้าทายพอดีๆ ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป เพื่อเขาจะต้องนำศักยภาพตัวเองออกมาใช้และประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง  ในขณะที่วัยรุ่น 14-15 ปี ก็มีพัฒนาการอีกแบบหนึ่ง กิจกรรมที่นำเสนอก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ท้าทายมากขึ้น โดยที่ทั้งสองกลุ่มตัวอย่าง มีเป้าหมายการทำศิลปะบำบัดเป็นเป้าเดียวกันก็คือเราจะเป็นเพื่อนร่วมทางเขาไปให้ไกลที่สุดหรือจนสุดทาง

“โดยหลักการทำงานศิลปะบำบัดสู่การเดินทางไปจนสุดทางนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘การตายดี’ คือ การตายแบบพร้อมหรือยินดีที่จะเดินไป ไม่หนี ไม่ติดค้างอะไร เพราะฉันได้ทำชีวิตสมบูรณ์แล้ว และเมื่อถึงเวลาฉันก็จะไม่หนีไปไหน มันคือความองอาจที่จะเดินไปข้างหน้าทั้งๆ ที่รู้ว่ามันคือจุดจบ ซึ่งหมอเชื่อว่า ศิลปะสามารถทำให้คนเราไปถึงจุดนั้นได้ เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคน”

ความสำเร็จนับจาก ‘รอยยิ้ม’

“เวลาที่มีใครถามหมอว่า ประเมินผลสำเร็จของแต่ละเคสอย่างไร หมอมักจะพูดติดตลกเสมอว่า ‘ก็นับดูจากรอยยิ้มที่เกิดขึ้นสิ’ ก่อนที่เราจะลงมือทำศิลปะบำบัด ผู้ป่วยมีกี่รอยยิ้ม และพอทำศิลปะแล้วมีรอยยิ้มเพิ่มขึ้นอีกกี่รอยยิ้ม ในเชิงวิชาการมีการศึกษาไว้มากมายทั่วโลกอยู่แล้วว่า ศิลปะบำบัดมีประโยชน์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการลดความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยได้ หรือแม้กระทั่งชีพจรหรือความดันก็ดีขึ้นด้วยหลังจากที่ได้ทำศิลปะบำบัด แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากมัน นอกจาก ‘ข้อจำกัดเรื่องเวลา’ ไม่ว่าจะเป็นเวลาของผู้ป่วยที่เหลือน้อยเต็มที หรือเวลาที่เจอกันมันช้าไป ทำให้เรามีเวลาไม่เพียงพอที่จะเดินไปถึงจุดนั้นด้วยกันแล้ว ก็ยังมีเรื่องของ ‘บุคลิกภาพ’ ผู้ป่วยที่จะได้ประโยชน์จากศิลปะบำบัดมากที่สุดคือคนที่เปิดใจยอมให้ศิลปะเข้าไปดูแล เช่น ชวนให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ปฏิเสธ ฯลฯ ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่เปิดใจ ไม่ทำ ไม่เชื่อ ไม่ให้โอกาสตัวเอง ฯลฯ คนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้รับประโยชน์เท่าไร แต่ถ้าเจอกรณีแบบนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องเคารพในความรู้สึกของเขาและให้เวลาเขา โดยอาจจะจัดให้เขาเป็นผู้ชมก่อน มองดูคนอื่นทำ มองดูสิ่งที่เกิดขึ้น มองดูการเปลี่ยนแปลง มองดูบรรยากาศ มองดูรอยยิ้ม ฯลฯ เขาก็จะเริ่มเปิดใจและขยับจากผู้ชมมาเป็นผู้ร่วมประสบการณ์เอง”     

มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างองอาจ

“ในมุมมองของศิลปะบำบัด เรามองเห็นความเจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธรรมดาของชีวิต และเป้าหมายของเราก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายและจากไปอย่างองอาจ เราอยากให้ผู้ป่วยที่เดินร่วมทางไปกับเรามองเห็นสิ่งนี้เหมือนกัน หมอจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของเวลาที่เหลืออยู่มากกว่าปริมาณของเวลา นั่นทำให้เราจะไม่เชียร์ให้ผู้ป่วยรับคีโมให้ครบเพื่อให้หายจากมะเร็ง เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย เพราะเราสนใจแค่ว่า คุณยังมีเวลาอยู่นะ คุณอยากทำอะไร มารีบทำกัน คอยเป็นเพื่อนที่ชวนกันไปทำ เพื่อที่สุดแล้วคุณจะจากไปอย่างองอาจ ไม่มีอะไรติดค้าง

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เคสที่หมอรู้สึกว่าเป็นเหมือนต้นแบบของการตายอย่างองอาจในแบบฉบับของศิลปะบำบัดนั้นก็คงเป็นเคสของเด็กชายวัยเพียง 9 ขวบคนหนึ่งที่ป่วยมะเร็งที่กระดูกหน้าแข้ง แล้วต้องตัดขาทิ้ง หมอได้รู้จักกับเขาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตราวปีกว่าๆ จำได้ว่าเขามาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณ 3 เดือน ครั้งที่ 2 ประมาณ 4 เดือน จากคนที่ไม่มีความสุข ขี้หงุดหงิด โวยวาย เสียงดัง กินข้าวไม่อร่อย นอนไม่หลับ คิดสับสนวุ่นวาย ฯลฯ ศิลปะบำบัดเข้าไปรับรู้ แบ่งเบา จนกระทั่งเขาเห็นตัวเองเปลี่ยนไป เห็นตัวเองยิ้มได้ เห็นตัวเองมองเห็นคนอื่น เห็นตัวเองแบ่งปันของกับเพื่อนข้างเตียง ไม่ได้เห็นเฉพาะความทุกข์ของตัวเอง แต่เห็นไปถึงความทุกข์ของคนอื่น เห็นว่ารองเท้าของแม่ขาดพังหมดแล้ว เห็นว่าแม่ไม่สบาย ดวงตาช้ำ อดนอน เขาเริ่มย้ายโฟกัสจากตัวเองไปที่คนอื่นได้แล้ว ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป มองเห็นสิ่งรอบตัว ที่สำคัญคือลงมือดูแล โดยขอให้พยาบาลมาอยู่เป็นเพื่อนหน่อยเพื่อให้แม่ได้นอนเต็มตื่น

“จุดนั้นเป็นจุดที่เขาได้เชื่อมต่อในระดับที่พ้นตัวตนของตัวเองไปแล้ว และมองเห็นว่าชีวิตไม่ได้ยืนยาว เขาจึงทำสิ่งที่องอาจมาก คือ การสั่งเสียและจัดสรรทรัพย์สินของตัวเองที่มีอยู่ ก็คือหนังสือการ์ตูนโดราเอมอน 40-50 เล่ม ซึ่งเป็นเหมือนของรักของหวง เขาแบ่งหนังสือชุดนี้ให้พี่ น้อง ลูกพี่ลูกน้อง ของเล่นต่างๆ ก็จัดสรรว่าชิ้นไหนจะมอบให้ใคร หรือชิ้นไหนที่อยากให้แม่เก็บไว้ที่บ้าน บอกไว้ในพินัยกรรมทุกอย่าง พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่าเขาจะไปเกิดใหม่เป็นลูกพี่สาว ซึ่งตอนนั้นพี่สาวของเขากำลังตั้งครรภ์อยู่ หมอมองว่านี่คือการตายที่องอาจมาก และเชื่อว่าผู้ใหญ่หลายคนก็ยังทำไม่ได้อย่างนี้เลย

“แต่วันที่หมอเซอร์ไพรส์มากที่สุดคงเป็นวันที่เข้าไปหาเขาที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัดผ่านไป วันนั้นเขาเอ่ยปากชวนหมอ ‘หมออยากดูแผลผ่าตัดของผมไหม’ พอได้ยินดังนั้นเราก็แปลกใจ แต่ก็ตอบกลับไปว่า ‘อยากดูนะ ถ้าอยากให้หมอดู’ เขาก็บอกว่า ‘เดี๋ยวผมจะเปิดให้ดู’ ระหว่างที่มือเขาค่อยๆ เปิดผ้าพันแผลออกทีละชั้น เขาก็บรรยายลักษณะของแผลไปด้วย ‘หมอรู้ไหมว่า มันสวยมากเลย มันกลมสนิทเลย’…”

“คิดดูสิ จะมีใครสักกี่คนในโลกนี้ที่โดนตัดขาแล้วสามารถชมแผลตัวเองว่าสวย แต่ตอนนั้นเขาอยู่เหนือความเจ็บป่วยของตัวเองไปแล้ว และพอผ้าพันแผลถูกเปิดออกหมด มันก็เป็นอย่างที่เขาได้บรรยายไว้จริงๆ มันเป็นเฮมิสเฟียร์ (Perfect Hemisphere) ซึ่งกลมแบบเพอร์เฟกต์ ไม่ขรุขระ ไม่มีรอยบุ๋มหรือรอยเย็บ มันกลมสมบูรณ์แบบมาก นั่นทำให้เราเห็นว่า เขาสามารถเชื่อมต่อกับความงามที่เป็นสุนทรียะระดับสากล ซึ่งต้องอยู่ในระดับจิตวิญญาณที่ได้รับการพัฒนาแล้วเท่านั้นจึงจะคิดอย่างนี้ได้ นี่คือสิ่งที่สิ่งเกิดขึ้นกับเด็กวัยเพียง 9 ขวบ” 

 ปลายทางที่วาดไว้…

 “วันนี้ศิลปะบำบัดคือชีวิตจิตใจสำหรับหมอไปแล้ว มันอยู่ในเลือดในเนื้อ มันอยู่ในทุกการกระทำของเรา และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนที่เราให้บริการ หรือคนที่เราเรียกว่า ‘ลูกค้า’ หรือ ‘คนไข้’ แต่มันแผ่ไปถึงทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา มันทำให้เราสามารถเมตตาทุกคนได้ มันอยู่ในชีวิตเรา หลายปีที่ผ่านมา หมอมักจะจินตนาการให้ตัวเองได้ทำพื้นที่ให้ความตายมาเยี่ยมเพื่อรับรู้และทำความคุ้นเคยอยู่บ่อยครั้ง และเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าชีวิตนี้เลือกได้ หมอก็อยากจะเป็นมะเร็งเหมือนเด็กๆ ที่หมอดูแลนี่แหละ หมอว่ามันดีกว่าโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ตรงที่มันยังพอมีเวลาอย่างน้อยก็ 3-6 เดือน ที่จะให้เราได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีเวลาพอที่จะเตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าไปอย่างไม่กลัว ไม่หนี และจากไปอย่างองอาจแบบไม่มีอะไรติดค้างอีกต่อไป…”



เรื่อง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ: กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง