นพ. อนิรุทธ์ นิรนาท ใช้ความรู้เป็นฮาวทูช่วยผู้ป่วยมะเร็งผ่านเพจ ‘หมอหมูสู้มะเร็ง’

นพ. อนิรุทธ์ นิรนาท หรือคุณหมอหมู คือศัลยแพทย์มะเร็งวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม และเป็นผู้ก่อตั้งเพจ ‘หมอหมูสู้มะเร็ง’ เมื่อราว 10 ปีก่อน โดยตั้งใจให้เพจแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่สามารถแบ่งปันความรู้ด้านมะเร็งที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วยและคนทั่วไป จากแรกเริ่มที่เป็นการแชร์ข่าวสารเกี่ยวกับโรคมะเร็ง คุณหมอได้ขยับบทบาทสู่การเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวข้องกับมะเร็งแบบรอบด้านเพื่อส่งต่อความรู้และกำลังใจให้แก่กัน สำหรับคุณหมอแล้ว การช่วยให้ผู้เจ็บป่วยจากโรคทางกายและหมดกำลังใจให้กลับมามีสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้คือความสุขและแรงบันดาลใจ 

ส่งต่อความรู้เพื่อสู้มะเร็ง

หลังจากเรียนจบจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คุณหมอได้ศึกษาต่อทางด้านศัลยกรรมทั่วไป ทำงานเป็นหมอเฉพาะทางที่โรงพยาบาลศิริราช กระทั่งต่อยอดความรู้ด้านศัลยศาสตร์ มะเร็งวิทยา ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งบทบาทนอกเหนือไปจากการเป็นผู้ให้การรักษา

“หลังจากเรียนจบศัลยศาสตร์ มะเร็งวิทยา และได้มาทำงานรักษาคนไข้ ผมมักพบคำถาม ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังรักษา ซึ่งเป็นชุดคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ และทำให้ผมคิดว่าหากประชาชนสามารถได้รับข้อมูลที่ถูกต้องน่าจะช่วยคลายกังวลเรื่องโรคมะเร็ง รวมถึงสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ซึ่งชุดคำถามซ้ำๆ ในหลายครั้งเป็นคำถามที่มักเริ่มต้นมาจากความเชื่อที่ผิด ผมเลยคิดว่าตัวเองคงจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดที่ผมไม่มีทีมงาน การใช้เฟซบุ๊กจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผมคิดว่าจะสามารถนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ออกไปได้และสามารถศึกษาวิธีการต่างๆ ได้ด้วยตัวเองจนเกิดเป็นเพจ ‘หมอหมูสู้มะเร็ง’ ขึ้น โดยเนื้อหาในช่วงแรกจะมีตั้งแต่การหาข่าวจากแหล่งต่างๆ ในลักษณะของการรวบรวมข่าว รวมถึงเนื้อหาในส่วนที่ผมจัดทำขึ้นด้วยตัวเอง หลังจากนั้นผมเริ่มทำคอนเทนต์ที่เป็นของเรามากขึ้น ด้วยความหวังที่อยากให้คนไข้และคนทั่วไปได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ไม่ใช่ความเชื่อผิดๆ เพราะว่าความเชื่อเหล่านั้นอาจส่งผลเสียหรือสามารถนำพาชีวิตเขาไปอีกแนวทางหนึ่งเลย”

หลังจากทำเพจไปได้พักใหญ่ๆ คุณหมอพบว่าตัวเพจเป็นการพูดด้านเดียว กลุ่มสาธารณะในชื่อ ‘รู้ สู้ มะเร็งเต้านม By หมอหมู‘ จึงถูกตั้งขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเสมือนชุมชนย่อยๆ ที่คนไข้สามารถตั้งกระทู้ถามได้สามารถสื่อสารกันแบบ two-way communication ได้ “ข้อแตกต่างก็คือ ความเคลื่อนไหวภายในกลุ่มสาธารณะนี้จะมีคนคอยเข้ามาพูดคุย ตั้งกระทู้ถาม ให้กำลังใจกัน รวมถึงมาคอยอัพเดทเรื่องราวของตัวเองด้วย”

ความเชื่อ VS ความจริง

“ตัวอย่างคลาสสิคที่ผมเจอบ่อยมากๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งก็อย่างเช่น คนเป็นมะเร็งห้ามทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ทานได้แต่ปลา ซึ่งชุดความเชื่อนี้ หากนำไปปฏิบัติระยะยาวอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายเราได้ เช่น การทานเมนูปลาเพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลานานๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกคือ ความไม่ยั่งยืน หลายคนอาจทำไม่ไหวกับการต้องทานเมนูเดิมๆ แบบเดียว นั่นส่งผลต่อสภาพจิตใจอยู่มากเหมือนกันนะครับ ขณะเดียวกันการมีข้อจำกัดดังกล่าวก็ทำให้ร่างกายของเราขาดสารอาหารได้ ผู้ป่วยมะเร็งต้องถูกจำกัดเรื่องการรับประทาน ส่งผลให้ร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อการรักษาหลักๆอย่างเช่นการผ่าตัด การให้ยาเคมี เพราะความไม่พร้อมทางร่างกาย นี่เป็นหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการรักษามะเร็งและการใช้ชีวิตเลยนะ แต่ผมคิดว่าเราทุกคนสามารถแก้ไขในจุดนี้ได้ด้วยการตรวจสอบชุดข้อมูลที่ได้มาทุกครั้งก่อนที่จะเชื่อหรือลงมือทำ ยิ่งทุกวันนี้ที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นด้วย ลองหาแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือแบบที่มีหลักฐานซึ่งสามารถอ้างอิงได้ หรือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่คุณจะสามารถได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ”

เพราะอยากเห็นคนสุขภาพดี

“ถ้าในแง่ของเป็นหมอรักษา เราถูกสอนมาเพื่อที่จะให้การรักษากับคนไข้ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเลือกการรักษาเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่งและมีความเชี่ยวชาญทางนี้ แล้วเราสามารถใช้สิ่งที่ตัวเองมีช่วยรักษาคนให้คนไข้หายเจ็บป่วย พ้นจากความทุกข์ทางกาย ในแง่ของแพทย์นั่นคือความสำเร็จสูงสุด ขณะที่บทบาทของคอนเทนครีเอเตอร์ การที่ลูกเพจส่งข้อความหลังไมค์มาทางไดเร็กแมสเสจหรือทางไลน์ว่าขอบคุณมากเพราะข้อมูลที่เขาได้ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ เช่น ความรู้เรื่องอาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งสามารถทานได้ ซึ่งก่อนหน้าเขาอาจถูกห้ามทานอาหารบางประเภทที่จริงๆ แล้วทานได้ปกติ การทราบข้อมูลเหล่านี้ทำให้เขามั่นใจในการปฏิบัติตัว ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องอยู่กับความเชื่อที่ผิด นี่จึงเป็นทั้งแรงผลักดันและความสุขที่ผมสามารถทำในสิ่งที่ผมคาดหวังเอาไว้

กายและใจต้องไปด้วยกัน

“สิ่งที่ผมอยากแนะนำอยู่สองเรื่อง หนึ่งคือการรักษาสุขภาพทางกาย และสองคือการดูแลสุขภาพใจ สำหรับสุขภาพกายเริ่มต้นเลยคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักอาหารหลัก 5 หมู่ ทานให้เพียงพอ หลักการมีง่ายๆ เท่านี้เลย ซึ่งถ้าเรารับประทานอาหารอย่างเพียงพอ ครบทั้ง 5 หมู่ที่ต้องการแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริมใดๆ เลยนะ เพราะเราไม่ได้ขาดอะไรแล้ว สองคือเรื่องการออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบการออกกำลังกายก็ขึ้นอยู่กับบุคคลว่าจะแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน สภาพร่างกายในเวลานั้นเป็นอย่างไร เช่นว่าถ้าอยู่ในช่วงนี้ยังรับการรักษาเคมีบำบัดอยู่ ก็ปรับการออกกำลังกายให้เป็นแบบเบาๆ ก่อนหรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ให้รอจนหายดีและแข็งแรงขึ้น แล้วค่อยเริ่มต้นและเพิ่มความเข้มข้นตามความสามารถของร่างกายในเวลานั้น เอาจริงๆ ผู้ป่วยมะเร็ง หากดูแลตัวเองได้ดีก็สามารถกลับมามีร่างกายแข็งแรงได้ตามปกติเลยนะครับ

ส่วนเรื่องของจิตใจ สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือความหนักแน่น นั่นหมายความว่า คุณจะต้องรับฟังข้อมูลอย่างมีสติ เมื่อได้ข้อมูลมาอย่างเพิ่งเชื่อไป 100% สมัยก่อนไม่มี Google และ Social Media การหาข้อมูลเป็นเรื่องยุ่งยาก เปรียบเทียบกับตอนนี้ที่ ข้อมูลหาง่าย แต่ข้อมูลจริงหายาก ข้อมูลที่ถูกใจและแชร์เยอะ ไม่ได้หมายความว่าถูกต้อง พิจารณาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มิใช่จากยอดไลก์และแชร์ ขณะเดียวกัน หากำลังใจและพลังงานบวกให้กับตัวเอง เพราะว่ากำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม แล้วประโยคที่ว่า “การเป็นมะเร็งคือการแปะป้ายว่าคุณตายแน่ๆ” ผมขอให้เปลี่ยน mindset ใหม่ทั้งหมด เพราะมะเร็งคือโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีวิธีการรักษาและการรักษาในปัจจุบันมีประสิทธิภาพนะครับ ความก้าวหน้าทางการแพทย์มาไกลมากแล้วในเวลานี้ ผมพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนดูแลตัวเองได้ดีมากๆ นอกจากการมีสุขภาพที่ดีจากการดูแลตัวเองอย่างดี การมองโลกอย่างไรก็มีผลมากเช่นกัน  ผมเปรียบเทียบง่ายๆ หากเป็นเบาหวานและเราสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี ดูแลสุขภาพกายและใจได้ดี โรคก็จะสงบไปเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีบางช่วงที่น้ำตาลขึ้นสูงหรือต่ำ แต่ก็สามารถอยู่ภายใต้การควบคุมและแก้ไขให้กลับมาอยู่ในช่วงปกติได้ มะเร็งก็เช่นกัน ผมเข้าใจความรู้สึกในช่วงเวลานั้นว่าเราตกใจและใจเสียเป็นอันดับแรกแน่นอน แต่อยากจะให้เปลี่ยน mindset ว่าการเป็นมะเร็งไม่เท่ากับต้องตาย เมื่อคุณทราบแล้วว่านี่คือโรคเรื้อรังพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม คุณจะมีแนวทางปฏิบัติในการดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วคุณจะอยู่กับโรคได้แบบปกติสุข”

ลดเสี่ยง ป้องกัน ตรวจคัดกรอง

“สำหรับวิธีที่จะทำอย่างไรให้เราห่างไกลจากโรคมะเร็ง เรื่องแรกคือการลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง ซึ่งแต่ละชนิดก็มีความเสี่ยงแตกต่างกันไป แต่โดยรวมก็จะมีสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น บุหรี่ สุรา เป็นต้น เรื่องที่สองคือการป้องกัน อย่างเช่น เรารู้สาเหตุของมะเร็งหลายชนิด หากเราป้องกันได้ อย่างเช่น มะเร็งปากมดลูกซึ่งมีวัคซีนป้องกัน ลองพิจารณาไปรับเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เพราะสามารถช่วยลดอัตราการเป็นมะเร็งได้อย่างชัดเจน มีการศึกษาที่ยืนยันแล้ว หรือมะเร็งตับที่ปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบจะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ เป็นต้น แล้วในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีวิวัฒนาการทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น มียาหรือวัคซีนต่างๆ ที่ป้องกันโรคมะเร็งได้ดี ครอบคลุม และปลอดภัยมากขึ้นอีก ซึ่งผมอยากจะรณรงค์ให้ไปรับบริการกันนะครับ เรื่องที่สามคือหมั่นไปตรวจสุขภาพเพราะมะเร็งหลายๆ ชนิดเขามีโปรแกรมการตรวจคัดกรองอยู่ แม้การตรวจไม่ได้ช่วยป้องกันให้เราปลอดจากโรค แต่จะช่วยให้เราตรวจเจอมะเร็งได้เร็วขึ้น ซึ่งการตรวจเจอได้เร็ว มีระยะโรคน้อย รักษาได้ก่อน ความซับซ้อนและผลข้างเคียงของการรักษาจะน้อยลง และมีโอกาสหายได้สูงขึ้น ถ้าสามเรื่องนี้ คุณสามารถทำได้ ชีวิตคุณก็อยู่ห่างไกลจากมะเร็งแน่นอน



เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล 
ภาพ: วิรัตน์ รุ่งเรืองมีทรัพย์