ปรีชา คูหาชัยสกุล เปลี่ยนวิธีคิด…ออกแบบชีวิตรับมือมะเร็ง

ปรีชา คูหาชัยสกุล คือผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ซึ่งเป็นชนิดของมะเร็งปอดที่พบได้ราว 40% ของผู้เป็นมะเร็งปอดทั้งหมดที่เป็นเพศชายและหญิง ตลอดเส้นทางการรักษากว่า 3 ปีที่ผ่านมา แม้ตัวเขาจะต้องเจอกับบททดสอบยากๆ เข้ามาปะทะอยู่หลายครั้ง ทว่า ด้วยการใฝ่หาความรู้เกี่ยวกับมะเร็ง การใช้ชีวิตด้วยสติ การมีธรรมะเป็นที่พักให้กับหัวใจ ตลอดจนความทุ่มเทและแรงสนับสนุนที่มาพร้อมความรักจากผู้คนรอบกาย ทำให้ปรีชาในทุกวันสามารถอยู่ร่วมโรคและโลกใบนี้ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม และเขายังคงใช้กำลังกายที่มีอยู่เก็บเกี่ยวความสุขและความอิ่มเอมในทุกๆ วัน เพื่อเป็นพลังในการก้าวผ่านจุดเปลี่ยนของธรรมชาตินี้ก่อนที่ปลายทางชีวิตจะมาเยือน

มะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma 

“ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ผมมีอาการไอเรื้อรัง ไอแบบมีเสมหะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางมีนาคม แล้วอาการก็ดีขึ้น ซึ่งเวลาเดียวกันนั้น โควิดระบาดหนักมากอย่างที่ใครๆ ก็รู้กันดี ผมจึงไม่กล้าไปตรวจ หลังจากนั้นหายป่วย สุขภาพผมปกติดีเลยนะครับ จนเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นเวลาตรวจสุขภาพประจำปี ผลจากการเอ็กซเรย์ปอดได้พบก้อนขนาด 4×4 เซนติเมตร ทำให้ผมต้องไปติดตามผลต่อ

“แรกเริ่ม คุณหมอมุ่งไปที่การตรวจหาโรควัณโรคก่อน เพราะว่าครอบครัวผมทั้งคุณพ่อและพี่สาวเคยเป็นมาก่อน เมื่อพบว่าไม่ใช่ 1 สัปดาห์หลังจากนั้นผมจึงถูกส่งตัวไปทำ CT Scan ผลคือพบก้อนที่ปอด ซึ่งปอดคนเราจะมี 5 กลีบ ฝั่งขวา 3 กลีบ และฝั่งซ้ายอีก 2 กลีบ ผมพบก้อนขนาด 4×4 เซนติเมตร บริเวณปอดขวาด้านบน คุณหมอสั่งตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจเพิ่มเพื่อระบุให้ชัดเจนว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นมะเร็งไหม ซึ่งพบว่าเป็นและลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองฝั่งซ้ายมืออีกหลายต่อมแล้ว คุณหมอบอกกับผมว่า ไม่สามารถผ่าตัดได้ เมื่อผ่าตัดไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปจึงมี 3 วิธีที่ใช้ในการรักษา นั่นคือเคมีบำบัด ฉายแสง หรือยาพุ่งเป้า ตอนนั้นผมเข้าใจว่าจะได้รับการวินิจฉัยและกำลังจะเข้าขั้นตอนการรักษาได้แล้ว แต่คุณหมอมาจับตัวผม นวดไปนวดมา พบว่าต่อมน้ำเหลืองผมโต การประเมินเบื้องต้นคือผมอาจจะเป็นระยะที่ 4 นั่นคือลุกลามไปทั่วตัว ผมจึงต้องไปทำ PET Scan เพื่อตรวจให้ละเอียดและทราบแน่ชัดว่ามะเร็งลามไปอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น สมอง กระดูก ต่อมหมวกไต ที่ส่วนใหญ่มะเร็งปอดมักจะลามไปถึงหรือยัง จนพบว่าผมเป็นมะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma ระยะ 3B ซึ่งไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนส์ในร่างกาย เพราะฉะนั้น ชิ้นเนื้อที่ส่งไปตรวจ ถ้าพบว่าตรงกับยาพุ่งเป้าชนิดไหน คุณหมอจะใช้ชนิดนั้นเลย ไม่ต้องหาวิธีการรักษาอื่นแล้ว ปรากฏว่าเมื่อไปตรวจแล้ว ของผมไม่ตรงกับยาพุ่งเป้าตัวใดเลย ขณะที่ผลของ PET Scan ระบุว่ามะเร็งของผมยังไม่ลาม ที่พบก็เพียงต่อมหมวกไตมีสีเข้มขึ้นหน่อย วิธีการรักษาจึงใช้การฉายแสง 33 ครั้ง ร่วมกับคีโม 6 ครั้ง กินเวลาประมาณเดือนครึ่งและจบคอร์ส

“เมื่อจบคอร์สแรก ตอนนั้นมีวิธีการรักษาใหม่เกิดขึ้น นั่นคือการใช้วิธีภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ยาชนิดนี้มีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร เนื่องจากเป็นยาชนิดใหม่ ผมจึงถามคุณหมอว่า ถ้าผมใช้ยาตัวนี้ อัตราการรอดชีวิตผมจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ คุณหมอส่งรีพอร์ตมาให้ผมเพื่อประกอบการตัดสินใจ ผมคิดสระตะแล้วจึงตัดสินใจใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดเพิ่มเติมจากการให้คีโมและฉายแสง โดยยาภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ ผลที่ดีที่สุดคือไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับคีโมและฉายแสง แต่ผมไม่สามารถทำได้เพราะผลจากคีโมและฉายแสงทำให้ปอดอักเสบเป็นจุดขาวๆ ทั้งหมดเลย จึงต้องรอ 1 เดือนจึงไปเข้าการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดได้ 

“ตอนนั้นอยู่มาได้ประมาณ 10 เดือน มะเร็งก็กลับมาใหม่ตรงที่ฉายแสงเดิม เป็นจุดเล็กๆ ขึ้นมา ผมไปทำ PET Scan ใหม่ว่าลามที่อื่นหรือไม่ เมื่อพบว่าไม่ลาม คุณหมอก็มาบอกว่าจะรักษาแบบย้อนกลับไปใหม่ นั่นคือจะผ่าตัดเอาทั้งกลีบปอดขวาด้านบนออกไปทั้งหมด หลังจากนั้นผ่านไปได้อีกราว 11 เดือน ก็พบว่ามะเร็งกลับมาใหม่อีก 2 ก้อนที่ปอดขวากลีบล่าง คุณหมอผ่าตัดให้ผมอีกครั้งและนำเจ้า 2 ก้อนนี้ไปตรวจว่าตรงกับยาพุ่งเป้าตัวไหนไหม จนพบว่ามียาพุ่งเป้าชนิดที่ตรงกับมะเร็งของผมพอดี จึงเริ่มกินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 12 เดือนแล้ว โดยปัจจุบันนี้ ผมรักษาด้วยการกินยาพุ่งเป้าอย่างเดียว และติดตามผลด้วยการทำ CT Scan ทุกๆ 4 เดือน นี่คือวิธีการรักษามะเร็งของผม บอกได้เลยว่าครบทุกอย่าง ตั้งแต่ผ่าตัด ฉายแสง ใช้เคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด และยาพุ่งเป้า จนถึงตอนนี้ ผมอยู่มาได้ 3 ปีกับ 8 เดือน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าเป็นมะเร็งครับ”

รู้โรค รู้รักษา วางแผนชีวิต ลงมือธรรม

“เอาจริงๆ ช่วงที่ยากที่สุดสำหรับผมคือเดือนแรกหลังจากได้รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เพราะเป็นช่วงที่สับสนทางความคิดเป็นอย่างมาก ด้วยพื้นฐานที่มีนิสัยชอบวางแผน ชอบข้อมูล สิ่งที่ผมต้องการคือข้อมูลว่าผมเป็นอะไร ระยะไหน ผมจะอยู่ได้เท่าไหร่เพื่อช่วยในการวางแผน ซึ่งถ้าผมไม่รู้เลย ผมจะเครียด เพราะผมวางแผนไม่ถูก ผมเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นหัวหน้าครอบครัว มีคนที่ต้องดูแลและเป็นห่วง ดังนั้น 1 เดือนของการส่งตัวและตรวจเช็กแบบที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งไหม ถ้าเป็นจะเป็นระยะไหน อยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ ต้องรักษาอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายแค่ไหน แล้วคำตอบที่แฝงมาด้วยความห่วงใยว่า จะรู้ไปทำไม เป็นก็รักษาได้ ทำให้ตอนนั้นผมเครียดมาก จริงๆ แล้วผมไม่กลัวตายนะ แต่สิ่งที่ผมต้องการคือข้อมูลเพื่อวางแผนชีวิตต่อไป เช่น การวางแผนทางการเงินเพื่อให้ครอบคลุมและคุ้มค่าที่สุด ถ้าผมจ่ายเงินไปจำนวนมากแต่อยู่ได้ 2 ปี หรือผมต้องเอาทรัพย์สินส่วนที่จะต้องเดือดร้อนถึงลูกและภรรยาผม ผมจะไม่ทำแบบนั้น ผมยอมเสียชีวิต จนกระทั่งเข้าการรักษาและรู้ว่าเป็นระยะเท่าไหร่ ผมไม่ถามหมออีกเลยเพราะเรามีข้อมูลและสามารถไปสืบค้นเพิ่มเองได้แล้ว 

“ด้วยโรคมะเร็งจะวัดอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 5 ปี ระยะที่ผมเป็นพบว่าประมาณ 80% ของคนไข้กลุ่มนี้จะเสียชีวิตในช่วง 5 ปี และมี 20 คนเท่านั้นที่อยู่ถึง 5 ปี เพราะฉะนั้น ผมเลยคิดว่าตัวเองน่าจะอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 ความเป็นไปได้นี้ แต่จะคิดไว้ก่อนว่าเป็น 80% เพราะเป็นคนไข้เป็นส่วนใหญ่ พอคิดได้อย่างนั้น ผมจึงสบายใจมากขึ้นเยอะเพราะสามารถวางแผนชีวิตได้ว่าจะจัดการเรื่องต่างๆ อย่างไร รวมถึงเรื่องความรู้สึกตัวเองด้วย 

“ส่วนจุดยากหลังจากนั้นจะเป็นความทุกข์ที่มาจากผลจากการรักษาเป็นหลัก เพราะในทุกๆ การรักษาต้องยอมรับว่ามีผลข้างเคียงที่หนักพอสมควร ทั้งผ่าตัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด แม้กระทั่งตอนนี้จากการกินยาพุ่งเป้าก็มีผลเยอะแยะไปหมด การรับมือของผมตอนนี้คือจะพยายามไม่คิดมาก ดำเนินชีวิตเรียบง่ายที่สุด แต่ก่อนหลังจากทำงานเสร็จ ผมไม่เคยดูทีวีเลย ส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือ ดูข่าวจากเฟสบุ๊ก ตอนนี้ ผมไปถามลูกว่าใน Netflix มีอะไรดูบ้าง เลยมีโอกาสได้ดูสารคดีเกี่ยวกับผู้คนในมุมต่างๆ ของโลก พอได้ดูเลยได้เห็นชีวิตผู้คนคนมากมายที่มีจุดยากลำบากเช่นกันและไม่ใช่ผมคนเดียวนะที่เจอกับอุปสรรค นั่นทำให้ผลกลับมาบทวนว่า แล้วอะไรในชีวิตที่ผมโชคดีบ้าง จนพบว่าผมยังมีหนทางที่จะดูแลตัวเองได้ดีอยู่ สามารถเข้าถึงการรักษาทุกอย่างได้นะ มีประกันสุขภาพ มีครอบครัวที่รัก มีทีมแพทย์ที่คอยดูแล นี่คือสิ่งที่หนึ่งที่ช่วยลดความเครียดลงได้

“อย่างที่บอกว่าผมชอบเข้าหาข้อมูล พอเรามีความรู้ เข้าใจข้อมูลที่ได้รับมา และรู้ว่าโรคของเราดำเนินมาจนถึงจุดไหนแล้ว ผมจึงสามารถคาดคะเนอนาคตชีวิตได้ว่าผมน่าจะมีอายุถึงเท่าไหร่ ผมจึงวางแผนชีวิตตัวเองจนถึงวันที่จะไม่อยู่บนโลกนี้แบบที่ไม่ทิ้งภาระให้ใคร พอหมดห่วงตรงนี้ เหมือนเป็นการปลดล็อกความกังวลไปได้อีกหนึ่งเปราะ 

“สุดท้ายคือเปลี่ยนวิธีคิดโดยมุ่งไปทางธรรม เข้าหาการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ตอนนี้ความคิดของผมจึงอยู่ปัจจุบันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่คิดนู่นนี่ ไม่คิดย้อนหลัง หรือตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดไปแล้ว แต่จะมองตอนนี้ อยู่อย่างนี้ได้ ให้ทุกข์น้อยลง ตัวผมเองไม่ใช่สุดยอดของผู้ปฏิบัตินะครับ แต่เป็นผู้ที่กำลังเรียนรู้และปฏิบัติอยู่ ผมเองก็เหมือนกับใครหลายๆ คนที่อยากจะตายดี ไม่เป็นภาระของคนอื่นมากนัก ทั้งเรื่องทางด้านการเงิน การดูแล ตอนนี้เลยคิดว่าถ้าเราเตรียมตัวไว้อย่างดี น่าจะทุกข์น้อย ไม่ลำบากคนอื่น และจากไปได้อย่างสงบ ผมจึงวางแผนทุกอย่างไว้อย่างดี ทั้งเรื่องการเงินที่ดูแล้วจะไม่มีปัญหาอะไร รู้ว่าตัวเองจะรักษาแค่ไหนถึงไม่เดือดร้อน เหลืออยู่เรื่องเดียวที่กำลังทำอยู่คือทำอย่างไรให้ก่อนตายไม่ทรมานมาก จึงมาศึกษาธรรมะที่ทำให้ทุกข์น้อยลง ปรับปรุงตัวเองเพื่อให้เข้ากับโรคได้ ผมเริ่มเรียนการเตรียมตัวตายอย่างมีสติอยู่ และผมหวังไว้ว่าจะทำให้เส้นทางที่จะไปสู่ปลายทางนั้นเรียบง่ายที่สุดครับ” 

ชีวิตใหม่ในโลกใบเดิม

“คุณแม่ผมเสียด้วยโรคมะเร็ง เพื่อนของพี่ก็เป็นมะเร็ง มุมมองต่อโรคมะเร็งคือเป็นแล้วต้องตาย และค่อนข้างจะตายแบบทรมาน คำถามแรกที่ผมถามหมอตอนรู้ว่าเป็นมะเร็ง คือคำถามที่ว่าผมจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ เพราะเราฝังใจว่าจะต้องตายแบบทรมานแน่นอน หลังจากเป็นและเข้าสู่กระบวนการรักษา ไม่ว่าจะฉายแสงที่ไปโดนหลอดลมซึ่งส่งผลต่อการกินแบบที่ถ้ามีการไอขึ้นมา สิ่งที่กินเข้าไปจะออกมาหมด หรือการเจอเรื่องปอดอักเสบในช่วงเวลาที่โควิดรุนแรงแบบที่คนจะเข้าใจผิดเอาง่ายๆ ว่าผมติดโควิดอยู่ หรือการกินยาพุ่งเป้าในทุกวันนี้ซึ่งทำให้ทุกๆ 3 วัน ผมจะท้องเสียใหญ่ครั้งหนึ่ง ผลจากการรักษาต่างๆ รบกวนใจผมมาตลอด รวมตอนที่รู้แล้วว่ามะเร็งของผมจะไม่หายนะ ก็ทำให้ท้อใจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผมออกแบบชีวิตปัจจุบันจนถึงปลายทางที่จะไม่รบกวนตัวเองและไม่ทำให้คนอื่นต้องมาลำบากอย่างที่เล่าไป 

“หลังจากเป็นมะเร็ง การใช้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป ผมเน้นในเรื่องการอยู่ที่ปัจจุบันมากขึ้น คิดถึงแต่เรื่องตัวเองมากขึ้นในแง่ที่ว่าอย่าไปยุ่ง อย่าไปคิดแทนคนอื่นมากนัก ทำให้ตัวเองทุกข์น้อยที่สุด ไม่ใช่ไม่ทุกข์เลยนะครับ แต่ทุกข์น้อยที่สุด เวลาทำงานก็จะมุ่งแต่กับงาน ผลสำเร็จจะเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่เมื่อทำสิ่งไหนอยู่ ผมจะทำอย่างเต็มที่ เหมือนเวลาเราดูซีรีส์ เราจะดูได้ทั้งวันทั้งคืน แล้วในช่วงเวลานั้นคุณไม่ทุกข์นะ เพราะเราจดจ่อกับช่วงเวลานั้นแบบที่ไม่วอกแวกไปคิดเรื่องอื่น แต่ก่อนถ้าผมคุยกับใคร อาจจะมีโมเมนต์ที่คิดไปเรื่อย หรือมีคนโทรมาระหว่างนั้น จะรับดีไหม เป็นเรื่องอะไรนะ เรื่องด่วนรึเปล่า รวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เราจะต้องทำใจนะ ผมจะยึดคำที่พระท่านสอนว่า ‘สิ่งที่เข้ามา เรารับรู้ได้ทั้งหมด แต่อย่าไปรู้สึกกับมันทั้งหมด’

“ล่าสุดที่ผมเพิ่งประสบมาเมื่อตอนเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผมมีอาการไอออกมาเป็นเลือด 3 วันติด จึงตัดสินใจไปพบคุณหมอและต้องมารักษาในห้องไอซียูเลย คุณหมอส่งผมไป CT Scan เพื่อดูจุดเลือดออกว่าตรงไหน แต่ไม่ว่าต้นตอที่ทำให้เลือดออกคืออะไร คุณหมอจะทำการอุดเลือดเนื่องจากไม่เห็นเลือดรั่วบริเวณไหนเลย การรักษานี้จะใช้วิธีกึ่งวางยาสลบ คือผมต้องรับรู้ไปด้วย เพราะจะต้องนำหลอดสวนเหมือนกับสวนหัวใจเพื่อหาว่าตรงไหนรั่ว แล้วใช้กาวเข้าไปอุด ระหว่างทำผมเจ็บมาก ณ ตอนนั้นก็นึกขึ้นมาว่าเราเรียนธรรมะมาแล้วนี่ ที่พระท่านพยายามจะบอกว่า ‘เราห้ามความเจ็บไม่ได้ แต่เราทำตัวเป็นผู้มองได้ว่าเรากำลังเจ็บนะ แต่อย่าเอาใจไปอยู่กับความเจ็บนั้น’ ผมสู้ด้วยวิธีนี้ เอามือไปเกาข้างเตียง ตั้งสติ ซึ่งก็สู้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่อย่างน้อยก็ดีใจว่ามีสติในการสู้ ตอนนั้นเริ่มมีกำลังใจแล้วว่า ตอนกำลังจะตายผมจะสู้แบบนี้แหละ

“การเป็นมะเร็งเปิดโลกอีกมุมหนึ่งให้ผม แต่ก่อนต้องยอมรับว่าผมใจร้อน ไม่ค่อยประนีประนอม พูดตรงๆ มะเร็งทำให้ผมเห็นแก่ตัวน้อยลง เริ่มหันมามองว่าอะไรคือสิ่งที่พอเหมาะพอควรกับตัวเอง ไม่สุดโต่งมาก นึกถึงใจคนอื่น ประกอบกับเราเป็นโรคนี้ คนรอบตัวทั้งหลายจึงปฏิบัติกับเราดีไปด้วย ความสัมพันธ์รอบตัวก็ดีขึ้นไปด้วย ความสุขที่ตอนนี้คิดและคาดหวังไว้คือเมื่อถึงระยะติดเตียงก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อไหร่ ผมจะทำให้เวลานั้นเป็นช่วงที่ดี ถ้าคนอื่นเห็นเราตายดี ผมคงจะมีความสุขมากๆ เลย” 

คู่มือออกแบบชีวิตรับมือกับมะเร็ง

“ข้อแนะนำของผมหลักๆ สำหรับคนที่ไม่ป่วยและเป็นมนุษย์เงินเดือน ประกันสุขภาพคือการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้คุณลดปัญหาทั้งปวง แล้วคุณจะมีชีวิตที่ตัดปัจจัยในเรื่องของการรักษาและการเงินไปได้เลย ไม่เช่นนั้นแล้ว ในวันที่คุณป่วยแบบที่ไม่มีหลักประกันใดๆ นอกจากคุณจะติดห่วงเรื่องนี้แล้ว ครอบครัวของคุณอาจต้องล่มสลายเพื่อนำเงินทั้งหมดมาใช้ในการรักษา โรคอื่นผมไม่ทราบ แต่มะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่คุณต้องเข้าถึงการรักษาเพื่อจะมีชีวิตรอด ว่าง่ายๆ ถ้าคุณมีเงิน เงินจะช่วยยืดชีวิตคุณได้จากการเป็นมะเร็ง เพราะคุณสามารถเข้าถึงการรักษาและยาได้เร็ว แต่หากคุณไม่มี คุณต้องมาศึกษาในเรื่องสิทธิ์การรักษาให้ดี เช่น ประกันสังคม บัตรทอง การมีความรู้แต่เนิ่นๆ จะทำให้เมื่อเวลาฉุกเฉินคุณจะมีความรู้และสามารถจัดการอะไรไปได้ทีละขั้นตอน

“สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ผมขอพูดถึงมะเร็งระยะที่ 3 ขึ้นไปนะครับ เพราะในระยะที่ 1 หรือ 2 ในมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สำหรับมะเร็งปอดที่ผมเป็น ตั้งแต่ระยะที่ 3 ขึ้นไป ข้อเท็จจริงคือไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่จะเป็นการรักษาไปตามอาการของโรคแบบที่จะอยู่ได้ไปเรื่อยๆ แล้วถ้าคุณยึดมั่นว่าคุณจะหายขาด คุณจะเครียด เพราะฉะนั้นยอมรับความจริงในระยะโรคที่เราเป็นอยู่และรักษาไปตามอาการ รวมถึงวิธีที่เหมาะสมกับเราในช่วงเวลานั้นตามคำแนะนำของแพทย์ สอง – ในเรื่องการรักษา คุณควรเลือกวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับผม ผมเลือกการรักษาแผนปัจจุบัน ดังนั้น ผมจะมุ่งกับแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียว เพราะจะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพเต็มที่ เว้นแต่ว่าการรักษาที่คุณจะเลือกนั้นคือทางเลือกเดียวที่มีอยู่ สาม – คุณต้องกล้าถามคุณหมอ คุณเรียบเรียงไว้เลยว่าอยากถามอะไร นี่คือชีวิตของคุณ พอคุณมีความรู้ คุณจะไม่กลัวเพราะคุณรู้ว่าคุณเป็นอะไรและต้องทำอย่างไรต่อไป สุดท้ายคืออยู่กับปัจจุบัน ถ้าคุณสามารถฝึกได้ ลองหาวิธีในแบบของตัวเองว่าทำอย่างไรให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน เพราะถ้าคุณอยู่กับปัจจุบัน คุณไม่มีเวลาไปห่วงกับอะไรมานัก ที่ผมพูดนี่ไม่ใช่ว่าผมอยู่กับปัจจุบันได้ตลอดหรอกนะ เผลอคิดนั่นนี่อยู่บ่อยๆ เพียงแต่พอนึกขึ้นได้ก็กลับมาอยู่กับสิ่งตรงหน้านี้ นี่คือคำแนะนำที่ผมจะให้ได้จากประสบการณ์ที่ผมเจอมาครับ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

อณัญญา อัศวเวทิณ เรียนรู้คุณค่าของชีวิต อยู่กับมะเร็งปอดระยะ 4 อย่างปกติสุข  

จนถึงตอนนี้ การเดินทางต่อสู้กับมะเร็งปอด (Squamous Cell Carcinoma) ระยะที่ 4 ของ โบ-อณัญญา อัศวเวทิณ ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีกับอีก 7 เดือนแล้ว ถือเป็นสังเวียนการต่อสู้ที่ไม่ง่ายไม่ว่าจะกับใครก็ตาม เพราะชนิดของมะเร็งที่เธอเป็นอยู่ยังไม่มียารักษาให้หายขาด ในเวลานี้จึงทำได้เพียงประคองชีวิตอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ บนเส้นทางการรักษาที่เปรียบเหมือนการว่ายน้ำท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่มีคลื่นลมและกระแสน้ำเชี่ยวกราก โบบอกกับเราว่า เธอได้พบความโชคดี เพราะได้เรียนรู้และเติบโตจากความทุกข์และความกลัว ขณะเดียวกันเธอได้รับความสุขและถูกโอบกอดด้วยความรักจากคนรอบข้างมากมาย ได้เจอเรื่องน่ายินดีและยินร้ายปะปนกันไป ได้สัมผัสกับชีวิตหลากสีสันไม่ใช่แค่ดำกับขาว เธอรู้ดีว่าชีวิตของตัวเองอาจไม่ยาวนานเท่ากับอายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วไป นั่นจึงทำให้ผู้หญิงแข็งแกร่งคนนี้ใช้เวลาทุกนาทีที่มีอยู่อย่างมีความสุขและรู้คุณค่าที่สุดกับทั้งตัวเธอเอง คนที่เธอรัก รวมถึงเพื่อนร่วมโรคที่เธอพร้อมเป็นกำลังใจให้พวกเขาเสมอ 

มะเร็งปอด ชนิด Squamous Cell Carcinoma 

“ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2020 โบไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนเป็นปกติ หลังจากช่วงเวลานั้น โบเริ่มมีอาการไอเหมือนเป็นหวัด ซึ่งใกล้กับช่วงที่โควิดกำลังจะระบาดพอดี ตอนแรกคิดว่า…หรือเราจะเป็นโควิดนะ เลยไปหาหมอ 2-3 ครั้ง ได้ยาแก้หวัดมากิน แต่ยังไม่ดีขึ้นและยังไออยู่อย่างนั้น 2-3 เดือน ช่วงนั้นโบเรียนเพิ่มเติมเพื่อมาช่วยงานที่บ้าน ซึ่งการเรียนค่อนข้างหนัก เลยไม่ได้ไปแอดมิดเพื่อรักษาอย่างจริงจัง ไปแค่คลินิกเพื่อรับยา จนจบคอร์สเรียน เลยตัดสินใจไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจอย่างละเอียด ทั้งสแกน เอ๊กซเรย์ และพบว่ามีก้อนที่ปอด 

“ตอนที่เจอ โบอายุ 25 ย่าง 26 คุณหมอดูแนวโน้มว่าวัยประมาณนี้ไม่น่าจะมีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอด เพราะมะเร็งชนิดนี้มักพบในผู้ชาย ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง และสัมพันธ์ไปกับการสูบบุหรี่ ซึ่งโบไม่ได้เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงและไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง แม้ว่าลักษณะก้อนมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งปอดอยู่ 80-90% แต่คุณหมอยังแบ่งใจว่าอาจจะเป็นวัณโรคหรือปอดอักเสบก็ได้นะ จนได้ส่องกล้องเจาะชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจ แต่กว่าจะพบว่าเป็นมะเร็งโบต้องผ่านการตรวจที่ซับซ้อนพอสมควร ต้องพบหมอเฉพาะทางหลายแผนก ทั้งคุณหมอโรคทางเดินหายใจ การปรึกษากับศัลยแพทย์ทรวงอกที่แนะนำให้ผ่าออกเพราะก้อนมีขนาดใหญ่ และยากไปอีกตรงที่ก้อนเนื้ออยู่ติดกับหัวใจ กระบวนการผ่าตัดของโบกินเวลา 15 วันในโรงพยาบาล ผ่าตัดอยู่ 5 ครั้ง โดยคุณหมอพยายามจะรักษาชิ้นเนื้อปอดของเราให้ได้มากที่สุด และพยายามจะตัดแค่ก้อนออกไป ระหว่างที่ผ่าปอดปีกบนด้านซ้ายเพื่อนำก้อนออกก็พบว่าปอดปีกล่างซ้ายของโบแฟบ จึงต้องเข้าห้องผ่าตัดอีกรอบและจำเป็นต้องผ่าปอดปีกซ้ายออกทั้งหมดเลย ทำให้โบเหลือปอดเพียง 1 ข้าง และยังมีผ่าตัดเล็กด้วยการส่องกล้องอีก 3 รอบ เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างหนักเลยทีเดียว 

“ด้วยคุณหมออยากรู้ถึงต้นตอจริงๆ ว่ามาจากอะไร เพราะอย่างที่บอกว่าชนิดมะเร็งที่โบเป็นมักเกิดกับคนแก่ โอกาสที่จะเกิดกับคนวัยโบที่เป็นผู้หญิง แถมไม่สูบบุหรี่ด้วยค่อนข้างน้อย คุณหมอเลยใช้เวลาและเอาชิ้นเนื้อส่งไปตรวจที่อเมริกา แต่สุดท้ายก็ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งระหว่างรอ มะเร็งของโบลามไปประมาณ 4-5 จุดในร่างกาย ทั้งไต หลอดลม เนื้อเยื้อหุ้มปอด และต่อมน้ำเหลือง ระยะของโรคจึงกลายเป็นระยะ 4 นั่นคือระยะแพร่กระจาย เลยต้องให้คีโม 

“โบเปลี่ยนยามาหลายตัว จากคีโมชนิดแรกที่แพ้ มาเป็นคีโมตัวที่สอง มาเป็นตัวภูมิคุ้มกันบำบัด เชื้อยังมะเร็งลามเยอะ คุณหมอเลยเปลี่ยนมาให้ฉายแสงควบคู่กับทานยาคีโม ซึ่งตอบสนองค่อนข้างดี โบสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ คุมโรคอยู่ประมาณเกือบ 1 ปี จนกระทั่งปัจจุบันมีอาการดื้อยาเลยได้เปลี่ยนมาทดลองการรักษามะเร็งด้วยการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ควบคู่ไปกับการฉายแสง สำหรับยามุ่งเป้าที่โบกำลังทดลองชื่อ Afatinib ซึ่งต้องรอดูผลว่าจะตอบสนองกับยาตัวนี้กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะยาตัวนี้มักจะตอบสนองดีกับยีนส์ที่มีการกลายพันธุ์หรือมะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma แต่โบยังมีความหวังและเป้าหมายในการตื่นมาใช้ชีวิตเสมอนะคะ ยิ่งถ้ามีคนที่พร้อมเดินไปกับเรา ทั้งครอบครัวและคุณหมอที่ยังสู้และพยายามหาเส้นทางใหม่ๆ ให้ โบก็จะยังเดินหน้าสู้ต่อไปเหมือนกันค่ะ” 

จังหวะชีวิตที่ช้าลง

“เอาจริงๆ ตอนที่ป่วยแรกๆ โบไม่กลัวเลยนะคะ เพราะตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวโรคมากนัก คิดว่าเดี๋ยวก็คงหาย ไม่เป็นไรหรอก แต่พอเริ่มรู้จักตัวโรคมากขึ้น คุณหมอค่อยๆ หยอดข้อมูลเราในทุกๆ ครั้งที่เจอกันว่าโรคเราไม่มีทางหาย ต้องอยู่กับตัวเราไปตลอดนะ ยิ่งตอนนี้ระยะที่ 4 ด้วย เวลาที่อยู่บนโลกนี้อาจจะไม่ยาวนานนัก ตอนนั้นแหละค่ะที่ทำให้เราเริ่มกลัว แล้วมาเจออาการแพ้คีโมในครั้งที่ 2 แบบที่โบช็อกไปเลย ซึ่งเราไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนกับชีวิตที่คาบเกี่ยวอยู่บนเส้นของความเป็นและความตาย ครั้งนั้นทำให้โบกลัวการให้คีโมมาตลอด กว่าจะยอมรับและปรับตัวที่จะอยู่กับโรคและการรักษาได้ก็ใช้เวลาเป็นปี 

“แต่พอได้รักษาและได้รู้จักมะเร็งผ่านความกลัว ผ่านเหตุการณ์อะไรต่างๆ มามากมาย ก็ทำให้โบรู้สึกว่าถึงแม้ว่าเราจะเป็นโรคร้าย แต่เรายังสามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคและใช้ชีวิตได้ตามปกติได้นะ สามารถที่จะไม่เครียดและไม่กังวลกับมันมากเกินไปได้ ยิ่งปัจจุบันที่มียาและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ไปได้เร็ว โบได้ลองยาใหม่ๆ เยอะมาก ทุกครั้งที่กลับไปโรงพยาบาล โบเห็นวิวัฒนาการแทบทุกครั้ง ซึ่งเป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมากกว่าสมัยก่อนมากเลย

“ส่วนการใช้ชีวิตก่อนและหลังการเป็นมะเร็ง โบเปลี่ยนแปลงไปเยอะ แต่ก่อนโบเป็นคนที่คิดมาก ทุกอย่างจะเป็นพลังงานเชิงลบ ชอบกดดันตัวเอง เครียดกับเรื่องงาน อยากประสบความสำเร็จไว ไม่ชอบพัก ไม่ชอบนอน โบรู้สึกว่าการนอนทำให้เสียเวลา โบแค่นอนวันละ 3-4 ชั่วโมงเอง แล้วใช้ชีวิตอย่างนั้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เรียนจบ แต่ตอนนี้โบใช้ชีวิตด้วยความผ่อนคลายขึ้นมาก ใช้ชีวิตเหมือนคนวัยเกษียณแบบนั้นเลยค่ะ แล้วเป้าหมายในชีวิตตอนนี้ โบไม่ได้ต้องการจะมีเงินเป็นสิบล้าน มีบ้านหลังใหญ่มีอะไรขนาดนั้นแล้ว ขอแค่ตื่นมามีชีวิตอยู่และมีชีวิตที่มีความสุขในแบบของตัวเองก็เพียงพอแล้วค่ะ” 

เบาใจเพราะรู้จักวาง

ในวัย 28 ปี โบยังคงสดใสอยู่เสมอ ปัจจุบัน นอกจากการช่วยธุรกิจครอบครัวที่เป็นบริษัทอินทีเรียและขายกระเบื้องยาง เธอยังเปิดเพจ Messy Bo ใน facebook และช่องทางโซเชียลอีกมากมาย เช่น Tiktok, IG, Lemon8 โดยใช้ชื่อ username ว่า boanunya เพื่อเป็นแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตและเป็นพื้นที่พักใจให้กับผู้ป่วย พร้อมๆ ไปกับการใช้เวลาว่างกับกิจกรรมต่างๆ ที่เธอรัก

“โบทำกิจกรรมเยอะมาก การท่องเที่ยวยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชอบอยู่ แต่ก่อนเราจะเที่ยวแบบลุยๆ หน่อย ปัจจุบัน โบเที่ยวแบบสบายๆ เพื่อให้ไม่รบกวนร่างกายมากเกินไป นอกจากนี้ก็จะทำกิจกรรมที่ทำให้สบายใจ เช่น ไปเวิร์กช็อปงานศิลปะต่างๆ เมื่อก่อนโบไม่ค่อยอ่านหนังสือเท่าไหร่ แต่ตอนนี้กลับอ่านหนังสือที่ให้พลังบวกมากขึ้น โบยังไปโบสถ์ทุกสัปดาห์เพราะโบนับถือคาทอลิก ขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสได้ฝึกนั่งสมาธิโดยเปิดยูทูปแล้วปฏิบัติตามอยู่ที่บ้านด้วย ทุกครั้งที่เริ่มทุกข์ เริ่มฟุ้งซ่านจากความคิดตัวเอง การนั่งสมาธิทำให้สามารถดึงสติของตัวเองขึ้นมาได้ พอคิดว่าเหตุของทุกข์คืออะไร เราแก้ปัญหาได้ไหม ถ้าแก้ได้โบจะแก้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้โบจะใช้สูตรช่างมันและเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อยากทำแทน

“นอกจากนี้ ทุกๆ วัน โบจะดีท็อกซ์ความคิดตัวเอง โดยจดลงสมุดว่าวันนี้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง มีความสุข มีความทุกข์ เจอปัญหาอะไร แล้วสรุปจากข้อความที่เขียนทั้งหมดด้วยเหตุและผลว่า เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มาจากอะไร ผลคืออะไร พอได้ทบทวนตัวเอง ทำให้โบเห็นสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นชัดเจน เหมือนเราได้ถอยหลังมามองภาพกว้างกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ อะไรที่จัดการได้จะจัดการ อะไรที่เหนือการควบคุมก็จะไม่จมอยู่กับทุกข์นั้น โบมองตัวเองว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่จะพบทั้งความสุขและทุกข์เป็นปกติ เราเป็นมะเร็งก็จริง แต่เราแก้ปัญหาได้หนิ ถึงมะเร็งจะยังอยู่ แต่เราอยู่ด้วยกันได้นะ” 

กำลังใจจากฉันสู่เธอ

“อย่างที่บอกว่าการรักษาของโบทั้งยากและซับซ้อน ซึ่งสิ่งที่ทำให้อยู่กับโรคและการรักษาได้จริงๆ คือกำลังใจจากคนรอบข้าง ตั้งแต่ครอบครัว สามี เพื่อนๆ รวมทั้งทีมแพทย์ที่ดูแลโบมาตลอด โบซาบซึ้งกับความทุ่มเท ใส่ใจ ไม่เคยทิ้งเราไปไหน พร้อมจะสู้ไปกับทุกปัญหาของเรา อยู่กับเราในวันที่มีความสุข โบเห็นพวกเขาอยู่ตรงนี้เสมอโดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน โบรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดีมากคนหนึ่ง สิ่งที่อยากตอบแทน คือการไม่ทำให้พวกเขาเครียดไปกว่านี้ ไม่จำเป็นต้องมากังวลถึงอนาคตว่าพรุ่งนี้ฉันจะตายนะ โบจะไม่ทำให้เขาทุกข์ และโบอยากจะบอกตัวเองเราว่าเธอสุดยอดมาก เก่งมากๆ เลย ไม่รู้ว่าจะมีใครเก่งได้ขนาดนี้แล้ว โบชมตัวเองทุกวัน เธอเก่ง เธอสวย ถ้าตรงไหนที่ยังไม่ดี ที่เป็นข้อเสียของตัวเอง โบจะให้อภัยตัวเองได้ไวขึ้นค่ะ

“โบเป็นคนคนหนึ่งที่มีความท้อเหมือนทุกๆ คน แต่โบชอบพูดกับตัวเองว่าท้อเป็นผลไม้ที่มีทั้งรสเปรี้ยวและหวาน ชีวิตเราเกิดมาก็เป็นแบบนั้น มีหลายรสชาติให้ได้ซึมซับ เรียนรู้ และเข้าใจอยู่ทุกวัน เราท้อได้นะคะ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย แต่โบอยากบอกทุกคนว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง อย่าคิดล่วงหน้าไปไกลจนลดทอนกำลังใจตัวเอง ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกที่จะเจอแต่ความสุข เช่นเดียวกัน ไม่มีใครเลยที่จะเจอแต่ความทุกข์ ดังนั้น โบอยากให้ทุกคนสู้เต็มที่ในขีดความสามารถที่ทำได้ อย่ากดดันตัวเองจนเกินไป และขอให้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ากับเวลาที่มีอยู่ ใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบของเรา และทุกคนจะมีโบเป็นคนหนึ่งที่จะอยู่เป็นกำลังใจให้ตรงนี้เสมอค่ะ” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: www.facebook.com/messyy.bo  
IG, Tiktok, Lemon8: boanunya

ยุวดี พันธ์นิคม ผู้ปลดล็อคขีดจำกัดสู่ชีวิตแบบไร้ขีดจำกัด

“ข้อจำกัด” ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยนับว่าเป็นเรื่องที่เราต่างต้องมีและต้องเจอตลอดช่วงชีวิตหนึ่ง ใครหลายคนอาจถือเอาสิ่งที่ว่านี้มาเป็นข้ออ้างในการบอกกับตัวเองว่านี่คืออุปสรรคที่ทำให้ชีวิตไปได้ไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ไม่ใช่สำหรับ ออย – ยุวดี พันธ์นิคม เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูกและมะเร็งปอดเมื่อตอนอายุ 14 ซึ่งทำให้เธอต้องตัดขาซ้ายและปอดขวาเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ แม้มะเร็งจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่เธอสามารถก้าวข้ามความไม่สมบูรณ์นั้นได้ด้วยคำว่า “ไม่ยอมแพ้” ในวัย 36 ออยใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่รัก มีครอบครัวที่น่ารักอยู่เคียงข้าง เป็นนักวิ่งมินิมาราธอน และยังมีเพจเฟซบุ๊กชื่อ ออยลี่ฟอกซ์ ที่คอยจุดประกายและส่งต่อพลังดีๆ …สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเธอเองเท่านั้น แต่รวมถึงคนอื่นๆ ด้วยว่าการใช้ชีวิตได้อย่างดีด้วยการยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นเป็นอย่างไร  

เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ย้อนกลับประมาณ ม.3 เทอม 1 อายุประมาณ 14 ปี ตอนนั้นออยมีอาการปวดขา เป็นๆ หายๆ มาตลอด แต่คิดว่านั่นคืออาการปวดทั่วๆ ไป ไม่ได้สนใจอะไร จนเวลาผ่านไป ออยเริ่มปวดถี่ขึ้นๆ จนนอนเพ้อ เลยไปหาคุณหมอซึ่งตอนแรกยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่มีการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือเนื้องอกในกระดูก หลังจากผ่าตัดตรวจดูชิ้นเนื้อปรากฏว่าเป็นเนื้อร้าย คุณหมอเลยขอสแกนทั้งตัวถึงได้เห็นว่าออยเป็นมะเร็งกระดูกและลามไปที่ปอดซ้ายและขวา อยู่ในระยะกระจายแล้ว”

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การรักษาในเวลานั้นคือการตัดที่จุดกำเนิดเพื่อรักษาชีวิตไว้ ซึ่งหากไม่ตัด เธออาจจะเสียชีวิตภายใน 1-2 ปี หลังจากแผลผ่าตัดที่ขาด้านซ้ายเริ่มหายดี เธอเริ่มให้คีโมไปได้ระยะหนึ่งกระทั่งก้อนเนื้อมะเร็งที่ปอดซ้ายยุบลงเหลือ 5-6 มิลลิเมตร ขณะที่ด้านขวาไม่มีทีท่าว่าจะยุบลง ซึ่งด้วยสภาพร่างกายที่เริ่มไม่ไหว คุณหมอจึงแนะนำให้ออยตัดปอดด้านขวาออกเสีย “ตอนนั้นออยไม่ได้ปรึกษาใครว่าจะตัด ไปบอกกับคุณพ่อคุณแม่เลยว่า ลูกจะตัดปอดนะ เมื่อตัดปอดข้างขวาออกไป ออยให้คีโมมาต่อเนื่องมาจนกำลังจะเข้าสู่คอร์สที่ 9 จาก 12 คอร์ส ระหว่างเตรียมตัว ออยบอกพยาบาลว่าเวลาอ่านหนังสือ แต่ตาของเราไม่โฟกัสไปที่จุดที่มอง แต่จะเห็นด้านข้าง คุณพยาบาลเลยพาเข้าตรวจตาทันที ผลออกมาว่าเลือดออกที่ตาดำ ตาออยกำลังจะบอด จึงต้องหยุดให้คีโมเพราะไม่สามารถให้ต่อได้แล้ว คุณหมอเลยให้ออยกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน เรื่องของการรักษาคือจบแค่วันนั้น แต่มีติดตามผลกับคุณหมอต่อมาเรื่อยๆ จนผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว”

หลังจากหยุดการรักษา ออยใช้ชีวิตเป็นปกติทุกอย่าง ไม่ได้เข้มงวดเรื่องอาหารการกินมากนัก ขอเพียงมีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นอาหารที่ชอบ “ตอนที่เป็นมะเร็ง อาหารอย่างเดียวที่ออยทานได้คือมาม่าต้มยำกุ้งใส่โบโลน่า ซึ่งคุณหมอไม่เคยห้ามเลย ขอแค่อย่างเดียวว่าให้ใส่ไข่เพื่อเพิ่มโปรตีนสักหน่อย หลังจากเริ่มห่างจากการให้คีโม ออยก็ทานปกติอะไรนัวๆ มาได้เลยค่ะ

ส่วนที่ยากลำบากจะเป็นตอนที่ต้องใส่ขาเทียม ซึ่งก่อนที่จะได้ขาเทียมมา ทุกคนบอกไว้ว่าออยจะสามารถทำกิจวัตรได้เหมือนเดิมเลย ไม่ต้องกังวล เราก็วาดฝันไว้แบบนั้นเลย แต่พอได้มาแล้ว ถึงบ้านออยถอดทิ้งเลย เพราะขาเทียมไม้ที่ได้มาทั้งแข็งและหนักประมาณ 10-15 กิโลกรัม ใส่แล้วเจ็บมากแถมยังเดินได้ไม่เหมือนเดิม เรารู้สึกแย่ว่าทำไมทุกคนต้องหลอก เราวาดฝันจินตนาการว่าจะกลับไปเดินได้เหมือนเดิม ออยอยู่กับความรู้สึกนั้นพักใหญ่ๆ จนท้ายที่สุดมาคิดได้เองว่า ถ้าไม่ใส่ขาเทียม เราไม่สามารถทำอะไรได้สะดวก ถ้าไม่คิดที่จะหัดเดินได้เหมือนคนปกติ อนาคตเราไม่มีเลยนะ ความฝันที่อยากจบปริญญาตรี อยากดูแลคุณพ่อคุณแม่ จะทำไม่ได้นะ วันนั้นออยตัดสินใจลองหัดเดิน ถึงจะเจ็บแต่ต้องหัด และด้วยความโชคดีของออยที่เพื่อนๆ คอยช่วยตลอด จำได้ว่าต้องใช้เวลาเกือบปีถึงจะกลับมาเดินได้ด้วยขาเทียมเพราะออยลืมการเดินไปแล้ว ช่วงแรกออยยังเดินได้ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนขาจริง จนเปลี่ยนมาใช้ขาปัจจุบันที่วัสดุและองศาการพับใกล้เคียงกับสรีระทำให้การเดินของออยเป็นการเดินแบบปกติที่ใช้สะโพกซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการเดินได้แล้ว”

วิ่ง วิ่ง และวิ่ง…สิ่งซึ่งทลายกำแพงที่ชื่อว่า ‘ข้อจำกัด’

“ออยเกลียดการเดินมาตลอด เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ออยพยายามเดินให้น้อยที่สุด แค่ 100 เมตรก็ไม่อยากจะเดินแล้ว และจะเป็นคนที่นั่งคอยเสมอ ถ้าไปเที่ยวกับลูกและสามี เราจะให้คุณพ่อพาลูกไป ส่วนตัวเองจะนั่งคอย ไม่ได้ทำทุกกิจกรรมร่วมกับลูกเพราะว่าเราเจ็บเวลาที่เดิน จนเข้าสู่วัย 30+ ออยมีความรู้สึกว่าไม่อยากโดนทิ้งไว้ข้างหลังและอยากไปได้ไกลกว่านี้ ปี 2562 ออยบอกกับสามีว่า “ฉันอยากบอกรักตัวเอง ปีนี้ฉันจะให้ของขวัญตัวเองด้วยการออกกำลังกายนะ” สามีก็พาไป ช่วงแรกออยออกกำลังกายกับอุปกรณ์ที่มีในสวนสาธารณะอยู่ประมาณ 15 นาที ซึ่งแค่นั้นก็เหนื่อยแล้วและจะมานั่งรอจนสามีออกกำลังกายเสร็จ กระทั่งวันหนึ่งอยากลองเดินดู แต่เดินแค่ 200 เมตรแรก ออยเริ่มเจ็บขา เลยเดินๆ พักๆ จนครบ 1 กิโลเมตร จำได้ว่าใช้เวลาอยู่ประมาณ 23 นาที แต่หลังจากวันนั้น ออยจะพยายามเดินทุกครั้งเมื่อออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อย และมาสังเกตตัวเองว่า 200 เมตรที่เคยเจ็บในวันแรก เราไม่ได้เจ็บที่จุด 200 เมตรแล้ว ความเจ็บเริ่มลดน้อยลง ขณะที่เราเดินได้ในระยะทางที่ไกลมากขึ้น สุดท้ายจุดเจ็บของออยมาจบที่ 3 กิโลเมตร ตั้งแต่นั้นมาเลยอินกับการเดินมาโดยตลอดเลยค่ะ”

ในปีเดียวกัน เธอได้เห็นประกาศโครงการ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่ Run for New Life Story” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดรับคัดเลือกบุคคลซึ่งมีปัญหาทางด้านสุขภาพ น้ำหนักเกิน เป็นผู้พิการ ออฟฟิศซินโดรม และมีความฝันที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองให้มีสุขภาพและชีวิตดีขึ้นด้วยการวิ่ง ซึ่งนี่เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเธอ

“โครงการนี้เป็นการชวนคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยมาลองวิ่งดูที่ระยะทาง 10 กิโลเมตร พอได้ดูรายละเอียด เรารู้สึกว่าฝันของตัวเองเริ่มใหญ่ขึ้นว่าอยากจะไปเตะจุด 10 กิโลเมตรให้ได้ เลยลองเขียนชีวิตและเหตุผลต่างๆ ส่งเข้าไปที่โครงการดู ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 บุคคลต้นแบบ ได้ไปฝึกโดยมีโค้ชและนักโภชนาการมาช่วยดูแล” ซึ่งเธอสามารถวิ่งในระยะทาง 10 กิโลเมตร ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 9 วินาที เป็นการพิชิตมินิมาราธอนแรกได้ของเธอเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562

“การวิ่งเปลี่ยนแปลงตัวออยไปหลายๆ อย่าง เวลาวิ่งออยไม่ได้ฟังเพลงเพราะอยากปล่อยให้สมองโล่งๆ เป็นหนึ่งช่วงโมงที่ได้อยู่กับตัวเองและกลับมารักตัวเองในแบบที่เป็น กลายเป็นว่าทุกครั้งที่มีปัญหาหรือความเครียด การวิ่งทำให้ออยสลัดความรู้สึกแย่ๆ ออกไปได้หมดและกลับมามีความสุขได้อีกครั้ง ต้องบอกว่าทุกครั้งที่วิ่ง ออยจะเจ็บและได้แผลกลับมาเสมอ มีคนถามเหมือนกันนะว่า แล้วคุณจะทรมานตัวเองทำไมในเมื่อคุณเจ็บ แต่ความเจ็บนั้นไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป อาบน้ำ นอน อีกวันหนึ่งความเจ็บนั้นก็หายไป นอกจากจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของร่างกายและสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นแล้ว การวิ่งยังสอนอะไรออยอีกหลายอย่าง ทั้งการฝึกจิตใจ ความอดทน สติ สมาธิ ได้มิตรภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้เราชนะตัวเอง รักตัวเอง ลืมข้อจำกัดของตัวเอง และอยากทำให้ตัวเองดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือมันทำให้ออยสามารถเดินเคียงข้างสามีและลูกได้โดยที่ไม่ต้องนั่งรอพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกเช้าที่เป็นวันหยุดออยจะต้องปลุกสามีออกไปวิ่งด้วยกัน ทางนี้ก็จะบ่นว่า “ไม่น่าเล้ย” (หัวเราะ)”

ที่เปลี่ยนไปคือ ‘หัวใจและทัศนคติ’

“ก่อนที่จะเป็นมะเร็ง ออยมีความรู้สึกว่าใครเป็นโรคนี้นี่โชคร้ายนะ เพราะเป็นแล้วต้องตาย ครอบครัวออยคิดแบบนี้เหมือนกัน พวกเขาเลยพยายามจะอยู่ใกล้และตามใจเราให้มากที่สุดเพราะคิดว่าออยคงมีเวลาเหลืออีกไม่นาน ตอนที่ต้องตัดขา ออยต้องการกำลังใจและความเห็นใจจากคนอื่นมากๆ โดยเฉพาะคนปกติ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าจะคิดว่า ทำไมคนในขบวนถึงไม่ลุกให้เรานั่งนะ เราเป็นคนพิการนะ จนวันหนึ่งที่ออกมาใช้ชีวิตจริงๆ ได้เห็นโลกภายนอก ได้เห็นศักยภาพตัวเอง ออยรู้สึกโชคดีมากที่ตัวเองเป็นแค่นี้และยังไม่ตาย ซึ่งการมีชีวิตอยู่ทำให้เราได้ทำอะไรได้อีกเยอะมาก

แม้มะเร็งจะทำให้ออยไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม แต่มะเร็งทำให้เรายอมรับ เห็นคุณค่า และรักตัวเองในแบบที่เป็น เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีใครลุกให้นั่ง ออยจะมองอีกแบบแล้วว่าเพราะเราแข็งแรงไง หรือเขาอาจจะเหนื่อยจากงาน ตอนนี้ไม่รู้สึกไม่ดีอะไรอีกแล้ว ออยเสียดายเวลาที่ผ่านมาว่าตัวเองมัวไปนั่งน้อยใจกับโชคชะตาทำไม ถ้ามีโทรศัพท์ที่โทรกลับไปบอกตัวเองในอดีตได้ ออยจะบอกกับตัวเองว่าดีแล้วนะที่ตัดสินใจตัดขาและปอด เพราะอนาคตของเธอดีมากและมีความสุข แล้วกลายเป็นว่าพลังบวกเหล่านี้ยังแผ่ขยายไปให้คนรอบๆ ตัวเราด้วย”

ความสวยงามของฟ้าหลังฝน

“การที่ออยประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีคุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว เพื่อนๆ สามี และลูกที่อยู่เคียงข้างกับเรามาในทุกๆ จังหวะชีวิต ไม่ว่าจะร้องไห้หรือมีความสุขอย่างทุกวันนี้ พวกเขาคือสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นของขวัญในชีวิต สิ่งที่มะเร็งมอบให้ออยคือทำให้เรารู้จักคุณค่าของเวลา คนรอบข้าง และได้รู้แล้วว่าการใช้ชีวิตให้คุ้มค่านั้นเป็นอย่างไร ต่อให้ตอนนี้ออยเหลือเวลาอยู่แค่ 3 เดือน ออยจะไม่เสียใจแล้ว แต่จะใช้เวลาทั้งหมดที่มีทำอะไรต่อมิอะไรอย่างเต็มที่ พูดขอโทษ ขอบคุณ อโหสิกรรม ทำสิ่งที่ดีกับคนที่รัก ทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างสุดความสามารถ และจะทำให้ทุกนาทีของการมีชีวิตอยู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดายอีกต่อไป”

ขอจงหนักแน่นและยืนหยัดเพื่อจะมีชีวิตอยู่

“ตอนผ่าตัดปอด คำพูดแรกหลังจากตื่นขึ้นคือ “พ่อปล่อยออยไปเถอะ ออยไม่ไหวแล้ว อย่ายื้อ อย่ารั้งออยไว้อีกเลย” แต่ความรักและกำลังใจของคนรอบๆ ตัวที่ส่งมาให้มีมากเหลือเกิน มากจนทำให้เรากลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง ออยบอกตัวเองว่าเราจะท้อ จะหมดหวังทำไม ในเมื่อพลังบวกที่พวกเขาส่งมาให้เต็มเปี่ยม พวกเขาพร้อมสนับสนุนเราทุกๆ อย่างขนาดนั้น ใจเราต้องให้ร้อยกลับไป ต้องสู้ให้เต็มที่สิ จริงๆ ออยไม่คิดเลยว่าตัวเองจะผ่านมาได้จนถึงตอนนี้ก็ 20 กว่าปีแล้วนะคะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะบอกได้ก็คือ หากคุณหมอแนะนำอะไร อย่าดื้อเลยค่ะ ออยอยากให้ลองมองสิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพลังใจจากคนรอบข้างหรือสิ่งดีๆ จากตัวเอง เช่นว่าวันนี้ฉันทำอะไรได้บ้าง ฉันเดินได้ 1 ก้าวนะ วันต่อไปเดินได้ 2 ก้าวแล้ว จากจุดเล็กๆ แบบนี้คุณจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ออยอยากให้คนที่กำลังท้อหรือหมดกำลังใจลองใช้ชีวิตอยู่โดยมองที่ปัจจุบันขณะ ทำหน้าที่ของตัวเองในวันนี้ นาทีนี้ให้ดี ถ้าวันนี้เหนื่อยแล้ว หยุดพัก แล้วพรุ่งนี้เรามาเริ่มกันใหม่”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล   
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: ยุวดี พันธ์นิคม

เมื่อไม่สูบบุหรี่ ไม่มีกรรมพันธุ์ แต่ยังเป็นมะเร็งปอดได้…ชีวิตก็ต้องก้าวต่อไป!!’ อรสิรี ตั้งสัจจธรรม อยู่กับมะเร็งอย่างมีสติ

เราอาจคุ้นเคยกับการที่ใครสักคนเรียกสัตว์เลี้ยงแสนรักด้วยสรรพนามว่า ‘เขา’ แปลกหน่อยก็อาจเป็นสิ่งของที่ใครคนนั้นผูกพัน แต่แทบไม่ได้ยินคำนี้กับมะเร็ง

ตั๊กอรสิรี ตั้งสัจจธรรม ใช้สรรพนามเรียกเซลล์มะเร็งในร่างกายของเธอว่า ‘เขา’

“หลังจากที่เจาะน้ำที่ปอดไปตรวจ ก็เจอเขาเลย”, “พอกินยาเขาก็ยุบลงไปบ้าง” หรือ “เขาไม่มีทางหาย ทุกวันนี้ก็ต้องอยู่ด้วยกันไป” เป็นอาทิ

ก่อนหน้านี้ตั๊กทำงานด้านการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งสร้างรายได้แก่เธออย่างมั่นคง เธอแต่งงานตอนอายุสามสิบปี มีแผนจะสร้างครอบครัวในอุดมคติ หากไม่ใช่เพราะอาการไอแปลกๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในวัยสามสิบสอง

จากอาการไอเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่มีไข้และเสมหะไม่กี่ครั้งต่อวัน กลับกลายเป็นความถี่ที่ใครได้ยินก็ตระหนักได้ว่าผิดปกติ

“เราไม่ใช่คนสูบบุหรี่และดื่มเหล้า คนรอบตัวก็ไม่สูบบุหรี่ ครอบครัวก็ไม่มีประวัติเป็นมะเร็ง ตอนไปหาหมอ ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรมาก” ตั๊กกล่าว

เริ่มจากที่คุณหมอจ่ายยาพื้นฐานอย่างยาแก้ไอ กระนั้นหลังจากที่ตั๊กกินยาไปได้สักพัก เธอก็ยังมีอาการไออยู่ เธอเข้า-ออกโรงพยาบาลอยู่ 5 ครั้ง ด้วยคำวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นกรดไหลย้อนไปจนถึงหอบหืด แต่ไม่ว่าจะได้รับยาอะไร ตั๊กก็ยังไม่หยุดไอ กระทั่งคุณหมอให้เธอไปเอ๊กซเรย์ปอด แล้วพบว่ามีน้ำขังอยู่ข้างในพร้อมกับฝ้าสีขาวที่ขึ้นบนเนื้อปอด

“ถึงตรงนั้นคุณหมอก็บอกว่าน่าจะเป็นวัณโรค เลยเจาะน้ำในปอดไปตรวจ พอเจาะออกมา ปรากฏว่าน้ำเป็นสีเลือด แทนที่จะเป็นสีเหลืองใสแบบที่ผู้ป่วยวัณโรคเป็นกัน…”

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ตั๊กก็ได้รับคำยืนยันว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกาย เซลล์ที่ว่ามีชื่อว่า Adenocarcinoma เป็นเซลล์แบบ non small cell ชนิดที่มี ALK เป็นบวก ซึ่งจะไม่พบจากผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนอย่างไม่ทราบสาเหตุ คุณหมอบอกเธอว่ามีเพียง 2-5% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเท่านั้นที่จะพบเซลล์ชนิดนี้

ฟังดูว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่าก็คือหลังจากทำ PET scan ก็พบว่าเซลล์ร้ายได้ลุกลามจากปอดไปยังอวัยวะภายในอื่นๆ แล้ว – เธอเป็นมะเร็งขั้นที่ 4

กล่าวให้ชัดคือ นี่เป็นระยะที่ไม่มีวันจะหายขาด


การต่อสู้เพื่ออยู่กับมะเร็งให้ได้

            ปัจจุบันตั๊กอายุ 34 ภายนอกดูเป็นผู้หญิงที่กระฉับกระเฉง แข็งแรง และมองโลกในแง่บวก หากไม่ถาม ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าภายในร่างกาย – เนื้อปอดทั้งสองข้าง, ช่องเยื่อหุ้มปอด, ตับ, ต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ไหปลาร้าลงมาถึงช่องท้อง และกระดูกของเธอ ล้วนมีเซลล์มะเร็งกระจายอยู่ทั่ว ถึงวันนี้ เธออยู่กับพวกมันมาได้สองปีกว่าแล้ว

            แม้เธอบอกว่าตลอดสองปีที่ผ่านมามีเจ็บปวดบ้าง แต่โดยรวมก็ผ่านมาได้ด้วยดี กระนั้นการต่อสู้ภายในร่างกายของตั๊กก็เรียกได้ว่าดุเดือดและสาหัส เริ่มจากโจทย์แรกที่ว่าเชื้อมะเร็งที่ลุกลามทำให้เธอไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ คุณหมอจึงรักษาด้วยการให้กินยามุ่งเป้าเพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง

เธอเข้าโครงการวิจัยยา Alectinib ซึ่งเป็นยาตัวใหม่ล่าสุดในขณะนั้นที่แทบไม่เคยใช้กับผู้ป่วยในไทย (เพิ่งได้รับการเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา แต่ที่ไทยในตอนนั้นยังอยู่ระหว่างการรับรองของ อ.ย.) ต้องกินยาตัวดังกล่าววันละ 8 เม็ดทุกวัน กระนั้นเมื่อกินไปได้เพียงสัปดาห์เดียว เธอก็พบว่าผื่นแพ้ขึ้นผิวหนังแทบทุกส่วนในร่างกาย เธอหยุดยาไปหนึ่งเดือน ก่อนจะกลับมากินอีกครั้งในปริมาณที่ลดลง ซึ่งคราวนี้เห็นผล เซลล์มะเร็งเริ่มคลี่คลาย ตั๊กกินยาชนิดนี้ติดต่อกัน 11 เดือน กระทั่งในเดือนที่ 12 ร่างกายก็เกิดอาการดื้อยามุ่งเป้า คราวนี้คุณหมอเลยให้เธอเข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัด เธอทำคีโมอีก 9 ครั้ง… แต่นั่นก็ยังไม่จบ

“ตอนกินยาช่วงแรก เรามุ่งเป้ารักษาเซลล์มะเร็งในปอด ซึ่งก็ยุบไป 70-80% แต่พอในปอดยุบ ปรากฏว่าในตับกลับลามขึ้นมาอีก นั่นก็คือดื้อยา ก็เลยมาทำคีโม หลังทำไป 9 ครั้ง มะเร็งในตับยุบ แต่ในปอดกลับมาลามใหม่อีก”

“เหมือนเรือที่มีรูรั่วเลยค่ะ พออุดจุดนึงได้แล้ว อีกจุดก็กลับมารั่วใหม่ เขาดื้อมากเลย” ตั๊กกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ เธอเปรียบร่างกายเหมือนเรือ และใช้คำว่า ‘เขา’ กับเซลล์มะเร็งประหนึ่งเรียกเพื่อน

หลังจาก Alectinib และคีโมไม่ช่วยอะไรไปมากกว่านี้ ท้ายที่สุดหมอจึงสั่งจ่ายยา Ceritinib ให้เธอ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เธอกินยาตัวนี้ติดต่อกันทุกวันมา 5 เดือนแล้ว แม้เซลล์มะเร็งจะไม่ยุบ หากก็ไม่ลามไปกว่านี้ เธอว่าดีหน่อยก็ตรงที่ ‘พวกเขา’ ยังอนุญาตให้เธอสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข มีเจ็บปวดบ้างเล็กน้อยเป็นครั้งคราว หากทั้งหมดทั้งมวล เธอก็ไม่รู้สึกทรมานกายแต่อย่างใด

ไม่ใช่ต้องคิดบวก แต่เพราะถ้าจมอยู่กับความคิดลบ มันไม่ช่วยอะไร

ตั๊กบอกว่าเธอตระหนักดีว่าเป้าหมายของการรักษาผู้เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอย่างเธอ ไม่ใช่การทำให้หายจากโรค แต่เป็นการควบคุมอาการและยืดระยะเวลาในชีวิตเพื่อใช้มันอย่างมีคุณภาพให้มากที่สุด

“หมอบอกว่ามีคนไข้ที่ต่างประเทศ เขาก็อยู่กับมันได้เป็นสิบๆ ปี แต่ขณะเดียวกันก็มีไม่น้อยที่มีชีวิตอยู่ได้แค่ไม่กี่เดือน” หญิงสาวที่อยู่กับมะเร็งระยะสุดท้ายมาสองปีเศษกล่าว

ย้อนกลับไปในตอนนั้น ตั๊กยอมรับว่าทันทีที่รู้เรื่องนี้ เธอทั้งเครียดและเสียใจ เธอเพิ่งมีอายุได้สามสิบสอง มีแผนการในชีวิตมากมาย โรคร้ายปรากฏอย่างไม่มีเหตุผล เรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิด

“พอรู้อย่างนั้นก็ตระหนักได้ว่าเรามีลูกไม่ได้แน่นอน เพราะถ้ามีลูกต้องหยุดยา ซึ่งถ้าหยุดยาเซลล์มะเร็งก็อาจลุกลาม ไม่รู้จะรอดถึงเมื่อไหร่ ความคิดเกี่ยวกับชีวิตของเราทั้งหมดเปลี่ยนเลยนะ จากที่คิดว่าเรามีแผนการอีกยาวไกล ยังต้องทำนั่นทำนี่มันหายไปหมด คิดแต่ว่าเราจะอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ แล้วจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในแบบไหน”

กระนั้นก็ดี แม้ในกายจะแย่ แต่หัวใจของเธอก็ฟื้นกลับมาเข้มแข็งได้เร็วกว่าปกติ อาจจะด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง หรือเพราะเธอเห็นแม่เศร้าซึมจนไม่เป็นอันกินอันนอน เธอจึงต้องสู้เพื่อให้ท่านเห็นว่าเธอไหว สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลต่อกรอบคิดในการดำรงชีวิตอย่างมีสติของเธอด้วย

“พอเวลาผ่านไปได้สักพักเราก็นึกถึงความตาย แต่ไม่ใช่ความรู้สึกหมดอาลัยตายอยากนะ คือเราจะสู้ไปจนสุดทางนั่นแหละ แต่ก็เตรียมใจกับความไม่แน่นอนเอาไว้ คือถ้าพรุ่งนี้ไม่ตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่เป็นไร เพราะเราเตรียมพร้อมไว้หมด เราทำ living will ไว้แล้ว” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

มีบทเรียนสองสามเรื่องที่เอาเข้าจริงเธอก็ไม่อยากเรียนรู้มันในตอนนี้ แต่ก็โชคชะตาก็ทำให้เธอไม่อาจเลี่ยง

ข้อแรกคือความคิดต่อชีวิต จากผู้หญิงที่บ้างาน เธอและสามีต่างทำงานอย่างหนักจากเช้าจรดค่ำและไม่เคยกินมื้อเย็นด้วยกันในทุกวันทำงาน สองคนต่างหาเงินเป็นบ้าเป็นหลัง โรคร้ายก็กลับทำให้เธอฉุกคิด

“ก็รู้แหละว่าทุกคนต้องตาย แต่ก็ไม่คิดว่าอายุเราแค่นี้ ความตายจะอยู่ใกล้เราขนาดนี้ พอมาเจอโรค เราก็หยุดทุกอย่างและให้ความสำคัญกับเวลาที่เหลือ กับครอบครัว กับคนที่เรารัก ตั้งใจจะใช้มันให้มีคุณภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ส่วนอีกเรื่องคือ ‘การปล่อยวาง’ เธอยอมรับว่าเธอเคยได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมโรคร้ายต้องมาเกิดกับเธอ แต่ท้ายที่สุดเธอก็พบว่านี่คือสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ ในเมื่อเกิดแล้ว ควบคุมไม่ได้ เธอก็ต้องยอมรับ และควบคุมจิตใจเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับมันแทน

“นั่งคิดจนคิดได้ว่าไม่มีประโยชน์ที่เราจะจมอยู่กับความทุกข์ ไม่ใช่ว่าเราต้องคิดบวกนะ แต่การจมอยู่กับความคิดแย่ๆ หรือเอาแต่ตั้งคำถาม มันไม่ช่วยอะไร คุณไม่มีทางได้พบคำตอบ เอาเวลาไปใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้มีคุณภาพ มีความสุขที่สุดดีกว่า” เธอกล่าว 

            ทุกวันนี้ตั๊กยังใช้ชีวิตได้ปกติสุข แม้ต้องกินยาไม่ให้ขาดและยังต้องรับมือกับผลข้างเคียงของยาอยู่มาก แต่ก็สามารถออกกำลังกายได้ทุกวันเช่นกัน เธอทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ALK สเตชั่น’ เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ในการรักษามะเร็งเฉพาะทาง ตั้งใจให้ข้อมูลนี้ช่วยสื่อสารความเข้าใจในกระบวนการรักษา เนื่องจากประสบการณ์ตรงที่ว่าเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เธอจะได้รับคำแนะนำจากคนรอบข้างหลากหลายแนวทาง ซึ่งหลายครั้งเธอก็กลับขัดแย้งกันเอง หรือทำให้เธอสับสนโดยใช่เหตุ

            แม้จะเตรียมใจรับความไม่แน่นอนในชีวิตได้แล้ว หากตั๊กก็ยังตั้งใจจะสู้กับโรคร้ายในร่างกายไปจนสุดทาง เธอเขียนคำนิยามไว้ในแฟนเพจของเธอเอง ‘เมื่อไม่สูบบุหรี่ ไม่มีกรรมพันธุ์ แต่ยังเป็น มะเร็งปอดได้…ชีวิตก็ต้องก้าวต่อไป!!ซึ่งเธอหมายความตามนั้น พร้อมกันนี้เธอก็ใช้เวลาที่มีร่วมกับคนรัก ยินดีที่ได้แบ่งปัน และทำให้ทุกวันเปี่ยมด้วยความสุขเท่าที่จะเป็นไปได้

ติดตามการต่อสู้มะเร็งของตั๊กได้ที่ https://www.facebook.com/ALKstation/

หมายเหตุ: อรสิรีได้จากไปอย่างสงบในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563


เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: อรสิรี ตั้งสัจจธรรม