พิชามญชุ์ เอนกวรกุล กับโมงยามแห่งการเดินทางรอบโรค

ในยุคสมัยที่ Google ตอบได้เกือบทุกคำถาม ความรู้ทุกแขนงสามารถหาได้เพียงพิมพ์คำสั้นๆ และเสิร์ชหา แต่กับบางคำถามก็อาจจะไม่มีทางล่วงรู้คำตอบได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส หากต้องรอจนกว่า ‘ชีวิต’ จะทยอยส่งมอบบทเรียนสำคัญให้เราได้เรียนรู้ ยอมรับ กระทั่งน้อมรับ จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ 

ซังซัง-พิชามญชุ์ เอนกวรกุล เป็นอีกคนหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพลังความคิดสร้างสรรค์ล้นเหลือ เธอมีฝันเหมือนๆ กับคนวัยเดียวกัน และเคยใช้ชีวิตที่เหมือนว่าจะมีพรุ่งนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ ‘ความกลัว’ ได้แทรกซึมเข้ามาในชีวิต นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองและค้นหาคำตอบผ่านการสะสมสารพัดสารพันความรู้ทีละนิด จนเริ่มมองเห็นและเข้าใจความไม่แน่นอนของ ‘ชีวิต’ มนุษย์

และนั่นกลายมาเป็นเทคนิคที่เธอใช้รับมือกับอุปสรรคต่างๆ นานา รวมถึงสถานะการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ชนิด HER2 Positive มะเร็งที่มีแนวโน้มความรุนแรงของโรคสูงขึ้น และจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะพบ HER2 positive ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงทำให้เกิดมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมอง มะเร็งกระดูก เป็นต้น

“ออกตัวก่อนว่าซังเป็นคนที่ไม่ชอบเข้าวัด ทำบุญ ฟังธรรม หรือปฏิบัติธรรมใดๆ เลย แต่สกิลหนึ่งที่ติดตัวมาแต่ไหนแต่ไรก็คือ ซังจะเป็นคนที่มองว่าการเกิด-แก่-เจ็บ-ตายเป็นเรื่องธรรมดา จำได้ว่าอายุราว 15 ปี จู่ๆ วันหนึ่งเราเกิดความรู้สึก ‘กลัวตาย’ ขึ้นมาเฉยๆ เข้าใจว่าน่าจะมาจากความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ของตัวเองในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ฐานะ ความเป็นอยู่ ฯลฯ ทุกอย่างในชีวิตเรามันดีไปหมด แม้จะไม่ได้สุขสบายตลอด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็เลี้ยงดูเราอย่างไม่เคยลำบากและให้อิสระทุกอย่าง กอปรกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบคิด วิเคราะห์ รู้อะไร เห็นอะไร เราก็มักจะมาคิดต่อ เช่น เรียนเรื่องพุทธประวัติเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ ความสุขสบายของเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อเสด็จออกผนวช เราก็จะตั้งคำถามขึ้นว่า ทำไมพระองค์ทรงเลือกทางนั้น หรือแม้แต่การอ่านวรรณกรรมเด็กหลายๆ เรื่อง นอกจากเรื่องราวความสนุกในเนื้อเรื่องแล้ว เราก็จะตั้งคำถามว่า ทำไมตัวละครนั้นรวยแล้วจน หรือ ทำไมคนเรามีเกิดแล้วต้องมีดับ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ทุกๆ เช้าที่คุณแม่ขับรถไปส่งที่โรงเรียน ท่านจะเปิดวิทยุฟังรายงานการจราจร และก่อนจะจบการรายงานทุกครั้ง ผู้จัดรายการก็จะทิ้งท้ายด้วยคำสอนของท่านพุทธทาสเสมอ โดยวลีหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเรามาตลอดก็คือ ‘ตัวกูไม่ใช่ของกู’ 

“การสะสมคอนเทนต์เหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต จนเกิดเป็นความกลัวและเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ถ้าเราตายแล้ว…ยังไงต่อ’, ‘ชาติหน้ามีจริงไหม’, ‘เกิดแล้วดับหายไปเลยหรือเปล่า’, ‘จะไม่มีเราแล้วจริงๆ เหรอ’ ฯลฯ ยิ่งถามก็ยิ่งกลัว และพอเกิดความกลัวตาย ความกลัวอื่นๆ ก็เข้ามา เช่น กลัวเจ็บ กลัวป่วย กลัวแก่ กลัวไม่สำเร็จ ฯลฯ นั่นทำให้เราเริ่มศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มาเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งก็ไปซื้อหนังสือ ‘คู่มือมนุษย์’ ของท่านพุทธทาสมาลองอ่าน และเริ่มเข้าใจสิ่งที่ตัวเราควบคุมไม่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ชีวิต’ ของเราเอง ที่จาก ‘มี’ มันกลายเป็น ‘ไม่มี’ ได้ตลอดเวลา และสุดท้ายความตายก็เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด”

ชีวิตที่ผิดแผน

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เธอมุ่งมั่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานกว่า 5 ปี ก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจที่ Imperial College London ประเทศอังกฤษ และกลับมาใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์เงินเดือนอยู่เพียงไม่นาน เธอก็บอกลาความโสดและเข้าสู่ประตูวิวาห์ พร้อมวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและฮันนีมูนกับสามี โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งสองต้องพร้อมใจลาออกจากงานประจำก่อนออกเดินทาง

“เราทั้งสองคนอยากเดินทางท่องเที่ยวผจญภัยไปหลายๆ ประเทศในวัยที่ร่างกายยังไหว และยังไม่มีภาระอะไรที่ต้องเป็นห่วง คุณพ่อคุณแม่ก็ยังดูแลตัวเองได้ จึงวางแผนจะไปผจญภัยกันเต็มที่ เตรียมตัวก่อนออกเดินทางกว่า 3 เดือนเต็ม ไม่ว่าจะเป็นการสมัครอบรม Free Dive กินคลีน ฟิตร่างกาย ทั้งโหนบาร์ ปีนเชือก ฯลฯ เพื่อตั้งใจจะลงแข่งขันวิ่งวิบาก สปาร์ตัน เรซ (Spartan Race) และหลังจากลาออกจากงาน ก็จองตั๋ว จองที่พัก จองซาฟารี ทำวีซ่า ฯลฯ แพลนทริปไว้เกือบเรียบร้อยหมดแล้ว  

“จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ช่วงนั้นอยู่ระหว่างเดินทางไปงานรับปริญญาของน้องชายสามีที่อังกฤษ ก็มีนัดสังสรรค์กับเพื่อนๆ ที่นั่น ด้วยความที่เราเป็นคนรักสุขภาพ เลือกกินอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่ค่อยแตะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สักเท่าไร ทำให้คืนนั้นดื่มกับเพื่อนไปแค่ 2 แก้ว ก็มีอาการใจเต้นเร็วขึ้นมา พอกลับมาที่พักก็ยังไม่หาย จะนอนก็นอนไม่หลับ จึงลองใช้มือนวดๆ คลึงๆ ที่บริเวณหัวใจ คิดว่าจะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ปรากฏว่ามือก็ดันไปคลำเจอก้อนแข็งๆ ที่หน้าอกด้านซ้าย และจากที่เป็นนักอ่านตัวยง ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเป็นก้อนเนื้อที่แข็ง ไม่เจ็บ มีโอกาสสูงที่อาจจะเป็นมะเร็งมากกว่าก้อนที่คลำแล้วเจ็บ ณ นาทีนั้นก็รู้สึกแล้วว่าก้อนที่เป็นอยู่นั้นเข้าข่ายจะเป็นมะเร็งสูงทีเดียว

“แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะยังต้องอยู่ที่อังกฤษต่ออีก 10 วัน ระหว่างนั้นก็เล่าให้สามีฟัง และกำชับว่ายังไม่ต้องบอกใคร เพราะกลัวทุกคนที่มาด้วยจะเป็นกังวลไปกับเรา จากนั้นเราก็ปล่อยจอยไปกับการเดินทาง จนกระทั่งเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยวันแรกก็เสิร์ชหาโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งเต้านม และนัดหมายกับแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจภายในสัปดาห์นั้นเลย

“หลังจากคุณหมอตรวจอัลตราซาวนด์แล้ว ก็ขอตรวจแมมโมแกรมเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลกับเราว่า ดูเหมือนว่าจะมีหินปูน ซึ่งพอผลแมมโมแกรมออกมาพบค่า BIRADS 5 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้สูง 

“ทางคุณหมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจในวันนั้นเลย จากนั้นก็กลับมารอผลประมาณ 3 วัน จำได้ว่าประมาณวันเสาร์ เจ้าหน้าที่ก็โทรมานัดให้กลับมาฟังผลในวันรุ่งขึ้น ก่อนจะถามย้ำๆ ว่า มาได้ไหมคะ โดยแจ้งว่าตามปกติวันอาทิตย์จะไม่ใช่เวรคุณหมอ แต่คุณหมอจะมาเพื่อแจ้งผลเราโดยเฉพาะ ตอนนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่า ผลชิ้นเนื้อน่าจะออกมาไม่ดีแน่ๆ จึงคุยกับสามีให้เตรียมใจว่าแผนการเดินทางที่วางไว้น่าจะพังแล้ว”

ความป่วยเป็นธรรมดา

“เพราะรู้อยู่แล้วว่าความป่วยนั้นเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ และก่อนหน้านั้น ผลแมมโมแกรมก็ทำให้พอรู้ว่าก้อนที่เป็นอยู่นั้นมีขนาดแค่ 2 เซนติเมตร ยังคงอยู่ในระยะที่ยังรักษาได้ ทำให้พอคุณหมอแจ้งว่า ผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นมะเร็งอย่างที่คาดเอาไว้ เราจึงไม่ได้ตกใจหรือร้องไห้ฟูมฟาย ตรงกันข้ามกลับพูดคุยและสอบถามคุณหมอถึงประเภทของมะเร็งที่เป็น แผนการรักษา รวมถึงการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที ซึ่งคุณหมอก็ตอบอย่างละเอียด ก่อนจะถามกลับมาว่า ‘ผ่าตัดพรุ่งนี้เลยไหม’

“ด้วยความที่เราไม่เคยผ่าตัด ไม่เคยผ่านประสบการณ์การวางยาสลบมาก่อนเลย จึงขอเลื่อนเป็นอีกสองวันถัดมา เพื่อกลับไปเตรียมตัวเตรียมใจก่อน (หัวเราะ) พอกลับมาถึงบ้านคืนนั้น ไม่ได้นอนเลยทั้งคืน เพราะต้องนั่งยกเลิกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ โดยแนบใบรองรับแพทย์ไปพร้อมคำร้อง ‘ขอเงินคืน’ เนื่องจากต้องรักษาตัวจากอาการป่วยจึงไม่สามารถเดินทางได้ในวันเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งก็ได้เงินคืนเกือบทั้งหมด

“กระทั่งถึงวันผ่าตัด นอกจากการผ่าตัดแบบสงวนเต้าแล้ว คุณหมอก็ยังนำชิ้นเนื้อพร้อมกับต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ส่งตรวจอีกครั้ง และผลออกมาว่ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง เราจึงเป็นแค่ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 1 ซึ่งก็ยิ่งทำให้เราไม่มีความกลัวใดๆ เลย และรู้สึกว่ามะเร็งระยะนี้คงไม่ทำให้เราตายหรอก

“หลังจากกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน นอกจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษามะเร็งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจคาแรกเตอร์มะเร็งที่เราเป็นอยู่ว่าคืออะไร และไล่ดูคลิปความรู้จากคุณหมอด้านมะเร็งใน YouTube แล้ว เรายังไปขอ second opinion และ third opinion กับคุณหมอเก่งๆ เพิ่มเติมอีก 2 ท่าน จนสุดท้ายก็ได้แนวทางการรักษาที่ตรงความต้องการ รวมถึงตรงกับแนวทางการรักษาจาก National Comprehensive Cancer Network (NCCN Guidelines) เครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลที่สุดก็คือ การให้คีโม Paclitaxel ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ ควบคู่กับยาพุ่งเป้า 18 ครั้งทุก 3 สัปดาห์ และฉายแสง 25 ครั้ง จากนั้นก็จบด้วยการให้ยาต้านฮอร์โมน 5 ปี

“หนึ่งเดือนก่อนจะให้คีโม ซังก็ยังดำเนินการ ‘ฝากไข่’ ตามคำแนะนำของคุณหมอ เนื่องจากมะเร็งที่เราเป็นนั้นไม่ได้อยู่ในระยะแพร่กระจาย คุณหมอจึงไม่อยากให้เสียโอกาสที่จะมีลูก เราจึงไปฝากตามคำแนะนำคุณหมอ แม้ลึกๆ ซังและสามีก็ยังไม่ได้คิดเลยว่าพวกเราจะมีลูกไหม (ยิ้ม)”

ยิ่งไม่รู้…ยิ่งกลัว 

“โดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน เรามักจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ แต่เมื่อไรที่เรารู้ ความกลัวก็จะน้อยลง ซังจึงพยายามจะรู้ในสิ่งที่พอจะรู้ได้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่ออย่างน้อยเราจะได้รู้ว่า มะเร็งมีอะไรบ้างที่ทำให้เรากลัว และมีอะไรบ้างที่เราไม่ต้องกลัว จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งเหล่านั้น และพร้อมที่จะไปต่อกับมัน เพราะหากเราต้องใช้ชีวิตสักพักใหญ่ๆ กับ condition นี้ เราก็พยายามเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด 

“นี่เองที่ทำให้ซังตัดสินใจตัดผมออกก่อนที่จะคีโม ซึ่งตอนนั้นผมยาวมาก…ยาวถึงเอว จากนั้นก็นำผมที่ตัดออกไปให้ร้านทำวิกให้ เพราะรู้ว่าอย่างไรซะ ผลข้างเคียงจากคีโมนั้นก็ทำให้ผมร่วงแน่ๆ ยื้อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร และการเห็นผมร่วงเป็นกระจุกอาจจะทำให้ผู้ป่วยอย่างเรานอยด์ยิ่งกว่าเดิม   

“การให้คีโม 12 สัปดาห์ ผ่านไปด้วยดี แม้จะต้องบูทเม็ดเลือดขาวบ้างในเข็มที่ 4 และเข็มที่ 9 แต่ก็ถือว่าไม่เลวร้ายนัก ส่วนอาการข้างเคียงก็ถือว่ารับมือไหว เหนื่อยง่ายแต่ยังหายใจได้ ท้องเสียแต่ก็กินข้าวได้ ไม่เบื่ออาหาร แค่กินเสร็จต้องวิ่งเข้าห้องน้ำเท่านั้นเอง (หัวเราะ) 

“แม้จะไม่กลัว ไม่ทุกข์ถึงขั้นฟูมฟาย แต่ต้องยอมรับว่าก็มีบ้างที่รู้สึกเซ็งๆ ด้วยความที่เราชอบออกกำลังกาย แต่บางช่วงก็ต้องยอมรับว่าร่างกายไม่ไหวจริงๆ จำได้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งไปเล่นพิลาทิสแล้วครูให้ลองยกลูกบอลลูกเล็กๆ ขึ้นลง ปรากฏว่ายกขึ้นไม่ไหว (หัวเราะ) ครูยังตกใจ ทำไมยกไม่ไหว จากปกติเราแข็งแรงมาก เราเองก็ตกใจเหมือนกันว่า ทำไมเรารู้สึกว่าลูกบอลหนักมาก แต่ก็ถือเป็นอีกช่วงชีวิตที่เราได้เรียนรู้อยู่กับความอ่อนแอของร่างกาย ณ ขณะนั้นให้ได้

 
“เหตุการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่า เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตเราได้ จากตอนเด็กๆ ที่เคยคิดเสมอว่า เราจะทำอะไรก็ได้ เราจะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเราพยายามมากพอสักวันเราก็จะไปถึงจุดที่เราต้องการได้ แต่วันนี้เรารู้แล้วว่า แค่ความพยายามอย่างเดียวไม่พอ แต่มันมีอีกหลายสิ่งที่ประกอบกัน และบางสิ่งเราก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ก็คือความคิดและการตัดสินใจของเรา” 

สีสันหลังมรสุม

มาถึงวันนี้ นอกจากสถานะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาพุ่งเป้าทุก 3 สัปดาห์ โดยจะครบ 18 เข็ม ในช่วงเดือนสิงหาคม  2567 นี้ และยังต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมนต่อให้ครบ 5 ปี ซังซังยังเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีสันของกลีบดอกไม้ ภายใต้ชื่อ Petal Palette ธุรกิจแรกในชีวิตที่เธอมุ่งมั่นตั้งใจอยากให้เป็นสีสัน ความสุข และความสนุกให้ชีวิต    

“ซังไม่ได้คาดหวังหรือตั้งเป้าหมายกับ Petal Palette ไว้สวยหรู เราแค่อยากทำอะไรที่เป็นของตัวเอง ด้วยความที่เราเติบโตมาในครอบครัวพ่อค้า ซึ่งมีกิจการโรงงานที่ได้รับการยอมรับในตลาด consumer product แน่นอนว่าลึกๆ เราไม่ได้อยากเติบโตในบริษัทหรือในฐานะลูกจ้างของใคร แต่ก่อนหน้านั้นเราไม่มีความมั่นใจที่จะเริ่มทำ เรากลัวการเริ่มต้น กลัวจะไม่สำเร็จ กลัวสารพัด แต่พอมะเร็งผ่านเข้ามา เราแค่รู้สึกว่า ลองดูสักตั้งดีกว่า! 

“ณ วันนี้ ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรกับมะเร็ง ก็ยังรู้สึกว่า มะเร็งยังไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับเรานะ (หัวเราะ) มะเร็งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราต้องรับมือให้ได้ มะเร็งก็เหมือนเรื่องไม่ดีอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรานั่นแหละ เดี๋ยววันหนึ่งก็ผ่านออกไป หรือวันหนึ่งก็อาจจะกลับมาอีกก็ได้ ทุกวันนี้เราจึงพยายามใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุขให้ได้มากที่สุด” 

เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

พิมพ์ณิกา ลวางกูร เพราะฉันจะไม่ตายด้วยมะเร็ง

พิม – พิมพ์ณิกา ลวางกูร คืออดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด Triple Negative Breast Cancer (TNBC) มะเร็งที่ดุที่สุดท่ามกลางมะเร็งเต้านมทั้งหมดด้วยพยาธิสภาพของโรคที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการแพร่กระจายที่สูงกว่าและโอกาสของการกลับมาเป็นซ้ำที่มีเปอร์เซ็นต์สูงกว่ามะเร็งเต้านมชนิดอื่นๆ ในวันที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเมื่อ 2562 เธอเองไม่ต่างจากผู้ป่วยมะเร็งอื่นๆ ที่ตกใจ เสียใจ ฟูมฟาย กระทั่งสามีมาเตือนสติว่า ‘มะเร็ง เป็นได้ก็รักษาให้หายได้’ หลังจากวันนั้นเธอเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อโรคและบอกกับตัวเองว่า ‘ฉันจะไม่ตายด้วยมะเร็ง’ และนั่นเป็นจุดตั้งต้นให้คำถามในชีวิตของเธอเปลี่ยนจากการมองว่ามะเร็งคือโชคร้ายไปสู่คำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้หายจากโรค ตลอดเส้นทางกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เธอศึกษาหาความรู้มากมายเกี่ยวกับมะเร็งและการดูแลตัวเอง ปฏิบัติตัวตามที่คุณหมอแนะนำ รวมทั้งดูแลสุขภาพด้วยตัวเองเพื่อให้เซลล์ดีในร่างกายเธอแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับมะเร็ง วันนี้เธอหายดีแล้วและเริ่มต้นบทบาทใหม่กับการเป็นที่ปรึกษาด้านมะเร็งและสุขภาพ รวมทั้งทำให้เพจอย่าง ‘สวยสู้มะเร็ง’ ที่เธอก่อตั้งเมื่อหลายปีก่อนไม่ใช่เพียงเป็นพื้นที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู่กับโรคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเท่านั้น แต่คือชุมชนเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยกำลังใจและแรงบันดาลใจที่พร้อมส่งต่อและสร้างนักสู้โรคที่แข็งแกร่งให้กับโลกใบนี้ 

มะเร็งเต้านมสายพันธุ์ Triple Negative 

ย้อนหลังกลับไปในปี 2562 หลังจากการตรวจสุขภาพที่พิมจะทำเป็นประจำทุกปี เธอพบว่าตัวเองมีก้อนที่เต้านมขวาขนาด 2.5 เซนติเมตร จนกระทั่งคุณหมอที่โรงพยาบาลแห่งแรกแจ้งว่าก้อนเนื้อนั้นคือมะเร็ง เธอตัดสินใจไปขอความคิดเห็นที่สองทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกแห่ง เมื่อคุณหมอทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง ผลทุกอย่างออกมาเหมือนเดิม เป็นการยืนยันได้ว่าเธอเป็นมะเร็งที่เต้านมจริงๆ 

“มะเร็งเต้านมที่เราเป็นคือสายพันธุ์ Tripple Negative (ทริปเปิ้ล เนกาทีฟ) ซึ่งถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดุของมะเร็งเต้านมที่ถ้ากลับมาเป็นซ้ำ จะมีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่ข้อดีคือเมื่อเสร็จสิ้นการรักษาแล้วคือเสร็จเลย ไม่ต้องกินยา 5 ปี 10 ปี เพราะมะเร็งชนิดนี้ไม่รับฮอร์โมน สำหรับการรักษาของเรา เริ่มจากการผ่าตัดแบบไม่ต้องตัดเต้า ไม่ต้องตัดต่อมน้ำเหลือง ตัดเพียงก้อนมะเร็งเท่านั้น โดยระหว่างทางของการรักษาเราได้ไปเจอวิธีการบำบัดรักษาแบบ Gerson Therapy (การบำบัดรักษาแบบเกอร์สัน) จากตอนแรกที่ยังไม่เข้าใจและเต็มไปด้วยคำถาม เพราะมันแตกต่างจากสิ่งที่เราเคยรู้มาก่อน แต่พอเปิดใจศึกษาและทำความเข้าใจงานวิจัยของเขาก็พบว่าแนวทางนี้สมเหตุสมผล เราเลยลองลงมือปฏิบัติ แล้วให้เวลาและวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย วิธีดังกล่าวเป็นการรักษาในระดับเซลล์โมเลกุล โดยการทำให้เซลล์ที่ดีที่ยังไม่เป็นมะเร็งแข็งแรงมากๆ เพื่อล้อมกรอบเซลล์มะเร็งไว้ไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย และทำให้ร่างกายตรงนั้นแข็งแรง ลดภาวะต่างๆ ที่จะเอื้อให้มะเร็งเติบโต ถ้าพูดให้เห็นภาพ พอเซลล์แข็งแรงก็เหมือนกับเรามีประชากรในประเทศเป็นคนดี 90% มีทหารตำรวจที่แข็งแรง คนไม่ดีก็จะถูกล้อมกรอบไว้ โดยเราใช้วิธีนี้ควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ 

“แม้การผ่าตัดจะผ่านไปด้วยดี แต่ด้วยสายพันธุ์ที่ว่า คุณหมอจึงแนะนำให้เราทำคีโม 4 ครั้ง เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกให้หมด เมื่อตัดสินใจว่าจะให้คีโม เราเลยต้องลดความเข้มข้นของการบำบัดรักษาแบบเกอร์สันลง ด้วยร่างกายที่ใช้การดูแลแบบเกอร์สันเต็มรูปจะไม่ให้คีโมด้วยความเชื่อที่ว่าคีโมเป็นสารเคมีที่ทำลายเซลส์ดีไปพร้อมกับทำลายเซลส์มะเร็ง เรากลับมากินเนื้อสัตว์และโปรตีนเสริมเพื่อให้ค่าเลือดเราไปต่อได้ รวมถึงการกระตุ้นเซลส์เม็ดเลือดขาว ระบบภูมิคุ้มกัน หลังจากให้คีโม 4 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์ และฉายแสงวันละ 5 นาที เป็นจำนวน 33 ครั้ง โดยใช้ระยะเวลารักษาทั้งหมด 7 เดือน การรักษาจึงเสร็จสิ้น โชคดีของเราคือมะเร็งไม่ลามเลย จะมีก็คือผลจากคีโม เช่น ผมร่วง ผิวแห้ง และเล็บที่มีลักษณะเป็นคลื่นเท่านั้น 

“หลังจากการรักษาที่ยาวจนถึงฉายแสงจบ เราเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่อ้วน ซึ่งถ้าไม่เข้าใจ ก็คงจะรู้สึกว่าดีนะกินอาหารได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะกลายเป็นว่าไขมันที่เยอะจะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ซึ่งมะเร็งชอบภาวะการอักเสบ คุณหมอเลยบอกให้ลดความอ้วน ซึ่งเราไม่อยากกลับมาเป็นซ้ำเพราะถ้าเป็นซ้ำโอกาสเสียชีวิตสูง ภารกิจใหม่จึงเริ่มขึ้นคือเราห้ามกลับไปอ้วนอีก ถ้าจะมาสรุปก็คือเป้าหมายของการรักษาจะถูกเปลี่ยนทุกระยะ และนั่นเป็นความท้าทายที่เราต้องข้ามผ่านและผ่านมันมาได้แล้ว (ยิ้ม)”

ขั้นบันไดแห่งความท้าทาย

“ความท้าทายแรกคือทันทีที่คุณหมอบอกว่าก้อนเนื้อนั้นคือมะเร็ง เราเข้าใจคำว่าสติแตกเลยว่าเป็นอย่างไร เรารู้สึกสะเทือนใจที่สุด พอก้าวออกมาจากห้องคุณหมอเพื่อไปลานจอดรถ เราทรุดลงไปร้องไห้ฟูมฟาย จนสามีมาแตะบ่าบอกว่า ‘ไม่เป็นไร เป็นแล้วก็รักษา’ เมื่อตั้งสติและยอมรับได้ว่าเป็นมะเร็งนะ ภารกิจถัดไปคือการจัดการสิ่งต่างๆ เริ่มจากการไปบอกกับครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่เพราะท่านแก่แล้ว เรากลัวและกังวลว่าคุณแม่จะเครียดหากรู้ว่าเราป่วย เราปรึกษากับสมาชิกครอบครัวคนอื่นและตกลงกันว่าจะทำให้การป่วยในครั้งนี้เป็นเรื่องปกติที่สุด และพี่สาวเป็นพยาบาลด้วย คำพูดเลยยิ่งมีน้ำหนัก พอคุณแม่ท่านทราบ ท่านก็เข้าใจและทุเลาความกังวลลงได้ แต่เรารู้แหละว่าท่านยังมีความกังวลอยู่บ้าง เพราะมันคือมะเร็ง

“ถัดมาคือเรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อพบก้อนมะเร็ง เราได้รับการประเมินค่าใช้จ่ายมาเกือบ 3.5 ล้านบาท เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งวันที่เครียด ไหนจะโรคมะเร็งไหนจะค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โชคดีที่สามีกับพี่สาวเรียกสติกลับมา จนเราตัดสินใจว่าจะเลือกไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้เห็นความจริงว่าคนป่วยเต็มไปหมด พอได้เจอเพื่อนร่วมโรคทำให้เรารู้ว่าเส้นทางนี้เราไม่ได้สู้เพียงคนเดียว ไม่ใช่เราที่ลำบากอยู่คนเดียว และอย่างที่บอกว่าเราพบว่าคนไข้มะเร็งมีจำนวนเยอะมาก เราเลยได้เห็นอีกมุมจากฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ว่าทำงานหนักมาก ทุกครั้งที่มีนัด เราจะแต่งตัวสวยที่สุดไปโรงพยาบาล เพราะคิดว่า ความสดใสและสดชื่นที่เราพกไปน่าจะเป็นกำลังใจให้คุณหมอและพยาบาลได้บ้าง ขณะเดียวกัน เราอยากเป็นกำลังใจและแสดงให้เห็นว่าถึงเราจะป่วย แต่เรายังสามารถสดใสและสร้างพลังใจให้ตัวเองได้นะ 

“สุดท้ายคือความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ การจัดการกับความเครียดและความกลัวทั้งตัวโรคและความกลัวว่ารูปลักษณ์จะเปลี่ยนไปจนอาจทำให้คนใกล้ตัวเราเปลี่ยนแปลง เราพบว่ามีผู้หญิงหลายๆ คนต้องแยกทางกับคู่ชีวิต ในกรณีของเรา ถือว่าค่อนข้างโชคดีด้วยครอบครัวอยู่เคียงข้าง แต่เราเองเป็นคนชอบวางแผนและชัดเจนกับทุกอย่างอย่างที่บอกไป เราบอกกับสามีอย่างตรงไปตรงมาเลยว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น ถ้าจะต้องแยกจากกันจริงๆ ขอให้เขาบอกเราตรงๆ อย่าให้เราไปรู้จากคนอื่นเพราะเราคงจะเสียใจมาก เราไม่ได้อยากเสียเขาไปหรอก แต่เราต้องวางแผน ถ้าเรื่องไหนที่กังวล เราจะทำให้ทุกอย่างชัดเจน ตกลงกันไว้ก่อน อย่างน้อยจะช่วยลดความกังวลลงได้มากเลยค่ะ”

Cancer Fighter Community ชุมชนสร้างเสริมส่งต่อกำลังใจ 

ระหว่างเวลา 7 เดือนเต็มของการรักษาตัว นอกจากการปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำแล้ว พิมยังใช้เวลาในการหาความรู้เรื่องสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เธอเป็น เริ่มลงมือปฏิบัติ และวัดผลจากสิ่งที่เธอทำเพื่อให้สุขภาพดีแบบองค์รวม พร้อมๆ ไปกับเปิดเพจเฟสบุ๊คของเธอเองในนาม ‘สวยสู้มะเร็ง’ โดยมีเป้าหมายคือการเป็นพื้นที่บันทึกเรื่องราวชีวิตในช่วงเวลาการเป็นมะเร็งของเธอ  เมื่อมีผู้ติดตามมากขึ้น เป้าหมายของเธอถูกขยายไปไกลกว่าเดิมคือการให้ความรู้และการสร้างเครือข่ายนักสู้มะเร็งในบ้านเราให้มากและแข็งแกร่งขึ้น

“ทุกวันนี้ เพจสวยสู้มะเร็งเป็นมากกว่าพื้นที่ของการแบ่งปันความรู้ แต่เป็นเสมือนชุมชนที่รวมคนหัวอกเดียวกันได้มาพูดคุย ให้กำลังใจ มาร้องไห้และหัวเราะไปด้วยกัน นอกจากความสุขจากการได้รับคำขอบคุณและกำลังใจจากลูกเพจ เรายังได้เรียนรู้และได้ความรู้จากประสบการณ์คนอื่นๆ พร้อมๆ ไปกับมีโอกาสได้ช่วยเหลือและแบ่งปันสิ่งที่เรามี ทั้งข้อมูลของโรคที่เราเผชิญ ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว การสร้างกำลังใจ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นด้วย”

ของขวัญจากมะเร็ง

“หลังจากเป็นมะเร็ง เราเริ่มศึกษาเรื่องการจัดการความเครียด การกำหนดลมหายใจเพื่อลดความเครียด เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้ว่าเวลาเครียด ข้างในร่างกายปั่นป่วนขนาดไหน พอได้รู้ เราเลยตั้งโจทย์ว่าจะไม่เครียด ฝึกให้กำลังใจและสะกดจิตตัวเองว่า ‘วันนี้เป็นวันที่ดีของฉัน ฉันจะไม่ตายเพราะมะเร็งนะ’ พอทำแบบนี้บ่อยๆ ก็เหมือนเราได้โฟกัสและจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองไปสู่สิ่งนั้น เช่น ฉันจะเดินไปกดกาแฟดื่มเองนะ ฉันจะออกกำลังกายนะ ฉันจะฟังธรรมะ เดี๋ยวรักษาเสร็จจะกลับไปทำงานแล้วนะ มะเร็งทำให้เราเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนนิสัย เห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัวมากขึ้น และเห็นความสุข ให้ความสำคัญกับความสุขเล็กๆ ในแต่ละวันมากขึ้น จากแต่ก่อนที่เรานิยามความสุขจากการได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้กระเป๋า ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ กินอาหารดีๆ เป็นคนที่มีความสุขจากการได้รับ เช่น สามีต้องซื้อของให้ สามีต้องทำสิ่งนี้ให้ เราถึงจะมีความสุข แต่เดี๋ยวนี้แค่เดินไปกดกาแฟแล้วเดินมานั่งดื่ม หรือออกกำลังกายเบาๆ นั่นคือความสุขแล้ว เราเปลี่ยนความสุขจากการที่เคยเป็นผู้รับ ไปสู่การเก็บความสุขจากการเป็นผู้ให้มากขึ้น เราพบว่าตัวเองพูดขอบคุณบ่อยขึ้น ทั้งกับตัวเองและคนที่อยู่เคียงข้าง

“ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้บอกเลยว่าเราอยากขอบคุณมะเร็งที่เข้ามาเตือนเราในวันที่เรายังสู้ไหว และอยากขอบคุณตัวเองที่ปรับเปลี่ยน แล้วลงมือทำสิ่งต่างๆ ให้กับชีวิต วางแผนและดูแลชีวิตตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้มะเร็งกลับมา แต่ก็ยังเตรียมความพร้อมเสมอหากมะเร็งกลับมาว่าเราจะรับมืออย่างไร ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา เราไม่ได้มองแค่ยอดเขาที่เราจะไปให้ถึง แต่เรายังเก็บดอกไม้ระหว่างทางมาเยอะมาก นั่นคือความสุขและประสบการณ์ และเพราะทุกอย่างไม่แน่นอน เราเลยคิดว่าหากช่วงสุดท้ายของชีวิตเรามาถึง อย่างน้อยเราจะมีภาพความทรงจำดีๆ เยอะมาก

“สำหรับเรา การเป็นมะเร็งเหมือนการปิดตาเดินขึ้นบันไดที่ไม่รู้ว่าบันไดขั้นต่อไปจะเจออะไรบ้าง เช่น ให้คีโมแต่ละเข็มเราจะมีสภาพร่างกายเป็นอย่างไรนะ ในความน่ากลัวที่เราคาดหวังอะไรไม่ได้ ทำให้เราต้องวางแผนดีๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราผ่านความท้าทายแค่ละขั้นบันไดของการรักษามาได้ (ยิ้ม)” 

ตั้งสติเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่า

“อย่างที่เล่าไปพอรู้แล้วว่าเป็นมะเร็ง เราฟูมฟายอยู่ระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่เราค้นพบและเรียนรู้คือ เราต้องยอมรับและย้อนกลับมาดูตัวเองว่าอะไรที่ทำให้เราเป็นมาถึงจุดนี้ ดังนั้น สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ให้โอกาสตัวเองได้ฟูมฟายไปเลย เพียงแต่ตั้งสติให้เร็ว อย่าเพิ่งโทษลมฟ้า ส่วนคำถามว่าทำไมเป็นฉัน เราคิดว่าเป็นคำถามนี้ดีนะ ลองใช้คำถามนี้แล้วตอบตัวเองว่าทำไมเป็นเรา เพราะเราใช้ชีวิตบนความเครียด กินอาหารไม่ดี ไม่เป็นเวลา ไม่ออกกำลังกาย หรือนอนไม่ดีรึเปล่า เพราะเราเคยเป็นแบบนั้นและคิดว่าการเป็นมะเร็งของตัวเองน่าจะมาจากพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านี้ แล้วพอถึงจุดที่ตั้งสติได้ คำถามของคุณจะเปลี่ยนไป นั่นคือจุดพลิกผันที่จะทำให้ความเชื่อและการกระทำเปลี่ยนไปด้วย จากตอนแรกที่กลัวว่าฉันจะตายไหม ถ้าเราตัดสินใจว่าเราจะไม่ตาย เราจะหาทางรอดให้กับตัวเอง 

“จากเส้นทางของเรา มะเร็งไม่เท่ากับตาย แล้ววันนี้เราแข็งแรงกว่าตอนก่อนเป็นมะเร็งด้วย ถ้าคุณท้อแท้ ต้องถามว่าท้อแท้เรื่องอะไร เช่น เรื่องตกงาน เราจะบอกว่ามันจะเป็นแค่ช่วงเวลาเดียว เราผ่านมาแล้ว ตกงานมาแล้วเหมือนกัน แต่เราผ่านมาได้ แล้วพอถึงวันหนึ่งคุณจะสร้างคุณค่าใหม่ให้กับตัวเองได้ แสวงหาอาชีพใหม่หรือได้ที่ทำงานใหม่ หายใจลึกๆ วางแผนดีๆ ปรึกษาคนรอบข้าง ยิ่งกลัวยิ่งต้องวางแผนรอ ตั้งหลักให้มั่น แต่ถ้ากลัวแล้วปล่อยให้กลัว ไม่ลงมือทำอะไร ความกลัวจะอยู่ในใจ แล้วพอต้องผ่านในแต่ละขั้นตอนเราจะยิ่งหดหู่ หรือถ้าท้อแท้เรื่องความสัมพันธ์ อย่างที่บอกใจเขาใจเรา กลัวคนที่เรารักจะจากไปใช่ไหม ถ้าอย่างนั้น ต้องทำให้เขามีความสุข อย่าทำตัวเป็นภาระมากจนเกินไป เราป่วยแค่กาย ไม่ได้ป่วยใจ เราต้องทำให้รู้ว่าเราป่วยนะ แต่เราจะช่วยตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วเราขอบคุณคนรอบตัวที่อยู่ในทุกๆ ความสัมพันธ์ คนที่อยู่กับเรา ที่ดูแลเรา แนะนำว่าให้เปลี่ยนโฟกัสมาที่การแก้ปัญหา อย่าโฟกัสที่ปัญหา เหมือนเซลล์มะเร็งที่เราพูดถึง อย่าโฟกัสที่มะเร็ง 5% แต่มาโฟกัสอีก 95% และทำให้เซลล์เหล่านั้นแข็งแรงที่สุด

“เคล็ดลับหนึ่งที่เราใช้เสมอคือถ้าท้อ ให้ลองฝึกหายใจ เปลี่ยนจุดสนใจ ไปทำอย่างอื่นที่ตัวเองชอบ กอดและให้กำลังใจตัวเองให้เป็น ที่เราพูดได้เพราะเราได้ผ่านในจุดยากๆ หลายๆ จุดมาแล้ว เราอยากเป็นกำลังใจให้ และถ้าตอนนี้ยังคิดอะไรไม่ออก ลองดูเราเป็นตัวอย่างก็ได้ ที่สำคัญคือเลือกสิ่งที่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตที่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นค่ะ (ยิ้ม)” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: BeautifulMindFightCancer 

อจิรภาส์ ประดิษฐ์ ยอมรับ เรียนรู้ เข้าใจ เพื่ออยู่กับมะเร็งอย่างมีสติ

ตุลาคม ปี 2565 คือเดือนที่ แฟน – อจิรภาส์ ประดิษฐ์ คลำพบก้อนเนื้อที่อกฝั่งขวาขนาด 4.5 เซนติเมตร ซึ่งภายหลังได้รับการวินิฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดอยู่เฉพาะที่ (Ductal Carcinoma in Situ: DCIS) ระยะ 3B ที่ลามไปยังต่อมน้ำเหลือง 7 ต่อมจาก 25 ต่อม แฟนบอกกับเราในวันที่คุยกันว่า ในความโชคร้ายของการเป็นมะเร็ง เธอยังโชคดี เพราะระยะของโรคที่เธอเป็น หากได้รับการรักษาอย่างครบขั้นตอนและร่างกายตอบสนองดี จะมีโอกาสรอดชีวิตถึง 85% ในระยะ 5 ปี อีกทั้งชนิดมะเร็งที่เธอเป็นอย่าง ER/PR + Her2 ยังมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำน้อย เมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ อย่าง Her2+ ในระยะ 5-10 ปี แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราขอยกความดีอีกด้านให้กับการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น การเผชิญหน้ากับโรคด้วยความเข้าใจ รวมทั้งการมีสติและใจที่มั่นคงของเธอ ซึ่งกว่า 1 ขวบปีที่ผ่านมา นอกจากการได้รู้จักมะเร็งในตัวเธออย่างถ่องแท้แล้ว ตัวของแฟนเองยังได้เรียนรู้การมีอยู่ของชีวิต ตลอดจนคุณค่าของเวลาในแต่ละวัน และวันนี้เธออยากมาแบ่งปันประสบการณ์ในการจัดการและอยู่ร่วมกับมะเร็ง พร้อมส่งกำลังใจให้ทุกๆ ชีวิตก้าวข้ามพ้นช่วงเวลาที่ท้าทายผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้ของเธอ 

มะเร็งเต้านมชนิด DCIS และเรื่องราวระหว่างทาง

“จริงๆ แล้ว แฟนถือว่าเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรงมากคนหนึ่งเลย ในชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเพราะป่วยหนักมาก่อน ถ้ามีก็ไส้ติ่งอักเสบที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด และไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นอะไร เพราะว่าไม่ได้ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง จุดเสี่ยงที่มีน่าจะมาจากกรรมพันธ์ุที่คุณยายเป็นมะเร็งปากมดลูกและคุณน้าที่เป็นมะเร็งเต้านม แต่นั่นไม่ได้ทำให้เราคิดว่าเราจะเป็น 

“ตอนที่เจอก้อนเนื้อแฟนอายุ 34 เข้า 35 โดยเริ่มสังเกตตัวเองว่าทุกครั้งที่มีประจำเดือน จะเจ็บหน้าอกข้างหนึ่ง ตอนนั้นยังคิดอยู่ว่าหรืออาการนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ประมาณ 3-4 เดือนก่อนตัดสินใจไปตรวจอย่างจริงจัง แฟนคลำเจอก้อนที่อก เลยติดต่อไปทางโรงพยาบาลเพื่อขอทำแมมโมแกรม เพราะเริ่มรู้สึกถึงความไม่ปกติแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลตอบกลับมาว่าถ้ายังไม่ถึง 40 ปกติจะไม่ทำแมมโมแกรมกัน 2 อาทิตย์ต่อมา แฟนจึงตัดสินใจไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ พออัลตร้าซาวด์เรียบร้อย คุณหมอพบก้อนเนื้อขนาด 4.5 เซนติเมตร ถ้าเทียบก็ประมาณเกี๊ยวซ่า 1 ลูก และมีอาการต่อมน้ำเหลืองขยายตัว คุณหมอจึงนัดมาเพื่อจะผ่าเจ้าก้อนนี้ออกมา ซึ่งจริงๆ หมอจะผ่าอีก 2 วันเลย แต่ด้วยแฟนต้องเคลียร์งานให้เรียบร้อย จึงขอเวลาเคลียร์งานก่อน โดยระหว่างนั้นก็หาข้อมูลของโรคมะเร็งและรู้แล้วล่ะว่าการที่มีภาวะก้อนเนื้อกับมีต่อมน้ำเหลืองบวม มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งได้ 

“การรักษาในเวลานั้นใช้วิธี Adjuvant หรือการตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกไปก่อนการคีโม ซึ่งคุณหมอจะผ่าตัดเต้านมข้างที่มีปัญหาออกโดยผ่า 2 ครั้ง ครั้งแรกเพื่อตรวจหา โดยคุณหมอสามารถนำก้อนเนื้อออกไปเกือบหมด 100% ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการผ่าเต้านมออกพร้อมต่อมน้ำเหลือง ซึ่งการผ่าตัดทั้งสองครั้งผ่านไปด้วยดี พอคุณหมอบอกผลว่าเป็นเนื้อไม่ดีนะ คำถามแรกที่ถามออกไปคือจะต้องทำอะไรต่อและขอดูผล จากนั้นแฟนนำผลมาอ่านโดยละเอียดและหาข้อมูลเพิ่มเติม เอาจริงๆ แฟนไม่รู้สึกกังวลอะไร อาจเพราะนิสัยของตัวเองที่ค่อนข้างอยู่กับความจริงมากๆ คิดเพียงว่าถ้าเป็นโรคก็รักษา และเคยคิดว่าการเป็นมะเร็งจะเจ็บปวดกว่านี้ แต่ที่เราประสบเองไม่ได้เป็นอย่างนั้น”

แฟนเล่าให้เราฟังต่อว่า ในระหว่างทางของการรักษาของเธอ มีเรื่องท้าทายให้เธอต้องก้าวผ่านอยู่เป็นระยะๆ 

“คุณหมอกำหนดวันผ่าตัดว่าจะเป็นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 นะ ก่อนผ่าตัดให้แฟนมาตรวจร่างกายก่อน พอไปอัลตร้าซาวด์ ก็พบว่าที่มดลูกมีก้อนเนื้อประมาณ 8 เซนติเมตรอยู่อีก 1 ก้อน ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย คุณหมอที่ดูแลมะเร็งของเราอ่านผลและบอกคร่าวๆ ว่า ด้วยลักษณะของก้อนเนื้อที่มดลูก ประเมินว่าน่าจะเป็นเนื้องอกธรรมดา คุณหมอจึงแนะนำให้รักษาไปทีละอย่าง เริ่มจากเต้านมก่อน ระหว่างพักฟื้นหลังผ่าเต้านม คุณหมอมาประเมินร่างกายทุกวันและพบว่าเราแข็งแรงดี จึงนัดเพื่อทำการผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกไปเลย การนอนอยู่ที่โรงพยาบาล 11 วันนั้น เลยได้รักษาทั้งเต้านมและนำเนื้องอกในมดลูกออกไปด้วย

“อีกเรื่องสำคัญของการเป็นมะเร็งที่คนไข้ส่วนใหญ่พบคือผมร่วง ซึ่งตัวเองชิลล์มาก พอผมร่วง เราก็ไปตัดสั้นและเตรียมตัวโกนหัว ระหว่างนั้นก็เลือกใช้วิธีโพกหัว ซึ่งเวลาออกไปทำงาน ถ้าใครไม่ทราบ จะไม่รู้เลยว่าเราเป็นมะเร็ง ระหว่างคีโม แฟนดูแลตัวเองเป็นปกติ มีการปรับการกิน แต่ไม่สุดโต่ง ตอนนั้นจำได้ว่าน้ำหนักขึ้น ดูมีน้ำมีนวล ผิวใสมาก คิดว่าน่าจะเป็นผลจากตัวยาที่ไปทำหน้าที่ลด ER/PR (Estrogen Receptor, ER และ Progesterone Receptor, PR) ในร่างกาย แต่ยังมีสิ่งที่คาดเดาและควบคุมไม่ได้เกิดกับเราอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอาการแพ้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ Food Trauma อาการก็คืออะไรที่เรากินในวันให้คีโม แฟนจะรู้สึกไม่อยากกินอยู่นานมาก เหม็นทุกอย่าง หลังจากคีโมเข็ม 5 อาการเริ่มดีขึ้น ผลข้างเคียงมีเพียงผื่นคันและปวดตามข้อต่อ แต่ยังสามารถทำงานและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อาจมีที่ต้องพักระหว่างวันบ้างในวันที่มีอาการเวียนหัว 

“อีกหนึ่งความพีคน่าจะเป็นช่วงก่อนจะได้คีโมเข็มสุดท้าย แฟนตกบันไดที่บ้าน ตอนนั้นรู้สึกว่าปวดมาก คิดในใจว่าขาต้องหักแน่เลย อารมณ์ตอนนั้น ประมาณว่า ‘เอ้อ…อะไรก็เอาวะ’ แล้วก็นั่งหัวเราะกับที่บ้านกับโชคชะตาตัวเอง แต่ไม่ได้เศร้าอะไรขนาดนั้น แฟนเลยมีภาพบันทึกความทรงจำคือการเฉลิมฉลองคีโมเข็มสุดท้ายกับเฝือกที่เท้าเรา ถือเป็น 1 ปีที่ได้ทุกประสบการณ์ชีวิตเลยค่ะ” 

มุมความคิดและชีวิตที่เปลี่ยนไป

“จริงๆ ถ้ามองว่าการเป็นมะเร็งเป็นเรื่องลำบาก ก็ทำได้นะคะ แต่แฟนคิดว่าทัศนคติของเราเป็นเรื่องสำคัญมาก แฟนยังเขียนโน้ตให้ตัวเองเลยว่า ‘Mission of Remission’ คือ ‘การปลอดจากโรคมะเร็งนี้’ เหมือนเราได้โจทย์การทำงานมา เป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ สิ่งที่เราทำคือเราจะพยายามมีชีวิตอยู่ แต่จะไม่หลอกตัวเอง แฟนจึงใช้เวลาเข้าใจในสิ่งที่เป็นว่าคืออะไร มีลักษณะแบบไหน การขยายตัวเร็วหรือช้า ตัวโรคตอบสนองกับอะไรในตัวเราบ้าง อะไรที่เป็นตัวกระตุ้น ในมุมหนึ่งเราอาจเป็นคนโชคร้ายคนหนึ่ง ถ้าให้เหตุผลอะไรไม่ได้ ก็โทษโชคแล้วกัน แต่ในความโชคร้าย เราจะยอมรับมันแบบไหน แก้ไขมันอย่างไร พอพบว่าเป็นและยอมรับได้ เราเลยมองไปถึงขั้นถัดไปเลยว่า แล้วจะรักษาอย่างไรต่อ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหลังจากนี้ นั่นเลยทำให้การไปพบคุณหมอแต่ละครั้ง เราจะฮึดมาก รักษาไปตามกระบวนการอย่างที่คุณหมอแนะนำ ขับรถไปโรงพยาบาลเองตลอดการรักษา ตั้งแต่ผ่าตัด ให้คีโม ฉายแสง ดูแลตัวเองหมดทุกอย่าง ยกเว้นตอนขาหักที่ขับรถเองไม่ได้ แต่พอเข้าเฝือกแล้วก็ขับรถเอง รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่เราต้องดูแลตัวเอง แฟนใช้ทัศนคติแบบนี้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา 

“การเป็นมะเร็งยังทำให้พบความจริงหนึ่งที่ว่า คนเป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องเจ็บสาหัสเสมอไป ในกรณีของแฟน อาจเพราะชนิด ระยะ และการตอบสนองต่อการรักษา ทำให้เรายังสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ทำเต็มที่กับสิ่งที่เราควบคุมได้ กินของอร่อย ทำงานอย่างที่เคยทำ ไปเที่ยว ไม่สนใจคนอื่นมากนัก อยู่นิ่งๆ กับตัวเอง หรือหลายๆ คนเรียกว่าการเจริญสติ ซึ่งช่วยได้มากเลยค่ะ 

“ก่อนเป็นมะเร็ง ตัวเองเป็นคนที่คิดทุกอย่างไกลมากๆ แบบคิดไว้เลย 5 ปี 10 ปีจะทำอะไร พอไม่สบายปุ๊บ การมองทุกอย่างเปลี่ยนไป เรียกว่าการมองทุกอย่างที่ใกล้เราให้ชัดขึ้น ส่วนอะไรที่ไกลตัวจะมองแบบห่างๆ ไม่ได้พยายามที่จะพุ่งเป้าเพื่อไขว่คว้าแบบแต่ก่อน เข้าใจเลยกับความไม่แน่นอนของชีวิต รู้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ นั่นเลยทำให้แฟนเริ่มเข้าใจว่าการเอ็นจอยกับสิ่งเล็กๆ ในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ แค่หลังจากเอฟเฟ็กต์ของการให้คีโมหายไป แล้วเราได้รสกาแฟแบบเดิม แค่นั้นก็ดีใจแล้ว เราช่างมันได้ดีขึ้น ตกผลึกว่าคนเราเกิดมามีเวลาและหน้าที่ ดังนั้น ใช้เวลาที่มีทำหน้าให้ดีที่สุด มีความสุขกับสิ่งรอบตัว และไม่สนใจอะไรที่มันแย่ๆ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกไม่มีคุณค่า”

เมื่อเข้าใจ ก็อยู่ร่วมกับมะเร็งได้แบบสันติ 

“จากประสบการของตัวเอง ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ ต่อให้ไม่มีประวัติญาติใกล้ชิดเป็นมาก่อน และการเป็นมะเร็งไม่ต้องมีอาการรุนแรง สามารถเป็นได้เลยแบบไม่รู้ตัว ที่สำคัญคือ มะเร็งคือโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาได้และมีแนวทางรักษา ดังนั้น สิ่งที่แฟนอยากจะบอกคือ คุณกลัวได้ ท้อได้ ยอมรับความรู้สึกนี้ได้เลย แต่ต้องกำหนดเวลาว่าเราจะท้อกี่วัน เศร้าจนถึงเมื่อไหร่ หลังจากนั้นมาวางแผนต่อว่าจะกลับมาทำอะไร ที่สำคัญเลยคือต้องมาทำความรู้จักมะเร็งของตัวเอง แม้ว่าเราไม่ใช่เป็นหมอ แต่เราต้องรู้จักสิ่งที่เราเป็น เพราะจะช่วยให้เข้าใจโรคและอาการมากขึ้น แฟนไม่อยากให้ใครกลัวการรักษาโดยเฉพาะการให้คีโม เพราะเทคโนโลยีการรักษาเวลานี้ไปไกลมากๆ แล้วนะคะ

“สำหรับคนที่ยังไม่เป็น แฟนแนะนำให้ตรวจสุขภาพ ตัวแฟนไปเชคสุขภาพครั้งสุดท้ายคือปี 2562 เว้นมา 3 ปีเลยที่ไม่ได้ตรวจเพราะเข้าใจว่าตัวเองแข็งแรง ดังนั้น ถ้าให้ดี อยากให้ทุกคนใส่ใจกับเรื่องนี้และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยตรวจเลือด ตรวจอะไรที่ทำให้เราเจอความผิดปกติเพื่อที่จะเฝ้าระวังสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายเรา 

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แฟนอยากขอบคุณทุกคนรอบตัว ทั้งเพื่อน เพื่อนร่วมงานที่คอยซัพพอร์ต รวมถึงปรามเราในเวลาที่เราแอคทีฟเกินไปว่าอย่าหักโหม ที่สำคัญเลยคือครอบครัวที่หล่อหลอมและสร้างบรรยากาศของการใช้ชีวิตบนความจริงให้กับแฟน วันที่แฟนไปบอกที่บ้านว่าเป็นมะเร็ง ประโยคแรกที่ได้ยินคือ ‘เป็นมะเร็งก็รักษา ไม่ต้องไปกลัว’ เป็นการให้กำลังใจและให้เราไปต่อด้วยคำที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ปลอบเราด้วยคำหวาน แต่เตือนสติให้เราจัดการทุกอย่างบนความเป็นจริง นอกจากนี้คือทีมแพทย์ผู้รักษาที่ดูแลและเอาใส่ใจในทุกๆ ขั้นตอน สุดท้ายคือที่อยากขอบคุณคือตัวเอง อยากบอกกับตัวเองว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เธอเก่งมาก เก่งจริงๆ แม้ตอนนี้โรคจะสงบลง แต่แฟนจะไม่หลอกตัวเองว่าเราหายแล้ว เพราะโอกาสกลับมาของโรคยังมีอยู่ ดังนั้น ไม่มีวันไหนที่แฟนจะไม่ดูแลตัวเอง รวมถึงไม่ประมาทกับชีวิต สุดท้าย แฟนอยากให้ทุกๆ คนที่อยู่ในช่วงเวลาท้าทายนี้มีกำลังใจและอย่าเพิ่งท้อ แฟนจะเป็นกำลังใจและส่งกำลังใจให้อีกแรงค่ะ” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: สราวุฒิ ขันโปธิ

ซูเปอร์มัมแฝดคนละฝาผู้ส่งพลังบวกผ่านเพจ ‘แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข’

‘แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข’ ก่อตั้งขึ้นโดยแฝดคนละฝาที่มีชื่อพ้องเสียงกัน เกิดปีเดียวกัน มีเรื่องราวชีวิตหลายอย่างคล้ายกัน และบังเอิญได้รู้จักจนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันอย่าง กิ๊ก (อรณัฐ สุวรรณกาญจน์) และ กิ๊ฟท์ (ฐิตารีย์ เถรกุล) ทั้งคู่ตั้งใจสร้างเพจดังกล่าวเพื่อเป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของพวกเธอกับการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยพื้นที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การรักษาเท่านั้น แต่กิ๊กและกิ๊ฟท์อยากให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ผู้อ่านตื่นตัวกับโรคและหันมาดูแลตัวเอง พร้อมๆ ไปกับการส่งต่อแรงบันดาลใจ กำลังใจ และเป็นที่พักใจให้กับผู้ป่วยที่เจอเรื่องราวคล้ายกันแบบพวกเธอ 

กิ๊กคือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่พบก้อนมะเร็งในวัย 29 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่เธอตั้งท้องลูกคนแรก ช่วงเวลาที่ชีวิตครอบครัวกำลังจะสมบูรณ์และความสุขกำลังมาถึง จนกระทั่งเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ที่เธอเริ่มมีอาการปวดขา ยิ่งนานวัน อาการปวดก็มีมากขึ้นจนเริ่มเดินไม่ไหว อาการเดินไม่ได้เฉียบพลันก่อนคลอดที่คุณหมอหวังว่าจะดีขึ้นแต่หลังคลอดกลับยังไม่หาย ซึ่งเป็นความผิดปกติที่คุณหมอไม่ปล่อยผ่าน จึงส่งตัวเธอเข้าเครื่องสแกนเพื่อตรวจเช็กร่างกายทั้งหมดจนทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายจากเต้านมไปยังตับและกระดูกทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการหักของกระดูกข้อสะโพก รวมถึงกระดูกสันหลังที่แหว่งไปเลยบางข้อ กิ๊กได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่ให้เธอสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง และถูกตัวส่งไปฉายแสงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งบริเวณกระดูกต่อทันที โดยเธอได้รับคีโมเพื่อรักษาในขั้นถัดไป แม้ปัจจุบัน ก้อนที่เต้านมจะหายไปแล้ว แต่เซลล์มะเร็งทั่วร่างกายไม่ได้หายไปด้วย เธอจึงต้องให้ยาพุ่งเป้าต่อทุกๆ 3 อาทิตย์ มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว และทุกวันนี้กิ๊กใช้ชีวิตร่วมกับพี่มะเร็งอย่างมีความสุข

สำหรับกิ๊ฟท์ เธอพบกับก้อนแข็งที่เต้านมตั้งแต่อายุ 15 แต่เพราะยังเด็กเธอจึงไม่ได้สงสัยอะไร เมื่อเริ่มทำงานจึงได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นซีสส์ กระทั่งเวลาล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี ก้อนเนื้อก้อนนั้นยังคงเป็นแค่ก้อนเนื้อธรรมดาๆ จนเธอเริ่มตั้งครรภ์ลูกสาวคนแรกได้เพียง 3 เดือน ก้อนเนื้อที่ว่านี้ได้เปลี่ยนไปเป็นมะเร็งและโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เธอตัดสินใจเลือกลูกเป็นส่วนหนึ่งของความสุขในชีวิต จึงปฏิเสธการรักษาทั้งหมดจนวันที่เธอได้คลอดเด็กลูกครึ่งน่ารักและแข็งแรง ผลตรวจชิ้นเนื้อระบุว่าเธอเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายไปที่ตับและกระดูก แม้กระบวนการรักษาจะแสนหนักหน่วงและไม่มีกำหนด ซึ่งดำเนินคู่ขนานไปกับบทบาทของการเป็นแม่ แต่เธอยังคงเข้มแข็ง กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว ทว่าไม่เคยเดียวดายเพราะเธอมีครอบครัวและเพื่อนอย่างกิ๊กคอยอยู่เคียงข้างเสมอ ไปฟังกิ๊กและกิ๊ฟท์เล่าเรื่องราวของพวกเธอ ทั้งโรคมะเร็ง การต่อสู้ ความรัก ความหวัง และมิตรภาพกัน

อุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

กิ๊ก: หากย้อนเวลากลับไป โมเม้นต์ยากที่สุดสำหรับกิ๊กคือหลังจากรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เพราะกิ๊กคลอดลูกปุ๊บ ก็ทราบว่าเป็นมะเร็งทันที ฉะนั้นมันจะเป็นอารมณ์ว่า ฉันเพิ่งเดินพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แล้วมีคนผลักเราลงมา เรากำลังมีความสุข ลูกเราเกิดมาแข็งแรง ร่างกายครบ 32 จะได้เลี้ยงลูกแล้ว พอรู้ว่าต้องแยกกับลูกเพื่อไปรักษา กลายเป็นว่าช่วงที่ดาวน์คือช่วงที่รู้ข่าวเพราะว่ามีลูกมาเป็นปัจจัยสำคัญ 

กิ๊ฟท์: กิ๊ฟท์พบก้อนเนื้อที่โตเร็วมากตั้งแต่ตอนท้อง ซึ่งตอนนั้นเรารู้อยู่แล้วว่าไม่น่าใช่ก้อนปกติ ก็เตรียมใจมาระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เตรียมใจว่าจะเป็นมะเร็งระยะ 4 นะคะ เพราะด้วยรูปลักษณ์ของก้อนเนื้อมันแย่มาก พอคลอดลูกเสร็จ วันที่หมอสแกนและฟันธงว่ากิ๊ฟท์เป็นมะเร็งระยะที่ 4 นะ มันเหมือนกับว่าเราแทบไม่มีเวลานับ 0 1 2 3 เลย พอรู้เราเป็นขั้นที่ 4 ไปเสียแล้ว กิ๊ฟท์ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งตอนที่ลูกเพิ่งเกิดซึ่งเหมือนกับกิ๊กเลย ทันทีที่รู้ สิ่งแรกที่คิดขึ้นมาคือแล้วเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน จะได้เห็นการเติบโตของลูกไหม กว่าจะผ่านช่วงเวลาตรงนั้นมาได้มันเหมือนฝันร้ายมากเลยค่ะ กิ๊ฟท์รู้สึกดาวน์อีกช่วงคือตอนให้คีโมตลอด 2 ปีของการรักษาที่ไม่เคยหยุดคีโมเลย รวมถึงการใช้ยาอย่างเอนเฮอร์ทู (Enhertu) ซึ่งน่าจะเป็นยาในอนาคตของประเทศไทย กิ๊ฟท์ได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาเยอะมากแบบที่ไปทำให้กระจกตามีรอยและตาฟางจนมองไม่เห็น ถือเป็นช่วงหินที่เรานั่งร้องไห้ทุกวันเพราะขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ตาไม่มองเห็นแล้ว ถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุดก็ว่าได้ค่ะ

เพราะ ‘ลูก’ คือกำลังใจ

กิ๊ก: เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งกิ๊กกับลูกต้องแยกกันทันที ลูกกลับบ้าน ส่วนกิ๊กไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวอยู่ 1 เดือน ตอนนั้นเราคิดไปต่างๆ นานาว่าแล้วลูกจะอยู่อย่างไร ใครจะเลี้ยง แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากได้อ่านบทความของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ว่าลูกต้องมีแม่ เพราะแม่คือบุคคลที่สำคัญที่สุด นั่นเป็นเหมือนสิ่งเรียกสติตัวเองกลับ ดังนั้น การสู้ต่อคือหนทางเดียวที่เราจะได้เจอกับลูกและได้ดูแลเขา ไม่ว่าเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน ณ ตอนนั้น กิ๊กจึงอดทนเพื่อให้ตัวเองออกจากโรงพยาบาลและกลับไปหาลูกได้ สุดท้ายกิ๊กก็ทำสำเร็จ ได้เจอลูก ลูกเราน่ารักมาก กิ๊กบอกตัวเองว่าเราต้องอยู่ต่อ จะต้องสู้กับทุกการรักษาเพื่อให้อยู่กับเขาให้ได้นานที่สุด 

กิ๊ฟท์: ชีวิตของกิ๊ฟท์เรียกว่าประสบความสำเร็จเกือบทุกอย่าง เราพอใจกับสิ่งที่เราเป็นทุกๆ ทาง แต่ลูกคือสิ่งที่เราเพิ่งเริ่มต้นและเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นความรับผิดชอบของแม่คนหนึ่งที่เราให้กำเนิดเขามา เหมือนเราอยากขอช่วงเวลาหนึ่งให้ได้เลี้ยงเด็กคนนี้ ให้น้องมีแนวทางในการเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพและเป็นคนดีของสังคมคนหนึ่งก่อนได้ไหม ทุกๆ ครั้งก่อนจะไปรับคีโม กิ๊ฟท์จะมองหน้าลูก กอดลูก เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยๆ น้องคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้เราอยากอยู่ต่อ เป็นคำตอบให้กิ๊ฟท์ว่าเราจะสู้และอยู่เพื่ออะไร สำหรับเราทั้งคู่ เราจะสู้เพื่อลูกและเราจะมีชีวิตต่อเพื่อเขาให้ได้ ไม่ว่าเราจะเหน็ดเหนื่อยหรือว่าเจออะไรที่หนักหนาแค่ไหนพวกเราสัญญากับตัวเองว่าจะอดทนให้ถึงที่สุด

เตรียมตัวตายกลับกลายเป็นความสุข

กิ๊ก: กิ๊กเคยคิดว่ามะเร็งเป็นเรื่องไกลตัวมาก ถึงมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง แต่ก็เป็นรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งไม่มีใครเป็นมะเร็งเต้านม แล้วอยู่ดีๆ มาเกิดกับเรา ซึ่งอายุยังไม่มาก ความคิดของกิ๊กต่อมะเร็งในตอนแรกคือถ้าเป็นต้องรักษายากแน่ๆ เป็นแล้วอย่างไรก็ต้องตาย แต่พอโรคนี้มาเกิดขึ้นกับตัวเอง ความคิดจึงเปลี่ยนไปว่า จริงๆ แล้วมะเร็งเกิดได้กับทุกคนและอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ยิ่งเรามีประสบการณ์เองกิ๊กพบกว่าการรักษามะเร็งทุกวันนี้มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีมาก บางทีมะเร็งระยะ 4 หรือมะเร็งระยะสุดท้ายที่คนพูดกันไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งภาพตอนให้คีโมที่เราเคยจินตนาการว่าจะต้องทำให้เราอาเจียนหนัก หรือทานอะไรไม่ได้แน่ๆ แต่เอาเข้าจริงเมื่อเราเข้ารับการรักษา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าผลข้างเคียงยังมีอยู่ แต่ไม่ได้รุนแรงขนาดที่เราคิดไว้ ดังนั้น มุมมองต่อโรคจึงเปลี่ยนไปว่ามะเร็งเป็นโรคที่รักษาได้ กิ๊กไม่อยากให้คนกลัวไปเสียก่อนว่านี่คือจุดสิ้นสุดของชีวิต

กิ๊ฟท์: สำหรับกิ๊ฟท์ก็ไม่ต่างกับกิ๊กนะคะ มุมมองและทัศนคติทั้งก่อนและหลังการเป็นมะเร็งคือเหมือนกันเป๊ะ แต่ของกิ๊ฟท์ เราเป็นคนยอมรับความจริงและจะดูว่าต้องปรับทัศนคติอย่างไรให้อยู่กับความจริงให้ได้มากที่สุด ทุกคนบอกว่าการให้คีโมทรมานนะ แต่กิ๊ฟท์จะไม่เอาประสบการณ์คนอื่นมาเปรียบเทียบกับตัวเอง เพราะพื้นฐานของร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะบอกกับตัวเองว่าเดี๋ยวตัวเราเจอแล้วค่อยว่ากัน จนกระทั่งกิ๊ฟท์พบว่ามะเร็งไม่ได้เป็นโรคที่เป็นแล้วคุณต้องตายพรุ่งนี้ แต่เป็นโรคที่ทำให้เรากลับมาอยู่กับความเป็นจริงว่า แม้ไม่ใช่โรคที่สามารถหายขาดได้ 100% แต่มะเร็งคือโรคเรื้อรังโรคหนึ่งไม่ต่างจากโรคเบาหวานหรือความดันที่เราสามารถเข้ารับการรักษาซึ่งปัจจุบันทุกอย่างก้าวหน้าไปมาก ที่สำคัญคือเราใช้ชีวิตแบบปกติสุขได้ กิ๊ฟท์ยอมรับความจริงว่าเราอาจไม่ได้อยู่จนแก่ กิ๊ฟท์พูดกับกิ๊กเสมอว่าเรา 2 คนจะไม่มีโอกาสคนเป็นหนังเหี่ยวนะ เพราะว่าเราเป็นมะเร็งระยะ 4 แล้ว พวกเรายอมรับความจริงว่ามันไม่หาย เราแค่มองว่าอีก 3, 4 หรือ 5 ปีข้างหน้า เราพร้อมที่จะไปอย่างไร เราเหลืออะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง กิ๊ฟท์วางแผนว่าจะเก็บวิดีโอให้ลูกอย่างไร จะพูดกับลูกไว้ว่าอย่างไรว่าหม่าม้าทำอะไรอยู่ อยากจะสั่งสอนเขาแบบไหน พูดง่ายๆ คือเราเตรียมความพร้อมไว้เสมอ พยายามจัดแจงเพื่อให้เมื่อวันที่เราไม่ได้อยู่แล้ว เราจะไม่มีห่วง

กิ๊ก: เห็นด้วยมาก พอเป็นมะเร็งเราก็กลัวตายแหละ แต่ว่าเราทำใจได้กับการที่ว่าเราไม่ได้อยู่ยืนยาว เราไม่มีทางหนังเหี่ยวอย่างที่กิ๊ฟท์บอก กิ๊กมีโอกาสคุยกับนักจิตวิทยา ซึ่งเขาแนะนำให้เรานึกว่า หากเราตาย เราห่วงอะไร แล้วมองย้อนกลับมา ถ้าเราห่วงลูก เราห่วงเรื่องอะไรบ้าง เขามีโรงเรียนและการเงินพร้อมไหม เขาจะมีคนสั่งสอนหรือเปล่า รวมถึงสามีที่กิ๊กก็ห่วงว่าเขาจะอยู่คนเดียวได้ไหม เหมือนกับเรามานั่งดูปัญหา แล้วเราค่อยๆ แก้ไปทีละเปราะ การที่เรารู้ว่าเราเป็นมะเร็ง แล้วรู้ว่าตัวเองน่าจะไม่ได้อยู่จนแก่เฒ่า กลายเป็นว่าเรามีเวลาในการเตรียมพร้อมเพื่อไปถึงความตายได้อย่างมีความสุข มะเร็งทำให้มุมมองการใช้ชีวิตกิ๊กเปลี่ยนไป ถ้าในวัยทำงานแบบเรา หลายคนคงอยากเติบโตในสายงานที่ทำ แต่กลายเป็นว่ากิ๊กไม่ได้มองถึงจุดนั้นแล้ว ขอแค่ได้ทำงานทุกวันอย่างมีคุณภาพ ใช้ชีวิตได้คุ้มค่ากับเวลาที่ยังหายใจอยู่ 

กิ๊ฟท์: มันเหมือนการ stay strong อยู่บนความพอดี พวกเรายืนอยู่บนความเข้มแข็งที่มันพอดี จะไม่มานั่งตั้งคำถามว่า ถ้าฉันอย่างนั้น ถ้าฉันอย่างนี้ แต่เราจะอยู่กับตอนนี้เดี๋ยวนี้ อยากทำอะไรเราจะไม่รอวันพรุ่งนี้ แต่จะทำเลยเดี๋ยวนี้ รู้ไหม แค่กิ๊ฟท์เห็นใบไม้พลิ้ว นั่นคือความสุขแล้วนะ เหมือนเป็นโมเม้นท์เล็กๆ ที่เราได้เห็นความงามบางอย่างรอบๆ ตัวอะไรแบบนั้นเลย 

เครดิต: เพจ มะเร็งสวย รวยความสุข

สร้างพื้นที่พักใจ

กิ๊ฟท์: หลังจากที่กิ๊ฟท์ปรับจูนตัวเองได้แล้ว สิ่งแรกที่พูดกับตัวเองคือการเจ็บป่วยของกิ๊ฟท์จะต้องมีประโยชน์ ชีวิตที่เหลืออยู่ของเราจะต้องสร้างแรงบันดาลใจด้านใดด้านหนึ่งให้กับคน กิ๊ฟท์อยู่อเมริกา หากเรามีโอกาสได้เป็นหนูทดลองให้กับบริษัทยาไหน กิ๊ฟท์จะเอาหมด ซึ่งเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่คิดว่าอย่างน้อยๆ อีกหลายชีวิตข้างหน้าที่เขาจะเรียนรู้จากชีวิตเราได้ เขาจะได้ยาที่ดีขึ้น ในขณะที่หนึ่งชีวิตกำลังต่อสู้และกำลังจะจากไป แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับอีกหลายๆ ชีวิตในอนาคตข้างหน้าได้นะ 

เพจแฟดมะเร็งสวยรวยความสุขเริ่มมาจากตัวกิ๊ฟท์ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4  แล้วตัวเองอยู่ที่อเมริกา ไม่ได้มีเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยด้วยกันในไทย เพราะระยะของโรคที่ทำให้กิ๊ฟท์อยากใช้ชีวิตที่เหลือให้มีคุณค่ากับคนอื่น เลยตั้งเพจของตัวเองขึ้นมาก่อน เพราะคิดว่าเคสของเราสามารถเป็นตัวอย่างหรืออาจเป็นแนวทางให้กับคนอื่นได้ ซึ่งในเพจกิ๊ฟท์เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นว่าตัวเองเป็นใคร เป็นมะเร็งได้อย่างไร และเลือกรักษาด้วยวิธีไหน แล้วเรื่องของกิ๊ฟท์ดันไปคล้ายกับเรื่องราวของกิ๊ก ทั้งชื่อที่คล้ายกัน อายุเท่ากัน ประเภทและระยะของมะเร็งเหมือนกัน พวกเราคลอดลูกเสร็จ ก็เริ่มรักษามะเร็งในวันถัดมาเลยเหมือนกัน

กิ๊ก: พอกิ๊กอ่านสิ่งที่กิ๊ฟท์เขียนเลยคอมเมนท์ไป แล้วกิ๊ฟท์ก็หลังไมค์กลับมา ได้คุยกัน แล้วกลายเป็นว่าเราคลิ๊กกันมาก เพราะมีความคิดและทัศนคติต่อโลกคล้ายกัน ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะทำเพจหรอกค่ะ แค่อยากจะแชร์เรื่องตัวเองเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น แล้วกิ๊กไม่ได้มีความมั่นใจในการทำเพจอยู่แล้วเพราะไม่ได้เป็นคนเขียนเก่ง เลยชวนกิ๊ฟท์มาทำด้วยกัน เพราะเห็นกิ๊ฟท์เขามีเพจของตัวเอง เคยเขียนนั่นนี่  

กลายเป็นว่าบทความแรกที่แชร์เรื่องราวการเจอมะเร็งของเราทั้งคู่ทำให้ผู้อ่าน รวมถึงคนใกล้ตัวกลับมาตระหนักว่ามะเร็งไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราจะต้องเฝ้าระวังแล้วนะว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย จริงๆ แค่นี้ก็มีประโยชน์แล้วสำหรับพวกเรา 

การพูดคุยระหว่างคนป่วยเหมือนกัน แล้วเรารู้ว่าคำว่าการเจ็บตับ เจ็บปอด เจ็บหน้าอกเป็นอย่างไร เหมือนกับว่าคนป่วยคนอื่นๆ เมื่อได้มาคุยกับพวกเราทำให้เขารู้สึกเหมือนมีเพื่อนที่อยู่ร่วมทางที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเข้าใจ แล้วเรายังสามารถให้คำแนะนำได้ว่า ลองถามคุณหมอว่ามียาตัวนี้ไหม หรือคนไข้บางคนกลัวการรักษาบางอย่างที่เรามีประสบการณ์มาก่อน เราจะบอกเขาได้ว่าไม่ต้องกลัวนะคะ เบากว่าการคลอดลูกอีก สบายๆ ชิวๆ ซึ่งเวลาพวกเราให้คำปรึกษา 100% พวกเราจะตอบบนความจริงเสมอว่าเดี๋ยวคุณหมอจะให้ยาตัวนี้แล้วเราจะดีขึ้นนะ หรือยาตัวนี้จะมีผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง เวลาที่เราได้ฟีดแบคมาว่า “ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ เขามีความคิดต่อมะเร็งเปลี่ยนไปแล้ว เขามีความรู้สึกที่ดีขึ้น ตอนนี้เขาจัดการแบบนี้แล้วกับลูกของเขาได้แล้ว” นี่เป็นสิ่งที่ทำให้กิ๊กสุขใจว่าเราได้ทำประโยชน์บางอย่างกับคนอื่นแล้ว มันแปลกมากเลย แต่ก่อนกิ๊กโฟกัสกับการทำชีวิตของเราให้ดี แต่กลายเป็นว่าพอเป็นมะเร็ง เรารู้ว่ามันยากลำบาก เป็นโรคที่น่ากลัว เรามีความกังวลมากมาย ทำให้เรารู้สึกว่า โอเคเราผ่านมาถึงจุดๆ หนึ่งมาได้แล้ว เราสามารถให้คำแนะนำคนอื่นได้ก็ควรจะทำ เราอยากช่วยคนอื่นเพราะว่าประสบการณ์ที่เรามีมันมีค่ามาก และสามารถส่งต่อเพื่อเป็นแนวทางให้คนอื่นได้  ก็เลยอยากจะส่งต่อเยอะๆ 

กิ๊ฟท์: เรา 2 คนอยากจะส่งต่อพลังบวกให้กับคนไข้หลายๆ คน เพราะคนไข้ส่วนหนึ่งพอได้ยินคำว่าเป็นมะเร็ง โลกเขาเปลี่ยนไปทั้งใบเลยนะคะ บางทีอาการป่วยอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อเสียกำลังใจกลายเป็นว่าป่วยหนักกว่าระยะท้ายๆ เรา 2 คนจึงอยากจะแชร์เรื่องราวว่าเราเจอกับอะไรมาบ้าง เรามีมุมมองต่อโรคอย่างไร และอยากจะเป็นกำลังใจ รวมทั้งให้เพจนี้เป็นคล้ายๆ กับพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้ 

กิ๊ก-อรณัฐ สุวรรณกาญจน์ (ซ้าย) และ กิ๊ฟท์-ฐิตารีย์ เถรกุล (ขวา)

จากคนแปลกหน้าสู่เพื่อนรัก

กิ๊ก: เป็นความรู้สึกที่แปลกมากกับการได้คุยกับคนๆ หนึ่ง ซึ่งไม่เคยเจอหน้า แค่คุยผ่านเสียงกันอย่างเดียว แต่รู้สึกว่าเราโคตรเป็นห่วงเขา รักเขา และอยากให้เขามีชีวิตที่ดี กิ๊ฟท์ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่แฟน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันมาก่อน แต่กิ๊กรู้สึกว่าเขาคือเพื่อนตาย แม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่ได้บอกว่าฉันรักแกนะบ่อยๆ แต่กิ๊กเชื่อว่าเขารับรู้ได้ว่ากิ๊กรักเขามากและอยากให้เขาเจอทางรักษาที่เหมาะกับตัวเอง สามารถควบคุมโรคได้ และไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้ เอาจริงๆ สิ่งที่คนป่วยมะเร็งต้องการคือความรัก การที่เราพูดว่าฉันรักแกนะ มีคนที่รักแกอยู่เยอะ แค่นี้เราก็รู้สึกว่าเรามีแรงสู้กับโรคแล้วสำหรับกิ๊กนะคะ 

กิ๊ฟท์: กิ๊ฟท์ภาวนาอยู่เสมอว่าให้กิ๊กอยู่กับยาที่เขาได้ทุกวันนี้ไปได้ตลอด ไม่อยากให้เขาต้องมาเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ แบบเรา อย่างที่บอกเรา 2 คนเหมือนฝาแฝด ความสัมพันธ์ของเรา 2 คนเป็นความรักที่ถ้าเราอยากเห็นลูกเราประสบความสำเร็จอย่างไร เราก็อยากให้เขาได้เห็นลูกเขาประสบความสำเร็จแบบนั้น เป็นความรักที่อยากให้เขามีชีวิตได้อยู่ดูแลกันทั้งลูกและสามีได้ ในวันที่กิ๊ฟท์รู้สึกว่าตัวเองไม่ไหวจนท้อมากๆ และได้คุยกับกิ๊ก มันเหมือนว่าเรายังมีคนๆ หนึ่งคอนเป็นกำลังเสริมที่ทั้งเข้าใจ ทั้งคอยสร้างกำลังใจ และให้คำแนะนำต่างๆ คงเป็นความรู้สึกของความรักที่เกิดจากความเข้าใจกันจริงๆ ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่คือความรักบริสุทธิ์แบบที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อกันเลย เป็นความรักที่ไม่สามารถอธิบายมาเป็นตัวหนังสือได้จริงๆ ค่ะ

คุณค่าของชีวิตที่ได้มาจากการ ‘ขอบคุณ’  

กิ๊ฟท์: กิ๊ฟท์ผ่านการทำคีโมมาเยอะมาก ทำให้ร่างกายเปลี่ยนมาเป็นอีกแบบหนึ่งเลย แต่กิ๊ฟท์จะบอกตัวเองเสมอว่า เธอกล้าหาญและเข้มแข็งมาก ถ้าพูดอะไรกับตัวเองก็คงจะบอกว่า ขอบคุณที่เข้มแข็งในทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยท้อถอย ไม่เคยล้มเลิกว่าไม่ไหว ไม่เอา ไม่รักษาแล้ว ขอบคุณตัวเองที่มองเห็นคุณค่าในชีวิตเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเจออะไรแย่ขนาดไหน  ขอบคุณใจตัวเองและภูมิใจในตัวเองมากว่าเรารับตัวเองได้ทุกอย่าง ก้าวผ่านทุกความยากอย่างมีความสุข ให้กำลังใจตัวเองได้โดยไม่ต้องร้องขอจากใคร แล้วก็บอกกับตัวเองว่าดีแล้วที่มะเร็งมาเกิดกับเรา เพราะว่าเรามีวิธีในการจัดการจิตใจของเราได้ดีมากในระดับหนึ่ง กิ๊ฟท์ขอบคุณตัวเองทุกวันที่ยังมีโอกาสได้หายใจและสามารถมองสิ่งสวยงามบนโลกใบนี้ได้อยู่

กิ๊ก: มีผู้ป่วยหลายๆ คนที่ถ้าเขายังทำใจเรื่องที่เขาเป็นมะเร็งไม่ได้ เขาจะดาวน์ไปเลย ไม่สามารถดึงตัวเองกลับมาได้เลย กิ๊กจึงขอบคุณที่ตัวเองไม่จมกับความทุกข์มากเกินไปและสามารถดึงตัวเองกลับมาได้ เราภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าทำได้ดีแล้วและควรจะทำดีต่อไป กิ๊กไม่อยากย้อนเวลากลับไป ไม่อยากแก้ไขอะไรทั้งนั้น สิ่งที่ตัวเองทำมาคือดีที่สุดแล้วค่ะ 

อย่าไปกลัวเวลาที่ฟ้าไม่เป็นใจ  

กิ๊ฟท์: หากจะแนะนำ คงจะอยากให้ทุกคนยอมรับความจริงก่อนว่าเราเป็นอะไร พยายามจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง ลองตั้งเป้าหมายว่าเราจะรักษาแบบไหน จะต่อสู้กับแนวทางการรักษาที่เลือกนี้เพื่ออะไร อยากมีลมหายใจต่อไปเพื่อใคร แล้วหากเราจะมีลมหายต่อไป ความสุขของเราคืออะไร การตั้งเป้ามาบางอย่างทำให้เรามีจุดหมายว่าเราตื่นขึ้นมาเพื่อหาคุณหมอ ไปรับคีโม เราทำไปเพื่ออะไร เมื่อเราสามารถตั้งช่วงเวลาของเราได้ว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร ก้าวต่อไปเราจะเห็นแสงสว่างที่ปลายทางเพราะเรามีจุดหมายที่จะไปให้ถึง

กิ๊ก: ก่อนที่เราจะมีเป้าหมาย กิ๊กเชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านความรู้สึกท้อหรือว่าจิตตก กิ๊กกับกิ๊ฟท์จะพูดเสมอว่าจิตตกได้เลยค่ะ อยากร้องไห้ร้องเลย กิ๊กจะไม่พูดว่า ‘ไม่ต้องร้องแล้ว’ มันโอเคมากๆ ที่คุณจะตอบรับทุกความรู้สึกของตัวเอง ถ้าตอนนี้รู้สึกเศร้า คุณเศร้าได้เต็มที่ ร้องไห้ได้เลย เมื่อเราเสียใจไปสุดทางแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณรู้สึกดีขึ้นเอง เพราะฉะนั้น คำแนะนำของกิ๊กคือถ้าใครยังอยู่ในช่วงช็อก อยากร้องไห้ รับไม่ได้ ปล่อยความรู้สึกทุกอย่างที่มีออกมาให้หมด แต่ว่าไม่ควรอยู่คนเดียวนะคะ อย่างน้อยจะต้องมีคนที่คุณรู้สึกไว้ใจ คนที่พร้อมรับฟังทุกอย่าง คนที่จะไปร้องไห้กับคุณอยู่ด้วยสักคน แล้วร้องไห้กับเขา เอาให้หมด จะร้องกี่วันทำไปเลย จนเมื่อถึงจุดที่คุณรู้สึกดีขึ้น คุณจะเริ่มคิดได้ คุณจะเริ่มมีเป้าหมายอย่างที่กิ๊ฟท์บอก วันนั้นแหละคุณจะจัดการชีวิตในขั้นต่อไปได้ และพวกเราทั้งสองคนจะเป็นกำลังใจให้อีกหนึ่งแรงค่ะ 

(หมายเหตุ: คุณกิ๊ฟท์ ฐิตารีย์ เถรกุล ได้จากไปดาวดวงใหม่อย่างสงบเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2566)

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข

นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ กับเป้าหมายเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน

‘หมอบัว’ หรือ ‘อาจารย์บัว’ เป็นคำพูดติดปากที่ใครต่างใช้เรียก อาจารย์นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการการผ่าตัดเต้านมและมะเร็งเต้านมคนนี้ นอกจากบทบาทคุณหมอและอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลแล้ว หมอบัวยังเป็นผู้ก่อตั้งเพจ ‘เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua’ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะสร้างพื้นที่กลางสำหรับให้ความรู้แบบทุกมิติเกี่ยวกับเต้านม รวมถึงโรคมะเร็งเต้านมแก่ประชาชน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว วันนี้เรามีนัดกับหมอบัวเพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่เขาได้ทำและกำลังจะทำเกี่ยวกับโรคมะเร็งแบบเอ็กซ์คลูซีฟ 

สร้างประโยชน์จากความรู้และแรงกาย  

“ย้อนกลับไปตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ นอกจากวิชากายวิภาคแล้ว ผมยังชอบเกี่ยวกับงานฝีมือ งานหัตถการ ซึ่งพบว่าการเป็นหมอผ่าตัดตอบโจทย์เราในแง่ที่ว่าเราสามารถใช้ความรู้ความถนัดได้อย่างเต็มที่ ส่วนทำไมถึงเลือกเต้านมและโฟกัสที่ด้านมะเร็งด้วย อย่างแรกเป็นเพราะผมมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคดังกล่าว ก็คิดว่าถ้าเรามีความรู้และความเข้าใจเรื่องมะเร็งเต้านม นั่นจะทำให้เราสามารถช่วยคนในครอบครัวได้นะ อีกเหตุผลหนึ่งคือมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง เป็นโรคที่อาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งอวัยวะ ร่างกาย และชีวิต ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ความรู้ด้านศัลยศาสตร์มาทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและอยู่ได้ยาวนานแบบมีคุณภาพ นี่จึงเป็นแรงกระตุ้นลึกๆ ที่ทำให้สนใจงานด้านนี้ครับ”

สำหรับหมอบัว การดูสุขภาพให้กับผู้คนไม่ใช่แค่การเข้าไปรักษาเพื่อให้หายจากโรคเพียงอย่างเดียว แต่คือการสื่อสารกับผู้ป่วย ครอบครัว และสาธารณชนเพื่อให้พวกเขามีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลและป้องกันตัวเองได้อย่างมีสติและเหมาะสมด้วย

“สำหรับเพจ ‘เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua’ ผมเริ่มทำมาตั้งแต่ตอนจบศัลยแพทย์ทั่วไปและต่อยอดศัลยแพทย์ตกแต่งซึ่งตอนนั้นได้มาปฏิบัติงานอยู่ที่ประเทศอิตาลีเป็นเวลา 5 ปี ถ้านับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว จำได้ว่าตัวเองเริ่มใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดต่อกับเพื่อนๆ แต่ตอนนั้นเราอยากใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กไปด้วย จึงดูว่าเราสามารถจะทำอะไรในแง่ไหนได้อีกบ้าง จนมาตกผลึกว่าเราสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้สำหรับสื่อสารและให้ความรู้ในสิ่งที่เรามีได้นี่นา เนื่องจากผมคิดว่า การที่ผมตรวจคนไข้ใน 1 วันใช้เวลาเคสละ 15 นาที ผมอาจจะตรวจรักษาและให้ความรู้คนไข้ได้ 30-50 เคสต่อวัน แต่ถ้าเรามีแพลตฟอร์มกลางที่สามารถกระจายความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนได้ นั่นจะทำให้ผมมีโอกาสได้ส่งต่อสิ่งที่มีสู่สาธารณชนได้กว้างขึ้น จากผู้รับสารจำนวนไม่มาก ความรู้จะสามารถเข้าถึงคนในหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นได้ในเวลาอันสั้น 

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

“หนึ่งในเหตุผลหลัก ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ซึ่งหากเราสามารถกระจายความรู้ที่ถูกต้องได้ ทั้งคนทั่วไปเอง รวมถึงคนป่วยจะสามารถเฝ้าระวังและดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีได้ เช่น คนยังเข้าใจผิดอยู่ว่าหากเป็นมะเร็งแล้วเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันถือว่ามีการพยากรณ์โรคและผลการรักษาที่ดีมาก ซึ่งการรักษาที่ดีนั้นเกิดจากสหสาขา ตัวอย่างเช่น เคมีบำบัดในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อนมาก หากโรคอยู่ในระยะต้นๆ แพทย์สามารถให้ยาเคมีเพื่อครอบคลุมและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ รวมถึงยาเคมีบำบัดในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลที่รุนแรงต่อผู้ป่วยที่จะทำให้มือเท้าลอก ผมร่วง ปากเท้าเปื่อย ไม่ใช่นะครับ เคมีในปัจจุบันมีหลายสูตรซึ่งไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนแต่ก่อน หรือการฉายรังสีเองก็ไม่ใช่ว่าฉายแล้วรังสีจะแพร่ไปสู่คนอื่น เมื่อฉายรังสีแล้วไม่ได้มีผลเสียอะไร หรือการเป็นมะเร็งเต้านมจะต้องตัดเต้านมเท่านั้น ก็ไม่จริงนะครับ มะเร็งเต้านมสามารถรักษาแบบเก็บเต้านมไว้ได้ด้วย ดังนั้น ยิ่งจำนวนคนที่ได้ความรู้กว้างและลึกมากขึ้นเท่าไหร่ นอกจากจะทำให้คนมีความรู้ที่ถูกต้องซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลและความเข้าใจผิดได้แล้ว ยังจะทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถเฝ้าระวัง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างสำหรับดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ในเวลาเดียวกัน

“ในมุมส่วนตัว การทำเพจนี้ขึ้น ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ในขณะเดียวกันยังได้เป็นผู้ได้รับ ทั้งกำลังใจ คำติชม และฟีดแบคต่างๆ มาจากคนอ่านและคนฟังด้วย ที่จริงเพจนี้ไม่ใช่ของผมเพียงคนเดียวหรอกครับ แต่เป็นเพจที่เกิดจากผู้อ่าน คนไข้ หรือแม้แต่ญาติคนไข้ช่วยกันแนะนำติชมจนทำให้เพจสามารถเดินหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ เหมือนกับผมเป็นสื่อกลางระหว่างความรู้ด้านเต้านมกับคนไข้ แล้วประสานให้ทุกคนได้ประโยชน์เท่าๆ กันมากกว่า ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ป่วยหรือเคสที่รักษากับผมจะเข้ามาอ่านได้เท่านั้น ไม่ใช่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเคสที่ไหน รักษาที่ไหน หรือว่าไม่ได้เป็นอะไรเลยก็ตาม แค่มาอ่านและได้ความรู้ไปตรงนี้กลับไป ผมก็ดีใจมากแล้ว ผมจะบอกทุกครั้งในไลฟ์ว่าถือว่าได้มาทำความดีและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ผมขอให้ความดีนี้ส่งผลให้ทุกคนสมบูรณ์แข็งแรงกันไปอย่างนี้ครับ”

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

ภารกิจร่วมด้วยช่วยกัน

“มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่ถ้าเทียบกับมะเร็งในหลายๆ ชนิดแล้ว ถือว่าเป็นมะเร็งที่ผลการรักษาเกือบจะดีที่สุดโดยเฉพาะในเคสที่พบในระยะต้น ดังนั้น ถ้ามาพบแพทย์แล้วแพทย์ให้การรักษาใดๆ ผมอยากจะให้ผู้ป่วยรับการรักษานั้นตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัด ฉายแสง ยาต้านฮอร์โมน หรือว่ายาพุ่งเป้า โดยระหว่างการรักษา อาจจะมีผลแทรกซ้อนบ้าง แต่ว่าผลประโยชน์จากการได้ยาเหล่านี้เรียกว่าสูงมากเลยครับ ฉะนั้น อยากบอกคนไข้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาก้าวหน้าไปมากแล้ว ไม่ต้องกังวลในการที่จะมารักษานะครับ

“นอกจากนี้แล้ว หลายๆ ครั้งแม้คนไข้จะต้องสู้ด้วยตัวเองระหว่างการรักษา แต่ผู้ดูแลเองก็มีบทบาทสำคัญไม่ต่างกัน เนื่องจากคนไข้จะผ่านระยะของโรค ตั้งแต่การปฏิเสธว่าทำไมฉันต้องเป็นโรคนี้ ไม่จริงหรอก ฉันทานอาหารมังสวิรัติจะเป็นมะเร็งได้อย่างไร ฉันไม่ได้สูบบุหรี่ทำไมถึงเป็น ต่อมาจะเริ่มรู้สึกโกรธ มีภาวะซึมเศร้า จากนั้นถึงจะยอมรับได้ ซึ่งถ้าเราเข้าใจกระบวนการที่จะเกิดขึ้น เราจะรับมือกับเขาได้ เช่น ช่วงที่เขากำลังปฏิเสธ เราต้องให้ความเข้าใจ ช่วงที่เขาโกรธ โมโหหงุดหงิด เราต้องเป็นกำลังใจว่าไม่เป็นไรนะ โรคนี้รักษาได้ หรือในช่วงที่เขามีภาวะซึมเศร้า เราต้องคอยซัพพอร์ตว่า การเป็นโรคนี้ไม่ใช่ความผิดใคร อย่าไปโทษใครหรือตัวเอง พอผ่านตรงนี้ไปถึงจุดที่เขายอมรับได้ ทุกอย่างจะเริ่มง่ายขึ้นครับ ส่วนใหญ่ในเคสที่ประสบความสำเร็จเรื่องการดูแลรักษาจะมาจากการที่ผู้ดูแลและคนรอบข้างให้เวลา ความรัก ความเข้าใจ นั่นจะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ

“สำหรับคนทั่วไปและสังคมเองยังสามารถช่วยสนับสนุนในแง่ของจิตใจผู้ป่วยมะเร็งได้เช่นกัน ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ผู้ป่วยมะเร็งเขาไม่ได้เลือกที่จะเป็น เพราะฉะนั้น เขาค่อนข้างมีการกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจเยอะอยู่แล้ว ดังนั้น ในฐานะคนทั่วไป ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เราเข้าใจและส่งกำลังใจ อย่างน้อยอย่ารังเกียจหรือพูดอะไรที่ทำให้เสียกำลังใจ เช่น การฉายรังสี บางคนจะกลัวว่าฉายรังสีแล้วจะเอามาติดหรือเปล่า รังสีจะมาแพร่ไหม หรืออาจจะมีคำว่า “ให้เคมีบำบัดเหรอ แย่แน่เลย” นั่นจะทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจได้ เพราะมะเร็งหลายๆ ชนิดสามารถรักษาและควบคุมโรคได้ คุยกับเขาเหมือนกับเป็นเพื่อน อยู่ดูแล และให้กำลังใจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญให้คนป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิม”

ตรวจมะเร็งเต้านม ทำอย่างไร แล้วใครควรตรวจ

“สำหรับคนทั่วไป อย่างแรก ต้องประเมินก่อนว่าตัวเองเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากน้อยขนาดไหน ถ้าเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงมาก เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม เคยฉายแสงหรือฉายรังสีบริเวณหน้าอก มีประวัติที่จะต้องได้รับฮอร์โมนเป็นเวลานานๆ เหล่านี้อาจจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้ รวมทั้งปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น ความเครียด ความอ้วน บุหรี่ ถ้าหากมีปัจจัยเหล่านี้ เราต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ผมอยากให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยง เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ขึ้นไป เช่น สมมติว่าคุณแม่อายุ 40 เป็นมะเร็งเต้ามนม มีลูกสาวอายุ 15 ก็สามารถพาลูกมารับคำแนะนำก่อนได้ว่าอายุเท่าไหร่ต้องตรวจอะไรอย่างไรบ้าง 

“ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง ผมแนะนำให้มีการคลำเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่าเต้านมปกติของเราเป็นอย่างไร และแนะนำให้ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ตรวจคัดกรองว่าจะต้องมาตรวจอีกทีเมื่อไหร่บ้าง ซึ่งหากวันหนึ่งมีก้อนที่ผิดปกติหรือว่าเจออะไรที่แปลกประหลาดไปจากเดิม เราจะสามารถทราบได้แต่เนิ่นๆ และมาพบคุณหมอได้ทันเวลา อย่างที่บอก มะเร็งเต้านม ถ้ารู้ไว การรักษาจะให้ผลดีครับ”

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

เมื่อ ‘การให้’ กลายเป็น ‘พลังแห่งความสุข’

“อาจเพราะผมมีคนใกล้ชิดในครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านม จึงทำให้ผมรู้สึกผูกพันกับคนไข้มะเร็งเต้านมอยู่แล้ว และการที่ผมทำงานตรงนี้ ทุกๆ ครั้งที่ได้รับคำขอบคุณจากคนไข้ หรือแค่เพียงเห็นว่าคนไข้หายจากโรค มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แค่นี้ผมก็หายเหนื่อยแล้วนะ ชีวิตคนเราจะรับอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นให้การรักษา ให้ความสบายใจ ให้ชีวิต ให้เต้านมใหม่ ให้การดูแลเขา เมื่อคนไข้มีความสุข สุขภาพดี ยิ่งจะทำให้ผมเหมือนมีพลังชีวิตคูณสอง สาม สี่ ด้วยซ้ำ แม้ผมทำงานเยอะและเหนื่อย แต่นี่เป็นความรู้สึกชื่นใจ สุขใจ และอยากจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีต่อไป  

“ตอนนี้สิ่งที่ผมทำควบคู่กันไปคือการวิจัยเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์เพื่อนำมาใช้กับคนไข้สำหรับช่วยในการเสริมสร้างเต้านม การรักษาแผลเต้านม แต่ทุกอย่างยังคงอยู่ในกระบวนการวิจัย ผมหวังว่าหากงานนี้สำเร็จลุล่วงนี่จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการรับมือกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมได้ในอนาคตครับ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

เพลินพิศ โกแวร์ เมื่อมะเร็งสอนให้รู้ว่าทุกนาทีจากนี้คือโบนัสของชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ไอรีน – เพลินพิศ โกแวร์ ตรวจพบความผิดปกติในร่างกายจากการคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณหน้าอก ซึ่งต่อมาพบว่าคือมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ที่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หลังจากรักษาจนอาการเริ่มคงที่ ชีวิตของไอรีนกลับมาดีขึ้น ทว่าปีที่ 3 ของการติดตามผล ร่างกายของเธอพบความผิดปกติอีกครั้ง โดยมะเร็งได้กระจายไปที่ตับแล้ว ด้วยการรักษาในครั้งแรกที่ทำให้ไอรีนรู้สึกทรมานและตั้งใจไว้ว่าหากเซลล์มะเร็งมีการกระจายอีก เธอจะยุติการรักษาทั้งหมด แต่เพราะจำนวนและขนาดของเซลล์ที่แพร่มามีไม่มากและสามารถจัดการได้ เธอจึงตัดสินใจสู้ต่อ 

กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 6 ของการรักษา ร่างกายและจิตใจของเธออ่อนแอลงอีกครั้งจนไอรีนลังเลว่าควรจะพอหรือไปต่อ เวลานั้น (พ.ศ. 2563) การรักษาแบบใหม่อย่าง “ภูมิคุ้มกันบำบัด” (Immunotherapy) เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่และกลายมาเป็นความหวังครั้งสำคัญ แม้เส้นทางการรักษานี้จะเป็นอีกหนึ่งด่านหินในชีวิต แต่ก็ทำให้ไอรีนพบสัจธรรมว่าความทุกข์นั้นสอนตัวเธอได้ตรงกว่า มากกว่า และเข้าใจถึงการเป็นมนุษย์ได้มากกว่าความสุขที่ฉาบฉวย อีกทั้งยังเปลี่ยนมุมมองของเธอที่ไม่สนใจว่าตัวเองจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่อีกต่อไป แต่คือการใช้ชีวิตอย่างไรกับเวลาที่เป็นโบนัสของชีวิตให้มีความสุขต่างหาก 

การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

“หลังจากมะเร็งกระจายมาที่ตับ การรักษาครั้งที่ 2 ไอรีนต้องรักษาแบบไม่หยุดเลย ทั้งคีโม ทั้งการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด การผ่าตัดรังไข่เพื่อหยุดการผลิตฮอร์โมนของร่างกาย และรักษามะเร็งตับด้วยการจี้ด้วยความร้อน RFA ซึ่งต่อมาเซลล์มะเร็งยังกระจายไปที่ปอดและกระดูกด้วย ซึ่งการรักษาโดยรวมจะเป็นการให้คีโมมาตลอด และอย่างที่ผู้ป่วยทุกคนรู้ว่าคีโมแต่ละตัวจะนำมาซึ่งผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน จนเข้าสู่ปีที่ 6 เราเหนื่อยมากและต้องการจะหยุดการรักษา” 

เมื่อตัดสินใจและแจ้งคุณหมอถึงความต้องการในเวลานั้น อาจารย์กฤษณ์ (รศ.นพ. กฤษณ์ จาฏามระ) ซึ่งเป็นคุณหมอที่ดูแลไอรีนมาตั้งแต่ต้นจึงเสนอทางเลือกใหม่ นั่นคือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด” โดยคุณหมออธิบายว่า การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน ซึ่งเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะถูกกระตุ้นเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย เป็นการส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อให้สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“ขั้นตอนที่คุณหมอทำคือการทำวัคซีนโดยนำเอาเม็ดเลือดขาวของเราออกมาทำความรู้จักกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย จากนั้นจึงฉีดกลับเข้าร่างกายเพื่อที่จะให้เจ้าวัคซีนตัวนี้เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง เวลานั้นไอรีนเป็นคนไข้คนแรก ซึ่งคุณหมอบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่เป็นการรักษาแบบใหม่ คุณหมอจะไม่สามารถบอกได้ว่าระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วหลายๆ อย่างยังไม่มีในตำรา ไม่มีการรับรองผลว่ารักษาแล้วจะหาย แต่สามารถบอกถึงสิ่งที่คุณหมอทราบได้ เมื่อได้ฟังและกลับมาปรึกษากับครอบครัวจึงตัดสินใจว่าจะลองดูอีกสักตั้ง เพราะก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าการเดินทางของตัวเองคือการทำคีโมไปเรื่อยๆ เหนื่อยแล้ววันหนึ่งคงจากไป แต่เมื่อมีการรักษาแนวใหม่เข้ามาเป็นตัวเลือก เราจึงเกิดความหวังและรู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องเสียแล้ว เพราะนี่คืออีกก้าวใหม่ที่เราจะก้าวเข้าไป ไอรีนเริ่มการรักษาด้วยวิธีการนี้ในเดือนเมษายนปี 2563 และใช้เวลา 1 ปีเต็ม จนกระทั่งฉีดวัคซีนครบทั้งหมด 9 โดสเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ร่างกายแข็งแรงดี สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติแล้ว ถ้ามีก็จะเป็นผลจากมะเร็งที่กระดูก บวกกับปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกที่คอและหลัง ซึ่งจะมีอาการปวดหลัง ทำให้การลุกการนั่งต้องระมัดระวังมากขึ้นหน่อย” 

วันที่ใจอ่อนล้ากลับแข็งแกร่ง

“ช่วงเวลาที่ท้าทายมากๆ อย่างตอนที่รักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ตอนนั้นคิดแค่อย่างเดียวคือเราจะใช้ชีวิตในสุดท้ายนี้ให้มีความสุขแล้วจากไป เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปได้ 6 โดสแล้ว ตัวเองมีอาการเยอะมากแบบที่คิดว่าไม่อยากมีมีชีวิตอยู่แล้ว ทั้งคลื่นไส้ อาเจียน ท้องบวม น้ำท่วมปอด ปวดหลังจนเดินไม่ได้ ทำให้ท้อใจอย่างมาก ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปเลยถ้าชีวิตทุกข์และเจ็บปวดขนาดนี้ แต่ว่าไอรีนผ่านมาได้ด้วยกำลังใจ ความรัก และการดูแลของทั้งคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และเจ้านาย รวมทั้งแรงสนับสนุนจากคนรอบๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณหมอและทีมที่สู้และทุ่มเทกับการดูแลชีวิตของเรามากๆ ซึ่งในความเจ็บปวดทั้งหลาย พวกเขาไม่เคยทิ้งแม้แต่ครั้งเดียว เรารู้สึกว่าการรักษาของตัวเองห้อมล้อมด้วยครอบครัวที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยความรัก ขณะเดียวกันตัวไอรีนเองก็เชื่อว่าชีวิตหลังจากนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ อีก นี่เลยเป็นกำลังใจที่ทำให้สามารถผ่านทุกด่านของการรักษามาได้ ถ้าไม่มีพวกเขา วันนี้เราคงไม่มีแรงที่จะยืนและไม่มีชีวิตอยู่ต่อได้เหมือนกัน”

เวลาคือโบนัสของชีวิต 

“ก่อนที่จะป่วย เรามองโลกแบบหนึ่ง แต่มะเร็งทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไป มองสิ่งรอบตัวเป็นความสวยงามและสามารถหาความสุขกับสิ่งใกล้ตัวได้มากขึ้นค่ะ ชีวิตที่มีอยู่ตอนนี้คือเวลาที่เราได้แถมมา เพราะตั้งแต่วันที่ตัดสินใจว่าจะหยุดรักษาครั้งล่าสุดเมื่อปีก่อนนั่นคือเราเลือกที่จะหยุดเวลาแล้ว เลยจะบอกกับตัวเองว่าต้องไม่เอาเวลาชีวิตหลังจากนี้มาอมทุกข์ มาอยู่กับความโศกเศร้า แต่จะใช้เวลาทั้งหมดกอบโกยความสุขและอยู่ร่วมกับครอบครัว มองดูลูกเติบโตและก้าวหน้าไป กลายเป็นว่าการมองชีวิตทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจว่าจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่ แต่คือการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขในเวลาโบนัสที่เราได้มา 

จริงๆ เป้าหมายในอดีตกับปัจจุบันของไอรีนเหมือนกันนะ สิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้คือเมื่อทำงานจนถึงวันหนึ่ง เราจะหยุดและเกษียณตัวเอง ใช้ชีวิตที่เหลือแบบสโลวไลฟ์ สบายๆ และทำในสิ่งที่รัก ซึ่งการเป็นมะเร็งทำให้เป้าหมายนั้นมาเร็วขึ้นและกำลังจะบรรลุเป้าหมายนั้นแล้วค่ะ”

ฉันจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

“คุณหมอไม่ได้บอกว่าจะต้องใช้ชีวิตแบบไหน จะต้องทานอะไร จะต้องหลีกเลี่ยงอะไรต่างๆ อย่างไร ให้ใช้ชีวิตตามปกติ ตอนที่ป่วยใหม่ๆ เราฟังคนอื่นเยอะว่าอะไรควรทาน อะไรห้ามทาน ซึ่งเมื่อเราทำตามก็พบว่าร่างกายตัวเองอ่อนแอลงมาก เม็ดเลือดแดงต่ำ ไม่มีแรง เบื่อหน่ายกับชีวิต เพราะทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ชีวิตมีข้อจำกัด ทำให้ไม่มีความสุข เมื่อเป็นอย่างนั้น เราจึงเปลี่ยนการใช้ชีวิตมาอยู่บนแนวทางที่ว่า ฉันจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง อย่างอาหารการกิน ทุกวันนี้เราทานทุกอย่าง เพียงแต่จะรู้ว่าอะไรที่ไม่ดีก็จะทานแค่ให้หายอยาก โดยอาหารส่วนใหญ่จะทำเองแบบปรุงสุกใหม่ๆ และมีเปลี่ยนบรรยากาศไปทานอาหารนอกบ้านบ้างตามเวลาและโอกาสอำนวย ไม่ห้ามตัวเองอีกแล้ว เพราะการห้ามทำให้ใจเราอยาก ซึ่งนำไปสู่ความทุกข์และอยู่ยากขึ้น 

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ทุกวันนี้ไอรีนไม่ได้ทำงาน เลยมีเวลาที่จะทำในสิ่งที่รักอย่างการทำขนมและทำอาหาร ใช้ชีวิตอยู่ในครัว เริ่มปลูกต้นไม้ จากแต่ก่อนนี้ชีวิตชอบทุกอย่างที่สำเร็จรูป ถ้าเลือกต้นไม้ เราคงจะเลือกซื้อต้นที่โตมาแล้ว แต่ทุกวันนี้กลับมีความสุขกับการนำเมล็ดมาปลูก หรือซื้อต้นไซส์มินิมา แล้วค่อยๆ ดูเขาเติบโต รวมไปถึงการเลี้ยงนกที่เราเลี้ยงจนกระทั่งเขาไข่และมีลูกนกออกมา ชีวิตในเวลานี้จะวนเวียนกับกิจวัตรประจำวันแบบนี้ ซึ่งเป็นอีกช่วงเวลาที่มีความสุข ทุกวันจะผ่านไปเร็วมาก เหนื่อยก็หยุดพัก พออยากจะทำอะไรเราก็ทำต่อ แต่ก่อนความสุขของเราจะเป็นความสุขที่ฉาบฉวย เช่น การที่ออกไปซื้อของ ทานอาการอะไรต่างๆ นานา แต่ทุกวันนี้ความสุขของเราคือการอยู่บ้านกับครอบครัวและทำในสิ่งที่รัก”

ความทุกข์ที่เปรียบเสมือนเพชรในชีวิต 

“สำหรับคนทั่วไป อยากจะแนะนำเลยว่าให้ดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ตัวเราจะรู้จักตัวเองดีที่สุด เพราะฉะนั้น เราควรจะสังเกตความผิดปกติในร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ บางที เราอาจต้องทำงาน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบจนหลงลืมใส่ใจตัวเอง มองข้ามความผิดปกติในร่างกาย อย่างน้อยๆ 1 ปี ลองหาเวลาไปตรวจสุขภาพกัน เพราะหากพบความผิดปกติในระยะต้น การรักษาจะง่ายขึ้นและทันท่วงที อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ดี รักตัวเองมากๆ เพราะการมีสุขภาพดีมีค่ายิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง 

ก่อนหน้านี้ เรารู้ว่ามะเร็งเป็นโรคร้ายเพราะได้เห็นว่าคนรู้จักส่วนหนึ่งต้องจากไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคนี้ เราได้เห็นช่วงสุดท้ายของพวกเขาว่าทรมาน พอมาป่วยเองก็พบว่าสิ่งที่เราได้เห็นมานั้นเป็นความจริงทุกประการ โรคนี้รุนแรงและการรักษาเป็นเส้นทางที่ยาวนานและทรมานกว่าที่คิดไว้มาก จากที่เห็นคนอื่นก็ว่าแย่แล้ว เมื่อมาเผชิญเอง มันยากกว่าหลายเท่าเลยนะ เพราะฉะนั้น ไอรีนอยากจะบอกว่าเข้าใจผู้ป่วยทุกคนมากๆ ว่าต้องเจอกับอะไร และอยากจะบอกว่าในตัวพวกเราทุกคนมีความเข้มแข็งและอดทนเกินกว่าที่เราจะรู้กันเสียอีก อย่าเพิ่งยอมแพ้ เพราะการยอมแพ้จะทำให้เราพลาดช่วงเวลา golden moment หลายๆ ช่วงของชีวิต ไอรีนยังคิดเลยว่าถ้าตัวเองหยุดรักษาไป คงจะไม่มีโอกาสได้ไปงานจบการศึกษาของลูก ไม่ได้เห็นเขาเติบโตขึ้นและประสบความสำเร็จในชีวิต อนาคตยังมีสิ่งอีกมากมายที่เราควรและสามารถจะได้อยู่ในห้วงเวลาแห่งความสุขนั้น นี่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองอย่างเดียว แต่เพื่อคนรอบตัวเราด้วย อยากขอให้ทุกคนสู้ต่อไป สู้ให้สุดทาง และตัวไอรีนเองจะส่งกำลังใจและคอยเป็นแรงสนับสนุนให้กับทุกๆ คนอยู่ตรงนี้ เราจะสู้ไปด้วยกันนะคะ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: เพลินพิศ โกแวร์

สูตรไฟว้มะเร็งที่เริ่มต้นจากใจและสำเร็จได้ด้วยใจแบบ คำพลอย บูรณานุวัต

เดือนมกราคมปี 2014 ครอบครัวโกเมสที่ประกอบไปด้วย แหน คำพลอย บูรณานุวัต, ฌูเอา (สามี), น้องมาเรีย ดี ลูกสาวตัวน้อย และโนแอล สุนัขสายพันธุ์เฟรนช์บูลด็อกประจำตระกูล เริ่มต้นการผจญภัยครั้งสำคัญในชีวิตของพวกเขากับแผนล่องเรือไปยังประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 500 ปี อันเป็นการเดินทางของชาวโปรตุเกสที่เชื่อมต่อโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน นี่คือความฝันของสามีชาวโปรตุเกส โดยมีแหนเคียงบ่าเคียงไหล่และเป็นกำลังสนับสนุนสำคัญ ชีวิตของเธอเวลานั้นกำลังสนุกกับประสบการณ์ครั้งใหม่ ทุกอย่างกำลังไปได้สวย จนกระทั่งปลายปี 2015 เธอเดินทางมาทำงานสั้นๆ ที่มาเก๊า ที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งใหม่ของเธอ แหนพบความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกาย ซึ่งต่อมาคือมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 แม้จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งนี้จะยากพอตัว แถมพ่วงมาด้วยบททดสอบยากๆ อยู่หลายด่านที่เธอต้องข้ามผ่าน แต่ในวันนี้ ชีวิตของแหนกลับมาปกติอีกครั้ง และพร้อมบอกกับมะเร็งแล้วว่า “ฟังนะ ฉันสวยมาก ฉันไม่ตาย ฉันจะใช้ชีวิตอย่างดี แข็งแรง และมีความสุขแบบสุดๆ ไปเลย”

วันที่เซลล์ของฉันกลายร่าง

“ช่วงปลายปี 2015 เรากลับมาไปทำงานที่มาเก๊าอีกครั้งหลังจากล่องเรือไปประเทศต่างๆ อยู่ประมาณปีกว่าๆ จำได้ว่าวันนั้นกำลังอาบน้ำแล้วไปสะดุดกับอะไรนูนๆ ตรงหน้าอกขวา ลักษณะเหมือนกับคนหัวโน ไม่ได้เป็นก้อน เราบอกเรื่องนี้กับสามีและตกลงกันว่าเดี๋ยวมาเจอกันก่อนแล้วค่อยจัดการ พอจบงานที่มาเก๊า เราเดินทางกลับมาที่เรืออีกครั้ง ตอนนั้นเรือของเราล่องอยู่ที่เกาะ Martinique ของฝรั่งเศส ยังไม่ได้ไปหาหมอ เพราะลักษณะก้อนที่เต้านมแค่นูน ไม่ได้เป็นก้อนแข็งและกลิ้งไม่ได้แบบเนื้อร้ายที่เขาบอกกัน เราชั่งใจอยู่ว่าจะไปหาหมอที่เกาะไปเลยดีไหม แต่อีกใจก็คิดว่าจะกลับมาตรวจตอนล่องเรือกลับมาถึงไทย 

จนเข้าเดือนกรกฎาคม 2016 เราพบความผิดปกติที่มากขึ้นคือรู้สึกเจ็บแปร๊บเวลาที่น้ำฝักบัวมาโดนหน้าอก ตอนนั้นเรือล่องมาถึงเกาะ Curaçao ของเนเธอร์แลนด์แล้ว เราเริ่มนอนไม่หลับ เพราะเจ็บเวลานอนตะแคงขวา การแก้ปัญหาตอนนั้นคือกินยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ แม้จะหายปวด แต่ก็ชั่วคราว จนถึงจุดที่ตัดสินใจไปหาคุณหมอให้ช่วยจ่ายยาเพื่อให้นอนหลับได้สนิทขึ้น สบายตัวมากขึ้น แต่ไม่มีเรื่องมะเร็งอยู่ในหัวเลย พอคุณหมอเห็นครั้งแรกก็บอกทันทีว่านี่ไม่ปกติแล้ว ขอส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ ตอนนั้นตรวจ 2 จุด คือที่เต้านมและรักแร้ กระทั่งรู้ว่าเป็นเนื้อไม่ดีขนาด 5 เซนติเมตรอยู่บริเวณหน้าอกด้านขวา แต่ไม่ได้มาบอกว่าเป็นมะเร็งในขั้นไหน”

หลังจากฟังผล คุณหมอแนะนำว่าต้องไปรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งเวลานั้นแหนมี 4 ตัวเลือก ตัวเลือกแรกคือรักษาที่เกาะ Curaçao แต่ด้วยที่นั่นมีโรงพยาบาลหลักเพียงแค่แห่งเดียวและค่อนข้างแออัด คุณหมอจึงแนะนำให้ไปรักษาที่อื่นหากมีตัวเลือกที่ดีกว่า อีก 3 แห่งคือที่ประเทศไทย, มาเก๊าที่ที่เธอและสามีเคยอาศัยอยู่ และบ้านเกิดสามีที่โปรตุเกส เธอและสามีดูความเป็นไปได้ทั้งหมดจนตัดสินใจกลับมารักษาที่โปรตุเกส 

“ตอนนั้นขนาดของก้อนมะเร็งโตขึ้นเร็วมาก จาก 5 เซนติเมตรเป็น 7.5 เซนติเมตรในเวลาไม่กี่เดือน ทำให้คุณหมอวางแผนการรักษาโดยทำให้ก้อนเนื้อเล็กลงด้วยการทำคีโมก่อน จากนั้นจึงทำการผ่าตัดนำชิ้นเนื้อออกมา และจบการรักษาด้วยการฉายรังสีเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อตายหมดจริงๆ เราเสร็จสิ้นการรักษาในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 มะเร็งของเรายังไม่กระจาย แต่ว่าก้อนใหญ่ เลยจัดให้อยู่ขั้น 3A ถ้ากระจายน่าจะใช้เวลานานกว่านี้ หลังจากนั้น เราเริ่มทานยาปรับฮอร์โมน ฉีดยาที่หน้าท้องเข้าใต้กล้ามเนื้อเพื่อระงับการตกไข่ และทำกายภาพบำบัดเพื่อให้การเคลื่อนไหวของแขนขวากลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด”

เตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติการ

ก่อนรักษาเราเตรียมใจไว้แล้วว่าน่าจะเจอกับอะไรบ้าง เพราะมีคนบอกว่าฉายรังสีแสบนะ ร้อนนะ คีโมแล้วจะทำให้อาเจียนหนักเลย แต่เราไม่เจอผลข้างเคียงที่หนักมากจนถึงขั้นรับไม่ไหว ที่มีจะเป็นอาการทั่วๆ ไป เช่น ท้องผูก ผะอืดผะอม รู้สึกไม่อยากอาหาร สิ่งที่เราเตรียมตัวคือเราจะดูแลร่างกายให้แข็งแรงเป็นพื้นฐานและเตรียมใจเอาไว้แล้วว่าอาการอะไรจะสามารถเกิดขึ้นระหว่างการรักษาได้บ้าง เมื่อเข้ากระบวนการจริงๆ เราพบว่ามันไม่ได้แล้วร้ายแบบที่ได้ยินหรือจินตนาการเอาไว้ เช่น เราต้องฉาย 25 ครั้งทุกวันเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เราสังเกตว่าผิวเริ่มเปลี่ยน ไม่ได้ไหม้หรือถลอกนะ เพียงแค่สีผิวคล้ำขึ้นตอนเข้าครั้งที่ 20 เลยรู้สึกว่า ส่วนหนึ่งเราคงเตรียมร่างกายและใจมาไว้ประมาณหนึ่งในการรับมือ และคงจะโชคดีด้วย”

การรักษามะเร็งในโปรตุเกส 

“ระบบการรักษาพยาบาลที่โปรตุเกสจะมีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านรักษามะเร็งเลย โดยจะแบ่งออกเป็นเขตต่างๆ ตามภูมิภาค แต่เริ่มต้นจะต้องผ่านระบบหมอบ้านก่อนเพื่อให้หมอบ้านทำเรื่องส่งตัวเราไปยังสถาบันมะเร็ง มุมมองของคนโปรตุเกสต่อโรงพยาบาลรัฐจะคล้ายๆ คนไทยเราอยู่บ้าง ทำให้บางคนยอมจ่ายสตางค์เพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะโรคมะเร็งของเอกชนเลยก็มี ซึ่งแบบนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เอาเข้าจริง การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐที่นี่ถือว่าดีเลย ความประทับใจแรกที่เราพบคือบุคลากรทางการแพทย์มีจรรยาบรรณในการรักษาสูงมาก เราเข้าไปรักษาโดยที่ถือพาสปอร์ตไทย ไม่มีบัตรประชาชน หรือบัตร residence ของเขา ซึ่งปกติ ถ้าต้องรักษาในโรงพยาบาลที่นั่นจะต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีในการดำเนินการทุกอย่าง แต่สำหรับคนต่างชาติอย่างเราก็ได้สิทธิ์การรักษาแบบคนในประเทศของเขา โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเธอเป็นคนต่างชาติ เขาดูแลทุกคนเหมือนกันและเท่ากันหมด ตรงนี้เราว่าเยี่ยม และแม้จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐก็จริง แต่การรักษาจะเป็นไปตามคิว ไม่มีใครลัดคิวเรา และการรักษาทั้งหมด เราไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้กระทั่งค่าวิก นี่น่าจะเป็นข้อดีที่เราพบจากการรักษาที่นี่นะ”  

สองเต้าที่ไม่เท่ากัน

“นอกจากการรักษามะเร็งแล้ว เราได้เข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ด้วย ซึ่งจุดประสงค์ในตอนนั้นเพราะเรารู้สึกว่า self-esteem ในตัวเองต่ำลง ถ้าย้อนไปช่วงปี 2017 ที่ทำการรักษา คุณหมอวางแผนการรักษาให้เราแบบฟูลคอร์สเพราะเรายังอายุไม่มาก ซึ่งเขาอยากมั่นใจว่าเซลล์มะเร็งถูกทำลายไปหมดแล้วจริงๆ ทำให้เวลาส่วนใหญ่ของเราโฟกัสไปที่การฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุดและไม่ได้สนใจเรื่องอื่นๆ ในชีวิต พอจบการรักษา เราเห็นแล้วว่าร่างกายและรายละเอียดในการใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว นี่ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่มากว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไปภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราใช้ร่างกายหนักเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ การเลือกเสื้อผ้ามีเป้าหมายเพื่อให้การใช้ชีวิตใกล้เคียงเดิมที่สุดและมีผลต่อสุขภาพน้อยที่สุด ไม่ใช่ความสวยงามแบบที่เคยเป็นมา รวมถึงความรู้สึกที่ดีของเรากับหน้าอกซึ่งเป็นส่วนที่เราภูมิใจที่สุดในความเป็นผู้หญิงได้หายไปแล้ว

ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงที่ดาวน์มาก มีผลต่อการใช้ชีวิต รวมทั้งชีวิตคู่ด้วย แต่เราโชคดีที่สามีพยายามทำความเข้าใจทุกอย่าง เราคุยกับคุณหมอแบบเปิดอกเลยว่า ถ้าเรามีหน้าอกข้างเดียวแล้วสามีทิ้งหรือถ้าสามีตายก่อนจะมีใครที่รับได้กับการมีคู่ที่มีหน้าอกเหลือเพียงข้างเดียว คำตอบของคุณหมอทำให้เราเห็นอีกมุมมองหนึ่งนะว่า คนที่มีข้อจำกัดลักษณะนี้ หากความสัมพันธ์ครั้งใหม่เกิดขึ้น คนที่เข้ามาจะถูกสกรีนระดับหนึ่งแล้ว เขาจะเป็นคนที่จริงจังในความสัมพันธ์และไม่ได้มองว่าจุดนั้นสำคัญ แต่จะมองด้านดีอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งความสัมพันธ์แบบนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ยืนยาวกว่า 

สำหรับเรา การเป็นมะเร็งทำให้เรารู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองต่ำลง เวลาสามีบอกว่า “เธอยังสวยเหมือนเดิม” เขาพูดตลอดจนเราเริ่มไม่เชื่อว่าพูดให้สบายใจหรือว่าโกหก ขณะที่ความจริงความสัมพันธ์ของเรากับสามีดีมากๆ นะ แต่ความภูมิใจว่าฉันสวยไม่มีอีกแล้ว การพบจิตแพทย์สำหรับเรา เขาช่วยได้ในเรื่องการรับฟัง แต่ท้ายที่สุด ทุกปัญหา ตัวเราต้องเป็นคนแก้เอง ซึ่งเวลาที่ได้พูดออกไป เหมือนเราได้ยินเสียงสะท้อนของตัวเอง นั่นทำให้เราได้ฉุกคิดและตกผลึกว่าอะไรคือทางออกที่ทำให้ความรู้สึกต่างๆ ดีขึ้นได้”

เมื่อเราปรับ โลกก็เปลี่ยน

“เราว่า 2 สิ่งหลักๆ ที่ทำให้ผ่านความรู้สึกแย่ๆ ในเวลานั้นมาได้ หนึ่งคือความเคยชิน จะเรียกว่าปรับตัวได้แล้วก็ได้นะ และสองเราคิดว่าเรามองโลกเปลี่ยนไป จากความรู้สึกที่ดาวน์มากๆ กลับกลายมาเป็นความรู้สึกว่าตัวเองโชคดีในหลายๆ เรื่อง แม้ว่าความรู้สึกจะแย่อยู่มากระหว่างการรักษา แต่เรามาถึงมือหมอไว มีคนรอบข้างคอยสนับสนุน ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ทั้งครอบครัว การทำมาหากิน ค่าใช้จ่าย ทำให้เราสามารถโฟกัสเรื่องการรักษาและสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ พอเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี มันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เรามองเห็นความสำคัญของสิ่งภายนอกน้อยลง และเห็นจุดอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากขึ้น คงจะเพราะอายุ ประสบการณ์ และมะเร็งที่ทำให้เรามองทุกอย่างไม่เหมือนเดิม การลำดับความสำคัญในชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย

เวลานี้ เราอยู่ในช่วงอายุที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่ได้ต้องการทำงานเพื่อความก้าวหน้า จากแต่ก่อนสิ่งสำคัญในชีวิตจะมีไม่กี่อย่าง ไม่งาน ก็เงิน ไม่แฟน ก็เพื่อน พ่อแม่ไม่ได้สนใจใส่ใจหรอก มาตอนนี้ เราโตขึ้น ผ่านการใช้ชีวิตมาพอสมควร พ่อแม่เริ่มแก่ลง ความใส่ใจและการให้ความสำคัญของเราเปลี่ยนมาทางพวกเขาแทน รวมถึงการสร้างความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิตด้วย เอาจริงๆ ความสุขของเราตอนนี้เรียบง่ายกว่าเดิมเยอะ อะไรที่ทำให้เราสบายใจนั่นคือความสุข การได้เห็น ได้ใช้เวลากับคนรอบข้างที่เรารัก แค่กินข้าวด้วยกัน หรือสามีเด็ดดอกไม้ริมทางมาให้ หรือแค่แดดออก สำหรับเราในเวลานี้ก็พอแล้วนะ”  

สายลมที่โอบล้อมอยู่รอบตัว

เรารู้สึกโชคดีมากที่มีเพื่อนๆ และครอบครัวคอยซัพพอร์ตทั้งทางกายและทางใจ การเป็นมะเร็งทำให้เราพบว่าเพื่อนบางคนที่บางทีเราหลงลืมพวกเขาไป แต่พวกเขาไม่ได้หลงลืมเราเลย เราได้เห็นมิตรภาพที่ดีมากๆ จากการเป็นมะเร็งนี่แหละ หรือกับพี่ชายที่ไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่มีไลน์ ไม่เคยส่งข้อความอะไรหากัน พอเป็นมะเร็ง ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่กลับมาดีขึ้น เรารู้เสมอว่าอย่างไรเขาก็เป็นห่วง ยิ่งตอนที่เราเป็นมะเร็งก็รับรู้ได้มากขึ้น  

ก่อนที่จะมาโปรตุเกส เราคุยกับสามีเรื่องการรักษา การใช้ชีวิต เรารู้สึกซาบซึ้งใจทั้งเขาและครอบครัวมากๆ ตอนนั้นเราเพิ่งขายบ้านที่เคยอยู่ด้วยกันที่มาเก๊า เขาบอกว่าถ้าต้องใช้เงินที่ขายบ้านทั้งหมดไปกับการรักษาก็ไม่เป็นไร ไว้เราแข็งแรงแล้วค่อยเริ่มหาเงินกันใหม่ ค่อยเก็บเอาใหม่ก็ได้ เราได้เจอคุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้าของเขา ทุกคนพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือความเป็นอยู่อย่างอื่น เพียงแค่ขอความช่วยเหลือ พวกเขาก็พร้อมเสมอ”  

ทุกสิ่งสำคัญที่ใจ

“การใช้ชีวิตตอนนี้เหมือนเดิมทุกอย่างไม่ว่าก่อนหรือหลังเป็นมะเร็ง เคยออกกำลังกายและดูแลเรื่องอาหารการกินของตัวเองอย่างไรก็ทำแบบนั้น เราไม่ได้ใช้ชีวิตที่เข้มงวดมากๆ ถ้ามีความสุขกับอะไรเราก็ทำ อะไรที่กินแล้วมีความสุขเราก็กิน เรารู้ว่าอะไรที่ดีหรือไม่ดีต่อร่างกาย แต่ไม่ถึงกับว่าฉันไม่กินหมูไหม้เพราะนี่มีสารก่อมะเร็ง หรือกินเฉพาะตรงที่ไหม้อย่างเดียว จะเป็นการหาความพอดีให้ตัวเองแบบนั้นมากกว่า 

เอาเข้าจริง เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษามะเร็งเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าใจสู้ ทุกอย่างจะผ่านไปได้ เราว่าร่างกายมนุษย์อเมซิ่งมากนะ ถ้าเรารู้สึกดาวน์ รู้สึกแย่ เซ็ง เศร้า เหงาหงอย ป่วยแล้วยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่อยากรักษาแล้ว ไม่อยากอยู่แล้ว ร่างกายก็จะไม่สู้ แต่ถ้าเราคิดว่าฉันแข็งแรง อย่างไรฉันจะต้องหาย ฉันรักษาแล้วจะต้องดีขึ้น นั่นจะส่งผลต่อร่างกายด้วย สำหรับเรา ถ้าคิดว่าทำได้ เราก็จะทำได้ 

เราเข้าใจว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ มีเรื่องราวในชีวิต และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนต้องเจอกับความยากลำบาก ต้องทำงาน มีเรื่องครอบครัวให้ต้องคิด แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะบอกคืออย่าเพิ่งยอมแพ้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่ม อย่าเพิ่งถอดใจว่าตัวเองทำไม่ได้ เราเกิดเติบโตมาได้ขนาดนี้ ชนะสเปิร์มมาตั้งกี่ตัว แล้วเราเป็นตัวที่แข็งแรงที่สุดในนั้น นี่ไม่ใช่แค่กับเรื่องมะเร็งนะ ทุกๆ อย่างในชีวิตเลย ตอนนี้ถ้าจะบอกอะไรสักอย่างกับมะเร็ง เราคงจะบอกกับเขาว่า “ฟังนะ ฉันสวยมาก ฉันไม่ตาย ฉันมีอะไรที่อยากทำและต้องทำอีกเยอะ ฉันจะใช้ชีวิตอย่างดี แข็งแรง และมีความสุขแบบสุดๆ ไปเลย” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: คำพลอย บูรณานุวัต, sailingdeethai.blogspot.com

จากมะเร็งเต้านมสู่เพจ ‘แมวนมเดียว’ ของทักษิณา รัตนศักดิ์ และคู่ชีวิตที่อยู่เคียงข้างเสมอแม้ในวันที่เหลือเต้าเดียว

ว่ากันว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความสำคัญของชีวิตคู่ไม่ได้สิ้นสุดที่การแต่งงาน แต่คือความสุขจากความสัมพันธ์ที่ได้จับมือและเดินร่วมทางกันไปจนแก่เฒ่า อาจไม่จำเป็นจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่อยู่ในช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต้องการกัน

เมี่ยง – ทักษิณา รัตนศักดิ์ และ ปกรณ์ พลชัย เป็นหนึ่งในคู่ชีวิตที่ขยายใจความข้างต้นออกมาให้เห็นผ่านชีวิตจริงๆ ของพวกเขา ในวันที่เมี่ยงตรวจพบมะเร็งเต้านมเมื่อไม่กี่ปีก่อน ปกรณ์คือผู้ที่อยู่เคียงข้าง เป็นทั้งกำลังกาย กำลังสมอง และผู้ประคองหัวใจผู้หญิงคนนี้ให้ผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายมาเพื่อแสวงหาความสุขที่มีในแต่ละวัน 

มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาได้

เมี่ยง: ปลายปี 2018 พี่ไปตรวจร่างกายประจำปีตามปกติ ซึ่งมีการตรวจแมมโมแกรมด้วย ในการอ่านผล แพทย์จะอ่านเป็นค่าไบแร็ดส์ (Breast Imaging Reporting And Database System: BIRADS) เช่น ไบแรดส์ 1 ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเลย ไบแรดส์ 2 ต้องตามตรวจปกติทุกปี ส่วนผลของพี่คือ ไบแรดส์ 3 คือมีโอกาสแค่ 2-3% ในการเป็นมะเร็ง ให้ตามตรวจทุก 6 เดือน แต่ที่แปลกก็คือ มันมีแคลเซียมกระจุกตัวอยู่ตามท่อน้ำนม ดูผ่านๆ เหมือนรากต้นไม้ คุณหมออายุรกรรมเลยแนะนำให้พี่ไปปรึกษาหมอเฉพาะทางมะเร็งเต้านม ตอนนั้นคิดว่า พี่ไม่เป็นหรอก โอกาสเสี่ยงต่ำ แต่พอไปเจอคุณหมอด้านเต้านม คุณหมอให้พี่ไปตรวจ Stereotactic Breast Biopsy เพิ่มเติม ผลที่ออกมาพบว่าเป็นมะเร็งแน่นอน แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นประเภทไหน โดยคุณหมอแนะนำว่าจะต้องผ่าตัด แล้วค่อยนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมสำหรับวางแผนการรักษาต่อไป

พี่เป็นมะเร็งเต้านมชนิด Hormone Positive โดยแนวทางการรักษาตอนนั้นคือการผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า คุณหมอยืนยันว่าไม่สามารถที่จะเก็บเต้าไว้ได้ เพราะมันไม่มีขอบเขตก้อนที่ชัดเจน เอาจริงๆ นะ ตอนที่คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง ความรู้สึกตอนนั้นคืองงในงงว่าเราเป็นได้อย่างไร เพราะตัวเองเป็นคนหน้าอกเล็กน้อยนิดอยู่แล้ว ไม่เคยคิด ไม่เคยสนใจว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งเต้านมได้ ยิ่งคุณหมอบอกว่าต้องผ่าตัดออกทั้งเต้า พี่นึกภาพไม่ออกเลยนะว่าคนไม่มีหน้าอกจะเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อคุณหมอและตัดสินใจแบบไม่ลังเล แล้วก็คงเป็นความโชคดีตรงที่ว่าพี่ตรวจร่างกายทุกปี ซึ่งทำให้เจอเร็วและทำให้ขั้นตอนการรักษาไม่ยุ่งยาก เพราะมะเร็งยังไม่กระจายออกจากท่อน้ำนม หลังจากผ่าตัดเรียบร้อย ก็ทานยาต้านฮอร์โมน 5 ปี ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยคุณหมอให้ติดตามผลทุกๆ 6 เดือน ณ ตอนนี้ร่างกายแข็งแรงปกติดีค่ะ

การดำเนินชีวิตบนความคิดที่ว่า เราเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาล

เมี่ยง: พี่ค่อนข้างคุ้นชินกับคำว่ามะเร็งเพราะทำงานในสายเฮลท์แคร์ แต่ก็ยังรู้สึกว่ามะเร็งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เมื่อใดก็ตามที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ก็เหมือนกับศาลพิพากษาว่ามีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน

แต่หลังจากที่เป็นเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว จึงได้รู้ว่าการเป็นมะเร็งใช่ว่าเป็นแล้วจะต้องตายเท่านั้น มะเร็งบางชนิด ถ้าเจอเร็วและเข้ารับการรักษาเร็ว ก็ทำให้มีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้ เพราะฉะนั้น การถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างในชีวิตจะจบหรืออนาคตเราหมดแล้ว พี่เคยคิดว่าตัวเองเข้าใจคนไข้มะเร็ง เข้าใจความยากลำบากที่เขาต้องเจอนะ แต่เอาเข้าจริง พอเป็นเองกลับไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้เลย เพราะคนป่วยมะเร็งจะเจอ emotional impact เยอะกว่าคนที่ไม่เคยเป็นจะเข้าใจได้ มะเร็งทำให้พี่เห็นได้ว่าเราคือคนที่ตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับหลายๆ สิ่งบนโลก แล้ววันหนึ่งเราก็จะหายไปตามธรรมชาติ

การดำเนินชีวิตของพี่เปลี่ยน แต่ไม่ได้เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หรือปล่อยวางได้ขนาดนั้น ทุกครั้งที่ไป follow up ก็ยังลุกมาไหว้พระไหว้เจ้า ยังกังวลบ่อยๆ ว่ามะเร็งจะกลับมาไหม แต่ก็จัดการความรู้สึกได้เร็วขึ้น ช่างมันได้มากขึ้น พี่ใช้ชีวิตแบบมีจุดหมายมากขึ้น ตัวเล็กลง ตัวตนไม่ต้องมีเยอะ ตอนที่หมอบอกว่าเป็นมะเร็ง นอกจากยืนงงแล้ว ความคิดแรกที่คิดขึ้นมาทันทีเลยคือ นี่เราจะตายจริงๆ แล้วเหรอ พี่ยังรู้สึกว่าพี่ยังเป็นคนไร้ค่า นี่เราเกิดมาทำไม ยังไม่ได้ทำอะไรดีๆ ให้กับคนอื่นและสังคม ให้สาสมกับที่ได้เกิดมาเลย ทำให้ทุกวันนี้ หลายๆ กิจกรรมที่ทำ พี่ทำเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่พี่ตั้งใจไว้ทั้งหมด ปัจจุบันพี่ไม่จัดลำดับความสำคัญอะไรมากมาย คิดแค่ว่าอย่าเสียเวลา อยากทำอะไรทำเลย แต่สิ่งที่ทำจะต้องส่งผลดีต่อคนอื่นด้วย ซึ่งพี่พยายามที่จะทำอะไรเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะตัวเองมีประสบการณ์ในการเป็นคนไข้จริงๆ เราเข้าใจ pain point ของคนไข้มะเร็ง เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่ช่วยคนไข้คนอื่นได้

‘แมวนมเดียว’ เพจบันทึกสติของแมววัยกลางคน

เมี่ยง: ในฐานะของการเป็นผู้ป่วย พี่พบว่าสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นกับคนไข้ทุกคนคือตอนที่เขาถูกบอกว่าเป็นมะเร็ง เขาจะไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร เพราะการรักษามะเร็งไม่เหมือนกับการผ่าหูดที่เมื่อเป็น คุณผ่าตัดแล้วจบ แต่มันคือ long journey ช่วงเริ่มต้น พี่ไม่ต่างจากคนไข้คนอื่น คือหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค แต่พอเริ่มกูเกิ้ลปั๊บ จะเริ่มพบกับความพัง เพราะว่าข้อมูลเยอะมาก จนไม่รู้จะเชื่ออันไหนดี ส่วนมากเป็นความรู้พื้นฐานของโรค เช่น มะเร็งคืออะไร มีกี่ชนิด มีกี่สเตจ มาตรฐานการรักษาเป็นอย่างไร คอมเม้นท์ในกระทู้ที่เจอก็พบข้อความลบๆ อ่านแล้วไม่น่ารอด พอได้ข้อมูลแบบนั้นเยอะๆ จะเริ่มจะนอยด์ ตอนนั้นเลยเริ่มเปลี่ยนความคิดว่าต้องมีสิคนที่เป็นแล้วยังมีชีวิตอยู่ พี่เริ่มเปลี่ยนคำเสิร์ชให้เป็นในเชิงบวก จนเจอเพจของผู้รอดชีวิตหลายคน พอพี่ได้รับการซัพพอร์ต พูดคุยจากคนที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน ความรู้สึกพี่เปลี่ยนเลยนะ เหมือนว่าเราอบอุ่นใจขึ้นมาก มีเพื่อนร่วมทาง

พอรักษาจบ พี่เลยตั้งใจทำเพจ ‘แมวนมเดียว‘ ( www.facebook.com/onebreastcat) ขึ้น เพราะอยากแบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมาให้คนอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเพจนี้จะเป็นพื้นที่กลางเพื่อบอกผู้ป่วยที่เป็นแบบเดียวกันว่า “ฉันเป็นมะเร็ง เปิดหน้าอกให้เห็นเลยว่าฉันเป็น ฉันตัดเต้านม และฉันก็ยังอยู่ได้นะ นี่เป็นเรื่องปกติในการรักษา” นอกจากนี้ พี่อยากจะให้คนรู้ว่าหากเราตรวจเร็ว มะเร็งบางชนิดมันรักษาได้ อยากจะให้ทุกคนมีตระหนักตรงนี้ไว้ ปกติมะเร็งจะตรวจคัดกรองไม่ค่อยเจอ แต่ก็มีมะเร็งหลายประเภทที่โชคดีสามารถตรวจคัดกรองได้ อย่างเช่น เต้านม รังไข่ และลำไส้ ซึ่งหากเช็คอัพสม่ำเสมอก็สามารถป้องกันหรือเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้

ในเพจแมวนมเดียว พี่จะสอดแทรกเรื่องอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับพี่ระหว่างทางการรักษา อาจเป็นเรื่องที่พี่เองก็คิดไม่ถึงมาก่อน  ส่วนมากเป็นเรื่องความรู้สึก เรื่องอ่อนไหวที่ผู้ป่วยมักเจอ บางทีก็เป็นเรื่องเล็กๆ เช่น การหาสติ๊กเกอร์ปิดหัวนมแบบไหนดี  หรือการลิสต์คำถามก่อนเจอคุณหมอ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การวางแผนเรื่องค่ารักษา สิทธิ์การรักษา

ส่วนสิ่งที่พี่จะไม่ทำคือ พี่จะไม่วินิจฉัยโรค ไม่วิจารณ์การรักษา ไม่โกหกหรือให้ความหวังที่ไม่เป็นจริง ว่าอย่างไรก็หายหรือไม่หาย เพราะการรักษามะเร็งของคนไข้แต่ละคนแตกต่างกัน ถึงแม้จะเป็นมะเร็งที่เดียวกัน วิธีการรักษาก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คนที่รู้ดีที่สุดคือคุณหมอที่มีประวัติเราเต็มแฟ้ม เราต้องระวังเรื่องการสื่อสารว่าจะไม่นำเขาไปสู่สิ่งที่ทำให้เขาไม่สบายใจในเรื่องไม่จำเป็น แต่ถ้าพี่มีข้อมูลที่ดี และคิดว่ามีประโยชน์ พี่จะบอกให้เขานำไปปรึกษาคุณหมอ แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นการให้กำลังใจกัน คุยกัน ให้รู้ว่าเราเป็นเพื่อนร่วมทางกันนะ จริงๆ พี่ก็ได้พลังใจจากเพื่อนๆ ในเพจเยอะมากเลยนะ ต้องเป็นฝ่ายขอบคุณทุกคนที่เข้ามามากกว่า บางคนกลายเป็นเพื่อนติดต่อกันยาวเลย

ปกรณ์: จริงๆ เราคิดกันตั้งแต่ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาลแล้วว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลาย เราจะต้องทำอะไรเพื่อสังคม ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้จะทำอะไร พอเมี่ยงเขาผ่าตัดเสร็จแล้ว แล้วเริ่มโพสต์เฟสบุ๊ก ผมบอกเมี่ยงว่าควรจะเปิดเพจนะเพื่อที่จะจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คนอ่านแล้วก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ซึ่งเวลาเมี่ยงลงคอนเทนต์อะไร ผมก็จะเป็นฝ่ายแบคอัพ ลองแนะนำ ถ่ายรูปให้ แล้วก็วางแผนไปด้วยกัน

สารพันปัญหาของมะเร็งเต้านม

เมี่ยง: มีบางเรื่องนะที่คนสงสัย อย่างในเรื่องการตัดหน้าอก บางคนจะนึกไม่ออกว่าตัดแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องการเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ถ้าต้องตัดหน้าอกออกหมดแล้วจะทำ Breast Reconstruction (เสริมหน้าอก) ไหม ในกรณีพี่ พี่อยากให้คนได้เห็นเป็นเคสตัวอย่างว่า ถ้าตัดแล้วไม่เสริมหน้าอกหน้าตามันจะเป็นแบบนี้นะ แบนๆ เป็นแผ่นกระดานแบบนี้นะ ซึ่งข้อมูลหรือรูปพวกนี้หาไม่ได้เลยในตอนนั้น หรือข้อมูลอย่างเช่น ห้ามยกของหนัก แต่เวลาใช้ชีวิตจริงๆ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ยกอยู่ น้ำหนักประมาณนี้หนักเกินไปไหม อุ้มแมวนี่เรียกว่าหนักไหม ห้ามรีดผ้าหมายความว่าอย่างไร ห้ามรีดเป็นหลายๆ โหลเหรอ แต่ถ้าเราจะรีดสักตัวสองตัวใส่ออกจากบ้านจะทำได้ไหม ก็จะเป็นรายละเอียดที่บางครั้งคนไข้อาจจะไม่มีโอกาสถามคุณหมอ ซึ่งถ้ามีคนที่มีประสบการณ์เดินไปกับเขาในช่วงการรักษา เขาจะพอมีพื้นที่ให้ไถ่ถาม ไม่ต้องมานั่งเดาอยู่คนเดียว

สุขทุกข์บนทางสายกลาง 

เมี่ยง: ในชีวิตคนเราย่อมมีทั้งสุขทั้งทุกข์เข้ามาตลอด แม้จะเป็นมะเร็งก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรถึงจะจัดการความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้มากกว่า ถ้าสุขเข้ามาจะทำอย่างไรให้เราไม่สุขจนเราหลงระเริง หรือเวลาเป็นทุกข์ ก็ไม่ทุกข์จนมากเกินไป พี่จะช่างมันเยอะขึ้นมาก อะไรก็ช่างมันเถอะ หรือเจอเรื่องใหญ่ๆ พี่ก็จะบอกตัวเองว่าเดี๋ยวค่อยคิด นอนก่อน ปล่อยได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ากลายเป็นคนที่ไม่มีความกังวลอะไร ทุกอย่างเหมือนเดิม พี่ก็ยังนึกถึงอดีตและอนาคต เป็นคนปกติ พี่ไม่สามารถปลงได้แบบ 100% แต่ว่าเมื่อทุกข์หรือสุขแล้ว พี่จัดการมันได้ดีขึ้น กลับมารู้ตัวเร็วขึ้น มากขึ้น

ล้อมใจไว้ด้วยรัก

เมี่ยง: พี่คิดว่าคนรอบข้างทุกคนมีอิทธิพลต่อเราหมดเลย สำหรับครอบครัว ถ้าเราเป็นแล้วเห็นเขานั่งร้องไห้หรือหดหู่ เราจะยิ่งใจเสีย อย่างแม่พี่ สิ่งที่กังวลตอนนั้นคือ ฉันจะบอกแม่อย่างไรว่า “แม่ เมี่ยงเป็นมะเร็งนะ” พี่ว่าประโยคนี้ยากที่สุดเลยนะ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นในการยอมรับว่าเราเป็น พอพูดไปแล้ว หน้าเราเฉาเป็นหมาเหี่ยวเลย แต่แม่ตอบกลับมาว่า “อ้าว รู้ผลแล้วเหรอ แล้วเป็นอย่างไร” พี่ก็บอกไปว่า “ยังไม่รู้ เป็นแล้วต้องตายแน่เลย” แม่พี่ก็บอกว่า “แล้วชีวิตนี้จะไม่ตายเหรอไง สิ่งมีชีวิตอย่างไรก็ต้องตาย เป็นแล้วก็รักษาสิ เดี๋ยวก็หาย คนเขาเป็นกันเยอะแยะ” พอได้ยินแบบนั้น จากหมาเหี่ยวก็เริ่มคิดได้ว่า เออจริง หรือปกรณ์เองเป็นคนที่รู้จักคนเยอะมาก ก็จะช่วยพี่เรื่องการติดต่อกับคนที่มีความรู้ อยากได้ความรู้ทางด้านไหนเขาช่วยตลอด ปกรณ์จัดให้ ซึ่งความรู้สึกและการปฏิบัติของคนรอบข้างสำคัญมากเลยนะในการประคองใจเรา

เพียงแค่เรานั้นจับมือเดินข้างกันไป

ปกรณ์: ต้องเท้าความตอนที่รู้ผลก่อน เราตัดสินใจที่จะผ่าตัดทันทีเพื่อที่จะเอาเจ้านี่ออกไปให้เร็วที่สุด โดยในช่วงที่เรารอฟังผลหลังการผ่าตัดว่าจะเป็นชนิดไหน กระจายไหม ต้องรักษาอย่างไร ผมเองก็คิดและกังวลเหมือนกัน แต่พอทราบแล้วว่ามีโอกาสที่จะหายขาดจากการตัดออกไปก็ค่อนข้างสบายใจ ยิ่งพอรู้ผลว่าไม่ลามไปต่อมน้ำเหลือง ผมก็ดีใจมาก สิ่งที่ผมทำคือการอยู่ข้างๆ เขา พยายามไม่แสดงความวิตกออกมาให้เขากังวล ให้กำลังใจด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจเขาแทน หากิจกรรมให้เขาทำ พาไปที่ใหม่ๆ ดูแลเขาเรื่องการรักษา หรืออะไรที่เขาไม่ไหวผมจะทำแทนให้

ว่าด้วยเรื่องสัมพันธภาพระหว่างคู่รักในวันที่ตัดเต้านม 

เมี่ยง: สำหรับมะเร็งเต้านม ก็มักจะมีคำถามนะว่าเราจะอยู่อย่างไรถ้าเราไม่มีเต้านม คำถามนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กเวลาที่คนอื่นมองมา แต่บางครั้งบางที มันสามารถนำไปสู่ปัญหาครอบครัวได้เลย ซึ่งมีผู้หญิงหลายคนที่ไม่ยอมตัดออกเพราะกลัวว่าจะมีปัญหาครอบครัว กลัวว่าจะสูญเสียความเป็นผู้หญิง กลัวจะโดนแฟนทิ้ง

ในกรณีของพี่ หลังจากคุยกับคุณหมอแล้ว พี่ก็มานั่งคุยกันว่าจะเสริมหรือไม่เสริม พี่เลือกที่จะไม่เสริมเพราะตอนที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง พี่อยากจะเอาออก ไม่อยากจะเอาอะไรที่ไม่ใช่ของร่างกายเรามาใส่อีก จำได้ว่าปกรณ์ถามว่าอยากเสริมไหม ตอนแรกเขาอยากให้เสริม เพราะเขาคิดว่าถ้าพี่เห็นว่าตัวเองไม่มีหน้าอกตลอดเวลาจะทำให้การใช้ชีวิตในอนาคตแย่ไหม จะส่งผลในด้านจิตใจรึเปล่า แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องปัญหาครอบครัว

แต่สำหรับพี่ ถ้าคุณหมอบอกให้ตัดโดยไม่มีทางเลือกอื่น แล้วถ้าคนในครอบครัวบอกไม่ให้ตัดด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ไม่เข้าท่า เราเปลี่ยนครอบครัวได้นะ ตัดทิ้งไปพร้อมกับนม เราต้องรักษาชีวิตเราไว้ก่อน พี่รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างไรก็อยากจะให้ทุกคนรักชีวิตของตัวเอง เชื่อหมอไว้ก่อน เพราะการตัดสินใจยิ่งช้า การรักษาจะยากขึ้น ส่วนการเสริมหน้าอกก็เป็นทางเลือกที่ดีนะ คนทำเยอะมาก ผ่าตัดตื่นมาได้หน้าอกใหม่ใสแจ๋ว ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเลือกวิธีเดียวกับพี่ เพราะการเสริมจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้จริงๆ สนับสนุนให้ทำ ถ้าทำได้และอยากทำ

ปกรณ์: เรื่องการตัดเต้านม เสริมหรือไม่เสริมหน้าอก ถ้าถามผม ผมไม่มีปัญหาเลย ผมแล้วแต่เขา ซึ่งเมี่ยงเป็นคนที่ถ้ามีอะไรแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย เขาจะคิดมาก ส่วนการตัดสินใจว่าจะเสริมหรือไม่ ผมว่าขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวครับ ไม่มีผิดไม่มีถูกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทั้ง 2 ทางก็ดีกับผู้ป่วย ตัวแปรคือเรื่องแนวทางการรักษาที่เหมาะกับโรค สภาพร่างกาย และความเห็นพ้องกันของครอบครัวมากกว่าว่าจะเลือกแบบไหน ดีทั้งคู่

เครื่องเตือนใจที่ชื่อมะเร็ง

ปกรณ์: เมื่อก่อนคำว่ามะเร็งสำหรับผมคือโรคคนแก่ ไกลตัว ซึ่งจริงๆ มันใกล้ตัวมาก ยิ่งเกิดกับคนใกล้ตัวด้วยแล้ว ก็ทำให้เราเห็นเลยว่ามันใกล้ขนาดนี้เลยนะ และอยากให้คนทั่วไปตรวจร่างกายสม่ำเสมอ อย่างที่เมี่ยงบอกว่ายิ่งเจอเร็วยิ่งรักษาง่าย เพราะมีนะ คนที่กลัวว่าจะเจอก็เลยเลือกที่จะไม่ไปตรวจ ซึ่งผลกระทบหลังจากนั้น ถ้ามันลุกลามไป การรักษาก็จะยากขึ้น ทุกวันนี้ ยังลุ้นนะว่าผล follow up แต่ละครั้งจะผ่านไหม จะมีความเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า แต่ก็จัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ดีขึ้น ทุกครั้งที่ผมเห็นรอยบาก 6 นิ้ว มันจะเป็นสิ่งเตือนใจผมอย่างหนึ่งว่าชีวิตคนไม่แน่นอน แต่ก็ทำให้ผมช่างมันกับชีวิตได้ง่ายขึ้น นิ่งมากขึ้น รู้สึกเบาลง และตัดได้ง่ายขึ้น ว่าสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเดี๋ยวมันก็ผ่านไป

คุณค่าของชีวิตที่อยู่ระหว่างทาง

ปกรณ์: ตั้งแต่เมี่ยงเป็นมะเร็ง กลายเป็นว่าผมใส่ใจกับสิ่งรอบตัวเรามากขึ้น เมื่อก่อนผมอาจจะละเลยรายละเอียดใกล้ๆ ตัวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือความสุขเล็กๆ ระหว่างวัน ตอนนี้ผมใส่ใจตรงนั้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผมรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายก็ตอนที่เราอยู่ระหว่างทางที่ดำเนินไป มากกว่าเป้าหมายที่อยู่ไกลๆ นั่น และทำทุกเรื่องในทุกวันให้ดีที่สุด

สุขของฉันคือการที่เธอยิ้มได้

ปกรณ์: นอกจากเรื่องสุขภาพ ผมอยากให้เขาใช้ชีวิตให้มีความสุข อยากทำอะไรให้ทำ ผมเองก็พยายามหากิจกรรมให้เขาทำ ไปเจออะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ ไม่เคยไป ไปชิมอาหารร้านนู้นร้านนี้ ผมคงไม่บอกอะไรกับเขานอกจากผมจะพยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้ดูแลเขาต่อไปได้นานๆ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ผมแข็งแรงกว่า แล้วตายทีหลังเขา

พอดี พอใจ พอประมาณ 

เมี่ยง: สำหรับพี่ พี่แนะนำให้ดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของความสุข เราไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดมากจนทำให้ชีวิตกดดัน ดูแลให้สมเหตุสมผล แล้วก็การตรวจร่างกายสำคัญ บางทีมะเร็งมันไม่มีสาเหตุหรือบอกไม่ได้หรอกว่าจะเป็นคนสาว คนแก่ คนที่มีความเสี่ยง ถ้ามันจะเป็นก็เป็น เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรผิดปกติในร่างกาย ให้ตรวจ อย่าช่างมัน ส่วนเรื่องจิตใจอยากจะบอกคนป่วยทุกคนว่า ถ้าเป็น พี่อยากให้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง ค่อยๆ ก้าวไปเป็นทีละสเต็ป ไม่อย่างนั้นจะงงและหาทางออกไม่ได้ ระหว่างการรักษาให้เชื่อและมั่นใจในตัวคุณหมอและการรักษา คนไข้มีหน้าที่รักษาใจ คุณหมอมีหน้าที่รักษากาย ถ้าเราหมดความมั่นใจแล้ว เราจะเริ่มไปหาข้อมูลอื่นๆ และทำให้หลุดออกจากเส้นทางการรักษาได้ง่าย 

อีกเรื่องหนึ่งคือค่ารักษาซึ่งแพง แล้วไม่รู้ด้วยว่าจะไปหยุดตรงไหน เพราะฉะนั้น เราต้องวางแผนตั้งแต่ตอนนี้เลยว่าถ้าต่อไปเราไม่สบายขึ้นมา เราจะทำอย่างไร สิทธิ์ที่เรามีอยู่โรงพยาบาลไหน เมื่อถึงคราวฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องมากังวล หลักๆ ของพี่คือเตรียมสุขภาพกาย สุขภาพใจ แล้วก็สุขภาพทางการเงิน ทางการเงินไม่ใช่ว่าต้องหาเงินเยอะๆ แต่ต้องรู้ว่าถ้าจำเป็น ตัวเองมีสิทธิ์การรักษาที่ไหนบ้าง

ปกรณ์: หน้าที่ของคนดูแลคือการประคับประคองด้านจิตใจ ทำอย่างไรให้เขามีความสุขได้บ้าง อะไรที่สร้างสุขขึ้นมาได้ ยิ่งสิ่งง่ายๆ ทำเลย บางทีความสุขไม่ต้องใช้เงินมากมายเลย อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องสุขภาพ ก็ต้องพากันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกกำลังกายหรือว่าการกินก็ตาม ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดแต่ไม่ต้องสุดโต่ง เรา 2 คนก็ทำไม่ได้ บางทีเราก็ทานกันยับเหมือนกัน มันจะต้องบาลานซ์ระหว่างสุขภาพใจกับสุขภาพกาย เราต้องมีความรับผิดชอบว่าจะต้องดูแลทั้ง 2 ส่วนนี้อย่างไร

ร้ายหรือไม่อยู่ที่ใจเรา

เมี่ยง: อีกสิ่งหนึ่งที่พี่อยากบอก คือมะเร็งไม่ใช่โรคน่ารังเกียจ แล้วการป่วยก็ไม่ใช่ความผิด แต่คนส่วนหนึ่งที่ไม่กล้าบอกคนอื่นเพราะว่าเขากลัว จนถึงตอนนี้คนอีกมากที่เข้าใจว่ามะเร็งคือจุดสิ้นสุดของชีวิต มีคำถามเกิดขึ้นอย่างเช่นว่า “รู้ไหมคนนี้เขาเป็นมะเร็ง เขาจะตายไหม” ซึ่งคนไข้ไม่น้อยนะที่กลัวว่าจะโดนเอาไปพูด ทำให้ยิ่งกดดัน พี่ไม่อยากให้คนป่วยคิดว่าเป็นมะเร็งเป็นเรื่องที่ไม่ดี จะต้องปิดซ่อน สอง – ก่อนที่จะไปบอกใคร เราอาจจะต้องสแกนคนก่อน ซึ่งเอาจริงๆ พวกเขาห่วงเราแหละ แต่เมื่อเขารู้ เขาจะพยายามแนะนำในสิ่งที่ตัวเองรู้และคนป่วยจะได้รับคำแนะนำเยอะมาก ซึ่งถ้าไม่สตรองพอ เราอาจจะตัดสินใจไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การรับข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนที่อยู่ในช่วงต้องตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร จริงๆ พี่ไม่ได้อยากให้คนไข้เปลี่ยนมุมมองอย่างเดียว แต่อยากให้คนทั่วไปเปลี่ยนมุมมองกับโรคนี้ด้วย

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul) 
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit Sumanun)
ภาพเพิ่มเติม: ทักษิณา รัตนศักดิ์ | Taksina Ratanasakdi และ ปกรณ์ พลชัย | Pakorn Polachai

พชร โตอ่วม มะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นทำให้ค้นพบเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่

ปีนี้เป็นปีที่ เปรียว – พชร โตอ่วม อายุครบ 33 ปี ตัวเลขวัยที่คนส่วนใหญ่มองว่า ไม่มากเกินไปหากใครสักคนจะได้ค้นพบตัวตนหรือรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่ก็น้อยเกินกว่าจะเชื่อว่า หญิงสาวแววตาแจ่มใส อ่อนโยน และรักสุขภาพเช่นเธอ จะเคยผ่านประสบการณ์เป็นมะเร็งเต้านมและเด็ดเดี่ยวมากพอจะผ่าตัดมันออกทั้งสองข้าง แม้โรคร้ายเพิ่งเริ่มต้นระยะ 0

เพราะหลังจากเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการโฆษณา เปรียวก็ฝังตัวอยู่ในแวดวงโฆษณาและประชาสัมพันธ์ร่วม 7 ปี ก่อนแต่งงานแล้วย้ายไปอยู่กับสามีที่ฮ่องกง ประกอบอาชีพล่ามอิสระในโรงพยาบาลและศาล ควบคู่กับการเป็นคุณครูสอนโยคะมาตั้งแต่ปี 2558

ขณะที่ชีวิตกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น จู่ๆ วันหนึ่ง เธอก็เผอิญคลำเจอก้อนประหลาดในทรวงอก จึงลองไปตรวจสอบหาสาเหตุ แพทย์ผู้วินิจฉัยปลอบโยนเธอให้ผ่อนคลายกังวล แม้ยังไม่อาจด่วนสรุป แต่กำชับว่าอาการลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

เธอเองก็คิดเช่นเดียวกัน ด้วยวัยเพียง 29 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติและสมาชิกครอบครัวไม่เคยมีประวัติเป็นมะเร็ง กระนั้นหลังเข้ารับตรวจอัลตราซาวน์และติดตามผล นานกว่า 3 ปี ท้ายสุดเธอจึงพบว่าตัวเองเจอแจ็คพอต

“เราไปตรวจเช็คเต้านมทุกๆ 6 เดือนตั้งแต่อยู่ฮ่องกงจนย้ายกลับมาเชียงใหม่ เนื่องจากมีก้อนที่กระจายในเต้าข้างละกว่า 10 เม็ด กระทั่งเมื่อปีที่แล้วคุณหมอแนะนำให้ลองแมมโมแกรมดู เพราะพบว่ามีแคลเซียมเกาะอยู่ด้วย แล้วผลปรากฏว่า หนึ่งในหลายสิบก้อนนั้นได้กลายเป็นมะเร็ง

“จำได้ว่าตอนไปตรวจครั้งนั้นก็ถือเป็นการตรวจเช็คประจำแบบเดิมที่คุ้นเคย เราไปคนเดียวและไม่ได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้าเลย พอได้ฟังคำตอบก็ ‘อ้าว เหรอคะ โอเค…แล้วจะยังไงต่อ’ ร่างกายรู้สึกชาๆ เคว้งคว้างคล้ายกำลังฝัน แต่ตอนนั้นยังไม่รู้แน่ชัดว่าอยู่ในระยะไหน คุณหมอจึงนัดให้มาเจาะตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) อีกรอบ พอออกจากโรงพยาบาลก็โทรบอกแฟน ตอนนั้นแหละที่ทุกอย่างพรั่งพรูออกมา”

เปรียวเล่าต่อว่า ด้วยความเป็นคนเป๊ะ มีแบบแผนการใช้ชีวิตที่ชัดเจนและชอบอะไรสามารถควบคุมได้ ดังนั้นช่วงเวลาก่อนเจาะตรวจชิ้นเนื้อจึงถาโถมไปด้วยความเครียด ความกลัว และหวาดวิตกจนอาจเกินแบกรับไหว หากไม่ได้คนรักที่สละเวลาและตำแหน่งการงานจากฮ่องกงกลับมาอยู่เคียงข้างดูแลประคับประคองความรู้สึกและเติมกำลังใจให้กัน

สองสัปดาห์แห่งการรอคอยผลตรวจชิ้นเนื้อเป็นช่วงเวลาที่แสนทรมานมาก เธอบอกว่ามันยากทำใจยิ่งกว่าตอนตัดสินใจจะผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง และสุดท้ายผลจากการตรวจชื้นเนื้อเต้านมทั้งหมดที่ตัดทิ้ง ก็ทำให้ทราบผลอาการว่าเป็นเพียงระยะ 0 ระยะแรกเริ่มของเซลล์มะเร็งที่ยังไม่ลุกลามออกจากท่อน้ำนม และมีโอกาสรักษาให้หายขาด

คือเปรียวเกิดมาเป็นสาวคัพ A อยู่แล้วค่ะ สำหรับเราการมีหรือไม่มีหน้าอกจึงไม่ได้รู้สึกแตกต่าง อีกอย่างเราคิดว่าความเป็นผู้หญิงนั้นสามารถแสดงออกได้หลายทาง ไม่ใช่แค่นมที่เป็นปัจจัย ดังนั้นพอคุณหมออธิบายว่า แนะนำให้ตัดเต้านมข้างซ้ายออกเพราะมีก้อนเนื้อหลายก้อน ซึ่งตอนนั้นไม่แน่ใจนักว่าก้อนอื่นๆ นอกจากก้อนที่เจอว่ามีแคลเซียมเกาะจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งด้วยไหม อีกทั้งเพราะมีจำนวนก้อนมาก หากตัดเป็นก้อนๆ จะทำให้เต้านมผิดรูปทรง ส่วนข้างขวาถ้าเก็บไว้ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีก เราก็โอเคที่จะไม่เก็บไว้ทั้งสองข้าง เพราะแค่รู้สึกว่าหากมีมันเราคงจะกังวลกับการใช้ชีวิตมากกว่าไม่มี”

หลังผ่าตัด ทุกวันนี้เปรียวบอกว่าการตัดสินใจครั้งนั้น รวมถึงไม่เลือกศัลยกรรมเสริมหน้าอก ไม่ได้ทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจหรือรู้สึกเป็นผู้หญิงน้อยลงเลยแม้แต่น้อย กลับกันครอบครัวกลับดีใจที่เห็นเธอเข้มแข็งและสบายใจ เช่นเดียวกับคนรักที่คอยสนับสนุนทุกๆ อย่าง เติมเต็มช่องว่างระหว่างความหวั่นไหว พร้อมยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบใดๆ กับชีวิตคู่

“เปรียวว่ากำลังใจจากคนรอบข้างก็มีส่วนสำคัญนะคะ แต่ทั้งนี้คนป่วยจะรอรับพลังใจจากคนอื่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องลุกขึ้นมาสร้างพลังจากข้างในตัวเราเองด้วย”

นี่คือบทเรียนหนึ่งที่เปรียวได้เรียนรู้จากการเป็นมะเร็ง และท่ามกลางการเผชิญหน้ากับโรคร้าย เธอก็พบว่ามันได้เปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง จากคนเดิมที่เคยทะเยอทะยาน เฝ้าแข่งขันกับทุกคนบนโลกเพื่ออยากเอาชนะและมีตัวตน ปัจจุบันเธอหยุดวิ่งแล้วเลือกทำแค่ในสิ่งที่ตอบใจตัวเอง

“พอเป็นมะเร็งมันทำให้เรากลับมาทบทวนว่า สุดท้ายแล้วเราควบคุมอะไรในโลกนี้ไม่ได้เลย แม้กระทั่งตอนเจ็บป่วย ร่างกายของเราเองแท้ๆ แต่ยังต้องพึ่งพาคนอื่นดูแล ฉะนั้นเราจึงต้องหัดยอมคนให้เป็นและยอมรับว่าบางทีชีวิตก็มีเส้นทางที่เราไม่สามารถขีดเขียนเองได้ ที่สำคัญมันช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นความหมายของชีวิต แม้ไม่รู้วันข้างหน้าจะกลับมาเป็นปกติมากน้อยแค่ไหน แต่ในวันที่ฟื้นจากการผ่าตัด เราพยายามลุกขึ้นจากเตียงเพราะรู้สึกว่าทุกวินาทีมีค่ามาก แล้วถามตัวเองว่า ‘เธอมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง จะร้องไห้เสียใจอยู่อย่างนั้น หรือ ทบทวนว่าเป้าหมายในชีวิตของเธอคืออะไร’ แน่นอน คำตอบคือ เราต้องไม่ตายตอนนี้ เพราะมีอะไรอีกตั้งเยอะที่ยังไม่ได้ทำ”

อาจเป็นแรงใจเหลือล้นบวกกับประสบการณ์ฝึกฝนโยคะทำให้สองสัปดาห์ต่อมาเปรียวก็สามารถกลับมาจับพวงมาลัยขับรถ ถัดจากนั้นอีกสองสัปดาห์ เธอก็ตรงไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะมนุษยศาสตร์ เป้าหมายที่จะช่วยเติมเต็มคุณค่าในชีวิตเธอ

“ย้อนไปสมัยสอบเอ็นทรานซ์ ตอนนั้นสาขาจิตวิทยาเป็นอีกสาขาวิชาหนึ่งที่เราสนใจมาก แต่สุดท้ายเลือกเรียนนิเทศศาสตร์แทน แล้วพอช่วงที่เป็นล่ามอยู่ฮ่องกง เราได้เห็นผู้คนที่มีชีวิตยากลำบาก พวกเขาต้องแบกรับความทุกข์หนักทั้งกายใจ และไม่มีใครอยู่เคียงข้าง เราเลยรู้สึกว่ามันคงจะดีถ้าเราได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ เลยนึกถึงความใฝ่ฝันในวันนั้นที่ยังคงเก็บไว้ในใจเสมอมา”

ปัจจุบันเปรียวย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ของการเรียนระดับปริญญาโท นอกจากวิทยานิพนธ์เล่มหนาในหัวข้อเกี่ยวกับการสร้างสุขภาวะทางจิต หรือความผาสุกทางใจผ่านการฝึกโยคะที่เธอกำลังเคี่ยวกรำควบคู่กับการรับสอนโยคะคนท้องและโยคะบำบัด เธอยังทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดของ “บ้านหลังที่สอง” ศูนย์ให้บริการการปรึกษาทางจิตวิทยาสำหรับนักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

“เปรียวคิดว่าการค้นหาเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่จะเป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราสู้ต่อได้ เพราะมันก็จะมีวันที่ดีที่เราพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ กับวันที่อาจมีอะไรบางอย่างมากระทบแล้วทำให้เราเศร้าหมอง ห่อเหี่ยว เป้าหมายจะเป็นพลังคอยปลอบเราในวันที่ล้มและปลุกให้ลุกขึ้นลุยต่อเพราะเป้าหมายรอเราอยู่ ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ สำหรับเปรียวการต่อสู้นี้คุ้มค่าและมีความหมายกับทั้งตัวเราและคนรอบข้าง”

เปรียวทิ้งท้ายพร้อมเปรยว่า อนาคตหลังจากเรียนจบเธออยากนำเอาความรู้ที่ได้รับไปช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่กำลังประสบปัญหา ให้พวกเขาสามารถสร้างความเข้มแข็งภายในจิตใจและกล้าที่จะหยัดยืนก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง

เรื่อง: คุณากร เมืองเดช
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์

ภาพบางส่วน: พชร โตอ่วม

‘Dear Cancer’ สามบทเรียนจากมะเร็งสามครั้งในรอบ 17 ปี ของ พีรดา พีรศิลป์ นักเขียนผู้ค้นพบ ‘ชีวิต’ จากการเป็นมะเร็ง

หลิง-พีรดา พรีศิลป์ กำลังมีนิทรรศการ ‘Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก’ ที่หอศิลป์บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ นิทรรศการที่เธอได้ช่างภาพมืออาชีพ 5 ท่าน มาร่วมถ่ายทอดภาพถ่ายของเธอเอง – ผู้หญิงร่างเล็ก ผู้มีผมสั้นเกรียนเพราะฤทธิ์เคมีบำบัด และปราศจากเต้านมทั้งสองข้าง เนื่องจากเพิ่งผ่านการผ่าตัดออกไป เพื่อตัดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งครั้งที่ 4 ในชีวิต

ใช่, หลิงผ่านการมะเร็งมาแล้วสามครั้งในรอบ 17 ปี เริ่มต้นที่เต้านมในวัย 30 อีกสิบปีต่อมาก็พบที่เต้านมข้างเดิมอีกครั้ง และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เธอก็พบมะเร็งรังไข่ในวัย 47 ปี

หลังจากรักษามะเร็งครั้งล่าสุดด้วยการทำเคมีบำบัดและผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออก แม้ไม่มีสัญญาณใดๆ เธอตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเอาเต้านมออกเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“ตอนนี้เราเป็นผู้หญิงที่ไม่มีทั้งเต้านม รังไข่ และมดลูก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์เราลดลงเลย” เธอบอก

และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เธอตัดสินใจชวนเพื่อนช่างภาพมาถ่ายรูปร่างกายของเธอหลังจากผ่าตัด เพื่อเป็นกำลังใจให้คนป่วยและญาติ และสร้างความตระหนักรู้ถึงโรคภัยให้ผู้หญิงด้วยกันในเดือนตุลาคม เดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมสากล

“จำได้ว่าพอรู้ว่าเป็นมะเร็งครั้งแรก เราก็ร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูกและกลัวตาย จนมาเป็นครั้งที่สองเราพบว่ารับมือได้ดีขึ้น และครั้งล่าสุด จะบอกว่ารับมือได้สบายก็ดูเกินไป แต่เราเข้าใจโรคมากขึ้น” หลิงกล่าวด้วยความมั่นใจ “ยิ่งเข้าใจโรคมากเท่าไหร่ เราก็จะรับมือได้ง่ายขึ้น”

เธอออกตัวว่าไม่ได้เป็นคนไข้โรคมะเร็งที่เข้มแข็งหรือพิเศษกว่าคนอื่นแต่อย่างใด หากเธอโชคดีที่ร่างกายตอบสนองกับการรักษา และรับมือไปตามสภาพ กระนั้น เธอก็พบว่าสิ่งที่มาพร้อมกับโรคร้ายในแต่ละช่วงชีวิตที่ผ่านมา ได้ทิ้งบทเรียนอันน่าใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตไว้หลายประการ – บทเรียนที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ สามารถรับมือกับมะเร็งถึงสามครั้งด้วยความคิดบวก กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการผ่าตัด และเปิดเผยมันสู่สาธารณะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ป่วยคนอื่นๆ

ก่อนไปรับชมนิทรรศการ ‘Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก’ ผู้เขียนพาไปสำรวจบทเรียนที่หลิงค้นพบ บทเรียนที่เปลี่ยนนิยามของโรคร้ายที่มีสิทธิ์พรากชีวิตเธอ ให้กลายเป็นบางสิ่งที่เธอเรียกมันว่า ‘ที่รัก’

ครั้งที่ 1
พอพบว่าเรากลัวมะเร็งเกินกว่าสภาพจริงที่เป็น เราก็เอาหนังสือเกี่ยวกับมะเร็งไปทิ้งเลย

พื้นเพเป็นคนสะเดา จังหวัดสงขลา หลิงเริ่มงานในตำแหน่งนักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ แม้ไม่ใช่คนออกกำลังกาย แต่ก็ไม่มีโรคประจำตัวและสุขภาพแข็งแรงดีมาตลอด กระทั่งในวัยสามสิบ อยู่มาวันหนึ่ง เธอก็คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านมด้านซ้าย ก้อนเนื้อขนาดหนึ่งเซนติเมตร เล็กและอยู่ในขั้นต้นของโรคร้าย กระนั้นย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2546 โซเชียลมีเดียและสื่อที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งยังไม่แพร่หลายเช่นทุกวันนี้ ยิ่งมืดมนด้วยข้อมูลเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งกลัว

“ตอนนั้นกลัวตายมาก เพราะไม่มีความรู้อะไร เลยหาหนังสือมาอ่าน เพราะอยากรู้ว่าคนอื่นเขารับมือกับโรคอย่างไร จนมาเจอหนังสือของศิลปินท่านหนึ่งที่เพิ่งหายจากมะเร็ง เราอ่านแล้วก็หดหู่ เครียด เพราะอาการของคนเขียนหนักกว่าเรามาก อ่านไปอ่านมาแล้วนอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย จำได้ว่ายังอ่านไม่จบดี ก็พบว่าทำไมเราเครียดนัก มาดูอาการตัวเองก็ยังไม่ถึงขั้นนั้นเลยนี่ อารมณ์นำอาการไปมาก สุดท้ายเลยเอาหนังสือไปทิ้ง และก็เข้ารับการรักษาปกติ” 

หลิงรักษาด้วยการผ่าตัดสงวนเต้า เคมีบำบัด 6 ครั้ง และฉายแสง 35 ครั้ง เธอบอกว่าโชคดีที่ร่างกายตอบสนองกับการรักษาได้ดี ใช้เวลาไม่ถึงปีก็กลับมาทำงานปกติ เธอย้อนกลับมาทบทวนถึงสาเหตุของโรค และพบว่าความเครียดน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ตอนนั้นเธอรับตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ และสะสมความเครียดโดยไม่รู้ตัว เรื่องนี้เห็นชัดขึ้นหลังจากเธอเป็นมะเร็ง และพบว่าร่างกายทรุดลงจากการอ่านหนังสือ กระทั่งเมื่อหยุดเอาใจไปผูกไว้กับอารมณ์ ร่างกายก็ดีขึ้น

หลังจากเธอหายจากมะเร็งครั้งที่ 1 ก็พอดีกับที่นิตยสารที่ทำงานประจำปิดตัว หลิงออกมาเป็นฟรีแลนซ์ผลิตสิ่งพิมพ์และคอนเทนต์ เลือกรับงานที่ไม่ทำให้เครียดจนเกินไป และชีวิตค่อนข้างราบรื่นหลังจากนั้นเกือบสิบปี

ครั้งที่ 2
“ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อย่าผัดวันประกันพรุ่งต่อสิ่งที่อยากทำ”

แม้เป็นคนที่รักการเดินทางท่องเที่ยว และทำอยู่เสมอ กระนั้นหนึ่งในความฝันที่เธอไม่คิดจะเริ่มเสียที คือการเดินทางท่องเที่ยวด้วยมอเตอร์ไซค์ อย่างไรก็ดีเมื่อพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในจุดเดิมอีกครั้งในวัยสี่สิบ เธอสู้มันจนหาย และไม่รีรอที่จะทำตามฝัน
 
“ครั้งที่สองนี่คือมะเร็งงกลับมาเป็นที่เต้านมข้างเดิมซึ่งเคยฉายแสงไปแล้ว ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่ามันจะกลับมาอีก ประกอบกับช่วงนั้นมีเพื่อนและคนรอบข้างเสียชีวิตกระทันหัน ที่เคยได้ยินมาว่าชีวิตไม่แน่นอนเนี่ย ก็เพิ่งประสบกับตัวเองจริงๆ ก็ช่วงนี้”  

และความคิดเรื่องขี่มอเตอร์ไซค์ก็เกิดขึ้นพร้อมไปกับการรักษามะเร็งครั้งที่สอง หลิงหันมาออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เป้าหมายของเธอเรียบง่าย คือให้ตัวเองสามารถควบคุมรถได้คล่อง เพื่อจะได้ออกทริปขี่รถทางไกลได้

“กลายเป็นว่าจากความรู้สึกหวาดกลัวในครั้งแรก การเป็นมะเร็งครั้งนี้ทำให้เรามีความกล้าที่จะออกจากความคุ้นเคย ออกจากคอมฟอร์ทโซนสักที เรามุ่งมั่นจะหายจากโรคไวๆ เพื่อได้ทำสิ่งที่อยากทำแต่ไม่กล้าทำมาตลอด” หลิงออกตัวว่าแม้จะฟังดูโรแมนติกไปหน่อย แต่เธอก็รู้สึก ‘ขอบคุณ’ มะเร็งที่ทำให้เธอค้นพบ ‘ชีวิต’ จริงๆ ซึ่งมาพร้อมกับการถอยมอเตอร์ไซค์ Triumph Bonneville SE เครื่องยนต์ 900 ซีซี เสียที

“ที่ผ่านมาเราพบว่าชีวิตเราไม่ได้มีเป้าหมายเท่าไหร่น่ะ ทำงาน หาเงินมาได้ก็ไปเที่ยว แล้วก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น จนมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง แล้วเราก็พบว่าชีวิตทำไมไม่แน่นอนเอาเสียเลย มันเหมือนปลดล็อคความคิดเราว่า ก็ในเมื่อมันไม่แน่นอน ทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่อยากทำสักที”

“เราใช้เวลา 5 เดือนเพื่อทำความคุ้นเคยกับรถ จากที่ขี่มอเตอร์ไซค์มีคลัตซ์ไม่เป็น ก็ฝึกฝนจนคล่อง จึงเริ่มต้นออกทริปสั้นๆ จากกรุงเทพฯ ไปราชบุรีก่อน หลังจากนั้นก็ยาวเลย ไปลาว เวียดนาม หรือลงใต้ไปอำเภอสะเดา บ้านเกิด เราขี่ของเราคนเดียว บางทริปก็มีเพื่อนไปด้วย ช่วงนี้แหละที่เราพบเป้าหมายของชีวิตสักที… เป้าหมายคือการได้ใช้ชีวิต” หลิงกล่าว

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่เธอรู้สึกขอบคุณโรคร้ายที่เกิดขึ้นในร่างกายเธอ คือการได้พบเพื่อนใหม่ เนื่องจากเธอได้รู้จัก ออย-ไอรีล ไตรศาลศรี ผู้ก่อตั้ง Art for Cancer วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ทำงานร่วมกับผู้ป่วยมะเร็งท่านอื่นๆ เธอรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการจิตอาสา และนั่นทำให้เธอพบและร่วมแบ่งปันพลังบวกกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ในการฝ่าฟันโรคร้ายไปพร้อมกัน

ครั้งที่ 3
“ต่อให้คนอื่นให้กำลังใจคุณแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่สู้ด้วยตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์!”

แม้การเป็นมะเร็งครั้งที่ 3 ของหลิงจะไม่ได้เกิดขึ้นที่เต้านมข้างเดิมเหมือนสองครั้งแรก หากการรักษาครั้งนี้ก็สิ้นสุดลงตรงที่เธอสมัครใจให้คุณหมอผ่าตัดเอาเต้านมทั้งสองข้างออก

“จริงๆ ตอนเราเป็นมะเร็งครั้งแรก คุณหมอก็ให้เราเลือกว่าจะผ่าออกเลยไหม เพราะจะได้ลดโอกาสเสี่ยง แต่ตอนนั้นเรายังอยากมีเต้านมอยู่ เลยไม่ผ่า จนมาเป็นซ้ำครั้งที่สอง ก็ยังเลือกให้คุณหมอผ่าสงวนเต้าไปก่อน จนมาครั้งนี้ แม้จุดที่เจอคือรังไข่ แต่พอรักษาตรงนี้หายแล้ว เราก็ตัดสินใจจะปิดโอกาสเป็นซ้ำตรงเต้านม ด้วยการผ่าเต้านมทั้งสองข้างออกเลยดีกว่า” หลิงกล่าว

หลิงพบมะเร็งรังไข่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และดังที่กล่าวตอนต้น เธอรับมือกับโรคภัยครั้งนี้ได้ดี เหมือนคนเป็นโรคหวัด เป็นได้ ก็หายได้ เธอบอก ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่แค่ว่านี่เป็นการเผชิญกับมะเร็งครั้งที่สาม หากก่อนหน้านั้น เธอเพิ่งหายจากการประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตมาด้วย

“ไปเที่ยวภูเขาไฟโบรโม่ที่อินโดนีเซียกับน้องชาย เราก็เช่ามอเตอร์ไซค์กึ่งวิบากขี่ วางแผนไปเที่ยว 8 วัน แต่พอวันที่ 3 เราขี่รถไปตกหลุมทราย ตัวไปกระแทกกับรถ รู้เลยตอนนั้นว่ากระดูกไหปลาร้าหัก” หลิงกล่าว

หลิงได้ชาวบ้านแถวนั้นช่วย ก่อนจะบินกลับมาผ่าตัดที่กรุงเทพฯ ทันที อุบัติเหตุทำให้ไหปลาร้าหัก 4 ท่อน และซี่โครงหักอีก 3 ซี่ เลือดออกในปอด เป็นอีกครั้งที่เธอรู้สึกใกล้ความตาย แต่นั่นล่ะ เป็นอีกครั้งที่เธอก็เข้ารับการรักษาพร้อมกับก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไปอย่างเรียบง่าย เฉกเช่นอุปสรรคอื่นๆ ในชีวิต

“เราประสบอุบัติเหตุช่วงสิงหาคม 2562 พักฟื้นอยู่ 6 เดือน พอหายก็กลับมาขี่มอเตอร์ไซค์ได้ใหม่ไม่กี่เดือน กุมภาพันธ์ 2563 จู่ๆ ก็พบว่าท้องบวม กินยาก็ไม่หาย จนไปเอ็กซเรย์จึงพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ เราก็เออ…มาอีกแล้ว เราไม่รู้สึกโกรธหรือโทษโชคชะตาเลยนะ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกชินชาด้วย แค่รู้สึกว่าเออ ชีวิตก็อย่างนี้ เหมือนเรามีภูมิคุ้มกันที่ใจแล้ว เอาวะ! เป็นก็เป็น เป็นได้ก็หายได้ แค่นั้นเลย”

ครั้งนี้หลิงไม่ได้ฉายแสง ทำเพียงเคมีบำบัด 6 ครั้งในช่วงที่โควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา หลังจากเคมีบำบัดเข็มสุดท้ายผ่านไปเมื่อเดือนมิถุนายน เดือนสิงหาคมก็ถึงคิวติดตามการรักษามะเร็งเต้านม เธอตัดสินใจบอกคุณหมอให้ทำการผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อตัดโอกาสการกลับมาเกิดมะเร็งซ้ำ เธอไม่มีทั้งเต้านม รังไข่ และมดลูก กระนั้นเธอก็ยืนยันว่าร่างกายแข็งแรงดี และยังคงขี่มอเตอร์ไซค์เป็นปกติ

“เราโชคดีที่ร่างกายตอบรับกับการรักษาทุกครั้ง แต่บทเรียนที่สำคัญที่ผ่านมาคือกำลังใจเลยนะ ถ้าใจเราเข้มแข็ง ร่างกายมันจะสู้และไปต่อได้ จริงอยู่ว่าคนรอบข้างเป็นกำลังใจสำคัญ แต่เราพบว่าแท้จริง กำลังใจเราสร้างได้ด้วยตัวเอง เหมือนที่เราเคยเขียนในบทความ ‘กูยังตายไม่ได้’ เราตายแบบนี้มันกระจอก มันง่ายไป มีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ…”

“เราโชคดีและรู้สึกขอบคุณคนรอบข้างที่เป็นกำลังใจให้เสมอ แต่ที่ขอบคุณมากที่สุดคือตัวเอง เพราะต่อให้ทุกคนให้กำลังใจเราแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่ให้กำลังใจตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์”

และเช่นที่กล่าว หัวใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้นี้แข็งแกร่งไม่เฉพาะกับตัวเอง หากการชักชวนเพื่อนช่างภาพถ่ายรูปเธอเองเพื่อรณรงค์มะเร็งเต้านม ก็ยังถือเป็นอีกวิถีทางในการแบ่งปันความแข็งแกร่งไปยังผู้ป่วยคนอื่นๆ

“นอกจากความตระหนักรู้ เราอยากสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยด้วย เพราะเมื่อเป็นมะเร็งเต้านมก็ส่งผลกระทบหลายอย่าง บางคนไม่มั่นใจในตัวเอง บางคนคนรักขอแยกทาง เมื่อชีวิตเปลี่ยน บางคนดิ่งลงเลย เราอยากให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและมองโรคมะเร็งในแง่ดี แม้จะสูญเสียเต้านมไป แต่อย่าสูญเสียตัวตนของคุณไปด้วย อยากให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเป็นตัวเองอย่างที่คุณเป็น” หลิงกล่าว

ปัจจุบันหลิงย้ายมาพำนักที่เชียงใหม่ ยังคงทำงานเป็นนักเขียนและบรรณาธิการอิสระ รวมถึงบรรณาธิการจิตอาสาให้กับ Art For Cancer by Ireal สร้างสรรค์สื่อเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยมะเร็งและญาติในการรับมือกับโรค เธอมีแผนระยะยาวคือการเก็บเงินและปลูกบ้านที่นี่ หากแผนที่ใกล้กว่านั้นคือการเดินทางท่องเที่ยวต่อไปกับมอเตอร์ไซค์คู่ใจ

นิทรรศการภาพถ่าย “Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก” จัดแสดงที่ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 16 – 30 ตุลาคม 2563 โดยช่างภาพ 5 ท่าน ได้แก่ จอร์ช-ธาดา วาริช, โจ-นิกสิทธิ์ วงศ์สวัสดิ์, เม้ง-สิทธิชัย กิตยายุคกะ, ตาล-ธนพล แก้วพริ้ง (ร่วมกับศิลปิน JORRA) และโน้ต-นวลตา วงศ์เจริญ เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) 10:00-18:00 น.

เรื่อง:  จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ:
กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: พีรดา พีรศิลป์, นิทรรศการภาพถ่าย Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก

อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ มะเร็งทำให้เห็นแง่มุมของชีวิตครบทุกมิติและมีความสุขง่ายขึ้นกว่าเดิม

จนถึงตอนนี้ ก็ราวๆ 2 ปีกว่าแล้วที่ส้ม – อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แม้ว่าก่อนหน้ามุมมองของเธอต่อโรคนี้จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวและไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยถึง ทว่าแท้จริงแล้วเธอกลับพบว่า “มะเร็ง” ได้ทำให้เธอได้เห็นแง่มุมของชีวิตแบบครบทุกมิติ ตั้งแต่สัจธรรมชีวิตของการเกิด แก่ และเจ็บ ความรักและสติอันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้คนคนหนึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความอ่อนแอทั้งทางกายและใจ จนกระทั่งกลับมาใช้ชีวิตในความปกติใหม่ด้วยความสุขที่เธอเลือกได้เอง  

ในวันที่ฉันเป็นมะเร็ง

“ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี 61 ตอนนั้นส้มคลำเจอก้อนบริเวณสุดโครงเสื้อใน ซึ่งไม่ได้เอะใจว่าจะเป็นมะเร็งนะ เพราะส้มเคยมีถุงน้ำที่เต้านม ก็เลยรอดูไปก่อนยังไม่ไปตรวจ พอสักเดือนกรกฎาคม คลำแล้วยังเจอก้อน เลยคิดว่าน่าจะลองไปหาหมอตรวจดูเสียหน่อย พอไปถึงคุณหมอให้แมมโมแกรม ซึ่งผลแมมโมแกรมก็บอกว่าเรามีความเสี่ยง 30% คุณหมอก็เลยขอเจาะก้อนเนื้อนี้ไปตรวจดู แล้วนัดอีก 2 วันมาฟังผล แต่ปรากฏวันรุ่งขึ้นก็เรียกไปฟังผลเลย ซึ่งผลออกมาคือเป็นมะเร็ง 

ด้วยขนาดของก้อนที่คลำได้ประมาณปลายนิ้วก้อย เบื้องต้นคุณหมอคาดคะเนว่าน่าจะอยู่ที่ระยะแรก แต่ด้วยตำแหน่งของก้อนอาจมีโอกาสที่มะเร็งจะลามไปต่อมน้ำเหลือง การรักษาจึงเริ่มจากการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า ถ้าออกมาห้องผ่าตัดแล้วมีสายเดรนเลือด แสดงว่ามะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง พอออกจากห้องผ่าตัด ส้มเจอว่ามีสายเดรน เราก็รู้แล้วว่ามะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง หลังจากพักฟื้นที่บ้านได้ 2 อาทิตย์ คุณหมอก็นัดถอดสายเดรนออก ซึ่งผลออกมาคือส้มเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 2 แบบรับฮอร์โมน ต้องทานยาต้านฮอร์โมนตลอดอย่างน้อยก็ 5 ปี ทำคีโม 8 ครั้ง ฉายแสง 35 ครั้ง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนเมษายน” 

ความเจ็บที่ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด

“แต่ก่อนส้มไม่กล้าพูดคำว่ามะเร็งเลยนะ และส้มก็เชื่อว่าหลายๆ คนคงไม่กล้าพูดคำนี้เหมือนกัน เวลาพูดถึง “มะเร็ง” มันจะมาคู่กับคำว่าคีโม ซึ่งส้มไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร ถามว่ากลัวความเจ็บความปวดไหม ไม่กลัว แต่กลัวว่าเราจะเป็นอย่างไรต่อไปมากกว่า พอรักษาจริงๆ  ส้มกลับพบว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เคยคิด ความเจ็บปวดก็ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด เราคิดว่าคีโมน่ากลัว เอาจริงๆ ก็น่ากลัวแหละ แต่ไม่ได้น่ากลัวเท่าที่เราคิด มะเร็งก็เหมือนโรคอื่นๆ ที่เวลาเราป่วยก็ต้องรับการรักษาตามขั้นตอนของคุณหมอเพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง”  

เมื่อซึมเศร้าเข้ามาเยือน

“ตอนสองเข็มแรก ส้มสู้เต็มที่ ยังไม่เป็นอะไร แต่พอขึ้นเข็มที่สาม ส้มเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ใช้ชีวิตไม่ได้ เริ่มรู้สึกแย่ รู้สึกไม่มีค่า อะไรก็ไม่มีค่า มองไปรอบตัวก็เห็นแต่สิ่งที่ไม่มีค่า เปล่าประโยชน์ หายใจไปก็เท่านั้น สภาวะตอนนั้นเหมือนอยู่ในแก้วที่ใครพูดอะไร ปลอบใจอย่างไร ส้มรับเข้ามาไม่ได้เลย แต่ถ้าเห็นอะไรแย่ๆ เราจะดูดมันเข้ามาทันที ส้มพยายามจะดึงตัวเองขึ้นมาจากหลุมดำเหล่านี้ แต่ต้องยอมรับว่าไปต่อเองไม่ไหวจริงๆ แม้จะพยายามเต็มที่ ทั้งอ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์ ลองหางานอดิเรกทำตามที่คุณหมอแนะนำ ก็ไม่ดีขึ้น เลยขอพบจิตแพทย์ ซึ่งถ้าพูดถึงสังคมไทยกับจิตแพทย์ เป็นอะไรที่คนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยและไม่กล้าที่จะพูดถึง แต่เรายืนยันกับคุณหมอที่จะขอพบจิตแพทย์

หลังจากพบจิตแพทย์ ส้มได้ยามาทาน แต่วันแรกก็แทบแย่เหมือนกัน เพราะมันตีกัน ตอนแรกดีเลย รู้สึกเป็นตัวเองกลับมา ยิ้มได้ แต่ยาก็มีขอบเขตของการออกฤทธิ์ เช้ามาตีห้า ความรู้สึกแย่ๆ กลับมา ส้มจำได้ว่า เหงื่อตก เดินจับชายเสื้อแฟนแล้วบอกว่ามันกลับมาอีกแล้ว ตอนนั้นรู้สึกว่ามะเร็งยังไม่น่ากลัวเท่านี้ ต้องทานยาไปได้สองสามอาทิตย์ถึงเริ่มดีขึ้น 

สำหรับภาวะซึมเศร้า คุณหมอเฉลยตอนหลังว่า อาการของส้มเป็นผลมาจากคีโมที่ไปทำลายการรับรู้ของสมอง ซึ่งในภาวะปกติ ในร่างกายคนเราจะมีการส่งสัญญาณสุขและสัญญาณทุกข์ คีโมได้ไปทำลายส่วนของความสุขตรงนี้ทำให้สัญญาณรับความทุกข์ทำงานอย่างเดียว ถ้าส้มไม่ทานยา ส้มไม่น่าจะหายได้ บางคนอาจจะบอกว่าซึมเศร้าหายได้ แต่สำหรับส้มไม่ใช่ แล้วถ้าส้มแอบรู้ระแคะระคายว่าใครเป็น ส้มจะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เลย เราไม่จำเป็นต้องทนเพราะนี่เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้นะ ในเมื่อยาช่วยได้ เราก็ทานเถอะ”

ครอบครัวคือยาชูกำลังทางกายและทางใจ 

“ในเวลาที่ท้อสุดๆ ส้มพยายามบอกตัวเองว่าเรามีครอบครัวที่รักและดูแลเราอยู่ ณ วันที่ส้มเป็นมะเร็ง ลูกชายต้องเปลี่ยนจากที่มีแม่คอยดูแล กลายเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ส้มก็ย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้ ใครจะดูแลเขาในอนาคต สำหรับสามี ถึงแม้เขาจะต้องออกไปทำงานทุกวัน แต่เขาก็พยายามดูแลเราอย่างเต็มที่ เตรียมอาหารให้ส้มแต่เช้าทุกวัน วันที่เราคีโม เขาก็จะลางานไปดูแลนั่งรอ รวมไปถึงคุณแม่ที่พยายามส่งเรื่องราวดีๆ มาเป็นกำลังใจตลอด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ส้มอยากจะหายจากภาวะนี้ ซึ่งนอกจากครอบครัวแล้ว สติสำคัญมาก รวมทั้งการรักษาของคุณหมอด้วย

ส้มอยากจะบอกว่าทุกคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ทั้งครอบครัว เพื่อนๆ และพี่ๆ ที่โรงพยาบาล เป็นกำลังใจที่ดี พวกเขาเองคงไม่รู้ว่าช่วยเหลือส้มมากขนาดไหน สิ่งที่ทุกคนทำให้ส้ม เหมือนพวกเขากำลังหยอดกำลังใจลงไปในหลุมให้หลุมของส้มตื้นขึ้น ทำให้ในวันที่เราหล่นลงไปในหลุมดำนั้นแล้วรู้สึกว่าไม่ลึกเท่าเดิมแล้ว เราตะกุยขึ้นมาได้ง่ายขึ้น ส้มรู้สึกโชคดีที่ได้เจอพวกเขา ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ต้องขอบคุณทุกคนมากจริงๆ” 

ชีวิตบนความสุขที่เราเลือกเอง  

“เรื่องมะเร็ง ส้มจะให้เป็นหน้าที่คุณหมอ ส่วนตัวเองก็จะทำตามที่คุณหมอบอก ในเมื่อคุณหมอไม่ได้ห้ามอะไร ส้มก็จะไม่หาข้อห้ามให้ตัวเอง แต่ก่อน ส้มจะทานแต่ปลา เนื้อแดงไม่ทานเลย แล้วเพื่อนบ้านส้มเป็นคุณหมอก็แนะนำว่าขอให้ยึดทางสายกลางในเรื่องการรับประทาน ควรจะทานอาหารที่หมุนเวียนไป 

ถามว่ากลัวมะเร็งจะกลับมาอีกไหม…ก็กลัว แต่ส้มมองว่าเป็นเรื่องของอนาคต ส้มไม่ได้ไม่กลัวโรคนี้นะ แต่ในเมื่อเราเป็นไปแล้ว ก็ต้องยอมรับให้ได้ว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก สำหรับตอนนี้ส้มเลือกที่จะมีความสุข เชื่อไหม ทุกวันนี้ก่อนนอน ส้มจะถามตัวเองก่อนเลยว่าเราไปทำร้ายจิตใจใครบ้างรึเปล่า ถ้าทะเลาะกับสามี ก่อนนอนเราก็ไปหอมแก้มเขาสักหน่อย ทำทุกๆ อย่างให้ดีที่สุด สำหรับส้ม ทุกวินาทีหลังจากนี้ ส้มพยายามทำในสิ่งที่ดีกับตัวเองก่อน เอาตัวเองเป็นหลัก ขอเห็นแก่ตัวนะ ให้เรารู้สึกดี แล้วเราก็จะดีกับทุกคนได้เอง” 

“มะเร็ง” สิ่งที่เป็นทั้งครูและทำให้ชีวิตสุขง่ายกว่าเดิม 

“สำหรับส้ม มะเร็งเป็นประสบการณ์หนึ่งที่เป็นครูสอนเราและให้โอกาสเรา ไม่อย่างนั้นส้มอาจจะยังคงหน้ามืดตามัวกับการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ลืมไปว่าคนเราเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นสัจธรรมชีวิตที่คนเรามักจะลืม พอเป็นมะเร็ง ส้มถามตัวเองว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร จะอยู่แบบไหน อยากทำอะไร เป้าหมายของส้มไม่ได้เป็นอะไรที่ใหญ่โต เอาแค่วันนี้ อยากหอมแก้มลูกให้ครบ 10 ที ก็ทำเลย มะเร็งทำให้ส้มเห็นว่า ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องไปสวิงสวายหา บางทีได้เห็นต้นไม้ออกดอก ได้ดูแลสิ่งมีชีวิตเล็กๆ รอบๆ บ้าน ส้มก็มีความสุขแล้ว ความสุขในปัจจุบันจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตที่เจอได้ทุกวัน ไม่ตั้งเป้าหมายอะไรให้ไกลโพ้น การทำเป้าหมายเล็กๆ อันหนึ่งให้สำเร็จ ก็ทำให้ส้มยิ้มได้เรื่อยๆ นะ เอาจริงๆ ส้มรู้สึกว่า มะเร็งทำให้เราได้มองเห็นความสุขจากความปกติเดิมที่เคยชิน บางคนอาจมองความสุขว่าต้องรวย ต้องสวย ต้องหล่อ ได้ไปเที่ยวไหนต่อไหน ส้มไม่ปฏิเสธว่านั่นก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่สำหรับส้ม ความสุขจริงๆ คือได้นั่งอยู่ตรงนี้ ได้มีเรื่องดีๆ ให้นึกถึง ต้องขอบคุณมะเร็งที่ทำให้ส้มมีความสุขง่ายขึ้น”

ชีวิตบนความไม่ประมาท

“คนทั่วไปที่ยังไม่ป่วย อย่างแรกคืออย่ากลัวหมอ ถ้ารู้สึกผิดปกติ ก็ควรไปปรึกษาคุณหมอ ตอนนี้สวัสดิการการรักษา เขาก็ดูแลคนป่วยด้านนี้ได้อย่างครอบคลุม ไม่ต้องกังวลที่จะไปตรวจ ส้มเชื่อว่าหลายๆ คนไม่อยากรู้ว่าตัวเองป่วย ก็เลี่ยงไม่ไปตรวจดีกว่า ซึ่งจริงๆ เราไปตรวจแล้วอาจจะไม่เป็นอะไรก็ได้ แต่ควรให้คุณหมอบอกว่าเราไม่เป็นอะไร ซึ่งน่าจะสบายใจดีกว่า เอาง่ายๆ พยายามไม่ประมาทกับชีวิต แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องถึงกับเข้มงวดจนเครียด ตรวจร่างกายบ้าง ทำตามสิ่งที่เขาแนะนำตามวัย ตามเพศ เรามีความเสี่ยงด้านไหนก็สำรวจตัวเองเบื้องต้น ซึ่งถ้าเราป่วย การรักษาอาจไม่ได้ใช้เวลาไปตลอดชีวิต อาจจะเสียเวลาสักปีหนึ่งในการรักษา พอหายแล้ว เราก็กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม 

สำหรับคนที่ป่วยแล้ว เชื่อว่าตอนป่วยทุกคนก็กลัว อยากให้เขาคิดว่าการรักษาไม่ได้จะดึงชีวิตเราไปทั้งหมด อะไรที่เป็นหน้าที่คุณหมอ ก็ปล่อยให้เขาทำ พยายามเลี่ยงเรื่องราวที่เราเซนซิทีฟ แต่ถ้าห้ามไม่ได้ ถ้ามันปะทะเข้ามาแล้ว ก็พยายามโยนทิ้งไปให้เร็ว หาอย่างอื่นทำ สู้กับความคิดตัวเอง นับไปเลยว่าเมื่อไหร่จะเราจะคีโมหรือฉายแสงครบ แล้วเราก็วางแผนตั้งแต่ตอนนั้นว่าเราจะทำอะไรที่ตอนคีโมอยู่เราทำไม่ได้ หรือช่วงที่ร่างกายแย่ๆ เราทำไม่ได้ เมื่อรักษาหายเมื่อไหร่เราจะไปทำนะ ตอนไม่มีผมเราอยากทำอะไร ถ้ามีผมเราจะทำอะไร ส้มอยากให้ทุกคนมองอนาคตหลังจากที่เรารักษา ลองมองหาความสุขเราที่เราหยิบตั้งได้ง่ายๆ แต่เอาจริงๆ ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ถ้าเรามองหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้มันก็ชุ่มชื้นหัวใจแล้ว” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (SUDAPORN JIRANUKORNSAKUL)  
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ (ZUPHACHAI LAOKUNRAK)
ภาพบางส่วน: อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ (ONJANAKA PINGSUTHIWONG)

ดร. หทัยทิพย์ จิระธันห์ มะเร็งทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันและเอาชนะมันอย่างมีสติ

นอกจากประสบการณ์การทำงานในฐานะอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์และดูแลกิจการต่างประเทศในมหาวิทยาลัยชื่อดังแล้ว ดร.หทัยทิพย์ จิระธันห์ (ต่อ) ยังเป็นนักวิ่งและพิธีกรงานวิ่งที่เก็บชั่วโมงบินมาไม่น้อย ในเวลาเดียวกันเธอและสามียังเปิดร้านอาหารสไตล์ฝรั่งร่วมกันในนาม EDM ระหว่างที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย วันหนึ่งช่วงปลายปี 2560 เธอพบสิ่งที่แปลกออกไปในร่างกายตัวเอง แม้นั่นจะเป็นสัญญาณที่ไม่ปกตินัก แต่เธอก็รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติและคิดบวก โดยมีสามี ครอบครัว และเพื่อนๆ อยู่เคียงข้างไม่เคยห่างไปไหน 

สัญญาณเตือนจากร่างกาย

“ปกติพี่ตรวจร่างกายทุกปี แต่ 2 ปีก่อนจะพบว่าเป็นมะเร็ง พี่ไม่ได้ตรวจ ตอนนั้นค่อนข้างยุ่ง แล้วก็ประมาทด้วยมั้งคะ พี่เคยตรวจแมมโมแกรมด้วยซ้ำไป จำได้ว่ากำลังทาโลชั่นอยู่ แล้วไปสะดุดกับก้อนที่หน้าอก ก็เอ้อ ก้อนอะไรนะ ตอนนั้นประมาณปลายปี 60 แต่พี่ก็ชะล่าใจ แล้วร้านอาหารพี่เพิ่งเปิด เลยได้ไปตรวจอีกทีตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 61 คุณหมอก็บอกว่าเดี๋ยวขอลองเอาเข็มฉีดยาเข้าไปดูดดู ถ้าออกมาเป็นน้ำก็จบ กลับบ้าน ถ้าดูดไม่ออกก็จะดึงตัวเนื้อออกไปตรวจ ซึ่งวันนั้นดูดไม่ออก พี่ก็บอกกับแฟนว่า สงสัยจะถูกหวยแล้ว หลังจากนั้น ผลออกมาว่าเป็นมะเร็งเต้านมที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนเอสโตรเจน หลังจากตรวจเรียบร้อย คุณหมอก็วางโปรแกรมการรักษาโดยให้พี่ผ่าตัดก้อนเนื้อออกในเดือนมีนาคม 61 จากนั้น เดือนเมษายนพี่เริ่มให้คีโมและฉายแสง จนสิ้นสุดการฉายแสงประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 61”

จากมะเร็งเต้านมสู่อาการข้างเคียงและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สมอง งานหินที่ต้องเอาชนะอย่างมีสติ

“ในการรักษาครั้งแรกนี้ พี่ก็ได้ของแถมมาเลย คือปอดอักเสบจากการฉายแสงที่หน้าอก แต่เรื่องที่ใหญ่โตกว่าและอาจจะต้องทานยาไปตลอดชีวิต คือพี่มีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเป็นผลมาจากตัวยาคีโมที่แรง ซึ่งพี่มาตรวจเจอช่วงสงกรานต์ปี 62” 

ขณะที่รักษาตัวอยู่ เธอยังคงใช้ชีวิตปกติ ไปทำงาน ออกวิ่ง เพราะอาการข้างเคียงจากคีโมจะส่งผลต่อเนื่องในช่วงอาทิตย์แรกที่ให้ “วันนั้นพี่ไปซ้อมวิ่งที่สวนลุมพินี ก็รู้สึกชาๆ ที่ขา เลยไปหาคุณหมอ ตอนแรกคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ก็ได้ยามาทานเบื้องต้นเพื่อรอคิว MRI แต่ช่วงรอคิวพี่เริ่มมีอาการชาที่แขนขึ้นมา หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีอาการสมองสั่งงานไม่ปกติ พี่ยังรู้ตัว พูดจารู้เรื่อง แต่จะกลับขวาเป็นซ้ายซ้ายเป็นขวา ปิดประตูใช้มือผิด ตอนนั้นโทรคุยกับคุณหมอ คุณหมอรีบให้เข้ามา CT Scan ด่วน ผลออกมาพบว่ามีเนื้องอกที่สมอง ซึ่งต้องรีบผ่าตัดออกทันที เพราะเนื้องอกเริ่มทำให้สมองบวม เมื่อคุณหมอนำชิ้นเนื้อนี้ไปตรวจ ผลออกมาคือเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สมอง เป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งเลย ซึ่งการรักษาจะต่างกัน เพราะฉะนั้น คุณหมอเรื่องโรคเลือดและต่อมน้ำเหลืองต้องเข้ามาดูแลการรักษาเพิ่มเติม

หลังจากผ่าตัดสมองไปแล้ว การรักษาที่เกิดขึ้นเริ่มจากการให้คีโม แล้วก็ฉายแสง แต่จะโหดกว่ามะเร็งเต้านมพอสมควร เพราะต้องอยู่โรงพยาบาลตำรวจตลอด 100 วัน เพราะจะเป็นการให้คีโมผ่านหลอดเลือดใหญ่ แล้วก็ให้ยาผ่านไขสันหลังด้วย เวลาให้คีโมเม็ดเลือดขาวจะต่ำมาก คุณหมอกลัวติดเชื้อ ก็เลยให้อยู่โรงพยาบาลตลอด”     

มะเร็งทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน

“ณ วันที่เป็น พี่ไม่ได้ตื่นตูม เอาจริงๆ ตั้งแต่เป็นมะเร็ง พี่ร้องไห้หนักๆ แค่หนเดียวตอนที่ให้คีโมครั้งแรก คุณหมอให้พี่ไปแนะนำตัวกับพยาบาลในห้องเคมีบำบัด เมื่อไปถึง พี่เห็นคนไข้คนอื่นที่เขานอนให้คีโม บางท่านผมไม่มีแล้ว บางท่านใส่หน้ากาก พอเห็นภาพนั้น พี่รู้สึกขึ้นมาว่า นี่เราจะเป็นหนึ่งในนั้นแล้วเหรอ แล้ววันนั้น คุณพยาบาลดูแลพี่อย่างดีมาก ให้คำปรึกษาทุกอย่าง แต่แล้วอยู่ๆ มันก็เกิดความรู้สึกหลายอย่างปะปนกันเข้ามา พี่ร้องไห้หนักมาก และคืนนั้นเป็นคืนแรกที่พี่นอนไม่หลับนับตั้งแต่ทราบว่าเป็นมะเร็ง วันนั้นพี่นึกถึงคำพูดของพี่นง (ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์) ซึ่งเรา 2 คน เป็นพิธีกรคู่กันในงานวิ่ง สิ่งหนึ่งที่พี่นงมักจะบอกกับพี่เสมอก็คือให้อยู่กับปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นเราคุยเรื่องนี้กันมาตลอด แต่พี่ไม่เคยเข้าใจในสิ่งที่พี่นงพูดเลย พอเกิดกับตัวจริงๆ พี่เข้าใจทันทีเลยนะ แล้วมานั่งทบทวนว่าสิ่งที่เรากังวลอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วเราจะเศร้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจะไม่มีความสุขตั้งแต่ตอนนี้เลยเหรอ ในตอนที่ทุกอย่างยังไม่ร้ายแรงอะไรเลย เรากอบโกยความสุขตรงหน้าไปก่อนไม่ดีกว่าเหรอ แล้วค่อยมาแก้ปัญหา ณ ตอนที่มีจริงๆ พอคิดได้อย่างนั้นก็หลับ

เพราะฉะนั้น มุมมองเรื่องมะเร็งของพี่ตั้งแต่ก่อนเป็นจนถึงวันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่ แต่การป่วยครั้งนี้ทำให้พี่กอบโกยทุกๆ ช่วงเวลา ทุกๆ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้เยอะขึ้นมาก ปล่อยวางได้มากขึ้น พี่นับถือศาสนาคริสต์ พอเป็นมะเร็ง พี่ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น แล้วก็ไม่เคยสงสัยในทางเดินที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้เลย”      

คนข้างกายคือลมใต้ปีก

“ในระหว่างการรักษา คนที่ยึดเหนี่ยวพี่ในวันที่พี่เหนื่อย คือสามี ครอบครัว และเพื่อนๆ พี่โชคดีมากที่คนใกล้ชิดเข้าใจและให้กำลังใจมากๆ พี่นึกไม่ออกเลยว่าใครไม่ให้กำลังใจ สามีพี่ไปโรงพยาบาลกับพี่แบบ 100% จริงๆ ทุกครั้งที่พี่อยู่โรงพยาบาล ก็จะมีเขาที่อยู่ด้วยตลอด โดยเฉพาะในบางช่วงของการเป็นมะเร็งที่พี่จะมีอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นผลมาจากยา เขาจะเป็นคนที่คอยให้กำลังใจ เขารู้แหละว่าสิ่งที่เขาพูด บางทีไม่ได้ซึมเข้าไปหรอก แต่เขาไม่เบื่อที่จะพูด ไม่ยอมแพ้ที่จะทำให้พี่รู้สึกดีขึ้น สำหรับครอบครัวพี่ พวกเราสนิทกันมาก ถึงอยู่กันคนละที่ ที่บ้านพี่อยู่ลำลูกกา แต่ก็มาเยี่ยมพี่ที่โรงพยาบาลตำรวจตลอด หาอาหารอร่อยๆ มาให้ แล้วพี่ก็มีเพื่อนๆ อยู่หลายกลุ่ม ทุกๆ คน รวมไปถึงคุณครูและลูกศิษย์ของพี่ก็ส่งกำลังใจมาให้ไม่ขาด 

แม้จะมีช่วง tough มากๆ กับตอนที่เป็นมะเร็งครั้งแรก พี่ให้คีโมประมาณเข็มกลางๆ คุณพ่อพี่ก็เสียด้วยการติดเชื้อที่ปอด มันเป็นช่วงที่ยากมากเหมือนกันนะ เพราะไหนจะเรื่องงานศพ ไหนจะเรื่องการให้คีโม แต่โชคดีที่พี่มีครอบครัว มีสามี มีพี่น้อง และเพื่อนที่ดี เลยผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้อย่างไม่ทุลักทุเล คนจะชอบถามพี่ว่าทำไมกำลังใจดีขนาดนี้ นี่แหละเหตุผล” 

ทุกกำลังใจจะไม่เสียเปล่า

“ถ้าจะบอกอะไรกับพวกเขานะเหรอ พี่อยากจะบอกว่ากำลังใจที่ทุกคนส่งมาให้จะไม่สูญเปล่า ไม่เสียไปไหนแน่นอน ซึ่งพี่ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่ากำลังใจของพวกเขาสำคัญมากขนาดไหนและเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้พี่มาอยู่ถึงวันนี้  มะเร็งเป็นเรื่องไม่ง่ายนะ แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าเราได้กำลังใจที่ดี แล้วตัวเราเองพยายามด้วย อยากให้ทุกคนที่ให้กำลังใจพี่มารับรู้ว่าพี่ดีใจ ยินดี และซาบซึ้งมากๆ ในการที่ทุกคนให้กำลังใจมากขนาดนี้ และพี่กำลังพิสูจน์สิ่งนี้ให้ทุกคนดูอยู่ อนาคตจะเป็นไงไม่รู้ แต่พี่จะทำให้เห็น มีคนเคยถามนะว่า แล้วถ้าเป็นขึ้นมาอีกล่ะ? พี่ก็บอกเขาไปว่าก็รักษาอีกสิ แล้วพี่ก็เชื่อว่าทุกคนก็จะให้กำลังใจอยู่ ไม่หายไปไหนแน่นอน”

เลือกทำในสิ่งที่ชอบ = วิตามินบำรุงใจชั้นดี 

“จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า พี่เป็นคนที่ถ้าไม่ชอบอะไร เลี่ยงได้ พี่จะไม่ทำสิ่งนั้นเลย แต่ถ้าเกิดความอยากจะทำอะไร เมื่อไหร่ พี่จะหาทางทำเมื่อนั้นเหมือนกัน จะพยายามทำให้ความอยากนั้นเกิดขึ้นให้ได้ มีบางคนเคยถามพี่ว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย พี่อยากจะทำอะไร พี่ก็บอกเขาไปว่าพี่ได้ทำมาหมดแล้ว สิ่งที่อยากทำ ได้ทำมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น พี่จะไม่เสียใจเลยถ้าเผื่อวันพรุ่งพี่จะจากโลกนี้ไป เพราะพี่มีความสุขกับทุกวันที่ได้ใช้ชีวิตแล้ว”

สร้างปราการกันโรค

“โชคดีว่าก่อนที่พี่จะมาเป็นมะเร็งครั้งแรก พี่เริ่มวิ่งมาได้ประมาณ 2 ปี และพี่ไม่เคยหยุดวิ่ง แม้จะอยู่ในช่วงรักษาตัวก็ตาม ซึ่งพี่มาค้นพบว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะไม่ว่าจะหลังผ่าตัด ให้คีโม หรือว่าไม่สบาย ร่างกายพี่ฟื้นตัวไวมาก เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่พี่อยากแนะนำคือออกกำลังกายเพื่อที่จะให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น เลือกกิจกรรมที่ชอบและทำไหว ออกไปเจอลม เจออากาศ เหยียบดินบ้าง

นอกจากนี้ พี่ทานอาหารเยอะมาก ต่อให้ร่างกายบอกว่าไม่อยากทาน พี่ก็จะพยายามทาน คนป่วยทุกคนรู้ว่าคีโมสำคัญ แต่บางคนไม่อยากทาน เพราะคีโมทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหาร พอทานไม่ได้ ผลก็ต่อเนื่องกันเป็นโดมิโน่เลย เม็ดเลือดขาวตก ให้คีโมไม่ได้ ซึ่งก็จะยืดระยะเวลาการให้คีโมออกไป ประสิทธิภาพการให้คีโมก็จะลดถอยลงด้วย ถ้าร่างกายเราได้รับสารอาหารที่เพียงพอ จะทำให้เรารับคีโมได้ตามที่คุณหมอวางแผนไว้ ซึ่งผลที่ได้ก็จะดีกว่า 

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพักผ่อน คนที่เม็ดเลือดขาวตก อ่อนแอ หรือช่วงที่ต้องให้คีโม เราจะรู้ร่างกายตัวเองว่าช่วงไหนที่เพลีย เพราะฉะนั้น อย่าฝืน ถ้าเหนื่อย ถ้าเพลีย คุณต้องหลับ แล้วพี่ก็อยากให้ฟังคุณหมอเวลาเราป่วย พี่มองว่าสามสี่อย่างนี้สำคัญกับทุกคนนะ ไม่ต้องรอให้ป่วย ทุกคนสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย” 

แสวงหาความสุขจากความเรียบง่ายของชีวิต

“เอาจริงๆ ความสุขสูงสุดของพี่คือยังได้ใช้ชีวิตปกติ ถ้าไม่นับว่าเคยอยู่โรงพยาบาลมา ทุกวันนี้พี่ยังใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมทุกอย่าง ได้ทำงานที่รัก ได้อยู่กับครอบครัว กับเพื่อน ทุกอย่างปกติหมด พี่ไม่แตกตื่นหรือตื่นตูมกับคำว่า new normal เลยนะ เพราะพี่มีความรู้สึกว่าทุกคนต้องปรับตัว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องมะเร็งหรือโควิดหรอก การเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนอาหาร แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเปลี่ยนเสื้อผ้า พี่แนะนำจากประสบการณ์ ถ้าคุณชอบอะไร ให้ทำไปเลย ไม่ต้องรอ แต่อะไรที่รู้สึกฝืนและทำให้เราเครียด เลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าไม่ได้ เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ คุณก็ทำ เพียงแต่ก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย อย่างถ้าสมมุติเราต้องงดในสิ่งที่เราชอบกิน สำหรับพี่ พี่ว่าพี่เครียด ดีไม่ดีกลับมาป่วยอีก สู้พี่ทำอะไรที่เรามีความสุขดีกว่า หรืออย่างเวลาที่พี่ซ้อนมอเตอร์ไซค์แฟนพี่ บางคนจะเป็นห่วงเรา อยากให้เราพักผ่อนอยู่บ้าน แต่พี่ก็มานั่งนึก แต่ก่อนตอนที่ยังไม่ได้นั่งมอเตอร์ไซค์ยังเป็นมะเร็งเลย ถ้าตอนนี้นั่งแล้วจะเป็นอีกรอบก็ให้มันเป็นแล้วกัน อยู่อย่างมีความสุขกับสิ่งที่เราชอบ เพราะพี่เองก็มีความสุขแบบนั้นอยู่” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล   
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ 
ภาพบางส่วน: หทัยทิพย์ จิระธันห์ 

พลังใจคือยารักษามะเร็ง คุยกับ อรวรรณ โอวรารินท์ ประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

ก่อนที่บทความนี้จะพาไปรู้จักชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ขอแนะนำให้รู้จักประธานและผู้ก่อตั้ง อรวรรณ โอวรารินท์ อดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจ การประปานครหลวง ผู้พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมในวัยที่กำลังจะเกษียณ เธอทำใจไม่ได้ที่ต้องผ่าตัดเอาเต้านมออก แต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับ เข้ารับการรักษา ก่อนจะหายขาด

สิ่งหนึ่งที่เธอค้นพบระหว่างการรักษาตัวและพักฟื้น คือกำลังใจและการให้คำปรึกษาของผู้ป่วยด้วยกัน และนั่นบันดาลใจให้เธอก่อตั้งชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย การให้คำปรึกษาและกำลังใจเป็นยารักษามะเร็งอย่างไร ไปฟังจากปากของหญิงแกร่งในวัย 76 ที่ยังคงกระฉับกระเฉงและเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาผู้นี้กัน

พบเจอมะเร็งในร่างกายได้อย่างไร

ตอนนั้นปี 2545 เรานอนดูโทรทัศน์อยู่ จำได้ว่าในโทรทัศน์กำลังนำเสนอข่าวว่าหมอพรทิพย์ (แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์) เป็นมะเร็ง เราก็คิดในใจว่าคุณหมอพรทิพย์เป็นมะเร็งด้วยหรือนี่ และเราก็เอามือไปป่ายที่หน้าอกของตัวเอง และพบก้อนแข็งๆ ทีนี้นอนไม่หลับเลย วันรุ่งขึ้นไปให้หมอตรวจ ก็พบว่าเป็นมะเร็งจริงๆ หมอบอกว่าเป็นมะเร็งระยะสอง มีก้อนเนื้อขนาดสองเซนติเมตรครึ่ง

มีเค้าลางมาก่อนไหมว่าจะเป็นมะเร็ง

ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นมาก่อนเลย เพราะเป็นคนแข็งแรง เป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็ก และเราก็อารมณ์ดี เป็นคนสนุกๆ ลุยๆ เลยไม่คิดว่าชีวิตจะป่วยด้วยโรคนี้ แต่เค้าลางจริงๆ ก็มีนะ เพราะก่อนหน้านี้ แม่สามีเพิ่งเสียชีวิตจากมะเร็งเหมือนกัน ทราบข่าวเราก็เป็นลม จึงไปหาหมอ ตอนแรกเข้าใจว่าพักผ่อนน้อย จนคลำมาเจอก้อนเนื้อนี่แหละ   

เราเล่นบาสเกตบอลตั้งแต่สมัยเรียนสตรีวิทยา พอเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังเล่นอยู่ เราเป็นคนบู๊ๆ ชอบทำกิจกรรม แล้วก็ค่อนข้างไม่ยอมคน คิดว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก แต่ขณะเดียวกันความที่เราไม่ยอมใคร จบมาก็ทำงานที่การประปานครหลวงซึ่งยุคแรกๆ เป็นหน่วยงานที่มีแต่ผู้ชายด้วย จึงสะสมความเครียดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งคิดว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเป็นมะเร็ง

เครียดอย่างไร

ย้อนกลับไปสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เราเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำงานการประปานครหลวง ก็จะมีทัศนคติแบบผู้ชายสมัยก่อนอยู่ ขณะเดียวกัน เราทำหน้าที่เก็บเงินขององค์กรด้วย ตอนนั้นไม่มีธนาคารไหนเปิดวันเสาร์-อาทิตย์ พอวันศุกร์เราก็ต้องเก็บเงินที่ประชาชนเอามาจ่ายไว้ที่เราเองเพื่อรอเอาเข้าธนาคารวันจันทร์ ถึงกับซื้อปืนพกไว้ที่ตัวเลยเพราะมันมีการจี้ปล้นกัน และเขาเห็นเราเป็นผู้หญิงด้วย ไหนจะต้องมาเครียดกับข้าราชการที่มีเส้นมีสายอีก เราเป็นคนตรงและรับไม่ได้กับพวกที่ก้าวหน้าทางลัดซึ่งมันมีอยู่แล้วทุกองค์กร เราก็ยอมไม่ได้ เรายึดมั่นมาตลอดว่าเราเป็นข้าราชการ เราทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่พวกพ้อง ก็สู้มาตั้งแต่ตำแหน่งเล็กๆ จนเราขึ้นเป็นผู้ตรวจการ เราพบว่าตลอดชีวิตการทำงาน ถึงจะสนุกกับงานแต่ก็ประสบกับความเครียดสะสมอย่างไม่รู้ตัวมาโดยตลอด

พบว่าเป็นมะเร็งยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม

เครียดหนักที่สุดคือคุณหมอบอกให้ตัดเต้านมออกนี่แหละ แต่ไหนแต่ไรเราภูมิใจกับหน้าอกของเรามาก เราเป็นคนรักสวยรักงาม หมอบอกว่าถ้าไม่เอาออกก็ไม่หาย ทำใจอยู่นานมาก ขอเวลาหมอไปปฏิบัติธรรมจนสุดท้ายก็ผ่าออก ดีอยู่หน่อยก็ตรงที่เราพบว่าเป็นมะเร็งตอนย่าง 60 ซึ่งเรากำลังจะเกษียณแล้วจึงไม่ค่อยออกงานสังคมมาก แต่ไปๆ มาๆ ก็ยังต้องออกอยู่ดี (หัวเราะ)

มะเร็งเต้านมชนิด Her2 Positive

หมอบอกว่ามะเร็งชนิดนี้จะลุกลามเร็วมากและจำเป็นต้องตัดเต้านมออก เราเป็นข้าราชการก็เบิกงบรักษาแพงอยู่เพราะยาที่ฉีดแต่ละเข็มแพงมาก จำได้ว่าเบิกไปเป็นล้านจนเจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเบิกเขาบอกกับเราว่า…พี่เบิกมากไป ปีหน้าจะไม่ให้เบิกแล้วนะ เราเลยบอกว่างั้นเธอเอาแบบนี้ไหม พี่จะยกโรคให้เธอเป็นแทน แล้วพี่จะไม่เบิกเงินสักบาทเลย (หัวเราะ) เจ้าหน้าที่เขาก็เงียบ ส่วนการรักษาก็ผ่าตัดเอาเต้านมออก ทำเคมีบำบัดอีก 6 ครั้ง แต่ไม่ฉายแสง โชคดีได้คุณหมออาคม เชียรศิลป์ ของโรงพยาบาลเปาโลดูแลไข้ให้ ซึ่งก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างช่วงนั้น

ได้เรียนรู้ฝึกจิต รู้จักมิตรภาพบำบัด

ตอนทำคีโมนี่ทรมานมากนะ (หัวเราะ) เปล่าหรอกไม่ใช่เรื่องนี้ แต่จำได้ว่าผลข้างเคียงมันทำให้ร่างกายเรารู้สึกเหมือนรับต่อไปไม่ไหวและเราไม่อยากมีชีวิตอยู่เลย เรารับมือกับเรื่องนี้ด้วยการฝึกจิต คือก่อนหน้าจะเป็นมะเร็ง เราก็หมั่นไปปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว พอรู้ว่าต้องผ่าตัดเอาเต้านมออกก็ขอเวลาหมอไปปฏิบัติธรรม ไปฝึกจิตก่อน ซึ่งก็ช่วยได้เยอะ แต่ความทรมานจากคีโมนี่หนักมาก เราว่าเรานิ่งแล้ว แต่บางครั้งก็ยังรับไม่ค่อยไหว อย่างไรก็ดี ก็แนะนำว่าการฝึกจิตให้สงบนี่แหละคือสิ่งสำคัญ

อีกเรื่องคือช่วงที่เราป่วย มันจะมีช่วงเวลาที่เราต้องไปนั่งรอพบหมอนานเป็นชั่วโมง ช่วงนี้ทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งที่มารอพบหมอด้วยกัน บางคนเพิ่งเป็นและบางคนกำลังจะหายขาด จึงกลายเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กัน การได้สัมภาษณ์กันเองทำให้เราส่งมอบกำลังใจให้กันและกัน ตรงนี้ช่วยเรื่องพลังใจเราได้เยอะมาก หมอและพยาบาลช่วยเราในเรื่องยา แต่การรักษามะเร็งมันยังต้องอาศัยพลังใจ เราใช้เวลารักษาอยู่ 5 ปีกว่าจะหายขาด ก็เลยมาเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘มิตรภาพบำบัด’ ซึ่งช่วยได้มาก คำนี้เป็นของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คุณหมอท่านมีคุณูปการหลายอย่างให้ระบบสาธารณสุขบ้านเรา ท่านเป็นคนริเริ่มและผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งมิตรภาพบำบัดก็เป็นแนวคิดของท่าน คือการให้เพื่อนช่วยเพื่อนฝ่าฟันโรคร้ายไปด้วยกัน ท่านก่อตั้งชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน เราก็เอาแนวคิดของคุณหมอไปต่อยอดและคิดว่าน่าจะมีชมรมที่พูดถึงการรักษามะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ จึงตั้งชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทยขึ้นมา

ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

หลักๆ คือเป็นกลุ่มของผู้ป่วย อดีตผู้ป่วย ญาติ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยค่ะ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและวิธีการรักษา อย่างที่บอก ตอนป่วย เราก็ประสบด้วยตัวเองว่าเรารู้สึกเคว้งนะ ไม่รู้จะเอายังไงต่อดี แต่พอมีชมรมก็ทำให้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล คำแนะนำ และทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเดียวดาย ชมรมเรามีการจัดอบรมตามสถาบันต่างๆ ทั้งบริษัทเอกชนและโรงพยาบาล อบรมตั้งแต่การทำเต้านมเทียมจากใยสังเคราะห์และลูกปัด การอบรมด้านบุคลิกของผู้ที่ผ่านการผ่าตัดเต้านม และที่สำคัญคือการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องผ่าเอาเต้านมออก เพราะนี่คือเรื่องหนักหนาสำหรับผู้หญิงที่เป็นเพศแม่มากๆ

ปลอบใจผู้ที่พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม

จริงๆ วิธีการพูดมันไม่มีหลักตายตัวนะคะ เพราะเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แต่ถ้าให้พูดโดยรวม ซึ่งก็มาจากมุมมองส่วนตัวของเราด้วยก็จะบอกว่า…เราเป็นมนุษย์ ยังไงเราก็หนีไม่พ้นความตาย แต่การเป็นมะเร็งดีกว่าโรคร้ายหรืออุบัติเหตุอย่างอื่น เพราะถ้าเราเป็นมะเร็ง เรามีโอกาสรักษา ยิ่งเจอเร็ว เราก็ยิ่งมีโอกาสรอด ถ้าคุณถูกรถชนตาย คุณก็อาจไม่ได้สั่งเสียกับใครเลย แต่มะเร็งยังให้โอกาสเรา ให้โอกาสได้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต หลังจากหายแล้ว ยังให้โอกาสเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการมอบกำลังใจให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ คุณค่าของชีวิตเกิดจากการแบ่งปันและมอบกำลังใจให้กันตรงนี้แหละ

ยาที่ดีที่สุดในการสู้กับมะเร็งคือ ‘จิตใจที่ไม่ยอมแพ้’
จิตใจจึงสำคัญ เราต้องสู้ก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมาช่วยเรา

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: อรวรรณ โอวรารินท์

กว่าจะมาเป็นแม่บ้านสายคีโม โบ-เสาวณิช ผิวขาว ผู้ฝ่าวิกฤตชีวิตไปพร้อมกับการรักษามะเร็งถึงสามครั้ง

หลายคนอาจรู้จัก โบ-เสาวณิช ผิวขาว จากคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ซึ่งเธอเขียนสูตรอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง สำหรับทำที่บ้านด้วยตัวเอง ลงประจำทุกเดือนในเพจ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และบางท่านก็อาจทราบมาว่า ก่อนจะมาเป็นคอลัมนิสต์ที่ชวนคนทำอาหารไปพร้อมกับการมองโลกในแง่ดี ชีวิตของโบต้องเผชิญกับโรคมะเร็งถึงสองครั้ง การสูญเสียคนที่รักอีกสองหน รวมถึงภาวะซึมเศร้าอันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ทั้งสอง และล่าสุดกับการต้องพบการกลับมาของมะเร็งเป็นครั้งที่สาม ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เธอยังคงสู้กับมัน…

หากยึดถือตามความเชื่อเรื่องเบญจเพสที่ซึ่งช่วงวัยที่ ‘ดวงตก’ ของผู้คนอยู่ที่วัย 25 เบญจเพสของโบก็มาช้าไป 7 ปี “มันแย่จนถึงขนาดเราตั้งคำถามว่าเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” โบย้อนคิดถึงห้วงเวลาหนึ่งในขณะที่เธอกำลังรักษามะเร็งครั้งแรก 

แต่นั่นล่ะ โบก็ฟันฝ่ามาได้ และยืนหยัดด้วยทัศนคติเชิงบวกในทุกวัน เธอบอกว่าวิกฤตทำให้เธอเคยไม่อยากมีชีวิต แต่ในทางกลับกัน เมื่อเวลาผ่านไป วิกฤตเดียวกันนี้ก็สอนให้เธอตระหนักในคุณค่าของมัน และนี่คือข้อคิดที่ตกตะกอนมาจากชีวิตของสาวแกร่งที่สู้กับมะเร็งถึงสามครั้ง และอีกหนึ่งความซึมเศร้าเพียงลำพัง  

พบมะเร็งเพราะเพื่อนจ้างให้ไปหาหมอ

            “จริงๆ เราเจอก้อนเนื้อที่หน้าอกมาได้สักพักแล้ว คือนอนๆ อยู่ก็คลำเจอ แต่คิดว่าเป็นลูกหนู ก็เลยชะล่าใจ” โบย้อนคิดถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด อย่างไรก็ดี คำว่า ‘สักพัก’ ที่โบว่าคือการปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาสองปี จนมาปี 2554 ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น และเธอเริ่มรู้สึกเจ็บ คล้ายมีใครเอาเข็มมาแทงเนื้อ

            “เราก็ยังชิลล์อยู่อีกนะ คือไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้ายอะไร อายุแค่สามสิบต้นๆ เองตอนนั้น ก็บ่นให้เพื่อนฟังว่าเจ็บ เพื่อนก็บอกให้ไปหาหมอ เราก็ดื้อดึงไม่ไป จนเพื่อนบอกว่าจ้างให้ไปก็ได้ ไปดูหน่อยเถอะ ก็เลยไป” 

            กระทั่งหลังผลเอ็กซ์เรย์ว่ามีก้อนเนื้อขนาด 4 เซนติเมตรอยู่ในทรวงอกด้านขวา โบก็ยังไม่คิดว่านั่นคือเนื้อร้าย คุณหมอทำการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หนึ่งเดือนเศษล่วงผ่าน ผลปรากฏว่าเธอเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2A อีกนิดเดียวก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3…

            “พอทราบผลก็ช็อคเลย เพราะไม่คิดจริงๆ ว่าเราจะเป็นมะเร็ง ก็เป็นคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่แหละ แต่ก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง จำได้ว่าพอหมอบอกว่าเราเป็นมะเร็ง หมอก็อธิบายขั้นตอนการรักษาให้เราฟัง แต่เราไม่ได้ยินอะไรเลย ในหัวมันอื้ออึงไปหมด จนหมอพูดจบ บอกกับเราว่ามีอะไรจะถามไหมครับ”

โบสารภาพว่าคำถามในหัวเยอะมากจนประมวลออกมาไม่ทัน ซึ่งเธอถามหมอไปเพียงแค่

“แล้วหนูยังกินเบียร์ได้อยู่ไหมคะ” เธอเล่าติดตลก แต่ก็ยอมรับว่าตอนนั้นเธอตระหนักแล้วว่าชีวิตหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

ต่อสู้กับการสูญเสีย

            โบเป็นลูกสาวคนเล็กในครอบครัวที่เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวมากว่า 50 ปีในจังหวัดตราด พ่อของโบจากไปเมื่อตอนที่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ก่อนที่เธอจะพบเนื้อร้าย โบทำธุรกิจขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โดยใช้ชีวิตที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งเธออยู่ที่นั่นเพียงลำพังตลอดหลายปีในการรักษามะเร็ง

            “เรารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มจากการผ่าตัดสงวนเต้า ก่อนจะทำการฉายแสงและเคมีบำบัดตามขั้นตอน ก็ไปรักษาคนเดียว ถ้าช่วงไหนอาการหนักไปไม่ไหว ก็รบกวนให้เพื่อนขับรถพาไปโรงพยาบาลบ้าง พอต้องอยู่กับโรคเพียงลำพังก็มีอาการซึมเศร้านะ ถึงขนาดคิดว่าไม่ต้องรักษาก็ได้ แต่ที่สู้เพราะแม่ยังอยู่ เราอยากอยู่เพื่อแม่” โบกล่าว

            กระนั้นในช่วงที่เธอรักษาจนครบขั้นตอนและมีแนวโน้มว่าจะหายขาด ชีวิตก็กลับมาเผชิญกับวิกฤต เดือนกรกฎาคม ปี 2559 พี่ชายของเธอประสบอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต ขณะที่อีก 5 เดือนต่อมา ระหว่างที่เธอกลับมาอยู่เป็นเพื่อนแม่ที่จังหวัดตราด แม่ของโบก็พบเนื้อร้ายในถุงน้ำดีขึ้นมาอีกคน สองแม่ลูกต้องไปหาหมอพร้อมกัน คนหนึ่งคือช่วงเวลาที่ใกล้จะหาย กับอีกคนคือช่วงเวลาที่เพิ่งเริ่มเป็น แต่แม่ของโบไม่ได้โชคดี เพราะมะเร็งที่เกิดในร่างแม่ของเธออยู่ในระยะสุดท้าย ไม่นานหลังจากนั้น แม่ของเธอก็จากไปในเดือนมกราคม 2560  

            “ทุกอย่างเหมือนพังทลาย ที่เราอยากหายจากโรคก็เพราะจะได้อยู่กับแม่ แต่พอแม่ไม่อยู่แล้ว เราจมดิ่งเลย คิดว่าแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม คนที่เรารักจากไปหมด ไม่เห็นต้องมีเราแล้วก็ได้” โบกล่าวเสียงเศร้า

            ความเครียดจากการสูญเสียคนในครอบครัวในเวลาใกล้กันถึงสองคน ยังส่งผลให้เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในกระดูกอีก…

            “มะเร็งที่หน้าอกมันกำลังจะหายแล้ว เพราะรักษาไปตามคอร์สจนหมด แต่เพราะความเครียด หมอจึงพบมะเร็งที่กระดูก ตอนพบเราคิดจะบอกหมอว่าไม่ต้องรักษาหรอก แต่หมอบอกว่ามันเป็นแค่ระยะเบื้องต้น ไม่ต้องผ่าตัดและให้ยาไปตามอาการก็หายได้”

            กระนั้นโบก็ไม่อยากมีชีวิตต่ออยู่ดี

            “เราพบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าอีก ชีวิตไม่เหลือความหวังอะไร จำได้ว่าหลังงานศพแม่ ก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ มีอยู่คืนหนึ่ง อุ้มเส้นใหญ่ (สุนัขพันธุ์เฟรนซ์บูลด็อกผสมชิวาวา ที่เธอเลี้ยงเป็นเพื่อนในช่วงที่เป็นมะเร็งครั้งแรก – ผู้เขียน) ขึ้นไปบนดาดฟ้าของตึก นั่งอยู่บนนั้นและคิดว่าจะกระโดดลงมาพร้อมกับหมา เราทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ชีวิตพอแค่นี้…

            เรานั่งนิ่งบนนั้นตั้งแต่ดึกจนถึงเช้า มีห้วงที่คิดว่าจะกระโดดลงมา แต่ก็ยังนั่งอยู่ต่อไป จนพระอาทิตย์ขึ้น จังหวะที่พระอาทิตย์ขึ้น เหมือนมีอะไรบางอย่างมาดลใจบอกว่ายังตายไม่ได้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ และถ้าตายไป ทุกคนต้องเสียใจแน่เลย ทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายเรา ทุกคนเสียสละให้เราอยู่ เรายังไม่ได้ตอบแทนอะไรพวกเขาเลย เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ สะสมบุญ และทำบุญให้พวกเขา…

เช้าวันนั้นเลยคิดได้ว่าเราต้องรักษาให้หายทั้งมะเร็งและโรคซึมเศร้า เราจะมีชีวิตอยู่” โบ กล่าว    

 อาหารคือยา และการสู้กับมะเร็งครั้งที่สาม

            ทุกวันนี้โบเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ในย่านเสนานิคม ชื่อว่า ‘เตี๋ยวเลียง เสาวณิช’ ต่อยอดสูตรการปรุงของแม่ของเธอ สู่เมนูก๋วยเตี๋ยวที่คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีที่เหมาะให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับประทานได้อย่างถูกปากและปลอดภัย ด้วยความเชื่อที่ว่าถึงเป็นผู้ป่วยก็ควรได้รับประทานอะไรอร่อยๆ เช่นกัน

            “อาหารมันเป็นยา คุณค่าทางโภชนาการก็เรื่องหนึ่ง แต่รสชาติที่อร่อยมันก็ทำให้เรามีความสุข เป็นยาทางใจ ตอนเราป่วยเรารู้สึกไม่อยากกินอะไรเลย มันเบื่ออาหาร ถึงบางทีจะรู้สึกอยากกิน ก็มาเจอว่าหลายเมนูมันไม่อร่อย นอกจากเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็มาคิดต่อว่าเราแจกสูตรอาหารให้ผู้ป่วยทำเองอยู่กับบ้านได้นี่ ให้การทำอาหารเป็นกิจกรรมยามว่าง แถมยังได้ออกกำลังกายที่ไม่หนัก เป็นยาใจอีกแบบให้ผู้ป่วยด้วย” โบ พูดถึงแรงบันดาลใจอีกอย่างนั่นคือคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ที่เธอเขียนประจำในเพจ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

            อย่างไรก็ตาม สี่ปีให้หลังจากการรักษามะเร็งครั้งที่สอง เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โบก็รู้สึกถึงอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะต้องยืนทำงานทั้งวัน กระทั่งอาการปวดลุกลามและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องไปเอ็กซ์เรย์ที่โรงพยาบาล

            วันที่ 6 มีนาคม 2563 – คุณหมอก็ได้ยืนยันว่ามะเร็งกลับมาที่กระดูกสันหลังตั้งแต่ต้นคอยาวไปจนถึงช่วงเอว ซึ่งอยู่ในระยะที่ 3 อันเกิดจากการแผ่กระจายมาจากเต้านมในครั้งแรก…   

            จากคนที่มีฮึดและใกล้จะเอาชนะโรคซึมเศร้าได้สำเร็จ มะเร็งก็กลับมาหลอกหลอนเธออีกครั้ง ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจไม่น้อย อย่างไรก็ดี ครั้งนี้โบตัดสินใจปฏิเสธการรักษาแบบเคมีบำบัดและฉายแสงเช่นที่แล้วมา โดยอาศัยแพทย์ทางเลือกหรือธรรมชาติบำบัดแทน

            “ตอนแรกคุณหมอก็ไม่เห็นด้วยกับเรา โดยบอกว่าถ้าไม่ทำเคมีบำบัด เราอาจเหลือเวลาในชีวิตไม่เกิน 18 เดือน แต่เราก็บอกว่าเราตัดสินใจจะรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ซึ่งท้ายที่สุดคุณหมอก็ยอมรับการตัดสินใจ” โบ กล่าว

            อาหารการกินคืออาวุธแรกที่เธอใช้ต่อสู้กับโรค เธอบอกเคล็ดลับว่าในทุกมื้อ เธอจะรับประทานผักใบเขียวปั่น 1.5 กิโลกรัม รับประทานเต้าหู้ในปริมาณมาก พร้อมกับอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อาวุธอย่างที่สองคือการฝึกจิตด้วยการนั่งสมาธิและปฏิบัติกรรมฐานในทุกวัน โบบอกว่าเธอตั้งใจใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุขที่สุด ความสุขที่เกิดขึ้นจากภายในของตัวเอง และความสุขที่มอบให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเมนูอาหารแจกในฐานะแม่บ้านคีโม หรือในปัจจุบันที่หลายครอบครัวต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจจาก Covid-19 เธอก็ร่วมลงทุนทรัพย์และลงแรงทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ที่เดือดร้อน

            “ถ้าชีวิตเราเหลืออีก 18 เดือนจริงๆ ก็อยากทำให้ดีและมีความสุขที่สุด สร้างคุณค่าในตัวเอง และมอบสิ่งที่ดีแก่ผู้อื่นในทุกวัน” โบกล่าว อย่างไรก็ดีเธอก็ยืนยันว่าการตัดสินใจเช่นนี้ หาใช่การยอมแพ้…

“ยังไงก็ตามแต่ การเตรียมตัวของเราในครั้งนี้ ไม่แปลว่า เราท้อแท้หรือไม่สู้กับโรคนะคะ เรายังคงสู้กับโรคทุกลมหายใจ เราเคยชนะมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งนี้เราก็ต้องชนะให้ได้อีกครั้งในแบบฉบับของเรา สู้ด้วยหัวใจ สู้ด้วยพลังบวกจากเพื่อนๆ รอบข้าง สู้สู้!” หญิงสาวที่ได้แรงบันดาลใจจากพลังในการสู้ชีวิตจากแม่และจากเพื่อนรอบข้างกล่าว พร้อมกำชับให้เราเติมรอยยิ้มของเธอลงท้ายประโยคมอบให้แก่ผู้อ่าน

เช่นเดียวกับทีมงาน Art for Cancer by Ireal ที่เป็นหนึ่งในผู้ให้กำลังใจโบ และเชื่อมั่นว่าเธอจะผ่านโรคภัยครั้งนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง เฉกเช่นครั้งแล้วๆ มา

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: เสาวณิช ผิวขาว

“เราไม่ได้เป็นคนป่วย เราแค่เป็นมะเร็ง” อัญชลี จตุรานน ผู้มุ่งมั่นรักษามะเร็งเพื่อจะได้วิ่งกับพี่ตูน

พี่ตูนผู้ทำให้เธออยากวิ่ง แต่ไม่ได้วิ่ง

อัญชลี จตุรานน (อัน) เรียนจบคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดที่เยอรมนี เติบโต เล่าเรียน และใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ หลังจากผ่านงานมาหลายอาชีพ เธอก็พบงานที่ใช่จากการเป็นนักออกแบบข้อมูลให้บริษัทในสหรัฐอเมริกา แปลงข้อมูลที่ลูกค้าให้มาเป็นพรีเซนเทชั่นที่สวยสะดุดตาและเข้าใจง่าย เธอบอกว่าเป็นงานที่ชอบ แต่ก็ไม่ใช่งานที่ง่าย เพราะก่อนหน้าที่เธอจะได้สัมปทานกับบริษัทประจำอย่างทุกวันนี้ ฟรีแลนซ์อย่างเธอจำต้องหามรุ่งหามค่ำเพื่อประมูลงานแข่งกับนักออกแบบรายอื่นๆ อยู่เสมอ ขณะเดียวกันอาจเพราะเป็นงานที่ทำได้จากที่บ้าน เส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนจึงพร่าเลือน เธอบอกในบางวันเธอเผลอรวดทำงาน 14 ชั่วโมงต่อวัน หรือในบางสัปดาห์ เธอทำงานติดกันทั้ง 7 วันเลยก็มี

อัญชลีไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว แต่เธอก็รู้ตัวดีว่าเพราะเอาแต่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ และไม่เคยออกกำลังกาย จึงไม่ใช่คนแข็งแรงนัก กระทั่งเมื่อสองปีที่แล้ว โครงการก้าวคนละก้าวของพี่ตูน-บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำวงบอดี้สแลม) จุดประกายให้เธออยากเข้าร่วมโครงการ เธอซื้อรองเท้าวิ่ง และเริ่มฝึกซ้อมเพื่อจะได้ออกวิ่งพร้อมกับพี่ตูน กระนั้นทันทีที่เริ่มซ้อมวิ่ง ก็พบว่าร่างกายกลับเหนื่อยล้ากว่าปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และนั่นทำให้ผู้หญิงที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องสุขภาพตัดสินใจไปตรวจสุขภาพอย่างจริงจัง

และนั่นทำให้เธอพบกับเนื้อร้ายในทรวงอกขึ้นมาจริงจริง

การวิ่งอย่างเด็ดเดี่ยว

เวลานั้นคือเดือนพฤศจิกายน 2560 อัญชลีอายุ 37 ปี แตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ที่เมื่อพบมะเร็งในวัยที่ไม่ควรจะพบ แทนที่ความรู้สึกหดหู่หรือตีโพยตีพายต่อโชคชะตา อัญชลีกลับยอมรับอย่างเรียบง่าย พร้อมเตรียมกายและใจเพื่อจะที่ฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต

“จำได้ดีว่าวันนั้นคือวันที่ 10 พฤศจิกายน หลังจากอัลตราซาวด์แล้วพบก้อนเนื้อขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ปกติการจะยืนยันว่าเป็นมะเร็งเนี่ยจะต้องผ่าเพื่อเอามาวินิจฉัยก่อน แต่เราเห็นสีหน้าคุณหมอ ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเราเป็นมะเร็ง เรานัดผ่าตัดเดือนธันวาคม ก็พบว่าเป็นมะเร็งขั้นที่ 1 ซึ่งโชคดีที่ยังไม่ลามไปยังต่อมน้ำเหลือง จากนั้นคุณหมอก็วางแผนรักษา ด้วยการให้ยาคีโม 4 เข็มและฉายแสงอีก 31 ครั้ง สรุปว่าปลายปีนั้น เราซื้อรองเท้าวิ่งมาไม่ได้วิ่งเลย ใส่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแทน”

อัญชลีเล่าเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อนให้ฟังด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม ซึ่งหากพิจารณากันตอนนี้ เราจะเห็นหญิงสาวร่างสูงโปร่ง ท่าทีกระฉับกระเฉง แข็งแรง และอารมณ์ดีอยู่เสมอ ใครจะเชื่อว่าปีที่แล้วตลอดทั้งปี เธอทุ่มร่างกายทั้งหมดต่อสู่กับมะเร็ง แถมสู้กับมันเพียงลำพังเสียด้วย… อ่านไม่ผิดหรอก ตลอดเวลาการรักษา เธอไม่บอกคนรอบข้างเลยว่าเป็นมะเร็ง

“พ่อแม่เสียตั้งแต่เราเป็นเด็ก เราโตมากับครอบครัวพ่อ มีคุณอาเลี้ยงเรามา ที่ตัดสินใจไม่บอกใครเพราะเราคิดว่าจะสู้เองคนเดียวดีกว่า ไม่บอกทั้งอาและเพื่อนสนิท ไม่อยากให้ใครเป็นห่วง กลัวเขาจะจิตตก ซึ่งถ้าเขาจิตตก ก็อาจทำให้เราจิตตก หรือเราต้องไปปลอบเขา เราก็จะเหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็น

มีบอกอยู่รายเดียวคือบริษัทที่เราทำงานด้วยที่อเมริกา เพราะเราจะต้องจัดตารางการทำงานใหม่เพื่อเอาเวลาไปรักษาตัว ทางนั้นเขาก็กังวลใจ แต่เราก็ยืนยันว่าฉันทำงานต่อได้ ไม่ต้องห่วง แล้วก็ไปบอกคุณหมอว่าให้บอกขั้นตอนการรักษาและอาการที่เราต้องประสบมาให้หมดทีเดียว ไม่ต้องทยอยบอกเป็นขั้นตอน เพราะเราจะออกแบบการใช้ชีวิตของเราหลังจากนี้”

ตั้งสติก่อนสตาร์ท

ฟังดูเหมือนง่าย กระนั้นอัญชลีก็ยืนยันว่าตลอดหนึ่งปีของการรักษานั้นแสนยากเย็น เธอทรมานกับผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ต่างจากคนอื่น และมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำ หากเธอก็ยืนยันว่าในห้วงเวลาที่ผ่าน เธอไม่เคยร้องไห้ หรือนึกท้อต่อการมีชีวิต อัญชลีมองว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้เธอผ่านความเจ็บปวดมาได้คือการตั้งสติ

“ถามว่าตกใจไหมตอนทราบผลก็ตกใจ และเสียใจแหละ แต่จะทำไงได้ มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ก็ยอมรับสิ่งที่เกิด และวางแผนรักษาตัวให้ดีที่สุด”เธอกล่าว

อัญชลีมองว่าอาจเพราะก่อนหน้านี้เธอฝึกปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ เลยตระหนักในความสำคัญของการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์และพยายามปรับใช้ในชีวิตประจำวันเสมอ เธอว่าหากใครสักคนยอมรับความจริงได้ แม้ความจริงจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ใครคนนั้นจะไม่เหนื่อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น…

เธอยังเล่าติดตลกอีกว่า ระหว่างที่ป่วยและต้องทำงานไปด้วย กลับเป็นช่วงที่ผลงานออกมาดีเป็นพิเศษ

“เรารู้ทันร่างกายด้วยน่ะ อย่างวันนี้หัวตื้อมาก ทำงานไม่ได้ งั้นพักก่อน แล้วตื่นมาเช็คงาน หรือดีไซน์ซ้ำอีกรอบ เรารู้ตัวว่าเราอ่อนแอ ซึ่งมันส่งผลต่อคุณภาพงาน เราก็เลยไม่ปล่อยผ่านง่ายๆ กลายเป็นว่าลูกค้าที่เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเราเป็นมะเร็ง ก็ชื่นชมผลงานผ่านบริษัทที่เราทำงานให้มา แต่ช่วงที่ร่างกายเราอ่อนล้าหนักๆ แค่ยกแขนยังทำไม่ได้ หรือตาแสบจนแทบลืมไม่ได้นี่ เราก็แจ้งเขาไปตรงๆ แล้วก็ขอลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างไปสองอาทิตย์เลยนะ ไม่ฝืน”

อัญชลีใช้เวลา 6 เดือนเต็มในการรักษาตัว และอีกราว 4 เดือนกับการพักฟื้นร่างกาย เธอจำได้ดีว่าวันที่ร่างกายเธอกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งคือวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ครบรอบหนึ่งปีพอดีนับจากวันที่เธอค้นพบก้อนเนื้อในทรวงอก เธอฉลองช่วงเวลาดังกล่าวด้วยการเดินทางไปจังหวัดนครปฐม และร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนการกุศลเพื่อนำเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลศิริราช ร่วมรายการเดียวกับพี่ตูน-บอดี้สแลม และนั่นเป็นการออกวิ่งครบ 10 กิโลเมตรครั้งแรกในชีวิต

หากมีห้วงเวลาไหนที่คนหนึ่งคนตราตรึงและจะจดจำมันไปตลอดชีวิต อัญชลีบอกว่าการวิ่งครั้งนี้ของเธอคือหนึ่งในนั้น 

กลับมาวิ่งเพราะพี่ตูน

            ในขณะที่ความปรารถนาจะร่วมวิ่งเพื่อระดมทุนให้โรงพยาบาลในโครงการก้าวคนละก้าว ทำให้เธอค้นพบเนื้อร้ายในร่างกาย ความปรารถนาจะได้กลับมาวิ่งอีกครั้ง ก็เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เธอเอาชนะโรคร้าย

            เช่นเดียวกับความศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล อัญชลีมองว่าความมุ่งมั่นในการออกวิ่งทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือคนอื่นของพี่ตูน ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่เธอใช้ยึดเหนี่ยวให้ผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายมาได้

            “หมอเมย์ (พญ.สมิตตา สังขะโพธิ์ – คุณหมอที่ออกวิ่งพร้อมกับพี่ตูนในโครงการก้าวคนละก้าว) คือคนแรกที่เราบอกเขาไปว่าเราเป็นมะเร็ง บอกแบบไม่ได้ตั้งใจหรอก บังเอิญเจอเขาที่สนามบิน แล้วเราก็บอกเขาว่าเรามีแรงบันดาลใจในการวิ่งมาจากพี่ตูน แต่เจอมะเร็งเสียก่อน คือเล่าแบบธรรมดามาก เพราะตอนนั้นเราหายแล้ว และพอมาย้อนคิดอีกที ก็นึกขึ้นได้ว่าเราไม่เคยบอกใครเรื่องเราเป็นมะเร็งมาก่อนเลยนี่” อัญชลีกล่าว

            หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่อัญชลีได้คุยกับหมอเมย์ หมอเมย์และคุณป๊อก (อิทธิพล สมุทรทอง นักวิ่งผู้วิ่งเคียงข้างพี่ตูนตลอด 2,215 กิโลเมตรจากเบตง-แม่สาย) ได้ช่วยประสานทำให้เธอก็ได้พบกับพี่ตูนตัวจริงที่เชียงใหม่ นั่นเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน 2561 การพบกับไอดอลครั้งนั้น จุดประกายให้อัญชลีเริ่มวิ่งอย่างจริงจัง และแม้เธอไม่ทันได้วิ่งในโครงการก้าวคนละก้าวพร้อมกับพี่ตูน แต่ดังที่กล่าว การวิ่งครบ 10 กิโลเมตรในวันครบรอบขวบปีของการค้นพบมะเร็งในวันที่ 10 พฤศจิกายน หาใช่เพียงการวิ่งระยะไกลสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ยังเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองครั้งแรกในชีวิต

            “ตอนหายจากมะเร็งก็ดีใจ แต่เราพบว่าเราดีใจมากกว่าตอนสามารถวิ่งได้ครบ 10 กิโลเมตรนี่แหละ จากคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย ถือว่ามาไกลมากเลยนะ” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิ

            ปัจจุบันอัญชลียังคงทำงานออกแบบพรีเซนเทชั่นให้บริษัทที่อเมริกาเช่นเดิม แตกต่างก็ตรงเธอเป็นคนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนในบางวาระ (เธอวางแผนจะเข้าร่วมวิ่งมาราธอนในเร็ววันนี้) เล่นโยคะ สลับกับการเข้าฟิตเนส เลือกสรรในอาหารการกินมากขึ้น และเผื่อเวลามาเขียนเพจเฟซบุ๊ค ‘อันเล่าเรื่อง’ เล่าประสบการณ์การรับมือกับมะเร็งที่ผ่านมา เขียนบทความให้กำลังใจผู้ที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเธอ รวมถึงบทความสร้างแรงบันดาลใจผ่านการวิ่ง      

“อาจเป็นเพราะเรามุ่งมั่นจะกลับมาเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมให้ได้ ทุกอย่างมันเลยผ่านมาอย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่ เราไม่เคยท้อแท้ ไม่คิดด้วยว่าเราเป็นคนป่วย เราแค่เป็นมะเร็ง (ยิ้ม)

 ซึ่งถ้ามองย้อนกลับมา ข้อดีของมันก็ยังมีอยู่บ้างนะ คือมันทำให้เรากลับมารักตัวเองอย่างถูกทาง ทำให้เราอยากเป็นคนแข็งแรง แล้วก็พบว่าชีวิตที่มีสุขภาพดี หรือการได้ออกวิ่งเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ช่างเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขจริงๆ” อัญชลีทิ้งท้าย 

เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: อัญชลี จตุรานน

พีช – ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร มะเร็งเต้านมทำอะไรเธอไม่ได้ และเธอจะ ‘วิ่งให้มะเร็งมันดู’

จะมีสักกี่คนที่เผชิญกับวิกฤตชีวิตอย่างโรคมะเร็งแล้วยังดูมีความสุข แถมมีสุขภาพจิตแจ่มใสเสมือนปัญหาหนักอึ้งนั้นไม่ได้ปั่นทอนพลังใจลงเลย ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร หรือ พีช เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเป็นคนมองโลกแง่บวกช่วยให้เข้มแข็งไม่รู้สึกท้อถอย แล้วยังพร้อมจะส่งต่อกำลังใจพร้อมพลังบวกนั้นไปยังคนที่อาจกำลังเจอปัญหาคล้ายคลึงกัน รวมถึงทุกคนในสังคมด้วย วันนี้ พีช เจ้าของคำกล่าวที่ว่า “วิ่งให้มะเร็งมันดู” นั่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังพร้อมกับเสียงหัวเราะและแววตาสดใส

“แรกๆ ก็ทำงานหนักมาก กินไม่เลือก อยากกินอะไรกิน กินหมูกระทะทุกวัน อาหารที่ไม่คลีน แล้วก็ไม่ออกกำลังกาย เริ่มรู้สึกร่างกายอ่อนแอ แค่วิ่งไปไม่กี่เมตรก็เหนื่อย คิดแค่ว่าเราทำงานบ้านก็เหมือนออกกำลังกายแล้ว พอมีครอบครัวก็ต้องส่งลูกไปเรียนตอนเช้า มีเวลาดูแลตัวเองน้อยมาก กลับบ้านก็ดึกทำงานหนัก สัปดาห์หนึ่งหยุดวันเดียว”

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวและอาจเป็นที่มาของโรคร้าย ซึ่งหลายคนก็คงทำตัวแบบนั้นคือตามใจตัวเองจนชิน ยิ่งเป็นคนที่ไม่เคยป่วยไข้หนักก็จะคิดว่าตัวเองแข็งแรงอยู่เสมอ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด

“ฝีนี่แหละ เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังอ่อนแอ เริ่มมีปัญหาภูมิคุ้มกันไม่ดี พีชเป็นฝีแบบเป็นๆ หาย ๆ กรีดแล้วกรีดอีก กว่าจะหายได้ใช้เวลาหกเดือน จากนั้นก็เริ่มมีอาการอื่นที่ไม่เคยเป็นตามมาเช่น ท้องเสีย แต่ถึงอย่างนั้นพีชก็ยังเป็นห่วงงาน งานห้างฯ เป็นงานหนัก เวลาหยุดของคนอื่นคือเวลาทำงานของเรา”

เธอคิดว่างานที่ทำเป็นปัญหา ทำให้เครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุของความอ่อนแอ และเมื่อมีโอกาสก็ต้องหาทางเลือกใหม่ให้ชีวิต พีชย้ายงานเพื่อจะมีเวลาดูแลตัวเอง ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น และตรงนั้นเธอก็พบกับชีวิตที่มีความสุข พร้อมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งกิจกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจนั่นคือ ‘การวิ่ง’ ในขณะที่ทุกอย่างกำลังสดใสไปในทิศทางที่ดี ข่าวร้ายก็มาถึง

“ประมาณพฤศจิกาปี 2561 เริ่มรู้สึกว่าทำไมถึงเจ็บหน้าอก (เต้านม) แปลกๆ  ปกติการเจ็บหน้าอกของผู้หญิงจะมาก่อนช่วงมีประจำเดือน แต่อันนี้ไม่ใช่เลย มันจี้ดๆ ข้างในเหมือนมีมดกัด ตอนแรกก็คิดว่าไม่น่าเป็นอะไรแต่พอทิ้งไปสักพักก็คลำเจอก้อนเนื้อบ่อยขึ้น จึงตัดสินใจไปหาหมอ หลังจากไปตรวจอย่างละเอียดแล้วก็พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม”

ทันทีที่ได้ยินจากปากคุณหมอว่าเป็นเนื้อร้าย พีชรู้สึกตัวชาและถามหมอว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไรต่อ แต่ด้วยความเป็นคนมีกำลังใจดี เธอคิดว่าไม่มีปัญหาใดที่เอาชนะไม่ได้ ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ แล้วก็ต้องยอมรับเดินไปพร้อมกับมัน ซึ่งหมอแนะนำวิธีที่อาจจะทำให้สูญเสียความมั่นใจในความเป็นเพศหญิง แต่เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เชื้อมะเร็งลุกลามไป รักษาชีวิตไว้เป็นสำคัญพีชจึงเลือกวิธีนั้นอย่างไม่คิดมาก แต่ก่อนวันผ่าตัดเธอขอเลื่อนคุณหมอเพื่อจะไปลงแข่งวิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร รายการแรกในชีวิต

“ตอนนั้นรู้แล้วว่าเราเป็นมะเร็ง พีชซ้อมสูงสุดได้ 19 กม. แบบซิตี้รันวิ่งจากบ้านไปถึงสนามหลวงถึงพระบรมรูปทรงม้า แล้วก็วนกลับบ้าน แล้วในขณะที่วิ่งก็บอกตัวเองว่าเราต้องหาย รู้แค่นั้น”

เมื่อฟังแล้วก็อาจสงสัยว่าจริงๆ แล้วพีชไม่เคยเสียใจเลยหรือ

“ต่อให้รู้สึกเข้มแข็งแค่ไหนก็อดไม่ได้หรอก โดยเฉพาะคำพูดของคนรอบข้างจะสะเทือนใจเสมอซึ่งตอกย้ำว่าเรากำลังเป็นมะเร็ง เป็นโรคร้าย หรือบางที คำพูดของญาติที่แสดงความสงสาร เวทนา ทำให้อ่อนแอลง แต่ตรงนั้นไม่สำคัญ ยังไงซะจิตใจของเราต้องพร้อมจะลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความจริง”

ความเข้มแข็งไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หากแต่พ่วงความรักในครอบครัวและความฝันที่อยากจะทำไว้ด้วย ระหว่างการพูดคุย พีชโชว์ภาพของเธอที่ผ่านกระบวนการรักษา รอยแผลจากการผ่าตัดที่บันทึกไว้ในเฟสของเธอ และรวมถึงภาพการเข้าร่วมวิ่งการกุศลที่ลงสมัครไว้

“ตอนนี้กระบวนการรักษามาถึงขั้นตอนให้คีโมเพื่อทำลายเชื้อร้ายนั้นแล้วค่ะ แล้วสิ่งที่พีชกังวลอยู่ก็คือการวิ่ง พีชรู้สึกว่าแม้จะกำลังบำบัดก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับความฝัน คนเราต้องมีความหวังเพื่อจะเดินต่อไป มันอาจมีอุปสรรคมารบกวนจิตใจบ้าง แต่เราก็ต้องทำสิ่งที่หวังให้สำเร็จ ตอนแรกเป้าหมายของพีชคือวิ่ง 42 กม. มีความรู้สึกว่าลงไว้แล้วเราต้องไปต่อ ยิ่งเรารู้ว่าเราเป็นมะเร็งเราก็ต้องยิ่งสู้ ตอนนี้พีชเลยเปลี่ยนเป้าเป็นจะวิ่งให้มะเร็งมันดู”

เธอเขียนข้อความในเฟสส่วนตัวบอกเล่าชีวิตให้ผู้คนรับรู้ตอนหนึ่งว่า…ต้องขอบคุณ ‘คุณมะเร็ง’ ที่ทำให้รู้เป้าหมายของการมีชีวิต การมีลมหายใจ และเป็นแรงผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นให้มุ่งมันที่จะออกมาทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเองและเพื่อคนที่เรารัก รวมถึงเพื่อสังคม

“ที่จริงไม่ว่าคุณมีความชอบตรงไหน ดึงมันออกมาใช้ คนชอบศิลปะก็ใช้ศิลปะ คนชอบดนตรีก็ใช้ดนตรี เอามาสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเพื่อก้าวข้ามมะเร็งไปได้ ใจเราก็จะเข้มแข็ง คนที่ผ่านการผ่าตัดก็จะมีแผลไว้เป็นความทรงจำ แต่ชีวิตยังดำเนินต่อไป ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แล้วก็ยังมีลมหายใจอยู่ อย่าพึ่งยอมแพ้ เราทำเพื่อครอบครัวและคนที่เรารัก เท่านั้นเอง”   

คำพูดนั้นเหมือนกระตุ้นเตือนใครหลายคนที่กำลังมองข้ามความฝัน ใครหลายคนหลงลืมไปว่าชีวิตล้วนมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึง ไม่มีเวลาสำหรับการท้อแท้ไม่ว่าปัญหาตรงหน้าจะสาหัสขนาดไหนก็ตาม

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร