พชร โตอ่วม มะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นทำให้ค้นพบเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่

ปีนี้เป็นปีที่ เปรียว – พชร โตอ่วม อายุครบ 33 ปี ตัวเลขวัยที่คนส่วนใหญ่มองว่า ไม่มากเกินไปหากใครสักคนจะได้ค้นพบตัวตนหรือรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่ก็น้อยเกินกว่าจะเชื่อว่า หญิงสาวแววตาแจ่มใส อ่อนโยน และรักสุขภาพเช่นเธอ จะเคยผ่านประสบการณ์เป็นมะเร็งเต้านมและเด็ดเดี่ยวมากพอจะผ่าตัดมันออกทั้งสองข้าง แม้โรคร้ายเพิ่งเริ่มต้นระยะ 0

เพราะหลังจากเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการโฆษณา เปรียวก็ฝังตัวอยู่ในแวดวงโฆษณาและประชาสัมพันธ์ร่วม 7 ปี ก่อนแต่งงานแล้วย้ายไปอยู่กับสามีที่ฮ่องกง ประกอบอาชีพล่ามอิสระในโรงพยาบาลและศาล ควบคู่กับการเป็นคุณครูสอนโยคะมาตั้งแต่ปี 2558

ขณะที่ชีวิตกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น จู่ๆ วันหนึ่ง เธอก็เผอิญคลำเจอก้อนประหลาดในทรวงอก จึงลองไปตรวจสอบหาสาเหตุ แพทย์ผู้วินิจฉัยปลอบโยนเธอให้ผ่อนคลายกังวล แม้ยังไม่อาจด่วนสรุป แต่กำชับว่าอาการลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

เธอเองก็คิดเช่นเดียวกัน ด้วยวัยเพียง 29 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติและสมาชิกครอบครัวไม่เคยมีประวัติเป็นมะเร็ง กระนั้นหลังเข้ารับตรวจอัลตราซาวน์และติดตามผล นานกว่า 3 ปี ท้ายสุดเธอจึงพบว่าตัวเองเจอแจ็คพอต

“เราไปตรวจเช็คเต้านมทุกๆ 6 เดือนตั้งแต่อยู่ฮ่องกงจนย้ายกลับมาเชียงใหม่ เนื่องจากมีก้อนที่กระจายในเต้าข้างละกว่า 10 เม็ด กระทั่งเมื่อปีที่แล้วคุณหมอแนะนำให้ลองแมมโมแกรมดู เพราะพบว่ามีแคลเซียมเกาะอยู่ด้วย แล้วผลปรากฏว่า หนึ่งในหลายสิบก้อนนั้นได้กลายเป็นมะเร็ง

“จำได้ว่าตอนไปตรวจครั้งนั้นก็ถือเป็นการตรวจเช็คประจำแบบเดิมที่คุ้นเคย เราไปคนเดียวและไม่ได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้าเลย พอได้ฟังคำตอบก็ ‘อ้าว เหรอคะ โอเค…แล้วจะยังไงต่อ’ ร่างกายรู้สึกชาๆ เคว้งคว้างคล้ายกำลังฝัน แต่ตอนนั้นยังไม่รู้แน่ชัดว่าอยู่ในระยะไหน คุณหมอจึงนัดให้มาเจาะตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) อีกรอบ พอออกจากโรงพยาบาลก็โทรบอกแฟน ตอนนั้นแหละที่ทุกอย่างพรั่งพรูออกมา”

เปรียวเล่าต่อว่า ด้วยความเป็นคนเป๊ะ มีแบบแผนการใช้ชีวิตที่ชัดเจนและชอบอะไรสามารถควบคุมได้ ดังนั้นช่วงเวลาก่อนเจาะตรวจชิ้นเนื้อจึงถาโถมไปด้วยความเครียด ความกลัว และหวาดวิตกจนอาจเกินแบกรับไหว หากไม่ได้คนรักที่สละเวลาและตำแหน่งการงานจากฮ่องกงกลับมาอยู่เคียงข้างดูแลประคับประคองความรู้สึกและเติมกำลังใจให้กัน

สองสัปดาห์แห่งการรอคอยผลตรวจชิ้นเนื้อเป็นช่วงเวลาที่แสนทรมานมาก เธอบอกว่ามันยากทำใจยิ่งกว่าตอนตัดสินใจจะผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง และสุดท้ายผลจากการตรวจชื้นเนื้อเต้านมทั้งหมดที่ตัดทิ้ง ก็ทำให้ทราบผลอาการว่าเป็นเพียงระยะ 0 ระยะแรกเริ่มของเซลล์มะเร็งที่ยังไม่ลุกลามออกจากท่อน้ำนม และมีโอกาสรักษาให้หายขาด

คือเปรียวเกิดมาเป็นสาวคัพ A อยู่แล้วค่ะ สำหรับเราการมีหรือไม่มีหน้าอกจึงไม่ได้รู้สึกแตกต่าง อีกอย่างเราคิดว่าความเป็นผู้หญิงนั้นสามารถแสดงออกได้หลายทาง ไม่ใช่แค่นมที่เป็นปัจจัย ดังนั้นพอคุณหมออธิบายว่า แนะนำให้ตัดเต้านมข้างซ้ายออกเพราะมีก้อนเนื้อหลายก้อน ซึ่งตอนนั้นไม่แน่ใจนักว่าก้อนอื่นๆ นอกจากก้อนที่เจอว่ามีแคลเซียมเกาะจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งด้วยไหม อีกทั้งเพราะมีจำนวนก้อนมาก หากตัดเป็นก้อนๆ จะทำให้เต้านมผิดรูปทรง ส่วนข้างขวาถ้าเก็บไว้ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีก เราก็โอเคที่จะไม่เก็บไว้ทั้งสองข้าง เพราะแค่รู้สึกว่าหากมีมันเราคงจะกังวลกับการใช้ชีวิตมากกว่าไม่มี”

หลังผ่าตัด ทุกวันนี้เปรียวบอกว่าการตัดสินใจครั้งนั้น รวมถึงไม่เลือกศัลยกรรมเสริมหน้าอก ไม่ได้ทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจหรือรู้สึกเป็นผู้หญิงน้อยลงเลยแม้แต่น้อย กลับกันครอบครัวกลับดีใจที่เห็นเธอเข้มแข็งและสบายใจ เช่นเดียวกับคนรักที่คอยสนับสนุนทุกๆ อย่าง เติมเต็มช่องว่างระหว่างความหวั่นไหว พร้อมยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบใดๆ กับชีวิตคู่

“เปรียวว่ากำลังใจจากคนรอบข้างก็มีส่วนสำคัญนะคะ แต่ทั้งนี้คนป่วยจะรอรับพลังใจจากคนอื่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องลุกขึ้นมาสร้างพลังจากข้างในตัวเราเองด้วย”

นี่คือบทเรียนหนึ่งที่เปรียวได้เรียนรู้จากการเป็นมะเร็ง และท่ามกลางการเผชิญหน้ากับโรคร้าย เธอก็พบว่ามันได้เปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง จากคนเดิมที่เคยทะเยอทะยาน เฝ้าแข่งขันกับทุกคนบนโลกเพื่ออยากเอาชนะและมีตัวตน ปัจจุบันเธอหยุดวิ่งแล้วเลือกทำแค่ในสิ่งที่ตอบใจตัวเอง

“พอเป็นมะเร็งมันทำให้เรากลับมาทบทวนว่า สุดท้ายแล้วเราควบคุมอะไรในโลกนี้ไม่ได้เลย แม้กระทั่งตอนเจ็บป่วย ร่างกายของเราเองแท้ๆ แต่ยังต้องพึ่งพาคนอื่นดูแล ฉะนั้นเราจึงต้องหัดยอมคนให้เป็นและยอมรับว่าบางทีชีวิตก็มีเส้นทางที่เราไม่สามารถขีดเขียนเองได้ ที่สำคัญมันช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นความหมายของชีวิต แม้ไม่รู้วันข้างหน้าจะกลับมาเป็นปกติมากน้อยแค่ไหน แต่ในวันที่ฟื้นจากการผ่าตัด เราพยายามลุกขึ้นจากเตียงเพราะรู้สึกว่าทุกวินาทีมีค่ามาก แล้วถามตัวเองว่า ‘เธอมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง จะร้องไห้เสียใจอยู่อย่างนั้น หรือ ทบทวนว่าเป้าหมายในชีวิตของเธอคืออะไร’ แน่นอน คำตอบคือ เราต้องไม่ตายตอนนี้ เพราะมีอะไรอีกตั้งเยอะที่ยังไม่ได้ทำ”

อาจเป็นแรงใจเหลือล้นบวกกับประสบการณ์ฝึกฝนโยคะทำให้สองสัปดาห์ต่อมาเปรียวก็สามารถกลับมาจับพวงมาลัยขับรถ ถัดจากนั้นอีกสองสัปดาห์ เธอก็ตรงไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะมนุษยศาสตร์ เป้าหมายที่จะช่วยเติมเต็มคุณค่าในชีวิตเธอ

“ย้อนไปสมัยสอบเอ็นทรานซ์ ตอนนั้นสาขาจิตวิทยาเป็นอีกสาขาวิชาหนึ่งที่เราสนใจมาก แต่สุดท้ายเลือกเรียนนิเทศศาสตร์แทน แล้วพอช่วงที่เป็นล่ามอยู่ฮ่องกง เราได้เห็นผู้คนที่มีชีวิตยากลำบาก พวกเขาต้องแบกรับความทุกข์หนักทั้งกายใจ และไม่มีใครอยู่เคียงข้าง เราเลยรู้สึกว่ามันคงจะดีถ้าเราได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ เลยนึกถึงความใฝ่ฝันในวันนั้นที่ยังคงเก็บไว้ในใจเสมอมา”

ปัจจุบันเปรียวย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ของการเรียนระดับปริญญาโท นอกจากวิทยานิพนธ์เล่มหนาในหัวข้อเกี่ยวกับการสร้างสุขภาวะทางจิต หรือความผาสุกทางใจผ่านการฝึกโยคะที่เธอกำลังเคี่ยวกรำควบคู่กับการรับสอนโยคะคนท้องและโยคะบำบัด เธอยังทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดของ “บ้านหลังที่สอง” ศูนย์ให้บริการการปรึกษาทางจิตวิทยาสำหรับนักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

“เปรียวคิดว่าการค้นหาเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่จะเป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราสู้ต่อได้ เพราะมันก็จะมีวันที่ดีที่เราพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ กับวันที่อาจมีอะไรบางอย่างมากระทบแล้วทำให้เราเศร้าหมอง ห่อเหี่ยว เป้าหมายจะเป็นพลังคอยปลอบเราในวันที่ล้มและปลุกให้ลุกขึ้นลุยต่อเพราะเป้าหมายรอเราอยู่ ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ สำหรับเปรียวการต่อสู้นี้คุ้มค่าและมีความหมายกับทั้งตัวเราและคนรอบข้าง”

เปรียวทิ้งท้ายพร้อมเปรยว่า อนาคตหลังจากเรียนจบเธออยากนำเอาความรู้ที่ได้รับไปช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่กำลังประสบปัญหา ให้พวกเขาสามารถสร้างความเข้มแข็งภายในจิตใจและกล้าที่จะหยัดยืนก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง

เรื่อง: คุณากร เมืองเดช
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์

ภาพบางส่วน: พชร โตอ่วม

Share To Social Media