แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกการเดินทางจะสวยงามและราบรื่นไปเสียหมด บางการเดินทางก็น่าเบื่อหน่าย บางการเดินทางก็เต็มไปด้วยอุปสรรค แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่นักเดินทางจะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อหยุดอยู่กับที่ ก็คงเหมือนกับทุกอย่างในชีวิตคนเราที่ล้วนมีสองด้านเสมอ ทั้งด้านดีและด้านร้าย แต่ถึงที่สุดแล้วเราทุกคนต่างมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับอะไร จมดิ่ง หรือปล่อยวางและเดินต่อไปข้างหน้า หากมองในแง่ดี หลายครั้งสิ่งเลวร้ายในชีวิตเราก็ให้แง่คิด สร้างบทเรียน กระทั่งทิ้งประสบการณ์ที่มีคุณค่าไว้ให้ชีวิตเราได้เหมือนกัน
แพรว-ภัทรวรรณ สุขวิบูลย์ กราฟิกดีไซเนอร์และวิดีโอ อิดิเตอร์ แห่งเปเปอร์มอร์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2 positive ระยะ 1 วัยเพียง 32 ปี ที่ผ่านการผจญภัยไปในโลกมะเร็งอยู่หลายครั้งหลายครา ครั้งแรกในสถานะหลานสาวที่อาสาพาคุณป้าที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปให้เคมีบำบัด ครั้งที่สองในบทบาทของผู้ดูแลคุณพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย และครั้งที่สามกับการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างเป็นทางการหมาดๆ เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งยังพ่วงท้ายตำแหน่งผู้ (ป่วย) ดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมตามมาติดๆ
“ใครที่รู้เรื่องราวของแพรวมาตั้งแต่ต้น ก็มักถามด้วยคำถามคล้ายๆ กันว่า โรคมะเร็งมันติดต่อกันได้หรือเปล่าเนี่ย!?! เพราะดูเหมือนชีวิตแพรวจะแวดล้อมไปด้วยบรรดาผู้ป่วยมะเร็ง ยิ่งช่วงที่เรากำลังให้เคมีบำบัดและร่างกายกำลังล้ามากๆ คุณแม่ก็มาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมอีกคน นั่นเป็นเหตุผลให้เราต้องมองหาแม่บ้านเข้ามาช่วยดูแล ปรากฏว่าญาติก็แนะนำพี่แม่บ้านคนหนึ่งมาให้ ถามไปถามมาปรากฏว่าพี่แม่บ้านคนนั้นก็เป็นอดีตผู้ป่วยมะเร็งลำไส้อีก (หัวเราะ)”
มะเร็งของพ่อ
“ย้อนหลังไปเมื่อ 6 ปีก่อน คุณพ่อของแพรวตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งลำไส้ระยะ 4 ช่วงนั้นแพรวเพิ่งเริ่มทำงานประจำได้ไม่นาน พอรู้ว่าคุณพ่อเป็นมะเร็ง เราก็ตัดสินใจยื่นจดหมายลาออก เนื่องจากตอนนั้นคุณหมอวินิจฉัยมาแล้วว่า คุณพ่อจะอยู่กับเราได้อีกไม่เกิน 1 เดือน จากนั้นก็มุ่งมั่นตั้งใจทำทุกอย่างเสมือนเป็นพยาบาลท่านหนึ่ง ดูแลตั้งแต่การออกไปตลาดในตอนเช้าเพื่อหาวัตถุดิบมาทำอาหารที่ดีที่สุดให้พ่อ ทำความสะอาดร่างกาย ทำแผล เปลี่ยนถุงหน้าท้อง ฯลฯ โดยหวังลึกๆ ว่า เราจะช่วยให้พ่อเอาชนะโรคนี้ให้ได้ จึงทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ที่สุด กระทั่งท่านจากไปในอีก 6 เดือนถัดมา ซึ่งนับเป็น 6 เดือนที่มีค่าที่สุดในชีวิตของแพรว และทุกครั้งที่เราย้อนมองกลับไป แพรวไม่เคยเสียใจหรือเสียดายอะไรเลย เพราะเราทำทุกอย่างอย่างสุดความสามารถเท่าที่ลูกคนหนึ่งจะทำได้แล้ว มันเป็นการจากไปที่งดงามที่สุดแล้ว และไม่มีห่วงกังวลใดๆ ต่อกันแล้ว
“หลังงานศพของคุณพ่อเสร็จสิ้น วันหนึ่งเราก็เข้าไปเก็บกวาดทำความสะอาดในห้องท่าน และพบว่ามีหนังสือเกี่ยวกับวิธีต้านมะเร็งอยู่จำนวนหนึ่ง นั่นทำให้เรารู้ว่าคุณพ่อน่าจะรู้ตัวมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ด้วยชุดความคิดความเชื่อแบบเก่าๆ ทำให้เขากลัวที่จะไปรักษาตัว จึงปล่อยไว้จนโรคดำเนินมาถึงระยะท้ายๆ ที่ไม่มีโอกาสรักษาแล้ว และเมื่อย้อนคิดกลับไป เราจะพบว่าหลายครั้งคุณพ่อได้ส่งสัญญาณผ่านคีย์เวิร์ดบางอย่าง เช่น บอกให้เราไปเรียนวิชาป้องกันตัว เนื่องจากตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ว่าแพรวจะไปไหนมาไหน คุณพ่อก็จะคอยไปรับไปส่งด้วยความห่วงเสมอ ซึ่งตอนนั้นท่านคงรู้ตัวว่าจะอยู่กับเราได้ไม่นานแล้ว จึงอยากให้มีวิชาป้องกันตัวเอาไว้”
อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจผล
“แพรวไม่แน่ใจว่ามันเป็นความกลัวหรือแค่กังวลกันแน่ แต่หลังจากรู้ว่าคุณพ่อเป็นมะเร็ง ก็ทำให้เรานึกถึงสุขภาพตัวเองขึ้นมาและอยากลองตรวจสุขภาพดูบ้าง จากเมื่อก่อนแทบไม่ได้อยู่ในความคิดเราเลย ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับเพื่อนสนิทคุณแม่แนะนำสถาบันมะเร็งแห่งชาติมาให้ เพราะเขาตรวจสุขภาพที่นี่เป็นประจำ และการตรวจสุขภาพครั้งนั้นก็ทำให้เราพบก้อนที่เต้านมด้านขวาจากการคลำด้วยมือของคุณหมอ ก่อนจะตรวจซ้ำด้วยการอัลตราซาวนด์อีกครั้ง แต่ผลการตรวจยังอยู่ในระดับไม่น่าเป็นห่วง คุณหมอจึงนัดติดตามผล
“ปีแรกผลก็ยังปกติดี พอปีที่ 2 ก็พบว่าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น และผล BIRADS4 คุณหมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่ก็ยังไม่พบเชื้อมะเร็ง จึงนัดติดตามผลเรื่อยมา จนกระทั่งปีที่ 3 ขนาดก้อนก็ยังคงใหญ่ขึ้นไม่หยุด ตอนนั้นคุณหมอก็ยังบอกว่าไม่น่าจะเป็นอะไรร้ายแรง เพราะเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจแล้ว แต่อย่างที่รู้กันดีว่า การเจาะชิ้นเนื้อก็เป็นการสุ่มตรวจ เราจึงเริ่มเป็นกังวล และบางทีเราก็รู้สึกเจ็บจี๊ดที่หน้าอกอยู่เป็นระยะ จึงขอร้องคุณหมอให้ผ่าตัดเอาก้อนนี้ออกไป ซึ่งคุณหมอก็นัดผ่าตัดในอีกหนึ่งเดือนถัดมา แต่เป็นแค่การผ่าตัดเล็กและจะนำก้อนที่ผ่าออกมาส่งตรวจอีกรอบเพื่อความมั่นใจ
“หลังผ่าตัดเราก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ วันหนึ่งก็มีคนเอามะพร้าวมาฝาก เราก็หยิบขึ้นมาเฉาะโดยลืมไปว่าแผลที่ผ่าตัดยังไม่สมานดี นั่นเป็นเหตุให้เลือดไหลออกจากแผลผ่าตัด ทำให้ต้องรีบกลับไปหาคุณหมออีกครั้ง และปรากฏว่าผลตรวจก้อนนั้นส่งมาถึงคุณหมอพอดี จึงทำให้รู้ว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม HER2 แบบไม่ทันตั้งตัว”
ขอเที่ยวก่อนได้ไหม?
“เป็นความรู้สึกช็อกในช็อกก็ว่าได้ ด้วยความที่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็น และก่อนหน้านั้นก็จองตั๋วไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์จิบลิ (Ghibli Museum) ที่ประเทศญี่ปุ่นกับเพื่อนสนิทเป็นที่เรียบร้อย ตั๋วพร้อม ที่พักพร้อม เพื่อนพร้อม ทุกอย่างพร้อมหมด ยกเว้นตัวเรา และความที่อยากไปมาก ถึงขั้นไปขอหมอว่า ‘ขอไปเที่ยวก่อนได้ไหม ค่อยกลับมารักษาได้ไหมคุณหมอ’ แน่นอนว่าคุณหมอไม่อนุญาต (หัวเราะ)
“หลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์เราก็เข้าสู่กระบวนการรักษา โดยคุณหมอให้ตัวเลือกมา 3 ตัวเลือก คือ 1) ผ่าตัดสงวนเต้า 2) ผ่าตัดออกทั้งหมด และ 3) ผ่าตัดทั้งหมดแล้วเสริมเต้า เราก็ตัดสินใจเลือกข้อแรก เพราะคิดว่าน่าจะรักษาคุณภาพชีวิตและความมั่นใจไว้กับเราได้มากที่สุด จากนั้นก็มุ่งมั่นเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ทั้งหมด โดยมี ‘พี่ออย’ (ไอรีล ไตรสารศรี) ผู้ก่อตั้งโครงการอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล (Art for Cancer by Ireal) เป็นแรงบันดาลใจ โดยเราจะคิดเสมอว่า ขนาดพี่ออยเป็นระยะ 4 แล้วยังสู้เลย เราก็ต้องสู้ดิ! จากนั้นเราก็เดินหน้าลุยเลย”
วาเลนไทน์กับชายปริศนา
“เนื่องจากการผ่าตัดครั้งแรกเป็นการผ่าตัดเล็กที่ยังไม่รู้ว่าเป็นมะเร็ง จึงทำให้คุณหมอต้องนัดผ่าตัดในครั้งที่สองและฉีดสีในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อตรวจดูการลุกลามของมะเร็ง ซึ่งบอกตามตรงว่ากลัวมาก เพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องวางยาสลบ พอเข้าห้องผ่าตัด ทางวิสัญญีแพทย์ก็เข้ามาคุยด้วย ‘จะใส่ท่อช่วยหายใจแล้วนะ’ ตอนนั้นเราก็ยิ้มแห้งๆ หัวใจก็เริ่มเต้นแรงขึ้นเรื่อยๆ จนคุณหมอแซวว่า ‘แหม หัวใจเต้นแรงจังเลย’ จากนั้นจอก็ดับไปเลย ไม่รู้สึกตัวอะไรอีกแล้ว
“ก่อนจะพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในทุ่งดอกไม้กับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ความรู้สึกตอนนั้นมีความสุขแบบบอกไม่ถูก และภาพสวนดอกไม้ก็สวยงามตราตรึงจนเราอยากอยู่ตรงนั้นไปตลอดกาลเลย จนกระทั่งได้ยินเสียงพยาบาลมาปลุก ผู้ชายคนนั้นก็รีบปล่อยมือเราทันที และเหมือนจะบอกกับเราว่าให้กลับไป ทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้นมา รอบเตียงก็ห้อมล้อมไปด้วยนางพยาบาลหลายคนมาก จากนั้นก็ตบมือให้เราแล้วพูดขึ้นพร้อมกันว่า ‘โอ้โห ภัทรวรรณเก่งมากเลย ฟื้นตัวเร็วมาก’
“หลังจากตั้งสติได้ สิ่งแรกที่เรามองหาก็คือ ‘สายเดรน’ เพราะก่อนจะผ่าตัดคุณหมอจะบอกล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าตื่นมาแล้วพบว่าตัวเองมีสายเดรนติดอยู่ นั่นหมายถึงมะเร็งได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้วนะ ปรากฏว่าไม่มี ตอนนั้นดีใจมาก เรียกว่าเป็นของขวัญวันวาเลนไทน์ที่ดีที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้
“สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นคำถามค้างคาใจจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ผู้ชายในสวนดอกไม้นั้น…ใช่คุณพ่อของเราหรือเปล่า ไม่มีใครตอบเราได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือแพรวกลายเป็นคนที่เชื่อในเรื่องโลกหลังความตายอย่างสนิทใจ และคิดเสมอว่าเราได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยนับจากนี้ไปเราจะใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ไม่กลับไปวนลูปกับไลฟ์สไตล์เดิมๆ ที่เสี่ยงจะทำให้มะเร็งกลับมา ที่สำคัญยังไม่ลืมที่จะขอบคุณมะพร้าวลูกนั้น ที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเราเป็นมะเร็งก่อนกำหนด (หัวเราะ)”
‘ทัพพี’ สีสันในก๊วนสามแม่ครัว
“หลังพักฟื้นอยู่ประมาณ 1 เดือน ก็เข้าสู่กระบวนการให้เคมีบำบัด โดยแบ่งเป็นสูตรน้ำแดง 4 เข็ม ทุก 3 สัปดาห์ และต่อด้วยสูตรน้ำขาวอีก 12 เข็ม ทุกสัปดาห์ จากนั้นจึงจะเข้าสู่การให้ยามุ่งเป้า 17 เข็ม ทุก 3 สัปดาห์ และฉายแสง 24 แสง ทุกวัน เป็นอันจบการรักษา
“ระหว่างที่รักษามาจนถึงเคมีบำบัดสูตรน้ำขาวประมาณเข็มที่ 6 คุณแม่ก็ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมอีกคน กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรุ่นน้องเรา (หัวเราะ) แต่โชคดีมากที่ไม่ใช่สายพันธุ์ดุอย่าง HER2 และยังอยู่ในระยะ 1 แต่คุณแม่ก็ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมด้านซ้ายยกเต้าเพื่อปิดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ และรับยาเคมีบำบัดต่ออีก 4 เข็ม ก่อนจะกินยาต้านฮอร์โมนต่ออีก 5 ปี
“นับเป็นช่วงชีวิตที่ความทุกข์ถาโถมเข้ามาแบบไม่พัก แต่เราก็พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังเรามี จำได้ว่าพอรู้ว่าแม่เป็นมะเร็ง แทนที่จะนั่งทุกข์อยู่บ้านรอการรักษากันสองแม่ลูก เราก็ออกไอเดียพาแม่ไปล่องแพที่กาญจนบุรีกับเพื่อนๆ คุณแม่รวม 5 คน กระโดดน้ำเล่นกันอย่างไม่แคร์วิกผม หัวเราะดังๆ ให้กับโรคมะเร็ง ก่อนจะกลับเข้าสู่กระบวนการรักษาพร้อมรอยยิ้ม และตั้งแต่นั้นมาแพรวก็กลายเป็นหนึ่งในก๊วน ‘สามแม่ครัว’ แก๊งสาวๆ วัย 67 ปี ที่มีแม่และเพื่อนแม่อีกสองคนเป็นสมาชิก พอมีเราแทรกตัวเข้ามา ก๊วนนี้ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘สามแม่ครัวกับหนึ่งทัพพี’ ชวนกันกิน เที่ยว และทำกิจกรรมสนุกๆ จนถึงทุกวันนี้”
กิน-กาย-ใจ
“ตั้งแต่เริ่มรักษาจนถึงทุกวันนี้ แพรวจะให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง คือ กิน กาย และจิตใจ การกิน ก็จะเน้นอาหารกลุ่มโฮลฟู้ดส์ (Whole foods) และแพลนต์เบส (Plant-based food) เน้นวัตถุดิบสด สะอาด และธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนการทางการปรุงอะไรมาก ขณะที่โปรตีนก็จะเน้นแค่เนื้อขาว เช่น ปลา ไก่ ไข่ต้ม ฯลฯ เป็นหลัก และเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน ซึ่งพอกินไปได้สักระยะ ร่างกายเราก็จะเรียนรู้ พอเจอของทอด ของมัน ก็เริ่มไม่อยากกินแล้ว นอกจากนี้ก็จะเสริมอาหารทางการแพทย์บ้าง เช่น โปรตีนจากพืช เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเป็นระยะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่ผู้ป่วยทุกคนต้องเจออยู่แล้ว และหน้าที่เราก็คือกินให้ได้มากที่สุด ซึ่งช่วงนั้นก็จะมีเครื่องปั่นอาหารคู่กาย เอาไว้ปั่นผักผสมโปรตีนกิน เพื่อจะได้กลืนง่าย ย่อยง่าย ถ่ายคล่อง
“ส่วน เรื่องร่างกาย นอกจากเรื่องการนอนเร็วขึ้น ก็ยังเพิ่มเวลานอนระหว่างวัน รวมถึงพยายามให้ร่างกายขับถ่ายของเสียออกไปให้ได้มากที่สุด โดยการกินอาหารที่มีกากใย จิบน้ำบ่อยๆ จะได้ย่อยง่าย ถ่ายคล่อง เพื่อช่วยให้ตับไม่ต้องมาทำงานหนัก และพยายามเข้าหาธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น รับแสงแดดตอนเช้า ฯลฯ
“สุดท้ายเป็น เรื่องจิตใจ เพราะถึงกายป่วย แต่เราต้องไม่ยอมให้ใจป่วยเด็ดขาด ฉะนั้น อะไรที่ทำให้เรายิ้มได้ เราก็จะทำ นอกจาก ‘วิก’ หลากสีที่เราช่วยเสริมความมั่นใจและสีสันให้ชีวิตระหว่างป่วยแล้ว เรายังมีกิจกรรมฝึกสมาธิ-ดีท็อกซ์จิตใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการปักผ้าแบบ ‘ซาชิโกะโอริ’ (Sashiko-ori) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาปักผ้าแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น รวมถึงการเขียนบันทึกที่เหมือนการระบายสิ่งต่างๆ ลงไปในสมุด เยียวยาความรู้สึกช่วงที่ป่วยได้เป็นอย่างดี ซึ่งสมุดบันทึกเล่มนั้นเป็นของที่ระลึกจากพี่ออย-ไอรีล ไอดอลที่เรารักนั่นเอง
“ด้วยความที่ พี่พราว (ปารมิตา โกมารกุล ณ นคร) ซึ่งเป็นหัวหน้างานของแพรวเป็นเพื่อนสนิทกับพี่ออย หลังจากเขาทราบข่าวว่าเราป่วยเป็นมะเร็ง พี่พราวก็ตรงไปหาพี่ออยเกือบจะทันที เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม จากนั้นพี่พราวก็ถ่ายภาพและส่งมาให้แพรวก่อนเข้าห้องผ่าตัดเพียงไม่กี่ชั่วโมง นับเป็นสองภาพที่ช่วยเติมพลังให้เราฮึดสู้ในวันผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในชีวิตของเราได้เป็นอย่างดี”
ขอบคุณมะเร็ง
“แพรวยังมองมะเร็งเหมือนในวันแรกที่เรารู้จักเขา มะเร็งยังเป็นสิ่งไม่ดีในชีวิตเรา ถ้าเทียบกับนิทานเรื่องสโนไวท์ มะเร็งก็คือแอปเปิลอาบยาพิษของแม่มด แต่สุดท้ายมันก็เป็นบทเรียนที่ทำให้เราเรียนรู้และรู้จักป้องกันตัวเองมากขึ้น คัดกรองสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตให้มากขึ้น และให้อภัยตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างที่เกิดล้วนมีเหตุและผลของมันเสมอ
“และแม้มะเร็งจะเป็นตัวร้ายในชีวิตของเรา แต่แพรวก็ขอบคุณมะเร็งเสมอที่เข้ามาปฏิวัติชีวิตเรา ทำให้เราหันมาใช้ชีวิตอย่างสมดุล ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ทำให้เราค้นพบวิถีชีวิตใหม่ที่ทำให้เรากลายเป็นคนใหม่ จากเมื่อก่อนที่จะเป็นคนเฉื่อยๆ คิดว่า ชีวิตเรามีพรุ่งนี้เสมอ แต่พอมะเร็งเข้ามา กลายเป็นเราเชื่อว่า บางทีพรุ่งนี้…อาจจะสายไป เมื่อเรายังมีโอกาสได้ใช้ชีวิต ยังมีลมหายใจทำสิ่งต่างๆ ได้ ก็ทำให้เต็มที่ที่สุด และมีความสุขในทุกๆ นาที ดังที่คุณหมอเคมีบำบัดเคยเขียนประโยคนี้มอบให้แพรวในวันจบการรักษา”
เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข