สูตรไฟว้มะเร็งที่เริ่มต้นจากใจและสำเร็จได้ด้วยใจแบบ คำพลอย บูรณานุวัต

เดือนมกราคมปี 2014 ครอบครัวโกเมสที่ประกอบไปด้วย แหน คำพลอย บูรณานุวัต, ฌูเอา (สามี), น้องมาเรีย ดี ลูกสาวตัวน้อย และโนแอล สุนัขสายพันธุ์เฟรนช์บูลด็อกประจำตระกูล เริ่มต้นการผจญภัยครั้งสำคัญในชีวิตของพวกเขากับแผนล่องเรือไปยังประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 500 ปี อันเป็นการเดินทางของชาวโปรตุเกสที่เชื่อมต่อโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน นี่คือความฝันของสามีชาวโปรตุเกส โดยมีแหนเคียงบ่าเคียงไหล่และเป็นกำลังสนับสนุนสำคัญ ชีวิตของเธอเวลานั้นกำลังสนุกกับประสบการณ์ครั้งใหม่ ทุกอย่างกำลังไปได้สวย จนกระทั่งปลายปี 2015 เธอเดินทางมาทำงานสั้นๆ ที่มาเก๊า ที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งใหม่ของเธอ แหนพบความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกาย ซึ่งต่อมาคือมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 แม้จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งนี้จะยากพอตัว แถมพ่วงมาด้วยบททดสอบยากๆ อยู่หลายด่านที่เธอต้องข้ามผ่าน แต่ในวันนี้ ชีวิตของแหนกลับมาปกติอีกครั้ง และพร้อมบอกกับมะเร็งแล้วว่า “ฟังนะ ฉันสวยมาก ฉันไม่ตาย ฉันจะใช้ชีวิตอย่างดี แข็งแรง และมีความสุขแบบสุดๆ ไปเลย”

วันที่เซลล์ของฉันกลายร่าง

“ช่วงปลายปี 2015 เรากลับมาไปทำงานที่มาเก๊าอีกครั้งหลังจากล่องเรือไปประเทศต่างๆ อยู่ประมาณปีกว่าๆ จำได้ว่าวันนั้นกำลังอาบน้ำแล้วไปสะดุดกับอะไรนูนๆ ตรงหน้าอกขวา ลักษณะเหมือนกับคนหัวโน ไม่ได้เป็นก้อน เราบอกเรื่องนี้กับสามีและตกลงกันว่าเดี๋ยวมาเจอกันก่อนแล้วค่อยจัดการ พอจบงานที่มาเก๊า เราเดินทางกลับมาที่เรืออีกครั้ง ตอนนั้นเรือของเราล่องอยู่ที่เกาะ Martinique ของฝรั่งเศส ยังไม่ได้ไปหาหมอ เพราะลักษณะก้อนที่เต้านมแค่นูน ไม่ได้เป็นก้อนแข็งและกลิ้งไม่ได้แบบเนื้อร้ายที่เขาบอกกัน เราชั่งใจอยู่ว่าจะไปหาหมอที่เกาะไปเลยดีไหม แต่อีกใจก็คิดว่าจะกลับมาตรวจตอนล่องเรือกลับมาถึงไทย 

จนเข้าเดือนกรกฎาคม 2016 เราพบความผิดปกติที่มากขึ้นคือรู้สึกเจ็บแปร๊บเวลาที่น้ำฝักบัวมาโดนหน้าอก ตอนนั้นเรือล่องมาถึงเกาะ Curaçao ของเนเธอร์แลนด์แล้ว เราเริ่มนอนไม่หลับ เพราะเจ็บเวลานอนตะแคงขวา การแก้ปัญหาตอนนั้นคือกินยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ แม้จะหายปวด แต่ก็ชั่วคราว จนถึงจุดที่ตัดสินใจไปหาคุณหมอให้ช่วยจ่ายยาเพื่อให้นอนหลับได้สนิทขึ้น สบายตัวมากขึ้น แต่ไม่มีเรื่องมะเร็งอยู่ในหัวเลย พอคุณหมอเห็นครั้งแรกก็บอกทันทีว่านี่ไม่ปกติแล้ว ขอส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ ตอนนั้นตรวจ 2 จุด คือที่เต้านมและรักแร้ กระทั่งรู้ว่าเป็นเนื้อไม่ดีขนาด 5 เซนติเมตรอยู่บริเวณหน้าอกด้านขวา แต่ไม่ได้มาบอกว่าเป็นมะเร็งในขั้นไหน”

หลังจากฟังผล คุณหมอแนะนำว่าต้องไปรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งเวลานั้นแหนมี 4 ตัวเลือก ตัวเลือกแรกคือรักษาที่เกาะ Curaçao แต่ด้วยที่นั่นมีโรงพยาบาลหลักเพียงแค่แห่งเดียวและค่อนข้างแออัด คุณหมอจึงแนะนำให้ไปรักษาที่อื่นหากมีตัวเลือกที่ดีกว่า อีก 3 แห่งคือที่ประเทศไทย, มาเก๊าที่ที่เธอและสามีเคยอาศัยอยู่ และบ้านเกิดสามีที่โปรตุเกส เธอและสามีดูความเป็นไปได้ทั้งหมดจนตัดสินใจกลับมารักษาที่โปรตุเกส 

“ตอนนั้นขนาดของก้อนมะเร็งโตขึ้นเร็วมาก จาก 5 เซนติเมตรเป็น 7.5 เซนติเมตรในเวลาไม่กี่เดือน ทำให้คุณหมอวางแผนการรักษาโดยทำให้ก้อนเนื้อเล็กลงด้วยการทำคีโมก่อน จากนั้นจึงทำการผ่าตัดนำชิ้นเนื้อออกมา และจบการรักษาด้วยการฉายรังสีเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อตายหมดจริงๆ เราเสร็จสิ้นการรักษาในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 มะเร็งของเรายังไม่กระจาย แต่ว่าก้อนใหญ่ เลยจัดให้อยู่ขั้น 3A ถ้ากระจายน่าจะใช้เวลานานกว่านี้ หลังจากนั้น เราเริ่มทานยาปรับฮอร์โมน ฉีดยาที่หน้าท้องเข้าใต้กล้ามเนื้อเพื่อระงับการตกไข่ และทำกายภาพบำบัดเพื่อให้การเคลื่อนไหวของแขนขวากลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด”

เตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติการ

ก่อนรักษาเราเตรียมใจไว้แล้วว่าน่าจะเจอกับอะไรบ้าง เพราะมีคนบอกว่าฉายรังสีแสบนะ ร้อนนะ คีโมแล้วจะทำให้อาเจียนหนักเลย แต่เราไม่เจอผลข้างเคียงที่หนักมากจนถึงขั้นรับไม่ไหว ที่มีจะเป็นอาการทั่วๆ ไป เช่น ท้องผูก ผะอืดผะอม รู้สึกไม่อยากอาหาร สิ่งที่เราเตรียมตัวคือเราจะดูแลร่างกายให้แข็งแรงเป็นพื้นฐานและเตรียมใจเอาไว้แล้วว่าอาการอะไรจะสามารถเกิดขึ้นระหว่างการรักษาได้บ้าง เมื่อเข้ากระบวนการจริงๆ เราพบว่ามันไม่ได้แล้วร้ายแบบที่ได้ยินหรือจินตนาการเอาไว้ เช่น เราต้องฉาย 25 ครั้งทุกวันเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เราสังเกตว่าผิวเริ่มเปลี่ยน ไม่ได้ไหม้หรือถลอกนะ เพียงแค่สีผิวคล้ำขึ้นตอนเข้าครั้งที่ 20 เลยรู้สึกว่า ส่วนหนึ่งเราคงเตรียมร่างกายและใจมาไว้ประมาณหนึ่งในการรับมือ และคงจะโชคดีด้วย”

การรักษามะเร็งในโปรตุเกส 

“ระบบการรักษาพยาบาลที่โปรตุเกสจะมีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านรักษามะเร็งเลย โดยจะแบ่งออกเป็นเขตต่างๆ ตามภูมิภาค แต่เริ่มต้นจะต้องผ่านระบบหมอบ้านก่อนเพื่อให้หมอบ้านทำเรื่องส่งตัวเราไปยังสถาบันมะเร็ง มุมมองของคนโปรตุเกสต่อโรงพยาบาลรัฐจะคล้ายๆ คนไทยเราอยู่บ้าง ทำให้บางคนยอมจ่ายสตางค์เพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะโรคมะเร็งของเอกชนเลยก็มี ซึ่งแบบนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เอาเข้าจริง การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐที่นี่ถือว่าดีเลย ความประทับใจแรกที่เราพบคือบุคลากรทางการแพทย์มีจรรยาบรรณในการรักษาสูงมาก เราเข้าไปรักษาโดยที่ถือพาสปอร์ตไทย ไม่มีบัตรประชาชน หรือบัตร residence ของเขา ซึ่งปกติ ถ้าต้องรักษาในโรงพยาบาลที่นั่นจะต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีในการดำเนินการทุกอย่าง แต่สำหรับคนต่างชาติอย่างเราก็ได้สิทธิ์การรักษาแบบคนในประเทศของเขา โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเธอเป็นคนต่างชาติ เขาดูแลทุกคนเหมือนกันและเท่ากันหมด ตรงนี้เราว่าเยี่ยม และแม้จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐก็จริง แต่การรักษาจะเป็นไปตามคิว ไม่มีใครลัดคิวเรา และการรักษาทั้งหมด เราไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้กระทั่งค่าวิก นี่น่าจะเป็นข้อดีที่เราพบจากการรักษาที่นี่นะ”  

สองเต้าที่ไม่เท่ากัน

“นอกจากการรักษามะเร็งแล้ว เราได้เข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ด้วย ซึ่งจุดประสงค์ในตอนนั้นเพราะเรารู้สึกว่า self-esteem ในตัวเองต่ำลง ถ้าย้อนไปช่วงปี 2017 ที่ทำการรักษา คุณหมอวางแผนการรักษาให้เราแบบฟูลคอร์สเพราะเรายังอายุไม่มาก ซึ่งเขาอยากมั่นใจว่าเซลล์มะเร็งถูกทำลายไปหมดแล้วจริงๆ ทำให้เวลาส่วนใหญ่ของเราโฟกัสไปที่การฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุดและไม่ได้สนใจเรื่องอื่นๆ ในชีวิต พอจบการรักษา เราเห็นแล้วว่าร่างกายและรายละเอียดในการใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว นี่ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่มากว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไปภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราใช้ร่างกายหนักเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ การเลือกเสื้อผ้ามีเป้าหมายเพื่อให้การใช้ชีวิตใกล้เคียงเดิมที่สุดและมีผลต่อสุขภาพน้อยที่สุด ไม่ใช่ความสวยงามแบบที่เคยเป็นมา รวมถึงความรู้สึกที่ดีของเรากับหน้าอกซึ่งเป็นส่วนที่เราภูมิใจที่สุดในความเป็นผู้หญิงได้หายไปแล้ว

ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงที่ดาวน์มาก มีผลต่อการใช้ชีวิต รวมทั้งชีวิตคู่ด้วย แต่เราโชคดีที่สามีพยายามทำความเข้าใจทุกอย่าง เราคุยกับคุณหมอแบบเปิดอกเลยว่า ถ้าเรามีหน้าอกข้างเดียวแล้วสามีทิ้งหรือถ้าสามีตายก่อนจะมีใครที่รับได้กับการมีคู่ที่มีหน้าอกเหลือเพียงข้างเดียว คำตอบของคุณหมอทำให้เราเห็นอีกมุมมองหนึ่งนะว่า คนที่มีข้อจำกัดลักษณะนี้ หากความสัมพันธ์ครั้งใหม่เกิดขึ้น คนที่เข้ามาจะถูกสกรีนระดับหนึ่งแล้ว เขาจะเป็นคนที่จริงจังในความสัมพันธ์และไม่ได้มองว่าจุดนั้นสำคัญ แต่จะมองด้านดีอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งความสัมพันธ์แบบนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ยืนยาวกว่า 

สำหรับเรา การเป็นมะเร็งทำให้เรารู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองต่ำลง เวลาสามีบอกว่า “เธอยังสวยเหมือนเดิม” เขาพูดตลอดจนเราเริ่มไม่เชื่อว่าพูดให้สบายใจหรือว่าโกหก ขณะที่ความจริงความสัมพันธ์ของเรากับสามีดีมากๆ นะ แต่ความภูมิใจว่าฉันสวยไม่มีอีกแล้ว การพบจิตแพทย์สำหรับเรา เขาช่วยได้ในเรื่องการรับฟัง แต่ท้ายที่สุด ทุกปัญหา ตัวเราต้องเป็นคนแก้เอง ซึ่งเวลาที่ได้พูดออกไป เหมือนเราได้ยินเสียงสะท้อนของตัวเอง นั่นทำให้เราได้ฉุกคิดและตกผลึกว่าอะไรคือทางออกที่ทำให้ความรู้สึกต่างๆ ดีขึ้นได้”

เมื่อเราปรับ โลกก็เปลี่ยน

“เราว่า 2 สิ่งหลักๆ ที่ทำให้ผ่านความรู้สึกแย่ๆ ในเวลานั้นมาได้ หนึ่งคือความเคยชิน จะเรียกว่าปรับตัวได้แล้วก็ได้นะ และสองเราคิดว่าเรามองโลกเปลี่ยนไป จากความรู้สึกที่ดาวน์มากๆ กลับกลายมาเป็นความรู้สึกว่าตัวเองโชคดีในหลายๆ เรื่อง แม้ว่าความรู้สึกจะแย่อยู่มากระหว่างการรักษา แต่เรามาถึงมือหมอไว มีคนรอบข้างคอยสนับสนุน ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ทั้งครอบครัว การทำมาหากิน ค่าใช้จ่าย ทำให้เราสามารถโฟกัสเรื่องการรักษาและสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ พอเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี มันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เรามองเห็นความสำคัญของสิ่งภายนอกน้อยลง และเห็นจุดอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากขึ้น คงจะเพราะอายุ ประสบการณ์ และมะเร็งที่ทำให้เรามองทุกอย่างไม่เหมือนเดิม การลำดับความสำคัญในชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย

เวลานี้ เราอยู่ในช่วงอายุที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่ได้ต้องการทำงานเพื่อความก้าวหน้า จากแต่ก่อนสิ่งสำคัญในชีวิตจะมีไม่กี่อย่าง ไม่งาน ก็เงิน ไม่แฟน ก็เพื่อน พ่อแม่ไม่ได้สนใจใส่ใจหรอก มาตอนนี้ เราโตขึ้น ผ่านการใช้ชีวิตมาพอสมควร พ่อแม่เริ่มแก่ลง ความใส่ใจและการให้ความสำคัญของเราเปลี่ยนมาทางพวกเขาแทน รวมถึงการสร้างความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิตด้วย เอาจริงๆ ความสุขของเราตอนนี้เรียบง่ายกว่าเดิมเยอะ อะไรที่ทำให้เราสบายใจนั่นคือความสุข การได้เห็น ได้ใช้เวลากับคนรอบข้างที่เรารัก แค่กินข้าวด้วยกัน หรือสามีเด็ดดอกไม้ริมทางมาให้ หรือแค่แดดออก สำหรับเราในเวลานี้ก็พอแล้วนะ”  

สายลมที่โอบล้อมอยู่รอบตัว

เรารู้สึกโชคดีมากที่มีเพื่อนๆ และครอบครัวคอยซัพพอร์ตทั้งทางกายและทางใจ การเป็นมะเร็งทำให้เราพบว่าเพื่อนบางคนที่บางทีเราหลงลืมพวกเขาไป แต่พวกเขาไม่ได้หลงลืมเราเลย เราได้เห็นมิตรภาพที่ดีมากๆ จากการเป็นมะเร็งนี่แหละ หรือกับพี่ชายที่ไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่มีไลน์ ไม่เคยส่งข้อความอะไรหากัน พอเป็นมะเร็ง ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่กลับมาดีขึ้น เรารู้เสมอว่าอย่างไรเขาก็เป็นห่วง ยิ่งตอนที่เราเป็นมะเร็งก็รับรู้ได้มากขึ้น  

ก่อนที่จะมาโปรตุเกส เราคุยกับสามีเรื่องการรักษา การใช้ชีวิต เรารู้สึกซาบซึ้งใจทั้งเขาและครอบครัวมากๆ ตอนนั้นเราเพิ่งขายบ้านที่เคยอยู่ด้วยกันที่มาเก๊า เขาบอกว่าถ้าต้องใช้เงินที่ขายบ้านทั้งหมดไปกับการรักษาก็ไม่เป็นไร ไว้เราแข็งแรงแล้วค่อยเริ่มหาเงินกันใหม่ ค่อยเก็บเอาใหม่ก็ได้ เราได้เจอคุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้าของเขา ทุกคนพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือความเป็นอยู่อย่างอื่น เพียงแค่ขอความช่วยเหลือ พวกเขาก็พร้อมเสมอ”  

ทุกสิ่งสำคัญที่ใจ

“การใช้ชีวิตตอนนี้เหมือนเดิมทุกอย่างไม่ว่าก่อนหรือหลังเป็นมะเร็ง เคยออกกำลังกายและดูแลเรื่องอาหารการกินของตัวเองอย่างไรก็ทำแบบนั้น เราไม่ได้ใช้ชีวิตที่เข้มงวดมากๆ ถ้ามีความสุขกับอะไรเราก็ทำ อะไรที่กินแล้วมีความสุขเราก็กิน เรารู้ว่าอะไรที่ดีหรือไม่ดีต่อร่างกาย แต่ไม่ถึงกับว่าฉันไม่กินหมูไหม้เพราะนี่มีสารก่อมะเร็ง หรือกินเฉพาะตรงที่ไหม้อย่างเดียว จะเป็นการหาความพอดีให้ตัวเองแบบนั้นมากกว่า 

เอาเข้าจริง เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษามะเร็งเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าใจสู้ ทุกอย่างจะผ่านไปได้ เราว่าร่างกายมนุษย์อเมซิ่งมากนะ ถ้าเรารู้สึกดาวน์ รู้สึกแย่ เซ็ง เศร้า เหงาหงอย ป่วยแล้วยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่อยากรักษาแล้ว ไม่อยากอยู่แล้ว ร่างกายก็จะไม่สู้ แต่ถ้าเราคิดว่าฉันแข็งแรง อย่างไรฉันจะต้องหาย ฉันรักษาแล้วจะต้องดีขึ้น นั่นจะส่งผลต่อร่างกายด้วย สำหรับเรา ถ้าคิดว่าทำได้ เราก็จะทำได้ 

เราเข้าใจว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ มีเรื่องราวในชีวิต และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนต้องเจอกับความยากลำบาก ต้องทำงาน มีเรื่องครอบครัวให้ต้องคิด แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะบอกคืออย่าเพิ่งยอมแพ้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่ม อย่าเพิ่งถอดใจว่าตัวเองทำไม่ได้ เราเกิดเติบโตมาได้ขนาดนี้ ชนะสเปิร์มมาตั้งกี่ตัว แล้วเราเป็นตัวที่แข็งแรงที่สุดในนั้น นี่ไม่ใช่แค่กับเรื่องมะเร็งนะ ทุกๆ อย่างในชีวิตเลย ตอนนี้ถ้าจะบอกอะไรสักอย่างกับมะเร็ง เราคงจะบอกกับเขาว่า “ฟังนะ ฉันสวยมาก ฉันไม่ตาย ฉันมีอะไรที่อยากทำและต้องทำอีกเยอะ ฉันจะใช้ชีวิตอย่างดี แข็งแรง และมีความสุขแบบสุดๆ ไปเลย” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: คำพลอย บูรณานุวัต, sailingdeethai.blogspot.com

Share To Social Media