พีช – ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร มะเร็งเต้านมทำอะไรเธอไม่ได้ และเธอจะ ‘วิ่งให้มะเร็งมันดู’

จะมีสักกี่คนที่เผชิญกับวิกฤตชีวิตอย่างโรคมะเร็งแล้วยังดูมีความสุข แถมมีสุขภาพจิตแจ่มใสเสมือนปัญหาหนักอึ้งนั้นไม่ได้ปั่นทอนพลังใจลงเลย ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร หรือ พีช เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเป็นคนมองโลกแง่บวกช่วยให้เข้มแข็งไม่รู้สึกท้อถอย แล้วยังพร้อมจะส่งต่อกำลังใจพร้อมพลังบวกนั้นไปยังคนที่อาจกำลังเจอปัญหาคล้ายคลึงกัน รวมถึงทุกคนในสังคมด้วย วันนี้ พีช เจ้าของคำกล่าวที่ว่า “วิ่งให้มะเร็งมันดู” นั่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังพร้อมกับเสียงหัวเราะและแววตาสดใส

“แรกๆ ก็ทำงานหนักมาก กินไม่เลือก อยากกินอะไรกิน กินหมูกระทะทุกวัน อาหารที่ไม่คลีน แล้วก็ไม่ออกกำลังกาย เริ่มรู้สึกร่างกายอ่อนแอ แค่วิ่งไปไม่กี่เมตรก็เหนื่อย คิดแค่ว่าเราทำงานบ้านก็เหมือนออกกำลังกายแล้ว พอมีครอบครัวก็ต้องส่งลูกไปเรียนตอนเช้า มีเวลาดูแลตัวเองน้อยมาก กลับบ้านก็ดึกทำงานหนัก สัปดาห์หนึ่งหยุดวันเดียว”

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวและอาจเป็นที่มาของโรคร้าย ซึ่งหลายคนก็คงทำตัวแบบนั้นคือตามใจตัวเองจนชิน ยิ่งเป็นคนที่ไม่เคยป่วยไข้หนักก็จะคิดว่าตัวเองแข็งแรงอยู่เสมอ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด

“ฝีนี่แหละ เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังอ่อนแอ เริ่มมีปัญหาภูมิคุ้มกันไม่ดี พีชเป็นฝีแบบเป็นๆ หาย ๆ กรีดแล้วกรีดอีก กว่าจะหายได้ใช้เวลาหกเดือน จากนั้นก็เริ่มมีอาการอื่นที่ไม่เคยเป็นตามมาเช่น ท้องเสีย แต่ถึงอย่างนั้นพีชก็ยังเป็นห่วงงาน งานห้างฯ เป็นงานหนัก เวลาหยุดของคนอื่นคือเวลาทำงานของเรา”

เธอคิดว่างานที่ทำเป็นปัญหา ทำให้เครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุของความอ่อนแอ และเมื่อมีโอกาสก็ต้องหาทางเลือกใหม่ให้ชีวิต พีชย้ายงานเพื่อจะมีเวลาดูแลตัวเอง ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น และตรงนั้นเธอก็พบกับชีวิตที่มีความสุข พร้อมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งกิจกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจนั่นคือ ‘การวิ่ง’ ในขณะที่ทุกอย่างกำลังสดใสไปในทิศทางที่ดี ข่าวร้ายก็มาถึง

“ประมาณพฤศจิกาปี 2561 เริ่มรู้สึกว่าทำไมถึงเจ็บหน้าอก (เต้านม) แปลกๆ  ปกติการเจ็บหน้าอกของผู้หญิงจะมาก่อนช่วงมีประจำเดือน แต่อันนี้ไม่ใช่เลย มันจี้ดๆ ข้างในเหมือนมีมดกัด ตอนแรกก็คิดว่าไม่น่าเป็นอะไรแต่พอทิ้งไปสักพักก็คลำเจอก้อนเนื้อบ่อยขึ้น จึงตัดสินใจไปหาหมอ หลังจากไปตรวจอย่างละเอียดแล้วก็พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม”

ทันทีที่ได้ยินจากปากคุณหมอว่าเป็นเนื้อร้าย พีชรู้สึกตัวชาและถามหมอว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไรต่อ แต่ด้วยความเป็นคนมีกำลังใจดี เธอคิดว่าไม่มีปัญหาใดที่เอาชนะไม่ได้ ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ แล้วก็ต้องยอมรับเดินไปพร้อมกับมัน ซึ่งหมอแนะนำวิธีที่อาจจะทำให้สูญเสียความมั่นใจในความเป็นเพศหญิง แต่เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เชื้อมะเร็งลุกลามไป รักษาชีวิตไว้เป็นสำคัญพีชจึงเลือกวิธีนั้นอย่างไม่คิดมาก แต่ก่อนวันผ่าตัดเธอขอเลื่อนคุณหมอเพื่อจะไปลงแข่งวิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร รายการแรกในชีวิต

“ตอนนั้นรู้แล้วว่าเราเป็นมะเร็ง พีชซ้อมสูงสุดได้ 19 กม. แบบซิตี้รันวิ่งจากบ้านไปถึงสนามหลวงถึงพระบรมรูปทรงม้า แล้วก็วนกลับบ้าน แล้วในขณะที่วิ่งก็บอกตัวเองว่าเราต้องหาย รู้แค่นั้น”

เมื่อฟังแล้วก็อาจสงสัยว่าจริงๆ แล้วพีชไม่เคยเสียใจเลยหรือ

“ต่อให้รู้สึกเข้มแข็งแค่ไหนก็อดไม่ได้หรอก โดยเฉพาะคำพูดของคนรอบข้างจะสะเทือนใจเสมอซึ่งตอกย้ำว่าเรากำลังเป็นมะเร็ง เป็นโรคร้าย หรือบางที คำพูดของญาติที่แสดงความสงสาร เวทนา ทำให้อ่อนแอลง แต่ตรงนั้นไม่สำคัญ ยังไงซะจิตใจของเราต้องพร้อมจะลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความจริง”

ความเข้มแข็งไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หากแต่พ่วงความรักในครอบครัวและความฝันที่อยากจะทำไว้ด้วย ระหว่างการพูดคุย พีชโชว์ภาพของเธอที่ผ่านกระบวนการรักษา รอยแผลจากการผ่าตัดที่บันทึกไว้ในเฟสของเธอ และรวมถึงภาพการเข้าร่วมวิ่งการกุศลที่ลงสมัครไว้

“ตอนนี้กระบวนการรักษามาถึงขั้นตอนให้คีโมเพื่อทำลายเชื้อร้ายนั้นแล้วค่ะ แล้วสิ่งที่พีชกังวลอยู่ก็คือการวิ่ง พีชรู้สึกว่าแม้จะกำลังบำบัดก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับความฝัน คนเราต้องมีความหวังเพื่อจะเดินต่อไป มันอาจมีอุปสรรคมารบกวนจิตใจบ้าง แต่เราก็ต้องทำสิ่งที่หวังให้สำเร็จ ตอนแรกเป้าหมายของพีชคือวิ่ง 42 กม. มีความรู้สึกว่าลงไว้แล้วเราต้องไปต่อ ยิ่งเรารู้ว่าเราเป็นมะเร็งเราก็ต้องยิ่งสู้ ตอนนี้พีชเลยเปลี่ยนเป้าเป็นจะวิ่งให้มะเร็งมันดู”

เธอเขียนข้อความในเฟสส่วนตัวบอกเล่าชีวิตให้ผู้คนรับรู้ตอนหนึ่งว่า…ต้องขอบคุณ ‘คุณมะเร็ง’ ที่ทำให้รู้เป้าหมายของการมีชีวิต การมีลมหายใจ และเป็นแรงผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นให้มุ่งมันที่จะออกมาทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเองและเพื่อคนที่เรารัก รวมถึงเพื่อสังคม

“ที่จริงไม่ว่าคุณมีความชอบตรงไหน ดึงมันออกมาใช้ คนชอบศิลปะก็ใช้ศิลปะ คนชอบดนตรีก็ใช้ดนตรี เอามาสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเพื่อก้าวข้ามมะเร็งไปได้ ใจเราก็จะเข้มแข็ง คนที่ผ่านการผ่าตัดก็จะมีแผลไว้เป็นความทรงจำ แต่ชีวิตยังดำเนินต่อไป ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แล้วก็ยังมีลมหายใจอยู่ อย่าพึ่งยอมแพ้ เราทำเพื่อครอบครัวและคนที่เรารัก เท่านั้นเอง”   

คำพูดนั้นเหมือนกระตุ้นเตือนใครหลายคนที่กำลังมองข้ามความฝัน ใครหลายคนหลงลืมไปว่าชีวิตล้วนมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึง ไม่มีเวลาสำหรับการท้อแท้ไม่ว่าปัญหาตรงหน้าจะสาหัสขนาดไหนก็ตาม

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร

Share To Social Media