จากมะเร็งเต้านมสู่เพจ ‘แมวนมเดียว’ ของทักษิณา รัตนศักดิ์ และคู่ชีวิตที่อยู่เคียงข้างเสมอแม้ในวันที่เหลือเต้าเดียว

ว่ากันว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความสำคัญของชีวิตคู่ไม่ได้สิ้นสุดที่การแต่งงาน แต่คือความสุขจากความสัมพันธ์ที่ได้จับมือและเดินร่วมทางกันไปจนแก่เฒ่า อาจไม่จำเป็นจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่อยู่ในช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต้องการกัน

เมี่ยง – ทักษิณา รัตนศักดิ์ และ ปกรณ์ พลชัย เป็นหนึ่งในคู่ชีวิตที่ขยายใจความข้างต้นออกมาให้เห็นผ่านชีวิตจริงๆ ของพวกเขา ในวันที่เมี่ยงตรวจพบมะเร็งเต้านมเมื่อไม่กี่ปีก่อน ปกรณ์คือผู้ที่อยู่เคียงข้าง เป็นทั้งกำลังกาย กำลังสมอง และผู้ประคองหัวใจผู้หญิงคนนี้ให้ผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายมาเพื่อแสวงหาความสุขที่มีในแต่ละวัน 

มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาได้

เมี่ยง: ปลายปี 2018 พี่ไปตรวจร่างกายประจำปีตามปกติ ซึ่งมีการตรวจแมมโมแกรมด้วย ในการอ่านผล แพทย์จะอ่านเป็นค่าไบแร็ดส์ (Breast Imaging Reporting And Database System: BIRADS) เช่น ไบแรดส์ 1 ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเลย ไบแรดส์ 2 ต้องตามตรวจปกติทุกปี ส่วนผลของพี่คือ ไบแรดส์ 3 คือมีโอกาสแค่ 2-3% ในการเป็นมะเร็ง ให้ตามตรวจทุก 6 เดือน แต่ที่แปลกก็คือ มันมีแคลเซียมกระจุกตัวอยู่ตามท่อน้ำนม ดูผ่านๆ เหมือนรากต้นไม้ คุณหมออายุรกรรมเลยแนะนำให้พี่ไปปรึกษาหมอเฉพาะทางมะเร็งเต้านม ตอนนั้นคิดว่า พี่ไม่เป็นหรอก โอกาสเสี่ยงต่ำ แต่พอไปเจอคุณหมอด้านเต้านม คุณหมอให้พี่ไปตรวจ Stereotactic Breast Biopsy เพิ่มเติม ผลที่ออกมาพบว่าเป็นมะเร็งแน่นอน แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นประเภทไหน โดยคุณหมอแนะนำว่าจะต้องผ่าตัด แล้วค่อยนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมสำหรับวางแผนการรักษาต่อไป

พี่เป็นมะเร็งเต้านมชนิด Hormone Positive โดยแนวทางการรักษาตอนนั้นคือการผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า คุณหมอยืนยันว่าไม่สามารถที่จะเก็บเต้าไว้ได้ เพราะมันไม่มีขอบเขตก้อนที่ชัดเจน เอาจริงๆ นะ ตอนที่คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง ความรู้สึกตอนนั้นคืองงในงงว่าเราเป็นได้อย่างไร เพราะตัวเองเป็นคนหน้าอกเล็กน้อยนิดอยู่แล้ว ไม่เคยคิด ไม่เคยสนใจว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งเต้านมได้ ยิ่งคุณหมอบอกว่าต้องผ่าตัดออกทั้งเต้า พี่นึกภาพไม่ออกเลยนะว่าคนไม่มีหน้าอกจะเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อคุณหมอและตัดสินใจแบบไม่ลังเล แล้วก็คงเป็นความโชคดีตรงที่ว่าพี่ตรวจร่างกายทุกปี ซึ่งทำให้เจอเร็วและทำให้ขั้นตอนการรักษาไม่ยุ่งยาก เพราะมะเร็งยังไม่กระจายออกจากท่อน้ำนม หลังจากผ่าตัดเรียบร้อย ก็ทานยาต้านฮอร์โมน 5 ปี ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยคุณหมอให้ติดตามผลทุกๆ 6 เดือน ณ ตอนนี้ร่างกายแข็งแรงปกติดีค่ะ

การดำเนินชีวิตบนความคิดที่ว่า เราเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาล

เมี่ยง: พี่ค่อนข้างคุ้นชินกับคำว่ามะเร็งเพราะทำงานในสายเฮลท์แคร์ แต่ก็ยังรู้สึกว่ามะเร็งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เมื่อใดก็ตามที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ก็เหมือนกับศาลพิพากษาว่ามีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน

แต่หลังจากที่เป็นเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว จึงได้รู้ว่าการเป็นมะเร็งใช่ว่าเป็นแล้วจะต้องตายเท่านั้น มะเร็งบางชนิด ถ้าเจอเร็วและเข้ารับการรักษาเร็ว ก็ทำให้มีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้ เพราะฉะนั้น การถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างในชีวิตจะจบหรืออนาคตเราหมดแล้ว พี่เคยคิดว่าตัวเองเข้าใจคนไข้มะเร็ง เข้าใจความยากลำบากที่เขาต้องเจอนะ แต่เอาเข้าจริง พอเป็นเองกลับไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้เลย เพราะคนป่วยมะเร็งจะเจอ emotional impact เยอะกว่าคนที่ไม่เคยเป็นจะเข้าใจได้ มะเร็งทำให้พี่เห็นได้ว่าเราคือคนที่ตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับหลายๆ สิ่งบนโลก แล้ววันหนึ่งเราก็จะหายไปตามธรรมชาติ

การดำเนินชีวิตของพี่เปลี่ยน แต่ไม่ได้เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หรือปล่อยวางได้ขนาดนั้น ทุกครั้งที่ไป follow up ก็ยังลุกมาไหว้พระไหว้เจ้า ยังกังวลบ่อยๆ ว่ามะเร็งจะกลับมาไหม แต่ก็จัดการความรู้สึกได้เร็วขึ้น ช่างมันได้มากขึ้น พี่ใช้ชีวิตแบบมีจุดหมายมากขึ้น ตัวเล็กลง ตัวตนไม่ต้องมีเยอะ ตอนที่หมอบอกว่าเป็นมะเร็ง นอกจากยืนงงแล้ว ความคิดแรกที่คิดขึ้นมาทันทีเลยคือ นี่เราจะตายจริงๆ แล้วเหรอ พี่ยังรู้สึกว่าพี่ยังเป็นคนไร้ค่า นี่เราเกิดมาทำไม ยังไม่ได้ทำอะไรดีๆ ให้กับคนอื่นและสังคม ให้สาสมกับที่ได้เกิดมาเลย ทำให้ทุกวันนี้ หลายๆ กิจกรรมที่ทำ พี่ทำเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่พี่ตั้งใจไว้ทั้งหมด ปัจจุบันพี่ไม่จัดลำดับความสำคัญอะไรมากมาย คิดแค่ว่าอย่าเสียเวลา อยากทำอะไรทำเลย แต่สิ่งที่ทำจะต้องส่งผลดีต่อคนอื่นด้วย ซึ่งพี่พยายามที่จะทำอะไรเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะตัวเองมีประสบการณ์ในการเป็นคนไข้จริงๆ เราเข้าใจ pain point ของคนไข้มะเร็ง เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่ช่วยคนไข้คนอื่นได้

‘แมวนมเดียว’ เพจบันทึกสติของแมววัยกลางคน

เมี่ยง: ในฐานะของการเป็นผู้ป่วย พี่พบว่าสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นกับคนไข้ทุกคนคือตอนที่เขาถูกบอกว่าเป็นมะเร็ง เขาจะไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร เพราะการรักษามะเร็งไม่เหมือนกับการผ่าหูดที่เมื่อเป็น คุณผ่าตัดแล้วจบ แต่มันคือ long journey ช่วงเริ่มต้น พี่ไม่ต่างจากคนไข้คนอื่น คือหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค แต่พอเริ่มกูเกิ้ลปั๊บ จะเริ่มพบกับความพัง เพราะว่าข้อมูลเยอะมาก จนไม่รู้จะเชื่ออันไหนดี ส่วนมากเป็นความรู้พื้นฐานของโรค เช่น มะเร็งคืออะไร มีกี่ชนิด มีกี่สเตจ มาตรฐานการรักษาเป็นอย่างไร คอมเม้นท์ในกระทู้ที่เจอก็พบข้อความลบๆ อ่านแล้วไม่น่ารอด พอได้ข้อมูลแบบนั้นเยอะๆ จะเริ่มจะนอยด์ ตอนนั้นเลยเริ่มเปลี่ยนความคิดว่าต้องมีสิคนที่เป็นแล้วยังมีชีวิตอยู่ พี่เริ่มเปลี่ยนคำเสิร์ชให้เป็นในเชิงบวก จนเจอเพจของผู้รอดชีวิตหลายคน พอพี่ได้รับการซัพพอร์ต พูดคุยจากคนที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน ความรู้สึกพี่เปลี่ยนเลยนะ เหมือนว่าเราอบอุ่นใจขึ้นมาก มีเพื่อนร่วมทาง

พอรักษาจบ พี่เลยตั้งใจทำเพจ ‘แมวนมเดียว‘ ( www.facebook.com/onebreastcat) ขึ้น เพราะอยากแบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมาให้คนอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเพจนี้จะเป็นพื้นที่กลางเพื่อบอกผู้ป่วยที่เป็นแบบเดียวกันว่า “ฉันเป็นมะเร็ง เปิดหน้าอกให้เห็นเลยว่าฉันเป็น ฉันตัดเต้านม และฉันก็ยังอยู่ได้นะ นี่เป็นเรื่องปกติในการรักษา” นอกจากนี้ พี่อยากจะให้คนรู้ว่าหากเราตรวจเร็ว มะเร็งบางชนิดมันรักษาได้ อยากจะให้ทุกคนมีตระหนักตรงนี้ไว้ ปกติมะเร็งจะตรวจคัดกรองไม่ค่อยเจอ แต่ก็มีมะเร็งหลายประเภทที่โชคดีสามารถตรวจคัดกรองได้ อย่างเช่น เต้านม รังไข่ และลำไส้ ซึ่งหากเช็คอัพสม่ำเสมอก็สามารถป้องกันหรือเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้

ในเพจแมวนมเดียว พี่จะสอดแทรกเรื่องอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับพี่ระหว่างทางการรักษา อาจเป็นเรื่องที่พี่เองก็คิดไม่ถึงมาก่อน  ส่วนมากเป็นเรื่องความรู้สึก เรื่องอ่อนไหวที่ผู้ป่วยมักเจอ บางทีก็เป็นเรื่องเล็กๆ เช่น การหาสติ๊กเกอร์ปิดหัวนมแบบไหนดี  หรือการลิสต์คำถามก่อนเจอคุณหมอ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การวางแผนเรื่องค่ารักษา สิทธิ์การรักษา

ส่วนสิ่งที่พี่จะไม่ทำคือ พี่จะไม่วินิจฉัยโรค ไม่วิจารณ์การรักษา ไม่โกหกหรือให้ความหวังที่ไม่เป็นจริง ว่าอย่างไรก็หายหรือไม่หาย เพราะการรักษามะเร็งของคนไข้แต่ละคนแตกต่างกัน ถึงแม้จะเป็นมะเร็งที่เดียวกัน วิธีการรักษาก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คนที่รู้ดีที่สุดคือคุณหมอที่มีประวัติเราเต็มแฟ้ม เราต้องระวังเรื่องการสื่อสารว่าจะไม่นำเขาไปสู่สิ่งที่ทำให้เขาไม่สบายใจในเรื่องไม่จำเป็น แต่ถ้าพี่มีข้อมูลที่ดี และคิดว่ามีประโยชน์ พี่จะบอกให้เขานำไปปรึกษาคุณหมอ แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นการให้กำลังใจกัน คุยกัน ให้รู้ว่าเราเป็นเพื่อนร่วมทางกันนะ จริงๆ พี่ก็ได้พลังใจจากเพื่อนๆ ในเพจเยอะมากเลยนะ ต้องเป็นฝ่ายขอบคุณทุกคนที่เข้ามามากกว่า บางคนกลายเป็นเพื่อนติดต่อกันยาวเลย

ปกรณ์: จริงๆ เราคิดกันตั้งแต่ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาลแล้วว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลาย เราจะต้องทำอะไรเพื่อสังคม ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้จะทำอะไร พอเมี่ยงเขาผ่าตัดเสร็จแล้ว แล้วเริ่มโพสต์เฟสบุ๊ก ผมบอกเมี่ยงว่าควรจะเปิดเพจนะเพื่อที่จะจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คนอ่านแล้วก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ซึ่งเวลาเมี่ยงลงคอนเทนต์อะไร ผมก็จะเป็นฝ่ายแบคอัพ ลองแนะนำ ถ่ายรูปให้ แล้วก็วางแผนไปด้วยกัน

สารพันปัญหาของมะเร็งเต้านม

เมี่ยง: มีบางเรื่องนะที่คนสงสัย อย่างในเรื่องการตัดหน้าอก บางคนจะนึกไม่ออกว่าตัดแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องการเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ถ้าต้องตัดหน้าอกออกหมดแล้วจะทำ Breast Reconstruction (เสริมหน้าอก) ไหม ในกรณีพี่ พี่อยากให้คนได้เห็นเป็นเคสตัวอย่างว่า ถ้าตัดแล้วไม่เสริมหน้าอกหน้าตามันจะเป็นแบบนี้นะ แบนๆ เป็นแผ่นกระดานแบบนี้นะ ซึ่งข้อมูลหรือรูปพวกนี้หาไม่ได้เลยในตอนนั้น หรือข้อมูลอย่างเช่น ห้ามยกของหนัก แต่เวลาใช้ชีวิตจริงๆ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ยกอยู่ น้ำหนักประมาณนี้หนักเกินไปไหม อุ้มแมวนี่เรียกว่าหนักไหม ห้ามรีดผ้าหมายความว่าอย่างไร ห้ามรีดเป็นหลายๆ โหลเหรอ แต่ถ้าเราจะรีดสักตัวสองตัวใส่ออกจากบ้านจะทำได้ไหม ก็จะเป็นรายละเอียดที่บางครั้งคนไข้อาจจะไม่มีโอกาสถามคุณหมอ ซึ่งถ้ามีคนที่มีประสบการณ์เดินไปกับเขาในช่วงการรักษา เขาจะพอมีพื้นที่ให้ไถ่ถาม ไม่ต้องมานั่งเดาอยู่คนเดียว

สุขทุกข์บนทางสายกลาง 

เมี่ยง: ในชีวิตคนเราย่อมมีทั้งสุขทั้งทุกข์เข้ามาตลอด แม้จะเป็นมะเร็งก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรถึงจะจัดการความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้มากกว่า ถ้าสุขเข้ามาจะทำอย่างไรให้เราไม่สุขจนเราหลงระเริง หรือเวลาเป็นทุกข์ ก็ไม่ทุกข์จนมากเกินไป พี่จะช่างมันเยอะขึ้นมาก อะไรก็ช่างมันเถอะ หรือเจอเรื่องใหญ่ๆ พี่ก็จะบอกตัวเองว่าเดี๋ยวค่อยคิด นอนก่อน ปล่อยได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ากลายเป็นคนที่ไม่มีความกังวลอะไร ทุกอย่างเหมือนเดิม พี่ก็ยังนึกถึงอดีตและอนาคต เป็นคนปกติ พี่ไม่สามารถปลงได้แบบ 100% แต่ว่าเมื่อทุกข์หรือสุขแล้ว พี่จัดการมันได้ดีขึ้น กลับมารู้ตัวเร็วขึ้น มากขึ้น

ล้อมใจไว้ด้วยรัก

เมี่ยง: พี่คิดว่าคนรอบข้างทุกคนมีอิทธิพลต่อเราหมดเลย สำหรับครอบครัว ถ้าเราเป็นแล้วเห็นเขานั่งร้องไห้หรือหดหู่ เราจะยิ่งใจเสีย อย่างแม่พี่ สิ่งที่กังวลตอนนั้นคือ ฉันจะบอกแม่อย่างไรว่า “แม่ เมี่ยงเป็นมะเร็งนะ” พี่ว่าประโยคนี้ยากที่สุดเลยนะ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นในการยอมรับว่าเราเป็น พอพูดไปแล้ว หน้าเราเฉาเป็นหมาเหี่ยวเลย แต่แม่ตอบกลับมาว่า “อ้าว รู้ผลแล้วเหรอ แล้วเป็นอย่างไร” พี่ก็บอกไปว่า “ยังไม่รู้ เป็นแล้วต้องตายแน่เลย” แม่พี่ก็บอกว่า “แล้วชีวิตนี้จะไม่ตายเหรอไง สิ่งมีชีวิตอย่างไรก็ต้องตาย เป็นแล้วก็รักษาสิ เดี๋ยวก็หาย คนเขาเป็นกันเยอะแยะ” พอได้ยินแบบนั้น จากหมาเหี่ยวก็เริ่มคิดได้ว่า เออจริง หรือปกรณ์เองเป็นคนที่รู้จักคนเยอะมาก ก็จะช่วยพี่เรื่องการติดต่อกับคนที่มีความรู้ อยากได้ความรู้ทางด้านไหนเขาช่วยตลอด ปกรณ์จัดให้ ซึ่งความรู้สึกและการปฏิบัติของคนรอบข้างสำคัญมากเลยนะในการประคองใจเรา

เพียงแค่เรานั้นจับมือเดินข้างกันไป

ปกรณ์: ต้องเท้าความตอนที่รู้ผลก่อน เราตัดสินใจที่จะผ่าตัดทันทีเพื่อที่จะเอาเจ้านี่ออกไปให้เร็วที่สุด โดยในช่วงที่เรารอฟังผลหลังการผ่าตัดว่าจะเป็นชนิดไหน กระจายไหม ต้องรักษาอย่างไร ผมเองก็คิดและกังวลเหมือนกัน แต่พอทราบแล้วว่ามีโอกาสที่จะหายขาดจากการตัดออกไปก็ค่อนข้างสบายใจ ยิ่งพอรู้ผลว่าไม่ลามไปต่อมน้ำเหลือง ผมก็ดีใจมาก สิ่งที่ผมทำคือการอยู่ข้างๆ เขา พยายามไม่แสดงความวิตกออกมาให้เขากังวล ให้กำลังใจด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจเขาแทน หากิจกรรมให้เขาทำ พาไปที่ใหม่ๆ ดูแลเขาเรื่องการรักษา หรืออะไรที่เขาไม่ไหวผมจะทำแทนให้

ว่าด้วยเรื่องสัมพันธภาพระหว่างคู่รักในวันที่ตัดเต้านม 

เมี่ยง: สำหรับมะเร็งเต้านม ก็มักจะมีคำถามนะว่าเราจะอยู่อย่างไรถ้าเราไม่มีเต้านม คำถามนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กเวลาที่คนอื่นมองมา แต่บางครั้งบางที มันสามารถนำไปสู่ปัญหาครอบครัวได้เลย ซึ่งมีผู้หญิงหลายคนที่ไม่ยอมตัดออกเพราะกลัวว่าจะมีปัญหาครอบครัว กลัวว่าจะสูญเสียความเป็นผู้หญิง กลัวจะโดนแฟนทิ้ง

ในกรณีของพี่ หลังจากคุยกับคุณหมอแล้ว พี่ก็มานั่งคุยกันว่าจะเสริมหรือไม่เสริม พี่เลือกที่จะไม่เสริมเพราะตอนที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง พี่อยากจะเอาออก ไม่อยากจะเอาอะไรที่ไม่ใช่ของร่างกายเรามาใส่อีก จำได้ว่าปกรณ์ถามว่าอยากเสริมไหม ตอนแรกเขาอยากให้เสริม เพราะเขาคิดว่าถ้าพี่เห็นว่าตัวเองไม่มีหน้าอกตลอดเวลาจะทำให้การใช้ชีวิตในอนาคตแย่ไหม จะส่งผลในด้านจิตใจรึเปล่า แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องปัญหาครอบครัว

แต่สำหรับพี่ ถ้าคุณหมอบอกให้ตัดโดยไม่มีทางเลือกอื่น แล้วถ้าคนในครอบครัวบอกไม่ให้ตัดด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ไม่เข้าท่า เราเปลี่ยนครอบครัวได้นะ ตัดทิ้งไปพร้อมกับนม เราต้องรักษาชีวิตเราไว้ก่อน พี่รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างไรก็อยากจะให้ทุกคนรักชีวิตของตัวเอง เชื่อหมอไว้ก่อน เพราะการตัดสินใจยิ่งช้า การรักษาจะยากขึ้น ส่วนการเสริมหน้าอกก็เป็นทางเลือกที่ดีนะ คนทำเยอะมาก ผ่าตัดตื่นมาได้หน้าอกใหม่ใสแจ๋ว ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเลือกวิธีเดียวกับพี่ เพราะการเสริมจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้จริงๆ สนับสนุนให้ทำ ถ้าทำได้และอยากทำ

ปกรณ์: เรื่องการตัดเต้านม เสริมหรือไม่เสริมหน้าอก ถ้าถามผม ผมไม่มีปัญหาเลย ผมแล้วแต่เขา ซึ่งเมี่ยงเป็นคนที่ถ้ามีอะไรแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย เขาจะคิดมาก ส่วนการตัดสินใจว่าจะเสริมหรือไม่ ผมว่าขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวครับ ไม่มีผิดไม่มีถูกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทั้ง 2 ทางก็ดีกับผู้ป่วย ตัวแปรคือเรื่องแนวทางการรักษาที่เหมาะกับโรค สภาพร่างกาย และความเห็นพ้องกันของครอบครัวมากกว่าว่าจะเลือกแบบไหน ดีทั้งคู่

เครื่องเตือนใจที่ชื่อมะเร็ง

ปกรณ์: เมื่อก่อนคำว่ามะเร็งสำหรับผมคือโรคคนแก่ ไกลตัว ซึ่งจริงๆ มันใกล้ตัวมาก ยิ่งเกิดกับคนใกล้ตัวด้วยแล้ว ก็ทำให้เราเห็นเลยว่ามันใกล้ขนาดนี้เลยนะ และอยากให้คนทั่วไปตรวจร่างกายสม่ำเสมอ อย่างที่เมี่ยงบอกว่ายิ่งเจอเร็วยิ่งรักษาง่าย เพราะมีนะ คนที่กลัวว่าจะเจอก็เลยเลือกที่จะไม่ไปตรวจ ซึ่งผลกระทบหลังจากนั้น ถ้ามันลุกลามไป การรักษาก็จะยากขึ้น ทุกวันนี้ ยังลุ้นนะว่าผล follow up แต่ละครั้งจะผ่านไหม จะมีความเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า แต่ก็จัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ดีขึ้น ทุกครั้งที่ผมเห็นรอยบาก 6 นิ้ว มันจะเป็นสิ่งเตือนใจผมอย่างหนึ่งว่าชีวิตคนไม่แน่นอน แต่ก็ทำให้ผมช่างมันกับชีวิตได้ง่ายขึ้น นิ่งมากขึ้น รู้สึกเบาลง และตัดได้ง่ายขึ้น ว่าสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเดี๋ยวมันก็ผ่านไป

คุณค่าของชีวิตที่อยู่ระหว่างทาง

ปกรณ์: ตั้งแต่เมี่ยงเป็นมะเร็ง กลายเป็นว่าผมใส่ใจกับสิ่งรอบตัวเรามากขึ้น เมื่อก่อนผมอาจจะละเลยรายละเอียดใกล้ๆ ตัวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือความสุขเล็กๆ ระหว่างวัน ตอนนี้ผมใส่ใจตรงนั้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผมรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายก็ตอนที่เราอยู่ระหว่างทางที่ดำเนินไป มากกว่าเป้าหมายที่อยู่ไกลๆ นั่น และทำทุกเรื่องในทุกวันให้ดีที่สุด

สุขของฉันคือการที่เธอยิ้มได้

ปกรณ์: นอกจากเรื่องสุขภาพ ผมอยากให้เขาใช้ชีวิตให้มีความสุข อยากทำอะไรให้ทำ ผมเองก็พยายามหากิจกรรมให้เขาทำ ไปเจออะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ ไม่เคยไป ไปชิมอาหารร้านนู้นร้านนี้ ผมคงไม่บอกอะไรกับเขานอกจากผมจะพยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้ดูแลเขาต่อไปได้นานๆ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ผมแข็งแรงกว่า แล้วตายทีหลังเขา

พอดี พอใจ พอประมาณ 

เมี่ยง: สำหรับพี่ พี่แนะนำให้ดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของความสุข เราไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดมากจนทำให้ชีวิตกดดัน ดูแลให้สมเหตุสมผล แล้วก็การตรวจร่างกายสำคัญ บางทีมะเร็งมันไม่มีสาเหตุหรือบอกไม่ได้หรอกว่าจะเป็นคนสาว คนแก่ คนที่มีความเสี่ยง ถ้ามันจะเป็นก็เป็น เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรผิดปกติในร่างกาย ให้ตรวจ อย่าช่างมัน ส่วนเรื่องจิตใจอยากจะบอกคนป่วยทุกคนว่า ถ้าเป็น พี่อยากให้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง ค่อยๆ ก้าวไปเป็นทีละสเต็ป ไม่อย่างนั้นจะงงและหาทางออกไม่ได้ ระหว่างการรักษาให้เชื่อและมั่นใจในตัวคุณหมอและการรักษา คนไข้มีหน้าที่รักษาใจ คุณหมอมีหน้าที่รักษากาย ถ้าเราหมดความมั่นใจแล้ว เราจะเริ่มไปหาข้อมูลอื่นๆ และทำให้หลุดออกจากเส้นทางการรักษาได้ง่าย 

อีกเรื่องหนึ่งคือค่ารักษาซึ่งแพง แล้วไม่รู้ด้วยว่าจะไปหยุดตรงไหน เพราะฉะนั้น เราต้องวางแผนตั้งแต่ตอนนี้เลยว่าถ้าต่อไปเราไม่สบายขึ้นมา เราจะทำอย่างไร สิทธิ์ที่เรามีอยู่โรงพยาบาลไหน เมื่อถึงคราวฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องมากังวล หลักๆ ของพี่คือเตรียมสุขภาพกาย สุขภาพใจ แล้วก็สุขภาพทางการเงิน ทางการเงินไม่ใช่ว่าต้องหาเงินเยอะๆ แต่ต้องรู้ว่าถ้าจำเป็น ตัวเองมีสิทธิ์การรักษาที่ไหนบ้าง

ปกรณ์: หน้าที่ของคนดูแลคือการประคับประคองด้านจิตใจ ทำอย่างไรให้เขามีความสุขได้บ้าง อะไรที่สร้างสุขขึ้นมาได้ ยิ่งสิ่งง่ายๆ ทำเลย บางทีความสุขไม่ต้องใช้เงินมากมายเลย อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องสุขภาพ ก็ต้องพากันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกกำลังกายหรือว่าการกินก็ตาม ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดแต่ไม่ต้องสุดโต่ง เรา 2 คนก็ทำไม่ได้ บางทีเราก็ทานกันยับเหมือนกัน มันจะต้องบาลานซ์ระหว่างสุขภาพใจกับสุขภาพกาย เราต้องมีความรับผิดชอบว่าจะต้องดูแลทั้ง 2 ส่วนนี้อย่างไร

ร้ายหรือไม่อยู่ที่ใจเรา

เมี่ยง: อีกสิ่งหนึ่งที่พี่อยากบอก คือมะเร็งไม่ใช่โรคน่ารังเกียจ แล้วการป่วยก็ไม่ใช่ความผิด แต่คนส่วนหนึ่งที่ไม่กล้าบอกคนอื่นเพราะว่าเขากลัว จนถึงตอนนี้คนอีกมากที่เข้าใจว่ามะเร็งคือจุดสิ้นสุดของชีวิต มีคำถามเกิดขึ้นอย่างเช่นว่า “รู้ไหมคนนี้เขาเป็นมะเร็ง เขาจะตายไหม” ซึ่งคนไข้ไม่น้อยนะที่กลัวว่าจะโดนเอาไปพูด ทำให้ยิ่งกดดัน พี่ไม่อยากให้คนป่วยคิดว่าเป็นมะเร็งเป็นเรื่องที่ไม่ดี จะต้องปิดซ่อน สอง – ก่อนที่จะไปบอกใคร เราอาจจะต้องสแกนคนก่อน ซึ่งเอาจริงๆ พวกเขาห่วงเราแหละ แต่เมื่อเขารู้ เขาจะพยายามแนะนำในสิ่งที่ตัวเองรู้และคนป่วยจะได้รับคำแนะนำเยอะมาก ซึ่งถ้าไม่สตรองพอ เราอาจจะตัดสินใจไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การรับข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนที่อยู่ในช่วงต้องตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร จริงๆ พี่ไม่ได้อยากให้คนไข้เปลี่ยนมุมมองอย่างเดียว แต่อยากให้คนทั่วไปเปลี่ยนมุมมองกับโรคนี้ด้วย

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul) 
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit Sumanun)
ภาพเพิ่มเติม: ทักษิณา รัตนศักดิ์ | Taksina Ratanasakdi และ ปกรณ์ พลชัย | Pakorn Polachai

Share To Social Media