ฐิตารีย์ มโนสิทธิศักดิ์ ว่าด้วยเรื่องชีวิต ความคิด และความกลัว

คุณกลัวอะไรที่สุดในชีวิต?

เชื่อว่าภายใต้ความหลากหลายของคำตอบนั้น ล้วนมี ‘ความไม่รู้’ เป็นต้นตออยู่แทบทั้งสิ้น นั่นอาจจะพูดได้ว่า ความกลัวที่เกิดขึ้นนั้นก็คือปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ที่มีต่อความไม่รู้ ซึ่งข้อดีของความกลัวก็คือช่วยกระตุ้นให้เราทุกคนรู้จักระแวดระวังตัว ไม่ประมาท กระทั่งหาวิธีป้องกันไว้ก่อน แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับระดับความกลัวของแต่ละคน เพราะหากความกลัวมากเกินไปจนไร้ซึ่งสติ ความกลัวนั้นย่อมไม่มีผลดีใดๆ เลย ตรงกันข้ามอาจจะนำผลร้ายมาสู่ตัวเราได้ เช่นเดียวกับคนที่ไม่มีความกลัวเลย–ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนกล้าหาญ แต่อาจจะเป็นแค่ ‘คนประมาท’ คนหนึ่ง และเมื่อเกิดภัยใดๆ ขึ้นก็อาจจะไม่สามารถปกป้องหรือเอาตัวรอดได้ ฉะนั้น อย่าเขินอายที่จะ ‘กลัว’ เพราะความกลัวเป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา แค่ยอมรับและเอาชนะความกลัวนั้นซะ ซึ่งอาวุธเดียวที่จะเอาชนะความกลัวได้ก็คือ ความรู้เท่าทัน 

กุ้ง-ฐิตารีย์ มโนสิทธิศักดิ์ คุณแม่วัย 50 กะรัตของลูกสาวสามคน พร้อมพ่วงตำแหน่งคุณยายหน้าใสของหลานสาวตัวน้อยอีกสอง อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2 positive ระยะ 3 ที่เคยกลัวมะเร็งมาตั้งแต่จำความได้ แต่เมื่อเธอมาอยู่ในสถานะผู้ป่วยมะเร็ง เธอกลับได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการเป็นมะเร็งนั้น ไม่ใช่ตัวโรคหรือผลข้างเคียงจากการรักษา แต่เป็น ‘ความกลัว’ ของตัวผู้ป่วยเองต่างหาก นั่นเองเป็นที่มาที่ทำให้หลังจบการรักษา เธอตัดสินใจอุทิศแรงกาย แรงใจ และเวลาส่วนหนึ่งในชีวิตเป็น ‘จิตอาสา’ เพื่อช่วยเหลือและส่งต่อพลังบวกไปยังผู้ป่วยมะเร็งเท่าที่กำลังจะมี

“ทัศนคติที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เพราะเราเชื่อว่าผู้ป่วยเกือบทุกคน พอรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ไม่มีใครไม่กลัว ลึกๆ ทุกคนก็กลัวกันทั้งนั้น เพียงแต่ความกลัวจะอยู่กับเราสั้นหรือยาว ก็ขึ้นอยู่ที่สติของแต่ละคน ถ้าตั้งสติได้เร็ว เดินหน้ารักษาตัวต่อได้ไว แน่นอนว่าก็จะดีกับตัวผู้ป่วยเอง เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เคยกลัว แต่ไม่ใช่ความกลัวตาย เป็นความกลัวการทรมานจากการรักษามากกว่า เนื่องจากเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเท่าที่ควร และจากประสบการณ์ที่เคยเห็น ‘คุณป้า’ ที่เลี้ยงเรามาป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม ระหว่างการรักษา เรารับรู้ได้ว่าท่านทรมานมาก ทั้งต้องตัดเต้านมทิ้ง พอให้คีโม ผมของท่านก็ร่วง มีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน กินอะไรไม่ได้ กระทั่งฉายแสง ผิวหนังก็เกิดอาการไหม้ หลุดลอก และไม่นานท่านก็จากไป นั่นกลายเป็นความเชื่อฝังหัวมาตลอดว่า ถ้าใครเป็นมะเร็ง…ต้องตายแน่นอน ซึ่งทั้งหมดเป็นความกลัวที่มาจากความไม่รู้” 

บทเรียนราคาแพง

“ย้อนหลังกลับไปตอนอายุ 26 ปี ตอนนั้นเราตรวจพบเนื้องอกในมดลูก เป็นเหตุให้ต้องผ่าตัดมดลูกทิ้ง ก่อนจะตรวจติดตาม ‘เต้านม’ และ ‘รังไข่’ เรื่อยมาเป็นประจำทุกปี ไม่เคยขาดมากว่า 22 ปี จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 เรามีอาการเจ็บที่บริเวณใต้รักแร้ แต่ตอนนั้นคิดไปเองว่า น่าจะมาจากการดูแลคุณแม่สามีที่ป่วยติดเตียง เพราะเราต้องคอยพลิกตัวท่านไปมาเป็นประจำ จึงไม่ได้เอะใจอะไร บวกกับเราเพิ่งผ่านการตรวจเต้านมกับคุณหมอสูติฯ ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรร้ายแรงได้ แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไปไม่นาน รักแร้เริ่มบวมขึ้น จึงตัดสินใจไปหาคุณหมอสูติฯ ที่ตรวจภายในและเต้านมให้ประจำ 

“พอคุณหมอตรวจคลำหน้าอกดู แต่ไม่เจออะไรผิดปกติ จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นอาการต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้อักเสบ และคุณหมอก็นัดติดตามผลอีกครั้งในเดือนสิงหาคม แต่ด้วยความกังวลใจ เราจึงขอนัดหมายตรวจเต้านมกับคุณหมอเฉพาะทางที่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ก็คือโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งได้คิวเร็วสุดคือ 1 กันยายน 2565 หรืออีก 3 เดือนถัดมา 

“พอถึงวันนัด คุณหมอก็ส่งให้ไปแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่า น่าจะมีอะไรผิดปกติแน่ๆ เพราะคุณหมออัลตราซาวนด์ที่ใต้รักแร้นานเป็นพิเศษ หลังจากตรวจเสร็จ 1 ชั่วโมง คุณหมอก็เรียกฟังผล โดยบอกสั้นๆ ว่า พบก้อนที่เต้านมและใต้รักแร้ จากนั้นก็แนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ  

“ด้วยความที่เราเคยมีประวัติเป็นเนื้องอกมาก่อน ทำให้ประกันสุขภาพในตอนนั้นไม่ครอบคลุมค่ารักษา ‘เนื้องอก’ จึงปรึกษาคุณหมอขอไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ฝั่งรัฐบาล เพื่อประหยัดค่ารักษาพยาบาล ซึ่งคุณหมอก็ใจดีมาก ส่งตัวและนัดคิวให้เจาะชิ้นเนื้อภายในสัปดาห์นั้นเสร็จสรรพ

“หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็นัดให้มารับผลการตรวจซึ่งเป็นเอกสาร ก่อนจะถึงวันนัดฟังผลกับคุณหมออีกครั้ง หลังจากได้เอกสารมา พอเราเห็นค่า BIRAD 5 ก็ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ทำให้พอรู้แล้วว่าตัวเองคงเป็นมะเร็งแน่นอน กระทั่งถึงวันที่คุณหมอนัด ผลก็เป็นไปตามคาด คือเราเป็นมะเร็งเต้านม ระยะ 3 แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ที่สำคัญยังเป็นมะเร็งพันธุ์ดุ ชนิด HER2 positive แบบไม่มีตัวรับฮอร์โมน

“ตอนนั้นเกิดคำถามขึ้นมาว่า ตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมได้อย่างไร เพราะตลอดกว่า 22 ปี เราตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เต้านม รวมถึงตรวจภายใน เราไปตามนัดไม่เคยขาด หากเป็นมะเร็ง ทำไมไม่พบในระยะต้นๆ แต่ด้วยความที่เราไม่ได้ไปหาหมอเฉพาะทางด้านเต้านม แต่เป็นการให้คุณหมออ่านผลจากการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เท่านั้น จึงอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ไม่พบความผิดปกติใดๆ และด้วยความดุของมะเร็งชนิด HER2 ทำให้ทุกอย่างลุกลามไปอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงช่วงระหว่างปีของการรอตรวจ”

หาความรู้สู้ความกลัว

“หลังออกจากห้องคุณหมอในวันนั้น เราก็โทรบอกลูกสาวและสามีทันที จำได้ว่าลูกๆ ต่างตกใจและร้องไห้กันใหญ่ ส่วนสามีก็พยายามบอกเราว่า ไม่เป็นไร เป็น…ก็รักษาไป ไม่ต้องกลัวนะ แต่ลึกๆ ก็คิดว่าเขาน่าจะเครียดอยู่พอสมควร หลังกลับถึงบ้าน ลูกสาวทั้งสามคนก็มารวมตัวแล้วช่วยกันเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็ง โดยเข้าเพจและกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับมะเร็ง ทำให้เราได้รู้จักกับ Art for Cancer เป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจในโรคมะเร็งมากขึ้น ยิ่งเรามีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น ความกลัวก็ยิ่งน้อยลง นั่นเองที่ทำให้สติเริ่มกลับมาและพร้อมรับมือกับโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี 

“ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะนอกจากกำลังใจทั้งจากครอบครัวและคนที่รักมอบให้อย่างมหาศาลแล้ว เรายังรู้สึกว่า เรายังมีโอกาสที่ดีในการรักษา ได้เจอคุณหมอที่ดี ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอศัลยกรรม คุณหมอคีโม คุณหมอฉายแสง ฯลฯ แม้จะเป็นโรงพยาบาลรัฐ แต่การรักษาทุกอย่างดำเนินไปค่อนข้างรวดเร็ว เพราะพอรู้ผลว่าเป็นมะเร็งในวันที่ 1 กันยายน 2565 แล้ว เราก็เริ่มให้คีโม 4 เข็ม พร้อมยามุ่งเป้า 4 เข็ม ในเดือนตุลาคม 2565 และโชคดีมากที่สุดตรงที่มะเร็งตอบสนองกับยา หลังให้คีโมครบ 4 เข็ม ก้อนก็หายไปจนหมด จากเดิมที่คุณหมอขอผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองเต้า ก็เปลี่ยนแผนมาเป็น ‘การผ่าตัดแบบสงวนเต้า’ และเลาะต่อมน้ำเหลืองออกไป 7 ต่อมเท่านั้นในเดือนมกราคม 2566 

“หลังผ่าตัดแล้ว พักฟื้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็เข้าสู่การให้คีโมต่ออีก 4 เข็ม พร้อมด้วยยามุ่งเป้าต่อเนื่องอีก 14 เข็ม ก่อนจะฉายแสงอีก 33 แสง เรียกได้ว่าเต็มแมกซ์ทุกขั้นตอน รวมระยะเวลารักษาตัวไปกว่า 1 ปีครึ่ง โดยจบการรักษาไปเมื่อเดือนมีนาคม 2567 แต่กว่าจะจบได้ ก็เกือบแย่เหมือนกัน” 

ระหว่างทางการรักษา

“ด้วยความที่เรารู้อยู่แล้วว่า กระบวนการในการรักษามะเร็งนั้นค่อนข้างหิน พอรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เราก็พยายามบำรุงร่างกายให้พร้อมกับการรักษาทุกทาง กินทุกอย่าง โดยเฉพาะไข่ขาว รวมถึงเสริมด้วยโปรตีนทางการแพทย์ ทำให้การให้คีโมเข็มแรกนั้นแทบไม่มีอาการแพ้ใดๆ เลย นอกจากภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง และนั่นทำให้สัปดาห์แรกหลังจากให้คีโมมาก็ติดโควิดทันที แต่โชคดีที่กินยาแก้ไข้แค่เม็ดเดียว จากนั้นก็หมั่นเช็ดตัวบ่อยๆ จนหายเป็นปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์ และสามารถให้คีโมเข็มที่ 2 ต่อได้เลย หลังจากนั้นก็ผ่านคีโมสูตรน้ำขาว 4 เข็มแรก พร้อมยามุ่งเป้ามาอย่างราบรื่น 

“พอให้คีโมครบ 4 เข็มแล้ว คุณหมอก็นัดผ่าตัดแบบสงวนเต้า และพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นก็เริ่มให้คีโมเข็มที่ 5 ต่อ โดยรอบนี้เป็นคีโมสูตรน้ำแดง พอครบ 8 เข็มแล้ว คุณหมอก็ให้ฉายแสงต่ออีก 33 แสง พร้อมด้วยยามุ่งเป้าต่อจนครบ 14 เข็ม และด้วยความที่เราเป็นมะเร็งเต้านมด้านซ้ายและการให้ยามุ่งเป้านั้นมีผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อหัวใจอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องฉายแสงแบบ ‘กลั้นหายใจ’ จะได้ลดผลข้างเคียงต่อหัวใจลง 

“ระหว่างการฉายแสงนั้น เราก็คิดว่าตัวเองแข็งแรงดีเพราะน้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่า 10 กิโลกรัม กินได้ทุกอย่าง นอกจากผมร่วงและมีอาการตากุ้งยิงจากอาการแพ้คีโมแล้ว อาการข้างเคียงอื่นๆ ก็แทบไม่มี ทำให้ใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่เหมือนคนป่วย แต่ด้วยความที่มะเร็งลามไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว จำเป็นต้องฉายแสงครอบคลุมมาถึงคอ ซึ่งผลจากการรักษาทำให้หลอดอาหารตีบลง และเจ้าหน้าที่ฉายแสงก็จะเตือนเราทุกครั้งว่า เวลากินข้าวให้เคี้ยวช้าๆ นะคะ เพราะหลอดอาหารจะตีบลงนะคะ แต่ทุกครั้งที่ผ่านมาก็ไม่มีอาการใดๆ สามารถกินอาหาร กินยาได้ตามปกติ จนกระทั่งฉายแสงมาจนครั้งที่ 30 วันนั้นเราก็กินยาตามปกติเหมือนทุกวัน แต่วันนั้นดันกลืนไม่ลง เหมือนยาเข้าไปขวางหลอดลมพอดี โชคดีมากที่วันนั้นสามีอยู่บ้าน เราก็รีบเดินไปหาและชี้ที่คอ เพื่อบอกเขาว่า ยาติดคอและหายใจไม่ออก 

“พอสามีรู้ก็ทำการ ‘รัดท้องอัดยอดอก’ เพื่อจะให้ยาหลุดออกมาจากหลอดลม ทำไปราว 3 ครั้ง ยาก็ยังไม่หลุด จนหน้าเราเริ่มเขียวเพราะขาดอากาศหายใจ สามีตัดสินใจอัดครั้งสุดท้ายอย่างแรง จนยาหลุดออกมา เราสามารถหายใจได้ แต่ปรากฏว่าซี่โครงเราหักไป 2 ซี่ โชคดีมากที่ซี่โครงไม่หักไปทิ่มอวัยวะอื่นๆ ซึ่งคุณหมอก็บอกว่า ทำถูกแล้ว เพราะหากนำส่งโรงพยาบาลก็คงไม่ทัน ตอนนั้นต้องใช้เวลาในการรักษาตัวไปราว 3 เดือน กว่ากระดูกซี่โครงจะประสานกันสนิท 

“หลังจบการรักษา เราก็เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ใหม่หมด พยายามดูแลตัวเองมากขึ้น โดยมีลูกๆ เป็นผู้ช่วย เช่น ตั้งนาฬิกา 4 ทุ่มปุ้บ! ต้องเข้านอน ส่วนเรื่องอาหารก็เปลี่ยนมาเป็นกินข้าวกล้อง หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน ของปิ้งย่าง เน้นกินโปรตีนให้ถึง ซึ่งทั้งหมดนี้เราได้มาจากการหาข้อมูลจากผู้รู้ คุณหมอ อดีตผู้ป่วย และแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือในโซเชียลตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง ทำให้มีความรู้มากขึ้น ความกลัวลดลง และมีสติพร้อมรับมือกับโรคมะเร็งและอาการต่างๆ ที่เข้ามา สำคัญที่สุดก็คือเรารู้แล้วว่า มะเร็งก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด จากเดิมที่มีความเชื่อฝังหัวว่า มะเร็งคือโรคร้าย ใครเป็นมะเร็งก็เท่ากับตาย แต่วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว มะเร็งก็แค่โรคโรคหนึ่งที่รักษาได้ แค่เราต้องยอมรับความจริงให้ได้ ตั้งสติให้ไว ดำเนินการรักษาไปให้ถูกทาง และอย่ายอมแพ้”

พรุ่งนี้อาจไม่มีอยู่จริง

“หากย้อนหลังกลับไปตอนอายุ 18 ปี เคยมีหมอดูทักว่า เราจะเป็นมะเร็งเกี่ยวกับเพศหญิง ด้วยความเป็นเด็กในตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งอายุ 25 ปี ก็มีหมอดูมาทักอีกว่า เราจะเป็นมะเร็ง ซึ่งตอนนั้นผ่านการผ่าตัดมดลูกออกแล้ว จึงคิดว่าคงไม่เป็นแล้วมั้ง พออายุ 32 ปี ก็มีหมอดูมาดูฮวงจุ้ยที่บริษัทและเดินมาที่โต๊ะ ก่อนจะทักว่า คนที่นั่งโต๊ะนี้จะเป็นมะเร็งนะ ตอนนั้นเริ่มคิดหนักถึงขั้นบินไปฮ่องกงเพื่อแก้ดวง แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น พออายุ 48 ปี ก็ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งอยู่ดี ตั้งแต่นั้นมาเราก็เชื่อเสมอว่า โลกนี้ไม่มีเหตุบังเอิญ ทุกอย่างคงถูกกำหนดมาแล้ว และเราทุกคนต่างก็ไม่รู้ว่าชีวิตจะนำพาเราไปเจอกับอะไรบ้าง แต่เราล้วนเลือกที่จะมี ‘มุมมอง’ ต่อสิ่งที่เจอได้

“นั่นเองที่ทำให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต เราจะไม่มองสิ่งที่เสียไป แต่เราจะมองสิ่งที่ยังมีอยู่ ทำให้พอรู้ว่าเป็นมะเร็ง เราจึงไม่มัวฟูมฟายว่าจะมีชีวิตอยู่อีกเท่าไร แต่เราหันมาโฟกัสถึงการใช้ทุกวินาทีที่มีอยู่อย่างมีคุณค่า ใช้ชีวิตในแต่ละวันเสมือนเป็นวันสุดท้าย เพราะเรารู้แล้วว่า ชีวิตเรานี้ไม่ได้มีวันพรุ่งนี้เสมอไป…” 

___

เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : วุฒินันท์ จันโทริ

แม่ชีณัฐรดา ทิพย์สมบัติ มะเร็งเปลี่ยนไป เมื่อใจเราเปลี่ยนแปลง

อย่างที่รู้กันดีว่าโลกนี้ไม่มีอะไรอยู่นิ่ง แม้ชีวิตก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นสัจนิรันดร์ ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนอยู่ภายใต้ความเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้ และ ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งซึ่งเคยมี เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว…ไม่มี มาแล้ว…ก็หายไป เปลี่ยนไป หลายสิ่งทิ้งไว้เพียงสัญลักษณ์ให้จดจำ หลายอย่างทิ้งเรื่องราวให้รำลึก ศึกษา เรียนรู้ ขอบคุณ และก้าวข้ามไปด้วยปัญญาที่เข้าใจยิ่งขึ้น เพื่อสุดท้ายเราจะมั่นคง เบิกบานได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

แม่ชีณัฐรดา ทิพย์สมบัติ ผู้ป่วยมะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก ชนิดพบน้อย แต่เป็นพันธ์ุดุแพร่กระจายเร็ว วัย 45 ปี อดีตเจ้าของกิจการรับฝากขายอสังหาริมทรัพย์ สปา และร้านกาแฟ ฯลฯ ผู้ที่เคยเข้าใจว่า การมีรายได้มากๆ จะนำมาซึ่งความสุขของตัวเองและคนที่เธอรัก นั่นจึงทำให้เธอยอมทุ่มเท ทั้งเวลา แรงใจ แรงกายทั้งหมด จนกระทั่งมะเร็งได้เข้ามาทักทาย เสมือนเป็นการค้นพบครั้งใหม่ที่นำไปสู่ความเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง 

“ณ วินาทีที่คุณหมอแจ้งผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็ง และเป็นพันธุ์ดุ แพร่กระจายเร็ว จะต้องเร่งให้คีโม สิ่งที่แวบขึ้นมาในตอนนั้นคือ อ๋อ…นี่นะหรือของยืม สู่ความเข้าใจยิ่งขึ้นว่า ตัวเรา ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกเหตุการณ์ ทุกผู้คน สัตว์ สิ่งต่างๆ แม้แต่คนที่รักที่ผ่านเข้ามาล้วนเป็นเพียง ‘ของยืม’ ของชั่วคราว ไม่เที่ยง ต่างมีความแปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัย แค่ผ่านมาให้รู้ว่า นี่คือทุกข์ มีสภาพทุกข์ เป็นทุกขลักษณะ คือ ไม่เที่ยง ยึดเป็นตัวตนไม่ได้เลยว่า เป็นเรา เป็นของเรา ลาภ ยศ สรรเสริญ เหมือนบ่วงหยาบที่กว่าจะวางได้ก็หลงใช้เวลายึดมานาน เมื่อวางได้สุดท้ายก็เรายังหลงยึดบ่วงละเอียดอีก นี่คือคนรัก ครอบครัว รักกันอย่างไรก็เอาไปไม่ได้ เหมือนตื่นจากความหลง สู่การวางว่า ไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา แล้วอาการที่เข้าไปยึด นั่นแหละตัวทุกข์ที่ไปยึดของไม่เที่ยง เพราะอยากจะให้มันคงเดิม

“มันดูเหมือนยาวนานนะ พอเล่าออกมาเป็นภาษาพูด แต่จริงๆ ตอนเห็นเร็วมากที่ผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไปหลังคุณหมอพูดไม่นาน แล้วสติก็ดึงกลับมาที่ปัจจุบันว่า ก็ในเมื่อตอนนี้เป็นแล้ว จะให้ทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องยอมรับและอยู่ร่วมกันไปในฐานะของยืมเช่นกัน ที่จะไม่เบียดเบียนกัน ยิ้มแล้วก็ขอบคุณที่ทำให้ได้เรียนรู้บางอย่างอย่างเข้าใจ และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือทำอย่างไรไม่ให้ครอบครัวและคนที่รักทุกข์ใจไปกับเรา คำตอบที่ได้คือยิ้ม เราต้องยิ้ม บอกเขาด้วยใจยิ้ม ใช้ชีวิตด้วยรอยยิ้มให้เขาใจเบา ทุกคนจะได้คลายความห่วง คลายทุกข์จากความห่วงเรา รอยยิ้มเราช่วยให้เขาเบาใจ

“ทันทีที่มีสติ เราก็จะรู้เท่าทันทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกสิ่งที่มากระทบ และสามารถเห็นทุกอย่างได้ตามความเป็นจริง  ยอมรับทุกอย่างได้ตามความเป็นจริงในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ธรรมดา เรียกว่าเกิดการเรียนรู้ จนยอมรับ แล้วนำไปสู่การปล่อยวางด้วยปัญญา ปล่อยวางในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มาอยู่กับสิ่งที่ควบคุมได้ นั่นก็คือ ‘ใจที่ปกติ’ อยู่ก่อนนั่นเอง”

วิกฤตสุขภาพ

“ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นยังใช้ชีวิตฆราวาสและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เดิมทีเป็นคนโครงสร้างเล็ก เริ่มมีอาการผิดปกติทางร่างกายคือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 12 กิโลกรัม ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน จากคนไซส์ XS กลายเป็นไซส์ XL จนคนเริ่มทักมากขึ้นว่า อ้วนขึ้นนะ ซึ่งก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง เพราะการรับรู้และภาพจำของคนทั่วไป ผู้ป่วยมะเร็งก็คือคนที่ผอมซูบ หมอง ไม่ผ่องใส ตรงข้ามกับเราในตอนนั้นโดยสิ้นเชิง

“ด้วยพื้นฐานเป็นคนดูแลสุขภาพเรื่องอาหารอยู่แล้ว และระยะ 2-3 ปีหลัง เมื่ออายุใกล้เลข 4 ก็เริ่มหันมาใส่ใจการออกกำลังกายมากขึ้น จึงพยายามควบคุมอาหารและออกกำลังกายด้วยตนเอง แต่น้ำหนักก็ไม่ลง และยังสังเกตเห็นอาการผิดปกติ คือ ท้องเริ่มโตขึ้น และท้องแข็งตลอดเวลา แม้ตอนตื่นนอนที่ยังไม่ได้ทานอะไรเลย ซึ่งปกติคนเราจะท้องแฟบในยามเช้าหลังตื่นที่ยังไม่ได้ทานอาหาร แต่ท้องเรากลับแข็งและใหญ่ ทั้งที่การขับถ่ายยังปกติ และยังมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและเรอบ่อยแม้ทานอาหารแค่นิดเดียว จนคนรอบข้างทักบ่อยขึ้นว่า มีน้องหรือเปล่า ท้องหรือเปล่า บวมไปทั้งตัว จึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งด้วยมั่นใจแล้วว่า ต้องมีความผิดปกติบางอย่างในร่างกายที่ต้องอาศัยการตรวจละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญ

“หลังจากที่อธิบายอาการอย่างละเอียด เจ้าหน้าที่คัดกรองก็ส่งเราไปยังแผนกโภชนาการและเบาหวานทันที ซึ่งคุณหมอมุ่งประเด็นความสนใจไปที่เรื่องน้ำหนักตัวเพิ่ม โดยไม่ได้มีการตรวจร่างกาย มีเพียงตรวจผลเลือด ดูไขมันไตรกลีเซอไรด์และระดับน้ำตาล ซึ่งทุกค่าอยู่ในระดับดีทั้งหมด นั่นทำให้ถูกชักชวนเข้าร่วมโปรแกรมการทานอาหารคีโต โดยมีคุณหมอคอยติดตามการทานอาหารแต่ละมื้อผ่านทางไลน์ทุกวัน และมีการนัดทุก 2 สัปดาห์ ต่อเนื่องประมาณ 8 เดือน โดยผลเลือดดีขึ้นทุกครั้ง และไม่พบว่าเป็นโรคพุ่มพวง (SLE) รวมถึงยังไม่พบสาเหตุความผิดปกติอื่นใด

“เวลาผ่านไป น้ำหนักตัวนอกจากจะไม่ลดเลย กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งรู้สึกว่าร่างกายแย่ลง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียง่าย แน่นท้อง มีปัญหาเรื่องลมและการย่อยมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยขึ้น และไม่ได้ส่งตัวไปตรวจแผนกอื่น จึงตัดสินใจยุติการรักษา และตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตต่างจังหวัดกับครอบครัว ด้วยคิดว่าคงเป็นชีวิตช่วงสุดท้ายแล้วในตอนนั้น เพราะร่างกายที่ถอยลงทุกวันอย่างไม่รู้สาเหตุและใช้เวลาในการรักษากับคุณหมอเต็มที่แล้ว”

สู่การค้นพบคำตอบของชีวิต

“ระหว่างที่กลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดก็มีโอกาสได้เจอคุณหมออีกท่านซึ่งเป็นสูตินรีแพทย์ และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากตรวจพบก้อนขนาดใหญ่กว่า 14 เซนติเมตร ในช่องท้อง และนำมาสู่การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด จากนั้นก็ทราบผลตรวจชิ้นเนื้อในภายหลังว่า เป็นมะเร็งชนิดพันธุ์ดุ แพร่กระจายเร็ว ซึ่งไม่สามารถรักษาโดยแพทย์ทางเลือก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นมะเร็งชนิดที่พบน้อย คือ มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก ลุกลามไปรังไข่และบริเวณโดยรอบ จึงจำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดโดยด่วน

“สิ่งที่แวบเข้ามาในตอนนั้น คือ ไม่เชื่อ ใช่เหรอ ตรวจผิดหรือเปล่า แต่ยังมีสติคอยบอกว่า อืมม…เมื่อเป็นแล้วก็ต้องตามนั้นแหละ ก็ต้องอยู่เป็นเพื่อนกับเขาไป ไม่เบียดเบียนกัน แล้วก็ร้อง อ๋อ…ขึ้นมาใจว่า นี่เหรอ ‘ของยืม’  นี่เหรอ ลาภ ยศ สรรเสริญ ดุจบ่วงหยาบที่เคยเข้าใจมาทั้งชีวิตว่าสำคัญ…กว่าจะวางได้ สุดท้ายก็ อ๋อ…ยังมาติดบ่วงละเอียดอีก คือ ครอบครัว คนรัก ให้รักกันแค่ไหนก็เอาไปไม่ได้ ร่างกายนี้ก็เช่นกัน

“จากนั้นก็เกิดความรู้สึกเย็นตั้งแต่หัวจรดเท้าขึ้นมาทันที จึงยิ้มแล้วบอกคุณหมอไปว่า ‘ค่ะ’ พร้อมกำชับคุณหมอว่า ‘ผลการวินิจฉัยนับจากนี้ ไม่ว่าเป็นอย่างไรขอให้คุณหมอแจ้งผลกับคนไข้คนเดียวเท่านั้นนะคะ ไม่ต้องแจ้งญาติคนไข้เพราะท่านอายุเยอะกันแล้ว ไม่อยากให้เป็นกังวลกัน’”  

ตื่นรู้อยู่กับมะเร็ง

“หลังจากวันนั้น ด้วยความที่เราไม่อยากให้แม่และทุกคนเป็นทุกข์ใจ เราจึงใช้วิธีรักษาใจตัวเองให้ปกติแล้วบอกความจริงกับทุกคนด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะใช้ชีวิตด้วยอาการท่าทีอย่างปกติธรรมดาที่มะเร็งยังไม่ได้เข้ามา แน่นอนว่าทุกคนที่รักและเป็นห่วงเราย่อมตกใจและมีท่าทีที่เป็นห่วง แต่พอเห็นรอยยิ้มของเราและการแสดงออกที่เป็นปกติ ไม่ได้มีความทุกข์เศร้าหมองแต่อย่างใด ก็เริ่มเข้าสู่การปรับตัวยอมรับ 

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากมะเร็งในตอนนั้นก็คือ การได้เห็นความรักจากทุกคน มีคนที่รักและเป็นห่วงเรามากมาย ทั้งคนในครอบครัว ญาติ มิตร และเพื่อนฝูง ยิ่งเรารู้ว่าทุกคนรักเรา เราก็จะยิ่งต้องยิ้มขอบคุณและจะไม่ทำให้ทุกคนทุกข์ใจที่เห็นเราทุกข์ และการที่เราคนนึงมีสติจะนำพาคนรอบข้างให้มีสติไปด้วย นั่นหมายความว่าการดูแลใจตัวเองก็เท่ากับการได้ดูแลใจผู้อื่นเช่นกัน

“ด้วยข้อมูลและประสบการณ์ที่มีเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ทำให้ในวันนัดเคมีบำบัดเข็มแรก เราจึงตัดสินใจปฏิเสธการรับเคมีบำบัดครั้งนั้นไป เพราะหากมีอาการอ่อนเพลียหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ก็ไม่อยากเป็นภาระให้กับคนในครอบครัวที่ต้องมาดูแลในระหว่างการรักษา เราจึงตั้งใจจะดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อไม่เป็นภาระใคร และยังคงรักษาใจให้ปกติ ซึ่งคุณหมอก็ตกลง เพียงแต่ต้องมีการติดตามอาการทุกเดือน และกรณีที่พบความผิดปกติของก้อนหรือมีการกระจายก็ต้องให้เคมีบำบัดทันที

ก้าวแรกสู่เส้นทางธรรม

“พอครบ 2 ปีเต็ม คุณหมอก็แจ้งว่า หากผลตรวจร่างกายในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยนเสมือนที่ผ่านมา คุณหมอจะเริ่มเลื่อนนัดทุก 6 เดือนแล้ว และหากผลยังออกมาเหมือนเดิมอีก ก็จะนัดปีละครั้ง วางแผนการติดตามกันไว้แบบนี้ ทำให้เข้าใจว่าแนวโน้มโรคดีขึ้น ระหว่างนั้นจึงเริ่มมองหาสถานที่บวชเพื่อศึกษาธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่อยากทำด้วยเห็นในประโยชน์

“ย้อนหลังกลับไปปี 2541 สมัยที่ยังเป็นนิสิตปี 1 ได้มีโอกาสเข้าปฏิบัติธรรมในโครงการที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ซึ่งการเดินทางไปปฏิบัติธรรมในครั้งนั้นได้เปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่รู้จักศาสนาพุทธไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่รู้จักเพียงการเข้าวัด ทำบุญ ถวายสังฆทาน แต่การปฏิบัติธรรมครั้งนั้นทำให้เข้าใจถึงหลักธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพระพุทธองค์มองเห็นตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อน นำมาสู่ความศรัทธาที่จะใคร่รู้ ใคร่ศึกษาทุกครั้งที่มีโอกาส จนวันที่ได้เจอโรคมะเร็ง ทำให้เข้าใจชีวิตจากคำสอนของพระพุทธองค์มากขึ้น

“ดังเช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาพของร่างกายที่ไม่เที่ยง แปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ความอยากจะให้มันคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง และยึดของไม่คงที่ว่าเป็นเรานี่แหละที่ทำให้เป็นทุกข์ เป็นความจริงที่ธรรมดาแต่น้อยคนที่จะยอมรับ จนสูญเสีย ‘ใจที่ปกติ’ ซ้ำร้ายบางคนก็ยังทุกข์โดยที่ไม่รู้ว่ากำลังทุกข์ จึงไม่คิดหาทางออกจากทุกข์ ทางนี้จึงเป็นทางที่คิดว่าทุกคนควรศึกษา นั่นเป็นที่มาของการตัดสินใจบวชเพื่อศึกษาพระสัทธรรมให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น และคิดว่าเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ครอบครัว ผู้มีพระคุณ ทุกคนที่รักเรา อีกทั้งการบวชนี้ยังถือว่าได้เป็นสะพานพาครอบครัวและเพื่อนให้ได้มาเรียนรู้พระสัทธรรมด้วย”

ร่างกายนั้น…ไม่เที่ยง

“ระหว่างที่รอนัดฟอลโลอัปในครั้งต่อไปนั้น ด้วยความมั่นใจว่าน่าจะคุมโรคได้แล้ว เราจึงติดต่อสถานปฏิบัติธรรมเพื่อขอบวชไว้เรียบร้อย โดยวางแผนว่าจะไปบวชในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 หลังจากไปหาคุณหมอตามนัดแล้ว แต่ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ก็มีเหตุให้ต้องเข้าผ่าตัดด่วน เนื่องจากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ถึงขั้นขยับตัวไม่ได้ โชคดีที่ช่วงนั้นมาทำธุระที่กรุงเทพฯ เพื่อนจึงส่งตัวแอดมิตที่โรงพยาบาลรามา ผลปรากฏว่าพบก้อนขนาด 7-8 เซนติเมตร ในตำแหน่งที่เคยผ่าตัดไปแล้ว โดยก้อนดังกล่าวเกิดการบิดตัว ปริ แตก และติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามะเร็งได้กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ คุณหมอต้องใช้เวลาในการผ่าตัดกว่า 13 ชั่วโมง และใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอวัยวะต่างๆ ที่มะเร็งกระจายไปทั้งหมด 5 ทีม 

“ถัดจากนั้นอีก 2 เดือน คุณหมอก็นัดให้คีโมทุกสัปดาห์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะคุมโรคได้ ด้วยมะเร็งที่เราเป็นนั้นเป็นชนิดที่พบน้อย พันธุ์ดุ เพราะไม่ค่อยตอบสนองกับการรักษาใดๆ โดยคีโมทีใช้นั้นเป็นสูตร Doce+Gem* ซึ่งเป็นสูตรที่ไม่ค่อยมีผู้ป่วยมะเร็งในไทยได้รับกันมากนัก อีกทั้งยังต้องฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดระหว่างสัปดาห์ 

หมายเหตุ : *โดซีแทกเซล (Docetaxel) และเจมไซตาบีน (Gemcitabine) 

“แม้ในใจจะอยากปฏิเสธการรักษา แต่เพื่อให้คนรอบข้างเบาใจที่สุดในตอนนั้นจึงจำเป็นต้องปล่อยวาง และรับคีโมตามคุณหมอสั่ง อาการข้างเคียงก็มีบ้างเป็นธรรมดา แต่เราก็พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยไม่เอาข้อมูลหรือประสบการณ์ในอดีตมาสะกดจิตหรือหลอกตัวเองให้จิตตก หรือสร้างความกลัวไปก่อน สิ่งเดียวที่ทำคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และทำให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมรับกับการรักษาให้มากที่สุด 

“ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาใจให้ปกติ เพราะไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง หรือเกิดเหตุการณ์ใดๆ ในวันนี้ สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ก็ต้องวางลง และหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราควบคุมได้ ก็คือใจเราเอง หน้าที่เดียวของเราก็คือดูแลใจของตัวเองให้ปกติ มีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดไปก่อน ไม่คิดไปไกล ไม่คิดถึงเมื่อวาน อยู่แค่ตรงนี้

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

“เป็นเวลากว่า 1 ปีที่แผนการบวชถูกพับเก็บไว้ จนกระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2566 คุณหมอก็แจ้งขอจบการรักษาด้วยคีโม เพราะผลการตรวจร่างกายของเรานั้น ทำให้คุณหมอเกรงว่า หากให้คีโมต่อไป ทั้งไตและอวัยวะอื่นๆ อาจจะทนไม่ไหว จึงสั่งจบคอร์สคีโม แม้จะยังคุมตัวโรคไม่อยู่ และมีการแพร่กระจายเป็นระยะ อีกทั้งการตอบสนองกับยาเคมีบำบัดก็เริ่มน้อยลง โดยวันนั้นก่อนออกจากห้องตรวจ คุณหมอก็พูดขึ้นว่า ‘คนไข้ยอดเยี่ยมมากเลยนะ ในฐานะที่หมอดูแลคนไข้มา บอกเลยว่าหมอชื่นใจนะ ไม่คิดว่าคนไข้จะอดทนถึงขนาดนี้ นับจากวันนี้ไปคนไข้ต้องมีความสุขให้มากๆ นะคะ อยากทำอะไร…ทำเลย อยากเที่ยวที่ไหน…ไปเลย อยากกินอะไร…กินเลย’

“หลังจากกล่าวลาคุณหมอแล้ว สิ่งแรกที่ทำหลังจากก้าวเท้าออกมาจากห้องตรวจก็คือโทรไปยังสถานปฏิบัติธรรมที่เคยตั้งใจจะไปบวชเมื่อปีก่อน และติดต่อขอบวชทันที ทางเจ้าหน้าที่ก็นัดหมายเป็นวันที่ 6 มิถุนายน 2566 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีกำหนดจะลาสิกขาบท และตั้งใจจะบวชไปจนกว่าจะรู้สึกว่าร่างกายไม่ไหวแล้ว ถึงเวลานั้นคงต้องกลับไปเกื้อกูลคนที่บ้าน 

“จากวันที่จบคอร์สคีโมและมาบวช แม่ชีก็ยังไปฟอลโลอัปกับคุณหมอที่โรงพยาบาลรามาอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจว่าโรคมะเร็งนี้ไม่มีวันหาย มีแค่ช่วงที่สงบและไม่สงบเท่านั้น และไม่ว่าจะอยู่ช่วงใด เราก็เต็มใจที่จะอยู่กับเขา ที่ผ่านมาเราไม่มีความรู้สึกว่า อยากหนีจากโรคนี้ หรืออยากผลักไสเขาออกไป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกดีใจจังที่ฉันเป็นมะเร็งนะ แค่เราอยู่ด้วยความเข้าใจและยอมรับ” 

แค่ของยืมจากธรรมชาติ 

“ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์สุขทุกข์ใดๆ ล้วนเป็น ‘ของยืม’ ที่ผ่านมาและผ่านไป ถ้ามีสติ…เราก็จะรู้ว่าสิ่งต่างๆ นั้นมาเพียงแค่ให้เรารู้ เรียนรู้ และจากกันด้วยการขอบคุณ แต่ถ้าเมื่อไรที่เราต้อนรับสิ่งเหล่านี้ด้วย ‘ความไม่รู้’ ไปยึดมั่นอยากให้มันอยู่ ยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา และต้องการให้มั่นคงอยู่อย่างนั้นไปตลอด ความจริงแล้วธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่เคยทำร้ายใคร ใจที่ไม่ยอมรับต่างหากที่ทำร้ายและทำให้ใจทุกข์ 

“คำว่า ‘มะเร็ง’ ไม่ได้แตกต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เข้ามาในชีวิต เพียงแต่เราไปให้คำนิยามแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ในอดีต บ้างว่า ‘มะเร็ง’ แปลว่า ตาย บ้างก็ว่า ‘มะเร็ง’ แปลว่า ความน่ากลัว หรือหลายๆ คนอาจจะว่า ‘มะเร็ง’ คือความทรมาน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ในอดีตล้วนๆ ที่เราเคยได้รู้ เคยได้ยิน เคยได้ฟังมา แต่หากเรายอมรับ ‘มะเร็ง’ เป็นแค่เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งล้วนเกิดภายใต้ความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ที่เป็นอื่นตลอดเวลา เราก็จะไม่ทุกข์  

“มะเร็งในวันนี้ขึ้นอยู่ที่เราจะนิยาม ถ้าเรานิยามว่าเป็นโรคร้าย มะเร็งก็คือโรคร้าย แต่ถ้าเราให้คำนิยามว่า มะเร็งคือของขวัญ มะเร็งก็เป็นของขวัญที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ได้ปัญญาการปล่อยวาง ไม่ว่าจะยืมใช้ด้วยนิยามอะไร ผลที่ได้คือความหนักเบาของใจไม่เท่ากัน”

___

เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : วุฒินันท์ จันโทริ

พิมลพัชร์ ธนุสุทธิยาภรณ์ ตื่นรู้และดำรงอยู่อย่างเข้าใจ 

ในเชิงพุทธศาสนานั้นยกย่องให้ ‘การตื่นรู้’ เป็นสภาวะสำคัญในการเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดที่มีคุณค่าคือเกิดมาและได้ฝึกฝนเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตตามสัญชาตญาณไปสู่การดำรงชีวิตด้วยปัญญาญาณ พูดง่ายๆ ว่า การตื่นรู้เป็นปัญญาญาณที่ทำให้เราเห็นคุณค่าความหมายอันงดงามของชีวิต และเราทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อตื่นรู้ความหมายอันงดงามนี้…ในวันใดวันหนึ่ง 

ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทฤษฎีตายตัว เราล้วนมีวิถีการตื่นรู้แตกต่างจำเพาะไปตามแต่ละบุคคล บ้างตื่นรู้จากเรื่องราวแจ่มใส เบิกบาน ไม่น้อยก็ตื่นรู้จากปัญหาขุ่นมัว เศร้าหมอง จนรู้แจ้งความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นวิถีใด การตื่นรู้ย่อมนำมาซึ่งความหมายในการมีชีวิตอยู่ที่เปลี่ยนไปตลอดกาล

หนึ่งในนั้นก็คือ พอลลีน-พิมลพัชร์ ธนุสุทธิยาภรณ์ แฟชั่นดีไซเนอร์วัย 35 ปี เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Taupe ที่พ่วงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของไทย บี บี ฟรุท ผู้ผลิตและนำเข้าขนมหวานชนิดต่างๆ ที่ครองใจวัยรุ่นฟันน้ำนมมากว่า 40 ปี เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมในวันที่ชีวิตกำลังไปได้สวย ท่ามกลางความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามา เธอกลับมองเห็น ‘ชีวิต’ ในอีกมุมหนึ่ง

“ความคิดแรกก็คือ ตายแน่! ฉันคงต้องหัวล้านแล้วตายไปในที่สุด (หัวเราะ) เพราะมุมมองเกี่ยวกับมะเร็ง ณ วันนั้น มะเร็งเท่ากับตาย ทำให้เราทุกข์ใจมากๆ และเสียใจที่สุดที่ต้องทิ้งสามีให้อยู่คนเดียว ด้วยความที่เขาเป็นชาวแคนาดาและย้ายมาอยู่สิงคโปร์เพื่อจะใช้ชีวิตกับเราได้เพียง 3 ปี จึงเป็นห่วงเขามาก ยิ่งไปกว่านั้นก็ห่วงพ่อแม่และพี่ๆ ทั้งสี่คน เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความห่วงกังวลถึงคนอื่นทั้งหมด

“ทุกข์ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ กระทั่งวันหนึ่งก็เกิดโมเมนต์เหมือนรีเฟล็กซ์กับตัวเองว่า ตลอดระยะเวลาที่เราเสียใจ เป็นทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และเอาแต่ถามตัวเองซ้ำๆ ว่า ทำไมต้องเป็นเรา หรือนั่งรถออกไปเห็นคนเดินถนนแล้วอิจฉาที่เขาไม่ได้เป็นมะเร็ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราเติบโตขึ้นเลย ตรงกันข้ามจิตใจของเรากลับดาวน์ดิ่งลงเรื่อยๆ จนทำให้เราคนเดิมที่สามารถเรียนรู้และดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจ…หายไป

“เราเริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่นั้นเริ่มไร้ประโยชน์ และเราไม่อยากเสียเวลาไปกับความเสียใจในเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว เราทุกข์มาจนถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะจมทุกข์อยู่กับอดีตหรือเดินต่อไปข้างหน้าด้วยการยอมรับความจริง และไม่กลับมาจมทุกข์อีกแล้ว ซึ่งพอลลีนก็เลือกอย่างหลัง” 

แรกเริ่ม

“ย้อนหลังกลับไปราวปลายเดือนกันยายน 2567 ด้วยความที่เรามี TikTok พอลลีนก็จะรับงานรีวิวอยู่บ้าง ซึ่งตอนนั้นก็ได้งานรีวิวแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมา ซึ่งโดยปกติเราตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์มาก่อนเลย ด้วยความที่อายุเพิ่ง 35 ปี เราจึงรู้สึกว่ายังไม่ถึงวัยที่จะตรวจ และหากจะตรวจก็คงรอให้ถึง 40 ปีก่อน เพราะทั้งคุณแม่และพี่สาวทั้งสามคนของเราก็เริ่มตรวจเต้านมตอนอายุ 40 ปี 

“ที่ผ่านมาการตรวจสุขภาพประจำปีก็ไม่มีอะไรน่าห่วง ด้วยความที่เราถูกสอนให้ดูแลสุขภาพอย่างดีมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งเรื่องการกิน การนอน และการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้ไลฟ์สไตล์ของพอลลีนก็คือ กินดี นอนดี และออกกำลังกาย ตั้งแต่จำความได้คุณแม่ของพอลลีนจะเคร่งครัดมากเรื่องการกิน เราถูกสอนให้เลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ไม่กินขนมกรุบกรอบ ขนมซองๆ น้ำอัดลม หรือฟาสต์ฟู้ดใดๆ เลย ฯลฯ ทำให้กลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเรามาจนโต และพอลลีนแน่ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เลยว่ามะเร็งในเคสของเรานั้นไม่ได้มาจากปัจจัยเรื่องการกินหรือไลฟ์สไตล์แน่นอน

“ด้วยความที่เป็นงาน เราจึงไม่อยากปฏิเสธ ซึ่งยอมรับว่านี่คือความโชคดีในโชคดีมากๆ เพราะหลังจากตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์แล้ว คุณหมอก็ทักว่าพบสิ่งผิดปกติที่เต้านมด้านขวาและแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ  ซึ่งเราก็ตัดสินใจว่าเจาะเลย คุณหมอก็เจาะให้ในวันนั้นเลย”

เรียนรู้

“อีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมา คุณหมอก็นัดให้เข้ามาฟังผลชิ้นเนื้อ ด้วยความคิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งคือ 0 เปอร์เซ็นต์ เราก็ยังบ่นกับพี่ๆ ว่า ทำไมต้องนัดไปฟัง โทรมาบอกผลก็ได้มั้ง (หัวเราะ) แต่โชคดีที่วันนั้นเป็นช่วงที่สามีมาเมืองไทยพอดี จึงชวนให้ไปฟังผลด้วยกัน คุณหมอแจ้งผลเป็นภาษาไทย แน่นอนว่าสามีที่นั่งอยู่ข้างๆ ฟังไม่รู้เรื่อง และหลังจากคุยกับคุณหมอจบ เราก็หันมาบอกกับสามีว่า พอลลีนเป็นมะเร็งนะ สามีก็บอกว่า พอรู้แล้วละ เพราะ 20 กว่านาทีที่คุยกับคุณหมอ สามีจะได้ยินคำว่า ‘มะเร็ง’ อยู่หลายๆ ครั้ง และคิดว่าน่าจะหมายถึง cancer นี่แหละ

“สิ่งที่สามีทำกับเราก็คือทำทุกอย่างให้ดูปกติ ไม่พยายามผลักความคิดเห็นของเขาให้กับเรา หากแต่พยายามเข้าใจเรา แม้จะเข้าใจได้ไม่ทั้งหมด แต่เขาก็พยายาม โดยประโยคหนึ่งที่เขามักจะถามในวันที่เราเสียใจหรือกังวลมากๆ ก็คือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจมากที่สุด

“6 ปีกับความสัมพันธ์ตั้งแต่พบกัน เป็นแฟนกัน กระทั่งแต่งงานกันมา ไม่มีวันไหนที่เราทะเลาะกันเลยสักครั้ง และความสัมพันธ์ของเรามันดีมากๆ เฮลตี้มากๆ แต่ในวันที่เราเป็นมะเร็งแล้วเรากอดสามี เสียใจ ร้องไห้ เราเพิ่งเข้าใจประโยคที่ว่า มีรักย่อมมีทุกข์ เราได้เห็นสัจธรรมของความรักอย่างแท้จริงในวันนั้น จากที่เคยคิดว่ารักของเรามันดีจังเลย แต่ต่อให้ความรักดีแค่ไหน สุดท้ายก็ทุกข์อยู่ดี

“พอลลีนรู้สึกว่าครั้งนี้เป็นการเรียนรู้ รู้แจ้ง และเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในการเกิดเป็นมนุษย์ของเราเลยก็ว่าได้ เราเข้าใจว่า อ๋อ…ชีวิตคนเราเกิดมาก็ต้องเรียนรู้อย่างนี้แหละ ถ้าเกิดมาแล้วไม่ยอมเรียนรู้ ก็คงไม่เติบโต การเกิดนั้นก็ย่อมเสียเปล่า”

เข้าใจ

“นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะปลูกฝังเรื่องการปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่เรามีความทุกข์ เราก็จะย้อนกลับไปหาธรรมะและคำสอนของพระพุทธองค์ พยายามทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาด้วยใจที่เปิดกว้างและเข้าใจ 

“หลังรู้ผลคืนนั้นพอลลีนเข้าไปนั่งในห้องพระและเอาแต่ถามคำถามเดิมๆ ว่า Why Me? ทำไมต้องเป็นเรา ทำไมๆๆๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เริ่มได้สติก็อธิษฐานกับพระพุทธรูปตรงหน้าว่า ชีวิตนี้พอลลีนยังเรียนรู้ได้ไม่เข้าใจมัน 100 เปอร์เซ็นต์เลย ขอโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อจะเรียนรู้ชีวิต ทำความเข้าใจธรรมะและสัจธรรมของชีวิตให้ได้มากกว่านี้ เรายังไม่อยากให้มันจบวันนี้ ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนบอกกับตัวเองไปด้วยว่า ให้ลองสู้และขอให้โลกใบนี้ช่วยให้เราได้มีชีวิตอยู่ต่อ

“วันรุ่งขึ้น ทันทีที่เราลืมตาตื่นขึ้นมา ก็ยังมีความรู้สึกตัดพ้อทำนองว่า เฮ้ออออ…ทำไม Story ในชีวิตเราต้องเป็นอย่างนี้ ก็ยังอยู่ แต่เราก็พยายามจะไม่จมไปกับมันและเดินหน้าปรึกษาคุณหมอ 3 ท่าน เพื่อขอ Second Opinion โดยระหว่างนี้จะมีเพียงสามี พี่สาว 3 คน และพี่ชายเท่านั้นที่รู้ เพราะเราไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ต้องมาทุกข์ เครียด หรือกังวลไปกับเรา 

“กระทั่งเช้าวันหนึ่ง คุณพ่อก็ส่งพุทธพจน์บทหนึ่งมาให้ ซึ่งเป็นปกติทุกวันอยู่แล้วที่ท่านจะส่งคำคมหรือธรรมะมาให้เราผ่านทางไลน์ แต่แปลกที่วันนั้นพุทธพจน์บทเดิมนี้ปรากฏให้เราเห็นถึง 3 ครั้ง จากต่างที่ต่างเวลากัน โดยที่เราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอัลกอริทึม (Algorithm) หรือเปล่า แต่ก็เป็นประโยคที่ทำให้เราได้ฉุกคิด ซึ่งประโยคนั้นก็คือ

“พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ 
พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต 
เมื่อเล็งเห็นประโยชน์สูงสุด 
พึงสละทั้งอวัยวะและชีวิต 
เพื่อรักษาธรรมไว้”

“จำได้ว่าโมเมนต์นั้นทำให้เรายอมที่จะสละชีวิตได้ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเรายอมตาย แต่เป็นการสละความยึดติดถือมั่นในชีวิตนี้ เพื่อมีธรรมะในจิตใจ เพื่อเราที่จะได้เรียนรู้ต่อ และนี่คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของพอลลีนเลยก็ว่าได้ เพราะนั่นทำให้เราเปลี่ยนจากความคิดที่ว่า ‘ชีวิตต้องเป็นแบบที่เราต้องการ’ มาเป็น ‘ชีวิต…ไม่ว่าขึ้นหรือลง ทุกข์หรือสุข it’s OK’ เหมือนประโยคที่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมดีเสมอ หลังจากนั้นเราเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตใหม่ เป็นมุมมองที่ทั้งชีวิตที่ผ่านมาเราไม่เคยมีมุมมองนี้เลย”

เติบโต   

“หลังจากผ่าตัดสงวนเต้าผ่านไปไม่นาน ก็ทราบผลว่าตัวเองเป็นมะเร็งในท่อน้ำนมชนิด ‘มิวซินัส’ (Mucinous Carcinoma) ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม (Ductal carcinoma in situ) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า DCIS อีกทั้งยังเป็นในระยะ 0 เท่านั้น  

“เราได้คำตอบเหล่านี้ในวันที่เราเอาชนะ (overcome) ความทุกข์ ความกลัว และความคิดที่ว่า ฉันตายแน่!  มาแล้ว (หัวเราะ) และคุณหมอก็บอกว่าเราโชคดีที่พบในระยะนี้ และเข้าสู่การรักษาได้ไว แต่เหตุการณ์นี้ก็ตอกย้ำให้เรารู้ว่า บางทีสิ่งที่เรามองไม่เห็นก็น่าจะมีอยู่จริง 

“หลังพักฟื้นจากผ่าตัด 1 เดือน พอลลีนก็เข้าสู่กระบวนการฉายแสงทั้งหมด 16 แสง โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก็จบการฉายแสง จากนั้นก็รับประทานยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี”

ผลิบาน

“ทุกวันนี้ วิถีชีวิตของพอลลีนไม่ได้เปลี่ยน ยังโฟกัสกับการกินดี นอนดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมือนเดิม แต่เปลี่ยน Mindset ใหม่หมด เริ่มจากการจัดเรียงลำดับความสำคัญในชีวิต จากเมื่อก่อนเป็นคนบ้างาน (Workaholic) ต้องทำงานทุกชิ้นออกมาให้ดีที่สุด แต่พอมะเร็งเข้ามา เราได้เรียนรู้ว่า ชีวิตมันมีอะไรที่มากกว่านั้น…

“ในวันที่เราป่วย มีอาการข้างเคียงจากการฉายแสง เราเห็นภาพตัวเองเหมือนปลาที่กำลังนอนพะงาบๆ บนเตียง ทำอะไรไม่ได้เลย จะลุกนั่งก็ไม่ได้ กินก็ไม่ได้ แม้แต่จะนอนหลับก็นอนไม่ได้ วินาทีนั้นเรารู้เลยว่า มันไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพ จิตใจ และร่างกายของเรา

“ทุกวันนี้พอลลีนจะบอกกับคนรอบข้างเสมอว่า อย่าบอกว่าตัวเองไม่กลัวตาย ถ้ายังไม่ได้จะตายจริงๆ เราไม่มีวันรู้หรอกว่า ความตายมันน่ากลัวแค่ไหน พอลลีนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ความตายมีอยู่จริง แต่เกือบทั้งหมดมักคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว หรือคิดว่าอายุยังไม่ถึงวัยใกล้ความตาย โดยหลงลืมไปว่าความตายไม่ได้เลือกวัย

“ทุกคนเกิดมาพร้อมแพ็กเกจดูโอ คือ เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีแก่ มีเจ็บ มีตาย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่นึกว่าเราจะแก่ เจ็บ ตาย และใช้ชีวิตไปโดยหลงลืมความจริงข้อนี้ไป พอลลีนก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น เรามักคิดว่า ไม่ตายวันนี้หรอก เรามักคิดว่า เราอยู่ห่างไกลจากความตาย เรามักคิดว่า เวลาของเรายังมีอีกเยอะ แต่พอมะเร็งเข้ามาเรารู้เลยว่า ความตายมีอยู่จริงและกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ มะเร็งทำให้เราใช้ชีวิตอย่างตระหนักถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจ”

___

เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : วุฒินันท์ จันโทริ

ภัทรวรรณ สุขวิบูลย์ สู่ฉันคนใหม่ในโลกใบเดิม

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกการเดินทางจะสวยงามและราบรื่นไปเสียหมด บางการเดินทางก็น่าเบื่อหน่าย บางการเดินทางก็เต็มไปด้วยอุปสรรค แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่นักเดินทางจะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อหยุดอยู่กับที่ ก็คงเหมือนกับทุกอย่างในชีวิตคนเราที่ล้วนมีสองด้านเสมอ ทั้งด้านดีและด้านร้าย แต่ถึงที่สุดแล้วเราทุกคนต่างมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับอะไร จมดิ่ง หรือปล่อยวางและเดินต่อไปข้างหน้า หากมองในแง่ดี หลายครั้งสิ่งเลวร้ายในชีวิตเราก็ให้แง่คิด สร้างบทเรียน กระทั่งทิ้งประสบการณ์ที่มีคุณค่าไว้ให้ชีวิตเราได้เหมือนกัน   

แพรว-ภัทรวรรณ สุขวิบูลย์ กราฟิกดีไซเนอร์และวิดีโอ อิดิเตอร์ แห่งเปเปอร์มอร์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2 positive ระยะ 1 วัยเพียง 32 ปี ที่ผ่านการผจญภัยไปในโลกมะเร็งอยู่หลายครั้งหลายครา ครั้งแรกในสถานะหลานสาวที่อาสาพาคุณป้าที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปให้เคมีบำบัด ครั้งที่สองในบทบาทของผู้ดูแลคุณพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย และครั้งที่สามกับการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างเป็นทางการหมาดๆ เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งยังพ่วงท้ายตำแหน่งผู้ (ป่วย) ดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมตามมาติดๆ 

“ใครที่รู้เรื่องราวของแพรวมาตั้งแต่ต้น ก็มักถามด้วยคำถามคล้ายๆ กันว่า โรคมะเร็งมันติดต่อกันได้หรือเปล่าเนี่ย!?! เพราะดูเหมือนชีวิตแพรวจะแวดล้อมไปด้วยบรรดาผู้ป่วยมะเร็ง ยิ่งช่วงที่เรากำลังให้เคมีบำบัดและร่างกายกำลังล้ามากๆ คุณแม่ก็มาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมอีกคน นั่นเป็นเหตุผลให้เราต้องมองหาแม่บ้านเข้ามาช่วยดูแล ปรากฏว่าญาติก็แนะนำพี่แม่บ้านคนหนึ่งมาให้ ถามไปถามมาปรากฏว่าพี่แม่บ้านคนนั้นก็เป็นอดีตผู้ป่วยมะเร็งลำไส้อีก (หัวเราะ)” 

มะเร็งของพ่อ

“ย้อนหลังไปเมื่อ 6 ปีก่อน คุณพ่อของแพรวตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งลำไส้ระยะ 4 ช่วงนั้นแพรวเพิ่งเริ่มทำงานประจำได้ไม่นาน พอรู้ว่าคุณพ่อเป็นมะเร็ง เราก็ตัดสินใจยื่นจดหมายลาออก เนื่องจากตอนนั้นคุณหมอวินิจฉัยมาแล้วว่า คุณพ่อจะอยู่กับเราได้อีกไม่เกิน 1 เดือน จากนั้นก็มุ่งมั่นตั้งใจทำทุกอย่างเสมือนเป็นพยาบาลท่านหนึ่ง ดูแลตั้งแต่การออกไปตลาดในตอนเช้าเพื่อหาวัตถุดิบมาทำอาหารที่ดีที่สุดให้พ่อ ทำความสะอาดร่างกาย ทำแผล เปลี่ยนถุงหน้าท้อง ฯลฯ โดยหวังลึกๆ ว่า เราจะช่วยให้พ่อเอาชนะโรคนี้ให้ได้ จึงทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ที่สุด กระทั่งท่านจากไปในอีก 6 เดือนถัดมา ซึ่งนับเป็น 6 เดือนที่มีค่าที่สุดในชีวิตของแพรว และทุกครั้งที่เราย้อนมองกลับไป แพรวไม่เคยเสียใจหรือเสียดายอะไรเลย เพราะเราทำทุกอย่างอย่างสุดความสามารถเท่าที่ลูกคนหนึ่งจะทำได้แล้ว มันเป็นการจากไปที่งดงามที่สุดแล้ว และไม่มีห่วงกังวลใดๆ ต่อกันแล้ว 

“หลังงานศพของคุณพ่อเสร็จสิ้น วันหนึ่งเราก็เข้าไปเก็บกวาดทำความสะอาดในห้องท่าน และพบว่ามีหนังสือเกี่ยวกับวิธีต้านมะเร็งอยู่จำนวนหนึ่ง นั่นทำให้เรารู้ว่าคุณพ่อน่าจะรู้ตัวมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ด้วยชุดความคิดความเชื่อแบบเก่าๆ ทำให้เขากลัวที่จะไปรักษาตัว จึงปล่อยไว้จนโรคดำเนินมาถึงระยะท้ายๆ ที่ไม่มีโอกาสรักษาแล้ว และเมื่อย้อนคิดกลับไป เราจะพบว่าหลายครั้งคุณพ่อได้ส่งสัญญาณผ่านคีย์เวิร์ดบางอย่าง เช่น บอกให้เราไปเรียนวิชาป้องกันตัว เนื่องจากตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ว่าแพรวจะไปไหนมาไหน คุณพ่อก็จะคอยไปรับไปส่งด้วยความห่วงเสมอ ซึ่งตอนนั้นท่านคงรู้ตัวว่าจะอยู่กับเราได้ไม่นานแล้ว จึงอยากให้มีวิชาป้องกันตัวเอาไว้”

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจผล

“แพรวไม่แน่ใจว่ามันเป็นความกลัวหรือแค่กังวลกันแน่ แต่หลังจากรู้ว่าคุณพ่อเป็นมะเร็ง ก็ทำให้เรานึกถึงสุขภาพตัวเองขึ้นมาและอยากลองตรวจสุขภาพดูบ้าง จากเมื่อก่อนแทบไม่ได้อยู่ในความคิดเราเลย ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับเพื่อนสนิทคุณแม่แนะนำสถาบันมะเร็งแห่งชาติมาให้ เพราะเขาตรวจสุขภาพที่นี่เป็นประจำ และการตรวจสุขภาพครั้งนั้นก็ทำให้เราพบก้อนที่เต้านมด้านขวาจากการคลำด้วยมือของคุณหมอ ก่อนจะตรวจซ้ำด้วยการอัลตราซาวนด์อีกครั้ง แต่ผลการตรวจยังอยู่ในระดับไม่น่าเป็นห่วง คุณหมอจึงนัดติดตามผล 

“ปีแรกผลก็ยังปกติดี พอปีที่ 2 ก็พบว่าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น และผล BIRADS4 คุณหมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่ก็ยังไม่พบเชื้อมะเร็ง จึงนัดติดตามผลเรื่อยมา จนกระทั่งปีที่ 3 ขนาดก้อนก็ยังคงใหญ่ขึ้นไม่หยุด ตอนนั้นคุณหมอก็ยังบอกว่าไม่น่าจะเป็นอะไรร้ายแรง เพราะเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจแล้ว แต่อย่างที่รู้กันดีว่า การเจาะชิ้นเนื้อก็เป็นการสุ่มตรวจ เราจึงเริ่มเป็นกังวล และบางทีเราก็รู้สึกเจ็บจี๊ดที่หน้าอกอยู่เป็นระยะ จึงขอร้องคุณหมอให้ผ่าตัดเอาก้อนนี้ออกไป ซึ่งคุณหมอก็นัดผ่าตัดในอีกหนึ่งเดือนถัดมา แต่เป็นแค่การผ่าตัดเล็กและจะนำก้อนที่ผ่าออกมาส่งตรวจอีกรอบเพื่อความมั่นใจ 

“หลังผ่าตัดเราก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ วันหนึ่งก็มีคนเอามะพร้าวมาฝาก เราก็หยิบขึ้นมาเฉาะโดยลืมไปว่าแผลที่ผ่าตัดยังไม่สมานดี นั่นเป็นเหตุให้เลือดไหลออกจากแผลผ่าตัด ทำให้ต้องรีบกลับไปหาคุณหมออีกครั้ง และปรากฏว่าผลตรวจก้อนนั้นส่งมาถึงคุณหมอพอดี จึงทำให้รู้ว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม HER2 แบบไม่ทันตั้งตัว”

ขอเที่ยวก่อนได้ไหม?

“เป็นความรู้สึกช็อกในช็อกก็ว่าได้ ด้วยความที่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็น และก่อนหน้านั้นก็จองตั๋วไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์จิบลิ (Ghibli Museum) ที่ประเทศญี่ปุ่นกับเพื่อนสนิทเป็นที่เรียบร้อย ตั๋วพร้อม ที่พักพร้อม เพื่อนพร้อม ทุกอย่างพร้อมหมด ยกเว้นตัวเรา และความที่อยากไปมาก ถึงขั้นไปขอหมอว่า ‘ขอไปเที่ยวก่อนได้ไหม ค่อยกลับมารักษาได้ไหมคุณหมอ’ แน่นอนว่าคุณหมอไม่อนุญาต (หัวเราะ)

“หลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์เราก็เข้าสู่กระบวนการรักษา โดยคุณหมอให้ตัวเลือกมา 3 ตัวเลือก คือ 1) ผ่าตัดสงวนเต้า 2) ผ่าตัดออกทั้งหมด และ 3) ผ่าตัดทั้งหมดแล้วเสริมเต้า เราก็ตัดสินใจเลือกข้อแรก เพราะคิดว่าน่าจะรักษาคุณภาพชีวิตและความมั่นใจไว้กับเราได้มากที่สุด จากนั้นก็มุ่งมั่นเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ทั้งหมด โดยมี ‘พี่ออย’ (ไอรีล ไตรสารศรี) ผู้ก่อตั้งโครงการอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล (Art for Cancer by Ireal) เป็นแรงบันดาลใจ โดยเราจะคิดเสมอว่า ขนาดพี่ออยเป็นระยะ 4 แล้วยังสู้เลย เราก็ต้องสู้ดิ! จากนั้นเราก็เดินหน้าลุยเลย” 

วาเลนไทน์กับชายปริศนา

“เนื่องจากการผ่าตัดครั้งแรกเป็นการผ่าตัดเล็กที่ยังไม่รู้ว่าเป็นมะเร็ง จึงทำให้คุณหมอต้องนัดผ่าตัดในครั้งที่สองและฉีดสีในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อตรวจดูการลุกลามของมะเร็ง ซึ่งบอกตามตรงว่ากลัวมาก เพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องวางยาสลบ  พอเข้าห้องผ่าตัด ทางวิสัญญีแพทย์ก็เข้ามาคุยด้วย ‘จะใส่ท่อช่วยหายใจแล้วนะ’ ตอนนั้นเราก็ยิ้มแห้งๆ หัวใจก็เริ่มเต้นแรงขึ้นเรื่อยๆ จนคุณหมอแซวว่า ‘แหม หัวใจเต้นแรงจังเลย’ จากนั้นจอก็ดับไปเลย ไม่รู้สึกตัวอะไรอีกแล้ว  

“ก่อนจะพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในทุ่งดอกไม้กับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ความรู้สึกตอนนั้นมีความสุขแบบบอกไม่ถูก และภาพสวนดอกไม้ก็สวยงามตราตรึงจนเราอยากอยู่ตรงนั้นไปตลอดกาลเลย จนกระทั่งได้ยินเสียงพยาบาลมาปลุก ผู้ชายคนนั้นก็รีบปล่อยมือเราทันที และเหมือนจะบอกกับเราว่าให้กลับไป ทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้นมา รอบเตียงก็ห้อมล้อมไปด้วยนางพยาบาลหลายคนมาก จากนั้นก็ตบมือให้เราแล้วพูดขึ้นพร้อมกันว่า ‘โอ้โห ภัทรวรรณเก่งมากเลย ฟื้นตัวเร็วมาก’ 

“หลังจากตั้งสติได้ สิ่งแรกที่เรามองหาก็คือ ‘สายเดรน’ เพราะก่อนจะผ่าตัดคุณหมอจะบอกล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าตื่นมาแล้วพบว่าตัวเองมีสายเดรนติดอยู่ นั่นหมายถึงมะเร็งได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้วนะ ปรากฏว่าไม่มี ตอนนั้นดีใจมาก เรียกว่าเป็นของขวัญวันวาเลนไทน์ที่ดีที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้  

“สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นคำถามค้างคาใจจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ผู้ชายในสวนดอกไม้นั้น…ใช่คุณพ่อของเราหรือเปล่า ไม่มีใครตอบเราได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือแพรวกลายเป็นคนที่เชื่อในเรื่องโลกหลังความตายอย่างสนิทใจ และคิดเสมอว่าเราได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยนับจากนี้ไปเราจะใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ไม่กลับไปวนลูปกับไลฟ์สไตล์เดิมๆ ที่เสี่ยงจะทำให้มะเร็งกลับมา ที่สำคัญยังไม่ลืมที่จะขอบคุณมะพร้าวลูกนั้น ที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเราเป็นมะเร็งก่อนกำหนด (หัวเราะ)”

‘ทัพพี’ สีสันในก๊วนสามแม่ครัว 

“หลังพักฟื้นอยู่ประมาณ 1 เดือน ก็เข้าสู่กระบวนการให้เคมีบำบัด โดยแบ่งเป็นสูตรน้ำแดง 4 เข็ม ทุก 3 สัปดาห์ และต่อด้วยสูตรน้ำขาวอีก 12 เข็ม ทุกสัปดาห์ จากนั้นจึงจะเข้าสู่การให้ยามุ่งเป้า 17 เข็ม ทุก 3 สัปดาห์ และฉายแสง 24 แสง ทุกวัน เป็นอันจบการรักษา 

“ระหว่างที่รักษามาจนถึงเคมีบำบัดสูตรน้ำขาวประมาณเข็มที่ 6 คุณแม่ก็ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมอีกคน กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรุ่นน้องเรา (หัวเราะ) แต่โชคดีมากที่ไม่ใช่สายพันธุ์ดุอย่าง HER2 และยังอยู่ในระยะ 1 แต่คุณแม่ก็ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมด้านซ้ายยกเต้าเพื่อปิดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ และรับยาเคมีบำบัดต่ออีก 4 เข็ม ก่อนจะกินยาต้านฮอร์โมนต่ออีก 5 ปี  

“นับเป็นช่วงชีวิตที่ความทุกข์ถาโถมเข้ามาแบบไม่พัก แต่เราก็พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังเรามี จำได้ว่าพอรู้ว่าแม่เป็นมะเร็ง แทนที่จะนั่งทุกข์อยู่บ้านรอการรักษากันสองแม่ลูก เราก็ออกไอเดียพาแม่ไปล่องแพที่กาญจนบุรีกับเพื่อนๆ คุณแม่รวม 5 คน กระโดดน้ำเล่นกันอย่างไม่แคร์วิกผม หัวเราะดังๆ ให้กับโรคมะเร็ง ก่อนจะกลับเข้าสู่กระบวนการรักษาพร้อมรอยยิ้ม และตั้งแต่นั้นมาแพรวก็กลายเป็นหนึ่งในก๊วน ‘สามแม่ครัว’ แก๊งสาวๆ วัย 67 ปี ที่มีแม่และเพื่อนแม่อีกสองคนเป็นสมาชิก พอมีเราแทรกตัวเข้ามา ก๊วนนี้ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘สามแม่ครัวกับหนึ่งทัพพี’ ชวนกันกิน เที่ยว และทำกิจกรรมสนุกๆ จนถึงทุกวันนี้”

กิน-กาย-ใจ

“ตั้งแต่เริ่มรักษาจนถึงทุกวันนี้ แพรวจะให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง คือ กิน กาย และจิตใจ การกิน ก็จะเน้นอาหารกลุ่มโฮลฟู้ดส์ (Whole foods) และแพลนต์เบส (Plant-based food) เน้นวัตถุดิบสด สะอาด และธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนการทางการปรุงอะไรมาก ขณะที่โปรตีนก็จะเน้นแค่เนื้อขาว เช่น ปลา ไก่ ไข่ต้ม ฯลฯ เป็นหลัก และเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน ซึ่งพอกินไปได้สักระยะ ร่างกายเราก็จะเรียนรู้ พอเจอของทอด ของมัน ก็เริ่มไม่อยากกินแล้ว นอกจากนี้ก็จะเสริมอาหารทางการแพทย์บ้าง เช่น โปรตีนจากพืช เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเป็นระยะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่ผู้ป่วยทุกคนต้องเจออยู่แล้ว และหน้าที่เราก็คือกินให้ได้มากที่สุด ซึ่งช่วงนั้นก็จะมีเครื่องปั่นอาหารคู่กาย เอาไว้ปั่นผักผสมโปรตีนกิน เพื่อจะได้กลืนง่าย ย่อยง่าย ถ่ายคล่อง 

“ส่วน เรื่องร่างกาย นอกจากเรื่องการนอนเร็วขึ้น ก็ยังเพิ่มเวลานอนระหว่างวัน รวมถึงพยายามให้ร่างกายขับถ่ายของเสียออกไปให้ได้มากที่สุด โดยการกินอาหารที่มีกากใย จิบน้ำบ่อยๆ จะได้ย่อยง่าย ถ่ายคล่อง เพื่อช่วยให้ตับไม่ต้องมาทำงานหนัก และพยายามเข้าหาธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น รับแสงแดดตอนเช้า ฯลฯ

“สุดท้ายเป็น เรื่องจิตใจ เพราะถึงกายป่วย แต่เราต้องไม่ยอมให้ใจป่วยเด็ดขาด ฉะนั้น อะไรที่ทำให้เรายิ้มได้ เราก็จะทำ นอกจาก ‘วิก’ หลากสีที่เราช่วยเสริมความมั่นใจและสีสันให้ชีวิตระหว่างป่วยแล้ว เรายังมีกิจกรรมฝึกสมาธิ-ดีท็อกซ์จิตใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการปักผ้าแบบ ‘ซาชิโกะโอริ’ (Sashiko-ori) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาปักผ้าแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น รวมถึงการเขียนบันทึกที่เหมือนการระบายสิ่งต่างๆ ลงไปในสมุด เยียวยาความรู้สึกช่วงที่ป่วยได้เป็นอย่างดี ซึ่งสมุดบันทึกเล่มนั้นเป็นของที่ระลึกจากพี่ออย-ไอรีล ไอดอลที่เรารักนั่นเอง 

“ด้วยความที่ พี่พราว (ปารมิตา โกมารกุล ณ นคร) ซึ่งเป็นหัวหน้างานของแพรวเป็นเพื่อนสนิทกับพี่ออย หลังจากเขาทราบข่าวว่าเราป่วยเป็นมะเร็ง พี่พราวก็ตรงไปหาพี่ออยเกือบจะทันที เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม จากนั้นพี่พราวก็ถ่ายภาพและส่งมาให้แพรวก่อนเข้าห้องผ่าตัดเพียงไม่กี่ชั่วโมง นับเป็นสองภาพที่ช่วยเติมพลังให้เราฮึดสู้ในวันผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในชีวิตของเราได้เป็นอย่างดี”

ขอบคุณมะเร็ง

“แพรวยังมองมะเร็งเหมือนในวันแรกที่เรารู้จักเขา มะเร็งยังเป็นสิ่งไม่ดีในชีวิตเรา ถ้าเทียบกับนิทานเรื่องสโนไวท์ มะเร็งก็คือแอปเปิลอาบยาพิษของแม่มด แต่สุดท้ายมันก็เป็นบทเรียนที่ทำให้เราเรียนรู้และรู้จักป้องกันตัวเองมากขึ้น คัดกรองสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตให้มากขึ้น และให้อภัยตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างที่เกิดล้วนมีเหตุและผลของมันเสมอ

“และแม้มะเร็งจะเป็นตัวร้ายในชีวิตของเรา แต่แพรวก็ขอบคุณมะเร็งเสมอที่เข้ามาปฏิวัติชีวิตเรา ทำให้เราหันมาใช้ชีวิตอย่างสมดุล ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ทำให้เราค้นพบวิถีชีวิตใหม่ที่ทำให้เรากลายเป็นคนใหม่ จากเมื่อก่อนที่จะเป็นคนเฉื่อยๆ คิดว่า ชีวิตเรามีพรุ่งนี้เสมอ แต่พอมะเร็งเข้ามา กลายเป็นเราเชื่อว่า บางทีพรุ่งนี้…อาจจะสายไป เมื่อเรายังมีโอกาสได้ใช้ชีวิต ยังมีลมหายใจทำสิ่งต่างๆ ได้ ก็ทำให้เต็มที่ที่สุด และมีความสุขในทุกๆ นาที ดังที่คุณหมอเคมีบำบัดเคยเขียนประโยคนี้มอบให้แพรวในวันจบการรักษา” 

เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

พญ.คัคนานต์ เทียนไชย ความสูญเสียที่ไม่สูญเปล่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนต่างเคยผ่านห้วงแห่งความเจ็บปวด เศร้าหมอง อ่อนแอ ผิดหวัง เหนื่อยล้า หมดพลัง สูญเสีย สับสนมาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป บ้างก้าวผ่านมาได้ บ้างก็แตกสลาย บ้างก็ซ่อนเร้นเอาไว้เพื่อรอการเยียวยาในสักวันหนึ่ง สำคัญที่สุดคือทุกความบอบช้ำล้วนมอบบทเรียนสำคัญให้แก่ชีวิตเรา เพียงแต่เราจะมองเห็นหรือไม่

พญ.คัคนานต์ เทียนไชย หรือ‘หมอตาล’ อายุรแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งวิทยา วัย 37 ปี เจ้าของช่อง Dr.Tarn หมอตาลต้านมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยบอบช้ำจากการสูญเสียบุคคลที่รักไปด้วยโรคมะเร็ง แต่แทนที่เธอจะปล่อยให้ความเศร้าแวะเวียนเข้ามาและผ่านออกไป เธอกลับเปลี่ยนความบอบช้ำในครั้งนั้นให้เป็นพลังผลักดันตัวเองจนมายืนในฐานะ ‘หมอมะเร็ง’ อย่างเต็มตัว

“ช่วงนั้นหมอกำลังเรียนอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 3 ก็ทราบข่าวว่าคุณยายมีอาการผิดปกติบางอย่าง อยู่ระหว่างรอตรวจอัลตราซาวนด์อยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรี ด้วยก่อนหน้านั้นคุณยายเคยมีประวัติเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน หมอจึงคิดว่าครั้งนี้ก็น่าจะเป็นนิ่วอีก แต่ปรากฏว่าไม่ใช่

“อาจารย์หมอที่ทำการตรวจร่างกายให้คุณยายโทรมาแจ้งว่า ตรวจพบก้อนที่ตับคุณยาย ตอนนั้นก็พอจะเดาได้ว่าน่าจะเป็นมะเร็ง ถามว่าตกใจไหม ก็ตกใจนะ แต่ด้วยความที่ระยะของโรคยังอยู่ในช่วงต้น ยังไม่ลุกลาม เราจึงคิดว่าน่าจะพอมีโอกาสรักษาได้ กอปรกับสักช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ คุณแม่ก็เคยป่วยเป็น ‘โรคมะเร็งกล้ามเนื้อ’ ระยะต้นและสามารถรักษาหายได้ จึงทำให้หมอมีภาพจำที่ค่อนข้างดีเกี่ยวกับมะเร็ง 

“หลังจากทราบผลแน่ชัดว่าคุณยายเป็นมะเร็งตับ ทางครอบครัวก็ทำเรื่องย้ายคุณยายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยการรักษาก็เริ่มต้นด้วยการฉีดยายับยั้งเส้นเลือดไปเลี้ยงที่ตับ แต่ฉีดไปเพียง 3 ครั้ง ยาก็เริ่มเอาไม่อยู่ มะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอด จึงต้องเปลี่ยนมารักษาด้วยการกินยามุ่งเป้า ซึ่งต้องยอมรับว่ายามุ่งเป้าในเวลานั้นยังไม่มีให้เลือกมากเหมือนในปัจจุบัน อีกทั้งประสิทธิภาพก็ยังไม่ดีมาก 

“คุณยายกินยามุ่งเป้าตัวแรกไปได้ประมาณหนึ่งปี ก็เริ่มมีอาการดื้อยา อาจารย์หมอจึงต้องเปลี่ยนให้กินยามุ่งเป้าตัวที่สอง ซึ่งกินไปได้แค่ 4 เดือน คุณยายก็มีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยา ทำให้คุณหมอต้องยุติการให้ยามุ่งเป้า ไม่นานหลังจากนั้นโรคมะเร็งก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว คุณยายทรุดลง นอนติดเตียงเพียงไม่นาน ท่านก็จากพวกเราไป”

ความสูญเสียที่ไม่สูญเปล่า 

“ด้วยความที่หมอสนิทกับคุณยายมาตั้งแต่เด็ก รักและผูกพันกันมาก จำได้ว่าทุกๆ ปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่มักจะพาเราไปฝากให้คุณยายเลี้ยงเสมอเพราะท่านทั้งสองต้องทำงาน นั่นเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดช่วงหนึ่ง เนื่องจากคุณยายจะดูแลเราเป็นอย่างดี ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับก็ยังตามมาดูว่าห่มผ้าไหม หรือพัดลมโดนไหม ฯลฯ และตามใจเราทุกอย่าง ถ้าสมัยนี้ก็คงเรียกว่า ‘สปอย’ ได้เลย หรือแม้ในวันที่ไม่มีใครสนใจเรา ก็จะมีคุณยายนี่แหละที่คอยมานั่งอยู่ข้างๆ ถามไถ่เราเสมอ ทำให้ทุกครั้งที่เรานึกถึงคุณยาย จึงมีแต่ภาพความรัก ความอบอุ่นในหัวใจ และนั่นทำให้การจากไปของคุณยายส่งผลต่อชีวิตหมอมาก

“ช่วงที่คุณยายเสียนั้น หมอจบการศึกษาเป็น ‘แพทย์ประจำบ้าน’ แล้ว และเริ่มใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ย่างเข้าปีที่ 2 จากเดิมที่ตั้งใจไว้แล้วว่า จะไม่เรียนต่อในสาขาย่อยแล้ว เป็นหมออายุรกรรมพอแล้ว แต่พอคุณยายจากไปด้วยโรคมะเร็ง นั่นกระตุ้นให้เราอยากรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น อยากมีองค์ความรู้ที่สามารถช่วยคนได้ และเผื่อในอนาคตคนที่รักหรือคนในครอบครัวเป็นอีก เราจะได้รู้ช่องทางในการรักษา นี่จึงเป็นเหตุผลให้หมอตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง”

กว่าจะเป็นหมอมะเร็ง

“ย้อนหลังกลับไปในช่วงที่กำลังจะจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ยอมรับว่าตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบอะไร หรืออยากเรียนอะไร แต่ความที่เราเรียนดีและอยู่ห้องคิงมาตลอด พอมาถึงจุดที่ต้องเลือกคณะ เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกอยู่ 2 คณะ คือ ถ้าไม่ไปวิศวกรรมศาสตร์ ก็เลือกแพทยศาสตร์นี่แหละ และด้วยความที่หมอเองไม่ชอบวิชาฟิสิกส์ จึงตัดสินใจมาทางหมอดีกว่า อย่างน้อยก็เป็นอาชีพที่นอกจากจะดูแลคนอื่นแล้ว ยังสามารถดูแลคนที่เรารัก พ่อแม่ และครอบครัวเราได้ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่เองก็น่าจะดีใจที่เราได้เรียนหมอ

“6 ปีในการเรียนที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชนั้นหนักหน่วงมาก คณะอื่นเรียนกันแค่ 4 ปีก็จบ รับปริญญา ได้ทำงานแล้ว แต่ 6 ปีสำหรับการเป็นหมอนั้นเป็นแค่การเริ่มต้น ถือเป็นน้องเล็กสุดในโรงพยาบาล เพิ่งขึ้นคลินิก ดูแลคนไข้ ช่วงนั้นอะไรก็ใหม่ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำหัตถการ เจาะน้ำในปอด ปั๊มหัวใจ ฯลฯ ถือเป็นช่วงวัดใจช่วงที่ 1 ของเส้นทางสายแพทย์ หลายครั้งก็เกิดคำถามขึ้นมาในหัวเหมือนกันว่า เรามาทำอะไรตรงนี้ (หัวเราะ) 

“พอจบ 6 ปี ก็ต้องฝึกงานเป็น ‘แพทย์ใช้ทุน’ อีก 3 ปี ช่วงนี้นับเป็นช่วงวัดใจช่วงที่ 2 เพราะตอนนี้เราจะมีเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นของตัวเอง ถือเป็นหมอเต็มตัวและต้องรับผิดชอบดูแลคนไข้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีอาจารย์หรือพี่เลี้ยงมาคอยช่วยดูแลเหมือนแต่ก่อน 

“หลังทำงานใช้ทุนจบ ก็มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเป็นหมอว่า อยากจะเลือกไปในเส้นทางไหน ทางสวยงาม เช่น แพทย์ผิวหนัง เสริมความงาม ฯลฯ หรือจะเลือกเส้นทางโหดหิน หมอก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางหลัง โดยเลือก ‘อายุรกรรม’ และใช้เวลาศึกษากว่า 3 ปี จนจบเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

“จากเดิมทีที่ตั้งใจว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว แต่เพราะการจากไปของคุณยายด้วยโรคมะเร็ง ทำให้หมอตัดสินใจศึกษาต่ออีก 2 ปี จนจบทางด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาที่โรงพยาบาลราชวิถีในปี 2565 และทุ่มเทเวลาหลังจากนั้นในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”

ลมหายใจเพื่อผู้ป่วย

“หากย้อนเวลากลับไปได้ หมอก็ยังจะเลือกเป็นหมอนะ (ยิ้ม) หมอรู้สึกว่าอาชีพนี้ทำให้เราได้ช่วยผู้คน และเป็นงานที่ไม่ว่าจะมองย้อนกลับไปสักกี่ครั้งในทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมา เราก็ยังรู้สึกภูมิใจเสมอที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ยิ่งได้มาเป็นหมอมะเร็งอย่างเต็มตัว เราก็ยิ่งได้เรียนรู้ว่า หมอมะเร็งนั้นไม่ได้มีหน้าที่รักษาแค่ตัวโรคหรือรักษาแค่ทางกายของคนไข้ แต่เรายังต้องดูแลจิตใจของคนไข้และครอบครัวของเขาด้วย 

“สำหรับหมอแล้ว การรักษามะเร็งที่ดีที่สุดไม่ใช่การรักษาเยอะๆ อัดยาแพงๆ แต่หัวใจสำคัญในการรักษามะเร็งในมุมมองของหมอก็คือ ทำอย่างไรให้คนไข้มีความสุขกับเวลาที่เหลืออยู่มากที่สุด รักษาโรคก็ต้องรักษาแหละ แต่เราต้องคำนึงถึงด้วยว่า การรักษาของเราต้องไม่เพิ่มความทุกข์ให้คนไข้และครอบครัว 

“ฉะนั้น ยาที่แพงที่สุดไม่ได้หมายความว่ายานั้นจะดีที่สุดเสมอไป เช่นกันกับการรักษาที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่ได้นานที่สุด เพราะหากคนไข้มีชีวิตอยู่นานที่สุดในสภาพติดเตียง สื่อสารอะไรไม่ได้เลย นี่คือความทรมานนะ ขณะเดียวกันครอบครัวของคนไข้เองก็ต้องขายบ้าน ขายทรัพย์สิน หรือกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อรักษาชีวิตแบบนี้ หมอคิดว่าไม่คุ้ม นี่เองที่การทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่นานที่สุดไม่ใช่เป้าหมายในการรักษาของหมอ หมอมักจะบอกกับคนไข้เสมอว่า หมอจะพยายามรักษาให้ช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่นั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขที่สุด” 

ใช้ ‘น้ำลาย’ รักษาคนไข้

“ด้วยความที่โรคมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน เข้าใจยาก การพูดสื่อสารให้คนไข้เข้าใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น ฉะนั้น คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่หมอมะเร็งควรมีก็คือการเป็นนักสื่อสารที่ดี เพราะคำพูดของหมอสำหรับคนไข้นั้นสำคัญมากนะ คำพูดเพียงสั้นๆ แต่บางทีมีประสิทธิภาพดีกว่ายาด้วยซ้ำ เพราะช่วยดึงคนไข้ที่กำลังดิ่งๆ ท้อแท้ หมดหวัง ให้ฮึดขึ้นสู้ได้ ในทางการแพทย์เรียกว่า ‘Saliva Therapy’ หรือการใช้น้ำลายในการรักษา ซึ่งก็คือการพูดนั่นเอง แต่จะพูดอย่างไรก็แล้วแต่เทคนิคเฉพาะตัวของหมอแต่ละคน 

“สำหรับหมอแล้ว ก็คือการพูดความจริงโดยที่ไม่ทำร้ายคนไข้ให้มากที่สุด ซึ่งก็มีความยากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในวันที่ต้องบอก ‘ข่าวร้าย’ กับคนไข้ เพราะอย่างที่รู้กันว่า การเป็นมะเร็งในระยะต้นนั้น ทุกอย่างก็จะง่าย แต่ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาถึงมือหมอนั้น มักจะมาในระยะท้ายๆ แล้ว และต้องยอมรับว่าการรักษาอาจจะไม่สามารถทำให้หายขาดได้ สิ่งสำคัญจึงต้องพูดความจริงให้คนไข้รับรู้และยอมรับความจริงให้เร็ว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งยากพอสมควร

“นั่นทำให้ทุกเคส หมอต้องทำการบ้านก่อนที่จะพบคนไข้ โดยจะคุยเก็บข้อมูลกับคนข้างกายคนไข้ก่อน เช่น สามี หรือลูก เพื่อเราจะได้รู้ว่าพื้นฐานครอบครัวเขาเป็นอย่างไร และควรจะพูดอย่างไรดีให้คนไข้ไม่หมดกำลังใจในการรักษา คำพูดของหมอนั้นมีอิทธิพลกับคนไข้มาก คนไข้จะมีกำลังใจหรือท้อแท้ก็ขึ้นอยู่กับเรานี่แหละ ถ้าพูดผิด เขาอาจจะตัดสินใจปฏิเสธการรักษาเลยก็ได้ แต่จะพูดให้ความหวังคนไข้ว่า รักษาเถอะ…เดี๋ยวก็หาย – ก็ไม่ได้อีก เพราะความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น และอาจจะทำให้คนไข้ไม่รับรู้เกี่ยวกับการพยากรณ์โรคของเขา นั่นอาจจะทำให้เขาเสียโอกาสที่จะเตรียมตัว เตรียมใจ หรือทำหลายสิ่งที่ต้องทำหรืออยากทำในชีวิตไปก็ได้

“ฉะนั้น ควรพูดความจริงอย่างไรก็ได้ ให้คนไข้รับรู้ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นยอมรับในทันที แต่อย่างน้อยต้องทำให้เขาไม่ปฏิเสธที่จะรักษา เพราะหมออยากให้คนไข้ทุกคนลองสู้ดูก่อน เพราะหากถอดใจยอมแพ้ตั้งแต่ต้น เราจะไม่มีวันชนะแน่นอน ฉะนั้น สู้เพื่อตัวเองสักครั้ง และหากถึงจุดหนึ่งที่สู้ไม่ไหวแล้ว ก็แค่พอเท่านั้นเอง” 

ที่พึ่งสุดท้ายของคนไข้

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หมอได้เรียนรู้ว่า หมอมะเร็งนั้นก็เหมือนหมอคนสุดท้ายของคนไข้ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยเป็นอะไรก็ตาม มักจะมาจบที่หมอมะเร็งเสมอ เช่น คนไข้บางคนมาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องเรื้อรัง รักษากับหมอนั้นหมอนี้หลายครั้งก็ไม่หาย สุดท้ายก็ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง และเชื่อไหมว่า พอเขารู้ว่าเป็นมะเร็ง สิ่งที่คนไข้กลัวที่สุดไม่ใช่ความตายนะ แต่เขากลัวที่จะอยู่บนโลกนี้อย่างทรมาน โดยไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่ง ‘ใคร’ ดี 

“หมอมะเร็งควรจะเป็น ‘ใคร’ คนนั้นให้คนไข้ ควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้เขาได้ โดยทำอย่างไรก็ได้ให้คนไข้รู้สึกอุ่นใจ มั่นใจว่าเขาจะไม่อยู่เดียวดาย ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ต้องใช้ยาหรือทำหัตถการใดๆ เลยด้วยซ้ำ แค่คำพูด สีหน้า แววตา หรือเพียงสัมผัส เช่น แตะที่มือเบาๆ และบอกเขาว่า โทรมาได้ตลอดนะ หากมีปัญหาอะไร แค่นี้เขาก็อุ่นใจแล้ว ฉะนั้น หมอมะเร็งนอกจากการรักษาทางกายแล้ว ก็ควรเป็นนักสื่อสารที่ดีเพื่อเยียวยาใจให้คนไข้ด้วย เพราะคนไข้มะเร็งแทบทุกคน เขาอยากฟังหมอพูดเยอะๆ นอกจากอยากเข้าใจถึงตัวโรคและกระบวนการรักษาแล้ว เขายังอยากได้กำลังใจ ความมั่นใจ ความอุ่นใจอีกด้วย 

“หมอเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความกลัวของคนไข้ลดลง ก็คือ องค์ความรู้ ยิ่งกลัวสิ่งไหน เราต้องยิ่งเดินเข้าไปหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น เมื่อเรามีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น ความกลัวของเราจะลดลง นี่จึงเป็นที่มาของการทำช่อง Dr.Tarn หมอตาลต้านมะเร็ง เพื่อแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งไปยังผู้คน เพราะหมอเชื่อว่า หากทุกคนรู้จักโรคนี้มากขึ้น ความกลัวโรคนี้ก็จะน้อยลง รวมถึงรู้จักหลีกเลี่ยงและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้มากขึ้น”

คุณค่าที่ค้นพบจากมะเร็ง

“บอกตรงๆ ว่า หมอไม่ได้อยากรักษาผู้ป่วยมะเร็งไปจนวันสุดท้ายของชีวิตหรอกนะ หมอหวังว่าวันหนึ่งจำนวนผู้ป่วยมะเร็งจะลดลงเรื่อยๆ นั่นเป็นที่มาของความฝันเล็กๆ ในอนาคต หมออยากจะเปิดสถานที่ที่จะช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโรคมะเร็ง แต่ตอนนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้ก็อยากจะให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ดี สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการตรวจคัดกรองมะเร็งตามช่วงวัยเป็นประจำ เพราะยิ่งเจอมะเร็งเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการหายขาดจากโรคนี้ได้สูงขึ้น

“สำหรับผู้ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็ง หมอก็อยากจะบอกว่า ไม่ผิดหรอกที่เราจะมองว่า มะเร็งเป็นความโชคร้าย ประสบการณ์เลวร้าย หรือช่วงเวลาร้ายๆ ของชีวิต แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มะเร็งก็ไม่ต่างอะไรกับบททดสอบของชีวิต ที่หากเราไม่ยอมแพ้ เราย่อมแข็งแกร่งขึ้นแน่นอน อีกทั้งมะเร็งยังเป็นตำราชีวิตเล่มใหญ่ที่สอนให้เราได้รู้ว่า ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ฉะนั้น เราควรจะมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน และไม่ยึดติดอยู่กับความสุขในอดีต หรือรอความสุขในอนาคต รวมถึงทำให้เราตระหนักได้ว่า เวลาที่เหลืออยู่นั้น ไม่สำคัญว่าจะเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน แต่สำคัญที่ว่าเราได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นได้คุ้มค่าเพียงใดต่างหาก 

“นอกจากนี้ มะเร็งยังเข้ามาทำให้เรารู้จักปล่อยวาง และช่างมันกับหลายๆ เรื่องในชีวิตได้ง่ายขึ้น เราจะมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องไม่ดีในชีวิต มะเร็งเข้ามาเตือนให้เราไม่ประมาทกับการใช้ชีวิต ทำให้เรามองเห็นคุณค่าของลมหายใจ หันกลับมารักตัวเอง และกลับมาให้ความสำคัญกับคนที่รักและอยู่ข้างๆ เราในวันที่เราทุกข์ที่สุดอีกด้วย”

เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

พิชามญชุ์ เอนกวรกุล กับโมงยามแห่งการเดินทางรอบโรค

ในยุคสมัยที่ Google ตอบได้เกือบทุกคำถาม ความรู้ทุกแขนงสามารถหาได้เพียงพิมพ์คำสั้นๆ และเสิร์ชหา แต่กับบางคำถามก็อาจจะไม่มีทางล่วงรู้คำตอบได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส หากต้องรอจนกว่า ‘ชีวิต’ จะทยอยส่งมอบบทเรียนสำคัญให้เราได้เรียนรู้ ยอมรับ กระทั่งน้อมรับ จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ 

ซังซัง-พิชามญชุ์ เอนกวรกุล เป็นอีกคนหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพลังความคิดสร้างสรรค์ล้นเหลือ เธอมีฝันเหมือนๆ กับคนวัยเดียวกัน และเคยใช้ชีวิตที่เหมือนว่าจะมีพรุ่งนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ ‘ความกลัว’ ได้แทรกซึมเข้ามาในชีวิต นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองและค้นหาคำตอบผ่านการสะสมสารพัดสารพันความรู้ทีละนิด จนเริ่มมองเห็นและเข้าใจความไม่แน่นอนของ ‘ชีวิต’ มนุษย์

และนั่นกลายมาเป็นเทคนิคที่เธอใช้รับมือกับอุปสรรคต่างๆ นานา รวมถึงสถานะการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ชนิด HER2 Positive มะเร็งที่มีแนวโน้มความรุนแรงของโรคสูงขึ้น และจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะพบ HER2 positive ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงทำให้เกิดมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมอง มะเร็งกระดูก เป็นต้น

“ออกตัวก่อนว่าซังเป็นคนที่ไม่ชอบเข้าวัด ทำบุญ ฟังธรรม หรือปฏิบัติธรรมใดๆ เลย แต่สกิลหนึ่งที่ติดตัวมาแต่ไหนแต่ไรก็คือ ซังจะเป็นคนที่มองว่าการเกิด-แก่-เจ็บ-ตายเป็นเรื่องธรรมดา จำได้ว่าอายุราว 15 ปี จู่ๆ วันหนึ่งเราเกิดความรู้สึก ‘กลัวตาย’ ขึ้นมาเฉยๆ เข้าใจว่าน่าจะมาจากความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ของตัวเองในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ฐานะ ความเป็นอยู่ ฯลฯ ทุกอย่างในชีวิตเรามันดีไปหมด แม้จะไม่ได้สุขสบายตลอด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็เลี้ยงดูเราอย่างไม่เคยลำบากและให้อิสระทุกอย่าง กอปรกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบคิด วิเคราะห์ รู้อะไร เห็นอะไร เราก็มักจะมาคิดต่อ เช่น เรียนเรื่องพุทธประวัติเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ ความสุขสบายของเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อเสด็จออกผนวช เราก็จะตั้งคำถามขึ้นว่า ทำไมพระองค์ทรงเลือกทางนั้น หรือแม้แต่การอ่านวรรณกรรมเด็กหลายๆ เรื่อง นอกจากเรื่องราวความสนุกในเนื้อเรื่องแล้ว เราก็จะตั้งคำถามว่า ทำไมตัวละครนั้นรวยแล้วจน หรือ ทำไมคนเรามีเกิดแล้วต้องมีดับ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ทุกๆ เช้าที่คุณแม่ขับรถไปส่งที่โรงเรียน ท่านจะเปิดวิทยุฟังรายงานการจราจร และก่อนจะจบการรายงานทุกครั้ง ผู้จัดรายการก็จะทิ้งท้ายด้วยคำสอนของท่านพุทธทาสเสมอ โดยวลีหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเรามาตลอดก็คือ ‘ตัวกูไม่ใช่ของกู’ 

“การสะสมคอนเทนต์เหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต จนเกิดเป็นความกลัวและเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ถ้าเราตายแล้ว…ยังไงต่อ’, ‘ชาติหน้ามีจริงไหม’, ‘เกิดแล้วดับหายไปเลยหรือเปล่า’, ‘จะไม่มีเราแล้วจริงๆ เหรอ’ ฯลฯ ยิ่งถามก็ยิ่งกลัว และพอเกิดความกลัวตาย ความกลัวอื่นๆ ก็เข้ามา เช่น กลัวเจ็บ กลัวป่วย กลัวแก่ กลัวไม่สำเร็จ ฯลฯ นั่นทำให้เราเริ่มศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มาเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งก็ไปซื้อหนังสือ ‘คู่มือมนุษย์’ ของท่านพุทธทาสมาลองอ่าน และเริ่มเข้าใจสิ่งที่ตัวเราควบคุมไม่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ชีวิต’ ของเราเอง ที่จาก ‘มี’ มันกลายเป็น ‘ไม่มี’ ได้ตลอดเวลา และสุดท้ายความตายก็เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด”

ชีวิตที่ผิดแผน

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เธอมุ่งมั่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานกว่า 5 ปี ก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจที่ Imperial College London ประเทศอังกฤษ และกลับมาใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์เงินเดือนอยู่เพียงไม่นาน เธอก็บอกลาความโสดและเข้าสู่ประตูวิวาห์ พร้อมวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและฮันนีมูนกับสามี โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งสองต้องพร้อมใจลาออกจากงานประจำก่อนออกเดินทาง

“เราทั้งสองคนอยากเดินทางท่องเที่ยวผจญภัยไปหลายๆ ประเทศในวัยที่ร่างกายยังไหว และยังไม่มีภาระอะไรที่ต้องเป็นห่วง คุณพ่อคุณแม่ก็ยังดูแลตัวเองได้ จึงวางแผนจะไปผจญภัยกันเต็มที่ เตรียมตัวก่อนออกเดินทางกว่า 3 เดือนเต็ม ไม่ว่าจะเป็นการสมัครอบรม Free Dive กินคลีน ฟิตร่างกาย ทั้งโหนบาร์ ปีนเชือก ฯลฯ เพื่อตั้งใจจะลงแข่งขันวิ่งวิบาก สปาร์ตัน เรซ (Spartan Race) และหลังจากลาออกจากงาน ก็จองตั๋ว จองที่พัก จองซาฟารี ทำวีซ่า ฯลฯ แพลนทริปไว้เกือบเรียบร้อยหมดแล้ว  

“จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ช่วงนั้นอยู่ระหว่างเดินทางไปงานรับปริญญาของน้องชายสามีที่อังกฤษ ก็มีนัดสังสรรค์กับเพื่อนๆ ที่นั่น ด้วยความที่เราเป็นคนรักสุขภาพ เลือกกินอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่ค่อยแตะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สักเท่าไร ทำให้คืนนั้นดื่มกับเพื่อนไปแค่ 2 แก้ว ก็มีอาการใจเต้นเร็วขึ้นมา พอกลับมาที่พักก็ยังไม่หาย จะนอนก็นอนไม่หลับ จึงลองใช้มือนวดๆ คลึงๆ ที่บริเวณหัวใจ คิดว่าจะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ปรากฏว่ามือก็ดันไปคลำเจอก้อนแข็งๆ ที่หน้าอกด้านซ้าย และจากที่เป็นนักอ่านตัวยง ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเป็นก้อนเนื้อที่แข็ง ไม่เจ็บ มีโอกาสสูงที่อาจจะเป็นมะเร็งมากกว่าก้อนที่คลำแล้วเจ็บ ณ นาทีนั้นก็รู้สึกแล้วว่าก้อนที่เป็นอยู่นั้นเข้าข่ายจะเป็นมะเร็งสูงทีเดียว

“แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะยังต้องอยู่ที่อังกฤษต่ออีก 10 วัน ระหว่างนั้นก็เล่าให้สามีฟัง และกำชับว่ายังไม่ต้องบอกใคร เพราะกลัวทุกคนที่มาด้วยจะเป็นกังวลไปกับเรา จากนั้นเราก็ปล่อยจอยไปกับการเดินทาง จนกระทั่งเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยวันแรกก็เสิร์ชหาโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งเต้านม และนัดหมายกับแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจภายในสัปดาห์นั้นเลย

“หลังจากคุณหมอตรวจอัลตราซาวนด์แล้ว ก็ขอตรวจแมมโมแกรมเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลกับเราว่า ดูเหมือนว่าจะมีหินปูน ซึ่งพอผลแมมโมแกรมออกมาพบค่า BIRADS 5 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้สูง 

“ทางคุณหมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจในวันนั้นเลย จากนั้นก็กลับมารอผลประมาณ 3 วัน จำได้ว่าประมาณวันเสาร์ เจ้าหน้าที่ก็โทรมานัดให้กลับมาฟังผลในวันรุ่งขึ้น ก่อนจะถามย้ำๆ ว่า มาได้ไหมคะ โดยแจ้งว่าตามปกติวันอาทิตย์จะไม่ใช่เวรคุณหมอ แต่คุณหมอจะมาเพื่อแจ้งผลเราโดยเฉพาะ ตอนนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่า ผลชิ้นเนื้อน่าจะออกมาไม่ดีแน่ๆ จึงคุยกับสามีให้เตรียมใจว่าแผนการเดินทางที่วางไว้น่าจะพังแล้ว”

ความป่วยเป็นธรรมดา

“เพราะรู้อยู่แล้วว่าความป่วยนั้นเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ และก่อนหน้านั้น ผลแมมโมแกรมก็ทำให้พอรู้ว่าก้อนที่เป็นอยู่นั้นมีขนาดแค่ 2 เซนติเมตร ยังคงอยู่ในระยะที่ยังรักษาได้ ทำให้พอคุณหมอแจ้งว่า ผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นมะเร็งอย่างที่คาดเอาไว้ เราจึงไม่ได้ตกใจหรือร้องไห้ฟูมฟาย ตรงกันข้ามกลับพูดคุยและสอบถามคุณหมอถึงประเภทของมะเร็งที่เป็น แผนการรักษา รวมถึงการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที ซึ่งคุณหมอก็ตอบอย่างละเอียด ก่อนจะถามกลับมาว่า ‘ผ่าตัดพรุ่งนี้เลยไหม’

“ด้วยความที่เราไม่เคยผ่าตัด ไม่เคยผ่านประสบการณ์การวางยาสลบมาก่อนเลย จึงขอเลื่อนเป็นอีกสองวันถัดมา เพื่อกลับไปเตรียมตัวเตรียมใจก่อน (หัวเราะ) พอกลับมาถึงบ้านคืนนั้น ไม่ได้นอนเลยทั้งคืน เพราะต้องนั่งยกเลิกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ โดยแนบใบรองรับแพทย์ไปพร้อมคำร้อง ‘ขอเงินคืน’ เนื่องจากต้องรักษาตัวจากอาการป่วยจึงไม่สามารถเดินทางได้ในวันเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งก็ได้เงินคืนเกือบทั้งหมด

“กระทั่งถึงวันผ่าตัด นอกจากการผ่าตัดแบบสงวนเต้าแล้ว คุณหมอก็ยังนำชิ้นเนื้อพร้อมกับต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ส่งตรวจอีกครั้ง และผลออกมาว่ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง เราจึงเป็นแค่ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 1 ซึ่งก็ยิ่งทำให้เราไม่มีความกลัวใดๆ เลย และรู้สึกว่ามะเร็งระยะนี้คงไม่ทำให้เราตายหรอก

“หลังจากกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน นอกจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษามะเร็งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจคาแรกเตอร์มะเร็งที่เราเป็นอยู่ว่าคืออะไร และไล่ดูคลิปความรู้จากคุณหมอด้านมะเร็งใน YouTube แล้ว เรายังไปขอ second opinion และ third opinion กับคุณหมอเก่งๆ เพิ่มเติมอีก 2 ท่าน จนสุดท้ายก็ได้แนวทางการรักษาที่ตรงความต้องการ รวมถึงตรงกับแนวทางการรักษาจาก National Comprehensive Cancer Network (NCCN Guidelines) เครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลที่สุดก็คือ การให้คีโม Paclitaxel ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ ควบคู่กับยาพุ่งเป้า 18 ครั้งทุก 3 สัปดาห์ และฉายแสง 25 ครั้ง จากนั้นก็จบด้วยการให้ยาต้านฮอร์โมน 5 ปี

“หนึ่งเดือนก่อนจะให้คีโม ซังก็ยังดำเนินการ ‘ฝากไข่’ ตามคำแนะนำของคุณหมอ เนื่องจากมะเร็งที่เราเป็นนั้นไม่ได้อยู่ในระยะแพร่กระจาย คุณหมอจึงไม่อยากให้เสียโอกาสที่จะมีลูก เราจึงไปฝากตามคำแนะนำคุณหมอ แม้ลึกๆ ซังและสามีก็ยังไม่ได้คิดเลยว่าพวกเราจะมีลูกไหม (ยิ้ม)”

ยิ่งไม่รู้…ยิ่งกลัว 

“โดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน เรามักจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ แต่เมื่อไรที่เรารู้ ความกลัวก็จะน้อยลง ซังจึงพยายามจะรู้ในสิ่งที่พอจะรู้ได้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่ออย่างน้อยเราจะได้รู้ว่า มะเร็งมีอะไรบ้างที่ทำให้เรากลัว และมีอะไรบ้างที่เราไม่ต้องกลัว จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งเหล่านั้น และพร้อมที่จะไปต่อกับมัน เพราะหากเราต้องใช้ชีวิตสักพักใหญ่ๆ กับ condition นี้ เราก็พยายามเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด 

“นี่เองที่ทำให้ซังตัดสินใจตัดผมออกก่อนที่จะคีโม ซึ่งตอนนั้นผมยาวมาก…ยาวถึงเอว จากนั้นก็นำผมที่ตัดออกไปให้ร้านทำวิกให้ เพราะรู้ว่าอย่างไรซะ ผลข้างเคียงจากคีโมนั้นก็ทำให้ผมร่วงแน่ๆ ยื้อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร และการเห็นผมร่วงเป็นกระจุกอาจจะทำให้ผู้ป่วยอย่างเรานอยด์ยิ่งกว่าเดิม   

“การให้คีโม 12 สัปดาห์ ผ่านไปด้วยดี แม้จะต้องบูทเม็ดเลือดขาวบ้างในเข็มที่ 4 และเข็มที่ 9 แต่ก็ถือว่าไม่เลวร้ายนัก ส่วนอาการข้างเคียงก็ถือว่ารับมือไหว เหนื่อยง่ายแต่ยังหายใจได้ ท้องเสียแต่ก็กินข้าวได้ ไม่เบื่ออาหาร แค่กินเสร็จต้องวิ่งเข้าห้องน้ำเท่านั้นเอง (หัวเราะ) 

“แม้จะไม่กลัว ไม่ทุกข์ถึงขั้นฟูมฟาย แต่ต้องยอมรับว่าก็มีบ้างที่รู้สึกเซ็งๆ ด้วยความที่เราชอบออกกำลังกาย แต่บางช่วงก็ต้องยอมรับว่าร่างกายไม่ไหวจริงๆ จำได้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งไปเล่นพิลาทิสแล้วครูให้ลองยกลูกบอลลูกเล็กๆ ขึ้นลง ปรากฏว่ายกขึ้นไม่ไหว (หัวเราะ) ครูยังตกใจ ทำไมยกไม่ไหว จากปกติเราแข็งแรงมาก เราเองก็ตกใจเหมือนกันว่า ทำไมเรารู้สึกว่าลูกบอลหนักมาก แต่ก็ถือเป็นอีกช่วงชีวิตที่เราได้เรียนรู้อยู่กับความอ่อนแอของร่างกาย ณ ขณะนั้นให้ได้

 
“เหตุการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่า เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตเราได้ จากตอนเด็กๆ ที่เคยคิดเสมอว่า เราจะทำอะไรก็ได้ เราจะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเราพยายามมากพอสักวันเราก็จะไปถึงจุดที่เราต้องการได้ แต่วันนี้เรารู้แล้วว่า แค่ความพยายามอย่างเดียวไม่พอ แต่มันมีอีกหลายสิ่งที่ประกอบกัน และบางสิ่งเราก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ก็คือความคิดและการตัดสินใจของเรา” 

สีสันหลังมรสุม

มาถึงวันนี้ นอกจากสถานะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาพุ่งเป้าทุก 3 สัปดาห์ โดยจะครบ 18 เข็ม ในช่วงเดือนสิงหาคม  2567 นี้ และยังต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมนต่อให้ครบ 5 ปี ซังซังยังเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีสันของกลีบดอกไม้ ภายใต้ชื่อ Petal Palette ธุรกิจแรกในชีวิตที่เธอมุ่งมั่นตั้งใจอยากให้เป็นสีสัน ความสุข และความสนุกให้ชีวิต    

“ซังไม่ได้คาดหวังหรือตั้งเป้าหมายกับ Petal Palette ไว้สวยหรู เราแค่อยากทำอะไรที่เป็นของตัวเอง ด้วยความที่เราเติบโตมาในครอบครัวพ่อค้า ซึ่งมีกิจการโรงงานที่ได้รับการยอมรับในตลาด consumer product แน่นอนว่าลึกๆ เราไม่ได้อยากเติบโตในบริษัทหรือในฐานะลูกจ้างของใคร แต่ก่อนหน้านั้นเราไม่มีความมั่นใจที่จะเริ่มทำ เรากลัวการเริ่มต้น กลัวจะไม่สำเร็จ กลัวสารพัด แต่พอมะเร็งผ่านเข้ามา เราแค่รู้สึกว่า ลองดูสักตั้งดีกว่า! 

“ณ วันนี้ ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรกับมะเร็ง ก็ยังรู้สึกว่า มะเร็งยังไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับเรานะ (หัวเราะ) มะเร็งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราต้องรับมือให้ได้ มะเร็งก็เหมือนเรื่องไม่ดีอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรานั่นแหละ เดี๋ยววันหนึ่งก็ผ่านออกไป หรือวันหนึ่งก็อาจจะกลับมาอีกก็ได้ ทุกวันนี้เราจึงพยายามใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุขให้ได้มากที่สุด” 

เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข