ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์ ‘อ่อนแอได้’ เพื่อปลอบโยนใจให้ ‘แข็งแรง’ กว่าเดิม

การเมตตาตนเอง หรือ self-compassion เป็นหนึ่งในกระบวนการเยียวยาจิตใจ และเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย ความเอาใจใส่ และใจดีต่อตัวเอง รวมไปถึงการยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นและรู้สึก ไม่เว้นแม้แต่ข้อเสีย ความผิดพลาด หรือความอ่อนแอ สำหรับนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ เจ้าของเพจ ‘พิมพ์พาพ์’ อย่าง ‘แองเจิ้ล – ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์’ เราได้เห็นสิ่งคล้ายๆ กันนี้ผ่านวิธีคิดที่เธอใช้รับมือกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อ 4 ปีก่อนว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเข้มแข็งหรือฮึดสู้ทุกวัน แต่คือการทำความเข้าใจว่าความเหนื่อยและอ่อนแอเป็นเรื่องปกติ และเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของมนุษย์อย่างเราๆ ที่ไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์แบบ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เธอใช้รับมือกับช่วงเวลายากๆ ที่ผ่านมาได้อย่างดี

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non Hodgkin’s Lymphoma

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2560 แองเจิ้ลมีอาการคอบวม หน้าบวม เจ็บคอ รวมถึงไอแห้งๆ เธอเริ่มเหนื่อยง่ายจนการใช้ชีวิตของเธอเริ่มยากขึ้น เธอนั่งยองๆ ไม่ได้หรือแค่เดินขึ้นบันไดก็ต้องหยุดพักอยู่หลายครั้ง เธอตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งเวลานั้นคุณหมอวินิจฉัยว่านี่เป็นอาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ แต่แม้จะทานยาอยู่เกือบ 2 เดือน อาการต่างๆ ยังคงไม่ดีขึ้นจนเธอเริ่มท้อ

“ตอนนั้นเราเริ่มมีไข้ต่ำๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน คุณหมอจึงตัดสินใจส่งไปเอกซเรย์และเจอก้อนขนาดใหญ่อยู่บริเวณหัวใจกับปอด ตรวจคลื่นหัวใจเจอว่ามีน้ำอยู่ในเยื่อหุ้มหัวใจ คุณหมอขอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ผลออกมาว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน (Non Hodgkin’s Lymphoma) ระยะที่ 2 ตอนนั้นประมาณเดือนมีนาคม ปี 2561”

เธอเริ่มการรักษาด้วยการทำคีโมสูตร RCHOP แต่เมื่อใกล้จะครบ 6 คอร์สตามกำหนด มะเร็งกลับดื้อยาและโตขึ้นมาใหม่ คุณหมอจึงต้องเปลี่ยนมาให้คีโมสูตรที่แรงขึ้น แต่ด้วยก้อนมะเร็งยุบๆ โตๆ อยู่พักหนึ่งจนทำให้เธอต้องเปลี่ยนการรักษาอีกครั้งด้วยการฉายแสงแบบชุดใหญ่ 40 แสง กระทั่งถึงการทรีทเมนท์ครั้งสุดท้ายที่อาการของเธอเริ่มนิ่ง

“คุณหมอให้เราลองรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy อยู่ ปัจจุบันโรคมะเร็งของเราสงบมาเกือบ 3 ปีแล้ว ไม่ได้ทานยาอะไรเลย มีแค่นัดทำเอกซ์เรย์ CT Scan และติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน เพิ่งจะได้เริ่มนัดเป็นทุก 6 เดือนไม่นานมานี้ โดยรวมเราใช้ชีวิตได้ปกติ มีเหนื่อยง่ายบ้าง เพราะยังมีก้อนและผังผืดที่ปอดอยู่ ตอนนี้เราดูแลตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดแบบไม่เคร่งมาก ระวังเรื่องการทานบ้าง แต่ไม่ตึงจนเกินไป”

ใช้กิจกรรมช่วยสำรวจจิตใจ

“ตอนป่วยเราเริ่มเขียนบันทึกทุกวันเพื่อระบายความคิดและความรู้สึก ผสมกับการวาดรูปลงไปในสมุดของเรา เราใช้สมุดบันทึกของ Art for Cancer ที่เป็นบันทึกพิชิตมะเร็งด้วยนะ ซึ่งหลายๆ หน้าในนั้นเป็นกำลังใจและให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตร่วมกับโรค เรารู้สึกว่าตัวเองยังต้องพยายามใช้ชีวิตต่อไปและใช้มันอย่างดี สำหรับเรา การวาดภาพกับการเขียนบันทึกช่วยให้เราเห็นความรู้สึกเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ตอนนี้อาจจะไม่ได้บันทึกทุกวันเหมือนช่วงที่ป่วย แต่ยังคงบันทึกอยู่เรื่อยๆ ทั้งสองกิจกรรมนี้ทำให้เราเข้าใจอารมณ์และความคิดของตัวเอง ได้ระบายความรู้สึก ความคิดต่างๆ ที่มันอัดแน่นอยู่ภายใน

ส่วนเรื่องการออกกำลังกาย เมื่อก่อนช่วงรักษาอยู่เราจะชอบไปเดินเล่นที่สวนแถวบ้านตอนเย็น เดินเล่นใต้ต้นไม้ ดูลมที่พัดใบไม้ สัมผัสความเย็นสบายของลม นั่งมองท้องฟ้า รู้สึกผ่อนคลายมาก อยากให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ดีๆ แบบนี้อีกเยอะๆ แต่พอสองปีมานี้ที่เจอฝุ่นและโควิดเลยไม่ค่อยกล้าออกไปบ่อยๆ เราชอบเล่นโยคะด้วย เล่นเองที่บ้านแบบเปิดคลิปในยูทูบแล้วทำตาม แต่ไม่ได้เก่งนะคะ (หัวเราะ) เราชอบที่โยคะสอนให้เราสามารถกำหนดลมหายใจ ช่วยดึงความคิดตัวเองให้กลับมาอยู่ ณ ตรงนั้น เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ได้ฟังร่างกายตัวเอง นอกเหนือไปจากผลลัพธ์ทางร่างกายที่เราได้แล้ว”

It’s okay to not be okay

“จริงๆ ตอนรู้ว่าเป็นมะเร็ง เราไม่ช็อคเลย เพราะเราเหนื่อยมาจากการหาโรคไม่เจอและต้องทานยาทุกวันอยู่ 2 เดือน พอเจอว่าเป็นมะเร็ง เราคิดแค่ว่า “โอเค รู้สาเหตุแล้ว จะได้รักษาให้ถูกจุดสักที” ซึ่งก่อนจะให้คีโมเรามีกำลังใจดี สดใส สังเกตร่างกายตัวเองทุกวัน รู้สึกว่าร่างกายยังแข็งแรง ทานได้ นอนหลับ ถ่ายออก หายใจสะดวก ไม่ค่อยเครียดมาก เพราะคิดว่าตัวเองจะหายได้จริงๆ ซึ่งเวลานั้นไม่ได้มีใครหรืออะไรทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือจุดจบของชีวิต เรามีความหวังเสมอว่าตัวเองจะหายและกลับไปใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นมา ได้ทานของอร่อยๆ ได้ไปข้างนอก อยู่แบบที่ไม่ต้องเจ็บป่วยอีก เราให้กำลังใจตัวเองตลอดว่าเป็นได้ก็หายได้ รู้สึกว่าต้องเข้มแข็งและผ่านไปให้ได้

แต่ร่างกายของเราค่อยๆ แย่ลงจากการทำคีโมทำให้เราไม่ค่อยมีแรงเดิน ต้องเจอกับอาการคลื่นไส้ ตอนนั้นจะรู้สึกว่าตัวเองเหมือนผักต้มที่ต้องทานทุกวัน ไม่สดชื่น ไม่ร่าเริง อ่อนปวกเปียก และจืดชืดไปหมด อุปสรรคสำหรับเราอีกอย่างคือการที่โรคที่เราเป็นไม่ค่อยตอบสนองยา ช่วงที่เจอคีโมหนักๆ ยอมรับว่าท้อและเหนื่อย เป็นคนเกลียดการทานยาขมๆ ด้วย ตอนนั้นทรมานมาก เราเชื่อว่าคนที่เคยรักษาและมีอาการคล้ายๆ กันน่าจะเคยรู้สึกแบบเดียวกับเรา มันเป็นวงจรที่ไม่มีวันจบ ให้ยา-คลื่นไส้-เบื่ออาหาร-เพลีย พอเริ่มแข็งแรงขึ้นไม่กี่วันก็ต้องกลับมาให้ยาใหม่อีกแล้ว ตอนนั้นแค่ได้ยินคำว่ามะเร็งหรือคีโมก็รู้สึกผะอืดผะอมแล้ว

เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้เรามีแรงสู้ได้ ส่วนหนึ่งคงเพราะคนรอบๆ ตัว ทั้งครอบครัวและเพื่อนที่คอยให้กำลังใจเสมอ คุณหมอที่พยายามช่วยเหลือและดูแลเราอย่างเต็มที่ รวมถึงตัวเราเองด้วยที่รู้สึกว่าไม่ได้อยากยอมแพ้ เพราะอย่างที่บอกว่าเรามีความหวังมากๆ ว่าจะต้องดีขึ้น ได้กลับไปทานอาหารอร่อย นั่นคือเป้าหมายเลย (ยิ้ม) ซึ่งเวลารู้สึกแย่ ท้อแท้ และเสียใจเกิดขึ้น เราค่อยๆ ฮึบตัวเองขึ้นสู้ใหม่เพราะพวกเขาเหล่านี้แหละที่มาคอยคุย ถามไถ่ และให้กำลังใจ ตอนนั้นเราบอกกับตัวเองว่า จริงๆ เราไม่ต้องเข้มแข็งหรือแข็งแรงตลอดเวลาก็ได้ สำหรับเรามันโอเคนะที่จะยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอ เวลานี้เราเลยไม่เก็บหรือกดความรู้สึกตัวเองอีกแล้ว ไม่พยายามที่จะเข้มแข็งถ้าไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่เราจะพยายามใส่ใจ ฟังความรู้สึกตัวเอง และมีสติกับชีวิตที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเองต้องขอบคุณคนรอบข้างและอยากบอกพวกเขาว่าเรารู้สึกขอบคุณอยู่เสมอ และอยากขอบคุณตัวเองที่ไม่ยอมแพ้ อยากบอกตัวเองว่า เธอเก่งมากๆ เลยนะที่ผ่านมาได้”

มะเร็งเพื่อนฉัน

“มุมมองต่อมะเร็งของเราไม่ได้ต่างจากเดิมมาก เรายังเชื่อว่ามะเร็งเป็นโรคที่รักษาได้ แต่อาจจะเหนื่อยและต้องต่อสู้กับโลกภายนอกและโรคภายในมากหน่อย แม้มะเร็งจะไม่ใช่โรคที่ใจดีเท่าไหร่ แต่พอได้เจอกันแล้ว เขาสอนให้เราเข้าใจชีวิตได้ดี ความจริงในมุมของเรา หลังจากผ่านการรักษามาทั้งหมด เรารู้สึกกลัวผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาด้วยคีโมมากกว่าตัวมะเร็งจริงๆ เสียอีก (หัวเราะ) พอเรารักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เรารู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงและมีพลังในชีวิตเยอะกว่าเก่ามาก ในใจยังขอบคุณการรักษานี้อยู่ตลอด อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาที่ดีแบบเรา

ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราอยากไล่มะเร็งออกไปให้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้เรามองว่ามะเร็งว่าเป็นเพื่อนไปแล้ว เราจะบอกกับมะเร็งเสมอว่าให้อยู่อย่างสงบด้วยกันไปเรื่อยๆ ก่อนนะ และได้เห็นว่าหลายๆ คนที่เคยป่วยเป็นมะเร็งก็คิดแบบเดียวกันว่ามะเร็งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่อยู่ด้วยกันไปแล้ว”

เต็มที่กับชีวิต

“การมองโลกของเราเปลี่ยนไปมาก เหมือนเพิ่งได้เริ่มมีชีวิตจริงๆ หลังจากที่เป็นมะเร็ง เรารู้สึกว่าตัวเองเข้าใจเหตุผลในการมีชีวิตมากขึ้น สำหรับเรา การมีชีวิตอยู่คือการอยู่เพื่อรู้สึกทุกอย่าง ไม่ว่าจะดีหรือแย่ แล้วก็แค่ทำงานกับมันไปในทุกๆ วัน เรารู้แล้วว่าไม่มีอะไรโลกที่แน่นอนจริงๆ มะเร็งทำให้เราซาบซึ้งกับชีวิตที่มีอยู่ รู้สึกดีที่ตื่นมาแล้วยังหายใจ คิดเสมอว่าการไม่เจ็บป่วยคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เราพยายามไม่เสียเวลาชีวิตไปกับอะไรที่เป็นพิษกับใจตัวเอง ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น พยายามไม่เก็บความทุกข์ความเครียดไว้นาน รักร่างกายตัวเองได้ดีกว่าเดิม รักชีวิตของตัวเอง เราจึงพยายามทำทุกๆ วันให้ดี ให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ เพราะไม่อยากรู้สึกเสียใจที่เสียโอกาสไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น แต่ก่อนเราเคยคิดอยู่นานมากว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรา สาเหตุของมะเร็งจริงๆ คืออะไร แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้เลย จนตอนนี้ คำถามที่เคยเกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้ว แต่คือการที่เราจะจัดการกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่อย่างไรต่อ เราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบไหน และเป็นคนอย่างไรต่อไปมากกว่า”

เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง พร้อมแล้วลุยต่อ

“สิ่งที่เราแนะนำได้ คงเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกับตัวเองมาแล้ว อย่างแรกคือการทาน เราลดการทานอะไรที่ทำให้ร่างกายอักเสบได้ง่าย เช่น น้ำตาล ของแปรรูป ของดอง ของดิบ เนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในมุมของเรา เราจะไม่เคร่งและไม่เครียดจนเกินไป เราให้อาหารใจกับตัวเองบ้าง ทานของที่อยากทาน ขณะเดียวกัน เราไม่ลืมที่จะทานของที่ดีต่อร่างกายด้วย สิ่งที่เราทำคือการหาความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ ทานทุกอย่างแบบพอดีๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป

อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องความเครียด ทุกวันนี้เรายังเจอเรื่องที่มากระทบจิตใจ มีความกังวล ความเศร้า แต่เราจะไม่ค่อยเก็บให้ไหลวนในตัวเรานานๆ แต่จะระบายออกมา คุยกับเพื่อนหรือคนที่เรารู้สึกไว้ใจ เล่นกับแมว ปรึกษานักจิตบำบัด หากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย หลังจากป่วยทำให้เรารู้สึกว่าบางทีเราไม่ต้องไปอะไรมากกับชีวิต แค่ไม่เจ็บป่วยคือของขวัญที่ดีที่สุดของชีวิตแล้ว พยายามใช้ชีวิตที่เราอยากใช้เท่าที่จะทำได้ อีกอย่างที่ไม่ควรลืมคือการพักผ่อนและออกกำลังกาย ทำอย่างไรก็ได้ให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ถ้าภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็จะลดความเสี่ยงที่จะเจอมะเร็งไปได้เยอะแล้วนะ

แน่นอนว่าการเผชิญและรักษาโรคมะเร็งไม่ง่ายเลย เราอยากบอกว่าเราเข้าใจทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์นี้แบบสุดๆ ถึงจะสู้จะมีกำลังใจมากแค่ไหน มันจะมีสักหนึ่งวันที่ความหวังของเราที่เคยสร้างพังทลายและหายไปต่อหน้าต่อตา เราอยากบอกว่า คุณเก่งมากที่ต่อสู้มาตลอด คุณจะผ่านมันไปได้ อยากให้ขอบคุณตัวเองทุกครั้งที่ได้พาตัวเองผ่านเรื่องยากๆ ถ้ารู้สึกเหนื่อยก็พักก่อน ถ้ารู้สึกท้อปล่อยให้มันเป็นไป อย่างเดียวเลยคุณอย่าเพิ่งยอมแพ้ จนเมื่อคุณพร้อมแล้วค่อยกลับมาลุยต่อ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล  
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์

ยุวดี พันธ์นิคม ผู้ปลดล็อคขีดจำกัดสู่ชีวิตแบบไร้ขีดจำกัด

“ข้อจำกัด” ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยนับว่าเป็นเรื่องที่เราต่างต้องมีและต้องเจอตลอดช่วงชีวิตหนึ่ง ใครหลายคนอาจถือเอาสิ่งที่ว่านี้มาเป็นข้ออ้างในการบอกกับตัวเองว่านี่คืออุปสรรคที่ทำให้ชีวิตไปได้ไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ไม่ใช่สำหรับ ออย – ยุวดี พันธ์นิคม เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูกและมะเร็งปอดเมื่อตอนอายุ 14 ซึ่งทำให้เธอต้องตัดขาซ้ายและปอดขวาเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ แม้มะเร็งจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่เธอสามารถก้าวข้ามความไม่สมบูรณ์นั้นได้ด้วยคำว่า “ไม่ยอมแพ้” ในวัย 36 ออยใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่รัก มีครอบครัวที่น่ารักอยู่เคียงข้าง เป็นนักวิ่งมินิมาราธอน และยังมีเพจเฟซบุ๊กชื่อ ออยลี่ฟอกซ์ ที่คอยจุดประกายและส่งต่อพลังดีๆ …สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเธอเองเท่านั้น แต่รวมถึงคนอื่นๆ ด้วยว่าการใช้ชีวิตได้อย่างดีด้วยการยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นเป็นอย่างไร  

เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ย้อนกลับประมาณ ม.3 เทอม 1 อายุประมาณ 14 ปี ตอนนั้นออยมีอาการปวดขา เป็นๆ หายๆ มาตลอด แต่คิดว่านั่นคืออาการปวดทั่วๆ ไป ไม่ได้สนใจอะไร จนเวลาผ่านไป ออยเริ่มปวดถี่ขึ้นๆ จนนอนเพ้อ เลยไปหาคุณหมอซึ่งตอนแรกยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่มีการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือเนื้องอกในกระดูก หลังจากผ่าตัดตรวจดูชิ้นเนื้อปรากฏว่าเป็นเนื้อร้าย คุณหมอเลยขอสแกนทั้งตัวถึงได้เห็นว่าออยเป็นมะเร็งกระดูกและลามไปที่ปอดซ้ายและขวา อยู่ในระยะกระจายแล้ว”

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การรักษาในเวลานั้นคือการตัดที่จุดกำเนิดเพื่อรักษาชีวิตไว้ ซึ่งหากไม่ตัด เธออาจจะเสียชีวิตภายใน 1-2 ปี หลังจากแผลผ่าตัดที่ขาด้านซ้ายเริ่มหายดี เธอเริ่มให้คีโมไปได้ระยะหนึ่งกระทั่งก้อนเนื้อมะเร็งที่ปอดซ้ายยุบลงเหลือ 5-6 มิลลิเมตร ขณะที่ด้านขวาไม่มีทีท่าว่าจะยุบลง ซึ่งด้วยสภาพร่างกายที่เริ่มไม่ไหว คุณหมอจึงแนะนำให้ออยตัดปอดด้านขวาออกเสีย “ตอนนั้นออยไม่ได้ปรึกษาใครว่าจะตัด ไปบอกกับคุณพ่อคุณแม่เลยว่า ลูกจะตัดปอดนะ เมื่อตัดปอดข้างขวาออกไป ออยให้คีโมมาต่อเนื่องมาจนกำลังจะเข้าสู่คอร์สที่ 9 จาก 12 คอร์ส ระหว่างเตรียมตัว ออยบอกพยาบาลว่าเวลาอ่านหนังสือ แต่ตาของเราไม่โฟกัสไปที่จุดที่มอง แต่จะเห็นด้านข้าง คุณพยาบาลเลยพาเข้าตรวจตาทันที ผลออกมาว่าเลือดออกที่ตาดำ ตาออยกำลังจะบอด จึงต้องหยุดให้คีโมเพราะไม่สามารถให้ต่อได้แล้ว คุณหมอเลยให้ออยกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน เรื่องของการรักษาคือจบแค่วันนั้น แต่มีติดตามผลกับคุณหมอต่อมาเรื่อยๆ จนผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว”

หลังจากหยุดการรักษา ออยใช้ชีวิตเป็นปกติทุกอย่าง ไม่ได้เข้มงวดเรื่องอาหารการกินมากนัก ขอเพียงมีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นอาหารที่ชอบ “ตอนที่เป็นมะเร็ง อาหารอย่างเดียวที่ออยทานได้คือมาม่าต้มยำกุ้งใส่โบโลน่า ซึ่งคุณหมอไม่เคยห้ามเลย ขอแค่อย่างเดียวว่าให้ใส่ไข่เพื่อเพิ่มโปรตีนสักหน่อย หลังจากเริ่มห่างจากการให้คีโม ออยก็ทานปกติอะไรนัวๆ มาได้เลยค่ะ

ส่วนที่ยากลำบากจะเป็นตอนที่ต้องใส่ขาเทียม ซึ่งก่อนที่จะได้ขาเทียมมา ทุกคนบอกไว้ว่าออยจะสามารถทำกิจวัตรได้เหมือนเดิมเลย ไม่ต้องกังวล เราก็วาดฝันไว้แบบนั้นเลย แต่พอได้มาแล้ว ถึงบ้านออยถอดทิ้งเลย เพราะขาเทียมไม้ที่ได้มาทั้งแข็งและหนักประมาณ 10-15 กิโลกรัม ใส่แล้วเจ็บมากแถมยังเดินได้ไม่เหมือนเดิม เรารู้สึกแย่ว่าทำไมทุกคนต้องหลอก เราวาดฝันจินตนาการว่าจะกลับไปเดินได้เหมือนเดิม ออยอยู่กับความรู้สึกนั้นพักใหญ่ๆ จนท้ายที่สุดมาคิดได้เองว่า ถ้าไม่ใส่ขาเทียม เราไม่สามารถทำอะไรได้สะดวก ถ้าไม่คิดที่จะหัดเดินได้เหมือนคนปกติ อนาคตเราไม่มีเลยนะ ความฝันที่อยากจบปริญญาตรี อยากดูแลคุณพ่อคุณแม่ จะทำไม่ได้นะ วันนั้นออยตัดสินใจลองหัดเดิน ถึงจะเจ็บแต่ต้องหัด และด้วยความโชคดีของออยที่เพื่อนๆ คอยช่วยตลอด จำได้ว่าต้องใช้เวลาเกือบปีถึงจะกลับมาเดินได้ด้วยขาเทียมเพราะออยลืมการเดินไปแล้ว ช่วงแรกออยยังเดินได้ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนขาจริง จนเปลี่ยนมาใช้ขาปัจจุบันที่วัสดุและองศาการพับใกล้เคียงกับสรีระทำให้การเดินของออยเป็นการเดินแบบปกติที่ใช้สะโพกซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการเดินได้แล้ว”

วิ่ง วิ่ง และวิ่ง…สิ่งซึ่งทลายกำแพงที่ชื่อว่า ‘ข้อจำกัด’

“ออยเกลียดการเดินมาตลอด เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ออยพยายามเดินให้น้อยที่สุด แค่ 100 เมตรก็ไม่อยากจะเดินแล้ว และจะเป็นคนที่นั่งคอยเสมอ ถ้าไปเที่ยวกับลูกและสามี เราจะให้คุณพ่อพาลูกไป ส่วนตัวเองจะนั่งคอย ไม่ได้ทำทุกกิจกรรมร่วมกับลูกเพราะว่าเราเจ็บเวลาที่เดิน จนเข้าสู่วัย 30+ ออยมีความรู้สึกว่าไม่อยากโดนทิ้งไว้ข้างหลังและอยากไปได้ไกลกว่านี้ ปี 2562 ออยบอกกับสามีว่า “ฉันอยากบอกรักตัวเอง ปีนี้ฉันจะให้ของขวัญตัวเองด้วยการออกกำลังกายนะ” สามีก็พาไป ช่วงแรกออยออกกำลังกายกับอุปกรณ์ที่มีในสวนสาธารณะอยู่ประมาณ 15 นาที ซึ่งแค่นั้นก็เหนื่อยแล้วและจะมานั่งรอจนสามีออกกำลังกายเสร็จ กระทั่งวันหนึ่งอยากลองเดินดู แต่เดินแค่ 200 เมตรแรก ออยเริ่มเจ็บขา เลยเดินๆ พักๆ จนครบ 1 กิโลเมตร จำได้ว่าใช้เวลาอยู่ประมาณ 23 นาที แต่หลังจากวันนั้น ออยจะพยายามเดินทุกครั้งเมื่อออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อย และมาสังเกตตัวเองว่า 200 เมตรที่เคยเจ็บในวันแรก เราไม่ได้เจ็บที่จุด 200 เมตรแล้ว ความเจ็บเริ่มลดน้อยลง ขณะที่เราเดินได้ในระยะทางที่ไกลมากขึ้น สุดท้ายจุดเจ็บของออยมาจบที่ 3 กิโลเมตร ตั้งแต่นั้นมาเลยอินกับการเดินมาโดยตลอดเลยค่ะ”

ในปีเดียวกัน เธอได้เห็นประกาศโครงการ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่ Run for New Life Story” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดรับคัดเลือกบุคคลซึ่งมีปัญหาทางด้านสุขภาพ น้ำหนักเกิน เป็นผู้พิการ ออฟฟิศซินโดรม และมีความฝันที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองให้มีสุขภาพและชีวิตดีขึ้นด้วยการวิ่ง ซึ่งนี่เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเธอ

“โครงการนี้เป็นการชวนคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยมาลองวิ่งดูที่ระยะทาง 10 กิโลเมตร พอได้ดูรายละเอียด เรารู้สึกว่าฝันของตัวเองเริ่มใหญ่ขึ้นว่าอยากจะไปเตะจุด 10 กิโลเมตรให้ได้ เลยลองเขียนชีวิตและเหตุผลต่างๆ ส่งเข้าไปที่โครงการดู ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 บุคคลต้นแบบ ได้ไปฝึกโดยมีโค้ชและนักโภชนาการมาช่วยดูแล” ซึ่งเธอสามารถวิ่งในระยะทาง 10 กิโลเมตร ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 9 วินาที เป็นการพิชิตมินิมาราธอนแรกได้ของเธอเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562

“การวิ่งเปลี่ยนแปลงตัวออยไปหลายๆ อย่าง เวลาวิ่งออยไม่ได้ฟังเพลงเพราะอยากปล่อยให้สมองโล่งๆ เป็นหนึ่งช่วงโมงที่ได้อยู่กับตัวเองและกลับมารักตัวเองในแบบที่เป็น กลายเป็นว่าทุกครั้งที่มีปัญหาหรือความเครียด การวิ่งทำให้ออยสลัดความรู้สึกแย่ๆ ออกไปได้หมดและกลับมามีความสุขได้อีกครั้ง ต้องบอกว่าทุกครั้งที่วิ่ง ออยจะเจ็บและได้แผลกลับมาเสมอ มีคนถามเหมือนกันนะว่า แล้วคุณจะทรมานตัวเองทำไมในเมื่อคุณเจ็บ แต่ความเจ็บนั้นไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป อาบน้ำ นอน อีกวันหนึ่งความเจ็บนั้นก็หายไป นอกจากจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของร่างกายและสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นแล้ว การวิ่งยังสอนอะไรออยอีกหลายอย่าง ทั้งการฝึกจิตใจ ความอดทน สติ สมาธิ ได้มิตรภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้เราชนะตัวเอง รักตัวเอง ลืมข้อจำกัดของตัวเอง และอยากทำให้ตัวเองดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือมันทำให้ออยสามารถเดินเคียงข้างสามีและลูกได้โดยที่ไม่ต้องนั่งรอพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกเช้าที่เป็นวันหยุดออยจะต้องปลุกสามีออกไปวิ่งด้วยกัน ทางนี้ก็จะบ่นว่า “ไม่น่าเล้ย” (หัวเราะ)”

ที่เปลี่ยนไปคือ ‘หัวใจและทัศนคติ’

“ก่อนที่จะเป็นมะเร็ง ออยมีความรู้สึกว่าใครเป็นโรคนี้นี่โชคร้ายนะ เพราะเป็นแล้วต้องตาย ครอบครัวออยคิดแบบนี้เหมือนกัน พวกเขาเลยพยายามจะอยู่ใกล้และตามใจเราให้มากที่สุดเพราะคิดว่าออยคงมีเวลาเหลืออีกไม่นาน ตอนที่ต้องตัดขา ออยต้องการกำลังใจและความเห็นใจจากคนอื่นมากๆ โดยเฉพาะคนปกติ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าจะคิดว่า ทำไมคนในขบวนถึงไม่ลุกให้เรานั่งนะ เราเป็นคนพิการนะ จนวันหนึ่งที่ออกมาใช้ชีวิตจริงๆ ได้เห็นโลกภายนอก ได้เห็นศักยภาพตัวเอง ออยรู้สึกโชคดีมากที่ตัวเองเป็นแค่นี้และยังไม่ตาย ซึ่งการมีชีวิตอยู่ทำให้เราได้ทำอะไรได้อีกเยอะมาก

แม้มะเร็งจะทำให้ออยไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม แต่มะเร็งทำให้เรายอมรับ เห็นคุณค่า และรักตัวเองในแบบที่เป็น เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีใครลุกให้นั่ง ออยจะมองอีกแบบแล้วว่าเพราะเราแข็งแรงไง หรือเขาอาจจะเหนื่อยจากงาน ตอนนี้ไม่รู้สึกไม่ดีอะไรอีกแล้ว ออยเสียดายเวลาที่ผ่านมาว่าตัวเองมัวไปนั่งน้อยใจกับโชคชะตาทำไม ถ้ามีโทรศัพท์ที่โทรกลับไปบอกตัวเองในอดีตได้ ออยจะบอกกับตัวเองว่าดีแล้วนะที่ตัดสินใจตัดขาและปอด เพราะอนาคตของเธอดีมากและมีความสุข แล้วกลายเป็นว่าพลังบวกเหล่านี้ยังแผ่ขยายไปให้คนรอบๆ ตัวเราด้วย”

ความสวยงามของฟ้าหลังฝน

“การที่ออยประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีคุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว เพื่อนๆ สามี และลูกที่อยู่เคียงข้างกับเรามาในทุกๆ จังหวะชีวิต ไม่ว่าจะร้องไห้หรือมีความสุขอย่างทุกวันนี้ พวกเขาคือสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นของขวัญในชีวิต สิ่งที่มะเร็งมอบให้ออยคือทำให้เรารู้จักคุณค่าของเวลา คนรอบข้าง และได้รู้แล้วว่าการใช้ชีวิตให้คุ้มค่านั้นเป็นอย่างไร ต่อให้ตอนนี้ออยเหลือเวลาอยู่แค่ 3 เดือน ออยจะไม่เสียใจแล้ว แต่จะใช้เวลาทั้งหมดที่มีทำอะไรต่อมิอะไรอย่างเต็มที่ พูดขอโทษ ขอบคุณ อโหสิกรรม ทำสิ่งที่ดีกับคนที่รัก ทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างสุดความสามารถ และจะทำให้ทุกนาทีของการมีชีวิตอยู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดายอีกต่อไป”

ขอจงหนักแน่นและยืนหยัดเพื่อจะมีชีวิตอยู่

“ตอนผ่าตัดปอด คำพูดแรกหลังจากตื่นขึ้นคือ “พ่อปล่อยออยไปเถอะ ออยไม่ไหวแล้ว อย่ายื้อ อย่ารั้งออยไว้อีกเลย” แต่ความรักและกำลังใจของคนรอบๆ ตัวที่ส่งมาให้มีมากเหลือเกิน มากจนทำให้เรากลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง ออยบอกตัวเองว่าเราจะท้อ จะหมดหวังทำไม ในเมื่อพลังบวกที่พวกเขาส่งมาให้เต็มเปี่ยม พวกเขาพร้อมสนับสนุนเราทุกๆ อย่างขนาดนั้น ใจเราต้องให้ร้อยกลับไป ต้องสู้ให้เต็มที่สิ จริงๆ ออยไม่คิดเลยว่าตัวเองจะผ่านมาได้จนถึงตอนนี้ก็ 20 กว่าปีแล้วนะคะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะบอกได้ก็คือ หากคุณหมอแนะนำอะไร อย่าดื้อเลยค่ะ ออยอยากให้ลองมองสิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพลังใจจากคนรอบข้างหรือสิ่งดีๆ จากตัวเอง เช่นว่าวันนี้ฉันทำอะไรได้บ้าง ฉันเดินได้ 1 ก้าวนะ วันต่อไปเดินได้ 2 ก้าวแล้ว จากจุดเล็กๆ แบบนี้คุณจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ออยอยากให้คนที่กำลังท้อหรือหมดกำลังใจลองใช้ชีวิตอยู่โดยมองที่ปัจจุบันขณะ ทำหน้าที่ของตัวเองในวันนี้ นาทีนี้ให้ดี ถ้าวันนี้เหนื่อยแล้ว หยุดพัก แล้วพรุ่งนี้เรามาเริ่มกันใหม่”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล   
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: ยุวดี พันธ์นิคม

เพลินพิศ โกแวร์ เมื่อมะเร็งสอนให้รู้ว่าทุกนาทีจากนี้คือโบนัสของชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ไอรีน – เพลินพิศ โกแวร์ ตรวจพบความผิดปกติในร่างกายจากการคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณหน้าอก ซึ่งต่อมาพบว่าคือมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ที่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หลังจากรักษาจนอาการเริ่มคงที่ ชีวิตของไอรีนกลับมาดีขึ้น ทว่าปีที่ 3 ของการติดตามผล ร่างกายของเธอพบความผิดปกติอีกครั้ง โดยมะเร็งได้กระจายไปที่ตับแล้ว ด้วยการรักษาในครั้งแรกที่ทำให้ไอรีนรู้สึกทรมานและตั้งใจไว้ว่าหากเซลล์มะเร็งมีการกระจายอีก เธอจะยุติการรักษาทั้งหมด แต่เพราะจำนวนและขนาดของเซลล์ที่แพร่มามีไม่มากและสามารถจัดการได้ เธอจึงตัดสินใจสู้ต่อ 

กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 6 ของการรักษา ร่างกายและจิตใจของเธออ่อนแอลงอีกครั้งจนไอรีนลังเลว่าควรจะพอหรือไปต่อ เวลานั้น (พ.ศ. 2563) การรักษาแบบใหม่อย่าง “ภูมิคุ้มกันบำบัด” (Immunotherapy) เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่และกลายมาเป็นความหวังครั้งสำคัญ แม้เส้นทางการรักษานี้จะเป็นอีกหนึ่งด่านหินในชีวิต แต่ก็ทำให้ไอรีนพบสัจธรรมว่าความทุกข์นั้นสอนตัวเธอได้ตรงกว่า มากกว่า และเข้าใจถึงการเป็นมนุษย์ได้มากกว่าความสุขที่ฉาบฉวย อีกทั้งยังเปลี่ยนมุมมองของเธอที่ไม่สนใจว่าตัวเองจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่อีกต่อไป แต่คือการใช้ชีวิตอย่างไรกับเวลาที่เป็นโบนัสของชีวิตให้มีความสุขต่างหาก 

การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

“หลังจากมะเร็งกระจายมาที่ตับ การรักษาครั้งที่ 2 ไอรีนต้องรักษาแบบไม่หยุดเลย ทั้งคีโม ทั้งการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด การผ่าตัดรังไข่เพื่อหยุดการผลิตฮอร์โมนของร่างกาย และรักษามะเร็งตับด้วยการจี้ด้วยความร้อน RFA ซึ่งต่อมาเซลล์มะเร็งยังกระจายไปที่ปอดและกระดูกด้วย ซึ่งการรักษาโดยรวมจะเป็นการให้คีโมมาตลอด และอย่างที่ผู้ป่วยทุกคนรู้ว่าคีโมแต่ละตัวจะนำมาซึ่งผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน จนเข้าสู่ปีที่ 6 เราเหนื่อยมากและต้องการจะหยุดการรักษา” 

เมื่อตัดสินใจและแจ้งคุณหมอถึงความต้องการในเวลานั้น อาจารย์กฤษณ์ (รศ.นพ. กฤษณ์ จาฏามระ) ซึ่งเป็นคุณหมอที่ดูแลไอรีนมาตั้งแต่ต้นจึงเสนอทางเลือกใหม่ นั่นคือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด” โดยคุณหมออธิบายว่า การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน ซึ่งเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะถูกกระตุ้นเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย เป็นการส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อให้สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“ขั้นตอนที่คุณหมอทำคือการทำวัคซีนโดยนำเอาเม็ดเลือดขาวของเราออกมาทำความรู้จักกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย จากนั้นจึงฉีดกลับเข้าร่างกายเพื่อที่จะให้เจ้าวัคซีนตัวนี้เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง เวลานั้นไอรีนเป็นคนไข้คนแรก ซึ่งคุณหมอบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่เป็นการรักษาแบบใหม่ คุณหมอจะไม่สามารถบอกได้ว่าระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วหลายๆ อย่างยังไม่มีในตำรา ไม่มีการรับรองผลว่ารักษาแล้วจะหาย แต่สามารถบอกถึงสิ่งที่คุณหมอทราบได้ เมื่อได้ฟังและกลับมาปรึกษากับครอบครัวจึงตัดสินใจว่าจะลองดูอีกสักตั้ง เพราะก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าการเดินทางของตัวเองคือการทำคีโมไปเรื่อยๆ เหนื่อยแล้ววันหนึ่งคงจากไป แต่เมื่อมีการรักษาแนวใหม่เข้ามาเป็นตัวเลือก เราจึงเกิดความหวังและรู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องเสียแล้ว เพราะนี่คืออีกก้าวใหม่ที่เราจะก้าวเข้าไป ไอรีนเริ่มการรักษาด้วยวิธีการนี้ในเดือนเมษายนปี 2563 และใช้เวลา 1 ปีเต็ม จนกระทั่งฉีดวัคซีนครบทั้งหมด 9 โดสเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ร่างกายแข็งแรงดี สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติแล้ว ถ้ามีก็จะเป็นผลจากมะเร็งที่กระดูก บวกกับปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกที่คอและหลัง ซึ่งจะมีอาการปวดหลัง ทำให้การลุกการนั่งต้องระมัดระวังมากขึ้นหน่อย” 

วันที่ใจอ่อนล้ากลับแข็งแกร่ง

“ช่วงเวลาที่ท้าทายมากๆ อย่างตอนที่รักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ตอนนั้นคิดแค่อย่างเดียวคือเราจะใช้ชีวิตในสุดท้ายนี้ให้มีความสุขแล้วจากไป เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปได้ 6 โดสแล้ว ตัวเองมีอาการเยอะมากแบบที่คิดว่าไม่อยากมีมีชีวิตอยู่แล้ว ทั้งคลื่นไส้ อาเจียน ท้องบวม น้ำท่วมปอด ปวดหลังจนเดินไม่ได้ ทำให้ท้อใจอย่างมาก ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปเลยถ้าชีวิตทุกข์และเจ็บปวดขนาดนี้ แต่ว่าไอรีนผ่านมาได้ด้วยกำลังใจ ความรัก และการดูแลของทั้งคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และเจ้านาย รวมทั้งแรงสนับสนุนจากคนรอบๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณหมอและทีมที่สู้และทุ่มเทกับการดูแลชีวิตของเรามากๆ ซึ่งในความเจ็บปวดทั้งหลาย พวกเขาไม่เคยทิ้งแม้แต่ครั้งเดียว เรารู้สึกว่าการรักษาของตัวเองห้อมล้อมด้วยครอบครัวที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยความรัก ขณะเดียวกันตัวไอรีนเองก็เชื่อว่าชีวิตหลังจากนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ อีก นี่เลยเป็นกำลังใจที่ทำให้สามารถผ่านทุกด่านของการรักษามาได้ ถ้าไม่มีพวกเขา วันนี้เราคงไม่มีแรงที่จะยืนและไม่มีชีวิตอยู่ต่อได้เหมือนกัน”

เวลาคือโบนัสของชีวิต 

“ก่อนที่จะป่วย เรามองโลกแบบหนึ่ง แต่มะเร็งทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไป มองสิ่งรอบตัวเป็นความสวยงามและสามารถหาความสุขกับสิ่งใกล้ตัวได้มากขึ้นค่ะ ชีวิตที่มีอยู่ตอนนี้คือเวลาที่เราได้แถมมา เพราะตั้งแต่วันที่ตัดสินใจว่าจะหยุดรักษาครั้งล่าสุดเมื่อปีก่อนนั่นคือเราเลือกที่จะหยุดเวลาแล้ว เลยจะบอกกับตัวเองว่าต้องไม่เอาเวลาชีวิตหลังจากนี้มาอมทุกข์ มาอยู่กับความโศกเศร้า แต่จะใช้เวลาทั้งหมดกอบโกยความสุขและอยู่ร่วมกับครอบครัว มองดูลูกเติบโตและก้าวหน้าไป กลายเป็นว่าการมองชีวิตทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจว่าจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่ แต่คือการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขในเวลาโบนัสที่เราได้มา 

จริงๆ เป้าหมายในอดีตกับปัจจุบันของไอรีนเหมือนกันนะ สิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้คือเมื่อทำงานจนถึงวันหนึ่ง เราจะหยุดและเกษียณตัวเอง ใช้ชีวิตที่เหลือแบบสโลวไลฟ์ สบายๆ และทำในสิ่งที่รัก ซึ่งการเป็นมะเร็งทำให้เป้าหมายนั้นมาเร็วขึ้นและกำลังจะบรรลุเป้าหมายนั้นแล้วค่ะ”

ฉันจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

“คุณหมอไม่ได้บอกว่าจะต้องใช้ชีวิตแบบไหน จะต้องทานอะไร จะต้องหลีกเลี่ยงอะไรต่างๆ อย่างไร ให้ใช้ชีวิตตามปกติ ตอนที่ป่วยใหม่ๆ เราฟังคนอื่นเยอะว่าอะไรควรทาน อะไรห้ามทาน ซึ่งเมื่อเราทำตามก็พบว่าร่างกายตัวเองอ่อนแอลงมาก เม็ดเลือดแดงต่ำ ไม่มีแรง เบื่อหน่ายกับชีวิต เพราะทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ชีวิตมีข้อจำกัด ทำให้ไม่มีความสุข เมื่อเป็นอย่างนั้น เราจึงเปลี่ยนการใช้ชีวิตมาอยู่บนแนวทางที่ว่า ฉันจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง อย่างอาหารการกิน ทุกวันนี้เราทานทุกอย่าง เพียงแต่จะรู้ว่าอะไรที่ไม่ดีก็จะทานแค่ให้หายอยาก โดยอาหารส่วนใหญ่จะทำเองแบบปรุงสุกใหม่ๆ และมีเปลี่ยนบรรยากาศไปทานอาหารนอกบ้านบ้างตามเวลาและโอกาสอำนวย ไม่ห้ามตัวเองอีกแล้ว เพราะการห้ามทำให้ใจเราอยาก ซึ่งนำไปสู่ความทุกข์และอยู่ยากขึ้น 

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ทุกวันนี้ไอรีนไม่ได้ทำงาน เลยมีเวลาที่จะทำในสิ่งที่รักอย่างการทำขนมและทำอาหาร ใช้ชีวิตอยู่ในครัว เริ่มปลูกต้นไม้ จากแต่ก่อนนี้ชีวิตชอบทุกอย่างที่สำเร็จรูป ถ้าเลือกต้นไม้ เราคงจะเลือกซื้อต้นที่โตมาแล้ว แต่ทุกวันนี้กลับมีความสุขกับการนำเมล็ดมาปลูก หรือซื้อต้นไซส์มินิมา แล้วค่อยๆ ดูเขาเติบโต รวมไปถึงการเลี้ยงนกที่เราเลี้ยงจนกระทั่งเขาไข่และมีลูกนกออกมา ชีวิตในเวลานี้จะวนเวียนกับกิจวัตรประจำวันแบบนี้ ซึ่งเป็นอีกช่วงเวลาที่มีความสุข ทุกวันจะผ่านไปเร็วมาก เหนื่อยก็หยุดพัก พออยากจะทำอะไรเราก็ทำต่อ แต่ก่อนความสุขของเราจะเป็นความสุขที่ฉาบฉวย เช่น การที่ออกไปซื้อของ ทานอาการอะไรต่างๆ นานา แต่ทุกวันนี้ความสุขของเราคือการอยู่บ้านกับครอบครัวและทำในสิ่งที่รัก”

ความทุกข์ที่เปรียบเสมือนเพชรในชีวิต 

“สำหรับคนทั่วไป อยากจะแนะนำเลยว่าให้ดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ตัวเราจะรู้จักตัวเองดีที่สุด เพราะฉะนั้น เราควรจะสังเกตความผิดปกติในร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ บางที เราอาจต้องทำงาน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบจนหลงลืมใส่ใจตัวเอง มองข้ามความผิดปกติในร่างกาย อย่างน้อยๆ 1 ปี ลองหาเวลาไปตรวจสุขภาพกัน เพราะหากพบความผิดปกติในระยะต้น การรักษาจะง่ายขึ้นและทันท่วงที อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ดี รักตัวเองมากๆ เพราะการมีสุขภาพดีมีค่ายิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง 

ก่อนหน้านี้ เรารู้ว่ามะเร็งเป็นโรคร้ายเพราะได้เห็นว่าคนรู้จักส่วนหนึ่งต้องจากไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคนี้ เราได้เห็นช่วงสุดท้ายของพวกเขาว่าทรมาน พอมาป่วยเองก็พบว่าสิ่งที่เราได้เห็นมานั้นเป็นความจริงทุกประการ โรคนี้รุนแรงและการรักษาเป็นเส้นทางที่ยาวนานและทรมานกว่าที่คิดไว้มาก จากที่เห็นคนอื่นก็ว่าแย่แล้ว เมื่อมาเผชิญเอง มันยากกว่าหลายเท่าเลยนะ เพราะฉะนั้น ไอรีนอยากจะบอกว่าเข้าใจผู้ป่วยทุกคนมากๆ ว่าต้องเจอกับอะไร และอยากจะบอกว่าในตัวพวกเราทุกคนมีความเข้มแข็งและอดทนเกินกว่าที่เราจะรู้กันเสียอีก อย่าเพิ่งยอมแพ้ เพราะการยอมแพ้จะทำให้เราพลาดช่วงเวลา golden moment หลายๆ ช่วงของชีวิต ไอรีนยังคิดเลยว่าถ้าตัวเองหยุดรักษาไป คงจะไม่มีโอกาสได้ไปงานจบการศึกษาของลูก ไม่ได้เห็นเขาเติบโตขึ้นและประสบความสำเร็จในชีวิต อนาคตยังมีสิ่งอีกมากมายที่เราควรและสามารถจะได้อยู่ในห้วงเวลาแห่งความสุขนั้น นี่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองอย่างเดียว แต่เพื่อคนรอบตัวเราด้วย อยากขอให้ทุกคนสู้ต่อไป สู้ให้สุดทาง และตัวไอรีนเองจะส่งกำลังใจและคอยเป็นแรงสนับสนุนให้กับทุกๆ คนอยู่ตรงนี้ เราจะสู้ไปด้วยกันนะคะ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: เพลินพิศ โกแวร์

สูตรไฟว้มะเร็งที่เริ่มต้นจากใจและสำเร็จได้ด้วยใจแบบ คำพลอย บูรณานุวัต

เดือนมกราคมปี 2014 ครอบครัวโกเมสที่ประกอบไปด้วย แหน คำพลอย บูรณานุวัต, ฌูเอา (สามี), น้องมาเรีย ดี ลูกสาวตัวน้อย และโนแอล สุนัขสายพันธุ์เฟรนช์บูลด็อกประจำตระกูล เริ่มต้นการผจญภัยครั้งสำคัญในชีวิตของพวกเขากับแผนล่องเรือไปยังประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 500 ปี อันเป็นการเดินทางของชาวโปรตุเกสที่เชื่อมต่อโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน นี่คือความฝันของสามีชาวโปรตุเกส โดยมีแหนเคียงบ่าเคียงไหล่และเป็นกำลังสนับสนุนสำคัญ ชีวิตของเธอเวลานั้นกำลังสนุกกับประสบการณ์ครั้งใหม่ ทุกอย่างกำลังไปได้สวย จนกระทั่งปลายปี 2015 เธอเดินทางมาทำงานสั้นๆ ที่มาเก๊า ที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งใหม่ของเธอ แหนพบความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกาย ซึ่งต่อมาคือมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 แม้จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งนี้จะยากพอตัว แถมพ่วงมาด้วยบททดสอบยากๆ อยู่หลายด่านที่เธอต้องข้ามผ่าน แต่ในวันนี้ ชีวิตของแหนกลับมาปกติอีกครั้ง และพร้อมบอกกับมะเร็งแล้วว่า “ฟังนะ ฉันสวยมาก ฉันไม่ตาย ฉันจะใช้ชีวิตอย่างดี แข็งแรง และมีความสุขแบบสุดๆ ไปเลย”

วันที่เซลล์ของฉันกลายร่าง

“ช่วงปลายปี 2015 เรากลับมาไปทำงานที่มาเก๊าอีกครั้งหลังจากล่องเรือไปประเทศต่างๆ อยู่ประมาณปีกว่าๆ จำได้ว่าวันนั้นกำลังอาบน้ำแล้วไปสะดุดกับอะไรนูนๆ ตรงหน้าอกขวา ลักษณะเหมือนกับคนหัวโน ไม่ได้เป็นก้อน เราบอกเรื่องนี้กับสามีและตกลงกันว่าเดี๋ยวมาเจอกันก่อนแล้วค่อยจัดการ พอจบงานที่มาเก๊า เราเดินทางกลับมาที่เรืออีกครั้ง ตอนนั้นเรือของเราล่องอยู่ที่เกาะ Martinique ของฝรั่งเศส ยังไม่ได้ไปหาหมอ เพราะลักษณะก้อนที่เต้านมแค่นูน ไม่ได้เป็นก้อนแข็งและกลิ้งไม่ได้แบบเนื้อร้ายที่เขาบอกกัน เราชั่งใจอยู่ว่าจะไปหาหมอที่เกาะไปเลยดีไหม แต่อีกใจก็คิดว่าจะกลับมาตรวจตอนล่องเรือกลับมาถึงไทย 

จนเข้าเดือนกรกฎาคม 2016 เราพบความผิดปกติที่มากขึ้นคือรู้สึกเจ็บแปร๊บเวลาที่น้ำฝักบัวมาโดนหน้าอก ตอนนั้นเรือล่องมาถึงเกาะ Curaçao ของเนเธอร์แลนด์แล้ว เราเริ่มนอนไม่หลับ เพราะเจ็บเวลานอนตะแคงขวา การแก้ปัญหาตอนนั้นคือกินยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ แม้จะหายปวด แต่ก็ชั่วคราว จนถึงจุดที่ตัดสินใจไปหาคุณหมอให้ช่วยจ่ายยาเพื่อให้นอนหลับได้สนิทขึ้น สบายตัวมากขึ้น แต่ไม่มีเรื่องมะเร็งอยู่ในหัวเลย พอคุณหมอเห็นครั้งแรกก็บอกทันทีว่านี่ไม่ปกติแล้ว ขอส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ ตอนนั้นตรวจ 2 จุด คือที่เต้านมและรักแร้ กระทั่งรู้ว่าเป็นเนื้อไม่ดีขนาด 5 เซนติเมตรอยู่บริเวณหน้าอกด้านขวา แต่ไม่ได้มาบอกว่าเป็นมะเร็งในขั้นไหน”

หลังจากฟังผล คุณหมอแนะนำว่าต้องไปรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งเวลานั้นแหนมี 4 ตัวเลือก ตัวเลือกแรกคือรักษาที่เกาะ Curaçao แต่ด้วยที่นั่นมีโรงพยาบาลหลักเพียงแค่แห่งเดียวและค่อนข้างแออัด คุณหมอจึงแนะนำให้ไปรักษาที่อื่นหากมีตัวเลือกที่ดีกว่า อีก 3 แห่งคือที่ประเทศไทย, มาเก๊าที่ที่เธอและสามีเคยอาศัยอยู่ และบ้านเกิดสามีที่โปรตุเกส เธอและสามีดูความเป็นไปได้ทั้งหมดจนตัดสินใจกลับมารักษาที่โปรตุเกส 

“ตอนนั้นขนาดของก้อนมะเร็งโตขึ้นเร็วมาก จาก 5 เซนติเมตรเป็น 7.5 เซนติเมตรในเวลาไม่กี่เดือน ทำให้คุณหมอวางแผนการรักษาโดยทำให้ก้อนเนื้อเล็กลงด้วยการทำคีโมก่อน จากนั้นจึงทำการผ่าตัดนำชิ้นเนื้อออกมา และจบการรักษาด้วยการฉายรังสีเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อตายหมดจริงๆ เราเสร็จสิ้นการรักษาในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 มะเร็งของเรายังไม่กระจาย แต่ว่าก้อนใหญ่ เลยจัดให้อยู่ขั้น 3A ถ้ากระจายน่าจะใช้เวลานานกว่านี้ หลังจากนั้น เราเริ่มทานยาปรับฮอร์โมน ฉีดยาที่หน้าท้องเข้าใต้กล้ามเนื้อเพื่อระงับการตกไข่ และทำกายภาพบำบัดเพื่อให้การเคลื่อนไหวของแขนขวากลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด”

เตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติการ

ก่อนรักษาเราเตรียมใจไว้แล้วว่าน่าจะเจอกับอะไรบ้าง เพราะมีคนบอกว่าฉายรังสีแสบนะ ร้อนนะ คีโมแล้วจะทำให้อาเจียนหนักเลย แต่เราไม่เจอผลข้างเคียงที่หนักมากจนถึงขั้นรับไม่ไหว ที่มีจะเป็นอาการทั่วๆ ไป เช่น ท้องผูก ผะอืดผะอม รู้สึกไม่อยากอาหาร สิ่งที่เราเตรียมตัวคือเราจะดูแลร่างกายให้แข็งแรงเป็นพื้นฐานและเตรียมใจเอาไว้แล้วว่าอาการอะไรจะสามารถเกิดขึ้นระหว่างการรักษาได้บ้าง เมื่อเข้ากระบวนการจริงๆ เราพบว่ามันไม่ได้แล้วร้ายแบบที่ได้ยินหรือจินตนาการเอาไว้ เช่น เราต้องฉาย 25 ครั้งทุกวันเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เราสังเกตว่าผิวเริ่มเปลี่ยน ไม่ได้ไหม้หรือถลอกนะ เพียงแค่สีผิวคล้ำขึ้นตอนเข้าครั้งที่ 20 เลยรู้สึกว่า ส่วนหนึ่งเราคงเตรียมร่างกายและใจมาไว้ประมาณหนึ่งในการรับมือ และคงจะโชคดีด้วย”

การรักษามะเร็งในโปรตุเกส 

“ระบบการรักษาพยาบาลที่โปรตุเกสจะมีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านรักษามะเร็งเลย โดยจะแบ่งออกเป็นเขตต่างๆ ตามภูมิภาค แต่เริ่มต้นจะต้องผ่านระบบหมอบ้านก่อนเพื่อให้หมอบ้านทำเรื่องส่งตัวเราไปยังสถาบันมะเร็ง มุมมองของคนโปรตุเกสต่อโรงพยาบาลรัฐจะคล้ายๆ คนไทยเราอยู่บ้าง ทำให้บางคนยอมจ่ายสตางค์เพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะโรคมะเร็งของเอกชนเลยก็มี ซึ่งแบบนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เอาเข้าจริง การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐที่นี่ถือว่าดีเลย ความประทับใจแรกที่เราพบคือบุคลากรทางการแพทย์มีจรรยาบรรณในการรักษาสูงมาก เราเข้าไปรักษาโดยที่ถือพาสปอร์ตไทย ไม่มีบัตรประชาชน หรือบัตร residence ของเขา ซึ่งปกติ ถ้าต้องรักษาในโรงพยาบาลที่นั่นจะต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีในการดำเนินการทุกอย่าง แต่สำหรับคนต่างชาติอย่างเราก็ได้สิทธิ์การรักษาแบบคนในประเทศของเขา โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเธอเป็นคนต่างชาติ เขาดูแลทุกคนเหมือนกันและเท่ากันหมด ตรงนี้เราว่าเยี่ยม และแม้จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐก็จริง แต่การรักษาจะเป็นไปตามคิว ไม่มีใครลัดคิวเรา และการรักษาทั้งหมด เราไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้กระทั่งค่าวิก นี่น่าจะเป็นข้อดีที่เราพบจากการรักษาที่นี่นะ”  

สองเต้าที่ไม่เท่ากัน

“นอกจากการรักษามะเร็งแล้ว เราได้เข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ด้วย ซึ่งจุดประสงค์ในตอนนั้นเพราะเรารู้สึกว่า self-esteem ในตัวเองต่ำลง ถ้าย้อนไปช่วงปี 2017 ที่ทำการรักษา คุณหมอวางแผนการรักษาให้เราแบบฟูลคอร์สเพราะเรายังอายุไม่มาก ซึ่งเขาอยากมั่นใจว่าเซลล์มะเร็งถูกทำลายไปหมดแล้วจริงๆ ทำให้เวลาส่วนใหญ่ของเราโฟกัสไปที่การฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุดและไม่ได้สนใจเรื่องอื่นๆ ในชีวิต พอจบการรักษา เราเห็นแล้วว่าร่างกายและรายละเอียดในการใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว นี่ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่มากว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไปภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราใช้ร่างกายหนักเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ การเลือกเสื้อผ้ามีเป้าหมายเพื่อให้การใช้ชีวิตใกล้เคียงเดิมที่สุดและมีผลต่อสุขภาพน้อยที่สุด ไม่ใช่ความสวยงามแบบที่เคยเป็นมา รวมถึงความรู้สึกที่ดีของเรากับหน้าอกซึ่งเป็นส่วนที่เราภูมิใจที่สุดในความเป็นผู้หญิงได้หายไปแล้ว

ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงที่ดาวน์มาก มีผลต่อการใช้ชีวิต รวมทั้งชีวิตคู่ด้วย แต่เราโชคดีที่สามีพยายามทำความเข้าใจทุกอย่าง เราคุยกับคุณหมอแบบเปิดอกเลยว่า ถ้าเรามีหน้าอกข้างเดียวแล้วสามีทิ้งหรือถ้าสามีตายก่อนจะมีใครที่รับได้กับการมีคู่ที่มีหน้าอกเหลือเพียงข้างเดียว คำตอบของคุณหมอทำให้เราเห็นอีกมุมมองหนึ่งนะว่า คนที่มีข้อจำกัดลักษณะนี้ หากความสัมพันธ์ครั้งใหม่เกิดขึ้น คนที่เข้ามาจะถูกสกรีนระดับหนึ่งแล้ว เขาจะเป็นคนที่จริงจังในความสัมพันธ์และไม่ได้มองว่าจุดนั้นสำคัญ แต่จะมองด้านดีอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งความสัมพันธ์แบบนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ยืนยาวกว่า 

สำหรับเรา การเป็นมะเร็งทำให้เรารู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองต่ำลง เวลาสามีบอกว่า “เธอยังสวยเหมือนเดิม” เขาพูดตลอดจนเราเริ่มไม่เชื่อว่าพูดให้สบายใจหรือว่าโกหก ขณะที่ความจริงความสัมพันธ์ของเรากับสามีดีมากๆ นะ แต่ความภูมิใจว่าฉันสวยไม่มีอีกแล้ว การพบจิตแพทย์สำหรับเรา เขาช่วยได้ในเรื่องการรับฟัง แต่ท้ายที่สุด ทุกปัญหา ตัวเราต้องเป็นคนแก้เอง ซึ่งเวลาที่ได้พูดออกไป เหมือนเราได้ยินเสียงสะท้อนของตัวเอง นั่นทำให้เราได้ฉุกคิดและตกผลึกว่าอะไรคือทางออกที่ทำให้ความรู้สึกต่างๆ ดีขึ้นได้”

เมื่อเราปรับ โลกก็เปลี่ยน

“เราว่า 2 สิ่งหลักๆ ที่ทำให้ผ่านความรู้สึกแย่ๆ ในเวลานั้นมาได้ หนึ่งคือความเคยชิน จะเรียกว่าปรับตัวได้แล้วก็ได้นะ และสองเราคิดว่าเรามองโลกเปลี่ยนไป จากความรู้สึกที่ดาวน์มากๆ กลับกลายมาเป็นความรู้สึกว่าตัวเองโชคดีในหลายๆ เรื่อง แม้ว่าความรู้สึกจะแย่อยู่มากระหว่างการรักษา แต่เรามาถึงมือหมอไว มีคนรอบข้างคอยสนับสนุน ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ทั้งครอบครัว การทำมาหากิน ค่าใช้จ่าย ทำให้เราสามารถโฟกัสเรื่องการรักษาและสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ พอเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี มันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เรามองเห็นความสำคัญของสิ่งภายนอกน้อยลง และเห็นจุดอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากขึ้น คงจะเพราะอายุ ประสบการณ์ และมะเร็งที่ทำให้เรามองทุกอย่างไม่เหมือนเดิม การลำดับความสำคัญในชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย

เวลานี้ เราอยู่ในช่วงอายุที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่ได้ต้องการทำงานเพื่อความก้าวหน้า จากแต่ก่อนสิ่งสำคัญในชีวิตจะมีไม่กี่อย่าง ไม่งาน ก็เงิน ไม่แฟน ก็เพื่อน พ่อแม่ไม่ได้สนใจใส่ใจหรอก มาตอนนี้ เราโตขึ้น ผ่านการใช้ชีวิตมาพอสมควร พ่อแม่เริ่มแก่ลง ความใส่ใจและการให้ความสำคัญของเราเปลี่ยนมาทางพวกเขาแทน รวมถึงการสร้างความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิตด้วย เอาจริงๆ ความสุขของเราตอนนี้เรียบง่ายกว่าเดิมเยอะ อะไรที่ทำให้เราสบายใจนั่นคือความสุข การได้เห็น ได้ใช้เวลากับคนรอบข้างที่เรารัก แค่กินข้าวด้วยกัน หรือสามีเด็ดดอกไม้ริมทางมาให้ หรือแค่แดดออก สำหรับเราในเวลานี้ก็พอแล้วนะ”  

สายลมที่โอบล้อมอยู่รอบตัว

เรารู้สึกโชคดีมากที่มีเพื่อนๆ และครอบครัวคอยซัพพอร์ตทั้งทางกายและทางใจ การเป็นมะเร็งทำให้เราพบว่าเพื่อนบางคนที่บางทีเราหลงลืมพวกเขาไป แต่พวกเขาไม่ได้หลงลืมเราเลย เราได้เห็นมิตรภาพที่ดีมากๆ จากการเป็นมะเร็งนี่แหละ หรือกับพี่ชายที่ไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่มีไลน์ ไม่เคยส่งข้อความอะไรหากัน พอเป็นมะเร็ง ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่กลับมาดีขึ้น เรารู้เสมอว่าอย่างไรเขาก็เป็นห่วง ยิ่งตอนที่เราเป็นมะเร็งก็รับรู้ได้มากขึ้น  

ก่อนที่จะมาโปรตุเกส เราคุยกับสามีเรื่องการรักษา การใช้ชีวิต เรารู้สึกซาบซึ้งใจทั้งเขาและครอบครัวมากๆ ตอนนั้นเราเพิ่งขายบ้านที่เคยอยู่ด้วยกันที่มาเก๊า เขาบอกว่าถ้าต้องใช้เงินที่ขายบ้านทั้งหมดไปกับการรักษาก็ไม่เป็นไร ไว้เราแข็งแรงแล้วค่อยเริ่มหาเงินกันใหม่ ค่อยเก็บเอาใหม่ก็ได้ เราได้เจอคุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้าของเขา ทุกคนพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือความเป็นอยู่อย่างอื่น เพียงแค่ขอความช่วยเหลือ พวกเขาก็พร้อมเสมอ”  

ทุกสิ่งสำคัญที่ใจ

“การใช้ชีวิตตอนนี้เหมือนเดิมทุกอย่างไม่ว่าก่อนหรือหลังเป็นมะเร็ง เคยออกกำลังกายและดูแลเรื่องอาหารการกินของตัวเองอย่างไรก็ทำแบบนั้น เราไม่ได้ใช้ชีวิตที่เข้มงวดมากๆ ถ้ามีความสุขกับอะไรเราก็ทำ อะไรที่กินแล้วมีความสุขเราก็กิน เรารู้ว่าอะไรที่ดีหรือไม่ดีต่อร่างกาย แต่ไม่ถึงกับว่าฉันไม่กินหมูไหม้เพราะนี่มีสารก่อมะเร็ง หรือกินเฉพาะตรงที่ไหม้อย่างเดียว จะเป็นการหาความพอดีให้ตัวเองแบบนั้นมากกว่า 

เอาเข้าจริง เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษามะเร็งเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าใจสู้ ทุกอย่างจะผ่านไปได้ เราว่าร่างกายมนุษย์อเมซิ่งมากนะ ถ้าเรารู้สึกดาวน์ รู้สึกแย่ เซ็ง เศร้า เหงาหงอย ป่วยแล้วยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่อยากรักษาแล้ว ไม่อยากอยู่แล้ว ร่างกายก็จะไม่สู้ แต่ถ้าเราคิดว่าฉันแข็งแรง อย่างไรฉันจะต้องหาย ฉันรักษาแล้วจะต้องดีขึ้น นั่นจะส่งผลต่อร่างกายด้วย สำหรับเรา ถ้าคิดว่าทำได้ เราก็จะทำได้ 

เราเข้าใจว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ มีเรื่องราวในชีวิต และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนต้องเจอกับความยากลำบาก ต้องทำงาน มีเรื่องครอบครัวให้ต้องคิด แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะบอกคืออย่าเพิ่งยอมแพ้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่ม อย่าเพิ่งถอดใจว่าตัวเองทำไม่ได้ เราเกิดเติบโตมาได้ขนาดนี้ ชนะสเปิร์มมาตั้งกี่ตัว แล้วเราเป็นตัวที่แข็งแรงที่สุดในนั้น นี่ไม่ใช่แค่กับเรื่องมะเร็งนะ ทุกๆ อย่างในชีวิตเลย ตอนนี้ถ้าจะบอกอะไรสักอย่างกับมะเร็ง เราคงจะบอกกับเขาว่า “ฟังนะ ฉันสวยมาก ฉันไม่ตาย ฉันมีอะไรที่อยากทำและต้องทำอีกเยอะ ฉันจะใช้ชีวิตอย่างดี แข็งแรง และมีความสุขแบบสุดๆ ไปเลย” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: คำพลอย บูรณานุวัต, sailingdeethai.blogspot.com

พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้ช่วยออกแบบ ‘รอยยิ้ม’ ที่ปลายทาง

“การจากไปอย่างองอาจ
คือสิ่งที่หมอปรารถนาให้มันเกิดขึ้น
เมื่อความตายมาเยือน…”

นั่นเป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า อะไรคือเป้าหมายปลายทางในชีวิตที่วาดหวังไว้ ของ คุณหมอโจ้ พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและนักศิลปะบำบัด ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิศิลปะบำบัด (Art Therapy Foundation) และริเริ่มโปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งที่นั่นเองที่ทำให้เธอกลายเป็นเพื่อนร่วมทางของผู้ป่วยเด็กมากมายเพื่อเดินทางไปสู่ลมหายใจสุดท้าย…ปลายทางชีวิต

จุดเริ่มต้นที่ ‘ปลายทาง’

“โปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเริ่มต้นขึ้นในปี 2005  หลังจากที่หมอได้ศึกษาดูงานด้านศิลปะบำบัดจากอเมริกาและกลับมาเมืองไทย ด้วยความรู้สึกร้อนวิชา (ยิ้ม) จึงอาสาเข้าไปทำงานให้ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเรื่องทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะ การตายดี การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ฯลฯ กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก และทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็กำลังจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจึงชวนเราเข้าประชุม

“ในที่ประชุมวันนั้น มีการพูดคุยถึงเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พอเราได้ฟังก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้สิ่งที่เรามีให้เป็นประโยชน์ พอการประชุมจบลงก็มีอาจารย์กุมารแพทย์ท่านหนึ่งเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่า อยากให้ช่วยเอาศิลปะบำบัดไปช่วยผ่อนคลายคนไข้คนหนึ่ง อายุ 16 ปีซึ่งป่วยเป็นมะเร็งที่กล้ามเนื้อดวงตาและกำลังจะต้องผ่าตัดดวงตาทิ้ง  

 “เราก็รับปากอาจารย์ไปทันที วันรุ่งขึ้นก็เตรียมอุปกรณ์ไปเต็มกระเป๋า พอแนะนำตัวเรียบร้อยก็ชวนเขาทำศิลปะง่ายๆ จากตอนแรกเงียบอย่างเดียว พอนานเข้าก็เริ่มเปิดใจเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขากังวลใจ ไม่ชอบใจต่างๆ

“ก่อนจากกันวันนั้น หมอได้มอบสมุดไดอารีให้เขาเล่มหนึ่ง สำหรับเขียนบันทึกความรู้สึกเพราะเขาโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ได้ผล เขาจดไดอารีทุกวัน เขียนความรู้สึกของตัวเองบ้าง วาดรูปบ้าง สะท้อนความรู้สึกของตัวเองจากประสบการณ์ที่เห็นและบันทึกลงไปในไดอารี นั่นเป็นเครื่องมือที่หมอให้เขาไว้ก่อนที่เขาจะเข้ารับการผ่าตัด

“แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะตาบอดหรอก แต่เพราะต้องรักษาชีวิตไว้ การผ่าตัดดวงตาครั้งนั้นจึงไม่ใช่ความยินยอมพร้อมใจ ในความยินยอมนั้นปนเปไปด้วยความไม่ชอบใจหลายอย่าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นความยินยอมแบบจำเป็น จำยอม ทำให้เขากลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล เศร้า เราก็เอาศิลปะบำบัดเข้าไปช่วยเขาจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึก

“ด้วยความที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและแคร์กับสายตาคนอื่น เมื่อผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วเขาก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน แม้หมอจะบอกให้กลับบ้านได้แล้วก็ตาม เขายืนยันจะอยู่ที่โรงพยาบาลต่ออีกเกือบ 4 เดือน เพื่อทำใจยอมรับเบ้าตาที่ไม่มีลูกตา ตอนนั้นนอกจากการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อช่วยเขาอยู่กับเบ้าตานี้ให้ได้แล้ว ทุกๆ ครั้งที่เจอกันเรายังช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไรกันดี จะใส่แว่นตาดำดีไหม ฯลฯ กระทั่งวันหนึ่งเขาก็วาดภาพ Portrait ตัวเอง โดยมีตาเพียงข้างเดียวขึ้นมา และอีกข้างเป็นเบ้าตากลวงๆ ก่อนจะร้องไห้โฮ…

“วันนั้นหมอคิดว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเผชิญกับความรู้สึกนั้นจริงๆ จึงยอมให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และเมื่อเขาสามารถเห็นตัวเองบนกระดาษที่เขาวาดขึ้นได้แล้ว เขาก็สามารถเห็นตัวเองในกระจกได้ และขั้นตอนถัดจากนั้นก็คือเขาสามารถทำแผลให้ตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เจ็บช้ำเกินไป

“หลังจากนั้นเขาก็กลับบ้านไปราว 4-5 เดือน ก่อนจะโทรมาหาหมอและบอกว่า เขาอยู่ที่โรงพยาบาล เขาปวดหัวมาก แต่ไม่มีหมออยู่ และเขาต้องเดินทางกลับบ้านที่สุพรรณแล้ว เพราะรอไม่ไหว จากน้ำเสียงของเขา หมอสัมผัสได้ถึงความผิดปกติ จึงรีบประสานไปที่แผนกกุมารฯ ก็ทราบว่าแพทย์ไปสัมมนาที่ต่างจังหวัด หมอจึงติดต่อไปที่อาจารย์แพทย์ จนเขาได้แอดมิทและรับการตรวจเช็คอย่างละเอียด ปรากฏว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังสมองและกระดูก

“ทันทีที่รู้ผล เขาโกรธมาก โกรธที่เขาสูญเสียดวงตาไปฟรีๆ โกรธที่เข้าใจผิดว่าการสละดวงตาครั้งนั้นจะรักษาชีวิตเขาไว้ได้ แต่ทุกอย่างกลายเป็นโมฆะ ตอนนั้นชีวิตเขาเริ่มไม่สนุก ศิลปะบำบัดก็เข้าไปช่วยจัดการอารมณ์ความรู้สึกแต่ละอย่างที่โผล่ขึ้นมาในแต่ละวัน เขาอยู่ในโรงพยาบาลจนกระทั่งสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่เขาจะขอกลับบ้านเพราะคิดถึงพ่อ และเขาก็เสียชีวิตลงที่นั่น   

“หมอเดินทางไปร่วมพิธีศพของเขาที่สุพรรณบุรี จำได้ว่าพอไปเห็นสภาพบ้านที่เขาอยู่ เรารู้สึกสลดหดหู่ใจมากเพราะรู้เลยว่าชีวิตของเขาช่างยากลำบากเหลือเกิน ความรู้สึกจากประสบการณ์ที่มีกับคนไข้คนนี้ยิ่งทำให้ประเด็นของการมีอยู่ในระยะสุดท้ายดึงดูดความสนใจของหมอมากขึ้น  ในที่สุดจึงได้อาสาเข้ามาทำศิลปะบำบัดกับเด็กๆ ที่เป็นมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่รักษาไม่หายที่โรงพยาบาลจุฬาฯ  โดยจะทำงานสัปดาห์ละ 1 วัน ตั้งแต่เวลา 13:00-18:00 น. จัดกิจกรรมศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยเด็ก 18-20 เตียง อายุตั้งแต่ 3 ขวบไปจนถึง 16 ปี ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ ก็จะแวะเวียนมาที่โต๊ะศิลปะบำบัดตลอดบ่าย ส่วนผู้ป่วยที่ลงจากเตียงไม่ได้ เราจะขนอุปกรณ์ไปทำศิลปะกันถึงบนเตียง สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ยังทำศิลปะบำบัดไม่ได้ก็จะใช้กระบวนการอื่นแทน เช่น การเล่นบำบัด (Play Therapy) การอุ้ม การสัมผัส การสื่อสารด้วยสายตา ฯลฯ วนเวียนอยู่อย่างนั้นกว่า 8 ปีเต็ม ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ แต่ถ้าเทียบกับความสุขที่ได้จากการทำสิ่งนี้แล้ว ความเหนื่อยไม่ได้กระทบอะไรเลย”

เพื่อนร่วมทางที่ชื่อว่า ‘ศิลปะบำบัด’

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการรักษาในโรงพยาบาลนั้น มีพื้นที่ให้กับความรู้สึกน้อยมาก ไม่ค่อยจะมีใครมาถามผู้ป่วยหรอกว่า เมื่อคืนนอนหลับไหม ฝันร้ายหรือเปล่า ถ้านอนไม่หลับ ส่วนใหญ่ก็แค่สั่งยานอนหลับให้–จบ! หรือไม่มีใครมาสนใจหรอกว่า ข้าวอร่อยไหม ผู้ป่วยอยากกินอะไร ตอนเสิร์ฟอาหารเย็นชืดไปหรือเปล่า รายละเอียดเหล่านี้มันเกินที่จะอยู่ในความสนใจของหมอหรือพยาบาล แต่ถามว่ามันสำคัญไหม ก็สำคัญนะ แต่มันเรื่องสารทุกข์สุกดิบที่ ‘เพื่อน’ เท่านั้นจะถามไถ่กัน ซึ่งศิลปะบำบัดเข้าไปทำสิ่งนี้ คือการเป็นเพื่อนร่วมทางและเป็นพื้นที่เพื่อรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

“ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในวัยไหน เด็กหรือผู้ใหญ่ ศิลปะบำบัดก็เป็นพื้นที่และเพื่อนร่วมทางของทุกคนได้เหมือนกัน แตกต่างกันตรงกิจกรรมและเครื่องมือที่เราจะเสิร์ฟให้ต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย เช่น เด็ก 5-6 ขวบ ซึ่งมีพัฒนาการแบบหนึ่ง กิจกรรมที่เตรียมมาให้ต้องพอดีกับวัยและความสามารถของเขา ให้มีความท้าทายพอดีๆ ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป เพื่อเขาจะต้องนำศักยภาพตัวเองออกมาใช้และประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง  ในขณะที่วัยรุ่น 14-15 ปี ก็มีพัฒนาการอีกแบบหนึ่ง กิจกรรมที่นำเสนอก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ท้าทายมากขึ้น โดยที่ทั้งสองกลุ่มตัวอย่าง มีเป้าหมายการทำศิลปะบำบัดเป็นเป้าเดียวกันก็คือเราจะเป็นเพื่อนร่วมทางเขาไปให้ไกลที่สุดหรือจนสุดทาง

“โดยหลักการทำงานศิลปะบำบัดสู่การเดินทางไปจนสุดทางนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘การตายดี’ คือ การตายแบบพร้อมหรือยินดีที่จะเดินไป ไม่หนี ไม่ติดค้างอะไร เพราะฉันได้ทำชีวิตสมบูรณ์แล้ว และเมื่อถึงเวลาฉันก็จะไม่หนีไปไหน มันคือความองอาจที่จะเดินไปข้างหน้าทั้งๆ ที่รู้ว่ามันคือจุดจบ ซึ่งหมอเชื่อว่า ศิลปะสามารถทำให้คนเราไปถึงจุดนั้นได้ เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคน”

ความสำเร็จนับจาก ‘รอยยิ้ม’

“เวลาที่มีใครถามหมอว่า ประเมินผลสำเร็จของแต่ละเคสอย่างไร หมอมักจะพูดติดตลกเสมอว่า ‘ก็นับดูจากรอยยิ้มที่เกิดขึ้นสิ’ ก่อนที่เราจะลงมือทำศิลปะบำบัด ผู้ป่วยมีกี่รอยยิ้ม และพอทำศิลปะแล้วมีรอยยิ้มเพิ่มขึ้นอีกกี่รอยยิ้ม ในเชิงวิชาการมีการศึกษาไว้มากมายทั่วโลกอยู่แล้วว่า ศิลปะบำบัดมีประโยชน์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการลดความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยได้ หรือแม้กระทั่งชีพจรหรือความดันก็ดีขึ้นด้วยหลังจากที่ได้ทำศิลปะบำบัด แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากมัน นอกจาก ‘ข้อจำกัดเรื่องเวลา’ ไม่ว่าจะเป็นเวลาของผู้ป่วยที่เหลือน้อยเต็มที หรือเวลาที่เจอกันมันช้าไป ทำให้เรามีเวลาไม่เพียงพอที่จะเดินไปถึงจุดนั้นด้วยกันแล้ว ก็ยังมีเรื่องของ ‘บุคลิกภาพ’ ผู้ป่วยที่จะได้ประโยชน์จากศิลปะบำบัดมากที่สุดคือคนที่เปิดใจยอมให้ศิลปะเข้าไปดูแล เช่น ชวนให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ปฏิเสธ ฯลฯ ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่เปิดใจ ไม่ทำ ไม่เชื่อ ไม่ให้โอกาสตัวเอง ฯลฯ คนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้รับประโยชน์เท่าไร แต่ถ้าเจอกรณีแบบนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องเคารพในความรู้สึกของเขาและให้เวลาเขา โดยอาจจะจัดให้เขาเป็นผู้ชมก่อน มองดูคนอื่นทำ มองดูสิ่งที่เกิดขึ้น มองดูการเปลี่ยนแปลง มองดูบรรยากาศ มองดูรอยยิ้ม ฯลฯ เขาก็จะเริ่มเปิดใจและขยับจากผู้ชมมาเป็นผู้ร่วมประสบการณ์เอง”     

มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างองอาจ

“ในมุมมองของศิลปะบำบัด เรามองเห็นความเจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธรรมดาของชีวิต และเป้าหมายของเราก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายและจากไปอย่างองอาจ เราอยากให้ผู้ป่วยที่เดินร่วมทางไปกับเรามองเห็นสิ่งนี้เหมือนกัน หมอจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของเวลาที่เหลืออยู่มากกว่าปริมาณของเวลา นั่นทำให้เราจะไม่เชียร์ให้ผู้ป่วยรับคีโมให้ครบเพื่อให้หายจากมะเร็ง เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย เพราะเราสนใจแค่ว่า คุณยังมีเวลาอยู่นะ คุณอยากทำอะไร มารีบทำกัน คอยเป็นเพื่อนที่ชวนกันไปทำ เพื่อที่สุดแล้วคุณจะจากไปอย่างองอาจ ไม่มีอะไรติดค้าง

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เคสที่หมอรู้สึกว่าเป็นเหมือนต้นแบบของการตายอย่างองอาจในแบบฉบับของศิลปะบำบัดนั้นก็คงเป็นเคสของเด็กชายวัยเพียง 9 ขวบคนหนึ่งที่ป่วยมะเร็งที่กระดูกหน้าแข้ง แล้วต้องตัดขาทิ้ง หมอได้รู้จักกับเขาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตราวปีกว่าๆ จำได้ว่าเขามาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณ 3 เดือน ครั้งที่ 2 ประมาณ 4 เดือน จากคนที่ไม่มีความสุข ขี้หงุดหงิด โวยวาย เสียงดัง กินข้าวไม่อร่อย นอนไม่หลับ คิดสับสนวุ่นวาย ฯลฯ ศิลปะบำบัดเข้าไปรับรู้ แบ่งเบา จนกระทั่งเขาเห็นตัวเองเปลี่ยนไป เห็นตัวเองยิ้มได้ เห็นตัวเองมองเห็นคนอื่น เห็นตัวเองแบ่งปันของกับเพื่อนข้างเตียง ไม่ได้เห็นเฉพาะความทุกข์ของตัวเอง แต่เห็นไปถึงความทุกข์ของคนอื่น เห็นว่ารองเท้าของแม่ขาดพังหมดแล้ว เห็นว่าแม่ไม่สบาย ดวงตาช้ำ อดนอน เขาเริ่มย้ายโฟกัสจากตัวเองไปที่คนอื่นได้แล้ว ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป มองเห็นสิ่งรอบตัว ที่สำคัญคือลงมือดูแล โดยขอให้พยาบาลมาอยู่เป็นเพื่อนหน่อยเพื่อให้แม่ได้นอนเต็มตื่น

“จุดนั้นเป็นจุดที่เขาได้เชื่อมต่อในระดับที่พ้นตัวตนของตัวเองไปแล้ว และมองเห็นว่าชีวิตไม่ได้ยืนยาว เขาจึงทำสิ่งที่องอาจมาก คือ การสั่งเสียและจัดสรรทรัพย์สินของตัวเองที่มีอยู่ ก็คือหนังสือการ์ตูนโดราเอมอน 40-50 เล่ม ซึ่งเป็นเหมือนของรักของหวง เขาแบ่งหนังสือชุดนี้ให้พี่ น้อง ลูกพี่ลูกน้อง ของเล่นต่างๆ ก็จัดสรรว่าชิ้นไหนจะมอบให้ใคร หรือชิ้นไหนที่อยากให้แม่เก็บไว้ที่บ้าน บอกไว้ในพินัยกรรมทุกอย่าง พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่าเขาจะไปเกิดใหม่เป็นลูกพี่สาว ซึ่งตอนนั้นพี่สาวของเขากำลังตั้งครรภ์อยู่ หมอมองว่านี่คือการตายที่องอาจมาก และเชื่อว่าผู้ใหญ่หลายคนก็ยังทำไม่ได้อย่างนี้เลย

“แต่วันที่หมอเซอร์ไพรส์มากที่สุดคงเป็นวันที่เข้าไปหาเขาที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัดผ่านไป วันนั้นเขาเอ่ยปากชวนหมอ ‘หมออยากดูแผลผ่าตัดของผมไหม’ พอได้ยินดังนั้นเราก็แปลกใจ แต่ก็ตอบกลับไปว่า ‘อยากดูนะ ถ้าอยากให้หมอดู’ เขาก็บอกว่า ‘เดี๋ยวผมจะเปิดให้ดู’ ระหว่างที่มือเขาค่อยๆ เปิดผ้าพันแผลออกทีละชั้น เขาก็บรรยายลักษณะของแผลไปด้วย ‘หมอรู้ไหมว่า มันสวยมากเลย มันกลมสนิทเลย’…”

“คิดดูสิ จะมีใครสักกี่คนในโลกนี้ที่โดนตัดขาแล้วสามารถชมแผลตัวเองว่าสวย แต่ตอนนั้นเขาอยู่เหนือความเจ็บป่วยของตัวเองไปแล้ว และพอผ้าพันแผลถูกเปิดออกหมด มันก็เป็นอย่างที่เขาได้บรรยายไว้จริงๆ มันเป็นเฮมิสเฟียร์ (Perfect Hemisphere) ซึ่งกลมแบบเพอร์เฟกต์ ไม่ขรุขระ ไม่มีรอยบุ๋มหรือรอยเย็บ มันกลมสมบูรณ์แบบมาก นั่นทำให้เราเห็นว่า เขาสามารถเชื่อมต่อกับความงามที่เป็นสุนทรียะระดับสากล ซึ่งต้องอยู่ในระดับจิตวิญญาณที่ได้รับการพัฒนาแล้วเท่านั้นจึงจะคิดอย่างนี้ได้ นี่คือสิ่งที่สิ่งเกิดขึ้นกับเด็กวัยเพียง 9 ขวบ” 

 ปลายทางที่วาดไว้…

 “วันนี้ศิลปะบำบัดคือชีวิตจิตใจสำหรับหมอไปแล้ว มันอยู่ในเลือดในเนื้อ มันอยู่ในทุกการกระทำของเรา และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนที่เราให้บริการ หรือคนที่เราเรียกว่า ‘ลูกค้า’ หรือ ‘คนไข้’ แต่มันแผ่ไปถึงทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา มันทำให้เราสามารถเมตตาทุกคนได้ มันอยู่ในชีวิตเรา หลายปีที่ผ่านมา หมอมักจะจินตนาการให้ตัวเองได้ทำพื้นที่ให้ความตายมาเยี่ยมเพื่อรับรู้และทำความคุ้นเคยอยู่บ่อยครั้ง และเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าชีวิตนี้เลือกได้ หมอก็อยากจะเป็นมะเร็งเหมือนเด็กๆ ที่หมอดูแลนี่แหละ หมอว่ามันดีกว่าโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ตรงที่มันยังพอมีเวลาอย่างน้อยก็ 3-6 เดือน ที่จะให้เราได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีเวลาพอที่จะเตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าไปอย่างไม่กลัว ไม่หนี และจากไปอย่างองอาจแบบไม่มีอะไรติดค้างอีกต่อไป…”



เรื่อง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ: กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง

แม่จี๊ด-น้องเปียโน รับมือกับมะเร็งด้วยการดูใจเขา แลใจเรา ใช้ธรรมนำใจ

“แม่สอนให้ลูกเข้าใจความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว และไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แม่สอนให้ลูกมีความเสียสละและรู้จักแบ่งปันผู้อื่น แม่จะคอยเตือนเมื่อลูกทำผิดและให้อภัยลูกได้เสมอ แม่สอนให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง ขณะที่ยังต้องตั้งมั่นในความถูกต้อง และแม่… ก็จะคอยดูแลและปกป้องลูกให้พ้นจากอันตรายเสมอ”

สำหรับแม่จี๊ด วรรณดี ปัญญวรรณศิริ บทบาทความเป็นแม่ของเธอไม่ได้ห่างไกลจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เธอคือแม่ที่แข็งแกร่งผู้อยู่เคียงข้างและคอยประคับประคองทั้งร่างกายและหัวใจน้องเปียโน ด.ญ.ธรรมชาติ ปัญญวรรณศิริ ในวันที่ลูกสาววัย 15 ปี ต้องฝ่าฟันกับความเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งสมองที่หนักเอาการเมื่อ 4 ปีก่อน แม้ทั้งคู่จะเจอความท้าทายมาแล้วหลายหน แต่พวกเขายังมีความสุขได้ในทุกวัน เพราะความรักและใจที่สู้ สำหรับทั้งคู่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การยังมีคนให้รักและดูแลก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

เส้นทางสุดท้าทาย

“เดือนพฤษภาคม 2560 น้องเปียโนมีอาการปวดหัว แล้วก็อาเจียน ตอนนั้นแม่ไม่ทราบว่าน้องเป็นอะไร เลยไปหาคุณหมอซึ่งท่านวินิจฉัยว่าน้องเป็นไซนัส เรารักษาตามอาการอยู่ 3 เดือน แต่ไม่ดีขึ้น น้องยังต้องทานยา มีอาการปวดหัวและอาเจียนตลอดจนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ น้ำหนักลดเกือบ 20 กิโล จนแม่และคุณพ่อตัดสินใจกลับไปหาคุณหมออีกครั้งและได้รับคำแนะนำให้ตรวจละเอียดขึ้น ผลการทำ CT scan คือน้องมีเนื้องอกอยู่ใจกลางสมอง ตอนนั้นคุณหมอฉีดยาแก้สมองบวม แล้วก็ประสานย้ายโรงพยาบาลเพื่อที่จะผ่าตัด ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจจะพิการ หรือโดนเส้นประสาท หรือตาบอด พวกเราลังเลเพราะคุณพ่อไม่อยากให้เสี่ยง แต่น้องปวดหัวมาก จนตัดสินใจกันว่าอย่างไรก็ต้องให้ลูกผ่าตัด

เมื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจก็พบว่าเนื้องอกเป็นชนิดกลิโอมา (Glioma Tumours) ซึ่งแผนการรักษาตอนนั้นคือการผ่าตัด แต่ด้วยตำแหน่งของก้อนเนื้อทำให้การผ่าตัดสามารถนำชิ้นเนื้อออกมาได้เพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องมีการฉายแสงและให้คีโมเพิ่มเพื่อทำให้ก้อนเนื้อยุบลง หลังผ่าตัด เปียโนต้องพักฟื้นอีกเดือนกว่าๆ ที่โรงพยาบาลโดยยังไม่มีการให้คีโมจนก้อนเนื้อโตขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง คุณหมอจึงตัดสินใจผ่าตัดอีกครั้ง เพราะไม่อย่างนั้น ก้อนเนื้อก็ไปจะกดทับส่วนอื่นๆ ในสมอง และให้คีโมต่อจนครบ 3 เซต ฉายแสงทั้งหมด 30 ครั้ง และสิ้นสุดการรักษาในครั้งแรก ซึ่งด้วยตำแหน่งของก้อนเนื้อบริเวณกลางสมอง ทำให้น้องมีโรคอื่นๆ ตามมา ทั้งโรคเบาจืด ไทรอยด์ ภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งยังส่งผลไปถึงเรื่องฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตด้วย

หลังจากพักฟื้นได้สักพัก ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 น้องมีอาการปวดหลัง เวลานั้นคุณหมอวินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ จึงรักษาด้วยทำกายภาพบำบัด แต่อาการไม่ดีขึ้น เริ่มเดินเซ เลยมาทำ CT Scan ที่สมอง แต่ไม่เจออะไร จนกระทั่งทำ MRI จึงพบว่ามีเนื้องอกที่บริเวณหลัง จึงรักษาด้วยการผ่าตัด ให้คีโม ฉายแสง และต้องทำกายภาพบำบัดอยู่ น้องดีขึ้นและอีก  1 ปี ก็พบเนื้องอกที่ไขสันหลัง คุณหมอทำการรักษาด้วยการผ่าตัด  คีโม ฉายแสง ทำกายภาพบำบัด 8 เดือน เพราะน้องเดินไม่ได้ เปียโนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติประมาณ 1 ปี แต่อาการต่างๆ ก็กลับมาอีกครั้ง ทั้งปวดหัวและมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งเมื่อไปเช็กก็พบเนื้องอกที่สมองอีก 1 ครั้ง แต่รอบนี้ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว เพราะเนื้องอกที่เจออยู่ใกล้เส้นประสาทตามาก เลยต้องใช้วิธีให้คีโมและฉายแสงเท่านั้น พอครบโดส อาจารย์หมอก็ให้ทานคีโมเม็ด แล้วก็ติดตามอาการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน”

ต่อเลโก้ เขียนไดอารี่ วาดภาพ กิจกรรมบำบัดต่อสู้มะเร็ง

“ด้วยความที่น้องต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและอยากไปโรงเรียน แต่ไม่สามารถไปได้ แม่ก็เลยซื้อเลโก้ให้น้อง การต่อเลโก้เลยกลายเป็นกิจกรรมหลักที่ทำให้เปียโนมีอะไรได้โฟกัส นอกเหนือไปจากการรักษา พักฟื้น หรือคิดถึงชีวิตในโรงเรียน ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยน้องในเรื่องอารมณ์ที่จะนิ่งขึ้น มีสมาธิ เป็นกิจกรรมที่ทำให้น้องมีความสุข พอต่อเสร็จก็จะเอาไปให้คุณหมอคุณพยาบาลในวอร์ด

เปียโนยังเขียนไดอารี่ด้วย น้องจะให้แม่ถ่ายรูปแล้วอัดเป็นรูปเล็กๆ ติดลงไป แล้วก็เขียนบันทึกทุกเหตุการณ์ที่เขาเจอ ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาการเป็นอย่างไร พี่ๆ พยาบาลและคุณหมอแต่ละคนมีลักษณะอย่างไร ใครเป็นฮีโร่ของเขาก็จะถูกบันทึกไว้หมด นอกจากนี้ ยังใช้เวลาไปกับการวาดภาพด้วย อย่างวันวาเลนไทน์ก็จะวาดรูปครอบครัวหรือวาดรูปอาชีพในฝัน และวาดภาพลงเสื้อเพื่อโพสต์ขายสำหรับช่วยค่าใช้จ่ายในการรักษา”

Story of Piano เรื่องราวจากคำบอกเล่าของน้องเปียโน

Story of Piano เป็นเพจที่เปียโนเริ่มทำด้วยตัวเอง โดยแม่จะช่วยเสริมแค่บางส่วน อย่างที่เล่าไปในช่วงแรกว่าน้องจะบันทึกเรื่องราวลงในสมุดไดอารี่ แล้วมีพี่ซึ่งเป็นครูด้าน ICT มาเยี่ยมและได้เห็น เลยแนะนำให้ลองทำเป็นเพจขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์และเป็นความรู้ให้คนอื่นได้ด้วย เพจนี้เลยเริ่มราวๆ 2 ปีก่อน หลังจากที่การรักษาทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาจะเป็นการนำเรื่องราวที่เปียโนเคยจดบันทึกไว้มาทยอยลง นอกจากนี้ ในเพจยังมีภาพวาดและเสื้อเพ้นท์ของน้องโพสต์ไว้ด้วย ซึ่งหากมีใครสนใจหรือชอบผลงานก็สามารถช่วยอุดหนุนเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายได้ โดยในหนึ่งออร์เดอร์ น้องจะปันเงินจำนวน 29 บาทไปบริจาค อย่างการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลสงฆ์ หรือการไถ่ชีวิตโคกระบือ ถ้ามีคนสั่งเสื้อแล้วใส่เสื้อถ่ายรูปส่งมาให้คุณแม่ เปียโนก็จะเอ่ยอย่างมีความสุขว่า พี่ๆ เขาใส่แล้วสวยนะคะแม่ แล้วก็จะดีใจว่าวันนี้เขาได้ทำบุญ ได้ช่วยคนอื่น และมีความภูมิใจในตัวเอง”

แสงธรรมนำใจ

“หลังจากครั้งที่ 3 ที่น้องฉายแสงเสร็จ แม่กับเปียโนมีโอกาสได้ไปบวชที่เสถียรธรรมสถานด้วยความเมตตาของท่านแม่ชีศันสนีย์ ซึ่งก่อนไปแม่ทุกข์และกังวลว่าถ้ามะเร็งกลับมาอีกจะทำอย่างไร แม่ปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าอยากให้น้องหาย ทุกวันที่กอดน้องก็คิดไปด้วยว่าจะได้กอดลูกอีกถึงเมื่อไหร่ นอนไม่หลับเลย แต่พอไปบวชก็ทำให้แม่เข้าใจกับคำว่า here and now การอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นเยอะว่าอดีตหรือวันข้างหน้า เราไม่ต้องไปกังวลอะไร ทำนาทีนี้ให้ดีที่สุด มีความสุข ณ ขณะเวลา กับครอบครัวและเพื่อนที่เรารักและรักเรา

ทุกวันนี้ อะไรที่น้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการต่อเลโก้ วาดภาพ เพ้นท์รูปลงเสื้อ ได้เห็นคนที่เขาสวมเสื้อแล้วถ่ายรูปสวยๆ มาให้น้องดู ถ้านั่นคือความสุขของน้อง แม่ก็อยากให้เขาเอนจอยกับสิ่งที่ได้ทำ หรือการที่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 3 คน พ่อ-แม่-ลูก ทานข้าวด้วยกัน มีความสุขกับทุกๆ เรื่องที่ผ่านมาในชีวิต ทำให้รู้สึกว่าเรายึดติดน้อยลง ทุกข์น้อยลงด้วย ชีวิตได้ผ่อนคลายขึ้นจากเดิม

สำหรับเปียโน การเข้าใกล้ธรรมะทำให้น้องมีความเข้มแข็ง อดทน ใส่ใจคนอื่นมากขึ้น แล้วก็ได้ผลพลอยได้ในเรื่องการทาน เพราะปกติเปียโนชอบทานอาหารซ้ำๆ แต่ตอนบวช เราต้องทานอาหารที่ทางวัดเตรียมไว้ ทำให้น้องทานอาหารที่หลากหลายได้มากขึ้น เรื่องโภชนาการต่างๆ ของน้องเลยดีขึ้นตาม แต่แม่ก็ไม่ได้เคร่งมากเรื่องอาหาร ทำเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เขาไม่เครียดมาก แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลยจนเกินไป”

ดูใจเขา แลใจเรา

“สำหรับการดูแลผู้ป่วย กายกับใจจะต้องไปด้วยกัน เราต้องดูแลจิตใจเขาด้วย ไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว เอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าถึงจิตใจเขา ในขณะเดียวกันผู้ป่วยเองก็ต้องเข้าใจคนดูแลด้วยว่าเขาเองก็เหนื่อยเหมือนกัน การจะประคับประคองให้ราบรื่น สิ่งสำคัญคือเราต้องสื่อสารและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างแม่กับเปียโน บางครั้งบางที น้องเองก็รู้สึกเหมือนกันว่าเขากำลังทำให้เราลำบาก ส่วนแม่เองก็รู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ดีพอ ดังน้ัน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของกำลังใจและการพูดคุยกัน น้องจะถามแม่บ่อยๆ ว่า แม่เหนื่อยไหม แม่พักได้นะ เดี๋ยวหนูทำเองได้ แม่เองก็จะถามน้องเสมอว่า แล้วหนูไหวไหม? พยายามหาจุดที่สมดุลซึ่งกันและกันให้ได้

สำหรับคนดูแล เราจะเห็นได้ว่าบางครั้งคนป่วยเขาอาจจะเรียกร้องและอาจจะไม่รู้ตัว ด้วยปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสภาวะความเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะส่งผลกับใจของเรา ทั้งความเหนื่อยและท้อ เพราะฉะนั้น การดูแลจิตใจตัวเองให้ดีก็สำคัญมากๆ เพราะถ้าเราจิตใจเราไม่ดี การดูแลก็จะไม่เต็มร้อยเหมือนกัน”

หนูจะสู้ แม่ต้องสู้ด้วยนะ

“มีช่วงเวลาที่หนักมากๆ คือตอนที่โรคกลับมาเป็นซ้ำๆ หลายครั้งซึ่งทำให้แม่ใจเสีย แม่คิดว่าที่ครอบครัวเราผ่านช่วงเวลาตรงนั้นมาได้ก็เพราะกำลังใจจากคนในครอบครัวที่มีให้กันเสมอ ระหว่างที่แม่กับน้องอยู่ที่โรงพยาบาล คุณพ่อก็จะมาหาทุกวัน มานั่งคุย นั่งฟัง ถามไถ่กันตลอดว่าลูกและแม่เป็นอย่างไรบ้าง มานั่งทานข้าวด้วยกันทุกเย็น ช่วยรับเสื้อผ้าไปซักและส่งให้ ส่วนเรา 2 คนแม่ลูกก็จะหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ นอกจากเล่านิทาน นั่งคุยกันในเรื่องสนุกๆ หรือว่าฟังเพลงด้วยกันแล้ว น้องยังชอบทานและชอบดูรายการอาหารด้วย เราเลยชอบทำกับข้าว โดยเปียโนจะเป็นคนเตรียมส่วนผสม ส่วนแม่จะเป็นคนปรุง แล้วก็มานั่งทานอาหารที่เราทำด้วยกัน ซึ่งช่วยคลายความเครียดได้มาก ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ผ่อนคลายขึ้น แล้วครอบครัวเราก็ยังมีกัลยาณมิตรที่คอยให้กำลังใจบอกกับเราว่าไม่มีอะไรนะ เดี๋ยวก็ผ่านไป มาอยู่ข้างๆ กัน มาหาน้องเปียโนตลอด ซึ่งเราเลยได้เติมพลังจากพวกเขาด้วย

สำหรับเปียโน น้องจะปรับตัวว่าตอนนี้เขาอยู่โรงพยาบาล ตอนรักษาจึงไม่มีภาวะของการซึม ไม่ได้นั่งจมกับความทุกข์ หรือเศร้าใจอะไรทั้งสิ้น และด้วยการทำกิจกรรมทั้ง 3 อย่างที่แม่เล่าไป เขายังชอบคุยกับพี่ๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขายังร่าเริงได้ ขณะเดียวกัน น้องเป็นคนเข้มแข็งและใจสู้มาก เขาไม่เคยยอมแพ้ มีความหวังตลอดว่าเขาจะสู้ เขาจะหาย ไม่ร้องไห้ฟูมฟาย ยกเว้นเวลาปวดหรือเจ็บมากๆ นอกจากเป็นดวงใจของพ่อแม่แล้ว น้องยังเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วย การเห็นลูกป่วย คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็เศร้ามากแล้วนะ แต่เมื่อเห็นลูกยิ้ม อยากทำโน่นนี่ มีชีวิตชีวา ก็ทำให้เราอยากลุกไปสู้พร้อมกับเขา เปียโนจะบอกแม่เสมอว่า แม่อย่าร้องไห้นะ หนูไม่ร้องไห้ คนอื่นอย่าร้องไห้ให้หนูเห็นนะคะ

การพบมะเร็งเป็นที่อะไรหนักหนากับเขามาก จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตในวัยของเขาในหลายๆ ด้าน แต่น้องไม่เคยเอาข้อจำกัดมาเป็นข้ออ้างไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม น้องจะพยายามทำทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัดที่มีเพื่อให้ไปถึงจุดหมายที่เขาตั้งใจไว้เสมอ ไม่เคยยอมแพ้ในการต่อสู้กับโรค ไม่เคยหยุดนิ่งเรื่องการเรียน รวมไปถึงความตั้งใจที่จะช่วยครอบครัวหารายได้พิเศษเพื่อมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาของตัวเอง สิ่งที่แม่อยากบอกเปียโนก็คือ หนูเข้มแข็งมาก หนูเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของแม่และพ่อ หนูผ่านทุกอย่างมาจนทุกวันนี้ได้ด้วยใจที่เข้มแข็ง แม่กับพ่อก็จะผ่านมันไปให้ได้เหมือนกัน” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: วรรณดี ปัญญวรรณศิริ

ธวัชชัย รัตนศักดิ์ รับมือมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรู้เขา รู้เรา และอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ยังคงเป็นวลีที่ไม่เคยล้าสมัย แต่เมื่อวันที่โรคมาเยือน นอกจาก ‘ยานอก’ ที่จะช่วยรักษากายของเราให้หายจากอาการที่เป็นอยู่แล้ว ‘สติ’ ก็เป็น ‘ยาใน’ ชั้นดีที่ช่วยให้เรากล้าเผชิญกับโรคร้ายได้อย่างตื่นรู้และจัดการมันได้อย่างเท่าทันเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดแบบเดียวกันกับที่ ธวัชชัย รัตนศักดิ์ หรือลุงยักษ์ ใช้ในการเผชิญหน้ากับโรคมะเร็งที่เขาเป็นอยู่ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘มะเร็งคือโรคโรคหนึ่งที่เราต้องรับมือและสู้กับมันอย่างมีสติและเข้าใจ’ 

สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

“ก่อนหน้าที่จะมาเป็นมะเร็ง ผมเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องการตรวจร่างกายและก็ผมหาคุณหมอเช็คด้านทางเดินปัสสาวะมาตลอด มีการเช็คสารบ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก (Prostate-specific Antigen: PSA) ทุก 6 เดือนอยู่แล้ว ช่วงเมื่อ 10 ปีที่แล้วเจอว่าเจ้าค่านี้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดทุกครั้งที่ไปตรวจ มีครั้งนึงกระโดดจาก จาก 6 มาเป็น 13 หลังจากนั้นก็มีการตรวจละเอียดขึ้น แต่ยังไม่พบความผิดปกติใดๆ จนตัวเลข PSA ขึ้นมาเป็น 20 และ 23 จึงต้องมาตรวจละเอียดอีกครั้งและพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณปี 2554 ยังโชคดีที่โดยตัวโรคยังไม่ได้กระจายไปไหน แต่ว่าชิ้นเนื้อที่เจาะออกมาผลอยู่ในเกรดสูงประมาณระดับ 9 จาก 10 นั่นหมายความว่ามะเร็งมีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นได้ง่าย เป็นเนื้อร้ายชนิดแรง

ในการรักษาจริงๆ แล้ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือผ่าตัด แต่ในเวลานั้น ผมมีน้ำหนักตัวมาก คุณหมอที่ดูแลแนะนำว่าการผ่าตัดจะลำบากและมีความเสี่ยง เลยต้องหาวิธีอื่น ดังนั้น การรักษาหลักๆ จะเป็นการฉายแสง ซึ่งกว่าจะได้ฉายแสงก็มีกระบวนการในการเตรียมตัวหลายขั้นตอนและใช้เวลาอยู่พอสมควร ทั้งการทำ CT Scan ฝังทองล็อกจุด การทำโมล็อกตัวเพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวเวลาฉายแสงจะได้ฉายได้ตรงจุด จนทุกขั้นตอนเสร็จสิ้น จึงเข้าสู่กระบวนการฉายแสงทั้งหมด 39 ครั้ง หลังจากฉายแสงจบ คุณหมอจะเช็คดูค่า PSA ซึ่งพบว่าลดลงมาอยู่ในระดับปกติ โดยผมโชคดีไม่มีผลข้างเคียงใดๆ จากการฉายแสง ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเลย”

เมื่อร่างกายสะกิดให้เรากลับมาดูแลตัวเอง

“ถ้าย้อนกลับไปตอนหนุ่มๆ ที่ยังทำงานอยู่ ผมใช้ขีวิตแบบสุดเหวี่ยงและดื่มเหล้าเยอะมากนะ เรียกว่าดื่มทุกวัน แต่พอเจอมะเร็งปุ๊บ ผมหยุดร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็หยุดได้ทันทีแบบไม่มีอาการลงแดง ผมคิดว่าในชีวิตที่ผ่านมา เราได้ใช้ชีวิตมาเต็มที่แล้ว เมื่อวันหนึ่งร่างกายมาเตือนว่ากำลังมีปัญหา ก็ต้องกลับมาดูว่าเรากำลังทำอะไรที่มากเกินพอดีไหมและหันกลับมาดูแลตัวเองให้เต็มที่ดีกว่า แน่นอนสำหรับอายุอย่างผม ตอนนี้ 77 ปี ร่างกายมันเสื่อมไปตามอายุอยู่แล้ว ซึ่งผมเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ดี แต่อะไรที่หยุดได้และเป็นผลดีกับเรา ทำให้เราอยู่ได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข ผมก็หยุดนะ ไม่เคยลังเลและอิดออดเลย

ส่วนเรื่องสุขภาพใจก็มีภรรยา ลูกๆ และกัลยาณมิตรส่งกำลังใจมาให้ตลอด ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงและคอยดูแลอยู่ เพราะถ้าเราตัวคนเดียวไม่มีครอบครัวมาคอยดูก็คงลำบากเลยล่ะ ส่วนการดูแลเรื่องอื่นๆ ในเวลานี้ผมมีกิจกรรมที่ทำตามปกติกับเพื่อนๆ อยู่ ทั้งจัดทริปเที่ยว ตีกอล์ฟ ร้องเพลง ตรงนี้ก็ทำให้ชีวิตวัยเกษียณมีชีวิตชีวา ผมจะไม่จมอยู่กับความคิดว่าเราป่วยสักเท่าไหร่ แต่จะใช้ชีวิตให้ปกติและมีความสุขเท่าที่เราทำได้ในวันนี้ แต่ตอนนี้ก็อย่างที่เห็นว่าพวกเราเจอกับวิกฤต COVID-19 กันอยู่ ดังนั้น ทุกกิจกรรมที่ทำเลยต้องพักไว้ก่อน ที่สำคัญคือผมเองก็ต้องระวังตัวมากขึ้นด้วยเพราะด้วยสุขภาพ ผมจะเซนซิทีฟกว่าคนอื่นๆ เขา”

เปลี่ยนลิ้นหัวใจ – เปลี่ยนไต – ติดเชื้ออะดีโนไวรัส กับความสัมพันธ์ต่อโรคและการรักษามะเร็ง 

“ผมเปลี่ยนลิ้นหัวใจเมื่อปี 2536 ตอนนั้นก็อายุราว 50 กว่าๆ ก่อนที่จะมาพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและรักษาด้วยการฉายแสงในปี 2555 ซึ่งคุณหมอต้องเช็คก่อนว่า เมื่อมีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วเราสามารถทำการฉายแสงได้ไหม ซึ่งก็โชคดีที่ไม่มีปัญหาอะไร เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ไม่มีผลอะไรกับการรักษาโรคมะเร็ง

แต่เนื่องด้วยผมมีภาวะไตเสื่อมถอยมาเป็นระยะๆ เป็นความเสื่อมตามวัยนี่แหละ ผมก็เข้ารับการรักษาตามอาการมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันหนึ่งที่ค่าการกรองของไตลดลงเหลือเพียง 5% (ค่าการกรองของไต [estimated Glomerular Filtration Rate: eGFR, GFR] หรือทั่วไปเรียก ‘ค่าไต’ ปรกติคือ 90-125 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร หากต่ำกว่านี้ หมายความว่าบุคคลนั้นมีภาวะไตเสื่อม เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ค่าไตจะลดลง 1 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร และเมื่ออายุ 70 ปี ค่าไตจะลดลง 50 % หรือมากกว่านั้น เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ไตก็มีแนวโน้มทำงานลดลง – ที่มา: MedThai) ประมาณปี 2561 จึงต้องทำการเปลี่ยนไต โดยรับไตข้างหนึ่งมาจากลูกชายของผมที่แมชกันพอดี ในเวลานั้นก็มีเรื่องที่ต้องพิจารณามากพอสมควร เอาจริงๆ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเป็นเรื่องซีเรียสมาก น่าจะพอๆ กับการเป็นมะเร็งเลยนะ โดยการเปลี่ยนไตจะมีผลกระทบกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ผมรักษาไปด้วย เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนอวัยวะ เราต้องทานยากดภูมิซึ่งจะทำให้มะเร็งมีโอกาสกลับมาได้ง่ายขึ้น เพราะไม่มีภูมิต้านทานของเราสู้เจ้ามะเร็งนี้ไว้ แล้วถ้ามะเร็งกลับมา วิธีการรักษาก็อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ผมและครอบครัวก็กังวลตรงนั้นเหมือนกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราลังเลว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนดี จนกระทั่งร่างกายเริ่มไม่ไหว เลยต้องชั่งน้ำหนักดูความเป็นไปได้และความเสี่ยงตอนนั้น ทำให้กระบวนการทุกอย่างจึงต้องมีการตรวจเช็คอย่างละเอียด ตั้งแต่หัวใจ มะเร็ง และโรคอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยมากที่สุด ผมต้องให้คุณหมอที่ดูแลต่อมลูกหมากประเมินและทำจดหมายยืนยันมาว่า ผมได้ฉายแสงมาเกิน 5 ปีแล้วและไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องเปลี่ยนไต หมอเขาถึงยอมเปลี่ยนไตให้

หลังจากนั้น การเปลี่ยนอวัยวะและการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยังมีผลกระทบกับผมอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผมต้องทานยากดภูมิหลังจากเปลี่ยนไต ก็เลยเกิดการติดเชื้ออะดีโนไวรัสที่ระบบทางเดินปัสสาวะทำให้ถ่ายเป็นเลือดและมีลิ่มเลือดอุดตัน วิธีการรักษาในเวลานั้นมีความซับซ้อนและยากอยู่มากทีเดียว เพราะเมื่อเคยฉายแสงที่ต่อมลูกหมากมาก่อน จึงทำให้เส้นเลือดบริเวณที่ถูกฉายแสงมีความเปราะบาง การรักษาเลยไม่สามารถทำได้เต็มที่และยากกว่าคนอื่น บางวันผมต้องสวนปัสสาวะวันละหลายครั้งเลยนะ เรียกว่าติดเชื้อครั้งนี้เจ็บมากกว่าเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เปลี่ยนไต และรักษามะเร็งอีก แต่ผมก็ผ่านมันมาได้”  

เมื่อเข้าใจโรค…ก็จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยสติ

“ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเจ็บป่วยอะไรก็ตาม ผมองว่านั่นเป็นโรคโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อคุณหมอมาดูแล เราก็รักษาไป อาจเพราะผมเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก แน่นอนว่าความกังวลย่อมมีอยู่แล้ว เพียงแต่จะไม่ค่อยเก็บมาคิดและไม่ค่อยกลัวเรื่องการรักษา แล้วผมจะค้นหาความรู้เกี่ยวกับโรคนั้นๆ อยู่เสมอ ไม่ได้ปล่อยให้คุณหมอดูแลเราฝ่ายเดียว อย่างมะเร็งต่อมลูกหมาก ผมก็หาข้อมูลไว้ จะทำตัวเองให้มีความรู้เพียงพอเพื่อที่จะคุยกับหมอให้รู้เรื่องด้วย

จากประสบการณ์ของผม โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าดูแลและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ดูเขาให้ทัน มันก็เป็นมะเร็งที่รักษาได้ไม่ซับซ้อน เพียงแต่เวลาป่วย คนที่เข้ารับการรักษาก็จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน บางคนก็เครียด บางคนทำใจได้ สิ่งที่ผมอยากแนะนำก็คือ อยากให้คนที่กำลังเป็นโรคอะไรก็ตาม ขอให้ทำใจสบายๆ เอาไว้ ลองหาความรู้เกี่ยวกับโรคที่เราเป็น เพื่อที่เวลารักษาหรือดูแลตัวเอง เราจะตามโรคได้ทันและเข้าใจที่คุณหมออธิบาย เมื่อเรามีความรู้ เราจะเริ่มมีสติว่าเรากำลังเจอกับอะไรอยู่ อย่าปล่อยปละละเลย ผมเข้าใจว่าทุกคนกังวล ผมเองก็กังวล แต่อยากให้ทุกคนมีกำลังใจในการรักษา มีกำลังใจในการที่จะมีชีวิตต่อ เพราะคุณหมอที่ดูแลเราเขาได้รับการฝึกฝนให้ทำงานด้านนี้มาแล้ว อยากให้สู้และอย่าเพิ่งยอมแพ้ไปเสียก่อน”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: ธวัชชัย รัตนศักดิ์

ธาวินี จันทนาโกเมษ แชร์ประสบการณ์ที่เราอาจไม่รู้แต่ควรรู้เกี่ยวกับ ‘การดูแลผู้ป่วย’

คงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่เราๆ ท่านๆ จะส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยในฐานะ “ผู้ถูกรักษา” ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะด้วยอาการจากตัวโรค ผลกระทบจากการรักษา เลยไปจนถึงความเครียดและกังวลที่ดูหนักหนากว่าใคร แต่ขณะเดียวกัน เรากลับหลงลืมไปว่า “ผู้ให้การดูแล” ผู้ป่วย และหน้าที่ที่พวกเขาทำอยู่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องการแรงใจไม่ต่างกัน เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นงานที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยตลอดหรือแทบจะตลอดเวลา แม้จะเป็นงานยากและเหนื่อย แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย เพราะความสุขใจจากหน้าที่นี้ก็มีอยู่

สำหรับ ทราย ธาวินี จันทนาโกเมษ เจ้าของเพจ Cancan.kitchen การได้ดูแลคุณพ่อซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เธอได้แสดงออกถึงความรักและความเอื้ออาทรต่อกันในวันที่ต่างยังมีลมหายใจ แต่การได้อยู่เคียงข้างกันในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ถือเป็นโอกาสในการได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ากับคนที่รักก่อนการเดินทางของชีวิตจะสิ้นสุดลง 

สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ 

“คุณพ่อพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งประมาณปี 2018 สาเหตุที่ทราบว่าเนื่องจากมีอาการปวดท้องที่ไม่ใช่อาการปวดแบบที่เคยปวดเป็นประจำ ซึ่งเมื่อพบว่ามีอาการมากกว่าปกติ คุณพ่อเลยไปตรวจที่คลินิกประจำก่อน จนกระทั่งได้ตรวจแบบละเอียดขึ้นและพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3” 

การรักษาแบบผสมผสาน

“คุณหมอวางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออกและทำคีโม แต่คุณพ่อตัดสินใจที่จะทำคีโมแค่ครั้งเดียว เพราะเกิดอุบัติเหตุเข็มหลุดออกมาระหว่างการให้คีโมทางสายน้ำเกลือทำให้ถูกน้ำยาคีโมกัดผิว ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดการพูดคุยถึงการรักษาแบบทางเลือกและได้ข้อสรุปว่าจะไม่ไปต่อทางวิทยาศาสตร์แล้ว

ทรายและคุณพ่อได้เลือกการรักษาแบบผสมผสานแทน โดยหลักๆ จะใช้ศาสตร์การดูแลด้วยแพทย์แผนไทย ใช้ยาจากตำรับยาสมุนไพรที่เกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ที่สำคัญคือเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารใหม่ทั้งหมด ต้องบอกก่อนว่า 65 ปีที่ผ่านมา คุณพ่อเป็นคนใช้ชีวิตแบบมีอิสระในการกินมาก กินอาหารตามใจตัวเอง อยากกินอะไรเมื่อไหร่ต้องได้ แต่การรักษาในแนวทางนี้จะต้องมีวินัยในการรับประทานอาหารมากๆ เกิดปัญหาว่าคุณพ่อปรับตัวได้ลำบากพอสมควร

ทรายจะเป็นคนทำอาหารแล้วส่งให้คุณพ่อ โดยยึดตามแนวทางที่คุณหมอแนะนำรวมถึงอาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง เช่น น้ำตาลถือเป็นของหวานของโรคมะเร็ง ถ้าจำเป็นให้ใช้น้ำตาลมะพร้าวที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือดยากที่สุด สกัดน้ำมันสำหรับใช้ทำอาหารด้วยตัวเอง เพราะน้ำมันที่มีอยู่ในท้องตลาดใส่สารกันเสียเยอะ เป็นต้น”

การดูแลที่ต้องอาศัยแรงกายและกำลังใจ

“ต้องเล่าก่อนว่าทรายไม่ได้โตมากับคุณพ่อ จึงไม่ได้รู้จักนิสัยท่านมากเท่ากับครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน ทรายจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเขา เช่น คุณพ่อจะไม่ได้บอกเราว่าชอบกินหรืออยากกินอะไร หรือท่านจะไม่พูดว่า “ลูก ช่วยทำอาหารแบบนี้ให้พ่อกินหน่อยนะ” ทรายต้องวิเคราะห์ว่าคุณพ่อนิสัยแบบนี้ น่าจะอยากกินแบบนี้ แล้วทรายก็ทำอาหารส่งไปให้ท่าน นั่นจึงเป็นความยากในช่วงแรก

แล้วด้วยความที่เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน แม้ทรายจะทำอาหารและจัดเตรียมยาส่งไปให้อย่างสม่ำเสมอ ทรายก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคุณพ่อจะกินอาหารที่เราทำหรือกินยาครบตามที่คุณหมอกำหนดไว้ไหม ซึ่งสุดท้ายแล้วเราเชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณพ่อเสียชีวิตน่าจะมาจากการที่ท่านไม่ได้กินอาหารอย่างที่คุณหมอแนะนำ รวมถึงไม่ได้กินยาอย่างสม่ำเสมอ ตรงนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการรักษาแบบทางเลือกที่ต้องอาศัยแรงกายแรงใจ ความทุ่มเท ความมีวินัยในการทานยาและทานอาหาร ซึ่งคุณพ่อทรายอาจจะทำได้ไม่เต็มร้อย ผลลัพธ์เลยไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้”

อาจเป็นจังหวะของชีวิต

“มันก็เป็นจังหวะชีวิตของทรายเหมือนกันนะ คุณพ่อของทรายเริ่มไม่สบายตอนปี 2018 ทรายแต่งงานในปี 2019 หลังจากนั้นในปี 2020 เชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ตับ ซึ่งก่อนหน้าที่จะทราบก็เป็นจังหวะที่ทรายตัดสินใจลาออกจากงานพอดี เพื่อพักดูว่าเราอยากทำอะไรต่อไปกับงานที่ตั้งใจให้เป็นงานประจำสุดท้ายของตัวเอง

เมื่อรู้ว่ามะเร็งกลับมา ทรายคุยกับคุณพ่อรวมถึงปรึกษาคุณหมอและญาติพี่น้อง แล้วก็ตัดสินใจไปรักษาแบบทางเลือกที่บ้านคุณอาที่สวนผึ้งซึ่งเขาเป็นมะเร็งในช่วงเวลาใกล้กัน จะได้รักษาไปในทางเดียวกัน เพื่อให้คุณพ่อรู้สึกมีกำลังใจจากสังคมคนป่วยเหมือนกัน จังหวะนั้นบังเอิญมีงานที่รู้สึกอยากทำมากๆ ติดต่อทรายเข้ามาพอดี เลยคุยกับสามีว่าถ้าได้งานนี้ทรายจะทำอย่างไรดี จะทิ้งไปไหม ด้วยความที่สามีเขาเคยมีประสบการณ์การดูแลคนป่วยขณะทำงานไปด้วย แล้วบาลานซ์ชีวิตช่วงนั้นได้ยากพอสมควร เพราะทั้งการดูแลคนป่วยและการทำงานก็ไม่สามารถทุ่มเทเต็มร้อยได้เลยสักทาง เขาจึงแนะนำทรายว่า “ถ้าชีวิตเรามีโอกาสได้ดูแลคุณพ่อแล้ว ก็ไปให้สุดทาง อย่าเอาทุกอย่างมารวมกันแล้วคิดพร้อมกัน ค่อยๆ จัดการไปทีละเรื่อง” นั่นเลยทำให้ทรายเลือกโฟกัสไปกับการดูแลคุณพ่อจนถึงวันที่ท่านจากไป

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้โตมาอย่างใกล้ชิดกับคุณพ่อเท่าไหร่ บอกรักกันไม่ค่อยบ่อย แต่จะใช้วิธีทำให้คุณพ่อเห็นว่าอย่างไรทรายก็จะอยู่กับท่าน ไม่ว่าคุณพ่อจะต้องเปลี่ยนวิธีในการรักษาอีกกี่ครั้ง จะมีอุปสรรคในการดูแลขนาดไหน ทรายก็จะสู้ไปกับท่าน ซึ่งทรายว่าท่านก็รับรู้ได้”

มะเร็งไม่ใช่โชคร้ายอย่างที่ใครเขาว่า 

“ทรายอยู่ในครอบครัวที่มีคนเป็นมะเร็งอยู่พอสมควร ก็เลยมองว่ามะเร็งมันอยู่ในตัวเราตั้งแต่เกิด การเป็นมะเร็งเหมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนว่า เราใช้ชีวิตหนักหน่วงเกินไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น มุมมองของทรายกับตัวโรค ก็มองว่าเราต้องใช้ชีวิตของเราให้สมดุล ปล่อยให้มะเร็งหลับสนิทเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ในตัวเรา อย่าปลุกเขาให้ตื่น บวกกับมีความเชื่อในเรื่องของ “You are what you eat” ซึ่งเปลี่ยนวิถีการรับประทานอาหารของตัวทรายไปเยอะเหมือนกันนะ ทรายทำอาหารกินเองบ่อยมาก เพราะสามารถลงลึกถึงรายละเอียดของอาหารรวมถึงวัตถุดิบได้ทุกอย่าง ประสบการณ์ในการทำอาหารให้คุณพ่อรับประทานทำให้ทรายเลือกและเลี่ยงให้ตัวเองด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันเมื่อได้เห็นคุณอาที่เป็นมะเร็งดูแลตัวเองด้วยการรักษาทางเลือกและเขายังคงอยู่อย่างแข็งแรงมาจนวันนี้ ก็ทำให้เชื่อในเรื่องของการรักษาแบบทางเลือกมากกว่าการรักษาในทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นเรื่องของการทำคีโม”

ถ้าหาก…

“ตอนที่คุณพ่อเสีย ทรายมีคำถามเยอะมากเหมือนหนังเรื่อง About Time เลยว่า ถ้าตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้น ตอนนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้ จะทำอะไร แล้วคุณพ่อจะยังมีชีวิตอยู่ไหม เรียกได้ว่ามีคำถามกับทุกจังหวะชีวิตในช่วงเวลาที่ท่านป่วย จนถึงตอนที่คุณพ่อเสียไปแล้วก็ยังจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า ก่อนที่คนเราจากไปจะเกิดภาวะอะไร เขาจะรู้สึกอย่างไรในขณะที่กำลังจะจากไป ทรายถามญาติ รวมถึงคนรู้จักที่เป็นหมอด้วยคำถามประมาณนี้ ทุกคนก็ตอบกลับมาว่าให้หยุดคิดเถอะ ทุกอย่างผ่านไปแล้ว ทรายไม่ได้รู้สึกยินดีกับการที่คุณพ่อจากไป แต่ในขณะเดียวกันกลับรู้สึกโล่งอก ดีใจที่ท่านไม่ต้องทรมานกับการกินอาหารรวมถึงการรักษาที่ทำให้ท่านไม่มีความสุขอีกต่อไป

ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ทรายได้รู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือจงทำเมื่อยังมีโอกาส ทรายโชคดีที่ตัวเองยังมีโอกาสได้สื่อสารกับคุณพ่อในช่วงที่ท่านเริ่มเข้าสู่ภาวะผู้ป่วยวิกฤต ทรายพูดกับท่านว่า “ทรายขอโทษ ถ้าที่ผ่านมาทรายบังคับให้พ่อไม่ได้กินอาหารอย่างที่ต้องการ บังคับให้ฝืนกินยา ทรายขอบคุณพ่อที่ทำให้ทรายเกิดมา และรักพ่อนะ” จนถึงวาระสุดท้ายของท่าน ทรายบอกกับคุณพ่อว่า “ถ้าพ่ออยากจะสู้ก็สู้ แต่ถ้าอยากหลับก็หลับไปเลย ไม่ต้องกังวลว่าจะตื่นมาเป็นที่ไหน ไม่ต้องว้าวุ่นใจ ตื่นมาเป็นที่ไหนก็เป็นที่นั่นนะพ่อ” แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ ดับไปอย่างสงบเงียบที่สุด สำหรับคนค่อนข้างกลัวความตายอย่างทรายก็อดคิดไม่ได้ว่า อยากให้วาระสุดท้ายของเราดำเนินไปอย่างเรียบง่ายแบบนี้บ้าง

ทรายถือว่ามันเป็นจังหวะชีวิตที่ดีที่มีโอกาสได้ดูแลท่านตั้งแต่วันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จนถึงวาระสุดท้าย และมีโอกาสได้ขอโทษ ขอบคุณ และบอกรัก ก่อนท่านจากไปครบถ้วนทั้ง 3 อย่าง เพราะฉะนั้นทรายไม่รู้สึกว่าติดค้างอะไรแล้ว ถามว่าเสียใจไหม แน่นอนว่าทรายเสียใจแต่ในขณะเดียวกัน ทรายก็หมดห่วง มันเป็นการถอนหายใจที่รู้สึกว่าสามารถหายใจเอาอากาศเข้าไปหมุนเวียนได้เต็มปอด” 

จะดูแลกันอย่างไรในวันที่มีผู้ป่วยติดเตียง

“อย่างที่เล่าไปว่าทรายอาจจะไม่ได้สนิทกับคุณพ่อมาก แล้วช่วงที่คุณพ่อเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทรายคิดว่าไม่เป็นไร เห็นตามรายการที่เขาดูแลพ่อแม่ตัวเอง เราดูแล้วก็คิดว่าเคสเราก็คงเหมือนกัน ไม่ต้องมีพยาบาลหรอก มองว่าทรายเองน่าจะเอาอยู่ แต่เอาเข้าจริงเป็นการเอาอยู่แบบตาแข็งๆ ยิ้มแห้งๆ จนถึงวันที่รู้ตัวว่าคงไม่ไหวแล้ว อย่าฝืนเลยดีกว่า ให้มืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อให้คุณพ่อสบายขึ้น ซึ่งต้องบอกเลยว่าการจ้างผู้ดูแลคนป่วยไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เริ่มทำในเวลาวิกฤต เพราะจะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าจะเจอคนที่ปรับตัวเข้ากันได้ เข้าใจคนป่วย ถูกใจญาติผู้ใหญ่ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขจนตลอดรอดฝั่ง เอาอยู่สามารถรับมือได้อยู่หมัดเมื่อเจอสถานการณ์หนักๆ มาถึง รวมถึงอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ดูแล เช่น เตียงอัตโนมัติ เพราะต้องเข้าถึงผู้ป่วยด้วยความรวดเร็วและราบรื่น เช่นเดียวกับผู้ดูแลที่ต้องการความสะดวกในการประชิดตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตที่แทบจะสื่อสารกับเราไม่ได้เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่ทรายคิดว่าสำคัญมากเหมือนกันคือการทำธุรกรรมทางการเงิน ทรายพบว่าบางที คนสูงอายุเขายังใช้วิธีเดิมกันอยู่ คือเลือกที่จะทำธุรกรรมเบิกถอนเงินที่ธนาคาร ซึ่งในกรณีคุณพ่อ ทรายต้องเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ-สวนผึ้งถึง 3 ครั้งเพื่อสำรองเงินสดของพ่อมาเก็บไว้สำหรับใช้ในการรักษา แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถทำได้เพราะติดขัดในเรื่องของการยืนยันตัวตน ซึ่งถ้าเรามีแอปพลิเคชัน การดำเนินการและจัดสรรปัญหาต่างๆ จะง่ายและประหยัดเวลามากกว่า

ตกลงกันก่อนว่า…การเดินทางครั้งนี้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน

“เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ควรมีการคุยกันในครอบครัวก่อนว่า สุดท้ายแล้วคนป่วยที่เราดูแล ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือพี่น้อง เขาอยากให้การรักษาจบตรงไหน หากการรักษาไม่เป็นไปอย่างที่วางแผนหรือหวังไว้ บางทีคนป่วยเขาอาจจะไม่ได้อยากต่อสู้ ไม่ได้อยากเดินทางต่อแล้ว แต่ด้วยความไม่ได้ตกลงกันเอาไว้ก่อนทำให้ในท้ายที่สุด เรายื้อเขาไว้เพราะลูกหลานหรือญาติยังทำใจไม่ได้กับการที่เขาตัดสินใจอยากยุติการรักษา

สำหรับทราย ทรายได้คุยกับคุณพ่อ รู้เจตนารมณ์ท่านว่าอย่างไร คือเขาไม่ต้องการเป็นผัก ไม่ต้องปั๊มหัวใจ เมื่ออยู่ในสภาวะที่ต้องตัดสินใจจึงเรียบง่ายและชัดเจน ทรายสามารถตอบคุณหมอได้ทันทีว่าจะไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ใช้เครื่องหรือยากระตุ้น ไม่สอดท่อช่วยหายใจให้กับคุณพ่อนะคะ”

การจัดการความเครียดด้วยการหาความสุขง่ายๆ รอบตัว

“คนดูแลจะต้องหาวิธีจัดการกับความเครียดตัวเองด้วย อย่างตัวทรายเองแค่จะดื่มน้ำยังลืมไปเลย เพราะเครียดจนเกือบจะกลายเป็นคนป่วยไปด้วยเหมือนกัน ต้องไม่ลืมว่าคนดูแลเองก็ต้องมีเวลาให้ตัวเองได้หยุดพักจากเรื่องเหล่านี้บ้าง สุดท้ายแล้วทรายพบว่าการหมกตัวอยู่ในร้าน Mr. DIY เพื่อคำนวณว่าซื้อทิชชู่แบบไหนถึงจะคุ้มค่า หรือการได้เดินออกกำลังกายดูพระอาทิตย์ตกในวันที่ไม่ยุ่งจนเกินไปนัก ถือเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทรายมีความสุขแล้ว ลองหากิจกรรมที่สร้างความสุขให้เราได้ง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องพยายามอะไรมาก และสามารถทำได้บ่อยทุกวัน”

ใดใดในโลกล้วนเป็นไปตามกฎของจักรวาล

“ความสุขของตัวเองในตอนนี้คือการที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายของการใช้ชีวิตให้เป็นจริง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของมะเร็งอะไรเท่าไหร่ แต่ทรายรู้สึกว่า Everything happens for a reason ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ ทรายลาออกจากงานได้ไม่นานคุณพ่อกลับมาป่วยอีก แต่โชคดีที่ก่อนหน้านั้นจัดงานแต่งงานตั้งแต่คุณพ่อยังแข็งแรง มีสามีที่น่ารักเป็นเพื่อนคู่คิด คอยซัพพอร์ตความรู้สึก คอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา เหนื่อยมากก็มีที่พักพิงให้ล้มตัวใส่ เขาทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว เราถึงได้ดูแลคุณพ่อแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอะไรเลย จนวันที่รู้ตัวว่าไม่อยากกลับไปทำงานประจำอีกแล้ว ได้มีเวลาคิดจนพอจะเห็นเป้าหมายของชีวิตเป็นรูปร่างชัดเจนว่าคืออะไร บางคนอาจรอให้ถึงเวลาเกษียณแล้วค่อยเริ่มต้น แต่มันคงดีกว่าที่เราได้ทำเสียตั้งแต่วันนี้ ย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนคุณพ่อจะป่วยจนถึงวันนี้ ทรายเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีคำว่าบังเอิญแม้แต่เรื่องเดียว”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: ธาวินี จันทนาโกเมษ

Fight to Alive: มนทิรา อร่ามกิจโพธา จากผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวสู่หน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยา

มนทิรา อร่ามกิจโพธา (เจ) หรือ มิโยโกะ เจ คือกราฟิกดีไซเนอร์ฝีมือดี คือคุณแม่ที่มีลูกๆ น่ารักอย่างเคนจิโร่และริวโนสุเกะ คือภรรยาที่ทำหน้าที่ได้อย่างสุดความสามารถในการดูแลครอบครัวด้วยการเติมเต็มทั้งพลังกายและพลังใจให้กับสมาชิกทุกคนภายในบ้าน และคือผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวผู้มีหลักชัยคือ “ฉันจะตายไม่ได้” เมื่อเสียงหัวใจบอกอย่างนั้น ทุกองคาพยพในร่างกายของเธอจึงมีแต่คำว่า “สู้” และการต่อสู้นั้นก็ทำให้ชีวิตในวันนี้ของเธอกลับสู่ความเกือบปกติแล้ว

สำหรับเจ มะเร็งคือโรงเรียนชีวิตที่ไม่เพียงแต่จะดึงให้เธอกลับมามีสติอยู่กับทุกลมหายใจในปัจจุบันและรู้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ แต่ความรักและกำลังใจ รวมทั้งประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้จุดประกายให้เธอก่อร่างหน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยาหรือ Thai Blood Cancer Supporter และกองระดมทุน Fight to Alive ที่มีเป้าหมายคือการส่งต่อกำลังใจและความช่วยเหลือแบบที่ไม่เรียกร้องและขอผลตอบแทนใดๆ นอกจากขอให้สู้ สู้ และสู้เท่านั้น

จากกราฟิกดีไซเนอร์สู่บทบาทใหม่ในนาโกย่า

“เจจบสถาปัตย์ สาขาออกแบบภายในจากธรรมศาสตร์ แล้วมาต่อปริญญาโทคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร หลังจากนั้นก็ทำงานด้านกราฟิกมาเรื่อยๆ เกือบ 10 ปี และได้แต่งงานกับสามีซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นชื่ออากิ พวกเรามีลูกชาย 2 คน คนเล็กชื่อริวโนสุเกะ ปัจจุบันอายุ 5 ขวบ คนโตชื่อเคนจิโร่ ปัจจุบันอายุ 7 ขวบ พวกเราใช้ชีวิตอยู่ที่ไทยระยะหนึ่ง พอลูกคนโตครบ 3 ขวบก็ย้ายมาที่ญี่ปุ่นเพราะว่าคุณปู่ของสามีไม่ค่อยสบายและต้องการคนมาดูแล พวกเราจึงย้ายมาอยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อมาดูแลคุณปู่คุณย่า 

พอย้ายมาที่ญี่ปุ่น ชีวิตก็เปลี่ยนเลย จากกราฟิกดีไซเนอร์ทำงานในเอเยนซี่ พอย้ายมาที่นี่ หน้าที่หลักคือดูแลคุณปู่ ดูแลคนในครอบครัว ทำงานบ้าน ตอนนั้นลูกคนโตกำลังจะเข้าอนุบาลพอดี และคนที่สองเพิ่ง 1 ขวบ ตอนที่ย้ายมาญี่ปุ่นใหม่ๆ คุณปู่เริ่มเป็นอัลไซเมอร์ระยะแรก แต่สักพักหนึ่งท่านเริ่มมีอาการอัลไซเมอร์มากขึ้น ทำให้ท่านเริ่มเดินไม่ได้และต้องนอนติดเตียง ท่านบอกกับพวกเราว่า ท่านไม่อยากอยู่โรงพยาบาล อยากอยู่บ้านจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แล้วขอให้เจช่วยดูแลท่าน นี่เป็นคำขอสุดท้ายที่คุณปู่บอกกับเจไว้ เจรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ช่วงเวลาที่ดูแลคุณปู่ประมาณ 2 ปีกว่าได้

จนมาวันหนึ่ง คุณปู่มีความดันต่ำมากและไม่สามารถวัดความดันได้ เริ่มมีอาการไม่ปกติ จึงโทรเรียกคุณหมอมาที่บ้าน เมื่อหมอมาถึงดูอาการคุณปู่ คุณหมอก็บอกให้พวกเราโทรเรียกลูกสาวของคุณปู่ทันที แล้วทุกคนก็ได้มาร่ำลาคุณปู่ในวินาทีสุดท้าย เป็นการนับถอยหลังของลมหายใจครั้งสุดท้ายอย่างสงบด้วยวัย 100 ปีของคุณปู่

พอเหตุการณ์นั้นผ่านไป เรายังมีคนที่ต้องดูแลซึ่งก็คือคุณย่าอายุ 98 ปี ท่านยังร่างกายแข็งแรง มีอาการอัลไซเมอร์เล็กๆ แต่ไม่ได้รุนแรงมาก เจก็จะช่วยทำอาหาร ทำหน้าที่แม่บ้าน ทุกวันนี้ก็ยังทำหน้าที่นี้อยู่ ควบคู่ไปกับทำงานพาร์ตไทม์ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุใกล้บ้านและทำงานฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซเนอร์อยู่เรื่อยๆ”

ในขาวมีดำ ในดำมีขาว

“จนมาถึงหน้าร้อนที่ญี่ปุ่นปี 2019 เจเริ่มมีผื่นแดงที่ท้องและแขน เป็นผื่นที่ไม่คันและเป็นจุดแดงๆ เต็มไปหมด ตอนนั้นก็แปลกใจ แต่คิดว่าคิดว่าคงเป็นผื่นธรรมดา ไม่น่าจะรุนแรงมากเลยยังไม่ได้บอกใคร แล้วก็ไปหาหมอใกล้บ้าน พอหมอดูผื่นก็คิดว่าน่าจะเป็นเพราะแพ้เหงื่อ เลยให้ยามาทา แต่ก็ไม่หาย แล้วผื่นเริ่มเยอะขึ้น เจเลยเสิร์ชใน Google ดูว่าจะมีสาเหตุอะไรได้อีก ก็สมมติฐานว่าอาจเป็นผื่นตั้งครรภ์ เลยไปซื้ออุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์มา ปรากฏว่าขึ้น 2 ขีด ซึ่งเป็นข่าวดีมากสำหรับพวกเราในช่วงเวลานั้น เจเริ่มบอกเพื่อนๆ และคนในครอบครัวว่าน้องคนที่สามมาแล้วนะ ก็ต้ังชื่อไว้จะให้เขาชื่อว่า ‘ริน’

อาการตอนนั้นคือ จะอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย บางครั้งหน้ามืด ก็คิดว่าเป็นอาการของคนท้องทั่วไป จนครบ 2 เดือนจึงไปฝากครรภ์ คุณหมอให้ตรวจเลือดแต่ยังไม่ได้บอกผล แต่บอกว่าถ้ามีอะไรผิดปกติจะโทรมา คืนหนึ่งเจมีอาการไอแบบไอทั้งคืน นอนไม่หลับ พอเช้าวันต่อมา ขณะกำลังแปรงฟันอยู่ แล้วไอ ก็มีลิ่มเลือดออกมาด้วย ตอนนั้นช็อกมากเพราะไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วก็มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดหยุดยาก สุดท้ายจึงตัดสินใจไปหาหมอฟัน หมอก็บอกว่า ที่เลือดออกตามไรฟันเกี่ยวกับฮอร์โมนของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตามปกติ พอออกมาจากคลินิกหมอฟัน เห็นหน้าสามีซีดๆ เลยถามว่าเป็นอะไร สามีบอกว่า คลินิกที่ไปฝากครรภ์โทรมาบอกว่าผลเลือดไม่ปกติ ให้รีบไปคลินิก พอไปถึงคุณหมอก็แจ้งว่าเกล็ดเลือดต่ำมาก ซึ่งเจเป็นห่วงลูกในท้องว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็บอกว่าถ้าผลเลือดแม่ไม่ปกติ ลูกก็จะไม่ปกติด้วย พวกเราเครียดมาก แต่ยังไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไร จากนั้นหมอก็เขียนจดหมายส่งตัวให้พวกเราไปที่โรงพยาบาลใหญ่ทันที

พอถึงที่โรงพยาบาลใหญ่ เจได้ตรวจกับหมอสูติฯ คุณหมอซักประวัติและส่งตัวไปอัลตร้าซาวนด์ท้องซึ่งน้องดูแข็งแรงดี แต่เจเกล็ดเลือดต่ำเลยต้องแอดมิตทันทีและต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2 อาทิตย์ซึ่งถือว่านานสำหรับเจ เพราะมีลูกชาย 2 คน สามี และคุณย่าที่เราต้องดูแล ถ้าเราไม่อยู่ ใครจะดูแลพวกเขา เลยนึกถึงคุณแม่คนแรกและขอให้ท่านช่วยบินมาที่ญี่ปุ่นเพื่อช่วยดูแลเด็กๆ ให้

สรุปว่า เจเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตอนนั้นช็อคมาก เจพูดกับหมอประโยคแรกว่า “I cannot die” เจมีคนที่ต้องดูแลซึ่งก็คือลูกชาย เลยถามคุณหมอต่อว่า เจจะอยู่ได้นานแค่ไหน คุณหมอบอกว่าได้อีก 3 เดือน การรักษาโรคนี้ต้องทำเคมีบำบัดและปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ตอนนั้นตัวเองก็ตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งเราต้องยุติการตั้งครรภ์ก่อนการเริ่มให้ยาเคมีบำบัด

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมียเกิดจากการที่ไขกระดูกของเราผลิตเม็ดเลือดขาวที่ไม่ปกติออกมา ประเภทแรกจะเป็นประเภทเรื้อรัง หรือ Chronic Leukemia ส่วนของเจเป็น Acute Leukemia ซึ่งเป็นแบบเฉียบพลัน ต้องแอดมิตทันที เพราะว่ามะเร็งชนิดนี้จะทำให้เม็ดเลือดแดงต่ำซึ่งทำให้เราซีด เป็นโลหิตจาง และเกล็ดเลือดจะต่ำทำให้เลือดไหลแล้วไม่หยุดซึ่งอันตรายมาก เซลล์เม็ดเลือดขาวก็ไม่สามารถผลิตได้ปกติ ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ มีไข้ ไม่สบายง่าย ติดเชื้อง่าย ซึ่งการติดเชื้อเป็นอะไรที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมาก”

การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

“พอทราบแล้วว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทไหน ก็มาตรวจละเอียดอีกทีว่าเป็นโครโมโซมชนิดใด ถ้าเป็นโครโมโซมที่ตอบสนองกับยาดีก็อาจจะรักษาโดยการคีโมอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นประเภทที่มีความเสี่ยงสูง หมอแนะนำว่าต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ของเจหมอตรวจพบว่าเป็นโรคไขกระดูกบกพร่อง Myelodysplastic syndromes (MDS) ด้วย ก่อนนำมาซึ่งโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภท AML ซึ่งต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ 

การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ก็เหมือนกับการเปลี่ยนโรงงานผลิตเม็ดเลือด ถ้าเรามีโรงงานผลิตเม็ดเลือดที่ไม่แข็งแรง มันก็จะผลิตเม็ดเลือดผิดปกติออกมา เราจึงต้องเปลี่ยนเป็นโรงงานที่จะผลิตเม็ดเลือดที่สมบูรณ์ นั่นคือการรับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคซึ่งก็จะมีรายละเอียดอีกว่า สเต็มเซลล์ควรจะเป็นของคนในครอบครัวหรือผู้บริจาคที่มี HLA ที่คล้ายหรือใกล้กับ HLA ของคนไข้มากที่สุด ซึ่งเป็นนาทีที่ลุ้นมากสำหรับผู้ป่วยว่าจะมีตรงกันกับผู้บริจาคหรือไม่ เพราะโอกาสตรงกันค่อนข้างยากมาก บางคนใช้เวลาในการรอเจอคู่แท้ค่อนข้างนาน บางคนใช้เวลาไม่นานก็มี

คำถามแรกที่หมอถามคือเรามีพี่น้องไหม ซึ่งการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะต้องตรวจเลือดของพี่น้อง ถ้าตรงกัน เราก็สามารถปลูกถ่ายได้จากคนในครอบครัวเลย ช่วงที่รักษาจึงให้พี่สาวบินมาญี่ปุ่นเพื่อตรวจเลือดทีละคนจนครบ 3 คน คนที่สองและสาม HLA ไม่ตรง โชคดีที่พี่คนโตมี HLA ตรงกับของเจ พวกเราก็ดีใจมาก

การรักษาของจะเป็นการให้คีโมทั้งหมด 4 คอร์ส แต่ละคอร์สใช้เวลา 1 เดือน ครั้งสุดท้ายก่อนปลูกถ่ายฯ จะเป็นคีโมที่แรงที่สุด เหมือนการล้างไขกระดูก ให้ยาคีโมแบบไฮโดสเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ก็จะมีผลทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดต่ำลงไปด้วย ร่างกายจะอ่อนแอมาก เขาเรียกว่า day -1 พอ day 0 จะเป็นวันที่ได้รับสเต็มเซลล์ใหม่จากพี่สาว ซึ่งก่อนที่จะปลูกถ่าย จะต้องมีประชุมกันกับคุณหมอ ทีมพยาบาล และนักโภชนาการ เพื่ออธิบายให้เข้าใจ จากนั้นก็ตรวจร่างกายคนที่จะเป็นผู้บริจาคซึ่งจะต้องมีน้ำหนักมากกว่าคนไข้ประมาณ 5 กิโลกรัมและมีสุขภาพแข็งแรง พี่สาวเจเขาก็ฟื้นตัวเร็ว เข้าห้องผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ช่วงเช้า ตอนเย็นเขาก็เดินมาเยี่ยมเจได้แล้ว”

เมื่อฉันเกิดใหม่อีกครั้ง

“หลังจากปลูกถ่าย เราจะเหมือนเด็กแรกเกิดเลย เหมือนการเกิดใหม่ แต่ร่างกายจะยังไม่แข็งแรงเต็มที่ เขาจะค่อยๆ ฟื้นฟูเราโดยอยู่โรงพยาบาลหลังปลูกถ่ายต่ออีกประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นคุณหมอจะพิจารณาว่าคนไข้พร้อมที่จะออกไปหรือยัง และอธิบายให้ทราบว่าเมื่อออกไปแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง การดูแลจะเหมือนเด็กแรกเกิดเลย ต้องระวังมากกว่าคนปกติ ตั้งแต่เรื่องอาหาร การติดเชื้อ เรื่องโดนแดด เรื่องผิว เพราะว่าหลังปลูกถ่ายจะมีอาการผิวแห้งและไวต่อการระคายเคือง ต้องตรวจเลือดทุกอาทิตย์ในช่วงเดือนแรก บ้านต้องสะอาด ต้องนอนแยกห้องกับเด็กๆ คนในครอบครัวต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้เรียบร้อย รวมถึงบุคคลรอบข้างเราต้องเข้าใจสถานการณ์ว่า สภาพร่างกายเราเป็นยังไงในช่วงหลังปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

เจได้รับการปลูกถ่ายช่วงเมษายนปี 2020 ตอนนี้ก็ครบปีแล้ว คุณหมอค่อยๆ ลดยากดภูมิ แต่ยังมีทานยาสเตียรอยด์อยู่บ้าง เพราะยังมีอาการข้างเคียงหลังปลูกถ่ายอยู่บ้างนิดหน่อย เป็นระยะเรื้อรังจากการปลูกถ่ายไม่ได้รุนแรงมาก เจจะเป็นห่วงแค่ผลเลือดเท่านั้นเอง ตอนนี้ผลเลือดทุกอย่างยังปกติ เราก็สบายใจ”

พร้อมตั้งรับกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

“ด้วยชีวิตประจำวัน บางทีจะมีเหตุการณ์ที่เราคาดเดาไม่ได้เกิดขึ้น ความยากมันอยู่ที่เราจะจัดการกับเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้เหล่านั้นอย่างไร บางครั้งปอดติดเชื้อ หมอก็จะให้ยารักษาอาการช่วงนั้น มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำมากแล้วเลือดกำเดาไหลไม่หยุด ไหลประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง คือนานมาก ก็มีอาการเหนื่อยหรือท้อบ้าง ซึ่งสิ่งที่ทำได้ก็คือรักษาให้เต็มที่ รักษาตามที่คุณหมอวางแผนไว้ ต้องพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่มันจะเกิดขึ้น”

คิดและทำในปัจจุบันขณะ

“ก่อนหน้านี้ มะเร็งสำหรับเราเป็นเรื่องไกลตัว เข้าใจทุกคนเลยว่า พอคุณหมอบอกว่า “คุณเป็นมะเร็ง” ทุกคนจะมีคำถามเลยว่า ฉันจะหายไหม ฉันจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน แต่สิ่งที่เราต้องดึงกลับมาให้ได้คือ “สติ” ตั้งสติก่อน แล้วคุยกับคุณหมอว่าเราจะไปต่ออย่างไร

พอตั้งสติได้ ก็อยากรู้จักกับสิ่งที่เราเป็น อยากรู้ว่ามันคืออะไร จึงเริ่มหาข้อมูล เป็นคนไข้ที่ถามหมอบ่อยมาก ไม่รู้หมอรำคาญหรือเปล่า แต่เราคิดว่าเรื่องของความรู้ทางการแพทย์เป็นสิ่งสำคัญที่คนไข้ควรจะหาข้อมูลไว้พอสมควร แล้วถ้ามีอะไรก็ให้เคลียร์กับคุณหมอ กับพยาบาล หรือเภสัชกรที่ให้ยาเราให้มากที่สุด

จะมีช่วงปีใหม่ที่ต้องคีโม เจก็นั่งฟังธรรมะจากพระอาจารย์ไพศาล ท่านพูดเรื่องปีใหม่ ใจใหม่ พอฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันทำให้เราไม่คิดดร็อปลงไป ถ้าคิดมาก เราก็จะดร็อปลงไปเรื่อยๆ ต้องขอบคุณความเจ็บป่วย เพราะถ้าไม่รู้จักโรคนี้คงไม่ทำให้เราคิดได้มาจนถึงวันนี้ว่า ความไม่แน่นอนเป็นอย่างไร ทุกอย่างแม้แต่เส้นผมที่ร่วงในช่วงการคีโมก็เป็นธรรมชาติของยาเคมีบำบัดที่ไปหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ทำให้เส้นผมงอกขึ้นมา เลยทำให้ผมร่วง ซึ่งเราก็เข้าใจว่าทุกคนคงผ่านช่วงเวลาเหล่านี้มา และเราก็นับถือคนที่เป็นมะเร็งหลายๆ คนเลยว่าเขาผ่านมาได้ ซึ่งเราก็ต้องผ่านไปให้ได้เหมือนกัน อีกหนึ่งกำลังใจคือ เจจะมีรูปของลูกชายติดไว้ที่ห้อง เป็นรูปลูกชายกำลังแข่งวิ่งแล้วกำลังจะเข้าเส้นชัย เป็นรูปที่ทำให้เจฮึดสู้ขึ้นมา คิดว่าตัวเองจะต้องหาย จะต้องวิ่งไปพร้อมกับเขานะ จะหยุดแค่ตรงนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะหกล้มอย่างไร จะถึงเส้นชัยหรือไม่ ก็อย่าหยุดวิ่ง”

มะเร็งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

“เมื่อก่อนด้วยความคิดที่ว่าร่างกายเราแข็งแรงดี ก็เลยไม่ได้ไปตรวจสุขภาพเพราะคิดว่าไม่เป็นไร แต่ความคิดนี้กลับมาทำร้ายเรา ร่างกายของเราส่งสัญญาณเตือนเราตลอด แต่เราไม่ได้ยินหรือไม่ได้ฟังเขา เมื่อก่อนคิดว่ามะเร็งเป็นเรื่องไกลตัว ตอนนี้รู้แล้วว่ามะเร็งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มุมมองตอนนี้คือ ดูแลสุขภาพให้มากที่สุดและพยายามบอกคนใกล้ตัวให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเสมอเช่นกัน”

ในวันที่ร่างกายและหัวใจสมดุลขึ้น

“หลังจากป่วย มุมมองเราเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตให้มีความสมดุล คุณหมอที่รักษามักจะพูดให้คำแนะนำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 3 อย่าง คือ keep nutrition, keep exercise และ keep sleep ซึ่งก็คือการทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการนอนหลับให้เพียงพอ

เรื่องของการทานอาหาร จะพยายามเลี่ยงอาหารแปรรูป แล้วทานสิ่งที่มีตามฤดูกาล ทั้งผัก ผลไม้ โปรตีน โดยให้สัดส่วนของอาหารแต่ละชนิดสมดุลกัน ไม่เทไปทางไหนมากไป ทานให้หลากหลาย มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ สำคัญคือถ้าเป็นผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว เขาจะให้งดอาหารดิบ พวกปลาดิบ เนื้อดิบให้งดก่อน แล้วทานอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ผลไม้ที่ต้องทานทั้งเปลือกห้ามทาน โดยเฉพาะช่วงของการรักษาและช่วงหลังปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เพราะเราอาจติดเชื้อจากผลไม้ที่ต้องทานทั้งเปลือกได้ ถ้าจะทานต้องทำความสะอาดให้มากที่สุดก่อนทาน แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงไปก่อนค่ะ

เรื่องของการออกกำลัง เจได้ถามอาจารย์หมอที่เชี่ยวชาญทางด้านการปลูกถ่ายไขกระดูกให้เขาช่วยแนะนำการออกกำลังกาย เขาแนะนำว่าการออกกำลังที่ง่ายและดีที่สุดคือการเดิน ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอมากๆ โดยเฉพาะช่วงคีโมก่อนปลูกถ่ายฯ เจมีอาการชาที่ขา คุณหมอให้นั่งย่ำขาอยู่กับที่ ถ้ายืนได้ก็ยืน และเดินย่ำอยู่กับที่เบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ขยับ ช่วงปลูกถ่ายฯ แรกๆ คุณหมอไม่ให้โดนแสงแดด ให้ออกกำลังกายในร่ม แต่พอร่างกายเริ่มฟื้นฟูแล้วถึงออกมาเดินข้างนอกได้ โดยคุณหมอให้ทำเท่าที่ทำไหว อย่าฝืนหากมีอาการเหนื่อย แค่รับวิตามินดีจากแสงแดดตอนเช้าบ้างในช่วงเวลาที่ภูมิคุ้มกันเริ่มมากขึ้น

ส่วนเรื่องการนอน เมื่อก่อนเป็นคนนอนดึก พอคุณหมอบอก ก็คิดได้ว่าเราต้องนอนแล้ว พอนอนเร็วขึ้น ร่างกายก็ดีขึ้นจริงๆ ซึ่งการนอนจะช่วยสร้างสร้างเซลล์ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันเราแข็งแรงขึ้น แล้วก็ต้องไม่ทำงานหนักเกินไป เพราะร่างกายเราจะเหนื่อย แบ่งเวลาทำงานที่ชัดเจนและโฟกัสกับมันจริงๆ ส่วนเวลาที่เหลือจะใช้กับการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งการพักคือพักทุกอย่างนะ ทั้งร่างกาย ความคิด และจิตใจ ไม่ใช่กายพัก ใจพัก แต่ยังคิดมาก ทุกอย่างต้องโปร่งโล่งสบาย สำคัญคือต้องดูแลทางด้านจิตใจด้วย จนถึงตอนนี้เจยังฟังธรรมะอยู่ทุกวันและพยายามปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวันให้มากที่สุดด้วย”

เมื่อยังหายใจ จงใช้ชีวิตให้คุ้มค่า

“จริงๆ แค่การมีลมหายใจ ตื่นขึ้นมาแล้วเรายังมีชีวิตอยู่ก็รู้สึกเพียงพอแล้ว เมื่อเรายังมีชีวิต จงใช้ทุกลมหายใจให้คุ้มค่ากับสิ่งที่เราฝ่าฟันมา วันที่ท้อเราจะย้อนไปดูว่าตัวเราผ่านจุดยากลำบากมาได้อย่างไร แล้วก็มีสติกับทุกลมหายใจ ปัจจุบันนี้ ความสุขของเจคือการมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งกายและใจ ร่างกายแข็งแรงแล้ว ใจก็ต้องแข็งแรงด้วย และส่งต่อกำลังใจให้กับคนที่อยู่รอบตัวเรา ช่วงเวลาที่ผ่านมาเหมือนเราได้เข้าโรงเรียนที่สอนบทเรียนชีวิต เป็นประสบการณ์ที่เราจะไม่ทิ้งมันไปเฉยๆ และจะกลั่นกรองประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้ในการช่วยเหลือผู้อื่น”

หน่วยปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยา

“มะเร็งสอนอะไรหลายอย่างมาก ถ้าไม่รู้จักโรคนี้ การมองโลกและการใช้ชีวิตของเราก็คงไม่เปลี่ยนไปมากขนาดนี้ เจได้มานั่งทบทวนกับตัวเองว่า สิ่งที่เราจะทำได้หลังจากนี้คืออะไรบ้าง ย้อนกลับไปช่วงที่รักษา เราได้คุยกับเพื่อนผู้ป่วยตลอด และคิดว่าจะทำอะไรที่ช่วยเหลือเขาได้บ้าง จึงก่อตั้งหน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยาหรือ Thai Blood Cancer Supporter โดยมีเป้าหมายคือช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยา ตั้งแต่การให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับมะเร็งโลหิตวิทยา การประชาสัมพันธ์เรื่องการบริจาคเลือดหรือเกล็ดเลือด สเต็มเซลล์ เป็นต้น พอทำไปได้สักพักหนึ่งก็รู้สึกว่าต้องมีทีม เลยประกาศหาอาสาสมัคร และได้อาสาสมัครหลากหลายอาชีพเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วย ทั้งนักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ เภสัชกร ทันตแพทย์ ทุกคนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยตามสิ่งที่เขาถนัด ต้องขอบคุณอาสาสมัครทุกคนที่เข้ามาช่วยมากๆ

แต่การรักษาโรคนี้บางเคสต้องมีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ การเจาะไขสันหลัง เจาะไขกระดูก ซึ่งบางสิทธิจะเบิกไม่ได้และค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงเพราะใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน เราก็เลยคิดว่าต้องทำเป็นกองทุนหรืออะไรสักอย่างเพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดทุนทรัพย์ในการรักษา กองระดมทุน Fight to Alive จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดทุนทรัพย์ในการรักษา ซึ่งมีสองวิธีที่สามารถให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ทางแรกคือผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยสามารถบริจาคเข้าบัญชีของผู้ป่วยแต่ละท่านโดยตรงได้เลย เจจะทำหน้าที่เป็นแค่สื่อกลางให้เขาในเพจ ส่วนอีกทางหนึ่งคือการบริจาคผ่านเว็บไซค์เทใจ (www.taejai.com/th/d/fight-to-alive) ตอนยื่นสมัครโครงการเข้าเทใจ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเขาก็รับโครงการนี้ เราดีใจมากที่จะได้พาผู้ป่วยในโครงการไปต่อโครงการ Fight to Alive ก็เลยดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งเข้าเดือนที่ 7 แล้ว และโครงการของเราได้ให้การช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยในโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณเทใจและผู้บริจาคที่ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคน อยากบอกเขาว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ทำให้เขาได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง” 

Fight to Alive : บันทึก How to สู้มะเร็ง

“สำหรับ “Fight to Alive : Diary of Blood Cancer Patient เมื่อฉันเข้าเรียนในโรงเรียนมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นการจดบันทึกตั้งแต่วันแรกที่เจเข้ารับการรักษา เนื่องจากเราชอบเขียนไดอารี่มาตั้งแต่เด็ก ตอนอยู่โรงพยาบาลก็เขียนไดอารี่และหาข้อมูลการรักษา ตั้งแต่วันแรกจนจบคอร์ส ตอนนี้ก็ยังเขียนบันทึกอยู่เรื่อยๆ เจคิดว่าบันทึกนี้จะช่วยส่งต่อกำลังใจและให้ความรู้กับผู้ป่วยได้บ้าง นอกจากเรื่องของการรักษาแล้ว ก็มีเรื่องของการบริจาคเลือดสำหรับผู้สนใจที่จะบริจาคเลือดหรือเกล็ดเลือด ตอนนี้พิมพ์มาจำนวนหนึ่ง แน่นอนว่ารายได้ส่วนหนึ่งของการจำหน่ายหนังสือนี้จะมอบให้กับโครงการ Fight to Alive เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดทุนทรัพย์ในการรักษาด้วย”

จงอดทนและสู้กับมัน

“เมื่อยามเราป่วย เจเชื่อว่าทุกคนมีเป้าหมายของการรักษา นั่นคือการรักษาให้หายจากโรค ไม่ว่าจะโรคอะไร ก็อยากให้จดจำเป้าหมายนี้ไว้ ระหว่างทางการรักษาย่อมมีอุปสรรค ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องมีกำลังใจถึงจะผ่านไปได้ ขอให้เข้มแข็งและอดทน เพราะเจเชื่อว่า ถ้าเราเข้มแข็ง อดทน มีความหวังและกำลังใจ เราผ่านทุกความท้าทายไปได้แน่นอน

ทุกคนย่อมมีช่วงเวลาที่ยากลำบากมากในชีวิต เวลาที่เราหันกลับไปมอง ไม่ว่าจะเป็นช่วงของการรักษาหรือการดูแลคุณปู่ เป็นอะไรที่ท้าทายทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความคิด เจมักบอกกับตัวเองว่า “เฮ้ยเราผ่านจุดนั้นมาได้เแล้วนะและอยาก ‘ขอบคุณ’ ตัวเองในความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมแพ้ในช่วงเวลาต่างๆ ที่ผ่านมา” 

ขอบคุณความรักดีๆ

“ในการใช้ชีวิต ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าตั้งใจทำอะไร จงทำให้เต็มที่และดีที่สุดเพื่อที่เราจะไม่เสียดายกับสิ่งที่ผ่านไป เจต้องขอบคุณทุกคนที่เสียสละมาดูแลเราในช่วงเวลาที่รักษา ทั้งครอบครัว คุณหมอ พยาบาล นักโภชนาการ ขอบคุณผู้บริจาคโลหิต ผู้บริจาคเกล็ดเลือด และผู้บริจาคสเต็มเซลล์ซึ่งก็คือพี่สาวคนโตของเจ สิ่งที่เราได้รับเหล่านี้ทำให้รู้ว่าเราต้องตอบแทนสิ่งที่ทุกคนเสียสละให้เรามา รวมถึงอีกคนหนึ่งที่อยากจะขอบคุณก็คือ ‘ริน’ ลูกคนที่สามที่เขาต้องกำเนิดก่อนที่เจทำการรักษามะเร็ง ถ้าเราไม่ได้ตั้งครรภ์คนที่สามก็จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เพราะคงไม่ได้ไปตรวจเลือด แต่เจคิดว่าเขาไม่ได้ไปไหน เขาได้เสียลสะเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยา ถ้าไปดูในเพจ Thai Blood Cancer Supporter เจออกแบบโลโก้เป็นเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เป็นเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่จะคอยดูแลให้การช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยา ขอบคุณคุณปู่ที่สอนให้เจรู้จักการดูแลผู้สูงอายุ เพราะว่าถ้าไม่มีเขาเราก็คงไม่ได้มาอยู่ที่นี่ แล้วก็ไม่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้และเข้าใจความหมายของชีวิต”

ภาพ: มนทิรา อร่ามกิจโพธา

นพ. บัญชา พงษ์พานิช รับมือกับมะเร็งผิวหนังด้วยธรรมะผ่านกาย ใจ และปัญญา

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) เป็นมะเร็งผิวหนังเมื่อราว 5 ปีก่อน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นมะเร็งในระยะ ชนิด และอวัยวะที่มีอัตราการรักษาให้หายได้สูง แต่ขึ้นชื่อว่ามะเร็ง หลายคนที่ต้องเผชิญหน้าย่อมวิตกและกลัวไปสารพัด ซึ่งการรับมือกับโรคดังกล่าวของคุณหมอนั้นเรียกว่าตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรากล่าวมาข้างต้นโดยสิ้นเชิง เพราะสำหรับหมอบัญชาแล้ว ในโลกแห่งความไม่แน่นอนนี้ มันมีวิธีรับมือเสมอ หากเข้าใจและมีสติ 

มะเร็งผิวหนัง Basal Cell Carcinoma

“จริงๆ แล้วด้วยความที่ตัวผมเองเป็นหมอ ก็รับรู้อยู่ว่ามนุษย์ทุกคนมีเซลล์หรือเนื้อที่สามารถกลายพันธุ์สู่เซลล์มะเร็งได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยเซลล์ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านเซลล์ แล้วร่างกายของเราต้องการการเจริญเติบโต ฉะนั้น เซลล์เนื้อเยื่อของเราก็ขยายตัวเพื่อจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเสมอ แล้วก็รู้ว่าถ้าจุดไหนของร่างกายเป็นจุดที่เกิดการขยายตัวมาก บริเวณนั้นก็จะมีโอกาสมากที่จะเกิดเซลล์แปลกปลอมขึ้นมา อย่างเช่นผู้ชาย ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ต่อมลูกหมาก กล่องเสียง หรือไม่ก็ลำไส้ หรือถ้าหากว่าดื่มเหล้ามาก ใช้ตับมาเยอะ ตับก็ต้องพยายามที่จะซ่อมแซมเนื้อตับ มะเร็งก็เกิดขึ้นได้

สำหรับผมเองเหล้าไม่ดื่ม อย่างอื่นก็ไม่ค่อยมี ถ้าภาษาหมอก็คือไม่มีความเสี่ยง แต่ปรากฏว่าวันหนึ่งปลายจมูกผมเห็นเป็นรอยปื้นดำๆ ซึ่งภาษาแพทย์เราจะเรียกเป็นพวกเมลานินเป็นจุดที่เจอแสงแดดเยอะ เมื่อเจอแสงแดดเยอะ เซลล์ก็พยายามที่จะสร้างสิ่งมาปกป้องเพื่อไม่ให้ผิวเสียหายง่าย สุดท้ายสารที่สร้างมาเพื่อปกป้องเนื้อเยื้อตรงนั้นก็มีโอกาสกลายพันธุ์

ผมก็เฝ้าดูอยู่เป็นปีนะว่าจะแค่เป็นปื้นสีหรือว่ามันจะกลายเป็นมะเร็ง เพราะเรารู้อยู่ว่าเซลล์พวกนี้จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ ถ้าเมื่อไหร่ผิวหนังเปลี่ยนสี มีเม็ดไฝเกิดขึ้น แล้วสีมันคล้ำขึ้น ขยายตัวใหญ่ขึ้นหรือมีเลือดออก จนวันหนึ่งเลือดก็ออก ซึ่งผิวตรงจมูกนี้บางแล้วก็มีเลือดซิบ ผมก็คิดว่ามะเร็งมาแล้ว

หลังจากนั้นก็ไปหาหมอที่เป็นรุ่นน้อง ก็บอกว่า “เนี่ย ผมเป็นมะเร็ง” หมอก็บอกว่า “ไม่นะ อย่างนี้ไม่ใช่หรอก” สุดท้ายผมบอกว่าให้ตัดเอาไปตรวจดู ผลออกมาก็คือเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma”

การรักษาตามอวัยวะที่เกิด ชนิด และระดับ

“หลักการของมะเร็งต้องดูว่า หนึ่งเป็นที่อวัยวะไหน สองเป็นเซลล์ชนิดไหน สามเซลล์ขยายตัวไประดับไหนแล้ว ซึ่ง Basal Cell Carcinoma เป็นชนิดของมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุหลักๆ เกิดจากการสัมผัสแสงแดดมาก ส่วนที่ผมเป็นอยู่บริเวณปลายจมูกก็รักษาด้วยการตัดออก ไม่ต้องทำการรังสีรักษาและเคมีรักษาใดๆ เพียงแต่เฝ้าระวังว่าจะกลับมาอีกไหม

เขาจึงบอกว่าหมั่นตรวจอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูเพศ วัย อวัยวะ มีพฤติกรรมเสี่ยงอะไรไหม ถ้ามี ก็เลิกเสีย มีการเฝ้าระวัง แล้วก็ตรวจสอบอยู่เสมอว่าอวัยวะต่างๆ เป็นอะไรไหม หากเซลล์ตรงนั้นไม่ขยายตัวมากแบบผิดปกติ มันก็ไม่กลายพันธุ์ อย่างของผมที่เป็นก็เพราะไปถูกแดดเยอะ ชีวิตอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน เซลล์ตรงนี้ก็เลยขยายตัวมากเป็นพิเศษ ตัวผมเองก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น แต่ก่อนชอบสู้แดด ชอบทำสวน อยู่กับป่า อยู่กับต้นไม้ ก็ตอนหลังก็ต้องใส่หมวกหน่อย ก็ต้องยอมรับเพราะเขามาเตือนเราแล้ว”

จัดการโรคด้วยความรู้และสติ

“ตอนที่เจอก็ราวๆ 5-6 ปีที่แล้ว ความรู้สึกแรกคือ เขามาแล้วล่ะ เมื่อรับรู้ว่าเขามาแล้ว ก็จัดการเท่าที่เราพอมีพื้นฐานก่อนว่า อ้อ มะเร็งตรงนี้เป็นมะเร็งชนิดที่รักษาได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าเป็นเซลล์ประเภทไหน ถ้าเป็นชนิดอ่อน ตัดออกก็จบ แล้วก็อาจมีโอกาสเป็นซ้ำได้ แต่ก็กินเวลานานหน่อย ถ้าเรารักษาได้เร็วก็น่าจะเอาออกได้หมด

แล้วก็กลับมาดูชีวิตของตัวเอง ตอนนั้นก็ 50 กว่าๆ แล้ว และเป็นหมอที่สนใจเรื่องระบาดวิทยา รวมถึงเรื่องระบบของชีวิต ซึ่งสำหรับคนที่เกิด 2500 อย่างผม วงการสาธารณสุขเขาพยากรณ์ชีพไว้ว่า ชายไทยที่เกิด พ.ศ. 2500 อายุเฉลี่ยประมาณ 51-55 เอ้า ก็พอดีกับอายุขัยเราเลย ตอนนั้น 55 มะเร็งมาก็พอดี แล้วอายุ 55 ปีที่ผ่านมาเราโอเคไหมล่ะ ผมมีความรู้สึกว่าผมใช้ชีวิตเต็มที่แล้ว ได้พบหนทาง ได้เข้าใจชีวิต แล้วก็ทำอะไรไว้เยอะแล้ว ไม่มีภาระอะไรมาก จะห่วงก็แต่แม่ น้า น้องๆ แล้วก็งานบางอย่าง ก็มีความรู้สึกว่าใช้ชีวิตคุ้มแล้ว ในความรู้สึกตอนนั้นนะ ถ้าจะไปก็ไป แต่ขณะเดียวกัน ในวงการแพทย์ก็มีการพยากรณ์ชีพอีกแบบ นอกจาก Life Expectancy at Birth แบบแรกที่ผมบอก ก็คือปัจจัยจากระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งการพยากรณ์ชีพของชายไทยในแบบที่ 2 Life Expectancy at Present  คือ ถ้าชายไทยที่เกิด 2500 และอยู่มาเรื่อยๆ จนถึงปี  2555 อายุ 55 แล้วสุขภาพยังดี ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงอะไร ก็จะอยู่ได้ถึง 70 จริงๆ ฉะนั้น ถ้ารักษาได้ก็รักษาไป อาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ก็อยู่ต่อ จะได้ใช้ชีวิตต่อเพื่อแสวงหาความหมายให้ครบมากขึ้น ให้มีคุณภาพชีวิตได้ดีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ทำอะไรได้มากขึ้นด้วย ฉะนั้น ก็จัดการเสียในเมื่อมันยังจัดการได้ วันนั้นก็เลยบอกคุณหมอเขาว่าก็รักษาเสีย ทำให้เต็มที่ ยิ่งกว่านั้นยังมีแบบที่ 3 Life Expectancy Adjust คือเอาปัจจัยพฤติกรรมสุขภาพมาประกอบ เช่นผมนี้ มีพฤติกรรมเสี่ยงน้อยมาก ๆ บางพยากรณ์ว่าอาจต้องอยู่ยาวถึง 90 เลยด้วยซ้ำ

ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทุกคนวิตกกับมะเร็งเพราะรู้สึกว่าเขาเป็นอื่น แต่สำหรับผม ด้วยการที่เป็นหมอ เรียนเรื่องนี้มา และศึกษาเรื่องพุทธศาสนาด้วย ก็รู้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา เราแค่ไม่รู้ว่าจะลงเอยแบบไหนและเมื่อไหร่เท่านั้นเอง”

กฎแห่งการตั้งรับมะเร็งคือรู้ว่ามีโอกาสที่จะเป็นได้เสมอและรักษาดุลชีวิตไว้ให้ดี

“อย่างที่บอก มะเร็งเขาอยู่กับเราอยู่แล้ว สำหรับผู้ชายก็มีความเสี่ยงอยู่กับเรื่องต่อมลูกหมากเพราะเป็นจุดที่ต้องขยายตัวมาก ต้องสร้างอสุจิมาเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ สำหรับผู้หญิงก็จะเป็นในส่วนรังไข่ที่ต้องสร้างไข่เพื่อใช้ผสมกับอสุจิ หน้าอกสร้างเซลล์เพื่อมาสร้างน้ำนม แล้วการขยายแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เป็นเรือนร้อยนะ แต่หลักหมื่น แสน ล้าน ซึ่งในนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องมีสักตัวที่กลายพันธุ์ ก็เหมือนกับไวรัสโควิดที่เราเห็นตอนนี้ว่ากลายพันธุ์ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

เราต้องยอมรับว่าตราบใดที่ยังมีชีวิต ร่างกายเราต้องสร้างเซลล์เพิ่มเพื่อมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอก เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ มะเร็งก็อยู่กับเราอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ ในร่างกายเราก็มีระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งเม็ดเลือดขาวและระบบน้ำเหลือง กับอื่น ๆ อีกสารพัดที่จะคอยจัดการกับเซลล์แปลกปลอมอยู่แล้ว ถ้ามันแปลกปลอมไม่มากและไม่รุนแรง เพียงแต่ว่าถ้าเขาเกิดมามากเกิน แล้วระบบของร่างกายจัดการเขาไม่ได้ ก็ทำให้มะเร็งเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ผมคิดว่าหัวใจของการตั้งรับโรคภัย รวมถึงมะเร็ง คือรู้เสมอว่าเรามีโอกาสที่จะเป็น รักษาดุลชีวิตไว้ให้ดี ละเว้นพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย และเสริมสิ่งที่สามารถช่วยเป็นเกราะป้องกัน ฟิตเนสทั้งทางร่างกายและจิตใจให้ดี เพราะว่าเวลาเราฟิตเนสด้านร่างกายดีพอ อะไรแปลกปลอมเกิดขึ้น ร่างกายก็มีกองกำลังแข็งแรงพร้อมที่จะสู้

ส่วนเรื่องของจิตใจและความเข้าใจ ในทางการแพทย์ยังไม่ตอบตรงชัดว่าไปเสริมกำลังอย่างไร บางคนบอกว่าจะไปเสริมสมรรถนะในการปกป้องหรือในการทำร้ายเซลล์แปลกปลอม อีกฝั่งก็บอกว่าไม่ใช่แค่ไปเสริมสร้างสมรรถนะ แต่สร้างสารที่เป็นกลุ่มฮอร์โมนเพื่อไปจัดการเลย ซึ่งก็มีการศึกษาพบว่า ความเครียดจะส่งผลให้ทุกอย่างในร่างกายเครียด เมื่อเป็นอย่างนั้น ความพร้อมในการตั้งรับจะไม่ดี แต่เมื่อเราพร้อมรับ เราจะสดใสร่าเริง มีกำลังใจว่าจะสู้ แล้วเมื่ออวัยวะและเซลล์ทุกระดับมีความสุข เราก็แฮปปี้ที่จะเผชิญกับสิ่งตรงหน้า ไม่รอดก็แล้วไป แต่ถ้ารอดก็โอเคถูกไหม แต่ถ้าบอกโอ้ยจะตายไหมเนี่ย ทุกอย่างก็จะไปอีกแบบแล้ว ฉะนั้นผมคิดว่าการรักษาดุลชีวิตทุกๆ ด้านจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยป้องกันได้”

ท่วงทำนองในการรับมือมะเร็งสไตล์หมอบัญชา 

“ในวันที่ผมไปผ่าตัด ผมไม่ได้บอกใครสักคน จะมีก็ลูกศิษย์ที่ไปด้วยกันว่าโทรไปบอกที่บ้านหน่อย เดี๋ยวเขาว่าเอา ปรากฏว่าทางบ้านก็เป็นห่วงว่าเป็นอะไรมากไหม ผมก็บอกว่าผมเป็นหมอ ผมเข้าใจ แต่แจ้งให้ทราบและไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ผมว่ามันอยู่ที่ท่วงทำนองในการรับมือ ซึ่งหัวใจอยู่ที่ความเข้าใจ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ 3 เรื่อง คือ กาย ใจ และปัญญา ซึ่งท่านก็ให้เจริญศีล สมาธิ และปัญญา ศีลคือดูแลกายให้ดีไว้ สมาธิคือดูแลจิตให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปัญญาคือทำความเข้าใจในเรื่องความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งมะเร็งก็รวมอยู่ในนั้นด้วย

สำหรับผม ณ วันที่มะเร็งมา ผมรับรู้ว่าเขามาแล้ว มีวิตกไหม มีนะ เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะขนาดไหน จะรับมือไหวไหม จะจัดการอย่างไร แต่ไม่ถึงกับเครียดหรือวิตกมาก ไม่ได้กลัวตาย ซึ่งถ้าหนัก ผมก็คิดว่าจะตายก็ตาย เพราะจริงๆ เซลล์มะเร็งนั่นเขาก็เป็นชีวิตเรานั่นแหละ”

มะเร็งคือการทดสอบระบบความคิด

“ไม่กี่เดือนมานี้ เพื่อนรักของผมเป็นมะเร็งขั้น 4 ก็น่าเป็นห่วงอยู่ แล้วเป็นหมอด้วยนะ ผมก็ถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง?” เขาก็ตอบกลับมาว่า “มึงบอกกูไว้นี่ว่า อายุขนาดนี้แล้ว ก็โอเคแล้วไม่ใช่เหรอ” ซึ่งเขาก็ทำการรักษาอย่างเต็มที่ ผ่านการผ่าตัด การฉายรังสี และให้เคมีบำบัด ล่าสุดทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งผมเชื่อว่ามันไม่ใช่แค่การรักษาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของจิตใจด้วย ฉะนั้นในความเห็นของผม มะเร็งเป็นสิ่งที่มาบอกบางอย่างให้คนได้ขบคิดและเป็นการเตือนว่า โอกาสที่จะตายมาถึงแล้วนะ”

ความตายเป็นเรื่องธรรมดา

“เราต้องทำความเข้าใจเรื่องชีวิตนะครับว่า ข้อหนึ่ง เราต้องตาย ข้อสองซึ่งช่วยมากคือผมอยู่มาเกินเวลาที่ควรมีแล้ว ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้เป็นของแถม เป็นกำไรของชีวิต สาม ดูว่าเราใช้ชีวิตคุ้มหรือยัง พบอะไรอีกไหม ห่วงอะไรอีกหรือเปล่า สำหรับผม ผมก็ไม่ค่อยห่วงอะไร มีแม่บุญธรรมที่ผมยังห่วงท่าน เราไม่อยากจะไปก่อนท่าน ต้องประคับประคองตัวเองให้รอดปลอดภัย ทุกข์ของพ่อแม่คือลูกไปก่อน ฉะนั้น ก็ต้องดูแลให้ท่านได้ไปก่อนนะเพื่อไม่ให้ทุกข์นี้เกิดกับบุพการี ส่วนตัวเราก็ค่อยว่ากัน งานอื่นๆ ก็ทำเยอะแล้ว ถ้าจะไปก็ไปได้

ทีนี้การฝึก หลักสำคัญคือฝึกใจให้พร้อม ถ้าเขามา เราจะได้สู้และรับมือเขาไหว ส่วนเรื่องกาย ผมก็ปล่อยในเรื่องของความสุขตามแบบปุถุชน ทานในสิ่งที่ควร เลี่ยงในสิ่งที่สมควร ทานมาตั้ง 50 60 ปีแล้ว ก็ทานต่อนิดๆ หน่อยๆ เอาจริงๆ อัตราการตายจากมะเร็งเนี่ย น้อยกว่าการตายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์อีกนะ ซึ่งถ้ากลัวตายจริง ก็ต้องไม่ไปไหนแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ตราบเท่าที่จะทำได้ หัวใจคือฝึกใจให้พร้อม แล้วก็เข้าใจมัน”

สามสิ่งสำคัญในชีวิต

“อะไรคือสำคัญในชีวิตของผมบ้าง ก็มีอยู่สามข้อ หนึ่งคือสร้างความพร้อมที่จะไปทั้งแง่มุมกายและใจ ด้านจิตใจก็ให้มันพร้อมที่จะไปโดยที่ตัวเองทนได้ในวาระสุดท้ายและตั้งสติได้ เรื่องปัญญาผมพอแล้ว รับสภาพได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าบรรลุธรรมนะ

สองคือเรื่องสิ่งที่เราทำไว้ว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่องแม้เราจะจากไปแล้ว อย่างเช่น หอจดหมายเหตุพุทธทาสที่จะทำอย่างไรให้ระบบเสถียร แล้วก็รันได้ หรือสิ่งที่ผมทำไว้ที่นครศรีธรรมราช บ้านเกิดก็พยายามให้น้องๆ ขึ้นมาดูแลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อไป 

เรื่องสุดท้าย ก็คือบุพการีที่ผมจะพยายามดูแลท่านจนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้นผมก็จะดูแลตัวเองให้แข็งแรงไว้ ผมว่าคนทั่วไปอาจจะห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สมบัติ แต่สำหรับผมเนื่องจากเป็นโสด ไม่มีลูกให้ต้องห่วงอะไร”

“ธรรมะ” เครื่องยึดเหนี่ยวให้ผ่านอุปสรรค

“หลังจากที่ผมไปบวช ผมพบว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าคือสุดยอด ถ้าผมแค่เป็นหมอและเป็นมะเร็งนะ ผมไม่มีสิทธิ์เผชิญมะเร็งได้แบบตั้งมั่นและมีสติพร้อมได้แบบนี้ ผมได้หลักคิดและแนวปฏิบัติที่พร้อมเผชิญ ฝึกกาย ฝึกจิต ฝึกปัญญาสารพัดอย่างของพระพุทธเจ้ามาใช้ หลังจากนั้นมาผมก็ปฏิบัติและทดลองกับเรื่องนี้มาตลอด พอเป็นมะเร็ง ผมก็มีภูมิ ภูมิรู้ ภูมิจิต ภูมิปัญญา แล้วก็ภูมิชีวิตที่จะรับมือ รวมถึงความเข้าใจเรื่องระบบชีวิต ระบบการเจ็บป่วยในฐานะของแพทย์ด้วย”

สุขคือทุกข์ให้น้อยลง

“ความสุข ณ ปัจจุบันของผม ถ้าเอาตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ผมศรัทธาและเชื่อมั่นว่านั่นคือสุขแท้ก็คือ ไม่มีตัวตน แต่ผมยังไปไม่ถึงนะ ฉะนั้นความสุขของผมทุกวันนี้ก็คือทุกข์ให้น้อยลง ผมจะนั่งดูว่าเรายังมีอารมณ์แบบที่เรียกว่าไม่ถูกไม่ควรโผล่มาบ้างไหม ซึ่งผมยังเป็นคนเจ้าโทสะ เอาแต่ใจ แล้วก็ขี้โมโห ผมพบว่า 35-40 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องนี้ผมลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีนะ คือโทสะจริต แต่ผมจะรู้ตัวได้เร็วขึ้น แล้วจะระงับหรือขอโทษได้ แต่ก่อนไม่ขอโทษหรอก ซัดเลย ฉะนั้น สุขของผมคือทุกข์น้อยลง พยายามลดสิ่งที่ไม่ดีไม่ควรให้ปรากฏขึ้นในชีวิตและจิตใจ ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะฝ่ายกุศล ฝ่ายดีให้มากขึ้นๆ ซึ่งต้องฝึก อย่างเช่น โทสะก็ต้องใช้กรุณาเมตตามาสู้ ผมเนี่ย บางทีเมตตากรุณายังไม่ค่อยมากเท่าไหร่ ต้องฝึก หรือเรื่องจาคะ ต้องฝึกเรื่องทาน เรื่องการแบ่งปัน ซึ่งผมก็ยังมีไม่มากอีกเหมือนกัน การปล่อยออกไปยังไม่มากเท่าที่น่าจะเป็น แต่ฝึกอยู่เสมอ แล้วกำลังขบคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นๆ”

ดูแลตัวเองตามหลักธรรมชาติ

“สำหรับมะเร็ง เราต้องยอมรับความจริงว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิต ชีวิตเราประกอบด้วยเซลล์ แล้วเซลล์นั้นเขาก็มีชีวิต เขาก็ต้องขยายตัว ฉะนั้นเขาก็จะเกิดการกลายพันธุ์เป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้น เราต้องพร้อมรับว่ามะเร็งเป็นของคู่กับชีวิต แล้วเขาจะมาหรือไม่มาก็อยู่ที่พฤติกรรมของเรา สิ่งที่ทำได้คือปรับพฤติกรรม ซึ่งถ้าเกิดเขามาแล้ว ผมอยากให้มีสติเพื่อมาดูสิ่งที่เกิดอยู่ตรงหน้าว่าเราจะจัดการอย่างไร แล้วก็วางจิตเพื่อที่จะเผชิญและจัดการ ไม่ว่าของตัวเราหรือของญาติมิตรเรานะ ไม่ใช่ทุกคนที่พอบอกว่าเป็นมะเร็งแล้วจะต้องตายกันเสียหมด มะเร็งเขามีประเภท มีระดับที่แตกต่างกัน พอเข้าใจว่าอยู่ตรงไหน ขั้นใด ก็วางจิตวางใจที่จะอยู่กับเขาหรือไม่ก็คลี่ปัญหา เพื่อให้เราก็อยู่ได้และเขาก็ไม่ทำร้ายเรา

สำหรับผู้ที่มะเร็งอยู่ในอวัยวะที่ไม่ธรรมดา เป็นเนื้อมะเร็งชนิดที่รักษายาก ผมว่าก็ต้องปรับโหมดชีวิต ให้ความสำคัญกับการปรับใจเป็นสำคัญ เพราะว่าเขามาไกลมากแล้ว มีจำนวนมากนะที่พบว่าปรับแล้วประสบความสำเร็จ เราได้ยินเรื่องเล่ามากมายของผู้ป่วยที่หมอเขาบอกว่าจะอยู่ได้อีกเท่านี้ แต่พอเขาปรับบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรับระบบชีวิตและปรับวิธีคิด ก็กลายเป็น ว่าอยู่กันได้ยาวขึ้น บางคนหมอยังงงเลยว่าหายไปได้อย่างไร อันนี้ศาสตร์ทางการแพทย์ยังตอบไม่ได้ แต่มีศาสตร์ทางด้านชีวิตและจิตใจที่เยียวยาได้ ส่วนญาติมิตรของผู้เป็นมะเร็งไม่ใช่ว่าตีโพยตีพาย ตระหนก ซึ่งแบบนั้นระบบภูมิจะล่มสลาย

ส่วนเรื่องพุทธศาสนา หลักคิดเท่าที่ผมได้บวชเรียนซึ่งเป็นหลักคิดสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ท่านค้นหาปัญหาที่คนทั้งโลกห่วงและวิตกมากที่สุดก็คือ ทำไมคนต้องแก่ เจ็บ แล้วตาย ขอไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายได้ไหม สุดท้ายสิ่งที่ท่านตรัสรู้ก็คือไม่ได้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ ตั้งตนอยู่ได้ยาก ไปฝืนก็ทุกขัง อนิจจัง เพราะแท้จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แม้กระทั่งเราก็ไม่ได้มีตัวมีตน เกิดมาแล้วต้องตาย ในเมื่อเป็นอย่างนั้น ในความเห็นของผมก็คือต้องยอมรับความจริง ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือเราจะอยู่อย่างไรก่อนตาย แล้วตายอย่างไรให้ดี สิ่งที่แนะนำได้ก็คือฝึกฝนกาย ใจ สติปัญญา และความรู้ให้ถี่ถ้วน ให้พอเหมาะ กายก็ดูแลให้พอเหมาะพอควร ดูว่าเราใช้ชีวิตกินอยู่พอดีไหม อร่อยพอแล้ว อิ่มพอแล้ว ไม่มากเกินแล้ว อันนี้อันตรายไม่เอา จิตก็พยายามทำให้เขาแจ่มใส อยู่เย็นเป็นสุข สุดท้ายเรื่องปัญญาก็ฝึกเรื่องความรู้ ความเข้าใจ รู้ให้ทั่วและเท่าทันในเรื่องที่ควรรู้ ไม่จำเป็นจะต้องรู้ทั้งหมด อย่างเรื่องโควิด ผมก็ตามเป็นบางประเด็นนะ สำคัญก็คือที่รู้นั้นเป็นประโยชน์ที่เอามาใช้ในชีวิตและจิตใจไหม ผมว่าหลักพระพุทธศาสนา ฝึกฝนเรื่องความรู้ความเข้าใจ ฝึกฝนเรื่องจิตใจและฝึกฝนดูแลกายให้พอดี แค่นั้น ผมว่าก็อยู่กันได้ ส่วนถ้าของแข็งมาแรงเกิน ถ้าจะตาย มันก็ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล / Sudaporn Jiranukornsakul
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ / Zuphachai Laokunrak
ภาพเพิ่มเติม: นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช / BUNCHAR PONGPANICH
ขอบคุณสถานที่: หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)

ณษิกา ปั้นเหน่งเพชร ผู้ป่วยมะเร็งสมองกับ 9 เดือนที่ความทรงจำหายไป และเรื่องราวดีๆ ในวันที่ความทรงจำคืนกลับมา

ความกล้าหาญถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ ความกล้าหาญนับเป็นพลังอันดีงามที่ปุถุชนอย่างเราๆ พึงจะมี ขณะที่การเรียนรู้ที่จะกล้าหาญนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไม่กลัว แต่มันคือการเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่คุณกลัวด้วยสติ

สำหรับ ณษิกา ปั้นเหน่งเพชร หรือตาล เราสัมผัสได้ถึงความกล้าหาญของเธอในการเผชิญกับความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นคือความเจ็บป่วย ซึ่งความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองไม่ได้ทำให้เธอเกรงกลัวแต่อย่างใด เธอเลือกที่จะกล้าหาญเพื่อเผชิญหน้ากับโรคที่เป็นอยู่อย่างเข้าอกเข้าใจ กล้าที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เธอต้องการ กล้าที่จะทำสิ่งในที่รัก กล้าที่จะมีความสุขกับทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมคำมั่นที่ให้กับคนรอบกายว่าจะทำให้ทุกๆ เสี้ยวนาทีในชีวิตมีคุณค่าที่สุด และจะตอบแทนพวกเขาด้วยการมีชีวิตอยู่อย่างดีเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้

เนื้องอกสมองชนิด Grade IV Glioblastoma Multiforme (GBM)

“หลังจากที่พี่โดนเรียกตัวกลับมาช่วยดูแลกิจการโรงงานของครอบครัวประมาณปี 2015  พี่ก็เข้ามาจัดระบบอะไรต่างๆ จนทุกอย่างเริ่มลงตัว พอมาปีที่สอง ช่วง 2017 พี่คุยกับภรรยาว่าแต่งงานกันไหม ระหว่างที่เราวางแผนแต่งงาน พี่ไม่ได้มีอาการที่น่าเป็นห่วง เช่น ปวดหัวหนักๆ หรือคลื่นไส้อาเจียน หรือสัญญาณของโรคที่รุนแรงเลย จะมีก็แค่ปวดหัวธรรมดาแบบคนทั่วไปที่กินยาแก้ปวดก็จะหาย จนกระทั่งวันที่พี่ล้มหมดสติในโรงงาน ซึ่งโชคดีที่ภรรยาพี่อยู่ด้วย พอเข้าโรงพยาบาลก็ตรวจพบว่าพี่มีเนื้องอกที่สมอง

การรักษาในตอนนั้นคือ การผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย คุณหมอให้พี่พักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลจนร่างกายฟื้นตัวดี แต่พี่อยากจะกลับมาพักต่อที่บ้าน ซึ่งคุณหมอบอกว่า พี่จะกลับบ้านได้ถ้าพี่ทำตามเงื่อนไขของคุณหมอ นั่นคือพี่ต้องเข้าห้องน้ำเองให้ได้ เดินให้ได้ และทานให้ได้ พี่พยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองอยู่อย่างนั้นเดือนนึง คุณหมอก็อนุญาตให้ออกได้ แต่ทางโรงพยาบาลอยากให้พี่ไปทำแผลทุกวันที่โรงพยาบาล ซึ่งก็มีความยากตรงนั้น พี่เลยจ้างพยาบาลมาดูแลอีก 1 เดือน เพื่อรอเอาแม็คที่เย็บตอนผ่าตัดออกให้หมด

หลังเอาแม็คทั้งหมดออกเรียบร้อย คุณหมอก็ให้ซองมาหนึ่งซอง หนามากเป็นปึกเลย แล้วก็ปิดผนึก บอกว่าเดี๋ยวคุณต้องใช้ตอนฉายแสงนะ พี่ก็งงว่าทำไม่ต้องฉายแสง ภรรยาพี่ก็ไม่ได้พูดถึงมะเร็งเลย แค่บอก อ้อ ก็เนื้องอกเธอ เดี๋ยวมันจะนู่น นั่น นี่ พอพี่อยู่คนเดียวก็แกะซองนี้มานั่งอ่าน เลยทราบว่าพี่เป็นมะเร็งสมองชนิด GBM ซึ่งเป็นมะเร็งสมองที่พบไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับมะเร็งของอวัยวะอื่น เป็นมะเร็งที่รักษายาก และมีการพยากรณ์โรคที่ไม่โอเค ตามสถิติของโรค เทียบกับอายุ น้ำหนัก สภาพร่างกายของพี่แล้ว คุณหมอคาดการณ์ว่าพี่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3-6 เดือน เต็มที่สุดก็ 9 เดือน

ด้วยมะเร็งสมองชนิด GBM นี้ เป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยพบ ทำให้ข้อมูลมีน้อยมาก แต่ตัวพี่อยากรู้ในสิ่งที่ตัวเป็นมากกว่านี้ เพื่อนก็เลยตัดสินใจพาไปพบคุณหมอที่รักษาพี่ในปัจจุบัน ซึ่งคุณหมอก็ดีมาก อธิบายในสิ่งที่พี่อยากรู้และสงสัยทั้งหมดเพื่อที่จะดูว่าจะต้องทำอะไรต่อไป พี่คุยกับคุณหมอตรงๆ เลยว่า “คุณหมอคะ ตาลอยากทานสิ่งที่อยากทานและไม่อยากทานสิ่งที่ไม่อยากทาน” เพราะความรู้สึกพี่คือไม่โอเคในช่วงที่ผ่านมา คุณหมอก็เลยตัดสินใจขอคุยกับครอบครัวพี่ ซึ่งก็มีครอบครัว ภรรยา และเพื่อนๆ โดยคุณหมอเป็นสื่อกลางให้ระหว่างพี่กับครอบครัวว่าเวลาของพี่มีเท่านี้ ถ้าพี่ทำอะไรแล้วมีความสุขก็อยากให้ครอบครัวสนับสนุนความต้องการตรงนี้ สมมุติว่า 10 วัน ถ้าจะเหลือ 9 วันเพราะได้ทานสิ่งที่อยากทาน เหลือ 8 วันเพราะอยากไปเที่ยวทะเล เหลือ 7 วันเพราะอยากไปปีนเขา แต่เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขไหมล่ะ ซึ่งถ้าพี่เลือกทางนี้ คุณหมอก็ขอให้คนรอบข้างเคารพการตัดสินใจ โดยจะมีคุณหมอเป็นที่ปรึกษาเรื่องการดูแลตัวเองด้านอื่นๆ”

เมื่อความทรงจำขาดหาย และทุกอย่างย้อนกลับไปในอดีต

“ถ้าเรียงลำดับก็คือ พี่พบว่าเป็นมะเร็งช่วงปี 2017 หลังจากฉายแสงเสร็จ และผ่านไประยะหนึ่ง ประมาณปี 2018 ความจำพี่หายไป ซึ่งอย่างที่เล่าไปว่า ตอนนั้นพี่แพลนเรื่องแต่งงาน แล้วก็คาราคาซังอยู่เพราะต้องรักษาตัว ในใจคิดอยู่แล้วว่า พี่คงไม่ได้แต่งกับเขา เพราะถ้าจะให้ผู้หญิงคนหนึ่งมาแต่งกับคนที่กำลังจะตาย พี่ไม่โอเค แต่พี่ตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ ก็เลยบอกสิ่งที่พี่คิดไป ซึ่งเขาเลือกที่จะแต่งงาน เราก็เลยได้แต่งงาน ตอนแต่งงานยังจำได้อยู่นะ แต่หลังจากแต่งงานไปได้สักพักหนึ่ง พี่มีภาวะปวดหัวหนักมาก ตื่นขึ้นมาอีกทีหนึ่งคือจำไม่ได้แล้วแม้กระทั่งห้องที่อยู่ จำภรรยาพี่ไม่ได้ แล้วทั้งบุคลิก ความคิด และความทรงจำของพี่ย้อนกลับไปตอนที่พี่เรียนมหาวิทยาลัย ปี 3

ช่วงที่จำอะไรไม่ได้ ร่างกายของพี่ปกติ มีผม ไม่มีสายอะไรอยู่รอบตัว ไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงการเจ็บป่วยเลย พี่ไม่ได้คิดเรื่องของการเป็นมะเร็ง คิดแค่ว่า อ้าว เราแต่งงานแล้วเหรอ เราอยู่มหาวิทยาลัยอยู่เลย แล้วแต่งงานได้อย่างไร นั่งจับผมตัวเอง ทำไมผมสั้น นั่งดูรูป ทำไมถ่ายกับผู้หญิงคนนี้ แล้วก็หยุดอยู่รูปหนึ่ง เป็นรูปที่ไม่มีผมเลย แล้วใส่ชุดดำ ในมือถือแซกโซโฟนสีชมพู ซึ่งก็งงมากว่า แซกฯ ตัวนี้เราเพิ่งจอง ยังไม่ได้หนิ ทำไมเราถือ พี่เลยถามว่า ภาพนี้ถ่ายตอนไหน เขาบอกว่า ตอนที่ในหลวง ร.9 ท่านสวรรคต แล้วพี่มีโอกาสไปเป่าแซกฯ ให้ท่านฟัง ตอนนั้น เอาจริงๆ ความรู้สึกพี่คือตกใจ เสียใจมากกว่าที่รู้ว่าในหลวงไม่อยู่แล้ว ไม่ได้ตกใจกับการเป็นมะเร็งเลย

การใช้ชีวิต พี่ต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ ปรับตัวใหม่ เช่น การใช้สมาร์ทโฟน การคุยกับเพื่อนทางไลน์ แต่ว่าในแง่ของทักษะการทำงานของพี่ยังอยู่นะ แค่ต้องกลับมาทบทวนว่าทำอย่างไร เช่น อุปกรณ์ในโรงงาน แม้ว่าจะจำไม่ได้ว่าเรียกว่าอะไร แต่พี่รู้ว่าเครื่องมือนี้ใช้งานอย่างไร

ช่วงที่ความทรงจำหายไปเป็นช่วงที่ทำให้ชีวิตคู่ค่อนข้างแย่เหมือนกัน จนวันที่ภรรยาพี่บอกเลิกเพราะเขาไม่โอเค ไม่ไหว ส่วนพี่ก็คิดว่าทำไมเราต้องมาอยู่กับคนขี้บ่น บังคับว่าให้กินโน่น ให้ทำแบบนี้ แต่พี่จำไม่ได้ว่าก่อนความทรงจำหายเราเจออะไรมาเยอะมาก รวมทั้งภรรยาพี่ด้วย วันนั้นพี่เครียดก็เลยทานยาและขอนอนพัก ตั้งแต่ 8 โมง ถึง 5 โมงเย็น ซึ่งเหมือนในหนังเลยนะ คือทุกอย่างอยู่ๆ ก็แฟลชแบคกลับมาหมดเลย เหตุการณ์ในอดีต ทั้งเพื่อนล้อ เพื่อนแกล้ง ทะเลาะกับแฟน ไม่เข้าใจพ่อแม่ ไปเที่ยว ไปเจอคนนู้นคนนี้ แล้วพอตื่นขึ้นมา ความทรงจำก็กลับมาแล้ว

เนื่องจากพี่เป็นคนชอบจดบันทึก เลยมานั่งไล่อ่านสิ่งที่เราเขียนไปตลอดปี 2018 ก็พบว่า ตัวเองลืมจริงๆ เลยตัดสินใจโทรหาคุณหมอ อยากจะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร หลังจากคุยกับคุณหมอ คุณหมอก็บอกว่า “ถ้าคุณตาลคุยแบบนี้ แสดงว่าความจำคุณตาลกลับมาแล้วจริงๆ เพราะทั้งการพูด การเดิน บุคลิก คือเปลี่ยนไปเลย ก่อนหน้านี้หมอคุยกับคุณตาลไม่รู้เรื่องเลย จะเป็นอีกแนวหนึ่งเลย”

อยู่อย่างเข้าใจ อะไรก็ไม่น่ากลัว

“ต้องเท้าความก่อนว่า พี่เคยพบก้อนมะเร็งบริเวณหัวเข่าด้านซ้าย ตอนนั้นช็อคและเศร้ามาก เพราะเป็นมะเร็งครั้งแรก จนเพื่อนพี่คนหนึ่งมาเยี่ยม เขาเองก็เป็นมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์ แต่เพื่อนคนนี้ตัดสินใจเลือกชีวิตของลูก โดยไม่ทำการรักษาอะไรเลยเกี่ยวกับมะเร็งจนกระทั่งคลอดลูกถึงค่อยเริ่มต้นรักษา พอพี่ฟังจบ พี่รู้สึกว่า โอ้โห! หัวเข่าเราเด็กไปเลย และรู้สึกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องมานั่งร้องไห้เสียใจ โอเค ถ้าเกิดเราต้องตัดขาทิ้ง เวลาไปห้างก็สบายเลย ที่จอดรถก็หาง่ายแล้ว จากจิตตกพี่เลยคิดในแง่บวกไป พอมาเป็นครั้งนี้ที่สมองก็เลยไม่ได้ตกใจเท่าไหร่

ปัจจุบันนี้ มุมมองที่มีต่อโรคมะเร็ง พี่ไม่คิดว่ามะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัว ถ้าเราเข้าใจเขา เหมือนเราเจอเพื่อนสักคน แรกๆ เราไม่รู้หรอกว่าเขานิสัยอย่างไร แต่เราจะค่อยๆ เรียนรู้เขาในมิติต่างๆ เราอาจจะไม่ชอบเลยเวลาเพื่อนคนนี้เสียงดัง แต่เพื่อนคนนี้ก็ไม่ได้เสียงดังบ่อยๆ บางวันเพื่อนคนนี้ก็เงียบสงบ มะเร็งก็คงคล้ายๆ กัน มันอาจจะมีวันที่เขาโหดร้ายหน่อย วันที่เราไม่ชอบนิสัยเขาเลย แต่เราก็เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เรียนรู้ที่จะอยู่กับเขาทั้งในช่วงที่เขาเสียงดังและวันที่เขาน่ารัก”

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะขอสู้อย่างเต็มที่

“ตอนที่ความทรงจำพี่กลับมา พี่ถามภรรยาพี่ตรงๆ ว่า “เธอยังอยากจะเลิกกับพี่ไหมถ้าวันนี้ความจำพี่กลับมาแล้ว” ภรรยาพี่ก็ตอบกลับมาว่า “ถ้าเธอจำฉันได้จริงๆ ฉันก็ไม่เลิกกับเธอหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่เธอลืมอีกก็ขอให้ความจำเป็นช่วงอนุบาลนะ จะได้สอนง่ายๆ” คือขอให้เด็กกว่านี้หน่อย ช่วงมหาวิทยาลัยดูแลยากมาก ดื้อเกินไป (หัวเราะ)

การเป็นมะเร็งครั้งนี้พี่ไม่ได้ฟูมฟาย อาจเพราะตกใจและเสียใจที่สุดไปแล้วกับการเป็นครั้งแรกที่หัวเข่า ถ้าเสียใจก็เสียใจกับภรรยาตัวเองนี่แหละที่พี่มีเวลาเหลือให้เขาน้อยแล้ว แต่เมื่อเขายืนยันที่จะอยู่และสู้ไปด้วยกัน พี่ก็คิดว่า โอเคจะ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน หรือจะเท่าไหร่ก็ตาม พี่จะทำให้เต็มที่ที่สุด”

มะเร็งทำให้ได้เจอคนดีๆ และด้านดีๆ ของชีวิต

“มะเร็งอาจจะทำให้ร่างกายพี่ไม่แข็งแรงเท่าเดิม ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จลุล่วงได้ทั้งหมด แต่เขาก็ทำให้ชีวิตพี่เปลี่ยนไปในทางดีด้วย มีอะไรดีๆ เข้ามาในชีวิต พี่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ได้เจอคนๆ ใหม่ รู้จักเพื่อนร่วมทางหลายๆ คนที่เป็นมะเร็งและได้รับพลังความเข้มแข็งจากพวกเขา ได้เป็นคนรับฟัง เป็นคนให้กำลังใจคนที่ป่วยเป็นมะเร็งเหมือนกัน”

พร้อมจากไปทุกเมื่อ  

“ปีนี้หรือปีหน้าพี่อาจจะตายก็ได้ เพราะพี่อยู่มาได้ปีที่ 4 แล้ว เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มากเลยนะที่พี่ก็ยังไม่ตาย ทั้งๆ ที่ตอนแรกคุณหมอว่าว่าอย่างมากที่สุดคือ 9 เดือน ในปีแรกที่เป็น พี่เลยจัดการวางแผนทุกอย่างให้ครบ ปีที่สอง พี่ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำอย่างเต็มที่ ได้แต่งงาน ได้ไปเป่าแซกฯ ให้ในหลวง ร.9 ได้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องความรู้ ได้ไปเที่ยว ปีนี้พี่เพิ่งบอกครอบครัวและเพื่อนๆ ไปเองว่าพี่พร้อมแล้ว พร้อมที่จะจากพวกเขาไป เพราะพี่ได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างคุ้มค่าแล้ว และต้องขอบคุณพวกเขาที่ให้เราทำทุกอย่างได้อย่างเต็มที่แบบที่เราต้องการ ขอบคุณจริงๆ นะ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul)
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit Sumanun)
ภาพเพิ่มเติม: ณษิกา ปั้นเหน่งเพชร

จากมะเร็งเต้านมสู่เพจ ‘แมวนมเดียว’ ของทักษิณา รัตนศักดิ์ และคู่ชีวิตที่อยู่เคียงข้างเสมอแม้ในวันที่เหลือเต้าเดียว

ว่ากันว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความสำคัญของชีวิตคู่ไม่ได้สิ้นสุดที่การแต่งงาน แต่คือความสุขจากความสัมพันธ์ที่ได้จับมือและเดินร่วมทางกันไปจนแก่เฒ่า อาจไม่จำเป็นจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่อยู่ในช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต้องการกัน

เมี่ยง – ทักษิณา รัตนศักดิ์ และ ปกรณ์ พลชัย เป็นหนึ่งในคู่ชีวิตที่ขยายใจความข้างต้นออกมาให้เห็นผ่านชีวิตจริงๆ ของพวกเขา ในวันที่เมี่ยงตรวจพบมะเร็งเต้านมเมื่อไม่กี่ปีก่อน ปกรณ์คือผู้ที่อยู่เคียงข้าง เป็นทั้งกำลังกาย กำลังสมอง และผู้ประคองหัวใจผู้หญิงคนนี้ให้ผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายมาเพื่อแสวงหาความสุขที่มีในแต่ละวัน 

มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาได้

เมี่ยง: ปลายปี 2018 พี่ไปตรวจร่างกายประจำปีตามปกติ ซึ่งมีการตรวจแมมโมแกรมด้วย ในการอ่านผล แพทย์จะอ่านเป็นค่าไบแร็ดส์ (Breast Imaging Reporting And Database System: BIRADS) เช่น ไบแรดส์ 1 ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเลย ไบแรดส์ 2 ต้องตามตรวจปกติทุกปี ส่วนผลของพี่คือ ไบแรดส์ 3 คือมีโอกาสแค่ 2-3% ในการเป็นมะเร็ง ให้ตามตรวจทุก 6 เดือน แต่ที่แปลกก็คือ มันมีแคลเซียมกระจุกตัวอยู่ตามท่อน้ำนม ดูผ่านๆ เหมือนรากต้นไม้ คุณหมออายุรกรรมเลยแนะนำให้พี่ไปปรึกษาหมอเฉพาะทางมะเร็งเต้านม ตอนนั้นคิดว่า พี่ไม่เป็นหรอก โอกาสเสี่ยงต่ำ แต่พอไปเจอคุณหมอด้านเต้านม คุณหมอให้พี่ไปตรวจ Stereotactic Breast Biopsy เพิ่มเติม ผลที่ออกมาพบว่าเป็นมะเร็งแน่นอน แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นประเภทไหน โดยคุณหมอแนะนำว่าจะต้องผ่าตัด แล้วค่อยนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมสำหรับวางแผนการรักษาต่อไป

พี่เป็นมะเร็งเต้านมชนิด Hormone Positive โดยแนวทางการรักษาตอนนั้นคือการผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า คุณหมอยืนยันว่าไม่สามารถที่จะเก็บเต้าไว้ได้ เพราะมันไม่มีขอบเขตก้อนที่ชัดเจน เอาจริงๆ นะ ตอนที่คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง ความรู้สึกตอนนั้นคืองงในงงว่าเราเป็นได้อย่างไร เพราะตัวเองเป็นคนหน้าอกเล็กน้อยนิดอยู่แล้ว ไม่เคยคิด ไม่เคยสนใจว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งเต้านมได้ ยิ่งคุณหมอบอกว่าต้องผ่าตัดออกทั้งเต้า พี่นึกภาพไม่ออกเลยนะว่าคนไม่มีหน้าอกจะเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อคุณหมอและตัดสินใจแบบไม่ลังเล แล้วก็คงเป็นความโชคดีตรงที่ว่าพี่ตรวจร่างกายทุกปี ซึ่งทำให้เจอเร็วและทำให้ขั้นตอนการรักษาไม่ยุ่งยาก เพราะมะเร็งยังไม่กระจายออกจากท่อน้ำนม หลังจากผ่าตัดเรียบร้อย ก็ทานยาต้านฮอร์โมน 5 ปี ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยคุณหมอให้ติดตามผลทุกๆ 6 เดือน ณ ตอนนี้ร่างกายแข็งแรงปกติดีค่ะ

การดำเนินชีวิตบนความคิดที่ว่า เราเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาล

เมี่ยง: พี่ค่อนข้างคุ้นชินกับคำว่ามะเร็งเพราะทำงานในสายเฮลท์แคร์ แต่ก็ยังรู้สึกว่ามะเร็งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เมื่อใดก็ตามที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ก็เหมือนกับศาลพิพากษาว่ามีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน

แต่หลังจากที่เป็นเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว จึงได้รู้ว่าการเป็นมะเร็งใช่ว่าเป็นแล้วจะต้องตายเท่านั้น มะเร็งบางชนิด ถ้าเจอเร็วและเข้ารับการรักษาเร็ว ก็ทำให้มีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้ เพราะฉะนั้น การถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างในชีวิตจะจบหรืออนาคตเราหมดแล้ว พี่เคยคิดว่าตัวเองเข้าใจคนไข้มะเร็ง เข้าใจความยากลำบากที่เขาต้องเจอนะ แต่เอาเข้าจริง พอเป็นเองกลับไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้เลย เพราะคนป่วยมะเร็งจะเจอ emotional impact เยอะกว่าคนที่ไม่เคยเป็นจะเข้าใจได้ มะเร็งทำให้พี่เห็นได้ว่าเราคือคนที่ตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับหลายๆ สิ่งบนโลก แล้ววันหนึ่งเราก็จะหายไปตามธรรมชาติ

การดำเนินชีวิตของพี่เปลี่ยน แต่ไม่ได้เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หรือปล่อยวางได้ขนาดนั้น ทุกครั้งที่ไป follow up ก็ยังลุกมาไหว้พระไหว้เจ้า ยังกังวลบ่อยๆ ว่ามะเร็งจะกลับมาไหม แต่ก็จัดการความรู้สึกได้เร็วขึ้น ช่างมันได้มากขึ้น พี่ใช้ชีวิตแบบมีจุดหมายมากขึ้น ตัวเล็กลง ตัวตนไม่ต้องมีเยอะ ตอนที่หมอบอกว่าเป็นมะเร็ง นอกจากยืนงงแล้ว ความคิดแรกที่คิดขึ้นมาทันทีเลยคือ นี่เราจะตายจริงๆ แล้วเหรอ พี่ยังรู้สึกว่าพี่ยังเป็นคนไร้ค่า นี่เราเกิดมาทำไม ยังไม่ได้ทำอะไรดีๆ ให้กับคนอื่นและสังคม ให้สาสมกับที่ได้เกิดมาเลย ทำให้ทุกวันนี้ หลายๆ กิจกรรมที่ทำ พี่ทำเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่พี่ตั้งใจไว้ทั้งหมด ปัจจุบันพี่ไม่จัดลำดับความสำคัญอะไรมากมาย คิดแค่ว่าอย่าเสียเวลา อยากทำอะไรทำเลย แต่สิ่งที่ทำจะต้องส่งผลดีต่อคนอื่นด้วย ซึ่งพี่พยายามที่จะทำอะไรเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะตัวเองมีประสบการณ์ในการเป็นคนไข้จริงๆ เราเข้าใจ pain point ของคนไข้มะเร็ง เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่ช่วยคนไข้คนอื่นได้

‘แมวนมเดียว’ เพจบันทึกสติของแมววัยกลางคน

เมี่ยง: ในฐานะของการเป็นผู้ป่วย พี่พบว่าสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นกับคนไข้ทุกคนคือตอนที่เขาถูกบอกว่าเป็นมะเร็ง เขาจะไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร เพราะการรักษามะเร็งไม่เหมือนกับการผ่าหูดที่เมื่อเป็น คุณผ่าตัดแล้วจบ แต่มันคือ long journey ช่วงเริ่มต้น พี่ไม่ต่างจากคนไข้คนอื่น คือหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค แต่พอเริ่มกูเกิ้ลปั๊บ จะเริ่มพบกับความพัง เพราะว่าข้อมูลเยอะมาก จนไม่รู้จะเชื่ออันไหนดี ส่วนมากเป็นความรู้พื้นฐานของโรค เช่น มะเร็งคืออะไร มีกี่ชนิด มีกี่สเตจ มาตรฐานการรักษาเป็นอย่างไร คอมเม้นท์ในกระทู้ที่เจอก็พบข้อความลบๆ อ่านแล้วไม่น่ารอด พอได้ข้อมูลแบบนั้นเยอะๆ จะเริ่มจะนอยด์ ตอนนั้นเลยเริ่มเปลี่ยนความคิดว่าต้องมีสิคนที่เป็นแล้วยังมีชีวิตอยู่ พี่เริ่มเปลี่ยนคำเสิร์ชให้เป็นในเชิงบวก จนเจอเพจของผู้รอดชีวิตหลายคน พอพี่ได้รับการซัพพอร์ต พูดคุยจากคนที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน ความรู้สึกพี่เปลี่ยนเลยนะ เหมือนว่าเราอบอุ่นใจขึ้นมาก มีเพื่อนร่วมทาง

พอรักษาจบ พี่เลยตั้งใจทำเพจ ‘แมวนมเดียว‘ ( www.facebook.com/onebreastcat) ขึ้น เพราะอยากแบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมาให้คนอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเพจนี้จะเป็นพื้นที่กลางเพื่อบอกผู้ป่วยที่เป็นแบบเดียวกันว่า “ฉันเป็นมะเร็ง เปิดหน้าอกให้เห็นเลยว่าฉันเป็น ฉันตัดเต้านม และฉันก็ยังอยู่ได้นะ นี่เป็นเรื่องปกติในการรักษา” นอกจากนี้ พี่อยากจะให้คนรู้ว่าหากเราตรวจเร็ว มะเร็งบางชนิดมันรักษาได้ อยากจะให้ทุกคนมีตระหนักตรงนี้ไว้ ปกติมะเร็งจะตรวจคัดกรองไม่ค่อยเจอ แต่ก็มีมะเร็งหลายประเภทที่โชคดีสามารถตรวจคัดกรองได้ อย่างเช่น เต้านม รังไข่ และลำไส้ ซึ่งหากเช็คอัพสม่ำเสมอก็สามารถป้องกันหรือเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้

ในเพจแมวนมเดียว พี่จะสอดแทรกเรื่องอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับพี่ระหว่างทางการรักษา อาจเป็นเรื่องที่พี่เองก็คิดไม่ถึงมาก่อน  ส่วนมากเป็นเรื่องความรู้สึก เรื่องอ่อนไหวที่ผู้ป่วยมักเจอ บางทีก็เป็นเรื่องเล็กๆ เช่น การหาสติ๊กเกอร์ปิดหัวนมแบบไหนดี  หรือการลิสต์คำถามก่อนเจอคุณหมอ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การวางแผนเรื่องค่ารักษา สิทธิ์การรักษา

ส่วนสิ่งที่พี่จะไม่ทำคือ พี่จะไม่วินิจฉัยโรค ไม่วิจารณ์การรักษา ไม่โกหกหรือให้ความหวังที่ไม่เป็นจริง ว่าอย่างไรก็หายหรือไม่หาย เพราะการรักษามะเร็งของคนไข้แต่ละคนแตกต่างกัน ถึงแม้จะเป็นมะเร็งที่เดียวกัน วิธีการรักษาก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คนที่รู้ดีที่สุดคือคุณหมอที่มีประวัติเราเต็มแฟ้ม เราต้องระวังเรื่องการสื่อสารว่าจะไม่นำเขาไปสู่สิ่งที่ทำให้เขาไม่สบายใจในเรื่องไม่จำเป็น แต่ถ้าพี่มีข้อมูลที่ดี และคิดว่ามีประโยชน์ พี่จะบอกให้เขานำไปปรึกษาคุณหมอ แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นการให้กำลังใจกัน คุยกัน ให้รู้ว่าเราเป็นเพื่อนร่วมทางกันนะ จริงๆ พี่ก็ได้พลังใจจากเพื่อนๆ ในเพจเยอะมากเลยนะ ต้องเป็นฝ่ายขอบคุณทุกคนที่เข้ามามากกว่า บางคนกลายเป็นเพื่อนติดต่อกันยาวเลย

ปกรณ์: จริงๆ เราคิดกันตั้งแต่ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาลแล้วว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลาย เราจะต้องทำอะไรเพื่อสังคม ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้จะทำอะไร พอเมี่ยงเขาผ่าตัดเสร็จแล้ว แล้วเริ่มโพสต์เฟสบุ๊ก ผมบอกเมี่ยงว่าควรจะเปิดเพจนะเพื่อที่จะจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คนอ่านแล้วก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ซึ่งเวลาเมี่ยงลงคอนเทนต์อะไร ผมก็จะเป็นฝ่ายแบคอัพ ลองแนะนำ ถ่ายรูปให้ แล้วก็วางแผนไปด้วยกัน

สารพันปัญหาของมะเร็งเต้านม

เมี่ยง: มีบางเรื่องนะที่คนสงสัย อย่างในเรื่องการตัดหน้าอก บางคนจะนึกไม่ออกว่าตัดแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องการเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ถ้าต้องตัดหน้าอกออกหมดแล้วจะทำ Breast Reconstruction (เสริมหน้าอก) ไหม ในกรณีพี่ พี่อยากให้คนได้เห็นเป็นเคสตัวอย่างว่า ถ้าตัดแล้วไม่เสริมหน้าอกหน้าตามันจะเป็นแบบนี้นะ แบนๆ เป็นแผ่นกระดานแบบนี้นะ ซึ่งข้อมูลหรือรูปพวกนี้หาไม่ได้เลยในตอนนั้น หรือข้อมูลอย่างเช่น ห้ามยกของหนัก แต่เวลาใช้ชีวิตจริงๆ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ยกอยู่ น้ำหนักประมาณนี้หนักเกินไปไหม อุ้มแมวนี่เรียกว่าหนักไหม ห้ามรีดผ้าหมายความว่าอย่างไร ห้ามรีดเป็นหลายๆ โหลเหรอ แต่ถ้าเราจะรีดสักตัวสองตัวใส่ออกจากบ้านจะทำได้ไหม ก็จะเป็นรายละเอียดที่บางครั้งคนไข้อาจจะไม่มีโอกาสถามคุณหมอ ซึ่งถ้ามีคนที่มีประสบการณ์เดินไปกับเขาในช่วงการรักษา เขาจะพอมีพื้นที่ให้ไถ่ถาม ไม่ต้องมานั่งเดาอยู่คนเดียว

สุขทุกข์บนทางสายกลาง 

เมี่ยง: ในชีวิตคนเราย่อมมีทั้งสุขทั้งทุกข์เข้ามาตลอด แม้จะเป็นมะเร็งก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรถึงจะจัดการความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้มากกว่า ถ้าสุขเข้ามาจะทำอย่างไรให้เราไม่สุขจนเราหลงระเริง หรือเวลาเป็นทุกข์ ก็ไม่ทุกข์จนมากเกินไป พี่จะช่างมันเยอะขึ้นมาก อะไรก็ช่างมันเถอะ หรือเจอเรื่องใหญ่ๆ พี่ก็จะบอกตัวเองว่าเดี๋ยวค่อยคิด นอนก่อน ปล่อยได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ากลายเป็นคนที่ไม่มีความกังวลอะไร ทุกอย่างเหมือนเดิม พี่ก็ยังนึกถึงอดีตและอนาคต เป็นคนปกติ พี่ไม่สามารถปลงได้แบบ 100% แต่ว่าเมื่อทุกข์หรือสุขแล้ว พี่จัดการมันได้ดีขึ้น กลับมารู้ตัวเร็วขึ้น มากขึ้น

ล้อมใจไว้ด้วยรัก

เมี่ยง: พี่คิดว่าคนรอบข้างทุกคนมีอิทธิพลต่อเราหมดเลย สำหรับครอบครัว ถ้าเราเป็นแล้วเห็นเขานั่งร้องไห้หรือหดหู่ เราจะยิ่งใจเสีย อย่างแม่พี่ สิ่งที่กังวลตอนนั้นคือ ฉันจะบอกแม่อย่างไรว่า “แม่ เมี่ยงเป็นมะเร็งนะ” พี่ว่าประโยคนี้ยากที่สุดเลยนะ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นในการยอมรับว่าเราเป็น พอพูดไปแล้ว หน้าเราเฉาเป็นหมาเหี่ยวเลย แต่แม่ตอบกลับมาว่า “อ้าว รู้ผลแล้วเหรอ แล้วเป็นอย่างไร” พี่ก็บอกไปว่า “ยังไม่รู้ เป็นแล้วต้องตายแน่เลย” แม่พี่ก็บอกว่า “แล้วชีวิตนี้จะไม่ตายเหรอไง สิ่งมีชีวิตอย่างไรก็ต้องตาย เป็นแล้วก็รักษาสิ เดี๋ยวก็หาย คนเขาเป็นกันเยอะแยะ” พอได้ยินแบบนั้น จากหมาเหี่ยวก็เริ่มคิดได้ว่า เออจริง หรือปกรณ์เองเป็นคนที่รู้จักคนเยอะมาก ก็จะช่วยพี่เรื่องการติดต่อกับคนที่มีความรู้ อยากได้ความรู้ทางด้านไหนเขาช่วยตลอด ปกรณ์จัดให้ ซึ่งความรู้สึกและการปฏิบัติของคนรอบข้างสำคัญมากเลยนะในการประคองใจเรา

เพียงแค่เรานั้นจับมือเดินข้างกันไป

ปกรณ์: ต้องเท้าความตอนที่รู้ผลก่อน เราตัดสินใจที่จะผ่าตัดทันทีเพื่อที่จะเอาเจ้านี่ออกไปให้เร็วที่สุด โดยในช่วงที่เรารอฟังผลหลังการผ่าตัดว่าจะเป็นชนิดไหน กระจายไหม ต้องรักษาอย่างไร ผมเองก็คิดและกังวลเหมือนกัน แต่พอทราบแล้วว่ามีโอกาสที่จะหายขาดจากการตัดออกไปก็ค่อนข้างสบายใจ ยิ่งพอรู้ผลว่าไม่ลามไปต่อมน้ำเหลือง ผมก็ดีใจมาก สิ่งที่ผมทำคือการอยู่ข้างๆ เขา พยายามไม่แสดงความวิตกออกมาให้เขากังวล ให้กำลังใจด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจเขาแทน หากิจกรรมให้เขาทำ พาไปที่ใหม่ๆ ดูแลเขาเรื่องการรักษา หรืออะไรที่เขาไม่ไหวผมจะทำแทนให้

ว่าด้วยเรื่องสัมพันธภาพระหว่างคู่รักในวันที่ตัดเต้านม 

เมี่ยง: สำหรับมะเร็งเต้านม ก็มักจะมีคำถามนะว่าเราจะอยู่อย่างไรถ้าเราไม่มีเต้านม คำถามนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กเวลาที่คนอื่นมองมา แต่บางครั้งบางที มันสามารถนำไปสู่ปัญหาครอบครัวได้เลย ซึ่งมีผู้หญิงหลายคนที่ไม่ยอมตัดออกเพราะกลัวว่าจะมีปัญหาครอบครัว กลัวว่าจะสูญเสียความเป็นผู้หญิง กลัวจะโดนแฟนทิ้ง

ในกรณีของพี่ หลังจากคุยกับคุณหมอแล้ว พี่ก็มานั่งคุยกันว่าจะเสริมหรือไม่เสริม พี่เลือกที่จะไม่เสริมเพราะตอนที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง พี่อยากจะเอาออก ไม่อยากจะเอาอะไรที่ไม่ใช่ของร่างกายเรามาใส่อีก จำได้ว่าปกรณ์ถามว่าอยากเสริมไหม ตอนแรกเขาอยากให้เสริม เพราะเขาคิดว่าถ้าพี่เห็นว่าตัวเองไม่มีหน้าอกตลอดเวลาจะทำให้การใช้ชีวิตในอนาคตแย่ไหม จะส่งผลในด้านจิตใจรึเปล่า แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องปัญหาครอบครัว

แต่สำหรับพี่ ถ้าคุณหมอบอกให้ตัดโดยไม่มีทางเลือกอื่น แล้วถ้าคนในครอบครัวบอกไม่ให้ตัดด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ไม่เข้าท่า เราเปลี่ยนครอบครัวได้นะ ตัดทิ้งไปพร้อมกับนม เราต้องรักษาชีวิตเราไว้ก่อน พี่รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างไรก็อยากจะให้ทุกคนรักชีวิตของตัวเอง เชื่อหมอไว้ก่อน เพราะการตัดสินใจยิ่งช้า การรักษาจะยากขึ้น ส่วนการเสริมหน้าอกก็เป็นทางเลือกที่ดีนะ คนทำเยอะมาก ผ่าตัดตื่นมาได้หน้าอกใหม่ใสแจ๋ว ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเลือกวิธีเดียวกับพี่ เพราะการเสริมจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้จริงๆ สนับสนุนให้ทำ ถ้าทำได้และอยากทำ

ปกรณ์: เรื่องการตัดเต้านม เสริมหรือไม่เสริมหน้าอก ถ้าถามผม ผมไม่มีปัญหาเลย ผมแล้วแต่เขา ซึ่งเมี่ยงเป็นคนที่ถ้ามีอะไรแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย เขาจะคิดมาก ส่วนการตัดสินใจว่าจะเสริมหรือไม่ ผมว่าขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวครับ ไม่มีผิดไม่มีถูกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทั้ง 2 ทางก็ดีกับผู้ป่วย ตัวแปรคือเรื่องแนวทางการรักษาที่เหมาะกับโรค สภาพร่างกาย และความเห็นพ้องกันของครอบครัวมากกว่าว่าจะเลือกแบบไหน ดีทั้งคู่

เครื่องเตือนใจที่ชื่อมะเร็ง

ปกรณ์: เมื่อก่อนคำว่ามะเร็งสำหรับผมคือโรคคนแก่ ไกลตัว ซึ่งจริงๆ มันใกล้ตัวมาก ยิ่งเกิดกับคนใกล้ตัวด้วยแล้ว ก็ทำให้เราเห็นเลยว่ามันใกล้ขนาดนี้เลยนะ และอยากให้คนทั่วไปตรวจร่างกายสม่ำเสมอ อย่างที่เมี่ยงบอกว่ายิ่งเจอเร็วยิ่งรักษาง่าย เพราะมีนะ คนที่กลัวว่าจะเจอก็เลยเลือกที่จะไม่ไปตรวจ ซึ่งผลกระทบหลังจากนั้น ถ้ามันลุกลามไป การรักษาก็จะยากขึ้น ทุกวันนี้ ยังลุ้นนะว่าผล follow up แต่ละครั้งจะผ่านไหม จะมีความเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า แต่ก็จัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ดีขึ้น ทุกครั้งที่ผมเห็นรอยบาก 6 นิ้ว มันจะเป็นสิ่งเตือนใจผมอย่างหนึ่งว่าชีวิตคนไม่แน่นอน แต่ก็ทำให้ผมช่างมันกับชีวิตได้ง่ายขึ้น นิ่งมากขึ้น รู้สึกเบาลง และตัดได้ง่ายขึ้น ว่าสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเดี๋ยวมันก็ผ่านไป

คุณค่าของชีวิตที่อยู่ระหว่างทาง

ปกรณ์: ตั้งแต่เมี่ยงเป็นมะเร็ง กลายเป็นว่าผมใส่ใจกับสิ่งรอบตัวเรามากขึ้น เมื่อก่อนผมอาจจะละเลยรายละเอียดใกล้ๆ ตัวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือความสุขเล็กๆ ระหว่างวัน ตอนนี้ผมใส่ใจตรงนั้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผมรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายก็ตอนที่เราอยู่ระหว่างทางที่ดำเนินไป มากกว่าเป้าหมายที่อยู่ไกลๆ นั่น และทำทุกเรื่องในทุกวันให้ดีที่สุด

สุขของฉันคือการที่เธอยิ้มได้

ปกรณ์: นอกจากเรื่องสุขภาพ ผมอยากให้เขาใช้ชีวิตให้มีความสุข อยากทำอะไรให้ทำ ผมเองก็พยายามหากิจกรรมให้เขาทำ ไปเจออะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ ไม่เคยไป ไปชิมอาหารร้านนู้นร้านนี้ ผมคงไม่บอกอะไรกับเขานอกจากผมจะพยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้ดูแลเขาต่อไปได้นานๆ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ผมแข็งแรงกว่า แล้วตายทีหลังเขา

พอดี พอใจ พอประมาณ 

เมี่ยง: สำหรับพี่ พี่แนะนำให้ดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของความสุข เราไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดมากจนทำให้ชีวิตกดดัน ดูแลให้สมเหตุสมผล แล้วก็การตรวจร่างกายสำคัญ บางทีมะเร็งมันไม่มีสาเหตุหรือบอกไม่ได้หรอกว่าจะเป็นคนสาว คนแก่ คนที่มีความเสี่ยง ถ้ามันจะเป็นก็เป็น เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรผิดปกติในร่างกาย ให้ตรวจ อย่าช่างมัน ส่วนเรื่องจิตใจอยากจะบอกคนป่วยทุกคนว่า ถ้าเป็น พี่อยากให้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง ค่อยๆ ก้าวไปเป็นทีละสเต็ป ไม่อย่างนั้นจะงงและหาทางออกไม่ได้ ระหว่างการรักษาให้เชื่อและมั่นใจในตัวคุณหมอและการรักษา คนไข้มีหน้าที่รักษาใจ คุณหมอมีหน้าที่รักษากาย ถ้าเราหมดความมั่นใจแล้ว เราจะเริ่มไปหาข้อมูลอื่นๆ และทำให้หลุดออกจากเส้นทางการรักษาได้ง่าย 

อีกเรื่องหนึ่งคือค่ารักษาซึ่งแพง แล้วไม่รู้ด้วยว่าจะไปหยุดตรงไหน เพราะฉะนั้น เราต้องวางแผนตั้งแต่ตอนนี้เลยว่าถ้าต่อไปเราไม่สบายขึ้นมา เราจะทำอย่างไร สิทธิ์ที่เรามีอยู่โรงพยาบาลไหน เมื่อถึงคราวฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องมากังวล หลักๆ ของพี่คือเตรียมสุขภาพกาย สุขภาพใจ แล้วก็สุขภาพทางการเงิน ทางการเงินไม่ใช่ว่าต้องหาเงินเยอะๆ แต่ต้องรู้ว่าถ้าจำเป็น ตัวเองมีสิทธิ์การรักษาที่ไหนบ้าง

ปกรณ์: หน้าที่ของคนดูแลคือการประคับประคองด้านจิตใจ ทำอย่างไรให้เขามีความสุขได้บ้าง อะไรที่สร้างสุขขึ้นมาได้ ยิ่งสิ่งง่ายๆ ทำเลย บางทีความสุขไม่ต้องใช้เงินมากมายเลย อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องสุขภาพ ก็ต้องพากันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกกำลังกายหรือว่าการกินก็ตาม ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดแต่ไม่ต้องสุดโต่ง เรา 2 คนก็ทำไม่ได้ บางทีเราก็ทานกันยับเหมือนกัน มันจะต้องบาลานซ์ระหว่างสุขภาพใจกับสุขภาพกาย เราต้องมีความรับผิดชอบว่าจะต้องดูแลทั้ง 2 ส่วนนี้อย่างไร

ร้ายหรือไม่อยู่ที่ใจเรา

เมี่ยง: อีกสิ่งหนึ่งที่พี่อยากบอก คือมะเร็งไม่ใช่โรคน่ารังเกียจ แล้วการป่วยก็ไม่ใช่ความผิด แต่คนส่วนหนึ่งที่ไม่กล้าบอกคนอื่นเพราะว่าเขากลัว จนถึงตอนนี้คนอีกมากที่เข้าใจว่ามะเร็งคือจุดสิ้นสุดของชีวิต มีคำถามเกิดขึ้นอย่างเช่นว่า “รู้ไหมคนนี้เขาเป็นมะเร็ง เขาจะตายไหม” ซึ่งคนไข้ไม่น้อยนะที่กลัวว่าจะโดนเอาไปพูด ทำให้ยิ่งกดดัน พี่ไม่อยากให้คนป่วยคิดว่าเป็นมะเร็งเป็นเรื่องที่ไม่ดี จะต้องปิดซ่อน สอง – ก่อนที่จะไปบอกใคร เราอาจจะต้องสแกนคนก่อน ซึ่งเอาจริงๆ พวกเขาห่วงเราแหละ แต่เมื่อเขารู้ เขาจะพยายามแนะนำในสิ่งที่ตัวเองรู้และคนป่วยจะได้รับคำแนะนำเยอะมาก ซึ่งถ้าไม่สตรองพอ เราอาจจะตัดสินใจไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การรับข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนที่อยู่ในช่วงต้องตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร จริงๆ พี่ไม่ได้อยากให้คนไข้เปลี่ยนมุมมองอย่างเดียว แต่อยากให้คนทั่วไปเปลี่ยนมุมมองกับโรคนี้ด้วย

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul) 
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit Sumanun)
ภาพเพิ่มเติม: ทักษิณา รัตนศักดิ์ | Taksina Ratanasakdi และ ปกรณ์ พลชัย | Pakorn Polachai

พระวรท ธมฺมธโร กับกลุ่มพระสงฆ์อาสา ‘คิลานธรรม’ เยียวยาจิตใจผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ด้วยธรรมะ

ท่านโม หรือ พระวรท ธมฺมธโร คือหนึ่งในพระสงฆ์ที่ทำงานภายใต้กลุ่มอาสาคิลานธรรม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มพระสงฆ์อาสาที่มีความปรารถนาในการช่วยเหลือ ดูแล และบำบัดจิตใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกระบวนการปรึกษาแนวพุทธที่ผสมผสานกับหลักการทางจิตวิทยา โดยหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นคือการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยมะเร็ง และญาติที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การรักษา 

นอกเหนือไปจากการบอกเล่าถึงการทำงานในฐานะพระสงฆ์อาสาสมัครแล้ว ท่านโมยังทำให้เราเข้าใจถึงวัฏจักรของชีวิต ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือบทบาทของสงฆ์ในการบรรเทาความทุกข์ภายในจิตใจให้เบาบางลง การเป็นผู้เปิดประตูที่ถูกปิดตายเพื่อให้ได้เห็นคุณค่าในการดำรงอยู่ของตัวเองและผู้คนรอบข้าง การเข้าใจถึงความพลัดพรากว่าเป็นสิ่งปกติที่จะเกิดขึ้นกับทุกปุถุชน รวมทั้งการมีสติรู้คิดในวันที่ตัวเรากำลังจะจากโลกใบนี้  แม้การเห็นสัจธรรมที่ว่าอาจเป็นเพียงชั่วขณะสุดท้ายของชีวิตก็ตาม  

‘คิลานธรรม’ กลุ่มพระสงฆ์อาสาผู้ทำงานผ่านวิถีสังฆะเพื่อการดับทุกข์

“กลุ่มคิลานธรรมเกิดขึ้นจากการก่อตั้งของ พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณและพระครูศรีวิรุฬหกิจ ซึ่งท่านได้เรียนสาขาวิชาชีวิตและความตาย ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในหลักสูตรนี้ได้มีกิจกรรมไปเยี่ยมไข้ผู้ป่วยตามโรงพยาบาลเพื่อเยียวยารักษาใจ จนถึงวันนี้ กิจกรรมได้ขยายไปหลากหลายรูปแบบ นอกจากการไปโรงพยาบาลเพื่อเยี่ยมพระสงฆ์ที่อาพาธ เยี่ยมไข้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งเยียวยาญาติผู้ป่วยด้วย ตอนนี้ก็มีหลายโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่าย โดยปัจจุบันจะมีทั้งอบรมให้ความรู้ธรรมะกับบุคคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล หมอ มีกิจกรรมที่ให้ความรู้เรื่องธรรมะเพื่อนำไปเยียวยาตนเองด้วย มีกิจกรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพ อย่างคลินิกรักษ์ใจที่เปิดโอกาสให้คนที่มีความทุกข์ ไม่สบายใจมาพูดคุยปรึกษากับพระอาสาได้”

เติมความรู้ด้วยงานอาสา

“ตอนที่อาตมาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเกิดจากที่ครูบาอาจารย์พระรุ่นพี่ พระเพื่อนๆ ที่อยู่วัดญาณเวศกวันชวนไปอบรมกัน ไปเปลี่ยนบรรยากาศ ไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ อาตมาชอบอยู่กับเพื่อน เพื่อนพาไปเรียนรู้อะไรก็ไปกับเขาด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าได้ทั้งความรู้และได้ฝึกฝนทักษะไปด้วย อาตมาเข้าร่วมเรียนรู้และอบรมกับพระกลุ่มคิลานธรรมได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ถือเป็นโอกาสที่ได้เติมความรู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็มีพื้นฐานความรู้ทางธรรมะ ความรู้ในด้านของศีล สมาธิ ปัญญาเป็นพื้นอยู่แล้วในชีวิตความเป็นพระ ได้ปฏิบัติธรรม เจริญกรรมฐานตั้งแต่บวชอยู่แล้ว ก็เลยเป็นการเกื้อหนุนความรู้ซึ่งกันและกัน

ในการอบรมที่นั่น อาตมาก็ได้ไปเรียนทักษะการฟัง การล้อมวงสนทนา ล้อมวงกระบวนกร ทำกระบวนกรอบรมกลุ่ม ล้อมวงสุนทรียะสนทนา จากนั้นความรู้ก็ค่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ ได้ความรู้เกี่ยวกับ Buddhist counselling หรือการให้คำปรึกษาเชิงพุทธ แล้วเราก็ได้ความรู้จิตวิทยาตะวันตกบ้าง เขาให้เรียนรู้อะไร ก็ลองไปเต็มที่เลย”

บทบาทและกระบวนการทำงานของผู้นำเยี่ยม

“ในส่วนของอาตมา เวลาลงพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อสนทนากับผู้ป่วย อย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งที่อยู่ระหว่างกระบวนการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งในช่วงสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยทั่วไป อาตมาจะทำใจให้ว่างๆ เลย ไม่มีการคาดการณ์ไว้ก่อน หัวโล่งๆ แล้วก็ไปใช้สติสัมปชัญญะกับพวกเขาที่อยู่ตรงหน้าแบบเต็มที่จริงๆ ก่อนเข้าไปพูดคุย ในบางเคสอาจจะได้รับการบรีฟข้อมูลเบื้องต้นจากพยาบาลที่เขาส่งเคสให้เล็กน้อยว่าผู้ป่วยคนนี้อายุเท่าไหร่ ป่วยเป็นอะไร มีปัญหาหรือความกังวลใจอย่างไรบ้างที่พยาบาลรับรู้มา 

สำหรับการพูดคุยกับผู้ป่วย อาตมาจะนำสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาเล่าสดๆ มาถามต่อให้ลงลึกไปเรื่อยๆ ตั้งคำถามเพื่อให้เขามีโอกาสได้ทบทวนถึงเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมา ทั้งความสุข ความทุกข์ เป็นการถามให้โยมได้กลับมาสำรวจภายในจิตใจตัวเอง โดยที่ไม่มีการตัดสินอะไรเขาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่อาตมาชวนคุยก็เป็นเรื่องราวง่ายๆ โดยส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยก็จะมีทั้งความกังวลใจ ความทุกข์ใจ ความตาย ความสูญเสีย การลาจาก เรื่องของสังขารที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม แต่ก่อนเคยเดินได้ ตอนนี้เดินไม่ได้แล้ว ก็จะลึกไปอีกเรื่องหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยที่มีความกังวลใจ อาตมาก็จะพูดคุยเพื่อที่จะให้เขาได้เข้าไปสำรวจตัวเองว่าเขากำลังกังวลเรื่องอะไร ใช้การพูดเพื่อเชื่อมกับคนที่อยู่ตรงหน้าให้เขารู้สึกสบายใจ เป็นการ tuning กันให้รู้สึกปลอดภัย ให้รู้สึกมีพื้นที่ การพูดคุยและการถามที่ดี การชวนคุยที่ดี จะต้องถามเพื่อให้เคสให้คนที่อยู่ตรงหน้าเรา เขาได้น้อมระลึกเข้าสู่ภายใน ได้สำรวจจิตใจ ถามอย่างไรก็ได้ เป็นคำถามเปิดกว้างให้เขามีโอกาสได้สำรวจตัวเอง สำรวจความรู้สึก สำรวจช่วงเวลาที่งดงามที่เขามี รวมทั้งใช้การฟังโดยไม่ตัดสิน โดยรู้จักวางความคิดตัวเอง แขวนลอยความคิดตัวเองออกไปก่อน เป็นอย่างไร ไม่ใช่ยิ่งถามยิ่งออกนอก เวลาเราจะไปถามผู้ป่วยหรือว่าคนที่เขาทุกข์ใจ คำถามที่ไม่จำเป็นและเสียเวลามากคือคำถามแบบอยากรู้อยากเห็นเรื่องส่วนตัว อันนี้ไม่จำเป็น”   

จากอริยสัจ 4 สู่แนวทางการให้คำปรึกษาเยียวยาใจ 

“กระบวนการที่เรียกว่าการ ‘ให้คำปรึกษา’ จริงๆ แล้วหัวใจของมันก็คืออริยสัจ 4 นั่นแหละ คือการที่แต่ละคนได้เรียนรู้ว่า ความทุกข์เป็นอย่างไร สาเหตุแห่งทุกข์คืออะไร เช่น ความคาดหวัง เมื่อเจอแล้ว เราจะแก้ จะดูแลอย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาพระคิลานธรรมไปทำงานหรืออบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้านไหนก็แล้วแต่ ก็เหมือนกับว่าเราจะสอนให้พวกเขาได้ทักษะทั้งสองพาร์ทไปในตัว คล้ายๆ กับว่าได้ทั้งรูปแบบในภาคของการนำไปใช้กับผู้อื่น ขณะเดียวกัน ก็เป็นในภาคส่วนของการเรียนรู้ด้วยตนเองไปควบคู่กัน โดยพวกเขาเองก็ได้เห็นกระบวนการในการดูแลคนอื่น เช่น การถูกชวนคุยแบบนี้ดีต่อใจอย่างไร คำถามแบบไหนที่ไม่ดีต่อใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะเริ่มเห็นชัดว่าเราจะนำวิธีแบบนี้ไปใช้กับคนอื่นต่อได้อย่างไรบ้าง”

ความท้าทายจากบททดสอบในสถานการณ์จริง 

“อาจเพราะอาตมาไม่ค่อยกลัวอะไร ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ก็จะเอาทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้ทั้งหมด ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เจอเจอะไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่คือความท้าทายคือบททดสอบ คือการเรียนรู้ที่เป็น hard mode แบบที่บอกกับตัวเองว่าเราได้ฝึก แล้วเราก็ได้เผชิญกับสถานการณ์จริงๆ แล้ว ซึ่งเราจะได้แก้ปัญหา จะได้ฝึกไหวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้เป็นข้อฝึกทั้งหมด”

สิ่งตอบแทนคือประสบการณ์แบบรอบด้าน

“ทุกครั้งที่อาตมาไปคุยกับผู้ป่วย ถือว่าเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะรูปแบบหนึ่ง เพราะการที่อยู่กับคนตรงหน้า การรับรู้ในสิ่งที่เขาพูด ในสิ่งที่เขารู้สึก หรือแม้แต่อะไรบางอย่างที่แอบซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของเขา ตัวอาตมาเองจะได้เจริญสติ เป็นการฝึกจิตของตัวเราเองด้วย เพราะเราจะหลุดจากเขาไม่ได้เลยนะ ทุกเคสผู้ป่วยที่เข้าไปคุย ถือว่าพวกเขาเป็นครูทั้งหมดเลย เป็นครูที่ไม่ได้มาจากตำราหนังสือ เป็นธรรมะที่มีชีวิตจริงๆ ที่เขาถ่ายทอดเรื่องความเป็นความตาย ความเจ็บความไข้ให้กับเราได้รับรู้ ความเศร้าโศกจริงๆ ความโกรธแค้นจริงๆ ความรู้สึกผิดจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับคน เพราะฉะนั้น นอกจากฝึกทักษะในการฟัง การถาม การคุยแล้ว ยังจะได้ธรรมะ ได้ภายในเราด้วย ได้หมดเลยคุณโยม”

คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และเข้าใจการจากลา  

“โดยส่วนตัว อาตมาเองก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์แบบเฉียดตาย ยังไม่เคยเป็นโรคร้ายที่เกือบตายมาก่อน เพราะฉะนั้น ก็ขอเป็นทัศนะของคนหนึ่งที่ได้ศึกษาธรรมะ แล้วก็ได้ไปพบเจอผู้ป่วยมาตลอดการทำงาน อาตมาอยากจะให้กำลังใจและบอกกับญาติโยมทุกคนว่า ความกลัวในจิตใจของเรานี่แหละที่น่ากลัวที่สุด ตราบใดที่เรายังไม่ตาย ถ้าเราเกิดความกลัวขึ้นมาในใจแล้ว สภาพจิตตอนนั้นเป็นอกุศลไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อสภาพจิตที่เป็นอกุศล นั่นหมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างขาดสติปัญญา ในการดำเนินชีวิตอย่างขาดสติปัญญา พระพุทธเจ้ายังตรัสบอกเป็นภาษิตเลย โดยความหมายคร่าวๆ ก็คือ แม้เรามีชีวิตอยู่ ก็เหมือนตายแล้ว คนขาดสติปัญญาคือมีชีวิตอยู่ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตอย่างขาดสติและกลัว กระวนกระวาย กังวลไปตลอดเวลานั่นน่ากลัวกว่าความตายอีก

อีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่ญาติโยมจะต้องยอมรับและหมั่นเตือนสติตัวเองบ่อยๆ คือท้ายที่สุดเราทุกคนก็ต้องตายนะ ท้ายที่สุดแล้ว คนรักที่อยู่ข้างเคียงเรามาอย่างยาวนานก็ต้องล้มหายตายจาก มันมีอยู่แค่เราไปก่อนหรือว่าเขาไปก่อนเท่านั้นเอง ถ้าเราไปก่อน คนที่มีชีวิตอยู่ต่อไปก็จะอยู่ในฐานะผู้สูญเสีย แต่ถ้าเกิดเขาไปก่อน เราก็มีชีวิตอยู่ต่อไปในฐานะผู้สูญเสีย เพราะฉะนั้นความตายอาจจะดูน่ากลัวก็จริง แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยการเป็นผู้สูญเสียก็อาจจะน่ากลัวไม่แพ้กว่าความตายเหมือนกันนะ คนบางคนที่อาตมาได้ทำงานเยียวยาก็จมอยู่กับความสูญเสีย จมอยู่กับความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ จมอยู่เป็นสิบๆ ปีหลายปี ถอนไม่ออกก็มีเหมือนกัน ตรงนี้น่ากลัวกว่าความตายเสียอีก เพราะสภาวะจิตเป็นอกุศล เป็นโทสะ แล้วถ้าเกิดคุณสะสมสภาพจิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนที่มีความคิดลบจนเป็นนิสัย ว่างไม่ได้ เดี๋ยวก็ต้องร้องไห้ เดี๋ยวก็ต้องโกรธแค้น เดี๋ยวก็ต้องเศร้าซึม เบื่อหน่ายชีวิต ตรงนี้น่ากลัวกว่าความตายอีก

เมื่อคุณโยมสะสมเป็นอุปนิสัยและพอถึงเวลาที่คุณจะต้องจากโลกนี้ไป คุณโยมก็จะพาสภาพจิตที่คุ้นชินแบบนี้ไปเป็นกรรมนำเกิด ไปเป็นจิตดวงใหม่เกิดในอบายภูมิซึ่งน่ากลัวกว่าเยอะ คนที่ตายไปแล้ว เขาไปไหน เราไม่รู้หรอก เขาอาจจะไปสุขคติภูมิ สุขคติภพก็ได้ จากความคิดด้านลบ ก็ลองกลับมารักษาใจตน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เพราะท้ายที่สุดแล้ว ตัวเรานี่แหละที่อยู่กับเราไปตลอด”

ลดความทุกข์ด้วยการมีสติอยู่กับปัจจุบัน

“สำหรับคนที่ยังมีความทุกข์ ตัวหลักง่ายๆ ที่ช่วยบรรเทาได้ก็คือการมีสติ มีสติอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในปัจจุบัน อย่าปล่อยให้ใจนั้นคิดฟุ้งซ่านไปในอดีตมากจนเกินไป หรือเพ้อฝันและกังวลกับอนาคตจนเกินไป สำคัญที่สุดคือต้องหมั่นเจริญสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะให้บ่อยที่สุด เพราะว่าการที่เราปล่อยใจให้เราคิดฟุ้งไปเรื่อยจะทำให้เราจิตใจไม่สงบ แล้วก็มีความทุกข์ใจเกิดขึ้นตามหลังมาได้ อันนี้คือเป็นหลักๆ ก่อน แต่จริงๆ แล้วกระบวนการในการเรียนรู้ในการทำความเข้าใจ มันมีหลายรูปแบบ มีหลายมิติ

ลำดับแรกคุณโยมจะต้องเรียนรู้ที่จะรักษาศีล แต่เราต้องทำทั้งระบบ โดยระบบของการฝึกตนเรียกว่า มรรคมีองค์ 8 มันมีหลายกระบวนท่า ไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน แต่หมั่นการรักษาศีล การจัดบ้านให้สะอาด ให้เป็นระเบียบ ทิ้งของที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ไม่ปล่อยบ้านให้รก ปลูกต้นไม้ มีน้ำจิตน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ กับคนทุกคนที่เราได้มีโอกาสพบเจอ ได้แบ่งปัน ได้เสียสละ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม ทานอาหารให้ตรงเวลา นอนให้เป็นเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทุกส่วนในระบบจะต้องเกื้อกูลกัน ไม่ใช่แค่การใส่บาตร ถวายสังฆทานอย่างเดียว หรือเอะอะก็จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอย่างเดียว แล้วอย่างอื่นไม่เอาเลย อย่างนี้ไม่ใช่ มันต้องเปลี่ยนแปลงระบบชีวิตทั้งระบบให้เป็นไปในทางเกื้อกูล เป็นไปเพื่อความงอกงาม เมื่อคุณโยมอ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะจากหลวงปู่หลวงพ่อหลายๆ ท่าน แล้วกลับมาขบคิดพิจารณาด้วยตัวเองด้วย อย่าเพิ่งด่วนเชื่อ เล่นโทรศัพท์ให้น้อยลง เล่นโซเชียลให้น้อยลงด้วย มีผลนะ มีผลต่อจิตใจด้วย”

หน้าที่ของพระสงฆ์เป็นผู้หงายของที่คว่ำ เป็นผู้เปิดของที่ปิด เป็นผู้ส่องแสงในที่มืดมิด

“จริงๆ แล้วนี่คือประโยคที่อยู่ในพระไตรปิฎกในหลายๆ พระสูตรเลยด้วยซ้ำไป ประโยคนี้เป็นประโยคที่ไพเราะ แล้วอาตมาก็ชอบมากมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่บวชพระเข้ามา แล้วก็ได้ศึกษาพระธรรม คือพระพุทธเจ้าเวลาไปโปรดใครก็แล้วแต่ คนที่เกิดความศรัทธาในพระรัตนตรัยหรือดวงตาเห็นธรรมชอบพูดประโยคนี้ ว่าพระพุทธองค์ท่านเปรียบเสมือนเป็นผู้หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางกับคนหลงทาง เหมือนดวงประทีปในที่มืด เป็นลักษณะของการที่ทำให้คนคนหนึ่งที่มืดมัวหมองไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้วได้ตาสว่าง ได้หลุดขึ้นออกมาพ้นน้ำ ได้ตื่นจากความหลับไหล ได้มีปัญญาสว่าง เป็นภาวะของการเปลี่ยนแปลงที่ยอดเยี่ยมมากที่สุด

เพราะฉะนั้นการที่พระสงฆ์ไปทำงานกับผู้ป่วยก็มีภาวะแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยนะ อย่างเช่น คุณป้าบางคนที่ไม่เคยให้อภัยตัวเองมาตลอดเลย 4-5 ปีเต็ม เมื่อเราได้สนทนากันเพียง 2 ชั่วโมง ก็เข้าใจทุกข์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดเพราะอะไร เพราะไม่เคยให้อภัยตัวเองเลยนี่นา ก็เลยต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดอย่างนี้มาตลอด หน้าที่ของอาตมาคือทำให้เขาได้เห็นว่าที่เป็นเส้นผมบังภูเขาอยู่คืออะไร ซึ่งเป็นหนทางที่ทำให้เขาได้ตื่นจากความทุกข์ ทำให้พ้นไปทุกข์ชั่วขณะ เป็นลักษณะของการทำให้คนที่มีมิจฉาทิฐิได้มีสัมมาทิฐิ ทำให้คนที่ไม่รู้ได้เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรบางอย่างในชีวิตขึ้นมา แล้วก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยที่ไม่ทุกข์กับเรื่องนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่อาตมาได้ค้นพบระหว่างการได้ทำงานนี้คือความสุดยอดแล้วนะในระดับความสามารถของพระสงฆ์ในยุคสมัยปัจจุบัน แค่ทำให้คนที่เขาทุกข์มาตลอด 10 ปี ได้พ้นทุกข์จากที่คาใจเขามาตลอด แล้วเขาไม่รู้ว่าจะจัดการใจตัวเองอย่างไร หรือแม้แต่การที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้หายซึมเศร้า หรือว่าเลิกกินยา นี่คือสุดยอดแล้ว แต่ระดับของพระพุทธองค์นี่สุดยิ่งกว่าตรงที่ทำให้คนๆ หนึ่งไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดแล้ว หมดกิเลสแล้ว”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: พระวรท ธมฺมธโร

มะเร็งไม่ใช่โชคร้ายที่สุดของชีวิต คุยกับวนิดา ฤกษ์นิรันดร์ ผู้ดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับระยะสุดท้ายด้วยความรักและสติ

สำหรับ กิ๊บ – วนิดา ฤกษ์นิรันดร์ เชื่อว่า  ‘มะเร็ง’ เป็นเพียงแค่โรคโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตของมนุษย์ แต่ไม่ใช่ ‘โชคร้าย’ ที่สุดของชีวิต เพราะมะเร็งได้ทำให้เธอพบกับความหมายที่แท้จริงของความรักที่เกิดจากการอยู่ร่วมกัน ดูแลกัน และช่วยเหลือกันในยามทุกข์ และเจ้ามะเร็งนี่แหละที่เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้เวลาทุกนาทีอย่างรู้คุณค่ากับการหน้าที่ของลูกด้วยการดูแลคุณแม่หลอง – จำรอง พวงศรี (อายุ 60 ปี) อย่างดีที่สุดในปลายทางแห่งชีวิต

มะเร็งท่อน้ำดีที่ตับ โรคที่ไม่แสดงอาการ

“คุณแม่กิ๊บตรวจพบมะเร็งท่อน้ำดีในตับระยะสุดท้ายเมื่อต้นเดือนมกราคม 2562 จากการตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งก่อนหน้านี้คุณแม่ตรวจร่างกายเป็นประจำปีทุกปี แต่ไม่พบเชื้อมะเร็ง ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง คุณแม่ออกกำลังกาย และทำอาหารทานเอง ที่ไปตรวจเพราะว่าเจ็บซี่โครงขวา มีอาการเจ็บแปลบๆ  จึงไปตรวจอย่างละเอียด โดยเริ่มต้นการรักษาที่สถาบันมะเร็ง คุณหมอท่านหนึ่งบอกว่าเคสของคุณแม่ไม่เข้ากับการวินิจฉัยแบบใหม่ และด้วยความที่ตับของคุณแม่มีขนาดเล็กเกินไป จึงไม่สามารถผ่าตัดได้ จึงต้องรักษาด้วยการให้เคมีบำบัด (คีโม) หลังจากนั้น เราตัดสินใจย้ายการรักษามาที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ ตามการช่วยเหลือของพี่ที่เคารพรัก ต้องขอบคุณที่เขาคอยประสานงานทุกอย่างให้ในวันที่เราทำอะไรไม่ถูกเลยสักอย่าง ซึ่งคุณหมอให้คำปรึกษาและดูแลดีมาก คุณแม่ได้รับการรักษาทันทีด้วยการทำคีโม ซึ่งสูตรเคมีบำบัดจะวัดกันที่ 3 เข็มแรก ผ่านไป 1 เดือน คุณแม่ไปทำ CT Scan ดู แต่ขนาดของก้อนเนื้อไม่ลดลง จนเปลี่ยนไปถึง 3 สูตร แต่ผลคือไม่ตอบสนองทั้งกับสูตร 1, 2 และ 3 เราจึงต้องหยุดให้คีโมและรักษาแบบประคับคองอาการ 

รับมือความท้าทายด้วยสติ   

“ตอนที่ผลตรวจออกมาแล้วพบว่าคุณแม่มีเนื้อร้ายที่ตับก้อนใหญ่ประมาณ 7 เซนติเมตร และขนาด 1 เซนติเมตรอีก 3 ก้อน และไม่สามารถผ่าตัดได้ จากการปรึกษาแพทย์ถึงทิศทางการรักษาว่าเราต้องเริ่มต้นจากจุดไหน ปรึกษาพี่สาว บอกความจริงทั้งหมด แต่ไม่ได้บอกคุณแม่ให้รับรู้ทั้งหมด ช่วงระยะเวลาในการรอผลการตรวจนี่แหละที่รู้สึกทรมานที่สุด สุดกว่ารู้ผลเสียอีก เพราะเราคิดไปหลายด้านมากว่า ถ้า…อย่างนั้น ถ้า…อย่างนี้ล่ะ จะทำอย่างไร ความเครียดก็มาทันที สุดท้าย กิ๊บเลิกคิดเองเออเอง แต่ไปถามข้อมูลทุกอย่างจากคุณหมอโดยตรง ซึ่งนั่นทำให้เราเข้าใจตัวโรค การรักษา และผลที่จะเกิดขึ้นด้วยสติมากขึ้น”

พลังงานดีๆ เกิดขึ้นได้ด้วยกำลังใจที่มีให้กัน

“ช่วงที่รู้ คุณแม่จะเป็นคนให้กำลังใจลูกๆ มากกว่า น่าแปลกตรงที่คนป่วยกลับมีกำลังใจที่เข้มแข็งและปลอบใจลูกด้วยคำพูดว่า “แม่สู้อยู่แล้ว ให้ผ่าตัดก็ผ่า ให้ทำอะไรก็ทำ อย่าร้องไห้ให้แม่เสียกำลังใจ” คุณแม่กิ๊บมีความหวังมากที่จะสู้ เพราะความที่แม่เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งมาก บางทีท่านป่วยอยู่ก็ยังทำอาหารให้คนไม่ป่วยทานเลย”

สายเลือดร่วมผูกใจไว้ทุกที่

“ถามว่าเหนื่อยไหม เอาจริง กิ๊บไม่เหนื่อยเลยนะ ดีใจด้วยซ้ำที่ได้ดูแลท่าน กิ๊บรู้สึกว่าเรามีบุญที่ได้มีโอกาสได้ทำ ตอนนั้นแม่จะขอบคุณเราเยอะมาก เพราะกิ๊บเองก็ทำงานด้วยและต้องพาแม่ไปหาหมอ รอคิว ให้คีโม ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราเดินหน้าต่อคือการได้คุยกับพี่สาว โชคดีที่เราสองพี่น้องอายุใกล้กัน พี่สาวกิ๊บอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาเองจะห่วงและกังวลเรื่องคุณแม่มากเพราะไม่ได้อยู่ด้วยกัน ซึ่งพี่สาวกิ๊บจะย้ำเสมอว่าการรักษาต้องให้แม่เต็มที่ที่สุด โดยพี่สาวกิ๊บเป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดคนเดียว ขณะที่กิ๊บจะดูแลคุณแม่เป็นหลัก แม้เราใช้สิทธิ์บัตรทอง แต่ระหว่างทางของการรักษา เราจะไม่ให้คุณแม่ต้องเครียดเรื่องนี้เลย ยาและสูตรยาต่างๆ กิ๊บจะบอกหมอว่าขอที่ดีที่สุดให้คุณแม่ ในช่วง 1 ปีเต็มที่คุณแม่เข้ารับการรักษา กิ๊บมองเห็นสัจธรรมการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ทุกวัน เหมือนเป็นโจทย์ที่ต้องแก้กันนาทีต่อนาที จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ปี 62 พี่สาวกิ๊บเขาเสียสละมาก ตัดสินใจกลับมาอยู่กับคุณแม่ ก่อนที่ท่านจะจากไปหลังจากนั้นเพียง 1 อาทิตย์ เวลานั้น พวกเราสองคนคิดว่า นี่ไม่ใช่การมาเพื่อบอกลากัน แต่เป็นการได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา”

โลกที่หมุนไปด้วยความรัก

“ด้วยอาชีพของกิ๊บกับการเป็นโปรแกรมโปรดิวเซอร์ให้รายการบันเทิง ทำให้ตัวเองมีโอกาสได้ทำข่าวของคนบันเทิงที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะเป็นคุณแม่เราที่ป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน กิ๊บมองว่ามะเร็งแค่โรคร้ายโรคหนึ่ง แต่ไม่ใช่โชคร้าย มะเร็งทำให้กิ๊บได้ทำหน้าที่ลูกอย่างดีที่สุด ได้ใช้เวลาให้มีคุณค่ากับคุณพ่อและคุณแม่ ได้เรียนรู้ว่าใครที่อยู่เคียงข้างเราจริงๆ ในวันที่ชีวิตของเราพังยับเยิน และตัวเองโชคดีแค่ไหนที่คนรอบข้างไม่เคยทิ้ง เข้าอกเข้าใจ รวมทั้งรักคุณแม่ของเราเยอะมาก ทั้งพี่สาวที่เป็นคนสำคัญที่สุดของกิ๊บ เพื่อนพ้องน้องพี่ที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือหาคุณหมอ ให้คำแนะนำหลายอย่าง กิ๊บอยากบอกทุกคนว่ากิ๊บซาบซึ้งใจและอยากจะขอบคุณมากๆ เลยที่อยู่กับกิ๊บในเวลาที่ยากลำบาก” 

จงเตรียมตัวและตั้งรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ

“ก่อนหน้านี้ตัวกิ๊บเองไม่ค่อยจะตั้งรับอะไรมาก ก็จะคิดว่าเรามีความสุขที่ได้อยู่กับคุณแม่ และคิดแค่ว่าถ้าท่านแก่ตัวลง ท่านจะอยู่อย่างไร แต่พอตอนนี้แม่เสียไป ความคิดก็เปลี่ยนไป มะเร็งทำให้มุมมองของกิ๊บเปลี่ยนไปจากเดิม กิ๊บรู้สึกว่าตัวเองรอบคอบและเป็นคนที่วางแผนมากขึ้นกว่าเก่าเผื่อในวันที่อะไรๆ จะเกิดขึ้น”  

แล้วก็ได้รู้ว่าเวลาสำคัญมากแค่ไหน

“การป่วยของคุณแม่ ทำให้กิ๊บได้เห็นว่าในชีวิตคนคนหนึ่ง มันจะมีช่วงเวลาที่จะมีบางสิ่งบางอย่างเข้ามาเพื่อเป็นบททดสอบความเข้มแข็งของเราเสมอ ช่วงไหนสมหวังคือความสุข แต่ชีวิตคนเราก็มีวันที่ไม่สมหวังเช่นเดียวกัน เราแค่อดทนรอให้เจอความสุขนั้น มะเร็งทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคำว่าสูญเสีย แต่ก็เป็นการได้เรียนรู้คุณค่าของเวลาด้วย”

ตั้งตนบนความไม่ประมาท

“สำหรับคนที่มีคนใกล้ตัวที่กำลังป่วยจากโรคมะเร็ง จากประสบการณ์ของกิ๊บ อยากแนะนำให้ตรวจละเอียดที่อวัยวะต้องสงสัยไปเลย อย่างมะเร็งที่ท่อน้ำดีแบบคุณแม่กิ๊บ หากตรวจพบมักเจอระยะสุดท้าย ด้วยความที่โรคไม่แสดงอาการใดๆ แม้จะตรวจร่างกายประจำกันทุกปีก็จะไม่พบความผิดปกติ แต่ถ้าได้ตรวจแต่เนิ่นๆ และผ่าตัดออกได้ ก็มีโอกาสหายขาด กิ๊บไม่อยากให้ใครประมาทหรือผลัดวันประกันพรุ่งเลยนะ

นอกจากนี้ สำหรับคนที่พบมะเร็ง กิ๊บอยากให้ลองปรึกษาคุณหมอหลายๆ ที่ ถึงแนวทางการรักษา หากเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็เลือกที่สบายใจ ไปสะดวก และศรัทธาในตัวคุณหมอ สำหรับผู้ที่มีคนใกล้ตัวป่วยแล้วต้องให้เคมีบำบัด กิ๊บอยากให้มองว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยคือยาเคมีชนิดน้ำแข็งชั้นดี ที่ต้องใจเย็น อดทน และเข้าใจผู้ป่วยมากๆ อย่าถือโทษ โกรธ หรือตั้งคำถามผู้ป่วยเลย เพราะเราไม่รู้หรอกว่าพวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ทั้งความเจ็บปวดจากอาการของโรคและผลจากการรักษา สิ่งที่อยากให้มีต่อกันคือการสร้างกำลังและเสียงหัวเราะในวันที่เรายังทำให้กันได้” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul)  
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit sumanun)
ภาพเพิ่มเติม: วนิดา ฤกษ์นิรันดร์ (Wanida Roekniran)

“ฉันต้องหาย” คือเป้าหมายของ ณัชชา พงษ์ภูริพัฒน์ ในการต่อสู้กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 3

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ชีวิตของ ณัชชา พงษ์ภูริพัฒน์ (ตาล) กำลังไปได้สวยกับการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวของเธอ ชีวิตที่อิสระขึ้น เวลาว่างที่มากขึ้น พร้อมๆ กับรายได้ที่มั่นคง ขณะที่อีกฟากฝั่ง ตาลก็ใช้ชีวิตแบบเดียวกับเราๆ ท่านๆ ในวัย 30 ต้นๆ ที่คำว่า “นอนดึก ตื่นสาย ทานอาหารไม่เป็นเวลา ลุยไปทุกที่ที่อยากไป” เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ในเวลานั้น ทุกอย่างดูปกติดีและไม่มีสัญญาณความเจ็บป่วยรุนแรงแสดงให้เห็น

เมื่อมะเร็งเข้ามาทักทาย

ตาลไม่ได้มีอาการหรือความรู้สึกเจ็บป่วยอะไรก่อนหน้านี้ แต่ไปสะดุดกับก้อนนูนๆ ที่ไหปลาร้าตอนอาบน้ำ ขนาดประมาณเม็ดลูกชิด ตอนแรกคิดว่าเพราะไปออกกำลังกายหนักรึเปล่า ตาลโทรหาเพื่อนที่เป็นหมอ เพื่อนบอกว่าเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบเพราะบริเวณที่เจอก้อนเป็นแนวของต่อมน้ำเหลืองพอดี พอไปถึงโรงพยาบาล คุณหมอให้ยามาทานก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะอาการอื่นๆ ที่จำเพาะลงไปตาลไม่มีเลย”

เวลานั้น เธอคิดว่าทานยาแล้วก็คงหายและไม่ได้คิดถึงมะเร็งแม้แต่น้อย แต่ก้อนนั้นก็ยังไม่หายไป เธอใช้เวลาในการตรวจหาสาเหตุและเข้าออกโรงพยาบาลอยู่หลายเดือนจนกระทั่งตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลเพื่อขอความเห็นที่ 2 จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพบว่าเธอเป็นมะเร็งต่อมที่น้ำเหลือง  

“หลังจากทราบผล คุณหมอส่งตาลไปพบคุณหมอโรคเลือดเพื่อให้เขาอธิบายแนวทางการรักษา ซึ่งตาลเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin Lymphoma คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็งแบบ cute cute ตาลจำคำนี้ได้เลย (ยิ้ม) ซึ่งอัตราการหายขาดค่อนข้างสูง ประมาณ 80-90% ตาลก็โล่งใจ โดยแนวทางการรักษาหลักๆ คือการให้คีโม จากตรงนั้นตาลย้ายมาที่โรงพยาบาลรัฐบาลเพื่อไปเจาะไขสันหลังและทำ CT Scan เมื่อทราบระยะของโรค คุณหมอก็สามารถประเมินจำนวนคีโมได้ ผลออกมาตาลเป็นระยะที่ 3 ต่อมน้ำเหลืองลามกระจายมาที่ช่องอกและท้อง แต่ยังไม่ลามมาที่ไขสันหลัง การรักษาคือให้คีโม 8 เดือน เดือนละ 2 ครั้ง ทุกๆ 15 วัน ทั้งหมด 16 ครั้ง ตาลโชคดีคือคีโมอย่างเดียวแล้วจบ เพราะตัวมะเร็งไม่มีก้อนไหนใหญ่เป็นพิเศษและไม่ได้ไปกดทับอวัยวะส่วนไหน ดังนั้นคีโมเลยสามารถจะเคลียร์เซลล์มะเร็งได้หมด ตาลเริ่มคีโมปี 2015 จบ 2016 ประมาณปีกว่าๆ ตอนนี้หายครบ 5 ปีเมื่อเมษายน 2020 ที่ผ่านมา”  

“ต้องหาย” เป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อพุ่งชน 

“ตอนนั้นคิดละว่าโอเคเจอ เป็น ช่างมัน จากนั้นตาลตั้งเป้าหมายกับตัวเองชัดเจนมากคือ ฉันจะต้องไม่ตายด้วยมะเร็งและต้องไม่ตายด้วยอายุเท่านี้ จะต้องหาย และเชื่อฟังคุณหมอในระดับหนึ่ง (หัวเราะ) เพราะคุณหมอจะซีเรียสเรื่องการทานมาก ช่วงแรกๆ ที่รักษา ทั้งตาลคุณแม่เคร่งสุดๆ อาหารอะไรที่คนเขาว่ามีประโยชน์จัดมาหมด ปรากฏทานไม่ได้เลย ไม่อร่อย ทานไม่ลง คีโมครั้งแรกตาลแย่เลยนะ น้ำหนักลด 2 กิโล ใน 1 สัปดาห์ ซึ่งตาลเป็นคนผอมอยู่แล้ว 2 กิโลถือว่าเยอะเลย หลังจากนั้นเลยตั้งหลักใหม่หมด ให้แม่ทำอาหารมาแบบที่เคยทำ แต่ให้รสอ่อนลง คุณแม่ก็ประณีตมากขึ้นในเรื่องความสะอาด จะมีสั่งอาหารข้างนอกมาทานบ้าง เหมือนเป็นอาหารใจที่ทำให้เรามีความสุขวันนั้นมากกว่า ระหว่างการรักษา ตาลยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมคือหลังจากให้คีโม 3-5 วัน พอได้พักเต็มที่ตาลก็ออกไปข้างนอก แต่จะเลือกสถานที่ที่เป็นเอาท์ดอร์ มีอากาศถ่ายเท แทบไม่เดินห้าง ไม่ไปโรงหนังเลย แล้วออกต่างจังหวัดบ่อยขึ้น” 

หัวใจชุ่มชื้นด้วยน้องหมาบำบัด 

“หมาตาล 2 ตัวนี้ทำให้ตาลมีกำลังใจขึ้นมาก ตอนตาลตรวจเจอมะเร็ง ยังไม่รู้สึกอะไร แต่พอผ่านไป 3 วัน เหมือนตกตะกอนได้ว่าเป็นมะเร็ง ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมซวยจัง ตาลนั่งร้องไห้ ลูกหมาก็มานั่งเลียน้ำตาเรา ตาลเลยบอกกับพวกเขาว่า “โอเค หม่ามี้หยุดแล้ว” แล้วบอกตัวเองว่าฉันจะอยู่เห็นมันแก่ตายไปด้วยกัน เจ้า 2 ตัวนี้เป็นกำลังใจสำคัญเลยนะ ตาลรู้สึกเลยว่าเรื่องสัตว์บำบัดใช้ได้ผลจริงๆ เรื่องจิตใจ”

กำลังใจจากตัวเอง ส่งต่อพลังสู่คนรอบข้าง

“สิ่งที่ยากสำหรับตาลอย่างหนึ่งก็คือการที่ต้องบอกพ่อแม่ว่าเราเป็น สิ่งที่ทำได้คือบอกเขาว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอบอกว่ารักษาหาย ตาลต้องให้กำลังใจตัวเองและให้กำลังใจคนรอบข้างด้วย เพราะถ้าพวกเขาดาวน์ มันก็เอาเราดาวน์ลงไปด้วย โดยเฉพาะพ่อแม่ เขาคิดไปไหนแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือต้องทำให้เขาไม่ห่วง ต้องรอด เพราะฉะนั้น ตลอดการรักษา ร้องไห้ครั้งนั้นครั้งเดียว ดังนั้นนอกจากตาลจะดูแลใจตัวเองตาลแล้ว ก็จะดูแลใจเผื่อไปถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วย ตาลต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเองก่อน พอเราเป็นหลักให้ตัวเองได้ กลายเป็นว่าเหมือนกระจกสะท้อนเลย คนรอบข้างเขาก็ไม่ได้มองว่าเราป่วย เราก็จะได้บรรยากาศที่ดีๆ ตอบกลับมา พอบรรยากาศดีก็ทำให้เรามีความสุข มันทำให้เราไปต่อไหว” 

ตามหาความสุขวันละหนึ่งอย่าง 

“ตื่นมาทุกๆ วัน นอกจากตาลจะเห็นตัวเองว่ายังแข็งแรงดี ยังอาบน้ำ สระผม แปรงฟันได้แล้ว อย่างน้อยๆ ตาลจะหาความสุขให้ตัวเองหนึ่งอย่าง ไม่มากก็น้อยมันต้องมี แล้วกลายเป็นว่าตาลหาความสุขจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้มากขึ้น เหมือนมันช่วยต่อชีวิตเราทีละนิดๆ ตาลจะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง แล้วก็พบว่า ชีวิตเราผ่านไปได้อีกหนึ่งวันแล้วนะ”  

“ความไม่แน่นอน” สัจธรรมที่มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

“พอตาลรักษาจบ มุมมองชีวิตตาลเปลี่ยนไปเลย เรามองเห็นความไม่แน่นอนของชีวิต เลยรู้สึกว่าอะไรที่อยากทำตาลก็จะทำ ถ้าเป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำนะ จะไม่รีรอเหมือนแต่ก่อนแล้ว อยากเจอเพื่อน ก็ไปหาเลย ซึ่งมะเร็งได้เข้ามาปรับกระบวนการคิดของตาลให้เราอยากใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา กระบวนการคิดเกี่ยวกับคนรอบๆ ตัวก็เปลี่ยน ตาลโกรธและโมโหน้อยลง เกลียดแทบไม่มีแล้ว แต่พื้นเดิมของตาล เรื่องพวกนี้ก็น้อยอยู่แล้ว ตาลเห็นคุณค่าสิ่งรอบตัวง่ายขึ้นและมองว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปนานๆ วันนี้นั่งยิ้ม พรุ่งนี้อาจจะตายไปแล้ว เรียกว่าใช้ชีวิตง่ายขึ้น ความซับซ้อนในการใช้ชีวิตน้อยลง สื่อสารกับคนรอบตัวมากขึ้น”

ไม่มีอะไรนอกจาก “ขอบคุณ” จากใจ

ต้องขอบคุณทุกคนรอบตัว อย่างน้องหมาอาจจะไม่รู้ก็ได้นะว่ามันทำอะไรให้เรา แค่มันกระดิกหางวิ่งมาหา เราก็มีความสุขแล้ว คุณแม่นี่ตาลต้องขอบคุณมากๆ เพราะเขาต้องตื่นก่อนเรามาเตรียมอาหาร นอนหลังเรา ถึงเขาจะบ่น แต่เขาเป็นห่วงอยากให้เราหาย ตาลรู้เลยถ้าไม่มีแม่มาคอยบังคับดูแล การรักษาเราอาจจะสะดุดก็ได้ ถ้าร่างกายเราไม่แข็งแรงสักช่วงใดช่วงหนึ่ง การให้คีโมอาจจะไม่ราบรื่นแบบที่ผ่านมา เราจะดูแลตัวเองโดยที่มันจะดีแบบนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่มีครอบครัวมาซัพพอร์ต เพื่อนโด๊ปตาลสุดๆ แล้วตาลก็โชคดีที่เพื่อนน่ารัก เราบอกไม่ให้ดราม่ามันก็ไม่ดราม่า แล้วพอเรามีความสุข เราก็มีกำลังใจที่จะตื่นขึ้นมาในทุกๆ วัน ตาลไม่มีอะไรจะบอกนอกจากขอบคุณ ขอบคุณมากจริงๆ” 

ความสุขที่ยกระดับขึ้นกว่าเดิม    

“ตาลรู้สึกว่าความสุขในชีวิตตาลเพิ่มขึ้น หลังจากที่หาย ตาลหาความสุขให้ตัวเองง่ายขึ้น เวลาได้ช่วยคนนิดๆ หน่อยๆ ได้ช่วยสุนัขข้างทาง แต่ก่อนความสุขตาลอาจจะอยู่ระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ไปเป็นสามหรือสี่แล้ว ระหว่างการรักษา ตาลเห็นความยากในการรักษาของคนอื่นๆ พอเราผ่านตรงนั้นมาได้ เราก็รู้ว่าตัวเองโชคดีมาก เพราะฉะนั้น อะไรที่จะรบกวนจิตใจตาลจะปัดออก เราเสียเวลาไปมากแล้วกับการรักษา เพราะฉะนั้นวินาทีหลังจากนี้เราจะไม่ทุกข์อีกแล้ว หลังจากนี้ไปจะต้องใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น มีความสุขง่ายขึ้น”

พวกคุณเก่งมาก เก่งมากจริงๆ

“เอาจริงๆ มีทั้งคนป่วย ยังไม่ป่วย และสงสัยว่าจะป่วยทักมาคุยกับตาลเยอะ สำหรับตาล ตาลรู้สึกว่ายากเหมือนกันนะเรื่องการให้กำลังใจคน เพราะเขาคิดไม่เหมือนเรา จะทำให้เขาหายเศร้าหรือเลิกคิดมาก เป็นสิ่งไม่ง่ายเลย แต่ทุกครั้ง ตาลจะบอกทุกคนที่คุยว่าใจเย็นๆ ค่อยๆ คิด

สำหรับคนที่ป่วยอยู่ตอนนี้ ตาลอยาบอกว่า “คุณโครตเก่งเลย เก่งมากๆ แล้วนะ” ที่ผ่านการรักษามาได้ขนาดนี้ อย่าเพิ่งเหนื่อย แล้วก็จะถามว่าเขามีอะไรที่อยากทำไหม ถ้ามี ต้องพยายาม ต้องหาย ต้องบอกกับตัวเองว่าวันนี้เราต้องไม่ตาย และพาตัวเองไปในจุดที่จะหายให้ได้เพื่อเป้าหมายที่คุณมี ตาลพยายามให้กำลังใจแบบที่เป็นความจริง ไม่ขายฝัน เพราะตาลเองก็มาแนวทางนี้เหมือนกัน

สำหรับคนที่มีคนรอบตัวกำลังป่วย ตาลอยากให้พวกคุณเป็นพลังบวก ดีกว่าจะมาแสดงพลังเทาๆ มาร้องไห้ มาเศร้า ลองพาเขาไปทำอะไรก็ได้ให้ลืมป่วย เป็นพลังดีๆ รอบตัวให้พวกเขา” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul)  
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit Sumanun)
ภาพบางส่วน: ณัชชา พงษ์ภูริพัฒน์ (Natcha Pongpuripat)

อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ มะเร็งทำให้เห็นแง่มุมของชีวิตครบทุกมิติและมีความสุขง่ายขึ้นกว่าเดิม

จนถึงตอนนี้ ก็ราวๆ 2 ปีกว่าแล้วที่ส้ม – อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แม้ว่าก่อนหน้ามุมมองของเธอต่อโรคนี้จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวและไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยถึง ทว่าแท้จริงแล้วเธอกลับพบว่า “มะเร็ง” ได้ทำให้เธอได้เห็นแง่มุมของชีวิตแบบครบทุกมิติ ตั้งแต่สัจธรรมชีวิตของการเกิด แก่ และเจ็บ ความรักและสติอันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้คนคนหนึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความอ่อนแอทั้งทางกายและใจ จนกระทั่งกลับมาใช้ชีวิตในความปกติใหม่ด้วยความสุขที่เธอเลือกได้เอง  

ในวันที่ฉันเป็นมะเร็ง

“ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี 61 ตอนนั้นส้มคลำเจอก้อนบริเวณสุดโครงเสื้อใน ซึ่งไม่ได้เอะใจว่าจะเป็นมะเร็งนะ เพราะส้มเคยมีถุงน้ำที่เต้านม ก็เลยรอดูไปก่อนยังไม่ไปตรวจ พอสักเดือนกรกฎาคม คลำแล้วยังเจอก้อน เลยคิดว่าน่าจะลองไปหาหมอตรวจดูเสียหน่อย พอไปถึงคุณหมอให้แมมโมแกรม ซึ่งผลแมมโมแกรมก็บอกว่าเรามีความเสี่ยง 30% คุณหมอก็เลยขอเจาะก้อนเนื้อนี้ไปตรวจดู แล้วนัดอีก 2 วันมาฟังผล แต่ปรากฏวันรุ่งขึ้นก็เรียกไปฟังผลเลย ซึ่งผลออกมาคือเป็นมะเร็ง 

ด้วยขนาดของก้อนที่คลำได้ประมาณปลายนิ้วก้อย เบื้องต้นคุณหมอคาดคะเนว่าน่าจะอยู่ที่ระยะแรก แต่ด้วยตำแหน่งของก้อนอาจมีโอกาสที่มะเร็งจะลามไปต่อมน้ำเหลือง การรักษาจึงเริ่มจากการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า ถ้าออกมาห้องผ่าตัดแล้วมีสายเดรนเลือด แสดงว่ามะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง พอออกจากห้องผ่าตัด ส้มเจอว่ามีสายเดรน เราก็รู้แล้วว่ามะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง หลังจากพักฟื้นที่บ้านได้ 2 อาทิตย์ คุณหมอก็นัดถอดสายเดรนออก ซึ่งผลออกมาคือส้มเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 2 แบบรับฮอร์โมน ต้องทานยาต้านฮอร์โมนตลอดอย่างน้อยก็ 5 ปี ทำคีโม 8 ครั้ง ฉายแสง 35 ครั้ง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนเมษายน” 

ความเจ็บที่ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด

“แต่ก่อนส้มไม่กล้าพูดคำว่ามะเร็งเลยนะ และส้มก็เชื่อว่าหลายๆ คนคงไม่กล้าพูดคำนี้เหมือนกัน เวลาพูดถึง “มะเร็ง” มันจะมาคู่กับคำว่าคีโม ซึ่งส้มไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร ถามว่ากลัวความเจ็บความปวดไหม ไม่กลัว แต่กลัวว่าเราจะเป็นอย่างไรต่อไปมากกว่า พอรักษาจริงๆ  ส้มกลับพบว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เคยคิด ความเจ็บปวดก็ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด เราคิดว่าคีโมน่ากลัว เอาจริงๆ ก็น่ากลัวแหละ แต่ไม่ได้น่ากลัวเท่าที่เราคิด มะเร็งก็เหมือนโรคอื่นๆ ที่เวลาเราป่วยก็ต้องรับการรักษาตามขั้นตอนของคุณหมอเพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง”  

เมื่อซึมเศร้าเข้ามาเยือน

“ตอนสองเข็มแรก ส้มสู้เต็มที่ ยังไม่เป็นอะไร แต่พอขึ้นเข็มที่สาม ส้มเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ใช้ชีวิตไม่ได้ เริ่มรู้สึกแย่ รู้สึกไม่มีค่า อะไรก็ไม่มีค่า มองไปรอบตัวก็เห็นแต่สิ่งที่ไม่มีค่า เปล่าประโยชน์ หายใจไปก็เท่านั้น สภาวะตอนนั้นเหมือนอยู่ในแก้วที่ใครพูดอะไร ปลอบใจอย่างไร ส้มรับเข้ามาไม่ได้เลย แต่ถ้าเห็นอะไรแย่ๆ เราจะดูดมันเข้ามาทันที ส้มพยายามจะดึงตัวเองขึ้นมาจากหลุมดำเหล่านี้ แต่ต้องยอมรับว่าไปต่อเองไม่ไหวจริงๆ แม้จะพยายามเต็มที่ ทั้งอ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์ ลองหางานอดิเรกทำตามที่คุณหมอแนะนำ ก็ไม่ดีขึ้น เลยขอพบจิตแพทย์ ซึ่งถ้าพูดถึงสังคมไทยกับจิตแพทย์ เป็นอะไรที่คนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยและไม่กล้าที่จะพูดถึง แต่เรายืนยันกับคุณหมอที่จะขอพบจิตแพทย์

หลังจากพบจิตแพทย์ ส้มได้ยามาทาน แต่วันแรกก็แทบแย่เหมือนกัน เพราะมันตีกัน ตอนแรกดีเลย รู้สึกเป็นตัวเองกลับมา ยิ้มได้ แต่ยาก็มีขอบเขตของการออกฤทธิ์ เช้ามาตีห้า ความรู้สึกแย่ๆ กลับมา ส้มจำได้ว่า เหงื่อตก เดินจับชายเสื้อแฟนแล้วบอกว่ามันกลับมาอีกแล้ว ตอนนั้นรู้สึกว่ามะเร็งยังไม่น่ากลัวเท่านี้ ต้องทานยาไปได้สองสามอาทิตย์ถึงเริ่มดีขึ้น 

สำหรับภาวะซึมเศร้า คุณหมอเฉลยตอนหลังว่า อาการของส้มเป็นผลมาจากคีโมที่ไปทำลายการรับรู้ของสมอง ซึ่งในภาวะปกติ ในร่างกายคนเราจะมีการส่งสัญญาณสุขและสัญญาณทุกข์ คีโมได้ไปทำลายส่วนของความสุขตรงนี้ทำให้สัญญาณรับความทุกข์ทำงานอย่างเดียว ถ้าส้มไม่ทานยา ส้มไม่น่าจะหายได้ บางคนอาจจะบอกว่าซึมเศร้าหายได้ แต่สำหรับส้มไม่ใช่ แล้วถ้าส้มแอบรู้ระแคะระคายว่าใครเป็น ส้มจะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เลย เราไม่จำเป็นต้องทนเพราะนี่เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้นะ ในเมื่อยาช่วยได้ เราก็ทานเถอะ”

ครอบครัวคือยาชูกำลังทางกายและทางใจ 

“ในเวลาที่ท้อสุดๆ ส้มพยายามบอกตัวเองว่าเรามีครอบครัวที่รักและดูแลเราอยู่ ณ วันที่ส้มเป็นมะเร็ง ลูกชายต้องเปลี่ยนจากที่มีแม่คอยดูแล กลายเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ส้มก็ย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้ ใครจะดูแลเขาในอนาคต สำหรับสามี ถึงแม้เขาจะต้องออกไปทำงานทุกวัน แต่เขาก็พยายามดูแลเราอย่างเต็มที่ เตรียมอาหารให้ส้มแต่เช้าทุกวัน วันที่เราคีโม เขาก็จะลางานไปดูแลนั่งรอ รวมไปถึงคุณแม่ที่พยายามส่งเรื่องราวดีๆ มาเป็นกำลังใจตลอด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ส้มอยากจะหายจากภาวะนี้ ซึ่งนอกจากครอบครัวแล้ว สติสำคัญมาก รวมทั้งการรักษาของคุณหมอด้วย

ส้มอยากจะบอกว่าทุกคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ทั้งครอบครัว เพื่อนๆ และพี่ๆ ที่โรงพยาบาล เป็นกำลังใจที่ดี พวกเขาเองคงไม่รู้ว่าช่วยเหลือส้มมากขนาดไหน สิ่งที่ทุกคนทำให้ส้ม เหมือนพวกเขากำลังหยอดกำลังใจลงไปในหลุมให้หลุมของส้มตื้นขึ้น ทำให้ในวันที่เราหล่นลงไปในหลุมดำนั้นแล้วรู้สึกว่าไม่ลึกเท่าเดิมแล้ว เราตะกุยขึ้นมาได้ง่ายขึ้น ส้มรู้สึกโชคดีที่ได้เจอพวกเขา ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ต้องขอบคุณทุกคนมากจริงๆ” 

ชีวิตบนความสุขที่เราเลือกเอง  

“เรื่องมะเร็ง ส้มจะให้เป็นหน้าที่คุณหมอ ส่วนตัวเองก็จะทำตามที่คุณหมอบอก ในเมื่อคุณหมอไม่ได้ห้ามอะไร ส้มก็จะไม่หาข้อห้ามให้ตัวเอง แต่ก่อน ส้มจะทานแต่ปลา เนื้อแดงไม่ทานเลย แล้วเพื่อนบ้านส้มเป็นคุณหมอก็แนะนำว่าขอให้ยึดทางสายกลางในเรื่องการรับประทาน ควรจะทานอาหารที่หมุนเวียนไป 

ถามว่ากลัวมะเร็งจะกลับมาอีกไหม…ก็กลัว แต่ส้มมองว่าเป็นเรื่องของอนาคต ส้มไม่ได้ไม่กลัวโรคนี้นะ แต่ในเมื่อเราเป็นไปแล้ว ก็ต้องยอมรับให้ได้ว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก สำหรับตอนนี้ส้มเลือกที่จะมีความสุข เชื่อไหม ทุกวันนี้ก่อนนอน ส้มจะถามตัวเองก่อนเลยว่าเราไปทำร้ายจิตใจใครบ้างรึเปล่า ถ้าทะเลาะกับสามี ก่อนนอนเราก็ไปหอมแก้มเขาสักหน่อย ทำทุกๆ อย่างให้ดีที่สุด สำหรับส้ม ทุกวินาทีหลังจากนี้ ส้มพยายามทำในสิ่งที่ดีกับตัวเองก่อน เอาตัวเองเป็นหลัก ขอเห็นแก่ตัวนะ ให้เรารู้สึกดี แล้วเราก็จะดีกับทุกคนได้เอง” 

“มะเร็ง” สิ่งที่เป็นทั้งครูและทำให้ชีวิตสุขง่ายกว่าเดิม 

“สำหรับส้ม มะเร็งเป็นประสบการณ์หนึ่งที่เป็นครูสอนเราและให้โอกาสเรา ไม่อย่างนั้นส้มอาจจะยังคงหน้ามืดตามัวกับการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ลืมไปว่าคนเราเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นสัจธรรมชีวิตที่คนเรามักจะลืม พอเป็นมะเร็ง ส้มถามตัวเองว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร จะอยู่แบบไหน อยากทำอะไร เป้าหมายของส้มไม่ได้เป็นอะไรที่ใหญ่โต เอาแค่วันนี้ อยากหอมแก้มลูกให้ครบ 10 ที ก็ทำเลย มะเร็งทำให้ส้มเห็นว่า ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องไปสวิงสวายหา บางทีได้เห็นต้นไม้ออกดอก ได้ดูแลสิ่งมีชีวิตเล็กๆ รอบๆ บ้าน ส้มก็มีความสุขแล้ว ความสุขในปัจจุบันจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตที่เจอได้ทุกวัน ไม่ตั้งเป้าหมายอะไรให้ไกลโพ้น การทำเป้าหมายเล็กๆ อันหนึ่งให้สำเร็จ ก็ทำให้ส้มยิ้มได้เรื่อยๆ นะ เอาจริงๆ ส้มรู้สึกว่า มะเร็งทำให้เราได้มองเห็นความสุขจากความปกติเดิมที่เคยชิน บางคนอาจมองความสุขว่าต้องรวย ต้องสวย ต้องหล่อ ได้ไปเที่ยวไหนต่อไหน ส้มไม่ปฏิเสธว่านั่นก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่สำหรับส้ม ความสุขจริงๆ คือได้นั่งอยู่ตรงนี้ ได้มีเรื่องดีๆ ให้นึกถึง ต้องขอบคุณมะเร็งที่ทำให้ส้มมีความสุขง่ายขึ้น”

ชีวิตบนความไม่ประมาท

“คนทั่วไปที่ยังไม่ป่วย อย่างแรกคืออย่ากลัวหมอ ถ้ารู้สึกผิดปกติ ก็ควรไปปรึกษาคุณหมอ ตอนนี้สวัสดิการการรักษา เขาก็ดูแลคนป่วยด้านนี้ได้อย่างครอบคลุม ไม่ต้องกังวลที่จะไปตรวจ ส้มเชื่อว่าหลายๆ คนไม่อยากรู้ว่าตัวเองป่วย ก็เลี่ยงไม่ไปตรวจดีกว่า ซึ่งจริงๆ เราไปตรวจแล้วอาจจะไม่เป็นอะไรก็ได้ แต่ควรให้คุณหมอบอกว่าเราไม่เป็นอะไร ซึ่งน่าจะสบายใจดีกว่า เอาง่ายๆ พยายามไม่ประมาทกับชีวิต แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องถึงกับเข้มงวดจนเครียด ตรวจร่างกายบ้าง ทำตามสิ่งที่เขาแนะนำตามวัย ตามเพศ เรามีความเสี่ยงด้านไหนก็สำรวจตัวเองเบื้องต้น ซึ่งถ้าเราป่วย การรักษาอาจไม่ได้ใช้เวลาไปตลอดชีวิต อาจจะเสียเวลาสักปีหนึ่งในการรักษา พอหายแล้ว เราก็กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม 

สำหรับคนที่ป่วยแล้ว เชื่อว่าตอนป่วยทุกคนก็กลัว อยากให้เขาคิดว่าการรักษาไม่ได้จะดึงชีวิตเราไปทั้งหมด อะไรที่เป็นหน้าที่คุณหมอ ก็ปล่อยให้เขาทำ พยายามเลี่ยงเรื่องราวที่เราเซนซิทีฟ แต่ถ้าห้ามไม่ได้ ถ้ามันปะทะเข้ามาแล้ว ก็พยายามโยนทิ้งไปให้เร็ว หาอย่างอื่นทำ สู้กับความคิดตัวเอง นับไปเลยว่าเมื่อไหร่จะเราจะคีโมหรือฉายแสงครบ แล้วเราก็วางแผนตั้งแต่ตอนนั้นว่าเราจะทำอะไรที่ตอนคีโมอยู่เราทำไม่ได้ หรือช่วงที่ร่างกายแย่ๆ เราทำไม่ได้ เมื่อรักษาหายเมื่อไหร่เราจะไปทำนะ ตอนไม่มีผมเราอยากทำอะไร ถ้ามีผมเราจะทำอะไร ส้มอยากให้ทุกคนมองอนาคตหลังจากที่เรารักษา ลองมองหาความสุขเราที่เราหยิบตั้งได้ง่ายๆ แต่เอาจริงๆ ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ถ้าเรามองหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้มันก็ชุ่มชื้นหัวใจแล้ว” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (SUDAPORN JIRANUKORNSAKUL)  
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ (ZUPHACHAI LAOKUNRAK)
ภาพบางส่วน: อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ (ONJANAKA PINGSUTHIWONG)

ดร. หทัยทิพย์ จิระธันห์ มะเร็งทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันและเอาชนะมันอย่างมีสติ

นอกจากประสบการณ์การทำงานในฐานะอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์และดูแลกิจการต่างประเทศในมหาวิทยาลัยชื่อดังแล้ว ดร.หทัยทิพย์ จิระธันห์ (ต่อ) ยังเป็นนักวิ่งและพิธีกรงานวิ่งที่เก็บชั่วโมงบินมาไม่น้อย ในเวลาเดียวกันเธอและสามียังเปิดร้านอาหารสไตล์ฝรั่งร่วมกันในนาม EDM ระหว่างที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย วันหนึ่งช่วงปลายปี 2560 เธอพบสิ่งที่แปลกออกไปในร่างกายตัวเอง แม้นั่นจะเป็นสัญญาณที่ไม่ปกตินัก แต่เธอก็รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติและคิดบวก โดยมีสามี ครอบครัว และเพื่อนๆ อยู่เคียงข้างไม่เคยห่างไปไหน 

สัญญาณเตือนจากร่างกาย

“ปกติพี่ตรวจร่างกายทุกปี แต่ 2 ปีก่อนจะพบว่าเป็นมะเร็ง พี่ไม่ได้ตรวจ ตอนนั้นค่อนข้างยุ่ง แล้วก็ประมาทด้วยมั้งคะ พี่เคยตรวจแมมโมแกรมด้วยซ้ำไป จำได้ว่ากำลังทาโลชั่นอยู่ แล้วไปสะดุดกับก้อนที่หน้าอก ก็เอ้อ ก้อนอะไรนะ ตอนนั้นประมาณปลายปี 60 แต่พี่ก็ชะล่าใจ แล้วร้านอาหารพี่เพิ่งเปิด เลยได้ไปตรวจอีกทีตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 61 คุณหมอก็บอกว่าเดี๋ยวขอลองเอาเข็มฉีดยาเข้าไปดูดดู ถ้าออกมาเป็นน้ำก็จบ กลับบ้าน ถ้าดูดไม่ออกก็จะดึงตัวเนื้อออกไปตรวจ ซึ่งวันนั้นดูดไม่ออก พี่ก็บอกกับแฟนว่า สงสัยจะถูกหวยแล้ว หลังจากนั้น ผลออกมาว่าเป็นมะเร็งเต้านมที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนเอสโตรเจน หลังจากตรวจเรียบร้อย คุณหมอก็วางโปรแกรมการรักษาโดยให้พี่ผ่าตัดก้อนเนื้อออกในเดือนมีนาคม 61 จากนั้น เดือนเมษายนพี่เริ่มให้คีโมและฉายแสง จนสิ้นสุดการฉายแสงประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 61”

จากมะเร็งเต้านมสู่อาการข้างเคียงและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สมอง งานหินที่ต้องเอาชนะอย่างมีสติ

“ในการรักษาครั้งแรกนี้ พี่ก็ได้ของแถมมาเลย คือปอดอักเสบจากการฉายแสงที่หน้าอก แต่เรื่องที่ใหญ่โตกว่าและอาจจะต้องทานยาไปตลอดชีวิต คือพี่มีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเป็นผลมาจากตัวยาคีโมที่แรง ซึ่งพี่มาตรวจเจอช่วงสงกรานต์ปี 62” 

ขณะที่รักษาตัวอยู่ เธอยังคงใช้ชีวิตปกติ ไปทำงาน ออกวิ่ง เพราะอาการข้างเคียงจากคีโมจะส่งผลต่อเนื่องในช่วงอาทิตย์แรกที่ให้ “วันนั้นพี่ไปซ้อมวิ่งที่สวนลุมพินี ก็รู้สึกชาๆ ที่ขา เลยไปหาคุณหมอ ตอนแรกคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ก็ได้ยามาทานเบื้องต้นเพื่อรอคิว MRI แต่ช่วงรอคิวพี่เริ่มมีอาการชาที่แขนขึ้นมา หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีอาการสมองสั่งงานไม่ปกติ พี่ยังรู้ตัว พูดจารู้เรื่อง แต่จะกลับขวาเป็นซ้ายซ้ายเป็นขวา ปิดประตูใช้มือผิด ตอนนั้นโทรคุยกับคุณหมอ คุณหมอรีบให้เข้ามา CT Scan ด่วน ผลออกมาพบว่ามีเนื้องอกที่สมอง ซึ่งต้องรีบผ่าตัดออกทันที เพราะเนื้องอกเริ่มทำให้สมองบวม เมื่อคุณหมอนำชิ้นเนื้อนี้ไปตรวจ ผลออกมาคือเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สมอง เป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งเลย ซึ่งการรักษาจะต่างกัน เพราะฉะนั้น คุณหมอเรื่องโรคเลือดและต่อมน้ำเหลืองต้องเข้ามาดูแลการรักษาเพิ่มเติม

หลังจากผ่าตัดสมองไปแล้ว การรักษาที่เกิดขึ้นเริ่มจากการให้คีโม แล้วก็ฉายแสง แต่จะโหดกว่ามะเร็งเต้านมพอสมควร เพราะต้องอยู่โรงพยาบาลตำรวจตลอด 100 วัน เพราะจะเป็นการให้คีโมผ่านหลอดเลือดใหญ่ แล้วก็ให้ยาผ่านไขสันหลังด้วย เวลาให้คีโมเม็ดเลือดขาวจะต่ำมาก คุณหมอกลัวติดเชื้อ ก็เลยให้อยู่โรงพยาบาลตลอด”     

มะเร็งทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน

“ณ วันที่เป็น พี่ไม่ได้ตื่นตูม เอาจริงๆ ตั้งแต่เป็นมะเร็ง พี่ร้องไห้หนักๆ แค่หนเดียวตอนที่ให้คีโมครั้งแรก คุณหมอให้พี่ไปแนะนำตัวกับพยาบาลในห้องเคมีบำบัด เมื่อไปถึง พี่เห็นคนไข้คนอื่นที่เขานอนให้คีโม บางท่านผมไม่มีแล้ว บางท่านใส่หน้ากาก พอเห็นภาพนั้น พี่รู้สึกขึ้นมาว่า นี่เราจะเป็นหนึ่งในนั้นแล้วเหรอ แล้ววันนั้น คุณพยาบาลดูแลพี่อย่างดีมาก ให้คำปรึกษาทุกอย่าง แต่แล้วอยู่ๆ มันก็เกิดความรู้สึกหลายอย่างปะปนกันเข้ามา พี่ร้องไห้หนักมาก และคืนนั้นเป็นคืนแรกที่พี่นอนไม่หลับนับตั้งแต่ทราบว่าเป็นมะเร็ง วันนั้นพี่นึกถึงคำพูดของพี่นง (ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์) ซึ่งเรา 2 คน เป็นพิธีกรคู่กันในงานวิ่ง สิ่งหนึ่งที่พี่นงมักจะบอกกับพี่เสมอก็คือให้อยู่กับปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นเราคุยเรื่องนี้กันมาตลอด แต่พี่ไม่เคยเข้าใจในสิ่งที่พี่นงพูดเลย พอเกิดกับตัวจริงๆ พี่เข้าใจทันทีเลยนะ แล้วมานั่งทบทวนว่าสิ่งที่เรากังวลอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วเราจะเศร้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจะไม่มีความสุขตั้งแต่ตอนนี้เลยเหรอ ในตอนที่ทุกอย่างยังไม่ร้ายแรงอะไรเลย เรากอบโกยความสุขตรงหน้าไปก่อนไม่ดีกว่าเหรอ แล้วค่อยมาแก้ปัญหา ณ ตอนที่มีจริงๆ พอคิดได้อย่างนั้นก็หลับ

เพราะฉะนั้น มุมมองเรื่องมะเร็งของพี่ตั้งแต่ก่อนเป็นจนถึงวันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่ แต่การป่วยครั้งนี้ทำให้พี่กอบโกยทุกๆ ช่วงเวลา ทุกๆ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้เยอะขึ้นมาก ปล่อยวางได้มากขึ้น พี่นับถือศาสนาคริสต์ พอเป็นมะเร็ง พี่ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น แล้วก็ไม่เคยสงสัยในทางเดินที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้เลย”      

คนข้างกายคือลมใต้ปีก

“ในระหว่างการรักษา คนที่ยึดเหนี่ยวพี่ในวันที่พี่เหนื่อย คือสามี ครอบครัว และเพื่อนๆ พี่โชคดีมากที่คนใกล้ชิดเข้าใจและให้กำลังใจมากๆ พี่นึกไม่ออกเลยว่าใครไม่ให้กำลังใจ สามีพี่ไปโรงพยาบาลกับพี่แบบ 100% จริงๆ ทุกครั้งที่พี่อยู่โรงพยาบาล ก็จะมีเขาที่อยู่ด้วยตลอด โดยเฉพาะในบางช่วงของการเป็นมะเร็งที่พี่จะมีอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นผลมาจากยา เขาจะเป็นคนที่คอยให้กำลังใจ เขารู้แหละว่าสิ่งที่เขาพูด บางทีไม่ได้ซึมเข้าไปหรอก แต่เขาไม่เบื่อที่จะพูด ไม่ยอมแพ้ที่จะทำให้พี่รู้สึกดีขึ้น สำหรับครอบครัวพี่ พวกเราสนิทกันมาก ถึงอยู่กันคนละที่ ที่บ้านพี่อยู่ลำลูกกา แต่ก็มาเยี่ยมพี่ที่โรงพยาบาลตำรวจตลอด หาอาหารอร่อยๆ มาให้ แล้วพี่ก็มีเพื่อนๆ อยู่หลายกลุ่ม ทุกๆ คน รวมไปถึงคุณครูและลูกศิษย์ของพี่ก็ส่งกำลังใจมาให้ไม่ขาด 

แม้จะมีช่วง tough มากๆ กับตอนที่เป็นมะเร็งครั้งแรก พี่ให้คีโมประมาณเข็มกลางๆ คุณพ่อพี่ก็เสียด้วยการติดเชื้อที่ปอด มันเป็นช่วงที่ยากมากเหมือนกันนะ เพราะไหนจะเรื่องงานศพ ไหนจะเรื่องการให้คีโม แต่โชคดีที่พี่มีครอบครัว มีสามี มีพี่น้อง และเพื่อนที่ดี เลยผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้อย่างไม่ทุลักทุเล คนจะชอบถามพี่ว่าทำไมกำลังใจดีขนาดนี้ นี่แหละเหตุผล” 

ทุกกำลังใจจะไม่เสียเปล่า

“ถ้าจะบอกอะไรกับพวกเขานะเหรอ พี่อยากจะบอกว่ากำลังใจที่ทุกคนส่งมาให้จะไม่สูญเปล่า ไม่เสียไปไหนแน่นอน ซึ่งพี่ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่ากำลังใจของพวกเขาสำคัญมากขนาดไหนและเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้พี่มาอยู่ถึงวันนี้  มะเร็งเป็นเรื่องไม่ง่ายนะ แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าเราได้กำลังใจที่ดี แล้วตัวเราเองพยายามด้วย อยากให้ทุกคนที่ให้กำลังใจพี่มารับรู้ว่าพี่ดีใจ ยินดี และซาบซึ้งมากๆ ในการที่ทุกคนให้กำลังใจมากขนาดนี้ และพี่กำลังพิสูจน์สิ่งนี้ให้ทุกคนดูอยู่ อนาคตจะเป็นไงไม่รู้ แต่พี่จะทำให้เห็น มีคนเคยถามนะว่า แล้วถ้าเป็นขึ้นมาอีกล่ะ? พี่ก็บอกเขาไปว่าก็รักษาอีกสิ แล้วพี่ก็เชื่อว่าทุกคนก็จะให้กำลังใจอยู่ ไม่หายไปไหนแน่นอน”

เลือกทำในสิ่งที่ชอบ = วิตามินบำรุงใจชั้นดี 

“จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า พี่เป็นคนที่ถ้าไม่ชอบอะไร เลี่ยงได้ พี่จะไม่ทำสิ่งนั้นเลย แต่ถ้าเกิดความอยากจะทำอะไร เมื่อไหร่ พี่จะหาทางทำเมื่อนั้นเหมือนกัน จะพยายามทำให้ความอยากนั้นเกิดขึ้นให้ได้ มีบางคนเคยถามพี่ว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย พี่อยากจะทำอะไร พี่ก็บอกเขาไปว่าพี่ได้ทำมาหมดแล้ว สิ่งที่อยากทำ ได้ทำมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น พี่จะไม่เสียใจเลยถ้าเผื่อวันพรุ่งพี่จะจากโลกนี้ไป เพราะพี่มีความสุขกับทุกวันที่ได้ใช้ชีวิตแล้ว”

สร้างปราการกันโรค

“โชคดีว่าก่อนที่พี่จะมาเป็นมะเร็งครั้งแรก พี่เริ่มวิ่งมาได้ประมาณ 2 ปี และพี่ไม่เคยหยุดวิ่ง แม้จะอยู่ในช่วงรักษาตัวก็ตาม ซึ่งพี่มาค้นพบว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะไม่ว่าจะหลังผ่าตัด ให้คีโม หรือว่าไม่สบาย ร่างกายพี่ฟื้นตัวไวมาก เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่พี่อยากแนะนำคือออกกำลังกายเพื่อที่จะให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น เลือกกิจกรรมที่ชอบและทำไหว ออกไปเจอลม เจออากาศ เหยียบดินบ้าง

นอกจากนี้ พี่ทานอาหารเยอะมาก ต่อให้ร่างกายบอกว่าไม่อยากทาน พี่ก็จะพยายามทาน คนป่วยทุกคนรู้ว่าคีโมสำคัญ แต่บางคนไม่อยากทาน เพราะคีโมทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหาร พอทานไม่ได้ ผลก็ต่อเนื่องกันเป็นโดมิโน่เลย เม็ดเลือดขาวตก ให้คีโมไม่ได้ ซึ่งก็จะยืดระยะเวลาการให้คีโมออกไป ประสิทธิภาพการให้คีโมก็จะลดถอยลงด้วย ถ้าร่างกายเราได้รับสารอาหารที่เพียงพอ จะทำให้เรารับคีโมได้ตามที่คุณหมอวางแผนไว้ ซึ่งผลที่ได้ก็จะดีกว่า 

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพักผ่อน คนที่เม็ดเลือดขาวตก อ่อนแอ หรือช่วงที่ต้องให้คีโม เราจะรู้ร่างกายตัวเองว่าช่วงไหนที่เพลีย เพราะฉะนั้น อย่าฝืน ถ้าเหนื่อย ถ้าเพลีย คุณต้องหลับ แล้วพี่ก็อยากให้ฟังคุณหมอเวลาเราป่วย พี่มองว่าสามสี่อย่างนี้สำคัญกับทุกคนนะ ไม่ต้องรอให้ป่วย ทุกคนสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย” 

แสวงหาความสุขจากความเรียบง่ายของชีวิต

“เอาจริงๆ ความสุขสูงสุดของพี่คือยังได้ใช้ชีวิตปกติ ถ้าไม่นับว่าเคยอยู่โรงพยาบาลมา ทุกวันนี้พี่ยังใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมทุกอย่าง ได้ทำงานที่รัก ได้อยู่กับครอบครัว กับเพื่อน ทุกอย่างปกติหมด พี่ไม่แตกตื่นหรือตื่นตูมกับคำว่า new normal เลยนะ เพราะพี่มีความรู้สึกว่าทุกคนต้องปรับตัว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องมะเร็งหรือโควิดหรอก การเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนอาหาร แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเปลี่ยนเสื้อผ้า พี่แนะนำจากประสบการณ์ ถ้าคุณชอบอะไร ให้ทำไปเลย ไม่ต้องรอ แต่อะไรที่รู้สึกฝืนและทำให้เราเครียด เลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าไม่ได้ เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ คุณก็ทำ เพียงแต่ก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย อย่างถ้าสมมุติเราต้องงดในสิ่งที่เราชอบกิน สำหรับพี่ พี่ว่าพี่เครียด ดีไม่ดีกลับมาป่วยอีก สู้พี่ทำอะไรที่เรามีความสุขดีกว่า หรืออย่างเวลาที่พี่ซ้อนมอเตอร์ไซค์แฟนพี่ บางคนจะเป็นห่วงเรา อยากให้เราพักผ่อนอยู่บ้าน แต่พี่ก็มานั่งนึก แต่ก่อนตอนที่ยังไม่ได้นั่งมอเตอร์ไซค์ยังเป็นมะเร็งเลย ถ้าตอนนี้นั่งแล้วจะเป็นอีกรอบก็ให้มันเป็นแล้วกัน อยู่อย่างมีความสุขกับสิ่งที่เราชอบ เพราะพี่เองก็มีความสุขแบบนั้นอยู่” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล   
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ 
ภาพบางส่วน: หทัยทิพย์ จิระธันห์