นพ. บัญชา พงษ์พานิช รับมือกับมะเร็งผิวหนังด้วยธรรมะผ่านกาย ใจ และปัญญา

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) เป็นมะเร็งผิวหนังเมื่อราว 5 ปีก่อน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นมะเร็งในระยะ ชนิด และอวัยวะที่มีอัตราการรักษาให้หายได้สูง แต่ขึ้นชื่อว่ามะเร็ง หลายคนที่ต้องเผชิญหน้าย่อมวิตกและกลัวไปสารพัด ซึ่งการรับมือกับโรคดังกล่าวของคุณหมอนั้นเรียกว่าตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรากล่าวมาข้างต้นโดยสิ้นเชิง เพราะสำหรับหมอบัญชาแล้ว ในโลกแห่งความไม่แน่นอนนี้ มันมีวิธีรับมือเสมอ หากเข้าใจและมีสติ 

มะเร็งผิวหนัง Basal Cell Carcinoma

“จริงๆ แล้วด้วยความที่ตัวผมเองเป็นหมอ ก็รับรู้อยู่ว่ามนุษย์ทุกคนมีเซลล์หรือเนื้อที่สามารถกลายพันธุ์สู่เซลล์มะเร็งได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยเซลล์ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านเซลล์ แล้วร่างกายของเราต้องการการเจริญเติบโต ฉะนั้น เซลล์เนื้อเยื่อของเราก็ขยายตัวเพื่อจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเสมอ แล้วก็รู้ว่าถ้าจุดไหนของร่างกายเป็นจุดที่เกิดการขยายตัวมาก บริเวณนั้นก็จะมีโอกาสมากที่จะเกิดเซลล์แปลกปลอมขึ้นมา อย่างเช่นผู้ชาย ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ต่อมลูกหมาก กล่องเสียง หรือไม่ก็ลำไส้ หรือถ้าหากว่าดื่มเหล้ามาก ใช้ตับมาเยอะ ตับก็ต้องพยายามที่จะซ่อมแซมเนื้อตับ มะเร็งก็เกิดขึ้นได้

สำหรับผมเองเหล้าไม่ดื่ม อย่างอื่นก็ไม่ค่อยมี ถ้าภาษาหมอก็คือไม่มีความเสี่ยง แต่ปรากฏว่าวันหนึ่งปลายจมูกผมเห็นเป็นรอยปื้นดำๆ ซึ่งภาษาแพทย์เราจะเรียกเป็นพวกเมลานินเป็นจุดที่เจอแสงแดดเยอะ เมื่อเจอแสงแดดเยอะ เซลล์ก็พยายามที่จะสร้างสิ่งมาปกป้องเพื่อไม่ให้ผิวเสียหายง่าย สุดท้ายสารที่สร้างมาเพื่อปกป้องเนื้อเยื้อตรงนั้นก็มีโอกาสกลายพันธุ์

ผมก็เฝ้าดูอยู่เป็นปีนะว่าจะแค่เป็นปื้นสีหรือว่ามันจะกลายเป็นมะเร็ง เพราะเรารู้อยู่ว่าเซลล์พวกนี้จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ ถ้าเมื่อไหร่ผิวหนังเปลี่ยนสี มีเม็ดไฝเกิดขึ้น แล้วสีมันคล้ำขึ้น ขยายตัวใหญ่ขึ้นหรือมีเลือดออก จนวันหนึ่งเลือดก็ออก ซึ่งผิวตรงจมูกนี้บางแล้วก็มีเลือดซิบ ผมก็คิดว่ามะเร็งมาแล้ว

หลังจากนั้นก็ไปหาหมอที่เป็นรุ่นน้อง ก็บอกว่า “เนี่ย ผมเป็นมะเร็ง” หมอก็บอกว่า “ไม่นะ อย่างนี้ไม่ใช่หรอก” สุดท้ายผมบอกว่าให้ตัดเอาไปตรวจดู ผลออกมาก็คือเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma”

การรักษาตามอวัยวะที่เกิด ชนิด และระดับ

“หลักการของมะเร็งต้องดูว่า หนึ่งเป็นที่อวัยวะไหน สองเป็นเซลล์ชนิดไหน สามเซลล์ขยายตัวไประดับไหนแล้ว ซึ่ง Basal Cell Carcinoma เป็นชนิดของมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุหลักๆ เกิดจากการสัมผัสแสงแดดมาก ส่วนที่ผมเป็นอยู่บริเวณปลายจมูกก็รักษาด้วยการตัดออก ไม่ต้องทำการรังสีรักษาและเคมีรักษาใดๆ เพียงแต่เฝ้าระวังว่าจะกลับมาอีกไหม

เขาจึงบอกว่าหมั่นตรวจอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูเพศ วัย อวัยวะ มีพฤติกรรมเสี่ยงอะไรไหม ถ้ามี ก็เลิกเสีย มีการเฝ้าระวัง แล้วก็ตรวจสอบอยู่เสมอว่าอวัยวะต่างๆ เป็นอะไรไหม หากเซลล์ตรงนั้นไม่ขยายตัวมากแบบผิดปกติ มันก็ไม่กลายพันธุ์ อย่างของผมที่เป็นก็เพราะไปถูกแดดเยอะ ชีวิตอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน เซลล์ตรงนี้ก็เลยขยายตัวมากเป็นพิเศษ ตัวผมเองก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น แต่ก่อนชอบสู้แดด ชอบทำสวน อยู่กับป่า อยู่กับต้นไม้ ก็ตอนหลังก็ต้องใส่หมวกหน่อย ก็ต้องยอมรับเพราะเขามาเตือนเราแล้ว”

จัดการโรคด้วยความรู้และสติ

“ตอนที่เจอก็ราวๆ 5-6 ปีที่แล้ว ความรู้สึกแรกคือ เขามาแล้วล่ะ เมื่อรับรู้ว่าเขามาแล้ว ก็จัดการเท่าที่เราพอมีพื้นฐานก่อนว่า อ้อ มะเร็งตรงนี้เป็นมะเร็งชนิดที่รักษาได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าเป็นเซลล์ประเภทไหน ถ้าเป็นชนิดอ่อน ตัดออกก็จบ แล้วก็อาจมีโอกาสเป็นซ้ำได้ แต่ก็กินเวลานานหน่อย ถ้าเรารักษาได้เร็วก็น่าจะเอาออกได้หมด

แล้วก็กลับมาดูชีวิตของตัวเอง ตอนนั้นก็ 50 กว่าๆ แล้ว และเป็นหมอที่สนใจเรื่องระบาดวิทยา รวมถึงเรื่องระบบของชีวิต ซึ่งสำหรับคนที่เกิด 2500 อย่างผม วงการสาธารณสุขเขาพยากรณ์ชีพไว้ว่า ชายไทยที่เกิด พ.ศ. 2500 อายุเฉลี่ยประมาณ 51-55 เอ้า ก็พอดีกับอายุขัยเราเลย ตอนนั้น 55 มะเร็งมาก็พอดี แล้วอายุ 55 ปีที่ผ่านมาเราโอเคไหมล่ะ ผมมีความรู้สึกว่าผมใช้ชีวิตเต็มที่แล้ว ได้พบหนทาง ได้เข้าใจชีวิต แล้วก็ทำอะไรไว้เยอะแล้ว ไม่มีภาระอะไรมาก จะห่วงก็แต่แม่ น้า น้องๆ แล้วก็งานบางอย่าง ก็มีความรู้สึกว่าใช้ชีวิตคุ้มแล้ว ในความรู้สึกตอนนั้นนะ ถ้าจะไปก็ไป แต่ขณะเดียวกัน ในวงการแพทย์ก็มีการพยากรณ์ชีพอีกแบบ นอกจาก Life Expectancy at Birth แบบแรกที่ผมบอก ก็คือปัจจัยจากระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งการพยากรณ์ชีพของชายไทยในแบบที่ 2 Life Expectancy at Present  คือ ถ้าชายไทยที่เกิด 2500 และอยู่มาเรื่อยๆ จนถึงปี  2555 อายุ 55 แล้วสุขภาพยังดี ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงอะไร ก็จะอยู่ได้ถึง 70 จริงๆ ฉะนั้น ถ้ารักษาได้ก็รักษาไป อาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ก็อยู่ต่อ จะได้ใช้ชีวิตต่อเพื่อแสวงหาความหมายให้ครบมากขึ้น ให้มีคุณภาพชีวิตได้ดีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ทำอะไรได้มากขึ้นด้วย ฉะนั้น ก็จัดการเสียในเมื่อมันยังจัดการได้ วันนั้นก็เลยบอกคุณหมอเขาว่าก็รักษาเสีย ทำให้เต็มที่ ยิ่งกว่านั้นยังมีแบบที่ 3 Life Expectancy Adjust คือเอาปัจจัยพฤติกรรมสุขภาพมาประกอบ เช่นผมนี้ มีพฤติกรรมเสี่ยงน้อยมาก ๆ บางพยากรณ์ว่าอาจต้องอยู่ยาวถึง 90 เลยด้วยซ้ำ

ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทุกคนวิตกกับมะเร็งเพราะรู้สึกว่าเขาเป็นอื่น แต่สำหรับผม ด้วยการที่เป็นหมอ เรียนเรื่องนี้มา และศึกษาเรื่องพุทธศาสนาด้วย ก็รู้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา เราแค่ไม่รู้ว่าจะลงเอยแบบไหนและเมื่อไหร่เท่านั้นเอง”

กฎแห่งการตั้งรับมะเร็งคือรู้ว่ามีโอกาสที่จะเป็นได้เสมอและรักษาดุลชีวิตไว้ให้ดี

“อย่างที่บอก มะเร็งเขาอยู่กับเราอยู่แล้ว สำหรับผู้ชายก็มีความเสี่ยงอยู่กับเรื่องต่อมลูกหมากเพราะเป็นจุดที่ต้องขยายตัวมาก ต้องสร้างอสุจิมาเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ สำหรับผู้หญิงก็จะเป็นในส่วนรังไข่ที่ต้องสร้างไข่เพื่อใช้ผสมกับอสุจิ หน้าอกสร้างเซลล์เพื่อมาสร้างน้ำนม แล้วการขยายแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เป็นเรือนร้อยนะ แต่หลักหมื่น แสน ล้าน ซึ่งในนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องมีสักตัวที่กลายพันธุ์ ก็เหมือนกับไวรัสโควิดที่เราเห็นตอนนี้ว่ากลายพันธุ์ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

เราต้องยอมรับว่าตราบใดที่ยังมีชีวิต ร่างกายเราต้องสร้างเซลล์เพิ่มเพื่อมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอก เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ มะเร็งก็อยู่กับเราอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ ในร่างกายเราก็มีระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งเม็ดเลือดขาวและระบบน้ำเหลือง กับอื่น ๆ อีกสารพัดที่จะคอยจัดการกับเซลล์แปลกปลอมอยู่แล้ว ถ้ามันแปลกปลอมไม่มากและไม่รุนแรง เพียงแต่ว่าถ้าเขาเกิดมามากเกิน แล้วระบบของร่างกายจัดการเขาไม่ได้ ก็ทำให้มะเร็งเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ผมคิดว่าหัวใจของการตั้งรับโรคภัย รวมถึงมะเร็ง คือรู้เสมอว่าเรามีโอกาสที่จะเป็น รักษาดุลชีวิตไว้ให้ดี ละเว้นพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย และเสริมสิ่งที่สามารถช่วยเป็นเกราะป้องกัน ฟิตเนสทั้งทางร่างกายและจิตใจให้ดี เพราะว่าเวลาเราฟิตเนสด้านร่างกายดีพอ อะไรแปลกปลอมเกิดขึ้น ร่างกายก็มีกองกำลังแข็งแรงพร้อมที่จะสู้

ส่วนเรื่องของจิตใจและความเข้าใจ ในทางการแพทย์ยังไม่ตอบตรงชัดว่าไปเสริมกำลังอย่างไร บางคนบอกว่าจะไปเสริมสมรรถนะในการปกป้องหรือในการทำร้ายเซลล์แปลกปลอม อีกฝั่งก็บอกว่าไม่ใช่แค่ไปเสริมสร้างสมรรถนะ แต่สร้างสารที่เป็นกลุ่มฮอร์โมนเพื่อไปจัดการเลย ซึ่งก็มีการศึกษาพบว่า ความเครียดจะส่งผลให้ทุกอย่างในร่างกายเครียด เมื่อเป็นอย่างนั้น ความพร้อมในการตั้งรับจะไม่ดี แต่เมื่อเราพร้อมรับ เราจะสดใสร่าเริง มีกำลังใจว่าจะสู้ แล้วเมื่ออวัยวะและเซลล์ทุกระดับมีความสุข เราก็แฮปปี้ที่จะเผชิญกับสิ่งตรงหน้า ไม่รอดก็แล้วไป แต่ถ้ารอดก็โอเคถูกไหม แต่ถ้าบอกโอ้ยจะตายไหมเนี่ย ทุกอย่างก็จะไปอีกแบบแล้ว ฉะนั้นผมคิดว่าการรักษาดุลชีวิตทุกๆ ด้านจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยป้องกันได้”

ท่วงทำนองในการรับมือมะเร็งสไตล์หมอบัญชา 

“ในวันที่ผมไปผ่าตัด ผมไม่ได้บอกใครสักคน จะมีก็ลูกศิษย์ที่ไปด้วยกันว่าโทรไปบอกที่บ้านหน่อย เดี๋ยวเขาว่าเอา ปรากฏว่าทางบ้านก็เป็นห่วงว่าเป็นอะไรมากไหม ผมก็บอกว่าผมเป็นหมอ ผมเข้าใจ แต่แจ้งให้ทราบและไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ผมว่ามันอยู่ที่ท่วงทำนองในการรับมือ ซึ่งหัวใจอยู่ที่ความเข้าใจ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ 3 เรื่อง คือ กาย ใจ และปัญญา ซึ่งท่านก็ให้เจริญศีล สมาธิ และปัญญา ศีลคือดูแลกายให้ดีไว้ สมาธิคือดูแลจิตให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปัญญาคือทำความเข้าใจในเรื่องความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งมะเร็งก็รวมอยู่ในนั้นด้วย

สำหรับผม ณ วันที่มะเร็งมา ผมรับรู้ว่าเขามาแล้ว มีวิตกไหม มีนะ เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะขนาดไหน จะรับมือไหวไหม จะจัดการอย่างไร แต่ไม่ถึงกับเครียดหรือวิตกมาก ไม่ได้กลัวตาย ซึ่งถ้าหนัก ผมก็คิดว่าจะตายก็ตาย เพราะจริงๆ เซลล์มะเร็งนั่นเขาก็เป็นชีวิตเรานั่นแหละ”

มะเร็งคือการทดสอบระบบความคิด

“ไม่กี่เดือนมานี้ เพื่อนรักของผมเป็นมะเร็งขั้น 4 ก็น่าเป็นห่วงอยู่ แล้วเป็นหมอด้วยนะ ผมก็ถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง?” เขาก็ตอบกลับมาว่า “มึงบอกกูไว้นี่ว่า อายุขนาดนี้แล้ว ก็โอเคแล้วไม่ใช่เหรอ” ซึ่งเขาก็ทำการรักษาอย่างเต็มที่ ผ่านการผ่าตัด การฉายรังสี และให้เคมีบำบัด ล่าสุดทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งผมเชื่อว่ามันไม่ใช่แค่การรักษาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของจิตใจด้วย ฉะนั้นในความเห็นของผม มะเร็งเป็นสิ่งที่มาบอกบางอย่างให้คนได้ขบคิดและเป็นการเตือนว่า โอกาสที่จะตายมาถึงแล้วนะ”

ความตายเป็นเรื่องธรรมดา

“เราต้องทำความเข้าใจเรื่องชีวิตนะครับว่า ข้อหนึ่ง เราต้องตาย ข้อสองซึ่งช่วยมากคือผมอยู่มาเกินเวลาที่ควรมีแล้ว ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้เป็นของแถม เป็นกำไรของชีวิต สาม ดูว่าเราใช้ชีวิตคุ้มหรือยัง พบอะไรอีกไหม ห่วงอะไรอีกหรือเปล่า สำหรับผม ผมก็ไม่ค่อยห่วงอะไร มีแม่บุญธรรมที่ผมยังห่วงท่าน เราไม่อยากจะไปก่อนท่าน ต้องประคับประคองตัวเองให้รอดปลอดภัย ทุกข์ของพ่อแม่คือลูกไปก่อน ฉะนั้น ก็ต้องดูแลให้ท่านได้ไปก่อนนะเพื่อไม่ให้ทุกข์นี้เกิดกับบุพการี ส่วนตัวเราก็ค่อยว่ากัน งานอื่นๆ ก็ทำเยอะแล้ว ถ้าจะไปก็ไปได้

ทีนี้การฝึก หลักสำคัญคือฝึกใจให้พร้อม ถ้าเขามา เราจะได้สู้และรับมือเขาไหว ส่วนเรื่องกาย ผมก็ปล่อยในเรื่องของความสุขตามแบบปุถุชน ทานในสิ่งที่ควร เลี่ยงในสิ่งที่สมควร ทานมาตั้ง 50 60 ปีแล้ว ก็ทานต่อนิดๆ หน่อยๆ เอาจริงๆ อัตราการตายจากมะเร็งเนี่ย น้อยกว่าการตายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์อีกนะ ซึ่งถ้ากลัวตายจริง ก็ต้องไม่ไปไหนแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ตราบเท่าที่จะทำได้ หัวใจคือฝึกใจให้พร้อม แล้วก็เข้าใจมัน”

สามสิ่งสำคัญในชีวิต

“อะไรคือสำคัญในชีวิตของผมบ้าง ก็มีอยู่สามข้อ หนึ่งคือสร้างความพร้อมที่จะไปทั้งแง่มุมกายและใจ ด้านจิตใจก็ให้มันพร้อมที่จะไปโดยที่ตัวเองทนได้ในวาระสุดท้ายและตั้งสติได้ เรื่องปัญญาผมพอแล้ว รับสภาพได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าบรรลุธรรมนะ

สองคือเรื่องสิ่งที่เราทำไว้ว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่องแม้เราจะจากไปแล้ว อย่างเช่น หอจดหมายเหตุพุทธทาสที่จะทำอย่างไรให้ระบบเสถียร แล้วก็รันได้ หรือสิ่งที่ผมทำไว้ที่นครศรีธรรมราช บ้านเกิดก็พยายามให้น้องๆ ขึ้นมาดูแลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อไป 

เรื่องสุดท้าย ก็คือบุพการีที่ผมจะพยายามดูแลท่านจนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้นผมก็จะดูแลตัวเองให้แข็งแรงไว้ ผมว่าคนทั่วไปอาจจะห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สมบัติ แต่สำหรับผมเนื่องจากเป็นโสด ไม่มีลูกให้ต้องห่วงอะไร”

“ธรรมะ” เครื่องยึดเหนี่ยวให้ผ่านอุปสรรค

“หลังจากที่ผมไปบวช ผมพบว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าคือสุดยอด ถ้าผมแค่เป็นหมอและเป็นมะเร็งนะ ผมไม่มีสิทธิ์เผชิญมะเร็งได้แบบตั้งมั่นและมีสติพร้อมได้แบบนี้ ผมได้หลักคิดและแนวปฏิบัติที่พร้อมเผชิญ ฝึกกาย ฝึกจิต ฝึกปัญญาสารพัดอย่างของพระพุทธเจ้ามาใช้ หลังจากนั้นมาผมก็ปฏิบัติและทดลองกับเรื่องนี้มาตลอด พอเป็นมะเร็ง ผมก็มีภูมิ ภูมิรู้ ภูมิจิต ภูมิปัญญา แล้วก็ภูมิชีวิตที่จะรับมือ รวมถึงความเข้าใจเรื่องระบบชีวิต ระบบการเจ็บป่วยในฐานะของแพทย์ด้วย”

สุขคือทุกข์ให้น้อยลง

“ความสุข ณ ปัจจุบันของผม ถ้าเอาตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ผมศรัทธาและเชื่อมั่นว่านั่นคือสุขแท้ก็คือ ไม่มีตัวตน แต่ผมยังไปไม่ถึงนะ ฉะนั้นความสุขของผมทุกวันนี้ก็คือทุกข์ให้น้อยลง ผมจะนั่งดูว่าเรายังมีอารมณ์แบบที่เรียกว่าไม่ถูกไม่ควรโผล่มาบ้างไหม ซึ่งผมยังเป็นคนเจ้าโทสะ เอาแต่ใจ แล้วก็ขี้โมโห ผมพบว่า 35-40 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องนี้ผมลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีนะ คือโทสะจริต แต่ผมจะรู้ตัวได้เร็วขึ้น แล้วจะระงับหรือขอโทษได้ แต่ก่อนไม่ขอโทษหรอก ซัดเลย ฉะนั้น สุขของผมคือทุกข์น้อยลง พยายามลดสิ่งที่ไม่ดีไม่ควรให้ปรากฏขึ้นในชีวิตและจิตใจ ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะฝ่ายกุศล ฝ่ายดีให้มากขึ้นๆ ซึ่งต้องฝึก อย่างเช่น โทสะก็ต้องใช้กรุณาเมตตามาสู้ ผมเนี่ย บางทีเมตตากรุณายังไม่ค่อยมากเท่าไหร่ ต้องฝึก หรือเรื่องจาคะ ต้องฝึกเรื่องทาน เรื่องการแบ่งปัน ซึ่งผมก็ยังมีไม่มากอีกเหมือนกัน การปล่อยออกไปยังไม่มากเท่าที่น่าจะเป็น แต่ฝึกอยู่เสมอ แล้วกำลังขบคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นๆ”

ดูแลตัวเองตามหลักธรรมชาติ

“สำหรับมะเร็ง เราต้องยอมรับความจริงว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิต ชีวิตเราประกอบด้วยเซลล์ แล้วเซลล์นั้นเขาก็มีชีวิต เขาก็ต้องขยายตัว ฉะนั้นเขาก็จะเกิดการกลายพันธุ์เป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้น เราต้องพร้อมรับว่ามะเร็งเป็นของคู่กับชีวิต แล้วเขาจะมาหรือไม่มาก็อยู่ที่พฤติกรรมของเรา สิ่งที่ทำได้คือปรับพฤติกรรม ซึ่งถ้าเกิดเขามาแล้ว ผมอยากให้มีสติเพื่อมาดูสิ่งที่เกิดอยู่ตรงหน้าว่าเราจะจัดการอย่างไร แล้วก็วางจิตเพื่อที่จะเผชิญและจัดการ ไม่ว่าของตัวเราหรือของญาติมิตรเรานะ ไม่ใช่ทุกคนที่พอบอกว่าเป็นมะเร็งแล้วจะต้องตายกันเสียหมด มะเร็งเขามีประเภท มีระดับที่แตกต่างกัน พอเข้าใจว่าอยู่ตรงไหน ขั้นใด ก็วางจิตวางใจที่จะอยู่กับเขาหรือไม่ก็คลี่ปัญหา เพื่อให้เราก็อยู่ได้และเขาก็ไม่ทำร้ายเรา

สำหรับผู้ที่มะเร็งอยู่ในอวัยวะที่ไม่ธรรมดา เป็นเนื้อมะเร็งชนิดที่รักษายาก ผมว่าก็ต้องปรับโหมดชีวิต ให้ความสำคัญกับการปรับใจเป็นสำคัญ เพราะว่าเขามาไกลมากแล้ว มีจำนวนมากนะที่พบว่าปรับแล้วประสบความสำเร็จ เราได้ยินเรื่องเล่ามากมายของผู้ป่วยที่หมอเขาบอกว่าจะอยู่ได้อีกเท่านี้ แต่พอเขาปรับบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรับระบบชีวิตและปรับวิธีคิด ก็กลายเป็น ว่าอยู่กันได้ยาวขึ้น บางคนหมอยังงงเลยว่าหายไปได้อย่างไร อันนี้ศาสตร์ทางการแพทย์ยังตอบไม่ได้ แต่มีศาสตร์ทางด้านชีวิตและจิตใจที่เยียวยาได้ ส่วนญาติมิตรของผู้เป็นมะเร็งไม่ใช่ว่าตีโพยตีพาย ตระหนก ซึ่งแบบนั้นระบบภูมิจะล่มสลาย

ส่วนเรื่องพุทธศาสนา หลักคิดเท่าที่ผมได้บวชเรียนซึ่งเป็นหลักคิดสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ท่านค้นหาปัญหาที่คนทั้งโลกห่วงและวิตกมากที่สุดก็คือ ทำไมคนต้องแก่ เจ็บ แล้วตาย ขอไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายได้ไหม สุดท้ายสิ่งที่ท่านตรัสรู้ก็คือไม่ได้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ ตั้งตนอยู่ได้ยาก ไปฝืนก็ทุกขัง อนิจจัง เพราะแท้จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แม้กระทั่งเราก็ไม่ได้มีตัวมีตน เกิดมาแล้วต้องตาย ในเมื่อเป็นอย่างนั้น ในความเห็นของผมก็คือต้องยอมรับความจริง ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือเราจะอยู่อย่างไรก่อนตาย แล้วตายอย่างไรให้ดี สิ่งที่แนะนำได้ก็คือฝึกฝนกาย ใจ สติปัญญา และความรู้ให้ถี่ถ้วน ให้พอเหมาะ กายก็ดูแลให้พอเหมาะพอควร ดูว่าเราใช้ชีวิตกินอยู่พอดีไหม อร่อยพอแล้ว อิ่มพอแล้ว ไม่มากเกินแล้ว อันนี้อันตรายไม่เอา จิตก็พยายามทำให้เขาแจ่มใส อยู่เย็นเป็นสุข สุดท้ายเรื่องปัญญาก็ฝึกเรื่องความรู้ ความเข้าใจ รู้ให้ทั่วและเท่าทันในเรื่องที่ควรรู้ ไม่จำเป็นจะต้องรู้ทั้งหมด อย่างเรื่องโควิด ผมก็ตามเป็นบางประเด็นนะ สำคัญก็คือที่รู้นั้นเป็นประโยชน์ที่เอามาใช้ในชีวิตและจิตใจไหม ผมว่าหลักพระพุทธศาสนา ฝึกฝนเรื่องความรู้ความเข้าใจ ฝึกฝนเรื่องจิตใจและฝึกฝนดูแลกายให้พอดี แค่นั้น ผมว่าก็อยู่กันได้ ส่วนถ้าของแข็งมาแรงเกิน ถ้าจะตาย มันก็ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล / Sudaporn Jiranukornsakul
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ / Zuphachai Laokunrak
ภาพเพิ่มเติม: นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช / BUNCHAR PONGPANICH
ขอบคุณสถานที่: หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)