มะเร็งไม่ใช่โชคร้ายที่สุดของชีวิต คุยกับวนิดา ฤกษ์นิรันดร์ ผู้ดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับระยะสุดท้ายด้วยความรักและสติ

สำหรับ กิ๊บ – วนิดา ฤกษ์นิรันดร์ เชื่อว่า  ‘มะเร็ง’ เป็นเพียงแค่โรคโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตของมนุษย์ แต่ไม่ใช่ ‘โชคร้าย’ ที่สุดของชีวิต เพราะมะเร็งได้ทำให้เธอพบกับความหมายที่แท้จริงของความรักที่เกิดจากการอยู่ร่วมกัน ดูแลกัน และช่วยเหลือกันในยามทุกข์ และเจ้ามะเร็งนี่แหละที่เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้เวลาทุกนาทีอย่างรู้คุณค่ากับการหน้าที่ของลูกด้วยการดูแลคุณแม่หลอง – จำรอง พวงศรี (อายุ 60 ปี) อย่างดีที่สุดในปลายทางแห่งชีวิต

มะเร็งท่อน้ำดีที่ตับ โรคที่ไม่แสดงอาการ

“คุณแม่กิ๊บตรวจพบมะเร็งท่อน้ำดีในตับระยะสุดท้ายเมื่อต้นเดือนมกราคม 2562 จากการตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งก่อนหน้านี้คุณแม่ตรวจร่างกายเป็นประจำปีทุกปี แต่ไม่พบเชื้อมะเร็ง ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง คุณแม่ออกกำลังกาย และทำอาหารทานเอง ที่ไปตรวจเพราะว่าเจ็บซี่โครงขวา มีอาการเจ็บแปลบๆ  จึงไปตรวจอย่างละเอียด โดยเริ่มต้นการรักษาที่สถาบันมะเร็ง คุณหมอท่านหนึ่งบอกว่าเคสของคุณแม่ไม่เข้ากับการวินิจฉัยแบบใหม่ และด้วยความที่ตับของคุณแม่มีขนาดเล็กเกินไป จึงไม่สามารถผ่าตัดได้ จึงต้องรักษาด้วยการให้เคมีบำบัด (คีโม) หลังจากนั้น เราตัดสินใจย้ายการรักษามาที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ ตามการช่วยเหลือของพี่ที่เคารพรัก ต้องขอบคุณที่เขาคอยประสานงานทุกอย่างให้ในวันที่เราทำอะไรไม่ถูกเลยสักอย่าง ซึ่งคุณหมอให้คำปรึกษาและดูแลดีมาก คุณแม่ได้รับการรักษาทันทีด้วยการทำคีโม ซึ่งสูตรเคมีบำบัดจะวัดกันที่ 3 เข็มแรก ผ่านไป 1 เดือน คุณแม่ไปทำ CT Scan ดู แต่ขนาดของก้อนเนื้อไม่ลดลง จนเปลี่ยนไปถึง 3 สูตร แต่ผลคือไม่ตอบสนองทั้งกับสูตร 1, 2 และ 3 เราจึงต้องหยุดให้คีโมและรักษาแบบประคับคองอาการ 

รับมือความท้าทายด้วยสติ   

“ตอนที่ผลตรวจออกมาแล้วพบว่าคุณแม่มีเนื้อร้ายที่ตับก้อนใหญ่ประมาณ 7 เซนติเมตร และขนาด 1 เซนติเมตรอีก 3 ก้อน และไม่สามารถผ่าตัดได้ จากการปรึกษาแพทย์ถึงทิศทางการรักษาว่าเราต้องเริ่มต้นจากจุดไหน ปรึกษาพี่สาว บอกความจริงทั้งหมด แต่ไม่ได้บอกคุณแม่ให้รับรู้ทั้งหมด ช่วงระยะเวลาในการรอผลการตรวจนี่แหละที่รู้สึกทรมานที่สุด สุดกว่ารู้ผลเสียอีก เพราะเราคิดไปหลายด้านมากว่า ถ้า…อย่างนั้น ถ้า…อย่างนี้ล่ะ จะทำอย่างไร ความเครียดก็มาทันที สุดท้าย กิ๊บเลิกคิดเองเออเอง แต่ไปถามข้อมูลทุกอย่างจากคุณหมอโดยตรง ซึ่งนั่นทำให้เราเข้าใจตัวโรค การรักษา และผลที่จะเกิดขึ้นด้วยสติมากขึ้น”

พลังงานดีๆ เกิดขึ้นได้ด้วยกำลังใจที่มีให้กัน

“ช่วงที่รู้ คุณแม่จะเป็นคนให้กำลังใจลูกๆ มากกว่า น่าแปลกตรงที่คนป่วยกลับมีกำลังใจที่เข้มแข็งและปลอบใจลูกด้วยคำพูดว่า “แม่สู้อยู่แล้ว ให้ผ่าตัดก็ผ่า ให้ทำอะไรก็ทำ อย่าร้องไห้ให้แม่เสียกำลังใจ” คุณแม่กิ๊บมีความหวังมากที่จะสู้ เพราะความที่แม่เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งมาก บางทีท่านป่วยอยู่ก็ยังทำอาหารให้คนไม่ป่วยทานเลย”

สายเลือดร่วมผูกใจไว้ทุกที่

“ถามว่าเหนื่อยไหม เอาจริง กิ๊บไม่เหนื่อยเลยนะ ดีใจด้วยซ้ำที่ได้ดูแลท่าน กิ๊บรู้สึกว่าเรามีบุญที่ได้มีโอกาสได้ทำ ตอนนั้นแม่จะขอบคุณเราเยอะมาก เพราะกิ๊บเองก็ทำงานด้วยและต้องพาแม่ไปหาหมอ รอคิว ให้คีโม ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราเดินหน้าต่อคือการได้คุยกับพี่สาว โชคดีที่เราสองพี่น้องอายุใกล้กัน พี่สาวกิ๊บอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาเองจะห่วงและกังวลเรื่องคุณแม่มากเพราะไม่ได้อยู่ด้วยกัน ซึ่งพี่สาวกิ๊บจะย้ำเสมอว่าการรักษาต้องให้แม่เต็มที่ที่สุด โดยพี่สาวกิ๊บเป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดคนเดียว ขณะที่กิ๊บจะดูแลคุณแม่เป็นหลัก แม้เราใช้สิทธิ์บัตรทอง แต่ระหว่างทางของการรักษา เราจะไม่ให้คุณแม่ต้องเครียดเรื่องนี้เลย ยาและสูตรยาต่างๆ กิ๊บจะบอกหมอว่าขอที่ดีที่สุดให้คุณแม่ ในช่วง 1 ปีเต็มที่คุณแม่เข้ารับการรักษา กิ๊บมองเห็นสัจธรรมการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ทุกวัน เหมือนเป็นโจทย์ที่ต้องแก้กันนาทีต่อนาที จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ปี 62 พี่สาวกิ๊บเขาเสียสละมาก ตัดสินใจกลับมาอยู่กับคุณแม่ ก่อนที่ท่านจะจากไปหลังจากนั้นเพียง 1 อาทิตย์ เวลานั้น พวกเราสองคนคิดว่า นี่ไม่ใช่การมาเพื่อบอกลากัน แต่เป็นการได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา”

โลกที่หมุนไปด้วยความรัก

“ด้วยอาชีพของกิ๊บกับการเป็นโปรแกรมโปรดิวเซอร์ให้รายการบันเทิง ทำให้ตัวเองมีโอกาสได้ทำข่าวของคนบันเทิงที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะเป็นคุณแม่เราที่ป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน กิ๊บมองว่ามะเร็งแค่โรคร้ายโรคหนึ่ง แต่ไม่ใช่โชคร้าย มะเร็งทำให้กิ๊บได้ทำหน้าที่ลูกอย่างดีที่สุด ได้ใช้เวลาให้มีคุณค่ากับคุณพ่อและคุณแม่ ได้เรียนรู้ว่าใครที่อยู่เคียงข้างเราจริงๆ ในวันที่ชีวิตของเราพังยับเยิน และตัวเองโชคดีแค่ไหนที่คนรอบข้างไม่เคยทิ้ง เข้าอกเข้าใจ รวมทั้งรักคุณแม่ของเราเยอะมาก ทั้งพี่สาวที่เป็นคนสำคัญที่สุดของกิ๊บ เพื่อนพ้องน้องพี่ที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือหาคุณหมอ ให้คำแนะนำหลายอย่าง กิ๊บอยากบอกทุกคนว่ากิ๊บซาบซึ้งใจและอยากจะขอบคุณมากๆ เลยที่อยู่กับกิ๊บในเวลาที่ยากลำบาก” 

จงเตรียมตัวและตั้งรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ

“ก่อนหน้านี้ตัวกิ๊บเองไม่ค่อยจะตั้งรับอะไรมาก ก็จะคิดว่าเรามีความสุขที่ได้อยู่กับคุณแม่ และคิดแค่ว่าถ้าท่านแก่ตัวลง ท่านจะอยู่อย่างไร แต่พอตอนนี้แม่เสียไป ความคิดก็เปลี่ยนไป มะเร็งทำให้มุมมองของกิ๊บเปลี่ยนไปจากเดิม กิ๊บรู้สึกว่าตัวเองรอบคอบและเป็นคนที่วางแผนมากขึ้นกว่าเก่าเผื่อในวันที่อะไรๆ จะเกิดขึ้น”  

แล้วก็ได้รู้ว่าเวลาสำคัญมากแค่ไหน

“การป่วยของคุณแม่ ทำให้กิ๊บได้เห็นว่าในชีวิตคนคนหนึ่ง มันจะมีช่วงเวลาที่จะมีบางสิ่งบางอย่างเข้ามาเพื่อเป็นบททดสอบความเข้มแข็งของเราเสมอ ช่วงไหนสมหวังคือความสุข แต่ชีวิตคนเราก็มีวันที่ไม่สมหวังเช่นเดียวกัน เราแค่อดทนรอให้เจอความสุขนั้น มะเร็งทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคำว่าสูญเสีย แต่ก็เป็นการได้เรียนรู้คุณค่าของเวลาด้วย”

ตั้งตนบนความไม่ประมาท

“สำหรับคนที่มีคนใกล้ตัวที่กำลังป่วยจากโรคมะเร็ง จากประสบการณ์ของกิ๊บ อยากแนะนำให้ตรวจละเอียดที่อวัยวะต้องสงสัยไปเลย อย่างมะเร็งที่ท่อน้ำดีแบบคุณแม่กิ๊บ หากตรวจพบมักเจอระยะสุดท้าย ด้วยความที่โรคไม่แสดงอาการใดๆ แม้จะตรวจร่างกายประจำกันทุกปีก็จะไม่พบความผิดปกติ แต่ถ้าได้ตรวจแต่เนิ่นๆ และผ่าตัดออกได้ ก็มีโอกาสหายขาด กิ๊บไม่อยากให้ใครประมาทหรือผลัดวันประกันพรุ่งเลยนะ

นอกจากนี้ สำหรับคนที่พบมะเร็ง กิ๊บอยากให้ลองปรึกษาคุณหมอหลายๆ ที่ ถึงแนวทางการรักษา หากเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็เลือกที่สบายใจ ไปสะดวก และศรัทธาในตัวคุณหมอ สำหรับผู้ที่มีคนใกล้ตัวป่วยแล้วต้องให้เคมีบำบัด กิ๊บอยากให้มองว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยคือยาเคมีชนิดน้ำแข็งชั้นดี ที่ต้องใจเย็น อดทน และเข้าใจผู้ป่วยมากๆ อย่าถือโทษ โกรธ หรือตั้งคำถามผู้ป่วยเลย เพราะเราไม่รู้หรอกว่าพวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ทั้งความเจ็บปวดจากอาการของโรคและผลจากการรักษา สิ่งที่อยากให้มีต่อกันคือการสร้างกำลังและเสียงหัวเราะในวันที่เรายังทำให้กันได้” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul)  
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit sumanun)
ภาพเพิ่มเติม: วนิดา ฤกษ์นิรันดร์ (Wanida Roekniran)

Share To Social Media