กว่าจะมาเป็นแม่บ้านสายคีโม โบ-เสาวณิช ผิวขาว ผู้ฝ่าวิกฤตชีวิตไปพร้อมกับการรักษามะเร็งถึงสามครั้ง

หลายคนอาจรู้จัก โบ-เสาวณิช ผิวขาว จากคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ซึ่งเธอเขียนสูตรอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง สำหรับทำที่บ้านด้วยตัวเอง ลงประจำทุกเดือนในเพจ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และบางท่านก็อาจทราบมาว่า ก่อนจะมาเป็นคอลัมนิสต์ที่ชวนคนทำอาหารไปพร้อมกับการมองโลกในแง่ดี ชีวิตของโบต้องเผชิญกับโรคมะเร็งถึงสองครั้ง การสูญเสียคนที่รักอีกสองหน รวมถึงภาวะซึมเศร้าอันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ทั้งสอง และล่าสุดกับการต้องพบการกลับมาของมะเร็งเป็นครั้งที่สาม ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เธอยังคงสู้กับมัน…

หากยึดถือตามความเชื่อเรื่องเบญจเพสที่ซึ่งช่วงวัยที่ ‘ดวงตก’ ของผู้คนอยู่ที่วัย 25 เบญจเพสของโบก็มาช้าไป 7 ปี “มันแย่จนถึงขนาดเราตั้งคำถามว่าเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” โบย้อนคิดถึงห้วงเวลาหนึ่งในขณะที่เธอกำลังรักษามะเร็งครั้งแรก 

แต่นั่นล่ะ โบก็ฟันฝ่ามาได้ และยืนหยัดด้วยทัศนคติเชิงบวกในทุกวัน เธอบอกว่าวิกฤตทำให้เธอเคยไม่อยากมีชีวิต แต่ในทางกลับกัน เมื่อเวลาผ่านไป วิกฤตเดียวกันนี้ก็สอนให้เธอตระหนักในคุณค่าของมัน และนี่คือข้อคิดที่ตกตะกอนมาจากชีวิตของสาวแกร่งที่สู้กับมะเร็งถึงสามครั้ง และอีกหนึ่งความซึมเศร้าเพียงลำพัง  

พบมะเร็งเพราะเพื่อนจ้างให้ไปหาหมอ

            “จริงๆ เราเจอก้อนเนื้อที่หน้าอกมาได้สักพักแล้ว คือนอนๆ อยู่ก็คลำเจอ แต่คิดว่าเป็นลูกหนู ก็เลยชะล่าใจ” โบย้อนคิดถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด อย่างไรก็ดี คำว่า ‘สักพัก’ ที่โบว่าคือการปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาสองปี จนมาปี 2554 ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น และเธอเริ่มรู้สึกเจ็บ คล้ายมีใครเอาเข็มมาแทงเนื้อ

            “เราก็ยังชิลล์อยู่อีกนะ คือไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้ายอะไร อายุแค่สามสิบต้นๆ เองตอนนั้น ก็บ่นให้เพื่อนฟังว่าเจ็บ เพื่อนก็บอกให้ไปหาหมอ เราก็ดื้อดึงไม่ไป จนเพื่อนบอกว่าจ้างให้ไปก็ได้ ไปดูหน่อยเถอะ ก็เลยไป” 

            กระทั่งหลังผลเอ็กซ์เรย์ว่ามีก้อนเนื้อขนาด 4 เซนติเมตรอยู่ในทรวงอกด้านขวา โบก็ยังไม่คิดว่านั่นคือเนื้อร้าย คุณหมอทำการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หนึ่งเดือนเศษล่วงผ่าน ผลปรากฏว่าเธอเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2A อีกนิดเดียวก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3…

            “พอทราบผลก็ช็อคเลย เพราะไม่คิดจริงๆ ว่าเราจะเป็นมะเร็ง ก็เป็นคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่แหละ แต่ก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง จำได้ว่าพอหมอบอกว่าเราเป็นมะเร็ง หมอก็อธิบายขั้นตอนการรักษาให้เราฟัง แต่เราไม่ได้ยินอะไรเลย ในหัวมันอื้ออึงไปหมด จนหมอพูดจบ บอกกับเราว่ามีอะไรจะถามไหมครับ”

โบสารภาพว่าคำถามในหัวเยอะมากจนประมวลออกมาไม่ทัน ซึ่งเธอถามหมอไปเพียงแค่

“แล้วหนูยังกินเบียร์ได้อยู่ไหมคะ” เธอเล่าติดตลก แต่ก็ยอมรับว่าตอนนั้นเธอตระหนักแล้วว่าชีวิตหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

ต่อสู้กับการสูญเสีย

            โบเป็นลูกสาวคนเล็กในครอบครัวที่เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวมากว่า 50 ปีในจังหวัดตราด พ่อของโบจากไปเมื่อตอนที่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ก่อนที่เธอจะพบเนื้อร้าย โบทำธุรกิจขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โดยใช้ชีวิตที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งเธออยู่ที่นั่นเพียงลำพังตลอดหลายปีในการรักษามะเร็ง

            “เรารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มจากการผ่าตัดสงวนเต้า ก่อนจะทำการฉายแสงและเคมีบำบัดตามขั้นตอน ก็ไปรักษาคนเดียว ถ้าช่วงไหนอาการหนักไปไม่ไหว ก็รบกวนให้เพื่อนขับรถพาไปโรงพยาบาลบ้าง พอต้องอยู่กับโรคเพียงลำพังก็มีอาการซึมเศร้านะ ถึงขนาดคิดว่าไม่ต้องรักษาก็ได้ แต่ที่สู้เพราะแม่ยังอยู่ เราอยากอยู่เพื่อแม่” โบกล่าว

            กระนั้นในช่วงที่เธอรักษาจนครบขั้นตอนและมีแนวโน้มว่าจะหายขาด ชีวิตก็กลับมาเผชิญกับวิกฤต เดือนกรกฎาคม ปี 2559 พี่ชายของเธอประสบอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต ขณะที่อีก 5 เดือนต่อมา ระหว่างที่เธอกลับมาอยู่เป็นเพื่อนแม่ที่จังหวัดตราด แม่ของโบก็พบเนื้อร้ายในถุงน้ำดีขึ้นมาอีกคน สองแม่ลูกต้องไปหาหมอพร้อมกัน คนหนึ่งคือช่วงเวลาที่ใกล้จะหาย กับอีกคนคือช่วงเวลาที่เพิ่งเริ่มเป็น แต่แม่ของโบไม่ได้โชคดี เพราะมะเร็งที่เกิดในร่างแม่ของเธออยู่ในระยะสุดท้าย ไม่นานหลังจากนั้น แม่ของเธอก็จากไปในเดือนมกราคม 2560  

            “ทุกอย่างเหมือนพังทลาย ที่เราอยากหายจากโรคก็เพราะจะได้อยู่กับแม่ แต่พอแม่ไม่อยู่แล้ว เราจมดิ่งเลย คิดว่าแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม คนที่เรารักจากไปหมด ไม่เห็นต้องมีเราแล้วก็ได้” โบกล่าวเสียงเศร้า

            ความเครียดจากการสูญเสียคนในครอบครัวในเวลาใกล้กันถึงสองคน ยังส่งผลให้เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในกระดูกอีก…

            “มะเร็งที่หน้าอกมันกำลังจะหายแล้ว เพราะรักษาไปตามคอร์สจนหมด แต่เพราะความเครียด หมอจึงพบมะเร็งที่กระดูก ตอนพบเราคิดจะบอกหมอว่าไม่ต้องรักษาหรอก แต่หมอบอกว่ามันเป็นแค่ระยะเบื้องต้น ไม่ต้องผ่าตัดและให้ยาไปตามอาการก็หายได้”

            กระนั้นโบก็ไม่อยากมีชีวิตต่ออยู่ดี

            “เราพบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าอีก ชีวิตไม่เหลือความหวังอะไร จำได้ว่าหลังงานศพแม่ ก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ มีอยู่คืนหนึ่ง อุ้มเส้นใหญ่ (สุนัขพันธุ์เฟรนซ์บูลด็อกผสมชิวาวา ที่เธอเลี้ยงเป็นเพื่อนในช่วงที่เป็นมะเร็งครั้งแรก – ผู้เขียน) ขึ้นไปบนดาดฟ้าของตึก นั่งอยู่บนนั้นและคิดว่าจะกระโดดลงมาพร้อมกับหมา เราทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ชีวิตพอแค่นี้…

            เรานั่งนิ่งบนนั้นตั้งแต่ดึกจนถึงเช้า มีห้วงที่คิดว่าจะกระโดดลงมา แต่ก็ยังนั่งอยู่ต่อไป จนพระอาทิตย์ขึ้น จังหวะที่พระอาทิตย์ขึ้น เหมือนมีอะไรบางอย่างมาดลใจบอกว่ายังตายไม่ได้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ และถ้าตายไป ทุกคนต้องเสียใจแน่เลย ทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายเรา ทุกคนเสียสละให้เราอยู่ เรายังไม่ได้ตอบแทนอะไรพวกเขาเลย เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ สะสมบุญ และทำบุญให้พวกเขา…

เช้าวันนั้นเลยคิดได้ว่าเราต้องรักษาให้หายทั้งมะเร็งและโรคซึมเศร้า เราจะมีชีวิตอยู่” โบ กล่าว    

 อาหารคือยา และการสู้กับมะเร็งครั้งที่สาม

            ทุกวันนี้โบเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ในย่านเสนานิคม ชื่อว่า ‘เตี๋ยวเลียง เสาวณิช’ ต่อยอดสูตรการปรุงของแม่ของเธอ สู่เมนูก๋วยเตี๋ยวที่คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีที่เหมาะให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับประทานได้อย่างถูกปากและปลอดภัย ด้วยความเชื่อที่ว่าถึงเป็นผู้ป่วยก็ควรได้รับประทานอะไรอร่อยๆ เช่นกัน

            “อาหารมันเป็นยา คุณค่าทางโภชนาการก็เรื่องหนึ่ง แต่รสชาติที่อร่อยมันก็ทำให้เรามีความสุข เป็นยาทางใจ ตอนเราป่วยเรารู้สึกไม่อยากกินอะไรเลย มันเบื่ออาหาร ถึงบางทีจะรู้สึกอยากกิน ก็มาเจอว่าหลายเมนูมันไม่อร่อย นอกจากเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็มาคิดต่อว่าเราแจกสูตรอาหารให้ผู้ป่วยทำเองอยู่กับบ้านได้นี่ ให้การทำอาหารเป็นกิจกรรมยามว่าง แถมยังได้ออกกำลังกายที่ไม่หนัก เป็นยาใจอีกแบบให้ผู้ป่วยด้วย” โบ พูดถึงแรงบันดาลใจอีกอย่างนั่นคือคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ที่เธอเขียนประจำในเพจ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

            อย่างไรก็ตาม สี่ปีให้หลังจากการรักษามะเร็งครั้งที่สอง เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โบก็รู้สึกถึงอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะต้องยืนทำงานทั้งวัน กระทั่งอาการปวดลุกลามและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องไปเอ็กซ์เรย์ที่โรงพยาบาล

            วันที่ 6 มีนาคม 2563 – คุณหมอก็ได้ยืนยันว่ามะเร็งกลับมาที่กระดูกสันหลังตั้งแต่ต้นคอยาวไปจนถึงช่วงเอว ซึ่งอยู่ในระยะที่ 3 อันเกิดจากการแผ่กระจายมาจากเต้านมในครั้งแรก…   

            จากคนที่มีฮึดและใกล้จะเอาชนะโรคซึมเศร้าได้สำเร็จ มะเร็งก็กลับมาหลอกหลอนเธออีกครั้ง ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจไม่น้อย อย่างไรก็ดี ครั้งนี้โบตัดสินใจปฏิเสธการรักษาแบบเคมีบำบัดและฉายแสงเช่นที่แล้วมา โดยอาศัยแพทย์ทางเลือกหรือธรรมชาติบำบัดแทน

            “ตอนแรกคุณหมอก็ไม่เห็นด้วยกับเรา โดยบอกว่าถ้าไม่ทำเคมีบำบัด เราอาจเหลือเวลาในชีวิตไม่เกิน 18 เดือน แต่เราก็บอกว่าเราตัดสินใจจะรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ซึ่งท้ายที่สุดคุณหมอก็ยอมรับการตัดสินใจ” โบ กล่าว

            อาหารการกินคืออาวุธแรกที่เธอใช้ต่อสู้กับโรค เธอบอกเคล็ดลับว่าในทุกมื้อ เธอจะรับประทานผักใบเขียวปั่น 1.5 กิโลกรัม รับประทานเต้าหู้ในปริมาณมาก พร้อมกับอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อาวุธอย่างที่สองคือการฝึกจิตด้วยการนั่งสมาธิและปฏิบัติกรรมฐานในทุกวัน โบบอกว่าเธอตั้งใจใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุขที่สุด ความสุขที่เกิดขึ้นจากภายในของตัวเอง และความสุขที่มอบให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเมนูอาหารแจกในฐานะแม่บ้านคีโม หรือในปัจจุบันที่หลายครอบครัวต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจจาก Covid-19 เธอก็ร่วมลงทุนทรัพย์และลงแรงทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ที่เดือดร้อน

            “ถ้าชีวิตเราเหลืออีก 18 เดือนจริงๆ ก็อยากทำให้ดีและมีความสุขที่สุด สร้างคุณค่าในตัวเอง และมอบสิ่งที่ดีแก่ผู้อื่นในทุกวัน” โบกล่าว อย่างไรก็ดีเธอก็ยืนยันว่าการตัดสินใจเช่นนี้ หาใช่การยอมแพ้…

“ยังไงก็ตามแต่ การเตรียมตัวของเราในครั้งนี้ ไม่แปลว่า เราท้อแท้หรือไม่สู้กับโรคนะคะ เรายังคงสู้กับโรคทุกลมหายใจ เราเคยชนะมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งนี้เราก็ต้องชนะให้ได้อีกครั้งในแบบฉบับของเรา สู้ด้วยหัวใจ สู้ด้วยพลังบวกจากเพื่อนๆ รอบข้าง สู้สู้!” หญิงสาวที่ได้แรงบันดาลใจจากพลังในการสู้ชีวิตจากแม่และจากเพื่อนรอบข้างกล่าว พร้อมกำชับให้เราเติมรอยยิ้มของเธอลงท้ายประโยคมอบให้แก่ผู้อ่าน

เช่นเดียวกับทีมงาน Art for Cancer by Ireal ที่เป็นหนึ่งในผู้ให้กำลังใจโบ และเชื่อมั่นว่าเธอจะผ่านโรคภัยครั้งนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง เฉกเช่นครั้งแล้วๆ มา

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: เสาวณิช ผิวขาว

เป็นมะเร็งลำไส้ก็เท่ได้ สุทธิ ชมโพธิ์ นักสู้มะเร็งผู้ออกแบบเครื่องป้องกันถุงหน้าท้องให้ผู้ป่วยกลับมาหล่ออีกครั้ง

            นี่คือเรื่องราวของ สุทธิ ชมโพธิ์ ชายจากจังหวัดสุรินทร์ที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังหนุ่ม เขาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งลำไส้ที่ปลายทวารหนักตอนอายุ 37 และจำเป็นต้องมีถุงหน้าท้องเพื่อถ่ายหนักหลังจากนั้นไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามไม่เพียงเขามุ่งมั่นรักษามะเร็งจนหาย เขายังกลับมาเป็นนักวิ่งสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งทำโครงการสตาร์ทอัพสร้างสรรค์อุปกรณ์ป้องกันสำหรับผู้มีถุงเก็บอุจจาระหน้าท้อง ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดทวารหนักมาวิ่งได้ แต่ยังสามารถสวมใส่กางเกงยีนส์เข้ารูปอย่างเรียบเนียน – เท่เหมือนคนอื่นๆ

            ข้างต้นคือเรื่องราวของเขา แต่นั่นล่ะ กว่าจะถึงจุดนั้น ชีวิตของชายอายุสี่สิบต้นๆ ผู้นี้ไม่ง่ายเลย และต่อไปนี่คือ ‘ระหว่างทาง’ อันแสนทรหดของชายเลือกนักสู้ผู้นี้

นักสู้เลือดอีสาน

            “ผมเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ บ้านไม่ได้มีฐานะ จึงเข้ามาใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ตอนอายุสิบสอง พบกับภรรยาตอนอายุสิบหก และมีลูกชายคนแรกตอนอายุสิบแปด มีลูกสามคน ผมทำงานหนักส่งเสียพวกเขาเรียนมาตลอด” สุทธิ เล่าถึงชีวิตช่วงต้นของเขาพอสังเขป ชีวิตที่เขาบอกว่าต้องสู้มาตั้งแต่จำความได้

แน่นอน ถ้าย้อนกลับไปในเวลานั้น สุทธิก็คงไม่คาดคิดเหมือนกันว่านอกจากการสู้เพื่อให้มีชีวิตที่ดี เขายังต้องมาสู้กับมะเร็งในวัยสามสิบเจ็ดปีอีกต่อ

ปี 2551 ขณะที่เขาเป็นพนักงานขับรถยกสินค้าในโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี จู่ๆ เขาก็พบว่าตัวเองมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ จากถ่ายหนักทุกวันเป็นกิจวัตร ขยับมาเป็นครั้งละสองวันหรือมากกว่า ที่สำคัญเขามีอาการเจ็บที่ปลายทวาร และมีเลือดออกมาพร้อมกับของเสีย สุทธิไปหาหมอ และได้รับคำวินิจฉัยว่าเขาเป็นริดสีดวงทวาร ก่อนจะรักษาไปตามอาการจนดีขึ้น กระทั่ง 7 ปีผ่านไป เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2558 อาการที่เขาคิดว่ามาจากริดสีดวงทวารก็กลับมากำเริบหนักอีกครั้ง

“ตอนแรกคิดว่าเพราะเป็นพฤติกรรม ผมชอบกินเผ็ด และความที่ทำงานด้วยการนั่งอยู่บนรถตลอด โดยส่วนมากก็ทำโอทีกะกลางคืน เข้างานสี่โมงเย็น เลิกงานอีกทีก็หกโมงเช้า เลยคิดว่าริดสีดวงกำเริบอีกแล้ว แต่รอบนี้เป็นหนักกว่าเก่า เพราะเจ็บที่ก้นมาก เจ็บในแบบที่ขับรถและนั่งตรงๆ ไม่ได้เลย” สุทธิ กล่าว

จนกระทั่งเขาพบว่าตัวเองขับถ่ายเป็นเลือดและน้ำเหลืองอีกครั้ง จึงไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จนสัมผัสได้ถึงสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในทวาร สุทธิไปพบหมออีกครั้งในวันที่ 11 สิงหาคม ผ่าชิ้นเนื้อและทราบผลว่าเป็นมะเร็งอย่างเป็นทางการในอีก 9 วันต่อมา (20 สิงหาคม) และผ่าตัดเนื้อร้ายออกวันที่ 26 สิงหาคม กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือน อย่างไรก็ดี ก่อนที่คุณหมอนัดผ่าตัด ก็ได้บอกทั้งข่าวดีและข่าวร้ายที่ส่งผลไปทั้งชีวิตของสุทธิ     

ข่าวดีก็คือ จากผลวินิจฉัย เนื้อร้ายยังไม่แพร่กระจาย เขาอาจไม่จำเป็นต้องทำการฉายแสงหรือเคมีบำบัด (ซึ่งต่อมาเขาก็ไม่ต้องทำกระบวนการเหล่านี้เลยสักครั้ง) แต่ข่าวร้ายก็ดูหนักหนากว่า เพราะเนื้อร้ายที่ตัดทิ้งไปคือหูรูดทวารหนัก นั่นหมายความว่าหลังผ่าตัด เขาจะไม่มีอวัยวะที่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เอง เขาจำเป็นต้องติดถุงเก็บอุจจาระบริเวณหน้าท้องไปตลอดชีวิต

แล้วผมจะสู้กับมันอย่างไร?

            เมื่อมาไตร่ตรองและสืบประวัติ สุทธิพบว่าไม่ใช่ทั้งพันธุกรรมหรือโชคชะตาใดๆ แต่เป็นเพราะพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเขาเอง เขาบอกว่าเป็นเพราะเขาทำงานหนักและทำงานข้ามคืนตลอด วิถีการกินของเขาจึงขึ้นอยู่กับร้านอาหารข้างทางราคาประหยัด กับข้าวใส่ถุงพลาสติก ข้าวกล่องไมโครเวฟ เมนูปิ้งย่าง และอีกสารพันที่มีเพื่อประทังชีพเท่าๆ กับที่มีส่วนในการกระตุ้นเซลล์ร้ายในร่างกาย อีกทั้งเขาเป็นคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ด้วย ถึงแม้ไม่เยอะ แต่เมื่อบวกรวมกับปัจจัยด้านอาหารการกิน เนื้อร้ายก็เกิดขึ้นในร่างกายเขาจนได้ 

            “พอทราบว่าเป็นมะเร็ง ผมก็ช็อคเลย คำถามมีเข้ามาเต็มไปหมดในหัว ผมคิดถึงความตายเป็นอันดับแรก คำถามต่อมาคือทำไมต้องเป็นเรา ชีวิตเราไม่พร้อม ไหนจะต้องหาเลี้ยงดูครอบครัวอีก ยอมรับว่าหดหู่มาก แต่พอผ่านไปสักพัก ก็กลับมาคิดว่าเราต้องสู้ต่อ ความกังวลถึงครอบครัว ถึงลูกๆ นี่แหละที่ทำให้ผมต้องสู้ต่อ คำถามสุดท้ายในช่วงเวลานั้นจึงกลายเป็น แล้วผมจะสู้กับมันอย่างไร” สุทธิกล่าว

เขาบอกว่าหลังจากหาคำตอบสำหรับคำถามสุดท้ายได้แล้ว ก็เหมือนเขาพบเส้นทางในชีวิตให้เดินต่อ หลังจากนั้นเขาไม่มีความสงสัยอะไรในชีวิตอีกเลย

            “ผมใช้เวลาพักฟื้นและรักษาตัวอยู่บ้านสี่เดือน ช่วงเวลานี้เหมือนช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตเลย เพราะวิถีชีวิตแบบเดิม ต้องเปลี่ยนใหม่หมด ทั้งการนั่ง การเดิน การเคลื่อนไหว และที่สำคัญคือการขับถ่ายผ่านลำไส้ตรงลงไปในถุงหน้าท้อง ตอนแรกชีวิตลำบากมาก เพราะเลือดออกก้นตลอดเวลา และต้องสวมผ้าอนามัยรองไว้ ส่วนก้นที่ผ่าปิดก็ยังต้องใส่อุปกรณ์ที่เรียกว่า shot drain เพื่อดึงของเหลวออกมา เจ็บและทุลักทุเลมากๆ

            แต่พอผ่านไปสี่เดือน สภาพร่างกายเริ่มดีขึ้น คุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่มากขึ้น ผมจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่ 1 มกราคม 2559 ผมนอนอยู่บ้าน และเห็นรองเท้าวิ่ง ก่อนหน้านี้ผมชอบใส่รองเท้าวิ่งแต่ไม่เคยวิ่ง แค่ใส่ไปเที่ยว เพราะมันนุ่มดี แต่วันนั้นจู่ๆ เหมือนร่างกายมันบอกผมให้ลุกขึ้นมาสิ ลุกขึ้นมาเดิน เดินก่อนแล้วค่อยวิ่งกัน

            ซึ่งพอร่างกายมันบอกอย่างนั้น ผมก็สวมรองเท้าวิ่ง และลองเดินเท้าเหยาะๆ ออกจากบ้าน วันนั้นเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตอีกครั้ง

กลับสู่สังเวียน

            จากผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดหน้าท้อง ก่อนจะกลับมาสวมรองเท้าวิ่งเพื่อเดินออกกำลังกายระยะสั้น และพัฒนาสเต็ปการเดินด้วยความเร็วขึ้น จนกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง สุทธิใช้เวลาตลอดปี 2559 เพื่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เช่นเดียวกับวันแรกที่เขาเห็นรองเท้าและเกิดแรงบันดาลใจ เขาจำได้แม่นถึงวันแรกที่เขาร่วมวิ่ง Fun Run ระยะทาง 5 กิโลเมตร กับนักวิ่งคนอื่นๆ ซึ่งยังถือเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมการวิ่งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในชีวิต วันที่ 19 มีนาคม 2560

            “มีคนสมัครวิ่งอยู่ 655 คน ผมเข้าเส้นชัยประมาณคนที่ 20 ใช้เวลา 26.47 นาที ส่วนอีก 630 คนวิ่งตามหลังผมมา ผมเพิ่งหายจากมะเร็ง มีลำไส้อยู่นอกตัว มันไม่ใช่แค่การวิ่งเข้าเส้นชัย แต่นี่ทำให้ผมมั่นใจว่าผมเอาชนะตัวเองได้ ผมมีความมั่นใจในชีวิตหลังจากนี้” สุทธิ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

            ทั้งนี้ สุทธิให้เครดิตความสำเร็จในการวิ่งสนามแรกในชีวิตของเขากับประดิษฐกรรมที่เขาคิดค้นขึ้นมา นั่นคือเครื่องป้องกันถุงเก็บอุจจาระบริเวณหน้าท้อง ซึ่งทำให้อดีตผู้ป่วยมะเร็งอย่างเขา สามารถเข้าร่วมวิ่งกับนักวิ่งคนอื่นๆ โดยไม่มีใครรู้ว่าเขามีถุงติดอยู่บนหน้าท้องเลย

            “อุปกรณ์ป้องกันถุงหน้าท้องมันเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่แล้วครับ เป็นโลหะสำหรับคลุมถุง เพราะส่วนนั้นของร่างกายเรามีแค่ถุงกับลำไส้เลย โดนอะไรนิดก็เจ็บ แต่ความที่โลหะแบบเดิมมันมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหนัก ไม่เหมาะกับการรับแรงกระแทกอย่างการวิ่งเร็วๆ ผมก็เลยมาคิดว่าน่าจะมีเครื่องป้องกันที่กะทัดรัดกว่านี้”

            และนั่นทำให้สุทธิคิดถึงกระจับสำหรับป้องกันกล่องดวงใจของนักมวย

            “ตอนเด็กๆ ผมเคยชกมวย และจำได้ว่ามีกระจับป้องกัน ผมก็เลยคิดว่าถ้าย้ายกระจับจากตรงนั้นมาป้องกันส่วนที่เป็นถุงหน้าท้องเราล่ะ เลยไปหาอีลาสติกที่มาช่วยผูกกระจับไว้คล้ายๆ ขอบกางเกงยางยืด แล้วก็เย็บตีนตุ๊กแกติดกับส่วนที่เป็นโลหะ ตอนแรกก็ทำแบบง่ายๆ ก่อน ทดลองไปทดลองมาจากสแตนเลสที่ค่อนข้างมีน้ำหนัก ก็พัฒนามาจนได้วัสดุไทเทเนียม ซึ่งคล่องตัวกว่าและป้องกันการกระแทกไปพร้อมกัน”

            ในวันที่เราสัมภาษณ์เขา สุทธิสวมกางเกงยีนส์ทรงพอดีตัว ดูสมาร์ทมากทีเดียว เขาบอกว่าเมื่อก่อนการมีถุงหน้าท้องแบบเขา ไม่มีทางจะสวมกางเกงยีนส์แบบกระชับเช่นนี้ได้… ใช่ ในขณะนี้เขาก็ยังสวมเครื่องป้องกันนั้นอยู่

            “ผมเป็นคนสุรินทร์ ผู้ชายโซนนี้ก็อารมณ์บัวขาว ผิวเข้มๆ หน้าดุๆ คือถ้าแต่งตัวเลอะๆ เนี่ยจบเลย ดูสกปรก ซึ่งผมก็ชอบแต่งตัวมากๆ อยู่แล้วด้วย ชอบแต่งตัวให้ดูสะอาดและสมาร์ท ตอนป่วยก็คิดแหละว่าหลังจากนี้เราจะต้องใส่กางเกงหลวมๆ ขาบานๆ ไปตลอดชีวิตใช่ไหม ซึ่งเมื่อบวกรวมกับความต้องการอยากกลับมาวิ่งได้ จึงจุดประกายให้ผมคิดถึงเครื่องป้องกันนี้ออก”

            สุทธิตั้งชื่ออุปกรณ์นี้ว่า Stoma Smile คล้ายบอกเป็นนัยว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ก็ยิ้มได้ เริ่มแรกเขาทำแจกผู้ป่วยด้วยกัน โดยมีแผนจะนำไปจดสิทธิบัตรเพื่อจำหน่ายในราคาย่อมเยา หวังให้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่ประสบโรคภัยแบบเดียวกับเขา พร้อมกันนี้สุทธิยังกลายเป็นนักวิ่งที่คอยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น รวมถึงคอยให้คำแนะนำผู้ป่วยมะเร็งลำไส้แบบเดียวกับเขาในการรักษาและปรับตัวกับการใช้ชีวิตใหม่    

            “ผู้ได้รับการรักษาและต้องมีถุงหน้าท้องทั้งชีวิตแบบผม ทุกคนมักรู้สึกอายหรือรู้สึกเป็นที่น่ารังเกียจในสายตาของคนอื่น ผมก็เคยผ่าน และต่อสู้กับความคิดของตัวเองมาได้ จึงอยากเป็นแบบอย่างให้คนที่ประสบเคราะห์เดียวกันกับผม ไม่ใช่แค่ไม่ต้องรู้สึกอาย แต่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบคนอื่นๆ ได้…

“ผมบอกกับคนอื่นๆ อยู่เสมอว่า จริงอยู่ที่เราป่วย แต่เราผ่านมาได้แล้ว เรามีความพิเศษตรงถุงหน้าท้อง ถ้าเราอยู่กับมันได้ เราจะเก่ง ยิ่งถ้าเราอยู่กับมันด้วยความมั่นใจ เราจะเก่งกว่าคนอื่นๆ” สุทธิ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากผ่านช่วงมรสุมของชีวิตทั้งทางร่ากายและความสัมพันธ์มาตลอดหลายปี พร้อมไปกับการสร้างชื่อจากการเป็นนักวิ่งสร้างแรงบันดาลใจ และนักออกแบบอุปกรณ์เสริมความมั่นใจแก่ผู้ป่วย ในปี 2562 สุทธิก็ได้พบรักใหม่กับนางพยาบาล และเพิ่งแต่งงานไปในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ที่ผ่านมา เขาบอกกับเราว่าทุกวันนี้เขารู้สึกเหมือนผู้ชายที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

แม้เราไม่ทราบว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรมาวัด แต่จากรอยยิ้มและน้ำเสียงอันมั่นใจของเขา เราก็เชื่อว่าเขามีความสุขเช่นนั้นจริงๆ 

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: สุทธิ ชมโพธิ์

เมื่อไม่สูบบุหรี่ ไม่มีกรรมพันธุ์ แต่ยังเป็นมะเร็งปอดได้…ชีวิตก็ต้องก้าวต่อไป!!’ อรสิรี ตั้งสัจจธรรม อยู่กับมะเร็งอย่างมีสติ

เราอาจคุ้นเคยกับการที่ใครสักคนเรียกสัตว์เลี้ยงแสนรักด้วยสรรพนามว่า ‘เขา’ แปลกหน่อยก็อาจเป็นสิ่งของที่ใครคนนั้นผูกพัน แต่แทบไม่ได้ยินคำนี้กับมะเร็ง

ตั๊กอรสิรี ตั้งสัจจธรรม ใช้สรรพนามเรียกเซลล์มะเร็งในร่างกายของเธอว่า ‘เขา’

“หลังจากที่เจาะน้ำที่ปอดไปตรวจ ก็เจอเขาเลย”, “พอกินยาเขาก็ยุบลงไปบ้าง” หรือ “เขาไม่มีทางหาย ทุกวันนี้ก็ต้องอยู่ด้วยกันไป” เป็นอาทิ

ก่อนหน้านี้ตั๊กทำงานด้านการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งสร้างรายได้แก่เธออย่างมั่นคง เธอแต่งงานตอนอายุสามสิบปี มีแผนจะสร้างครอบครัวในอุดมคติ หากไม่ใช่เพราะอาการไอแปลกๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในวัยสามสิบสอง

จากอาการไอเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่มีไข้และเสมหะไม่กี่ครั้งต่อวัน กลับกลายเป็นความถี่ที่ใครได้ยินก็ตระหนักได้ว่าผิดปกติ

“เราไม่ใช่คนสูบบุหรี่และดื่มเหล้า คนรอบตัวก็ไม่สูบบุหรี่ ครอบครัวก็ไม่มีประวัติเป็นมะเร็ง ตอนไปหาหมอ ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรมาก” ตั๊กกล่าว

เริ่มจากที่คุณหมอจ่ายยาพื้นฐานอย่างยาแก้ไอ กระนั้นหลังจากที่ตั๊กกินยาไปได้สักพัก เธอก็ยังมีอาการไออยู่ เธอเข้า-ออกโรงพยาบาลอยู่ 5 ครั้ง ด้วยคำวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นกรดไหลย้อนไปจนถึงหอบหืด แต่ไม่ว่าจะได้รับยาอะไร ตั๊กก็ยังไม่หยุดไอ กระทั่งคุณหมอให้เธอไปเอ๊กซเรย์ปอด แล้วพบว่ามีน้ำขังอยู่ข้างในพร้อมกับฝ้าสีขาวที่ขึ้นบนเนื้อปอด

“ถึงตรงนั้นคุณหมอก็บอกว่าน่าจะเป็นวัณโรค เลยเจาะน้ำในปอดไปตรวจ พอเจาะออกมา ปรากฏว่าน้ำเป็นสีเลือด แทนที่จะเป็นสีเหลืองใสแบบที่ผู้ป่วยวัณโรคเป็นกัน…”

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ตั๊กก็ได้รับคำยืนยันว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกาย เซลล์ที่ว่ามีชื่อว่า Adenocarcinoma เป็นเซลล์แบบ non small cell ชนิดที่มี ALK เป็นบวก ซึ่งจะไม่พบจากผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนอย่างไม่ทราบสาเหตุ คุณหมอบอกเธอว่ามีเพียง 2-5% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเท่านั้นที่จะพบเซลล์ชนิดนี้

ฟังดูว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่าก็คือหลังจากทำ PET scan ก็พบว่าเซลล์ร้ายได้ลุกลามจากปอดไปยังอวัยวะภายในอื่นๆ แล้ว – เธอเป็นมะเร็งขั้นที่ 4

กล่าวให้ชัดคือ นี่เป็นระยะที่ไม่มีวันจะหายขาด


การต่อสู้เพื่ออยู่กับมะเร็งให้ได้

            ปัจจุบันตั๊กอายุ 34 ภายนอกดูเป็นผู้หญิงที่กระฉับกระเฉง แข็งแรง และมองโลกในแง่บวก หากไม่ถาม ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าภายในร่างกาย – เนื้อปอดทั้งสองข้าง, ช่องเยื่อหุ้มปอด, ตับ, ต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ไหปลาร้าลงมาถึงช่องท้อง และกระดูกของเธอ ล้วนมีเซลล์มะเร็งกระจายอยู่ทั่ว ถึงวันนี้ เธออยู่กับพวกมันมาได้สองปีกว่าแล้ว

            แม้เธอบอกว่าตลอดสองปีที่ผ่านมามีเจ็บปวดบ้าง แต่โดยรวมก็ผ่านมาได้ด้วยดี กระนั้นการต่อสู้ภายในร่างกายของตั๊กก็เรียกได้ว่าดุเดือดและสาหัส เริ่มจากโจทย์แรกที่ว่าเชื้อมะเร็งที่ลุกลามทำให้เธอไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ คุณหมอจึงรักษาด้วยการให้กินยามุ่งเป้าเพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง

เธอเข้าโครงการวิจัยยา Alectinib ซึ่งเป็นยาตัวใหม่ล่าสุดในขณะนั้นที่แทบไม่เคยใช้กับผู้ป่วยในไทย (เพิ่งได้รับการเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา แต่ที่ไทยในตอนนั้นยังอยู่ระหว่างการรับรองของ อ.ย.) ต้องกินยาตัวดังกล่าววันละ 8 เม็ดทุกวัน กระนั้นเมื่อกินไปได้เพียงสัปดาห์เดียว เธอก็พบว่าผื่นแพ้ขึ้นผิวหนังแทบทุกส่วนในร่างกาย เธอหยุดยาไปหนึ่งเดือน ก่อนจะกลับมากินอีกครั้งในปริมาณที่ลดลง ซึ่งคราวนี้เห็นผล เซลล์มะเร็งเริ่มคลี่คลาย ตั๊กกินยาชนิดนี้ติดต่อกัน 11 เดือน กระทั่งในเดือนที่ 12 ร่างกายก็เกิดอาการดื้อยามุ่งเป้า คราวนี้คุณหมอเลยให้เธอเข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัด เธอทำคีโมอีก 9 ครั้ง… แต่นั่นก็ยังไม่จบ

“ตอนกินยาช่วงแรก เรามุ่งเป้ารักษาเซลล์มะเร็งในปอด ซึ่งก็ยุบไป 70-80% แต่พอในปอดยุบ ปรากฏว่าในตับกลับลามขึ้นมาอีก นั่นก็คือดื้อยา ก็เลยมาทำคีโม หลังทำไป 9 ครั้ง มะเร็งในตับยุบ แต่ในปอดกลับมาลามใหม่อีก”

“เหมือนเรือที่มีรูรั่วเลยค่ะ พออุดจุดนึงได้แล้ว อีกจุดก็กลับมารั่วใหม่ เขาดื้อมากเลย” ตั๊กกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ เธอเปรียบร่างกายเหมือนเรือ และใช้คำว่า ‘เขา’ กับเซลล์มะเร็งประหนึ่งเรียกเพื่อน

หลังจาก Alectinib และคีโมไม่ช่วยอะไรไปมากกว่านี้ ท้ายที่สุดหมอจึงสั่งจ่ายยา Ceritinib ให้เธอ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เธอกินยาตัวนี้ติดต่อกันทุกวันมา 5 เดือนแล้ว แม้เซลล์มะเร็งจะไม่ยุบ หากก็ไม่ลามไปกว่านี้ เธอว่าดีหน่อยก็ตรงที่ ‘พวกเขา’ ยังอนุญาตให้เธอสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข มีเจ็บปวดบ้างเล็กน้อยเป็นครั้งคราว หากทั้งหมดทั้งมวล เธอก็ไม่รู้สึกทรมานกายแต่อย่างใด

ไม่ใช่ต้องคิดบวก แต่เพราะถ้าจมอยู่กับความคิดลบ มันไม่ช่วยอะไร

ตั๊กบอกว่าเธอตระหนักดีว่าเป้าหมายของการรักษาผู้เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอย่างเธอ ไม่ใช่การทำให้หายจากโรค แต่เป็นการควบคุมอาการและยืดระยะเวลาในชีวิตเพื่อใช้มันอย่างมีคุณภาพให้มากที่สุด

“หมอบอกว่ามีคนไข้ที่ต่างประเทศ เขาก็อยู่กับมันได้เป็นสิบๆ ปี แต่ขณะเดียวกันก็มีไม่น้อยที่มีชีวิตอยู่ได้แค่ไม่กี่เดือน” หญิงสาวที่อยู่กับมะเร็งระยะสุดท้ายมาสองปีเศษกล่าว

ย้อนกลับไปในตอนนั้น ตั๊กยอมรับว่าทันทีที่รู้เรื่องนี้ เธอทั้งเครียดและเสียใจ เธอเพิ่งมีอายุได้สามสิบสอง มีแผนการในชีวิตมากมาย โรคร้ายปรากฏอย่างไม่มีเหตุผล เรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิด

“พอรู้อย่างนั้นก็ตระหนักได้ว่าเรามีลูกไม่ได้แน่นอน เพราะถ้ามีลูกต้องหยุดยา ซึ่งถ้าหยุดยาเซลล์มะเร็งก็อาจลุกลาม ไม่รู้จะรอดถึงเมื่อไหร่ ความคิดเกี่ยวกับชีวิตของเราทั้งหมดเปลี่ยนเลยนะ จากที่คิดว่าเรามีแผนการอีกยาวไกล ยังต้องทำนั่นทำนี่มันหายไปหมด คิดแต่ว่าเราจะอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ แล้วจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในแบบไหน”

กระนั้นก็ดี แม้ในกายจะแย่ แต่หัวใจของเธอก็ฟื้นกลับมาเข้มแข็งได้เร็วกว่าปกติ อาจจะด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง หรือเพราะเธอเห็นแม่เศร้าซึมจนไม่เป็นอันกินอันนอน เธอจึงต้องสู้เพื่อให้ท่านเห็นว่าเธอไหว สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลต่อกรอบคิดในการดำรงชีวิตอย่างมีสติของเธอด้วย

“พอเวลาผ่านไปได้สักพักเราก็นึกถึงความตาย แต่ไม่ใช่ความรู้สึกหมดอาลัยตายอยากนะ คือเราจะสู้ไปจนสุดทางนั่นแหละ แต่ก็เตรียมใจกับความไม่แน่นอนเอาไว้ คือถ้าพรุ่งนี้ไม่ตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่เป็นไร เพราะเราเตรียมพร้อมไว้หมด เราทำ living will ไว้แล้ว” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

มีบทเรียนสองสามเรื่องที่เอาเข้าจริงเธอก็ไม่อยากเรียนรู้มันในตอนนี้ แต่ก็โชคชะตาก็ทำให้เธอไม่อาจเลี่ยง

ข้อแรกคือความคิดต่อชีวิต จากผู้หญิงที่บ้างาน เธอและสามีต่างทำงานอย่างหนักจากเช้าจรดค่ำและไม่เคยกินมื้อเย็นด้วยกันในทุกวันทำงาน สองคนต่างหาเงินเป็นบ้าเป็นหลัง โรคร้ายก็กลับทำให้เธอฉุกคิด

“ก็รู้แหละว่าทุกคนต้องตาย แต่ก็ไม่คิดว่าอายุเราแค่นี้ ความตายจะอยู่ใกล้เราขนาดนี้ พอมาเจอโรค เราก็หยุดทุกอย่างและให้ความสำคัญกับเวลาที่เหลือ กับครอบครัว กับคนที่เรารัก ตั้งใจจะใช้มันให้มีคุณภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ส่วนอีกเรื่องคือ ‘การปล่อยวาง’ เธอยอมรับว่าเธอเคยได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมโรคร้ายต้องมาเกิดกับเธอ แต่ท้ายที่สุดเธอก็พบว่านี่คือสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ ในเมื่อเกิดแล้ว ควบคุมไม่ได้ เธอก็ต้องยอมรับ และควบคุมจิตใจเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับมันแทน

“นั่งคิดจนคิดได้ว่าไม่มีประโยชน์ที่เราจะจมอยู่กับความทุกข์ ไม่ใช่ว่าเราต้องคิดบวกนะ แต่การจมอยู่กับความคิดแย่ๆ หรือเอาแต่ตั้งคำถาม มันไม่ช่วยอะไร คุณไม่มีทางได้พบคำตอบ เอาเวลาไปใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้มีคุณภาพ มีความสุขที่สุดดีกว่า” เธอกล่าว 

            ทุกวันนี้ตั๊กยังใช้ชีวิตได้ปกติสุข แม้ต้องกินยาไม่ให้ขาดและยังต้องรับมือกับผลข้างเคียงของยาอยู่มาก แต่ก็สามารถออกกำลังกายได้ทุกวันเช่นกัน เธอทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ALK สเตชั่น’ เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ในการรักษามะเร็งเฉพาะทาง ตั้งใจให้ข้อมูลนี้ช่วยสื่อสารความเข้าใจในกระบวนการรักษา เนื่องจากประสบการณ์ตรงที่ว่าเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เธอจะได้รับคำแนะนำจากคนรอบข้างหลากหลายแนวทาง ซึ่งหลายครั้งเธอก็กลับขัดแย้งกันเอง หรือทำให้เธอสับสนโดยใช่เหตุ

            แม้จะเตรียมใจรับความไม่แน่นอนในชีวิตได้แล้ว หากตั๊กก็ยังตั้งใจจะสู้กับโรคร้ายในร่างกายไปจนสุดทาง เธอเขียนคำนิยามไว้ในแฟนเพจของเธอเอง ‘เมื่อไม่สูบบุหรี่ ไม่มีกรรมพันธุ์ แต่ยังเป็น มะเร็งปอดได้…ชีวิตก็ต้องก้าวต่อไป!!ซึ่งเธอหมายความตามนั้น พร้อมกันนี้เธอก็ใช้เวลาที่มีร่วมกับคนรัก ยินดีที่ได้แบ่งปัน และทำให้ทุกวันเปี่ยมด้วยความสุขเท่าที่จะเป็นไปได้

ติดตามการต่อสู้มะเร็งของตั๊กได้ที่ https://www.facebook.com/ALKstation/

หมายเหตุ: อรสิรีได้จากไปอย่างสงบในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563


เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: อรสิรี ตั้งสัจจธรรม

มะเร็งเป็นบททดสอบและของขวัญ ‘ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์’ ผู้ป่วยมะเร็งเนื้อเยื่อบุช่องท้อง ผู้สู้โรคด้วยความรักและการแบ่งปัน

         ของขวัญ – ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์ เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอทำงานเป็นผู้ประสานงานองค์กร Young Women’s Christian Association หรือ YWCA เธอใช้ชีวิตแบบคนทำงานทั่วไป ไม่ได้เจ็บป่วยออดแอด ในวัยเพียง 25 จู่ๆ เธอก็พบว่าตัวเองปวดศีรษะหนักจนไม่สามารถรักษาสมดุลร่างกายได้ เป็นครั้งแรกที่เธอต้องไปหาหมอ ด้วยเข้าใจว่าเป็น Office Syndrome และกลับมารับประทานยาแก้ปวด ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

จาก Office Syndrome สู่มะเร็งในช่องท้อง

         หลังจากกลับมาจากการตรวจครั้งแรก ของขวัญเริ่มใส่ใจสุขภาพ เธอออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองไม่เครียด รวมถึงพบปะเพื่อนฝูงอยู่บ่อยๆ กระนั้นอาการปวดศีรษะกลับไม่ดีขึ้นเลย กระทั่งเธอมีโอกาสกลับไปเชียงใหม่ เธอเข้ารับการตรวจสมองด้วย CT Scan กระนั้นผลการตรวจครั้งที่สองก็ยังไม่พบสาเหตุสำคัญใด  

            “คุณหมอระบุว่าสมองบางส่วนของเราฝ่อ แต่หมอกลับบอกว่าไม่มีอะไรน่ากังวล ดีที่คุณแม่เราเป็นพยาบาล แม่บอกว่าการที่คนจะสมองฝ่อได้คือต้องเป็นคนอายุมากแล้ว ซึ่งไม่น่าจะเกิดกับเรา คราวนี้คุณแม่เลยเรียกให้เรากลับมาเชียงใหม่อีกที ทำ CT Scan อีกครั้งหนึ่ง” ของขวัญเอ่ยถึงคุณแม่ของเธอ – นงลักษณ์ เจษฎาพันธ์ แม่ผู้ตัดสินใจให้เธอลองตรวจร่างกายอีกเป็นครั้งที่สาม

            วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 คือวันที่เธอเข้ารับการตรวจ CT Scan เป็นครั้งที่สาม พบว่าเธอมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง และภายหลังพบว่าภายในช่องท้องของเธอมีเลือดออก แม้ต่อมาคุณหมอจะได้ให้ยาระงับฮอร์โมน เนื่องจากวินิจฉัยว่าเลือดที่ออกมาจากการตกไข่ ทว่าเลือดในช่องท้องก็ยังออกอยู่ หมอจึงทำการตรวจเลือดอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของอาการเลือดออก และพบว่าเกล็ดเลือดของเธอมีความผิดปรกติ จึงทำให้เลือดออกง่าย

            ของขวัญต้องพบหมออีกเป็นครั้งที่ 4 โดยรอบนี้เธอเข้าเอ็กซ์เรย์ช่องท้องเพราะมีเลือดออกในช่องท้องอีกครั้ง และในที่สุดก็พบสาเหตุของอาการปวด นั่นคือก้อนเนื้อขนาดราว 10 เซนติเมตรหลังมดลูก และชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกจำนวนมากที่กระจายเต็มช่องท้อง

“คุณหมอได้ผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อนำเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ และพบว่าเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อบุช่องท้อง เรียกว่า เมโสเธลิโอมา (Mesothelioma) เป็นมะเร็งที่พบในคนทั่วไปได้ยากมาก” ของขวัญกล่าว

“พระเจ้าอนุญาตให้เราเป็นได้ พระองค์ก็รักษาเราได้”

            ความที่สาเหตุมาจากเนื้อร้ายชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่กระจายอยู่ในช่องท้อง ปัญหาแรกที่แพทย์ผู้รักษาของขวัญพบก็คือทีมแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อออกได้ เช่นนั้นแล้วการใช้เคมีบำบัด กำจัดเนื้อร้ายจากภายในจึงเป็นทางเลือกหลักแทน

            ของขวัญเข้ารับการทำเคมีบำบัดด้วยตัวยา Alimta และ Cisplatin ทั้งหมด 6 ครั้ง ใช้เวลา 18 สัปดาห์ ซึ่งแน่นอน ผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดก็หนักหน่วงเช่นที่ผู้ป่วยมะเร็งทั่วไปประสบ

            “พบว่าในโชคร้ายก็มีโชคดีอยู่อย่าง คือเรากินข้าวได้ เคมีบำบัดไม่ทำให้เราเบื่ออาหาร และเรายังมีความสุขกับการกิน” ของขวัญขยายความต่อ เมื่อเธอมีความสุขกับการกิน เธอจึงกินได้มาก อาหารสร้างพลังงานให้ร่างกายนำไปต่อสู้กับโรค

            ทั้งนี้อีกเรื่องที่ของขวัญให้เครดิตไม่น้อยไปกว่ากันคือ ‘ความรักในพระเจ้า’

             “ด้วยความที่เราเป็นคริสเตียน เราวางใจในพระเจ้า ถ้าท่านทำให้เราเป็นได้ ท่านก็ทำให้เราหายได้ พอทราบว่าเป็นมะเร็งเราก็ช็อคเลย ไปต่อไม่เป็น ยิ่งมาอ่านเจอในอินเทอร์เน็ต เขาบอกว่ามะเร็งแบบที่เราเป็นหายากมาก ส่วนใหญ่ใครเป็นจะอยู่ได้ไม่เกินสามปี ก็ยอมรับว่าจิตตกนะ แต่เพราะเรามีความเชื่อ เชื่อว่านี่เป็นบททดสอบ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ก็เลยผ่านมาได้” เธอกล่าว

            แต่นั่นล่ะ บททดสอบก็หาได้ผ่านไปง่ายๆ ทุกวันนี้ของขวัญยังจำความรู้สึกภายหลังเข้ารับเคมีบำบัดเข็มที่สี่ได้ดี สภาพจิตใจเธอย่ำแย่จากการบำบัดเนื้อร้ายในช่องท้อง เคมียอกย้อนขึ้นไปถึงสมอง เธอมีอาการจิตตก ตกมากถึงขนาดมีอยู่ครั้งหนึ่ง เธอไปกินข้าวที่โรงอาหารและเผอิญดึงเก้าอี้มาโดนขา เธอกรี๊ดดังลั่นและร้องไห้อย่างหนักตรงนั้น ท้ายที่สุดเธอต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการจิตตกควบคู่ไปกับรักษามะเร็งด้วย    

หายได้จากการแบ่งปัน

นอกจากความเชื่อและความรัก ของขวัญให้เครดิตกับการก้าวผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายในชีวิตมาได้แก่คุณแม่ของเธอ แม่ที่อยู่เคียงข้างและชักพาให้เธอได้เจอสิ่งดีๆ อยู่เสมอ

“แม่และครอบครัวดูแลเราอยู่เสมอ พร้อมกันนั้นก็หาวิธีที่ทำให้เราไม่เครียด อย่างชวนเราไปเข้าค่ายผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งทำให้เราได้พูดคุยกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้เห็นว่ามีคนเป็นหนักกว่า มีคนพร้อมจะสู้มากกว่า ก็ทำให้เราได้รับกำลังใจสู้ต่อและกลับมาเข้มแข็งได้” เธอกล่าว

การได้แลกเปลี่ยนกับผู้ป่วยคนอื่นยังสร้างแรงบันดาลใจให้เธอเขียนบันทึกบอกเล่าถึงการต่อสู่กับโรคร้ายด้วยตัวเอง ด้วยหวังจะเผยแพร่บทเรียน ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก

“เราตั้งเพจชื่อว่า ชีวิตของขวัญ ซึ่งมันให้ความหมายได้สองอย่างคือ ชีวิตของตัวเราเอง หรือชีวิตที่เป็นของขวัญให้กับคนอื่น เราอยากบอกให้คนอื่นรู้ว่า แม้เราจะเป็นมะเร็ง เราก็ยัง move on ได้นะ เรายังส่งต่อได้นะ ไม่ใช่ว่าต้องหมดพลังไปกับสิ่งนี้” เธอกล่าว

อีกหนึ่งความภูมิใจของเธอในฐานะผู้ส่งสาส์น คือการได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งของการเขียนเรียงความในหัวข้อเปลี่ยนความคิดชีวิตเปลี่ยน ซึ่งเปิดให้ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งส่งเข้าประกวด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เธอต้องการส่งต่อพลังใจแก่ผู้อื่น

เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเคมีบำบัด ร่างกายของของขวัญมีอาการทรงตัว แม้ไม่หายขาด หากก้อนเนื้อก็ไม่ขยายตัวและแพร่กระจาย กระนั้นเธอก็ยังคงต้องติดตามผลทุกสามเดือนเพื่อเช็คการทำงานของอวัยวะภายใน เธอกล่าวด้วยโลกทัศน์ที่ดีว่า “ก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่ได้ทรมานอะไร”

ทุกวันนี้ของขวัญทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์และลูกค้าสัมพันธ์ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ยังคงทำเพจ ชีวิตของขวัญ เพื่อให้การช่วยเหลือในเรื่องความรู้ การรักษา และการดูแลตัวเองแก่ผู้ป่วยมะเร็งหรือญาติผู้ป่วย

นอกจากนี้ของขวัญยังมีแผนที่จะสร้างเพจท่องเที่ยว เพราะเธอพบว่าเมื่อตัวเองป่วยและมีความเสี่ยงถึงชีวิต จึงอยากออกเดินทางเห็นโลกให้มากๆ และนั่นทำให้เธอได้มีโอกาสเที่ยวบ่อยกว่าใครหลายคน ที่สำคัญ เธอยังย้ำอีกว่าการเป็นมะเร็งเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้เธอรู้วิธีในการส่งต่อพลังให้แก่ผู้อื่น

“เรามีประสบการณ์เกี่ยวกับตัวโรคที่ไม่ได้หามาได้ง่ายๆ เหมือนกับเราเป็นคนพิเศษ ถ้าเราไม่เป็นเราก็ไม่รู้ว่าจะให้กำลังใจคนอื่นยังไง ควรทำแบบไหน แต่พอเราได้รับโอกาส คือพระเจ้ามอบสิ่งนี้มา เราก็ได้ส่งต่อพลังและช่วยคนอื่นต่อไป” ของขวัญ ผู้มองว่าชีวิตเธอคือของขวัญจากพระเจ้า​ และบทเรียนที่เธอได้รับยังเป็นของขวัญมอบให้คนอื่น กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง: ธีรภัทร ศรีวิชัย
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์
,
ภาพบางส่วน: เพจ ชีวิตของขวัญ, ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์

ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายลุกลามสู่หัวใจ โอกาสรอดเป็นศูนย์ อยู่รอดได้หนึ่งวันคือกำไร

ในชีวิตหนึ่งคนเราอาจต้องเจอกับวิกฤติปัญหาหนักที่ทำให้ท้อแท้สิ้นหวัง แต่หากเราจมอยู่กับความรู้สึกนั้นต่อไปก็จะไม่มีวันชนะอุปสรรคหรือประสบความสำเร็จได้เลย นี่คือเรื่องราวการต่อสู้กับมะเร็งของ เบลล์ – ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ และ คุณพ่อ -กนกพล ขัติยะกาญจน์ ซึ่งต่างก็ไม่ยอมท้อถอย ร่วมกันเอาชนะวิกฤติครั้งนี้มาได้อย่างเหลือเชื่อ ในขณะนั้น เบลล์ เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายลุกลามเข้าสู่หัวใจ ซึ่งโอกาสที่จะรอดแทบเป็นศูนย์ ทว่าเธอผ่านวิกฤตินั้นมาได้อย่างไร

โอกาสรอดเท่ากับศูนย์ อยู่รอดได้หนึ่งวันคือกำไร

เบลล์: “ตอนแรกก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งนะ ยังใช้ชีวิตลั้ลลาเรียน ป.โท อยู่เมืองนอก ตอนนั้นก็ยังเด็กเนอะ อายุแค่ 26 ไฟแรง เต็มที่กับทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องงาน, เรื่องเที่ยว, ยกเว้นเรื่องดูแลตัวเอง นอนน้อย กินอะไรไม่ระวัง จนวันหนึ่งเกิดเป็นลม แล้วมาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 2 เริ่มจากพบชิ้นเนื้อที่ปอดขนาด 9-10 เซนติเมตร ตอนนั้นก็ยังคิดว่าไม่น่ามีปัญหา คุณหมอก็รักษาตามอาการซึ่งยังมีความหวังว่าจะหาย แต่พอลามเข้าไปอยู่ในหัวใจ ก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าจะเป็นยังไง”

คุณพ่อ: “ตอนนั้นหมอทุกที่ก็บอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะหาย คุณหมอบอกตลอดชีวิตเคยพบเพียงสองเคส รายแรกก็เสียชีวิตไปแล้ว เบลล์เป็นรายที่สอง แค่คิดว่าอยู่เกินวันหนึ่งก็กำไรไปวันแล้ว วารสารต่างประเทศก็ไม่มี (วารสารทางการแพทย์) หมอบอกไปดูได้เลย ไม่มีรายไหนรอด”

ในระหว่างการรักษา เบลล์ ต้องวิ่งเข้าออกโรงพยาบาลถึง 7 โรงพยาบาล ใช้เวลา 3 ปี รักษาด้วยเคมีบำบัดนับครั้งไม่ถ้วน ต้องฉายแสงอีกมากมายหลายครั้ง และดูเหมือนจะไร้ทางออก

เบลล์: “ในตอนนั้นเป็นเรื่องการทดลอง เนื่องจากการรักษาเป็นไปตามสถิติ แต่กรณีเบลล์ไม่มีสถิติให้เทียบ”

คุณพ่อ: “เราก็ต้องติดต่อไปต่างประเทศเพื่อขอความเห็นหลายที่ ทั้งจากสกอตแลนด์, เยอรมัน, อเมริกา พอได้ชื่อตัวยามาก็นำเอกสารมาให้คุณหมอดู ได้อะไรใหม่มาหาทางแปลเพื่อทำความเข้าใจ ตอนนั้นทำทุกอย่างแข่งกับเวลา เราต้องได้ยาก่อนที่อาการจะทรุด เพราะถ้าทรุดแล้วให้ยาก็ไม่ทัน”

เบลล์: “ยาที่ได้ต้องให้ถูกจังหวะ ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่ให้ยาแล้วจะใช้ได้ต้องเข้ากันได้กับร่างกายเรา เพราะฉะนั้น มันเป็นจังหวะมาก ๆ ซึ่งต้องวางแผนไว้อย่างพอดี หากเป็นช่วงที่ร่างกายไม่พร้อมโอกาสของเราก็หายไป เหมือนช่วงหนึ่งต้องการใช้เสต็มเซลของตัวเอง แต่บังเอิญติดเชื้อที่ลำไส้เสียก่อน โอกาสนั้นเลยหายไป”

คุณพ่อ: “ช่วงหนึ่งที่เบลล์เขารับยาจนร่างกายอ่อนแอ จนสภาพจะไม่ไหวแล้ว ยาที่ให้ก็ค่อนข้างแรง และโดนไปหลายรอบ เป็นคนอื่นโดนไปก็คงไม่รอดแล้ว ตอนนั้นคุยกับหมอ หมอดีใจว่าให้ยาแล้วรอดมาได้ ไม่ใช่หายนะ! แต่หมายถึงทนยาได้”

สั่งเสียพร้อมลาจาก แต่พ่อสั่งห้ามตายก่อน

ช่วงหนึ่งที่เบลล์ท้อสุด ๆ คิดว่าเธอเป็นภาระให้คนอื่นเดือดร้อนจนถึงขั้นสั่งเสียพร้อมจะลาจากโลก แต่ก็กลับลุกขึ้นมาสู้ได้อีกเพราะคำของพ่อที่ว่า “มึงห้ามตายก่อนกู!”

คุณพ่อ: “คนจีนเขาจะถือว่าผมขาวไปเผาผมดำเป็นเรื่องที่เศร้าที่สุด แล้วเราจำเป็นต้องดุ เพราะสภาพเขาตอนนั้นไม่ไหว ต้องเตือนสติ ดึงกลับมาให้อยู่”

เบลล์: “ใช่ ๆ เหมือนเป็นคำสั่ง โปรแกรมในจิตใต้สำนึก เราก็กลับไปนอนคิดว่าเราเห็นแก่ตัวที่ไม่ยอมสู้ เหมือนหลายครั้งที่ต้องผ่าตัดใหญ่ เบลล์ก็จะฝันว่ามีคนมาชวนไปเที่ยวไปเล่น แต่จะรู้ว่ายังไปไม่ได้ ต้องไปขออนุญาตป๊าก่อน เดี๋ยวป๊าด่า ตายไม่กลัวกลัวป๊าโกรธ ชีวิตเราเขาเป็นผู้ดูแล เป็นคนให้กำเนิด เราต้องอยู่เพื่อส่งป๊าก่อน”

คุณพ่อ:”ช่วงนั้นมันก้ำกึ่ง เหมือนอยู่บนเส้นด้ายบาง ๆ ต้องประคองไปให้ได้”

ผู้ป่วย ญาติ หมอ ทำงานกันเป็นทีม

นอกจากคำพูดของคุณพ่อจะเป็นการเตือนสติให้เบลล์กลับมามีกำลังใจแล้ว ระเบียบการจัดการปัญหาของครอบครัวก็สำคัญด้วย

คุณพ่อ: “คือมันอย่างนี้ พอตกเย็นนั่งกินข้าวร่วมกัน แต่ละคนเจอปัญหาอะไรก็จะพูด เราเจออะไรมาก็จะเล่าแนะนำให้รับรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา คือสมัยก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ เราก็จะฟังจากผู้ใหญ่ ทุกวันเขาก็จะมานั่งแล้วก็มาสอน ว่าเขาเจออะไรมาบ้าง เขาแก้ยังไงจบยังไง ไม่รู้บ้านอื่นเขาเป็นแบบนี้รึเปล่านะ อย่างกรณีของเบลล์นี่ก็ต้องช่วยกันทุกคน น้องชายไปบวชให้ น้องสาวไปติดต่อหมอ คุณแม่ทำกับข้าว ผลัดกันดูแล”

เบลล์: “ป๊าเหมือนเป็นเอ็มดีบริษัท เป็นคนวางแผนจัดการให้ ทุกคนเป็นเหมือนทีมงานที่ต้องแบ่งงานกันทำตามเป้าหมาย และต้องรับผิดชอบร่วมกัน”

คุณพ่อ: “ทุกส่วนต้องช่วยกัน เราต้องคุยกับหมอรู้เรื่อง คนที่บ้านก็ต้องช่วยกันดูแล จะมาเสียเวลาทะเลาะกันไม่ได้ สภาพแบบนั้นทุกคนเครียด เราก็เครียด หมอก็เครียด ต้องไปกันได้ทั้งหมด”

เบลล์: “ก็เปรียบเหมือนรถสามล้อที่มีผู้ป่วยเป็นล้อหน้า ญาติกับหมอเป็นอีกสองล้อหลังที่ต้องวางล้อให้ตรงเพื่อเคลื่อนไปให้ตรงเป้า ไม่งั้นผลการรักษาก็ไม่คืบหน้า”

คุณพ่อ: “คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ยอมบอกความจริงกับหมอ กลัวหมอว่า เมื่อเราไว้ใจให้เขารักษาต้องบอกเขาให้หมด ว่าไปกินอะไรมา เช่นไปกินยาทางเลือกมาก็จะปิดบัง แล้วพอผลการรักษาเพี้ยนไปหมอก็หลงทาง ทุกคนแวดล้อมจะเสนอยามาช่วย ทุกอย่างดีหมด แต่ปัญหาของเราคือเราไม่มีเวลาจะไปทดลอง”

ในที่สุดด้วยประสบการณ์ของคุณหมอและการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ทั้งผู้ป่วย ญาติ และทีมหมอ จึงได้ยามุ่งเป้ามาช่วยกำจัดมะเร็งออกจากหัวใจเบลล์สำเร็จอย่างอัศจรรย์ สร้างความดีใจให้กับทุกฝ่าย แต่ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ด้วยความเป็นคนมีกำลังใจเข้มแข็ง อดทนสู้ มุมมองเชิงบวกของเบลล์เองที่มีส่วนสำคัญ และสำคัญไปมากกว่านั้นคือ พลังใจของคุณพ่อที่ถ่ายทอดมาให้เบลล์อย่างเต็มเปี่ยม

คุณพ่อ: “ครั้งแรกที่เจอหมอ หมอบอกว่าไม่รอด ผมบอกหมอเลยว่า หมอรักษาให้เต็มที่ ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่ากัน เขาอยู่ได้เกินวันหนึ่งถือเป็นกำไรของเขา ทั้งหมดคือตรรกะการคิดที่เราต้องชัดเจนและจะชนะหรือแพ้ไม่รู้ แต่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าวันต่อวันให้จบตามเป้าให้ได้”

นิยามใหม่ของชีวิต

เบลล์: “แรก ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จ อยากมีเงินเดือนสักสามแสน มีบ้าน มีรถ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง นิยามความสำเร็จคือ มีเงิน มีงานที่ดี หน้ามีตาในสังคม จนกระทั่งมาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมด นิยามความสำเร็จคือชีวิตที่สมดุลในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัว สุขภาพ สิ่งที่เราให้คุณค่าไม่ใช่แค่เรื่องตัวงานและตัวเงิน แต่เป็นความสุขที่มอบคืนให้สังคมด้วย”

คุณพ่อ: “คือตอนแรกที่เจอมะเร็ง เราก็ไปไม่ถูกเพราะไม่มีความรู้ ถ้ามีคนให้ความรู้ก็จะเข้าใจว่าต้องสู้กันยังไง ก็จะไปได้ถูกทาง อย่างเบลล์เขาเขียนหนังสือนี่ก็ช่วยคนอื่นได้ ทำให้คนมีกำลังใจ คนที่กลัวการให้คีโมก็คลายกังวล พออ่านหนังสือเขาเสร็จก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่ได้ยินมา ซึ่งถ้าผิดทางก็จะเสียโอกาสการรักษา…ทุกคนที่เจอปัญหานี้ต้องอดทนแล้วพยายามผ่านไปให้ได้ ครอบครัวก็อย่าทะเลาะกัน อย่าโทษกันเอง เพราะคนป่วยมีเวลาเหลือสั้นลง เราควรจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขที่ดีต่อกันมากกว่า”

“ฉันหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต แม้ในยามที่ชีวิตของคุณสิ้นหวังที่สุด ยามที่คุณมองไม่เห็นทางออกของปัญหา หรือยามที่ไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นไปได้…เหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นกับฉันมาแล้ว”

คือคำนำของหนังสือ I cancel my cancer ที่เบลล์เขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตเพื่อส่งกำลังใจไปให้คนอื่นในสังคม เธอยังมีเพจในเฟซบุ๊กชื่อ “เรื่องจริงกะเบลล์” เขียนเรื่องราวทั้งของตัวเองและส่งต่อเรื่องราวของผู้ป่วยมะเร็งคนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งได้ร่วมทำ Art for Cancer ให้เป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดย ออย – ไอรีล ไตรสารศรี อีกด้วย

เรื่อง: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพ: วริษฐ์ สุมานันท์
ภาพบางส่วน: ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์

“เราไม่ได้เป็นคนป่วย เราแค่เป็นมะเร็ง” อัญชลี จตุรานน ผู้มุ่งมั่นรักษามะเร็งเพื่อจะได้วิ่งกับพี่ตูน

พี่ตูนผู้ทำให้เธออยากวิ่ง แต่ไม่ได้วิ่ง

อัญชลี จตุรานน (อัน) เรียนจบคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดที่เยอรมนี เติบโต เล่าเรียน และใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ หลังจากผ่านงานมาหลายอาชีพ เธอก็พบงานที่ใช่จากการเป็นนักออกแบบข้อมูลให้บริษัทในสหรัฐอเมริกา แปลงข้อมูลที่ลูกค้าให้มาเป็นพรีเซนเทชั่นที่สวยสะดุดตาและเข้าใจง่าย เธอบอกว่าเป็นงานที่ชอบ แต่ก็ไม่ใช่งานที่ง่าย เพราะก่อนหน้าที่เธอจะได้สัมปทานกับบริษัทประจำอย่างทุกวันนี้ ฟรีแลนซ์อย่างเธอจำต้องหามรุ่งหามค่ำเพื่อประมูลงานแข่งกับนักออกแบบรายอื่นๆ อยู่เสมอ ขณะเดียวกันอาจเพราะเป็นงานที่ทำได้จากที่บ้าน เส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนจึงพร่าเลือน เธอบอกในบางวันเธอเผลอรวดทำงาน 14 ชั่วโมงต่อวัน หรือในบางสัปดาห์ เธอทำงานติดกันทั้ง 7 วันเลยก็มี

อัญชลีไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว แต่เธอก็รู้ตัวดีว่าเพราะเอาแต่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ และไม่เคยออกกำลังกาย จึงไม่ใช่คนแข็งแรงนัก กระทั่งเมื่อสองปีที่แล้ว โครงการก้าวคนละก้าวของพี่ตูน-บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำวงบอดี้สแลม) จุดประกายให้เธออยากเข้าร่วมโครงการ เธอซื้อรองเท้าวิ่ง และเริ่มฝึกซ้อมเพื่อจะได้ออกวิ่งพร้อมกับพี่ตูน กระนั้นทันทีที่เริ่มซ้อมวิ่ง ก็พบว่าร่างกายกลับเหนื่อยล้ากว่าปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และนั่นทำให้ผู้หญิงที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องสุขภาพตัดสินใจไปตรวจสุขภาพอย่างจริงจัง

และนั่นทำให้เธอพบกับเนื้อร้ายในทรวงอกขึ้นมาจริงจริง

การวิ่งอย่างเด็ดเดี่ยว

เวลานั้นคือเดือนพฤศจิกายน 2560 อัญชลีอายุ 37 ปี แตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ที่เมื่อพบมะเร็งในวัยที่ไม่ควรจะพบ แทนที่ความรู้สึกหดหู่หรือตีโพยตีพายต่อโชคชะตา อัญชลีกลับยอมรับอย่างเรียบง่าย พร้อมเตรียมกายและใจเพื่อจะที่ฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต

“จำได้ดีว่าวันนั้นคือวันที่ 10 พฤศจิกายน หลังจากอัลตราซาวด์แล้วพบก้อนเนื้อขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ปกติการจะยืนยันว่าเป็นมะเร็งเนี่ยจะต้องผ่าเพื่อเอามาวินิจฉัยก่อน แต่เราเห็นสีหน้าคุณหมอ ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเราเป็นมะเร็ง เรานัดผ่าตัดเดือนธันวาคม ก็พบว่าเป็นมะเร็งขั้นที่ 1 ซึ่งโชคดีที่ยังไม่ลามไปยังต่อมน้ำเหลือง จากนั้นคุณหมอก็วางแผนรักษา ด้วยการให้ยาคีโม 4 เข็มและฉายแสงอีก 31 ครั้ง สรุปว่าปลายปีนั้น เราซื้อรองเท้าวิ่งมาไม่ได้วิ่งเลย ใส่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแทน”

อัญชลีเล่าเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อนให้ฟังด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม ซึ่งหากพิจารณากันตอนนี้ เราจะเห็นหญิงสาวร่างสูงโปร่ง ท่าทีกระฉับกระเฉง แข็งแรง และอารมณ์ดีอยู่เสมอ ใครจะเชื่อว่าปีที่แล้วตลอดทั้งปี เธอทุ่มร่างกายทั้งหมดต่อสู่กับมะเร็ง แถมสู้กับมันเพียงลำพังเสียด้วย… อ่านไม่ผิดหรอก ตลอดเวลาการรักษา เธอไม่บอกคนรอบข้างเลยว่าเป็นมะเร็ง

“พ่อแม่เสียตั้งแต่เราเป็นเด็ก เราโตมากับครอบครัวพ่อ มีคุณอาเลี้ยงเรามา ที่ตัดสินใจไม่บอกใครเพราะเราคิดว่าจะสู้เองคนเดียวดีกว่า ไม่บอกทั้งอาและเพื่อนสนิท ไม่อยากให้ใครเป็นห่วง กลัวเขาจะจิตตก ซึ่งถ้าเขาจิตตก ก็อาจทำให้เราจิตตก หรือเราต้องไปปลอบเขา เราก็จะเหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็น

มีบอกอยู่รายเดียวคือบริษัทที่เราทำงานด้วยที่อเมริกา เพราะเราจะต้องจัดตารางการทำงานใหม่เพื่อเอาเวลาไปรักษาตัว ทางนั้นเขาก็กังวลใจ แต่เราก็ยืนยันว่าฉันทำงานต่อได้ ไม่ต้องห่วง แล้วก็ไปบอกคุณหมอว่าให้บอกขั้นตอนการรักษาและอาการที่เราต้องประสบมาให้หมดทีเดียว ไม่ต้องทยอยบอกเป็นขั้นตอน เพราะเราจะออกแบบการใช้ชีวิตของเราหลังจากนี้”

ตั้งสติก่อนสตาร์ท

ฟังดูเหมือนง่าย กระนั้นอัญชลีก็ยืนยันว่าตลอดหนึ่งปีของการรักษานั้นแสนยากเย็น เธอทรมานกับผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ต่างจากคนอื่น และมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำ หากเธอก็ยืนยันว่าในห้วงเวลาที่ผ่าน เธอไม่เคยร้องไห้ หรือนึกท้อต่อการมีชีวิต อัญชลีมองว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้เธอผ่านความเจ็บปวดมาได้คือการตั้งสติ

“ถามว่าตกใจไหมตอนทราบผลก็ตกใจ และเสียใจแหละ แต่จะทำไงได้ มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ก็ยอมรับสิ่งที่เกิด และวางแผนรักษาตัวให้ดีที่สุด”เธอกล่าว

อัญชลีมองว่าอาจเพราะก่อนหน้านี้เธอฝึกปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ เลยตระหนักในความสำคัญของการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์และพยายามปรับใช้ในชีวิตประจำวันเสมอ เธอว่าหากใครสักคนยอมรับความจริงได้ แม้ความจริงจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ใครคนนั้นจะไม่เหนื่อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น…

เธอยังเล่าติดตลกอีกว่า ระหว่างที่ป่วยและต้องทำงานไปด้วย กลับเป็นช่วงที่ผลงานออกมาดีเป็นพิเศษ

“เรารู้ทันร่างกายด้วยน่ะ อย่างวันนี้หัวตื้อมาก ทำงานไม่ได้ งั้นพักก่อน แล้วตื่นมาเช็คงาน หรือดีไซน์ซ้ำอีกรอบ เรารู้ตัวว่าเราอ่อนแอ ซึ่งมันส่งผลต่อคุณภาพงาน เราก็เลยไม่ปล่อยผ่านง่ายๆ กลายเป็นว่าลูกค้าที่เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเราเป็นมะเร็ง ก็ชื่นชมผลงานผ่านบริษัทที่เราทำงานให้มา แต่ช่วงที่ร่างกายเราอ่อนล้าหนักๆ แค่ยกแขนยังทำไม่ได้ หรือตาแสบจนแทบลืมไม่ได้นี่ เราก็แจ้งเขาไปตรงๆ แล้วก็ขอลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างไปสองอาทิตย์เลยนะ ไม่ฝืน”

อัญชลีใช้เวลา 6 เดือนเต็มในการรักษาตัว และอีกราว 4 เดือนกับการพักฟื้นร่างกาย เธอจำได้ดีว่าวันที่ร่างกายเธอกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งคือวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ครบรอบหนึ่งปีพอดีนับจากวันที่เธอค้นพบก้อนเนื้อในทรวงอก เธอฉลองช่วงเวลาดังกล่าวด้วยการเดินทางไปจังหวัดนครปฐม และร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนการกุศลเพื่อนำเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลศิริราช ร่วมรายการเดียวกับพี่ตูน-บอดี้สแลม และนั่นเป็นการออกวิ่งครบ 10 กิโลเมตรครั้งแรกในชีวิต

หากมีห้วงเวลาไหนที่คนหนึ่งคนตราตรึงและจะจดจำมันไปตลอดชีวิต อัญชลีบอกว่าการวิ่งครั้งนี้ของเธอคือหนึ่งในนั้น 

กลับมาวิ่งเพราะพี่ตูน

            ในขณะที่ความปรารถนาจะร่วมวิ่งเพื่อระดมทุนให้โรงพยาบาลในโครงการก้าวคนละก้าว ทำให้เธอค้นพบเนื้อร้ายในร่างกาย ความปรารถนาจะได้กลับมาวิ่งอีกครั้ง ก็เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เธอเอาชนะโรคร้าย

            เช่นเดียวกับความศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล อัญชลีมองว่าความมุ่งมั่นในการออกวิ่งทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือคนอื่นของพี่ตูน ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่เธอใช้ยึดเหนี่ยวให้ผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายมาได้

            “หมอเมย์ (พญ.สมิตตา สังขะโพธิ์ – คุณหมอที่ออกวิ่งพร้อมกับพี่ตูนในโครงการก้าวคนละก้าว) คือคนแรกที่เราบอกเขาไปว่าเราเป็นมะเร็ง บอกแบบไม่ได้ตั้งใจหรอก บังเอิญเจอเขาที่สนามบิน แล้วเราก็บอกเขาว่าเรามีแรงบันดาลใจในการวิ่งมาจากพี่ตูน แต่เจอมะเร็งเสียก่อน คือเล่าแบบธรรมดามาก เพราะตอนนั้นเราหายแล้ว และพอมาย้อนคิดอีกที ก็นึกขึ้นได้ว่าเราไม่เคยบอกใครเรื่องเราเป็นมะเร็งมาก่อนเลยนี่” อัญชลีกล่าว

            หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่อัญชลีได้คุยกับหมอเมย์ หมอเมย์และคุณป๊อก (อิทธิพล สมุทรทอง นักวิ่งผู้วิ่งเคียงข้างพี่ตูนตลอด 2,215 กิโลเมตรจากเบตง-แม่สาย) ได้ช่วยประสานทำให้เธอก็ได้พบกับพี่ตูนตัวจริงที่เชียงใหม่ นั่นเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน 2561 การพบกับไอดอลครั้งนั้น จุดประกายให้อัญชลีเริ่มวิ่งอย่างจริงจัง และแม้เธอไม่ทันได้วิ่งในโครงการก้าวคนละก้าวพร้อมกับพี่ตูน แต่ดังที่กล่าว การวิ่งครบ 10 กิโลเมตรในวันครบรอบขวบปีของการค้นพบมะเร็งในวันที่ 10 พฤศจิกายน หาใช่เพียงการวิ่งระยะไกลสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ยังเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองครั้งแรกในชีวิต

            “ตอนหายจากมะเร็งก็ดีใจ แต่เราพบว่าเราดีใจมากกว่าตอนสามารถวิ่งได้ครบ 10 กิโลเมตรนี่แหละ จากคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย ถือว่ามาไกลมากเลยนะ” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิ

            ปัจจุบันอัญชลียังคงทำงานออกแบบพรีเซนเทชั่นให้บริษัทที่อเมริกาเช่นเดิม แตกต่างก็ตรงเธอเป็นคนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนในบางวาระ (เธอวางแผนจะเข้าร่วมวิ่งมาราธอนในเร็ววันนี้) เล่นโยคะ สลับกับการเข้าฟิตเนส เลือกสรรในอาหารการกินมากขึ้น และเผื่อเวลามาเขียนเพจเฟซบุ๊ค ‘อันเล่าเรื่อง’ เล่าประสบการณ์การรับมือกับมะเร็งที่ผ่านมา เขียนบทความให้กำลังใจผู้ที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเธอ รวมถึงบทความสร้างแรงบันดาลใจผ่านการวิ่ง      

“อาจเป็นเพราะเรามุ่งมั่นจะกลับมาเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมให้ได้ ทุกอย่างมันเลยผ่านมาอย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่ เราไม่เคยท้อแท้ ไม่คิดด้วยว่าเราเป็นคนป่วย เราแค่เป็นมะเร็ง (ยิ้ม)

 ซึ่งถ้ามองย้อนกลับมา ข้อดีของมันก็ยังมีอยู่บ้างนะ คือมันทำให้เรากลับมารักตัวเองอย่างถูกทาง ทำให้เราอยากเป็นคนแข็งแรง แล้วก็พบว่าชีวิตที่มีสุขภาพดี หรือการได้ออกวิ่งเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ช่างเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขจริงๆ” อัญชลีทิ้งท้าย 

เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: อัญชลี จตุรานน

โลกสีรุ้งของเบนซ์ – อทิตา บุญประสิทธิ์ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย

ในมุมของคนทั่วไปโลกคงเต็มไปด้วยความหลากหลายที่ดำเนินไปด้วยความหวัง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ใช่ทุกคนจะพบกับความสมหวังนั้น บางทีปัญหาชีวิตก็เกิดขึ้นขวางเส้นทางฝันอันสวยงาม บางคนท้อถอย แต่บางคนผันวิกฤติปัญหานั้นให้กลายเป็นโอกาสสำคัญของชีวิต นี่คืออีกมุมหนึ่งจาก อทิตา บุญประสิทธิ์ (เบนซ์) ผู้ป่วยมะเร้งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายกับที่มาของ “มะเร็งคือโลกสีรุ้งของฉัน”

“ตอนแรกรู้สึกปวดท้องมากเข้าใจว่าเป็นไส้ติ่ง แต่เมื่อไปตรวจและทำอัลตร้าซาวด์แล้วปรากฏว่าเป็นที่ไต ซึ่งมีเลือดออกมากจึงต้องทำการผ่าตัดเอาไตออกไปข้างหนึ่ง เสียไตไปข้างหนึ่งเลย ตอนแรกก็ไม่รู้นะคะว่าเป็นมะเร็ง จนกระทั่งได้ผลชิ้นเนื้อจึงรู้ว่าเป็น ก็รู้สึกดาวน์นะคะ ไม่มีใครที่ได้รับคำคำนี้แล้วจะรู้สึกดีหรอกเนอะ เกิดคำถามมากมาย ชีวิตเปลี่ยนทันที คือคนเราก็อยากใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไป ในวัย 30 กว่ามีครอบครัว อยากจะประสบความสำเร็จ มีเงินเก็บ มีลูกที่น่ารัก แต่พอรู้ว่าเป็นมะเร็งโลกมันมืดไปเลย เพราะจากข่าวสารที่รับรู้เกี่ยวกับคนที่เป็นโรคนี้ก็มักจะเป็นด้านลบ”   

ตัวเบนซ์เองก็มักมองโลกในแง่ลบ แต่มะเร็งทำให้เธอกลับมามองโลกในแง่บวกได้

“พื้นเพเป็นคนมองโลกแง่ลบมาก จริง ๆ ไม่ได้มองโลกแง่บวกเลย แต่เมื่อตั้งสติได้ รวมทั้งคำพูดให้กำลังใจจากครอบครัวและแฟนทำให้รู้สึกยังมีความหวัง จึงตัดสินใจทำการรักษา แล้วก็พบกับสิ่งดี ๆ เข้ามา เจอคุณหมอดี เจอเพื่อนดี มีมิตรภาพที่ดี ได้รับคำแนะนำจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยในยามที่ท้อ การให้ยาบางครั้งก็มีอาการแทรกซ้อน แต่เพราะกำลังใจของคนเหล่านี้เราก็กลับมาคิดบวกได้”

มิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญและมีรูปแบบแตกต่างกันไป ทั้งในยามที่เราปกติและยามที่เราป่วยไข้

“ก่อนหน้านี้คนที่เข้าหาเราก็มักคิดถึงแต่ผลประโยชน์ แต่หลังจากรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง กลับเป็นความจริงใจ เมื่อเราเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ เขาก็พร้อมจะสละเวลามาทันที สิ่งที่สัมผัสได้คือความหลากหลายของความดี สีสันโลกเปลี่ยนไปเหมือนโลกสีรุ้ง มีทั้งเสียงหัวเราะ ความคิดดี ๆ ความเป็นห่วงเป็นใย มีทั้งน้ำตา และรอยยิ้ม ดูเหมือนทุกสิ่งจะมีทางออกของมัน และดีขึ้นเรื่อย ๆ การเสียเวลากับความท้อถอยไม่ได้ช่วยอะไรเลย”

เบนซ์พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเมื่อปี 2561 แต่ที่จริงมีอาการมาก่อนหน้านั้น 3 ปีแล้ว และหนึ่งปีหลังจากทำการรักษาก็มีทิศทางบวกมาตลอด  

“เหมือนที่เขียนลงในเฟสบุ๊คค่ะว่า เรากำลังให้คีโมครั้งสุดท้าย แล้วก็มีอาการปวด เชื้อแพร่กระจายไปที่ท้อง แล้วพบว่ามะเร็งดื้อยาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราจำเป็นต้องใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Gene Teraphy คือยาที่ใช้รักษาให้ตรงกับเชื้อมะเร็งเฉพาะ เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งไต, มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ) ซึ่งทำให้ต้องปรึกษาคุณหมอหลายท่านเพื่อเอาคำแนะนำของคุณหมอแต่ละท่านมาวิเคราะห์ว่าอะไรจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรา”

“ทุกครั้งที่เปลี่ยนยา หมายถึงยาเดิมไม่ได้ผล ยาจะแพงขึ้น ยาจะแรงขึ้น จากสี่เดือนแรกที่อาการทรงตัวไม่ดีขึ้น พอเปลี่ยนยาสองเดือนผ่านมา อาการที่ปอดสงบและตรงอื่นไม่ลามแล้ว เตรียมปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไตเบนส์ข้างซ้ายที่เหลืออยู่ข้างเดียวไม่ค่อยชัดเจนตั้งแต่ตอนที่ เพทสแกน (คือการให้กรูโครสเข้าเส้นเลือดเพื่อหาตัวเชื้อมะเร็งว่ามีอยู่จุดไหนบ้างในร่างกาย) จึงต้องมาปรึกษาคุณหมอรังสีเพื่อทำการตรวจให้ชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายอยู่มั้ย”

ไม่มีใครตอบได้ว่าเส้นทางการรักษาจะยาวไกลแค่ไหน แต่มันคือหน้าที่ของชีวิตที่ต้องสู้จนถึงที่สุด

“เราคิดว่าเราโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เราอยากจะมีความสุขในทุกวันเลย ไม่อยากมีความทุกข์ เรามองทุก ๆ วันเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ใช้ชีวิตกับคนที่เรารัก กับครอบครัว, กับเพื่อนที่รักเรา, กับแฟนที่ไม่คิดทิ้งไปไหน เป้าหมายความสุขจะเปลี่ยนไป ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะทำงานเก็บเงิน อยากจะรวย อยากซื้อนู่นซื้อนี่เต็มไปหมด ท้ายสุดแล้วสิ่งที่เราอยากได้จริง ๆ ก็คือ ความสุข พอปรับตัวได้ก็ได้ปรับใจ เลิกหงุดหงิดกับโรคและการรักษา ขอแค่พรุ่งนี้เราตื่นมาพบกับความสุข ไม่สำคัญว่ามะเร็งจะอยู่กับเราหรือหาย เมื่อเรามีความสุขจิตใจเราก็ดี ก็แฮปปี้แล้ว”

นี่ไม่ใช่การต่อสู้เพียงลำพังของใครคนหนึ่ง แต่สำหรับเบนซ์ เธออยากส่งต่อความคิดบวกไปยังทุกคน “สำหรับเพื่อนที่เป็นมะเร็ง เบนซ์อยากให้ตั้งสติให้ได้ มองหาวิธีดูแลตัวเอง อาหาร, ความสะอาด, อารมณ์, จิตใจ อยากให้ใช้ชีวิตเป็นปกติ ออกไปทำงาน เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมด้วยกันได้ มะเร็งคือโลกสีรุ้งของเบนซ์ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะกับคนเป็นมะเร็งนะคะ ไม่ว่าคุณจะเสียใจหรือไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนมีสีในแต่ละวัน สัมผัสกับอารมณ์ของตนเอง มีโลกสีรุ้งให้แหงนมอง ขอแค่มีสติโลกของเราจะเริ่มมีสีสันขึ้นมาและหาความสุขให้เจอค่ะ”

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: อทิตา บุญประสิทธิ์

กอบัว – ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว มะเร็งทำให้รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร

ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว หรือ ‘กอบัว’ แอร์โฮสเตสสาว วัย 29 ปี ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ระยะที่ 3 หลังจากตรวจเจอเมื่อมกราคม 2562 ต้นปีที่ผ่านมา และกำลังทำการรักษา เธอไม่ได้หวาดกลัวหรือหวั่นวิตกกับโรคร้าย แต่กลับรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าและมีเป้าหมาย ถึงกับพูดว่า มะเร็งทำให้รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร

“ครั้งแรกมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน แต่เมื่อประจำเดือนหมด อาการปวดก็ยังมีอยู่ ก็คิดว่าไม่เป็นไรสักพักคงจะหาย แต่ยิ่งปล่อยนานก็ยิ่งมีอาการมากขึ้น อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ทานไม่ได้ อาเจียนตลอด จนหัวหน้างาน และเพื่อนที่ทำงานทักว่า ควรจะไปตรวจก็เลยไปตรวจดู แล้วก็พบค่าเลือด CEA สูงผิดปกติ เป็นพัน จนคุณหมอตกใจ” (หมายเหตุ: CEA หรือ Carcinoembryonic Antigen (คาร์ซิโนเอ็มบรายโยนิค แอนติเจน) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในร่างกายของคนเรา สามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด (ค่าปกติคือไม่เกิน 5.0 ng/mL)

“คำถามแรกที่ถามคุณหมอคือ คุณหมอคะ หนูยังจะสวยได้เหมือนเดิมใช่มั้ย ทำเอาเพื่อนที่ไปด้วยและคุณหมอพากันหัวเราะไปตามกัน ไม่ใช่ว่าไม่กังวลเรื่องโรคหรอกนะคะ แต่ก็ในเมื่อเป็นแน่ ๆ แล้วจะทำยังไงได้ นอกจากต้องรับความจริง วิกฤติชีวิตของคนเรายังไงก็หนีไม่พ้น เมื่อมาแล้วก็จะขอสู้ให้เต็มที่ค่ะ”

แน่นอนว่าในกระบวนการรักษาก็คงหนีไม่พ้นการให้คีโมและหลายคนก็ต่างกลัวความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายตัวเอง

“คุณหมอบอกว่าเป็นระยะที่สาม เพราะเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วท้อง ที่จริงเชื้อตัวนี้มักเกิดกับคนสูงอายุ แต่ กอบัวอาจจะโชคร้ายหน่อยมาเป็นตอนนี้ ก็ผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกค่ะ เอาออกหมดทั้งรังไข่และมดลูก ที่จริงก็เสียใจนะคะ เพราะความฝันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เลยคืออยากมีลูก”

กอบัวอยู่กับคุณแม่เพียงสองคนตั้งแต่เด็ก ด้วยความใกล้ชิดผูกพันกับคุณแม่ เธอจึงไฝ่ฝันอยากจะเป็นแม่ที่ดีด้วยเช่นกัน เมื่อได้งานทำเธอต้องมาอยู่กรุงเทพฯ โดยลำพัง ส่วนคุณแม่ยังอยู่ที่ต่างจังหวัด หลังจากทราบเรื่องคุณแม่ก็หมั่นแวะมาเยี่ยม และทุกครั้งที่มาเยี่ยม กอบัวก็มักจะสะเทือนใจที่เห็นคุณแม่ร้องไห้เพราะสงสารเธอ

“ต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือดค่ะ เพราะเวลาทำคีโมบางทีเลือดจะแข็งตัวตามจุดต่าง ๆ กอบัวฉีดเองค่ะ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนกลัวเข็ม แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้วค่ะ ก็ต้องพยายามลุกขึ้นสู้กับความกลัวคือไม่อยากให้แม่เสียใจ อยากให้ท่านสบายใจ นี่ไม่ใช่การสู้ของเราคนเดียวแต่ยังมีคนที่เรารักรอเราอยู่”

“กอบัวเคยคิดอยากจะเป็นนักเขียนค่ะ เขียนเรื่องรัก เขียนอะไรดี ๆ ให้คนอ่าน พอรู้ว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งก็เลยได้เขียนจริง ๆ บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทำงานเขียนสมใจ”

‘แน่นอน เราต้องมีความหวัง และยิ่งไปกว่าความหวัง เราต้องมีความเชื่อ เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในหมอ เชื่อว่าเราจะกลับมาหายดีในเร็ววัน เพราะทันทีที่เราไม่เชื่อ มันจะทำให้เราหมดหวัง และมันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ ท่องไว้ว่า เราต้องไม่แพ้!!’

นี่เป็นบางส่วนจากข้อเขียนในเฟสบุ๊คของกอบัว ความจริงมะเร็งมีส่วนช่วยให้เธอหายจากอาการซึมเศร้าด้วย

“ก่อนจะเป็นมะเร็งเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ แต่หลังจากเป็นมะเร็งแล้ว อาการซึมเศร้าก็หายไป เพราะเรารู้ว่าเราต้องทำอะไร และอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น ต้องตัดทิ้งไปจากสมอง ความหงุดหงิด ที่เคยมีทั้งกับตัวเองหรือแม้แต่กับลูกค้า หรือใคร ๆ ก็ตาม ไม่เอามาเก็บใส่ใจ ชีวิตมีแผนให้ทำเป็นสเต็ป และมีเป้าหมายว่าเราต้องเอาชนะมะเร็งให้ได้”

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด (คีโม)

“ก็จะมีอาการเพลีย มีท้อบ้างเพราะอยู่คนเดียว แล้วก็นึกว่าจะไม่ไหว แต่ที่จริงมันก็ไม่นานผ่านไปสักอาทิตย์หนึ่งก็จะฟื้นกลับมาได้ คือบอกตัวเองตลอดว่า คุณมะเร็งถ้าจะอยู่ด้วยกันก็ทำตัวดี ๆ อย่าดื้อ อย่าสร้างปัญหา คือเราไม่กลัวความตายหรอกนะคะ แต่กลัวทรมานมากกว่า ใคร ๆ ก็คงจะเป็นเหมือนกัน แต่ที่สำคัญต้องมองโลกแง่บวกเพื่อกำจัดความเครียด ตอนนี้กำลังทำการคีโมรอบสอง เพราะรอบแรกทำไปแล้วเชื้อดื้อยา ซึ่งคราวนี้ต้องใช้ยาแรงขึ้น รู้เลยว่าต้องหนักแน่ แต่ก็เชื่อว่าตัวเองจะผ่านไปได้ค่ะ”

สิ่งที่ค้นพบหลังจากเกิดเรื่องราวนี้กับตัวเอง

“ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยว แต่ที่จริงมีคนมากมายที่ห่วงใยเรา บางคนก็มาคุยหลังไมค์บอกขอบคุณเรา เพราะอ่านเรื่องของเราแล้วทำให้เขามีกำลังใจในชีวิต ตรงนั้นเรารู้สึกดีมีพลังบวกมาเติมใจให้เรา เรื่องของเรามีค่ากับทุกคน มะเร็งน่ะใคร ๆ ก็เป็นได้ เมื่อเป็นแล้วใครก็อยากหาย เราเลยไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพังแต่มีคนคอยเชียร์ให้เราชนะ ก็จะสู้เพื่อแม่และทุกคน มะเร็งสอนให้เรารักตัวเองพร้อมกับรักคนอื่น แล้วทำให้ชีวิตเรามีความสุข”      

เป็นเรื่องจริงที่ว่า คนเรามักมองไม่ออกว่าความสุขคืออะไร และปล่อยเวลาให้สูญเปล่า แต่สำหรับ ‘กอบัว’ เธอได้พบตัวตนที่เข้มแข็งท่ามกลางวิกฤตโรคร้ายซึ่งไม่ง่ายนักที่ใครจะทำได้

หมายเหตุ: กอบัวได้จากไปอย่างสงบในวันที่ 4 มกราคม 2563

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว

แมน – ศุภพัฒน์ แหลมทองมงคล ดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งโดยลำพังจนวินาทีสุดท้าย

 ‘ความรัก’ ทุกคนมีสิ่งสวยงามนี้ในตัวเอง แต่จะสักกี่คนที่ได้พิสูจน์ให้เห็นหน้าตาของรักนั้น ศุภพัฒน์ แหลมทองมงคล หรือ ‘แมน’ อาศัยอยู่กับ คุณแม่วิไลลักษณ์ ขจิตสาร หรือ ‘แม่แหม่ม’ เพียงลำพังสองแม่ลูกมาตั้งแต่แมนอายุเพียง 5 ขวบ แล้วพบว่าคุณแม่แหม่มเป็นมะเร็งเมื่อปี 2560 และได้สูญเสียคุณแม่ไปเมื่อพฤศจิกายนปี 2561 แต่ก่อนหน้านั้น ทั้งแมนและคุณแม่เป็นกำลังใจให้กันและกันต่อสู้กับมะเร็งจนวินาทีสุดท้าย แมนเขียนเรื่องราวของตัวเองผ่านเฟสบุ๊คด้วย โดยใช้แฮชแท็ก #มะเร็งฤจะสู้มะม๊า เย็นวันหนึ่งเรามีโอกาสได้นั่งคุยกัน

“คุณแม่เป็นคนแข็งแรง ไม่เคยป่วยไข้หรือต้องเข้าโรงพยาบาล และเพราะแม่มีอาการด้านจิตเวชด้วยที่มักไม่ไว้ใจหมอ จึงไม่เคยพาไปตรวจสุขภาพเลย จนวันหนึ่งทางบริษัทมีโปรสุขภาพฟรี แมนเลยอ้อนพาคุณแม่ไปตรวจ พอไปตรวจก็แจ็คพอตแตก เพราะไปเจอค่าเลือด CEA ที่สูงกว่าปกติ แรกๆ คุณหมอยังคิดว่าอ่านผิด แต่ดูแล้วมันคือ 75 ซึ่งสูงมาก คนปกติจะอยู่ที่ 3 – 4 ไม่ควรเกิน 5 และเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็ง ตอนแรกก็ไม่ค่อยกล้ารับความจริงยังคิดว่าไม่เป็นไร ไม่กล้าไปตรวจแบบละเอียด”

แต่แล้วก็มีเหตุที่ทำให้แมนเปลี่ยนใจพาคุณแม่ไปหาหมอ

“คุณแม่ท้องผูกมาสองอาทิตย์ ให้ทานยาก็ไม่ถ่ายเลย มีอาการปวดหลังมากขึ้นด้วย พอพาไปหาหมอ หมอจับแอดมิดเลย แล้วก็พบมะเร็งขนาดสองเซ็นติเมตรที่ปอด วินาทีที่คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง เหมือนโลกถล่ม เกิดคำถามในหัวว่าทำไมถึงเป็นแม่ ทำไมต้องเกิดกับเรา พอตั้งสติได้ก็รู้ว่าการนั่งคิดแบบนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย สู้คิดดีกว่าว่าจะสู้กับโรคนี้อย่างไร จากนั้นทุกอย่างจะออกมาเป็นสเต็ป 1-2-3-4 อันไหนทำก่อนทำหลัง แผนการรักษาและการหาเงินมาเพื่อใช้จ่ายก็ตามมา”

เช่นเดียวกับทุกชีวิตที่เจอวิกฤต หลังจากตั้งเป้าหมายได้การต่อสู้ก็เริ่มต้นเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่การคิดถอยหลัง

“พอเอาชิ้นเนื้อไปตรวจแล้วก็ช็อคอีกที่พบว่าคุณแม่เป็นมะเร็งขั้นที่ 4 ก็ถามหมอว่ากระบวนการรักษาจะมีโอกาสไปสู่จุดไหน คุณหมอก็พูดแค่ว่า…มีวิธีรับมือ ตกใจครับแต่ต้องปรับความคิดให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปมองว่าอีกปีหนึ่งจะเป็นอย่างไรจะยังมีแม่อยู่ไหม คือถ้ามองแบบนั้นมีแต่จะบั่นทอนเรา”

หลังจากนั้น วิถีชีวิตของทั้งสองก็เปลี่ยนไป

“ชีวิตประจำวัน จากที่เคยคิดว่าแม่ดูแลตัวเองได้ ทีนี้ไม่ได้แล้ว กลายเป็นทุกวินาทีเราต้องมีเขา เราต้องให้เวลาแม่ให้มากที่สุด จากที่เคยเลิกงานแล้วไปเที่ยวกับเพื่อนก็กลับบ้านไปอยู่กับแม่ อาหารการกินต้องคอยปรับไม่ให้กินแบบที่คุ้นเคย จากที่ซื้อแช่แข็ง ฟาสต์ฟู้ด อาหารข้างทาง ก็เปลี่ยนเป็นอาหารสดใหม่ และดีที่สุดคือทำเอง”

“ผมไม่เคยทำอาหารมาก่อนเลยครับ แต่ยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องสนุก มีเรื่องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น มีหลายสูตรกับข้าวที่แม่สอนเราและช่วยให้ลืมความเครียดไปได้ มีอะไรให้คิด เช่นว่า วันนี้จะทำอะไรให้แม่กินดี หรือจะพาคุณแม่ไปในที่ท่านอยากไป อยากทำอะไรที่แม่นึกฝันแล้วเราทำได้ก็จะทำ”

การได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และสร้างความรู้สึกประทับใจให้คุณแม่ด้วยเช่นกัน  

“มีครั้งหนึ่งผมพาคุณแม่ไปญี่ปุ่นซึ่งเป็นการตัดสินใจถูก พาไปในวันที่ท่านยังเดินไหวอยู่ ผมเห็นแววตาเป็นประกายใสปิ๊ง เห็นแม่มีรอยยิ้มอิ่มเอิบ แล้วก็เดินเหินได้เหมือนกับคนปกติ คุณแม่ดีใจที่เราพาไป ทำให้หัวใจเราพองฟู อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือพาแม่ไปร่วมกิจกรรมจัดสวนขวดของ Art For Cancer นี่แหละ แม่เป็นคนชอบดอกไม้และไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แล้วก็เหมือนกันเราได้เห็นแววตาแบบนั้นกลับมาอีกครั้งเวลาที่แม่จัดสวนขวด ตอนนั่งรถกลับบ้าน แม่บอกว่า แมนเชื่อมั้ย แม่ลืมไปเลยว่าปวดหลังอยู่”

ในระหว่างที่ดูแลคุณแม่นั้น ความหวังและความสิ้นหวังก็มะรุมมะตุ้มตีกันอยู่ในหัวของแมนเช่นกัน แต่ด้วยการมีสติ มีหัวใจที่เข้มแข็ง และเต็มไปด้วยพลังบวก ก็ทำให้เขารับมือกับสถานการณ์และผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ไม่ยากนัก

“เรามีความหวังในเวลาเดียวกันก็ต้องเผื่อใจไว้ว่าถ้าหากคุณแม่ต้องจากไปล่ะ เป็นทั้ง แองเจิ้ล กับ เดวิล ที่ตีกันตลอดเวลา คือเราทำให้ดีที่สุดเพื่อให้แม่หาย แต่ถ้าไม่หายก็ต้องทำใจยอมรับและมีชีวิตต่อไปได้”     

“ทุกครั้งที่อาการคุณแม่ตก คือเริ่มจากเห็นอาการคุณแม่ดีขึ้นก่อน เราก็จะมีหวังเหมือนเห็นแสงสว่าง แต่สักวันสองวันก็มีอาการผิดปกติฉับพลันให้เห็น เช่น พูดไม่ได้ ปากเบี้ยว เหมือนใครมาผลักเราตกหน้าผา แต่ก็ต้องบอกตัวเองเรียกสติคืนมา เพราะหลังชนฝาแล้วต้องประคองอารมณ์ตัวเองด้วย ทำอย่างไรไม่ให้เครียดหนักเพราะเป็นจุดที่ดาวน์มาก เสียใจมาก เราต้องหาคนระบาย ซึ่งยอมรับว่าเพื่อนที่ดีช่วยได้มาก คืออย่าอยู่คนเดียวอ่ะครับ”

“เราต้องให้กำลังใจตัวเองเยอะ ๆ อย่าไปจมกับปัญหา ต้องคิดว่าเราไม่ได้มีลมหายใจเดียว เรากำลังประคองลมหายใจของคนที่เรารักอยู่ เพราะอย่างนั้นตัวเราห้ามทรุด ต้องแข็งแรงก่อนไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีกำลังส่งไปให้คนอื่นเลย หาแรงบันดาลใจไม่ว่าจะฟังเพลงที่ชอบหรือหาเวลาไปดูหนังบ้าง กินอาหารอร่อยๆ สักมื้อแล้วกลับมาสู้ใหม่”  

“อย่าเก็บปัญหาไว้คนเดียว บางครั้งเราก็ยังเป็นประโยชน์กับเพื่อนที่เขาเพิ่งเจอปัญหา เราแนะนำเขาได้จนเมื่อเขาดีขึ้น มันสะท้อนกลับมาสร้างพลังให้เราอีกเป็นสองสามเท่า ทำให้เรามีกำลังใจไปดูแลแม่ต่อ”

“วันหนึ่งแม่ลุกขึ้นมาพูดได้เหมือนคนปกติ แล้วบอกกับเราว่า แมนเก่งมากนะ ขอบคุณนะที่ดูแลแม่ขนาดนี้ แม่จะพยายามหาย”

แมนฝากบอกทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันด้วยว่า ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้ไม่ต้องกลับมาเสียใจทีหลังเมื่อเวลาคนที่รักจากไปแล้วว่า ทำไมไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะถึงตอนนั้นเราทำอะไรไม่ได้อีกเลย

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ศุภพัฒน์ แหลมทองมงคล

พีช – ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร มะเร็งเต้านมทำอะไรเธอไม่ได้ และเธอจะ ‘วิ่งให้มะเร็งมันดู’

จะมีสักกี่คนที่เผชิญกับวิกฤตชีวิตอย่างโรคมะเร็งแล้วยังดูมีความสุข แถมมีสุขภาพจิตแจ่มใสเสมือนปัญหาหนักอึ้งนั้นไม่ได้ปั่นทอนพลังใจลงเลย ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร หรือ พีช เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเป็นคนมองโลกแง่บวกช่วยให้เข้มแข็งไม่รู้สึกท้อถอย แล้วยังพร้อมจะส่งต่อกำลังใจพร้อมพลังบวกนั้นไปยังคนที่อาจกำลังเจอปัญหาคล้ายคลึงกัน รวมถึงทุกคนในสังคมด้วย วันนี้ พีช เจ้าของคำกล่าวที่ว่า “วิ่งให้มะเร็งมันดู” นั่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังพร้อมกับเสียงหัวเราะและแววตาสดใส

“แรกๆ ก็ทำงานหนักมาก กินไม่เลือก อยากกินอะไรกิน กินหมูกระทะทุกวัน อาหารที่ไม่คลีน แล้วก็ไม่ออกกำลังกาย เริ่มรู้สึกร่างกายอ่อนแอ แค่วิ่งไปไม่กี่เมตรก็เหนื่อย คิดแค่ว่าเราทำงานบ้านก็เหมือนออกกำลังกายแล้ว พอมีครอบครัวก็ต้องส่งลูกไปเรียนตอนเช้า มีเวลาดูแลตัวเองน้อยมาก กลับบ้านก็ดึกทำงานหนัก สัปดาห์หนึ่งหยุดวันเดียว”

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวและอาจเป็นที่มาของโรคร้าย ซึ่งหลายคนก็คงทำตัวแบบนั้นคือตามใจตัวเองจนชิน ยิ่งเป็นคนที่ไม่เคยป่วยไข้หนักก็จะคิดว่าตัวเองแข็งแรงอยู่เสมอ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด

“ฝีนี่แหละ เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังอ่อนแอ เริ่มมีปัญหาภูมิคุ้มกันไม่ดี พีชเป็นฝีแบบเป็นๆ หาย ๆ กรีดแล้วกรีดอีก กว่าจะหายได้ใช้เวลาหกเดือน จากนั้นก็เริ่มมีอาการอื่นที่ไม่เคยเป็นตามมาเช่น ท้องเสีย แต่ถึงอย่างนั้นพีชก็ยังเป็นห่วงงาน งานห้างฯ เป็นงานหนัก เวลาหยุดของคนอื่นคือเวลาทำงานของเรา”

เธอคิดว่างานที่ทำเป็นปัญหา ทำให้เครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุของความอ่อนแอ และเมื่อมีโอกาสก็ต้องหาทางเลือกใหม่ให้ชีวิต พีชย้ายงานเพื่อจะมีเวลาดูแลตัวเอง ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น และตรงนั้นเธอก็พบกับชีวิตที่มีความสุข พร้อมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งกิจกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจนั่นคือ ‘การวิ่ง’ ในขณะที่ทุกอย่างกำลังสดใสไปในทิศทางที่ดี ข่าวร้ายก็มาถึง

“ประมาณพฤศจิกาปี 2561 เริ่มรู้สึกว่าทำไมถึงเจ็บหน้าอก (เต้านม) แปลกๆ  ปกติการเจ็บหน้าอกของผู้หญิงจะมาก่อนช่วงมีประจำเดือน แต่อันนี้ไม่ใช่เลย มันจี้ดๆ ข้างในเหมือนมีมดกัด ตอนแรกก็คิดว่าไม่น่าเป็นอะไรแต่พอทิ้งไปสักพักก็คลำเจอก้อนเนื้อบ่อยขึ้น จึงตัดสินใจไปหาหมอ หลังจากไปตรวจอย่างละเอียดแล้วก็พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม”

ทันทีที่ได้ยินจากปากคุณหมอว่าเป็นเนื้อร้าย พีชรู้สึกตัวชาและถามหมอว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไรต่อ แต่ด้วยความเป็นคนมีกำลังใจดี เธอคิดว่าไม่มีปัญหาใดที่เอาชนะไม่ได้ ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ แล้วก็ต้องยอมรับเดินไปพร้อมกับมัน ซึ่งหมอแนะนำวิธีที่อาจจะทำให้สูญเสียความมั่นใจในความเป็นเพศหญิง แต่เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เชื้อมะเร็งลุกลามไป รักษาชีวิตไว้เป็นสำคัญพีชจึงเลือกวิธีนั้นอย่างไม่คิดมาก แต่ก่อนวันผ่าตัดเธอขอเลื่อนคุณหมอเพื่อจะไปลงแข่งวิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร รายการแรกในชีวิต

“ตอนนั้นรู้แล้วว่าเราเป็นมะเร็ง พีชซ้อมสูงสุดได้ 19 กม. แบบซิตี้รันวิ่งจากบ้านไปถึงสนามหลวงถึงพระบรมรูปทรงม้า แล้วก็วนกลับบ้าน แล้วในขณะที่วิ่งก็บอกตัวเองว่าเราต้องหาย รู้แค่นั้น”

เมื่อฟังแล้วก็อาจสงสัยว่าจริงๆ แล้วพีชไม่เคยเสียใจเลยหรือ

“ต่อให้รู้สึกเข้มแข็งแค่ไหนก็อดไม่ได้หรอก โดยเฉพาะคำพูดของคนรอบข้างจะสะเทือนใจเสมอซึ่งตอกย้ำว่าเรากำลังเป็นมะเร็ง เป็นโรคร้าย หรือบางที คำพูดของญาติที่แสดงความสงสาร เวทนา ทำให้อ่อนแอลง แต่ตรงนั้นไม่สำคัญ ยังไงซะจิตใจของเราต้องพร้อมจะลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความจริง”

ความเข้มแข็งไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หากแต่พ่วงความรักในครอบครัวและความฝันที่อยากจะทำไว้ด้วย ระหว่างการพูดคุย พีชโชว์ภาพของเธอที่ผ่านกระบวนการรักษา รอยแผลจากการผ่าตัดที่บันทึกไว้ในเฟสของเธอ และรวมถึงภาพการเข้าร่วมวิ่งการกุศลที่ลงสมัครไว้

“ตอนนี้กระบวนการรักษามาถึงขั้นตอนให้คีโมเพื่อทำลายเชื้อร้ายนั้นแล้วค่ะ แล้วสิ่งที่พีชกังวลอยู่ก็คือการวิ่ง พีชรู้สึกว่าแม้จะกำลังบำบัดก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับความฝัน คนเราต้องมีความหวังเพื่อจะเดินต่อไป มันอาจมีอุปสรรคมารบกวนจิตใจบ้าง แต่เราก็ต้องทำสิ่งที่หวังให้สำเร็จ ตอนแรกเป้าหมายของพีชคือวิ่ง 42 กม. มีความรู้สึกว่าลงไว้แล้วเราต้องไปต่อ ยิ่งเรารู้ว่าเราเป็นมะเร็งเราก็ต้องยิ่งสู้ ตอนนี้พีชเลยเปลี่ยนเป้าเป็นจะวิ่งให้มะเร็งมันดู”

เธอเขียนข้อความในเฟสส่วนตัวบอกเล่าชีวิตให้ผู้คนรับรู้ตอนหนึ่งว่า…ต้องขอบคุณ ‘คุณมะเร็ง’ ที่ทำให้รู้เป้าหมายของการมีชีวิต การมีลมหายใจ และเป็นแรงผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นให้มุ่งมันที่จะออกมาทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเองและเพื่อคนที่เรารัก รวมถึงเพื่อสังคม

“ที่จริงไม่ว่าคุณมีความชอบตรงไหน ดึงมันออกมาใช้ คนชอบศิลปะก็ใช้ศิลปะ คนชอบดนตรีก็ใช้ดนตรี เอามาสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเพื่อก้าวข้ามมะเร็งไปได้ ใจเราก็จะเข้มแข็ง คนที่ผ่านการผ่าตัดก็จะมีแผลไว้เป็นความทรงจำ แต่ชีวิตยังดำเนินต่อไป ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แล้วก็ยังมีลมหายใจอยู่ อย่าพึ่งยอมแพ้ เราทำเพื่อครอบครัวและคนที่เรารัก เท่านั้นเอง”   

คำพูดนั้นเหมือนกระตุ้นเตือนใครหลายคนที่กำลังมองข้ามความฝัน ใครหลายคนหลงลืมไปว่าชีวิตล้วนมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึง ไม่มีเวลาสำหรับการท้อแท้ไม่ว่าปัญหาตรงหน้าจะสาหัสขนาดไหนก็ตาม

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร

เดียร์ – นลินรัตน์ แสงเจริญถาวร สิ่งสำคัญคือเราต้องใช้ ‘ใจรักษากาย’

“Don’t worry be happy.”
ตอนที่เดียร์เป็นมะเร็งแรกๆ
เดียร์คิดถึงอนาคตวนๆ ซ้ำไปซ้ำมาทั้งวัน…ทุกวัน!
เลยลองเขียนมันออกมา
สรุปก็มีเรื่องที่กังวลอยู่ไม่กี่เรื่อง

คิดวนไปวนมาหลายรอบมาก
จนนึกขึ้นมาได้ว่า… เครียดไปก็ไม่ได้อะไร
ตอนนี้เราก็ยังโอเคอยู่หนิ!
เลยเลือกมองความสุขเล็กๆน้อยๆ
ว่าความสุขมันก็อยู่รอบตัวเรามากมาย
แค่เราดึงตัวเองออกมาจากความเครียด
แล้วหันมาให้กำลังใจตัวเอง

เดียร์ยังได้มีโอกาสฟังพระเทศน์และนำมาปรับใช้
โดยเดียร์ตื่นเช้ามาบอกกับตัวเองทุกวันว่า
“ฉันจะหาย สบายดี มีความสุข และแข็งแรง”
พร้อมกับยิ้มให้ตัวเองหนึ่งที
เหมือนเป็นการสะกดจิตตัวเองเล็กๆ
และความเจ็บมันก็น้อยลงเลยนะ มันมีพลังมากจริงๆ
ถือว่ารอดมาได้ด้วยประโยคนี้เลยล่ะ

เดียร์เชื่อเรื่องของ ‘ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว’
เคยสังเกตว่าตอนที่เราเจ็บแผลมากๆ ไม่หายสักที
พอมันเจ็บจี๊ดขึ้นมาทีไร เราก็ร้องว่า
โอ้ยย! เจ็บบ!

พอคิดแบบนั้นรู้สึกว่าตัวเองเจ็บหนักกว่าเดิมอีก
เราเลยเปลี่ยนความคิดว่าไม่เจ็บๆ
กลับกลายเป็นว่า เฮ้ยย รู้สึกหายเจ็บซะงั้นนน!!

นอกจากกำลังใจและน้ำใจมากมายจากคนรอบตัวที่น่ารักมากๆ
ทั้งครอบครัว แฟนและเพื่อนๆ
คุณหมอพยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ศิริราช
ที่สำคัญไม่แพ้กันคือสำหรับเดียร์นั่นก็คือ
กำลังใจจากตัวเอง
คือเราต้องใช้ ‘ใจรักษากาย’ ค่ะ

และนี่คือที่มาของสร้อย JUST be HAPPY
ที่เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจของเดียร์
และอยากจะใช้เพื่อส่งต่อกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลัง
เจอกับอุปสรรคปัญหาในชีวิตอยู่ตอนนี้

ตั๊ก – มนต์ชนก ศาสตร์หนู เป็นมะเร็งไม่สำคัญ แต่การมี ‘วันนี้’ คือสิ่งที่ดีที่สุด

ตั้งแต่เริ่มแรกที่เป็นมะเร็งก็จะมีความรู้สึกแย่ต่างๆ นานาสารพัดที่ความคิดลบจะไปได้ ทุกคนในครอบครัวมาดูแลและให้กำลังใจ เราก็เศร้าว่าอายุเท่านี้แล้วแทนที่จะดูและพ่อกับแม่ กลายเป็นนี่ทำให้ท่านเป็นห่วงกว่าปกติอีก แต่ก็ได้พลังบวกจากแฟนและพี่สาวว่า ถ้าเรามัวแต่แย่ทางใจ กายเราก็จะแย่ด้วย มันไม่ได้ทำให้มะเร็งเราหายได้เลย

จากที่คิดโทษตัวเอง ก็ค่อยๆ คิดได้ว่าสิ่งที่เราจะตอบแทนทุกคนได้ก็คือ เราต้องเข้มแข็งขึ้นมาให้ได้ทั้งร่างกายและใจ ลองคิดดูว่านี่เราก็ยังได้ตื่นมาตอนเช้า ยังได้ใช้ชีวิตอยู่ มีคนที่รัก นี่มันคือสิ่งที่ดีมากๆ ที่สุดแล้ว หลังจากนั้นก็ค่อยๆ คิดเลยว่า การเป็นมะเร็งนี่มันก็ทำให้เราอยู่ง่ายขึ้นมากเลยนะ

มักจะคิดกับตัวเองบ่อยๆ ว่าในวันที่เราได้ตื่นมาใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกตินี่มันดีจริงๆ มีความสุขกับอะไรง่ายๆ เลิกโทษอดีต ไม่กังวลกับอนาคต…เพราะการที่เรามี ‘วันนี้’ คือสิ่งที่ดีสำหรับเราแล้วค่ะ

และนี่คือที่มาของสร้อย Today is Great! ที่เป็นเหมือนเครื่องรางเตือนใจของตั๊ก และอยากจะใช้เพื่อส่งต่อกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังเจอกับอุปสรรคปัญหาในชีวิตอยู่

พิฆ – สุฑาพร เผื่อนพิภพ จงมีสติเพราะเรายังมีชีวิตอยู่ “ฉันยังไม่ตาย”

ครั้งแรกที่เรามองกระจก
เราเห็นสภาพตัวเองแย่มากๆ
เรารู้สึกท้อ เหนื่อย สิ้นหวัง
ทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาล
ทั้งเรื่องการดูแลตัวเองและเรื่องต่างๆ

ถึงแม้ว่าเราจะลำบาก
แต่เราก็ไม่เคยคิดจะพึ่งใคร
ไม่อยากกวนที่บ้าน
เรายังไปทำงานตามปกติ
ทั้งๆ ที่บางทีร่างกายไม่อำนวย
หน้าที่การงานก็ยังไม่มั่นคง
เพราะเพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน
เรื่องเงินจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่
รองลงมาจากอาการป่วย

ตอนนั้นเราท้อมากก
ร้องไห้จนเหนื่อย
แล้วก็มองหน้าตัวเองอยู่หน้ากระจก
เห็นภาพตัวเองนั่งสะอื้น

แล้วเราก็ถอนหายใจแรงๆ
มันเลยรู้สึกถึงลมหายใจของตัวเอง
ทำให้เรามีสติคิดได้ว่า
เออ เรายังมีชีวิตอยู่นี่นา
ฉันยังไม่ตายนะ