มะเร็งเป็นบททดสอบและของขวัญ ‘ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์’ ผู้ป่วยมะเร็งเนื้อเยื่อบุช่องท้อง ผู้สู้โรคด้วยความรักและการแบ่งปัน

         ของขวัญ – ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์ เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอทำงานเป็นผู้ประสานงานองค์กร Young Women’s Christian Association หรือ YWCA เธอใช้ชีวิตแบบคนทำงานทั่วไป ไม่ได้เจ็บป่วยออดแอด ในวัยเพียง 25 จู่ๆ เธอก็พบว่าตัวเองปวดศีรษะหนักจนไม่สามารถรักษาสมดุลร่างกายได้ เป็นครั้งแรกที่เธอต้องไปหาหมอ ด้วยเข้าใจว่าเป็น Office Syndrome และกลับมารับประทานยาแก้ปวด ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

จาก Office Syndrome สู่มะเร็งในช่องท้อง

         หลังจากกลับมาจากการตรวจครั้งแรก ของขวัญเริ่มใส่ใจสุขภาพ เธอออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองไม่เครียด รวมถึงพบปะเพื่อนฝูงอยู่บ่อยๆ กระนั้นอาการปวดศีรษะกลับไม่ดีขึ้นเลย กระทั่งเธอมีโอกาสกลับไปเชียงใหม่ เธอเข้ารับการตรวจสมองด้วย CT Scan กระนั้นผลการตรวจครั้งที่สองก็ยังไม่พบสาเหตุสำคัญใด  

            “คุณหมอระบุว่าสมองบางส่วนของเราฝ่อ แต่หมอกลับบอกว่าไม่มีอะไรน่ากังวล ดีที่คุณแม่เราเป็นพยาบาล แม่บอกว่าการที่คนจะสมองฝ่อได้คือต้องเป็นคนอายุมากแล้ว ซึ่งไม่น่าจะเกิดกับเรา คราวนี้คุณแม่เลยเรียกให้เรากลับมาเชียงใหม่อีกที ทำ CT Scan อีกครั้งหนึ่ง” ของขวัญเอ่ยถึงคุณแม่ของเธอ – นงลักษณ์ เจษฎาพันธ์ แม่ผู้ตัดสินใจให้เธอลองตรวจร่างกายอีกเป็นครั้งที่สาม

            วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 คือวันที่เธอเข้ารับการตรวจ CT Scan เป็นครั้งที่สาม พบว่าเธอมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง และภายหลังพบว่าภายในช่องท้องของเธอมีเลือดออก แม้ต่อมาคุณหมอจะได้ให้ยาระงับฮอร์โมน เนื่องจากวินิจฉัยว่าเลือดที่ออกมาจากการตกไข่ ทว่าเลือดในช่องท้องก็ยังออกอยู่ หมอจึงทำการตรวจเลือดอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของอาการเลือดออก และพบว่าเกล็ดเลือดของเธอมีความผิดปรกติ จึงทำให้เลือดออกง่าย

            ของขวัญต้องพบหมออีกเป็นครั้งที่ 4 โดยรอบนี้เธอเข้าเอ็กซ์เรย์ช่องท้องเพราะมีเลือดออกในช่องท้องอีกครั้ง และในที่สุดก็พบสาเหตุของอาการปวด นั่นคือก้อนเนื้อขนาดราว 10 เซนติเมตรหลังมดลูก และชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกจำนวนมากที่กระจายเต็มช่องท้อง

“คุณหมอได้ผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อนำเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ และพบว่าเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อบุช่องท้อง เรียกว่า เมโสเธลิโอมา (Mesothelioma) เป็นมะเร็งที่พบในคนทั่วไปได้ยากมาก” ของขวัญกล่าว

“พระเจ้าอนุญาตให้เราเป็นได้ พระองค์ก็รักษาเราได้”

            ความที่สาเหตุมาจากเนื้อร้ายชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่กระจายอยู่ในช่องท้อง ปัญหาแรกที่แพทย์ผู้รักษาของขวัญพบก็คือทีมแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อออกได้ เช่นนั้นแล้วการใช้เคมีบำบัด กำจัดเนื้อร้ายจากภายในจึงเป็นทางเลือกหลักแทน

            ของขวัญเข้ารับการทำเคมีบำบัดด้วยตัวยา Alimta และ Cisplatin ทั้งหมด 6 ครั้ง ใช้เวลา 18 สัปดาห์ ซึ่งแน่นอน ผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดก็หนักหน่วงเช่นที่ผู้ป่วยมะเร็งทั่วไปประสบ

            “พบว่าในโชคร้ายก็มีโชคดีอยู่อย่าง คือเรากินข้าวได้ เคมีบำบัดไม่ทำให้เราเบื่ออาหาร และเรายังมีความสุขกับการกิน” ของขวัญขยายความต่อ เมื่อเธอมีความสุขกับการกิน เธอจึงกินได้มาก อาหารสร้างพลังงานให้ร่างกายนำไปต่อสู้กับโรค

            ทั้งนี้อีกเรื่องที่ของขวัญให้เครดิตไม่น้อยไปกว่ากันคือ ‘ความรักในพระเจ้า’

             “ด้วยความที่เราเป็นคริสเตียน เราวางใจในพระเจ้า ถ้าท่านทำให้เราเป็นได้ ท่านก็ทำให้เราหายได้ พอทราบว่าเป็นมะเร็งเราก็ช็อคเลย ไปต่อไม่เป็น ยิ่งมาอ่านเจอในอินเทอร์เน็ต เขาบอกว่ามะเร็งแบบที่เราเป็นหายากมาก ส่วนใหญ่ใครเป็นจะอยู่ได้ไม่เกินสามปี ก็ยอมรับว่าจิตตกนะ แต่เพราะเรามีความเชื่อ เชื่อว่านี่เป็นบททดสอบ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ก็เลยผ่านมาได้” เธอกล่าว

            แต่นั่นล่ะ บททดสอบก็หาได้ผ่านไปง่ายๆ ทุกวันนี้ของขวัญยังจำความรู้สึกภายหลังเข้ารับเคมีบำบัดเข็มที่สี่ได้ดี สภาพจิตใจเธอย่ำแย่จากการบำบัดเนื้อร้ายในช่องท้อง เคมียอกย้อนขึ้นไปถึงสมอง เธอมีอาการจิตตก ตกมากถึงขนาดมีอยู่ครั้งหนึ่ง เธอไปกินข้าวที่โรงอาหารและเผอิญดึงเก้าอี้มาโดนขา เธอกรี๊ดดังลั่นและร้องไห้อย่างหนักตรงนั้น ท้ายที่สุดเธอต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการจิตตกควบคู่ไปกับรักษามะเร็งด้วย    

หายได้จากการแบ่งปัน

นอกจากความเชื่อและความรัก ของขวัญให้เครดิตกับการก้าวผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายในชีวิตมาได้แก่คุณแม่ของเธอ แม่ที่อยู่เคียงข้างและชักพาให้เธอได้เจอสิ่งดีๆ อยู่เสมอ

“แม่และครอบครัวดูแลเราอยู่เสมอ พร้อมกันนั้นก็หาวิธีที่ทำให้เราไม่เครียด อย่างชวนเราไปเข้าค่ายผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งทำให้เราได้พูดคุยกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้เห็นว่ามีคนเป็นหนักกว่า มีคนพร้อมจะสู้มากกว่า ก็ทำให้เราได้รับกำลังใจสู้ต่อและกลับมาเข้มแข็งได้” เธอกล่าว

การได้แลกเปลี่ยนกับผู้ป่วยคนอื่นยังสร้างแรงบันดาลใจให้เธอเขียนบันทึกบอกเล่าถึงการต่อสู่กับโรคร้ายด้วยตัวเอง ด้วยหวังจะเผยแพร่บทเรียน ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก

“เราตั้งเพจชื่อว่า ชีวิตของขวัญ ซึ่งมันให้ความหมายได้สองอย่างคือ ชีวิตของตัวเราเอง หรือชีวิตที่เป็นของขวัญให้กับคนอื่น เราอยากบอกให้คนอื่นรู้ว่า แม้เราจะเป็นมะเร็ง เราก็ยัง move on ได้นะ เรายังส่งต่อได้นะ ไม่ใช่ว่าต้องหมดพลังไปกับสิ่งนี้” เธอกล่าว

อีกหนึ่งความภูมิใจของเธอในฐานะผู้ส่งสาส์น คือการได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งของการเขียนเรียงความในหัวข้อเปลี่ยนความคิดชีวิตเปลี่ยน ซึ่งเปิดให้ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งส่งเข้าประกวด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เธอต้องการส่งต่อพลังใจแก่ผู้อื่น

เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเคมีบำบัด ร่างกายของของขวัญมีอาการทรงตัว แม้ไม่หายขาด หากก้อนเนื้อก็ไม่ขยายตัวและแพร่กระจาย กระนั้นเธอก็ยังคงต้องติดตามผลทุกสามเดือนเพื่อเช็คการทำงานของอวัยวะภายใน เธอกล่าวด้วยโลกทัศน์ที่ดีว่า “ก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่ได้ทรมานอะไร”

ทุกวันนี้ของขวัญทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์และลูกค้าสัมพันธ์ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ยังคงทำเพจ ชีวิตของขวัญ เพื่อให้การช่วยเหลือในเรื่องความรู้ การรักษา และการดูแลตัวเองแก่ผู้ป่วยมะเร็งหรือญาติผู้ป่วย

นอกจากนี้ของขวัญยังมีแผนที่จะสร้างเพจท่องเที่ยว เพราะเธอพบว่าเมื่อตัวเองป่วยและมีความเสี่ยงถึงชีวิต จึงอยากออกเดินทางเห็นโลกให้มากๆ และนั่นทำให้เธอได้มีโอกาสเที่ยวบ่อยกว่าใครหลายคน ที่สำคัญ เธอยังย้ำอีกว่าการเป็นมะเร็งเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้เธอรู้วิธีในการส่งต่อพลังให้แก่ผู้อื่น

“เรามีประสบการณ์เกี่ยวกับตัวโรคที่ไม่ได้หามาได้ง่ายๆ เหมือนกับเราเป็นคนพิเศษ ถ้าเราไม่เป็นเราก็ไม่รู้ว่าจะให้กำลังใจคนอื่นยังไง ควรทำแบบไหน แต่พอเราได้รับโอกาส คือพระเจ้ามอบสิ่งนี้มา เราก็ได้ส่งต่อพลังและช่วยคนอื่นต่อไป” ของขวัญ ผู้มองว่าชีวิตเธอคือของขวัญจากพระเจ้า​ และบทเรียนที่เธอได้รับยังเป็นของขวัญมอบให้คนอื่น กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง: ธีรภัทร ศรีวิชัย
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์
,
ภาพบางส่วน: เพจ ชีวิตของขวัญ, ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์