มะเร็งมีกี่ระยะ?

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน จึงรักษาไม่เหมือนกัน แม้มะเร็งชนิดเดียวกัน เป็นมากหรือเป็นน้อย ก็รักษาไม่เหมือนกันอีก วงการแพทย์จำแนกโรคมะเร็งมากหรือน้อย โดยเรียกว่า “ระยะ” ของโรค (Stage) เพราะ มะเร็งส่วนใหญ่เริ่มด้วยขนาดเล็ก ๆ ก่อน ตอนที่ก้อนเล็ก ๆ มันมักจะไม่กระจายไปไหน เรียกว่าระยะแรก เมื่อก้อนใหญ่ขึ้น เซลล์มะเร็งก็รุกรานเนื้อเยื่อรอบก้อน และบางเซลล์เริ่มหลุดออกจากก้อน กระจายไปทางน้ำเหลืองและเลือดสู่อวัยวะอื่น เพราะเป็นมานานกว่าก้อนเล็ก เรียกว่าระยะลุกลาม หรือระยะท้าย (Advanced Cancer)

วงการแพทย์จำแนกมะเร็งเป็น 4 ระยะ สำหรับมะเร็งส่วนใหญ่ ในครั้งแรกที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์

ระยะที่ 1 มักหมายถึงมะเร็งที่มีขนาดเล็ก ผ่าตัดแล้วหมดเกลี้ยงได้แน่นอน

ระยะที่ 2 หมายถึงมะเร็งก้อนใหญ่กว่าระยะแรก ผ่าตัดแล้วน่าจะหมด แต่เมื่อนำชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปมาวิเคราะห์แล้ว พบมีลักษณะบางอย่างที่บ่งว่า ผู้ป่วยบางคนมีเซลล์มะเร็งแอบกระจายอยู่บ้างรอบก้อนที่ตัดออกไป แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าขณะที่กำลังผ่าตัด

ระยะที่ 3 หมายถึงก้อนมะเร็งที่ใหญ่จนผ่าตัดไม่หมดหรือผ่าไม่ได้เพราะติดอวัยวะสำคัญ ถ้าผ่าออกหมดจะพิการ หรือพบว่ากระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบก้อนมะเร็ง แต่ยังไม่มีสัญญาณว่ามะเร็งกระจายไป “อวัยวะไกล”ออกไป เช่น ตับ ปอด สมอง กระดูก

ระยะที่ 4 หมายถึงผู้ที่เป็นโรคมะเร็งในอวัยวะไกล ไม่ว่าก้อนตั้งต้นจะใหญ่หรือเล็กก็ตาม

สำหรับมะเร็งแต่ละชนิด ผู้ที่เป็นระยะที่ 1 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 2 ผู้ที่เป็นระยะที่ 2 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 3 และ ผู้ที่เป็นระยะที่ 3 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 4 วงการแพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ตามด้วยการรักษาอื่นที่มากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 1 หายขาดเกือบทุกคน และเพิ่มการรักษาหลังผ่าตัดมากขึ้นอีกสำหรับมะเร็งระยะที่ 2 เนื่องจากมะเร็งระยะที่สามนั้นแปลว่าผ่าตัดไม่หมดหรือผ่าไม่ได้ ก็มักได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงให้ก้อนเล็กลงก่อน ตามด้วยการผ่าตัด

สำหรับมะเร็งระยะที่ 4 หรือบางคนเรียกว่าระยะสุดท้าย การรักษาก็มักจะพึ่งยาเคมีบำบัดเป็นหลัก แต่ถึงจะให้ยาดีที่สุดก็ไม่ทำให้มะเร็งหายขาด ยกเว้นมะเร็งไม่กี่ชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลายชนิด มะเร็งไธรอยด์ มะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ ก็ยังมีโอกาสหายขาดได้บ้างแม้เป็นระยะที่ 4 ดังนั้นจะเรียกว่าระยะสุดท้าย ก็ไม่ค่อยเหมาะสม การพบมะเร็งในอวัยวะไกล แม้เพียงจุดเดียว ก็แสดงว่ามะเร็งได้กระจายไป ‘ทั่วตัว’ แล้ว โดยมากก็โดยทางกระแสเลือด ซึ่งไหลเวียนไปได้ทุกที่ เพียงแต่จุดที่ตรวจพบสัญญาณ ก็เป็นจุดที่มีมะเร็งปริมาณมากที่สุด แต่มะเร็งอาจจะอยู่ในร่างกายสิบจุด ร้อยจุด แล้วก็ได้ เพียงแต่มีไม่กี่เซลล์จึงเป็นก้อนเล็กเกินกว่า เทคโนโลยีในวันนี้จะตรวจเจอ ในกรณีที่พบมะเร็งในครั้งแรกที่กระดูก ตับ ปอด หรือสมอง ก็ต้องค้นหาก่อนว่าเป็นมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น หรือเป็น “มะเร็งปฐมภูมิ” ของกระดูก ตับ ปอด สมอง กันแน่

มะเร็งบางชนิดก็ไม่มีการระบุระยะ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) เพราะว่าเซลล์มะเร็งกระจายทั่วตัวทุกรายอยู่แล้วตั้งแต่แรก แต่ก็มีโอกาสหายขาดด้วยยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมสำหรับชนิดย่อยของมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมองก็มักไม่ระบุระยะ เพราะมันไม่ค่อยกระจายไปอวัยวะไกล และบางครั้งแม้ผ่าตัดหมดก็ไม่หายอยู่ดี จึงเทียบเคียงกับโรคอื่นไม่ได้ มะเร็งเหล่านี้ ต้องระบุชนิดย่อยของเซลล์มะเร็ง จึงจะวางแผนการรักษาได้

มะเร็งบางชนิด มีระยะ 0 ด้วย คือเป็นมะเร็งที่เพิ่งเป็น ยังไม่กระจายไปไหนเลย ภาษาหมอเรียกว่า Carcinoma in situ ตัดออกเฉพาะตำแหน่งที่เป็นก็หายขาด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มักตรวจพบจากการตรวจกรองในประชากรปกติ ไม่มีอาการแต่อย่างใด และโรคมะเร็งบางชนิด มีความผิดปกติที่ยังไม่เป็นมะเร็ง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน ภาษาหมอเรียก pre-cancerous lesions เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ฝ้าขาวในช่องปากเป็นต้น ถ้าตัดออกเมื่อตรวจเจอ ก็จะป้องกันการเป็นมะเร็งได้

วงการแพทย์จะระบุระยะของมะเร็ง เฉพาะในการวินิจฉัยครั้งแรกเท่านั้น เช่น มะเร็งเต้านมระยะ 1, 2, 3 เมื่อทำการรักษาแล้ว ก้อนมะเร็งหายไป ต่อมามะเร็งปรากฏขึ้นในอวัยวะไกล เช่นกระดูก ก็เรียกว่า มะเร็งเต้านมระยะ 1, 2, 3 ที่กระจายไปกระดูก ภาษาหมอเรียกว่า ith metastasis แต่ไม่เรียกว่ามะเร็งกระดูก ไม่เรียกว่าระยะที่ 4 กล่าวคือเราไม่เปลี่ยนชื่อระยะ แม้ว่าโอกาสรักษาหายขาดจะน้อยมากเช่นเดียวกัน ถ้าเราจะเรียกสภาวะนี้ว่า มะเร็งระยะสุดท้าย ก็สมเหตุผล วงการแพทย์ระบุ “ระยะ” ไว้เพื่อเปรียบเทียบสถิติผลการรักษามะเร็ง ว่าการรักษาแบบใดดีกว่ากันเท่านั้น

ถึงแม้ว่ามะเร็งระยะ 3, 4 แสดงว่าเป็นมะเร็งมานานกว่า ระยะ 1, 2 แต่ไม่สมควรที่จะกล่าวโทษว่า มาหาหมอช้าไป ความจริงก็คือ ระยะ 1, 2 นั้นมักไม่มีอาการใด ๆ ที่จะทำให้ผู้เป็นมะเร็งมาตรวจแต่เนิ่น ๆ ได้เลย การตรวจพบมะเร็งระยะแรกมัก เกิดจากการรณรงค์ให้คนปกติพาตัวเองมา “ตรวจกรองหามะเร็ง” ทั้งที่ยังไม่มีอาการ แต่มาหาหมอเมื่อสัญญาณเตือน หรืออาการผิดปกติเสียแล้ว ก็มักพบมะเร็งในระยะ 3, 4 เสียเป็นส่วนใหญ่ มะเร็งที่ตรวจกรองได้ในทศวรรษนี้ ก็มีเพียงมะเร็ง 3 ชนิด คือมะเร้งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งอื่นยังไม่มีวิธีตรวจกรองที่คุ้มค่าพอที่จะแนะนำให้ทำทุกคน

นอกจากนี้มะเร็งหลายชนิด เช่นมะเร็งในเด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะกระจายไปทั่วตัวตั้งแต่ก้อนยังเล็ก เมื่อมาพบแพทย์จึงเป็นระยะลุกลามเป็นส่วนใหญ่ แต่ในรายที่พบระยะแรกมักเป็นก้อนใหญ่ที่ไม่ค่อยกระจาย กล่าวคือมะเร็งอวัยวะเดียวกันระยะแรกกับระยะลุกลามเป็นคนละโรคกัน ไม่ได้ลุกลามเพราะมาพบแพทย์ช้าหรือเร็ว

“มะเร็ง” คือ อะไร?

ถูกควบคุมโดยกลไกอะไรในร่างกายของเรา

ทำความรู้จักกับมะเร็งให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้รับมือกับมะเร็งได้อย่างถูกต้อง 

เคมีบำบัดรักษามะเร็งได้อย่างไร

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ยาเคมีบำบัด ภาษาอังกฤษ คือ Cytotoxic Chemotherapy หมายถึง ยาที่มีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวไม่สิ้นสุด หยุดไม่ได้ ดังนั้นการทำให้มะเร็งหายขาดวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือ ให้ยาพิษเพื่อฆ่าเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้ให้ตายหมดเกลี้ยงไม่เหลือแม้แต่ตัวเดียว แล้วจึงหยุดยา มะเร็งก็จะไม่มีทางกลับมาอีก

แม้ว่าเซลล์ปกติจะต้องโดนยาพิษไปด้วยบ้าง แต่ยาพิษก็ไม่ได้ทำอันตรายทุกเซลล์ เซลล์ที่แบ่งตัวตลอดเวลา เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์สร้างเส้นผม เซลล์เยื่อบุช่องปาก ก็มักจะได้รับพิษมากกว่าเซลล์ที่ไม่ค่อยแบ่งตัว เช่น เซลล์ประสาท เซลล์สร้างกระดูก ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด จึงมีผลข้างเคียง เช่นเม็ดเลือดต่ำ ผมร่วง ปากเป็นแผล ยาเคมีบำบัด แต่ละอย่างมีผลข้างเคียงแตกต่างกันออกไป และผลข้างเคียงก็มิได้เกิดกับทุกคน บางอย่างเกิดขึ้นบ่อย บางอย่างเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ไม่มีความแน่นอนเท่าใดนัก

ยาเคมีบำบัด ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ โดยการทำให้เกิดความผิดพลาดในการสร้างดีเอ็นเอ เซลล์ทั่งหลายจะต้องสร้างดีเอ็นเอโดยการลอกแบบเป็นสองชุดเสียก่อน จึงจะแบ่งตัวได้ เนื่องจากเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวบ่อยมาก เมื่อเทียบกับเซลล์ปกติ การให้ยาพิษต่อดีเอ็นเอ จึงทำให้เซลล์มะเร็งได้รับยาพิษมากกว่าเซลล์ปกติ เมื่อเซลล์มะเร็งโดนยาพิษตายก้อนมะเร็งก็ค่อย ๆ เล็กลงตามลำดับ ถ้าเราให้ยาพิษที่เหมาะสม มากพอ และนานพอ เซลล์มะเร็งก็น่าจะตายหมด โดยที่ร่างกายของเรายังรอดอยู่

เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่เกิดจากความผิดพลาดของข้อมูลในดีเอ็นเอ ทำให้แบ่งตัวไม่หยุด การแบ่งตัวแต่ละครั้งก็เพิ่มความผิดพลาดในดีเอ็นเอ ดังนั้นในก้อนมะเร็ง​ซึ่งมีเซลล์มากกว่าพันล้านเซลล์ ทุกเซลล์จึงไม่เหมือนกันทีเดียวนัก จะมีเซลล์มะเร็งที่ดื้อยาเคมีบำบัดไม่ว่าจะชนิดใด ปะปนอยู่เสมอ หากการให้เคมีบำบัดฆ่ามะเร็งได้ เซลล์ใดที่ไวต่อยาก็ตายไป แต่เซลล์ที่ดื้อยาก็จะรอด แม้จะมีเพียงหนึ่งในพัน หรือหนึ่งในหมื่น แต่ในที่สุดเซลล์ดื้อยาก็จะแบ่งตัวกลับมาเป็นก้อนได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมตามเวลา การรักษามะเร็งแต่ละชนิดจึงต้องให้ยามากกว่า 1 ชนิดพร้อมกัน เรียกว่า สูตรยา หรือ “โปรโตคอล”

แม้ว่าจะมีผลเสีย ผลข้างเคียง และปัญหาการดื้อยา แต่การให้ยาเคมีบำบัด ก็สามารถรักษามะเร็งให้หายขาดได้จริง ยากตัวอย่างเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด “ALL” (Acute Lymphoblastic Leukemia) ในเด็ก ในปัจจุบัน สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาเคมีบำบัด ถึงร้อยละ 85 แต่ความสำเร็จนี้มิได้มาง่าย ๆ เด็กที่เป็นมะเร็งชนิดนี้จำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดถึง 8 ชนิด สลับกันไปมาในระยะเวลา 3 ปี มีทั้งกิน ฉีดเข้าเส้น ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง ฉีดในโรงพยาบาลบ้าง กินเองที่บ้านบ้าง แต่ไม่ต้องผ่าตัด หรือฉายรังสี และ การหายขาด หมายความว่า เมื่อรักษาครบ 3 ปีแล้วก็หยุดยาทั้งหมด มะเร็งไม่กลับมาอีกเลย เด็กเหล่านี้สามารถเรียนหนังสือ เล่นกีฬา เล่นสนุกสนาน ไม่ต้องกินยาใด ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากเด็กปกติเลย

แต่ยาเคมีบำบัดไม่สามารถรักษามะเร็งได้ทุกชนิด ยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดฆ่าเซลล์​มะเร็งได้เพียงบางอย่าง ถ้าให้ยาชนิดใดแล้วเซลล์มะเร็งไม่ตาย เรียกว่า มะเร็งดื้อยาเคมีบำบัด อันที่จริง มะเร็งส่วนใหญ่ในผู้ใหญ่ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว ผู้ที่จะหายขาดจากมะเร็งได้ มักจะมีก้อนขนาดเล็กผ่าตัดออกได้หมด ตามด้วยการฉายรังสี ตามด้วยยาเคมีบำบัดสูตรที่ดีที่สุดสำหรับมะเร็งชนิดนั้น

วงการแพทย์ได้ทำการวิจัยเพื่อค้นหาว่ายาใดบ้าง รักษามะเร็งชนิดใดได้ผลบ้าง หลังจากทำการวิจัยอย่างเป็นระบบในผู้ป่วยหลายร้อยหลายพันคนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จึงสามารถสรุปได้ว่า สูตรยาอะไร ดีที่สุดสำหรับมะเร็งชนิดใด เมื่อมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดหนึ่ง แพทย์จึงนำเสนอสูตรที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งมักเป็นสูตรที่มีโอกาสทำให้หายขาดมากที่สุด หรือถ้าไม่หายก็ทำให้มีโอกาสยืดชีวิตได้นานกว่าสูตรอื่น

สูตรยาที่ดีที่สุดในการรักษามะเร็งแต่ละชนิด ไม่เหมือนกัน และสูตรยาสำหรับมะเร็งระยะแรก ก็ต่างจากระยะลุกลาม ดังนั้นประสบการณ์ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งคนละชนิด จึงไม่สามารถเทียบเคียงกันได้ การรักษาจะเหมือนใกล้เคียงกันถ้าเป็นผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันและระยะเดียวกัน

การฉายแสงรักษามะเร็งได้อย่างไร

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การฉายแสง หรือเรียกให้ถูกต้องว่า การฉายรังสี หรือรังสีรักษา ภาษาอังกฤษ คือ Radiation Therapy หมายถึง การใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง รังสีพลังงานสูง ได้แก่ รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา รังสีเบตา อนุภาคโปรตอน. เมื่อรังสีวิ่งผ่านอวัยวะใด ก็จะปลดปล่อยพลังงานทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระในเซลล์ที่โดนรังสี ดีเอ็นเอของเซลล์ก็จะเสียหายและตายในที่สุด เซลล์ใดที่กำลังสร้างดีเอ็นเอเพื่อเตรียมแบ่งตัวอยู่ในขณะที่โดนรังสี ก็จะตายง่ายกว่าเซลล์อื่น

การฉายรังสีอาจทำหลังผ่าตัดก้อนออก เพื่อให้การรักษามะเร็งที่เหลือจากการผ่าตัดออกไม่หมด หรือมะเร็งที่อาจซ่อนตัวอยู่รอบ ๆ บริเวณที่ผ่าตัดออกหมดแล้ว เพื่อมิให้กลับมาอีกในบริเวณที่ผ่าตัดนั้น รังสีจึงมีประโยชน์ในการควบคุมโรคมะเร็งในตำแหน่งที่โดนรังสี แต่ถ้าหากมะเร็งกระจายไปก่อนการฉายรังสี มะเร็งก็จะปรากฏเป็นก้อนในอวัยวะที่มันกระจายไปในภายหลัง

นอกจากเซลล์มะเร็งจะตายด้วยรังสีแล้ว เซลล์ปกติที่อยู่ในตำแหน่งที่โดนรังสี ก็จะเสียหายด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากเซลล์มะเร็งแบ่งตัวได้เร็ว จึงมักจะไวต่อรังสีแต่ตายมากกว่า เซลล์ปกติของแต่ละอวัยวะทนรังสีได้ไม่เท่ากัน อวัยวะที่มีการแบ่งเซลล์ตลอดเวลาจะทนได้น้อย เช่น ไขกระดูก ตับ ลำไส้ ไต ปอด แพทย์จะเลี่ยงการฉายรังสีมิให้โดนอวัยวะเหล่านี้ ถ้าเป็นมะเร็งในอวัยวะเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถรักษาด้วยการฉายรังสี ในทางตรงกันข้าม สมอง กระดูกแขนขา คอ กล้ามเนื้อทนรังสีได้มาก ถ้ามีก้อนมะเร็งในตำแหน่งเหล่านี้ ก็จะฉายรังสีได้มาก

ปริมาณรังสีที่ใช้รักษา จะถูกกำหนดโดยอวัยวะที่มะเร็งปรากฏอยู่ แพทย์มักจะให้รังสีในปริมาณมากที่สุดที่อวัยวะนั้นจะทนได้ เพื่อให้มะเร็งได้รับรังสีมากที่สุด จึงมีโอกาสหายสูงสุด เว้นแต่ในกรณีที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การให้รังสีเพียงครึ่งเดียวของมะเร็งอื่น ก็ทำให้มะเร็งหายขาดจากบริเวณที่ฉายรังสีได้ โดยทั่วไปการฉายรังสีที่ใด จึงมักทำได้ครั้งเดียว หากมะเร็งกลับมาใหม่ในตำแหน่งที่เคยฉายรังสีแล้ว ก็จะถือว่าเป็นมะเร็งดื้อรังสี ฉายแสงเพิ่มไม่ได้อีก

การฉายรังสีเพื่อหวังหายขาด แพทย์จะให้รังสีทีละน้อย อาจใช้เวลาฉายแสงเพียง 5 นาที วันละครั้ง แล้วให้ฉายแสงซ้ำในตำแหน่งเดิมสะสมไปจนครบปริมาณ หลายสิบครั้ง โดยมักฉายแสงเฉพาะวันราชการ งดในวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ ที่ใช้ระยะเวลานานเช่นนี้ เพราะรังสีทำลายเฉพาะเซลล์ที่แบ่งตัว การฉายรังสีในเวลาหลายสัปดาห์ทำเซลล์มะเร็งทุกตัวมีโอกาสแบ่งตัวและโดนรังสีไปจนหมดสิ้น แล้วไม่สามารถกลับมางอกได้อีกในบริเวณนั้น

การรักษาด้วยรังสี มักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในระหว่างการฉายรังสี แต่การฉายรังสีบางตำแหน่ง เช่น หน้าและคอ เมื่อผ่านไปสักสิบครั้ง ก็จะมีอาการแสบในคอ ทำให้กินอาหารลำบาก ผิวหนังที่โดนรังสี ก็อาจจะเริ่มมีการอักเสบไหม้ ไขกระดูกที่โดนรังสีก็จะสร้างเม็ดเลือดน้อยลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องอดทนกับความเจ็บปวดจากผลข้างเคียงเหล่านี้เพื่อแลกกับโอกาสหายขาดจากมะเร็ง

ในกรณีที่มะเร็งลุกลามไปแล้ว แพทย์มักไม่ฉายรังสีในทุกตำแหน่งที่มีก้อน แต่จะฉายรังสีเฉพาะก้อนที่ทำให้เกิดอาการปวด หรือเกิดอาการรบกวน ด้วยปริมาณรังสีในปริมาณที่ทำให้อาการหายไป ซึ่งจะใช้เวลาไม่กี่วัน เพราะการฉายรังสีมากก็ไม่สามารถทำให้มะเร็งหายขาดได้ เรียกว่า การฉายรังสีแบบประคับประคอง Palliative Radiation

ฉายแสงกับกลืนแร่ ต่างกันอย่างไร?

คำตอบจากคุณหมอกิตติศักดิ์ ชมประเสริฐ จากงานเสวนาพลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 11

“การใส่แร่หลักๆ ในปัจจุบันจะมีตัวชี้วัด 2 โรค คือ มะเร็งปากมดลูก กับมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ที่โรงพยาบาลเราไม่ได้ใส่ในต่อมลูกหมาก เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็จะเป็นคนไข้มะเร็งปากมดลูก โพรงมดลูก มันต่างกันอย่างไร? ฉายแสง กับใส่แร่ ฉายแสงให้เรานึกว่ามันเป็น outside in คือการรังสีที่ตัวเครื่องฉายเข้าไปในตัวคนไข้ outside แล้ว in เข้าไป แต่การใส่แร่คือการนำกัมมันตรังสีเข้าไปวางไว้ประชิดก้อนที่สุด แล้วให้กัมมันตรังสีนั้นแผ่ออกมา เราก็เรียกว่า inside out คือแผ่จากข้างในออกมารอบนอก พอใส่เข้าไปปุ๊บ ในตำแหน่งที่ต้องการ เราก็ส่งให้นักฟิสิกส์ เค้าก็โหลดแร่ไปตามแผนว่าจะแผ่ระยะเท่าไหร่ ครอบคลุมอะไรบ้าง พอเราเอาคนไข้ไปโหลด คนไข้จะนอนอยู่ในห้องคนเดียว โหลดได้ตามโดสนั้นที่หมอต้องการ และเครื่องก็จะชักแร่กลับเข้าไปในตัวเครื่อง ถอดอุปกรณ์ออกจากช่องคลอดคนไข้ คนไข้ก็จะเดินเปล่ากลับบ้านไปเลย ไม่มีอะไรติดตัว อุ้มลูก อุ้มหลาน เข้าใกล้เด็กเล็กได้ตามปกติ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่การฝั่งแร่เหมือนเมืองจีนนะครับ

อันนี้จริงๆ มันเรียกว่าเป็นการฝังแร่ ซึ่งการฝังแร่ ใส่แร่ มันก็จะแยกย่อยออกไปอีก ที่ผมเล่าเมื่อกี้ คือ เป็นการใส่แบบชั่วคราว ใส่แล้วก็ดึงแร่ออก อีกอันหนึ่งคือ การฝังถาวร อันนี้ก็คือจะเผาไปพร้อมศพเลย คือฝังแล้วไม่เอาออก ข้อบ่งชี้เดียว คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ก็คือจะฝังลงไปในต่อมลูกหมาก ฝังไว้ตลอดชีวิตไม่ได้นำออก ฝังไปจนหมดค่าครึ่งชีวิตของแร่ คือหมด Half-Life ของแร่ ทีนี้ การจะฝั่งบริเวณไหน มันต้องผ่านการคำนวณทุกอย่างมาเรียบร้อยแล้ว แต่เอาจริงๆ บางทีที่จีนเค้าก็ทำออกแนวเถื่อนๆ มันไม่เป็นไปตามหลัก Radio protection คือ ความปลอดภัยทางด้านรังสีนะครับ คือถ้ามันมา Explode กับคนอื่นก็จะเป็นอันตราย เพราะรังสีเป็นอะไรที่เรามองไม่เห็น มันไม่เหมือนอะไรที่มีแสงวาบ หรือทำให้เราร้อน อันนี้เรายังรู้ตัว แต่อันนี้เป็นอะไรที่เดินปะปนกับเรา โดยที่เราไม่มีทางรู้เลย”


จำนวนครั้งจากการฉายแสงกำหนดจากอะไร?

คำตอบจากคุณหมอกิตติศักดิ์ ชมประเสริฐ จากงานเสวนาพลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 11
“จำนวนครั้งในการฉาย กับโดสต่อครั้งที่ ตอบง่ายๆ ก็คือ มันเขียนไว้ในตำราการแพทย์ ซึ่งมันก็คือ วิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่มาจากการศึกษาวิจัยจนได้ข้อสรุปมาว่า อวัยวะนี้ประมาณนี้ มะเร็งชนิดนี้โดสประมาณเท่านี้

อย่างในกรณีเต้านมเนี่ย มันจะเป็นประเด็นว่า standard ที่ทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์มันจะ 25 ครั้ง แต่ในยุค ราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการศึกษาวิจัย มีการศึกษาเปรียบเทียบมากขึ้นก็คือ เราเพิ่มจำนวนโดสต่อครั้ง โดสเยอะขึ้น แต่จำนวนครั้งเราหดลง เป็น 16-17 ครั้ง เพราะฉะนั้น ในประเทศไทยบางสถาบันจะไม่เหมือนกัน บางสถาบัน โดยเฉพาะถ้ามีเรื่องของ insurance issue เข้ามาเกี่ยวข้อง เค้าจะดึง stroke ฉาย 25 ครั้ง เพราะทุก session ที่เขามานั่งคำนวณ โดยเฉพาะอเมริกา คือ ฉายเต็ม 25 ครั้ง เพราะทุกอย่างมันเป็นเงินเป็นทอง แต่ถ้าเป็นค่ายยุโรปที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการเหมือนเรา ทุกอย่างมันต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย เราก็เลือกมาทางนี้ ถ้าผลการรักษามันจะได้ไปถึงเท่ากัน เราก็อยากฉายให้จบเร็ว คนไข้คนหนึ่งมันจะได้ turn over ในการใช้เครื่อง คนนี้เข้า คนนั้นออก เพราะว่าทางภาคตะวันออก ตอนนี้เรามีอยู่ 3 เครื่อง ฉายตั้งแต่หัวจดเท้าทั้งหมด นักเรียน นักเลง เด็กเล็ก เด็กโต จิ๊กโก๋ โสเภณี ก็ต้องฉายหมด เพราะฉะนั้นภาระมันหนักนะครับ เราก็เลย เลือกมาทางนี้ เต้านมเนี่ยมันจะเป็นประเด็นใหญ่ว่าบางที่ 16-17 ครั้ง บางที่ 25 ครั้ง ก็ต้องเรียนแบบนี้ว่าผลไม่ต่าง มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ แล้วจำนวนครั้งเท่านี้มันเหมาะกับสถานการณ์ของประเทศเราที่ต้องให้บริการคนเยอะครับ”

ที่คุณหมอเล่าว่าการฉายแสงเหมือนยิงปืนเฉพาะจุด ผลกระทบจากการที่คุณหมอยิงไป มีผลกระทบอะไรบ้าง คุณหมอยิงตามขนาดของแผลหรือเปล่า ถ้ามีหลายจุดต้องยิงหลายแผลใช่หรือไม่
คุณหมอตอบว่า “หลักๆ ก็คือ 1. ตัวก้อน 2. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง ต่อมน้ำเหลืองต้องนึกว่ามันคือ สถานีรถไฟฟ้า เวลามะเร็งมันแวะออกจากบ้านมันต้องไปตามสถานีชานชาลา ชานชาลาก็คือ ต่อมน้ำเหลือง เราก็คือ จัดการครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง มันกำลังจะไปเราดักมันได้ อันนี้คือ concept หลัก

แล้วพอฉายไปปุ๊บ อย่างของหมอคิดง่ายๆ ฉายตรงไหน โดนตรงไหน ผลข้างเคียงอยู่ตรงนั้น คีโมเนี่ย เค้าเข้าไป ผลข้างเคียงเค้าทั้งตัว อ่อนเพลียทั่วตัว กินไม่ได้ ผะอืดผะอม อันนี้เป็นผลข้างเคียงลักษณะที่ไม่เฉพาะเจาะจง แต่ของหมอฉายตรงไหนเป็นตรงนั้น ฉายต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและลำคอ ก็หน้าดำ คอลอก จะมาบอกว่าฉายแถวคอทำไมกลางคืนลุกฉี่บ่อย อันนี้มโนละ ไม่ใช่ล่ะ หรือฉายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ เราฉายบริเวณท้องแถวอุ้งเชิงกราน จริงๆ เราอยากรุมก้อนที่มดลูก ก้อนมะเร็งที่ลำไส้ แต่เราหลบกระเพาะปัสสาวะไม่ได้ เราหลบลำไส้พวงนั้นที่มันแปะติดกันกับอวัยวะนั้นไม่ได้ ผลข้างเคียงก็เลยตามมาก็คือ ปวดบิดท้อง ถ่ายกระปิดกระปอย ตีเส้นไว้ตรงไหนผลข้างเคียงก็แถวๆ นั้นครับ”


เป็นมะเร็งจะรักษาหายไหม?

คำตอบจากนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่มาร่วมให้ความรู้ในงานเสวนา “พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง” ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

เป็นมะเร็งจะรักษาหายไหม? ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้
1. ยิ่งตรวจพบเร็ว และมาพบแพทย์ เพื่อให้มีโอกาสที่จะวินิจฉัยโรค เและเริ่มทำการรักษาได้เร็ว โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็ยิ่งสูง
2. ชนิดของโรค เนื่องจากมะเร็งมีหลายชนิด เช่น ในมะเร็งเต้านม ก็จะมีแยกเป็นชนิดในมะเร็งเต้านมอีก ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิด ล้วนมีความรุนแรงที่ต่างกัน
3. ระยะของโรค หากรอให้อยู่ในระยะที่ลุกลามแล้วมาพบแพทย์ โอกาสในการหายขาดก็จะลดลง
4. สภาพพื้นฐานร่างกายของแต่ละคน หากเป็นคนที่มีพื้นฐานสุขภาพแข็งแรงมาก่อน เมื่อเข้ารับการรักษาประสิทธิภาพในการรักษาจะได้ผลที่ดีขึ้น หรือ แม้แต่ อายุของผู้ป่วยก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการรักษาให้หายขาดเร็ว
5. ท้ายสุด คือ กำลังใจ ซึ่งมาจากภายในของผู้ป่วย ผู้ป่วยหลายคนมีทัศนคติ ความเชื่อผิดๆว่า เป็นมะเร็งจะไม่มีโอกาสรอดชีวิต หรือ เห็นว่าการทำเคมีบำบัดให้แล้วอาจทำให้แย่ลง หรือ เชื่อในทางเลือกอื่นๆที่ยังไม่มีมาตราฐานรองรับหรือการวิจัยที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลต่อการรักษาให้หายขาด

ฉายแสงแล้วเกิดพังผืดจะป้องกันอย่างไร?

คำตอบจาก อาจารย์แพทย์หญิงวิมรัก อ่อนจันทร์ จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ครั้งที่ 5 ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

“ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีจะแบ่งเป็นระยะเฉียบพลัน และระยะยาว ระยะเฉียบพลันจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 1-2 เดือน แล้วอาการจะค่อยๆ หายไปเอง การฉายรังสีที่คนไข้จะเจอ เป็นการฉายรังสีจากภายนอกเข้าไปภายในผ่านผิวหนังก็จะมีอาการข้างเคียง คือ แห้ง เคือง ระคาย คัน ซึ่งจะเป็นการฉายรังสีเฉพาะที่ หากฉายตรงไหนจะมีอาการบริเวณนั้น ตัวอย่างเช่น คนไข้มะเร็งเต้านม ที่หลังจากผ่าตัดแล้วก็จะได้ฉายรังสีบริเวณเต้านม หรือ บางรายจะมีการฉายไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่จะมีโอกาสกระจายไป บริเวณไหปลาร้า รักแร้ ก็จะเกิดผลข้างเคียงในบริเวณที่ถูกฉาย คนไข้ที่คนไข้ที่ฉายบริเวณช่องท้อง เชิงกราน ก็จะมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร การขับถ่าย การทานอาหารซึ่งถือเป็นผลระยะสั้น หลังจากฉายรังสีไปแล้วผลข้างเคียงก็จะทุเลาขึ้น

หากมีอาการคันไม่แนะนำให้เกาบริเวณที่ฉายรังสี ถ้าคันมากๆ ให้ปรึกษาคุณหมอจะมีแนะนำครีมหรือยาที่ช่วยรักษาเฉพาะจุดได้ เพราะการฉายรังสีผ่านผิวหนัง ถ้าเราทาครีมหรือโลชั่นทั่วไปที่มันไม่ดูดซึม หรือมีส่วนที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง อาจจะทำให้เรายิ่งคัน ยิ่งเคืองได้

ส่วนผลข้างเคียงระยะยาว ผิวหนังที่โดนรังสีในระยะยาวก็จะเกิดเป็นพังผืด หด รั้ง เกร็ง ทำให้เราเคลื่อนไหวไม่สะดวก หรือบางทีไปรั้งบริเวณแขนทำให้แขนบวมและโต เพราะฉะนั้นคนไข้หลังฉายรังสีทุกราย หมอก็จะแนะนำให้นวดและบำรุงโลชั่น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันไม่ให้เกิดพังผืดบริเวณฉายรังสี มีการออกกำลังกาย ยืด เหยียดแขน”

เมื่อถามถึงกรณีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คุณหมอจะแนะนำให้นวดบริเวณเต้านม แล้วอย่างคนที่ฉายบริเวณอื่น อย่างที่ปอด ควรจะดูแลตนเองอย่างไร?
คุณหมอวิมรักให้ความรู้เพิ่มเติม “สำหรับการฉายรังสีบริเวณปอด จริงๆยังไม่มีการป้องกันได้ขนาดนั้น ก็จะแนะนำให้คนไข้หมั่นสังเกตอาการ กรณีที่เกิดพังผือเยื่อหุ้มปอ อาจจะมีเรื่องของอาการไอหรือหอบได้ แต่ปกติจะเห็นความผิดปกติได้จากการเอกซเรย์เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่ค่อยเกิดอาการค่ะ ทั้งนี้ขึ้นกับบริเวณและปริมาณรังสีด้วย ถ้าฉายปริมาณเยอะ โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงก็จะเยอะด้วย อย่างคนไข้เต้านมอาจจะต้องฉายรังสีในปริมาณมากหน่อย แต่อย่างคนไข้ที่เป็นมะเร็งบริเวณต่อมน้ำเหลือง มันเป็นตัวที่มีการตอบสนองได้ดีต่อรังสีรักษาก็อาจจะไม่จำเป็นต้องฉายรังสีในปริมาณมาก แต่ถ้าคนไข้ที่เป็นมะเร็งบริเวณรังสีและลำคอ ก็อาจจะต้องฉายในปริมาณที่มากเช่นกัน นานถึง 6-7 สัปดาห์ เขาก็มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงบริเวณนั้นได้เยอะ ก็จะแนะนำให้เขานวดคอ กายบริหารคอ กายบริหารขากรรไกร เพื่อป้องกันการติดขัด พวกนี้ค่ะ”

ความเครียดมีผลต่อเซลล์มะเร็งจริงหรือไม่?

คำตอบจากคุณหมออุดมศักดิ์ และคุณหมอกิตต์วดี

“ความเครียดเนี่ยมีผลครับ มีรายงานทางการแพทย์ว่า ความเครียดจะทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายลดลงนะครับ เช่น เวลาที่เราเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งสาร เช่น สเตียรอยด์ คอร์ติซอล ในร่างกายขึ้นมา แล้วสารพวกนี้มันจะไปกดภูมิต้านทานของร่างกาย ถ้าเราเป็นมะเร็งน้อยๆ เนี่ย หากภูมิต้านทานเราดี มันจะเคลียร์ไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำภูมิต้านทานให้ดีมันก็จะเคลียร์ไปได้ ถ้าภูมิต้านทานไม่ดี มะเร็งน้อยๆ มันก็จะค่อยๆ โตขึ้นมา ถ้าโตจนเต็มที่ก้อนใหญ่ละ ภูมิต้านทานมันก็จะทำอะไรไม่ได้ก็จะสายเกินไปละ เพราะฉะนั้นผมว่าเรื่องจิตใจ หรือความเครียดเนี่ยถ้าเราลดได้ ก็เหมือนเสริมภูมิต้านทานของร่างกายไปด้วยครับ

“จริงๆ ก็อยากเสริมค่ะว่า การเกิดมะเร็งมันไม่ได้เกิดจากสาเหตุใด สาเหตุหนึ่ง เป็นหลัก หรือเราเรียก Multi-factorial คือ เกิดได้จากหลายสาเหตุมาก ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ โน่นนิด นี่หน่อย ดังนั้นอย่างที่อาจารย์อุดมศักดิ์ได้เรียนไป คือ การทำทุกทางรอบตัวเราให้ดี สิ่งแวดล้อมดี การกินดี ชีวิตความเป็นอยู่ดี ลดความเครียด หลายๆ อย่างรวมกัน ก็จะทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ต่อสู้กับตัวเชื้อโรค หรือว่าตัวมะเร็งได้ค่ะ

ให้ยาเคมีแล้วแพ้ ป้องกันได้หรือไม่?

คำตอบจากคุณหมอพงศธร

“จากที่ผมคลุกคลีกับคนไข้มา 20 ปี พอเป็นมะเร็ง คนไข้ส่วนใหญ่จะมีความกังวลหลายอย่าง หากทำเคมีก็จะกลัวอาเจียน กลัวผมร่วง หากต้องรักษาด้วยการฉายแสง คนไข้ก็จะกลัวว่าผิวจะไหม้ ถลอก ซึ่งที่จริงมันป้องกันได้ครับ”

“การรักษามะเร็ง มันจะมีระยะของมัน หรือ ที่เราเรียกว่า Golden period คือเป็นช่วงระยะเวลารักษาแล้วได้ผลดี อาจจะ 6 เดือน หรือ 1 ปี พอพ้นช่วงนี้แล้วก็อาจจะกลับมาเป็นอีก ส่วนอาการข้างเคียงที่กังวล เบื้องต้นต้องคุยกับคุณหมอก่อนครับ เพราะขึ้นกับสูตรยา ซึ่งเราสามารถป้องกันผลข้างเคียงได้ เช่นให้คุณหมอฉีดยาแก้อาเจียนเบื้องต้นได้ ปัจจุบันยาแก้อาเจียนดีขึ้นมาก ลดจากอาเจียนมาก เป็นไม่อาเจียนเลย หรืออาเจียนน้อยลงจาก 100% เหลือ 20% ทั้งนี้ยาบางสูตรก็ไม่ส่งผลให้อาเจียนเลย”

“การดูแลระหว่างรักษานี้สำคัญมาก ระหว่างที่ให้ยาเคมี คนไข้จะต้องไม่หมกมุ่นเรื่องอาเจียน การทำสมาธิ การหางานอดิเรกทำก็ช่วยได้มากครับ ส่วนเรื่องผมร่วง ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่รับประกันได้เลยว่าหลังจากให้ยาเคมีแล้วผมสวยกว่าเดิม ผมเงาดำและอาจจะหยิกเล็กน้อยตามธรรมชาติในช่วงแรก”

คุณเบลล่า ทิ้งท้ายเทคนิคที่ทำให้เส้นผมสวยตรงนั่นคือ การโกนผมสองรอบ อีกทั้งหากมีอาการไม่สบาย ถ่ายไม่ออก กินไม่ได้ ควรแจ้งคุณหมอ ส่วนเรื่องการกินคนไข้มักประสบปัญหาน้ำลายขม การกินของเปรี้ยวหวานก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และการแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ ก็ทำให้ผู้ป่วยทานอาหารได้มากขึ้นเช่นกัน

ในส่วนของคุณตุ่น ใช้วิธีการดื่มพวกอาหารเหลวแทนการกิน รวมถึงนอน หรือเดินขึ้นลงบันได และในบางเคสที่คนไข้นั่งโยกตัวไปมา ถือเป็นการระบายความเครียด ญาติผู้ดูแลควรเข้าใจผู้ป่วยด้วย


 กัญชาช่วยรักษามะเร็งได้จริงหรือ?

คำตอบจากอาจารย์ ด็อกเตอร์ เภสัชกร ศิวานนท์ จิรวัฒโนทัย ในงานเสวนา “พลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง” ครั้งที่ 6 ณ รพ.ศิริราช

“ณ เวลานี้ ยังไม่มีงานวิจัยหรือการทดลองในผู้ป่วยที่สามารถสรุปชัดเจนได้ว่า กัญชาสามารถรักษามะเร็งได้ ร้อยละ 99.9 ของงานวิจัย ที่ทำในหลอดทดลอง โดยใช้สารที่สกัดจากกัญชา เช่น Δ9‐tetrahydrocannabinol (THC) หรือ cannabidiol (CBD) (ไม่ได้เอากัญชาอย่างที่เรารู้จักมาทดลอง) ในการทดลอง

ผลการทดลองเรื่อง ฤทธิ์ของสารเคมีทั้งสองนี้ ต่อการยับยั้งมะเร็งด้านต่าง ๆ ในหลอดทดลองเช่น การเเบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง การยับยั้งการสร้างหลอดเลือดของมะเร็ง การตายของเซลล์มะเร็งเหล่านี้ ให้ผล บวกบ้าง หรือไม่ได้ผลบ้างในบางกรณีก็เเสดงผลในการส่งเสริมคุณสมบัติของมะเร็งบ้าง จึงยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน

ผ่าตัดแล้วทำให้มะเร็งลามจริงหรือไม่?

คำตอบจากคุณหมอฆริกานต์
ในงานเสวนา “พลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง” ครั้งที่ 7 ที่รพ.ธรรมศาสตร์

“จริงๆ ก็มีส่วนถูกนะคะ ในมุมมองของหมอผ่าตัด การที่เป็นมะเร็งคือเรามีก้อนอยู่ในร่างกาย การไปจับสัมผัสก้อน บางทีมันทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อบางส่วนของก้อนเนื้อเข้าไปในกระแสเลือดได้

เพียงแต่ว่าในการผ่าตัดปัจจุบัน คุณหมอจะมีวิธีการป้องกัน เช่น การห่อถุงพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้ก้อนแตก หรือแม้กระทั่งการควบคุมไม่ให้ตัวเซลล์มะเร็งเข้าไปในเส้นเลือดก่อนที่จะเอาก้อนเนื้อออกมา ถ้าตอบคำถามก็คือ มันมีโอกาสที่การผ่าตัดจะทำให้เซลล์มะเร็งเข้าไปในร่างกาย ซึ่งเราจะป้องกันอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่ผ่าตัดเลยก็อันตรายกว่า ก้อนมะเร็งก็จะยังอยู่ในร่างกายเรา ซึ่งจะทำให้มะเร็งมันกระจายและลุกลามไปได้แน่ๆ ค่ะ”

ส่วนการผ่าตัดเอาก้อนออกแล้ว ถือว่าจบการรักษาเลยหรือไม่ ไม่ให้ยาคีโม หรือ ฉายแสงต่อได้ไหม คุณหมอให้ความเห็นว่า “ขึ้นอยู่กับระยะ และชนิดของมะเร็ง การรักษามะเร็งบางอย่างด้วยการผ่าตัดก็อาจจะเพียงพอแล้ว แต่โดยทั่วไปส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเซลล์มะเร็งก็มีโอกาสที่จะกระจายไป โดยที่มันไม่ได้ปรากฏให้เราเห็น เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัดหรือฉายแสง เพื่อที่จะทำให้เซลล์มะเร็งไม่กระจายไปเพิ่มเติมค่ะ”


มะเร็งเต้านม

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย และมีอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียง

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้น เช่น

  • อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม ประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในญาติสายตรง
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี และการไม่ให้นมบุตร
  • การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนเป็นเวลานาน มากกว่า 5 ปี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย

อาการของมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อน หรืออาจสังเกตได้จากขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น

  • คลำพบก้อน บริเวณเต้านมหรือรักแร้
  • ผิวหนัง บริเวณเต้านมถูกดึงรั้ง หรือเป็นรอยนุ่ม
  • มีแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม
  • มีน้ำหรือสารคัดหลั่งออกทางหัวนม
  • เต้านมบิดเบี้ยวผิดรูป

ระยะของมะเร็งเต้านม

ระยะความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 1-2 อัตราการอยู่รอด ที่ 5 ปี สูงถึง 85-99% แต่หากตรวจพบในระยะที่ 3 อัตราการอยู่รอดมีเพียง 4 -60% และจะลดลงเหลือ 18-20% หากตรวจพบในระยะที่ 4 ดังนั้นการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้นจะทำให้โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีสูงขึ้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

วิธีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งเต้านม มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (breast self examination : BSE) การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม (clinical breast examination: CBE) และการตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography: MM)จากข้อมูลหลักฐานวิชาการ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมระดับประชากร (mass screening) สรุปได้ดังนี้

ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง และควรจะต้องได้รับการบอกถึงประโยชน์และข้อจำกัดของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง รวมทั้งได้รับการสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเองที่ถูกวิธี และหากมีอาการที่สงสัยควรมีการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม

ผู้หญิงที่มีอายุ 40-69 ปี และไม่มีอาการ นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำแล้ว ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมทุก 1 ปี

ผู้หญิงที่อายุ 70 ปีขึ้นไป การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงกลุ่มนี้ให้พิจารณาเป็นรายบุคคล โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของประโยชน์และอัตราการเสี่ยงของการตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านมในเรื่องของสภาวะสุขภาพในขณะนั้นและการมีชีวิตอยู่ต่อไป (life expectancy)

วิธีการรักษามะเร็งเต้านม

ปัจจุบันวิธีการรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธีที่ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับ เช่น

  • การผ่าตัด
  • การฉายแสง (รังสีรักษา)
  • การให้ยาต้านฮอร์โมน
  • การให้ยาเคมีบำบัด
  • การรักษาโดยยาที่มีการออกฤทธิ์จำเพาะ

การรักษามะเร็งเต้านมอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของทีมแพทย์และความต้องการของผู้ป่วยเพื่อให้การวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น ผ่าตัดก่อน หลังจากแผลหายจึงให้ยาเคมีบำบัด ต่อจากนั้นรักษาโดยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาต้านฮอร์โมน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค อายุและสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม

  • ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารที่มีสารปนเปื้อน อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยง ควรเอาใจใส่ในการตรวจเต้านมเป็นพิเศษ และควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เพิ่มเติม
  • รับการตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกปี เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป
  • รับการตรวจเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammography)ทุก 1-2 ปี เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

หากจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์

เป็นมะเร็งจะรักษาหายไหม?

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การรักษาด้วยการผ่าตัด ร่วมกับฉายรังสี และเคมีบำบัด มักจะทำให้มะเร็งยุบลงจนหายไปได้ ความหวังของหมอและผู้ป่วยคือ มะเร็งหายไปและไม่กลับมาอีกเลย เรามาทำความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับคำว่า “หาย” ก่อน

โดยทั่วการหายไปของมะเร็งหมายถึง การตรวจไม่พบมะเร็ง ไม่ว่าจะด้วยการตรวจร่างกาย หรือด้วยเอกซเรย์ หรือด้วยการตรวจเลือด เมื่อหายจากมะเร็งแล้ว เป็นไปได้ว่าอาจหายไปในวันที่ตรวจ แต่หลังจากนั้นมีการกลับมาใหม่ เมื่อมะเร็งกลับมาใหม่ ภาษาหมอเรียกว่า Relapse หรือ Recurrence ถ้าไม่เคยกลับมาอีกเลยแม้ว่าจะหยุดการรักษาไปนานแล้ว 5 ปี 10 ปี ก็เรียกว่า “หายขาด” จากมะเร็ง หรือ Cure

ดังนั้นถ้าตรวจไม่พบมะเร็ง อาจเรียกว่าหายจากมะเร็งได้ เราไม่มีทางรู้ว่า เป็นการหายชั่วคราว หรือหายขาด ภาษาหมอจึงรวมเรียกว่า Complete Remission หรืออาจเรียกว่า “โรคสงบ” ลงแล้ว เพื่อมิให้เข้าใจผิดว่า หายขาดแล้ว ถ้าโรคสงบลงได้ด้วยการผ่าตัด และหรือรังสี และหรือเคมีบำบัด แพทย์ก็จะหยุดการรักษา และติดตามเฝ้าดูโดยการตรวจด้วยเอกซเรย์และหรือตรวจเลือด แล้วลุ้นว่าจะไม่มีก้อนหรือเซลล์มะเร็งกลับมาอีก หากหยุดยายิ่งนานแล้วตรวจไม่พบมะเร็ง ก็จะมั่นใจขึ้นเรื่อย ๆ ว่า คงจะ “หายขาด” โดยทั่วไป หากหยุดยาไปตั้ง 5 ปีก็ตรวจไม่พบมะเร็งเสียที ก็มักจะมั่นใจพอที่จะประกาศได้ว่า หายขาดจากมะเร็งแล้ว วงการแพทย์จึงมักใช้สถิติ “ระยะปลอดโรค 5 ปี” หรือ “5-year disease-free survival” ไว้เปรียบเทียบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งชนิดต่าง ๆ

การรักษาบางอย่าง เช่นยามุ่งเป้า จะทำให้มะเร็งหายไปได้ คือโรคสงบ ตราบเท่าที่กินยานั้นอยู่ แต่ถ้าหยุดยาเมื่อไร มะเร็งก็จะปรากฏขึ้นอีก ดังนั้นจึงไม่สามารถเรียกได้ว่า “หายขาด” การรักษานี้จึงหยุดไม่ได้ หรือบางครั้งกินยาไปแล้วหลายเดือนหลายปี มะเร็งบางตัวเกิดดื้อยาขึ้นมา มันก็ปรากฏตัวขึ้นทั้งที่ยังกินยาอยู่ต่อเนื่อง ก็เรียกได้ว่าการรักษาล้มเหลว ไม่หายแน่แล้ว

ยาบางอย่าง และยาสมุนไพร อาจทำให้มะเร็งหยุดโต แต่ยังคงเป็นก้อนอยู่ ไม่หายไป ก็ไม่สามารถเรียกว่า ยานั้นทำให้มะเร็งหาย แค่หยุดโตชั่วคราวแต่มะเร็งไม่ตาย โดยการใช้ยาเหล่านี้อาจให้ผลที่แตกต่างไปในแต่ละบุคคล และบางอย่างยังไม่มีผลวิจัยรับรองทางการแพทย์ว่าสามารถช่วยรักษาได้หรือไม่ หากต้องการใช้ควบคู่กับการรักษาควรแจ้งปรึกษาหมอที่ดูแลก่อนใช้

ถ้ามะเร็งไม่หาย มันก็อาจจะโตขึ้นตามเวลา และหรือกระจายไปอวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป ภาษาหมอเรียกว่า “Metastasis” ซึ่งมักไม่ทำให้ผู้ป่วยตายทันที ยังมีเวลาใช้ชีวิตอยู่บ้าง แต่เวลาที่เหลืออยู่นั้นไม่แน่นอน คาดเดาได้ยาก จนเมื่อมะเร็งกระจายไปอวัยวะสำคัญ คือ สมอง ตับ หรือปอด ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน

มะเร็งปอด

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563

มะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและท่อนน้ำดี อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยแตกต่างกันออกไปขึ้นกับระยะของโรค สุขภาพโดยรวม และปัจจัยอื่น ๆ โดยผู้ป่วยส่วนมากมักได้รับการวินิจฉัยเมื่อโรคดำเนินไปในระยะท้ายทำให้อัตราการรอดชีวิตมีน้อย

 มะเร็งปอด เกิดจาก เซลล์ในเนื้อเยื่อปอดมีความผิดปกติเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วควบคุมไม่ได้แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer; SCLC) พบประมาณ 15% และชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer; NSCLC) ซึ่งในกลุ่มหลังนี้พบได้ 85% ของมะเร็งปอด

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอด

  • การสูบบุหรี่ ถือเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปอดโดยผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบ 10 เท่า ภายในบุหรี่ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายและมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ซึ่งส่งผลทำให้เกิดมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่นได้
  • ควันบุหรี่มือสอง การสูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้างแม้ไม่ได้สูบบุหรี่เองก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดได้
  • มลภาวะทางอากาศ เช่น ควันพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงแร่ใยหินที่อาจได้รับจากการประกอบอาชีพต่าง ๆ
  • การสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น แร่ใยหิน อาเซนิค  หรือการสัมผัสสารยูเรเนียม เป็นต้น
  • ก๊าซเรดอน เป็นก๊าซมันมันตรังสีไม่มีสีไม่มีกลิ่น เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในหินและดินกระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินที่ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในเหมืองใต้ดิน อาจมีปริมาณมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้

อาการของมะเร็งปอด

 ระยะเริ่มแรกของโรคไม่มีอาการใดที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งปอด แต่มีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น เช่น

  • อาการไอเรื้อรัง ลักษณะไอแห้งๆ
  • ไอมีเลือดปน
  • หายใจมีเสียงวีด
  • หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก
  • น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซีด อ่อนเพลีย ปอดอักเสบ มีไข้

อย่างไรก็ตามอาการทั้งหมดเหล่านี้อาจไม่ใช่สาเหตุของมะเร็งที่ปอดเสมอไป แต่หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์

การวินิจฉัยมะเร็งปอด

แพทย์จะสอบถามผู้ป่วยเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวมร่วมกับการตรวจร่างกาย การหายใจ รวมไปถึงพิจารณาการตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)
  • การตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็ง
  • ส่องกล้องตรวจดูภายในหลอดลม
  • การตัดชิ้นเนื้อจากหลอดลมหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้าไปตรวจทางพยาธิวิทยา

วิธีการรักษามะเร็งปอด

เมื่อผู้ป่วยได้รับผลการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์จะระบุวิธีการที่ใช้ในการรักษาซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิด ตำแหน่ง ขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงอายุ สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะประกอบด้วย

  • การผ่าตัดเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้
  • การฉายรังสี (radiotherapy) เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น
  • การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย
  • การรักษาแบบผสมผสานวิธีการดังกล่าวข้างต้น
  • การรักษาแบบประคับประคอง

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม

  • เลิกสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
  • หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษจากสิ่งแวดล้อม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น รวมทั้งอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี และเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง : ความรู้พื้นฐานสำหรับประชาชน

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีต้นกำเนิดมาจากต่อมน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่มีภาวะการเจริญเติบโตผิดปกติควบคุมไม่ได้ เซลล์เหล่านี้จะแพร่กระจายไปยังระบบน้ำเหลืองทุกบริเวณในร่างกาย อาการบ่งชี้ที่สำคัญ คือ ต่อมน้ำเหลืองบวม โต และมักไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s Lymphoma: HL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma: NHL) โดยมะเร็งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีอัตราการแพร่กระจายและอาจมีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกัน

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อน้ำเหลือง

ปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถบอกสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้อย่างชัดเจนแต่พบมีความสัมพันธ์กับหลายภาวะ ได้แก่

  • การติดเชื้อ พบความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดกับการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อ แบคทีเรีย Helicobacter pylori กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด MALT lymphoma, การติดเชื้อไวรัส EBV กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Burkitt
  • โรคภูมิแพ้ตนเอง (Autoimmune disease) บางชนิด เช่น ในผู้ป่วยโรค SLE พบอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น
  • ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย: ผู้ป่วย HIV พบอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น
  • การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการของมะเร็งต่อน้ำเหลือง

อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองซึ่งมักไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย อาจพบบริเวณคอ ขาหนีบ รักแร้ ทั้งนี้อาการบวมที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นอาการบ่งชี้ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเสมอไป แต่อาจบ่งชี้ถึงโรคชนิดอื่นหรือการติดเชื้อบริเวณต่อมน้ำเหลือง ดังนั้นหากพบว่าต่อมน้ำเหลืองมีลักษณะบวม โต ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้องทันที ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจมีอาการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น

  • มีก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เข่น ที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ มีลักษณะโตเร็วและไม่เจ็บ
  • ไข้ หวานสั่น ไอเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่สราบสาเหตุ
  • เหงื่อออกง่าย โดยเฉพาะบริเวณกลางคืน
  • ต่อมทอนซิลโต

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อตรวจหาต่อมน้ำเหลืองที่บวม โต และตรวจหาสัญญาณอื่น ๆ ของโรคมะเร็ง โดยอาจวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองร่วมกับวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • การตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา
  • การเอกซเรย์ เพื่อให้ทราบถึงชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพื่อวางแผนการรักษา
  • การเจาะไขกระดูก เพื่อประเมินว่ามีการกระจายเข้าไปในกระดูกหรือไม่

วิธีการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะของโรค และสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาโดยวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธี ดังนี้

  • การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ยาเม็ด หรือการฉีดเข้าหลอดเลือด
  • การฉายแสง
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก โดยใช้รังสีปริมาณสูงหรือยาทางเคมีกดการทำงานของไขกระดูก เพื่อไม่ให้ร่างกายต่อต้านไขกระดูกใหม่ แล้วจึงนำสเต็มเซลล์ที่ดีเซลล์ใหม่ฉีดเข้าไปในเลือดเพื่อสร้างไขกระดูกใหม่
  • การใช้แอนติบอดี

การดูแลป้องกันตนเอง

ควรปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี รังสี และมลพิษต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ การสูบบุหรี่และควันบุหรี่เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากควันบุหรี่จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด
  • รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ รับประทานผักและผลไม้ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ
  • ออกกำลังกาย ซึ่งในที่นี้การออกกำลังกายอาจเป็นการทำกิจกรรมบางอย่างที่ได้ใช้กำลังก็ได้ เช่น การทำงานบ้าน

เทคโนโลยีการรักษาแบบใหม่ช่วยให้หายจากมะเร็งได้จริงหรือ?

คำตอบจากแพทย์หญิงกาญจนา อารีรัตนเวช
นายแพทย์ชำนาญการ แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทั่วไปและศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี งานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 10

“จากกรณีของต่างประเทศที่ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายสามารถรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดได้ อันที่จริงคำว่าการรักษาด้วย “ภูมิคุ้มกันบำบัด” เป็นกลุ่มคำในกลุ่มกว้างๆ แต่ว่าในการรักษายังมีเทคโนโลยีอีกหลายชนิด บางชนิดมาในรูปแบบของยาที่ออกฤทธิ์ แต่หลักการก็คือ เป็นยาที่ฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้นในภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ออกมาจับ หรือต้านหรือสู้ที่มะเร็งนั้นเอง แต่ก็ยังมีอีกวิธีคือ การเอาเซลล์จากคนไข้ที่เป็นมะเร็งไปเพาะให้จับกับตัวที่กระตุ้นแล้วฉีดเข้าไปใหม่ เพื่อสู้กับมะเร็งหรือว่าจะเป็นยากลุ่มอื่น แต่ข้อมูลที่ได้ออกมาตอนนี้ยังเป็นการรักษาในกลุ่มของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังเมลาโนม่า มะเร็งปอด แต่ว่ายังไม่ได้ใช้กับกลุ่มมะเร็งระยะแรก หรือขั้นต้น

แต่สำหรับมะเร็งอื่นๆ ด้วยความที่ผลตอบรับมันดีมาก จึงยังอยู่ในขั้นวิจัยเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม แต่ว่าข้อมูลยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยอยู่ ส่วนผลว่าจะหายขาดหรือไม่ มันเป็นการเอาผลที่ดีที่สุดมาพูด ซึ่งจริงๆแล้วเผลคือป็นการคุมระยะของโรคให้นานขึ้น เพราะว่ายานำมาใช้กับกลุ่มในระยะ 4 เพราะยาที่ใช้รักษาไม่ตอบสนองต่อยาอื่นๆแล้ว ทำให้ควบคุมโรคได้นานขึ้น

ในส่วนเทคโนยีใหม่ๆของการผ่าตัด เช่น การส่องกล้อง การใช้หุ่นยนต์ ปัจจุบันการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีการพัฒนา จนข้อมูลเอามาเทียบว่าได้รับมาตราฐานที่ใกล้เคียงกับการผ่าตัดธรรมดา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะ และความเชี่ยวชาญของสถาบันนั้นๆ เช่น ก้อนเล็กๆ หรือการผ่าตัดในมะเร็งลำไส้ ซึ่งจะเป็นที่เล็กๆ สามารถทำได้จากอุปกรณ์ และเป็นระยะต้น ที่ไม่แพร่กระจาย หรือในเรื่องของมะเร็งเต้านมที่ลดภาวะแทรกซ้อนค่ะ”