มะเร็งปอด

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563

มะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและท่อนน้ำดี อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยแตกต่างกันออกไปขึ้นกับระยะของโรค สุขภาพโดยรวม และปัจจัยอื่น ๆ โดยผู้ป่วยส่วนมากมักได้รับการวินิจฉัยเมื่อโรคดำเนินไปในระยะท้ายทำให้อัตราการรอดชีวิตมีน้อย

 มะเร็งปอด เกิดจาก เซลล์ในเนื้อเยื่อปอดมีความผิดปกติเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วควบคุมไม่ได้แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer; SCLC) พบประมาณ 15% และชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer; NSCLC) ซึ่งในกลุ่มหลังนี้พบได้ 85% ของมะเร็งปอด

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอด

  • การสูบบุหรี่ ถือเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปอดโดยผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบ 10 เท่า ภายในบุหรี่ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายและมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ซึ่งส่งผลทำให้เกิดมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่นได้
  • ควันบุหรี่มือสอง การสูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้างแม้ไม่ได้สูบบุหรี่เองก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดได้
  • มลภาวะทางอากาศ เช่น ควันพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงแร่ใยหินที่อาจได้รับจากการประกอบอาชีพต่าง ๆ
  • การสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น แร่ใยหิน อาเซนิค  หรือการสัมผัสสารยูเรเนียม เป็นต้น
  • ก๊าซเรดอน เป็นก๊าซมันมันตรังสีไม่มีสีไม่มีกลิ่น เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในหินและดินกระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินที่ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในเหมืองใต้ดิน อาจมีปริมาณมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้

อาการของมะเร็งปอด

 ระยะเริ่มแรกของโรคไม่มีอาการใดที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งปอด แต่มีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น เช่น

  • อาการไอเรื้อรัง ลักษณะไอแห้งๆ
  • ไอมีเลือดปน
  • หายใจมีเสียงวีด
  • หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก
  • น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซีด อ่อนเพลีย ปอดอักเสบ มีไข้

อย่างไรก็ตามอาการทั้งหมดเหล่านี้อาจไม่ใช่สาเหตุของมะเร็งที่ปอดเสมอไป แต่หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์

การวินิจฉัยมะเร็งปอด

แพทย์จะสอบถามผู้ป่วยเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวมร่วมกับการตรวจร่างกาย การหายใจ รวมไปถึงพิจารณาการตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)
  • การตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็ง
  • ส่องกล้องตรวจดูภายในหลอดลม
  • การตัดชิ้นเนื้อจากหลอดลมหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้าไปตรวจทางพยาธิวิทยา

วิธีการรักษามะเร็งปอด

เมื่อผู้ป่วยได้รับผลการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์จะระบุวิธีการที่ใช้ในการรักษาซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิด ตำแหน่ง ขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงอายุ สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะประกอบด้วย

  • การผ่าตัดเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้
  • การฉายรังสี (radiotherapy) เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น
  • การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย
  • การรักษาแบบผสมผสานวิธีการดังกล่าวข้างต้น
  • การรักษาแบบประคับประคอง

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม

  • เลิกสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
  • หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษจากสิ่งแวดล้อม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น รวมทั้งอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี และเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ