จำนวนครั้งจากการฉายแสงกำหนดจากอะไร?

คำตอบจากคุณหมอกิตติศักดิ์ ชมประเสริฐ จากงานเสวนาพลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 11
“จำนวนครั้งในการฉาย กับโดสต่อครั้งที่ ตอบง่ายๆ ก็คือ มันเขียนไว้ในตำราการแพทย์ ซึ่งมันก็คือ วิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่มาจากการศึกษาวิจัยจนได้ข้อสรุปมาว่า อวัยวะนี้ประมาณนี้ มะเร็งชนิดนี้โดสประมาณเท่านี้

อย่างในกรณีเต้านมเนี่ย มันจะเป็นประเด็นว่า standard ที่ทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์มันจะ 25 ครั้ง แต่ในยุค ราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการศึกษาวิจัย มีการศึกษาเปรียบเทียบมากขึ้นก็คือ เราเพิ่มจำนวนโดสต่อครั้ง โดสเยอะขึ้น แต่จำนวนครั้งเราหดลง เป็น 16-17 ครั้ง เพราะฉะนั้น ในประเทศไทยบางสถาบันจะไม่เหมือนกัน บางสถาบัน โดยเฉพาะถ้ามีเรื่องของ insurance issue เข้ามาเกี่ยวข้อง เค้าจะดึง stroke ฉาย 25 ครั้ง เพราะทุก session ที่เขามานั่งคำนวณ โดยเฉพาะอเมริกา คือ ฉายเต็ม 25 ครั้ง เพราะทุกอย่างมันเป็นเงินเป็นทอง แต่ถ้าเป็นค่ายยุโรปที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการเหมือนเรา ทุกอย่างมันต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย เราก็เลือกมาทางนี้ ถ้าผลการรักษามันจะได้ไปถึงเท่ากัน เราก็อยากฉายให้จบเร็ว คนไข้คนหนึ่งมันจะได้ turn over ในการใช้เครื่อง คนนี้เข้า คนนั้นออก เพราะว่าทางภาคตะวันออก ตอนนี้เรามีอยู่ 3 เครื่อง ฉายตั้งแต่หัวจดเท้าทั้งหมด นักเรียน นักเลง เด็กเล็ก เด็กโต จิ๊กโก๋ โสเภณี ก็ต้องฉายหมด เพราะฉะนั้นภาระมันหนักนะครับ เราก็เลย เลือกมาทางนี้ เต้านมเนี่ยมันจะเป็นประเด็นใหญ่ว่าบางที่ 16-17 ครั้ง บางที่ 25 ครั้ง ก็ต้องเรียนแบบนี้ว่าผลไม่ต่าง มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ แล้วจำนวนครั้งเท่านี้มันเหมาะกับสถานการณ์ของประเทศเราที่ต้องให้บริการคนเยอะครับ”

ที่คุณหมอเล่าว่าการฉายแสงเหมือนยิงปืนเฉพาะจุด ผลกระทบจากการที่คุณหมอยิงไป มีผลกระทบอะไรบ้าง คุณหมอยิงตามขนาดของแผลหรือเปล่า ถ้ามีหลายจุดต้องยิงหลายแผลใช่หรือไม่
คุณหมอตอบว่า “หลักๆ ก็คือ 1. ตัวก้อน 2. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง ต่อมน้ำเหลืองต้องนึกว่ามันคือ สถานีรถไฟฟ้า เวลามะเร็งมันแวะออกจากบ้านมันต้องไปตามสถานีชานชาลา ชานชาลาก็คือ ต่อมน้ำเหลือง เราก็คือ จัดการครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง มันกำลังจะไปเราดักมันได้ อันนี้คือ concept หลัก

แล้วพอฉายไปปุ๊บ อย่างของหมอคิดง่ายๆ ฉายตรงไหน โดนตรงไหน ผลข้างเคียงอยู่ตรงนั้น คีโมเนี่ย เค้าเข้าไป ผลข้างเคียงเค้าทั้งตัว อ่อนเพลียทั่วตัว กินไม่ได้ ผะอืดผะอม อันนี้เป็นผลข้างเคียงลักษณะที่ไม่เฉพาะเจาะจง แต่ของหมอฉายตรงไหนเป็นตรงนั้น ฉายต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและลำคอ ก็หน้าดำ คอลอก จะมาบอกว่าฉายแถวคอทำไมกลางคืนลุกฉี่บ่อย อันนี้มโนละ ไม่ใช่ล่ะ หรือฉายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ เราฉายบริเวณท้องแถวอุ้งเชิงกราน จริงๆ เราอยากรุมก้อนที่มดลูก ก้อนมะเร็งที่ลำไส้ แต่เราหลบกระเพาะปัสสาวะไม่ได้ เราหลบลำไส้พวงนั้นที่มันแปะติดกันกับอวัยวะนั้นไม่ได้ ผลข้างเคียงก็เลยตามมาก็คือ ปวดบิดท้อง ถ่ายกระปิดกระปอย ตีเส้นไว้ตรงไหนผลข้างเคียงก็แถวๆ นั้นครับ”