การฉายแสงรักษามะเร็งได้อย่างไร

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การฉายแสง หรือเรียกให้ถูกต้องว่า การฉายรังสี หรือรังสีรักษา ภาษาอังกฤษ คือ Radiation Therapy หมายถึง การใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง รังสีพลังงานสูง ได้แก่ รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา รังสีเบตา อนุภาคโปรตอน. เมื่อรังสีวิ่งผ่านอวัยวะใด ก็จะปลดปล่อยพลังงานทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระในเซลล์ที่โดนรังสี ดีเอ็นเอของเซลล์ก็จะเสียหายและตายในที่สุด เซลล์ใดที่กำลังสร้างดีเอ็นเอเพื่อเตรียมแบ่งตัวอยู่ในขณะที่โดนรังสี ก็จะตายง่ายกว่าเซลล์อื่น

การฉายรังสีอาจทำหลังผ่าตัดก้อนออก เพื่อให้การรักษามะเร็งที่เหลือจากการผ่าตัดออกไม่หมด หรือมะเร็งที่อาจซ่อนตัวอยู่รอบ ๆ บริเวณที่ผ่าตัดออกหมดแล้ว เพื่อมิให้กลับมาอีกในบริเวณที่ผ่าตัดนั้น รังสีจึงมีประโยชน์ในการควบคุมโรคมะเร็งในตำแหน่งที่โดนรังสี แต่ถ้าหากมะเร็งกระจายไปก่อนการฉายรังสี มะเร็งก็จะปรากฏเป็นก้อนในอวัยวะที่มันกระจายไปในภายหลัง

นอกจากเซลล์มะเร็งจะตายด้วยรังสีแล้ว เซลล์ปกติที่อยู่ในตำแหน่งที่โดนรังสี ก็จะเสียหายด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากเซลล์มะเร็งแบ่งตัวได้เร็ว จึงมักจะไวต่อรังสีแต่ตายมากกว่า เซลล์ปกติของแต่ละอวัยวะทนรังสีได้ไม่เท่ากัน อวัยวะที่มีการแบ่งเซลล์ตลอดเวลาจะทนได้น้อย เช่น ไขกระดูก ตับ ลำไส้ ไต ปอด แพทย์จะเลี่ยงการฉายรังสีมิให้โดนอวัยวะเหล่านี้ ถ้าเป็นมะเร็งในอวัยวะเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถรักษาด้วยการฉายรังสี ในทางตรงกันข้าม สมอง กระดูกแขนขา คอ กล้ามเนื้อทนรังสีได้มาก ถ้ามีก้อนมะเร็งในตำแหน่งเหล่านี้ ก็จะฉายรังสีได้มาก

ปริมาณรังสีที่ใช้รักษา จะถูกกำหนดโดยอวัยวะที่มะเร็งปรากฏอยู่ แพทย์มักจะให้รังสีในปริมาณมากที่สุดที่อวัยวะนั้นจะทนได้ เพื่อให้มะเร็งได้รับรังสีมากที่สุด จึงมีโอกาสหายสูงสุด เว้นแต่ในกรณีที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การให้รังสีเพียงครึ่งเดียวของมะเร็งอื่น ก็ทำให้มะเร็งหายขาดจากบริเวณที่ฉายรังสีได้ โดยทั่วไปการฉายรังสีที่ใด จึงมักทำได้ครั้งเดียว หากมะเร็งกลับมาใหม่ในตำแหน่งที่เคยฉายรังสีแล้ว ก็จะถือว่าเป็นมะเร็งดื้อรังสี ฉายแสงเพิ่มไม่ได้อีก

การฉายรังสีเพื่อหวังหายขาด แพทย์จะให้รังสีทีละน้อย อาจใช้เวลาฉายแสงเพียง 5 นาที วันละครั้ง แล้วให้ฉายแสงซ้ำในตำแหน่งเดิมสะสมไปจนครบปริมาณ หลายสิบครั้ง โดยมักฉายแสงเฉพาะวันราชการ งดในวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ ที่ใช้ระยะเวลานานเช่นนี้ เพราะรังสีทำลายเฉพาะเซลล์ที่แบ่งตัว การฉายรังสีในเวลาหลายสัปดาห์ทำเซลล์มะเร็งทุกตัวมีโอกาสแบ่งตัวและโดนรังสีไปจนหมดสิ้น แล้วไม่สามารถกลับมางอกได้อีกในบริเวณนั้น

การรักษาด้วยรังสี มักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในระหว่างการฉายรังสี แต่การฉายรังสีบางตำแหน่ง เช่น หน้าและคอ เมื่อผ่านไปสักสิบครั้ง ก็จะมีอาการแสบในคอ ทำให้กินอาหารลำบาก ผิวหนังที่โดนรังสี ก็อาจจะเริ่มมีการอักเสบไหม้ ไขกระดูกที่โดนรังสีก็จะสร้างเม็ดเลือดน้อยลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องอดทนกับความเจ็บปวดจากผลข้างเคียงเหล่านี้เพื่อแลกกับโอกาสหายขาดจากมะเร็ง

ในกรณีที่มะเร็งลุกลามไปแล้ว แพทย์มักไม่ฉายรังสีในทุกตำแหน่งที่มีก้อน แต่จะฉายรังสีเฉพาะก้อนที่ทำให้เกิดอาการปวด หรือเกิดอาการรบกวน ด้วยปริมาณรังสีในปริมาณที่ทำให้อาการหายไป ซึ่งจะใช้เวลาไม่กี่วัน เพราะการฉายรังสีมากก็ไม่สามารถทำให้มะเร็งหายขาดได้ เรียกว่า การฉายรังสีแบบประคับประคอง Palliative Radiation