มะเร็งศีรษะและลำคอ : ความรู้พื้นฐานสำหรับประชาชน

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563

มะเร็งศีรษะและลำคอ

มะเร็งของศีรษะและลำคอ หมายถึง มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร เช่น ช่องปาก ช่องคอ ต่อมธัยรอยด์ ต่อมน้ำลาย โพรงหลังจมูก กล่องเสียง เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีมะเร็ง 3 ชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่

1. มะเร็งช่องปาก เซลล์มะเร็งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่บริเวณริมฝีปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก หรือพื้นปาก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีก้อนบริเวณคอ การเกิดฝ้าขาว ฝ้าแดงเรื้อรัง ภายในช่องปากปรากฏรอยสีขาวคล้ายกำมะหยี่ แดง หรือรอยด่างสีแดงขาว

2. มะเร็งกล่องเสียง เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อของกล่องเสียง

3. มะเร็งหลังโพรงจมูก เกิดที่ส่วนของลำคอที่เชื่อมกับด้านหลังของจมูกกับด้านหลังของปาก

ปัจจัยเสี่ยงศีรษะและลำคอ

โดยทั่วไปปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอมาจากการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ การเคี้ยวหมาก ตลอดจนการได้รับมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความผิดปกติทางพันธุกรรม

อาการของโรค

  • อาการแน่นโพรงจมูกหรือปวดศีรษะตลอดเวลา มีเสมหะปนเลือดติดต่อกันหลายวัน อาการหายใจลำบากจากทางเดินหายใจอุดกั้น
  • หูอื้อข้างเดียว ปวดร้าวไปที่หู ฟังไม่ชัด เกิดจากภาวะน้ำคั่งในหู
  • เสียงแหบ โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • กลืนอาหารแล้วเจ็บ เป็นแผลเรื้อรังในช่องปาก กลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน

การวินิจฉัยโรค

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะท้าย ซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งมีการลุกลามหรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ส่งผลต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้นหากผู้ป่วยเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว

การรักษาโรค

มะเร็งศีรษะและลำคอสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก วิธีการรักษาหลักประกอบด้วย การผ่าตัด การฉายรังสีและการให้ยาเคมีบำบัด โดยการเลือกวิธีการรักษาในผู้ป่วยจะคำนึงถึงตำแหน่งและระยะโรคของมะเร็ง รวมถึงอายุ ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น

การป้องกันโรค

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การเคี้ยวหมาก
  • สวมอุปกรณ์หรือหน้ากากป้องกัน ฝุ่น สารพิษ หรือมลภาวะต่าง ๆ จากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
  • รักษาความสะอาดช่องปาก การพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำ
  • การตรวจช่องปากด้วยตนเอง โดยการสำรวจบริเวณด้านข้างของลิ้น กระฟุ้งแก้ม เหงือก เพดานปาก และพื้นปาก

3 อาการเตือนที่บอกว่าผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤติ มีอะไรบ้าง?

คำตอบจากคุณหมอฆริกานต์ ในงานเสวนา “พลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง” ครั้งที่ 7 ที่รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

“จริงๆ แล้วเซลล์มะเร็งก็เหมือนเป็นเซลล์หนึ่งในร่างกายค่ะ ยาเคมีบำบัด ที่เขานำมาใช้กับคนไข้ เป้าหมายหลักคือ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกไป แต่มันอาจจะมีผลบางส่วนที่กระทบกับร่างกายเรา เช่น เรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วงที่คนไข้ให้เคมีบำบัด เป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันบางตัวจะถูกกดไปด้วย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุหลักเลยที่ทำให้คนไข้โรคมะเร็ง
ไม่ว่าจะระยะไหนก็ตามต้องเข้ารับการรักษาตัวใน icu เพราะมีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาต่างๆ โดยที่มีวิธีสังเกตอาการได้ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้การติดเชื้อรุนแรงมากได้ เช่นการสังเกต

1. อุณหภูมิร่างกาย ถ้าเราผ่าตัดมา คนไข้ควรจะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งเรารู้สึกปวดแผล มีไข้ ก็เป็นสัญญาณหนึ่งว่า ผิดปกติ กรณีที่คนไข้ไม่ได้ผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัดทั่วไป ก็จะสังเกตได้จาก ไข้ โดยทั่วไป คนที่ภูมิคุ้มกันต่ำจะไม่ค่อยมีไข้ ถ้ามีไข้ขึ้นมาถือว่าผิดปกติเช่นกัน ในทางแพทย์ถ้าอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.8 จะต้องเริ่มเฝ้าระวังว่าเราจะอาจจะมีอาการติดเชื้อแทรกซ้อนอยู่

2. ลักษณะการหายใจ สมมุติมีอาการหายใจเร็วหรือหายใจเหนื่อยหอบ ซึ่งบางทีคนไข้อาจจะไม่รู้ตัว แต่ว่าคนรอบข้างที่เป็นผู้ดูแลจะเป็นคนสังเกต อย่างเช่น เดิมเราเป็นคนพูดได้จบประโยค พูดเร็วๆ ไม่เหนื่อยเลย อยู่มาวันหนึ่งพูดได้ 2-3 คำก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว อันนี้ก็บ่งบอกได้ว่า การหายใจเราอาจจะมีปัญหา

3. ระดับความรู้สึกตัว คนไข้มีอาการซึมลง ไม่ตอบสนอง หรือมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อยลง เหล่านี้ก็เป็นอาการที่ควรเฝ้าระวังที่อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาล ”


มะเร็งระยะลุกลามแล้วรักษาไม่ได้จริงหรือไม่

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งระยะลุกลาม หมายถึง มะเร็งที่ได้กระจายออกนอกอวัยวะที่เริ่มต้น ตั้งแต่วันแรกที่วินิจฉัย หรือหมายถึงมะเร็งที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ภายหลังการรักษารอบแรก โดยปรากฏขึ้นใหม่ที่เดิม หรืออวัยวะอื่น เช่น กระดูก ตับ ปอด สมอง

วิธีการรักษามะเร็งระยะลุกลาม มีหลายวิธีประกอบกัน คือผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และวิธีอื่น ๆ รวมทั้งการแพทย์ทางเลือก และการดูแลประคับประคอง แต่ผู้ป่วยพึงทราบว่า โอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งนั้นน้อยกว่ามะเร็งระยะแรก หรือไม่มีเลย แล้วแต่ชนิดของมะเร็ง มะเร็งหลายชนิดแม้ลุกลามแล้วก็ยังอาจรักษาหายขาดได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไธรอยด์ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งเซลสืบพันธุ์ มะเร็งในเด็ก แต่มะเร็งหลายชนิดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่นมะเร็งสมอง มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด

มะเร็งระยะที่ 3 มักหมายถึง มะเร็งที่เป็นก้อนใหญ่เกินกว่าที่จะผ่าตัดได้หมด หรือว่ามะเร็งที่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองรอบอวัยวะเริ่มแรกแล้ว แต่ยังมิได้กระจายไปอวัยวะอื่น เช่น กระดูก ตับ ปอด สมอง เมื่อแรกวินิจฉัยมะเร็งแพทย์จึงมักส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของช่องท้อง และหรือปอด หรือเอกซเรย์ปอด และการตรวจสแกนกระดูก หากไม่พบรอยโรคในอวัยวะเหล่านี้เลย ก็เรียกว่าระยะที่ 3 แต่ถ้าพบแม้ในอวัยวะหนึ่ง ก็เรียกว่า ระยะที่ 4

การผ่าตัด จะไม่สามารถทำให้หายขาดจากมะเร็งระยะลุกลาม ดังนั้นศัลยแพทย์มักจะไม่แนะนำให้ผ่าตัด เพราะว่าถึงจะผ่าตัดเอาก้อนใหญ่ออกไปได้ ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตในภายหลังจากมะเร็งที่กระจายไปที่อวัยวะอื่น ผู้ป่วยจึงเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น เว้นแต่การผ่าตัดนั้นเป็นไปเพื่อบำบัดอาการ เช่น ก้อนมะเร็งทำให้ท่ออุดตัน เช่นลำไส้อุดตัน ท่อปัสสาวะอุดตัน จะเจ็บปวดทรมาน การผ่าตัดเบี่ยงทางเดินของท่อทำให้หายปวดทรมานได้ ก็จำเป็นต้องทำ แต่ไม่ทำให้โรคหายขาด หรือผ่าตัดก้อนออกเพื่อมิให้เกิดเป็นแผล เช่น โรคมะเร็งเต้านมระยะที่สาม ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ผ่าตัดก้อนมะเร็งทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังไม่หาย เรียกว่า การผ่าตัดแบบประคับประคอง

การฉายรังสี จะไม่สามารถทำให้หายขาดจากมะเร็งระยะลุกลาม แต่อาจจะทำให้ก้อนโตช้าลง ไม่รบกวนชีวิตของผู้ป่วย หรือเพื่อบำบัดอาการ เช่น มะเร็งที่กระจายไปกระดูกทำให้เกิดความเจ็บปวด การฉายรังสีเฉพาะตรงที่ปวด จะทำให้หายปวดได้ เพิ่มคุณภาพชีวิต เรียกว่า การฉายรังสีแบบประคับประคอง การฉายรังสีจึงไม่ต้องให้ปริมาณมากเท่าการรักษามะเร็งที่หวังหายขาดได้ ผลข้างเคียงจะเวลาที่ฉายรังสีมักใช้เวลาไม่กี่วัน

ยาเคมีบำบัด จะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ ทั้งตรงที่ก้อนเริ่มแรก และมะเร็งที่กระจายไปแล้ว ในกรณีมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ ระยะที่ 3 การรักษาให้ยาเคมีบำบัดอาจลดขนาดก้อนลง จนสามารถทำการผ่าตัดและฉายรังสี และหวังหายขาดได้ แต่หากเป็นระยะที่ 4 การให้ยาเคมีบำบัด และหรือ การฉายรังสี และการผ่าตัดมักทำให้ก้อนขนาดเล็กลง หรือหายไปชั่วคราว แต่ในที่สุดมะเร็งจะกลับมาใหม่ การรักษาจึงไม่อาจหวังให้หายขาดได้ แต่อาจยืดชีวิตผู้ป่วยได้ระยะหนึ่ง

ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 3 หรือระยะแรก ที่ได้รับการรักษามาตรฐานแล้ว แต่มะเร็งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แสดงว่าไม่หายขาด เซลล์มะเร็งที่กลับมาใหม่นี้ ย่อมเป็นมะเร็งที่ดื้อยา และดื้อรังสี โอกาสรักษาหายขาดจึงน้อยมาก ไม่ต่างจากผู้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 4 การรักษาใด ๆ จึงหวังได้เพียงการยืดเวลาที่จะมีชีวิตอยู่ และต้องแลกด้วยผลข้างเคียงของการรักษา ความเจ็บปวดของวิธีการรักษา เวลาที่จะใช้ในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ผู้ป่วยและครอบครัวพึงตัดสินใจร่วมกันกับทีมแพทย์พยาบาลผู้ให้การรักษาว่า ทางเลือกในการรักษาอย่างใดจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยมากที่สุด

ผู้ป่วยจำนวนมากมองว่า การยืดชีวิตมิใช่สิ่งที่เขาต้องการ หากชีวิตที่ยาวขึ้นนั้นจะต้องเจ็บปวดทรมาน จากตัวโรค หรือจากความพยายามในการรักษา เช่น เจ็บตัวจากการผ่าตัด จากการเจาะเลือด การตรวจวินิจฉัย หรือจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ผู้ที่เข้าใจสัจธรรมว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา แค่ไม่อยากทรมาน ไม่อยากเสียเวลาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่าย อยากใช้ชีวิตเต็มที่ อยู่กับมะเร็งอย่างสันติ ผู้ป่วยย่อมมีสิทธิเลือกที่จะไม่รับการรักษา ผู้ป่วยและครอบครัว ควรได้รับการส่งต่อไปพบทีมแพทย์พยาบาลประคับประคอง (Palliative Care Team) เพื่อวางแผนชีวิต เติมเต็มคุณภาพชีวิต และวางแผนบำบัดความเจ็บปวดและอาการรบกวนอย่างเต็มที่ และยังคงได้รับการฉายรังสีแบบประคับประคอง เพื่อบำบัดอาการรบกวนและเพิ่มคุณภาพชีวิต ร่วมกันได้

ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม บางคนอาจยังหวังที่จะหาย แต่ไม่ต้องการยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยและครอบครัวย่อมสามารถทดลองการแพทย์ทางเลือกแบบต่าง ๆ พร้อมไปกับการดูแลประคับประคอง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตเต็มที่และไม่เจ็บปวดทรมานในกรณีที่โรคมะเร็งเป็นมากขึ้นตามเวลา คนรอบตัว และญาติ พึงเคารพในแนวทางที่ผู้ป่วยเลือก และสนับสนุน

ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามหลายคน ยังไม่พร้อมที่จะตาย ต้องการยืดชีวิต และพร้อมที่จะแลกกับผลข้างเคียงของยา ความเจ็บปวดที่เกิดจากการรักษา ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และเวลาที่ใช้ในการเข้าออกโรงพยาบาล ทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาจะให้การรักษาตามประสงค์ได้ หากท่านยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องจากความพยายามในการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตเร็วขึ้น โดยจะให้สูตรยาที่ทำให้มีโอกาสยืดชีวิตได้นานที่สุดก่อน แต่เราจะไม่แปลกใจหากมะเร็งไม่หายขาด และกลับมาใหม่ แพทย์ไม่อาจบอกได้ว่ามะเร็งจะกลับมาเมื่อใด เราบอกได้เพียงว่า การให้ยาน่าจะทำให้อยู่นานขึ้นกว่าไม่ให้ยา ทุกครั้งที่มะเร็งกลับมาแสดงว่ามันดื้อยานั้น และยาทั้งหมดที่เคยได้รับมาทั้งหมด การตัดสินใจให้ยารอบใหม่ จำเป็นต้องชั่งผลดี และผลเสียที่เกิดขึ้น หากผลเสีย อันได้แก่ผลข้างเคียง ค่าใช้จ่าย และคุณภาพชีวิตที่ลดลง มากกว่าผลดี ผู้ป่วยจะขอหยุดหรือเปลี่ยนการรักษาเมื่อใดก็ได้ และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งการรักษาที่เหลือ อาจมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี แพทย์ก็จะไม่แนะนำให้ไปต่อ

ในบางกรณี แพทย์อาจชักชวนผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัยยาใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า ยาใหม่อาจรักษามะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นได้บ้างหรือไม่ แพทย์จะนำเสนอทางเลือกนี้เมื่อมีโครงการวิจัยที่ตรงกับสภาวะโรคของผู้ป่วย ในเวลานั้น ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัยจะได้รับยาฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่พึงปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการวิจัยอย่างเคร่งครัด และไม่อาจคาดหวังผลของการรักษาในโครงการวิจัยได้

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมียามุ่งเป้า หรือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือการรักษาที่เหมาะกับโรคที่เป็นโดยมิใช่เคมีบำบัด (ดูรายละเอียดในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง) ผู้ป่วยพึงทราบว่า ยามุ่งเป้า การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ยังมิได้เป็นมาตรฐานในการรักษามะเร็งส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อาจได้ผลกับมะเร็งเพียงบางชนิด และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ผู้ป่วยพึงพิจารณาให้เหมาะสมกับฐานะของตน

มะเร็งหลอดอาหาร

ความร้ายแรง
   มะเร็งหลอดอาหารพบได้ไม่บ่อยนัก แต่มักมีความรุนแรง เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้กระจายได้เร็ว และเป็นวงกว้าง ทําให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระยะลุกลาม การรักษาให้หายขาดจึงทําได้ยาก

สาเหตุสําคัญ
   พบปัจจัยเสี่ยงที่สําคัญ ได้แก่ เชื้อชาติ (อุบัติการณ์จะสูงกว่าใน ชาวอิหร่าน โซเวียต และจีน), สุรา, บุหรี่, อาหารบางชนิด, โรคหลอดอาหารบางชนิด เช่น อะคาลาเชีย (ภาวะหูรูดหลอดอาหารไม่คลายตัว)

อาการสําคัญที่ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์
   อาการกลืนลําบาก พบได้มากที่สุด ประมาณ 90% นอกจากนี้ มักพบว่ามี น้ำหนักลด อาเจียน เจ็บเวลากลืน ถ้ามีอาการเสียงแหบ หรือสําลัก แสดงว่ามีอาการลุกลามค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้น ถ้ามี อาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและหาระยะของโรคมะเร็งหลอดอาหาร
   มักเริ่มด้วยการซักประวัติ อาการ อาการแสดง รวมถึง การตรวจร่างกาย จากนั้นจะทําการส่องกล้องหลอดอาหารเพื่อนําชิ้นเนื้อมาตรวจ ต่อมาทําเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อประเมินระยะของโรค

หลักการรักษา
   การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเอาหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป มักทําในรายที่ยังมีการลุกลามไม่มาก การผ่าตัดนี้ต้องอาศัยความชํานาญในการผ่าตัดมาก ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่เพราะมีการผ่าตัดเข้าทรวงอก ช่องท้องและคอ สําหรับผู้ป่วยที่อยู่ระยะลุกลาม มักให้ฉายแสงร่วมกับเคมีบําบัด (chemoradiation) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้นเนื่องจากผลการรักษาดีขึ้นมาก และกําลังจะเป็นการรักษาหลักในอนาคต ในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดหรือให้ chemoradiation ได้ มักใส่ลวดขยาย (stent) เพื่อให้ผู้ป่วยกินอาหารได้ ทําให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ความรู้ที่สําคัญ
   เมื่อผู้ป่วยมีอาการกลืนลําบาก ควรรีบมากพบแพทย์ และทําการตรวจด้วยการส่องกล้อง การตรวจพบในระยะแรกเริ่มเป็นปัจจัยสําคัญในการรักษามะเร็งหลอดอาหาร

รศ.ดร.นพ.อัษฎา เมธเศรษฐ
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เป็นมะเร็งแล้วขอไม่รักษาได้หรือไม่

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การรักษามะเร็ง เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่าง ผู้ป่วย ครอบครัว และทีมแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา มิใช่หน้าที่ของแพทย์ มิใช่การตัดสินของญาติ การรักษามะเร็งมีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยต้องให้การอนุญาตก่อน เป็นลายลักษณ์อักษร แพทย์จึงจะทำการผ่าตัด ฉายรังสี ให้ยาเคมีบำบัด หรือยาอื่นได้ ผู้ป่วยต้องยอมแลกด้วยความเจ็บตัว ความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง การมาโรงพยาบาล และค่าใช้จ่าย เพื่อโอกาสที่จะหายขาดจากมะเร็ง ผู้ป่วยที่ไม่ยอมแลกกับโอกาสหายขาด ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาเสี่ยงอันตรายเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะปฏิเสธการรักษา ขอให้ลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งดูก่อน ว่าการรักษาในปัจจุบัน มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากมะเร็งมากน้อยเพียงใด มะเร็งหลายชนิดโดยเฉพาะมะเร็งที่พบในระยะแรก มีโอกาสหายขาดได้มาก ตัวอย่างเช่น มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดร้อยละ 99 มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 มีโอกาสหายขาดร้อยละ 93 โดยการรักษามาตรฐาน คือผ่าตัด และหรือ ฉายรังสี และหรือ เคมีบำบัด และคนไทยสามารถเข้าถึงการรักษานี้ในระบบสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หากขอไม่รักษา ลองสมุนไพรหรือการแพทย์ทางเลือกก่อน มะเร็งจะไม่หายและอาจลุกลามเป็นระยะ 3 หรือ 4 ในอีกหลายเดือน หรือหลายปีต่อมา เมื่อเปลี่ยนใจมารักษาตามมาตรฐานในภายหลัง​โอกาสหายขาดจะลดลงมาก เหลือเพียงร้อยละ 72 และ 20 เท่านั้น วงการแพทย์มองว่าเสียดายโอกาสในการรักษาให้หายขาด

สมุนไพร และการรักษาทางเลือก อาจทำให้มะเร็งเติบโตช้าลงได้จริง แต่ไม่สามารถทำให้มะเร็งหายขาดได้ หมายความว่าผู้ป่วยจะหยุดใช้ยาไม่ได้ ผู้ที่กินสมุนไพรและการแพทย์ทางเลือก อาจอยู่กับมะเร็งได้นานหลายปี และอาจใช้ชีวิตตามปกติ แต่หากเมื่อใดหยุดกิน ยานั้นหมดไปหาไม่ได้อีก สู้ค่าใช้จ่ายไม่ได้อีกต่อไป หรือ เสื่อมศรัทธา โรคมะเร็งก็จะกำเริบขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงต้องพึ่งทางเลือกนี้ไปตลอดชีวิต และเมื่อมะเร็งกำเริบมากขึ้น ไม่ดีจริงอย่างที่คิด ก็ไม่มีใครรับผิดชอบชีวิตของเรา

หากเป็นโรคมะเร็งที่รักษาหายขาดได้ แต่กลัวผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ฉายรังสี หรือเคมีบำบัด พึงปรึกษากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งชนิดเดียวกันที่เคยผ่านประสบการณ์ตรงมาแล้ว เพื่อฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง สอบถามวิธีการดูแลและจัดการกับสิ่งที่กังวล ที่อาจเกิดขึ้นกับการรักษา และหรือเล่าให้ทีมผู้ให้การดูแลรักษาฟังเกี่ยวกับความกังวลของเรา และหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งอีกแห่งหนึ่ง เป็น Second Opinion

หากผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ไม่บอกผู้ป่วยอย่างชัดเจนว่า มีอากาสหายขาดมาก เช่น เลี่ยงไม่ตอบ บอกว่าลองดูไปก่อน หรือบอกตรง ๆ ว่าโอกาสหายขาดน้อย และผู้ป่วยมีทัศนคติกับชีวิตและความตายว่า “ตายไม่กลัว กลัวทรมาน” ผู้ป่วยย่อมสามารถเลือกปฏิเสธการรักษาได้ ถึงแม้ว่าการรักษาอย่างเต็มที่ยังอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายหายขาดได้ ผู้ป่วยชั่งน้ำหนักแล้วว่า สิ่งที่จะต้องแลกนั้น ไม่เหมาะกับเขา เช่น โอกาสหายน้อยแต่ ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เจ็บตัวมากเกินไป เสียเวลาในโรงพยาบาลมากไป เขาย่อมเลือกได้ โดยการไม่ลงนามในเอกสารขออนุญาตให้แพทย์ทำการรักษา แพทย์ย่อมเคารพความประสงค์ของผู้ป่วยเสมอ

อย่างไรก็ดี ครอบครัวมักมีอิทธิพลมากต่อการดูแลผู้ป่วย หลายครอบครัวมักมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางการรักษา ครอบครัวส่วนใหญ่มักมีคนใดคนหนึ่งที่อยากให้ลองรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน และมีอีกคนหนึ่งเชียร์ธรรมชาติบำบัด อีกคนหนึ่งเชียร์อาหารเสริม อีกคนหนึ่งเชียร์ยาสมุนไพร และมีญาติห่าง ๆ เพื่อนบ้าน และเพื่อนฝูงผู้หวังดี ให้คำแนะนำอีกเป็นจำนวนมาก ครอบครัวที่มีความเห็นหลากหลาย พึงได้รับคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์พยาบาลประคับประคอง (Palliative Care Team) ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสาร และรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และจะช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวผู้ป่วย และแบ่งปันภาพรวมของการดูแลผู้ป่วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และบำบัดอาการน่าทุกข์ทรมานมิให้เกิดขึ้น หรือหมดไป รวมทั้งการวางแผนในช่วงสุดท้ายของชีวิตเมื่อใกล้เวลา

มะเร็งกระเพาะอาหาร

   มะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ประมาณ 1,000 รายต่อปี หรือพบเป็นอันดับ 8 ของมะเร็งทั้งหมด โดยมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอริ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหาร เรื้อรังคลื่นไส้อาเจียนน้ำหนักลด ถ้าอาการเป็นมากขึ้นอาจมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดํา จนกระทั่งมีอาการซีด อ่อนเพลีย หน้ามืดวิงเวียนได้

การวินิจฉัย
   ทําโดยการกลืนแป้งเพื่อเอกซเรย์ดูผิวกระเพาะหรือการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งทั้งสองวิธีจะตรวจพบผิวกระเพาะขรุขระเป็นแผลหรือมีการหนาตัวขึ้นผิดปกติ บางครั้งรอยโรคอาจแยกกับแผลโรคกระเพาะทั่วไปได้ยาก การส่องกล้องและส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อผิวกระเพาะเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาจึงจําเป็นเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
   สําหรับประชาชนทั่วไปที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น แม้จะยังไม่มีอาการก็ควรได้รับการส่องกล้องเพื่อเป็นการตรวจคัดกรอง (Screening test) ซึ่งหากพบมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกสามารถทําการรักษาโดยการส่องกล้องซึ่งได้ผลดี มีผลแทรกซ้อนต่ำ และหวังผลหายขาดได้ดังจะกล่าวต่อไป

การประเมินก่อนการรักษา
   เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร การประเมินเพื่อจะทําการรักษาประกอบด้วยการประเมินสภาพร่างกายทั่วไป และประเมินสภาพของเนื้องอก
   การประเมินสภาพร่างกายทั่วไปประกอบด้วยการตรวจเช็คความแข็งแรงของการทํางานของหัวใจและปอด การตรวจเช็คเลือดทั่วไปและระดับสารอาหารในร่างกาย ซึ่งจะมีผลต่อการรับการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบําบัด การประเมินระยะของมะเร็งเพื่อดูระยะการลุกลามของเนื้องอกที่ผนัง กระเพาะและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบๆ กระเพาะจนกระทั่งการกระจายในช่องท้อง โดยใช้การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

การรักษา
   การรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะของเนื้องอก ซึ่งประกอบด้วยความลึกของเนื้องอก การกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆ กระเพาะ และการกระจายไปอวัยวะที่ห่างจากกระเพาะ
   มะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้นหรือระยะที่ 1 คือมะเร็งที่กินลึกเพียงชั้นผิว ไม่ลึกถึงกล้ามเนื้อกระเพาะ ซึ่งเนื้องอกระยะนี้พบน้อยในประเทศไทย เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่มีอาการ และประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะเป็นๆ หายๆ หรือรักษาโรคกระเพาะเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรก มีโอกาสกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองต่ำ ดังนั้นการรักษามะเร็งในระยะนี้สามารถทําได้โดยการตัดเพียงเนื้องอกที่ผิวกระเพาะ โดยการส่องกล้องจึงเพียงพอและสามารถหวังผลหายขาดได้
   มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 2 และ 3 หรือมะเร็งระยะลุกลาม คือระยะที่มะเร็งมีความลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือผิวด้านนอกของกระเพาะอาหาร มะเร็งที่มีความลึกระดับนี้จะมีโอกาสกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น การรักษาหลักคือ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเอาส่วนที่เป็นมะเร็ง และเลาะต่อมน้ำเหลืองที่อยู่แวดล้อมกระเพาะอาหารออก ร่วมกับการให้ยาเคมีบําบัดหลังผ่าตัด
   มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 4 หรือมะเร็งระยะสุดท้าย คือมะเร็งที่มีการกระจายออกไปยังอวัยวะที่ห่างจากกระเพาะ หรือไม่ได้ติดต่อกับกระเพาะอาหารโดยตรง การรักษามะเร็งในระยะนี้ แม้จะตัดกระเพาะ เลาะต่อมน้ำเหลือง ให้ยาเคมีบําบัดต่อ ก็มักไม่ได้เพิ่มความยืนยาวของอายุผู้ป่วยแต่อย่างใด แนวโน้มจึงเป็นการรักษาเพื่อการประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ความรู้ที่สําคัญ
   การตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกมีความสําคัญมาก หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือ มีอาการโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังเกิน 2 เดือน อาจจะมีน้ำหนักลด หรือมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะหากตรวจพบในระยะเริ่มแรก การรักษาก็จะได้ผลดีมีผลแทรกซ้อนต่ำ และหวังผลหายขาดได้

อ.ดร.นพ.จิรวัฒน์ สว่างศรี
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การเตรียมตัวเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย

การรักษามะเร็งไม่จำเป็นต้องแพง

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การรักษามะเร็ง มีวิธีการที่ซับซ้อน ต้องพึ่งแพทย์และบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญหลายแผนก ได้แก่ ศัลยแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา และแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา การอยู่โรงพยาบาลย่อมมีค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ค่าเดินทาง การเฝ้าไข้ ค่ากินอยู่นอกบ้าน การขาดงาน อย่างไรก็ดี การรักษามะเร็งให้หายขาด อาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

วงการแพทย์และสาธารณสุขไทยตระหนักว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งและมีโอกาสหายขาดได้ พึงได้รับการรักษาเต็มที่ เพื่อให้มีโอกาสหายโดยไม่ขึ้นกับความสามารถในการชำระค่าใช้จ่าย ระบบสาธารณสุขของไทย จึงได้ออกแบบให้ ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งถ้วนหน้า โดยใช้สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์และรับการรักษามาตรฐานได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็จะมีระเบียบขั้นตอนในการใช้สิทธิ และต้องรับบริการที่โรงพยาบาลที่ระบุไว้ตามสิทธิ ผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์ที่จะทำตามขั้นตอน หรือต้องการรับบริการจากโรงพยาบาลที่เลือกเอง ก็สามารถทำได้โดยชำระค่าใช้จ่ายเอง

ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะแรก และมะเร็งที่มีโอกาสหายขาด ควรได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกัน ที่จะทำให้มีโอกาสหายสูงสุด คือการผ่าตัด ฉายรังสี และหรือเคมีบำบัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงได้ร่วมกันกำหนดสูตรยามาตรฐาน เพื่อให้การรักษาเป็นไปในทางเดียวกันทั้งประเทศ แม้ว่าการรักษาเต็มที่จะมีต้นทุนสูง แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้

ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม ก็สามารถได้รับการรักษามาตรฐานพื้นฐานเช่นกัน การรักษามะเร็งลุกลามบางชนิดมีโอกาสหายขาด แต่มะเร็งหลายชนิดก็ไม่หายขาดไม่ว่าจะใช้ยาชนิดใด เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด และต้องดูแล ป้องกันและรักษาโรคสำคัญอีกหลายชนิดของประชากรไทย การรักษามะเร็งลุกลามจึงไม่อาจทำได้ครอบคลุมในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การรักษาฟรีจึงจำกัดไว้เฉพาะการรักษาตามมาตรฐานเท่านั้น หากผู้ป่วยประสงค์จะลองรักษาด้วยยาอื่น ๆ ที่แพทย์นำเสนอ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลุกลาม แต่ละรายมีทัศนคติต่อชีวิต การรักษาโรค และความตายไม่เหมือนกัน บางรายพยายามต่อสู้ ยอมเจ็บตัวและยอมจ่ายเอง เพื่อแลกกับโอกาสหายที่ไม่มากนัก หรือแลกกับเวลาที่ยาวขึ้น แต่ผู้ป่วยบางรายขอลองรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก ซึ่งจะไม่เจ็บตัวและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่ประสงค์จะรับการรักษาในตอนสุดท้ายของชีวิตด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่าง จึงเลือกไม่รักษา หรือหยุดการรักษา และใช้ชีวิตต่อไปแบบปกติ ผู้ที่คิดเช่นนี้ย่อมสามารถรับบริการในระบบสาธารณสุขต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

การรักษามะเร็งลุกลาม จึงอาจมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้ป่วยและครอบครัว ผู้ป่วยมะเร็งพึงวางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสม ไม่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ผู้ป่วยพึงพิจารณาว่า การรักษาใหม่ที่เป็นความหวังสำหรับโรคมะเร็งลุกลามนั้น อาจมีค่าใช้จ่ายเดือนละหลายหมื่น หรือหลายแสนบาท ต่อเนื่องไปจนกว่ามะเร็งจะดื้อยา หรือขอหยุดการรักษาไปเอง เงินจำนวนเดียวกันนี้อาจสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตและครอบครัวในทางอื่นได้หรือไม่

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสิทธิต่าง ๆ ได้ที่ :

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
สายด่วน สปสช. พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 1330

www.nhso.go.th

สำนักงานประกันสังคม
สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506

www.sso.go.th

มะเร็งตับ

เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้ป่วยชายไทย

โรคมะเร็งตับ มี 2 ประเภท
1. โรคมะเร็งตับปฐมภูมิ คือ มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อของตับเอง แบ่งได้หลายชนิดตามชนิดของเนื้อเยื้อ ต้นกําเนิดมะเร็งตับปฐมภูมิที่พบบ่อยในประเทศไทย
1.1 มะเร็งจากเชลล์ตับ (Hepatocellularcarcinoma)
1.2 มะเร็งจากท่อน้ำดีในตับ (Cholangiocarcinoma)
2. โรคมะเร็งตับทุติยภูมิ คือ มะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่นไปสู่ตับ


มะเร็งจากเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma)

ปัจจัยเสี่ยง
   - ภาวะตับแข็งจากทุกๆ สาเหตุ
   - โรคตับอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีและซี
   - สารพิษที่พบปนเปื้อนจากเชื้อราในอาหารอบแห้ง (Aflatoxin) เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด กระเทียม ฯลฯ อาการ และ อาการแสดง
   - ในระยะแรกของโรคมักไม่มีอาการ หรืออาการแสดงใดๆ
   - อาการจุกแน่นลิ้นปี หรือชายโครงขวา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และมีไข้ โดยไม่มีสาเหตุอื่น
   - คลําได้ก้อนใต้ชายโครงขวา
   - เนื่องจากมะเร็งเซลล์ตับมักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง ผู้ป่วยจึงมักมีอาการ และอาการแสดงของภาวะตับแข็งด้วย เช่น ตาเหลือง บวม ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด

การวินิจฉัย
   - ตรวจเลือดพบความผิดปกติของการทํางานของตับ และอาจพบระดับอัลฟาฟี โตโปรตีน (AFP) สูงผิดปกติ
   - ตรวจพบก้อนที่ตับจากอุลตราซาวด์ (US), เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นแม่เหล็ก (MRI)

การรักษา
   การรักษามีหลายวิธีจําเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคํานึงถึงมากมาย
   การรักษาที่มีหลักฐานทางการแพทย์รับรอง ได้แก่
   - การผ่าตัดตัดตับบางส่วน (Hepatectomy), การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplantation), การจี้ทําลายมะเร็งตับ (ablative therapy) ได้แก่ การใช้คลื่นเสียง (REA), การใช้แอลกอฮอล์ (PEI) เป็นต้น
   - การฉีดยาเคมีร่วมกับการอุดเส้นเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงมะเร็งตับ (TACE)

การป้องกัน
   - หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะตับแข็งและมะเร็งเซลล์ตับ
   - ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี และผู้ป่วยภาวะตับแข็ง ควรเข้ารับการตรวจเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเซลล์ตับเป็นประจํา
   - เมื่อมีอาการที่เข้าได้กับภาวะตับแข็ง ควรรีบพบแพทย์


มะเร็งท่อน้ำดีในตับ (Cholangio carcinoma)

ปัจจัยเสี่ยง
   - การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อยปลา ฯลฯ เนื่องจากมีพยาธิใบไม้

ปัจจัยเสี่ยงสําคัญ
   - โรคที่มีการคั่งของน้ำดีเรื้อรัง เช่น โรคท่อน้ำดีโป่งพองแต่กําเนิด

อาการ และอาการแสดง
   - จุกแน่นลิ้นปี่ หรือชายโครง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
   - ตาเหลือง คันตามตัว อุจจาระสีซีด ปัสสาวะเข้ม จากท่อน้ำดีอุดตัน

การวินิจฉัย
   - ตรวจและวินิจฉัยแบบเดียวกับมะเร็งเซลล์ตับ แต่จะมีลักษณะภาพรังสีวินิจฉัยที่ต่างกัน

การรักษา
   - การรักษาที่หายขาดมีวิธีเดียว คือ ผ่าตัดตับออกบางส่วน
   - ในกรณีที่ผ่าตัดตับไม่ได้อาจให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการดีซ่าน เช่น ใส่ท่อ ระบายน้ำดี หรือเจาะระบายน้ำดีออกทางหน้าท้อง

การป้องกัน
   - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
   - ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของพยาธิใบไม้ในตับ เช่น ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ควรตรวจอุจจาระหาการติดเชื้อ และรักษาด้วยยาฆ่าพยาธิ

รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคประจำตัว มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จริงหรือไม่?

คำตอบจาก ผศ.พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ ภาควิชาศัลยกรรม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

“ไม่จริงค่ะ การเป็นมะเร็งทั่วไป คือมะเร็งอวัยวะอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับมะเร็งเม็ดเลือด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด ซึ่งไม่ได้ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงคะ แต่ในช่วงที่ได้รับการรักษา เช่น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือ ช่วงที่รักษาด้วยการฉายแสง มักจะมีผลต่อไขกระดูก ซึ่งเป็นที่อยู่ของเซลล์ที่สร้างเม็ดเลือดต่างๆ โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาว ทำให้มีภูมิต้านทานที่ต่ำลงได้ จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

แต่ว่าส่วนใหญ่จะมีผลชั่วคราว หมายความว่า การรักษาแล้วร่างกายจะมีการซ่อมแซมตัวเองกลับมาได้ใหม่ ถ้าหากสงสัยว่าเม็ดเลือดขาวกลับมาอยู่ในระดับปกติหรือไม่ แนะนำให้คนไข้สอบถามคุณหมอที่รักษาได้เลยค่ะ โดยส่วนใหญ่คุณหมอมักตรวจติดตาม จนกว่าระดับเม็ดเลือดขาวกลับไปอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วค่ะ”

มะเร็งตับอ่อน

ความสําคัญ
   มะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก ไม่จัดอยู่ในโรคมะเร็งที่พบบ่อย 10 อันดับแรก แต่เป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคสูงเป็นอันดับ 4 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมด ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนมากไม่มีอาการ หรือมีอาการที่ไม่จําเพาะ ทําให้วินิจฉัยได้ช้า ผู้ป่วยส่วนมากได้รับการวินิจฉัยในระยะที่โรคลุกลามไปแล้ว ทําให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผลการรักษาในปัจจุบันยังไม่ดีนัก ทําให้ผู้ป่วยส่วนมากเสียชีวิตจากตัวโรคเอง

สาเหตุ
   โรคมะเร็งตับอ่อนยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่
   1. อายุที่สูงขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น โดยทั่วไปมักพบในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป
   2. การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลายชนิดรวมทั้งมะเร็งตับอ่อนด้วย
   3. โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
   4. พันธุกรรมบางชนิดที่ส่งผลให้มีเนื้องอก และ/หรือมะเร็ง

อาการและอาการแสดง
   ผู้เป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ไม่มีอาการและอาการแสดงเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค อาการมักเกิดหลังโรคลุกลามแล้ว โดยอาการที่พบได้แก่ อาการปวดท้องใต้ลิ้นปี่ ซึ่งมักปวดไม่รุนแรงในระยะแรก อาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วย ถ้าเป็นมะเร็งที่ส่วนหัวของตับอ่อน ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) จากการที่ก้อนเนื้อมะเร็งกดเบียดท่อน้ำดี อาการคันตามตัวทั่วๆ ไป ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง โดยไม่มีสาเหตุ

การวินิจฉัย
   โรคมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคมะเร็งที่วินิจฉัยได้ยาก เพราะอาการ และอาการแสดงไม่เฉพาะเจาะจง การซักประวัติและการตรวจร่างกายไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ ต้องอาศัยการตรวจพิเศษทางรังสีวิทยา โดยในเบื้องต้นอาจใช้อัลตราซาวด์ แต่การตรวจที่จําเป็นต้องใช้ในการวินิจฉัย (และใช้ในการวางแผนการรักษา) คือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และ/หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) นอกจากนี้อาจมีการเจาะเลือดหา

การรักษา
    การผ่าตัดเป็นการรักษาที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด แต่ผู้ป่วยส่วนมากมาพบแพทย์ในระยะที่โรคลุกลามไปมากแล้ว ทําให้ไม่สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดได้ มีเพียง 15-20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเท่านั้นที่สามารถผ่าตัดได้ ในกรณีที่โรคลุกลามไปแล้ว อาจพิจารณารักษาด้วยการให้เคมีบําบัดร่วมกับรังสีรักษาในบางราย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีซ่านอาจให้การรักษาด้วยการส่องกล้องเพื่อขยายท่อน้ำดี และใส่ท่อระบายน้ำดี ซึ่งจะทําให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลการรักษา
   ผลการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนยังไม่ดีนัก ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยส่วนมากมักเสียชีวิตใน 4-6 เดือน ในกรณีที่ผ่าตัดได้ก็ยังมีโอกาสกลับเป็นใหม่ของโรคได้ อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปีประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์

ความเชื่อผิดๆ
   ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งได้แก่ CEA และ CA19-9 การตรวจนี้ไม่แนะนําสําหรับบุคคลทั่วไป เนื่องจากมะเร็งตับอ่อนพบได้น้อย นอกจากนี้การตรวจ CEA และ CA19-9 เป็นการตรวจที่ไม่ไวพอ ผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งระยะท้ายโดยที่ผลเลือดปกติก็ได้ ในทางตรงกันข้ามอาจมี CEA และ CA19-9 สูงกว่าปกติโดยที่ไม่เป็นมะเร็งก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ ต้องได้รับการตรวจอีกมากมายจนกว่าจะสามารถบอกได้ว่าไม่เป็นมะเร็ง ทําให้เสียเงิน เสียเวลา และได้รับความเสี่ยงจากการตรวจ และที่สําคัญที่สุด ทําให้ต้องวิตกกังวลอย่างมากโดยไม่จําเป็น

ผศ.นพ.สมชัย ลิ้มศรีจำเริญ
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เป็นมะเร็งแล้ว เบื่ออาหาร ทานลำบาก ทำยังไง?

คำตอบจาก รศ.นพ. ศรีชัย ครุสันธิ์ และ พญ. กิตต์วดี ศักดิ์ศรชัย จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ครั้งที่ 2 และ 4

“ช่วงที่รักษา การให้ยาเคมี หรือ ฉายรังสีบริเวณกว้างๆ เราจะพบว่าเม็ดเลือดขาวจะต่ำ ซึ่งเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ในการต่อสู้และปกป้องสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายและ เชื้อโรค รวมถึงการทำลายเซลล์มะเร็ง ภูมิคุ้มกันร่างกายจึงมีความสำคัญ ในช่วงจังหวะที่เราฉายแสง ให้ยาเคมี จึงต้องดูแลสุขภาพ การทานอาหารและสุขอนามัยให้ดี เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน”

“ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างรักษา เช่น การฉายแสงทำให้มีอาการกลืนยาก น้ำลายขม น้ำลายแห้ง และมีอาการเบื่ออาหาร เนื่องจากการฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะที่ ถ้าฉายรักษาตรงส่วนไหนก็จะมีอาการเฉพาะตรงนั้น เช่น ถ้าฉายตรงปาก ลำคอ ก็มีจะอาการคอแห้ง เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ไม่รู้รสชาติ ถ้าฉายที่ท้อง บางทีจะมีอาหารท้องเสีย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

ดังนั้นลักษณะอาหารที่เราควรทานจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เราจะฉาย เช่น การฉายบริเวณปากและคอ พอฉายไปสักประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาหารที่เราแนะนำก็จะเป็นอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด สุกสะอาด และการทานอาหารไม่จำเป็นต้องทานเป็นมื้อใหญ่ๆ เพราะในคนที่อยู่ในระหว่างรักษา ความรู้สึกอาหารจะน้อย แล้วบางคนมีอาการคลื่นไส้ พอทานเข้าไปเยอะๆ แล้วก็อาจจะอาเจียนออกมา จึงต้องทยอยทาน และต้องครบหมู่ หรือเปลี่ยนวิธีการทานอาหารจาก 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น เป็นทานบ่อยๆ แต่ได้ปริมาณที่เท่ากัน หมั่นคอยสังเกตตัวเองว่า มื้อไหนทานได้เยอะ เช่น บางคนตื่นเช้ามาทานได้เยอะ แต่พอช่วงเที่ยง ถึงเย็น เริ่มคลื่นไส้ ก็จะไปเน้นมื้อเช้าเป็นมื้อหลักที่ทานเยอะ และก็จะมีอาหารบางอย่างที่ช่วยชูรสได้เช่น อาหารเปรี้ยวๆ ทำให้น้ำลายไหล และทานได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่กลืนลำบาก นอกจากโจ๊ก ข้าวต้ม สามารถเลือกทานอาหารที่กลืนง่ายและเย็น เช่น เจลลี่ ก็ให้พลังงานได้เช่นกัน”

“อย่างบางรายที่รักษาทางปาก ก็จะมีการใส่สาย หรือ อาหารเหลว อาหารเสริมให้ครบหมู่ และหลากหลาย สุก สะอาด ปัญหาอยู่ที่บางครั้ง ญาติบางคนกดดันคนไข้มากเกินไป ห้ามกินไข่ ห้ามกินน้ำตาล จนคนไข้ไม่อยากกินอะไรเลย

บางคนชอบทานส้มตำ ซึ่งมีปลาร้าที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ทำให้เป็นโรคไตได้ เพราะคนกินอาหารเค็มกันเยอะ เพราะฉะนั้นต้องหมุมเวียนให้หลากหลาย อีกอย่างแหล่งที่มาอาหารมักมีสิ่งเจือปน ปรุงแต่ง ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าเรากินซ้ำเหมือนเดิม มันก็จะสะสม แต่ถ้าเราหมุนเวียนไป โอกาสที่สะสมก็น้อยเพราะกินไป ก็ขับถ่ายไป”

เมื่อมีผู้ป่วยถามถึง ไขมันปลา สามารถทานได้หรือไม่ อาจารย์ศรีชัยได้ให้ความรู้เพิ่มเติม

“ไขมันมีทั้งไขมันดี และไม่ดี แต่ไขมันบางอย่างพอไปผ่านกระบวนการเช่น ปิ้งย่าง จะกลายสภาพเป็น คาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ไขมันจากปลาส่วนใหญ่เป็นไขมันดี แต่จริงๆเราไม่จำเป็นต้องกินส่วนพุงของมัน เพราะร่างกายเราไม่ได้ต้องการไขมันเยอะขนาดนั้น คนป่วยต้องการกินอะไรที่ย่อยง่าย จริงๆเนื้อสัตว์ หมู ไก่ กินได้ แต่บางทีเนื้อไก่มีการฉีดสารเร่ง กลายเป็นตัวกระตุ้น ดังนั้นขอให้สุกไว้ก่อน อันไหนที่ผ่านการปรุงแต่ง เช่น เอาไปหมัก รมควัน พวกนั้นจะมีการใส่สารปรุงแต่ง เช่น ไนไตรด บอเร็กซ์ เราควรหลีกเลี่ยง หรือ ทานให้พอลิ้มรส สักคำสองคำ

เมื่อถามถึงการดื่มซุบไก่สกัด อาจารย์เสริมว่า “ถ้าพูดถึงคุณค่าอาหารจริงๆ แล้ว โปรตีนจากซุบไก่ยังสู้นมกล่องหนึ่งไม่ได้ แต่เป็นวัฒนธรรม หรือค่านิยมที่ว่าของแพงต้องดี แต่อย่างในคนสูงอายุก็ไม่ควรทานนมที่ไขมันเยอะ ควรเลือกที่เป็นพร่องไขมัน เพราะจะได้ทั้งโปรตีน และแคลเซียมบำรุงกระดูกด้วย หรือแม้กระทั่งในนมถั่วเหลืองก็มีโปรตีนบำรุงร่างกาย เพราะมีเอสโตรเจนที่เป็นเหมือนฮอร์โมนที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ความเป็นจริงแล้วเอสโตรเจนของพืช เป็นสารต้านมะเร็งเต้านม มีฤทธิ์เหมือนยาต้านมะเร็ง มีงานวิจัยที่พบว่าชนชาติที่กินเต้าหู้มีโอกาสเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม น้อยกว่าชนชาติที่ไม่กินถึงครึ่งหนึ่ง”

คุณเบลล่าพิธีกรได้กล่าวทิ้งท้าย “ผู้ป่วยควรกินให้เป็นหน้าที่ หน้าที่เราคือ รักษาร่างกายให้สู้กับยาได้ สิ่งสำคัญคือ การกินให้มีความสุข และมีวินัยในการกิน”

มะเร็งท่อน้ำดี

 มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวภายในท่อน้ำดีเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ จนอาจไปกดเบียดหรือลุกลามอวัยวะข้างเคียง ซึ่งประกอบด้วยตับ ตับอ่อน หรือลําไส้เล็กส่วนต้น

ชนิดของมะเร็งท่อน้ำดี

เนื่องจากท่อน้ำดีนั้นมีทั้งส่วนที่วางตัวอยู่ในตับ และออกมานอกตับ จึงแบ่งชนิดของมะเร็งท่อน้ำดีเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
  1. มะเร็งท่อน้ำดีในตับ
  2. มะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ

สาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี
   ปัจจุบันสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดียังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยสภาวะที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ของเซลล์ท่อน้ำดี จนทําให้เกิดการเติบโตอย่างผิดปกติ กลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้ เช่น นิ่วในทางเดิน น้ำดีในตับ พยาธิใบไม้ตับ การอักเสบเรื้อรังภายในท่อน้ำดี ภาวะการอักเสบเรื้อรังของลําไส้ใหญ่ และสารเคมีบางชนิด เป็นต้น

อาการและอาการแสดง
   ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในตับและนอกตับ จะมีอาการ อาการแสดงต่างกัน ในกรณีของมะเร็งท่อน้ำดีในตับนั้น โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการผิดปกติ จนกระทั่งมะเร็งมีขนาดใหญ่จนกดเบียดอวัยวะข้างเคียงหรือ ทางเดินน้ำดีจนอุดตันทําให้มีอาการปวดแน่นท้อง ตัวตาเหลือง เป็นต้น ส่วนกรณีของมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับจะเริ่มมีอาการจากการที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี ทําให้มี อาการตัวตาเหลืองหรือที่เรียกว่าดีซ่าน (Jaundice) คันตามตัว อุจจาระสีซีดลงได้ โดยอาจไม่มีอาการปวดแน่นท้องมาก่อนเลย จะเห็นได้ว่าอาการของมะเร็งท่อน้ำดีในระยะต้นนั้นมักจะน้อยและไม่ค่อยจําเพาะ จึงทําให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารับการรักษามักจะเป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่มีขนาดใหญ่หรือเริ่มมีการลุกลามแล้ว

การวินิจฉัยโรค
   นอกจากอาการและอาการแสดงดังกล่าวข้างต้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยในการวินิจฉัยประกอบด้วย การตรวจภาพรังสีวินิจฉัย อัลตราซาวนด์ (Ultrasonography) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Topography – CT) การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging – MRI) โดยการตรวจภาพวินิจฉัยแต่ละชนิดก็จะมีความแม่นยํา และจําเพาะแตกต่างกันไป โดยดุลพินิจในการส่งตรวจขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษา
   โดยทั่วไปแล้วการตรวจเลือดเพื่อดูค่าการทํางานของตับ (Liver function test) หรือสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกนั้นมักจะไม่พบความผิดปกติ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัย

การรักษา
   การรักษาหลักของมะเร็งท่อน้ำดีคือการผ่าตัด กรณีของมะเร็งท่อน้ำดีในตับ การผ่าตัดจะประกอบด้วยการผ่าตัดตับ (Hepatic resection/ Hepatectomy) ส่วนในกรณีของมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ การผ่าตัดจะประกอบด้วยการผ่าตัดตัดท่อทางเดินน้ำดี (Bile duct resection) อาจต้องมีการผ่าตัดตับ หรืออาจต้องผ่าตัดตับอ่อนและลําไส้เล็กส่วนหนึ่งร่วมด้วย (Pancreaticoduodenectomy) ถ้ามะเร็งท่อน้ำดีมีการลุกลามมาที่บริเวณดังกล่าว
   เนื่องจากผลในการรักษาด้วยยาเคมีบําบัดหรือฉายแสงรักษาในปัจจุบันนั้น ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงไม่ได้ใช้เป็นการรักษาหลัก แต่อาจใช้เป็นการรักษาร่วมในกรณีก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด

ผลการรักษา
   ในปัจจุบันผลการรักษาของมะเร็งท่อน้ำดียังไม่สู้ดีนักเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งท่อน้ำดีมีขนาดใหญ่หรือลุกลามแล้ว ดังนั้น จึงพบว่ามีผู้ป่วยเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่สามารถทําการผ่าตัดได้ โดยถ้าสามารถผ่าตัดเอามะเร็งท่อน้ำดีออกได้หมดจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีอยู่ที่ประมาณ 10-40% แต่ถ้าพบว่ามีการลุกลามไปแล้ว อัตราการรอดชีวิตจะต่ำกว่านั้นมาก

การป้องกัน
   เนื่องจากไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด ทําให้การป้องกันการเกิดโรคเป็นไปได้ยาก แต่เราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ปลาน้ำจืดดิบ การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารเคมีที่ไม่จําเป็น

อ.นพ.ประวัฒน์ โฆสิตะมงคล
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

แพทย์ทางเลือกรักษาควบคู่กับแพทย์ปัจจุบันได้หรือไม่?

คำตอบจากคุณหมอพงศธร

“แพทย์ทางเลือก ถ้าเอาคำนิยามของเป้าหมายนะครับ ควรเป็นการรักษาที่เรารักษาในปัจจุบันที่ได้มาตรฐานแล้วไม่ได้ผล หรือรักษาแล้วทนไม่ไหว มีปัญหาเรื่องของอาการข้างเคียง หรือเป็นระยะสุดท้ายแล้ว คิดว่าแผนการรักษาปัจจุบันนี้ไม่มีอะไรที่จะให้เราแล้ว ก็คิดว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะไปลองได้นะครับ เพียงแต่ว่าควรจะคิดว่าแผนปัจจุบันไม่สามารถทำอะไรต่อได้แล้ว แต่มันไม่ใช่แค่นั้นครับ มันมีอะไรที่ต้องให้พิจารณามากกว่านั้น คือ…

1) มันปลอดภัยไหม เพราะหลายครั้งแพทย์ทางเลือกก็คือการใช้ยาในรูปแบบต่างๆ การใช้ยาสมุนไพร หรือยาอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้น พอเป็นยาหรือสารเคมี ทำให้มีผลต่อความปลอดภัยที่เราไม่ได้คิดถึงครับ แทนที่จะดีขึ้นกลับทรุดลงนะครับ
2) ประสิทธิภาพของตัวยา อันนี้อาจจะดูยาก ถ้าเป็นยาที่เขาเอามาขาย เขาก็จะบอกว่าดีนะ ไม่มีใครบอกว่าไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ต้องศึกษาข้อมูลดีๆ นะครับ เพราะการรักษาแผนทางเลือกบางอย่างมันก็เป็นการรักษาที่ได้ผล ข้อมูลชัดเจน ในแง่ที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สบายขึ้น แต่บางอย่างเนี่ยครับข้อมูลไม่ชัดเจน พอไม่ชัดเจนสิ่งที่ตามมาคือ ราคา ถ้าการรักษาที่ได้ผลไม่ชัดเจนแล้วต้องจ่ายแพงๆ เราจะจ่ายไหม? ความคุ้มค่า บางครั้งที่เราจ่ายเงินไป กินยาไปเกิดอาการข้างเคียงแล้วบางคนก็ไม่ได้อยู่นานขึ้นนะ ผมว่ามันต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง

“เพราะฉะนั้นถ้าจะให้สรุปเอาแบบกลางๆ นะครับ ก็คือ รักษาพยาบาลสายปัจจุบันตามที่หมอสั่งก่อน แล้วถ้าไม่สามารถทำอะไรได้เพิ่มเติมแล้ว จะลองพิจารณาดูได้ แต่ต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่พูดไป ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย อาการข้างเคียงจากยา ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าที่จะต้องลงไป”

คุณออยถามต่อว่า หากมีคนไข้ที่อยากจะรักษาแผนทางเลือกไปด้วย คนไข้ควรจะต้องระมัดระวังเรื่องอะไรเป็นพิเศษบ้าง หรือว่าควรแจ้งข้อมูลอะไรบ้างให้กับคุณหมอที่รักษาแผนปัจจุบันทราบบ้าง
คุณหมอพงศธรตอบ “การฝึกสมาธิอะไรแบบนี้ก็ไม่เป็นไร คงไม่มีอาการข้างเคียงอะไรมากมายนะครับ แต่หลายครั้งการใช้ยาในรูปแบบต่างๆ อันนี้ถ้าไปถามหมอ ผมเชื่อว่า 99% หมอไม่เห็นด้วย แต่ถ้าคุณจำเป็น ก็รักษาคู่กันไป แต่ผมขอทราบว่ายาที่รับประทาน ที่ได้มาคืออะไรนะครับ เพราะบางครั้งมันอาจจะมีอะไรที่มันไปทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรือ Side Effects กับเรา หรือมันมีการเพิ่มยึด เสริมยึด ไปลดประสิทธิภาพของยาแผนปัจจุบัน สรุปถ้าคุณต้องทานจริงๆ ต้องบอกหมอที่รักษา อย่าไปอุ๊บอิ๊บทานเอง แล้วเป็นอะไรขึ้นมาแก้ไม่ทัน สารเคมียังไงก็มีอาการข้างเคียงไม่ว่ามากหรือน้อยครับ”

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

   มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในมะเร็งของระบบขับถ่าย มะเร็งปัสสาวะพบมากในเพศชาย ในช่วงอายุ 50-70 ปี เกิดจากเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อขึ้นมา ก้อนเนื้อนี้ สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และแผ่ขยายลุกลามออกไปยังอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงได้หากไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง

สาเหตุ
   สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง ปัจจัยที่สําคัญที่สุด คือ การสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่มี สารก่อมะเร็งที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและขับถ่ายออกทางกระเพาะปัสสาวะได้ การสูบบุหรี่จึงทําให้กระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ก็ยังมีผู้ที่ทํางานเกี่ยวกับสี และสารเคมีที่มีส่วนประกอบของสารอะนีลีน (aniline) หรือไฮโดรคาร์บอน เช่น สีย้อมผ้า สีย้อมผม อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและผู้บริโภคขัณฑสกร นอกจากนี้การระคายเคืองและการอักเสบเนื่องจากก้อนนิ่วหรือติดเชื้อพยาธิชนิดหนึ่งที่ชอบไข่อยู่ตามผนังในกระเพาะปัสสาวะจะกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุในทางเดินปัสสาวะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งขึ้น และผู้ที่เคยรักษามะเร็งอย่างอื่นด้วยวิธีการฉายแสงบริเวณเชิงกรานหรือด้วยเคมีบําบัด ก็เป็นสาเหตุชักนําให้เกิดโรคนี้ได้

อาการ
   อาการที่น่าสงสัยและผู้ป่วยควรจะรีบไปพบแพทย์คือ ส่วนใหญ่ปัสสาวะเป็นเลือดโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ถ้าเป็นรุนแรงอาจจะเป็นเลือดสดๆ ถ้าไม่รุนแรงอาจมีสี เหมือนน้ำล้างเนื้อ บางรายอาจมีเพียงปัสสาวะบ่อยและมีอาการปวดขณะเบ่งปัสสาวะ โดยปวดบริเวณท้องน้อยหรือปลายท่อปัสสาวะ ส่วนในระยะลุกลามจะมีอาการปวด และบางรายมีการอุดตันของท่อไตทําให้มีอาการของภาวะไตวายและปวดหลังได้ด้วย

การวินิจฉัย
   การวินิจฉัยแยกโรคเนื่องจากอาการดังกล่าวอาจจะเกิดจากโรคอย่างอื่นได้ เช่นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดังนั้นไม่ควรวิตกกังวลเกินไป ควรพบแพทย์ระบบปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยให้แน่นอน หลังจากแพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว จะให้เก็บปัสสาวะตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อพบมีเม็ดเลือดหรือเซลล์มะเร็งปะปนอยู่ ควรได้รับการตรวจโดยการส่องกล้องขนาดเล็กสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปสํารวจภายในกระเพาะปัสสาวะ โดยทั่วไปการตรวจดูด้วยกล้องมักบอกได้ค่อนข้างแน่นอนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ แต่ในกรณีที่สงสัยแพทย์ก็จะนําชิ้นเนื้อชิ้นเล็กๆ ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความจําเป็นต้องตรวจด้วยการถ่ายภาพ ทางรังสีกระเพาะปัสสาวะ หรือเครื่องตรวจอย่างอื่น เช่น เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นต้น

การรักษา
   การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยทั่วไปแล้วการรักษาประกอบด้วย เป็นน้อย ใช้การส่องกล้องตัด มักตัดออกได้หมดกรณีมีการลุกลามไปถึงผนังของกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะข้างเคียง การรักษาทําได้โดยการผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะพร้อมกับอวัยวะข้างเคียงส่วนที่มีโรคลุกลามไปออกจนหมด และตัดเอาบางส่วนของลําไส้มาดัดแปลงเป็นกระเพาะปัสสาวะให้ใหม่ ผู้ป่วยจะยังคงถ่ายปัสสาวะได้ปกติทางท่อปัสสาวะ แต่บางรายจําเป็นต้องมีปัสสาวะออกทางปลายลําไส้ที่นํามาเปิดออกทางหน้าท้อง และถ้าเป็นมาก ลุกลามไปมากกว่านั้นคงช่วยได้ทางเคมีบําบัดและรังสีรักษา

วิธีการป้องกัน
   1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ก่อนนอน เพราะจะมีการคั่งค้างของสารก่อมะเร็งอยู่ใน กระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน
   2. หากปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมสี ยาง และสายไฟฟ้าและพลาสติก ควรระวังขณะกินอาหารเพราะสีอาจติดมือปะปนอยู่ในอาหารได้ ฉะนั้นจึงควรล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารทุกครั้ง
   3. เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติโดยเฉพาะเมื่อมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ

รศ.นพ.ธวัชชัย ทวีมั่นคงทรัพย์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เป็นมะเร็ง ควรงดน้ำตาลและโปรตีนจริงหรือไม่

คำตอบจากคุณหมออุดมศักดิ์

“ถ้าให้ผมแนะนำคือ ยึดทางสายกลาง อะไรที่ไม่มีเลย งดทุกอย่างเลยก็ไม่ได้ หรืออะไรที่มากไปมันก็ไม่ดี มันเป็นหลักสากลคือ มะเร็ง เวลามันใช้เมตาบอลิซึม เพื่อสร้างพลังงาน มันใช้น้ำตาลจริงๆ แต่เซลล์ร่างกายเราก็ต้องใช้น้ำตาลด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราอดน้ำตาล มะเร็งก็ตายนะ เราก็ตายด้วย เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ถูกใช่ไหมครับ

โดยหลักการก็คือว่า เวลาเรารักษาให้ยาคีโมบำบัด สิ่งที่ร่างกายเราต้องการก็คือ 1. พลังงาน 2. การซ่อมแซมอวัยวะที่เสื่อมสลายไปในช่วงให้ยา 3. ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย สามอันหลักเป็นเรื่องที่สำคัญ พลังงาน มาจาก 3 แหล่ง คาร์โบไฮเดรตก็คือรวมพวกน้ำตาล โปรตีน และไขมัน โดยปกติเราจะแนะนำว่า ผู้ป่วยจะให้ทานโปรตีนเยอะขึ้น เพราะเป็นแหล่งให้พลังงาน แล้วลดน้ำตาลลง ถ้ากลัวเรื่องมะเร็งใช้น้ำตาล หรือเราให้ยาสเตียรอยด์ กับกลุ่มคนไข้โรคเลือดก็ทำให้ระดับน้ำตาลสูงได้ ก็ให้ทานแป้งและน้ำตาลน้อยลงหน่อย แล้วไปทานโปรตีนเพิ่มขึ้น นอกจากให้พลังงานแล้ว โปรตีนก็จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โปรตีนเราก็เลือกโปรตีนที่ดี ได้แก่ โปรตีนจากเนื้อปลา เวลาเราได้ยาอาจมีการย่อยลำบาก มีการอาเจียน พวกย่อยยากๆ โปรตีนจากเนื้อปลาเป็นโปรตีนที่ดี คุณภาพดี ให้พลังงาน ย่อยง่าย โปรตีนจากไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เป็นต้น อันนี้เป็นตัวช่วย โปรตีนก็ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายเราด้วย ไขมันก็เลือกไขมันดี พูดง่ายๆ ก็คือ การเลือกทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ แล้วก็ทานแบบสายกลาง ทานผลไม้ที่สะอาด ลดแป้งลงหน่อยถ้ากลัวมะเร็งจะกินน้ำตาล แต่อย่างที่ผมบอกถ้าเราลดลงเกลี้ยงก็จะตายไปพร้อมกันเลย”

มะเร็งลําไส้ใหญ่

   โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งของระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย ทั้งในเพศหญิงและชาย โดยเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดใน 5 อันดับแรกของมะเร็งทุกชนิดรวมกัน และยังเป็นมะเร็งที่มีอัตราการตายสูงในอันดับต้นๆ เช่นกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่
   ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการใดๆ จนเมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น จนมีขนาดพอสมควร จึงก่อให้เกิดอาการเริ่มต้น ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูกอย่างไม่มีเหตุผล ซีดอันสืบเนื่องมาจากการเกิดแผล และมีเลือดออกเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด ถ่ายกะปริดกะปรอย ปวดเบ่งหรือมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา บางครั้งก้อนอาจมีขนาดใหญ่มากจนสามารถคลําก้อนที่หน้าท้องได้ด้วยตนเอง และเมื่อก้อนลุกลามจนอุดกั้นทางเดินอุจจาระของลําไส้ใหญ่ ก็จะส่งผลให้เกิดการตีบตัน จนไม่สามารถถ่ายอุจจาระหรือผายลมได้ หากมิได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลําไส้อาจแตกทะลุได้

จะมีวิธีการตรวจหาว่าเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ได้อย่างไร
   การตรวจอย่างง่าย เช่น การตรวจหาการปนเปื้อนของเลือดในอุจจาระ เป็นการตรวจสุ่มเบื้องต้นอัน เป็นที่นิยม และหากพบผลบวกที่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของเลือดในอุจจาระ แพทย์ จะส่องกล้องตรวจเยื่อบุผนังลําไส้ใหญ่ภายในว่ามีแผลตุ่มผิดปรกติ หรือก้อนเนื้องอกอยู่หรือไม่ พร้อมทั้งสามารถเก็บชิ้นเนื้อขนาดเล็ก เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ อันเป็นการยืนยันการวินิจฉัย และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการรักษาต่อไป การตรวจพิเศษทางรังสีวิทยา เช่น การตรวจช่องท้อง หรือทรวงอกด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการช่วยประเมินตําแหน่งของก้อนเนื้องอกก่อนการผ่าตัด รวมทั้งระยะการลุกลามของโรคว่ามีต่อมน้ําเหลืองโต หรือโรคกระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ตับ และปอดหรือไม่ ส่วนการตรวจเลือด เป็นการประเมินสภาพความพร้อมของร่างกาย อีกทั้งการตรวจค่าโปรตีนบางชนิด เช่น ค่าซีอีเอ (CEA ย่อมาจาก carcinoembryonic antigen) ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือติดตาม หากมีการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ภายหลังการผ่าตัดได้

การรักษาโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่มีวิธีใดบ้าง
   การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักของโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปิดแผลแบบดั้งเดิม หรือการผ่าตัดผ่าน การส่องกล้อง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ลดความเจ็บปวด บาดแผลขนาดเล็กลง และใช้เวลาพักฟื้นที่สั้นกว่า นอกจากนั้น ยังมีการให้ยาเคมีบําบัดและการให้รังสีรักษา ซึ่งเป็นการรักษาเสริม ก่อนหรือหลังการผ่าตัด ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายไป

โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่เกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันหรือไม่
   จากการศึกษาพบว่า โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ส่วนมากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการบริโภค ได้แก่ การกินอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง ปริมาณเส้นใยอาหารต่ำ ร่วมกับการออกกําลังกายน้อย มีดัชนีมวลกายสูงกว่าปรกติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงนับเป็นความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ในขณะที่โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่น้อยกว่าร้อยละ 5 ที่เกิดมาจากปัจจัยการถ่ายทอดหรือโรคทางพันธุกรรม การป้องกันโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่จึงกระทําได้ด้วยการบริโภคอาหารที่มีปริมาณเส้นใยอาหารสูง ประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสัตว์ รวมทั้งหมั่นออกกําลังกายเป็นประจํา และหากมีความเสี่ยง เช่น มีบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวจํานวน 2 คนขึ้นไปเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมต่อไป

อ.ดร.นพ.วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาชนะใส่อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง สำคัญแค่ไหน?

คำตอบจาก รศ.นพ. ศรีชัย ครุสันธิ์ จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ครั้งที่ 4 ณ โรงพยายาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


“ในความเป็นจริงแล้วเรื่องอาหารก็มีส่วนในการเกิดมะเร็งหลายๆ อย่าง ทั้งในส่วนสุขภาพและภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะฉะนั้น ถ้าไปรับสารอาหารที่มีส่วนในการสนับสนุนที่ก่อให้เกิดมะเร็งก็ทำให้เป็นมะเร็งได้ และยิ่งเรากำลังรักษาอยู่แล้ว ยังรับสิ่งเหล่านั้นเข้าไปในร่างกาย นอกจากโรคมันจะไม่หาย และยังกลับคืนมาใหม่ได้อีก อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติของคนเราต้องการสารอาหารครบกลุ่ม ถ้าเราขาดสารอาหารก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันแย่ลง โรคมะเร็งก็จะลุกลามไปได้ อีกทั้งการทนต่อการรักษาเช่น ฉายแสง ทำคีโมก็จะแย่ลง”

ในส่วนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งโพรงมดลูก เราไม่แนะนำอาหารเช่น พวกอาหารที่มีไขมันสูง เพราะในไขมันมีคอเลสเตอรอล ซึ่งมีส่วนในการที่เอาไปสร้างฮอร์โมนทางเพศ นั่นคือ เอสโตรเจน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นอาหารพวกที่มันๆ ทอดๆ ก็ควรลดหรือหลีกเลี่ยง แต่ไม่ใช่ไม่ให้กินเลย เพราะว่าร่างกายต้องการไขมันเหมือนกันเพื่อไปใช้ในการสร้างพลังงาน


นอกจากอาหารแล้ว ยังมีบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับที่เจือปนมากับอาหาร ที่เป็นสารเคมี และยา ที่บางทีเราไม่รู้ตัว เช่น การกินยาคุมกำเนิด เป็นยาฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีเอสโตรเจนที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งโพรงมดลูกได้

“สารเคมีที่เจือปนมากับสิ่งที่เราทาน ยกตัวอย่าง เช่น ภาชนะที่เราใส่อาหารและน้ำที่เป็นพวกพลาสติกใส มันมีสารพวกโพลีคาบอร์เนต ซึ่งมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งหรือ BPA อยู่ สารพวกนี้จะละลายออกมาเมื่อโดนความร้อน เพราะฉะนั้นภาชนะที่เราใส่พวกน้ำ หรืออาหารในพลาสติกใส ถ้ามันโดนความร้อน สาร BPA มันจะละลายออกมา ถ้ามันเย็นๆ ไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าเราเอาไปตากแดด หรือต้มน้ำร้อนๆ กรอกใส่ลงไป แล้วเราไปกิน หรือเวลาเราไปร้านสะดวกซื้อ แล้วซื้ออาหารที่มันอยู่ในกล่องโฟม กล่องพลาสติก แล้วเอามาเข้าไมโครเวฟ พอโดนความร้อนมันก็ละลายออกมาในอาหาร เรากินเข้าไปมันก็สะสมๆ สุดท้ายเราก็อาจเป็นมะเร็งได้”

“สังเกตได้ว่ามะเร็งมดลูก เต้านมในบ้านเรา เมื่ออดีต 10 ย้อนหลังไปเจอน้อยมาก แต่พอ 10 ปีผ่านมาเนี่ยเพิ่มขึ้นเยอะ พอเรามาย้อนดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็จะเห็นว่ายุคปัจจุบันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนขวด หรือภาชนะต่างๆ เราใช้แก้ว แต่เดี๋ยวนี้แก้วหายาก ราคาแพง เก็บยาก สมัยนี้เราจึงใช้พลาสติกหมดเลย ไม่ว่าจะใส่น้ำ น้ำปลา น้ำมัน น้ำส้ม ใส่อาหารทุกอย่าง เราใช้พลาสติกหมดเลย ใช้แล้วก็โยนทิ้งไปเป็นขยะ 100 ร้อยปีกว่าจะสลาย บางทีใช้หมดแล้ว แล้วก็เสียดายเอาไปใช้ต่อ ใช้กรอกน้ำร้อนที่บ้าน แทนที่จะปล่อยให้มันเย็นก่อน เราก็จะได้รับสารนี้ปนเปื้อนมาได้”

แม้กระทั้งในเด็กเล็กทารก บางทีเราไปซื้อขวดนมแต่ขวดนมราคาถูกบางยี่ห้อเป็นขวดนมที่คุณภาพต่ำ ใช้วัสดุโพลีคาร์บอเนต เพราะฉะนั้นการใส่น้ำร้อนเพื่อชงนมให้ลูก ลูกก็จะได้สารนั้นตั้งแต่แบเบาะ สารพวกนี้มันเป็นสารคลายคลึงฮอร์โมน หากเด็กผู้หญิงได้รับฮอร์โมนเพศตั้งแต่เด็กๆ ก็จะโตก่อนวัย เจริญเติบโตได้ไม่ดี ตกไข่ มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ชายที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงตั้งแต่ตอนแบเบาะ โตขึ้นจะเป็นอย่างไร

“และอีกสารหนึ่งคือ สารฟอกสีที่เจือปนในน้ำ โดยเฉพาะในบ้านเรามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ที่เขาใช้สารฟอกสี หรือที่เรียกว่าไดออกซิน เช่น โรงงานทำผงซักฟอก โรงงานย้อมผ้า โรงงานทำเยื่อกระดาษ พอปล่อยลงท่อระบายน้ำเข้าไปในแม่น้ำลำคลอง เราเอาน้ำนั้นมาใช้ เราก็จะได้รับสารพวกนี้ แล้วสารพวกนี้มันไม่สลาย เอาไปต้มไม่สลาย เอามากรองก็ไม่ออก มันคงตัว ซึ่งสารตัวนี้ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งตับได้ สังเกตว่าในขอนแก่นคนเป็นมะเร็งตับเยอะที่สุด อัตราการเป็นมะเร็งตับในโลกประมาณ 80 ต่อ 100,000 คน แต่ขอนแก่น 180 : 100,000 คน เยอะมากเพราะว่าสารไดออกซินตัวนี้แหละ เพราะฉะนั้นเนี่ย เราก็ต้องระมัดระวัง ทั้งเรื่องอาหาร ภาชนะและน้ำที่ ต้องพิถีพิถันหน่อยครับ”

มะเร็งต่อมลูกหมาก

ในชายวัยทองที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่สําคัญของระบบสืบพันธุ์ชาย ซึ่งมีรูปร่างคล้ายๆ กับลูกเกาลัด มีขนาดกว้าง 3-4 เซนติเมตร เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโตขึ้นและมี โอกาสเกิดมะเร็งได้มากขึ้นตามลําดับ พบว่าชายในประเทศที่มีการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง จะพบอุบัติการณ์เกิดขึ้นมาก เช่นในแถบประเทศตะวันตก ส่วนในประเทศไทยนั้นจะพบมากขึ้น ในปัจจุบัน มะเร็งต่อมลูกหมากจะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ในระยะที่ 1 และ 2 นั้น มะเร็งจะยังอยู่ในต่อมลูกหมาก ซึ่งจะยังไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะที่ 3 มะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และเริ่มจะลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลําบาก เบ่งปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะเป็นเลือดได้ ในระยะที่ 4 มะเร็งจะลุกลามไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองและกระดูก ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามกระดูกและข้อ น้ำหนักลด หรือเป็นมากๆ อาจจะทําให้เป็นอัมพาตจากการหักของกระดูกสันหลังได้

แนวทางการวินิจฉัยโรค
โดยทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือการค้นพบผู้ป่วยที่เป็นโรคในระยะแรก เพื่อหวังผลในการรักษาให้หายขาด มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะว่าถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะหลังคือระยะ 3 และระยะ 4 นั้น อาจจะช้าเกินไป เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ การรักษาในระยะ 3 และ 4 จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยาวนานที่สุด ดังนั้นสิ่งที่สําคัญที่สุดคือ การวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ ในผู้ป่วยให้ได้โดยการตรวจเช็คต่อมลูกหมากจากแพทย์ เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆ จะไม่มีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะใดๆ วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีการตรวจด้วยกัน 2 แบบคือ

  1. การเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) ในปัจจุบันมีสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากหลายตัว แต่ตัวที่ดีที่สุดคือ PSA (Prostate-specific antigen) สารชนิดนี้จะถูกผลิตออกมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงสามารถวัดค่าได้โดยการเจาะเลือด ถ้าระดับของ PSA ในเลือดสูงกว่าปกติก็จะมี โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ที่สําคัญคือชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูก หมากในระยะต้นๆ คือระยะ 1 หรือระยะ 2 ที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้นั้นจะแสดงผล PSA ที่ผิดปกติโดยที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการแสดงออกใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ารอให้มีอาการต่างๆ และค่อยมาพบแพทย์นั้น มะเร็งที่ค้นพบอาจจะลุกลามไปมากแล้ว ดังนั้นการเจาะเลือดหาค่า PSA นี้จึงเป็นสิ่งสําคัญ ซึ่งสามารถเจาะได้ในโรงพยาบาลทั่วๆ ไป
  2. การตรวจทางทวารหนัก (Digital rectal examination) หรือเรียกย่อๆ ว่า DRE โดยแพทย์จะทําการตรวจต่อมลูกหมากโดยใช้การตรวจทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลํารูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก ใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที หากเป็นมะเร็งมักคลําได้ก้อนแข็ง
    ถ้าการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือการตรวจทั้ง 2 อย่าง มีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ผู้ป่วยควรจะต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาว่าเป็น มะเร็งจริงหรือไม่
    ในปัจจุบันการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทําได้โดยง่าย โดยการใช้เครื่องมือ อัลตราชาวน์ของต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก แล้วตัดเนื้อไปตรวจด้วยเข็มที่มีขนาดเล็ก การตัดเนื้อวิธีนี้ไม่จําเป็นต้องดมยาสลบแต่อย่างใด เมื่อทําเสร็จแล้วก็สามารถกลับบ้านได้

การรักษา
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก การรักษาขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์อยู่ในระยะใด ถ้าอยู่ในระยะต้นๆ คือระยะ 1 หรือระยะ 2 ก็มีโอกาสใช้วิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์อยู่ในระยะที่ลุกลามไปแล้ว การรักษาก็จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะทําให้มีชีวิตได้ยาวนานที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้น (ระยะ 1 หรือระยะ 2) ทําการรักษา ได้ 2 วิธี คือ

  1. การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด หรือที่เรียกว่า Radical prostatectomy เป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่เป็นมาตรฐานและได้ผลการรักษาที่ดีวิธีหนึ่ง ที่สําคัญคือผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ โดยเฉพาะระยะ 1 และระยะ 2 โดยทั่วไปการผ่าตัดมักจะทําในผู้ป่วยที่มีอายุไม่เกิน 70 ปี จะได้ผลการรักษาดีมาก แต่ถ้าผู้ป่วยอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป แพทย์จะดูสภาวะอื่นๆ ของผู้ป่วยแล้วใช้ดุลยพินิจในการรักษาให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วย ผลข้างเคียงของการผ่าตัดคือ ผู้ป่วยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะบ้าง ปัจจุบันในประเทศไทยมีการผ่าตัด Radical Prostatectomy กันมากขึ้น
  2. การฉายรังสี หรือฝังแร่ในต่อมลูกหมาก เป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่ง ทําโดยใช้รังสีไปทําลายเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก ผลข้างเคียงคือ จะเกิดการระคายเคืองของเยื่อบุผิวของกระเพาะปัสสาวะ หรือเยื่อบุผิวของลําไส้ตรงจะทําให้มีปัสสาวะเป็นเลือดเป็นครั้งคราว ปัสสาวะลําบาก หรือมีอุจจาระเป็นเลือด อุจจาระลําบากได้
       การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลาม (ระยะ 3 หรือระยะ 4) มีหลายวิธีด้วยกัน โดยหลักการรักษาคือการลด hormone เพศชาย ซึ่งเป็นตัวสําคัญที่กระตุ้นเซลล์ของมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง หรือ การได้ยาลด hormone ต่าง ๆ
       แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแบบใหม่นี้ทําให้เกิดการค้นพบมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ ในชายไทยได้ และสามารถรักษาเพื่อหวังผลให้หายขาดได้ ในปัจจุบันมีชายไทยที่มีความสนใจสุขภาพมารับการตรวจมากขึ้น ทําให้ค้นพบจํานวนของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ มีจํานวนมากขึ้น และได้รับการรักษาในระยะต้นมากขึ้นโดยการผ่าตัด ซึ่งทําให้ชายไทยมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากขึ้น

รศ.นพ.สุนัย ลีวันแสงทอง
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

มะเร็งผิวหนัง : ความรู้พื้นฐานสำหรับประชาชน

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563

มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยประมาณร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด แต่เกิดได้ในทุกช่วงอายุ มะเร็งผิวหนังเกิดจากเซลล์ผิวหนังมีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติ แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ Melanoma และ Non-Melanoma มะเร็งชนิด Non-Melanoma เป็นมะเร็งที่พบบ่อยสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณศีรษะ ใบหน้า ลำคอ หลังมือ แขน และขา เป็นต้น มะเร็งชนิดนี้ส่วนใหญ่จะไม่แพร่กระจาย และลุกลามช้า ทำให้ง่ายต่อการรักษา พบได้บ่อย 2 ชนิด ได้แก่ “basal cell carcinoma” และ “squamous cell carcinoma”

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง แต่คาดว่าส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการได้รับแสงแดดเป็นเวลานานและยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • การสัมผัสแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง UVA และ UVB เป็นเวลานาน
  • การสัมผัสสารเคมี เช่น สารหนูที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ
  • การเป็นแผลเป็นเนื่องจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • สีผิวที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังในผู้ป่วยที่มีสีผิวขาวและถูกแดดไหม้ได้ง่าย
  • มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
  • มีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่าผู้ที่มีผิวสีคล้ำ
  • มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง

อาการ

อาการของมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อย คือ การมีไฝที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ การมีตุ่มหรือก้อนเนื้อขอบแผลขรุขระ หรือแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง แผลที่เป็นนาน ๆ รักษาไม่หายอาจกลายเป็นมะเร็งได้ เมื่อโรคลุกลามอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงกับผิวหนังส่วนที่เป็นโรคโตจนคลำได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการซักประวัติการได้รับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วย ตลอดจนการสังเกตความผิดปกติของผิวหนังโดยการตรวจลักษณะของรอยโรค สี ขนาด และขอบ/รูปร่างของผิว ตลอดจนการตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง ส่วนการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค (ก้อนเนื้อ แผล หรือไฝ) เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

การรักษามะเร็งผิวหนัง

ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่งของมะเร็ง ซึ่งอาจดำเนินการได้หลายวิธีตามดุลพินิจของแพทย์ ได้แก่

  • การผ่าตัด มีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดด้วยวิธี Mohs micrographic surgery (MMS) มักใช้เมื่อมะเร็งเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่สามารถใช้วิธีรักษาแบบอื่นได้ หรือมะเร็งที่เกิดขึ้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายสูง ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดใดนั้นแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
  • การฉายรังสี จะใช้รักษามะเร็งผิวหนังในกรณีที่ขนาดของมะเร็งมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่าตัดออกหมด หรืออยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ บางครั้งก็ใช้กับผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
  • รักษาแบบ Photodynamic – เป็นการใช้แสงเลเซอร์ความเข้มสูงฉายลงไปบริเวณที่เป็นมะเร็ง โดยก่อนฉายแสงจะต้องทาตัวยาลงไปก่อน

การป้องกันมะเร็งผิวหนัง

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลากลางวัน (ช่วงเวลา 10.00 – 16.00 น.)
  • ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดทุกครั้ง หากต้องออกไปอยู่กลางแดด สวมหมวกที่มีปีกกว้างเพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณศีรษะ ใบหน้า และคอ หรือใช้ร่มที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้
  • ควรตรวจร่างกายตนเองเป็นประจำ ถ้ามีแผลเรื้อรัง เช่น แผลเป็นไฟไหม้น้ำร้อนลวกควรรีบรักษา
  • หมั่นสังเกตไฝหากมีเปลี่ยนแปลงผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตัดออกและส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

ผู้ป่วยมะเร็งสามารถดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ไหม?

คำตอบจากแพทย์หญิง กุลธิดา มณีนิล จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 7

“กาแฟทานได้แม้แต่ช่วงที่ให้ยาเคมีก็ทานได้ค่ะ ส่วนเรื่องแอลกอฮอล์ เนื่องจากช่วงที่ให้ยาเคมีจะทำให้มีการระคายเคืองบริเวณช่องปาก เยื่อบุ ตลอดจนทางเดินอาหาร ซึ่งพวกกลุ่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ เหล้า พวกนี้จะทำให้มีการระคายเคือง ช่วงให้ยาจึงไม่ไม่แนะนำให้ดื่มค่ะ

หากจบการรักษาแล้ว ก็จะเป็นลักษณะการดื่มเพื่อเข้าสังคมก็สามารถทานตามโอกาสได้ แต่ตัวแอลกอฮอล์จริงๆ ก็ไม่ได้มีประโยชน์มาก จึงไม่แนะนำ แต่ก็สามารถดื่มในปริมาณที่เหมาะสมได้ค่ะ”