3 อาการเตือนที่บอกว่าผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤติ มีอะไรบ้าง?

คำตอบจากคุณหมอฆริกานต์ ในงานเสวนา “พลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง” ครั้งที่ 7 ที่รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

“จริงๆ แล้วเซลล์มะเร็งก็เหมือนเป็นเซลล์หนึ่งในร่างกายค่ะ ยาเคมีบำบัด ที่เขานำมาใช้กับคนไข้ เป้าหมายหลักคือ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกไป แต่มันอาจจะมีผลบางส่วนที่กระทบกับร่างกายเรา เช่น เรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วงที่คนไข้ให้เคมีบำบัด เป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันบางตัวจะถูกกดไปด้วย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุหลักเลยที่ทำให้คนไข้โรคมะเร็ง
ไม่ว่าจะระยะไหนก็ตามต้องเข้ารับการรักษาตัวใน icu เพราะมีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาต่างๆ โดยที่มีวิธีสังเกตอาการได้ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้การติดเชื้อรุนแรงมากได้ เช่นการสังเกต

1. อุณหภูมิร่างกาย ถ้าเราผ่าตัดมา คนไข้ควรจะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งเรารู้สึกปวดแผล มีไข้ ก็เป็นสัญญาณหนึ่งว่า ผิดปกติ กรณีที่คนไข้ไม่ได้ผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัดทั่วไป ก็จะสังเกตได้จาก ไข้ โดยทั่วไป คนที่ภูมิคุ้มกันต่ำจะไม่ค่อยมีไข้ ถ้ามีไข้ขึ้นมาถือว่าผิดปกติเช่นกัน ในทางแพทย์ถ้าอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.8 จะต้องเริ่มเฝ้าระวังว่าเราจะอาจจะมีอาการติดเชื้อแทรกซ้อนอยู่

2. ลักษณะการหายใจ สมมุติมีอาการหายใจเร็วหรือหายใจเหนื่อยหอบ ซึ่งบางทีคนไข้อาจจะไม่รู้ตัว แต่ว่าคนรอบข้างที่เป็นผู้ดูแลจะเป็นคนสังเกต อย่างเช่น เดิมเราเป็นคนพูดได้จบประโยค พูดเร็วๆ ไม่เหนื่อยเลย อยู่มาวันหนึ่งพูดได้ 2-3 คำก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว อันนี้ก็บ่งบอกได้ว่า การหายใจเราอาจจะมีปัญหา

3. ระดับความรู้สึกตัว คนไข้มีอาการซึมลง ไม่ตอบสนอง หรือมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อยลง เหล่านี้ก็เป็นอาการที่ควรเฝ้าระวังที่อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาล ”