มะเร็งกระเพาะอาหาร

   มะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ประมาณ 1,000 รายต่อปี หรือพบเป็นอันดับ 8 ของมะเร็งทั้งหมด โดยมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอริ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหาร เรื้อรังคลื่นไส้อาเจียนน้ำหนักลด ถ้าอาการเป็นมากขึ้นอาจมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดํา จนกระทั่งมีอาการซีด อ่อนเพลีย หน้ามืดวิงเวียนได้

การวินิจฉัย
   ทําโดยการกลืนแป้งเพื่อเอกซเรย์ดูผิวกระเพาะหรือการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งทั้งสองวิธีจะตรวจพบผิวกระเพาะขรุขระเป็นแผลหรือมีการหนาตัวขึ้นผิดปกติ บางครั้งรอยโรคอาจแยกกับแผลโรคกระเพาะทั่วไปได้ยาก การส่องกล้องและส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อผิวกระเพาะเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาจึงจําเป็นเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
   สําหรับประชาชนทั่วไปที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น แม้จะยังไม่มีอาการก็ควรได้รับการส่องกล้องเพื่อเป็นการตรวจคัดกรอง (Screening test) ซึ่งหากพบมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกสามารถทําการรักษาโดยการส่องกล้องซึ่งได้ผลดี มีผลแทรกซ้อนต่ำ และหวังผลหายขาดได้ดังจะกล่าวต่อไป

การประเมินก่อนการรักษา
   เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร การประเมินเพื่อจะทําการรักษาประกอบด้วยการประเมินสภาพร่างกายทั่วไป และประเมินสภาพของเนื้องอก
   การประเมินสภาพร่างกายทั่วไปประกอบด้วยการตรวจเช็คความแข็งแรงของการทํางานของหัวใจและปอด การตรวจเช็คเลือดทั่วไปและระดับสารอาหารในร่างกาย ซึ่งจะมีผลต่อการรับการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบําบัด การประเมินระยะของมะเร็งเพื่อดูระยะการลุกลามของเนื้องอกที่ผนัง กระเพาะและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบๆ กระเพาะจนกระทั่งการกระจายในช่องท้อง โดยใช้การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

การรักษา
   การรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะของเนื้องอก ซึ่งประกอบด้วยความลึกของเนื้องอก การกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆ กระเพาะ และการกระจายไปอวัยวะที่ห่างจากกระเพาะ
   มะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้นหรือระยะที่ 1 คือมะเร็งที่กินลึกเพียงชั้นผิว ไม่ลึกถึงกล้ามเนื้อกระเพาะ ซึ่งเนื้องอกระยะนี้พบน้อยในประเทศไทย เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่มีอาการ และประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะเป็นๆ หายๆ หรือรักษาโรคกระเพาะเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรก มีโอกาสกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองต่ำ ดังนั้นการรักษามะเร็งในระยะนี้สามารถทําได้โดยการตัดเพียงเนื้องอกที่ผิวกระเพาะ โดยการส่องกล้องจึงเพียงพอและสามารถหวังผลหายขาดได้
   มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 2 และ 3 หรือมะเร็งระยะลุกลาม คือระยะที่มะเร็งมีความลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือผิวด้านนอกของกระเพาะอาหาร มะเร็งที่มีความลึกระดับนี้จะมีโอกาสกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น การรักษาหลักคือ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเอาส่วนที่เป็นมะเร็ง และเลาะต่อมน้ำเหลืองที่อยู่แวดล้อมกระเพาะอาหารออก ร่วมกับการให้ยาเคมีบําบัดหลังผ่าตัด
   มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 4 หรือมะเร็งระยะสุดท้าย คือมะเร็งที่มีการกระจายออกไปยังอวัยวะที่ห่างจากกระเพาะ หรือไม่ได้ติดต่อกับกระเพาะอาหารโดยตรง การรักษามะเร็งในระยะนี้ แม้จะตัดกระเพาะ เลาะต่อมน้ำเหลือง ให้ยาเคมีบําบัดต่อ ก็มักไม่ได้เพิ่มความยืนยาวของอายุผู้ป่วยแต่อย่างใด แนวโน้มจึงเป็นการรักษาเพื่อการประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ความรู้ที่สําคัญ
   การตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกมีความสําคัญมาก หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือ มีอาการโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังเกิน 2 เดือน อาจจะมีน้ำหนักลด หรือมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะหากตรวจพบในระยะเริ่มแรก การรักษาก็จะได้ผลดีมีผลแทรกซ้อนต่ำ และหวังผลหายขาดได้

อ.ดร.นพ.จิรวัฒน์ สว่างศรี
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล