มะเร็งตับอ่อน

ความสําคัญ
   มะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก ไม่จัดอยู่ในโรคมะเร็งที่พบบ่อย 10 อันดับแรก แต่เป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคสูงเป็นอันดับ 4 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมด ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนมากไม่มีอาการ หรือมีอาการที่ไม่จําเพาะ ทําให้วินิจฉัยได้ช้า ผู้ป่วยส่วนมากได้รับการวินิจฉัยในระยะที่โรคลุกลามไปแล้ว ทําให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผลการรักษาในปัจจุบันยังไม่ดีนัก ทําให้ผู้ป่วยส่วนมากเสียชีวิตจากตัวโรคเอง

สาเหตุ
   โรคมะเร็งตับอ่อนยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่
   1. อายุที่สูงขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น โดยทั่วไปมักพบในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป
   2. การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลายชนิดรวมทั้งมะเร็งตับอ่อนด้วย
   3. โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
   4. พันธุกรรมบางชนิดที่ส่งผลให้มีเนื้องอก และ/หรือมะเร็ง

อาการและอาการแสดง
   ผู้เป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ไม่มีอาการและอาการแสดงเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค อาการมักเกิดหลังโรคลุกลามแล้ว โดยอาการที่พบได้แก่ อาการปวดท้องใต้ลิ้นปี่ ซึ่งมักปวดไม่รุนแรงในระยะแรก อาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วย ถ้าเป็นมะเร็งที่ส่วนหัวของตับอ่อน ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) จากการที่ก้อนเนื้อมะเร็งกดเบียดท่อน้ำดี อาการคันตามตัวทั่วๆ ไป ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง โดยไม่มีสาเหตุ

การวินิจฉัย
   โรคมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคมะเร็งที่วินิจฉัยได้ยาก เพราะอาการ และอาการแสดงไม่เฉพาะเจาะจง การซักประวัติและการตรวจร่างกายไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ ต้องอาศัยการตรวจพิเศษทางรังสีวิทยา โดยในเบื้องต้นอาจใช้อัลตราซาวด์ แต่การตรวจที่จําเป็นต้องใช้ในการวินิจฉัย (และใช้ในการวางแผนการรักษา) คือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และ/หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) นอกจากนี้อาจมีการเจาะเลือดหา

การรักษา
    การผ่าตัดเป็นการรักษาที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด แต่ผู้ป่วยส่วนมากมาพบแพทย์ในระยะที่โรคลุกลามไปมากแล้ว ทําให้ไม่สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดได้ มีเพียง 15-20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเท่านั้นที่สามารถผ่าตัดได้ ในกรณีที่โรคลุกลามไปแล้ว อาจพิจารณารักษาด้วยการให้เคมีบําบัดร่วมกับรังสีรักษาในบางราย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีซ่านอาจให้การรักษาด้วยการส่องกล้องเพื่อขยายท่อน้ำดี และใส่ท่อระบายน้ำดี ซึ่งจะทําให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลการรักษา
   ผลการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนยังไม่ดีนัก ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยส่วนมากมักเสียชีวิตใน 4-6 เดือน ในกรณีที่ผ่าตัดได้ก็ยังมีโอกาสกลับเป็นใหม่ของโรคได้ อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปีประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์

ความเชื่อผิดๆ
   ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งได้แก่ CEA และ CA19-9 การตรวจนี้ไม่แนะนําสําหรับบุคคลทั่วไป เนื่องจากมะเร็งตับอ่อนพบได้น้อย นอกจากนี้การตรวจ CEA และ CA19-9 เป็นการตรวจที่ไม่ไวพอ ผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งระยะท้ายโดยที่ผลเลือดปกติก็ได้ ในทางตรงกันข้ามอาจมี CEA และ CA19-9 สูงกว่าปกติโดยที่ไม่เป็นมะเร็งก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ ต้องได้รับการตรวจอีกมากมายจนกว่าจะสามารถบอกได้ว่าไม่เป็นมะเร็ง ทําให้เสียเงิน เสียเวลา และได้รับความเสี่ยงจากการตรวจ และที่สําคัญที่สุด ทําให้ต้องวิตกกังวลอย่างมากโดยไม่จําเป็น

ผศ.นพ.สมชัย ลิ้มศรีจำเริญ
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล