เป็นมะเร็งแล้ว เบื่ออาหาร ทานลำบาก ทำยังไง?

คำตอบจาก รศ.นพ. ศรีชัย ครุสันธิ์ และ พญ. กิตต์วดี ศักดิ์ศรชัย จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ครั้งที่ 2 และ 4

“ช่วงที่รักษา การให้ยาเคมี หรือ ฉายรังสีบริเวณกว้างๆ เราจะพบว่าเม็ดเลือดขาวจะต่ำ ซึ่งเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ในการต่อสู้และปกป้องสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายและ เชื้อโรค รวมถึงการทำลายเซลล์มะเร็ง ภูมิคุ้มกันร่างกายจึงมีความสำคัญ ในช่วงจังหวะที่เราฉายแสง ให้ยาเคมี จึงต้องดูแลสุขภาพ การทานอาหารและสุขอนามัยให้ดี เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน”

“ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างรักษา เช่น การฉายแสงทำให้มีอาการกลืนยาก น้ำลายขม น้ำลายแห้ง และมีอาการเบื่ออาหาร เนื่องจากการฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะที่ ถ้าฉายรักษาตรงส่วนไหนก็จะมีอาการเฉพาะตรงนั้น เช่น ถ้าฉายตรงปาก ลำคอ ก็มีจะอาการคอแห้ง เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ไม่รู้รสชาติ ถ้าฉายที่ท้อง บางทีจะมีอาหารท้องเสีย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

ดังนั้นลักษณะอาหารที่เราควรทานจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เราจะฉาย เช่น การฉายบริเวณปากและคอ พอฉายไปสักประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาหารที่เราแนะนำก็จะเป็นอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด สุกสะอาด และการทานอาหารไม่จำเป็นต้องทานเป็นมื้อใหญ่ๆ เพราะในคนที่อยู่ในระหว่างรักษา ความรู้สึกอาหารจะน้อย แล้วบางคนมีอาการคลื่นไส้ พอทานเข้าไปเยอะๆ แล้วก็อาจจะอาเจียนออกมา จึงต้องทยอยทาน และต้องครบหมู่ หรือเปลี่ยนวิธีการทานอาหารจาก 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น เป็นทานบ่อยๆ แต่ได้ปริมาณที่เท่ากัน หมั่นคอยสังเกตตัวเองว่า มื้อไหนทานได้เยอะ เช่น บางคนตื่นเช้ามาทานได้เยอะ แต่พอช่วงเที่ยง ถึงเย็น เริ่มคลื่นไส้ ก็จะไปเน้นมื้อเช้าเป็นมื้อหลักที่ทานเยอะ และก็จะมีอาหารบางอย่างที่ช่วยชูรสได้เช่น อาหารเปรี้ยวๆ ทำให้น้ำลายไหล และทานได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่กลืนลำบาก นอกจากโจ๊ก ข้าวต้ม สามารถเลือกทานอาหารที่กลืนง่ายและเย็น เช่น เจลลี่ ก็ให้พลังงานได้เช่นกัน”

“อย่างบางรายที่รักษาทางปาก ก็จะมีการใส่สาย หรือ อาหารเหลว อาหารเสริมให้ครบหมู่ และหลากหลาย สุก สะอาด ปัญหาอยู่ที่บางครั้ง ญาติบางคนกดดันคนไข้มากเกินไป ห้ามกินไข่ ห้ามกินน้ำตาล จนคนไข้ไม่อยากกินอะไรเลย

บางคนชอบทานส้มตำ ซึ่งมีปลาร้าที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ทำให้เป็นโรคไตได้ เพราะคนกินอาหารเค็มกันเยอะ เพราะฉะนั้นต้องหมุมเวียนให้หลากหลาย อีกอย่างแหล่งที่มาอาหารมักมีสิ่งเจือปน ปรุงแต่ง ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าเรากินซ้ำเหมือนเดิม มันก็จะสะสม แต่ถ้าเราหมุนเวียนไป โอกาสที่สะสมก็น้อยเพราะกินไป ก็ขับถ่ายไป”

เมื่อมีผู้ป่วยถามถึง ไขมันปลา สามารถทานได้หรือไม่ อาจารย์ศรีชัยได้ให้ความรู้เพิ่มเติม

“ไขมันมีทั้งไขมันดี และไม่ดี แต่ไขมันบางอย่างพอไปผ่านกระบวนการเช่น ปิ้งย่าง จะกลายสภาพเป็น คาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ไขมันจากปลาส่วนใหญ่เป็นไขมันดี แต่จริงๆเราไม่จำเป็นต้องกินส่วนพุงของมัน เพราะร่างกายเราไม่ได้ต้องการไขมันเยอะขนาดนั้น คนป่วยต้องการกินอะไรที่ย่อยง่าย จริงๆเนื้อสัตว์ หมู ไก่ กินได้ แต่บางทีเนื้อไก่มีการฉีดสารเร่ง กลายเป็นตัวกระตุ้น ดังนั้นขอให้สุกไว้ก่อน อันไหนที่ผ่านการปรุงแต่ง เช่น เอาไปหมัก รมควัน พวกนั้นจะมีการใส่สารปรุงแต่ง เช่น ไนไตรด บอเร็กซ์ เราควรหลีกเลี่ยง หรือ ทานให้พอลิ้มรส สักคำสองคำ

เมื่อถามถึงการดื่มซุบไก่สกัด อาจารย์เสริมว่า “ถ้าพูดถึงคุณค่าอาหารจริงๆ แล้ว โปรตีนจากซุบไก่ยังสู้นมกล่องหนึ่งไม่ได้ แต่เป็นวัฒนธรรม หรือค่านิยมที่ว่าของแพงต้องดี แต่อย่างในคนสูงอายุก็ไม่ควรทานนมที่ไขมันเยอะ ควรเลือกที่เป็นพร่องไขมัน เพราะจะได้ทั้งโปรตีน และแคลเซียมบำรุงกระดูกด้วย หรือแม้กระทั่งในนมถั่วเหลืองก็มีโปรตีนบำรุงร่างกาย เพราะมีเอสโตรเจนที่เป็นเหมือนฮอร์โมนที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ความเป็นจริงแล้วเอสโตรเจนของพืช เป็นสารต้านมะเร็งเต้านม มีฤทธิ์เหมือนยาต้านมะเร็ง มีงานวิจัยที่พบว่าชนชาติที่กินเต้าหู้มีโอกาสเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม น้อยกว่าชนชาติที่ไม่กินถึงครึ่งหนึ่ง”

คุณเบลล่าพิธีกรได้กล่าวทิ้งท้าย “ผู้ป่วยควรกินให้เป็นหน้าที่ หน้าที่เราคือ รักษาร่างกายให้สู้กับยาได้ สิ่งสำคัญคือ การกินให้มีความสุข และมีวินัยในการกิน”