ธีระ บางศรัณย์ทิพย์ จากผู้ป่วยติดเตียงสู่นักเดินทางรอบโลกที่มีแผนจะก้าวข้ามข้อจำกัดในทุกทริปที่ไป

ปี พ.ศ. 2548 วันนั้นเป็นวันที่ ธีระ บางศรัณย์ทิพย์ จะต้องสอบปลายภาควันสุดท้ายของชั้นมัธยม 2 พอดี เขาอายุ 14 เรียนห้องคิง มีผลการเรียนติดอันดับ 1 ใน 5 ของชั้นเรียน และเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขันวิชาการสม่ำเสมอ ว่ากันตามตรง เส้นทางการศึกษาที่มุ่งสู่อาชีพของเด็กหนุ่มทั้งก้าวหน้าและสดใส ขึ้นอยู่กับเขาเท่านั้นที่อยากเรียนอะไร

แต่นั่นล่ะ ปราศจากซึ่งเค้าลางใด ในขณะที่ธีระกำลังจะเข้าสอบ จู่ๆ เขาก็รู้สึกปวดท้องอย่างหนัก จนต้องขอให้เพื่อนพยุงเขาไปส่งที่ห้องพยาบาลและถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ที่ซึ่งคุณหมอได้เอ็กซ์เรย์และพบเนื้องอกในอัณฑะข้างขวา…

ธีระต้องหยุดการเรียนไว้ชั่วคราว เพื่อเข้ารับการรักษา ‘มะเร็งกล้ามเนื้อลาย’ (Rhabdomyosarcoma) ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกและทำเคมีบำบัดแบบ short stay ถึง 48 ครั้งตลอดหนึ่งปี ซึ่งเป็นหนึ่งปีที่เขาต้องทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียงของยา; อาเจียนบ่อยเสียจนเป็นเรื่องธรรมดา, ปลายประสาทชา และหนักจนถึงไม่สามารถเดินได้เอง กุมภาพันธ์ปี 2549 เขาก็จบสิ้นกระบวนการเคมีบำบัด เด็กหนุ่มกลับมาสอบเทียบจนจบมัธยม 2 เขากลับเข้าชั้นเรียนมัธยม 3 ด้วยการนั่งวีลแชร์ ก่อนที่ร่างกายจะค่อยๆ ฟื้น จนสามารถใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดินในชีวิตประจำวัน

เรื่องราวดูเหมือนจะดี แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากธีระเรียนได้หนึ่งเทอม ช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม จู่ๆ เขาก็รู้สึกเจ็บปวดกระดูกไปทั้งร่างกาย เจ็บปวดในแบบที่ไม่สามารถขยับตัวได้ เขาเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูถึงหนึ่งเดือน ตลอดช่วงเวลานั้น คุณหมอให้มอร์ฟีนระงับอาการปวดแก่เขาทุกทาง แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปยังไขกระดูกของเขาและส่งผลให้ร่างกายท่อนล่างเป็นอัมพาต

“ชีวิตวัยรุ่นผมหายไปเลยตั้งแต่ตอนนั้น” ธีระกล่าว เขาจำได้ดีถึงช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต

“ผมเป็นคนไข้ติดเตียง 3 ปี ต้องให้อาหารผ่านสายน้ำเกลือ ชีวิตมีแค่อยู่บนเตียงที่บ้าน แอดมิทที่โรงพยาบาลรามา และเข้าออกห้องตรวจ MRI และ CT Scan วันเว้นวัน เพราะมะเร็งกระดูกมันไม่เพียงทำให้กระดูกบางส่วนหาย แต่ยังส่งผลให้ไตวาย มีน้ำท่วมปอด และติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย…” เขาเว้นวรรค “ตอนนั้นเรียกได้ว่าตายเลยง่ายกว่า…”

แต่ธีระก็รอดมาได้ เหมือนนกฟินิกซ์ที่มอดไหม้ในกองเพลิงเพื่อเกิดใหม่ ธีระไม่เพียงกลับมาเดินได้ แต่เขายังเคยร่วมประกวดนายแบบของฟิตเนสเจ้าดังระดับประเทศจนเข้ารอบสุดท้าย ก่อนออกเดินทางด้วยตัวคนเดียวไปทั่วโลก บทความนี้ไม่ได้พยายามขุดคุ้ยความทรงจำอันเลวร้ายของเขา แต่เราอยากพาไปรู้จักอดีตเด็กชายที่โชคร้ายที่สุด หากปัจจุบันเขาก็เป็นชายหนุ่มวัย 29 ที่เข้มแข็งที่สุดคนหนึ่งที่เราเคยรู้จัก และนี่คือเรื่องราวของเขา

ผู้ป่วยมะเร็งเขามักจะมีสถิติให้จดจำกันว่าฉายแสงกี่ครั้งหรือทำเคมีบำบัดกี่เข็ม แต่คุณบอกว่าไม่เคยนับเลย

จำตัวเลขชัดเจนตอนเป็นมะเร็งอัณฑะครั้งแรกคือ 48 เข็ม แต่มาครั้งที่สองที่ทำแบบ high dose นี่หนักมาก เพราะมะเร็งมันกระจายไปทั่วตัวจริงๆ กระดูกสันหลัง 7 ซี่ สะโพก 2 ข้าง ตรงปอดก็มี เราต้องใช้เวลา 5 วันต่อการทำเคมีบำบัดหนึ่งครั้ง ทำทุกๆ สองอาทิตย์ เป็นแบบนี้อยู่สามปีกว่า ก็เลยไม่นับแล้ว เพราะมันเพิ่มจากกำหนดขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะเจอผลข้างเคียงอีก ผมผอมซีดเหมือนเอเลี่ยน อย่างที่บอกว่าตายง่ายกว่า

แล้วตอนนั้นคุณทำใจให้ผ่านมาได้อย่างไร

จริงๆ เราไม่สู้เลยนะ ไม่มีเรี่ยวแรงให้ฮึดสู้อะไรทั้งนั้น แต่พอเห็นคุณแม่ คนในครอบครัว และพี่ๆ หมอและพยาบาลเขาพยายามอย่างหนักเพื่อจะรักษาเรา ก็ทำให้คิดว่าฉันต้องรอดให้ได้สิ จนมาราวปี 2551 ก็พบว่ามะเร็งทำให้กระดูกหลังเราหักไป 7 ซี่ แต่ก่อนเคยสูง 176 เซนติเมตร ก็เหลือ 158 เซนติเมตร กระดูกขาก็ไม่เท่ากัน แต่ร่างกายโดยรวมก็ดีขึ้น จากที่กินข้าวหรือขับถ่ายเองไม่ได้ ก็กลับมาทำได้แล้ว เริ่มนั่งโดยไม่พิงได้ พอเริ่มกลับสู่ความใกล้จะเป็นปกติ มันก็ทำให้เรามีฮึด ตั้งใจทำกายภาพบำบัดมากขึ้นเพื่อจะกลับไปเดินเองให้ได้ ซึ่งผมคิดว่าการที่เราอยากกลับมาเดินนี่แหละที่ทำให้เรากลับมามุ่งมั่นกับการมีชีวิต มันทำให้เราสร้างชาเลนจ์ให้ตัวเอง

ชาเลนจ์ด้วยการกลับมาเดิน

ใช่ อย่างแรกต้องกลับมาเดินให้ได้ก่อน แต่แค่ชาเลนจ์แรกก็โดนหมอเบรกแล้วครับ คุณหมอบอกว่าถ้าเดินก็มีสิทธิ์กระดูกหัก เพราะกระดูกเราเปราะมาก แต่เราก็ดื้อ แอบไปบอกหมอที่ทำกายภาพให้เราว่าอยากเดิน ช่วยทำให้เราเดินได้หน่อย และผมก็ไม่ยอมบอกหมอที่รักษามะเร็งเพราะกลัวเขาจะไม่อนุญาต ตัดรองเท้าสำหรับคนขาไม่เท่ากันและฝึกเดิน แต่กว่าจะเดินจริงๆ ได้ก็เป็นปี ช่วงนั้นใช้รถวีลแชร์เป็นหลัก

แล้วได้กลับไปเรียนไหม

ตอนเป็นครั้งที่สองก็คิดว่าถ้าทำคีโมเสร็จก็คงกลับไปเรียนอยู่ แต่ปรากฏว่าสุดท้ายกลายเป็นคนไข้ติดเตียงหลายปี เลยตัดสินใจว่าไม่เรียนในระบบแล้ว เรียนรู้เองดีกว่า ก็ไปสมัครคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ และก็อ่านหนังสือเอา ทุกวันนี้ยังมีวุฒิ ม.3 เคยคิดว่าอยากกลับไปเรียนเพื่อเป็นหมอเหมือนกันครับ เพราะตอนเราป่วยเราก็ใช้ชีวิตอยู่แต่กับหมอมา 5-6 ปี (ยิ้ม) แต่สุดท้ายก็ไม่กลับไป ไม่ได้เสียดายด้วย เพราะเราสามารถทำงานได้ ในช่วงที่หัดเดินก็เริ่มทำงานอยู่กับบ้านด้วยการรับออกแบบพวกการ์ดเชิญ การ์ดงานแต่ง งานสิ่งพิมพ์พวกนี้ ก็พอมีรายได้เข้ามาบ้าง จนมาราวปลายปี 2552 พอจะเดินโดยใช้ไม้เท้าได้แล้วก็ไปสมัครเรียนขับรถ แต่โรงเรียนสอนขับรถก็ไม่รับอีกเพราะเขาเห็นผมเป็นคนพิการ สุดท้ายก็เลยให้ญาติสอนขับ หัดขับแถวบ้าน และไปสอบใบขับขี่จนได้ ช่วงนั้นผมเริ่มสนใจการเทรดหุ้นและก็ไปลงเรียนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนสอนภาษาที่เปิดในห้างสรรพสินค้า

เป็นการกลับเข้าสู่สังคมครั้งแรกในรอบหลายปี

ผมไปนั่งเอ๋อเลยเวลาเพื่อนร่วมชั้นคุยกัน เพราะผมเข้าสังคมครั้งสุดท้ายตอนอายุ 14 กลับมาอีกทีตอนอายุ 19 ก่อนป่วยยังไม่มีสมาร์ทโฟนใช้กัน อินเตอร์เน็ตที่บ้านยังเป็น 56kb อยู่เลย พอออกมาเหมือนอยู่อีกโลก แต่การได้กลับมาเข้าสังคมก็ทำให้มีชาเลนจ์ใหม่ด้วย เพราะตอนนั้นร่างกายก็ดูผอมแห้งแบบคนป่วย เพื่อนร่วมชั้นหรือใครมาเจอเข้าก็ถามว่าเราเป็นอะไร เขาไม่มองว่าเราเป็นคนปกติ จึงตัดสินใจว่าจะต้องทำให้เราดูเป็นคนสุขภาพแข็งแรงให้ได้ ก็เลยไปสมัครฟิตเนส แต่ตอนแรกเขาไม่รับ เพราะเขารู้ว่าเราเป็นโรคกระดูก และตอนไปสมัครผมก็ยังใช้วอล์คเกอร์ช่วยเดินอยู่ เขาก็กลัวหากเราเป็นอะไรขึ้นมา ก็เลยบอกเขาว่าไม่เป็นไร คุณไม่ต้องรับผิดชอบ ผมสมัครใจมาเล่นเอง และก็ปรึกษาหมอมาแล้วด้วย ฟิตเนสอยู่ในแฟชั่นไอส์แลนด์เหมือนกัน ชีวิตช่วงนั้นเกือบหนึ่งปีส่วนใหญ่จึงอยู่แต่ในห้าง ตื่นเช้า ขับรถเองไปก่อนห้างเปิด พอห้างเปิดก็ไปโรงเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งผมลงเรียนเป็นคอร์สแบบบุฟเฟ่ต์ไว้ เรียนเท่าไหร่ก็ได้ ก็เรียนทั้งวัน เรียนเสร็จก็ไปฟิตเนส และรอจนห้างปิดก็กลับบ้าน เป็นอย่างนี้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนเสาร์-อาทิตย์จะอยู่บ้านเพราะห้างคนเยอะ

การไปฟิตเนสช่วยให้ผมสามารถเดินเองได้ดีขึ้นมาก เพราะตอนไปสมัครครั้งแรกเราไปกับไม้เท้า ผ่านไปสามเดือน ก็ลองเดินแบบไม่ต้องใช้ไม้เท้าเองได้ จากระยะประมาณ 10 เมตร ก็ขยับเป็น 15, 20 จนประมาณเดือนที่สี่ ผมสามารถเดินจากที่จอดรถไปยังฟิตเนสโดยไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยได้ นั่นคือปี 2557 ร่างกายมีกล้ามเนื้อ และปีนั้น Fitness First ฟิตเนสที่เราไปเล่นประจำก็ชวนเราร่วมประกวดโครงการ New You Achievement Awards เป็นโครงการประกวดบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจในเอาชนะอุปสรรคในชีวิต ซึ่งผมก็เข้ารอบสุดท้าย ช่วงนั้นเรามีความมั่นใจขึ้นมาก เหมือนเราเอาชนะชาเลนจ์ที่ตั้งไว้ได้แล้ว เลยคิดถึงชาเลนจ์ต่อไปคือการเดินทาง

เดินทาง?

ตั้งแต่อายุ 14 มาถึง 19 ผมนอนอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมที่บ้านสลับกับโรงพยาบาลตลอด พอหายออกมาก็อยู่แต่ในที่เรียนภาษาอังกฤษกับฟิตเนส ผมคิดถึงการเดินทางไปยังที่ใหม่ๆ ตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความกลัว เพราะตอนที่ป่วยเคยนั่งรถไปทอดกฐินกับแม่ที่บุรีรัมย์ ร่างกายปวดช้ำไปหมด จึงเข็ดไปนาน แต่การเดินทางเป็นชาเลนจ์ที่ทุกวันนี้ผมก็ยังทำอยู่

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ผมไปกับครอบครัว ตอนนั้นคิดว่าร่างกายดีขึ้นแล้ว แต่แค่นั่งเครื่องบินเท่านั้นแหละ ปวดหลัง แล้วไข้ขึ้นเลย เป็นทริปที่ทุลักทุเลมาก หลังจากนั้นเลยกลับมาเล่นฟิตเนสจริงจัง และมีโอกาสไปญี่ปุ่นกับน้อง ซึ่งทริปนี้เราไม่ป่วย พบว่าเราทำได้ เราสนุกกับมัน และเริ่มมีความมั่นใจว่าเที่ยวได้ ทริปที่สามเลยแบ็คแพ็คไปคนเดียว ไปฮ่องกง ตามมาด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และยุโรป ไปอยู่ที่ละ 10-15 วัน ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวหมด มันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรหรอกที่จะไปอวดใครเขา แต่พอคิดว่าเราเริ่มมาจากลำพังแค่กระดิกนิ้วเท้าตัวเองยังไม่ได้ แต่มาไกลถึงขนาดนี้ เราภูมิใจ

ผมชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปบ่อยสุดน่าจะสิบกว่าครั้งได้ ไม่ใช่แค่เมืองสวย แต่ญี่ปุ่นมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อม มีระบบรถไฟฟ้าที่ครอบคลุม ทางเท้าดี ข้อมูลการท่องเที่ยวก็ครบ เราไปได้ทุกที่

หลังจากไปเที่ยวคนเดียวได้แล้ว ทริปไหนโหดที่สุดสำหรับคุณ

ญี่ปุ่นอีกเช่นกัน ตอนนั้นไปโอซาก้า เวลาไปเที่ยวที่ไหนกิจกรรมหลักที่เราต้องทำคือการเดินชมเมืองนั้น เราเดินแบบไม่มีจุดหมายและเดินได้ทั้งวัน จำได้ว่าที่โอซาก้าตอนนั้นอากาศดีมาก เลยเดินไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าต้องเดินให้ได้กี่กิโลเมตรหรือเท่าไหร่ เดินเท่าที่ร่างกายไหว ซึ่งพอกลับมาที่โรงแรมก็นอนสลบไปสองวันเต็มๆ เลย (หัวเราะ) แล้วก็มาพบว่าเราลงน้ำหนักที่ขาไม่ได้ เหมือนกระดูกเท้าแตก คงเพราะโดนชนล้มตอนเดินเที่ยว เลยโทรไปที่รีเซปชั่นให้เขาติดต่อโรงพยาบาล ไปหาหมอให้เอ็กซ์เรย์ แต่ก็สื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง สุดท้ายก็ให้เขาพาเราไปสนามบิน นั่งวีลแชร์กลับมาหาหมอที่ไทย หลังจากนั้นก็เลยคิดว่าจะเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้ว (หัวเราะ)

ไม่เข็ด?

ไม่ครับ เวลาไปเที่ยวจะวางแผนหากมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเสมอ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกพักโรงแรมที่ใกล้กับสนามบิน เช็คดูว่าโรงแรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง รองรับเราได้แค่ไหน แต่ก็จะเลือกเดินทางไปในเมืองที่ไม่ทรหดมาก อย่างประเทศที่ต้องเดินขึ้นเขานี่ก็ไม่ไหว เคยไปซัปโปโรมาทีนึง ช่วงนั้นหิมะตก เราลื่นล้มบ่อย เดินแทบไม่ได้เลย หรือเคยไปเดินเขาที่โกเบระยะทางแค่หนึ่งกิโลเมตร กลับที่พักมาก็น็อคเลย ก็เลยคิดว่าร่างกายเราไม่เหมาะกับการปีนเขาที่มีหิมะ แต่ในทุกทริปก็จะมีชาเลนจ์ส่วนตัวด้วย อย่างการเดินเท้าหรือไปในเมืองที่อาจจะเที่ยวยากขึ้นมาหน่อย ทุกวันนี้ผมทำงานหาเงินเพื่อเอาไปเที่ยวเป็นหลัก เพราะไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม คิดว่าตัวเองอายุคงไม่ยืนเป็น 100 ปี และสภาพขาแบบนี้ คิดว่าอายุเข้า 40-50 ก็น่าจะต้องนั่งวีลแชร์แล้ว 

อะไรที่ทำให้คุณมาได้ไกลถึงขนาดนี้

ก็น่าจะเป็นคำตอบเดียวกับที่เราผ่านช่วงที่เป็นคนไข้ติดเตียงมาได้ กำลังใจจากครอบครัว แม่ที่ไม่ยอมหมดหวังและเป็นทุกอย่างให้เรา คุณหมอและพยาบาลที่ช่วยเหลือเรา ตอนแรกเราจิตตกมาก เป็นอัมพาต และคิดว่าถ้าเราตายไปเลยคงง่ายกว่ามาก แต่เพราะเราเห็นว่าทุกคนมีความหวัง เราจะหมดหวังได้อย่างไร

แล้วพอร่างกายมันค่อยๆ ฟื้นสภาพจากที่เคยกระดิกนิ้วเท้าไม่ได้เลย แล้ววันหนึ่งเรากลับมากระดิกได้ เราก็พบว่าตัวเองมีความสุขกว่าครั้งไหนๆ หรือจากที่ต้องให้แม่ช่วยเหลือตลอด และเราก็กลับมาแปรงฟันหรือเข้าห้องน้ำได้เอง หรือจากที่ต้องไป follow up ที่โรงพยาบาลทุกๆ 3 วัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นปีละครั้ง และเราก็ไม่ต้องกินยาอะไรทั้งนั้น คิดว่ากำลังใจและความหวังที่คนอื่นมอบให้เรา ทำให้เรามีความหวังและไปข้างหน้าต่อ มันทำให้ผมเดินด้วยเท้าของตัวเองมาได้ไกลขนาดนี้

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: ธีระ บางศรัณย์ทิพย์

กว่าจะมาเป็นแม่บ้านสายคีโม โบ-เสาวณิช ผิวขาว ผู้ฝ่าวิกฤตชีวิตไปพร้อมกับการรักษามะเร็งถึงสามครั้ง

หลายคนอาจรู้จัก โบ-เสาวณิช ผิวขาว จากคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ซึ่งเธอเขียนสูตรอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง สำหรับทำที่บ้านด้วยตัวเอง ลงประจำทุกเดือนในเพจ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และบางท่านก็อาจทราบมาว่า ก่อนจะมาเป็นคอลัมนิสต์ที่ชวนคนทำอาหารไปพร้อมกับการมองโลกในแง่ดี ชีวิตของโบต้องเผชิญกับโรคมะเร็งถึงสองครั้ง การสูญเสียคนที่รักอีกสองหน รวมถึงภาวะซึมเศร้าอันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ทั้งสอง และล่าสุดกับการต้องพบการกลับมาของมะเร็งเป็นครั้งที่สาม ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เธอยังคงสู้กับมัน…

หากยึดถือตามความเชื่อเรื่องเบญจเพสที่ซึ่งช่วงวัยที่ ‘ดวงตก’ ของผู้คนอยู่ที่วัย 25 เบญจเพสของโบก็มาช้าไป 7 ปี “มันแย่จนถึงขนาดเราตั้งคำถามว่าเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” โบย้อนคิดถึงห้วงเวลาหนึ่งในขณะที่เธอกำลังรักษามะเร็งครั้งแรก 

แต่นั่นล่ะ โบก็ฟันฝ่ามาได้ และยืนหยัดด้วยทัศนคติเชิงบวกในทุกวัน เธอบอกว่าวิกฤตทำให้เธอเคยไม่อยากมีชีวิต แต่ในทางกลับกัน เมื่อเวลาผ่านไป วิกฤตเดียวกันนี้ก็สอนให้เธอตระหนักในคุณค่าของมัน และนี่คือข้อคิดที่ตกตะกอนมาจากชีวิตของสาวแกร่งที่สู้กับมะเร็งถึงสามครั้ง และอีกหนึ่งความซึมเศร้าเพียงลำพัง  

พบมะเร็งเพราะเพื่อนจ้างให้ไปหาหมอ

            “จริงๆ เราเจอก้อนเนื้อที่หน้าอกมาได้สักพักแล้ว คือนอนๆ อยู่ก็คลำเจอ แต่คิดว่าเป็นลูกหนู ก็เลยชะล่าใจ” โบย้อนคิดถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด อย่างไรก็ดี คำว่า ‘สักพัก’ ที่โบว่าคือการปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาสองปี จนมาปี 2554 ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น และเธอเริ่มรู้สึกเจ็บ คล้ายมีใครเอาเข็มมาแทงเนื้อ

            “เราก็ยังชิลล์อยู่อีกนะ คือไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้ายอะไร อายุแค่สามสิบต้นๆ เองตอนนั้น ก็บ่นให้เพื่อนฟังว่าเจ็บ เพื่อนก็บอกให้ไปหาหมอ เราก็ดื้อดึงไม่ไป จนเพื่อนบอกว่าจ้างให้ไปก็ได้ ไปดูหน่อยเถอะ ก็เลยไป” 

            กระทั่งหลังผลเอ็กซ์เรย์ว่ามีก้อนเนื้อขนาด 4 เซนติเมตรอยู่ในทรวงอกด้านขวา โบก็ยังไม่คิดว่านั่นคือเนื้อร้าย คุณหมอทำการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หนึ่งเดือนเศษล่วงผ่าน ผลปรากฏว่าเธอเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2A อีกนิดเดียวก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3…

            “พอทราบผลก็ช็อคเลย เพราะไม่คิดจริงๆ ว่าเราจะเป็นมะเร็ง ก็เป็นคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่แหละ แต่ก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง จำได้ว่าพอหมอบอกว่าเราเป็นมะเร็ง หมอก็อธิบายขั้นตอนการรักษาให้เราฟัง แต่เราไม่ได้ยินอะไรเลย ในหัวมันอื้ออึงไปหมด จนหมอพูดจบ บอกกับเราว่ามีอะไรจะถามไหมครับ”

โบสารภาพว่าคำถามในหัวเยอะมากจนประมวลออกมาไม่ทัน ซึ่งเธอถามหมอไปเพียงแค่

“แล้วหนูยังกินเบียร์ได้อยู่ไหมคะ” เธอเล่าติดตลก แต่ก็ยอมรับว่าตอนนั้นเธอตระหนักแล้วว่าชีวิตหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

ต่อสู้กับการสูญเสีย

            โบเป็นลูกสาวคนเล็กในครอบครัวที่เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวมากว่า 50 ปีในจังหวัดตราด พ่อของโบจากไปเมื่อตอนที่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ก่อนที่เธอจะพบเนื้อร้าย โบทำธุรกิจขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โดยใช้ชีวิตที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งเธออยู่ที่นั่นเพียงลำพังตลอดหลายปีในการรักษามะเร็ง

            “เรารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มจากการผ่าตัดสงวนเต้า ก่อนจะทำการฉายแสงและเคมีบำบัดตามขั้นตอน ก็ไปรักษาคนเดียว ถ้าช่วงไหนอาการหนักไปไม่ไหว ก็รบกวนให้เพื่อนขับรถพาไปโรงพยาบาลบ้าง พอต้องอยู่กับโรคเพียงลำพังก็มีอาการซึมเศร้านะ ถึงขนาดคิดว่าไม่ต้องรักษาก็ได้ แต่ที่สู้เพราะแม่ยังอยู่ เราอยากอยู่เพื่อแม่” โบกล่าว

            กระนั้นในช่วงที่เธอรักษาจนครบขั้นตอนและมีแนวโน้มว่าจะหายขาด ชีวิตก็กลับมาเผชิญกับวิกฤต เดือนกรกฎาคม ปี 2559 พี่ชายของเธอประสบอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต ขณะที่อีก 5 เดือนต่อมา ระหว่างที่เธอกลับมาอยู่เป็นเพื่อนแม่ที่จังหวัดตราด แม่ของโบก็พบเนื้อร้ายในถุงน้ำดีขึ้นมาอีกคน สองแม่ลูกต้องไปหาหมอพร้อมกัน คนหนึ่งคือช่วงเวลาที่ใกล้จะหาย กับอีกคนคือช่วงเวลาที่เพิ่งเริ่มเป็น แต่แม่ของโบไม่ได้โชคดี เพราะมะเร็งที่เกิดในร่างแม่ของเธออยู่ในระยะสุดท้าย ไม่นานหลังจากนั้น แม่ของเธอก็จากไปในเดือนมกราคม 2560  

            “ทุกอย่างเหมือนพังทลาย ที่เราอยากหายจากโรคก็เพราะจะได้อยู่กับแม่ แต่พอแม่ไม่อยู่แล้ว เราจมดิ่งเลย คิดว่าแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม คนที่เรารักจากไปหมด ไม่เห็นต้องมีเราแล้วก็ได้” โบกล่าวเสียงเศร้า

            ความเครียดจากการสูญเสียคนในครอบครัวในเวลาใกล้กันถึงสองคน ยังส่งผลให้เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในกระดูกอีก…

            “มะเร็งที่หน้าอกมันกำลังจะหายแล้ว เพราะรักษาไปตามคอร์สจนหมด แต่เพราะความเครียด หมอจึงพบมะเร็งที่กระดูก ตอนพบเราคิดจะบอกหมอว่าไม่ต้องรักษาหรอก แต่หมอบอกว่ามันเป็นแค่ระยะเบื้องต้น ไม่ต้องผ่าตัดและให้ยาไปตามอาการก็หายได้”

            กระนั้นโบก็ไม่อยากมีชีวิตต่ออยู่ดี

            “เราพบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าอีก ชีวิตไม่เหลือความหวังอะไร จำได้ว่าหลังงานศพแม่ ก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ มีอยู่คืนหนึ่ง อุ้มเส้นใหญ่ (สุนัขพันธุ์เฟรนซ์บูลด็อกผสมชิวาวา ที่เธอเลี้ยงเป็นเพื่อนในช่วงที่เป็นมะเร็งครั้งแรก – ผู้เขียน) ขึ้นไปบนดาดฟ้าของตึก นั่งอยู่บนนั้นและคิดว่าจะกระโดดลงมาพร้อมกับหมา เราทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ชีวิตพอแค่นี้…

            เรานั่งนิ่งบนนั้นตั้งแต่ดึกจนถึงเช้า มีห้วงที่คิดว่าจะกระโดดลงมา แต่ก็ยังนั่งอยู่ต่อไป จนพระอาทิตย์ขึ้น จังหวะที่พระอาทิตย์ขึ้น เหมือนมีอะไรบางอย่างมาดลใจบอกว่ายังตายไม่ได้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ และถ้าตายไป ทุกคนต้องเสียใจแน่เลย ทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายเรา ทุกคนเสียสละให้เราอยู่ เรายังไม่ได้ตอบแทนอะไรพวกเขาเลย เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ สะสมบุญ และทำบุญให้พวกเขา…

เช้าวันนั้นเลยคิดได้ว่าเราต้องรักษาให้หายทั้งมะเร็งและโรคซึมเศร้า เราจะมีชีวิตอยู่” โบ กล่าว    

 อาหารคือยา และการสู้กับมะเร็งครั้งที่สาม

            ทุกวันนี้โบเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ในย่านเสนานิคม ชื่อว่า ‘เตี๋ยวเลียง เสาวณิช’ ต่อยอดสูตรการปรุงของแม่ของเธอ สู่เมนูก๋วยเตี๋ยวที่คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีที่เหมาะให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับประทานได้อย่างถูกปากและปลอดภัย ด้วยความเชื่อที่ว่าถึงเป็นผู้ป่วยก็ควรได้รับประทานอะไรอร่อยๆ เช่นกัน

            “อาหารมันเป็นยา คุณค่าทางโภชนาการก็เรื่องหนึ่ง แต่รสชาติที่อร่อยมันก็ทำให้เรามีความสุข เป็นยาทางใจ ตอนเราป่วยเรารู้สึกไม่อยากกินอะไรเลย มันเบื่ออาหาร ถึงบางทีจะรู้สึกอยากกิน ก็มาเจอว่าหลายเมนูมันไม่อร่อย นอกจากเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็มาคิดต่อว่าเราแจกสูตรอาหารให้ผู้ป่วยทำเองอยู่กับบ้านได้นี่ ให้การทำอาหารเป็นกิจกรรมยามว่าง แถมยังได้ออกกำลังกายที่ไม่หนัก เป็นยาใจอีกแบบให้ผู้ป่วยด้วย” โบ พูดถึงแรงบันดาลใจอีกอย่างนั่นคือคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ที่เธอเขียนประจำในเพจ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

            อย่างไรก็ตาม สี่ปีให้หลังจากการรักษามะเร็งครั้งที่สอง เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โบก็รู้สึกถึงอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะต้องยืนทำงานทั้งวัน กระทั่งอาการปวดลุกลามและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องไปเอ็กซ์เรย์ที่โรงพยาบาล

            วันที่ 6 มีนาคม 2563 – คุณหมอก็ได้ยืนยันว่ามะเร็งกลับมาที่กระดูกสันหลังตั้งแต่ต้นคอยาวไปจนถึงช่วงเอว ซึ่งอยู่ในระยะที่ 3 อันเกิดจากการแผ่กระจายมาจากเต้านมในครั้งแรก…   

            จากคนที่มีฮึดและใกล้จะเอาชนะโรคซึมเศร้าได้สำเร็จ มะเร็งก็กลับมาหลอกหลอนเธออีกครั้ง ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจไม่น้อย อย่างไรก็ดี ครั้งนี้โบตัดสินใจปฏิเสธการรักษาแบบเคมีบำบัดและฉายแสงเช่นที่แล้วมา โดยอาศัยแพทย์ทางเลือกหรือธรรมชาติบำบัดแทน

            “ตอนแรกคุณหมอก็ไม่เห็นด้วยกับเรา โดยบอกว่าถ้าไม่ทำเคมีบำบัด เราอาจเหลือเวลาในชีวิตไม่เกิน 18 เดือน แต่เราก็บอกว่าเราตัดสินใจจะรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ซึ่งท้ายที่สุดคุณหมอก็ยอมรับการตัดสินใจ” โบ กล่าว

            อาหารการกินคืออาวุธแรกที่เธอใช้ต่อสู้กับโรค เธอบอกเคล็ดลับว่าในทุกมื้อ เธอจะรับประทานผักใบเขียวปั่น 1.5 กิโลกรัม รับประทานเต้าหู้ในปริมาณมาก พร้อมกับอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อาวุธอย่างที่สองคือการฝึกจิตด้วยการนั่งสมาธิและปฏิบัติกรรมฐานในทุกวัน โบบอกว่าเธอตั้งใจใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุขที่สุด ความสุขที่เกิดขึ้นจากภายในของตัวเอง และความสุขที่มอบให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเมนูอาหารแจกในฐานะแม่บ้านคีโม หรือในปัจจุบันที่หลายครอบครัวต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจจาก Covid-19 เธอก็ร่วมลงทุนทรัพย์และลงแรงทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ที่เดือดร้อน

            “ถ้าชีวิตเราเหลืออีก 18 เดือนจริงๆ ก็อยากทำให้ดีและมีความสุขที่สุด สร้างคุณค่าในตัวเอง และมอบสิ่งที่ดีแก่ผู้อื่นในทุกวัน” โบกล่าว อย่างไรก็ดีเธอก็ยืนยันว่าการตัดสินใจเช่นนี้ หาใช่การยอมแพ้…

“ยังไงก็ตามแต่ การเตรียมตัวของเราในครั้งนี้ ไม่แปลว่า เราท้อแท้หรือไม่สู้กับโรคนะคะ เรายังคงสู้กับโรคทุกลมหายใจ เราเคยชนะมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งนี้เราก็ต้องชนะให้ได้อีกครั้งในแบบฉบับของเรา สู้ด้วยหัวใจ สู้ด้วยพลังบวกจากเพื่อนๆ รอบข้าง สู้สู้!” หญิงสาวที่ได้แรงบันดาลใจจากพลังในการสู้ชีวิตจากแม่และจากเพื่อนรอบข้างกล่าว พร้อมกำชับให้เราเติมรอยยิ้มของเธอลงท้ายประโยคมอบให้แก่ผู้อ่าน

เช่นเดียวกับทีมงาน Art for Cancer by Ireal ที่เป็นหนึ่งในผู้ให้กำลังใจโบ และเชื่อมั่นว่าเธอจะผ่านโรคภัยครั้งนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง เฉกเช่นครั้งแล้วๆ มา

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: เสาวณิช ผิวขาว

เป็นมะเร็งลำไส้ก็เท่ได้ สุทธิ ชมโพธิ์ นักสู้มะเร็งผู้ออกแบบเครื่องป้องกันถุงหน้าท้องให้ผู้ป่วยกลับมาหล่ออีกครั้ง

            นี่คือเรื่องราวของ สุทธิ ชมโพธิ์ ชายจากจังหวัดสุรินทร์ที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังหนุ่ม เขาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งลำไส้ที่ปลายทวารหนักตอนอายุ 37 และจำเป็นต้องมีถุงหน้าท้องเพื่อถ่ายหนักหลังจากนั้นไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามไม่เพียงเขามุ่งมั่นรักษามะเร็งจนหาย เขายังกลับมาเป็นนักวิ่งสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งทำโครงการสตาร์ทอัพสร้างสรรค์อุปกรณ์ป้องกันสำหรับผู้มีถุงเก็บอุจจาระหน้าท้อง ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดทวารหนักมาวิ่งได้ แต่ยังสามารถสวมใส่กางเกงยีนส์เข้ารูปอย่างเรียบเนียน – เท่เหมือนคนอื่นๆ

            ข้างต้นคือเรื่องราวของเขา แต่นั่นล่ะ กว่าจะถึงจุดนั้น ชีวิตของชายอายุสี่สิบต้นๆ ผู้นี้ไม่ง่ายเลย และต่อไปนี่คือ ‘ระหว่างทาง’ อันแสนทรหดของชายเลือกนักสู้ผู้นี้

นักสู้เลือดอีสาน

            “ผมเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ บ้านไม่ได้มีฐานะ จึงเข้ามาใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ตอนอายุสิบสอง พบกับภรรยาตอนอายุสิบหก และมีลูกชายคนแรกตอนอายุสิบแปด มีลูกสามคน ผมทำงานหนักส่งเสียพวกเขาเรียนมาตลอด” สุทธิ เล่าถึงชีวิตช่วงต้นของเขาพอสังเขป ชีวิตที่เขาบอกว่าต้องสู้มาตั้งแต่จำความได้

แน่นอน ถ้าย้อนกลับไปในเวลานั้น สุทธิก็คงไม่คาดคิดเหมือนกันว่านอกจากการสู้เพื่อให้มีชีวิตที่ดี เขายังต้องมาสู้กับมะเร็งในวัยสามสิบเจ็ดปีอีกต่อ

ปี 2551 ขณะที่เขาเป็นพนักงานขับรถยกสินค้าในโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี จู่ๆ เขาก็พบว่าตัวเองมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ จากถ่ายหนักทุกวันเป็นกิจวัตร ขยับมาเป็นครั้งละสองวันหรือมากกว่า ที่สำคัญเขามีอาการเจ็บที่ปลายทวาร และมีเลือดออกมาพร้อมกับของเสีย สุทธิไปหาหมอ และได้รับคำวินิจฉัยว่าเขาเป็นริดสีดวงทวาร ก่อนจะรักษาไปตามอาการจนดีขึ้น กระทั่ง 7 ปีผ่านไป เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2558 อาการที่เขาคิดว่ามาจากริดสีดวงทวารก็กลับมากำเริบหนักอีกครั้ง

“ตอนแรกคิดว่าเพราะเป็นพฤติกรรม ผมชอบกินเผ็ด และความที่ทำงานด้วยการนั่งอยู่บนรถตลอด โดยส่วนมากก็ทำโอทีกะกลางคืน เข้างานสี่โมงเย็น เลิกงานอีกทีก็หกโมงเช้า เลยคิดว่าริดสีดวงกำเริบอีกแล้ว แต่รอบนี้เป็นหนักกว่าเก่า เพราะเจ็บที่ก้นมาก เจ็บในแบบที่ขับรถและนั่งตรงๆ ไม่ได้เลย” สุทธิ กล่าว

จนกระทั่งเขาพบว่าตัวเองขับถ่ายเป็นเลือดและน้ำเหลืองอีกครั้ง จึงไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จนสัมผัสได้ถึงสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในทวาร สุทธิไปพบหมออีกครั้งในวันที่ 11 สิงหาคม ผ่าชิ้นเนื้อและทราบผลว่าเป็นมะเร็งอย่างเป็นทางการในอีก 9 วันต่อมา (20 สิงหาคม) และผ่าตัดเนื้อร้ายออกวันที่ 26 สิงหาคม กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือน อย่างไรก็ดี ก่อนที่คุณหมอนัดผ่าตัด ก็ได้บอกทั้งข่าวดีและข่าวร้ายที่ส่งผลไปทั้งชีวิตของสุทธิ     

ข่าวดีก็คือ จากผลวินิจฉัย เนื้อร้ายยังไม่แพร่กระจาย เขาอาจไม่จำเป็นต้องทำการฉายแสงหรือเคมีบำบัด (ซึ่งต่อมาเขาก็ไม่ต้องทำกระบวนการเหล่านี้เลยสักครั้ง) แต่ข่าวร้ายก็ดูหนักหนากว่า เพราะเนื้อร้ายที่ตัดทิ้งไปคือหูรูดทวารหนัก นั่นหมายความว่าหลังผ่าตัด เขาจะไม่มีอวัยวะที่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เอง เขาจำเป็นต้องติดถุงเก็บอุจจาระบริเวณหน้าท้องไปตลอดชีวิต

แล้วผมจะสู้กับมันอย่างไร?

            เมื่อมาไตร่ตรองและสืบประวัติ สุทธิพบว่าไม่ใช่ทั้งพันธุกรรมหรือโชคชะตาใดๆ แต่เป็นเพราะพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเขาเอง เขาบอกว่าเป็นเพราะเขาทำงานหนักและทำงานข้ามคืนตลอด วิถีการกินของเขาจึงขึ้นอยู่กับร้านอาหารข้างทางราคาประหยัด กับข้าวใส่ถุงพลาสติก ข้าวกล่องไมโครเวฟ เมนูปิ้งย่าง และอีกสารพันที่มีเพื่อประทังชีพเท่าๆ กับที่มีส่วนในการกระตุ้นเซลล์ร้ายในร่างกาย อีกทั้งเขาเป็นคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ด้วย ถึงแม้ไม่เยอะ แต่เมื่อบวกรวมกับปัจจัยด้านอาหารการกิน เนื้อร้ายก็เกิดขึ้นในร่างกายเขาจนได้ 

            “พอทราบว่าเป็นมะเร็ง ผมก็ช็อคเลย คำถามมีเข้ามาเต็มไปหมดในหัว ผมคิดถึงความตายเป็นอันดับแรก คำถามต่อมาคือทำไมต้องเป็นเรา ชีวิตเราไม่พร้อม ไหนจะต้องหาเลี้ยงดูครอบครัวอีก ยอมรับว่าหดหู่มาก แต่พอผ่านไปสักพัก ก็กลับมาคิดว่าเราต้องสู้ต่อ ความกังวลถึงครอบครัว ถึงลูกๆ นี่แหละที่ทำให้ผมต้องสู้ต่อ คำถามสุดท้ายในช่วงเวลานั้นจึงกลายเป็น แล้วผมจะสู้กับมันอย่างไร” สุทธิกล่าว

เขาบอกว่าหลังจากหาคำตอบสำหรับคำถามสุดท้ายได้แล้ว ก็เหมือนเขาพบเส้นทางในชีวิตให้เดินต่อ หลังจากนั้นเขาไม่มีความสงสัยอะไรในชีวิตอีกเลย

            “ผมใช้เวลาพักฟื้นและรักษาตัวอยู่บ้านสี่เดือน ช่วงเวลานี้เหมือนช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตเลย เพราะวิถีชีวิตแบบเดิม ต้องเปลี่ยนใหม่หมด ทั้งการนั่ง การเดิน การเคลื่อนไหว และที่สำคัญคือการขับถ่ายผ่านลำไส้ตรงลงไปในถุงหน้าท้อง ตอนแรกชีวิตลำบากมาก เพราะเลือดออกก้นตลอดเวลา และต้องสวมผ้าอนามัยรองไว้ ส่วนก้นที่ผ่าปิดก็ยังต้องใส่อุปกรณ์ที่เรียกว่า shot drain เพื่อดึงของเหลวออกมา เจ็บและทุลักทุเลมากๆ

            แต่พอผ่านไปสี่เดือน สภาพร่างกายเริ่มดีขึ้น คุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่มากขึ้น ผมจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่ 1 มกราคม 2559 ผมนอนอยู่บ้าน และเห็นรองเท้าวิ่ง ก่อนหน้านี้ผมชอบใส่รองเท้าวิ่งแต่ไม่เคยวิ่ง แค่ใส่ไปเที่ยว เพราะมันนุ่มดี แต่วันนั้นจู่ๆ เหมือนร่างกายมันบอกผมให้ลุกขึ้นมาสิ ลุกขึ้นมาเดิน เดินก่อนแล้วค่อยวิ่งกัน

            ซึ่งพอร่างกายมันบอกอย่างนั้น ผมก็สวมรองเท้าวิ่ง และลองเดินเท้าเหยาะๆ ออกจากบ้าน วันนั้นเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตอีกครั้ง

กลับสู่สังเวียน

            จากผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดหน้าท้อง ก่อนจะกลับมาสวมรองเท้าวิ่งเพื่อเดินออกกำลังกายระยะสั้น และพัฒนาสเต็ปการเดินด้วยความเร็วขึ้น จนกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง สุทธิใช้เวลาตลอดปี 2559 เพื่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เช่นเดียวกับวันแรกที่เขาเห็นรองเท้าและเกิดแรงบันดาลใจ เขาจำได้แม่นถึงวันแรกที่เขาร่วมวิ่ง Fun Run ระยะทาง 5 กิโลเมตร กับนักวิ่งคนอื่นๆ ซึ่งยังถือเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมการวิ่งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในชีวิต วันที่ 19 มีนาคม 2560

            “มีคนสมัครวิ่งอยู่ 655 คน ผมเข้าเส้นชัยประมาณคนที่ 20 ใช้เวลา 26.47 นาที ส่วนอีก 630 คนวิ่งตามหลังผมมา ผมเพิ่งหายจากมะเร็ง มีลำไส้อยู่นอกตัว มันไม่ใช่แค่การวิ่งเข้าเส้นชัย แต่นี่ทำให้ผมมั่นใจว่าผมเอาชนะตัวเองได้ ผมมีความมั่นใจในชีวิตหลังจากนี้” สุทธิ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

            ทั้งนี้ สุทธิให้เครดิตความสำเร็จในการวิ่งสนามแรกในชีวิตของเขากับประดิษฐกรรมที่เขาคิดค้นขึ้นมา นั่นคือเครื่องป้องกันถุงเก็บอุจจาระบริเวณหน้าท้อง ซึ่งทำให้อดีตผู้ป่วยมะเร็งอย่างเขา สามารถเข้าร่วมวิ่งกับนักวิ่งคนอื่นๆ โดยไม่มีใครรู้ว่าเขามีถุงติดอยู่บนหน้าท้องเลย

            “อุปกรณ์ป้องกันถุงหน้าท้องมันเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่แล้วครับ เป็นโลหะสำหรับคลุมถุง เพราะส่วนนั้นของร่างกายเรามีแค่ถุงกับลำไส้เลย โดนอะไรนิดก็เจ็บ แต่ความที่โลหะแบบเดิมมันมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหนัก ไม่เหมาะกับการรับแรงกระแทกอย่างการวิ่งเร็วๆ ผมก็เลยมาคิดว่าน่าจะมีเครื่องป้องกันที่กะทัดรัดกว่านี้”

            และนั่นทำให้สุทธิคิดถึงกระจับสำหรับป้องกันกล่องดวงใจของนักมวย

            “ตอนเด็กๆ ผมเคยชกมวย และจำได้ว่ามีกระจับป้องกัน ผมก็เลยคิดว่าถ้าย้ายกระจับจากตรงนั้นมาป้องกันส่วนที่เป็นถุงหน้าท้องเราล่ะ เลยไปหาอีลาสติกที่มาช่วยผูกกระจับไว้คล้ายๆ ขอบกางเกงยางยืด แล้วก็เย็บตีนตุ๊กแกติดกับส่วนที่เป็นโลหะ ตอนแรกก็ทำแบบง่ายๆ ก่อน ทดลองไปทดลองมาจากสแตนเลสที่ค่อนข้างมีน้ำหนัก ก็พัฒนามาจนได้วัสดุไทเทเนียม ซึ่งคล่องตัวกว่าและป้องกันการกระแทกไปพร้อมกัน”

            ในวันที่เราสัมภาษณ์เขา สุทธิสวมกางเกงยีนส์ทรงพอดีตัว ดูสมาร์ทมากทีเดียว เขาบอกว่าเมื่อก่อนการมีถุงหน้าท้องแบบเขา ไม่มีทางจะสวมกางเกงยีนส์แบบกระชับเช่นนี้ได้… ใช่ ในขณะนี้เขาก็ยังสวมเครื่องป้องกันนั้นอยู่

            “ผมเป็นคนสุรินทร์ ผู้ชายโซนนี้ก็อารมณ์บัวขาว ผิวเข้มๆ หน้าดุๆ คือถ้าแต่งตัวเลอะๆ เนี่ยจบเลย ดูสกปรก ซึ่งผมก็ชอบแต่งตัวมากๆ อยู่แล้วด้วย ชอบแต่งตัวให้ดูสะอาดและสมาร์ท ตอนป่วยก็คิดแหละว่าหลังจากนี้เราจะต้องใส่กางเกงหลวมๆ ขาบานๆ ไปตลอดชีวิตใช่ไหม ซึ่งเมื่อบวกรวมกับความต้องการอยากกลับมาวิ่งได้ จึงจุดประกายให้ผมคิดถึงเครื่องป้องกันนี้ออก”

            สุทธิตั้งชื่ออุปกรณ์นี้ว่า Stoma Smile คล้ายบอกเป็นนัยว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ก็ยิ้มได้ เริ่มแรกเขาทำแจกผู้ป่วยด้วยกัน โดยมีแผนจะนำไปจดสิทธิบัตรเพื่อจำหน่ายในราคาย่อมเยา หวังให้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่ประสบโรคภัยแบบเดียวกับเขา พร้อมกันนี้สุทธิยังกลายเป็นนักวิ่งที่คอยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น รวมถึงคอยให้คำแนะนำผู้ป่วยมะเร็งลำไส้แบบเดียวกับเขาในการรักษาและปรับตัวกับการใช้ชีวิตใหม่    

            “ผู้ได้รับการรักษาและต้องมีถุงหน้าท้องทั้งชีวิตแบบผม ทุกคนมักรู้สึกอายหรือรู้สึกเป็นที่น่ารังเกียจในสายตาของคนอื่น ผมก็เคยผ่าน และต่อสู้กับความคิดของตัวเองมาได้ จึงอยากเป็นแบบอย่างให้คนที่ประสบเคราะห์เดียวกันกับผม ไม่ใช่แค่ไม่ต้องรู้สึกอาย แต่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบคนอื่นๆ ได้…

“ผมบอกกับคนอื่นๆ อยู่เสมอว่า จริงอยู่ที่เราป่วย แต่เราผ่านมาได้แล้ว เรามีความพิเศษตรงถุงหน้าท้อง ถ้าเราอยู่กับมันได้ เราจะเก่ง ยิ่งถ้าเราอยู่กับมันด้วยความมั่นใจ เราจะเก่งกว่าคนอื่นๆ” สุทธิ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากผ่านช่วงมรสุมของชีวิตทั้งทางร่ากายและความสัมพันธ์มาตลอดหลายปี พร้อมไปกับการสร้างชื่อจากการเป็นนักวิ่งสร้างแรงบันดาลใจ และนักออกแบบอุปกรณ์เสริมความมั่นใจแก่ผู้ป่วย ในปี 2562 สุทธิก็ได้พบรักใหม่กับนางพยาบาล และเพิ่งแต่งงานไปในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ที่ผ่านมา เขาบอกกับเราว่าทุกวันนี้เขารู้สึกเหมือนผู้ชายที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

แม้เราไม่ทราบว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรมาวัด แต่จากรอยยิ้มและน้ำเสียงอันมั่นใจของเขา เราก็เชื่อว่าเขามีความสุขเช่นนั้นจริงๆ 

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: สุทธิ ชมโพธิ์

มะเร็งเป็นบททดสอบและของขวัญ ‘ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์’ ผู้ป่วยมะเร็งเนื้อเยื่อบุช่องท้อง ผู้สู้โรคด้วยความรักและการแบ่งปัน

         ของขวัญ – ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์ เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอทำงานเป็นผู้ประสานงานองค์กร Young Women’s Christian Association หรือ YWCA เธอใช้ชีวิตแบบคนทำงานทั่วไป ไม่ได้เจ็บป่วยออดแอด ในวัยเพียง 25 จู่ๆ เธอก็พบว่าตัวเองปวดศีรษะหนักจนไม่สามารถรักษาสมดุลร่างกายได้ เป็นครั้งแรกที่เธอต้องไปหาหมอ ด้วยเข้าใจว่าเป็น Office Syndrome และกลับมารับประทานยาแก้ปวด ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

จาก Office Syndrome สู่มะเร็งในช่องท้อง

         หลังจากกลับมาจากการตรวจครั้งแรก ของขวัญเริ่มใส่ใจสุขภาพ เธอออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองไม่เครียด รวมถึงพบปะเพื่อนฝูงอยู่บ่อยๆ กระนั้นอาการปวดศีรษะกลับไม่ดีขึ้นเลย กระทั่งเธอมีโอกาสกลับไปเชียงใหม่ เธอเข้ารับการตรวจสมองด้วย CT Scan กระนั้นผลการตรวจครั้งที่สองก็ยังไม่พบสาเหตุสำคัญใด  

            “คุณหมอระบุว่าสมองบางส่วนของเราฝ่อ แต่หมอกลับบอกว่าไม่มีอะไรน่ากังวล ดีที่คุณแม่เราเป็นพยาบาล แม่บอกว่าการที่คนจะสมองฝ่อได้คือต้องเป็นคนอายุมากแล้ว ซึ่งไม่น่าจะเกิดกับเรา คราวนี้คุณแม่เลยเรียกให้เรากลับมาเชียงใหม่อีกที ทำ CT Scan อีกครั้งหนึ่ง” ของขวัญเอ่ยถึงคุณแม่ของเธอ – นงลักษณ์ เจษฎาพันธ์ แม่ผู้ตัดสินใจให้เธอลองตรวจร่างกายอีกเป็นครั้งที่สาม

            วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 คือวันที่เธอเข้ารับการตรวจ CT Scan เป็นครั้งที่สาม พบว่าเธอมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง และภายหลังพบว่าภายในช่องท้องของเธอมีเลือดออก แม้ต่อมาคุณหมอจะได้ให้ยาระงับฮอร์โมน เนื่องจากวินิจฉัยว่าเลือดที่ออกมาจากการตกไข่ ทว่าเลือดในช่องท้องก็ยังออกอยู่ หมอจึงทำการตรวจเลือดอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของอาการเลือดออก และพบว่าเกล็ดเลือดของเธอมีความผิดปรกติ จึงทำให้เลือดออกง่าย

            ของขวัญต้องพบหมออีกเป็นครั้งที่ 4 โดยรอบนี้เธอเข้าเอ็กซ์เรย์ช่องท้องเพราะมีเลือดออกในช่องท้องอีกครั้ง และในที่สุดก็พบสาเหตุของอาการปวด นั่นคือก้อนเนื้อขนาดราว 10 เซนติเมตรหลังมดลูก และชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกจำนวนมากที่กระจายเต็มช่องท้อง

“คุณหมอได้ผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อนำเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ และพบว่าเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อบุช่องท้อง เรียกว่า เมโสเธลิโอมา (Mesothelioma) เป็นมะเร็งที่พบในคนทั่วไปได้ยากมาก” ของขวัญกล่าว

“พระเจ้าอนุญาตให้เราเป็นได้ พระองค์ก็รักษาเราได้”

            ความที่สาเหตุมาจากเนื้อร้ายชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่กระจายอยู่ในช่องท้อง ปัญหาแรกที่แพทย์ผู้รักษาของขวัญพบก็คือทีมแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อออกได้ เช่นนั้นแล้วการใช้เคมีบำบัด กำจัดเนื้อร้ายจากภายในจึงเป็นทางเลือกหลักแทน

            ของขวัญเข้ารับการทำเคมีบำบัดด้วยตัวยา Alimta และ Cisplatin ทั้งหมด 6 ครั้ง ใช้เวลา 18 สัปดาห์ ซึ่งแน่นอน ผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดก็หนักหน่วงเช่นที่ผู้ป่วยมะเร็งทั่วไปประสบ

            “พบว่าในโชคร้ายก็มีโชคดีอยู่อย่าง คือเรากินข้าวได้ เคมีบำบัดไม่ทำให้เราเบื่ออาหาร และเรายังมีความสุขกับการกิน” ของขวัญขยายความต่อ เมื่อเธอมีความสุขกับการกิน เธอจึงกินได้มาก อาหารสร้างพลังงานให้ร่างกายนำไปต่อสู้กับโรค

            ทั้งนี้อีกเรื่องที่ของขวัญให้เครดิตไม่น้อยไปกว่ากันคือ ‘ความรักในพระเจ้า’

             “ด้วยความที่เราเป็นคริสเตียน เราวางใจในพระเจ้า ถ้าท่านทำให้เราเป็นได้ ท่านก็ทำให้เราหายได้ พอทราบว่าเป็นมะเร็งเราก็ช็อคเลย ไปต่อไม่เป็น ยิ่งมาอ่านเจอในอินเทอร์เน็ต เขาบอกว่ามะเร็งแบบที่เราเป็นหายากมาก ส่วนใหญ่ใครเป็นจะอยู่ได้ไม่เกินสามปี ก็ยอมรับว่าจิตตกนะ แต่เพราะเรามีความเชื่อ เชื่อว่านี่เป็นบททดสอบ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ก็เลยผ่านมาได้” เธอกล่าว

            แต่นั่นล่ะ บททดสอบก็หาได้ผ่านไปง่ายๆ ทุกวันนี้ของขวัญยังจำความรู้สึกภายหลังเข้ารับเคมีบำบัดเข็มที่สี่ได้ดี สภาพจิตใจเธอย่ำแย่จากการบำบัดเนื้อร้ายในช่องท้อง เคมียอกย้อนขึ้นไปถึงสมอง เธอมีอาการจิตตก ตกมากถึงขนาดมีอยู่ครั้งหนึ่ง เธอไปกินข้าวที่โรงอาหารและเผอิญดึงเก้าอี้มาโดนขา เธอกรี๊ดดังลั่นและร้องไห้อย่างหนักตรงนั้น ท้ายที่สุดเธอต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการจิตตกควบคู่ไปกับรักษามะเร็งด้วย    

หายได้จากการแบ่งปัน

นอกจากความเชื่อและความรัก ของขวัญให้เครดิตกับการก้าวผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายในชีวิตมาได้แก่คุณแม่ของเธอ แม่ที่อยู่เคียงข้างและชักพาให้เธอได้เจอสิ่งดีๆ อยู่เสมอ

“แม่และครอบครัวดูแลเราอยู่เสมอ พร้อมกันนั้นก็หาวิธีที่ทำให้เราไม่เครียด อย่างชวนเราไปเข้าค่ายผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งทำให้เราได้พูดคุยกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้เห็นว่ามีคนเป็นหนักกว่า มีคนพร้อมจะสู้มากกว่า ก็ทำให้เราได้รับกำลังใจสู้ต่อและกลับมาเข้มแข็งได้” เธอกล่าว

การได้แลกเปลี่ยนกับผู้ป่วยคนอื่นยังสร้างแรงบันดาลใจให้เธอเขียนบันทึกบอกเล่าถึงการต่อสู่กับโรคร้ายด้วยตัวเอง ด้วยหวังจะเผยแพร่บทเรียน ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก

“เราตั้งเพจชื่อว่า ชีวิตของขวัญ ซึ่งมันให้ความหมายได้สองอย่างคือ ชีวิตของตัวเราเอง หรือชีวิตที่เป็นของขวัญให้กับคนอื่น เราอยากบอกให้คนอื่นรู้ว่า แม้เราจะเป็นมะเร็ง เราก็ยัง move on ได้นะ เรายังส่งต่อได้นะ ไม่ใช่ว่าต้องหมดพลังไปกับสิ่งนี้” เธอกล่าว

อีกหนึ่งความภูมิใจของเธอในฐานะผู้ส่งสาส์น คือการได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งของการเขียนเรียงความในหัวข้อเปลี่ยนความคิดชีวิตเปลี่ยน ซึ่งเปิดให้ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งส่งเข้าประกวด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เธอต้องการส่งต่อพลังใจแก่ผู้อื่น

เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเคมีบำบัด ร่างกายของของขวัญมีอาการทรงตัว แม้ไม่หายขาด หากก้อนเนื้อก็ไม่ขยายตัวและแพร่กระจาย กระนั้นเธอก็ยังคงต้องติดตามผลทุกสามเดือนเพื่อเช็คการทำงานของอวัยวะภายใน เธอกล่าวด้วยโลกทัศน์ที่ดีว่า “ก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่ได้ทรมานอะไร”

ทุกวันนี้ของขวัญทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์และลูกค้าสัมพันธ์ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ยังคงทำเพจ ชีวิตของขวัญ เพื่อให้การช่วยเหลือในเรื่องความรู้ การรักษา และการดูแลตัวเองแก่ผู้ป่วยมะเร็งหรือญาติผู้ป่วย

นอกจากนี้ของขวัญยังมีแผนที่จะสร้างเพจท่องเที่ยว เพราะเธอพบว่าเมื่อตัวเองป่วยและมีความเสี่ยงถึงชีวิต จึงอยากออกเดินทางเห็นโลกให้มากๆ และนั่นทำให้เธอได้มีโอกาสเที่ยวบ่อยกว่าใครหลายคน ที่สำคัญ เธอยังย้ำอีกว่าการเป็นมะเร็งเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้เธอรู้วิธีในการส่งต่อพลังให้แก่ผู้อื่น

“เรามีประสบการณ์เกี่ยวกับตัวโรคที่ไม่ได้หามาได้ง่ายๆ เหมือนกับเราเป็นคนพิเศษ ถ้าเราไม่เป็นเราก็ไม่รู้ว่าจะให้กำลังใจคนอื่นยังไง ควรทำแบบไหน แต่พอเราได้รับโอกาส คือพระเจ้ามอบสิ่งนี้มา เราก็ได้ส่งต่อพลังและช่วยคนอื่นต่อไป” ของขวัญ ผู้มองว่าชีวิตเธอคือของขวัญจากพระเจ้า​ และบทเรียนที่เธอได้รับยังเป็นของขวัญมอบให้คนอื่น กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง: ธีรภัทร ศรีวิชัย
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์
,
ภาพบางส่วน: เพจ ชีวิตของขวัญ, ณิชาภัทร เจษฎาพันธ์