ปาลิดา คุ้มสุวรรณ์ ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ในเวอร์ชั่นที่แกร่งกว่าเดิม

ปอย-ปาลิดา คุ้มสุวรรณ์ คือนักกายภาพบำบัดปฏิบติการ โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน เธอคือเด็กสาววัย 25 ที่กำลังไปได้สวยกับงานที่เธอรักและสนุกกับการใช้ชีวิต กระทั่งพบก้อนเนื้อบริเวณเหนือเข่าขวา แต่เพราะไม่มีอาการอื่นๆ บ่งชี้ เธอแข็งแรงดี จึงคิดว่าคงเพราะการออกกำลังกาย ไม่ได้มองถึงโรคมะเร็งแม้แต่น้อย วิธีการรักษาในเวลานั้นจึงเป็นแนวทางของนักกายภาพบำบัด ทว่าก้อนเนื้อนั้นไม่เล็กลง หลังจากตัดสินใจไปตรวจอย่างละเอียด เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูก วิธีการรักษาของเธอคือการผ่าตัดเปลี่ยนต้นขาและเข่าเป็นไทเทเนียม ซึ่งระหว่างทางของการรักษาได้เกิดการติดเชื้อบริเวณเหล็ก ปอยจึงต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 9 ครั้ง ซึ่งไม่มีครั้งไหนง่ายสำหรับเธอ พร้อมๆ กับการต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากการป่วย จากคนที่ไม่อยากแม้แต่เอ่ยคำว่า ‘มะเร็ง’ ความคิดและความรู้สึกของปอยเปลี่ยนไปเพราะความรักของครอบครัว สามี เพื่อนๆ ทีมแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักที่เธอมีต่อตัวเองที่ทำให้เธอกลับมาสู้อีกครั้ง แถมยังตั้งใจมาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา ให้คำปรึกษา สร้างแรงบันดาลใจ และส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วย เราจึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักผู้หญิงแกร่งที่ชื่อปอยคนนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้กัน

ฮาวทูสู้มะเร็ง

“เอาจริงๆ ตอนนั้นปอยแข็งแรงมากเลยนะคะ เพราะเราออกกำลังกายสม่ำเสมอ พอเจอก้อนที่หัวเข่าขวาเลยไม่คิดว่าจะเป็นมะเร็ง การรักษาในช่วงแรกจึงเป็นการใช้เครื่องมือทางกายภาพบัดบัด เช่น อัลตร้าซาวด์ เครื่องอบความร้อนคลื่นสั้น (Short Wave Diathermy) เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Therapy) และ การประคบร้อน (Hot Pack) มารักษาที่ก้อนนั้น ทำทุกทางเพื่อให้ก้อนยุบลง ช่วงแรกก้อนดูเหมือนจะยุบลง โดยปอยให้เพื่อนที่เป็นแพทย์แผนไทยช่วยตรวจและให้ผู้ช่วยแพทย์แผนไทยนวดให้ด้วย แต่ผ่านไปไม่เกินเดือน เพื่อนแพทย์แผนไทยสังเกตเห็นว่าเหมือนก้อนไม่ยุบลง ปอยตัดสินใจไปพบคุณหมอในโรงพยาบาลที่ปอยทำงานอยู่ พอเห็นฟิล์ม ปอยคิดในใจว่าแจ็กพอตแล้ว”

หลังจากเข้าสู่กระบวนการตรวจอย่างละเอียด เธอพบว่าเป็นมะเร็งกระดูก แต่เชื้อมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ การรักษาจึงเป็นการผ่าตัดขาข้างขวาเพื่อใส่ไทเทเนียมแทนกระดูกตั้งแต่ขาส่วนบน (Femur) จนถึงหัวเข่า (Knee Joint) ในวันที่ 16 มกราคม 2560 แต่กว่าการรักษาจะมีบทสรุปอย่างที่เล่ามา การประเมินครั้งแรกของแพทย์ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อรักษามะเร็งกระดูกที่ต้องตัดขาก็ทำให้เธอจิตตกอยู่ไม่น้อย โชคยังดีที่แพทย์ยังส่งตัวปอยไปรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อประเมินทางเลือกของการรักษาแบบอื่นๆ และสุดท้ายเธอไม่โดนตัดขาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น

“ทางบ้านปอยก็ช็อกเหมือนกันโดยเฉพาะคุณแม่ คุณยาย และคุณพ่อ ซึ่งครอบครัวปอยเป็นครอบครัวข้าราชการที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่คุณพ่อให้กำลังใจมาตั้งแต่ต้นว่า “ถ้าจำเป็นต้องตัดขาก็ไม่เป็นไร กลับมาดูแลกิจการไร่ของที่บ้านเราได้นะลูก” ส่วนแฟนปอย (ตอนนั้นยังไม่ได้แต่งงาน) เขาเองก็ช็อกมากเช่นกันและไม่ได้ทิ้งปอยไปไหน แต่ตัวปอยเองยังทำใจไม่ได้ เลยไม่ยอมและลองคุยกับคุณหมอเพื่อมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องตัดขา จนท้ายที่สุดจึงมารักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นอกจากนี้ จากการตรวจวินิจฉัยครั้งแรกโดยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ค่ามะเร็งของปอยมีระดับ low grade จึงไม่ต้องให้คีโมและใช้การผ่าตัดอย่างเดียว แต่ปรากฏว่าหลังผ่าตัด เกรดของมะเร็งกลายเป็น high grade ปอยจึงต้องให้คีโม 5 ครั้ง แต่เพราะได้รับผลกระทบอย่างหนัก พอให้ถึงครั้งที่ 4 คุณหมออีกท่านบอกว่าครบโดสแล้ว ปอยเลยขอคุณหมอทำคีโม 4 ครั้ง เพราะไม่อยากทรมานแล้ว ซึ่งคุณหมอเจ้าของไข้ถามปอยว่า ถ้าไม่ให้ครั้งที่ 5 แล้วมะเร็งกลับมาอีก คุณจะไม่เสียใจใช่ไหม ตอนนั้นปอยมุ่งมั่นมากว่าไม่เสียใจ แต่นั่นคือสิ่งที่ผิดพลาดเพราะปอยควรจะรับคีโม่เนื่องจากจะครอบคลุมมะเร็งได้มากกว่า”

ทุกอย่างดำเนินไปเป็นปกติ จน 2 ปีหลังจากนั้น เธอขับรถมอเตอร์ไซค์จากบ้านพักในโรงพยาบาลเพื่อจะมาที่แผนกกายภาพบำบัดในช่วงหมดเวลาพักเที่ยง จังหวะรถเอียงเธอใช้ขาขวาไปยันไว้ ขาเธอบิดและรู้สึกเจ็บ และช่วงบ่ายเธอดูแลคนไข้ตามปกติ เวลานั้นปอยปวดเข่าแต่ยังพอทนไหวและเลิกงานกลับบ้านพักตามปกติ แต่ในช่วงดึกของคืนนั้นเอง เธอไข้ขึ้นสูง เข่าบวมแดงจนขยับไม่ได้ ปอยทนความเจ็บปวดนั้นอยู่ 5 วันเต็ม จนตัดสินใจไปโรงพยาบาลและพบว่าติดเชื้ออย่างรุนแรง

“ครั้งนั้นเป็นการติดเชื้อครั้งแรกและหนักหน่วงมาก คุณหมอตัดสินใจผ่าตัดคืนนั้นเลยเพื่อล้างแผลข้างในขาทั้งหมด ถึงปอยจะอยู่สายสุขภาพก็จริง แต่เราทำงานในเชิงฟื้นฟู รักษาอาการปวด เราไม่ทราบเลยว่าคนที่ติดเชื้อต้องนอนโรงพยาบาลนาน 6 สัปดาห์ พอหายจากครั้งแรก ปอยพบว่าความยากในการรักษาของปอยคือเรื่องของการติดเชื้อ และการติดเชื้อครั้งที่ 2 และ 3 ก็ตามมา ปอยยังกำลังใจดีอยู่ถึงแม้ร่างกายจะไม่ไหวแล้วก็ตาม ยิ่งพอมาติดเชื้อครั้งหลังๆ เริ่มมีความยากมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะล้างแผลข้างในเหล็กสะอาดแค่ไหน แต่ในความเป็นจริงเชื้อโรคนั้นยังไม่หมดไปและรอวันที่จะติดเชื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ ทางอาจารย์แพทย์ท่านเลยตัดสินใจเอาเหล็กออกในครั้งที่ 4 ใส่ซีเมนต์ไว้ที่ขาและดามเฝือกรอค่าการติดเชื้อของร่างกายลดลงเป็นปกติ ครั้งที่ 5 เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่ไทเทเนียมอันใหม่ โดยใส่ตั้งแต่ต้นขา (Femur) จนถึงเกือบๆ ข้อเท้า (Tibia) ซึ่งการผ่าตัดในครั้งนี้มีการย้ายกล้ามเนื้อน่องขวา (Muscle Flab) มาปิดบริเวณเข่าเพราะจากการผ่าตัดหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาทำให้เกิดพังผืดบริเวณเข่าจนไม่สามารถเย็บปิดได้และเหล็กก็มีขนาดใหญ่ด้วย คุณหมอจึงทำ Skin Graft (การย้ายผิวหนังไปปลูกถ่ายบริเวณอื่น) ไปปิดแทนที่ที่ตัดน่องมา เป็นการรักษาที่ไม่เคยมีความเจ็บปวดใดจะมากกว่านี้อีกแล้ว หลังจากพักจนอาการดีขึ้น ปอยกลับมาทำงานได้ 3 อาทิตย์ ก็พบว่าติดเชื้ออีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ภายในเดือนครึ่งปอยโดนผ่าไปอีก 3 ครั้ง เพื่อเข้าไปล้างเหล็กจากการติดเชื้อ ก่อนออกจากโรงพยาบาลพบว่าแผลที่ผ่าตัดไม่ติด จึงส่งไปให้ทางทีม Advance Wound Care ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นผู้ดูแล อาจารย์หมอท่านให้ปอยเข้าเครื่องไฮเปอร์แบริก (Hyperbaric Oxygen Therapy: HBO) เพื่ออัดออกซิเจนแรงดันสูงเข้าไปในเซลล์ ทำให้เนื้อเยื่อในตัวเราทำงานได้ดีขึ้น รักษาแผล ฟื้นฟูเซลล์เม็ดเลือดขาว ลดการอักเสบ และทำให้แผลเล็กลง แต่ก่อนจะถึงวันนัดเพื่อเข้าอุโมงค์ออกซิเจน ระหว่างนั้นปอยขาหักแบบทราบได้ทันทีโดยไม่ต้องเอกซเรย์ ปอยทนรอวันหมอนัดเพื่อที่จะเข้าไปนอนโรงพยาบาลทีเดียว พอถึงวันนัดอาจารย์ท่านทราบเรื่องจึงผ่าตัดดามส่วนหักก่อนแล้วจึงเข้าอุโมงค์ออกซิเจนต่อ เป็นการรักษาที่ต่อเนื่องและมีอะไรให้เราได้ตื่นเต้นอยู่ตลอด”

สู้…และสู้เท่านั้น

ในวันที่เราได้พูดคุยกับเธอ (20 มกราคม 2566) รุ่งขึ้นเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมกระดูกที่หัก ซึ่งเป็นครั้งที่ 9 ของเธอ เคสของปอยจึงถือว่าเป็นการรักษาที่หนักหน่วง แต่อย่างที่บอก เธอสู้เสมอ เราจึงถามต่อว่าแล้วเธอผ่านความยากตรงนั้นมาได้อย่างไร

“ตอนที่ป่วย ปอยสู้ทุกครั้ง ทำทุกอย่างเต็มที่ ช่วงผ่าตัดครั้งแรกๆ กำลังใจปอยดีมาก รวมถึงร่างกายเราแข็งแรงเลยฟื้นตัวได้ไว แต่พอมารอบหลังๆ ผ่าตัดเสร็จไปทำงานได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องกลับมาโรงพยาบาลอีก ปอยเหมือนต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ จากปกติที่ปอยชอบไปทำงาน เพราะได้เจอคนคนไข้ เพราะเป็นห่วงคนไข้เนื่องจากคนไข้ชุมชนที่ปอยไปเยี่ยมตามบ้าน พวกเขาไม่ได้มีเงินพอที่จะมาถึงโรงพยาบาล พอปอยไม่ได้ทำงานก็รู้สึกแย่ ขณะที่การรักษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ได้จบแค่ครั้งเดียว เลยยิ่งทำให้เครียดจนไม่อยากทำงาน ไม่อยากไปเจอใคร ปอยโทษตัวเองจนไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เพราะคิดว่าทำให้พ่อ แม่ และสามีต้องมาลำบาก พอมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น คุณหมอเลยส่งพบจิตแพทย์ ปรากฏว่าปอยมีภาวะซึมเศร้าซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว หลังจากรับยา ปอยดีขึ้น โดยมีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจ และมีเพื่อนที่ปอยคุยกับเขาได้ทุกอย่างอยู่เคียงข้าง ในจุดดำๆ ที่ปอยเจอยังมีจุดขาวซ่อนอยู่ นั่นคือความรักของพวกเขา ซึ่งทำให้ปอยกลับมาฮึดอีกครั้งว่ายังตายไม่ได้ เราจะต้องมีชีวิตอยู่เพื่อพวกเขา อีกบุคคลสำคัญที่เป็นคนที่ดึงปอยกลับมาได้จริงๆ คือจิตแพทย์ คุณหมอบอกกับปอยว่า เราไม่ใช่คนผิด ไม่มีใครอยากให้เกิด ถ้าสมมติพ่อแม่ไม่สบาย ปอยพร้อมจะทุ่มเทเหมือนที่เขาทุ่มเทให้ไหม ปอยตอบได้โดยไม่ลังเลเลยว่าทำแน่ จุดนี้เลยทำให้กลับมาย้อนคิดได้ว่านี่คือสิ่งที่เราลืมไป สามีพูดแบบเดียวกับปอยทุกวัน ใจความเดียวกันเลย แต่ตอนนั้นปอยคิดไม่ได้ จะมีคำบางคำที่จิตแพทย์สามารถดึงตัวเราออกมาได้ ปอยเลยอยากให้คนที่ท้อหรือไม่สบายใจไปพบจิตแพทย์ ไม่จำเป็นต้องรอจนเราเครียดขั้นสุด เพราะอย่างน้อยๆ คุณหมอสามารถทำให้เราเห็นมุมมุมหนึ่งที่อาจยังมองไม่เห็นว่ามีทางออก และบางทีความเครียดความกังวลนั้นไม่ได้มาจากตัวเรา แต่เป็นสารสื่อประสาทในร่างกายเราที่ไม่สมดุลด้วย”

ขอบคุณเธอ ขอบคุณฉัน และมุมมองที่เปลี่ยนไป

“ปอยอยากขอบคุณครอบครัวที่เชื่อมั่นในตัวปอย ที่ยอมเสียสละเวลาและเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลปอย การผ่าตัดใส่เหล็กครั้งแรกปอยจ่ายค่าเหล็กไปประมาณ 4 แสน และการผ่าตัดใส่เหล็กอันใหม่จ่ายอีกประมาณ 8 แสนบาท ไม่รวมค่าแอดมิดแต่ล่ะครั้ง ค่าเดินทางและหลายๆ อย่าง แทนที่จะได้ไปซื้ออะไรต่างๆ ที่พวกเขาอยากได้ แต่กลับต้องมาลงที่ลูก พ่อพูดกับปอยว่า “ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร พ่อขอแค่ให้ลูกมีชีวิตอยู่” ขอบคุณแม่และคุณยายที่รักและดูแลปอยอย่างดี ขอบคุณสามีที่ไม่เคยทิ้งปอยไปไหน รวมทั้งครอบครัวสามีด้วยที่ทุกคนดีกับเรามากๆ ขอบคุณผู้อำนวยการและหัวหน้าที่เข้าใจและช่วยเหลือในเรื่องงาน แพทย์และพยาบาลที่เมตตาปอย ขอบคุณอาจารย์แพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ดูแลและเอ็นดูปอยตลอดมา ขอบคุณเพื่อนที่อยู่เป็นเซฟโซนให้ปอยเสมอ ปอยซึ้งใจและขอบคุณจากใจค่ะ

“กับตัวเอง ปอยต้องบอกว่าปอยทนมากเลย ถ้ามองย้อนกลับไป ปอยไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เราสู้มาถึงขนาดนี้ ทั้งความเจ็บปวดจากคีโม การผ่าตัด การทานยา การกายภาพ รวมถึงการเดินทางไปกลับนครสวรรค์-กรุงเทพฯ ปอยอยู่กับความเจ็บปวดมากเกินไปจนทำให้เรามีภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ปอยอยากกอดตัวเองแน่นๆ แล้วบอกตัวเองว่าแกเก่งมากๆ แล้ว ขอบคุณตัวเองที่ยอมรักษาและอยากมีชีวิตอยู่ต่อ

“แต่ก่อนปอยเป็นคนหัวรั้น ดื้อ และมุทะลุสุดๆ แต่พอเป็นมะเร็งมุมมองของเราเปลี่ยนไป เรื่องบางเรื่องที่เคยเครียดมากๆ ปอยจะมีคำว่า ‘ช่างมัน’ มากขึ้นเยอะ จากคนที่ทำทุกอย่างเร็ว ซึ่งก็ยังเร็ว แต่ความเร็วลดลงเยอะ ถ้าเมื่อก่อนใครเข้าหาปอย ปอยจะมองในแง่ร้ายก่อน แล้วถ้าเขาเข้ามาดี ปอยถึงเปลี่ยนใจยอมรับ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าปอยมองคนในแง่ดีมากขึ้น มองในมุมดีๆ ของเขาแค่นั้นพอ ปอยเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่ใช้ชีวิตโลดโผน แต่ยังเกิดมะเร็งได้ ปอยเลยมองว่าโรคภัยเกิดได้หมดกับทุกคนไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร หรือในการดูแลคนไข้ เมื่อก่อนคำพูดของเรากับคนไข้จะห้วนๆ ห้าวๆ พอมาเป็นคนไข้เอง เรารู้แล้วว่าสิ่งที่คนไข้ต้องเจอคืออะไร กลายเป็นว่าการแสดงออกทุกอย่างเปลี่ยนไป เข้าอกเข้าใจคนไข้ และเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้มากขึ้น”

จะอยู่เคียงข้างเสมอ

“เป็นมะเร็งไม่ได้เท่ากับว่าต้องตาย บางคนพอทราบว่าเป็นมะเร็งแล้วก็ใจเสีย จากไปก่อนที่จะได้รักษา แต่ทุกวันนี้มะเร็งรักษาได้แล้ว ปอยเองเจอมาหนักมากยังอยู่ได้จนถึงวันนี้ ปอยเลยอยากให้ทุกคนอย่าเพิ่งท้อ การป่วยทำให้ร่างกายของเราไม่เหมือนเดิมก็จริง แต่เรามีทางเลือกในการรักษาที่มากขึ้นและมีตัวช่วยที่ทำให้เราอยู่ได้ใกล้เคียงเดิม ปอยยอมรับเลยว่าการให้คีโมหนักมากสำหรับปอยแต่มันก็ต้องให้เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอดของเรา อยากให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในการรักษา แพทย์ทุกคนมีความเก่งอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าโรคของเราอยู่ระดับไหน สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้ได้ มีความสุขกับปัจจุบันไม่ใช่ความสุขกับอดีตหรืออนาคต แล้วครอบครัวคือพลังใจที่ดีของคนไข้ คือกำลังสำคัญที่สุดที่จะช่วยประคองให้คนไข้มีชีวิตอยู่ต่อ ปอยเลยอยากให้ครอบครัวของคนไข้เข้มแข็งด้วย ที่สำคัญคือการเชื่อมั่นในตัวเราว่ายังมีโอกาสหาย เพื่อนที่ปอยบอกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของปอย เขาไปเรียนคอร์สจิตวิทยา เขาบอกว่าให้เราคิดเสมอว่าเราหายแล้ว แล้วความคิดจิตใต้สำนึกของเราจะเป็นตัวกำหนดให้เราไปได้ถึงจุดนั้นได้ ปอยทำตามดูและพบว่ามุมมองแบบนี้ทำให้ปอยรู้สึกดีขึ้นมาก ปอยจะต้องผ่าตัดพรุ่งนี้ ตอนนี้ปอยชิลล์มาก ไม่ได้กลัว ไม่ได้กังวลกับการผ่าตัดพรุ่งนี้เลยค่ะ ผ่าก็ผ่า ผ่าเถอะ มันปวดค่ะคุณหมอ

“ตอนนี้ปอยดีขึ้นจนสามารถมาแบ่งปันรื่องราวของปอยให้กับผู้คนได้แล้ว แต่ก่อนปอยไม่อยากคุยเลยนะคะ เพราะเครียด แต่พอมองมุมกลับกัน ปอยเจอในสิ่งที่คนอื่นควรระวัง ยิ่งมะเร็งกระดูกที่พบน้อยในผู้ใหญ่ ส่วนมากจะเกิดในเด็กและไม่แสดงอาการออกมา ไม่มีก้อนหรือว่าอาการปวด ต้องไปดูฟิล์มถึงจะเห็น เพราะฉะนั้น ไกด์ไลน์ก่อนหน้าไม่ได้มีให้เราเห็นมากเท่ามะเร็งชนิดอื่นๆ ในฐานะผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากทุกคนรอบข้างและทำงานด้านสุขภาพด้วย เราควรจะคืนสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับไปให้สังคมบ้าง ปอยเลยอยากมาแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประสบการณ์ของเราเป็นแนวทางให้กับคนอื่นๆ เพื่อให้เขาระมัดระวังมากขึ้น ไม่ต้องมาเจอแบบเรา และเป็นจุดเริ่มต้นให้คนอื่นได้ตระหนักถึงภาวะของคนที่เป็นโรคนี้ รวมถึงสิทธิ์การรักษา หรือขั้นตอนการใช้สิทธิ์ต่างๆ ว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น ไม่ต้องลังเลนะคะ ติดต่อมาคุยได้เลย ปอยยินดีมากๆ ค่ะ”

ทุกวันนี้ นอกจากงานประจำที่เธอรักในบทบาทนักกายภาพบำบัด ตอนนี้ปอยได้มีงานอดิเรกเพิ่มขึ้น นั่นคือการขายกระเป๋ามือสอง กิจกรรมซึ่งทำให้เธอมีความสุขและไม่ไปจดจ่ออยู่กับโรคหรือสิ่งที่เผชิญอยู่

“เชื่อเถอะค่ะ การที่เรากินอิ่มและนอนหลับได้ นั่นคือสิ่งที่วิเศษสุดๆ แล้วจริงๆ (ยิ้ม)”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: www.facebook.com/AkaraPOY6

ยุวดี พันธ์นิคม ผู้ปลดล็อคขีดจำกัดสู่ชีวิตแบบไร้ขีดจำกัด

“ข้อจำกัด” ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยนับว่าเป็นเรื่องที่เราต่างต้องมีและต้องเจอตลอดช่วงชีวิตหนึ่ง ใครหลายคนอาจถือเอาสิ่งที่ว่านี้มาเป็นข้ออ้างในการบอกกับตัวเองว่านี่คืออุปสรรคที่ทำให้ชีวิตไปได้ไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ไม่ใช่สำหรับ ออย – ยุวดี พันธ์นิคม เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูกและมะเร็งปอดเมื่อตอนอายุ 14 ซึ่งทำให้เธอต้องตัดขาซ้ายและปอดขวาเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ แม้มะเร็งจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่เธอสามารถก้าวข้ามความไม่สมบูรณ์นั้นได้ด้วยคำว่า “ไม่ยอมแพ้” ในวัย 36 ออยใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่รัก มีครอบครัวที่น่ารักอยู่เคียงข้าง เป็นนักวิ่งมินิมาราธอน และยังมีเพจเฟซบุ๊กชื่อ ออยลี่ฟอกซ์ ที่คอยจุดประกายและส่งต่อพลังดีๆ …สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเธอเองเท่านั้น แต่รวมถึงคนอื่นๆ ด้วยว่าการใช้ชีวิตได้อย่างดีด้วยการยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นเป็นอย่างไร  

เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ย้อนกลับประมาณ ม.3 เทอม 1 อายุประมาณ 14 ปี ตอนนั้นออยมีอาการปวดขา เป็นๆ หายๆ มาตลอด แต่คิดว่านั่นคืออาการปวดทั่วๆ ไป ไม่ได้สนใจอะไร จนเวลาผ่านไป ออยเริ่มปวดถี่ขึ้นๆ จนนอนเพ้อ เลยไปหาคุณหมอซึ่งตอนแรกยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่มีการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือเนื้องอกในกระดูก หลังจากผ่าตัดตรวจดูชิ้นเนื้อปรากฏว่าเป็นเนื้อร้าย คุณหมอเลยขอสแกนทั้งตัวถึงได้เห็นว่าออยเป็นมะเร็งกระดูกและลามไปที่ปอดซ้ายและขวา อยู่ในระยะกระจายแล้ว”

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การรักษาในเวลานั้นคือการตัดที่จุดกำเนิดเพื่อรักษาชีวิตไว้ ซึ่งหากไม่ตัด เธออาจจะเสียชีวิตภายใน 1-2 ปี หลังจากแผลผ่าตัดที่ขาด้านซ้ายเริ่มหายดี เธอเริ่มให้คีโมไปได้ระยะหนึ่งกระทั่งก้อนเนื้อมะเร็งที่ปอดซ้ายยุบลงเหลือ 5-6 มิลลิเมตร ขณะที่ด้านขวาไม่มีทีท่าว่าจะยุบลง ซึ่งด้วยสภาพร่างกายที่เริ่มไม่ไหว คุณหมอจึงแนะนำให้ออยตัดปอดด้านขวาออกเสีย “ตอนนั้นออยไม่ได้ปรึกษาใครว่าจะตัด ไปบอกกับคุณพ่อคุณแม่เลยว่า ลูกจะตัดปอดนะ เมื่อตัดปอดข้างขวาออกไป ออยให้คีโมมาต่อเนื่องมาจนกำลังจะเข้าสู่คอร์สที่ 9 จาก 12 คอร์ส ระหว่างเตรียมตัว ออยบอกพยาบาลว่าเวลาอ่านหนังสือ แต่ตาของเราไม่โฟกัสไปที่จุดที่มอง แต่จะเห็นด้านข้าง คุณพยาบาลเลยพาเข้าตรวจตาทันที ผลออกมาว่าเลือดออกที่ตาดำ ตาออยกำลังจะบอด จึงต้องหยุดให้คีโมเพราะไม่สามารถให้ต่อได้แล้ว คุณหมอเลยให้ออยกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน เรื่องของการรักษาคือจบแค่วันนั้น แต่มีติดตามผลกับคุณหมอต่อมาเรื่อยๆ จนผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว”

หลังจากหยุดการรักษา ออยใช้ชีวิตเป็นปกติทุกอย่าง ไม่ได้เข้มงวดเรื่องอาหารการกินมากนัก ขอเพียงมีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นอาหารที่ชอบ “ตอนที่เป็นมะเร็ง อาหารอย่างเดียวที่ออยทานได้คือมาม่าต้มยำกุ้งใส่โบโลน่า ซึ่งคุณหมอไม่เคยห้ามเลย ขอแค่อย่างเดียวว่าให้ใส่ไข่เพื่อเพิ่มโปรตีนสักหน่อย หลังจากเริ่มห่างจากการให้คีโม ออยก็ทานปกติอะไรนัวๆ มาได้เลยค่ะ

ส่วนที่ยากลำบากจะเป็นตอนที่ต้องใส่ขาเทียม ซึ่งก่อนที่จะได้ขาเทียมมา ทุกคนบอกไว้ว่าออยจะสามารถทำกิจวัตรได้เหมือนเดิมเลย ไม่ต้องกังวล เราก็วาดฝันไว้แบบนั้นเลย แต่พอได้มาแล้ว ถึงบ้านออยถอดทิ้งเลย เพราะขาเทียมไม้ที่ได้มาทั้งแข็งและหนักประมาณ 10-15 กิโลกรัม ใส่แล้วเจ็บมากแถมยังเดินได้ไม่เหมือนเดิม เรารู้สึกแย่ว่าทำไมทุกคนต้องหลอก เราวาดฝันจินตนาการว่าจะกลับไปเดินได้เหมือนเดิม ออยอยู่กับความรู้สึกนั้นพักใหญ่ๆ จนท้ายที่สุดมาคิดได้เองว่า ถ้าไม่ใส่ขาเทียม เราไม่สามารถทำอะไรได้สะดวก ถ้าไม่คิดที่จะหัดเดินได้เหมือนคนปกติ อนาคตเราไม่มีเลยนะ ความฝันที่อยากจบปริญญาตรี อยากดูแลคุณพ่อคุณแม่ จะทำไม่ได้นะ วันนั้นออยตัดสินใจลองหัดเดิน ถึงจะเจ็บแต่ต้องหัด และด้วยความโชคดีของออยที่เพื่อนๆ คอยช่วยตลอด จำได้ว่าต้องใช้เวลาเกือบปีถึงจะกลับมาเดินได้ด้วยขาเทียมเพราะออยลืมการเดินไปแล้ว ช่วงแรกออยยังเดินได้ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนขาจริง จนเปลี่ยนมาใช้ขาปัจจุบันที่วัสดุและองศาการพับใกล้เคียงกับสรีระทำให้การเดินของออยเป็นการเดินแบบปกติที่ใช้สะโพกซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการเดินได้แล้ว”

วิ่ง วิ่ง และวิ่ง…สิ่งซึ่งทลายกำแพงที่ชื่อว่า ‘ข้อจำกัด’

“ออยเกลียดการเดินมาตลอด เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ออยพยายามเดินให้น้อยที่สุด แค่ 100 เมตรก็ไม่อยากจะเดินแล้ว และจะเป็นคนที่นั่งคอยเสมอ ถ้าไปเที่ยวกับลูกและสามี เราจะให้คุณพ่อพาลูกไป ส่วนตัวเองจะนั่งคอย ไม่ได้ทำทุกกิจกรรมร่วมกับลูกเพราะว่าเราเจ็บเวลาที่เดิน จนเข้าสู่วัย 30+ ออยมีความรู้สึกว่าไม่อยากโดนทิ้งไว้ข้างหลังและอยากไปได้ไกลกว่านี้ ปี 2562 ออยบอกกับสามีว่า “ฉันอยากบอกรักตัวเอง ปีนี้ฉันจะให้ของขวัญตัวเองด้วยการออกกำลังกายนะ” สามีก็พาไป ช่วงแรกออยออกกำลังกายกับอุปกรณ์ที่มีในสวนสาธารณะอยู่ประมาณ 15 นาที ซึ่งแค่นั้นก็เหนื่อยแล้วและจะมานั่งรอจนสามีออกกำลังกายเสร็จ กระทั่งวันหนึ่งอยากลองเดินดู แต่เดินแค่ 200 เมตรแรก ออยเริ่มเจ็บขา เลยเดินๆ พักๆ จนครบ 1 กิโลเมตร จำได้ว่าใช้เวลาอยู่ประมาณ 23 นาที แต่หลังจากวันนั้น ออยจะพยายามเดินทุกครั้งเมื่อออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อย และมาสังเกตตัวเองว่า 200 เมตรที่เคยเจ็บในวันแรก เราไม่ได้เจ็บที่จุด 200 เมตรแล้ว ความเจ็บเริ่มลดน้อยลง ขณะที่เราเดินได้ในระยะทางที่ไกลมากขึ้น สุดท้ายจุดเจ็บของออยมาจบที่ 3 กิโลเมตร ตั้งแต่นั้นมาเลยอินกับการเดินมาโดยตลอดเลยค่ะ”

ในปีเดียวกัน เธอได้เห็นประกาศโครงการ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่ Run for New Life Story” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดรับคัดเลือกบุคคลซึ่งมีปัญหาทางด้านสุขภาพ น้ำหนักเกิน เป็นผู้พิการ ออฟฟิศซินโดรม และมีความฝันที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองให้มีสุขภาพและชีวิตดีขึ้นด้วยการวิ่ง ซึ่งนี่เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเธอ

“โครงการนี้เป็นการชวนคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยมาลองวิ่งดูที่ระยะทาง 10 กิโลเมตร พอได้ดูรายละเอียด เรารู้สึกว่าฝันของตัวเองเริ่มใหญ่ขึ้นว่าอยากจะไปเตะจุด 10 กิโลเมตรให้ได้ เลยลองเขียนชีวิตและเหตุผลต่างๆ ส่งเข้าไปที่โครงการดู ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 บุคคลต้นแบบ ได้ไปฝึกโดยมีโค้ชและนักโภชนาการมาช่วยดูแล” ซึ่งเธอสามารถวิ่งในระยะทาง 10 กิโลเมตร ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 9 วินาที เป็นการพิชิตมินิมาราธอนแรกได้ของเธอเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562

“การวิ่งเปลี่ยนแปลงตัวออยไปหลายๆ อย่าง เวลาวิ่งออยไม่ได้ฟังเพลงเพราะอยากปล่อยให้สมองโล่งๆ เป็นหนึ่งช่วงโมงที่ได้อยู่กับตัวเองและกลับมารักตัวเองในแบบที่เป็น กลายเป็นว่าทุกครั้งที่มีปัญหาหรือความเครียด การวิ่งทำให้ออยสลัดความรู้สึกแย่ๆ ออกไปได้หมดและกลับมามีความสุขได้อีกครั้ง ต้องบอกว่าทุกครั้งที่วิ่ง ออยจะเจ็บและได้แผลกลับมาเสมอ มีคนถามเหมือนกันนะว่า แล้วคุณจะทรมานตัวเองทำไมในเมื่อคุณเจ็บ แต่ความเจ็บนั้นไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป อาบน้ำ นอน อีกวันหนึ่งความเจ็บนั้นก็หายไป นอกจากจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของร่างกายและสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นแล้ว การวิ่งยังสอนอะไรออยอีกหลายอย่าง ทั้งการฝึกจิตใจ ความอดทน สติ สมาธิ ได้มิตรภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้เราชนะตัวเอง รักตัวเอง ลืมข้อจำกัดของตัวเอง และอยากทำให้ตัวเองดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือมันทำให้ออยสามารถเดินเคียงข้างสามีและลูกได้โดยที่ไม่ต้องนั่งรอพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกเช้าที่เป็นวันหยุดออยจะต้องปลุกสามีออกไปวิ่งด้วยกัน ทางนี้ก็จะบ่นว่า “ไม่น่าเล้ย” (หัวเราะ)”

ที่เปลี่ยนไปคือ ‘หัวใจและทัศนคติ’

“ก่อนที่จะเป็นมะเร็ง ออยมีความรู้สึกว่าใครเป็นโรคนี้นี่โชคร้ายนะ เพราะเป็นแล้วต้องตาย ครอบครัวออยคิดแบบนี้เหมือนกัน พวกเขาเลยพยายามจะอยู่ใกล้และตามใจเราให้มากที่สุดเพราะคิดว่าออยคงมีเวลาเหลืออีกไม่นาน ตอนที่ต้องตัดขา ออยต้องการกำลังใจและความเห็นใจจากคนอื่นมากๆ โดยเฉพาะคนปกติ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าจะคิดว่า ทำไมคนในขบวนถึงไม่ลุกให้เรานั่งนะ เราเป็นคนพิการนะ จนวันหนึ่งที่ออกมาใช้ชีวิตจริงๆ ได้เห็นโลกภายนอก ได้เห็นศักยภาพตัวเอง ออยรู้สึกโชคดีมากที่ตัวเองเป็นแค่นี้และยังไม่ตาย ซึ่งการมีชีวิตอยู่ทำให้เราได้ทำอะไรได้อีกเยอะมาก

แม้มะเร็งจะทำให้ออยไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม แต่มะเร็งทำให้เรายอมรับ เห็นคุณค่า และรักตัวเองในแบบที่เป็น เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีใครลุกให้นั่ง ออยจะมองอีกแบบแล้วว่าเพราะเราแข็งแรงไง หรือเขาอาจจะเหนื่อยจากงาน ตอนนี้ไม่รู้สึกไม่ดีอะไรอีกแล้ว ออยเสียดายเวลาที่ผ่านมาว่าตัวเองมัวไปนั่งน้อยใจกับโชคชะตาทำไม ถ้ามีโทรศัพท์ที่โทรกลับไปบอกตัวเองในอดีตได้ ออยจะบอกกับตัวเองว่าดีแล้วนะที่ตัดสินใจตัดขาและปอด เพราะอนาคตของเธอดีมากและมีความสุข แล้วกลายเป็นว่าพลังบวกเหล่านี้ยังแผ่ขยายไปให้คนรอบๆ ตัวเราด้วย”

ความสวยงามของฟ้าหลังฝน

“การที่ออยประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีคุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว เพื่อนๆ สามี และลูกที่อยู่เคียงข้างกับเรามาในทุกๆ จังหวะชีวิต ไม่ว่าจะร้องไห้หรือมีความสุขอย่างทุกวันนี้ พวกเขาคือสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นของขวัญในชีวิต สิ่งที่มะเร็งมอบให้ออยคือทำให้เรารู้จักคุณค่าของเวลา คนรอบข้าง และได้รู้แล้วว่าการใช้ชีวิตให้คุ้มค่านั้นเป็นอย่างไร ต่อให้ตอนนี้ออยเหลือเวลาอยู่แค่ 3 เดือน ออยจะไม่เสียใจแล้ว แต่จะใช้เวลาทั้งหมดที่มีทำอะไรต่อมิอะไรอย่างเต็มที่ พูดขอโทษ ขอบคุณ อโหสิกรรม ทำสิ่งที่ดีกับคนที่รัก ทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างสุดความสามารถ และจะทำให้ทุกนาทีของการมีชีวิตอยู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดายอีกต่อไป”

ขอจงหนักแน่นและยืนหยัดเพื่อจะมีชีวิตอยู่

“ตอนผ่าตัดปอด คำพูดแรกหลังจากตื่นขึ้นคือ “พ่อปล่อยออยไปเถอะ ออยไม่ไหวแล้ว อย่ายื้อ อย่ารั้งออยไว้อีกเลย” แต่ความรักและกำลังใจของคนรอบๆ ตัวที่ส่งมาให้มีมากเหลือเกิน มากจนทำให้เรากลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง ออยบอกตัวเองว่าเราจะท้อ จะหมดหวังทำไม ในเมื่อพลังบวกที่พวกเขาส่งมาให้เต็มเปี่ยม พวกเขาพร้อมสนับสนุนเราทุกๆ อย่างขนาดนั้น ใจเราต้องให้ร้อยกลับไป ต้องสู้ให้เต็มที่สิ จริงๆ ออยไม่คิดเลยว่าตัวเองจะผ่านมาได้จนถึงตอนนี้ก็ 20 กว่าปีแล้วนะคะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะบอกได้ก็คือ หากคุณหมอแนะนำอะไร อย่าดื้อเลยค่ะ ออยอยากให้ลองมองสิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพลังใจจากคนรอบข้างหรือสิ่งดีๆ จากตัวเอง เช่นว่าวันนี้ฉันทำอะไรได้บ้าง ฉันเดินได้ 1 ก้าวนะ วันต่อไปเดินได้ 2 ก้าวแล้ว จากจุดเล็กๆ แบบนี้คุณจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ออยอยากให้คนที่กำลังท้อหรือหมดกำลังใจลองใช้ชีวิตอยู่โดยมองที่ปัจจุบันขณะ ทำหน้าที่ของตัวเองในวันนี้ นาทีนี้ให้ดี ถ้าวันนี้เหนื่อยแล้ว หยุดพัก แล้วพรุ่งนี้เรามาเริ่มกันใหม่”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล   
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: ยุวดี พันธ์นิคม

กว่าจะมาเป็นแม่บ้านสายคีโม โบ-เสาวณิช ผิวขาว ผู้ฝ่าวิกฤตชีวิตไปพร้อมกับการรักษามะเร็งถึงสามครั้ง

หลายคนอาจรู้จัก โบ-เสาวณิช ผิวขาว จากคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ซึ่งเธอเขียนสูตรอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง สำหรับทำที่บ้านด้วยตัวเอง ลงประจำทุกเดือนในเพจ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และบางท่านก็อาจทราบมาว่า ก่อนจะมาเป็นคอลัมนิสต์ที่ชวนคนทำอาหารไปพร้อมกับการมองโลกในแง่ดี ชีวิตของโบต้องเผชิญกับโรคมะเร็งถึงสองครั้ง การสูญเสียคนที่รักอีกสองหน รวมถึงภาวะซึมเศร้าอันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ทั้งสอง และล่าสุดกับการต้องพบการกลับมาของมะเร็งเป็นครั้งที่สาม ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เธอยังคงสู้กับมัน…

หากยึดถือตามความเชื่อเรื่องเบญจเพสที่ซึ่งช่วงวัยที่ ‘ดวงตก’ ของผู้คนอยู่ที่วัย 25 เบญจเพสของโบก็มาช้าไป 7 ปี “มันแย่จนถึงขนาดเราตั้งคำถามว่าเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” โบย้อนคิดถึงห้วงเวลาหนึ่งในขณะที่เธอกำลังรักษามะเร็งครั้งแรก 

แต่นั่นล่ะ โบก็ฟันฝ่ามาได้ และยืนหยัดด้วยทัศนคติเชิงบวกในทุกวัน เธอบอกว่าวิกฤตทำให้เธอเคยไม่อยากมีชีวิต แต่ในทางกลับกัน เมื่อเวลาผ่านไป วิกฤตเดียวกันนี้ก็สอนให้เธอตระหนักในคุณค่าของมัน และนี่คือข้อคิดที่ตกตะกอนมาจากชีวิตของสาวแกร่งที่สู้กับมะเร็งถึงสามครั้ง และอีกหนึ่งความซึมเศร้าเพียงลำพัง  

พบมะเร็งเพราะเพื่อนจ้างให้ไปหาหมอ

            “จริงๆ เราเจอก้อนเนื้อที่หน้าอกมาได้สักพักแล้ว คือนอนๆ อยู่ก็คลำเจอ แต่คิดว่าเป็นลูกหนู ก็เลยชะล่าใจ” โบย้อนคิดถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด อย่างไรก็ดี คำว่า ‘สักพัก’ ที่โบว่าคือการปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาสองปี จนมาปี 2554 ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น และเธอเริ่มรู้สึกเจ็บ คล้ายมีใครเอาเข็มมาแทงเนื้อ

            “เราก็ยังชิลล์อยู่อีกนะ คือไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้ายอะไร อายุแค่สามสิบต้นๆ เองตอนนั้น ก็บ่นให้เพื่อนฟังว่าเจ็บ เพื่อนก็บอกให้ไปหาหมอ เราก็ดื้อดึงไม่ไป จนเพื่อนบอกว่าจ้างให้ไปก็ได้ ไปดูหน่อยเถอะ ก็เลยไป” 

            กระทั่งหลังผลเอ็กซ์เรย์ว่ามีก้อนเนื้อขนาด 4 เซนติเมตรอยู่ในทรวงอกด้านขวา โบก็ยังไม่คิดว่านั่นคือเนื้อร้าย คุณหมอทำการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หนึ่งเดือนเศษล่วงผ่าน ผลปรากฏว่าเธอเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2A อีกนิดเดียวก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3…

            “พอทราบผลก็ช็อคเลย เพราะไม่คิดจริงๆ ว่าเราจะเป็นมะเร็ง ก็เป็นคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่แหละ แต่ก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง จำได้ว่าพอหมอบอกว่าเราเป็นมะเร็ง หมอก็อธิบายขั้นตอนการรักษาให้เราฟัง แต่เราไม่ได้ยินอะไรเลย ในหัวมันอื้ออึงไปหมด จนหมอพูดจบ บอกกับเราว่ามีอะไรจะถามไหมครับ”

โบสารภาพว่าคำถามในหัวเยอะมากจนประมวลออกมาไม่ทัน ซึ่งเธอถามหมอไปเพียงแค่

“แล้วหนูยังกินเบียร์ได้อยู่ไหมคะ” เธอเล่าติดตลก แต่ก็ยอมรับว่าตอนนั้นเธอตระหนักแล้วว่าชีวิตหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

ต่อสู้กับการสูญเสีย

            โบเป็นลูกสาวคนเล็กในครอบครัวที่เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวมากว่า 50 ปีในจังหวัดตราด พ่อของโบจากไปเมื่อตอนที่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ก่อนที่เธอจะพบเนื้อร้าย โบทำธุรกิจขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โดยใช้ชีวิตที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งเธออยู่ที่นั่นเพียงลำพังตลอดหลายปีในการรักษามะเร็ง

            “เรารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มจากการผ่าตัดสงวนเต้า ก่อนจะทำการฉายแสงและเคมีบำบัดตามขั้นตอน ก็ไปรักษาคนเดียว ถ้าช่วงไหนอาการหนักไปไม่ไหว ก็รบกวนให้เพื่อนขับรถพาไปโรงพยาบาลบ้าง พอต้องอยู่กับโรคเพียงลำพังก็มีอาการซึมเศร้านะ ถึงขนาดคิดว่าไม่ต้องรักษาก็ได้ แต่ที่สู้เพราะแม่ยังอยู่ เราอยากอยู่เพื่อแม่” โบกล่าว

            กระนั้นในช่วงที่เธอรักษาจนครบขั้นตอนและมีแนวโน้มว่าจะหายขาด ชีวิตก็กลับมาเผชิญกับวิกฤต เดือนกรกฎาคม ปี 2559 พี่ชายของเธอประสบอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต ขณะที่อีก 5 เดือนต่อมา ระหว่างที่เธอกลับมาอยู่เป็นเพื่อนแม่ที่จังหวัดตราด แม่ของโบก็พบเนื้อร้ายในถุงน้ำดีขึ้นมาอีกคน สองแม่ลูกต้องไปหาหมอพร้อมกัน คนหนึ่งคือช่วงเวลาที่ใกล้จะหาย กับอีกคนคือช่วงเวลาที่เพิ่งเริ่มเป็น แต่แม่ของโบไม่ได้โชคดี เพราะมะเร็งที่เกิดในร่างแม่ของเธออยู่ในระยะสุดท้าย ไม่นานหลังจากนั้น แม่ของเธอก็จากไปในเดือนมกราคม 2560  

            “ทุกอย่างเหมือนพังทลาย ที่เราอยากหายจากโรคก็เพราะจะได้อยู่กับแม่ แต่พอแม่ไม่อยู่แล้ว เราจมดิ่งเลย คิดว่าแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม คนที่เรารักจากไปหมด ไม่เห็นต้องมีเราแล้วก็ได้” โบกล่าวเสียงเศร้า

            ความเครียดจากการสูญเสียคนในครอบครัวในเวลาใกล้กันถึงสองคน ยังส่งผลให้เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในกระดูกอีก…

            “มะเร็งที่หน้าอกมันกำลังจะหายแล้ว เพราะรักษาไปตามคอร์สจนหมด แต่เพราะความเครียด หมอจึงพบมะเร็งที่กระดูก ตอนพบเราคิดจะบอกหมอว่าไม่ต้องรักษาหรอก แต่หมอบอกว่ามันเป็นแค่ระยะเบื้องต้น ไม่ต้องผ่าตัดและให้ยาไปตามอาการก็หายได้”

            กระนั้นโบก็ไม่อยากมีชีวิตต่ออยู่ดี

            “เราพบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าอีก ชีวิตไม่เหลือความหวังอะไร จำได้ว่าหลังงานศพแม่ ก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ มีอยู่คืนหนึ่ง อุ้มเส้นใหญ่ (สุนัขพันธุ์เฟรนซ์บูลด็อกผสมชิวาวา ที่เธอเลี้ยงเป็นเพื่อนในช่วงที่เป็นมะเร็งครั้งแรก – ผู้เขียน) ขึ้นไปบนดาดฟ้าของตึก นั่งอยู่บนนั้นและคิดว่าจะกระโดดลงมาพร้อมกับหมา เราทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ชีวิตพอแค่นี้…

            เรานั่งนิ่งบนนั้นตั้งแต่ดึกจนถึงเช้า มีห้วงที่คิดว่าจะกระโดดลงมา แต่ก็ยังนั่งอยู่ต่อไป จนพระอาทิตย์ขึ้น จังหวะที่พระอาทิตย์ขึ้น เหมือนมีอะไรบางอย่างมาดลใจบอกว่ายังตายไม่ได้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ และถ้าตายไป ทุกคนต้องเสียใจแน่เลย ทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายเรา ทุกคนเสียสละให้เราอยู่ เรายังไม่ได้ตอบแทนอะไรพวกเขาเลย เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ สะสมบุญ และทำบุญให้พวกเขา…

เช้าวันนั้นเลยคิดได้ว่าเราต้องรักษาให้หายทั้งมะเร็งและโรคซึมเศร้า เราจะมีชีวิตอยู่” โบ กล่าว    

 อาหารคือยา และการสู้กับมะเร็งครั้งที่สาม

            ทุกวันนี้โบเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ในย่านเสนานิคม ชื่อว่า ‘เตี๋ยวเลียง เสาวณิช’ ต่อยอดสูตรการปรุงของแม่ของเธอ สู่เมนูก๋วยเตี๋ยวที่คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีที่เหมาะให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับประทานได้อย่างถูกปากและปลอดภัย ด้วยความเชื่อที่ว่าถึงเป็นผู้ป่วยก็ควรได้รับประทานอะไรอร่อยๆ เช่นกัน

            “อาหารมันเป็นยา คุณค่าทางโภชนาการก็เรื่องหนึ่ง แต่รสชาติที่อร่อยมันก็ทำให้เรามีความสุข เป็นยาทางใจ ตอนเราป่วยเรารู้สึกไม่อยากกินอะไรเลย มันเบื่ออาหาร ถึงบางทีจะรู้สึกอยากกิน ก็มาเจอว่าหลายเมนูมันไม่อร่อย นอกจากเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็มาคิดต่อว่าเราแจกสูตรอาหารให้ผู้ป่วยทำเองอยู่กับบ้านได้นี่ ให้การทำอาหารเป็นกิจกรรมยามว่าง แถมยังได้ออกกำลังกายที่ไม่หนัก เป็นยาใจอีกแบบให้ผู้ป่วยด้วย” โบ พูดถึงแรงบันดาลใจอีกอย่างนั่นคือคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ที่เธอเขียนประจำในเพจ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

            อย่างไรก็ตาม สี่ปีให้หลังจากการรักษามะเร็งครั้งที่สอง เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โบก็รู้สึกถึงอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะต้องยืนทำงานทั้งวัน กระทั่งอาการปวดลุกลามและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องไปเอ็กซ์เรย์ที่โรงพยาบาล

            วันที่ 6 มีนาคม 2563 – คุณหมอก็ได้ยืนยันว่ามะเร็งกลับมาที่กระดูกสันหลังตั้งแต่ต้นคอยาวไปจนถึงช่วงเอว ซึ่งอยู่ในระยะที่ 3 อันเกิดจากการแผ่กระจายมาจากเต้านมในครั้งแรก…   

            จากคนที่มีฮึดและใกล้จะเอาชนะโรคซึมเศร้าได้สำเร็จ มะเร็งก็กลับมาหลอกหลอนเธออีกครั้ง ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจไม่น้อย อย่างไรก็ดี ครั้งนี้โบตัดสินใจปฏิเสธการรักษาแบบเคมีบำบัดและฉายแสงเช่นที่แล้วมา โดยอาศัยแพทย์ทางเลือกหรือธรรมชาติบำบัดแทน

            “ตอนแรกคุณหมอก็ไม่เห็นด้วยกับเรา โดยบอกว่าถ้าไม่ทำเคมีบำบัด เราอาจเหลือเวลาในชีวิตไม่เกิน 18 เดือน แต่เราก็บอกว่าเราตัดสินใจจะรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ซึ่งท้ายที่สุดคุณหมอก็ยอมรับการตัดสินใจ” โบ กล่าว

            อาหารการกินคืออาวุธแรกที่เธอใช้ต่อสู้กับโรค เธอบอกเคล็ดลับว่าในทุกมื้อ เธอจะรับประทานผักใบเขียวปั่น 1.5 กิโลกรัม รับประทานเต้าหู้ในปริมาณมาก พร้อมกับอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อาวุธอย่างที่สองคือการฝึกจิตด้วยการนั่งสมาธิและปฏิบัติกรรมฐานในทุกวัน โบบอกว่าเธอตั้งใจใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุขที่สุด ความสุขที่เกิดขึ้นจากภายในของตัวเอง และความสุขที่มอบให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเมนูอาหารแจกในฐานะแม่บ้านคีโม หรือในปัจจุบันที่หลายครอบครัวต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจจาก Covid-19 เธอก็ร่วมลงทุนทรัพย์และลงแรงทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ที่เดือดร้อน

            “ถ้าชีวิตเราเหลืออีก 18 เดือนจริงๆ ก็อยากทำให้ดีและมีความสุขที่สุด สร้างคุณค่าในตัวเอง และมอบสิ่งที่ดีแก่ผู้อื่นในทุกวัน” โบกล่าว อย่างไรก็ดีเธอก็ยืนยันว่าการตัดสินใจเช่นนี้ หาใช่การยอมแพ้…

“ยังไงก็ตามแต่ การเตรียมตัวของเราในครั้งนี้ ไม่แปลว่า เราท้อแท้หรือไม่สู้กับโรคนะคะ เรายังคงสู้กับโรคทุกลมหายใจ เราเคยชนะมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งนี้เราก็ต้องชนะให้ได้อีกครั้งในแบบฉบับของเรา สู้ด้วยหัวใจ สู้ด้วยพลังบวกจากเพื่อนๆ รอบข้าง สู้สู้!” หญิงสาวที่ได้แรงบันดาลใจจากพลังในการสู้ชีวิตจากแม่และจากเพื่อนรอบข้างกล่าว พร้อมกำชับให้เราเติมรอยยิ้มของเธอลงท้ายประโยคมอบให้แก่ผู้อ่าน

เช่นเดียวกับทีมงาน Art for Cancer by Ireal ที่เป็นหนึ่งในผู้ให้กำลังใจโบ และเชื่อมั่นว่าเธอจะผ่านโรคภัยครั้งนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง เฉกเช่นครั้งแล้วๆ มา

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: เสาวณิช ผิวขาว