ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายลุกลามสู่หัวใจ โอกาสรอดเป็นศูนย์ อยู่รอดได้หนึ่งวันคือกำไร

ในชีวิตหนึ่งคนเราอาจต้องเจอกับวิกฤติปัญหาหนักที่ทำให้ท้อแท้สิ้นหวัง แต่หากเราจมอยู่กับความรู้สึกนั้นต่อไปก็จะไม่มีวันชนะอุปสรรคหรือประสบความสำเร็จได้เลย นี่คือเรื่องราวการต่อสู้กับมะเร็งของ เบลล์ – ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ และ คุณพ่อ -กนกพล ขัติยะกาญจน์ ซึ่งต่างก็ไม่ยอมท้อถอย ร่วมกันเอาชนะวิกฤติครั้งนี้มาได้อย่างเหลือเชื่อ ในขณะนั้น เบลล์ เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายลุกลามเข้าสู่หัวใจ ซึ่งโอกาสที่จะรอดแทบเป็นศูนย์ ทว่าเธอผ่านวิกฤตินั้นมาได้อย่างไร

โอกาสรอดเท่ากับศูนย์ อยู่รอดได้หนึ่งวันคือกำไร

เบลล์: “ตอนแรกก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งนะ ยังใช้ชีวิตลั้ลลาเรียน ป.โท อยู่เมืองนอก ตอนนั้นก็ยังเด็กเนอะ อายุแค่ 26 ไฟแรง เต็มที่กับทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องงาน, เรื่องเที่ยว, ยกเว้นเรื่องดูแลตัวเอง นอนน้อย กินอะไรไม่ระวัง จนวันหนึ่งเกิดเป็นลม แล้วมาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 2 เริ่มจากพบชิ้นเนื้อที่ปอดขนาด 9-10 เซนติเมตร ตอนนั้นก็ยังคิดว่าไม่น่ามีปัญหา คุณหมอก็รักษาตามอาการซึ่งยังมีความหวังว่าจะหาย แต่พอลามเข้าไปอยู่ในหัวใจ ก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าจะเป็นยังไง”

คุณพ่อ: “ตอนนั้นหมอทุกที่ก็บอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะหาย คุณหมอบอกตลอดชีวิตเคยพบเพียงสองเคส รายแรกก็เสียชีวิตไปแล้ว เบลล์เป็นรายที่สอง แค่คิดว่าอยู่เกินวันหนึ่งก็กำไรไปวันแล้ว วารสารต่างประเทศก็ไม่มี (วารสารทางการแพทย์) หมอบอกไปดูได้เลย ไม่มีรายไหนรอด”

ในระหว่างการรักษา เบลล์ ต้องวิ่งเข้าออกโรงพยาบาลถึง 7 โรงพยาบาล ใช้เวลา 3 ปี รักษาด้วยเคมีบำบัดนับครั้งไม่ถ้วน ต้องฉายแสงอีกมากมายหลายครั้ง และดูเหมือนจะไร้ทางออก

เบลล์: “ในตอนนั้นเป็นเรื่องการทดลอง เนื่องจากการรักษาเป็นไปตามสถิติ แต่กรณีเบลล์ไม่มีสถิติให้เทียบ”

คุณพ่อ: “เราก็ต้องติดต่อไปต่างประเทศเพื่อขอความเห็นหลายที่ ทั้งจากสกอตแลนด์, เยอรมัน, อเมริกา พอได้ชื่อตัวยามาก็นำเอกสารมาให้คุณหมอดู ได้อะไรใหม่มาหาทางแปลเพื่อทำความเข้าใจ ตอนนั้นทำทุกอย่างแข่งกับเวลา เราต้องได้ยาก่อนที่อาการจะทรุด เพราะถ้าทรุดแล้วให้ยาก็ไม่ทัน”

เบลล์: “ยาที่ได้ต้องให้ถูกจังหวะ ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่ให้ยาแล้วจะใช้ได้ต้องเข้ากันได้กับร่างกายเรา เพราะฉะนั้น มันเป็นจังหวะมาก ๆ ซึ่งต้องวางแผนไว้อย่างพอดี หากเป็นช่วงที่ร่างกายไม่พร้อมโอกาสของเราก็หายไป เหมือนช่วงหนึ่งต้องการใช้เสต็มเซลของตัวเอง แต่บังเอิญติดเชื้อที่ลำไส้เสียก่อน โอกาสนั้นเลยหายไป”

คุณพ่อ: “ช่วงหนึ่งที่เบลล์เขารับยาจนร่างกายอ่อนแอ จนสภาพจะไม่ไหวแล้ว ยาที่ให้ก็ค่อนข้างแรง และโดนไปหลายรอบ เป็นคนอื่นโดนไปก็คงไม่รอดแล้ว ตอนนั้นคุยกับหมอ หมอดีใจว่าให้ยาแล้วรอดมาได้ ไม่ใช่หายนะ! แต่หมายถึงทนยาได้”

สั่งเสียพร้อมลาจาก แต่พ่อสั่งห้ามตายก่อน

ช่วงหนึ่งที่เบลล์ท้อสุด ๆ คิดว่าเธอเป็นภาระให้คนอื่นเดือดร้อนจนถึงขั้นสั่งเสียพร้อมจะลาจากโลก แต่ก็กลับลุกขึ้นมาสู้ได้อีกเพราะคำของพ่อที่ว่า “มึงห้ามตายก่อนกู!”

คุณพ่อ: “คนจีนเขาจะถือว่าผมขาวไปเผาผมดำเป็นเรื่องที่เศร้าที่สุด แล้วเราจำเป็นต้องดุ เพราะสภาพเขาตอนนั้นไม่ไหว ต้องเตือนสติ ดึงกลับมาให้อยู่”

เบลล์: “ใช่ ๆ เหมือนเป็นคำสั่ง โปรแกรมในจิตใต้สำนึก เราก็กลับไปนอนคิดว่าเราเห็นแก่ตัวที่ไม่ยอมสู้ เหมือนหลายครั้งที่ต้องผ่าตัดใหญ่ เบลล์ก็จะฝันว่ามีคนมาชวนไปเที่ยวไปเล่น แต่จะรู้ว่ายังไปไม่ได้ ต้องไปขออนุญาตป๊าก่อน เดี๋ยวป๊าด่า ตายไม่กลัวกลัวป๊าโกรธ ชีวิตเราเขาเป็นผู้ดูแล เป็นคนให้กำเนิด เราต้องอยู่เพื่อส่งป๊าก่อน”

คุณพ่อ:”ช่วงนั้นมันก้ำกึ่ง เหมือนอยู่บนเส้นด้ายบาง ๆ ต้องประคองไปให้ได้”

ผู้ป่วย ญาติ หมอ ทำงานกันเป็นทีม

นอกจากคำพูดของคุณพ่อจะเป็นการเตือนสติให้เบลล์กลับมามีกำลังใจแล้ว ระเบียบการจัดการปัญหาของครอบครัวก็สำคัญด้วย

คุณพ่อ: “คือมันอย่างนี้ พอตกเย็นนั่งกินข้าวร่วมกัน แต่ละคนเจอปัญหาอะไรก็จะพูด เราเจออะไรมาก็จะเล่าแนะนำให้รับรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา คือสมัยก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ เราก็จะฟังจากผู้ใหญ่ ทุกวันเขาก็จะมานั่งแล้วก็มาสอน ว่าเขาเจออะไรมาบ้าง เขาแก้ยังไงจบยังไง ไม่รู้บ้านอื่นเขาเป็นแบบนี้รึเปล่านะ อย่างกรณีของเบลล์นี่ก็ต้องช่วยกันทุกคน น้องชายไปบวชให้ น้องสาวไปติดต่อหมอ คุณแม่ทำกับข้าว ผลัดกันดูแล”

เบลล์: “ป๊าเหมือนเป็นเอ็มดีบริษัท เป็นคนวางแผนจัดการให้ ทุกคนเป็นเหมือนทีมงานที่ต้องแบ่งงานกันทำตามเป้าหมาย และต้องรับผิดชอบร่วมกัน”

คุณพ่อ: “ทุกส่วนต้องช่วยกัน เราต้องคุยกับหมอรู้เรื่อง คนที่บ้านก็ต้องช่วยกันดูแล จะมาเสียเวลาทะเลาะกันไม่ได้ สภาพแบบนั้นทุกคนเครียด เราก็เครียด หมอก็เครียด ต้องไปกันได้ทั้งหมด”

เบลล์: “ก็เปรียบเหมือนรถสามล้อที่มีผู้ป่วยเป็นล้อหน้า ญาติกับหมอเป็นอีกสองล้อหลังที่ต้องวางล้อให้ตรงเพื่อเคลื่อนไปให้ตรงเป้า ไม่งั้นผลการรักษาก็ไม่คืบหน้า”

คุณพ่อ: “คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ยอมบอกความจริงกับหมอ กลัวหมอว่า เมื่อเราไว้ใจให้เขารักษาต้องบอกเขาให้หมด ว่าไปกินอะไรมา เช่นไปกินยาทางเลือกมาก็จะปิดบัง แล้วพอผลการรักษาเพี้ยนไปหมอก็หลงทาง ทุกคนแวดล้อมจะเสนอยามาช่วย ทุกอย่างดีหมด แต่ปัญหาของเราคือเราไม่มีเวลาจะไปทดลอง”

ในที่สุดด้วยประสบการณ์ของคุณหมอและการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ทั้งผู้ป่วย ญาติ และทีมหมอ จึงได้ยามุ่งเป้ามาช่วยกำจัดมะเร็งออกจากหัวใจเบลล์สำเร็จอย่างอัศจรรย์ สร้างความดีใจให้กับทุกฝ่าย แต่ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ด้วยความเป็นคนมีกำลังใจเข้มแข็ง อดทนสู้ มุมมองเชิงบวกของเบลล์เองที่มีส่วนสำคัญ และสำคัญไปมากกว่านั้นคือ พลังใจของคุณพ่อที่ถ่ายทอดมาให้เบลล์อย่างเต็มเปี่ยม

คุณพ่อ: “ครั้งแรกที่เจอหมอ หมอบอกว่าไม่รอด ผมบอกหมอเลยว่า หมอรักษาให้เต็มที่ ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่ากัน เขาอยู่ได้เกินวันหนึ่งถือเป็นกำไรของเขา ทั้งหมดคือตรรกะการคิดที่เราต้องชัดเจนและจะชนะหรือแพ้ไม่รู้ แต่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าวันต่อวันให้จบตามเป้าให้ได้”

นิยามใหม่ของชีวิต

เบลล์: “แรก ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จ อยากมีเงินเดือนสักสามแสน มีบ้าน มีรถ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง นิยามความสำเร็จคือ มีเงิน มีงานที่ดี หน้ามีตาในสังคม จนกระทั่งมาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมด นิยามความสำเร็จคือชีวิตที่สมดุลในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัว สุขภาพ สิ่งที่เราให้คุณค่าไม่ใช่แค่เรื่องตัวงานและตัวเงิน แต่เป็นความสุขที่มอบคืนให้สังคมด้วย”

คุณพ่อ: “คือตอนแรกที่เจอมะเร็ง เราก็ไปไม่ถูกเพราะไม่มีความรู้ ถ้ามีคนให้ความรู้ก็จะเข้าใจว่าต้องสู้กันยังไง ก็จะไปได้ถูกทาง อย่างเบลล์เขาเขียนหนังสือนี่ก็ช่วยคนอื่นได้ ทำให้คนมีกำลังใจ คนที่กลัวการให้คีโมก็คลายกังวล พออ่านหนังสือเขาเสร็จก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่ได้ยินมา ซึ่งถ้าผิดทางก็จะเสียโอกาสการรักษา…ทุกคนที่เจอปัญหานี้ต้องอดทนแล้วพยายามผ่านไปให้ได้ ครอบครัวก็อย่าทะเลาะกัน อย่าโทษกันเอง เพราะคนป่วยมีเวลาเหลือสั้นลง เราควรจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขที่ดีต่อกันมากกว่า”

“ฉันหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต แม้ในยามที่ชีวิตของคุณสิ้นหวังที่สุด ยามที่คุณมองไม่เห็นทางออกของปัญหา หรือยามที่ไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นไปได้…เหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นกับฉันมาแล้ว”

คือคำนำของหนังสือ I cancel my cancer ที่เบลล์เขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตเพื่อส่งกำลังใจไปให้คนอื่นในสังคม เธอยังมีเพจในเฟซบุ๊กชื่อ “เรื่องจริงกะเบลล์” เขียนเรื่องราวทั้งของตัวเองและส่งต่อเรื่องราวของผู้ป่วยมะเร็งคนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งได้ร่วมทำ Art for Cancer ให้เป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดย ออย – ไอรีล ไตรสารศรี อีกด้วย

เรื่อง: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพ: วริษฐ์ สุมานันท์
ภาพบางส่วน: ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์

โลกสีรุ้งของเบนซ์ – อทิตา บุญประสิทธิ์ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย

ในมุมของคนทั่วไปโลกคงเต็มไปด้วยความหลากหลายที่ดำเนินไปด้วยความหวัง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ใช่ทุกคนจะพบกับความสมหวังนั้น บางทีปัญหาชีวิตก็เกิดขึ้นขวางเส้นทางฝันอันสวยงาม บางคนท้อถอย แต่บางคนผันวิกฤติปัญหานั้นให้กลายเป็นโอกาสสำคัญของชีวิต นี่คืออีกมุมหนึ่งจาก อทิตา บุญประสิทธิ์ (เบนซ์) ผู้ป่วยมะเร้งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายกับที่มาของ “มะเร็งคือโลกสีรุ้งของฉัน”

“ตอนแรกรู้สึกปวดท้องมากเข้าใจว่าเป็นไส้ติ่ง แต่เมื่อไปตรวจและทำอัลตร้าซาวด์แล้วปรากฏว่าเป็นที่ไต ซึ่งมีเลือดออกมากจึงต้องทำการผ่าตัดเอาไตออกไปข้างหนึ่ง เสียไตไปข้างหนึ่งเลย ตอนแรกก็ไม่รู้นะคะว่าเป็นมะเร็ง จนกระทั่งได้ผลชิ้นเนื้อจึงรู้ว่าเป็น ก็รู้สึกดาวน์นะคะ ไม่มีใครที่ได้รับคำคำนี้แล้วจะรู้สึกดีหรอกเนอะ เกิดคำถามมากมาย ชีวิตเปลี่ยนทันที คือคนเราก็อยากใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไป ในวัย 30 กว่ามีครอบครัว อยากจะประสบความสำเร็จ มีเงินเก็บ มีลูกที่น่ารัก แต่พอรู้ว่าเป็นมะเร็งโลกมันมืดไปเลย เพราะจากข่าวสารที่รับรู้เกี่ยวกับคนที่เป็นโรคนี้ก็มักจะเป็นด้านลบ”   

ตัวเบนซ์เองก็มักมองโลกในแง่ลบ แต่มะเร็งทำให้เธอกลับมามองโลกในแง่บวกได้

“พื้นเพเป็นคนมองโลกแง่ลบมาก จริง ๆ ไม่ได้มองโลกแง่บวกเลย แต่เมื่อตั้งสติได้ รวมทั้งคำพูดให้กำลังใจจากครอบครัวและแฟนทำให้รู้สึกยังมีความหวัง จึงตัดสินใจทำการรักษา แล้วก็พบกับสิ่งดี ๆ เข้ามา เจอคุณหมอดี เจอเพื่อนดี มีมิตรภาพที่ดี ได้รับคำแนะนำจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยในยามที่ท้อ การให้ยาบางครั้งก็มีอาการแทรกซ้อน แต่เพราะกำลังใจของคนเหล่านี้เราก็กลับมาคิดบวกได้”

มิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญและมีรูปแบบแตกต่างกันไป ทั้งในยามที่เราปกติและยามที่เราป่วยไข้

“ก่อนหน้านี้คนที่เข้าหาเราก็มักคิดถึงแต่ผลประโยชน์ แต่หลังจากรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง กลับเป็นความจริงใจ เมื่อเราเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ เขาก็พร้อมจะสละเวลามาทันที สิ่งที่สัมผัสได้คือความหลากหลายของความดี สีสันโลกเปลี่ยนไปเหมือนโลกสีรุ้ง มีทั้งเสียงหัวเราะ ความคิดดี ๆ ความเป็นห่วงเป็นใย มีทั้งน้ำตา และรอยยิ้ม ดูเหมือนทุกสิ่งจะมีทางออกของมัน และดีขึ้นเรื่อย ๆ การเสียเวลากับความท้อถอยไม่ได้ช่วยอะไรเลย”

เบนซ์พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเมื่อปี 2561 แต่ที่จริงมีอาการมาก่อนหน้านั้น 3 ปีแล้ว และหนึ่งปีหลังจากทำการรักษาก็มีทิศทางบวกมาตลอด  

“เหมือนที่เขียนลงในเฟสบุ๊คค่ะว่า เรากำลังให้คีโมครั้งสุดท้าย แล้วก็มีอาการปวด เชื้อแพร่กระจายไปที่ท้อง แล้วพบว่ามะเร็งดื้อยาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราจำเป็นต้องใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Gene Teraphy คือยาที่ใช้รักษาให้ตรงกับเชื้อมะเร็งเฉพาะ เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งไต, มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ) ซึ่งทำให้ต้องปรึกษาคุณหมอหลายท่านเพื่อเอาคำแนะนำของคุณหมอแต่ละท่านมาวิเคราะห์ว่าอะไรจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรา”

“ทุกครั้งที่เปลี่ยนยา หมายถึงยาเดิมไม่ได้ผล ยาจะแพงขึ้น ยาจะแรงขึ้น จากสี่เดือนแรกที่อาการทรงตัวไม่ดีขึ้น พอเปลี่ยนยาสองเดือนผ่านมา อาการที่ปอดสงบและตรงอื่นไม่ลามแล้ว เตรียมปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไตเบนส์ข้างซ้ายที่เหลืออยู่ข้างเดียวไม่ค่อยชัดเจนตั้งแต่ตอนที่ เพทสแกน (คือการให้กรูโครสเข้าเส้นเลือดเพื่อหาตัวเชื้อมะเร็งว่ามีอยู่จุดไหนบ้างในร่างกาย) จึงต้องมาปรึกษาคุณหมอรังสีเพื่อทำการตรวจให้ชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายอยู่มั้ย”

ไม่มีใครตอบได้ว่าเส้นทางการรักษาจะยาวไกลแค่ไหน แต่มันคือหน้าที่ของชีวิตที่ต้องสู้จนถึงที่สุด

“เราคิดว่าเราโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เราอยากจะมีความสุขในทุกวันเลย ไม่อยากมีความทุกข์ เรามองทุก ๆ วันเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ใช้ชีวิตกับคนที่เรารัก กับครอบครัว, กับเพื่อนที่รักเรา, กับแฟนที่ไม่คิดทิ้งไปไหน เป้าหมายความสุขจะเปลี่ยนไป ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะทำงานเก็บเงิน อยากจะรวย อยากซื้อนู่นซื้อนี่เต็มไปหมด ท้ายสุดแล้วสิ่งที่เราอยากได้จริง ๆ ก็คือ ความสุข พอปรับตัวได้ก็ได้ปรับใจ เลิกหงุดหงิดกับโรคและการรักษา ขอแค่พรุ่งนี้เราตื่นมาพบกับความสุข ไม่สำคัญว่ามะเร็งจะอยู่กับเราหรือหาย เมื่อเรามีความสุขจิตใจเราก็ดี ก็แฮปปี้แล้ว”

นี่ไม่ใช่การต่อสู้เพียงลำพังของใครคนหนึ่ง แต่สำหรับเบนซ์ เธออยากส่งต่อความคิดบวกไปยังทุกคน “สำหรับเพื่อนที่เป็นมะเร็ง เบนซ์อยากให้ตั้งสติให้ได้ มองหาวิธีดูแลตัวเอง อาหาร, ความสะอาด, อารมณ์, จิตใจ อยากให้ใช้ชีวิตเป็นปกติ ออกไปทำงาน เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมด้วยกันได้ มะเร็งคือโลกสีรุ้งของเบนซ์ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะกับคนเป็นมะเร็งนะคะ ไม่ว่าคุณจะเสียใจหรือไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนมีสีในแต่ละวัน สัมผัสกับอารมณ์ของตนเอง มีโลกสีรุ้งให้แหงนมอง ขอแค่มีสติโลกของเราจะเริ่มมีสีสันขึ้นมาและหาความสุขให้เจอค่ะ”

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: อทิตา บุญประสิทธิ์

กอบัว – ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว มะเร็งทำให้รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร

ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว หรือ ‘กอบัว’ แอร์โฮสเตสสาว วัย 29 ปี ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ระยะที่ 3 หลังจากตรวจเจอเมื่อมกราคม 2562 ต้นปีที่ผ่านมา และกำลังทำการรักษา เธอไม่ได้หวาดกลัวหรือหวั่นวิตกกับโรคร้าย แต่กลับรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าและมีเป้าหมาย ถึงกับพูดว่า มะเร็งทำให้รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร

“ครั้งแรกมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน แต่เมื่อประจำเดือนหมด อาการปวดก็ยังมีอยู่ ก็คิดว่าไม่เป็นไรสักพักคงจะหาย แต่ยิ่งปล่อยนานก็ยิ่งมีอาการมากขึ้น อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ทานไม่ได้ อาเจียนตลอด จนหัวหน้างาน และเพื่อนที่ทำงานทักว่า ควรจะไปตรวจก็เลยไปตรวจดู แล้วก็พบค่าเลือด CEA สูงผิดปกติ เป็นพัน จนคุณหมอตกใจ” (หมายเหตุ: CEA หรือ Carcinoembryonic Antigen (คาร์ซิโนเอ็มบรายโยนิค แอนติเจน) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในร่างกายของคนเรา สามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด (ค่าปกติคือไม่เกิน 5.0 ng/mL)

“คำถามแรกที่ถามคุณหมอคือ คุณหมอคะ หนูยังจะสวยได้เหมือนเดิมใช่มั้ย ทำเอาเพื่อนที่ไปด้วยและคุณหมอพากันหัวเราะไปตามกัน ไม่ใช่ว่าไม่กังวลเรื่องโรคหรอกนะคะ แต่ก็ในเมื่อเป็นแน่ ๆ แล้วจะทำยังไงได้ นอกจากต้องรับความจริง วิกฤติชีวิตของคนเรายังไงก็หนีไม่พ้น เมื่อมาแล้วก็จะขอสู้ให้เต็มที่ค่ะ”

แน่นอนว่าในกระบวนการรักษาก็คงหนีไม่พ้นการให้คีโมและหลายคนก็ต่างกลัวความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายตัวเอง

“คุณหมอบอกว่าเป็นระยะที่สาม เพราะเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วท้อง ที่จริงเชื้อตัวนี้มักเกิดกับคนสูงอายุ แต่ กอบัวอาจจะโชคร้ายหน่อยมาเป็นตอนนี้ ก็ผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกค่ะ เอาออกหมดทั้งรังไข่และมดลูก ที่จริงก็เสียใจนะคะ เพราะความฝันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เลยคืออยากมีลูก”

กอบัวอยู่กับคุณแม่เพียงสองคนตั้งแต่เด็ก ด้วยความใกล้ชิดผูกพันกับคุณแม่ เธอจึงไฝ่ฝันอยากจะเป็นแม่ที่ดีด้วยเช่นกัน เมื่อได้งานทำเธอต้องมาอยู่กรุงเทพฯ โดยลำพัง ส่วนคุณแม่ยังอยู่ที่ต่างจังหวัด หลังจากทราบเรื่องคุณแม่ก็หมั่นแวะมาเยี่ยม และทุกครั้งที่มาเยี่ยม กอบัวก็มักจะสะเทือนใจที่เห็นคุณแม่ร้องไห้เพราะสงสารเธอ

“ต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือดค่ะ เพราะเวลาทำคีโมบางทีเลือดจะแข็งตัวตามจุดต่าง ๆ กอบัวฉีดเองค่ะ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนกลัวเข็ม แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้วค่ะ ก็ต้องพยายามลุกขึ้นสู้กับความกลัวคือไม่อยากให้แม่เสียใจ อยากให้ท่านสบายใจ นี่ไม่ใช่การสู้ของเราคนเดียวแต่ยังมีคนที่เรารักรอเราอยู่”

“กอบัวเคยคิดอยากจะเป็นนักเขียนค่ะ เขียนเรื่องรัก เขียนอะไรดี ๆ ให้คนอ่าน พอรู้ว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งก็เลยได้เขียนจริง ๆ บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทำงานเขียนสมใจ”

‘แน่นอน เราต้องมีความหวัง และยิ่งไปกว่าความหวัง เราต้องมีความเชื่อ เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในหมอ เชื่อว่าเราจะกลับมาหายดีในเร็ววัน เพราะทันทีที่เราไม่เชื่อ มันจะทำให้เราหมดหวัง และมันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ ท่องไว้ว่า เราต้องไม่แพ้!!’

นี่เป็นบางส่วนจากข้อเขียนในเฟสบุ๊คของกอบัว ความจริงมะเร็งมีส่วนช่วยให้เธอหายจากอาการซึมเศร้าด้วย

“ก่อนจะเป็นมะเร็งเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ แต่หลังจากเป็นมะเร็งแล้ว อาการซึมเศร้าก็หายไป เพราะเรารู้ว่าเราต้องทำอะไร และอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น ต้องตัดทิ้งไปจากสมอง ความหงุดหงิด ที่เคยมีทั้งกับตัวเองหรือแม้แต่กับลูกค้า หรือใคร ๆ ก็ตาม ไม่เอามาเก็บใส่ใจ ชีวิตมีแผนให้ทำเป็นสเต็ป และมีเป้าหมายว่าเราต้องเอาชนะมะเร็งให้ได้”

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด (คีโม)

“ก็จะมีอาการเพลีย มีท้อบ้างเพราะอยู่คนเดียว แล้วก็นึกว่าจะไม่ไหว แต่ที่จริงมันก็ไม่นานผ่านไปสักอาทิตย์หนึ่งก็จะฟื้นกลับมาได้ คือบอกตัวเองตลอดว่า คุณมะเร็งถ้าจะอยู่ด้วยกันก็ทำตัวดี ๆ อย่าดื้อ อย่าสร้างปัญหา คือเราไม่กลัวความตายหรอกนะคะ แต่กลัวทรมานมากกว่า ใคร ๆ ก็คงจะเป็นเหมือนกัน แต่ที่สำคัญต้องมองโลกแง่บวกเพื่อกำจัดความเครียด ตอนนี้กำลังทำการคีโมรอบสอง เพราะรอบแรกทำไปแล้วเชื้อดื้อยา ซึ่งคราวนี้ต้องใช้ยาแรงขึ้น รู้เลยว่าต้องหนักแน่ แต่ก็เชื่อว่าตัวเองจะผ่านไปได้ค่ะ”

สิ่งที่ค้นพบหลังจากเกิดเรื่องราวนี้กับตัวเอง

“ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยว แต่ที่จริงมีคนมากมายที่ห่วงใยเรา บางคนก็มาคุยหลังไมค์บอกขอบคุณเรา เพราะอ่านเรื่องของเราแล้วทำให้เขามีกำลังใจในชีวิต ตรงนั้นเรารู้สึกดีมีพลังบวกมาเติมใจให้เรา เรื่องของเรามีค่ากับทุกคน มะเร็งน่ะใคร ๆ ก็เป็นได้ เมื่อเป็นแล้วใครก็อยากหาย เราเลยไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพังแต่มีคนคอยเชียร์ให้เราชนะ ก็จะสู้เพื่อแม่และทุกคน มะเร็งสอนให้เรารักตัวเองพร้อมกับรักคนอื่น แล้วทำให้ชีวิตเรามีความสุข”      

เป็นเรื่องจริงที่ว่า คนเรามักมองไม่ออกว่าความสุขคืออะไร และปล่อยเวลาให้สูญเปล่า แต่สำหรับ ‘กอบัว’ เธอได้พบตัวตนที่เข้มแข็งท่ามกลางวิกฤตโรคร้ายซึ่งไม่ง่ายนักที่ใครจะทำได้

หมายเหตุ: กอบัวได้จากไปอย่างสงบในวันที่ 4 มกราคม 2563

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว

แมน – ศุภพัฒน์ แหลมทองมงคล ดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งโดยลำพังจนวินาทีสุดท้าย

 ‘ความรัก’ ทุกคนมีสิ่งสวยงามนี้ในตัวเอง แต่จะสักกี่คนที่ได้พิสูจน์ให้เห็นหน้าตาของรักนั้น ศุภพัฒน์ แหลมทองมงคล หรือ ‘แมน’ อาศัยอยู่กับ คุณแม่วิไลลักษณ์ ขจิตสาร หรือ ‘แม่แหม่ม’ เพียงลำพังสองแม่ลูกมาตั้งแต่แมนอายุเพียง 5 ขวบ แล้วพบว่าคุณแม่แหม่มเป็นมะเร็งเมื่อปี 2560 และได้สูญเสียคุณแม่ไปเมื่อพฤศจิกายนปี 2561 แต่ก่อนหน้านั้น ทั้งแมนและคุณแม่เป็นกำลังใจให้กันและกันต่อสู้กับมะเร็งจนวินาทีสุดท้าย แมนเขียนเรื่องราวของตัวเองผ่านเฟสบุ๊คด้วย โดยใช้แฮชแท็ก #มะเร็งฤจะสู้มะม๊า เย็นวันหนึ่งเรามีโอกาสได้นั่งคุยกัน

“คุณแม่เป็นคนแข็งแรง ไม่เคยป่วยไข้หรือต้องเข้าโรงพยาบาล และเพราะแม่มีอาการด้านจิตเวชด้วยที่มักไม่ไว้ใจหมอ จึงไม่เคยพาไปตรวจสุขภาพเลย จนวันหนึ่งทางบริษัทมีโปรสุขภาพฟรี แมนเลยอ้อนพาคุณแม่ไปตรวจ พอไปตรวจก็แจ็คพอตแตก เพราะไปเจอค่าเลือด CEA ที่สูงกว่าปกติ แรกๆ คุณหมอยังคิดว่าอ่านผิด แต่ดูแล้วมันคือ 75 ซึ่งสูงมาก คนปกติจะอยู่ที่ 3 – 4 ไม่ควรเกิน 5 และเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็ง ตอนแรกก็ไม่ค่อยกล้ารับความจริงยังคิดว่าไม่เป็นไร ไม่กล้าไปตรวจแบบละเอียด”

แต่แล้วก็มีเหตุที่ทำให้แมนเปลี่ยนใจพาคุณแม่ไปหาหมอ

“คุณแม่ท้องผูกมาสองอาทิตย์ ให้ทานยาก็ไม่ถ่ายเลย มีอาการปวดหลังมากขึ้นด้วย พอพาไปหาหมอ หมอจับแอดมิดเลย แล้วก็พบมะเร็งขนาดสองเซ็นติเมตรที่ปอด วินาทีที่คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง เหมือนโลกถล่ม เกิดคำถามในหัวว่าทำไมถึงเป็นแม่ ทำไมต้องเกิดกับเรา พอตั้งสติได้ก็รู้ว่าการนั่งคิดแบบนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย สู้คิดดีกว่าว่าจะสู้กับโรคนี้อย่างไร จากนั้นทุกอย่างจะออกมาเป็นสเต็ป 1-2-3-4 อันไหนทำก่อนทำหลัง แผนการรักษาและการหาเงินมาเพื่อใช้จ่ายก็ตามมา”

เช่นเดียวกับทุกชีวิตที่เจอวิกฤต หลังจากตั้งเป้าหมายได้การต่อสู้ก็เริ่มต้นเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่การคิดถอยหลัง

“พอเอาชิ้นเนื้อไปตรวจแล้วก็ช็อคอีกที่พบว่าคุณแม่เป็นมะเร็งขั้นที่ 4 ก็ถามหมอว่ากระบวนการรักษาจะมีโอกาสไปสู่จุดไหน คุณหมอก็พูดแค่ว่า…มีวิธีรับมือ ตกใจครับแต่ต้องปรับความคิดให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปมองว่าอีกปีหนึ่งจะเป็นอย่างไรจะยังมีแม่อยู่ไหม คือถ้ามองแบบนั้นมีแต่จะบั่นทอนเรา”

หลังจากนั้น วิถีชีวิตของทั้งสองก็เปลี่ยนไป

“ชีวิตประจำวัน จากที่เคยคิดว่าแม่ดูแลตัวเองได้ ทีนี้ไม่ได้แล้ว กลายเป็นทุกวินาทีเราต้องมีเขา เราต้องให้เวลาแม่ให้มากที่สุด จากที่เคยเลิกงานแล้วไปเที่ยวกับเพื่อนก็กลับบ้านไปอยู่กับแม่ อาหารการกินต้องคอยปรับไม่ให้กินแบบที่คุ้นเคย จากที่ซื้อแช่แข็ง ฟาสต์ฟู้ด อาหารข้างทาง ก็เปลี่ยนเป็นอาหารสดใหม่ และดีที่สุดคือทำเอง”

“ผมไม่เคยทำอาหารมาก่อนเลยครับ แต่ยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องสนุก มีเรื่องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น มีหลายสูตรกับข้าวที่แม่สอนเราและช่วยให้ลืมความเครียดไปได้ มีอะไรให้คิด เช่นว่า วันนี้จะทำอะไรให้แม่กินดี หรือจะพาคุณแม่ไปในที่ท่านอยากไป อยากทำอะไรที่แม่นึกฝันแล้วเราทำได้ก็จะทำ”

การได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และสร้างความรู้สึกประทับใจให้คุณแม่ด้วยเช่นกัน  

“มีครั้งหนึ่งผมพาคุณแม่ไปญี่ปุ่นซึ่งเป็นการตัดสินใจถูก พาไปในวันที่ท่านยังเดินไหวอยู่ ผมเห็นแววตาเป็นประกายใสปิ๊ง เห็นแม่มีรอยยิ้มอิ่มเอิบ แล้วก็เดินเหินได้เหมือนกับคนปกติ คุณแม่ดีใจที่เราพาไป ทำให้หัวใจเราพองฟู อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือพาแม่ไปร่วมกิจกรรมจัดสวนขวดของ Art For Cancer นี่แหละ แม่เป็นคนชอบดอกไม้และไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แล้วก็เหมือนกันเราได้เห็นแววตาแบบนั้นกลับมาอีกครั้งเวลาที่แม่จัดสวนขวด ตอนนั่งรถกลับบ้าน แม่บอกว่า แมนเชื่อมั้ย แม่ลืมไปเลยว่าปวดหลังอยู่”

ในระหว่างที่ดูแลคุณแม่นั้น ความหวังและความสิ้นหวังก็มะรุมมะตุ้มตีกันอยู่ในหัวของแมนเช่นกัน แต่ด้วยการมีสติ มีหัวใจที่เข้มแข็ง และเต็มไปด้วยพลังบวก ก็ทำให้เขารับมือกับสถานการณ์และผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ไม่ยากนัก

“เรามีความหวังในเวลาเดียวกันก็ต้องเผื่อใจไว้ว่าถ้าหากคุณแม่ต้องจากไปล่ะ เป็นทั้ง แองเจิ้ล กับ เดวิล ที่ตีกันตลอดเวลา คือเราทำให้ดีที่สุดเพื่อให้แม่หาย แต่ถ้าไม่หายก็ต้องทำใจยอมรับและมีชีวิตต่อไปได้”     

“ทุกครั้งที่อาการคุณแม่ตก คือเริ่มจากเห็นอาการคุณแม่ดีขึ้นก่อน เราก็จะมีหวังเหมือนเห็นแสงสว่าง แต่สักวันสองวันก็มีอาการผิดปกติฉับพลันให้เห็น เช่น พูดไม่ได้ ปากเบี้ยว เหมือนใครมาผลักเราตกหน้าผา แต่ก็ต้องบอกตัวเองเรียกสติคืนมา เพราะหลังชนฝาแล้วต้องประคองอารมณ์ตัวเองด้วย ทำอย่างไรไม่ให้เครียดหนักเพราะเป็นจุดที่ดาวน์มาก เสียใจมาก เราต้องหาคนระบาย ซึ่งยอมรับว่าเพื่อนที่ดีช่วยได้มาก คืออย่าอยู่คนเดียวอ่ะครับ”

“เราต้องให้กำลังใจตัวเองเยอะ ๆ อย่าไปจมกับปัญหา ต้องคิดว่าเราไม่ได้มีลมหายใจเดียว เรากำลังประคองลมหายใจของคนที่เรารักอยู่ เพราะอย่างนั้นตัวเราห้ามทรุด ต้องแข็งแรงก่อนไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีกำลังส่งไปให้คนอื่นเลย หาแรงบันดาลใจไม่ว่าจะฟังเพลงที่ชอบหรือหาเวลาไปดูหนังบ้าง กินอาหารอร่อยๆ สักมื้อแล้วกลับมาสู้ใหม่”  

“อย่าเก็บปัญหาไว้คนเดียว บางครั้งเราก็ยังเป็นประโยชน์กับเพื่อนที่เขาเพิ่งเจอปัญหา เราแนะนำเขาได้จนเมื่อเขาดีขึ้น มันสะท้อนกลับมาสร้างพลังให้เราอีกเป็นสองสามเท่า ทำให้เรามีกำลังใจไปดูแลแม่ต่อ”

“วันหนึ่งแม่ลุกขึ้นมาพูดได้เหมือนคนปกติ แล้วบอกกับเราว่า แมนเก่งมากนะ ขอบคุณนะที่ดูแลแม่ขนาดนี้ แม่จะพยายามหาย”

แมนฝากบอกทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันด้วยว่า ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้ไม่ต้องกลับมาเสียใจทีหลังเมื่อเวลาคนที่รักจากไปแล้วว่า ทำไมไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะถึงตอนนั้นเราทำอะไรไม่ได้อีกเลย

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ศุภพัฒน์ แหลมทองมงคล

พีช – ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร มะเร็งเต้านมทำอะไรเธอไม่ได้ และเธอจะ ‘วิ่งให้มะเร็งมันดู’

จะมีสักกี่คนที่เผชิญกับวิกฤตชีวิตอย่างโรคมะเร็งแล้วยังดูมีความสุข แถมมีสุขภาพจิตแจ่มใสเสมือนปัญหาหนักอึ้งนั้นไม่ได้ปั่นทอนพลังใจลงเลย ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร หรือ พีช เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเป็นคนมองโลกแง่บวกช่วยให้เข้มแข็งไม่รู้สึกท้อถอย แล้วยังพร้อมจะส่งต่อกำลังใจพร้อมพลังบวกนั้นไปยังคนที่อาจกำลังเจอปัญหาคล้ายคลึงกัน รวมถึงทุกคนในสังคมด้วย วันนี้ พีช เจ้าของคำกล่าวที่ว่า “วิ่งให้มะเร็งมันดู” นั่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังพร้อมกับเสียงหัวเราะและแววตาสดใส

“แรกๆ ก็ทำงานหนักมาก กินไม่เลือก อยากกินอะไรกิน กินหมูกระทะทุกวัน อาหารที่ไม่คลีน แล้วก็ไม่ออกกำลังกาย เริ่มรู้สึกร่างกายอ่อนแอ แค่วิ่งไปไม่กี่เมตรก็เหนื่อย คิดแค่ว่าเราทำงานบ้านก็เหมือนออกกำลังกายแล้ว พอมีครอบครัวก็ต้องส่งลูกไปเรียนตอนเช้า มีเวลาดูแลตัวเองน้อยมาก กลับบ้านก็ดึกทำงานหนัก สัปดาห์หนึ่งหยุดวันเดียว”

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวและอาจเป็นที่มาของโรคร้าย ซึ่งหลายคนก็คงทำตัวแบบนั้นคือตามใจตัวเองจนชิน ยิ่งเป็นคนที่ไม่เคยป่วยไข้หนักก็จะคิดว่าตัวเองแข็งแรงอยู่เสมอ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด

“ฝีนี่แหละ เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังอ่อนแอ เริ่มมีปัญหาภูมิคุ้มกันไม่ดี พีชเป็นฝีแบบเป็นๆ หาย ๆ กรีดแล้วกรีดอีก กว่าจะหายได้ใช้เวลาหกเดือน จากนั้นก็เริ่มมีอาการอื่นที่ไม่เคยเป็นตามมาเช่น ท้องเสีย แต่ถึงอย่างนั้นพีชก็ยังเป็นห่วงงาน งานห้างฯ เป็นงานหนัก เวลาหยุดของคนอื่นคือเวลาทำงานของเรา”

เธอคิดว่างานที่ทำเป็นปัญหา ทำให้เครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุของความอ่อนแอ และเมื่อมีโอกาสก็ต้องหาทางเลือกใหม่ให้ชีวิต พีชย้ายงานเพื่อจะมีเวลาดูแลตัวเอง ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น และตรงนั้นเธอก็พบกับชีวิตที่มีความสุข พร้อมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งกิจกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจนั่นคือ ‘การวิ่ง’ ในขณะที่ทุกอย่างกำลังสดใสไปในทิศทางที่ดี ข่าวร้ายก็มาถึง

“ประมาณพฤศจิกาปี 2561 เริ่มรู้สึกว่าทำไมถึงเจ็บหน้าอก (เต้านม) แปลกๆ  ปกติการเจ็บหน้าอกของผู้หญิงจะมาก่อนช่วงมีประจำเดือน แต่อันนี้ไม่ใช่เลย มันจี้ดๆ ข้างในเหมือนมีมดกัด ตอนแรกก็คิดว่าไม่น่าเป็นอะไรแต่พอทิ้งไปสักพักก็คลำเจอก้อนเนื้อบ่อยขึ้น จึงตัดสินใจไปหาหมอ หลังจากไปตรวจอย่างละเอียดแล้วก็พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม”

ทันทีที่ได้ยินจากปากคุณหมอว่าเป็นเนื้อร้าย พีชรู้สึกตัวชาและถามหมอว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไรต่อ แต่ด้วยความเป็นคนมีกำลังใจดี เธอคิดว่าไม่มีปัญหาใดที่เอาชนะไม่ได้ ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ แล้วก็ต้องยอมรับเดินไปพร้อมกับมัน ซึ่งหมอแนะนำวิธีที่อาจจะทำให้สูญเสียความมั่นใจในความเป็นเพศหญิง แต่เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เชื้อมะเร็งลุกลามไป รักษาชีวิตไว้เป็นสำคัญพีชจึงเลือกวิธีนั้นอย่างไม่คิดมาก แต่ก่อนวันผ่าตัดเธอขอเลื่อนคุณหมอเพื่อจะไปลงแข่งวิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร รายการแรกในชีวิต

“ตอนนั้นรู้แล้วว่าเราเป็นมะเร็ง พีชซ้อมสูงสุดได้ 19 กม. แบบซิตี้รันวิ่งจากบ้านไปถึงสนามหลวงถึงพระบรมรูปทรงม้า แล้วก็วนกลับบ้าน แล้วในขณะที่วิ่งก็บอกตัวเองว่าเราต้องหาย รู้แค่นั้น”

เมื่อฟังแล้วก็อาจสงสัยว่าจริงๆ แล้วพีชไม่เคยเสียใจเลยหรือ

“ต่อให้รู้สึกเข้มแข็งแค่ไหนก็อดไม่ได้หรอก โดยเฉพาะคำพูดของคนรอบข้างจะสะเทือนใจเสมอซึ่งตอกย้ำว่าเรากำลังเป็นมะเร็ง เป็นโรคร้าย หรือบางที คำพูดของญาติที่แสดงความสงสาร เวทนา ทำให้อ่อนแอลง แต่ตรงนั้นไม่สำคัญ ยังไงซะจิตใจของเราต้องพร้อมจะลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความจริง”

ความเข้มแข็งไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หากแต่พ่วงความรักในครอบครัวและความฝันที่อยากจะทำไว้ด้วย ระหว่างการพูดคุย พีชโชว์ภาพของเธอที่ผ่านกระบวนการรักษา รอยแผลจากการผ่าตัดที่บันทึกไว้ในเฟสของเธอ และรวมถึงภาพการเข้าร่วมวิ่งการกุศลที่ลงสมัครไว้

“ตอนนี้กระบวนการรักษามาถึงขั้นตอนให้คีโมเพื่อทำลายเชื้อร้ายนั้นแล้วค่ะ แล้วสิ่งที่พีชกังวลอยู่ก็คือการวิ่ง พีชรู้สึกว่าแม้จะกำลังบำบัดก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับความฝัน คนเราต้องมีความหวังเพื่อจะเดินต่อไป มันอาจมีอุปสรรคมารบกวนจิตใจบ้าง แต่เราก็ต้องทำสิ่งที่หวังให้สำเร็จ ตอนแรกเป้าหมายของพีชคือวิ่ง 42 กม. มีความรู้สึกว่าลงไว้แล้วเราต้องไปต่อ ยิ่งเรารู้ว่าเราเป็นมะเร็งเราก็ต้องยิ่งสู้ ตอนนี้พีชเลยเปลี่ยนเป้าเป็นจะวิ่งให้มะเร็งมันดู”

เธอเขียนข้อความในเฟสส่วนตัวบอกเล่าชีวิตให้ผู้คนรับรู้ตอนหนึ่งว่า…ต้องขอบคุณ ‘คุณมะเร็ง’ ที่ทำให้รู้เป้าหมายของการมีชีวิต การมีลมหายใจ และเป็นแรงผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นให้มุ่งมันที่จะออกมาทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเองและเพื่อคนที่เรารัก รวมถึงเพื่อสังคม

“ที่จริงไม่ว่าคุณมีความชอบตรงไหน ดึงมันออกมาใช้ คนชอบศิลปะก็ใช้ศิลปะ คนชอบดนตรีก็ใช้ดนตรี เอามาสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเพื่อก้าวข้ามมะเร็งไปได้ ใจเราก็จะเข้มแข็ง คนที่ผ่านการผ่าตัดก็จะมีแผลไว้เป็นความทรงจำ แต่ชีวิตยังดำเนินต่อไป ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แล้วก็ยังมีลมหายใจอยู่ อย่าพึ่งยอมแพ้ เราทำเพื่อครอบครัวและคนที่เรารัก เท่านั้นเอง”   

คำพูดนั้นเหมือนกระตุ้นเตือนใครหลายคนที่กำลังมองข้ามความฝัน ใครหลายคนหลงลืมไปว่าชีวิตล้วนมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึง ไม่มีเวลาสำหรับการท้อแท้ไม่ว่าปัญหาตรงหน้าจะสาหัสขนาดไหนก็ตาม

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ผกากาญจน์ วงษ์เนตร์ธุวร