ธาวินี จันทนาโกเมษ แชร์ประสบการณ์ที่เราอาจไม่รู้แต่ควรรู้เกี่ยวกับ ‘การดูแลผู้ป่วย’

คงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่เราๆ ท่านๆ จะส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยในฐานะ “ผู้ถูกรักษา” ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะด้วยอาการจากตัวโรค ผลกระทบจากการรักษา เลยไปจนถึงความเครียดและกังวลที่ดูหนักหนากว่าใคร แต่ขณะเดียวกัน เรากลับหลงลืมไปว่า “ผู้ให้การดูแล” ผู้ป่วย และหน้าที่ที่พวกเขาทำอยู่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องการแรงใจไม่ต่างกัน เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นงานที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยตลอดหรือแทบจะตลอดเวลา แม้จะเป็นงานยากและเหนื่อย แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย เพราะความสุขใจจากหน้าที่นี้ก็มีอยู่

สำหรับ ทราย ธาวินี จันทนาโกเมษ เจ้าของเพจ Cancan.kitchen การได้ดูแลคุณพ่อซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เธอได้แสดงออกถึงความรักและความเอื้ออาทรต่อกันในวันที่ต่างยังมีลมหายใจ แต่การได้อยู่เคียงข้างกันในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ถือเป็นโอกาสในการได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ากับคนที่รักก่อนการเดินทางของชีวิตจะสิ้นสุดลง 

สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ 

“คุณพ่อพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งประมาณปี 2018 สาเหตุที่ทราบว่าเนื่องจากมีอาการปวดท้องที่ไม่ใช่อาการปวดแบบที่เคยปวดเป็นประจำ ซึ่งเมื่อพบว่ามีอาการมากกว่าปกติ คุณพ่อเลยไปตรวจที่คลินิกประจำก่อน จนกระทั่งได้ตรวจแบบละเอียดขึ้นและพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3” 

การรักษาแบบผสมผสาน

“คุณหมอวางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออกและทำคีโม แต่คุณพ่อตัดสินใจที่จะทำคีโมแค่ครั้งเดียว เพราะเกิดอุบัติเหตุเข็มหลุดออกมาระหว่างการให้คีโมทางสายน้ำเกลือทำให้ถูกน้ำยาคีโมกัดผิว ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดการพูดคุยถึงการรักษาแบบทางเลือกและได้ข้อสรุปว่าจะไม่ไปต่อทางวิทยาศาสตร์แล้ว

ทรายและคุณพ่อได้เลือกการรักษาแบบผสมผสานแทน โดยหลักๆ จะใช้ศาสตร์การดูแลด้วยแพทย์แผนไทย ใช้ยาจากตำรับยาสมุนไพรที่เกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ที่สำคัญคือเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารใหม่ทั้งหมด ต้องบอกก่อนว่า 65 ปีที่ผ่านมา คุณพ่อเป็นคนใช้ชีวิตแบบมีอิสระในการกินมาก กินอาหารตามใจตัวเอง อยากกินอะไรเมื่อไหร่ต้องได้ แต่การรักษาในแนวทางนี้จะต้องมีวินัยในการรับประทานอาหารมากๆ เกิดปัญหาว่าคุณพ่อปรับตัวได้ลำบากพอสมควร

ทรายจะเป็นคนทำอาหารแล้วส่งให้คุณพ่อ โดยยึดตามแนวทางที่คุณหมอแนะนำรวมถึงอาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง เช่น น้ำตาลถือเป็นของหวานของโรคมะเร็ง ถ้าจำเป็นให้ใช้น้ำตาลมะพร้าวที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือดยากที่สุด สกัดน้ำมันสำหรับใช้ทำอาหารด้วยตัวเอง เพราะน้ำมันที่มีอยู่ในท้องตลาดใส่สารกันเสียเยอะ เป็นต้น”

การดูแลที่ต้องอาศัยแรงกายและกำลังใจ

“ต้องเล่าก่อนว่าทรายไม่ได้โตมากับคุณพ่อ จึงไม่ได้รู้จักนิสัยท่านมากเท่ากับครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน ทรายจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเขา เช่น คุณพ่อจะไม่ได้บอกเราว่าชอบกินหรืออยากกินอะไร หรือท่านจะไม่พูดว่า “ลูก ช่วยทำอาหารแบบนี้ให้พ่อกินหน่อยนะ” ทรายต้องวิเคราะห์ว่าคุณพ่อนิสัยแบบนี้ น่าจะอยากกินแบบนี้ แล้วทรายก็ทำอาหารส่งไปให้ท่าน นั่นจึงเป็นความยากในช่วงแรก

แล้วด้วยความที่เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน แม้ทรายจะทำอาหารและจัดเตรียมยาส่งไปให้อย่างสม่ำเสมอ ทรายก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคุณพ่อจะกินอาหารที่เราทำหรือกินยาครบตามที่คุณหมอกำหนดไว้ไหม ซึ่งสุดท้ายแล้วเราเชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณพ่อเสียชีวิตน่าจะมาจากการที่ท่านไม่ได้กินอาหารอย่างที่คุณหมอแนะนำ รวมถึงไม่ได้กินยาอย่างสม่ำเสมอ ตรงนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการรักษาแบบทางเลือกที่ต้องอาศัยแรงกายแรงใจ ความทุ่มเท ความมีวินัยในการทานยาและทานอาหาร ซึ่งคุณพ่อทรายอาจจะทำได้ไม่เต็มร้อย ผลลัพธ์เลยไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้”

อาจเป็นจังหวะของชีวิต

“มันก็เป็นจังหวะชีวิตของทรายเหมือนกันนะ คุณพ่อของทรายเริ่มไม่สบายตอนปี 2018 ทรายแต่งงานในปี 2019 หลังจากนั้นในปี 2020 เชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ตับ ซึ่งก่อนหน้าที่จะทราบก็เป็นจังหวะที่ทรายตัดสินใจลาออกจากงานพอดี เพื่อพักดูว่าเราอยากทำอะไรต่อไปกับงานที่ตั้งใจให้เป็นงานประจำสุดท้ายของตัวเอง

เมื่อรู้ว่ามะเร็งกลับมา ทรายคุยกับคุณพ่อรวมถึงปรึกษาคุณหมอและญาติพี่น้อง แล้วก็ตัดสินใจไปรักษาแบบทางเลือกที่บ้านคุณอาที่สวนผึ้งซึ่งเขาเป็นมะเร็งในช่วงเวลาใกล้กัน จะได้รักษาไปในทางเดียวกัน เพื่อให้คุณพ่อรู้สึกมีกำลังใจจากสังคมคนป่วยเหมือนกัน จังหวะนั้นบังเอิญมีงานที่รู้สึกอยากทำมากๆ ติดต่อทรายเข้ามาพอดี เลยคุยกับสามีว่าถ้าได้งานนี้ทรายจะทำอย่างไรดี จะทิ้งไปไหม ด้วยความที่สามีเขาเคยมีประสบการณ์การดูแลคนป่วยขณะทำงานไปด้วย แล้วบาลานซ์ชีวิตช่วงนั้นได้ยากพอสมควร เพราะทั้งการดูแลคนป่วยและการทำงานก็ไม่สามารถทุ่มเทเต็มร้อยได้เลยสักทาง เขาจึงแนะนำทรายว่า “ถ้าชีวิตเรามีโอกาสได้ดูแลคุณพ่อแล้ว ก็ไปให้สุดทาง อย่าเอาทุกอย่างมารวมกันแล้วคิดพร้อมกัน ค่อยๆ จัดการไปทีละเรื่อง” นั่นเลยทำให้ทรายเลือกโฟกัสไปกับการดูแลคุณพ่อจนถึงวันที่ท่านจากไป

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้โตมาอย่างใกล้ชิดกับคุณพ่อเท่าไหร่ บอกรักกันไม่ค่อยบ่อย แต่จะใช้วิธีทำให้คุณพ่อเห็นว่าอย่างไรทรายก็จะอยู่กับท่าน ไม่ว่าคุณพ่อจะต้องเปลี่ยนวิธีในการรักษาอีกกี่ครั้ง จะมีอุปสรรคในการดูแลขนาดไหน ทรายก็จะสู้ไปกับท่าน ซึ่งทรายว่าท่านก็รับรู้ได้”

มะเร็งไม่ใช่โชคร้ายอย่างที่ใครเขาว่า 

“ทรายอยู่ในครอบครัวที่มีคนเป็นมะเร็งอยู่พอสมควร ก็เลยมองว่ามะเร็งมันอยู่ในตัวเราตั้งแต่เกิด การเป็นมะเร็งเหมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนว่า เราใช้ชีวิตหนักหน่วงเกินไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น มุมมองของทรายกับตัวโรค ก็มองว่าเราต้องใช้ชีวิตของเราให้สมดุล ปล่อยให้มะเร็งหลับสนิทเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ในตัวเรา อย่าปลุกเขาให้ตื่น บวกกับมีความเชื่อในเรื่องของ “You are what you eat” ซึ่งเปลี่ยนวิถีการรับประทานอาหารของตัวทรายไปเยอะเหมือนกันนะ ทรายทำอาหารกินเองบ่อยมาก เพราะสามารถลงลึกถึงรายละเอียดของอาหารรวมถึงวัตถุดิบได้ทุกอย่าง ประสบการณ์ในการทำอาหารให้คุณพ่อรับประทานทำให้ทรายเลือกและเลี่ยงให้ตัวเองด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันเมื่อได้เห็นคุณอาที่เป็นมะเร็งดูแลตัวเองด้วยการรักษาทางเลือกและเขายังคงอยู่อย่างแข็งแรงมาจนวันนี้ ก็ทำให้เชื่อในเรื่องของการรักษาแบบทางเลือกมากกว่าการรักษาในทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นเรื่องของการทำคีโม”

ถ้าหาก…

“ตอนที่คุณพ่อเสีย ทรายมีคำถามเยอะมากเหมือนหนังเรื่อง About Time เลยว่า ถ้าตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้น ตอนนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้ จะทำอะไร แล้วคุณพ่อจะยังมีชีวิตอยู่ไหม เรียกได้ว่ามีคำถามกับทุกจังหวะชีวิตในช่วงเวลาที่ท่านป่วย จนถึงตอนที่คุณพ่อเสียไปแล้วก็ยังจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า ก่อนที่คนเราจากไปจะเกิดภาวะอะไร เขาจะรู้สึกอย่างไรในขณะที่กำลังจะจากไป ทรายถามญาติ รวมถึงคนรู้จักที่เป็นหมอด้วยคำถามประมาณนี้ ทุกคนก็ตอบกลับมาว่าให้หยุดคิดเถอะ ทุกอย่างผ่านไปแล้ว ทรายไม่ได้รู้สึกยินดีกับการที่คุณพ่อจากไป แต่ในขณะเดียวกันกลับรู้สึกโล่งอก ดีใจที่ท่านไม่ต้องทรมานกับการกินอาหารรวมถึงการรักษาที่ทำให้ท่านไม่มีความสุขอีกต่อไป

ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ทรายได้รู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือจงทำเมื่อยังมีโอกาส ทรายโชคดีที่ตัวเองยังมีโอกาสได้สื่อสารกับคุณพ่อในช่วงที่ท่านเริ่มเข้าสู่ภาวะผู้ป่วยวิกฤต ทรายพูดกับท่านว่า “ทรายขอโทษ ถ้าที่ผ่านมาทรายบังคับให้พ่อไม่ได้กินอาหารอย่างที่ต้องการ บังคับให้ฝืนกินยา ทรายขอบคุณพ่อที่ทำให้ทรายเกิดมา และรักพ่อนะ” จนถึงวาระสุดท้ายของท่าน ทรายบอกกับคุณพ่อว่า “ถ้าพ่ออยากจะสู้ก็สู้ แต่ถ้าอยากหลับก็หลับไปเลย ไม่ต้องกังวลว่าจะตื่นมาเป็นที่ไหน ไม่ต้องว้าวุ่นใจ ตื่นมาเป็นที่ไหนก็เป็นที่นั่นนะพ่อ” แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ ดับไปอย่างสงบเงียบที่สุด สำหรับคนค่อนข้างกลัวความตายอย่างทรายก็อดคิดไม่ได้ว่า อยากให้วาระสุดท้ายของเราดำเนินไปอย่างเรียบง่ายแบบนี้บ้าง

ทรายถือว่ามันเป็นจังหวะชีวิตที่ดีที่มีโอกาสได้ดูแลท่านตั้งแต่วันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จนถึงวาระสุดท้าย และมีโอกาสได้ขอโทษ ขอบคุณ และบอกรัก ก่อนท่านจากไปครบถ้วนทั้ง 3 อย่าง เพราะฉะนั้นทรายไม่รู้สึกว่าติดค้างอะไรแล้ว ถามว่าเสียใจไหม แน่นอนว่าทรายเสียใจแต่ในขณะเดียวกัน ทรายก็หมดห่วง มันเป็นการถอนหายใจที่รู้สึกว่าสามารถหายใจเอาอากาศเข้าไปหมุนเวียนได้เต็มปอด” 

จะดูแลกันอย่างไรในวันที่มีผู้ป่วยติดเตียง

“อย่างที่เล่าไปว่าทรายอาจจะไม่ได้สนิทกับคุณพ่อมาก แล้วช่วงที่คุณพ่อเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทรายคิดว่าไม่เป็นไร เห็นตามรายการที่เขาดูแลพ่อแม่ตัวเอง เราดูแล้วก็คิดว่าเคสเราก็คงเหมือนกัน ไม่ต้องมีพยาบาลหรอก มองว่าทรายเองน่าจะเอาอยู่ แต่เอาเข้าจริงเป็นการเอาอยู่แบบตาแข็งๆ ยิ้มแห้งๆ จนถึงวันที่รู้ตัวว่าคงไม่ไหวแล้ว อย่าฝืนเลยดีกว่า ให้มืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อให้คุณพ่อสบายขึ้น ซึ่งต้องบอกเลยว่าการจ้างผู้ดูแลคนป่วยไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เริ่มทำในเวลาวิกฤต เพราะจะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าจะเจอคนที่ปรับตัวเข้ากันได้ เข้าใจคนป่วย ถูกใจญาติผู้ใหญ่ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขจนตลอดรอดฝั่ง เอาอยู่สามารถรับมือได้อยู่หมัดเมื่อเจอสถานการณ์หนักๆ มาถึง รวมถึงอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ดูแล เช่น เตียงอัตโนมัติ เพราะต้องเข้าถึงผู้ป่วยด้วยความรวดเร็วและราบรื่น เช่นเดียวกับผู้ดูแลที่ต้องการความสะดวกในการประชิดตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตที่แทบจะสื่อสารกับเราไม่ได้เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่ทรายคิดว่าสำคัญมากเหมือนกันคือการทำธุรกรรมทางการเงิน ทรายพบว่าบางที คนสูงอายุเขายังใช้วิธีเดิมกันอยู่ คือเลือกที่จะทำธุรกรรมเบิกถอนเงินที่ธนาคาร ซึ่งในกรณีคุณพ่อ ทรายต้องเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ-สวนผึ้งถึง 3 ครั้งเพื่อสำรองเงินสดของพ่อมาเก็บไว้สำหรับใช้ในการรักษา แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถทำได้เพราะติดขัดในเรื่องของการยืนยันตัวตน ซึ่งถ้าเรามีแอปพลิเคชัน การดำเนินการและจัดสรรปัญหาต่างๆ จะง่ายและประหยัดเวลามากกว่า

ตกลงกันก่อนว่า…การเดินทางครั้งนี้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน

“เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ควรมีการคุยกันในครอบครัวก่อนว่า สุดท้ายแล้วคนป่วยที่เราดูแล ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือพี่น้อง เขาอยากให้การรักษาจบตรงไหน หากการรักษาไม่เป็นไปอย่างที่วางแผนหรือหวังไว้ บางทีคนป่วยเขาอาจจะไม่ได้อยากต่อสู้ ไม่ได้อยากเดินทางต่อแล้ว แต่ด้วยความไม่ได้ตกลงกันเอาไว้ก่อนทำให้ในท้ายที่สุด เรายื้อเขาไว้เพราะลูกหลานหรือญาติยังทำใจไม่ได้กับการที่เขาตัดสินใจอยากยุติการรักษา

สำหรับทราย ทรายได้คุยกับคุณพ่อ รู้เจตนารมณ์ท่านว่าอย่างไร คือเขาไม่ต้องการเป็นผัก ไม่ต้องปั๊มหัวใจ เมื่ออยู่ในสภาวะที่ต้องตัดสินใจจึงเรียบง่ายและชัดเจน ทรายสามารถตอบคุณหมอได้ทันทีว่าจะไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ใช้เครื่องหรือยากระตุ้น ไม่สอดท่อช่วยหายใจให้กับคุณพ่อนะคะ”

การจัดการความเครียดด้วยการหาความสุขง่ายๆ รอบตัว

“คนดูแลจะต้องหาวิธีจัดการกับความเครียดตัวเองด้วย อย่างตัวทรายเองแค่จะดื่มน้ำยังลืมไปเลย เพราะเครียดจนเกือบจะกลายเป็นคนป่วยไปด้วยเหมือนกัน ต้องไม่ลืมว่าคนดูแลเองก็ต้องมีเวลาให้ตัวเองได้หยุดพักจากเรื่องเหล่านี้บ้าง สุดท้ายแล้วทรายพบว่าการหมกตัวอยู่ในร้าน Mr. DIY เพื่อคำนวณว่าซื้อทิชชู่แบบไหนถึงจะคุ้มค่า หรือการได้เดินออกกำลังกายดูพระอาทิตย์ตกในวันที่ไม่ยุ่งจนเกินไปนัก ถือเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทรายมีความสุขแล้ว ลองหากิจกรรมที่สร้างความสุขให้เราได้ง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องพยายามอะไรมาก และสามารถทำได้บ่อยทุกวัน”

ใดใดในโลกล้วนเป็นไปตามกฎของจักรวาล

“ความสุขของตัวเองในตอนนี้คือการที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายของการใช้ชีวิตให้เป็นจริง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของมะเร็งอะไรเท่าไหร่ แต่ทรายรู้สึกว่า Everything happens for a reason ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ ทรายลาออกจากงานได้ไม่นานคุณพ่อกลับมาป่วยอีก แต่โชคดีที่ก่อนหน้านั้นจัดงานแต่งงานตั้งแต่คุณพ่อยังแข็งแรง มีสามีที่น่ารักเป็นเพื่อนคู่คิด คอยซัพพอร์ตความรู้สึก คอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา เหนื่อยมากก็มีที่พักพิงให้ล้มตัวใส่ เขาทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว เราถึงได้ดูแลคุณพ่อแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอะไรเลย จนวันที่รู้ตัวว่าไม่อยากกลับไปทำงานประจำอีกแล้ว ได้มีเวลาคิดจนพอจะเห็นเป้าหมายของชีวิตเป็นรูปร่างชัดเจนว่าคืออะไร บางคนอาจรอให้ถึงเวลาเกษียณแล้วค่อยเริ่มต้น แต่มันคงดีกว่าที่เราได้ทำเสียตั้งแต่วันนี้ ย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนคุณพ่อจะป่วยจนถึงวันนี้ ทรายเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีคำว่าบังเอิญแม้แต่เรื่องเดียว”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: ธาวินี จันทนาโกเมษ