แม่จี๊ด-น้องเปียโน รับมือกับมะเร็งด้วยการดูใจเขา แลใจเรา ใช้ธรรมนำใจ

“แม่สอนให้ลูกเข้าใจความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว และไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แม่สอนให้ลูกมีความเสียสละและรู้จักแบ่งปันผู้อื่น แม่จะคอยเตือนเมื่อลูกทำผิดและให้อภัยลูกได้เสมอ แม่สอนให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง ขณะที่ยังต้องตั้งมั่นในความถูกต้อง และแม่… ก็จะคอยดูแลและปกป้องลูกให้พ้นจากอันตรายเสมอ”

สำหรับแม่จี๊ด วรรณดี ปัญญวรรณศิริ บทบาทความเป็นแม่ของเธอไม่ได้ห่างไกลจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เธอคือแม่ที่แข็งแกร่งผู้อยู่เคียงข้างและคอยประคับประคองทั้งร่างกายและหัวใจน้องเปียโน ด.ญ.ธรรมชาติ ปัญญวรรณศิริ ในวันที่ลูกสาววัย 15 ปี ต้องฝ่าฟันกับความเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งสมองที่หนักเอาการเมื่อ 4 ปีก่อน แม้ทั้งคู่จะเจอความท้าทายมาแล้วหลายหน แต่พวกเขายังมีความสุขได้ในทุกวัน เพราะความรักและใจที่สู้ สำหรับทั้งคู่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การยังมีคนให้รักและดูแลก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

เส้นทางสุดท้าทาย

“เดือนพฤษภาคม 2560 น้องเปียโนมีอาการปวดหัว แล้วก็อาเจียน ตอนนั้นแม่ไม่ทราบว่าน้องเป็นอะไร เลยไปหาคุณหมอซึ่งท่านวินิจฉัยว่าน้องเป็นไซนัส เรารักษาตามอาการอยู่ 3 เดือน แต่ไม่ดีขึ้น น้องยังต้องทานยา มีอาการปวดหัวและอาเจียนตลอดจนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ น้ำหนักลดเกือบ 20 กิโล จนแม่และคุณพ่อตัดสินใจกลับไปหาคุณหมออีกครั้งและได้รับคำแนะนำให้ตรวจละเอียดขึ้น ผลการทำ CT scan คือน้องมีเนื้องอกอยู่ใจกลางสมอง ตอนนั้นคุณหมอฉีดยาแก้สมองบวม แล้วก็ประสานย้ายโรงพยาบาลเพื่อที่จะผ่าตัด ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจจะพิการ หรือโดนเส้นประสาท หรือตาบอด พวกเราลังเลเพราะคุณพ่อไม่อยากให้เสี่ยง แต่น้องปวดหัวมาก จนตัดสินใจกันว่าอย่างไรก็ต้องให้ลูกผ่าตัด

เมื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจก็พบว่าเนื้องอกเป็นชนิดกลิโอมา (Glioma Tumours) ซึ่งแผนการรักษาตอนนั้นคือการผ่าตัด แต่ด้วยตำแหน่งของก้อนเนื้อทำให้การผ่าตัดสามารถนำชิ้นเนื้อออกมาได้เพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องมีการฉายแสงและให้คีโมเพิ่มเพื่อทำให้ก้อนเนื้อยุบลง หลังผ่าตัด เปียโนต้องพักฟื้นอีกเดือนกว่าๆ ที่โรงพยาบาลโดยยังไม่มีการให้คีโมจนก้อนเนื้อโตขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง คุณหมอจึงตัดสินใจผ่าตัดอีกครั้ง เพราะไม่อย่างนั้น ก้อนเนื้อก็ไปจะกดทับส่วนอื่นๆ ในสมอง และให้คีโมต่อจนครบ 3 เซต ฉายแสงทั้งหมด 30 ครั้ง และสิ้นสุดการรักษาในครั้งแรก ซึ่งด้วยตำแหน่งของก้อนเนื้อบริเวณกลางสมอง ทำให้น้องมีโรคอื่นๆ ตามมา ทั้งโรคเบาจืด ไทรอยด์ ภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งยังส่งผลไปถึงเรื่องฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตด้วย

หลังจากพักฟื้นได้สักพัก ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 น้องมีอาการปวดหลัง เวลานั้นคุณหมอวินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ จึงรักษาด้วยทำกายภาพบำบัด แต่อาการไม่ดีขึ้น เริ่มเดินเซ เลยมาทำ CT Scan ที่สมอง แต่ไม่เจออะไร จนกระทั่งทำ MRI จึงพบว่ามีเนื้องอกที่บริเวณหลัง จึงรักษาด้วยการผ่าตัด ให้คีโม ฉายแสง และต้องทำกายภาพบำบัดอยู่ น้องดีขึ้นและอีก  1 ปี ก็พบเนื้องอกที่ไขสันหลัง คุณหมอทำการรักษาด้วยการผ่าตัด  คีโม ฉายแสง ทำกายภาพบำบัด 8 เดือน เพราะน้องเดินไม่ได้ เปียโนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติประมาณ 1 ปี แต่อาการต่างๆ ก็กลับมาอีกครั้ง ทั้งปวดหัวและมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งเมื่อไปเช็กก็พบเนื้องอกที่สมองอีก 1 ครั้ง แต่รอบนี้ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว เพราะเนื้องอกที่เจออยู่ใกล้เส้นประสาทตามาก เลยต้องใช้วิธีให้คีโมและฉายแสงเท่านั้น พอครบโดส อาจารย์หมอก็ให้ทานคีโมเม็ด แล้วก็ติดตามอาการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน”

ต่อเลโก้ เขียนไดอารี่ วาดภาพ กิจกรรมบำบัดต่อสู้มะเร็ง

“ด้วยความที่น้องต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและอยากไปโรงเรียน แต่ไม่สามารถไปได้ แม่ก็เลยซื้อเลโก้ให้น้อง การต่อเลโก้เลยกลายเป็นกิจกรรมหลักที่ทำให้เปียโนมีอะไรได้โฟกัส นอกเหนือไปจากการรักษา พักฟื้น หรือคิดถึงชีวิตในโรงเรียน ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยน้องในเรื่องอารมณ์ที่จะนิ่งขึ้น มีสมาธิ เป็นกิจกรรมที่ทำให้น้องมีความสุข พอต่อเสร็จก็จะเอาไปให้คุณหมอคุณพยาบาลในวอร์ด

เปียโนยังเขียนไดอารี่ด้วย น้องจะให้แม่ถ่ายรูปแล้วอัดเป็นรูปเล็กๆ ติดลงไป แล้วก็เขียนบันทึกทุกเหตุการณ์ที่เขาเจอ ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาการเป็นอย่างไร พี่ๆ พยาบาลและคุณหมอแต่ละคนมีลักษณะอย่างไร ใครเป็นฮีโร่ของเขาก็จะถูกบันทึกไว้หมด นอกจากนี้ ยังใช้เวลาไปกับการวาดภาพด้วย อย่างวันวาเลนไทน์ก็จะวาดรูปครอบครัวหรือวาดรูปอาชีพในฝัน และวาดภาพลงเสื้อเพื่อโพสต์ขายสำหรับช่วยค่าใช้จ่ายในการรักษา”

Story of Piano เรื่องราวจากคำบอกเล่าของน้องเปียโน

Story of Piano เป็นเพจที่เปียโนเริ่มทำด้วยตัวเอง โดยแม่จะช่วยเสริมแค่บางส่วน อย่างที่เล่าไปในช่วงแรกว่าน้องจะบันทึกเรื่องราวลงในสมุดไดอารี่ แล้วมีพี่ซึ่งเป็นครูด้าน ICT มาเยี่ยมและได้เห็น เลยแนะนำให้ลองทำเป็นเพจขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์และเป็นความรู้ให้คนอื่นได้ด้วย เพจนี้เลยเริ่มราวๆ 2 ปีก่อน หลังจากที่การรักษาทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาจะเป็นการนำเรื่องราวที่เปียโนเคยจดบันทึกไว้มาทยอยลง นอกจากนี้ ในเพจยังมีภาพวาดและเสื้อเพ้นท์ของน้องโพสต์ไว้ด้วย ซึ่งหากมีใครสนใจหรือชอบผลงานก็สามารถช่วยอุดหนุนเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายได้ โดยในหนึ่งออร์เดอร์ น้องจะปันเงินจำนวน 29 บาทไปบริจาค อย่างการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลสงฆ์ หรือการไถ่ชีวิตโคกระบือ ถ้ามีคนสั่งเสื้อแล้วใส่เสื้อถ่ายรูปส่งมาให้คุณแม่ เปียโนก็จะเอ่ยอย่างมีความสุขว่า พี่ๆ เขาใส่แล้วสวยนะคะแม่ แล้วก็จะดีใจว่าวันนี้เขาได้ทำบุญ ได้ช่วยคนอื่น และมีความภูมิใจในตัวเอง”

แสงธรรมนำใจ

“หลังจากครั้งที่ 3 ที่น้องฉายแสงเสร็จ แม่กับเปียโนมีโอกาสได้ไปบวชที่เสถียรธรรมสถานด้วยความเมตตาของท่านแม่ชีศันสนีย์ ซึ่งก่อนไปแม่ทุกข์และกังวลว่าถ้ามะเร็งกลับมาอีกจะทำอย่างไร แม่ปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าอยากให้น้องหาย ทุกวันที่กอดน้องก็คิดไปด้วยว่าจะได้กอดลูกอีกถึงเมื่อไหร่ นอนไม่หลับเลย แต่พอไปบวชก็ทำให้แม่เข้าใจกับคำว่า here and now การอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นเยอะว่าอดีตหรือวันข้างหน้า เราไม่ต้องไปกังวลอะไร ทำนาทีนี้ให้ดีที่สุด มีความสุข ณ ขณะเวลา กับครอบครัวและเพื่อนที่เรารักและรักเรา

ทุกวันนี้ อะไรที่น้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการต่อเลโก้ วาดภาพ เพ้นท์รูปลงเสื้อ ได้เห็นคนที่เขาสวมเสื้อแล้วถ่ายรูปสวยๆ มาให้น้องดู ถ้านั่นคือความสุขของน้อง แม่ก็อยากให้เขาเอนจอยกับสิ่งที่ได้ทำ หรือการที่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 3 คน พ่อ-แม่-ลูก ทานข้าวด้วยกัน มีความสุขกับทุกๆ เรื่องที่ผ่านมาในชีวิต ทำให้รู้สึกว่าเรายึดติดน้อยลง ทุกข์น้อยลงด้วย ชีวิตได้ผ่อนคลายขึ้นจากเดิม

สำหรับเปียโน การเข้าใกล้ธรรมะทำให้น้องมีความเข้มแข็ง อดทน ใส่ใจคนอื่นมากขึ้น แล้วก็ได้ผลพลอยได้ในเรื่องการทาน เพราะปกติเปียโนชอบทานอาหารซ้ำๆ แต่ตอนบวช เราต้องทานอาหารที่ทางวัดเตรียมไว้ ทำให้น้องทานอาหารที่หลากหลายได้มากขึ้น เรื่องโภชนาการต่างๆ ของน้องเลยดีขึ้นตาม แต่แม่ก็ไม่ได้เคร่งมากเรื่องอาหาร ทำเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เขาไม่เครียดมาก แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลยจนเกินไป”

ดูใจเขา แลใจเรา

“สำหรับการดูแลผู้ป่วย กายกับใจจะต้องไปด้วยกัน เราต้องดูแลจิตใจเขาด้วย ไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว เอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าถึงจิตใจเขา ในขณะเดียวกันผู้ป่วยเองก็ต้องเข้าใจคนดูแลด้วยว่าเขาเองก็เหนื่อยเหมือนกัน การจะประคับประคองให้ราบรื่น สิ่งสำคัญคือเราต้องสื่อสารและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างแม่กับเปียโน บางครั้งบางที น้องเองก็รู้สึกเหมือนกันว่าเขากำลังทำให้เราลำบาก ส่วนแม่เองก็รู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ดีพอ ดังน้ัน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของกำลังใจและการพูดคุยกัน น้องจะถามแม่บ่อยๆ ว่า แม่เหนื่อยไหม แม่พักได้นะ เดี๋ยวหนูทำเองได้ แม่เองก็จะถามน้องเสมอว่า แล้วหนูไหวไหม? พยายามหาจุดที่สมดุลซึ่งกันและกันให้ได้

สำหรับคนดูแล เราจะเห็นได้ว่าบางครั้งคนป่วยเขาอาจจะเรียกร้องและอาจจะไม่รู้ตัว ด้วยปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสภาวะความเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะส่งผลกับใจของเรา ทั้งความเหนื่อยและท้อ เพราะฉะนั้น การดูแลจิตใจตัวเองให้ดีก็สำคัญมากๆ เพราะถ้าเราจิตใจเราไม่ดี การดูแลก็จะไม่เต็มร้อยเหมือนกัน”

หนูจะสู้ แม่ต้องสู้ด้วยนะ

“มีช่วงเวลาที่หนักมากๆ คือตอนที่โรคกลับมาเป็นซ้ำๆ หลายครั้งซึ่งทำให้แม่ใจเสีย แม่คิดว่าที่ครอบครัวเราผ่านช่วงเวลาตรงนั้นมาได้ก็เพราะกำลังใจจากคนในครอบครัวที่มีให้กันเสมอ ระหว่างที่แม่กับน้องอยู่ที่โรงพยาบาล คุณพ่อก็จะมาหาทุกวัน มานั่งคุย นั่งฟัง ถามไถ่กันตลอดว่าลูกและแม่เป็นอย่างไรบ้าง มานั่งทานข้าวด้วยกันทุกเย็น ช่วยรับเสื้อผ้าไปซักและส่งให้ ส่วนเรา 2 คนแม่ลูกก็จะหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ นอกจากเล่านิทาน นั่งคุยกันในเรื่องสนุกๆ หรือว่าฟังเพลงด้วยกันแล้ว น้องยังชอบทานและชอบดูรายการอาหารด้วย เราเลยชอบทำกับข้าว โดยเปียโนจะเป็นคนเตรียมส่วนผสม ส่วนแม่จะเป็นคนปรุง แล้วก็มานั่งทานอาหารที่เราทำด้วยกัน ซึ่งช่วยคลายความเครียดได้มาก ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ผ่อนคลายขึ้น แล้วครอบครัวเราก็ยังมีกัลยาณมิตรที่คอยให้กำลังใจบอกกับเราว่าไม่มีอะไรนะ เดี๋ยวก็ผ่านไป มาอยู่ข้างๆ กัน มาหาน้องเปียโนตลอด ซึ่งเราเลยได้เติมพลังจากพวกเขาด้วย

สำหรับเปียโน น้องจะปรับตัวว่าตอนนี้เขาอยู่โรงพยาบาล ตอนรักษาจึงไม่มีภาวะของการซึม ไม่ได้นั่งจมกับความทุกข์ หรือเศร้าใจอะไรทั้งสิ้น และด้วยการทำกิจกรรมทั้ง 3 อย่างที่แม่เล่าไป เขายังชอบคุยกับพี่ๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขายังร่าเริงได้ ขณะเดียวกัน น้องเป็นคนเข้มแข็งและใจสู้มาก เขาไม่เคยยอมแพ้ มีความหวังตลอดว่าเขาจะสู้ เขาจะหาย ไม่ร้องไห้ฟูมฟาย ยกเว้นเวลาปวดหรือเจ็บมากๆ นอกจากเป็นดวงใจของพ่อแม่แล้ว น้องยังเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วย การเห็นลูกป่วย คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็เศร้ามากแล้วนะ แต่เมื่อเห็นลูกยิ้ม อยากทำโน่นนี่ มีชีวิตชีวา ก็ทำให้เราอยากลุกไปสู้พร้อมกับเขา เปียโนจะบอกแม่เสมอว่า แม่อย่าร้องไห้นะ หนูไม่ร้องไห้ คนอื่นอย่าร้องไห้ให้หนูเห็นนะคะ

การพบมะเร็งเป็นที่อะไรหนักหนากับเขามาก จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตในวัยของเขาในหลายๆ ด้าน แต่น้องไม่เคยเอาข้อจำกัดมาเป็นข้ออ้างไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม น้องจะพยายามทำทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัดที่มีเพื่อให้ไปถึงจุดหมายที่เขาตั้งใจไว้เสมอ ไม่เคยยอมแพ้ในการต่อสู้กับโรค ไม่เคยหยุดนิ่งเรื่องการเรียน รวมไปถึงความตั้งใจที่จะช่วยครอบครัวหารายได้พิเศษเพื่อมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาของตัวเอง สิ่งที่แม่อยากบอกเปียโนก็คือ หนูเข้มแข็งมาก หนูเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของแม่และพ่อ หนูผ่านทุกอย่างมาจนทุกวันนี้ได้ด้วยใจที่เข้มแข็ง แม่กับพ่อก็จะผ่านมันไปให้ได้เหมือนกัน” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: วรรณดี ปัญญวรรณศิริ

ณษิกา ปั้นเหน่งเพชร ผู้ป่วยมะเร็งสมองกับ 9 เดือนที่ความทรงจำหายไป และเรื่องราวดีๆ ในวันที่ความทรงจำคืนกลับมา

ความกล้าหาญถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ ความกล้าหาญนับเป็นพลังอันดีงามที่ปุถุชนอย่างเราๆ พึงจะมี ขณะที่การเรียนรู้ที่จะกล้าหาญนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไม่กลัว แต่มันคือการเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่คุณกลัวด้วยสติ

สำหรับ ณษิกา ปั้นเหน่งเพชร หรือตาล เราสัมผัสได้ถึงความกล้าหาญของเธอในการเผชิญกับความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นคือความเจ็บป่วย ซึ่งความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองไม่ได้ทำให้เธอเกรงกลัวแต่อย่างใด เธอเลือกที่จะกล้าหาญเพื่อเผชิญหน้ากับโรคที่เป็นอยู่อย่างเข้าอกเข้าใจ กล้าที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เธอต้องการ กล้าที่จะทำสิ่งในที่รัก กล้าที่จะมีความสุขกับทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมคำมั่นที่ให้กับคนรอบกายว่าจะทำให้ทุกๆ เสี้ยวนาทีในชีวิตมีคุณค่าที่สุด และจะตอบแทนพวกเขาด้วยการมีชีวิตอยู่อย่างดีเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้

เนื้องอกสมองชนิด Grade IV Glioblastoma Multiforme (GBM)

“หลังจากที่พี่โดนเรียกตัวกลับมาช่วยดูแลกิจการโรงงานของครอบครัวประมาณปี 2015  พี่ก็เข้ามาจัดระบบอะไรต่างๆ จนทุกอย่างเริ่มลงตัว พอมาปีที่สอง ช่วง 2017 พี่คุยกับภรรยาว่าแต่งงานกันไหม ระหว่างที่เราวางแผนแต่งงาน พี่ไม่ได้มีอาการที่น่าเป็นห่วง เช่น ปวดหัวหนักๆ หรือคลื่นไส้อาเจียน หรือสัญญาณของโรคที่รุนแรงเลย จะมีก็แค่ปวดหัวธรรมดาแบบคนทั่วไปที่กินยาแก้ปวดก็จะหาย จนกระทั่งวันที่พี่ล้มหมดสติในโรงงาน ซึ่งโชคดีที่ภรรยาพี่อยู่ด้วย พอเข้าโรงพยาบาลก็ตรวจพบว่าพี่มีเนื้องอกที่สมอง

การรักษาในตอนนั้นคือ การผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย คุณหมอให้พี่พักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลจนร่างกายฟื้นตัวดี แต่พี่อยากจะกลับมาพักต่อที่บ้าน ซึ่งคุณหมอบอกว่า พี่จะกลับบ้านได้ถ้าพี่ทำตามเงื่อนไขของคุณหมอ นั่นคือพี่ต้องเข้าห้องน้ำเองให้ได้ เดินให้ได้ และทานให้ได้ พี่พยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองอยู่อย่างนั้นเดือนนึง คุณหมอก็อนุญาตให้ออกได้ แต่ทางโรงพยาบาลอยากให้พี่ไปทำแผลทุกวันที่โรงพยาบาล ซึ่งก็มีความยากตรงนั้น พี่เลยจ้างพยาบาลมาดูแลอีก 1 เดือน เพื่อรอเอาแม็คที่เย็บตอนผ่าตัดออกให้หมด

หลังเอาแม็คทั้งหมดออกเรียบร้อย คุณหมอก็ให้ซองมาหนึ่งซอง หนามากเป็นปึกเลย แล้วก็ปิดผนึก บอกว่าเดี๋ยวคุณต้องใช้ตอนฉายแสงนะ พี่ก็งงว่าทำไม่ต้องฉายแสง ภรรยาพี่ก็ไม่ได้พูดถึงมะเร็งเลย แค่บอก อ้อ ก็เนื้องอกเธอ เดี๋ยวมันจะนู่น นั่น นี่ พอพี่อยู่คนเดียวก็แกะซองนี้มานั่งอ่าน เลยทราบว่าพี่เป็นมะเร็งสมองชนิด GBM ซึ่งเป็นมะเร็งสมองที่พบไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับมะเร็งของอวัยวะอื่น เป็นมะเร็งที่รักษายาก และมีการพยากรณ์โรคที่ไม่โอเค ตามสถิติของโรค เทียบกับอายุ น้ำหนัก สภาพร่างกายของพี่แล้ว คุณหมอคาดการณ์ว่าพี่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3-6 เดือน เต็มที่สุดก็ 9 เดือน

ด้วยมะเร็งสมองชนิด GBM นี้ เป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยพบ ทำให้ข้อมูลมีน้อยมาก แต่ตัวพี่อยากรู้ในสิ่งที่ตัวเป็นมากกว่านี้ เพื่อนก็เลยตัดสินใจพาไปพบคุณหมอที่รักษาพี่ในปัจจุบัน ซึ่งคุณหมอก็ดีมาก อธิบายในสิ่งที่พี่อยากรู้และสงสัยทั้งหมดเพื่อที่จะดูว่าจะต้องทำอะไรต่อไป พี่คุยกับคุณหมอตรงๆ เลยว่า “คุณหมอคะ ตาลอยากทานสิ่งที่อยากทานและไม่อยากทานสิ่งที่ไม่อยากทาน” เพราะความรู้สึกพี่คือไม่โอเคในช่วงที่ผ่านมา คุณหมอก็เลยตัดสินใจขอคุยกับครอบครัวพี่ ซึ่งก็มีครอบครัว ภรรยา และเพื่อนๆ โดยคุณหมอเป็นสื่อกลางให้ระหว่างพี่กับครอบครัวว่าเวลาของพี่มีเท่านี้ ถ้าพี่ทำอะไรแล้วมีความสุขก็อยากให้ครอบครัวสนับสนุนความต้องการตรงนี้ สมมุติว่า 10 วัน ถ้าจะเหลือ 9 วันเพราะได้ทานสิ่งที่อยากทาน เหลือ 8 วันเพราะอยากไปเที่ยวทะเล เหลือ 7 วันเพราะอยากไปปีนเขา แต่เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขไหมล่ะ ซึ่งถ้าพี่เลือกทางนี้ คุณหมอก็ขอให้คนรอบข้างเคารพการตัดสินใจ โดยจะมีคุณหมอเป็นที่ปรึกษาเรื่องการดูแลตัวเองด้านอื่นๆ”

เมื่อความทรงจำขาดหาย และทุกอย่างย้อนกลับไปในอดีต

“ถ้าเรียงลำดับก็คือ พี่พบว่าเป็นมะเร็งช่วงปี 2017 หลังจากฉายแสงเสร็จ และผ่านไประยะหนึ่ง ประมาณปี 2018 ความจำพี่หายไป ซึ่งอย่างที่เล่าไปว่า ตอนนั้นพี่แพลนเรื่องแต่งงาน แล้วก็คาราคาซังอยู่เพราะต้องรักษาตัว ในใจคิดอยู่แล้วว่า พี่คงไม่ได้แต่งกับเขา เพราะถ้าจะให้ผู้หญิงคนหนึ่งมาแต่งกับคนที่กำลังจะตาย พี่ไม่โอเค แต่พี่ตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ ก็เลยบอกสิ่งที่พี่คิดไป ซึ่งเขาเลือกที่จะแต่งงาน เราก็เลยได้แต่งงาน ตอนแต่งงานยังจำได้อยู่นะ แต่หลังจากแต่งงานไปได้สักพักหนึ่ง พี่มีภาวะปวดหัวหนักมาก ตื่นขึ้นมาอีกทีหนึ่งคือจำไม่ได้แล้วแม้กระทั่งห้องที่อยู่ จำภรรยาพี่ไม่ได้ แล้วทั้งบุคลิก ความคิด และความทรงจำของพี่ย้อนกลับไปตอนที่พี่เรียนมหาวิทยาลัย ปี 3

ช่วงที่จำอะไรไม่ได้ ร่างกายของพี่ปกติ มีผม ไม่มีสายอะไรอยู่รอบตัว ไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงการเจ็บป่วยเลย พี่ไม่ได้คิดเรื่องของการเป็นมะเร็ง คิดแค่ว่า อ้าว เราแต่งงานแล้วเหรอ เราอยู่มหาวิทยาลัยอยู่เลย แล้วแต่งงานได้อย่างไร นั่งจับผมตัวเอง ทำไมผมสั้น นั่งดูรูป ทำไมถ่ายกับผู้หญิงคนนี้ แล้วก็หยุดอยู่รูปหนึ่ง เป็นรูปที่ไม่มีผมเลย แล้วใส่ชุดดำ ในมือถือแซกโซโฟนสีชมพู ซึ่งก็งงมากว่า แซกฯ ตัวนี้เราเพิ่งจอง ยังไม่ได้หนิ ทำไมเราถือ พี่เลยถามว่า ภาพนี้ถ่ายตอนไหน เขาบอกว่า ตอนที่ในหลวง ร.9 ท่านสวรรคต แล้วพี่มีโอกาสไปเป่าแซกฯ ให้ท่านฟัง ตอนนั้น เอาจริงๆ ความรู้สึกพี่คือตกใจ เสียใจมากกว่าที่รู้ว่าในหลวงไม่อยู่แล้ว ไม่ได้ตกใจกับการเป็นมะเร็งเลย

การใช้ชีวิต พี่ต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ ปรับตัวใหม่ เช่น การใช้สมาร์ทโฟน การคุยกับเพื่อนทางไลน์ แต่ว่าในแง่ของทักษะการทำงานของพี่ยังอยู่นะ แค่ต้องกลับมาทบทวนว่าทำอย่างไร เช่น อุปกรณ์ในโรงงาน แม้ว่าจะจำไม่ได้ว่าเรียกว่าอะไร แต่พี่รู้ว่าเครื่องมือนี้ใช้งานอย่างไร

ช่วงที่ความทรงจำหายไปเป็นช่วงที่ทำให้ชีวิตคู่ค่อนข้างแย่เหมือนกัน จนวันที่ภรรยาพี่บอกเลิกเพราะเขาไม่โอเค ไม่ไหว ส่วนพี่ก็คิดว่าทำไมเราต้องมาอยู่กับคนขี้บ่น บังคับว่าให้กินโน่น ให้ทำแบบนี้ แต่พี่จำไม่ได้ว่าก่อนความทรงจำหายเราเจออะไรมาเยอะมาก รวมทั้งภรรยาพี่ด้วย วันนั้นพี่เครียดก็เลยทานยาและขอนอนพัก ตั้งแต่ 8 โมง ถึง 5 โมงเย็น ซึ่งเหมือนในหนังเลยนะ คือทุกอย่างอยู่ๆ ก็แฟลชแบคกลับมาหมดเลย เหตุการณ์ในอดีต ทั้งเพื่อนล้อ เพื่อนแกล้ง ทะเลาะกับแฟน ไม่เข้าใจพ่อแม่ ไปเที่ยว ไปเจอคนนู้นคนนี้ แล้วพอตื่นขึ้นมา ความทรงจำก็กลับมาแล้ว

เนื่องจากพี่เป็นคนชอบจดบันทึก เลยมานั่งไล่อ่านสิ่งที่เราเขียนไปตลอดปี 2018 ก็พบว่า ตัวเองลืมจริงๆ เลยตัดสินใจโทรหาคุณหมอ อยากจะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร หลังจากคุยกับคุณหมอ คุณหมอก็บอกว่า “ถ้าคุณตาลคุยแบบนี้ แสดงว่าความจำคุณตาลกลับมาแล้วจริงๆ เพราะทั้งการพูด การเดิน บุคลิก คือเปลี่ยนไปเลย ก่อนหน้านี้หมอคุยกับคุณตาลไม่รู้เรื่องเลย จะเป็นอีกแนวหนึ่งเลย”

อยู่อย่างเข้าใจ อะไรก็ไม่น่ากลัว

“ต้องเท้าความก่อนว่า พี่เคยพบก้อนมะเร็งบริเวณหัวเข่าด้านซ้าย ตอนนั้นช็อคและเศร้ามาก เพราะเป็นมะเร็งครั้งแรก จนเพื่อนพี่คนหนึ่งมาเยี่ยม เขาเองก็เป็นมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์ แต่เพื่อนคนนี้ตัดสินใจเลือกชีวิตของลูก โดยไม่ทำการรักษาอะไรเลยเกี่ยวกับมะเร็งจนกระทั่งคลอดลูกถึงค่อยเริ่มต้นรักษา พอพี่ฟังจบ พี่รู้สึกว่า โอ้โห! หัวเข่าเราเด็กไปเลย และรู้สึกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องมานั่งร้องไห้เสียใจ โอเค ถ้าเกิดเราต้องตัดขาทิ้ง เวลาไปห้างก็สบายเลย ที่จอดรถก็หาง่ายแล้ว จากจิตตกพี่เลยคิดในแง่บวกไป พอมาเป็นครั้งนี้ที่สมองก็เลยไม่ได้ตกใจเท่าไหร่

ปัจจุบันนี้ มุมมองที่มีต่อโรคมะเร็ง พี่ไม่คิดว่ามะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัว ถ้าเราเข้าใจเขา เหมือนเราเจอเพื่อนสักคน แรกๆ เราไม่รู้หรอกว่าเขานิสัยอย่างไร แต่เราจะค่อยๆ เรียนรู้เขาในมิติต่างๆ เราอาจจะไม่ชอบเลยเวลาเพื่อนคนนี้เสียงดัง แต่เพื่อนคนนี้ก็ไม่ได้เสียงดังบ่อยๆ บางวันเพื่อนคนนี้ก็เงียบสงบ มะเร็งก็คงคล้ายๆ กัน มันอาจจะมีวันที่เขาโหดร้ายหน่อย วันที่เราไม่ชอบนิสัยเขาเลย แต่เราก็เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เรียนรู้ที่จะอยู่กับเขาทั้งในช่วงที่เขาเสียงดังและวันที่เขาน่ารัก”

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะขอสู้อย่างเต็มที่

“ตอนที่ความทรงจำพี่กลับมา พี่ถามภรรยาพี่ตรงๆ ว่า “เธอยังอยากจะเลิกกับพี่ไหมถ้าวันนี้ความจำพี่กลับมาแล้ว” ภรรยาพี่ก็ตอบกลับมาว่า “ถ้าเธอจำฉันได้จริงๆ ฉันก็ไม่เลิกกับเธอหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่เธอลืมอีกก็ขอให้ความจำเป็นช่วงอนุบาลนะ จะได้สอนง่ายๆ” คือขอให้เด็กกว่านี้หน่อย ช่วงมหาวิทยาลัยดูแลยากมาก ดื้อเกินไป (หัวเราะ)

การเป็นมะเร็งครั้งนี้พี่ไม่ได้ฟูมฟาย อาจเพราะตกใจและเสียใจที่สุดไปแล้วกับการเป็นครั้งแรกที่หัวเข่า ถ้าเสียใจก็เสียใจกับภรรยาตัวเองนี่แหละที่พี่มีเวลาเหลือให้เขาน้อยแล้ว แต่เมื่อเขายืนยันที่จะอยู่และสู้ไปด้วยกัน พี่ก็คิดว่า โอเคจะ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน หรือจะเท่าไหร่ก็ตาม พี่จะทำให้เต็มที่ที่สุด”

มะเร็งทำให้ได้เจอคนดีๆ และด้านดีๆ ของชีวิต

“มะเร็งอาจจะทำให้ร่างกายพี่ไม่แข็งแรงเท่าเดิม ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จลุล่วงได้ทั้งหมด แต่เขาก็ทำให้ชีวิตพี่เปลี่ยนไปในทางดีด้วย มีอะไรดีๆ เข้ามาในชีวิต พี่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ได้เจอคนๆ ใหม่ รู้จักเพื่อนร่วมทางหลายๆ คนที่เป็นมะเร็งและได้รับพลังความเข้มแข็งจากพวกเขา ได้เป็นคนรับฟัง เป็นคนให้กำลังใจคนที่ป่วยเป็นมะเร็งเหมือนกัน”

พร้อมจากไปทุกเมื่อ  

“ปีนี้หรือปีหน้าพี่อาจจะตายก็ได้ เพราะพี่อยู่มาได้ปีที่ 4 แล้ว เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มากเลยนะที่พี่ก็ยังไม่ตาย ทั้งๆ ที่ตอนแรกคุณหมอว่าว่าอย่างมากที่สุดคือ 9 เดือน ในปีแรกที่เป็น พี่เลยจัดการวางแผนทุกอย่างให้ครบ ปีที่สอง พี่ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำอย่างเต็มที่ ได้แต่งงาน ได้ไปเป่าแซกฯ ให้ในหลวง ร.9 ได้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องความรู้ ได้ไปเที่ยว ปีนี้พี่เพิ่งบอกครอบครัวและเพื่อนๆ ไปเองว่าพี่พร้อมแล้ว พร้อมที่จะจากพวกเขาไป เพราะพี่ได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างคุ้มค่าแล้ว และต้องขอบคุณพวกเขาที่ให้เราทำทุกอย่างได้อย่างเต็มที่แบบที่เราต้องการ ขอบคุณจริงๆ นะ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (Sudaporn Jiranukornsakul)
ภาพ: วริษฐ์  สุมนันท์ (Varit Sumanun)
ภาพเพิ่มเติม: ณษิกา ปั้นเหน่งเพชร