Nutrepreme ออกแบบสูตรอาหารด้วยหัวใจ มุ่งสร้างสุขภาวะและความสุขให้ผู้ป่วยมะเร็ง

ในขณะที่มะเร็งยังคงเป็นโรคที่มีความสำคัญในทางสาธารณสุขด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทว่า ด้วยความพยายามของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกๆ สาขาวิชา ทำให้จำนวนผู้รอดชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์จากการทุ่มเทศึกษาและการวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อันนำไปสู่หนทางและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการป้องกัน รักษา และการฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถอุ่นใจและพร้อมเดินหน้าต่อแม้จะพบว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว แต่ก็ยังสามารถกลับมามีชีวิตได้อย่างปกติสุข

หมออู๋-นพ. ธีรภพ ไวประดับ ศัลยแพทย์มะเร็งและเต้านม และ หมอจ๋า-พญ. อัญวีณ์ เกียรติอภิพงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกันและการชะลอวัย คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญของตัวเอง มาริเริ่มและสร้างสรรค์สูตรอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขึ้นโดยเฉพาะ กับการปลุกปั้น Nutrepreme ด้วยความคิด ความเชื่อ และความตั้งใจที่อยากให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น พร้อมพันธกิจสำคัญคือ การเป็นเพื่อนร่วมทางในการดูแลและประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งให้ผ่านจุดที่ยากลำบากที่สุดไปด้วยกัน

จุดเริ่มต้นของการทำเพื่อผู้อื่น

นพ. ธีรภพ: “ผมเติบโตมาในคลินิกรักษามะเร็งของคุณปู่ (นพ. สมหมาย ทองประเสริฐ) ท่านเป็นหมอศัลยกรรมที่รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการบูรณาการแบบองค์รวม ซึ่งเป็นหลักการในการบริการทางการแพทย์ที่เน้นการดูแลและรักษาผู้ป่วยโดยครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือบางคนอาจเรียกว่าเป็น ‘การรักษาแบบทางเลือก’ การเติบโตท่ามกลางบรรยากาศแบบนั้นทำให้ผมได้เห็นมาตลอดว่าผู้ป่วยต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรบ้าง ทำให้ตอนที่เริ่มต้น Nutrepreme เป้าหมายใหญ่ของพวกเราคือการมองหาหนทางว่า เราจะสามารถนำความรู้และความเชี่ยวชาญของเรามาช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร”

พญ. อัญวีณ์: “การอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแบบนั้น ทั้งได้เห็นคนไข้ที่เข้ามารักษาในคลินิกด้วยอาการที่ค่อนข้างหนัก รวมถึงไม่มีโอกาสได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยเท่าทุกวันนี้ หมอคิดว่านี่เป็นทั้งความทรงจำและพันธกิจชีวิตของทั้งคุณหมออู๋และตัวหมอเองว่า เราจะดูแลคนไข้กลุ่มนี้ต่อไปอย่างสุดความสามารถ ซึ่งตลอด 10 กว่าปีที่คุณหมออู๋ได้ดูแลคนไข้มะเร็งมา คำถามที่ได้รับมาตลอดเลยคือ “คุณหมอ เป็นมะเร็งกินอะไรดี กินอะไรได้ และอาหารอะไรที่จำเป็นต่อผู้ป่วยมะเร็งบ้าง? คำถามซ้ำๆ เหล่านี้ทำให้เราเริ่มตระหนักว่า คนไข้ให้ความสำคัญในเรื่องของอาหารอยู่ไม่น้อยเลย ขณะที่ทุกวันนี้เรายังไม่เห็นทางออกด้านอาหารที่เหมาะสมกับตัวโรคและร่างกายของพวกเขา

หากมองปัญหาที่คนไข้มะเร็งต้องเผชิญ ตัวโรคเองทำให้พวกเขากินอาหารได้ยากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด ไปจนถึงการฉายแสง ยิ่งจะทำให้คนไข้มีภาวะร่างกายที่ทำให้กินยากขึ้นไปอีก เมื่อเกิดภาวะโภชนาการที่ไม่พร้อม แน่นอนว่าจะส่งผลต่อสุขภาพและทำให้ร่างกายไม่พร้อมรับการรักษา เมื่อคนไข้ทำการรักษาต่อเนื่องไม่ได้ ช่วงที่ต้องเว้นการรักษาไป จะเป็นนาทีทองที่มะเร็งสามารถเติบโตลุกลาม แพร่กระจายออกไป นี่เลยเป็นปัญหาใหญ่ที่พวกเราอยากจะช่วยเหลือคนไข้” 

สารอาหารที่จำเป็นที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งคือโปรตีนและอาหารที่ไม่มีน้ำตาลหรือปริมาณน้ำตาลต่ำ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งมีอัตราการสลายโปรตีนเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการโปรตีนมากกว่าคนปกติถึง 1.5-2 เท่า อาการเบื่ออาหารและกินอาหารได้น้อยลงจะยิ่งทำให้คนไข้ได้รับสารอาหารดังกล่าวไม่เพียงพอ ทำให้ฟื้นตัวจากการรักษาได้ช้า มีภูมิคุ้มกันต่ำลง และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้ง่าย การได้รับโปรตีนและกรดอะมิโนจำเป็นอย่างเพียงพอ จึงมีส่วนช่วยในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพิ่มค่าอัลบูมินให้กับร่างกาย รักษาระดับเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดให้อยู่ระดับที่ยอมรับได้  ขณะที่น้ำตาลเป็นอาหารของมะเร็งทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตเร็วขึ้น โดยอาหารที่มีอยู่ทั่วไปทุกวันนี้ ส่วนมากแล้วจะมีปริมาณโปรตีนไม่สูงนัก ทั้งยังมีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลอยู่มาก จึงยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด ผลิตภัณฑ์ของ Nutrepreme จึงถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยให้ความสำคัญไปที่ หนึ่ง – การเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูง สอง – ไม่เติมน้ำตาล สาม – มีรสชาติอร่อยและกินง่าย สี่ – มีสารอาหารที่ช่วยให้รู้สึกคลายกังวล ลดความเครียด และมีความสุขมากขึ้น และห้า – มีราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งแม้กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ 5 ข้อข้างต้นจะยาก มีมูลค่ามหาศาล และใช้เวลาในการพัฒนานาน แต่ก็ให้ผลลัพธ์คุ้มค่า 

นพ. ธีรภพ: “เพราะผมได้สัมผัสกับคนไข้โดยตรงและเป็นประจำ ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่คนไข้ต้องการและควรจะต้องได้รับ เมื่อเราตั้งเป้าว่ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งคือกลุ่มที่ต้องการจะดูแลเขาอย่างดีที่สุด เราจึงให้ความสำคัญมากๆ ในทุกขั้นตอน ทั้งในส่วนของงานวิจัย วัตถุดิบ รวมถึงกระบวนการที่มีความซับซ้อน ซึ่งหากทำได้ นอกจากจะเป็นหลักประกันด้านคุณภาพที่ผู้ป่วยจะได้รับแล้ว นั่นจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยผ่านจุดที่ยากลำบากที่สุดไปให้ได้อย่างราบรื่น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพด้วยครับ”

Survivor Planner สมุดบันทึกส่งต่อแนวทางพิชิตโรค

นพ. ธีรภพ: “ที่โรงพยาบาลบำรุงราฎร์ ผมได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำ survivor planner ของโรงพยาบาล ซึ่งจากที่ผมได้อ่านงานศึกษาของเหล่าผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็ง (survivor) พบว่าการรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดของผู้ป่วยมะเร็งมีข้อมูลเยอะมาก เขาควรจะต้องจดบันทึกเพื่อนำไปใช้ ซึ่งเจ้าสมุดจดบันทึกนี้มีประโยชน์มากจริงๆ การที่เราสนับสนุน ‘Survivor Planner สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง’ จึงน่าจะเป็นเป็นประโยชน์กับคนไข้มากๆ ครับ”

พญ. อัญวีณ์: “เราเล็งเห็นความตั้งใจของคุณออย (ไอรีล ไตรสารศรี) ที่มีความมุ่งมั่นและมีหัวใจแห่งการแบ่งปันจริงๆ กับการออกมาแชร์สิ่งดีๆให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่พอเริ่มรู้ว่าเป็นมะเร็งแล้วไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ ซึ่งไม่ใช่แค่คนไข้ แต่รวมไปถึงญาติๆ และคนใกล้ชิดที่กังวลเช่นกันว่าจะต้องดูแลอย่างไร สิ่งที่คุณออยได้ทำ ทำให้เราคิดว่าการเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ จะเป็นโอกาสที่ดีมากในการส่งต่อความตั้งใจของเราไปยังผู้ป่วยมะเร็งได้

“สำหรับกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปีของ Art For Cancer ทาง Nutrepreme จะเข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาด้านโภชนาการของ Nutrepreme ที่จะมาให้ความรู้ในเรื่องของอาหาร การให้ชุดข้อมูลด้านมะเร็งผ่านทางกิจกรรมต่างๆ และการจัดโรดโชว์ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ การบรรยายหรือการไปพูดเพื่อแบ่งปันความรู้และให้กำลังใจ โดยเราจะส่งทีมงานไปช่วยสนับสนุนตลอดทั้งปีนี้เลยค่ะ”

สร้างชุมชนส่งต่อกำลังใจเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง

พญ. อัญวีณ์: “ในอนาคตอันใกล้ ทาง Nutrepreme จะมีแคมเปญเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่เรียกว่า ‘Happy Chemo Club (แฮปปี้คีโมคลับ)’ เราอยากจะส่งเสริมและสนับสนุนสิ่งที่เป็นพลังบวก ทั้งกิจกรรม ความคิด และความรู้สึกทั้งหมด เราอยากเปลี่ยนภาพของการเป็นมะเร็งที่ดูเศร้า เหนื่อย ร่างกายทรุดโทรมให้เป็นภาพอีกแบบหนึ่งที่จะทำให้ทั้งสุขภาพกายและใจของคนไข้ที่กำลังทำคีโมเป็นไปอย่างมีความสุข เพื่อช่วยให้เขาสามารถผ่านช่วงเวลาของการรักษาที่ยากลำบากไปได้อย่างมีคุณภาพ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวบนเส้นทางนี้ และอยากเปลี่ยนมุมมองของการเป็นมะเร็งว่าไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มนุษย์เราสามารถพบได้ในชีวิต”

นพ. ธีรภพ: “โมเดล Happy Chemo Club เราจะทำในหลายๆ แพลตฟอร์ม รวมถึงการทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Happy Chemo Club’ ซึ่งจะเป็นชุมชนของผู้ป่วยมะเร็ง เพราะเราคิดว่าช่วงเวลาที่ยากที่สุดที่คนไข้มักจะกลัวและกังวลคือช่วงการให้เคมีบำบัด เราอยากสร้างชุมชนแห่งนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาผ่านขั้นตอนดังกล่าวไปได้อย่างราบรื่นที่สุด โดยจะไม่มีเรื่องของธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล นักโภชนาการ ตลอดจนผู้ประกอบการที่อยากมีส่วนร่วมในการสนับสนุน เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ส่งต่อให้กับผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น และให้คนไข้ได้รับประโยชน์จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น ในอนาคตเราอาจจะไปทำงานร่วมกับร้านอาหารสุขภาพที่เขาสามารถออกแบบอาหารสำหรับผู้ป่วยในระหว่างให้คีโม โดยเราจะแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ให้กับคนไข้เพื่อพวกเขาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง หรือการทำงานระหว่าง ‘Happy Chemo Club X เมคอัพอาร์ติส’ ในการให้คำแนะนำเรื่องการเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมซึ่งเป็นอันตราย เราอยากให้เกิดความสุขระหว่างการรักษาด้วยคีโม รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนพวกเขาในทุกๆ มิติทั้งกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ”

พญ. อัญวีณ์: “หาก Happy Chemo Club ประสบความสำเร็จ หมออยากจะขยายผลในส่วนนี้ออกไปสู่สังคมในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งมีอีกหลายๆ เรื่องนอกเหนือไปจากกระบวนการรักษาที่คนไข้ต้องเผชิญ เช่น ในส่วนของสังคม ด้านชีวิตการทำงาน จริงๆ แล้วมิติเหล่านี้เกี่ยวข้องกันไปหมดเลยนะคะ เช่น ผู้ป่วยบางคนให้คีโมแล้วร่างกายต้องการการพักฟื้น ทำให้ต้องขาดงานบ่อย บางคนถูกหักค่าแรง เลยเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาเพื่อทำงานเก็บเงินไว้ให้ลูกได้เรียนหนังสือ ซึ่งเรื่องราวแบบนี้อาจเกิดขึ้นกับใครบางคนที่ต้องเผชิญกับโรคพร้อมกับความกดดันรอบตัวโดยไม่มีใครเข้าใจ หมอคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและสาธารณชนทราบว่าคนไข้ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง เพราะการเป็นมะเร็งไม่ได้ทำให้คนไข้สูญเสียความสามารถไปเลยนะคะ เพียงแต่จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่เขาต้องการเวลาในการฟื้นฟูตัวเอง และหากเราสามารถให้ความรู้ ตลอดจนแนวทางในการปฏิบัติตัวได้ นี่จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการรักษาสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีมากขึ้น มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตตามปกติ ขาดงานน้อยลง เกิดการช่วยเหลือกันในสังคมของคนไข้มะเร็ง ทำให้พวกเขาได้รับการเกื้อกูลในองค์รวม ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเองหรือครอบครัว แต่รวมไปถึงองค์ประกอบทางสังคมต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเขาด้วย”

เพราะคุณชีวิตที่ดีของคนไข้คือพันธกิจของเรา         

พญ. อัญวีณ์: “อย่างที่บอกว่าการดูแลคนไข้มะเร็งถือเป็นพันธกิจชีวิตของครอบครัวเราไปแล้ว สำหรับตัวหมอเอง เมื่อได้เข้าไปเรียนในสาขาเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ชะลอวัย ทั้งสองสาขานี้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถผนวกเข้าด้วยกันและส่งเสริมกันได้ อีกทั้งความรู้และประสบการณ์ของเราทั้งสองคน ทั้งด้านศัลยกรรมมะเร็ง ด้านเวชศาสตร์ป้องกันและการชะลอวัยที่เน้นในเรื่องโภชนาการ ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดว่าองค์ความรู้เหล่านี้สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนไข้ได้มหาศาล

“ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราพบว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำทำให้ภาพรวมของสุขภาพร่างกายคนไข้ดีขึ้นตามลำดับ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจด้วยแล้ว นั่นทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าเราเดินมาถูกทาง สำหรับหมอสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่ชุบชูหัวใจของเรา หมอดีใจและภูมิใจได้ทำงานตรงนี้ค่ะ”

นพ. ธีรภพ: “ผมเห็นชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งมาตั้งแต่เด็ก ผมอยู่ในคลินิกรักษามะเร็ง ได้ซึมซับเรื่องการรักษามะเร็งทั้งแบบแผนทางเลือก แผนการรักษาแบบบูรณาการ (Integrated Care) แผนไทย แผนจีน และแผนปัจจุบัน นั่นทำให้ผมเห็นความจริงข้อหนึ่งก็คือ หากคุณมีสตางค์ คุณจะอยู่ได้นานขึ้น จะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น แล้วถ้ากำลังทรัพย์ของผู้ป่วยมีจำกัดล่ะ นี่คือเรื่องจริงของผู้ป่วยมะเร็งนะครับ ด้วยด้านหนึ่งในวิชาชีพ ผมยังทำงานเป็นแพทย์อาสาในต่างจังหวัด เมื่อได้เห็นผู้ป่วยในสองสถานที่ เรียกว่าคนละโลกกับโรงพยาบาลชั้นนำในเมืองเลย เราต้องยอมรับว่า บางครั้งบางที คนไข้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้จริงๆ ทุกครั้งที่ผมผ่าตัดผมจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อกำจัดก้อนเนื้อออกจากคนไข้ให้ได้มากที่สุด แต่การรักษาไม่ได้หยุดแค่นั้น พวกเขายังต้องผ่านกระบวนการอีกมากมายซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น อะไรก็ตามที่สามารถช่วยดูแลคนไข้ให้พวกเขามีสุขภาพที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข นั่นจึงเป็นความสุข แรงขับดัน และเป็นสิ่งที่ผมจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด”

เคล็ด (ไม่) ลับ ห่างไกลมะเร็ง

นพ. ธีรภพ: “ผมจะบอกคนไข้ของผมเสมอว่า กำลังใจที่สำคัญที่สุดและยั่งยืนที่สุดคือตัวเราเอง เวลาที่ใครพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง พูดง่ายๆ เหมือนโดนฟ้าผ่า การเป็นมะเร็งทำให้คนไข้ต้องเจอกับอะไรที่ยากและมีเรื่องให้คิดมากมาย บางคนที่เป็นมะเร็งไม่อยากมารักษาเพราะหยุดงานไม่ได้ เพราะต้องเลี้ยงครอบครัว เพราะฉะนั้น เขาอาจต้องเลือกในสิ่งที่จำเป็นกว่า แต่ผมอยากให้เขาดึงความคิดกลับมาให้ได้ มะเร็งเมื่อเป็นแล้ว ต้องให้เวลาตัวเองในการยอมรับกับความจริงและกลับมาสู่ความเป็นจริงให้ได้ จากนั้นจัดการทุกอย่างด้วยสติ ให้กำลังใจตัวเอง เพราะชีวิตคุณยังไปต่อได้และมีค่ามากพอที่จะไปต่อ

“สำหรับในเรื่องของการป้องกัน ผมว่า หนึ่งคือเราจำเป็นต้องแสวงหาความรู้เกี่ยวกับตัวโรคและอะไรคือความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในแต่ละชนิด เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสในการเกิดมะเร็งชนิดไหนได้บ้าง ซึ่งเมื่อเรามีชุดข้อมูลแล้ว นั่นจะเป็นแนวทางให้เราได้ว่า เราควรจะดูแลร่างกายเราอย่างไรเพื่อให้ชีวิตเราห่างไกลจากความเสี่ยงนั้น สองคือการหมั่นตรวจสุขภาพเมื่อถึงวัยที่ต้องตรวจ ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญเช่นเดียวกัน เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจแมมโมแกรมควรเริ่มต้นที่อายุ 40 ปี เพราะการตรวจเร็ว รู้เร็ว การรักษาก็จะทำได้เร็ว ทำให้โอกาสในการหายเป็นปกติจะสูงขึ้นตาม รวมทั้งมะเร็งบางชนิดสามารถป้องกันได้ เช่น มะเร็งปากมดลูกที่มีวัคซีนป้องกัน หรือมะเร็งตับซึ่งมีสาเหตุหนึ่งมาจากการเป็นไวรัสตับอักเสบบี คุณหมอจะมีวัคซีนในการป้องกันโรคไวรัสชนิดนี้เช่นกัน บางคนอาจบอกว่า ทานมังสวิรัติ วิ่งมาราธอน ส่วนหนึ่งอาจช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี แต่ไม่ได้เป็นการรับประกันเลยว่าคุณจะไม่เป็นมะเร็งนะครับ การคัดกรองจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพได้ และเราจำเป็นต้องรู้ประวัติของคนในครอบครัวว่ามีความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไหม เพื่อที่จะเฝ้าระวังว่าเรามีความเสี่ยงอะไรบ้างและป้องกันในส่วนที่ทำได้ เมื่อเราทำทุกอย่างเรียบร้อยและสุดความสามารถแล้ว หากอะไรจะเกิดขึ้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติครับ

“ในพาร์ทของการเป็นหมอ ผมคิดว่าคำพูดที่เราพูดคุยกับคนไข้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่พูดกับคนไข้เลยคือ คุณเป็นระยะที่เท่าไหร่ คุณอยู่ได้อีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ซึ่งผมอยากจะรณรงค์ด้วยซ้ำว่าคำพูดเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลในแง่บวกกับคนไข้เลย สำหรับผม คำพูดคุณหมอเป็นสิ่งมีผลต่อความรู้สึกและกำลังใจคนไข้มากนะครับ อย่างน้อยเขามาเจอเราเพียงแค่ 5-10 นาทีในการตรวจ การส่งพลังงานบวกให้กับเขา จะเป็นแนวทางที่ผมเลือกใช้ เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มต้นด้วยการแบ่งเกรด ไปกำหนดชีวิตของเขา นอกจากจะส่งผลต่อความรู้สึกคนไข้มากๆ แล้ว ยังส่งผลต่อการตัดสินใจแนวทางการรักษา หรือการปฏิบัติที่ญาติจะมีต่อคนไข้โดยอัติโนมัติด้วย เช่น การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวของคนป่วยทั้งหมดแบบที่อาจทำให้คนไข้คิดว่าเขาจะอยู่ได้อีกเพียง 3 / 6 / 9 เดือน แน่นอนว่ากำลังใจจากคนไข้เองเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่กำลังใจจากคนรอบข้างก็สำคัญไม่แพ้กัน ในการรักษาโรค ไม่ว่าจะโรคอะไรก็ตาม หากกายและใจแข็งแรงเป็นไปในทางบวก นั่นจะส่งผลให้การรักษาและฟื้นฟูเป็นไปในทางที่ดีตามไปด้วย”

พญ. อัญวีณ์: “เอาจริงๆ มะเร็งคือเราเลยนะคะ เพราะมะเร็งเกิดขึ้นจากเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์หรือเรียกว่าแปลงร่างไป ทีนี้ถ้าร่างกายของเราแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันดี ร่างกายจะตรวจเจอว่ามีเซลล์หน้าตาแปลกๆ ออกมาและสามารถกำจัดทิ้งด้วยตัวเองได้ แต่เมื่อไหร่ที่ภูมิคุ้มกันของเราลดลง ทหารของเราหละหลวม เจ้าเซลล์หน้าตาแปลกๆ เหล่านี้จะเกิดการเล็ดลอด แล้วไปแบ่งตัวออกลูกออกหลานจนเกิดเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมา ซึ่งถ้าถามว่าเราจะทำอย่างไรหรือว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อป้องกันมะเร็ง หมอคิดว่าเราต้องพูดในแง่ของการลดความเสี่ยงมากกว่า

“คำแนะนำของหมอคือ หนึ่ง – เริ่มจากภายในตัวเองก่อนจากการทำจิตใจให้สบาย เมื่อร่างกายของเราไม่หลั่งสารแห่งความเครียดหรือว่าสารเคมีที่ผิดปกติออกมา ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ผิดปกติจะลงลด สองคือพยายามนำสารพิษและสิ่งปรุงแต่งเข้าร่างกายให้น้อยที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ การกลับมาใช้ชีวิตที่กลับสู่ธรรมชาติ กลับสู่พื้นฐาน มีการปรุงแต่งที่น้อยลง จะเป็นแนวทางที่จะสามารถเข้ามาช่วยได้ เพราะฉะนั้น หลักง่ายๆ ที่ทุกคนน่าจะสามารถทำได้คือการทำร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงเพื่อที่ตัวเราจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตัวเองได้ นอกจากนี้คือถามตัวเองสม่ำเสมอว่า เราทำงานหนักเกินไปไหม มีความเครียดมากเกินไปหรือเปล่า ลองย้อนกลับมาทบทวนการใช้ชีวิตของเรา ลองใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวภาพดูไหม นอนให้เร็วขึ้น ลดการกินอาหารแปรรูป ย้อนกลับสู่ความสมดุลมากขึ้น รวมถึงสมดุลทางจิตใจด้วย ดูเหมือนเป็นคำทั่วไปมากเลยนะคะ แต่การใช้ชีวิตอย่างเป็นปกตินี่แหละจะสร้างภูมิคุ้มกันให้เราได้เป็นอย่างดีเลย

“แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะดูแลตัวเองดีแค่ไหน เพราะฉะนั้น หากมะเร็งเกิดขึ้น หมออยากให้ทุกคนตั้งสติ เราอาจจะหลุดไป เครียด เศร้า ร้องไห้ ใช้เวลาตรงนั้นเท่าที่คุณต้องการ แต่อย่าจมดิ่งอยู่นานเกินไป ยอมรับและอย่าลืมดึงสติกลับมาดูว่าเราจะจัดการอย่างไร พยายามรักษาทั้งกายและใจตัวเองให้อยู่ในแดนบวก ให้กำลังใจตัวเอง เป็นแสงสว่างให้ตัวเองกลับสู่ลมหายใจแล้วไปต่อด้วยกันค่ะ”

พญ. อัญวีณ์ เกียรติอภิพงษ์
นพ. ธีรภพ ไวประดับ

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: พญ. อัญวีณ์ เกียรติอภิพงษ์ / นพ. ธีรภพ ไวประดับ
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.nutrepreme.com