‘Dear Cancer’ สามบทเรียนจากมะเร็งสามครั้งในรอบ 17 ปี ของ พีรดา พีรศิลป์ นักเขียนผู้ค้นพบ ‘ชีวิต’ จากการเป็นมะเร็ง

หลิง-พีรดา พรีศิลป์ กำลังมีนิทรรศการ ‘Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก’ ที่หอศิลป์บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ นิทรรศการที่เธอได้ช่างภาพมืออาชีพ 5 ท่าน มาร่วมถ่ายทอดภาพถ่ายของเธอเอง – ผู้หญิงร่างเล็ก ผู้มีผมสั้นเกรียนเพราะฤทธิ์เคมีบำบัด และปราศจากเต้านมทั้งสองข้าง เนื่องจากเพิ่งผ่านการผ่าตัดออกไป เพื่อตัดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งครั้งที่ 4 ในชีวิต

ใช่, หลิงผ่านการมะเร็งมาแล้วสามครั้งในรอบ 17 ปี เริ่มต้นที่เต้านมในวัย 30 อีกสิบปีต่อมาก็พบที่เต้านมข้างเดิมอีกครั้ง และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เธอก็พบมะเร็งรังไข่ในวัย 47 ปี

หลังจากรักษามะเร็งครั้งล่าสุดด้วยการทำเคมีบำบัดและผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออก แม้ไม่มีสัญญาณใดๆ เธอตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเอาเต้านมออกเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“ตอนนี้เราเป็นผู้หญิงที่ไม่มีทั้งเต้านม รังไข่ และมดลูก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์เราลดลงเลย” เธอบอก

และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เธอตัดสินใจชวนเพื่อนช่างภาพมาถ่ายรูปร่างกายของเธอหลังจากผ่าตัด เพื่อเป็นกำลังใจให้คนป่วยและญาติ และสร้างความตระหนักรู้ถึงโรคภัยให้ผู้หญิงด้วยกันในเดือนตุลาคม เดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมสากล

“จำได้ว่าพอรู้ว่าเป็นมะเร็งครั้งแรก เราก็ร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูกและกลัวตาย จนมาเป็นครั้งที่สองเราพบว่ารับมือได้ดีขึ้น และครั้งล่าสุด จะบอกว่ารับมือได้สบายก็ดูเกินไป แต่เราเข้าใจโรคมากขึ้น” หลิงกล่าวด้วยความมั่นใจ “ยิ่งเข้าใจโรคมากเท่าไหร่ เราก็จะรับมือได้ง่ายขึ้น”

เธอออกตัวว่าไม่ได้เป็นคนไข้โรคมะเร็งที่เข้มแข็งหรือพิเศษกว่าคนอื่นแต่อย่างใด หากเธอโชคดีที่ร่างกายตอบสนองกับการรักษา และรับมือไปตามสภาพ กระนั้น เธอก็พบว่าสิ่งที่มาพร้อมกับโรคร้ายในแต่ละช่วงชีวิตที่ผ่านมา ได้ทิ้งบทเรียนอันน่าใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตไว้หลายประการ – บทเรียนที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ สามารถรับมือกับมะเร็งถึงสามครั้งด้วยความคิดบวก กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการผ่าตัด และเปิดเผยมันสู่สาธารณะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ป่วยคนอื่นๆ

ก่อนไปรับชมนิทรรศการ ‘Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก’ ผู้เขียนพาไปสำรวจบทเรียนที่หลิงค้นพบ บทเรียนที่เปลี่ยนนิยามของโรคร้ายที่มีสิทธิ์พรากชีวิตเธอ ให้กลายเป็นบางสิ่งที่เธอเรียกมันว่า ‘ที่รัก’

ครั้งที่ 1
พอพบว่าเรากลัวมะเร็งเกินกว่าสภาพจริงที่เป็น เราก็เอาหนังสือเกี่ยวกับมะเร็งไปทิ้งเลย

พื้นเพเป็นคนสะเดา จังหวัดสงขลา หลิงเริ่มงานในตำแหน่งนักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ แม้ไม่ใช่คนออกกำลังกาย แต่ก็ไม่มีโรคประจำตัวและสุขภาพแข็งแรงดีมาตลอด กระทั่งในวัยสามสิบ อยู่มาวันหนึ่ง เธอก็คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านมด้านซ้าย ก้อนเนื้อขนาดหนึ่งเซนติเมตร เล็กและอยู่ในขั้นต้นของโรคร้าย กระนั้นย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2546 โซเชียลมีเดียและสื่อที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งยังไม่แพร่หลายเช่นทุกวันนี้ ยิ่งมืดมนด้วยข้อมูลเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งกลัว

“ตอนนั้นกลัวตายมาก เพราะไม่มีความรู้อะไร เลยหาหนังสือมาอ่าน เพราะอยากรู้ว่าคนอื่นเขารับมือกับโรคอย่างไร จนมาเจอหนังสือของศิลปินท่านหนึ่งที่เพิ่งหายจากมะเร็ง เราอ่านแล้วก็หดหู่ เครียด เพราะอาการของคนเขียนหนักกว่าเรามาก อ่านไปอ่านมาแล้วนอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย จำได้ว่ายังอ่านไม่จบดี ก็พบว่าทำไมเราเครียดนัก มาดูอาการตัวเองก็ยังไม่ถึงขั้นนั้นเลยนี่ อารมณ์นำอาการไปมาก สุดท้ายเลยเอาหนังสือไปทิ้ง และก็เข้ารับการรักษาปกติ” 

หลิงรักษาด้วยการผ่าตัดสงวนเต้า เคมีบำบัด 6 ครั้ง และฉายแสง 35 ครั้ง เธอบอกว่าโชคดีที่ร่างกายตอบสนองกับการรักษาได้ดี ใช้เวลาไม่ถึงปีก็กลับมาทำงานปกติ เธอย้อนกลับมาทบทวนถึงสาเหตุของโรค และพบว่าความเครียดน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ตอนนั้นเธอรับตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ และสะสมความเครียดโดยไม่รู้ตัว เรื่องนี้เห็นชัดขึ้นหลังจากเธอเป็นมะเร็ง และพบว่าร่างกายทรุดลงจากการอ่านหนังสือ กระทั่งเมื่อหยุดเอาใจไปผูกไว้กับอารมณ์ ร่างกายก็ดีขึ้น

หลังจากเธอหายจากมะเร็งครั้งที่ 1 ก็พอดีกับที่นิตยสารที่ทำงานประจำปิดตัว หลิงออกมาเป็นฟรีแลนซ์ผลิตสิ่งพิมพ์และคอนเทนต์ เลือกรับงานที่ไม่ทำให้เครียดจนเกินไป และชีวิตค่อนข้างราบรื่นหลังจากนั้นเกือบสิบปี

ครั้งที่ 2
“ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อย่าผัดวันประกันพรุ่งต่อสิ่งที่อยากทำ”

แม้เป็นคนที่รักการเดินทางท่องเที่ยว และทำอยู่เสมอ กระนั้นหนึ่งในความฝันที่เธอไม่คิดจะเริ่มเสียที คือการเดินทางท่องเที่ยวด้วยมอเตอร์ไซค์ อย่างไรก็ดีเมื่อพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในจุดเดิมอีกครั้งในวัยสี่สิบ เธอสู้มันจนหาย และไม่รีรอที่จะทำตามฝัน
 
“ครั้งที่สองนี่คือมะเร็งงกลับมาเป็นที่เต้านมข้างเดิมซึ่งเคยฉายแสงไปแล้ว ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่ามันจะกลับมาอีก ประกอบกับช่วงนั้นมีเพื่อนและคนรอบข้างเสียชีวิตกระทันหัน ที่เคยได้ยินมาว่าชีวิตไม่แน่นอนเนี่ย ก็เพิ่งประสบกับตัวเองจริงๆ ก็ช่วงนี้”  

และความคิดเรื่องขี่มอเตอร์ไซค์ก็เกิดขึ้นพร้อมไปกับการรักษามะเร็งครั้งที่สอง หลิงหันมาออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เป้าหมายของเธอเรียบง่าย คือให้ตัวเองสามารถควบคุมรถได้คล่อง เพื่อจะได้ออกทริปขี่รถทางไกลได้

“กลายเป็นว่าจากความรู้สึกหวาดกลัวในครั้งแรก การเป็นมะเร็งครั้งนี้ทำให้เรามีความกล้าที่จะออกจากความคุ้นเคย ออกจากคอมฟอร์ทโซนสักที เรามุ่งมั่นจะหายจากโรคไวๆ เพื่อได้ทำสิ่งที่อยากทำแต่ไม่กล้าทำมาตลอด” หลิงออกตัวว่าแม้จะฟังดูโรแมนติกไปหน่อย แต่เธอก็รู้สึก ‘ขอบคุณ’ มะเร็งที่ทำให้เธอค้นพบ ‘ชีวิต’ จริงๆ ซึ่งมาพร้อมกับการถอยมอเตอร์ไซค์ Triumph Bonneville SE เครื่องยนต์ 900 ซีซี เสียที

“ที่ผ่านมาเราพบว่าชีวิตเราไม่ได้มีเป้าหมายเท่าไหร่น่ะ ทำงาน หาเงินมาได้ก็ไปเที่ยว แล้วก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น จนมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง แล้วเราก็พบว่าชีวิตทำไมไม่แน่นอนเอาเสียเลย มันเหมือนปลดล็อคความคิดเราว่า ก็ในเมื่อมันไม่แน่นอน ทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่อยากทำสักที”

“เราใช้เวลา 5 เดือนเพื่อทำความคุ้นเคยกับรถ จากที่ขี่มอเตอร์ไซค์มีคลัตซ์ไม่เป็น ก็ฝึกฝนจนคล่อง จึงเริ่มต้นออกทริปสั้นๆ จากกรุงเทพฯ ไปราชบุรีก่อน หลังจากนั้นก็ยาวเลย ไปลาว เวียดนาม หรือลงใต้ไปอำเภอสะเดา บ้านเกิด เราขี่ของเราคนเดียว บางทริปก็มีเพื่อนไปด้วย ช่วงนี้แหละที่เราพบเป้าหมายของชีวิตสักที… เป้าหมายคือการได้ใช้ชีวิต” หลิงกล่าว

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่เธอรู้สึกขอบคุณโรคร้ายที่เกิดขึ้นในร่างกายเธอ คือการได้พบเพื่อนใหม่ เนื่องจากเธอได้รู้จัก ออย-ไอรีล ไตรศาลศรี ผู้ก่อตั้ง Art for Cancer วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ทำงานร่วมกับผู้ป่วยมะเร็งท่านอื่นๆ เธอรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการจิตอาสา และนั่นทำให้เธอพบและร่วมแบ่งปันพลังบวกกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ในการฝ่าฟันโรคร้ายไปพร้อมกัน

ครั้งที่ 3
“ต่อให้คนอื่นให้กำลังใจคุณแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่สู้ด้วยตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์!”

แม้การเป็นมะเร็งครั้งที่ 3 ของหลิงจะไม่ได้เกิดขึ้นที่เต้านมข้างเดิมเหมือนสองครั้งแรก หากการรักษาครั้งนี้ก็สิ้นสุดลงตรงที่เธอสมัครใจให้คุณหมอผ่าตัดเอาเต้านมทั้งสองข้างออก

“จริงๆ ตอนเราเป็นมะเร็งครั้งแรก คุณหมอก็ให้เราเลือกว่าจะผ่าออกเลยไหม เพราะจะได้ลดโอกาสเสี่ยง แต่ตอนนั้นเรายังอยากมีเต้านมอยู่ เลยไม่ผ่า จนมาเป็นซ้ำครั้งที่สอง ก็ยังเลือกให้คุณหมอผ่าสงวนเต้าไปก่อน จนมาครั้งนี้ แม้จุดที่เจอคือรังไข่ แต่พอรักษาตรงนี้หายแล้ว เราก็ตัดสินใจจะปิดโอกาสเป็นซ้ำตรงเต้านม ด้วยการผ่าเต้านมทั้งสองข้างออกเลยดีกว่า” หลิงกล่าว

หลิงพบมะเร็งรังไข่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และดังที่กล่าวตอนต้น เธอรับมือกับโรคภัยครั้งนี้ได้ดี เหมือนคนเป็นโรคหวัด เป็นได้ ก็หายได้ เธอบอก ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่แค่ว่านี่เป็นการเผชิญกับมะเร็งครั้งที่สาม หากก่อนหน้านั้น เธอเพิ่งหายจากการประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตมาด้วย

“ไปเที่ยวภูเขาไฟโบรโม่ที่อินโดนีเซียกับน้องชาย เราก็เช่ามอเตอร์ไซค์กึ่งวิบากขี่ วางแผนไปเที่ยว 8 วัน แต่พอวันที่ 3 เราขี่รถไปตกหลุมทราย ตัวไปกระแทกกับรถ รู้เลยตอนนั้นว่ากระดูกไหปลาร้าหัก” หลิงกล่าว

หลิงได้ชาวบ้านแถวนั้นช่วย ก่อนจะบินกลับมาผ่าตัดที่กรุงเทพฯ ทันที อุบัติเหตุทำให้ไหปลาร้าหัก 4 ท่อน และซี่โครงหักอีก 3 ซี่ เลือดออกในปอด เป็นอีกครั้งที่เธอรู้สึกใกล้ความตาย แต่นั่นล่ะ เป็นอีกครั้งที่เธอก็เข้ารับการรักษาพร้อมกับก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไปอย่างเรียบง่าย เฉกเช่นอุปสรรคอื่นๆ ในชีวิต

“เราประสบอุบัติเหตุช่วงสิงหาคม 2562 พักฟื้นอยู่ 6 เดือน พอหายก็กลับมาขี่มอเตอร์ไซค์ได้ใหม่ไม่กี่เดือน กุมภาพันธ์ 2563 จู่ๆ ก็พบว่าท้องบวม กินยาก็ไม่หาย จนไปเอ็กซเรย์จึงพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ เราก็เออ…มาอีกแล้ว เราไม่รู้สึกโกรธหรือโทษโชคชะตาเลยนะ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกชินชาด้วย แค่รู้สึกว่าเออ ชีวิตก็อย่างนี้ เหมือนเรามีภูมิคุ้มกันที่ใจแล้ว เอาวะ! เป็นก็เป็น เป็นได้ก็หายได้ แค่นั้นเลย”

ครั้งนี้หลิงไม่ได้ฉายแสง ทำเพียงเคมีบำบัด 6 ครั้งในช่วงที่โควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา หลังจากเคมีบำบัดเข็มสุดท้ายผ่านไปเมื่อเดือนมิถุนายน เดือนสิงหาคมก็ถึงคิวติดตามการรักษามะเร็งเต้านม เธอตัดสินใจบอกคุณหมอให้ทำการผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อตัดโอกาสการกลับมาเกิดมะเร็งซ้ำ เธอไม่มีทั้งเต้านม รังไข่ และมดลูก กระนั้นเธอก็ยืนยันว่าร่างกายแข็งแรงดี และยังคงขี่มอเตอร์ไซค์เป็นปกติ

“เราโชคดีที่ร่างกายตอบรับกับการรักษาทุกครั้ง แต่บทเรียนที่สำคัญที่ผ่านมาคือกำลังใจเลยนะ ถ้าใจเราเข้มแข็ง ร่างกายมันจะสู้และไปต่อได้ จริงอยู่ว่าคนรอบข้างเป็นกำลังใจสำคัญ แต่เราพบว่าแท้จริง กำลังใจเราสร้างได้ด้วยตัวเอง เหมือนที่เราเคยเขียนในบทความ ‘กูยังตายไม่ได้’ เราตายแบบนี้มันกระจอก มันง่ายไป มีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ…”

“เราโชคดีและรู้สึกขอบคุณคนรอบข้างที่เป็นกำลังใจให้เสมอ แต่ที่ขอบคุณมากที่สุดคือตัวเอง เพราะต่อให้ทุกคนให้กำลังใจเราแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่ให้กำลังใจตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์”

และเช่นที่กล่าว หัวใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้นี้แข็งแกร่งไม่เฉพาะกับตัวเอง หากการชักชวนเพื่อนช่างภาพถ่ายรูปเธอเองเพื่อรณรงค์มะเร็งเต้านม ก็ยังถือเป็นอีกวิถีทางในการแบ่งปันความแข็งแกร่งไปยังผู้ป่วยคนอื่นๆ

“นอกจากความตระหนักรู้ เราอยากสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยด้วย เพราะเมื่อเป็นมะเร็งเต้านมก็ส่งผลกระทบหลายอย่าง บางคนไม่มั่นใจในตัวเอง บางคนคนรักขอแยกทาง เมื่อชีวิตเปลี่ยน บางคนดิ่งลงเลย เราอยากให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและมองโรคมะเร็งในแง่ดี แม้จะสูญเสียเต้านมไป แต่อย่าสูญเสียตัวตนของคุณไปด้วย อยากให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเป็นตัวเองอย่างที่คุณเป็น” หลิงกล่าว

ปัจจุบันหลิงย้ายมาพำนักที่เชียงใหม่ ยังคงทำงานเป็นนักเขียนและบรรณาธิการอิสระ รวมถึงบรรณาธิการจิตอาสาให้กับ Art For Cancer by Ireal สร้างสรรค์สื่อเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยมะเร็งและญาติในการรับมือกับโรค เธอมีแผนระยะยาวคือการเก็บเงินและปลูกบ้านที่นี่ หากแผนที่ใกล้กว่านั้นคือการเดินทางท่องเที่ยวต่อไปกับมอเตอร์ไซค์คู่ใจ

นิทรรศการภาพถ่าย “Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก” จัดแสดงที่ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 16 – 30 ตุลาคม 2563 โดยช่างภาพ 5 ท่าน ได้แก่ จอร์ช-ธาดา วาริช, โจ-นิกสิทธิ์ วงศ์สวัสดิ์, เม้ง-สิทธิชัย กิตยายุคกะ, ตาล-ธนพล แก้วพริ้ง (ร่วมกับศิลปิน JORRA) และโน้ต-นวลตา วงศ์เจริญ เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) 10:00-18:00 น.

เรื่อง:  จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ:
กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: พีรดา พีรศิลป์, นิทรรศการภาพถ่าย Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก

กอบัว – ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว มะเร็งทำให้รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร

ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว หรือ ‘กอบัว’ แอร์โฮสเตสสาว วัย 29 ปี ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ระยะที่ 3 หลังจากตรวจเจอเมื่อมกราคม 2562 ต้นปีที่ผ่านมา และกำลังทำการรักษา เธอไม่ได้หวาดกลัวหรือหวั่นวิตกกับโรคร้าย แต่กลับรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าและมีเป้าหมาย ถึงกับพูดว่า มะเร็งทำให้รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร

“ครั้งแรกมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน แต่เมื่อประจำเดือนหมด อาการปวดก็ยังมีอยู่ ก็คิดว่าไม่เป็นไรสักพักคงจะหาย แต่ยิ่งปล่อยนานก็ยิ่งมีอาการมากขึ้น อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ทานไม่ได้ อาเจียนตลอด จนหัวหน้างาน และเพื่อนที่ทำงานทักว่า ควรจะไปตรวจก็เลยไปตรวจดู แล้วก็พบค่าเลือด CEA สูงผิดปกติ เป็นพัน จนคุณหมอตกใจ” (หมายเหตุ: CEA หรือ Carcinoembryonic Antigen (คาร์ซิโนเอ็มบรายโยนิค แอนติเจน) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในร่างกายของคนเรา สามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด (ค่าปกติคือไม่เกิน 5.0 ng/mL)

“คำถามแรกที่ถามคุณหมอคือ คุณหมอคะ หนูยังจะสวยได้เหมือนเดิมใช่มั้ย ทำเอาเพื่อนที่ไปด้วยและคุณหมอพากันหัวเราะไปตามกัน ไม่ใช่ว่าไม่กังวลเรื่องโรคหรอกนะคะ แต่ก็ในเมื่อเป็นแน่ ๆ แล้วจะทำยังไงได้ นอกจากต้องรับความจริง วิกฤติชีวิตของคนเรายังไงก็หนีไม่พ้น เมื่อมาแล้วก็จะขอสู้ให้เต็มที่ค่ะ”

แน่นอนว่าในกระบวนการรักษาก็คงหนีไม่พ้นการให้คีโมและหลายคนก็ต่างกลัวความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายตัวเอง

“คุณหมอบอกว่าเป็นระยะที่สาม เพราะเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วท้อง ที่จริงเชื้อตัวนี้มักเกิดกับคนสูงอายุ แต่ กอบัวอาจจะโชคร้ายหน่อยมาเป็นตอนนี้ ก็ผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกค่ะ เอาออกหมดทั้งรังไข่และมดลูก ที่จริงก็เสียใจนะคะ เพราะความฝันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เลยคืออยากมีลูก”

กอบัวอยู่กับคุณแม่เพียงสองคนตั้งแต่เด็ก ด้วยความใกล้ชิดผูกพันกับคุณแม่ เธอจึงไฝ่ฝันอยากจะเป็นแม่ที่ดีด้วยเช่นกัน เมื่อได้งานทำเธอต้องมาอยู่กรุงเทพฯ โดยลำพัง ส่วนคุณแม่ยังอยู่ที่ต่างจังหวัด หลังจากทราบเรื่องคุณแม่ก็หมั่นแวะมาเยี่ยม และทุกครั้งที่มาเยี่ยม กอบัวก็มักจะสะเทือนใจที่เห็นคุณแม่ร้องไห้เพราะสงสารเธอ

“ต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือดค่ะ เพราะเวลาทำคีโมบางทีเลือดจะแข็งตัวตามจุดต่าง ๆ กอบัวฉีดเองค่ะ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนกลัวเข็ม แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้วค่ะ ก็ต้องพยายามลุกขึ้นสู้กับความกลัวคือไม่อยากให้แม่เสียใจ อยากให้ท่านสบายใจ นี่ไม่ใช่การสู้ของเราคนเดียวแต่ยังมีคนที่เรารักรอเราอยู่”

“กอบัวเคยคิดอยากจะเป็นนักเขียนค่ะ เขียนเรื่องรัก เขียนอะไรดี ๆ ให้คนอ่าน พอรู้ว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งก็เลยได้เขียนจริง ๆ บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทำงานเขียนสมใจ”

‘แน่นอน เราต้องมีความหวัง และยิ่งไปกว่าความหวัง เราต้องมีความเชื่อ เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในหมอ เชื่อว่าเราจะกลับมาหายดีในเร็ววัน เพราะทันทีที่เราไม่เชื่อ มันจะทำให้เราหมดหวัง และมันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ ท่องไว้ว่า เราต้องไม่แพ้!!’

นี่เป็นบางส่วนจากข้อเขียนในเฟสบุ๊คของกอบัว ความจริงมะเร็งมีส่วนช่วยให้เธอหายจากอาการซึมเศร้าด้วย

“ก่อนจะเป็นมะเร็งเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ แต่หลังจากเป็นมะเร็งแล้ว อาการซึมเศร้าก็หายไป เพราะเรารู้ว่าเราต้องทำอะไร และอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น ต้องตัดทิ้งไปจากสมอง ความหงุดหงิด ที่เคยมีทั้งกับตัวเองหรือแม้แต่กับลูกค้า หรือใคร ๆ ก็ตาม ไม่เอามาเก็บใส่ใจ ชีวิตมีแผนให้ทำเป็นสเต็ป และมีเป้าหมายว่าเราต้องเอาชนะมะเร็งให้ได้”

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด (คีโม)

“ก็จะมีอาการเพลีย มีท้อบ้างเพราะอยู่คนเดียว แล้วก็นึกว่าจะไม่ไหว แต่ที่จริงมันก็ไม่นานผ่านไปสักอาทิตย์หนึ่งก็จะฟื้นกลับมาได้ คือบอกตัวเองตลอดว่า คุณมะเร็งถ้าจะอยู่ด้วยกันก็ทำตัวดี ๆ อย่าดื้อ อย่าสร้างปัญหา คือเราไม่กลัวความตายหรอกนะคะ แต่กลัวทรมานมากกว่า ใคร ๆ ก็คงจะเป็นเหมือนกัน แต่ที่สำคัญต้องมองโลกแง่บวกเพื่อกำจัดความเครียด ตอนนี้กำลังทำการคีโมรอบสอง เพราะรอบแรกทำไปแล้วเชื้อดื้อยา ซึ่งคราวนี้ต้องใช้ยาแรงขึ้น รู้เลยว่าต้องหนักแน่ แต่ก็เชื่อว่าตัวเองจะผ่านไปได้ค่ะ”

สิ่งที่ค้นพบหลังจากเกิดเรื่องราวนี้กับตัวเอง

“ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยว แต่ที่จริงมีคนมากมายที่ห่วงใยเรา บางคนก็มาคุยหลังไมค์บอกขอบคุณเรา เพราะอ่านเรื่องของเราแล้วทำให้เขามีกำลังใจในชีวิต ตรงนั้นเรารู้สึกดีมีพลังบวกมาเติมใจให้เรา เรื่องของเรามีค่ากับทุกคน มะเร็งน่ะใคร ๆ ก็เป็นได้ เมื่อเป็นแล้วใครก็อยากหาย เราเลยไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพังแต่มีคนคอยเชียร์ให้เราชนะ ก็จะสู้เพื่อแม่และทุกคน มะเร็งสอนให้เรารักตัวเองพร้อมกับรักคนอื่น แล้วทำให้ชีวิตเรามีความสุข”      

เป็นเรื่องจริงที่ว่า คนเรามักมองไม่ออกว่าความสุขคืออะไร และปล่อยเวลาให้สูญเปล่า แต่สำหรับ ‘กอบัว’ เธอได้พบตัวตนที่เข้มแข็งท่ามกลางวิกฤตโรคร้ายซึ่งไม่ง่ายนักที่ใครจะทำได้

หมายเหตุ: กอบัวได้จากไปอย่างสงบในวันที่ 4 มกราคม 2563

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว