นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ กับเป้าหมายเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน

‘หมอบัว’ หรือ ‘อาจารย์บัว’ เป็นคำพูดติดปากที่ใครต่างใช้เรียก อาจารย์นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการการผ่าตัดเต้านมและมะเร็งเต้านมคนนี้ นอกจากบทบาทคุณหมอและอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลแล้ว หมอบัวยังเป็นผู้ก่อตั้งเพจ ‘เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua’ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะสร้างพื้นที่กลางสำหรับให้ความรู้แบบทุกมิติเกี่ยวกับเต้านม รวมถึงโรคมะเร็งเต้านมแก่ประชาชน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว วันนี้เรามีนัดกับหมอบัวเพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่เขาได้ทำและกำลังจะทำเกี่ยวกับโรคมะเร็งแบบเอ็กซ์คลูซีฟ 

สร้างประโยชน์จากความรู้และแรงกาย  

“ย้อนกลับไปตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ นอกจากวิชากายวิภาคแล้ว ผมยังชอบเกี่ยวกับงานฝีมือ งานหัตถการ ซึ่งพบว่าการเป็นหมอผ่าตัดตอบโจทย์เราในแง่ที่ว่าเราสามารถใช้ความรู้ความถนัดได้อย่างเต็มที่ ส่วนทำไมถึงเลือกเต้านมและโฟกัสที่ด้านมะเร็งด้วย อย่างแรกเป็นเพราะผมมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคดังกล่าว ก็คิดว่าถ้าเรามีความรู้และความเข้าใจเรื่องมะเร็งเต้านม นั่นจะทำให้เราสามารถช่วยคนในครอบครัวได้นะ อีกเหตุผลหนึ่งคือมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง เป็นโรคที่อาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งอวัยวะ ร่างกาย และชีวิต ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ความรู้ด้านศัลยศาสตร์มาทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและอยู่ได้ยาวนานแบบมีคุณภาพ นี่จึงเป็นแรงกระตุ้นลึกๆ ที่ทำให้สนใจงานด้านนี้ครับ”

สำหรับหมอบัว การดูสุขภาพให้กับผู้คนไม่ใช่แค่การเข้าไปรักษาเพื่อให้หายจากโรคเพียงอย่างเดียว แต่คือการสื่อสารกับผู้ป่วย ครอบครัว และสาธารณชนเพื่อให้พวกเขามีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลและป้องกันตัวเองได้อย่างมีสติและเหมาะสมด้วย

“สำหรับเพจ ‘เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua’ ผมเริ่มทำมาตั้งแต่ตอนจบศัลยแพทย์ทั่วไปและต่อยอดศัลยแพทย์ตกแต่งซึ่งตอนนั้นได้มาปฏิบัติงานอยู่ที่ประเทศอิตาลีเป็นเวลา 5 ปี ถ้านับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว จำได้ว่าตัวเองเริ่มใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดต่อกับเพื่อนๆ แต่ตอนนั้นเราอยากใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กไปด้วย จึงดูว่าเราสามารถจะทำอะไรในแง่ไหนได้อีกบ้าง จนมาตกผลึกว่าเราสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้สำหรับสื่อสารและให้ความรู้ในสิ่งที่เรามีได้นี่นา เนื่องจากผมคิดว่า การที่ผมตรวจคนไข้ใน 1 วันใช้เวลาเคสละ 15 นาที ผมอาจจะตรวจรักษาและให้ความรู้คนไข้ได้ 30-50 เคสต่อวัน แต่ถ้าเรามีแพลตฟอร์มกลางที่สามารถกระจายความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนได้ นั่นจะทำให้ผมมีโอกาสได้ส่งต่อสิ่งที่มีสู่สาธารณชนได้กว้างขึ้น จากผู้รับสารจำนวนไม่มาก ความรู้จะสามารถเข้าถึงคนในหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นได้ในเวลาอันสั้น 

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

“หนึ่งในเหตุผลหลัก ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ซึ่งหากเราสามารถกระจายความรู้ที่ถูกต้องได้ ทั้งคนทั่วไปเอง รวมถึงคนป่วยจะสามารถเฝ้าระวังและดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีได้ เช่น คนยังเข้าใจผิดอยู่ว่าหากเป็นมะเร็งแล้วเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันถือว่ามีการพยากรณ์โรคและผลการรักษาที่ดีมาก ซึ่งการรักษาที่ดีนั้นเกิดจากสหสาขา ตัวอย่างเช่น เคมีบำบัดในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อนมาก หากโรคอยู่ในระยะต้นๆ แพทย์สามารถให้ยาเคมีเพื่อครอบคลุมและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ รวมถึงยาเคมีบำบัดในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลที่รุนแรงต่อผู้ป่วยที่จะทำให้มือเท้าลอก ผมร่วง ปากเท้าเปื่อย ไม่ใช่นะครับ เคมีในปัจจุบันมีหลายสูตรซึ่งไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนแต่ก่อน หรือการฉายรังสีเองก็ไม่ใช่ว่าฉายแล้วรังสีจะแพร่ไปสู่คนอื่น เมื่อฉายรังสีแล้วไม่ได้มีผลเสียอะไร หรือการเป็นมะเร็งเต้านมจะต้องตัดเต้านมเท่านั้น ก็ไม่จริงนะครับ มะเร็งเต้านมสามารถรักษาแบบเก็บเต้านมไว้ได้ด้วย ดังนั้น ยิ่งจำนวนคนที่ได้ความรู้กว้างและลึกมากขึ้นเท่าไหร่ นอกจากจะทำให้คนมีความรู้ที่ถูกต้องซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลและความเข้าใจผิดได้แล้ว ยังจะทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถเฝ้าระวัง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างสำหรับดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ในเวลาเดียวกัน

“ในมุมส่วนตัว การทำเพจนี้ขึ้น ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ในขณะเดียวกันยังได้เป็นผู้ได้รับ ทั้งกำลังใจ คำติชม และฟีดแบคต่างๆ มาจากคนอ่านและคนฟังด้วย ที่จริงเพจนี้ไม่ใช่ของผมเพียงคนเดียวหรอกครับ แต่เป็นเพจที่เกิดจากผู้อ่าน คนไข้ หรือแม้แต่ญาติคนไข้ช่วยกันแนะนำติชมจนทำให้เพจสามารถเดินหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ เหมือนกับผมเป็นสื่อกลางระหว่างความรู้ด้านเต้านมกับคนไข้ แล้วประสานให้ทุกคนได้ประโยชน์เท่าๆ กันมากกว่า ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ป่วยหรือเคสที่รักษากับผมจะเข้ามาอ่านได้เท่านั้น ไม่ใช่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเคสที่ไหน รักษาที่ไหน หรือว่าไม่ได้เป็นอะไรเลยก็ตาม แค่มาอ่านและได้ความรู้ไปตรงนี้กลับไป ผมก็ดีใจมากแล้ว ผมจะบอกทุกครั้งในไลฟ์ว่าถือว่าได้มาทำความดีและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ผมขอให้ความดีนี้ส่งผลให้ทุกคนสมบูรณ์แข็งแรงกันไปอย่างนี้ครับ”

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

ภารกิจร่วมด้วยช่วยกัน

“มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่ถ้าเทียบกับมะเร็งในหลายๆ ชนิดแล้ว ถือว่าเป็นมะเร็งที่ผลการรักษาเกือบจะดีที่สุดโดยเฉพาะในเคสที่พบในระยะต้น ดังนั้น ถ้ามาพบแพทย์แล้วแพทย์ให้การรักษาใดๆ ผมอยากจะให้ผู้ป่วยรับการรักษานั้นตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัด ฉายแสง ยาต้านฮอร์โมน หรือว่ายาพุ่งเป้า โดยระหว่างการรักษา อาจจะมีผลแทรกซ้อนบ้าง แต่ว่าผลประโยชน์จากการได้ยาเหล่านี้เรียกว่าสูงมากเลยครับ ฉะนั้น อยากบอกคนไข้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาก้าวหน้าไปมากแล้ว ไม่ต้องกังวลในการที่จะมารักษานะครับ

“นอกจากนี้แล้ว หลายๆ ครั้งแม้คนไข้จะต้องสู้ด้วยตัวเองระหว่างการรักษา แต่ผู้ดูแลเองก็มีบทบาทสำคัญไม่ต่างกัน เนื่องจากคนไข้จะผ่านระยะของโรค ตั้งแต่การปฏิเสธว่าทำไมฉันต้องเป็นโรคนี้ ไม่จริงหรอก ฉันทานอาหารมังสวิรัติจะเป็นมะเร็งได้อย่างไร ฉันไม่ได้สูบบุหรี่ทำไมถึงเป็น ต่อมาจะเริ่มรู้สึกโกรธ มีภาวะซึมเศร้า จากนั้นถึงจะยอมรับได้ ซึ่งถ้าเราเข้าใจกระบวนการที่จะเกิดขึ้น เราจะรับมือกับเขาได้ เช่น ช่วงที่เขากำลังปฏิเสธ เราต้องให้ความเข้าใจ ช่วงที่เขาโกรธ โมโหหงุดหงิด เราต้องเป็นกำลังใจว่าไม่เป็นไรนะ โรคนี้รักษาได้ หรือในช่วงที่เขามีภาวะซึมเศร้า เราต้องคอยซัพพอร์ตว่า การเป็นโรคนี้ไม่ใช่ความผิดใคร อย่าไปโทษใครหรือตัวเอง พอผ่านตรงนี้ไปถึงจุดที่เขายอมรับได้ ทุกอย่างจะเริ่มง่ายขึ้นครับ ส่วนใหญ่ในเคสที่ประสบความสำเร็จเรื่องการดูแลรักษาจะมาจากการที่ผู้ดูแลและคนรอบข้างให้เวลา ความรัก ความเข้าใจ นั่นจะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ

“สำหรับคนทั่วไปและสังคมเองยังสามารถช่วยสนับสนุนในแง่ของจิตใจผู้ป่วยมะเร็งได้เช่นกัน ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ผู้ป่วยมะเร็งเขาไม่ได้เลือกที่จะเป็น เพราะฉะนั้น เขาค่อนข้างมีการกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจเยอะอยู่แล้ว ดังนั้น ในฐานะคนทั่วไป ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เราเข้าใจและส่งกำลังใจ อย่างน้อยอย่ารังเกียจหรือพูดอะไรที่ทำให้เสียกำลังใจ เช่น การฉายรังสี บางคนจะกลัวว่าฉายรังสีแล้วจะเอามาติดหรือเปล่า รังสีจะมาแพร่ไหม หรืออาจจะมีคำว่า “ให้เคมีบำบัดเหรอ แย่แน่เลย” นั่นจะทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจได้ เพราะมะเร็งหลายๆ ชนิดสามารถรักษาและควบคุมโรคได้ คุยกับเขาเหมือนกับเป็นเพื่อน อยู่ดูแล และให้กำลังใจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญให้คนป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิม”

ตรวจมะเร็งเต้านม ทำอย่างไร แล้วใครควรตรวจ

“สำหรับคนทั่วไป อย่างแรก ต้องประเมินก่อนว่าตัวเองเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากน้อยขนาดไหน ถ้าเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงมาก เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม เคยฉายแสงหรือฉายรังสีบริเวณหน้าอก มีประวัติที่จะต้องได้รับฮอร์โมนเป็นเวลานานๆ เหล่านี้อาจจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้ รวมทั้งปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น ความเครียด ความอ้วน บุหรี่ ถ้าหากมีปัจจัยเหล่านี้ เราต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ผมอยากให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยง เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ขึ้นไป เช่น สมมติว่าคุณแม่อายุ 40 เป็นมะเร็งเต้ามนม มีลูกสาวอายุ 15 ก็สามารถพาลูกมารับคำแนะนำก่อนได้ว่าอายุเท่าไหร่ต้องตรวจอะไรอย่างไรบ้าง 

“ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง ผมแนะนำให้มีการคลำเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่าเต้านมปกติของเราเป็นอย่างไร และแนะนำให้ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ตรวจคัดกรองว่าจะต้องมาตรวจอีกทีเมื่อไหร่บ้าง ซึ่งหากวันหนึ่งมีก้อนที่ผิดปกติหรือว่าเจออะไรที่แปลกประหลาดไปจากเดิม เราจะสามารถทราบได้แต่เนิ่นๆ และมาพบคุณหมอได้ทันเวลา อย่างที่บอก มะเร็งเต้านม ถ้ารู้ไว การรักษาจะให้ผลดีครับ”

Photo: เพจเพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

เมื่อ ‘การให้’ กลายเป็น ‘พลังแห่งความสุข’

“อาจเพราะผมมีคนใกล้ชิดในครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านม จึงทำให้ผมรู้สึกผูกพันกับคนไข้มะเร็งเต้านมอยู่แล้ว และการที่ผมทำงานตรงนี้ ทุกๆ ครั้งที่ได้รับคำขอบคุณจากคนไข้ หรือแค่เพียงเห็นว่าคนไข้หายจากโรค มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แค่นี้ผมก็หายเหนื่อยแล้วนะ ชีวิตคนเราจะรับอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นให้การรักษา ให้ความสบายใจ ให้ชีวิต ให้เต้านมใหม่ ให้การดูแลเขา เมื่อคนไข้มีความสุข สุขภาพดี ยิ่งจะทำให้ผมเหมือนมีพลังชีวิตคูณสอง สาม สี่ ด้วยซ้ำ แม้ผมทำงานเยอะและเหนื่อย แต่นี่เป็นความรู้สึกชื่นใจ สุขใจ และอยากจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีต่อไป  

“ตอนนี้สิ่งที่ผมทำควบคู่กันไปคือการวิจัยเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์เพื่อนำมาใช้กับคนไข้สำหรับช่วยในการเสริมสร้างเต้านม การรักษาแผลเต้านม แต่ทุกอย่างยังคงอยู่ในกระบวนการวิจัย ผมหวังว่าหากงานนี้สำเร็จลุล่วงนี่จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการรับมือกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมได้ในอนาคตครับ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร