ธีระ บางศรัณย์ทิพย์ จากผู้ป่วยติดเตียงสู่นักเดินทางรอบโลกที่มีแผนจะก้าวข้ามข้อจำกัดในทุกทริปที่ไป

ปี พ.ศ. 2548 วันนั้นเป็นวันที่ ธีระ บางศรัณย์ทิพย์ จะต้องสอบปลายภาควันสุดท้ายของชั้นมัธยม 2 พอดี เขาอายุ 14 เรียนห้องคิง มีผลการเรียนติดอันดับ 1 ใน 5 ของชั้นเรียน และเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขันวิชาการสม่ำเสมอ ว่ากันตามตรง เส้นทางการศึกษาที่มุ่งสู่อาชีพของเด็กหนุ่มทั้งก้าวหน้าและสดใส ขึ้นอยู่กับเขาเท่านั้นที่อยากเรียนอะไร

แต่นั่นล่ะ ปราศจากซึ่งเค้าลางใด ในขณะที่ธีระกำลังจะเข้าสอบ จู่ๆ เขาก็รู้สึกปวดท้องอย่างหนัก จนต้องขอให้เพื่อนพยุงเขาไปส่งที่ห้องพยาบาลและถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ที่ซึ่งคุณหมอได้เอ็กซ์เรย์และพบเนื้องอกในอัณฑะข้างขวา…

ธีระต้องหยุดการเรียนไว้ชั่วคราว เพื่อเข้ารับการรักษา ‘มะเร็งกล้ามเนื้อลาย’ (Rhabdomyosarcoma) ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกและทำเคมีบำบัดแบบ short stay ถึง 48 ครั้งตลอดหนึ่งปี ซึ่งเป็นหนึ่งปีที่เขาต้องทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียงของยา; อาเจียนบ่อยเสียจนเป็นเรื่องธรรมดา, ปลายประสาทชา และหนักจนถึงไม่สามารถเดินได้เอง กุมภาพันธ์ปี 2549 เขาก็จบสิ้นกระบวนการเคมีบำบัด เด็กหนุ่มกลับมาสอบเทียบจนจบมัธยม 2 เขากลับเข้าชั้นเรียนมัธยม 3 ด้วยการนั่งวีลแชร์ ก่อนที่ร่างกายจะค่อยๆ ฟื้น จนสามารถใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดินในชีวิตประจำวัน

เรื่องราวดูเหมือนจะดี แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากธีระเรียนได้หนึ่งเทอม ช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม จู่ๆ เขาก็รู้สึกเจ็บปวดกระดูกไปทั้งร่างกาย เจ็บปวดในแบบที่ไม่สามารถขยับตัวได้ เขาเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูถึงหนึ่งเดือน ตลอดช่วงเวลานั้น คุณหมอให้มอร์ฟีนระงับอาการปวดแก่เขาทุกทาง แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปยังไขกระดูกของเขาและส่งผลให้ร่างกายท่อนล่างเป็นอัมพาต

“ชีวิตวัยรุ่นผมหายไปเลยตั้งแต่ตอนนั้น” ธีระกล่าว เขาจำได้ดีถึงช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต

“ผมเป็นคนไข้ติดเตียง 3 ปี ต้องให้อาหารผ่านสายน้ำเกลือ ชีวิตมีแค่อยู่บนเตียงที่บ้าน แอดมิทที่โรงพยาบาลรามา และเข้าออกห้องตรวจ MRI และ CT Scan วันเว้นวัน เพราะมะเร็งกระดูกมันไม่เพียงทำให้กระดูกบางส่วนหาย แต่ยังส่งผลให้ไตวาย มีน้ำท่วมปอด และติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย…” เขาเว้นวรรค “ตอนนั้นเรียกได้ว่าตายเลยง่ายกว่า…”

แต่ธีระก็รอดมาได้ เหมือนนกฟินิกซ์ที่มอดไหม้ในกองเพลิงเพื่อเกิดใหม่ ธีระไม่เพียงกลับมาเดินได้ แต่เขายังเคยร่วมประกวดนายแบบของฟิตเนสเจ้าดังระดับประเทศจนเข้ารอบสุดท้าย ก่อนออกเดินทางด้วยตัวคนเดียวไปทั่วโลก บทความนี้ไม่ได้พยายามขุดคุ้ยความทรงจำอันเลวร้ายของเขา แต่เราอยากพาไปรู้จักอดีตเด็กชายที่โชคร้ายที่สุด หากปัจจุบันเขาก็เป็นชายหนุ่มวัย 29 ที่เข้มแข็งที่สุดคนหนึ่งที่เราเคยรู้จัก และนี่คือเรื่องราวของเขา

ผู้ป่วยมะเร็งเขามักจะมีสถิติให้จดจำกันว่าฉายแสงกี่ครั้งหรือทำเคมีบำบัดกี่เข็ม แต่คุณบอกว่าไม่เคยนับเลย

จำตัวเลขชัดเจนตอนเป็นมะเร็งอัณฑะครั้งแรกคือ 48 เข็ม แต่มาครั้งที่สองที่ทำแบบ high dose นี่หนักมาก เพราะมะเร็งมันกระจายไปทั่วตัวจริงๆ กระดูกสันหลัง 7 ซี่ สะโพก 2 ข้าง ตรงปอดก็มี เราต้องใช้เวลา 5 วันต่อการทำเคมีบำบัดหนึ่งครั้ง ทำทุกๆ สองอาทิตย์ เป็นแบบนี้อยู่สามปีกว่า ก็เลยไม่นับแล้ว เพราะมันเพิ่มจากกำหนดขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะเจอผลข้างเคียงอีก ผมผอมซีดเหมือนเอเลี่ยน อย่างที่บอกว่าตายง่ายกว่า

แล้วตอนนั้นคุณทำใจให้ผ่านมาได้อย่างไร

จริงๆ เราไม่สู้เลยนะ ไม่มีเรี่ยวแรงให้ฮึดสู้อะไรทั้งนั้น แต่พอเห็นคุณแม่ คนในครอบครัว และพี่ๆ หมอและพยาบาลเขาพยายามอย่างหนักเพื่อจะรักษาเรา ก็ทำให้คิดว่าฉันต้องรอดให้ได้สิ จนมาราวปี 2551 ก็พบว่ามะเร็งทำให้กระดูกหลังเราหักไป 7 ซี่ แต่ก่อนเคยสูง 176 เซนติเมตร ก็เหลือ 158 เซนติเมตร กระดูกขาก็ไม่เท่ากัน แต่ร่างกายโดยรวมก็ดีขึ้น จากที่กินข้าวหรือขับถ่ายเองไม่ได้ ก็กลับมาทำได้แล้ว เริ่มนั่งโดยไม่พิงได้ พอเริ่มกลับสู่ความใกล้จะเป็นปกติ มันก็ทำให้เรามีฮึด ตั้งใจทำกายภาพบำบัดมากขึ้นเพื่อจะกลับไปเดินเองให้ได้ ซึ่งผมคิดว่าการที่เราอยากกลับมาเดินนี่แหละที่ทำให้เรากลับมามุ่งมั่นกับการมีชีวิต มันทำให้เราสร้างชาเลนจ์ให้ตัวเอง

ชาเลนจ์ด้วยการกลับมาเดิน

ใช่ อย่างแรกต้องกลับมาเดินให้ได้ก่อน แต่แค่ชาเลนจ์แรกก็โดนหมอเบรกแล้วครับ คุณหมอบอกว่าถ้าเดินก็มีสิทธิ์กระดูกหัก เพราะกระดูกเราเปราะมาก แต่เราก็ดื้อ แอบไปบอกหมอที่ทำกายภาพให้เราว่าอยากเดิน ช่วยทำให้เราเดินได้หน่อย และผมก็ไม่ยอมบอกหมอที่รักษามะเร็งเพราะกลัวเขาจะไม่อนุญาต ตัดรองเท้าสำหรับคนขาไม่เท่ากันและฝึกเดิน แต่กว่าจะเดินจริงๆ ได้ก็เป็นปี ช่วงนั้นใช้รถวีลแชร์เป็นหลัก

แล้วได้กลับไปเรียนไหม

ตอนเป็นครั้งที่สองก็คิดว่าถ้าทำคีโมเสร็จก็คงกลับไปเรียนอยู่ แต่ปรากฏว่าสุดท้ายกลายเป็นคนไข้ติดเตียงหลายปี เลยตัดสินใจว่าไม่เรียนในระบบแล้ว เรียนรู้เองดีกว่า ก็ไปสมัครคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ และก็อ่านหนังสือเอา ทุกวันนี้ยังมีวุฒิ ม.3 เคยคิดว่าอยากกลับไปเรียนเพื่อเป็นหมอเหมือนกันครับ เพราะตอนเราป่วยเราก็ใช้ชีวิตอยู่แต่กับหมอมา 5-6 ปี (ยิ้ม) แต่สุดท้ายก็ไม่กลับไป ไม่ได้เสียดายด้วย เพราะเราสามารถทำงานได้ ในช่วงที่หัดเดินก็เริ่มทำงานอยู่กับบ้านด้วยการรับออกแบบพวกการ์ดเชิญ การ์ดงานแต่ง งานสิ่งพิมพ์พวกนี้ ก็พอมีรายได้เข้ามาบ้าง จนมาราวปลายปี 2552 พอจะเดินโดยใช้ไม้เท้าได้แล้วก็ไปสมัครเรียนขับรถ แต่โรงเรียนสอนขับรถก็ไม่รับอีกเพราะเขาเห็นผมเป็นคนพิการ สุดท้ายก็เลยให้ญาติสอนขับ หัดขับแถวบ้าน และไปสอบใบขับขี่จนได้ ช่วงนั้นผมเริ่มสนใจการเทรดหุ้นและก็ไปลงเรียนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนสอนภาษาที่เปิดในห้างสรรพสินค้า

เป็นการกลับเข้าสู่สังคมครั้งแรกในรอบหลายปี

ผมไปนั่งเอ๋อเลยเวลาเพื่อนร่วมชั้นคุยกัน เพราะผมเข้าสังคมครั้งสุดท้ายตอนอายุ 14 กลับมาอีกทีตอนอายุ 19 ก่อนป่วยยังไม่มีสมาร์ทโฟนใช้กัน อินเตอร์เน็ตที่บ้านยังเป็น 56kb อยู่เลย พอออกมาเหมือนอยู่อีกโลก แต่การได้กลับมาเข้าสังคมก็ทำให้มีชาเลนจ์ใหม่ด้วย เพราะตอนนั้นร่างกายก็ดูผอมแห้งแบบคนป่วย เพื่อนร่วมชั้นหรือใครมาเจอเข้าก็ถามว่าเราเป็นอะไร เขาไม่มองว่าเราเป็นคนปกติ จึงตัดสินใจว่าจะต้องทำให้เราดูเป็นคนสุขภาพแข็งแรงให้ได้ ก็เลยไปสมัครฟิตเนส แต่ตอนแรกเขาไม่รับ เพราะเขารู้ว่าเราเป็นโรคกระดูก และตอนไปสมัครผมก็ยังใช้วอล์คเกอร์ช่วยเดินอยู่ เขาก็กลัวหากเราเป็นอะไรขึ้นมา ก็เลยบอกเขาว่าไม่เป็นไร คุณไม่ต้องรับผิดชอบ ผมสมัครใจมาเล่นเอง และก็ปรึกษาหมอมาแล้วด้วย ฟิตเนสอยู่ในแฟชั่นไอส์แลนด์เหมือนกัน ชีวิตช่วงนั้นเกือบหนึ่งปีส่วนใหญ่จึงอยู่แต่ในห้าง ตื่นเช้า ขับรถเองไปก่อนห้างเปิด พอห้างเปิดก็ไปโรงเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งผมลงเรียนเป็นคอร์สแบบบุฟเฟ่ต์ไว้ เรียนเท่าไหร่ก็ได้ ก็เรียนทั้งวัน เรียนเสร็จก็ไปฟิตเนส และรอจนห้างปิดก็กลับบ้าน เป็นอย่างนี้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนเสาร์-อาทิตย์จะอยู่บ้านเพราะห้างคนเยอะ

การไปฟิตเนสช่วยให้ผมสามารถเดินเองได้ดีขึ้นมาก เพราะตอนไปสมัครครั้งแรกเราไปกับไม้เท้า ผ่านไปสามเดือน ก็ลองเดินแบบไม่ต้องใช้ไม้เท้าเองได้ จากระยะประมาณ 10 เมตร ก็ขยับเป็น 15, 20 จนประมาณเดือนที่สี่ ผมสามารถเดินจากที่จอดรถไปยังฟิตเนสโดยไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยได้ นั่นคือปี 2557 ร่างกายมีกล้ามเนื้อ และปีนั้น Fitness First ฟิตเนสที่เราไปเล่นประจำก็ชวนเราร่วมประกวดโครงการ New You Achievement Awards เป็นโครงการประกวดบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจในเอาชนะอุปสรรคในชีวิต ซึ่งผมก็เข้ารอบสุดท้าย ช่วงนั้นเรามีความมั่นใจขึ้นมาก เหมือนเราเอาชนะชาเลนจ์ที่ตั้งไว้ได้แล้ว เลยคิดถึงชาเลนจ์ต่อไปคือการเดินทาง

เดินทาง?

ตั้งแต่อายุ 14 มาถึง 19 ผมนอนอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมที่บ้านสลับกับโรงพยาบาลตลอด พอหายออกมาก็อยู่แต่ในที่เรียนภาษาอังกฤษกับฟิตเนส ผมคิดถึงการเดินทางไปยังที่ใหม่ๆ ตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความกลัว เพราะตอนที่ป่วยเคยนั่งรถไปทอดกฐินกับแม่ที่บุรีรัมย์ ร่างกายปวดช้ำไปหมด จึงเข็ดไปนาน แต่การเดินทางเป็นชาเลนจ์ที่ทุกวันนี้ผมก็ยังทำอยู่

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ผมไปกับครอบครัว ตอนนั้นคิดว่าร่างกายดีขึ้นแล้ว แต่แค่นั่งเครื่องบินเท่านั้นแหละ ปวดหลัง แล้วไข้ขึ้นเลย เป็นทริปที่ทุลักทุเลมาก หลังจากนั้นเลยกลับมาเล่นฟิตเนสจริงจัง และมีโอกาสไปญี่ปุ่นกับน้อง ซึ่งทริปนี้เราไม่ป่วย พบว่าเราทำได้ เราสนุกกับมัน และเริ่มมีความมั่นใจว่าเที่ยวได้ ทริปที่สามเลยแบ็คแพ็คไปคนเดียว ไปฮ่องกง ตามมาด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และยุโรป ไปอยู่ที่ละ 10-15 วัน ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวหมด มันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรหรอกที่จะไปอวดใครเขา แต่พอคิดว่าเราเริ่มมาจากลำพังแค่กระดิกนิ้วเท้าตัวเองยังไม่ได้ แต่มาไกลถึงขนาดนี้ เราภูมิใจ

ผมชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปบ่อยสุดน่าจะสิบกว่าครั้งได้ ไม่ใช่แค่เมืองสวย แต่ญี่ปุ่นมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อม มีระบบรถไฟฟ้าที่ครอบคลุม ทางเท้าดี ข้อมูลการท่องเที่ยวก็ครบ เราไปได้ทุกที่

หลังจากไปเที่ยวคนเดียวได้แล้ว ทริปไหนโหดที่สุดสำหรับคุณ

ญี่ปุ่นอีกเช่นกัน ตอนนั้นไปโอซาก้า เวลาไปเที่ยวที่ไหนกิจกรรมหลักที่เราต้องทำคือการเดินชมเมืองนั้น เราเดินแบบไม่มีจุดหมายและเดินได้ทั้งวัน จำได้ว่าที่โอซาก้าตอนนั้นอากาศดีมาก เลยเดินไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าต้องเดินให้ได้กี่กิโลเมตรหรือเท่าไหร่ เดินเท่าที่ร่างกายไหว ซึ่งพอกลับมาที่โรงแรมก็นอนสลบไปสองวันเต็มๆ เลย (หัวเราะ) แล้วก็มาพบว่าเราลงน้ำหนักที่ขาไม่ได้ เหมือนกระดูกเท้าแตก คงเพราะโดนชนล้มตอนเดินเที่ยว เลยโทรไปที่รีเซปชั่นให้เขาติดต่อโรงพยาบาล ไปหาหมอให้เอ็กซ์เรย์ แต่ก็สื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง สุดท้ายก็ให้เขาพาเราไปสนามบิน นั่งวีลแชร์กลับมาหาหมอที่ไทย หลังจากนั้นก็เลยคิดว่าจะเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้ว (หัวเราะ)

ไม่เข็ด?

ไม่ครับ เวลาไปเที่ยวจะวางแผนหากมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเสมอ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกพักโรงแรมที่ใกล้กับสนามบิน เช็คดูว่าโรงแรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง รองรับเราได้แค่ไหน แต่ก็จะเลือกเดินทางไปในเมืองที่ไม่ทรหดมาก อย่างประเทศที่ต้องเดินขึ้นเขานี่ก็ไม่ไหว เคยไปซัปโปโรมาทีนึง ช่วงนั้นหิมะตก เราลื่นล้มบ่อย เดินแทบไม่ได้เลย หรือเคยไปเดินเขาที่โกเบระยะทางแค่หนึ่งกิโลเมตร กลับที่พักมาก็น็อคเลย ก็เลยคิดว่าร่างกายเราไม่เหมาะกับการปีนเขาที่มีหิมะ แต่ในทุกทริปก็จะมีชาเลนจ์ส่วนตัวด้วย อย่างการเดินเท้าหรือไปในเมืองที่อาจจะเที่ยวยากขึ้นมาหน่อย ทุกวันนี้ผมทำงานหาเงินเพื่อเอาไปเที่ยวเป็นหลัก เพราะไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม คิดว่าตัวเองอายุคงไม่ยืนเป็น 100 ปี และสภาพขาแบบนี้ คิดว่าอายุเข้า 40-50 ก็น่าจะต้องนั่งวีลแชร์แล้ว 

อะไรที่ทำให้คุณมาได้ไกลถึงขนาดนี้

ก็น่าจะเป็นคำตอบเดียวกับที่เราผ่านช่วงที่เป็นคนไข้ติดเตียงมาได้ กำลังใจจากครอบครัว แม่ที่ไม่ยอมหมดหวังและเป็นทุกอย่างให้เรา คุณหมอและพยาบาลที่ช่วยเหลือเรา ตอนแรกเราจิตตกมาก เป็นอัมพาต และคิดว่าถ้าเราตายไปเลยคงง่ายกว่ามาก แต่เพราะเราเห็นว่าทุกคนมีความหวัง เราจะหมดหวังได้อย่างไร

แล้วพอร่างกายมันค่อยๆ ฟื้นสภาพจากที่เคยกระดิกนิ้วเท้าไม่ได้เลย แล้ววันหนึ่งเรากลับมากระดิกได้ เราก็พบว่าตัวเองมีความสุขกว่าครั้งไหนๆ หรือจากที่ต้องให้แม่ช่วยเหลือตลอด และเราก็กลับมาแปรงฟันหรือเข้าห้องน้ำได้เอง หรือจากที่ต้องไป follow up ที่โรงพยาบาลทุกๆ 3 วัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นปีละครั้ง และเราก็ไม่ต้องกินยาอะไรทั้งนั้น คิดว่ากำลังใจและความหวังที่คนอื่นมอบให้เรา ทำให้เรามีความหวังและไปข้างหน้าต่อ มันทำให้ผมเดินด้วยเท้าของตัวเองมาได้ไกลขนาดนี้

เรื่อง: จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ
: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: ธีระ บางศรัณย์ทิพย์