สุภาวดี จุ้ยศุขะ จัดการมะเร็งด้วยหลักคิด ‘ครองตนด้วยสติ’

ผศ. สุภาวดี จุ้ยศุขะ (อีส) ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ระยะลุกลาม อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งไทรอยด์เมื่อ 15 ปีก่อน หลังคุณหมอพบก้อนเนื้อที่คอ แม้ชนิดของมะเร็งไทรอยด์ที่เธอเป็นในเวลานั้นจะมีความรุนแรงไม่มาก ทว่าก็ได้ลุกลามไปยังอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย เธอต้องพบกับอาการแพ้อย่างหนักจากรังสีไอโอดีนระหว่างการรักษา แต่เธอไม่เคยมองว่านั่นคือความหนักหน่วงของชีวิตแม้แต่น้อย มุมมองต่อมะเร็งของเธอแตกต่างไปจากมิติที่เราเคยพบและสัมผัส เพราะ ‘มะเร็ง’ สำหรับเธอแล้ว ไม่ใช่เป็นแล้วต้องตาย แต่เป็นเพียงอีกหนึ่งโรคทางกายที่เป็นได้ก็รักษาได้เช่นเดียวกัน 

สัญญาณเตือนมะเร็งไทรอยด์

ด้วยอีสมีโรคประจำตัวคือโรคลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้เธอมีตารางพบกับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งวันหนึ่งในระหว่างขั้นตอนการตรวจหัวใจที่เธอจะต้องเงยหน้า คุณหมอได้สังเกตเห็นลักษณะบวมและเป็นก้อนบริเวณลำคอ ในเวลานั้นเธอไม่ได้เอะใจ อีกทั้งไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น อีสจึงปล่อยความผิดปกตินั้น จนเวลาล่วงเลยไปกว่าครึ่งปีจากที่คุณหมอเคยทัก “พี่เริ่มมีไข้ บวมบริเวณคอ แต่คิดว่าน่าจะเกี่ยวกับต่อมทอนซิลและไทรอยด์ จนสุดท้ายตัดสินใจไปพบคุณหมอ หลังจากดูดเซลล์ด้วย FNA (Fine Needle Aspiration) คุณหมอแจ้งผลว่าพี่เป็นมะเร็งไทยรอยด์ ในเวลานั้นพี่อยากหา second opinion เพื่อประกอบการตัดสินใจในการรักษาอีกครั้ง จนมาได้มาตรวจที่คลินิกพิเศษ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อคุณหมอดูผลจากโรงพยาบาลแรกที่พี่ถือไป ท่านรีบสั่งผ่าตัดด่วน เพราะว่ามะเร็งไทรอยด์ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว”

ด้วยมะเร็งไทรอยด์ชนิดที่มีความรุนแรงน้อย การรักษาหลังผ่าตัดจึงใช้วิธีการกลืนแร่หรือสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131  (I 131) เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งส่วนที่เหลือออกให้หมด “พี่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง ตั้งแต่บวม อาเจียนหนัก ทานอะไรไม่ได้ เหนื่อย หายใจไม่ทัน และนอนราบไม่ได้ ต้องนั่งหลับเอา ในการกลืนแร่ครั้งที่ 3 พี่ต้องบอกคุณหมอว่าไม่ไหวแล้ว แต่คุณหมอไม่แนะนำเพราะว่าโดยตำแหน่งที่เป็น มะเร็งจะสามารถลามไปที่ปอด กระดูกสันหลัง และกะโหลกได้ พี่ตกลงตามนั้นและกลืนแร่เป็นรอบที่ 4 แต่ตัวเซลล์มะเร็งของพี่ไม่ตอบสนองกับรังสีที่กลืนแล้ว การรักษาจึงหยุดอยู่แค่ตรงนั้น จนกระทั่งได้มาตรวจเจอมะเร็งที่ขั้วปอด หัวใจ และเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผ่าตัดไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) โดยจะใช้ยาไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งด้วยวิธีการไปทำปฏิกิริยากับโมเลกุลเป้าหมายแบบตรงจุด แต่เซลล์มะเร็งของพี่ไม่ตอบสนองกับการรักษาแบบนี้อีกเหมือนกัน เลยทำอะไรไม่ได้ มะเร็งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเลยต้องปล่อยไว้อยู่ตรงนั้นไป 

ผ่านมาอีกช่วงหนึ่ง คุณหมอนัดทำ PET/CT scan ทำให้พบก้อนมะเร็งขนาดเล็กที่ต่อมหมวกไตและหลอดลมอีก ซึ่งท่านห่วงว่าถ้าโตขึ้นจะไปเบียดหลอดลมทำให้หายใจไม่ได้ ตอนแรกเราวางแผนว่าจะทำการผ่าตัดแล้วเย็บปิดหลอดลม เพราะก้อนยังไม่ใหญ่มาก แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการจัดการกับหลอดลม จนถึงปัจจุบันหลอดลมพี่ยังโอเคอยู่ ไม่ได้มีอาการหายใจหรือบวมมากผิดปกติ 

ก่อนที่จะพบว่าเป็นมะเร็ง ช่วงที่คอบวม พี่ไม่ได้มีอาการอะไรที่น่ากลัวนะ ถ้าคุณหมอไม่ได้ทักพี่คงใช้ชีวิตตามปกติ ถ้าช่วงที่หนักจริงๆ คงจะเป็นตอนรักษาด้วยการกลืนแร่ แต่อาการหนักๆ เป็นอยู่แค่ช่วงสั้นๆ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป พี่ว่าการรักษาที่ผ่านมาไม่ได้มีขั้นตอนที่ยากมากนักสำหรับพี่ ส่วนการใช้ชีวิตหลังรักษา ด้วยพี่ไม่มีฮอร์โมนไทรอยด์ เพราะถูกผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไป หลังผ่าตัดใหม่ๆ พี่ต้องทานแคลเซียมกับวิตามินดีตลอด เพราะว่าถ้าขาดแคลเซียมอาจเกิดอาการชักได้ และพี่จะเซนซิทีฟมากกว่าคนทั่วไปถ้าอากาศหนาวหรือร้อนมาก การดูแลร่างกายในปัจจุบันจะมีการเทคฮอร์โมนไทรอยด์ เลยทำให้ต้องติดตามผลเลือดอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ระดับของฮอร์โมนสมดุล ส่วนมะเร็งในจุดต่างๆ จะเป็นไปในลักษณะของติดตามผล แบบถ้าตรงไหนที่มีปัญหา คุณหมอจะให้การเป็นการรักษาแบบเจาะจงเฉพาะจุด”

อยู่อย่างประมาณตน  

“ภาพภายนอกพี่อาจจะดูก๋ากั่น แต่เรื่องเหล้า บุหรี่ พี่ไม่มีเลย ฉะนั้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ตัดออกไปได้ ส่วนการใช้ชีวิต พี่เป็นคนทำอาหารทานเอง แต่ไม่ถึงขนาดทานอาหารคลีน คืออยากทานอะไรก็ทาน ก่อนหน้านี้พี่มีช่วงปรับตัวเองอยู่เหมือนกันจากกระแสคำพูดที่ว่า คนเป็นมะเร็งอย่าทานเนื้อสัตว์ แรกๆ ที่ได้รับข้อมูลมา พี่ลองทำตาม แต่ทำไปได้ประมาณ 6 เดือน พี่รู้สึกเวียนหัวบ่อยๆ จนมาพบว่าพลังงานของอาหารที่เราทานไปไม่เพียงพอกับกิจกรรมในแต่ละวันที่เราต้องเดินทางไปทำงาน สอน เลยตัดสินใจกลับมาทานอาหารปกติ โดยจะมีหลักง่ายๆ คือมีอะไรทานอย่างนั้น แต่เน้นให้ครบทั้ง 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารที่เพียงพอ

การดูแลร่างกายพี่ไม่ได้เข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป และกิจกรรมที่พี่ดึงเข้ามาใช้ในเรื่องการดูแลตัวเองอีกหนึ่งกิจกรรมคือโยคะ หลายๆ คนจะคิดถึงการทำท่าหรืออาสนะที่ผาดโผนเวลาเราพูดถึงโยคะ แต่จริงๆ แล้ว พอพี่ได้ไปอินเดียและมีโอกาสได้เข้าไปถึงแก่นของศาสตร์ด้านนี้จริงๆ โยคะคือวิถีชีวิตเลยนะ วิธีการที่เราเลือกกิน วิธีคิดของเรากับสิ่งต่างๆ วิธีการหายใจ โยคะคือการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการทำสมาธิ คือการทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อให้พร้อมกับการนั่งนิ่งๆ นานๆ ได้ นั่นคือความเป็นพุทธนั่นแหละ 

จริงๆ พี่มาเริ่มฝึกหายใจแบบโยคะหลังจากเจอมะเร็ง ซึ่งสิ่งที่พี่ได้รับรู้ว่าในสเตจสุดท้ายของผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหลายๆ อย่างที่ทำให้ผู้ป่วยจากไปแบบกระวนกระวายได้ แต่พี่ไม่อยากอยู่ในสภาวะแบบนั้น จึงเลือกฝึกหายใจเพื่อที่จะนิ่งที่สุดหากวาระสุดท้ายของตัวเองมาถึง โยคะจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางในการดูแลด้านร่างกายและจิตใจของพี่ด้วย”

รู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้น

“พี่รู้สึกว่าการที่สังคมคิดและพูดว่า ‘ถ้าเป็นมะเร็งแล้ว ฉันต้องต่อสู้ มีกำลังใจ เข้มแข็ง และต้องมองโลกในแง่ดี หรือการที่คนเป็นมะเร็งอ่อนแอ เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับกำลังใจเยอะๆ คนรอบข้างต้องเชียร์อัพคนป่วยตลอดเวลา’ เป็นดาบสองคมอยู่เหมือนกัน พี่เข้าใจว่านี่เป็นความปรารถนาดีซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อเราเสพข้อมูลในเชิง emotional เข้ามาเยอะๆ อาจส่งผลลบให้กับตัวเองที่เป็นผู้ป่วยอยู่ได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับอาการของโรคและอารมณ์ยังแกว่งอยู่ นั่นอาจมีผลทำให้เกิดความตื่นตระหนกหรือกังวลไปล่วงหน้าว่ามะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัว ร้ายแรง อาจรู้สึกว่าทำไมโรคนี้ถึงแย่อย่างนี้ล่ะ และสิ่งที่เราต้องทำคือเข้มแข็ง ต้องต่อสู้นะเมื่อเจอกับสถานการณ์แบบนี้ นั่นทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเริ่มดำเนินชีวิตไปตามคำแนะนำต่างๆ ที่พรั่งพรูเข้ามาด้วยความหวังดี จนเกิดเป็น infomation overload ซึ่งส่งผลทำให้เขาจัดการกับตัวเองด้วยสติได้ยากขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นอาหารซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เซนซิทีฟมาก พี่จะพูดทุกครั้งเลยว่าคนเป็นโรคมะเร็งจะมีภาวะเบื่ออาหาร เหม็นกลิ่นอาหาร คือถ้าเขาทานไม่ได้จริงๆ อย่ารบเร้าเขา เพราะร่างกายของผู้ป่วยต้องการพัก ซึ่งการที่เราหาหรือทำอาหารที่ทำให้คนป่วยทานได้ง่ายขึ้นในช่วงที่เขาเหม็นกลิ่นต่างๆ เป็นส่วนสำคัญ ขณะเดียวกันคนป่วยเองก็ต้องมีสติกับร่างกายว่าตัวเองทานอะไรแล้วสบายตัว ทานอะไรแล้วอึดอัด อย่าทานตามคำแนะนำของคนอื่นๆ เพราะคนที่รู้จักร่างกายดีที่สุดคือตัวเราเอง

ถ้ามองจากภายนอกเข้ามา หลายคนอาจรู้สึกว่าพี่เข้มแข็งที่ผ่านเรื่องหนักๆ มาได้ แต่เอาจริงๆ พี่คิดว่าคงเป็นเพราะมุมมองที่พี่มองโรคมะเร็งมากกว่า พี่ไม่ได้มองว่าเขาเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาตั้งแต่ต้น ถ้าเราแยกเรื่องอารมณ์และจิตใจออกไป มะเร็งเป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรังทางกายที่สามารถรักษาได้ พี่อยู่กับคุณพ่อสองคน กับเรื่องอื่นท่านอ่อนไหวนะ แต่กับเรื่องมะเร็งคุณพ่อจะชิวมากเพราะว่าคุณย่าพี่เสียจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่คุณพ่อยังเล็กๆ แล้วญาติฝั่งคุณพ่อ ทั้งคุณอาและคุณป้าก็เสียจากมะเร็งเช่นเดียวกัน ท่านเลยมองว่ามะเร็งคือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์และพี่คงได้เห็นและซึมซับสิ่งที่เกิดขึ้นมาในความคิดเราด้วยละมั้ง”

ตั้งสติก่อนสตาร์ท

“พี่ว่าผู้ป่วยจะต้องมีสติกับทุกเรื่องเลย ทั้งการทาน การใช้ชีวิต รวมทั้งวิธีคิด ถ้าเรามีสติ เราจะมีเหตุผลมากพอในการตัดสินใจกับเรื่องต่างๆ พี่คิดว่าถ้าเราสามารถเข้าใจมายด์เซ็ตที่เป็นภาพใหญ่ในเรื่องของสติได้ มันจะคลุมทุกอย่างหลังจากนั้นได้หมด ถ้าเขามีสติ เขาจะรู้ว่าตอนนี้เขาเป็นมะเร็งนะ แล้วเป็นมะเร็งชนิดไหน เขาจะเริ่มหาข้อมูล กลั่นกรองข้อมูลด้วยเหตุและผล รู้ว่าถ้าเป็นในสเตจนี้ควรจะดูแลร่างกายอย่างไร รู้ถึงวิธีการทานว่าควรจะทานอะไรแล้วสบายร่างกาย ได้สารอาหารครบ หรือควรจะอยู่กับผู้คนแบบไหนแล้วสบายใจ หรือควรพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีสภาพแวดล้อมแบบไหนแล้วหายใจสะดวก ทุกอย่างที่พูดมาครอบด้วยสติทั้งหมดเลย 

สำหรับกำลังใจ พี่ว่ากำลังใจที่ดีที่สุดสร้างขึ้นได้จากตัวเราเอง ตัวพี่ที่ผ่านเรื่องนี้มาแล้ว พี่พบว่า ถ้าเรารักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และมีกำลังใจในตัวเองอย่างมั่นคงและหนักแน่น ตัวเรานี่แหละที่เป็นกำลังสำคัญซึ่งทำให้ผ่านความยากของชีวิตไปได้ พี่บอกเพื่อนๆ หลายคนที่เป็นมะเร็งว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น เดี๋ยวมันจะผ่านไปตามขั้นตอน ตามระยะเวลา เราเป็นคนสวย เป็นคนเท่ ต้องผ่านไปแบบอย่างสวยๆ เท่ๆ แล้วเมื่อมองกลับมา เราจะมองกลับมาได้อย่างภูมิใจ แบบเชิดๆ ว่าเห็นไหมล่ะ เราผ่านมาได้นี่นา” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล  
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: สุภาวดี จุ้ยศุขะ