เป็นมะเร็งแล้วขอไม่รักษาได้หรือไม่

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การรักษามะเร็ง เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่าง ผู้ป่วย ครอบครัว และทีมแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา มิใช่หน้าที่ของแพทย์ มิใช่การตัดสินของญาติ การรักษามะเร็งมีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยต้องให้การอนุญาตก่อน เป็นลายลักษณ์อักษร แพทย์จึงจะทำการผ่าตัด ฉายรังสี ให้ยาเคมีบำบัด หรือยาอื่นได้ ผู้ป่วยต้องยอมแลกด้วยความเจ็บตัว ความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง การมาโรงพยาบาล และค่าใช้จ่าย เพื่อโอกาสที่จะหายขาดจากมะเร็ง ผู้ป่วยที่ไม่ยอมแลกกับโอกาสหายขาด ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาเสี่ยงอันตรายเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะปฏิเสธการรักษา ขอให้ลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งดูก่อน ว่าการรักษาในปัจจุบัน มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากมะเร็งมากน้อยเพียงใด มะเร็งหลายชนิดโดยเฉพาะมะเร็งที่พบในระยะแรก มีโอกาสหายขาดได้มาก ตัวอย่างเช่น มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดร้อยละ 99 มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 มีโอกาสหายขาดร้อยละ 93 โดยการรักษามาตรฐาน คือผ่าตัด และหรือ ฉายรังสี และหรือ เคมีบำบัด และคนไทยสามารถเข้าถึงการรักษานี้ในระบบสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หากขอไม่รักษา ลองสมุนไพรหรือการแพทย์ทางเลือกก่อน มะเร็งจะไม่หายและอาจลุกลามเป็นระยะ 3 หรือ 4 ในอีกหลายเดือน หรือหลายปีต่อมา เมื่อเปลี่ยนใจมารักษาตามมาตรฐานในภายหลัง​โอกาสหายขาดจะลดลงมาก เหลือเพียงร้อยละ 72 และ 20 เท่านั้น วงการแพทย์มองว่าเสียดายโอกาสในการรักษาให้หายขาด

สมุนไพร และการรักษาทางเลือก อาจทำให้มะเร็งเติบโตช้าลงได้จริง แต่ไม่สามารถทำให้มะเร็งหายขาดได้ หมายความว่าผู้ป่วยจะหยุดใช้ยาไม่ได้ ผู้ที่กินสมุนไพรและการแพทย์ทางเลือก อาจอยู่กับมะเร็งได้นานหลายปี และอาจใช้ชีวิตตามปกติ แต่หากเมื่อใดหยุดกิน ยานั้นหมดไปหาไม่ได้อีก สู้ค่าใช้จ่ายไม่ได้อีกต่อไป หรือ เสื่อมศรัทธา โรคมะเร็งก็จะกำเริบขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงต้องพึ่งทางเลือกนี้ไปตลอดชีวิต และเมื่อมะเร็งกำเริบมากขึ้น ไม่ดีจริงอย่างที่คิด ก็ไม่มีใครรับผิดชอบชีวิตของเรา

หากเป็นโรคมะเร็งที่รักษาหายขาดได้ แต่กลัวผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ฉายรังสี หรือเคมีบำบัด พึงปรึกษากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งชนิดเดียวกันที่เคยผ่านประสบการณ์ตรงมาแล้ว เพื่อฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง สอบถามวิธีการดูแลและจัดการกับสิ่งที่กังวล ที่อาจเกิดขึ้นกับการรักษา และหรือเล่าให้ทีมผู้ให้การดูแลรักษาฟังเกี่ยวกับความกังวลของเรา และหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งอีกแห่งหนึ่ง เป็น Second Opinion

หากผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ไม่บอกผู้ป่วยอย่างชัดเจนว่า มีอากาสหายขาดมาก เช่น เลี่ยงไม่ตอบ บอกว่าลองดูไปก่อน หรือบอกตรง ๆ ว่าโอกาสหายขาดน้อย และผู้ป่วยมีทัศนคติกับชีวิตและความตายว่า “ตายไม่กลัว กลัวทรมาน” ผู้ป่วยย่อมสามารถเลือกปฏิเสธการรักษาได้ ถึงแม้ว่าการรักษาอย่างเต็มที่ยังอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายหายขาดได้ ผู้ป่วยชั่งน้ำหนักแล้วว่า สิ่งที่จะต้องแลกนั้น ไม่เหมาะกับเขา เช่น โอกาสหายน้อยแต่ ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เจ็บตัวมากเกินไป เสียเวลาในโรงพยาบาลมากไป เขาย่อมเลือกได้ โดยการไม่ลงนามในเอกสารขออนุญาตให้แพทย์ทำการรักษา แพทย์ย่อมเคารพความประสงค์ของผู้ป่วยเสมอ

อย่างไรก็ดี ครอบครัวมักมีอิทธิพลมากต่อการดูแลผู้ป่วย หลายครอบครัวมักมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางการรักษา ครอบครัวส่วนใหญ่มักมีคนใดคนหนึ่งที่อยากให้ลองรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน และมีอีกคนหนึ่งเชียร์ธรรมชาติบำบัด อีกคนหนึ่งเชียร์อาหารเสริม อีกคนหนึ่งเชียร์ยาสมุนไพร และมีญาติห่าง ๆ เพื่อนบ้าน และเพื่อนฝูงผู้หวังดี ให้คำแนะนำอีกเป็นจำนวนมาก ครอบครัวที่มีความเห็นหลากหลาย พึงได้รับคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์พยาบาลประคับประคอง (Palliative Care Team) ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสาร และรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และจะช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวผู้ป่วย และแบ่งปันภาพรวมของการดูแลผู้ป่วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และบำบัดอาการน่าทุกข์ทรมานมิให้เกิดขึ้น หรือหมดไป รวมทั้งการวางแผนในช่วงสุดท้ายของชีวิตเมื่อใกล้เวลา