มะเร็งเต้านม

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย และมีอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียง

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้น เช่น

  • อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม ประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในญาติสายตรง
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี และการไม่ให้นมบุตร
  • การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนเป็นเวลานาน มากกว่า 5 ปี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย

อาการของมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อน หรืออาจสังเกตได้จากขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น

  • คลำพบก้อน บริเวณเต้านมหรือรักแร้
  • ผิวหนัง บริเวณเต้านมถูกดึงรั้ง หรือเป็นรอยนุ่ม
  • มีแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม
  • มีน้ำหรือสารคัดหลั่งออกทางหัวนม
  • เต้านมบิดเบี้ยวผิดรูป

ระยะของมะเร็งเต้านม

ระยะความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 1-2 อัตราการอยู่รอด ที่ 5 ปี สูงถึง 85-99% แต่หากตรวจพบในระยะที่ 3 อัตราการอยู่รอดมีเพียง 4 -60% และจะลดลงเหลือ 18-20% หากตรวจพบในระยะที่ 4 ดังนั้นการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้นจะทำให้โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีสูงขึ้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

วิธีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งเต้านม มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (breast self examination : BSE) การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม (clinical breast examination: CBE) และการตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography: MM)จากข้อมูลหลักฐานวิชาการ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมระดับประชากร (mass screening) สรุปได้ดังนี้

ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง และควรจะต้องได้รับการบอกถึงประโยชน์และข้อจำกัดของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง รวมทั้งได้รับการสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเองที่ถูกวิธี และหากมีอาการที่สงสัยควรมีการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม

ผู้หญิงที่มีอายุ 40-69 ปี และไม่มีอาการ นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำแล้ว ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมทุก 1 ปี

ผู้หญิงที่อายุ 70 ปีขึ้นไป การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงกลุ่มนี้ให้พิจารณาเป็นรายบุคคล โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของประโยชน์และอัตราการเสี่ยงของการตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านมในเรื่องของสภาวะสุขภาพในขณะนั้นและการมีชีวิตอยู่ต่อไป (life expectancy)

วิธีการรักษามะเร็งเต้านม

ปัจจุบันวิธีการรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธีที่ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับ เช่น

  • การผ่าตัด
  • การฉายแสง (รังสีรักษา)
  • การให้ยาต้านฮอร์โมน
  • การให้ยาเคมีบำบัด
  • การรักษาโดยยาที่มีการออกฤทธิ์จำเพาะ

การรักษามะเร็งเต้านมอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของทีมแพทย์และความต้องการของผู้ป่วยเพื่อให้การวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น ผ่าตัดก่อน หลังจากแผลหายจึงให้ยาเคมีบำบัด ต่อจากนั้นรักษาโดยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาต้านฮอร์โมน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค อายุและสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม

  • ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารที่มีสารปนเปื้อน อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยง ควรเอาใจใส่ในการตรวจเต้านมเป็นพิเศษ และควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เพิ่มเติม
  • รับการตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกปี เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป
  • รับการตรวจเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammography)ทุก 1-2 ปี เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

หากจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์