สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563
มะเร็งศีรษะและลำคอ
มะเร็งของศีรษะและลำคอ หมายถึง มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร เช่น ช่องปาก ช่องคอ ต่อมธัยรอยด์ ต่อมน้ำลาย โพรงหลังจมูก กล่องเสียง เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีมะเร็ง 3 ชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่
1. มะเร็งช่องปาก เซลล์มะเร็งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่บริเวณริมฝีปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก หรือพื้นปาก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีก้อนบริเวณคอ การเกิดฝ้าขาว ฝ้าแดงเรื้อรัง ภายในช่องปากปรากฏรอยสีขาวคล้ายกำมะหยี่ แดง หรือรอยด่างสีแดงขาว
2. มะเร็งกล่องเสียง เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อของกล่องเสียง
3. มะเร็งหลังโพรงจมูก เกิดที่ส่วนของลำคอที่เชื่อมกับด้านหลังของจมูกกับด้านหลังของปาก
ปัจจัยเสี่ยงศีรษะและลำคอ
โดยทั่วไปปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอมาจากการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ การเคี้ยวหมาก ตลอดจนการได้รับมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความผิดปกติทางพันธุกรรม
อาการของโรค
- อาการแน่นโพรงจมูกหรือปวดศีรษะตลอดเวลา มีเสมหะปนเลือดติดต่อกันหลายวัน อาการหายใจลำบากจากทางเดินหายใจอุดกั้น
- หูอื้อข้างเดียว ปวดร้าวไปที่หู ฟังไม่ชัด เกิดจากภาวะน้ำคั่งในหู
- เสียงแหบ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- กลืนอาหารแล้วเจ็บ เป็นแผลเรื้อรังในช่องปาก กลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน
การวินิจฉัยโรค
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะท้าย ซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งมีการลุกลามหรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ส่งผลต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้นหากผู้ป่วยเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
การรักษาโรค
มะเร็งศีรษะและลำคอสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก วิธีการรักษาหลักประกอบด้วย การผ่าตัด การฉายรังสีและการให้ยาเคมีบำบัด โดยการเลือกวิธีการรักษาในผู้ป่วยจะคำนึงถึงตำแหน่งและระยะโรคของมะเร็ง รวมถึงอายุ ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น
การป้องกันโรค
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การเคี้ยวหมาก
- สวมอุปกรณ์หรือหน้ากากป้องกัน ฝุ่น สารพิษ หรือมลภาวะต่าง ๆ จากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
- รักษาความสะอาดช่องปาก การพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำ
- การตรวจช่องปากด้วยตนเอง โดยการสำรวจบริเวณด้านข้างของลิ้น กระฟุ้งแก้ม เหงือก เพดานปาก และพื้นปาก