มะเร็งระยะลุกลามแล้วรักษาไม่ได้จริงหรือไม่

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งระยะลุกลาม หมายถึง มะเร็งที่ได้กระจายออกนอกอวัยวะที่เริ่มต้น ตั้งแต่วันแรกที่วินิจฉัย หรือหมายถึงมะเร็งที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ภายหลังการรักษารอบแรก โดยปรากฏขึ้นใหม่ที่เดิม หรืออวัยวะอื่น เช่น กระดูก ตับ ปอด สมอง

วิธีการรักษามะเร็งระยะลุกลาม มีหลายวิธีประกอบกัน คือผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และวิธีอื่น ๆ รวมทั้งการแพทย์ทางเลือก และการดูแลประคับประคอง แต่ผู้ป่วยพึงทราบว่า โอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งนั้นน้อยกว่ามะเร็งระยะแรก หรือไม่มีเลย แล้วแต่ชนิดของมะเร็ง มะเร็งหลายชนิดแม้ลุกลามแล้วก็ยังอาจรักษาหายขาดได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไธรอยด์ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งเซลสืบพันธุ์ มะเร็งในเด็ก แต่มะเร็งหลายชนิดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่นมะเร็งสมอง มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด

มะเร็งระยะที่ 3 มักหมายถึง มะเร็งที่เป็นก้อนใหญ่เกินกว่าที่จะผ่าตัดได้หมด หรือว่ามะเร็งที่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองรอบอวัยวะเริ่มแรกแล้ว แต่ยังมิได้กระจายไปอวัยวะอื่น เช่น กระดูก ตับ ปอด สมอง เมื่อแรกวินิจฉัยมะเร็งแพทย์จึงมักส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของช่องท้อง และหรือปอด หรือเอกซเรย์ปอด และการตรวจสแกนกระดูก หากไม่พบรอยโรคในอวัยวะเหล่านี้เลย ก็เรียกว่าระยะที่ 3 แต่ถ้าพบแม้ในอวัยวะหนึ่ง ก็เรียกว่า ระยะที่ 4

การผ่าตัด จะไม่สามารถทำให้หายขาดจากมะเร็งระยะลุกลาม ดังนั้นศัลยแพทย์มักจะไม่แนะนำให้ผ่าตัด เพราะว่าถึงจะผ่าตัดเอาก้อนใหญ่ออกไปได้ ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตในภายหลังจากมะเร็งที่กระจายไปที่อวัยวะอื่น ผู้ป่วยจึงเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น เว้นแต่การผ่าตัดนั้นเป็นไปเพื่อบำบัดอาการ เช่น ก้อนมะเร็งทำให้ท่ออุดตัน เช่นลำไส้อุดตัน ท่อปัสสาวะอุดตัน จะเจ็บปวดทรมาน การผ่าตัดเบี่ยงทางเดินของท่อทำให้หายปวดทรมานได้ ก็จำเป็นต้องทำ แต่ไม่ทำให้โรคหายขาด หรือผ่าตัดก้อนออกเพื่อมิให้เกิดเป็นแผล เช่น โรคมะเร็งเต้านมระยะที่สาม ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ผ่าตัดก้อนมะเร็งทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังไม่หาย เรียกว่า การผ่าตัดแบบประคับประคอง

การฉายรังสี จะไม่สามารถทำให้หายขาดจากมะเร็งระยะลุกลาม แต่อาจจะทำให้ก้อนโตช้าลง ไม่รบกวนชีวิตของผู้ป่วย หรือเพื่อบำบัดอาการ เช่น มะเร็งที่กระจายไปกระดูกทำให้เกิดความเจ็บปวด การฉายรังสีเฉพาะตรงที่ปวด จะทำให้หายปวดได้ เพิ่มคุณภาพชีวิต เรียกว่า การฉายรังสีแบบประคับประคอง การฉายรังสีจึงไม่ต้องให้ปริมาณมากเท่าการรักษามะเร็งที่หวังหายขาดได้ ผลข้างเคียงจะเวลาที่ฉายรังสีมักใช้เวลาไม่กี่วัน

ยาเคมีบำบัด จะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ ทั้งตรงที่ก้อนเริ่มแรก และมะเร็งที่กระจายไปแล้ว ในกรณีมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ ระยะที่ 3 การรักษาให้ยาเคมีบำบัดอาจลดขนาดก้อนลง จนสามารถทำการผ่าตัดและฉายรังสี และหวังหายขาดได้ แต่หากเป็นระยะที่ 4 การให้ยาเคมีบำบัด และหรือ การฉายรังสี และการผ่าตัดมักทำให้ก้อนขนาดเล็กลง หรือหายไปชั่วคราว แต่ในที่สุดมะเร็งจะกลับมาใหม่ การรักษาจึงไม่อาจหวังให้หายขาดได้ แต่อาจยืดชีวิตผู้ป่วยได้ระยะหนึ่ง

ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 3 หรือระยะแรก ที่ได้รับการรักษามาตรฐานแล้ว แต่มะเร็งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แสดงว่าไม่หายขาด เซลล์มะเร็งที่กลับมาใหม่นี้ ย่อมเป็นมะเร็งที่ดื้อยา และดื้อรังสี โอกาสรักษาหายขาดจึงน้อยมาก ไม่ต่างจากผู้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 4 การรักษาใด ๆ จึงหวังได้เพียงการยืดเวลาที่จะมีชีวิตอยู่ และต้องแลกด้วยผลข้างเคียงของการรักษา ความเจ็บปวดของวิธีการรักษา เวลาที่จะใช้ในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ผู้ป่วยและครอบครัวพึงตัดสินใจร่วมกันกับทีมแพทย์พยาบาลผู้ให้การรักษาว่า ทางเลือกในการรักษาอย่างใดจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยมากที่สุด

ผู้ป่วยจำนวนมากมองว่า การยืดชีวิตมิใช่สิ่งที่เขาต้องการ หากชีวิตที่ยาวขึ้นนั้นจะต้องเจ็บปวดทรมาน จากตัวโรค หรือจากความพยายามในการรักษา เช่น เจ็บตัวจากการผ่าตัด จากการเจาะเลือด การตรวจวินิจฉัย หรือจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ผู้ที่เข้าใจสัจธรรมว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา แค่ไม่อยากทรมาน ไม่อยากเสียเวลาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่าย อยากใช้ชีวิตเต็มที่ อยู่กับมะเร็งอย่างสันติ ผู้ป่วยย่อมมีสิทธิเลือกที่จะไม่รับการรักษา ผู้ป่วยและครอบครัว ควรได้รับการส่งต่อไปพบทีมแพทย์พยาบาลประคับประคอง (Palliative Care Team) เพื่อวางแผนชีวิต เติมเต็มคุณภาพชีวิต และวางแผนบำบัดความเจ็บปวดและอาการรบกวนอย่างเต็มที่ และยังคงได้รับการฉายรังสีแบบประคับประคอง เพื่อบำบัดอาการรบกวนและเพิ่มคุณภาพชีวิต ร่วมกันได้

ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม บางคนอาจยังหวังที่จะหาย แต่ไม่ต้องการยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยและครอบครัวย่อมสามารถทดลองการแพทย์ทางเลือกแบบต่าง ๆ พร้อมไปกับการดูแลประคับประคอง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตเต็มที่และไม่เจ็บปวดทรมานในกรณีที่โรคมะเร็งเป็นมากขึ้นตามเวลา คนรอบตัว และญาติ พึงเคารพในแนวทางที่ผู้ป่วยเลือก และสนับสนุน

ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามหลายคน ยังไม่พร้อมที่จะตาย ต้องการยืดชีวิต และพร้อมที่จะแลกกับผลข้างเคียงของยา ความเจ็บปวดที่เกิดจากการรักษา ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และเวลาที่ใช้ในการเข้าออกโรงพยาบาล ทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาจะให้การรักษาตามประสงค์ได้ หากท่านยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องจากความพยายามในการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตเร็วขึ้น โดยจะให้สูตรยาที่ทำให้มีโอกาสยืดชีวิตได้นานที่สุดก่อน แต่เราจะไม่แปลกใจหากมะเร็งไม่หายขาด และกลับมาใหม่ แพทย์ไม่อาจบอกได้ว่ามะเร็งจะกลับมาเมื่อใด เราบอกได้เพียงว่า การให้ยาน่าจะทำให้อยู่นานขึ้นกว่าไม่ให้ยา ทุกครั้งที่มะเร็งกลับมาแสดงว่ามันดื้อยานั้น และยาทั้งหมดที่เคยได้รับมาทั้งหมด การตัดสินใจให้ยารอบใหม่ จำเป็นต้องชั่งผลดี และผลเสียที่เกิดขึ้น หากผลเสีย อันได้แก่ผลข้างเคียง ค่าใช้จ่าย และคุณภาพชีวิตที่ลดลง มากกว่าผลดี ผู้ป่วยจะขอหยุดหรือเปลี่ยนการรักษาเมื่อใดก็ได้ และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งการรักษาที่เหลือ อาจมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี แพทย์ก็จะไม่แนะนำให้ไปต่อ

ในบางกรณี แพทย์อาจชักชวนผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัยยาใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า ยาใหม่อาจรักษามะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นได้บ้างหรือไม่ แพทย์จะนำเสนอทางเลือกนี้เมื่อมีโครงการวิจัยที่ตรงกับสภาวะโรคของผู้ป่วย ในเวลานั้น ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัยจะได้รับยาฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่พึงปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการวิจัยอย่างเคร่งครัด และไม่อาจคาดหวังผลของการรักษาในโครงการวิจัยได้

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมียามุ่งเป้า หรือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือการรักษาที่เหมาะกับโรคที่เป็นโดยมิใช่เคมีบำบัด (ดูรายละเอียดในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง) ผู้ป่วยพึงทราบว่า ยามุ่งเป้า การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ยังมิได้เป็นมาตรฐานในการรักษามะเร็งส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อาจได้ผลกับมะเร็งเพียงบางชนิด และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ผู้ป่วยพึงพิจารณาให้เหมาะสมกับฐานะของตน