มะเร็งมีกี่ระยะ?

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน จึงรักษาไม่เหมือนกัน แม้มะเร็งชนิดเดียวกัน เป็นมากหรือเป็นน้อย ก็รักษาไม่เหมือนกันอีก วงการแพทย์จำแนกโรคมะเร็งมากหรือน้อย โดยเรียกว่า “ระยะ” ของโรค (Stage) เพราะ มะเร็งส่วนใหญ่เริ่มด้วยขนาดเล็ก ๆ ก่อน ตอนที่ก้อนเล็ก ๆ มันมักจะไม่กระจายไปไหน เรียกว่าระยะแรก เมื่อก้อนใหญ่ขึ้น เซลล์มะเร็งก็รุกรานเนื้อเยื่อรอบก้อน และบางเซลล์เริ่มหลุดออกจากก้อน กระจายไปทางน้ำเหลืองและเลือดสู่อวัยวะอื่น เพราะเป็นมานานกว่าก้อนเล็ก เรียกว่าระยะลุกลาม หรือระยะท้าย (Advanced Cancer)

วงการแพทย์จำแนกมะเร็งเป็น 4 ระยะ สำหรับมะเร็งส่วนใหญ่ ในครั้งแรกที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์

ระยะที่ 1 มักหมายถึงมะเร็งที่มีขนาดเล็ก ผ่าตัดแล้วหมดเกลี้ยงได้แน่นอน

ระยะที่ 2 หมายถึงมะเร็งก้อนใหญ่กว่าระยะแรก ผ่าตัดแล้วน่าจะหมด แต่เมื่อนำชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปมาวิเคราะห์แล้ว พบมีลักษณะบางอย่างที่บ่งว่า ผู้ป่วยบางคนมีเซลล์มะเร็งแอบกระจายอยู่บ้างรอบก้อนที่ตัดออกไป แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าขณะที่กำลังผ่าตัด

ระยะที่ 3 หมายถึงก้อนมะเร็งที่ใหญ่จนผ่าตัดไม่หมดหรือผ่าไม่ได้เพราะติดอวัยวะสำคัญ ถ้าผ่าออกหมดจะพิการ หรือพบว่ากระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบก้อนมะเร็ง แต่ยังไม่มีสัญญาณว่ามะเร็งกระจายไป “อวัยวะไกล”ออกไป เช่น ตับ ปอด สมอง กระดูก

ระยะที่ 4 หมายถึงผู้ที่เป็นโรคมะเร็งในอวัยวะไกล ไม่ว่าก้อนตั้งต้นจะใหญ่หรือเล็กก็ตาม

สำหรับมะเร็งแต่ละชนิด ผู้ที่เป็นระยะที่ 1 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 2 ผู้ที่เป็นระยะที่ 2 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 3 และ ผู้ที่เป็นระยะที่ 3 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 4 วงการแพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ตามด้วยการรักษาอื่นที่มากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 1 หายขาดเกือบทุกคน และเพิ่มการรักษาหลังผ่าตัดมากขึ้นอีกสำหรับมะเร็งระยะที่ 2 เนื่องจากมะเร็งระยะที่สามนั้นแปลว่าผ่าตัดไม่หมดหรือผ่าไม่ได้ ก็มักได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงให้ก้อนเล็กลงก่อน ตามด้วยการผ่าตัด

สำหรับมะเร็งระยะที่ 4 หรือบางคนเรียกว่าระยะสุดท้าย การรักษาก็มักจะพึ่งยาเคมีบำบัดเป็นหลัก แต่ถึงจะให้ยาดีที่สุดก็ไม่ทำให้มะเร็งหายขาด ยกเว้นมะเร็งไม่กี่ชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลายชนิด มะเร็งไธรอยด์ มะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ ก็ยังมีโอกาสหายขาดได้บ้างแม้เป็นระยะที่ 4 ดังนั้นจะเรียกว่าระยะสุดท้าย ก็ไม่ค่อยเหมาะสม การพบมะเร็งในอวัยวะไกล แม้เพียงจุดเดียว ก็แสดงว่ามะเร็งได้กระจายไป ‘ทั่วตัว’ แล้ว โดยมากก็โดยทางกระแสเลือด ซึ่งไหลเวียนไปได้ทุกที่ เพียงแต่จุดที่ตรวจพบสัญญาณ ก็เป็นจุดที่มีมะเร็งปริมาณมากที่สุด แต่มะเร็งอาจจะอยู่ในร่างกายสิบจุด ร้อยจุด แล้วก็ได้ เพียงแต่มีไม่กี่เซลล์จึงเป็นก้อนเล็กเกินกว่า เทคโนโลยีในวันนี้จะตรวจเจอ ในกรณีที่พบมะเร็งในครั้งแรกที่กระดูก ตับ ปอด หรือสมอง ก็ต้องค้นหาก่อนว่าเป็นมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น หรือเป็น “มะเร็งปฐมภูมิ” ของกระดูก ตับ ปอด สมอง กันแน่

มะเร็งบางชนิดก็ไม่มีการระบุระยะ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) เพราะว่าเซลล์มะเร็งกระจายทั่วตัวทุกรายอยู่แล้วตั้งแต่แรก แต่ก็มีโอกาสหายขาดด้วยยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมสำหรับชนิดย่อยของมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมองก็มักไม่ระบุระยะ เพราะมันไม่ค่อยกระจายไปอวัยวะไกล และบางครั้งแม้ผ่าตัดหมดก็ไม่หายอยู่ดี จึงเทียบเคียงกับโรคอื่นไม่ได้ มะเร็งเหล่านี้ ต้องระบุชนิดย่อยของเซลล์มะเร็ง จึงจะวางแผนการรักษาได้

มะเร็งบางชนิด มีระยะ 0 ด้วย คือเป็นมะเร็งที่เพิ่งเป็น ยังไม่กระจายไปไหนเลย ภาษาหมอเรียกว่า Carcinoma in situ ตัดออกเฉพาะตำแหน่งที่เป็นก็หายขาด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มักตรวจพบจากการตรวจกรองในประชากรปกติ ไม่มีอาการแต่อย่างใด และโรคมะเร็งบางชนิด มีความผิดปกติที่ยังไม่เป็นมะเร็ง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน ภาษาหมอเรียก pre-cancerous lesions เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ฝ้าขาวในช่องปากเป็นต้น ถ้าตัดออกเมื่อตรวจเจอ ก็จะป้องกันการเป็นมะเร็งได้

วงการแพทย์จะระบุระยะของมะเร็ง เฉพาะในการวินิจฉัยครั้งแรกเท่านั้น เช่น มะเร็งเต้านมระยะ 1, 2, 3 เมื่อทำการรักษาแล้ว ก้อนมะเร็งหายไป ต่อมามะเร็งปรากฏขึ้นในอวัยวะไกล เช่นกระดูก ก็เรียกว่า มะเร็งเต้านมระยะ 1, 2, 3 ที่กระจายไปกระดูก ภาษาหมอเรียกว่า ith metastasis แต่ไม่เรียกว่ามะเร็งกระดูก ไม่เรียกว่าระยะที่ 4 กล่าวคือเราไม่เปลี่ยนชื่อระยะ แม้ว่าโอกาสรักษาหายขาดจะน้อยมากเช่นเดียวกัน ถ้าเราจะเรียกสภาวะนี้ว่า มะเร็งระยะสุดท้าย ก็สมเหตุผล วงการแพทย์ระบุ “ระยะ” ไว้เพื่อเปรียบเทียบสถิติผลการรักษามะเร็ง ว่าการรักษาแบบใดดีกว่ากันเท่านั้น

ถึงแม้ว่ามะเร็งระยะ 3, 4 แสดงว่าเป็นมะเร็งมานานกว่า ระยะ 1, 2 แต่ไม่สมควรที่จะกล่าวโทษว่า มาหาหมอช้าไป ความจริงก็คือ ระยะ 1, 2 นั้นมักไม่มีอาการใด ๆ ที่จะทำให้ผู้เป็นมะเร็งมาตรวจแต่เนิ่น ๆ ได้เลย การตรวจพบมะเร็งระยะแรกมัก เกิดจากการรณรงค์ให้คนปกติพาตัวเองมา “ตรวจกรองหามะเร็ง” ทั้งที่ยังไม่มีอาการ แต่มาหาหมอเมื่อสัญญาณเตือน หรืออาการผิดปกติเสียแล้ว ก็มักพบมะเร็งในระยะ 3, 4 เสียเป็นส่วนใหญ่ มะเร็งที่ตรวจกรองได้ในทศวรรษนี้ ก็มีเพียงมะเร็ง 3 ชนิด คือมะเร้งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งอื่นยังไม่มีวิธีตรวจกรองที่คุ้มค่าพอที่จะแนะนำให้ทำทุกคน

นอกจากนี้มะเร็งหลายชนิด เช่นมะเร็งในเด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะกระจายไปทั่วตัวตั้งแต่ก้อนยังเล็ก เมื่อมาพบแพทย์จึงเป็นระยะลุกลามเป็นส่วนใหญ่ แต่ในรายที่พบระยะแรกมักเป็นก้อนใหญ่ที่ไม่ค่อยกระจาย กล่าวคือมะเร็งอวัยวะเดียวกันระยะแรกกับระยะลุกลามเป็นคนละโรคกัน ไม่ได้ลุกลามเพราะมาพบแพทย์ช้าหรือเร็ว