สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563
มะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยประมาณร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด แต่เกิดได้ในทุกช่วงอายุ มะเร็งผิวหนังเกิดจากเซลล์ผิวหนังมีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติ แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ Melanoma และ Non-Melanoma มะเร็งชนิด Non-Melanoma เป็นมะเร็งที่พบบ่อยสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณศีรษะ ใบหน้า ลำคอ หลังมือ แขน และขา เป็นต้น มะเร็งชนิดนี้ส่วนใหญ่จะไม่แพร่กระจาย และลุกลามช้า ทำให้ง่ายต่อการรักษา พบได้บ่อย 2 ชนิด ได้แก่ “basal cell carcinoma” และ “squamous cell carcinoma”
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง แต่คาดว่าส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการได้รับแสงแดดเป็นเวลานานและยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- การสัมผัสแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง UVA และ UVB เป็นเวลานาน
- การสัมผัสสารเคมี เช่น สารหนูที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ
- การเป็นแผลเป็นเนื่องจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้
- สีผิวที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังในผู้ป่วยที่มีสีผิวขาวและถูกแดดไหม้ได้ง่าย
- มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
- มีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่าผู้ที่มีผิวสีคล้ำ
- มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
อาการ
อาการของมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อย คือ การมีไฝที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ การมีตุ่มหรือก้อนเนื้อขอบแผลขรุขระ หรือแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง แผลที่เป็นนาน ๆ รักษาไม่หายอาจกลายเป็นมะเร็งได้ เมื่อโรคลุกลามอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงกับผิวหนังส่วนที่เป็นโรคโตจนคลำได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการซักประวัติการได้รับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วย ตลอดจนการสังเกตความผิดปกติของผิวหนังโดยการตรวจลักษณะของรอยโรค สี ขนาด และขอบ/รูปร่างของผิว ตลอดจนการตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง ส่วนการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค (ก้อนเนื้อ แผล หรือไฝ) เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
การรักษามะเร็งผิวหนัง
ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่งของมะเร็ง ซึ่งอาจดำเนินการได้หลายวิธีตามดุลพินิจของแพทย์ ได้แก่
- การผ่าตัด มีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดด้วยวิธี Mohs micrographic surgery (MMS) มักใช้เมื่อมะเร็งเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่สามารถใช้วิธีรักษาแบบอื่นได้ หรือมะเร็งที่เกิดขึ้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายสูง ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดใดนั้นแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
- การฉายรังสี จะใช้รักษามะเร็งผิวหนังในกรณีที่ขนาดของมะเร็งมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่าตัดออกหมด หรืออยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ บางครั้งก็ใช้กับผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- รักษาแบบ Photodynamic – เป็นการใช้แสงเลเซอร์ความเข้มสูงฉายลงไปบริเวณที่เป็นมะเร็ง โดยก่อนฉายแสงจะต้องทาตัวยาลงไปก่อน
การป้องกันมะเร็งผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลากลางวัน (ช่วงเวลา 10.00 – 16.00 น.)
- ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดทุกครั้ง หากต้องออกไปอยู่กลางแดด สวมหมวกที่มีปีกกว้างเพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณศีรษะ ใบหน้า และคอ หรือใช้ร่มที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้
- ควรตรวจร่างกายตนเองเป็นประจำ ถ้ามีแผลเรื้อรัง เช่น แผลเป็นไฟไหม้น้ำร้อนลวกควรรีบรักษา
- หมั่นสังเกตไฝหากมีเปลี่ยนแปลงผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตัดออกและส่งตรวจทางพยาธิวิทยา