ในชายวัยทองที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่สําคัญของระบบสืบพันธุ์ชาย ซึ่งมีรูปร่างคล้ายๆ กับลูกเกาลัด มีขนาดกว้าง 3-4 เซนติเมตร เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโตขึ้นและมี โอกาสเกิดมะเร็งได้มากขึ้นตามลําดับ พบว่าชายในประเทศที่มีการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง จะพบอุบัติการณ์เกิดขึ้นมาก เช่นในแถบประเทศตะวันตก ส่วนในประเทศไทยนั้นจะพบมากขึ้น ในปัจจุบัน มะเร็งต่อมลูกหมากจะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ในระยะที่ 1 และ 2 นั้น มะเร็งจะยังอยู่ในต่อมลูกหมาก ซึ่งจะยังไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะที่ 3 มะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และเริ่มจะลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลําบาก เบ่งปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะเป็นเลือดได้ ในระยะที่ 4 มะเร็งจะลุกลามไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองและกระดูก ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามกระดูกและข้อ น้ำหนักลด หรือเป็นมากๆ อาจจะทําให้เป็นอัมพาตจากการหักของกระดูกสันหลังได้
แนวทางการวินิจฉัยโรค
โดยทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือการค้นพบผู้ป่วยที่เป็นโรคในระยะแรก เพื่อหวังผลในการรักษาให้หายขาด มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะว่าถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะหลังคือระยะ 3 และระยะ 4 นั้น อาจจะช้าเกินไป เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ การรักษาในระยะ 3 และ 4 จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยาวนานที่สุด ดังนั้นสิ่งที่สําคัญที่สุดคือ การวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ ในผู้ป่วยให้ได้โดยการตรวจเช็คต่อมลูกหมากจากแพทย์ เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆ จะไม่มีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะใดๆ วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีการตรวจด้วยกัน 2 แบบคือ
- การเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) ในปัจจุบันมีสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากหลายตัว แต่ตัวที่ดีที่สุดคือ PSA (Prostate-specific antigen) สารชนิดนี้จะถูกผลิตออกมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงสามารถวัดค่าได้โดยการเจาะเลือด ถ้าระดับของ PSA ในเลือดสูงกว่าปกติก็จะมี โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ที่สําคัญคือชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูก หมากในระยะต้นๆ คือระยะ 1 หรือระยะ 2 ที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้นั้นจะแสดงผล PSA ที่ผิดปกติโดยที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการแสดงออกใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ารอให้มีอาการต่างๆ และค่อยมาพบแพทย์นั้น มะเร็งที่ค้นพบอาจจะลุกลามไปมากแล้ว ดังนั้นการเจาะเลือดหาค่า PSA นี้จึงเป็นสิ่งสําคัญ ซึ่งสามารถเจาะได้ในโรงพยาบาลทั่วๆ ไป
- การตรวจทางทวารหนัก (Digital rectal examination) หรือเรียกย่อๆ ว่า DRE โดยแพทย์จะทําการตรวจต่อมลูกหมากโดยใช้การตรวจทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลํารูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก ใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที หากเป็นมะเร็งมักคลําได้ก้อนแข็ง
ถ้าการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือการตรวจทั้ง 2 อย่าง มีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ผู้ป่วยควรจะต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาว่าเป็น มะเร็งจริงหรือไม่
ในปัจจุบันการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทําได้โดยง่าย โดยการใช้เครื่องมือ อัลตราชาวน์ของต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก แล้วตัดเนื้อไปตรวจด้วยเข็มที่มีขนาดเล็ก การตัดเนื้อวิธีนี้ไม่จําเป็นต้องดมยาสลบแต่อย่างใด เมื่อทําเสร็จแล้วก็สามารถกลับบ้านได้
การรักษา
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก การรักษาขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์อยู่ในระยะใด ถ้าอยู่ในระยะต้นๆ คือระยะ 1 หรือระยะ 2 ก็มีโอกาสใช้วิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์อยู่ในระยะที่ลุกลามไปแล้ว การรักษาก็จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะทําให้มีชีวิตได้ยาวนานที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้น (ระยะ 1 หรือระยะ 2) ทําการรักษา ได้ 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด หรือที่เรียกว่า Radical prostatectomy เป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่เป็นมาตรฐานและได้ผลการรักษาที่ดีวิธีหนึ่ง ที่สําคัญคือผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ โดยเฉพาะระยะ 1 และระยะ 2 โดยทั่วไปการผ่าตัดมักจะทําในผู้ป่วยที่มีอายุไม่เกิน 70 ปี จะได้ผลการรักษาดีมาก แต่ถ้าผู้ป่วยอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป แพทย์จะดูสภาวะอื่นๆ ของผู้ป่วยแล้วใช้ดุลยพินิจในการรักษาให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วย ผลข้างเคียงของการผ่าตัดคือ ผู้ป่วยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะบ้าง ปัจจุบันในประเทศไทยมีการผ่าตัด Radical Prostatectomy กันมากขึ้น
- การฉายรังสี หรือฝังแร่ในต่อมลูกหมาก เป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่ง ทําโดยใช้รังสีไปทําลายเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก ผลข้างเคียงคือ จะเกิดการระคายเคืองของเยื่อบุผิวของกระเพาะปัสสาวะ หรือเยื่อบุผิวของลําไส้ตรงจะทําให้มีปัสสาวะเป็นเลือดเป็นครั้งคราว ปัสสาวะลําบาก หรือมีอุจจาระเป็นเลือด อุจจาระลําบากได้
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลาม (ระยะ 3 หรือระยะ 4) มีหลายวิธีด้วยกัน โดยหลักการรักษาคือการลด hormone เพศชาย ซึ่งเป็นตัวสําคัญที่กระตุ้นเซลล์ของมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง หรือ การได้ยาลด hormone ต่าง ๆ
แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแบบใหม่นี้ทําให้เกิดการค้นพบมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ ในชายไทยได้ และสามารถรักษาเพื่อหวังผลให้หายขาดได้ ในปัจจุบันมีชายไทยที่มีความสนใจสุขภาพมารับการตรวจมากขึ้น ทําให้ค้นพบจํานวนของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้นๆ มีจํานวนมากขึ้น และได้รับการรักษาในระยะต้นมากขึ้นโดยการผ่าตัด ซึ่งทําให้ชายไทยมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากขึ้น
รศ.นพ.สุนัย ลีวันแสงทอง
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล