ฉายแสงแล้วเกิดพังผืดจะป้องกันอย่างไร?

คำตอบจาก อาจารย์แพทย์หญิงวิมรัก อ่อนจันทร์ จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ครั้งที่ 5 ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

“ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีจะแบ่งเป็นระยะเฉียบพลัน และระยะยาว ระยะเฉียบพลันจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 1-2 เดือน แล้วอาการจะค่อยๆ หายไปเอง การฉายรังสีที่คนไข้จะเจอ เป็นการฉายรังสีจากภายนอกเข้าไปภายในผ่านผิวหนังก็จะมีอาการข้างเคียง คือ แห้ง เคือง ระคาย คัน ซึ่งจะเป็นการฉายรังสีเฉพาะที่ หากฉายตรงไหนจะมีอาการบริเวณนั้น ตัวอย่างเช่น คนไข้มะเร็งเต้านม ที่หลังจากผ่าตัดแล้วก็จะได้ฉายรังสีบริเวณเต้านม หรือ บางรายจะมีการฉายไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่จะมีโอกาสกระจายไป บริเวณไหปลาร้า รักแร้ ก็จะเกิดผลข้างเคียงในบริเวณที่ถูกฉาย คนไข้ที่คนไข้ที่ฉายบริเวณช่องท้อง เชิงกราน ก็จะมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร การขับถ่าย การทานอาหารซึ่งถือเป็นผลระยะสั้น หลังจากฉายรังสีไปแล้วผลข้างเคียงก็จะทุเลาขึ้น

หากมีอาการคันไม่แนะนำให้เกาบริเวณที่ฉายรังสี ถ้าคันมากๆ ให้ปรึกษาคุณหมอจะมีแนะนำครีมหรือยาที่ช่วยรักษาเฉพาะจุดได้ เพราะการฉายรังสีผ่านผิวหนัง ถ้าเราทาครีมหรือโลชั่นทั่วไปที่มันไม่ดูดซึม หรือมีส่วนที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง อาจจะทำให้เรายิ่งคัน ยิ่งเคืองได้

ส่วนผลข้างเคียงระยะยาว ผิวหนังที่โดนรังสีในระยะยาวก็จะเกิดเป็นพังผืด หด รั้ง เกร็ง ทำให้เราเคลื่อนไหวไม่สะดวก หรือบางทีไปรั้งบริเวณแขนทำให้แขนบวมและโต เพราะฉะนั้นคนไข้หลังฉายรังสีทุกราย หมอก็จะแนะนำให้นวดและบำรุงโลชั่น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันไม่ให้เกิดพังผืดบริเวณฉายรังสี มีการออกกำลังกาย ยืด เหยียดแขน”

เมื่อถามถึงกรณีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คุณหมอจะแนะนำให้นวดบริเวณเต้านม แล้วอย่างคนที่ฉายบริเวณอื่น อย่างที่ปอด ควรจะดูแลตนเองอย่างไร?
คุณหมอวิมรักให้ความรู้เพิ่มเติม “สำหรับการฉายรังสีบริเวณปอด จริงๆยังไม่มีการป้องกันได้ขนาดนั้น ก็จะแนะนำให้คนไข้หมั่นสังเกตอาการ กรณีที่เกิดพังผือเยื่อหุ้มปอ อาจจะมีเรื่องของอาการไอหรือหอบได้ แต่ปกติจะเห็นความผิดปกติได้จากการเอกซเรย์เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่ค่อยเกิดอาการค่ะ ทั้งนี้ขึ้นกับบริเวณและปริมาณรังสีด้วย ถ้าฉายปริมาณเยอะ โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงก็จะเยอะด้วย อย่างคนไข้เต้านมอาจจะต้องฉายรังสีในปริมาณมากหน่อย แต่อย่างคนไข้ที่เป็นมะเร็งบริเวณต่อมน้ำเหลือง มันเป็นตัวที่มีการตอบสนองได้ดีต่อรังสีรักษาก็อาจจะไม่จำเป็นต้องฉายรังสีในปริมาณมาก แต่ถ้าคนไข้ที่เป็นมะเร็งบริเวณรังสีและลำคอ ก็อาจจะต้องฉายในปริมาณที่มากเช่นกัน นานถึง 6-7 สัปดาห์ เขาก็มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงบริเวณนั้นได้เยอะ ก็จะแนะนำให้เขานวดคอ กายบริหารคอ กายบริหารขากรรไกร เพื่อป้องกันการติดขัด พวกนี้ค่ะ”